ความกตัญญูและการบูชาเป็นมงคลอันสูงสุด

เจริญพร ญาติโยมสาธุชนผู้ฟังทุกท่าน

วันนี้อาตมภาพก็ได้มาพบกับท่านผู้ฟังอีกเช่นเคยในรายการปาฐกถาธรรมทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เช้าวันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือน สำหรับเช้าวันนี้ อาตมภาพจะได้แสดงเรื่อง “ความกตัญญู” และ “การบูชาบุคคลผู้ควรบูชา” ว่า เป็นมงคลอันสูงสุด คือ เป็นข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขแห่งชีวิต ความจริงธรรมปฏิบัติ 2 ข้อนี้ อยู่ในพระคาถาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแก่เทพบุตรผู้มาทูลถามปัญหาเรื่องอะไรเป็นมงคลแล้ว  พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงมงคล 38 ข้อ เป็นพระคาถา รวม 10 แก่เทพบุตรนั้น

มงคลข้อการบูชานั้น อยู่ในพระคาถาที่ 1 ที่ตรัสว่า การไม่คบคนพาล 1 การคบแต่บัณฑิต 1 และการบูชาคนที่ควรบูชา 1 นี้เป็นมงคลอันสูงสุด

ส่วนเรื่องความกตัญญูนั้น อยู่ในพระคาถาที่ 7 ที่ตรัสว่า ความเคารพ 1 ความสุภาพอ่อนน้อม 1 ความสันโดษ 1 และความกตัญญู 1 นี้เป็นมงคลอันสูงสุด

เฉพาะในการแสดงปาฐกถาธรรมในวันนี้ อาตมภาพจะขอยกเอามงคล ข้อ “ความกตัญญู” กับ “การบูชาคนที่ควรบูชา” มาแสดงก่อน เพราะเป็นธรรมปฏิบัติที่ใกล้เคียงกัน แต่ต่างประเด็นกัน กล่าวคือ ความกตัญญู นั้นคู่กับ บุญคุณ หรือ อุปการคุณ ส่วน การบูชา นั้นคู่กับ คุณธรรม หรือ คุณความดี ซึ่งอาตมภาพจักได้อธิบายขยายความมงคล 2 ข้อนี้ ตามลำดับ และตามสมควรแก่เวลาต่อไป

ข้อ 1 ความกตัญญู

“ความกตัญญู” นั้น หมายถึง การรู้พระคุณท่านที่เคยมีอุปการะคุณ หรือที่เคยมีบุญคุณต่อเราก่อน แล้วตอบแทนหรือสนองพระคุณท่านผู้มีอุปการคุณนั้น

ผู้เคยให้ความอุปการะหรือมีบุญคุณนั้น ภาษาพระท่านเรียกว่า “บุพการี”  ภาษาพูดโดยทั่วไปว่า “ผู้มีพระคุณ” ผู้รู้จักคุณท่านผู้มีอุปการะคุณ แล้วตอบแทนคุณท่านผู้มีพระคุณนั้น ชื่อว่า “กตัญญูกตเวที” มีคำเพิ่มขึ้นมาอีกคำหนึ่ง คือ “กตเวที” หมายความว่า “ผู้กระทำตอบแทนหรือทดแทน” เมื่อรวมสองคำนี้เข้าด้วยกัน คือ “กตัญญู” กับ “กตเวที” จึงเป็น “กตัญญูกตเวที” ซึ่งมีความหมายรวมว่า “ผู้รู้คุณและตอบแทนคุณท่านผู้มีอุปการะคุณ

ใคร่จะชี้แจงซักนิดว่า ตามที่เคยได้ยินคำกล่าวว่า “บุญคุณต้องทดแทน ความแค้นต้องชำระ” นั้น คำแรกว่า “บุญคุณต้องทดแทน” นั้นจัดเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นอุดมมงคล เป็นเครื่องหมายของคนดี มีคุณธรรมตามพระสัทธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้ ซึ่งจะให้ผลเป็นความเจริญและสันติสุขแก่ชีวิตแต่ถ่ายเดียว แต่คำที่ 2 ว่า “ความแค้นต้องชำระ” นั้นเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ดี เป็นความอัปมงคล เป็นเครื่องหมายของคนพาล ปัญญาโฉดเขลา คือ คนโง่ จัดเป็นอธรรมที่มีแต่จะยังผลให้ผู้ปฏิบัติถึงความทุกข์เดือดร้อน ต่อๆ ไปไม่มีที่สิ้นสุด ตามอำนาจของกิเลส คือความโกรธ พยาบาท อาฆาต จองเวร เหมือนบุคคลบางคน บางพวกในยุคปัจจุบันนี้ ที่ลุแก่อำนาจความโกรธ พยาบาท อาฆาต จองเวร ตามพิฆาตเข่นฆ่ากัน ก่อให้เกิดความทุกข์เดือดร้อนแก่กันและกัน ไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่มีข่าวได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ ในทุกวันนี้

คุณธรรมข้อ“กตัญญูกตเวทิตาธรรม”คือการรู้คุณและตอบแทนคุณท่านผู้มีอุปการคุณ   นี้จึงเป็นคุณธรรมหรือข้อปฏิบัติที่คู่กับบุญคุณหรืออุปการคุณที่ท่านได้ทำอุปการคุณให้แล้วก่อน ไม่ว่าท่านผู้กระทำอุปการคุณนั้น จะมีความประพฤติปฏิบัติอื่นที่ดีหรือไม่เพียงไรก็ตาม ก็ชื่อว่า “บุพการี” ของผู้ได้รับอุปการคุณนั้น ที่ผู้เคยได้รับอุปการคุณนั้นพึงรู้คุณ พึงระลึกถึงและตอบแทนพระคุณท่านผู้มีอุปการคุณนั้น ตามกำลังและโอกาสจะอำนวยให้ ก็จะเป็นอุดมมงคลแก่ผู้ทรงกตัญญูกตเวทิตา-ธรรม นี้ให้ถึงความเจริญและสันติสุขในชีวิตได้เสมอ ดังเช่น

พ่อแม่ เป็น บุพการี คือ ผู้มีพระคุณอย่างยิ่งใหญ่ของลูกๆ ด้วยว่า ท่านเป็นผู้ให้กำเนิด  ทนุถนอมกล่อมเลี้ยงลูกด้วยความรัก ด้วยเมตตาและกรุณาธรรม มีแต่ความปรารถนาจะให้ลูกรักมีความสุขและความเจริญ ลูกมีทุกข์ก็ปรารถนาจะให้ลูกพ้นทุกข์ แม้ความทุกข์เดือดร้อนของลูกนั้น  มาตรว่าพ่อแม่จะรับหรือไถ่เอามาไว้ที่ตัวเองได้ พ่อแม่ก็จะทำเพื่อลูก เมื่อลูกมีความสุขความเจริญก็ไม่คิดเบียดเบียนแย่งความสุขของลูกมาไว้เฉพาะเพื่อตน คอยเป็นนายประกันให้ลูกเมื่อลูกผิดพลาดล่วงเกิน แม้จะเจ็บใจ ช้ำใจ เพราะลูกชั่วช้าเพียงใด ก็มีแต่อภัยให้ลูก ตลอดมา  พ่อแม่จึงชื่อว่าเป็น “พรหม” คือ ผู้ประเสริฐของลูก

พ่อแม่นั้นเป็นผู้ให้คำแนะนำสั่งสอนลูกด้วยเจตนาที่จะให้ลูกได้รู้วิธีการดำเนินชีวิตที่ดี ตามภูมิปัญญาของท่าน มาตั้งแต่ลูกเริ่มเกิดมาจนเติบใหญ่ ไม่มีเจตนาที่จะแนะนำสั่งสอนให้ลูกประพฤติปฏิบัติไปในทางที่จะเป็นโทษ หรือความทุกข์เดือดร้อน พ่อแม่จึงชื่อว่าเป็น “บุรพเทพ” ของลูก คือเป็นผู้ชี้แสดงโลกนี้ คือการดำเนินชีวิตแก่ลูกก่อนใครๆ ทั้งนั้น และด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ของพ่อแม่เช่นนั้น พ่อแม่จึงเป็นเสมือนวิสุทธิเทพ คือ เสมือนพระอรหันตขีณาสพ ผู้หวังแต่ความสุขความเจริญของชนทั้งหลาย โดยไม่คำนึงถึงความเป็นพาล คือกระทำผิด หรือการล่วงละเมิดต่อท่าน ฉันใด พ่อแม่ก็ปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของลูกโดยส่วนเดียว โดยไม่คำนึงถึงความผิดหรือความละเมิดล่วงเกินที่ลูกกระทำต่อพ่อแม่ ฉันนั้น  เพราะเหตุนั้น พ่อแม่จึงเป็น “อาหุไนย หรือ ทักขิไนยบุคคล” คือ เป็นบุคคลที่ควรแก่การรับทักษิณา บูชาสักการะ กระทำความกตัญญูกตเวทิตาธรรม คือ รู้คุณและตอบแทนคุณของท่าน แล้วลูกกตัญญูเช่นนั้นก็จะมีแต่ความสุขความเจริญแต่ถ่ายเดียว   ส่วนลูกอกตัญญูไม่รู้คุณพ่อแม่ ไม่ตอบแทนคุณพ่อแม่ตามควรแก่กำลังและโอกาส  กลับมีจิตคิดร้าย กล่าวร้าย กระทำร้ายพ่อแม่ ย่อมจะถึงความเสื่อมแห่งชีวิต ถึงความทุกข์เดือดร้อน และ/หรือ ถึงความพินาศฉิบหายไม่นานเกินรอ ตามความหนักเบาแห่งความชั่วของตน

ลูกชายลูกหญิง เมื่อรู้และระลึกถึงพระคุณของพ่อแม่แล้ว พึงปฏิบัติดีตอบแทนพระคุณท่าน โดยประการต่างๆ เป็นต้นว่า

  • ช่วยทำกิจของท่านด้วยความเต็มใจ ไม่บิดพลิ้วหรือคอยหลีกเลี่ยง
  • ดำรงวงศ์สกุลของท่านไว้ให้ดี ไม่ทำให้เสื่อมเสีย
  • ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาทของท่าน
  • ปรนนิบัติและรักษาน้ำใจท่าน ไม่ทำให้ท่านต้องเสียน้ำตา เสียน้ำใจ เพราะความประพฤติไม่ดีของตน
  • ท่านเลี้ยงดูเรามาแล้ว เมื่อเรามีกำลังพอก็เลี้ยงดูท่านตอบ
  • ท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญอุทิศให้

ดังนี้เป็นต้นแม้นี้ก็ยังไม่คุ้มหรือยังไม่เท่าเทียมพระคุณของพ่อแม่ที่มีต่อลูกโดยเหตุนี้ บูรพาจารย์มีท่านพระสิริมังคลาจารย์ เป็นต้น ได้อรรถาธิบายขยายความในมงคลสูตร ปรากฏในหนังสือปกรณ์พิเศษ ชื่อ “มังคลัตถทีปนี” ข้อ 297 มีความเปรียบเทียบโดยย่อว่า  แม้ลูกจะอุปถัมภ์บำรุงพ่อแม่โดยประการว่า วางแม่ไว้อยู่บนบ่าขวา วางพ่ออยู่บนบ่าซ้าย ท่านจะถ่ายอุจจาระปัสสาวะรดก็ไม่รังเกียจ ประคับประคองบำรุงท่านแม้ตลอด 100 ปี ก็ไม่นับว่าได้ตอบแทนคุ้มพระคุณของพ่อแม่ หรือแม้จะตั้งพ่อให้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ตั้งแม่ไว้ในความเป็นพระมเหสีพระเจ้าจักรพรรดิ บำรุงท่านให้เสวยสุขอยู่จนตลอดชีวิตเช่นนั้น ก็ยังตอบแทนไม่คุ้มพระคุณของท่าน นี้เพราะเหตุไร ?

เพราะเหตุว่า แม้ลูกชายลูกหญิงจะทำนุบำรุงพ่อแม่ด้วยอุปการะอันเป็นโลกิยะ อยู่เช่นนั้น จนตลอดชีวิตของท่าน ท่านก็จะได้รับโลกิยสุขเพียงชาติเดียว แต่ถ้าท่านยังเป็นผู้ไม่รู้คุณพระรัตนตรัย คือไม่รู้คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ จึงไม่รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ ตามที่เป็นจริง เป็น “มิจฉาทิฏฐิ” คือ เป็นผู้มีความเห็นผิดทำนองคลองธรรม เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ คือ ตายไป ก็ไม่พ้นอบายภูมิ คือ ไปเกิดในภพภูมิที่ไม่ดี ที่ไม่เจริญ ได้แก่ ในภพภูมิของเปรต สัตว์นรก อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉาน ได้  

แต่ถ้าลูกชายลูกหญิงได้ชักนำพ่อแม่ที่ยังไม่มีศรัทธาในพระรัตนตรัย ให้มาเรียนรู้และศรัทธาในพระรัตนตรัย มาประพฤติปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ที่มีศรัทธาน้อยก็ให้มีศรัทธามากขึ้น ที่มีศรัทธามากอยู่แล้ว ก็ให้เจริญด้วยศรัทธาอย่างมั่นคงยิ่งๆ ขึ้นไป ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมให้ยิ่งขึ้นไป ลูกชายลูกหญิงนั้น จึงชื่อว่า ได้ตอบแทนพระคุณพ่อแม่คุ้มพระคุณพ่อแม่แล้ว เพราะการที่พ่อแม่ได้มีศรัทธาในพระรัตนตรัยแล้ว ย่อมได้มีโอกาสศึกษาทำความเข้าใจในพระสัทธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ ตามที่เป็นจริง ก็จะได้เลิกละทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด และเลิกละความประพฤติผิดๆ นั้นเสีย แล้วกลับประพฤติปฏิบัติธรรมที่เป็นบุญเป็นกุศล มีทานกุศล ศีลกุศล และภาวนากุศล เป็นต้น ดำเนินชีวิตไปสู่ความเจริญและสันติสุขถึงมรรคผลนิพพานที่สิ้นสุดแห่งทุกข์และที่เป็นบรมสุขอันถาวรสืบต่อไปได้ ดังที่พระสิริมังคลาจารย์ได้ยกพระพุทธดำรัสตรัสไว้ในมาตาปิตุคุณสูตร ทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย (องฺ.ทุก.20/87) มาแสดงไว้ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย  ก็บุตรใดแล ยังบิดามารดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานดำรงตั้งอยู่ในสัทธาสัมปทา   ยังบิดามารดาผู้ทุศีล ให้สมาทานดำรงตั้งอยู่ในสีลสัมปทา   ยังบิดามารดาผู้ตระหนี่ ให้สมาทานดำรงตั้งอยู่ในจาคสัมปทา    ยังบิดามารดาผู้มีปัญญาทรามให้สมาทานดำรงตั้งอยู่ในปัญญาสัมปทา   ภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุประมาณเท่านี้แล กิจนั้น จึงชื่อว่า เป็นอันบุตรทำแล้ว ทำตอบแทนแล้ว และทำยิ่งแล้ว แก่มารดาบิดา.”

นอกจากลูกๆจะพึงรู้คุณและตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ดังกล่าวแล้วสัทธิวิหาริกหรืออันเตวาสิก ก็พึงรู้คุณและตอบแทนพระคุณของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และศิษยานุศิษย์ ก็พึงรู้คุณและตอบแทนคุณครู อาจารย์ และแม้ชนทั้งหลาย ก็พึงรู้คุณและหาโอกาสตอบแทนพระคุณผู้เคยมีอุปการคุณแก่ตน ด้วยเช่นกัน

อนึ่ง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้พระอริยสัจธรรมโดยชอบด้วยพระองค์เอง แล้วได้ทรงแสดงพระอริยสัจธรรมโดยตรัสแนะนำสั่งสอนพระสัทธรรมนั้นแก่สัตว์โลกให้รู้ความจริงอย่างประเสริฐในทุกข์ และเหตุปัจจัยแห่งความทุกข์ อันพึงเลิกละ และให้รู้เหตุปัจจัยแห่งความเจริญและสันติสุข อันพึงปฏิบัติตาม และได้ตรัสสอนให้รู้ถึงหนทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ได้ถึงมรรค ผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์และเป็นบรมสุขอย่างถาวรอีกทั้งพระภิกษุสงฆ์สาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตั้งใจศึกษาและปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า สืบบวรพระพุทธ-ศาสนา และแนะนำสั่งสอนสาธุชนพุทธบริษัทให้รู้แจ้งเห็นจริงตามธรรมของพระพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสไว้ดีแล้ว ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของชาวโลกนั้น บัณฑิตผู้มีปัญญาจึงรู้และระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย คือ คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในพระธรรมวินัยนี้ แล้วตอบแทนพระคุณ ด้วยการปฏิบัติอุปถัมภ์บำรุงพระรัตนตรัย ด้วยทั้งอามิสบูชามี ปัจจัย 4 เป็นต้น และทั้งปฏิบัติบูชา มีการปฏิบัติทานกุศล ศีลกุศล และภาวนากุศล เป็นต้นเช่นนี้ ย่อมยังความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขแก่ชีวิตตนได้อย่างดีที่สุด

ผู้ทรงคุณธรรมข้อ“กตัญญูกตเวทิตาธรรม”คือผู้รู้คุณและตอบแทนคุณผู้เคยมีอุปการคุณ นั้น ย่อมจะเป็นผู้เจริญในทุกที่และทุกเมื่อ แม้ชีวิตจะตกต่ำบ้าง ก็จะสามารถฟื้นคืนตัวได้เร็ว ไม่นานเกินรอ เพราะเขาย่อมเป็นที่รักใคร่นับถือ เชื่อถือ จากสาธุชนทั่วไป ใครผู้ใดที่คิดจะให้ความอุปการะ หรือความอุปถัมภ์ค้ำชูคนผู้เช่นนี้ ย่อมสบายใจได้เลยว่า อุปการคุณนั้นจักไม่สูญเปล่า  แม้ผู้รับความอุปการะจะยังไม่มีโอกาสหรือยังไม่มีกำลังพอที่จะกระทำตอบแทนคุณได้ในวันนี้ต่อไปในวันหน้า   ผู้มีคุณธรรมเช่นนี้ เมื่อมีโอกาสและกำลังพอจะสนองคุณหรือตอบแทนคุณได้ เขาย่อมกระทำทันที   อย่างน้อย เขาก็จะเป็นผู้มีน้ำใจและย่อมจะแสดงกิริยาวาจาที่เปี่ยมด้วยอาการของผู้รู้คุณท่านผู้มีพระคุณ แม้เพียงเท่านี้ บุพการี คือ ผู้ให้อุปการคุณก็ชื่นใจแล้ว ดังที่เราเคยได้ยินได้ฟังข่าวลูกกตัญญูต่อพ่อแม่ผู้ยากจนหรือพิกลพิการต่างๆ ก็จะได้รับความอุปการคุณจากสาธุชนอย่างมากมายอยู่เสมอ

เพราะเหตุนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสมงคลข้อ “ความกตัญญู” ซึ่งหมายความรวมทั้ง “กตัญญูกตเวทิตาธรรม” นี้ว่า เป็น “อุดมมงคล” คือ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความเจริญและสันติสุขในชีวิตได้เป็นอย่างดีที่สุด ข้อหนึ่ง

2. การบูชาคนที่ควรบูชา

คำว่า “การบูชา” หมายถึง การทำความสักการะ การเคารพ นอบน้อม กราบไหว้ นับถือ เชื่อถือ บุคคลที่ควรบูชา 1 ข้อปฏิบัติที่ควรบูชา 1 สถานที่และ/หรือ สิ่งที่ควรบูชา 1

ณ ที่นี้ บุคคลที่ควรบูชา ชื่อว่า “ปูชนียบุคคล” นั้น หมายถึง บุคคลดี มีคุณธรรม คือ บุคคลผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีศีลมีธรรม มีความบริสุทธิ์กาย วาจา และใจ บุคคลผู้มีคุณธรรมประเสริฐสูงสุด คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่รองลงไป ได้แก่ พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอริยสาวก ผู้มีคุณธรรมรองลงไปอีก ได้แก่ พระสมมติสงฆ์ สามเณร ผู้ตั้งใจปฏิบัติศีลสิกขา จิตตสิกขา และปัญญาสิกขา ถึงบิดา มารดา ครู อาจารย์ และบุคคลอื่นๆ ผู้ตั้งตนปฏิบัติตนอยู่ในคุณความดี ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง เป็นต้น

ข้อปฏิบัติที่ควรบูชานั้น ก็สืบเนื่องแต่บุคคลที่ควรบูชานั้นแหละ เพราะบุคคลที่ควรบูชาเป็นผู้มีคุณธรรม ทรงศีล ทรงธรรม ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอยู่ ฉะนั้น วัตรปฏิบัติและคำแนะนำคำสั่งสอนของท่านผู้เช่นนั้น จึงเป็นข้อปฏิบัติที่ควรบูชา คือควรแก่การเคารพนับถือ ควรแก่การศึกษาและปฏิบัติตามด้วย   ข้อปฏิบัติที่ควรบูชาสูงสุด คือ พระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ คือ ทรงรู้แจ้งเห็นแจ้งอย่างถูกต้องแล้วด้วยพระองค์เอง แล้วได้ทรงแนะนำสั่งสอนเวไนยสัตว์ คือ ผู้ที่พอแนะนำสั่งสอนให้รู้ ให้เข้าใจและปฏิบัติตามได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ ให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง และได้รับผลดีจริง ถึงได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ตามรอยบาทพระพุทธองค์ แล้วพระสงฆ์สาวกผู้ศึกษาและปฏิบัติพระสัทธรรมจนได้รับผลดีตามสมควรแก่ธรรมปฏิบัติแล้ว นั้นนั่นแหละ เป็นทั้งผู้ปฏิบัติพระสัทธรรมเอง และเป็นทั้งผู้แนะนำสั่งสอนเวไนยสัตว์สืบบวรพระพุทธศาสนาต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนข้อปฏิบัติที่ควรบูชาชั้นรองๆ ลงมา ก็ได้แก่ ความประพฤติปฏิบัติของคนดี มีความรู้ความสามารถ และมีคุณธรรมที่รองๆ ลงมาจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยสงฆ์สาวก ได้แก่ บิดา มารดา ครู อาจารย์ เป็นต้น และคำแนะนำสั่งสอนของท่านโดยชอบ คือที่ถูกที่ควรตามทำนองคลองธรรม ตามกฎหมายของบ้านเมือง ก็ควรแก่การศึกษาทำความเข้าใจและพิจารณาเลือกนับถือ และปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่ดี และคำแนะนำสั่งสอนที่ดี ที่ชอบ นั้นด้วยเช่นกัน

สถานที่ที่ควรบูชา นั้นชื่อว่า “ปูชนียสถาน”  และ/หรือ สิ่งที่ควรบูชา ชื่อว่า “ปูชนียวัตถุ”  ทั้ง 2 ประการนี้ รวมเรียกว่า “เจดีย์” ได้แก่

  1. พระธาตุเจดีย์ คือ สถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  รวมทั้งที่บรรจุพระธาตุต่างๆ อีกด้วย
    คำว่า “พระบรมสารีริกธาตุ” หมายถึง พระอัฐิธาตุ คือ กระดูกพระพุทธเจ้า
    คำว่า “พระธาตุ” หมายถึง พระธาตุส่วนอื่นๆ ของพระพุทธเจ้า (นอกจากพระอัฐิธาตุ) 
    ได้แก่ พระเกศาธาตุ (พระธาตุเส้นผม) พระหทัยธาตุ (พระธาตุส่วนหัวใจ) พระนหารุธาตุ  (พระธาตุส่วนเส้นเอ็น) พระโลหิตธาตุ (พระธาตุส่วนโลหิต) พระบุพโพธาตุ (พระธาตุส่วนน้ำเหลือง) ฯลฯ  
    ส่วนคำว่า “ธาตุ” เช่น เกศาธาตุ อัฐิธาตุ หมายถึงธาตุของพระอริยสาวก  และ/หรือของพระโพธิสัตว์ ต่างๆ
  2. บริโภคเจดีย์ คือ สถานที่ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เคยใช้สอย ชื่อ “สังเวช-นียสถาน” 4 ตำบล ได้แก่
    ชาตสถาน ที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือที่อุทยานลุมพินี ในประเทศเนปาล ในปัจจุบัน
    อภิสัมพุทธสถาน ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือที่ใต้ต้นโพธิ์ ตำบลพุทธคยา ในประเทศอินเดีย
    ธัมมจักกัปปวัตนสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาคือที่อิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันเรียก สารนาถ ในประเทศอินเดีย
    ปรินิพพุตสถาน ที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน คือที่สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา ปัจจุบันเรียก กาเซีย ในประเทศอินเดีย
  3. ธรรมเจดีย์ คือ สถานที่บรรจุพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
  4. อุทเทสิกเจดีย์ คือ สิ่งที่สร้างขึ้นเจตนาอุทิศ คือเจาะจงต่อพระพุทธเจ้า ยกเว้นพระธาตุเจดีย์แล้ว เรียกว่า อุทเทสิกเจดีย์ทั้งสิ้น ได้แก่ พระพุทธรูป รูปสลักและรูปวาดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า และไม้โพธิ คือ ต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าได้เคยประทับบำเพ็ญสมณธรรม แล้วได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นต้น
    อนึ่ง รูปเปรียบ รูปเหมือน หรือรูปวาด เกี่ยวกับพระภิกษุสงฆ์สาวก และพระมหาโพธิสัตว์เจ้า ก็นับเนื่องในอุทเทสิกเจดีย์ ในฐานะผู้เป็น “อนุพุทธะ” ได้ด้วยเหมือนกัน

พระสิริมังคลาจารย์ ได้อธิบายความหมายของ “การบูชา” ใน มงคลสูตร ที่สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว มีปรากฏในปกรณ์พิเศษ ชื่อ “มงคลัตถทีปนี” (ฉบับภาษาไทย) เล่มที่ 1 ข้อ 57 หน้า 81 มีความโดยย่อ ว่า

การบูชา มี 2 อย่าง คือ อามิสบูชา 1   ปฏิบัติบูชา 1

อามิสบูชา นั้นได้แก่ การบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ของหอม และปัจจัย 4 มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เป็นต้น

ปฏิบัติบูชา นั้นได้แก่ การปฏิบัติตามคำสั่งสอนโดยชอบ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ตรัสไว้ดีแล้ว และการประพฤติปฏิบัติตามเยี่ยงอย่างปูชนียบุคคล ได้แก่ พระอริยเจ้าผู้ทรงศีลทรงธรรม ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นต้น

จึงมีข้อสังเกตว่า การบูชานั้น คู่กับ คุณความดี คือ ความถูกต้องตามทำนองคลองธรรม นั่นเอง

การบูชาทั้ง 2 ประการนี้ “ปฏิบัติบูชา” เป็นเลิศกว่า “อามิสบูชา” เพราะสัมมาปฏิบัติ คือ การปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้แล้วนั้น ย่อมยังผลให้ได้รับผลเป็นความสุขความเจริญในชีวิตทั้งโลกิยสุขและโลกุตตรสุข และย่อมดำรงพระพุทธศาสนาไว้ด้วย จึงเป็นการบูชาที่พระพุทธองค์โปรดปรานมากที่สุด และทรงยกย่องว่า เป็นการบูชาพระตถาคตด้วยบูชาอย่างยิ่ง ดังพระพุทธดำรัส (มังคลัตถทีปนี หน้า 114-115 ว่า)

“อานนท์   ผู้ใดแล เป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม อุบาสกก็ตาม อุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง มีปกติประพฤติตามธรรมอยู่  ผู้นั้น ชื่อว่า สักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคตด้วยบูชาอย่างยิ่งมีปกติประพฤติตามธรรมอยู่   อานนท์! เธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้แล.”

พระพุทธดำรัสว่า “ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” นั้นหมายถึง

“แต่ผู้ใด เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสรณะและศีล รักษาอุโบสถเดือนละ 8 ครั้ง ให้ทาน ทำการบูชาด้วยของหอมและการบูชาด้วยมาลาบำรุงมารดาบิดาและสมณะพราหมณ์ผู้ทรงธรรม ผู้นี้จึงเป็นผู้ชื่อว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.”

พระพุทธดำรัสว่า “ด้วยบูชาอย่างยิ่ง” ทรงหมายความถึงว่า

“ธรรมดาว่า นิรามิสบูชา ย่อมอาจดำรงศาสนาของเราไว้ได้ เพราะว่าบริษัท 4 นี้ ยังจักบูชาเราด้วยปฏิบัติบูชานี้ตราบใด ศาสนาของเราก็จักรุ่งเรือง ดังพระจันทร์แจ่มอยู่กลางฟ้าตราบนั้น.

อย่างไรก็ตาม เฉพาะแต่อามิสบูชา คือ การบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ของหอม และปัจจัย 4 ต่อปูชนียบุคคล ปูชนียสถาน และปูชนียวัตถุ ได้แก่ พระธาตุเจดีย์ ที่บรรจุพระบรม-สารีริกธาตุ ก็ดี พระธาตุต่างๆ ก็ดี ย่อมเป็นมหานิสงส์ คือ ให้ผลเป็นความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข ทั้งระดับโลกิยสุข และโลกุตตรสุข อย่างนับประมาณมิได้ ดังตัวอย่าง

เรื่อง พระธาตุปูชกเถระ พระเถระผู้บูชาพระธาตุของพระพุทธเจ้าสิทธัตถะ (พระสุตตันตปิฎก ภาษาไทยฉบับหลวง เล่มที่ 32 ข้อ 249 ขุททกนิกาย อปทาน) ได้กล่าวว่า

“เมื่อพระโลกนาถพระนามว่าสิทธัตถะ ผู้สูงสุดกว่านระ เสด็จนิพพานแล้ว เราได้พระธาตุองค์หนึ่ง ของพระผู้มีพระภาคจอมสัตว์ ผู้คงที่ เราเก็บพระธาตุของพระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ พระอาทิตย์นั้นไว้บูชาตลอด 5 ปี ดังพระองค์ผู้สูงสุดกว่านระยังดำรงอยู่ ในกัปที่ 94 แต่กัปนี้ เราได้บูชาพระธาตุใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้สึกทุคคติเลย นี้เป็นผลเพราะบำรุงพระธาตุ คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และอภิญญา 6 เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้ฯ

จึงเห็นได้ว่า แม้การบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุ มีอานิสงส์มากมาย นับประมาณไม่ได้  ดังนี้  เพราะเป็นคุณธรรมทั้งกตัญญูกตเวทิตาธรรม และบูชาพระรัตนตรัยไปในตัวเสร็จ นั่นเอง

ขอความสุขสวัสดี จงมีแด่ท่านผู้ฟังทุกท่าน    เจริญพร.


พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันอาทิตย์ ที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2541

แชร์เลย

Comments

comments

Share: