หัวใจพระคาถา

หัวใจพระคาถา ในคำนิยามของผมเอง คือ บทย่อ ส่วนย่อ โดยนำหลักสำคัญ หลักแห่งความหมาย แห่งพระคาถาบทใหญ่นั้น ๆ  ซึ่งถอดออกมาให้จดจำได้ง่าย หรือเพื่อนำมาบริกรรมให้ได้ใจความมากขึ้น แต่ยังคงได้ความหมายหรือใจความสำคัญแห่งพระคาถาบทเดิมอยู่…
      ซึ่งโดยส่วนมากที่ผมศึกษามา จะเห็นได้ว่า หัวใจพระคาถาต่าง ๆ ที่เราท่องขานกันอยู่ปัจจุบัน หลายท่านทราบความเป็นมา อีกหลายท่านก็ยังไม่ทราบ ในที่นี้เราขอพูดถึงท่านที่ยังไม่ทราบ ส่วนผู้ที่ทราบแล้ว แต่อาจจะทราบมากันคนละแบบ หรือคนละคำสอน อาจจะทำให้แตกต่างกันไปบ้าง ก็สามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ เพื่อคนที่ยังไม่ทราบ และคนที่เริ่มต้นเพื่อทำการศึกษา
      ประเด็นหลักของหัวใจพระคาถาในที่นี้ คือจะกล่าวถึงว่า หัวใจพระคาถาที่เราทราบ หรือใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มาจากบทใหญ่ของบทส่วนมนต์ใด อยู่ส่วนในของบทนั้น ๆ ซึ่งโดยส่วนมากหัวใจพระคาถาเหล่านั้น จะถูกถอดมาจากบทพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน เช่น หัวใจนวหรคุณ หัวใจพระรัตนตรัย หัวใจพาหุง เป็นต้น ส่วนหัวใจบทอื่นผมก็กำลังอยู่จากคณาจารย์อื่น อย่างเช่น หัวใจพระยาไก่เถื่อน หัวใจเสือ หัวใจหมู่ หัวใจลิงลม อาจจะมาจากบทพระธรรมหรือไม่ใช่ตอนนี้ก็กำลังศึกษาอยู่ ถ้ามีผู้รู้แล้วก็สามารถนำมาเพื่อเพิ่มเติมได้นะครับ
       เพื่อชนรุ่นหลังจะได้ศึกษา กันได้อย่างถูกต้อง มิได้แต่ท่องขานกันไป โดยมิรู้ความหมายอะไรในหัวใจแห่งพระคาถานั้นๆ เพราะบางบทมาจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเรารู้ความหมายในตัวนั้นแล้ว ก็เหมือนเราได้ท่องหรือได้ใช้พระธรรมคำสอนในชีวิตประจำวันเลยทีเดียว

นวหรคุณ ๙ ห้อง อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ

อะระหัง   เป็นผู้ดับเพลิงทุกข์ เพลิงกิเลสโดยสิ้นเชิง   ใช้ด้านกันไฟทั้งปวง
สัมมาสัมพุทโธ  เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้ด้วยตัวพระองค์เอง      ใช้เป็นตบะเดชะเสริมสร้างสง่าราศี
วิชชาจะระณะ สัมปันโน  เป็นผู้พร้อมด้วยวิชาและจรณะ   ใช้ด้านโภคทรัพย์โชคลาภ
สุคะโต เป็นผู้ดำเนินไปได้ด้วยดี    ใช้ในด้านการเดินทาง ทั้งทางบก น้ำ อากาศ
โลกะวิทู อนุตตะโร  เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง    ใช้ภาวะนาเมื่อเข้าป่าหรือที่มืด
ปุริสะธัมมะสาระถิ  เป็นผู้ฝึกบุรุษผู้ควรฝึกได้ อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า  ใช้ทางมหาอำนาจ ตวาดผี
สัตถาเทวมนุสสานัง  เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  ใช้ทางเมตามหานิยม สมณะ ขุนนางเอ็นดู
พุทโธ   ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน      ใช้ภาวนาอารมณ์ ทำให้ไม่ตกต่ำอับจน
ภะคะวาติ  เป็นผู้จำเริญ จำแนก ธรรม สั่งสอนสัตว์ดังนี้ ใช้ในทางป้องกันภยันอันตรายอันจะกระทำแก่เรา ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ อมนุษย์ อสูรกาย สัตว์เดียรฉาน ป้องกันการประทุษร้ายเหล่านั้นได้ ทั้งสิ้นแล

หัวใจพระรัตนตรัย  อิ สวา สุ (อณุโลม) สุ สวา อิ (ปฎิโลม)

อิ มาจาก บทพระพุทธคุณ ๕๖ คือ อิติปิโส….
สวา  มาจาก บทพระธรรมคุณ ๓๘  คือ สวาขาโต….
สุ   มาจาก บทพระสังฆคุณ ๑๔  คือ สุปะฎิปัณโน….

รวมกันคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบองค์แห่งพระรัตนตรัย และรวมคุณแห่งเลข ก็จะได้ ๑๐๘ เท่ากับบทอิติปิโสรัตนมาลา ๑๐๘  แท้จริงแล้วก็กลับไปยังบทนี้เช่นกัน

หัวใจพาหุง ๘ บท พา มา นา อุ กะ สะ นะ ทุ

มาจากบทชัยมงคลคาถา หรือบทพาหุง นั้นเอง

พามานาอุกะสะนะทุ…
มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะ …
นาฬาคิริง  คะชะวะรัง …
อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะ  
กัตวานะ  กัฏฐะมุทะรัง
สัจจัง  วิหายะ…
นันโทปะนันทะภุชะคัง…  
ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ  …

บางท่าน เอะใจว่า บทนี้มี ๙ ท่อนนี้นา แล้วทำไมไม่เอา เอตาปิ… ซึ่งเป็นท่อนที่ ๙ มาร่วมด้วย ก็เพราะว่า บทดังกล่าวนี้มิเกี่ยวกับการกล่าวถึงคุณแห่งพระพุทธเจ้าที่เอาชนะกิเลศหรือแม้แต่ชนะหมู่มารทั้งผอง แต่เป็นการบอกกล่าวว่า การสวดบททั้งแปดข้างต้นนั้นมีคุณเป็นเช่นใด ดังนี้
บุคคลใดมีปัญญา ไม่เกียจคร้าน สวดและระลึกถึงพรุพุทธชัยมงคล ๘ คาถาเหล่านี้ทุกๆ วัน บุคคลนั้นจะพึงละความจัญไรอันตรายทั้งหลายทุกอย่างเสียได้ และเข้าถึงความหลุดพ้น คือ พระนิพพานอันบรมสุข นั้นแลฯ

ส่วนความหมายโดยนัย ที่เราสมควรจำไว้ในการดำเนินชีวิตตนเองมีดังนี้

บทที่ ๑ สำหรับเอาชนะศัตรูหมู่มาก เช่น ในการสู้รบ
บทที่ ๒ สำหรับเอาชนะใจคนที่กระด้างกระเดื่องเป็นปฏิปักษ์
บทที่ ๓ สำหรับเอาชนะสัตว์ร้ายหรือคู่ต่อสู้
บทที่ ๔ สำหรับเอาชนะโจร
บทที่ ๕ สำหรับเอาชนะการแกล้ง ใส่ร้ายกล่าวโทษหรือคดีความ
บทที่ ๖ สำหรับเอาชนะการโต้ตอบ
บทที่ ๗ สำหรับเอาชนะเล่ห์เหลี่ยมกุศโลบาย
บทที่ ๘ สำหรับเอาชนะทิฏฐิมานะของคน

ในตำรา หรือคัมภีร์ของชนชาวฮินดูการอ่านหรือเขียนอักขระ อะอุมะ หรือ อุอะมะ ที่ในคำคัมภีร์หนึ่งได้ระบุ อะอุมะ หรือ อุอะมะ เป็นนามศัพท์ย่อมาจากคำว่า โอม ซึ่งหมายถึงมหาเทวะผู้เป็นเจ้าของฮินดู
แต่ในตำราไสยศาสตร์หรือเลขยันต์ไทยมีการแทนไว้เช่นกันตามนี้

อะอุมะ
   อะ (แทนพระนารายณ์)  อุ (แทนพระศิวะ) มะ (แทนพระพรหม)
   ตามแบบฮินดู

    อุอะมะ
   อุ (แทน แก้วปัทมราช) อะ (แทน แก้ววิเชียร)  มะ (แทน แก้วไพฑูรย์)

   และมีแบบแทนพระรัตนะตรัยไว้ ๒ แบบ คือ แบ่งเป็นแบบโบราณ และแบบสมัยใหม่ ดังนี้
   แบบโบราณ มะอะอุ
   มะ (แทนพระพุทธ มาจาก มะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ) อะ (แทนพระธรรม มาจาก อะกาลิโกเอหิปัสสิโก) อุ (แทนพระสงฆ์มาจาก อุชุปะฏิปันโน สาวะกะสังโฆ)
   ซึ่งมิได้เรียงเรียนแบบของฮินดู ในพระคาถาแห่งพระหัวใจ ชื่อว่า หัวใจตรีเพชร และสามารถเปลี่ยนมาใช้เป็น หัวใจพระไตรปิฏกโดยให้ มะ (แทน พระมหากัสสะปะ) อะ (แทนพระอานนท์) อุ (แทนพระอุบาลี) ผู้ซึ่งเป็นพระผู้เริ่มสังคายนาพระไตรปิฏก และเป็นคาถาที่ใช้คู่ กับ นะโมพุทธายะ ซึ่งขาดเสียอย่างในอย่างหนึ่งแทบมิได้

แบบสมัยใหม่ อะอุมะ หรือหัวใจพระบรรพชา
อะ (แทนพระพุทธ มาจาก อะระหัง) อุ (แทนพระธรรม มาจาก อุตตรธรรม) มะ (แทนพระสงฆ์ มาจาก มหาสังฆะ)

หัวใจพระพุทธเจ้า  อิ กะ วิ ติ

อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

จากบทข้างต้นนั้น

อิ   เป็นตัวแรกของ บท
กะ  เป็นตัวกึ่งกลางของบท  คือเป็นตัวที่ ๒๘ นับจาก “อิ” มา หรือเป็นตัวสุดท้ายของบทแรก
วิ    เป็นตัวกึ่งกลางของบท  คือเป็นตัวที่ ๒๙ นับจาก “อิ” มา และเป็นตัวที่ ๒๘ ถ้านับจาก “ติ” ขึ้นไป หรือเป็นตัวแรกของบทที่สอง
ติ   เป็นตัวสุดท้ายของบท

ดังนั้นจะได้ อิ กะ วิ ติ ซึ่งบทพระพุทธคุณ หรือคุณพระธรรมเจ้า มีคุณ ๕๖ ก็จะได้ตามข้างต้นคือ อิ-กะ(๒๘) และ วิ-ติ(๒๘)

หัวใจพระเจ้าสิบชาติ หรือหัวใจทศชาติ เต  ชะ  สุ  เน  มะ  ภู  จะ  นา  วิ  เว
ซึ่งเป็นชาติทั้ง ๑๐ ชาติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกัปล์ปัจจุบัน

๑. เตมีย์ชาดก บำเพ็ญเนกขัมมบารมี
๒. ชนกชาดก บำเพ็ญวิริยบารมี
๓. สุวรรณสามชาดก บำเพ็ญเมตตาบารมี
๔. เนมิราชชาดก บำเพ็ญอธิษฐานบารมี
๕. มโหสถชาดก บำเพ็ญปัญญาบารมี
๖. ภูริทัตชาดก บำเพ็ญศีลบารมี
๗. จันทชาดก บำเพ็ญขันติบารมี
๘. นารทชาดก บำเพ็ญอุเบกขาบารมี
๙. วิทูรชาดก บำเพ็ญสัจจบารมี
๑๐.เวสสันดรชาดก บำเพ็ญทานบารมี

พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ สัง-วิ-ธา-ปุ-กะ-ยะ-ปะ

พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ในตำนานแห่งพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ยกขึ้นมาแสดงแก่พุทธมารดาฟังที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พร้อมเหล่าเทวดาทั้งหลาย คือ

๑.พระสังคิณี ว่าด้วยเรื่องธรรมที่เป็นกุศล กับ อกุศล
๒.พระวิภังค์ ว่าด้วยเรื่องขันธ์ 5
๓.พระธาตุกถา ว่าด้วยเรื่องการสงเคราะห์ธรรม
๔.พระปุคคะละปัญญัติ ว่าด้วยที่ตั้งของบุคคล
๕.พระกถาวัตถุ ว่าด้วยความจริงแท้
๖.พระยะมะกะ ว่าด้วยธรรมที่เป็นคู่
๗.พระมหาปัฏฐาน ว่าด้วยที่ตั้งใหญ่

หัวใจพระแม่ธรณี  เม-กะ-มุ-อุ

นำมาจาก พรหมวิหาร 4 ธรรมสำหรับผู้ปกครอง ประกอบด้วย
๑. เมตตา หมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข
๒. กรุณาหมายถึง ความปราถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
๓. มุทิตา หมายถึง ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
๔. อุเบกขา หมายถึง การรู้จักวางเฉย

หัวใจยอดศีล หรือ หัวใจพระไตรสรณคมน์   พุท-ธะ-สัง-มิ

มาจากบทสวดพระไตรสรณคมณ์ ก่อนที่เราจะอาราธณาศีล ดังนี้

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
มิ เป็นคำสุดท้ายของแต่ละบท มาจาก “คัจฉามิ”  แปลว่า “ถือเอา”

หัวใจปฎิสังขาโย  จิ-ปิ-เส-คิ

ปฎิสังขาโย เป็นการพิจารณาในการใช้ปัจจัย ๔ ประการ ในเพศบรรพชิต ก็คือปัจจัย ๔ ของเรา แต่ท่านจะพิจารณาใช้อย่างดียิ่งกว่า โดย “มีฉันมีใช้ พอให้อยู่ได้ พอให้สนองความต้องการของชีวิต” ให้ “บริโภคด้วยปัญญา ไม่บริโภคด้วยตัณหา”

จิ   -จีวะรัง  อันแปลว่า จีวร (เครื่องนุ่งห่ม)
ปิ   -ปิณฑปาทัง   อันแปลว่า   บิฑบาต (อาหาร)
เส -เสนาสะนัง  อันแปลว่า เสนาสะนะ (ที่อยู่)
คิ   -คิลานะปัจจะยะเภสัชชะปะริกขารัง  อันแปลว่า เภสัชบริขาร (หยูกยา)

ซึ่ง หัวใจบทนี้ ผมไม่แน่ใจว่า ว่า มี หัวใจ “อัชชะ  มะยา” ด้วยหรือเปล่า เพราะบท “ปฎิสังขาโย” ๔ บท ใช้สวดทำวัดเช้า สำหรับพระภิษุกสามเณร ในการพิจารณาปัจจัย ๔  ส่วนบท “อัชชะ  มะยา” ๔ บท ใช้สวดทำวัดเย็น สำหรับพระภิษุกสามเณรเช่นกัน และก็ใช้พิจารณาปัจจัย ๔ เช่นกันด้วย

หัวใจอิธะเจ อิ-ธะ-คะ-มะ

มาจาก บทจากพระคาถา “อิธะเจ ๑๓ ตัว” คือ อิธะ เจตะโสทัฬหัง คัณหาหิถามะสาฯ  (เป็นวิชามหาเสน่ห์โบราณ อ่านแล้วรู้นะคิดอะไรอยู่ อิอิ)

เรื่องของพระคาถา อิธะเจ หรือ ผงอิธะเจ  หรือวิชาอิธะเจ เป็นไสยศาสตร์วิชาสมัยโบราณ ๑ ใน ๔ วิชาไสยศาสตร์หลักของวิชาไสยโบราณ (พูดเหมือนภัมภีร์หนังจีนเลยผม) ซึ่งวิชาทั้ง ๔ มีดังนี้ อิธะเจ, ปถมัง, ตรีนิสิงเห และมหาราช  ซึ่งพระผงดังๆ สมัยก่อนก็ใช้วิชาเหล่านี้ เช่น พระสมเด็จเป็น ต้น

หัวใจโพชฌงค์ “สะ ธะ วิ ปี ปะ สะ อุ”

มาจาก

1.สติสัมโพชฌงค์(ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง)
2.ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์( ความเฟ้นธรรม,ความสอดส่องค้นหาธรรม )
3.วิริยะสัมโพชฌงค์(ความเพียร)
4.ปีติสัมโพชฌงค์(ความอิ่มใจ)
5.ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์(ความสงบกายสงบใจ)
6.สมาธิสัมโพชฌงค์(ความมีใจตั้งมั่น,จิตแน่วในอารมณ์)
7.อุเบกขาสัมโพชฌงค์(ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง)

พระคาถาหัวใจโพชฌงค์ ให้เสกน้ำรดไข้ หรือเสกยากินก็ได้จะหาย

เครดิต โดย คุณ นิมิตรจิตร ชมรมคนรักพ่อแก่

แชร์เลย

Comments

comments

Share: