จาคทานชาดก

ยงฺกิฺจิ ทานํ รชฏสุวณฺณนฺติ อิทํ เชตวเน วิหรนฺโต ปริจาคทานํ อารพฺภ กเถสิ

สมเด็จพระศาสดา เมื่อเสด็จอยู่ในพระเชตวันมหาวิหารทรงพระปรารภซึ่งทานที่ได้บริจาคแล้วของพระองค์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำว่า ยงฺกิฺจิ ทานํ รชฏสุวณฺณํ เป็นต้น

ครั้งนั้นเป็นสมัยที่พระภิกษุทั้งหลายอยู่จำพรรษาแล้ว เวไนยชนทั้งหลายอยู่ในประเทศใด สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ก็พาพระเถรเจ้าสามพระองค์คือ พระโมคคัลลานะ พระโกณฑัญญะ พระอานนท์ ไปในที่นั้น ได้เสด็จไปจนถึงอชิตบุรนคร ในพระนครนั้นมีบรมกษัตริย์ครอบครองสิริรัชยสมบัติ ทรงพระนามพระเจ้าอชิตมหาราช อัครมเหสีของพระเจ้าอชิตมหาราชนั้น ทรงพระนามนางกาญจนเทวี พระเจ้าอชิตมหาราชโปรดให้พระนางกาญจนเทวีเป็นใหญ่กว่านางทั้งหลายถึงหมื่นหกพันนาง ในครั้งนั้นพระเจ้าอธิตมหาราชทรงพระราชทานผ้าผืนหนึ่ง มีราคาถึงแสนตำลึงแก่พระราชเทวีแล้ว พระราชทานผ้ากุสุมพัตถ์มีราคาผืนละพันนิกขะ ถึงหมื่นหกพันผืน แก่นางสนมทั้งหลายหมื่นหกพันนาง ๆ ละผืน ๆ แล้วตรัสว่า เราให้ผ้าเหล่านี้แก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงรับผ้าที่เราให้เหล่านี้ไว้เถิด ครั้นรุ่งขึ้นวันใหม่พระเจ้าอชิตมหาราหก็ยกจตุรงค์พลนิกายเสด็จไปยังปลายประราชอาณาเขต เพื่อจะกระทำยุทธสงครามกับด้วยเสนาของพระราชาอื่น (ของข้าศึก) ในกาลนั้นสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ จึงตรัสกับพระโมคคัลลานะว่า ดูกรโมคคัลลานะ พรุ่งนี้เช้าท่านจงเข้าไปรับบิณฑบาตในพระนคร พระเถรเจ้าก็ทรงบาตร์จีวร เข้าไปยังพระนครแต่เช้า ครั้นถึงพระลานหลวงแล้ว ส่วนนางกาญจนเทวีเปิดสีหบัญชรแลเห็นพระเถรเจ้า แล้วก็มีจิตชื่นชมยินดีจึงใช้ให้ราชบุรุษนิมนต์พระเถรเจ้านั่งบนบัญญัตตาอาสน์ในตำหนักของตนแล้ว ​นางก็ออกจากห้องใส่โภชนาหารมีรสเลิศต่างๆ ให้เต็มในบาตร์ทรงอังคาสพระเถรเจ้า ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว นางปรารถนาจะฟังพระธรรมเทศนา จึงวิงวอนพระเถรเจ้าให้แสดงธรรม พระเถรเจ้าก็แสดงพระธรรมเทศนาอันประเสริฐคือทานกถา สีลกถา สัคคกลา แล้ว แสดงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสงฆคุณ แก่พระราชเทวีนั้น ส่วนพระราชเทวี ครั้นได้เสวนาการพระธรรมเทศนานั้นแล้วก็มีจิตเลื่อมใส จึงทรงจิตนาการว่า พระมหากษัตริย์เจ้าพระองค์นี้ จะทิ้งเราหรือจะขับไล่เราเสีย จะขายเราเสียหรือจะจำจองเราก็ดี พระองค์ปรารถนาจะทำเราอย่างไรอย่างไร ก็จงทำเราอย่างนั้นอย่างนั้นเถิด แล้วพระราชเทวีก็ถวายผ้าที่มีราคาถึงแสนตำลึงนั้นให้เป็นธรรมบูชา ฯ ในกาลนั้นนางราชกัญญาทั้งหมื่นหกพันนาง ก็พากันจิตนาการเหมือนฉะนั้นแล้ว ก็พากันบูชาพระเถรเจ้าด้วยผ้ากุสุมพัตถ์ของตน ๆ ให้เป็นธรรมบูชาทั้งสิ้นแล้ว นางราชกัญญาทั้งปวง มีพระราชเทวีเป็นประธาน ก็พากันรักษาศีลห้าประการทุกนางๆ ตามที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระเถรเจ้านั้น พระเถรเจ้าทราบเวลาพอสมควรแก่กาลแล้ว ก็ลาพระราชเทวีถือบาตร์มาโดยทางอากาศแล้ว เหาะลง ณ ที่ใกล้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า บรรดาผ้าทั้งสิ้นที่พระราชเทวีและนางสนมถวายพระเถรเจ้า ก็ลอยตามพระเถรเจ้ามาข้างหลัง นางราชกัญญาทั้งหลายมีพระราชเทวีเป็นประธาน ถวายนมัสการพระเถรเจ้าแล้วก็พากันแลดูอยู่ ครั้งนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสวยโภชนาหารนั้นกับด้วยพระสาวกทั้งหลายเต็มสถานที่ประมาณสามโยชน์ แล้วประทานผ้าทั้งสิ้นแก่พระสาวกโดยลำดับกัน ฯ ส่วนพระเจ้าอชิตมหาราชปราบปรามปัจจามิตรให้พ่ายแพ้ประมาณสองสามวันแล้ว พอถึงสายัณหสมัยก็เสด็จมาถึง เสด็จขึ้นยังปราสาทประทับเหนือราชบัลลังก์อาสน์ บรรดานางราชกัญญาทั้งหลายมีพระราชเทวีเป็นประธาน ก็พากันเฝ้าแวดล้อมพระเจ้าอชิตมหาราช ในกาลนั้นพระเจ้าอชิตมหาราช ไม่เห็นผ้าของนางราชกัญญาเหล่านั้น จึงตรัสถามว่า ผ้าของท่านทั้งหลายไปอยู่ที่ไหนเล่า พระราชเทวีกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระบาททั้งหลายบูชาธรรมของพระมหาเถรเจ้าเสียแล้ว พระเจ้าอธิตมหาราชได้ทรงฟังถ้อยคำของพระราชเทวี ก็มีพระหฤทัยโสมนัสมีพระประสงค์จะทัศนาการสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงโปรดให้อำมาตย์ไปเชิญสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า อำมาตย์นั้นก็ไปเชิญสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า

​ลำดับนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็เสด็จยังพระราชนิเวศน์กับด้วยพระสาวกทั้งปวง ฯ พระเจ้าอชิตมหาราชถวายนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าทานการให้การบริจาคแล้ว สมควรจะให้อะไรจึงจะมีผลานิสงส์ใหญ่หลวง ลำดับนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูกรมหาราชเจ้า ชื่อว่าทานแล้วสมควรที่บุคคลจะพึงให้ทรัพย์สมบัติบ้าง เงินทองบ้าง ผ้านุ่งห่มบ้าง ดูกรมหาราชเจ้า ในกาลปางก่อน พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายมากกว่ามากเปรียบด้วยเมล็ดทรายในพระมหาสมุทร ได้ให้ทานคือบริจาคใหญ่ห้าประการแล้ว ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ถึงเราตถาคตก็ได้ให้มหาทานบริจาคแล้ว จึงได้ถึงพร้อมซึ่งความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูกรมหาราชเจ้า บุคคลบางคนปรารถนาเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชก็ดี ปรารถนาเทวสมบัติ พรหมสมบัติ นิพพานสมบัติก็ดี ย่อมได้สมบัตินั้น ๆ สมความปรารถนา ก็เพราะอาศัยทาน การให้การบริจาค อีกประการหนึ่งบุคคลจะเป็นผู้มีสีกายเหมือนอย่างสีทองก็ดี จะได้นุ่งผ้าห่มผ้ามีราคาเป็นอันมากก็ดี จะได้นุ่งผ้าห่มผ้าอันวิจิตรงดงามก็ดี ก็ย่อมได้เพราะอาศัยวัตถุทานการให้ผ้า อีกประการหนึ่ง บุคคลจะได้เป็นผู้บริบูรณ์ไปด้วยรัตนเจ็ดประการ ก็เพราะอาศัยทานการให้การบริจาค อีกประการหนึ่ง บุคคลจะได้ช้างที่ดี ม้าที่ดี รถที่ดี ทาสาที่ดี ทาสีที่ดี บุตรภรรยาที่ดี ยศที่ดี เรือนที่ดี เรือกสวนไร่นาที่ดี จะได้อวัยวะที่ดีงาม มีผมงามเป็นต้น ก็ย่อมได้เพราะอาศัยวัตถทานการให้ผ้านุ่งห่มดังนี้ ลำดับนั้น พระเจ้าอชิตมหาราชได้ทรงสดับธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็มีพระทัยเลื่อมใส จึงทรงรำพึงในพระทัยว่า ชื่อว่าทานย่อมเป็นที่ตั้งเป็นที่พึ่งของบรรดาสัตว์มีชีวิตทั้งปวง แล้วโปรดให้เปิดพระคลังสำหรับเก็บผ้าออกแล้วถวายคู่ผ้าถึงพันคู่แต่ละคู่มีราคาถึงแสนตำลึง ให้เป็นธรรมบูชาแก่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระราชทานคู่ผ้าสิบคู่แต่ละคู่มีราคาถึงแสนตำลึง แก่นางราชกัญญาทั้งหมื่นหกพันนาง ฯ ส่วนนางราชกัญญามีพระราชเทวีเป็นประธานได้รับพระราชทานผ้าทั้งสิ้นแล้ว ก็ถวายสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เป็นธรรมบูชาด้วยกันทั้งสิ้น ฯ ลำดับนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ลาพระเจ้าอชิตมหาราช เสด็จไปยังพระเชตวันมหาวิหารด้วยอำนาจพระพุทธเดชานุภาพก็บันดาลให้ผ้าทั้งสิ้นลอยขึ้นไปบนอากาศ ลอยตามสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ไปตกลงเป็นกองเดียวกันบูชาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ครั้งนั้นภิกษุทั้งหลายซึ่งประชุมกันอยู่ ณ โรงธรรมสภา ได้เห็นอัศจรรย์ฉะนั้นแล้ว ก็เจรจากันขึ้นว่า น่าอัศจรรย์หนอไม่เคยมีมามีขึ้นแล้วอานุภาพของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นของอัศจรรย์

​สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ เสด็จมาถึงจึงตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายนั่งประชุมกันอยู่ในกาลนี้ เจรจากันด้วยกถาอะไรหรือ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเจรจากันอยู่ด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นของอัศจรรย์ แล้วพระพุทธองค์จึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุอัศจรรย์เช่นนี้จะได้มีขึ้นแต่ในกาลนี้เท่านั้นก็หามิได้ ถึงในกาลปางก่อนเมื่อเรายังเป็นโพธิสัตว์อยู่ เราได้ถวายวัตถุทาน เราก็กลับไปผ้าเป็นอันมากในอัตตภาพนั้นโดยแท้ แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงนิ่งอยู่ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลวิงวอนพระพุทธองค์เพื่อประสงค์จะทราบเหตุนั้น พระพุทธองค์จึงได้นำอดีตนิทานมาแสดงต่อไปว่า

ในอดีตกาลล่วงแล้ว มีพระราชาทรงพระนามพระเจ้ากมลราช ผ่านสมบัติอยู่ในกมลนคร ครั้งนั้นพระบรมโพธิสัตว์เจ้าเป็นมาณพเลี้ยงมารดาอยู่ในพระนครนั้น วันหนึ่งพระโพธิสัตว์เจ้าเข้าไปสู่อรัญญประเทศ ด้วยกรณียกิจของตนแต่เช้า ครั้นถึงเวลาสายัณหสมัยก็กลับมาถึงท่ามกลางระหว่างมรรคา ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าถูกโจรชิงเอาจีวรเสียแล้วเหลืออยู่แต่ผ้าอุทกสาฏกเท่านั้น จึงดำริในใจว่า เวลานี้สมควรที่เราจะกระทำบุญกุศลแล้ว ก็รีบกลัดใบไม้ถวายให้พระปัจเจกโพธินุ่งแล้วกระทำผ้าสาฎกของตนสองผืนให้เป็นผ้ากาสาวพัสตร์ถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้านุ่งผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง แล้วก็ประดิษฐานยืนอยู่ พระบรมโพธิสัตว์เจ้ามีจิตเลื่อมใสจึงกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ผ้าทั้งหลายนี้จงปรากฏเป็นผ้าเป็นอันมากในทิฏฐธรรมอัตตภาพชาตินี้บ้าง ในสัมปรายภพภายหน้าบ้าง เมื่อจะกระทำความปรารถนา จึงกล่าวเป็นพระคาถาว่า

อิมินา วตฺถทาเนนมา ทลิทฺทกุเล อหุ
ทิฏฺเ วา อภิสมฺปราเย วาชายนฺตุ ทิพฺพวตฺถกา

แปลว่า ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้รู้ไปบังเกิดในตระกูลที่ยากจนขัดสนเลย และขอให้ผ้าทิพย์จงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้าในทิฏฐธรรมอัตตภาพชาตินี้และในสัมปรายภพภายหน้าด้วยวัตถุทานนี้เถิด

​เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าจะกระทำอนุโมทนา จึงกล่าวเป็นพระคาถาว่า

อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุมฺหํขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ
สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปาจนฺโท ปญฺณรโส ยถา
อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุมฺหํขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ
สพุเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปามณิ โชติรโส ยถา

แปลว่า ความปรารถนาที่ท่านตั้งไว้แล้ว จงสำเร็จแก่ท่านโดยเร็วเถิด ความดำริทั้งปวงของท่านจงเต็มบริบูรณ์ ดุจพระจันทร์ในวันขึ้นสิบห้าค่ำเถิด ความปรารถนาที่ท่านตั้งไว้แล้วจงสำเร็จแก่ท่านโดยเร็วเถิด ความหวังทั้งปวงของท่านจงเต็มบริบูรณ์ ดุจดวงแก้วมณีโชติรสให้สำเร็จความปรารถนาทุกประการเถิด

ในขณะนั้น ใบไม้ที่ลมพัดมา ก็เป็นใบไม้ดุจดังเทพยดานฤมิตเป็นผ้าทิพย์บังเกิดขึ้นแล้ว มาตกลงแทบบาทมูลของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าบังเกิดเป็นคู่ผ้าหลายแสนคู่ ด้วยอำนาจเดชานุภาพของผลทานนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็ถวายผ้าทิพย์บูชาพระปัจเจกพุทธเจ้า มิได้มีเหลือ ผ้าทิพย์เหล่านั้นก็บังเกิดเป็นบัลลังก์ขึ้นด้วยเดชานุภาพของพระปัจเจกพุทธเจ้า ๆ ก็ประทับอยู่ ณ ท่ามกลางบัลลังก์นั้น ในขณะนั้น แผ่นปฐพีใหญ่ที่หนาถึงสองแสนสี่หมื่นโยชน์ ก็สำแดงเสียงก้องกังวานตั้งร้อยเสียงพันเสียงแสนเสียง ครวญครางบันลือลั่นกัมปนาทหวาดหวั่นไหว ประดุจดังกังสะดาล (ฆ้องระฆัง) ที่บุคคลประหารด้วยค้อนเหล็กฉะนั้น พระมหาสมุทรทั้งสี่ก็ตีฟองคะนองคลื่นอยู่ฉ่าฉาด ทั้งขุนเขาสิเนรุราชก็อ่อนน้อมลงมา เสียงกึกก้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็บันลือลั่นขึ้นไปตั้งแต่พื้นปฐพีจนถึงพรหมโลก สักกพิภพ เทพสถานก็สำแดงอาการอันเร่าร้อน ด้วยเดชานุภาพผลทานของพระบรมโพธิสัตว์เจ้านั้น

ท้าวสักกเทวราชทรงอาวัชนาการทราบเหตุนั้นแล้ว ก็โยนผ้าทิพย์ลงมาถวายกระทำสักการบูชาสาธุการผืนหนึ่ง ผ้าทิพย์ผืนนั้นครั้นตกลงมาถึงท่ามกลางอากาศ ก็ขาดออกไปเป็นสองภาคสามภาคสี่ภาคจนถึงร้อยพันภาค มาตกลงแทบบาทมูล กระทำการบูชาพระบรมโพธิสัตว์เจ้า

สมเด็จพระบรมศาสดาเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงธรรมสั่งสอนสัตว์ด้วยสามารถทานบริจาค จึงตรัสว่า

​ทานการให้อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นต้นว่าให้เงินให้ทองให้ผ้านุ่งห่มหรือข้าวน้ำอาหาร ด้วยจิตของบุคคลผู้ให้นั้นผ่องใส บุคคลผู้นั้นย่อมได้ความสุขอย่างประเสริฐสามประการ ด้วยอานุภาพผลทานนั้น คือผู้บริจาคเป็นคนที่ดีย่อมได้สิ่งที่ดี ผู้บริจาคเป็นคนอุดมย่อมได้สิ่งที่อุดม ความบริจาคหาค่ามิได้ ผู้บริจาคย่อมได้สิ่งที่หาค่ามิได้ ผ้าที่บริจาคเป็นของดีผู้บริจาคย่อมได้สิ่งที่ดี ผ้าที่บริจาคเป็นของประเสริฐผู้บริจาคย่อมได้สิ่งที่ประเสริฐ ผ้าที่บริจาคเป็นของอุดมผู้บริจาคย่อมได้สิ่งที่อุดม ผ้าที่บริจาคเป็นผ้าที่หาค่ามิได้ผู้บริจาคย่อมได้สิ่งที่หาค่ามิได้ ผู้บริจาคทานย่อมมีสีดุจสีทอง มีสรีรกายบริบูรณ์ ถึงพร้อมไปด้วยด้วยสรีรกายอันงามเลิศดุจสรีรกายของเทพยดา ย่อมได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชผู้ประเสริฐ เสวยสิริรัชสมบัติพร้อมไปด้วยรัตนะเจ็ดประการ ฯ ทานการให้การบริจาคบุคคลมากระทำอยู่ ถึงจะเป็นทานเล็กน้อยก็มีผลมากถ้ายิ่งทำมากก็ยิ่งมีผลใหญ่หลวง เพราะเหตุนั้น บัณฑิตผู้มีเมธา เมื่อวัตถุที่ควรจะให้มีอยู่น้อยก็ดี มากก็ดี ก็ควรจะผจญความตระหนี่เสียบริจาคทานเถิด ทานการให้การบริจาคที่บุคคลทำไว้แล้ว เปรียบเหมือนพืชพรรณเพาะปลูกบุคคลหว่านลงไว้เช่นใด ก็ย่อมได้ผลเช่นนั้น บุคคลผู้กระทำซึ่งกรรมอันดีงาม ย่อมประสบซึ่งกรรมอันดีงาม บุคคลผู้กระทำซึ่งกรรมอันเป็นบาป ก็ย่อมประสบซึ่งกรรมอันเป็นบาป ปฐพีและสาครและภูเขาเมรุราช ย่อมสิ้นไปในกาลสิ้นยุคแห่งแสนกัปทั้งหลาย ส่วนทานที่บุคคลกระทำไว้ในพระพุทธเจ้า ย่อมไม่พินาศไป

พระโพธิสัตว์เจ้าถือเอาผ้าทิพย์ตามชอบใจแล้ว ถวายนมัสการลาพระปัจเจกพระพุทธเจ้ากลับไปยังเรือนของตน ฯ ในขณะนั้นผ้าทิพย์ทั้งหลายก็ลอยขึ้นติดตามพระมหาสัตว์เจ้า ไปตกลงประดิษฐานอยู่เหมือนอย่างกองแห่งภูเขาโดยรอบเคหะสถานของพระมหาสัตว์เจ้านั้น

ครั้งนั้นพระบรมกษัตริย์กับพระราชเทวี และมหาชนทั้งปวงมีเสนาบดีและอำมาตย์เป็นต้น ไม่สามารถจะดำรงตนอยู่ได้ ก็พากันนำช้างม้ารถนางนารีทาสาทาสีอย่างละร้อยอย่างละร้อยไปบูชาพระมหาสัตว์เจ้า ส่วนพระมหาสัตว์เจ้าก็เสวยโภคสมบัติไม่มีที่สุด กระทำกองการกุศลมีทานเป็นต้น ครั้นสิ้นอายุแล้วก็จุติไปบังเกิดเป็นเทพบุตร มีสรีรกายใหญ่ประมาณสามคาพยุต มีเครื่องประดับถึงหกสิบเล่มเกวียนอยู่ในดุสิตพิภพกับด้วยภริยา เสวยทิพย์สมบัติอยู่ในดุสิตพิภพนั้น ถึงเจ็ดโกฏิหกสิบแสนกับสี่พันปีซึ่งเป็นอายุทิพย์ ครั้นจุติจากดุสิตพิภพนั้นได้มาบังเกิดในสากยตระกูล แล้วเสด็จมหาภิเนษกรม ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

​สมเด็จพระศาสดาจารย์ นำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงเมื่อจะประชุมชาดก จึงกล่างพระคาถาในที่สุดว่า

สหสฺสเนตฺโต เทวินฺโทอนุรุทฺโธ ทิพฺพจกฺขุโก
อรฺเ เทวตา อาสิอานนฺโท อโหสิทานิ จ
กมลราชา ปุเร อาสิโมคฺคคลฺลาโน อิทานิสิ
ตสฺส เทวีปิ ภริยากีสาโคตมินามกา
มาตา อาสิ มหามายาปิตา สุทฺโธทโน อหุ
ปจฺเจกพุทฺโธ สตฺตหิโตนิพฺพุโต โส อนาสโว
มหาปุริโส โลกนาโถอหเมว ตถาคโต
เชฏฺโ เทวมนุสฺสานํเอวํ ธาเรถ ชาตกํ

แปลว่า ท้าวสหัสสเนตรเทวราชในครั้งนั้น มาเป็นพระอนุรุทธเถรทิพจักษุในครั้งนี้ อรัญญเทพยดามาเป็นพระอานนท์ พระยากมลราชมาเป็นพระโมคคัลลานะ นางเทวีซึ่งเป็นภริยาของพระมหาสัตว์เจ้า มาเป็นนางกีสาโคตมี มารดาพระมหาสัตว์เจ้ามาเป็นนางมหามายา บิดาพระมหาสัตว์เจ้ามาเป็นท้าวสุทโธทนะมหาราช พระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งทำประโยชน์แก่สัตว์นั้น ท่านสิ้นอาสวะนิพพานไปแล้ว พระมหาบุรุษซึ่งเป็นที่พึ่งของโลกมาเป็นเรา ผู้ตถาคตผู้เป็นเชฏฐของเทวดามนุษย์ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดกนี้ไว้ ด้วยประการฉะนี้

จบจาคทานชาดก

แชร์เลย

Comments

comments

Share: