การเจริญภาวนาเบื้องต้นมีหลักอย่างไร ?

การเจริญภาวนาเบื้องต้นมีหลักอย่างไร ?


ตอบ:

หลักในการเจริญภาวนาเบื้องต้น ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้แนะนำให้ประพฤติปฏิบัติ เพื่อทำใจให้หยุดนิ่ง เพื่อให้สิ้นกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา ให้ได้ผลดีที่สุดนั้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้ให้คำแนะนำเป็นหลักปฏิบัติ มีหลักสำคัญอยู่ 3 ประการ คิอ

ประการที่ 1 ให้กำหนดองค์บริกรรมนิมิต
ประการที่ 2 ให้กำหนดองค์บริกรรมภาวนาคู่กัน
ประการที่ 3 ให้กำหนดที่ตั้งของใจไว้ ณ ศูนย์กลางกาย เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ

โดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อได้กำหนดให้ผู้ปฏิบัติ ตรึกนึกให้เห็นดวงแก้วกลมใส ใจอยู่ในกลางของกลาง ตรงกลางจุดเล็กใส นี้เป็นสำคัญ นี้เรียกว่า กำหนด “บริกรรมนิมิต” ส่วน “บริกรรมภาวนา” นั้น ให้ใช้คำบริกรรมภาวนาว่า “สัมมาอรหังๆ” โดยให้ภาวนาไปที่กลางของกลาง ตรงจุดเล็กใสกลางดวงแก้วกลมใส และ “ที่ตั้งของใจ” ที่จะให้เอาใจไปจรด ไปหยุด ไปนิ่งนั้น กำหนดให้เอาใจไปจรด ไปหยุด ไปนิ่ง ณ ศูนย์กลางกาย เหนือระดับสะดือประมาณ 2 นิ้วมือ

ประการที่ 1  ที่ว่าให้กำหนดบริกรรมนิมิตนั้น ก็เพราะว่า การกำหนดให้ตรึกนึกให้เห็นดวงแก้วกลมใส ใจอยู่ในกลางของกลาง ตรงจุดเล็กใส กลางดวงกลมใสนั้น ก็เอาหลักมาจากการเพ่งกสิณแสงสว่าง ที่ชื่อว่า “อาโลกกสิณ” ซึ่งโดยธรรมชาติ เมื่อผู้ปฏิบัติภาวนาธรรมเพ่งกสิณแสงสว่างที่ชื่อว่าอาโลกกสิณนั้น เมื่อใจสงบระงับเป็นสมาธิแน่วแน่มั่นคงพอประมาณ ได้อุคคหนิมิตแล้ว จะเห็นเป็นดวงใส แต่ว่าอยู่ไม่ได้นาน ถ้าอยู่ได้นานก็เรียกว่าถึงปฏิภาคนิมิต นี้เป็นผลของการเพ่งกสิณแสงสว่างในระดับกลาง คือเมื่อเพ่งกสิณแสงสว่างแล้ว คือมองให้เห็นแสงสว่างแล้วหลับตานึกให้เห็นด้วยใจ เมื่อใจหยุดนิ่งพอประมาณ เกิดอุคคหนิมิต เห็นเป็นดวงใสบ้างเป็นครั้งคราว แต่ไม่ได้นาน นี้เป็นผลของการเจริญอาโลกกสิณในระดับกลาง ซึ่งจะเป็นไปในระดับสูง คือปฏิภาคนิมิต ซึ่งจะเป็นสมาธิที่แนบแน่นถึงขั้นอุปจารสมาธิอันเป็นเบื้องต้นของปฐมฌาน

พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้เอาผลในระดับกลางของการเพ่งกสิณ คือ ระดับอุคคหนิมิตนี้แหละ เอามาใช้เป็นเบื้องต้นของการเจริญภาวนาธรรมนี้ โดยให้ตรึกนึกให้เห็นดวงแก้วกลมใส ใจอยู่ในกลางของกลางตรงจุดเล็กใส กลางดวงแก้วกลมใส ตรงศูนย์กลางกาย เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือเอาไว้ให้มั่น อันนี้เป็นอุบายวิธีที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติภาวนาสามารถรวมใจหยุดเป็นจุดเดียวกันได้เร็ว เพราะเป็นการรวมความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ซึ่งธรรมชาติที่แท้จริงแล้วเป็นดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้ ที่ขยายส่วนหยาบออกมาจาก ธาตุละเอียดของนามขันธ์ 4 คือธาตุละเอียดของเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันตั้งอยู่ในกลางธาตุละเอียดของรูปขันธ์ ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม ซึ่งรวมเรียกว่า “ใจ” ให้รวมหยุด เป็นจุดเดียวกัน โปรดเข้าใจว่าเห็นอยู่ที่ไหนด้วยใจ ใจก็อยู่ที่นั้น เพราะฉะนั้น นี้เป็นอุบายวิธีที่สำคัญที่สุดที่ได้ผลดีที่สุด โดยตรึกนึกให้เห็นดวงแก้วกลมใส ใจจะมารวมอยู่ที่ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ในดวงแก้วกลมใส แล้วศูนย์กลางของดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้ ก็จะมารวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน ตรงกลางดวงแก้วกลมใสนั้น คือตรงศูนย์กลางดวงแก้ว พระเดชพระคุณหลวงพ่อจึงให้ใช้หลักนี้เป็นหลักที่หนึ่ง

เมื่อใจรวมหยุดเป็นจุดเดียวกันแล้ว ผลที่สำคัญเกิดขึ้น คือปรากฏดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย ใสสว่าง ปรากฏขึ้นตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม เมื่อปรากฏอย่างนี้แล้ว ใจอันประกอบด้วยดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้ ก็รวมหยุดเป็นจุดเดียวกันตรงนั้นได้เมื่อธาตุธรรม เห็น จำ คิด รู้ รวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน ธาตุละเอียดของขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 ก็รวมหยุดเป็นจุดเดียวกันตรงนั้นเหมือนกัน ก่อให้เกิดพลังและผลดีที่สำคัญที่สุด คือ ทิพพจักขุ ทิพพโสต เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ณ ที่ตรงนั้น อันเป็นผลให้ใช้สำหรับพิจารณาสภาวธรรมที่ละเอียดๆ ให้เห็นตามที่เป็นจริงได้ นี้เป็นผลดีของการให้ตรึกนึกให้เห็นดวงแก้วกลมใส ใจอยู่ในกลางของกลางตรงจุดเล็กใส กลางดวงแก้วกลมใส ซึ่งเป็นปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นกสิณกลาง ปฏิภาคนิมิตจากการเพ่งอาโลกกสิณหรือกสิณแสงสว่างนี้ เป็นกสิณกลาง ที่ว่าเมื่อใครเพ่งกสิณอะไรแล้วจะต้องเห็นเป็นดวงใสสว่างด้วยกันทั้งหมด ถ้าว่าหยุดในหยุด กลางของหยุด ให้ละเอียดเข้าไปถึงปฏิภาคนิมิต แต่ปฏิภาคนิมิตนั้นมารวมหยุดถูกกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม อันเป็นที่ตั้งของธรรมในธรรม ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย ซึ่งเบื้องต้นของธรรมในธรรม ที่วัตถุประสงค์ของการเจริญภาวนาให้มีสติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมมาซ้อนตรงกัน เพราะฉะนั้น ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายซึ่งตั้งอยู่ตรงนั้นมีใจรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน คือเห็น จำ คิด รู้ อยู่ตรงนั้น ประกอบกับใจหยุดเพราะปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นตรงนั้นด้วย ซ้อนกันถึง 3 อย่าง เห็นใสเด่น สว่างขึ้นมา เป็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย เมื่อใจหยุดในหยุด กลางของหยุด กลางดวงธรรมนั้น ปฏิภาคนิมิตก็หมดหน้าที่ เพราะใจรวมหยุดเป็นจุดเดียวกันตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมแล้ว ใจที่รวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน ก็ทำหน้าที่พิจารณาเห็นธรรมในธรรม เห็นกายในกาย เห็นจิตในจิต และเวทนาในเวทนาสืบต่อไปได้

นี้เป็นผลดีของการเจริญภาวนาโดยการเพ่งกสิณแสงสว่าง ซึ่งเอาดวงแก้วมาเป็นที่ตั้ง คือเอามาเพ่ง เอามาให้จดจำ ให้นึกให้เห็นด้วยใจ เป็นอุบายวิธีรวมใจให้หยุดเป็นจุดเดียวกันได้โดยง่าย จึงเหมาะแก่จริตอัธยาศัยของคนหลายจริตอัธยาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มักโกรธพยาบาท หรือผู้ที่มักมีความยินดีพอใจในกามคุณทั้ง 5 มีรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสทางกาย เป็นต้น และผู้ที่มักฟุ้งซ่านไปในเรื่องต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น สามารถที่จะรวมใจให้หยุดนิ่ง และปราศจากกิเลสนิวรณ์ทั้งหลายนี้เสียได้โดยง่าย

ประการที่ 2   ที่ว่าให้บริกรรมภาวนา “สัมมาอรหัง“ นั้น เป็นเครื่องช่วย ในการที่จะประคองใจให้มาหยุดเป็นจุดเดียวกันได้ง่ายขึ้น เพราะลำพังแต่การตรึกนึกให้เห็นดวงแก้วกลมใส ใจอยู่ในกลางของกลาง ตรงจุดเล็กใสนั้น อาจจะไม่พอสำหรับผู้ที่มีความฟุ้งซ่าน จึงต้องอาศัยบริกรรมภาวนาท่องในใจว่า “สัมมา อรหังๆๆ” เข้ามาช่วย คำว่า “สัมมา อรหัง” ความจริงมาจากคำว่า “สัมมาสัมพุทโธ” ซึ่งแปลว่า พระผู้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ หมายเอา พระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า กับคำว่า “อรหัง” แปลว่า พระผู้ไกลจากกิเลส หมายเอา พระวิสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า เมื่อผู้เจริญภาวนานั้นบริกรรมว่า “สัมมา อรหังๆ” นั้น เท่ากับ กล่าวพระนามใหญ่ของพระพุทธเจ้า ซึ่งน้อมหรือรวมพระพุทธคุณอันว่าด้วยพระปัญญาคุณ และพระวิสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า เอามาใส่ใจเรา ก็เป็นพุทธานุสตินั้นเอง เพราะพระนามใหญ่ของ พระพุทธเจ้านี้ครอบคลุมพระพุทธคุณอื่นๆ เข้าไว้ด้วย เพราะฉะนั้นคำว่า “สัมมาอรหังๆ” เป็นองค์บริกรรมภาวนานั้น มีประโยชน์ 2 ประการ คือ

เป็นเครื่องช่วยประคองใจให้หยุดนิ่ง ณ ศูนย์กลางจุดเล็กใส กลางดวงแก้วกลมใส ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมนั้น ได้ดียิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เป็นพุทธานุสติ โดยที่ผู้บริกรรมภาวนาอยู่ตลอดนั้น นึกน้อมเอาพระพุทธคุณคือพระปัญญาคุณ และพระวิสุทธิคุณ เข้ามาสู่ใจเรา

ส่วนหลักสำคัญ ประการที่ 3 ที่ว่า ให้เอาใจไปหยุด ไปนิ่งตรงกลางของกลางศูนย์กลางกาย ตรงนั้นเป็นที่ตั้งกำเนิดธาตุธรรมเดิม เป็นที่ตั้งของธรรมในธรรม แล้วก็กายในกาย จิตในจิต ซึ่งรวมเวทนาในเวทนา จิตในจิต ซึ่งรวมทั้งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเข้าด้วยกัน หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นที่ตั้งของธรรมในธรรม แล้วก็กายในกาย แล้วก็ใจของสัตว์โลกทั้งหลาย จากสุดหยาบไปสุดละเอียดของกายในภพ 3 สุดหยาบคือของกายมนุษย์ ละเอียดไป ก็ของกายทิพย์หรือทิพย์หยาบ ทิพย์ละเอียด รูปพรหมหยาบ รูปพรหมละเอียด อรูปพรหมหยาบ อรูปพรหมละเอียด ไปจนถึงสุดละเอียดของกายในภพ 3 แล้วถึงธรรมกาย จากสุดละเอียดของธรรมกายถึงพระนิพพาน นับเป็นทางสายกลางและมัชฌิมาปฏิปทาด้วย

พึงเข้าใจว่า กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมนั้น นอกจากเป็นที่ตั้งของธรรมในธรรมแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของใจอันถาวร คือเมื่อเวลาสัตว์จะเกิดจะดับ จะหลับ จะตื่น จะเกิด จะดับคือจะตาย จะหลับและจะตื่น ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย อันมี “ใจ” คือดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้ ที่รวมหยุดเป็นจุดเดียวกันตรงกลางนั้น ดวงเดิมจะตกศูนย์ไปยังศูนย์กลางกายฐานที่ 6 ตรง ระดับสะดือพอดี ดวงใหม่คือดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย และ “ใจ” จะลอยเด่นขึ้นมาตรงศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือนี้ จุดนี้จึงเป็นจุดที่สำคัญที่สุด ที่ผู้เจริญภาวนาธรรม พึงเอาใจมาหยุดมานิ่ง มาจรดตรงนี้ จึงจะเจริญภาวนาให้มีสติพิจารณาเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม จากสุดหยาบไปถึงสุดละเอียด เป็นทั้ง ณ ภายนอกและ ณ ภายใน ไปจนสุดละเอียดถึงธรรมกาย และสุดละเอียดจากธรรมกายซึ่ง เป็นธาตุล้วนธรรมล้วนถึงพระนิพพานได้ จุดนี้จึงเป็นจุดที่สำคัญ และเป็นที่สำคัญที่สุดของการเจริญภาวนาตามแนววิชชาธรรมกาย ที่ให้ได้ผลดีที่สุด

มีความสำคัญอื่นๆ ประกอบเข้ามาด้วยใน 3 หลักนี้

ก็คือว่าสำหรับผู้ที่เจริญภาวนาอานาปานสตินั้น คือ การมีสติพิจารณาเห็นลมหายใจเข้าออก ไม่ว่าผู้เจริญนั้นจะตั้งสติพิจารณาเห็นลมหายใจเข้าออกกี่ฐาน เป็นต้นว่าฐานที่ 1 ปากช่องจมูกหรือปลายจมูก ฐานที่ 2 ตรงหน้าอกหรือตรงใกล้ลำคอ ฐานที่ 3 ตรงกลางกายหรือตรงกลางพระนาภี นี้เป็นตัวอย่าง บางท่านอาจจะกำหนด 2 ฐาน 3 ฐานก็แล้วแต่ เมื่อมีสติพิจารณาเห็นลมหายใจเข้าออก ว่ายาวหรือสั้น ว่าหยาบหรือละเอียด จนจิตละเอียดเข้าไปแล้ว ลมหายใจจะสั้นเข้าๆ ละเอียดลงไปๆ จนใจหยุดนิ่ง เพราะลมหยุดอย่างมีสติ ใจจะหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางนาภี ก็คือตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือนั้นเอง

เพราะฉะนั้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อ จึงเน้นที่จุดศูนย์กลาง อันเป็นที่ตั้งของกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม หรือชื่อว่ากลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม อันเป็นที่สุดลมหายใจเข้าออก หรือต้นทางลมหายใจเข้าออก ซึ่งเมื่อเจริญภาวนามีสติพิจารณาเห็นลมหายใจเข้าออกสั้นเข้า ละเอียดไปจนสุดละเอียดแล้ว จะหยุดตรงนั้นพอดี หยุดตรงกลางพระนาภี และถ้าหากผู้ใดกำหนดเห็นบริกรรมนิมิตไม่ชัดเจนในเบื้องต้น ก็จะใช้หลักอาปานสติเข้าช่วยได้ คือขณะตรึกนึกให้เห็นดวงแก้วกลมใส ใจอยู่ในกลางของกลางตรงจุดเล็กใส กลางดวงแก้วกลมใสนั้น นึกให้เห็น หรือมีสติพิจารณา เห็นลมหายใจเข้าออกกระทบดวงแก้ว ก็จะเห็นดวงแก้วได้ชัด แล้วก็ปล่อยความสนใจในลมหายใจเข้าออก เพื่อให้ลมละเอียดและให้ใจหยุดนิ่งสนิทได้ง่ายยิ่งขึ้น ให้คงอยู่แต่การกำหนดองค์บริกรรมนิมิตบริกรรมภาวนา คู่กันไป ไม่ช้าจะรวมหยุดเป็นจุดเดียวกันตรงนั้นได้โดยง่าย และอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อใจหยุดนิ่งสนิทก็จะปล่อยบริกรรมนิมิตและบริกรรมภาวนาเอง โดยอัตโนมัติ

ดังนั้นจุดศูนย์กลางกาย เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือตรงนี้ มีสติพิจารณาเห็นองค์บริกรรมนิมิตบริกรรมภาวนา และเห็นลมหายใจเข้าออกตรงนี้ ก็เป็นหลักของอานาปานสติ คือ เมื่อลมหยุด เมื่อใจละเอียดหนักแล้วลมหยุด ก็จะหยุดตรงนั้นพอดี จึงนับเป็นอานาปานสติอีกโสตหนึ่งด้วย

เพราะฉะนั้น หลักสำคัญใน 3 ประการนี้นี่แหละ ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้กำหนดให้ผู้เจริญภาวนา ตรึกนึกให้เห็นดวงแก้วกลมใส ใจอยู่ในกลาง ตรงจุดเล็กใส กลางดวงแก้วกลมใส เพื่อรวมใจให้หยุดเป็นจุดเดียวกันได้โดยง่าย และในหยุดตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม อันเป็นที่ตั้งของกาย เวทนา จิต ธรรม จากสุดหยาบไปสุดละเอียด หรือ ณ ภายนอกและ ณ ภายใน ละเอียดเข้าไปจนสุดละเอียด ถึงธรรมกายถึงพระนิพพานได้

แชร์เลย

Comments

comments

Share: