ทศชาติชาดก พระเจ้าสิบชาติ

พระวิธูรบัณฑิต

เรื่องวิธูรบัณฑิตนี้เป็นเรื่องที่   ๙

ในเรื่องพระเจ้าสิบชาติ เบื้องต้นได้แสดงผล

ของการเล่นพนัน อันให้ผลไม่ดีแก่พระเจ้าธนญชัยโกรพ

โดยที่แท้แล้วการพนันไม่ให้ผลแก่ใครเลย ล้วนแต่มีข้อเสียหายทั้งนั้น

ในชาดกเรื่องต่าง ๆ ก็แสดงโทษของการพนันไว้มากมายหลายอย่าง

แม้ในมหากาพย์มหาภารตยุทธ อันเป็นประวัติศาสตร์ของทุ่งกุรุเกษตร

ก็ได้แสดงผลของการพนันไว้อย่างหาที่อื่นเทียบไม่ได้ รวมความแล้ว

การพนันไม่ให้ผลดีแก่ใครเลย มีแต่ผลเสียมากกว่า ดังในเรื่องต่อไปนี้

     พระเจ้าธนญชัยโกรพ ได้ครองราชสมบัติอยู่ในอินทปัตถ์นครแคว้นกุรุราฐ วิธูรบัณฑิตเป็นอำมาตย์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมและเป็นผู้สั่งสอนอรรทธรรมด้วย คำโบราณที่กล่าวไว้ว่า “ปากเป็นเอก เลขป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นตรานั้น” เป็นจะไม่ผิดนัก เพราะวิธูรบัณฑิตผู้นี้มีปากเป็นเอกจริง ๆ ในการสั่งสอนให้คนละชั่ว ประพฤติความดี เวลาที่เขาพูดชาวพระนครจะฟังด้วยความสงบและพอใจ

   ก่อนจะเล่าเรื่องวิธูรต่อไป ขอย้อนไปถึงความเดิมเสียก่อนว่า มีฤาษี   ๔ องค์   เดิมเป็นชาวบ้านธรรมดานี่แหละ แต่เพราะเบื่อบ้านเลยออกบวเป็นฤาษี สำเร็จโลกียฌาน เหาะเหินเดินอากาศได้เสียด้วย ฤาษีทั้ง   ๔   นี่เคยเป็นสหายกันมาตั้งแต่ยังไม่ได้ออกบวช ถึงบวชแล้วก็ยังเป็นสหายกันอยู่ ออกไปบำเพ็ญฌานอยู่ในป่าหิมพานต์ พอใกล้จะถึงหน้าฝน ฤาษีเหล่านั้นก็พากันเข้ามาจำพรรษา คือหลบฝนนั้นแหละในเมือง และก็บังเอิญเหลือเกินในเมืองนั้นมีคนร่ำรวย   ๔ คนเป็นเพื่อนกัน   เห็นฤาษีเหล่านั้นก็เกิดความเลื่อมใส ให้คนนิมนต์ไปพักยังสถานของตนคนละองค์ แล้งบำรุงด้วยข้าวน้ำเครื่องนุ่งห่มตามสมควร ดาบสทั้ง   ๔ นั้น กลางวันก็ไปพักยังสถานที่ต่าง ๆ ตอนเย็นจึงกลับมารับนิมนต์ไว้

องค์หนึ่งกลางวันไปพักในดาวดึงส์เทวโลก

องค์หนึ่งกลางวันไปพักในเมืองบาดาล

องค์หนึ่งกลางวันในพิภพพญาครุฑ

องค์หนึ่งกลางวันไปพักในราชอุทยานของพระเจ้าธนญชัยโกรพ

    เมื่อกลับมาแล้วก็พรรณาสมบัติของพระอินทร์ พญานาค พญาครุฑ และสมบัติของพระเจ้าธนญชัยโกรพ ให้คนรวยเหล่านั้นฟัง พวกเขาเหล่านั้นฟังแล้วก้เกิดอยากได้ ทำบุญแล้วก็ปรารถนาให้ได้สมบัตินั้น ๆ   ครั้นสิ้นชีพก็ได้ไปบังเกิดในสถานที่เหล่านั้น

คนหนึ่งได้ไปบังเกิดเป็นพระอินทร์ในดาวดึงส์

คนหนึ่งได้ไปบังเกิดเป็นพญานาคอยู่   ณ  นาคพิภพ

คนหนึ่งได้ไปบังเกิดเป็นพญาครุฑอยู่   ณ  วิมานฉิมพลี

คนหนึ่งได้ไปบังเกิดเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าธนญชัยโกรพ มีนามว่าโกรพกุมาร

    เมื่อโกรพกุมาร ได้ครองราชสมบัติก็ปฎิบัติตนอยู่ในโอวาทของวิธูรบัณฑิต แต่ทั้ง ๆ ท้าวเธอทรงศีลและปฎิบัติตามทศพิธราชธรรม ก็ยังปรากกฎว่าพระองค์ชอบเล่นสกามากทีเดียว การทอดสกาของพระเจ้าโกรพ ไม่มีผู้ใดจะชนะได้เลย เพราะนางเทพธิดาตนหนึ่งได้พิทักษ์รักษาท้าวเธอ คอยกลับลูกสกาที่ทอดให้ได้แต้มดี โดยคนอื่นไม่รู้ไม่เห็นเลย

    เมื่อถึงวันอุโบสถ ท้าวเธอก็สละราชสมบัติออกไปรักษาอุโบสถอยู่ในพระราชอุทยาน ถึงพระอินทร์ พญานาค และพญาครุฑ ก็มารักษาพระอุโบสถอยู่ด้วยกัน แต่ยังมิได้พบกัน เพราะต่างคนต่างก็นั่งอยู่ที่แห่งหนึ่ง ตอนเย็นออกจากที่นั่งเจริญสมาบัติจึงได้พบกัน พอพบกันด้วยวาสนาคบค้าชอบพอกันมาแต่ชาติปางก่อน จึงเป็นเหตุให้ชอบพอกัน ต่างก็สนทนาปราศรัยกันจึงมีปัญหาเกิดขึ้นในระหว่างท้าวเธอทั้ง   ๔ ว่า   เราต่างคนก็ต่างละเคหะสถานออกมาถืออุโบสถอย่างนี้ ศีลของใครจะประเสริฐกว่ากัน พระพญาวรุณนาคราชกล่าวขึ้นก่อนว่า

   “ของข้าพเจ้าสิประเสริฐกว่าของใคร”

   “เพราะอะไร”

   “ข้าพเจ้าอดทน โทโส  ได้ เพราะธรรมดานาคย่อมเป็นศัตรูทำลายล้างผลาญ เพราะฉะนั้นเมื่อข้าพเจ้าเป็นแทนที่จะโทโสข้าพเจ้ากลับข่ม ความโกรธ  เสียได้ จึงเห็นว่าศีลของข้าพเจ้านั้นแหละประเสริฐกว่าท่านทั้งสาม” พญาครุฑจึงว่า

   “ศีลของข้าพเจ้าสิจึงจะประเสริฐกว่าบองท่านทั้งหลาย”

   “เพราะอะไรล่ะ ?”

   “เพราะข้าพเจ้าอดกลั้น ความอยาก  ไว้ได้ ตามธรรมดาแล้วนาคเป็นอาหารอันโอชาของข้าพเจ้า ถ้าพบทีไรหมายความว่านาคต้องจะต้องไปอยู่ในท้องข้าพเจ้า แต่เพราะข้าพเจ้ารักษาศีลจึงเป็นเหตุให้อดกลั้นต่อความอดอยาก ไม่ละเมิดองค์ศีล นี่แหละจึงเห็นว่าศีลของข้าพเจ้าดีกว่าศีลของท่านทั้งหลาย” สมเด็จท้าวอมรินทร์ก็ตรัสขึ้นมาบ้างว่า

   “ข้าพเจ้าว่าศีลของข้าพเจ้าสิประเสริฐกว่าท่านทั้งหลาย”

   “เพราะอะไร ?”

   “เพราะข้าพเจ้าสละทรัพย์สมบัติทิพย์ อันประกอบด้วย  กามคุณ อันได้แก่ความสนุกสนานเพลิดเพลินเสียได้ ลงมารักษาอุโบสถ จึงเห็นได้ว่าศีลของข้าพเจ้าสิประเสริฐกว่าคนอื่น” พระเจ้าโกรพก็ตรัสบ้าง

   “แต่ข้าพเจ้าว่าศีลของข้าพเจ้าประเสริฐกว่าของพวกท่าน”

   “เพราะอะไร”

   “ก็เพราะข้าพเจ้าได้ตรองเห็นโทษของ  กามคุณ จึงได้สละออกมารักษาอุโบสถศีล ฉะนั้นข้าพเจ้ามารักษารักษาอุโบสถด้วยการพิจารณาเห็นคุณและโทษแล้ว จึงเห็นว่าศีลของข้าพเจ้าดีกว่าของคนอื่น”

   ต่างคนก็ต่างสรรเสริญศีลของกันและกัน แต่ก็ยังไม่ยอมให้ใคร ดีกว่า

   ขณะนั้นนั้นเอง ท้าวเธออมรินทราธิราชจึงตรัสถามพระเจ้าโกรพขึ้นว่า

   “พระราชสมภารในแว่นแคว้นนี้ไปมีผู้เป็นนักปราชญ์บ้างหรือ”

   “มีสิท่าน”

   “ใครล่ะ?”

   “วิธูรบัณฑิตของข้าพเจ้าเอง”

   “ถ้าอย่างนั้น พวกเราไปบ้านเจ้าวิธูรให้เขาตัดสินดีกว่า”

    เมื่อเห็นพร้อมกันอย่างนั้น พระเจ้าโกรพก็พาพระอินทร์ พญานาค พญาครุฑ ไปยังสำนักเจ้าวิธูร เชื้อเชิญให้เจ้าวิธูรตัดสินโดยตบแต่งที่นั่งให้ดีแล้วเชิญวิธูรขึ้นนั่ง พลางพระโกรพก็ตรัสเล่าเรื่องทั้งหมดต่างรักษาอุโบสถ แต่ยังตกลงกันไม่ได้ว่าศีลของใครดีกว่ากันแน่ วิธูรบัณฑิตก็ให้คนทั้ง   ๔ เล่าให้ฟัง   เมื่อได้สดับฟังแล้วก็เห็นว่าคุณธรรมทั้ง   ๔ นั้นเสมอกัน   มิได้มีใครสูงต่ำกว่ากัน จึงตรัสว่า

   “ขอเดขะ ศีลของพระองค์ทั้ง   ๔ เสมอกัน   มิได้สูงกว่ากัน”

๔   ได้สดับก็เกิดโสมนัสปีติยินดี ท้าวอมรินทร์บูชาด้วย  ผ้าวิเศษทุกุลพัสตร์ มีเนื้อละเอียดเหงื่อไคลไม่สามารถจะจับได้ พร้อมกับตรัสว่า   “ผ้าทิพย์ผืนนี้ข้าพเจ้าขอบูชาธรรม”

   พญาครุฑก็บูชาด้วย    ดอกไม้ทอง

   ส่วนนาคก็บูชาด้วย   แก้วคล้องอยู่ที่พระศอ

   พระเจ้าโกรพทรงบูชาด้วย   โคนมถึงพันตัว

  แล้วต่างองค์ต่างก็กลับยังสถานที่อยู่ของตน พญานาคพอกลับลงไปถึงบาดาล วิมาลามเหสีเห็นแก้วที่ห้อยพระศอพญานาคหายไปก็ถามขึ้น พญานาคก็ตอบว่าได้บูชาธรรมที่วิธูรบัณฑิตแสดงไปเสียแล้ว

   วิมาลามเหสีก็อยากจะสดับธรรมบ้าง แต่เห็นว่าตนจะขึ้นไปฟังธรรมก็ไม่ได้ จะเอาวิธูรลงมาเทศให้ฟังก็คงไม่มีทางเพราะท้าววรุณนาคราชคงไม่อาจจะทำได้ เพราะเคารพเจ้าวิธูรมาก ทำอย่างไรจึงจะได้ฟังธรรม เห็นจะต้องใช้กลอุบาย ดังนั้นนางจึงทำเป็นป่วยไม่สบายไป เมื่อท้าววรุณนาคราชมาถามก็แกล้งทำเป็นอิดเอื้อน และแกล้งทำเป็นเฉยเสียไมได้ตอบว่า

   “ขอเดชะ กระหม่อมฉันป่วยไข้ครั้งนี้ ถ้าไม่เห็นหัวใจเจ้าวิธูรมาแล้วเห็นจะไม่มีชีวิตต่อไป แต่ว่าต้องได้มาโดยชอบธรรม คือเจ้าตัวยินดีจะให้ด้วย” ท้าววรุณก็หนักใจจึงปรารภกับพระนางว่า

   “น้อง เรื่องนี้เห็นจะยาก เพราะเจ้าวิธูรนั้นพระเจ้าแผ่นดินรักษากวดขันนัก เพียงแต่จะได้เห็นก็ยังยากอยู่ แล้วใครเลยจะสามารถไปเอาตัวเจ้าวิธูรมาได้ เห็นจะไม่สำเร็จเสียแล้ว”

     เมื่อเห็นว่านางยังมีอาการเช่นเดิม ท้าวเธอก็กลัดกลุ้มกินไม่ได้นอนไม่หลับ ร่างกายซูบผอมผิดปกติไป อิรันทตีผู้เป็นราชธิดาเห็นจึงสอบถามได้ความว่า มารดาอยากได้หัวใจเจ้าวิธูร จึงทูลว่า

   “ขอเดชะ หากพระราชบิดาไม่มีความสามารถแล้ว กระหม่อมฉันจะขอรับอาสาที่จะนำหัวใจเจ้าวิธูรมาให้พระมารดาให้ได้” พร้อมกับทูลลาไป ท้าววรุณนาคราชก็อวยพรให้ได้การให้ไปได้รับความสำเร็จกลับมา

     อิรันทตีเมื่อออกจากวังแล้ว ก็แทรกน้ำขึ้นมายังเมืองมนุษย์โลก และเหาะไปยังเขากาลคีลีอันสูงถึง   ๖๐ โยชน์   ครั้นถึงแล้วก็ตกแต่งชะง้อนหินแห่งหนึ่งด้วยดอกไม้หลายหลาก และตนเองประดับประดาเครื่องแต่งตัวอย่างงดงาม ยืนฟ้อนรำขับร้องอยู่ยังสถานที่นั้น

     ข้อความขับร้องนั้นก็พรรณนาถึงความงามของนางและความปรารถนาที่นางจะได้ดวงใจของเจ้าวิธูร มิว่าผู้ใดทำให้สำเร็จความประสงค์ของนางได้ นางจะมอบตัวให้เป็นคู่ครองของผู้นั้น

     ในขณะนั้นเองยักษ์เสนาบดีของท้าวกุเวร หรือเรียกอย่างหนึ่งว่า ท้าวเวสสุวัณ อันมีนามว่าปูณณกะ เผอิญขี่ม้าเหาะผ่านมาทางนั้น พอได้ยินเสียงนางก็รู้สึกเพราะจับจิตจับใจเหลือเกิน จึงเข้าไปสอบถาม เมื่อทราบความแล้วก็กล่าวว่า

   “แม่อิรันทตี นี่เป็นเรื่องเล็กเหลือเกิน ข้าพเจ้าอาสาจะนำหัวใจเจ้าวิธูรมาให้แม่ให้ได้ และเมื่อนั้นก็จะขอตัวเจ้าเป็นคู่ครอง”

   “ถ้าท่านทำได้อย่างปากว่า ข้าพเจ้าก็ยินดี” ปูณณกะยักษ์ขับเข้าม้าเข้ามาใกล้นาง พลางกล่าวชวนเชิญนางขึ้นหลังม้าเพื่อจะพานางไป แต่นางท้วงว่า

   “หากท่านปฎิบัติงานสำเร็จ ได้ดวงใจเจ้าวิธูรมาให้มารดาแล้ว ข้าพเจ้ายินดีเป็นคู่ครองของท่าน แต่เวลานี้ต้องขอตัวก่อน”

   “ถ้าอย่างนั้นอีก   ๒ – ๓ วัน   เราจะนำหัวใจเจ้าวิธูรมา”

   “ขอให้ท่านจงโชคดีเถิด”

     แล้วปุณณกะยักษ์ก็ขับม้ากลับไปยังสถานที่ของตน ปุณณกะยักษ์จะขาดเฝ้ามิได้ จึงคิดหาอุบายหลีกเลี่ยงไม่ต้องเฝ้าท้าวเวสสุวัณ พอดีวันนี้มีคดีระหว่าง   ๒ ยักษ์เกิดขึ้น   เรื่องถึงท้าวเวสสุวัณตัดสิน ปุณณกะยักษ์รู้ดีว่าถ้าไปลาเพื่อจะออกไปเอาหัวใจเจ้าวิธูรก็จะไม่ได้รับอนุญาต

     จึงไปแอบที่หลังของยักษ์ที่ชนะหมอบกราบอยู่ พอท้าวเวสสุวัณตรัสกับผู้ชนะว่า ไปได้ เป็นคำอนุญาติแล้วขึ้นมา คิดว่าจะไปจับตัวเจ้าวิธูร แล้วก็กลับมาคิดได้ว่าเจ้าวิธูรมีข้าทาสบริวารมากมายเห็นจะไม่ได้ และเห็นกลอุบายอย่างหนึ่ง เพราะเขาทราบมาว่าพระเจ้าโกรพทรงติดสกางอมแงม ถ้าใครไปเล่นก็มีหวังจะแพ้ เพราะพระองค์ทอดแต้มลูกสกาได้อย่างกับมือผีพลิก

     ก็จะอะไรเสียอีก มือผีพลิกจริง ๆ ปุณณกะยักษ์เห็นชนะพระเจ้าโกรพได้ง่าย ๆ ดังนั้นจึงเอาแก้วมณีชื่อมโนหรได้แล้ว ก็ควบม้าตรงไปยังอินทปัตย์

     ครั้นมาถึงก็ตรงเข้าไปเฝ้า ท้าวเธอก็ตรัสถามเป็นเชิงสนทนา ปุณณกะยักษ์ก็ได้ตอบตามสมควรพร้อมกับกล่าวว่า

   “ขอเดชะ ข้าพระองค์ได้ทราบข่าวว่าพระองค์เชี่ยวชาญทางสกานัก ข้าพระองค์จึงได้ดั้นด้นมมาเพื่อจะดูแต้มสกาของพระองค์สักหน่อย”

   “พระเจ้าโกรพทรงพระสรวลด้วยความพระทัย พร้อมกับตรัสว่า

   “เชื่ออะไรใครว่าเราเก่ง เราเดินได้เพียงเล็กน้อย เล่นแก้รำคาญล่ะมากกว่า”

   “ข้าพระองค์อยากเห็นจริง ๆ”

   “ได้ แต่ท่านมีอะไรมาวางเป็นเดิมพันล่ะ”

     ปุณณกะยักษ์ขยายเอาแก้วมโนหรออกมา แสงสว่างก็รุ่งเรืองพราวพรายไปทั่วทั้งบริเวร พร้อมกับทูลว่า

   “ของเล็กน้อยเช่นนี้ พอจะเดิมพันได้หรือยัง”

   “ได้ พอดีเสียอีกน่ะสิ”

   “ม้าของท่านดีอย่างไร?”

   “ม้าของข้าพเจ้ามีความเร็วหาที่เปรียบมิได้ เพราะว่าความเร็วของมันจะว่าอย่างลดก็เร็วกว่าลม ควรจะบอกว่าเร็วกว่าลมกลดพระเจ้าค่ะ” ถ้าเป็นสมัยนี้ล่ะก็ คงจะเร็วยิ่งกว่าจรวด หรือไอพ่นทุกชนิดรวมกันอีก

     พระเจ้าโกสพจึงตรัสให้ทดลองให้ดู พระนครนั้นวัดวงกลมได้   ๑๒ โยชน์ ปุณณกะยักษ์จึงเอาผ้าแดงคาดเอวแล้วก็ขึ้นม้า พลางร้องทูลว่า

   “ขอพระองค์ทอดพระเนตรความเร็ว แล้วก็ขับควบออกไปบนกำแพงพระนคร สักครู่ก็แลไม่เห็นตัวม้าและคนขี่ เห็นแต่สีแดงพาดเป็นแผ่นเดียวกันตลอดรอบพระนคร เมื่อขับขี่พอสมควรแล้วก็ลงจากหลังม้า บอกให้ม้าโดดลงในสระม้าก็วิ่งลงไป แม้น้ำก็ไม่กระเพื่อม วิ่งไปแล้วก็ขึ้นมา บอกให้วิ่งแสดงตัวเบา ม้าก็โดดลงโผบนใบบัวนิ่งอยู่บนใบบัวก็ไม่จมน้ำ

     พระเจ้าโกรพจึงตรัสกับปุณณกะยักษ์

   “ความเร็วและความวิเศษของม้าเราได้เห็นแล้ว ทีนี้ความดีของแก้วล่ะ”

   “ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตร ทรงนึกว่าดูอะไรก็โปรดนึกแล้วจะทอดพระเนตรเห็นจริง” แล้วก็แลดูไปก็เห็นจริงตาม

     แล้วก็แลดูไปก็เห็นจริงตามมาณพว่า แม้ในนรก สวรรค์ก็เห็นได้ดังใจนึก เมื่อพระเจ้าโกรพทอดพระเนตร

   “วิเศษจริง ๆ”

   “ข้าพระองค์เอาแก้วกับเอาม้าตัวนี้เป็นเดิมพันของการพนันสกา” แล้วทูลต่อไปว่า

   “แล้วพระองค์เอาอะไรเป็นเดิมพัน”

   “มาณพ ถ้าเราแพ้แก่ท่านเราจะยกราชสมบัติและแผ่นดินทั้งปวงที่เราครองให้แก่ท่าน ยกเว้นเรา เศวตฉัตร และอัครมเหสีเท่านั้น”

   “ถ้าอย่างนั้นก็เป็นอันตกลง ขอพระองค์ได้โปรดจัดสถานที่ ๆ จะเล่นเถิด” พระโกรพก็สั่งให้จัดที่

     เมื่อประจำที่ พระเจ้าธนญชัยโกรพก็ตรัสให้ปุณณกะยักษ์ให้ท้าวเธอทอดก่อน เพราะท้าวเธอถือแต้มลูกบาศสูงกว่า ท้าวเธอก็เริ่มขับมนต์สรรเสริญมารดาและขอให้นางผู้เป็นมารดร ซึ่งเป็นอารักขเทพมาช่วยพลิกลูกสกาให้มีแต้มดีชนะแก่ปุณณกะยักษ์ แล้วก็ทอดไป ด้วยอภินิหารของปุณณกะยักษ์ บังคับให้ออกแต้มไม่ดีแต่ยังไม่ตกถึงพื้น พระเจ้าธนญชัยโกรพทรงมองเห็นลางแพ้ ก็รีบรับลูกบาศก่อนจะตกถึงพื้น แล้วทอดลูกใหม่ลูกบาศก็แต้มอย่างเดิมอีก

     พระองค์ก็รับไว้อีก เป็นอย่างนี้ถึง   ๓ ครั้ง ปุณณกะยักษ์ชักเอะใจ เออ กษัตริย์องค์นี้ช่างว่องไวหนักหนา เรายังคับลูกบาศเพื่อจะให้แพ้ แต่ท้าวเธอก็รับไว้เสียก่อนตกพื้นถึง ๓ ครั้ง คงจะมีอะไรเกิดขึ้นเป็นแน่ จึงเล็งแลเห็นนางเทพธิดามาคอยช่วงรับลูกบาศ จึงถลึงตาเป็นเชิงโกรธ

      นางเทพธิดานั้นเห็นปุณณกะยักษ์ถลึงตาใส่ก็กลัว เพราะอนุภาพของปุณณกะยักษ์นั้นไม่ใช่น้อย เป็นถึงยักษ์เสนาบดีมีมหิทธานุภาพมากมายนัก จึงหลบหนีออกไปจากสถานที่แห่งนั้นอย่างอกสั่นขวัญแขวนทีเดียว ไปถึงขอบจักรวาลแล้วก็ยืนหอบหายใจ ใจเต้นเป็นตีกลองอยู่นั้นเหละ เออ น่ากลัวจริง ๆ

เมื่อปุณณกะกำจัดให้เทพธิดาหนีไปได้แล้ว เมื่อท้างเธอทอดลูกบาศออกไป แม้จะมองเห็นว่าเมื่อตกถึงพื้นจะต้องแพ้เพราะแต้มไม่ดี ท้าวเธอก็ไม่สามารถจะรับลูกบาศไว้ได้ต้องปล่อยให้ตกพื้น ผลก็คือแต้มแพ้

   ถ้าพูดอย่างนักเลงลูกเต๋า ในฐานะที่พระเจ้าธนญชัยโกรพทอดก่อนก็เป็นเจ้ามือ และแทนที่จะเป้า คือมีแต้มเดียวกันทั้ง  ๓  หรือ ๔ – ๕ – ๖   ซึ่งเรียกว่าโง่วลัก อันเป็นแต้มที่ต้องกินลูกค้าทั้งหมด   กลับเป็น ๑ -๒ -๓  ซึ่งเรียกว่าหัก อันเป็นแต้มที่จ่ายรอบวง

   นี่ก็เช่นเดียวกัน พอทอดก็ตกเป็นแต้มที่ต้องจ่าย โดยอีกฝ่ายไม่ต้องทอดเลย เป็นอันว่าท้าวเธอแพ้โดยที่จะต้องจ่ายราชสมบัติพร้อมทั้งประเทศให้แก่ฝ่านชนะ คือปุณณกะยักษ์

     เมื่อเป็นเช่นนั้นฝ่ายผู้ชนะคือปุณณกะยักษ์ก็เรียกร้องค่าเดิมพัน

   ทรัพย์สินเงินทองและช้างม้าวัวควาย ตลอดจนข้าทาสทั้งหลายข้าพเจ้าไม่ต้องการ ยินดียกให้พระองค์ทั้งหมด แต่ข้าพระองค์จะขอเพียงเจ้าวิธูรคนเดียวเท่านั้น”

   เห็นจะต้องขัดข้องเสียแล้วกระมัง”

   “เพราะอะไร?”

   “เพราะวิธูรบัณฑิตมิใช่สมบัติของข้าพเจ้า ๆ ไม่อาจจะให้ได้ นอกจากนี้ท่านปรารถนาอะไรเอาไปเถอะ”

    “ไม่ได้ ข้าพระองค์ปรารถนาเพียงเจ้าวิธูรเท่านั้น”

   “เราก็บอกท่านแล้วว่าวิธูรบัณฑิตผู้อาจารย์ของเรานั้นไม่ใช่สมบัติของเราที่จะยกให้ใครได้”

   “พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า สมบัติในแผ่นดินเว้นจากพระองค์และพระมเหสีและเศวตฉัตรแล้ว พระองค์จะยอมยกให้ทุกอย่าง”

   “จริงอย่างนั้น แต่ท่านวิธูรนั้นเหมือนตัวเรา และหัวใจของเรา ๆ จึงยอมให้ไม่ใด้”

   “ถ้าอย่างนั้นกระหม่อมฉันเห็นว่าต้องให้วิธูรบัณฑิตเป็นผู้ตัดสินว่าควรจะเป็นประการใด”

     เรื่องก็เป็นอันตกลงว่าต้องให้วิธูรบัณฑิตเป็นผู้ตัดสินว่าควรเป็นประการใด จึงรับสั่งให้ไปตามเจ้าวิธูรมา เมื่อเจ้าวิธูรมาแล้วจึงตรัสเล่าความให้ฟัง และปุณณกะยักษ์ได้กล่าวเสริมว่า

   “เจ้าบัณฑิต เราได้ยินข่าวลือว่าเจ้าเป็นบัณฑิตทรงตรงไว้ซึ่งธรรมสุจริต เพราะฉะนั้นเจ้าบอกเราได้หรือไม่ว่า เจ้านั้นเสมอพระมหากษัตริย์หรือเป็นเพียงข้าทาสของพระองค์เท่านั้น”

   วิธูรบัณฑิตได้ยินเช่นนั้นก็ดำริว่า

   “หากว่าเราจะกล่าวว่าเป็นญาติของพระเจ้าแผ่นดิน มาณพนี้จะเชื่อหรือ หากจะพูดว่าเป็นผู้ยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินก็จะได้แต่ความจริงเราเป็นผู้ได้รับการเลี้ยงดูจากพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉะนั้นพระองค์เป็นเจ้านายเรา เราเป็นทาสของพระองค์ถึงเราจะเป็นอย่างไรเราก็จะไม่พูดปดมดเท็ดเป็นอันขาด”

   จึงบอกว่า

   “มาณพ ข้าพเจ้าจึงเป็นทาสของพระราชา หาใช่จะเสมอกับพระเจ้าแผ่นดินไม่”

   ปุณณกะยักษ์ตบมือดังสนั่น พลางพูดว่า

   “วันนี้เราชนะพระราชาถึง ๒ ครั้ง ครั้งเเรกด้วยการทอดบาสสกาพนัน ครั้งที่สองด้วยการตัดสินของเจ้าวิธูร ดังนี้จะเห็นได้ว่าพระเจ้าแผ่นดินทำไมจึงจะหน่วงเหนี่ยวไม่ยอมให้เจ้าวิธูรไปกับเรา” พระเจ้าธนญชัยโกรพทรงกริ้วเจ้าวิธูรอยู่แล้วที่เห็นว่ามาณพดีกว่าพระองค์ จึงได้พูดจาเอนเอียงไปทางมาณพ จึงตรัสกับปุณณกะยักษ์ว่า

   “เมื่อเจ้าปราชญ์เขาปฎิญาณตนว่าเป็นทาสเรา เราก็ยินดีจะมอบให้กับท่านตามประสงค์ แล้วแต่ท่านจะจัดการเอาเถิด แต่ว่าเมื่อเจ้าปราชญ์ไปแล้ว เมื่อใดเราจะได้ฟังเทศนาอันไพเราะอีกเล่า ขอเจ้าปราชญ์จงแสดงธรรมสั่งสอนคนที่ครองเรือนเป็นครั้งสุดท้ายเถิด”

   เจ้าวิธูรก็รับคำ พระองค์จึงให้จัดที่นั่งแสดงธรรมอันควร แล้วก็เจ้าวิธูรนั่งบนที่นั่ง ให้โอวาทแก่พระองค์

     ครั้นจบแล้วปุณณกะยักษ์ก็ชักชวนให้เจ้าวิธูรออกเดินทางไปด้วยกัน แต่วิธูรขอทุเลาก่อน  ๔ วัน เพื่อไปจัดการอะไรให้เรียบร้อยเสียก่อนปุณณกะยักษ์ก็ยินยอม

   ในระยะ   ๓ วันนั้น วิธูรจัดสถานที่ให้ปุณณกะยักษ์อาศัยพักผ่อนเป็นอันดี ยามราตรีก็มีดนตรีมาขับกล่อมประโคม ถึงเวลาโภชนาอาหารก็บำรุงบำเรอเป็นอย่างดี แล้ววิธูรก็ลาภารยา และบุตรและสะใภ้ ตลอดจนข้าทาสบริวานทั้งหลายเพื่อออกเดินทางไปกับมาณพ และก็ให้โอวาทแก่คนเหล่านั้น เพื่อปฎิบัติชอบกับพระเจ้าแผ่นดิน

   เมื่อครบ   ๓ วันแล้ว ก็ไปถวายบังคมลาพระเจ้าโกรพตลอดจนมหาชนชาวพระนคร แล้วก็ออกเดินทางไปกับปุถณณกะยักษ์ ปุณณกะยักษ์ปรารถนาจะได้หัวใจเจ้าวิธูรอย่างเดียวเท่านั้น จึงบอกกับวิธูรว่า

   “เจ้าไม่มีทางจะได้กลับมายังเมืองมนุษย์อีกแล้ว เพราะฉะนั้นเจ้าจงจับหางม้าของเราไว้ให้มั่นอย่าได้ตกใจกลัว เราจะรีบขับม้าไป” ปุณณกะยักษ์คิดจะขี่ม้าไปในภูเขาและป่าไม้ เพื่อจะให้ร่างของพระวิธูรกระแทกกับภูเขาหรือต้นไม้จะได้ตายไป ตนจะได้เอาหัวใจไปถวายพญาวรุณนาคราช แต่จะขับม้าแทรกไปในที่แห่งใดก็ตาม ที่เหล่านั้นก็แหวกเป็นช่องไปไม่กระทบกายของพระวิธูรเลย เพราะอำนาจศีลสัตย์ที่พระวิธูรได้รักษานั้นเอง

     เมื่อเห็นว่าภูเขาและต้นไม้ไม่กระทบร่างกายเจ้าวิธูรแน่แล้วก็คิดจะฆ่าด้วยลมกรด เพราะธรรมดาลมนี้พัดผ่านถูกใครเข้าแล้ว ผู้นั้นจะต้องกระจัดกระจายไปด้วยอำนาจลม แต่นี่ลมก็แยกออกเป็น   ๒ ภาค ไม่ถูกกายของพระวิธูรอีก แม้จะขับม้าไปกลับมตั้ง   ๒ – ๓ เที่ยว  ก็ไม่สามารถจะให้พระวิธูรตายได้ เหลียวหลังกลับมาดู ก็เห็นเจ้าวิธูรหน้าตาผ่องใสเกาะหางม้ามั่นคงอยู่เห็นว่าพระวิธูรไม่ตายด้วยลมกรดแล้ว ก็ชักม้ามายังภูเขาให้เจ้าวิธูรนั่งบนยอดเขา คิดแต่จะให้ตายให้ได้มิฉะนั้นความรักของเราก็ไม่สำเร็จ แต่จะฆ่าด้วยมือตัวเองก็มิได้

     เมื่อเห็นพระวิธูรนั่งเรียบร้อยดีแล้ว ตัวเองก็เนรมิตเป็นยักษ์ใหญ่ปานภูเขาหิมพานต์ร้องตวาดเสียงดังฟ้าลั่น ตาแดงดุจแสงพระอาทิตย์ ผลักเจ้าวิธูรให้นอนหงาย แล้วจับใส่เข้าปากทำเหมือนจะเคี้ยวเสียให้ตาย แต่เจ้าวิธูรก็มิได้กลัว เพราะปลงตกเสียแล้ว ตามแต่เขาจะทำประการใดก็ช่าง เพราะฉะนั้นถึงจะมีอะไรเกิดขึ้น พระวิธูรก็ไม่กลัว จะทำอย่างไรก็เฉยเหมือนไม่มีชีวิตจิตใจ

   ปุณณกะยักษ์จะแปลงกายอย่างไร เพื่อให้ตกใจกลัวก็ไม่สำเร็จ เลยบันดาลด้วยฤทธื์เป็นลมมีกำลังแรงเพื่อจะพัดเจ้าวิธูรให้ตกจากยอดเขาถึงแก่ความตาย แต่ก็ไม่สามารถจะพัดให้เจ้าวิธูรให้ตกไปได้ จึงแทรกกายไปในภูเขาโผล่มาขึ้นมาคว้าเจ้าวิธูรได้ก็ขว้างไปด้วยกำลังไกลถึง   ๑๕ โยชน์   เจ้าวิธูรก็ไม่ตายอีก ก็คิดจะฟาดกับภูเขาให้ถึงแก่ความตาย

     เป็นอันว่าความคิดของปุณณกะยักษ์ที่คิดจะให้เจ้าวิธูรตายเองนั้นไม่สำเร็จ จึงคิดจะฆ่าด้วยมือของตัวเองล่ะ

   พระวิธูรคิดว่า เออ.. มาณพนั้นช่างกระไรโหดเหี้ยมเหลือประมาณ ดูว่ามีความต้องการจะฆ่าเราเสียจริง ๆ จำเราจะต้องถามดูให้รู้เหตุ จึงถามว่า

   “มาณพ ท่านนี้มีนามใด เป็นพวกพ้องของยักษ์ตนใดจึงมีใจโหดเหี้ยมเหลือประมาณ”

   “เราชื่อปุณณกะยักษ์ เป็นหลานและอำมาตย์ของท้าวเวสสุวัณ”

   “ทำไมท่านจึงพยายามฆ่าเรา”

   “เพราะเราอยากได้นางอินทตี ธิดาของพญาวรุณนาคราช”

   “นางอยากฆ่าเราให้ตายนักรึ ท่านถึงได้พยายามเป็นนักหนาที่จะฆ่าเรา”

   “นางก็ไม่ได้บอกว่าให้เราฆ่าท่าน แต่นางว่าถ้าใครรับอาสาไปนำเอาหัวใจเจ้าวิธูรบัณฑิตมาถวายพระวิมาลาชนนีของนางได้ นางยินดีจะมอบกายและใจให้กับผู้นั้น เราพยายามที่จะทำให้ท่านตาย เพื่อจะนำเอาหัวใจของทานไปถวายพระวิมาลาชนนีของอินทตี”

     พอได้ยินเท่านั้นเจ้าวิธูรก็คาดคะแนความได้ตลอดว่าเพราะนางวิมาลาต้องการจะได้สดับธรรมจากเรา จึงได้บอกกันพญาวรุณนาคราช ซึ่งก็นึกไม่ถึงว่านางอยากจะฟังธรรมกลับคิดว่านางอยากได้หัวใจเรา ธรรมดานักปราชญ์คำสั่งสอนนั้นแหละเป็นหัวใจล่ะ เราต้องทรมานปุณณกะยักษ์ให้เสื่อมความร้ายกาจเสียก่อน จะสั่งสอนภายหลัง เมื่อคิดได้ดังนี้จึงกล่าวว่า

   “ท่านปุณณกะยักษ์ท่านวางเราเสียก่อนเถิด แล้วค่อยฆ่าทีหลัง”

  ปุณณกะยักษ์คิดว่า เจ้าปราชญ์คงจะยังมิได้ให้โอวาทเป็นครั้งสุดท้าย จึงวางเพื่อจะฟังโอวาทครั้งสุดท้าย พร้อมกับกล่าวว่า

   “ท่านจงกล่าวโอวาทครั้งสุดท้ายเสียเถิด ข้าพเจ้าจะได้รีบไป”

    “เรามีร่างกายที่หมักหมมสกปรก ไม่ควรจะกล่าวธรรม”

   ปุณณกะยักษ์กก็รีบไปเอาน้ำหอมมาจากโสรถสรงองค์พระวิธูร และให้เสวยโภชนาอันอร่อย ครั้นเสวยแล้วปุณณกะยักษ์ก็จัดแจงที่แสดงโอวาทอันสมควร พระวิธูรก็แสดงสาธุนรธรรมให้ฟัง  สาธุนรธรรมหมายความว่า ธรรมที่ทำให้คนดีที   ๔ ประการ

  ข้อ ๑.   ให้เดินตามบุคคลผู้เดินก่อน

   ข้อ ๒.  อย่าเผามือที่ชุ่ม

   ข้อ ๓.   อย่าประทุษร้ายมิตร

   ข้อ ๔.   อย่าลุอำนาจแก่บุคคลผู้ประกอบด้วยกาม

   ปุณณกะยักษ์ฟังแล้วไม่เข้าใจจึงสอบถามพระวิธูรที่แสดงชี้แจงข้อความว่า

  ข้อ ๑.    ที่ว่าให้เดินตามบุคคลผู้ก่อนนั้น คือผู้ใดมีคุณแก่ตน ก็พยายามตอบแทนผู้นั้น

   ข้อ ๒.  ที่ว่าอย่าเผามือชุ่มนั้น คือตนได้อาศัยในเรือนท่านผู้ใดด้วยกันไม่ประทุษร้ายท่านนั้น

   ข้อ ๓.  อย่าประทุษร้ายมิตรนั้น คือท่านผู้ใดมีคุณแก่ตน พึงคิดตอบแทนให้จนได้ไม่คิดมุ่งร้ายเลย

   ข้อ ๔.  ว่าอย่าลุอำนาจแก่ผู้ประกอบด้วยกามนั้น คืออย่าลุ่มหลงสตรี ทำความชั่ว

   ท่านฟังแล้วจงตั้งอยู่ในธรรมทั้ง  ๔ ข้อนี้เถิด

   ปุณณกะยักษ์ฟังแล้วก็สลดใจ เพราะตนประพฤติผิดมาหมดทั้ง  ๔ ข้อตั้งแต่ต้น เริ่มต้นได้รับการต้อนรับเลี้ยงดูจากเจ้าวิธูร และตนก็ได้ประพฤติผิดเรื่อยมาจนกระทั่งคิดฆ่าด้วยฝีมือตนเอง ยิ่งคิดไปก็ยิ่งละอายตนเองเราเป็นถึงเสนาบดี และหลานของท้าวเวสสุวัณผู้โลกบาล มาหลงงมงายกับคิดฆ่าผู้อื่น ผิดวิสัยชายเสียจริง ถ้าเราไม่ได้ฟังโอวาทของเจ้าวิธูรก็คงจะทำชั่วมากขึ้นอีก เขาตัดสินใจเลย ได้เสียหรือมิได้ช่างมัน แต่เราจะไม่ยอมเสียเกียรติของผู้ชายอีกล่ะ เราจะไม่ยอมทำชั่วเพราะผู้หญิงอีก

   ถ้าคนสมัยนี้คิดได้อย่างเจ้าปุณณกะยักษ์ บ้านเมืองเราก็จะมีแต่ความสงบร่มเย็น นี่เอาแต่

“อยู่มาหมู่เข้าเฝ้า    ก็หาเยาวนารี

ที่หน้าตาดี ๆ    ทำมโหรีที่เคหา

ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ    เข้าแต่หอล่อกามา”

   มันก็เลยไม่ดีไปกว่าเจ้าปุณณกะยักษ์    เมื่อคิดได้เช่นนั้น เขาจึงกล่าวกับเจ้าวิธูรว่า

   “เจ้าปราชญ์ เจ้าเทศนาได้ไพเราะมาก เราเลื่อมใสเจ้าเหลือประมาณ ชีวิตของเจ้าเราคืนให้ และยินดีจะไปส่งเจ้ายังสำนักด้วย”

   “ท่านอย่าเพิ่งพาเรากลับไปส่งเลย เพราะพญาวรุณนาคราชและนางวิมาลายังต้องการตัวเราอยู่ ควรพาเราลงไปบาดาลเสียก่อน แล้วค่อยพาเรากลับ”

   “ถ้าท่านประสงค์อย่างนั้นก็ได้ เมื่อลงไปในบาดาลแล้วหากอันตรายเกิดกับท่าน ต้องข้ามศพปุณณกะยักษ์ไปเสียก่อน”

   เมื่อได้ตกลงกันแล้ว ก็ให้เจ้าวิธูรขึ้นขี่ม้าตัวเดียวกันแต่นั่งข้างหลัง เพื่อมิให้พญานาคราชแลเห็นเจ้าวิธูร พญาวรุณนาคราช เมื่อแลเห็นปุณณกะยักษ์พาพระวิธูรมาเฝ้าก็ตรัสว่า

   “พ่อปุณณกะ ได้หัวใจเจ้าวิธูรมาแล้วหรือ” แต่ปุณณกะยักษ์กลับตอบอย่างไม่ตรงคำถามเลยว่า

   “เจ้าปราชญ์วิธูร ข้าพเจ้าได้ตัวมาแล้วโดยชอบธรรม ขอเชิญทอดพระเนตรและสดับโอวาทของเจ้าวิธูรเถิด”

   “เจ้าปราชญ์ เจ้าลงมานาคพิภพน่ะ ไม่ถวายบังคมเราเจ้าไม่กลัวเราหรือไง”

   “ขอเดชะ พระองค์อย่าได้ตรัสดังนั้น เดี๋ยวนี้กระหม่อมฉันเป็นนักโทษของผู้อื่นอยู่ จะถวายบังคมพระองค์ได้อย่างไร และอีกประการหนึ่งนักโทษประหารชีวิตนั้น จะต้องการไหว้ใครเพื่อประโยชน์อะไร” ตัวหม่อมฉันนี้ ปุณณกะจะให้ฆ่าเอาหัวใจแล้วจะถวายบังคมพระองค์ทำไม”

   “เออ จริงสินะ จริงของเจ้าปราชญ์ข้ายอมรับ”

   “สมบัติของพระองค์ในบาดาล ดูสมบูรณ์พูนสุขเหลือขนาด เพราะพระองค์สร้างสมขึ้นมาหรืออย่างไร”

   “ไม่ใช่ดอกเจ้าปราชญ์ สมบัติเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นด้วยบุญทั้งนั้น เราและเมียเราแต่ก่อนเคยเกิดเป็นคนอยู่ในเมืองกาลจัมปาเรามีศัทธาได้ให้ทานแก่คนยาจก สมณชีพราหมณ์เรื่อยมาเราจุติจากนั้นแล้วก็ได้มาเสวยราชสมบัติในนาคพิภพนี้”

   “เมื่อท่านให้ทานได้ผลเช่นนี้ ทำไมท่านไม่ให้ทานต่อไปอีกเล่า”

   “ก็เพราะในเมืองนาคของเรายาจกวณพก และสมณชีพราหมณ์มิได้มี อย่างไรดีจึงจะให้ทานได้ล่ะ”

   “แม้มิให้ในวัตถุ แต่พระองค์ตั้งจิตเมตตาแก่นาคราชทั้งหลายใกล้ไกลหาประมาณมิได้ พยายามแผ่เมตตาให้เขาเหล่านั้น พระองค์ก็จะได้ชื่อว่าให้ทานอย่างหนึ่งเหมือนกัน”

   ได้ฟังธรรมอันแสนสบายแล้วพระองค์ก็ส่งเจ้าวิธูรเข้าไปเทศนาสั่งสอนนางวิมาลามเหสี พระนางวิมาลาได้สดับธรรมสมความตั้งใจ ก็เกิดปีติยินดีให้เจ้าปุณณกะยักษ์พาไปส่งยังพระเจ้าโกรพ พร้อมกับพระราชทานนางอิรันทตีให้เจ้าปุณณกะยักษ์พานางไปด้วย ปุณณกะยักษ์ก็พานางอิรันทตีกับพระวิธูร ขึ้นมายังเมืองมนุษย์โลก โดยให้นั่งมาข้างหน้า ตนนั่งกลาง และนางอิรันทตีนั่งหลัง พาเหาะมาโดยทางอากาศ พอมาถึงก็กำบังกายตนเองและนางอิรันทตีมิให้ใครเห็นส่งเจ้าวิธูรลงหน้าโรงศาลา แล้วก็พานางอิรันทรตีไปยังเทวโลก

   พระเจ้าโกรพได้ทอดพระเนตรเห็นพระวิธูรกลับมาได้ก็ดีพระทัย ถามรู้ความตลอดแล้วก็เกิดปรีดาปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง จึงรับสั่งให้มีการฉลองเจ้าวิธูรเป็นเวลานานถึง 1 เดือน และนับแต่นั้นมาบ้านเมืองก็อยู่สุขสบายตลอดมา พระราชาก็เลิกการพนันได้เด็ดขาด

   เรื่องนี้ก็เป็นอันจบลงเพียงเท่านี้ แต่เราได้อะไรจากเรื่องนี้ ปัญญาของเจ้าวิธูร ในการสั่งสอนอรรถธรรมทำให้ตนรอดพ้นจากความตาย ได้รับความเลื่อมใสนับถือจากทุกคนทุกหมู่ทุกเหล่า ความเมตตาในดวงจิตของเจ้าวิธูร ทำให้มีหน้าตาผ่องใส ปราศจากความกริ้วโกรธ เป็นเหตุให้ผู้อื่นเมตตาตนด้วย การพนันเป็นเหตุแห่งหายนะ คือความเสื่อมในทุก ๆ ทาง ผู้หญิงเป็นบ่อเกิดแห่งความชั่วได้ทั้งมวล ถ้าไม่มีศีลธรรมประจำใจ เพียงเท่านี้ก็พอจะเป็นเครื่องบำรุงปัญญาของท่านได้

แชร์เลย

Comments

comments

Share: