ทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข 3

เจริญพร ท่านสาธุชนผู้ฟังทุกท่าน

อาตมภาพจะได้บรรยายขยายความเรื่อง  “สัมปรายิกัตถธรรม” แปลว่า ธรรมเพื่อประโยชน์ในภายหน้า คือข้อปฏิบัติ 4 ประการที่เป็นทางให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขต่อไปในภายหน้า ทั้งในภพชาตินี้และในภพชาติต่อๆ ไป ซึ่งได้กล่าวไปแล้ว 2 ข้อ คือ   สัทธาสัมปทาความถึงพร้อมด้วยศรัทธาในบุคคลและข้อปฏิบัติที่ควรศรัทธา 1   ศีลสัมปทาความถึงพร้อมด้วยศีล 1   สำหรับวันนี้จะได้กล่าวข้อต่อไปอีก 2 ข้อ คือ   จาคสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยการเสียสละ 1   ปัญญาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยปัญญา 1

3) จาคสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยความเสียสละ หมายถึงความเป็นผู้มีอุปนิสัยในการเสียสละความสุขส่วนตัวและสิ่งที่ให้ความสุขส่วนตัว เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูล เพื่อช่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ผู้อื่น    กล่าวโดยย่อก็คือ ความเป็นผู้มีอุปนิสัยเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขผู้อื่นนั่นเอง

การเสียสละ โดยการบริจาค การให้ หรือการแบ่งปันทรัพย์สิ่งของมีปัจจัย 4 เป็นต้น แก่ผู้อื่น  เรียกว่า อามิสทาน  ส่วนการประพฤติปฏิบัติธรรมโดยทางศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น เพื่อขจัดขัดเกลากิเลสตนเอง  ดำรงตนอยู่ในคุณความดี เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น และ/หรือช่วยแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ให้เข้าใจในธรรม ให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า หรือช่วยส่งเสริม อุปถัมภ์การให้การศึกษาอบรมหลักธรรม และการปฏิบัติพระสัทธรรม แก่ผู้อื่น เรียกว่า ธรรมทาน  คือการให้ธรรมเป็นทาน

คุณความดีในการเสียสละ โดยการบริจาค การให้ หรือการแบ่งปันดังกล่าว  ทั้ง อามิสทาน และ ธรรมทาน นี้ ชื่อว่า ทานกุศล

การเสียสละโดยการให้ทาน 2 อย่างนี้ คือ   อามิสทาน ทานที่เป็นวัตถุหรือทรัพย์สิ่งของ และ ธรรมทาน คือการละกิเลสจากใจตน 1 และการให้ธรรมเป็นทาน 1    สองอย่างนี้ให้ผลต่างกัน  ดังพระพุทธดำรัส (ขุ.ธ. 25/63) ว่า

สพฺพทานํ   ธมฺมทานํ   ชินาติ
ธรรมทานย่อมชนะทานทั้งปวง

หมายความว่า ธรรมทานให้ผลสูงกว่า อามิสทาน   เพราะธรรมทานเป็นเครื่องขจัดขัดเกลากิเลสทั้งของตนเอง และของผู้อื่นให้สิ้นไป เป็นธรรมคือเป็นปัญญาส่องสว่างให้เห็นทางดำเนินไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข   และให้ถึงมรรคผลนิพพานอันเป็นอมตธรรมที่สิ้นสุดแห่งทุกข์และที่เป็นบรมสุขได้โดยทางตรง     อนึ่ง แม้บุคคลจะประกอบทานกุศลด้วยทรัพย์สิ่งของ เป็นอามิสทาน  ก็เพราะได้ฟังธรรมจากสัตบุรุษคือจากคนดีมีศีลมีธรรม เป็นสัมมาทิฏฐิ  ก่อนนั่นแหละ จึงรู้จึงเข้าใจในเรื่องของกรรมและผลของกรรม ตามที่เป็นจริง    แล้วจึงมีศรัทธาในทานกุศลและยินดีในการบริจาคทาน   เพราะเหตุนั้นธรรมทานจึงเป็นเลิศกว่าทานทั้งปวง

แต่ทานกุศลด้วยอามิสทาน   คือการเสียสละการบริจาค  การให้  หรือการแบ่งปันวัตถุทรัพย์สิ่งของมีปัจจัย 4  และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นต้น แก่ผู้อื่น   ก็เป็นพื้นฐานสำคัญให้แก่กล้าเป็นทานบารมี ทานอุปบารมี และทานปรมัตถบารมี    เป็นอริยทรัพย์คอยติดตามให้ผลเป็นความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข ได้เป็นอุปการะต่อการบำเพ็ญบารมีข้ออื่นๆ ให้เต็ม เพื่อถึงความบรรลุมรรคผลนิพพาน   อามิสทานจึงเป็นทานกุศลที่ผู้มีปัญญาจะขาดหรือละเว้นการบำเพ็ญเสียมิได้    จักต้องกระทำพร้อมๆ กันไป คือร่วมกันไปกับธรรมทาน  เพราะเมื่อขาดเสบียงเลี้ยงตนจากอามิสทานเมื่อใด การบำเพ็ญบุญบารมีคุณความดีอย่างยิ่งยวดประการอื่นๆ   ได้แก่ ศีลบารมี เนกขัมมบารมี และปัญญาบารมี  เป็นต้น ก็ลำบาก คือเป็นไปได้ยาก    เพราะเหตุนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เมื่อก่อนแต่จะตรัสรู้พระอริยสัจ 4  และตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ได้ทรงเคยเป็นดาบสชื่อ “สุเมธ”   เมื่อสุเมธดาบสได้รับพระพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าทีปังกร (พระพุทธเจ้าองค์ที่ 24 นับถอยหลังถัดไปจากพระพุทธเจ้าโคดมของเราพระองค์นี้) ว่า   ในอีก 4 อสงไขยกับแสนกัป   จะได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า   จึงได้พิจารณาตัดสินพระทัยว่า จักต้องบำเพ็ญทานบารมีก่อน    เพื่อจะได้เป็นอริยทรัพย์ติดตามให้ผลเป็นอุปการะแก่การบำเพ็ญบุญบารมีอื่นๆ ให้สำเร็จได้โดยสะดวกต่อไป

เพราะจาคะมีอุปการคุณแก่ผู้บำเพ็ญถึงเพียงนี้   พระพุทธองค์ตรัสจาคะ เป็นหนึ่งในอริยทรัพย์ 7 (องฺ.สตฺตก. 23/5) และตรัสจาคะเป็นหนึ่งในอธิษฐานธรรม 4 (ม. อุป. 14/437)

กล่าวแต่เฉพาะอามิสทาน  คือการให้วัตถุหรือทรัพย์สิ่งของเป็นทานแก่ผู้อื่น   จะมีอานิสงส์คือผลของทานกุศลสมบูรณ์ ไพบูลย์เพียงไร   ย่อมขึ้นอยู่ที่ความบริสุทธิ์ของฝ่ายผู้ให้   ชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก 1  ความบริสุทธิ์ของฝ่ายผู้รับ ชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก 1  และความบริสุทธิ์ฝ่ายของที่ให้อีก 1   ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในทักขิณาวิภังคสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ 14 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ข้อ 719)  วรรคที่ (3-5) ว่า

“[3] ผู้ใดทุศีล   ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม  มีจิตไม่เลื่อมใส  ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง    ให้ทานในคนทุศีล    เราไม่กล่าวทานของผู้นั้นว่า มีผลไพบูลย์.”

พระพุทธดำรัสในวรรคนี้มีความหมายว่า   ทักษิณาคือการบริจาคทานนี้  ไม่บริสุทธิ์ทั้ง 3 ฝ่าย คือ   ฝ่ายทายก ผู้ให้ก็เป็นคนทุศีล   ได้วัตถุสิ่งของมาโดยวิธีการอันไม่ชอบธรรม   เช่นได้ทรัพย์สินมาด้วยการกบฏคดโกงผู้อื่น หรือของที่ให้ก็เป็นสิ่งของที่มีโทษ  อย่างเช่นสุรา ยาเสพติดให้โทษ เป็นต้น    ตนเองก็ไม่มีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัย  อีกทั้งไม่เชื่อเรื่องกรรม  และผลของกรรม  ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นมิจฉาทิฏฐิ    ส่วนฝ่ายปฏิคคาหก คือผู้รับก็เป็นคนทุศีล  ไม่บริสุทธิ์  ทานที่ผู้นั้นให้แล้วอย่างนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงว่า  ไม่มีผลไพบูลย์ คือไม่มีผลมาก

“[4] ผู้ใดมีศีล   ได้ของมาโดยธรรม   มีจิตเลื่อมใสดี   เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล    เรากล่าวทานของผู้นั้นแลว่า มีผลไพบูลย์.”

พระพุทธดำรัสนี้  มีความหมายว่า   ทักษิณา คือการบริจาคทานนี้  บริสุทธิ์ทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายทายก  ผู้ให้เป็นคนมีศีลธรรม   ได้วัตถุทรัพย์สิ่งของมาโดยวิธีการอันชอบธรรม   และเป็นทรัพย์สิ่งของที่มีคุณประโยชน์  ไม่เป็นโทษ   เช่นปัจจัย 4  และเครื่องอำนวยความสะดวกเป็นต้น     อีกทั้งตนเองก็เป็นผู้มีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัย   เชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม  ว่าทำกรรมดีได้ดี ทำกรรมชั่วได้ชั่ว  เป็นสัมมาทิฏฐิ      ส่วนฝ่ายปฏิคาหก คือผู้รับ ก็เป็นคนดีมีศีลมีธรรม   ทานที่ผู้นั้นให้แล้วอย่างนั้น   พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงว่า  มีผลไพบูลย์ คือมีผลมาก

“[5] ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว   ได้ของมาโดยธรรม  มีจิตเลื่อมใสดี  เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง    ให้ทานในผู้ปราศจากราคะ    ทานของผู้นั้นนั่นแล เลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย.”

พระพุทธดำรัสในวรรคนี้ มีความหมายว่า   ทักษิณาคือการบริจาคนี้   บริสุทธิ์อย่างยิ่งทุกฝ่าย   คือทายก  ผู้ให้ก็เป็นคนมีความบริสุทธิ์จากราคะแล้ว คือเป็นพระอรหันต์     พระอรหันตเจ้าได้สิ่งของมาโดยชอบธรรมอย่างยิ่ง ปฏิคคาหก คือผู้รับก็เป็นผู้บริสุทธิ์เช่นนั้น     ทานที่พระผู้บริสุทธิ์เช่นนั้นให้แล้วอย่างนี้ มีผลเลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย

เฉพาะความบริสุทธิ์หรือความไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคคาหก คือผู้รับทาน     สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้ในเวลามสูตร (พระไตรปิฎก เล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ข้อ 224)   มีความย่อว่า

ในสมัยที่พระองค์เป็นเวลามพราหมณ์   ได้ให้ทานเป็นมหาทาน  คือการให้ทานอย่างยิ่งใหญ่แก่ชนชาวชมพูทวีป เป็นจำนวนมาก   แต่ไม่มีใครเป็นพระทักขิไณยบุคคล   คือไม่มีผู้รับใดที่เป็นพระอริยเจ้าเลย  ทานที่ให้แล้วนั้นจึงมีผลน้อย   สู้การให้ทานแก่พระอริยเจ้าไม่ได้   ให้ผลมากกว่ากันนัก    คือทานที่ให้แก่พระอริยเจ้านับตั้งแต่พระโสดาบันบุคคลขึ้นไปนั้น   ให้ผลนับประมาณมิได้เลย     อนึ่ง  พระพุทธองค์ยังได้ตรัสไว้ในทักขิณาวิภังคสูตร   (พระไตรปิฎก เล่มที่ 14 มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ข้อ 711) อีกว่า

”อานนท์  ใน 14 ประการนั้น   บุคคลให้ทานในสัตว์ดิรัจฉาน   พึงหวังผลทักษิณาได้ 100 เท่า  
ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณาได้ 1,000 เท่า  
ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้ 100,000 เท่า     
ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า  
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณาจนนับไม่ได้ จนประมาณไม่ได้    
จะป่วยกล่าวไปไยในพระโสดาบัน  ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง  ในพระสกทาคามี   ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง  ในพระอนาคามี  ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตตผลให้แจ้ง  ในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ในพระปัจเจกสัมพุทธะ  และในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ.”

พระพุทธดำรัสที่ตรัสว่า “ให้ทานในสัตว์ดิรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า” นั้น   พระอรรถกถาจารย์ ได้อรรถาธิบาย  (พระสูตรและอรรถกถาแปล มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่มที่ 3 ภาคที่ 2 หน้า 404-406) มีความย่อว่า   ทักษิณานี้ ย่อมให้อานิสงส์ คือให้อายุ วรรณะ สุขะ (รวมทั้งธนสารสมบัติ) พละ และปฏิภาณ อย่างละ 100 เท่า  คือ ให้วรรณะใน 100 อัตตภาพ (100 ชาติ)  ให้ความสุขใน 100 อัตตภาพ   ให้พลานามัยดีใน 100 อัตตภาพ   และให้ปฏิภาณใน 100 อัตตภาพ

ส่วนในพระพุทธดำรัสว่า “ให้ทานในผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณาจนนับไม่ได้ จนประมาณไม่ได้” นั้น    คือให้ทานในบุคคลผู้กำลังศึกษาและปฏิบัติธรรม นับตั้งแต่ อุบาสก อุบาสิกา ผู้ถึงไตรสรณะ คือในผู้ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง,   ผู้ตั้งอยู่ในศีล 5 ศีล 8  ผู้ตั้งอยู่ในศีล 10,   แม้ให้ทานในสามเณรผู้บวชในวันนั้น  ในพระภิกษุผู้พอบวชเสร็จ พระภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวัตร และพระภิกษุผู้เริ่มปฏิบัติสมถวิปัสสนา จนถึงผู้ปฏิบัติธรรมได้บรรลุพระโสดาปัตติมรรค   เหล่านี้แหละที่ทักษิณาคือการบริจาคทานนั้นให้อานิสงส์ คือผลเป็นอายุ วรรณะ สุขะ (รวมทั้งธนสารสมบัติ) พละ และปฏิภาณ มากมายจนนับประมาณไม่ได้

เพราะฉะนั้น ปัญญาชนจึงควรรู้หลักธรรมข้อ จาคสัมปทา คือ ความถึงพร้อมด้วยการเสียสละ นี้ว่า เป็นคุณธรรมเครื่องให้อานิสงส์เป็นประโยชน์สุขในภายหน้า   เป็นข้อที่บัณฑิตคือผู้รู้สรรเสริญว่าพึงบำเพ็ญ เพราะเป็นแนวทางให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข   ทั้งในภพชาติปัจจุบันและในภพชาติต่อๆ ไป จนตราบเท่าถึงปรินิพพาน   และพึงให้รู้หลักในการให้ว่า

ทักษิณา คือการให้ทานนี้ ย่อมให้อานิสงส์เป็นประโยชน์สุข 5 อย่าง คือ  ให้อายุ ให้วรรณะ ให้สุขะ รวมทั้งธนสารสมบัติ ให้พละกำลัง คือพลานามัยที่ดี และให้ปฏิภาณ  จำเพาะแต่การให้ทาน เช่นให้อาหารตามต้องการ แก่สัตว์ดิรัจฉานตัวหนึ่ง   ย่อมหวังผลได้ อานิสงส์ 100 เท่า   คือ ได้อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ อย่างละ 100 อัตตภาพ    การให้ทานแก่บุคคลผู้ทุศีลให้ได้อานิสงส์ 1,000 เท่า และถ้าให้แก่ผู้ปฏิบัติธรรมนับตั้งแต่อุบาสก อุบาสิกา ผู้ถือศีล 5 ศีล 8 ผู้มีไตรสรณคมน์ ขึ้นไปถึงพระอริยเจ้า ย่อมให้อานิสงส์นับประมาณมิได้

ทักษิณา อันผู้ให้และผู้รับ ต่างเป็นบุคคลที่บริสุทธิ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา และทั้งวัตถุทรัพย์สิ่งของ ที่ให้เป็นทานก็เป็นของบริสุทธิ์ คือเป็นของมีคุณประโยชน์  ไม่มีโทษ   และได้มาโดยชอบธรรม   ทักษิณาเช่นนี้ย่อมให้ผลไพบูลย์กว่าทักษิณาที่ทั้งผู้ให้และผู้รับ ไม่บริสุทธิ์ มีความเป็นผู้ทุศีล เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นต้น และทั้งของที่ให้ก็เป็นของไม่บริสุทธิ์ เช่น ทานที่บุคคลผู้มีศีลธรรมให้โดยการเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุ สามเณร และอุบาสก อุบาสิกา ผู้มีศีลธรรม ย่อมให้ผลสูงกว่าทานที่ผู้ทุศีล จัดงานเลี้ยงแขกหรือผู้ทุศีลด้วยกัน ด้วยสุราเมรัย คือเหล้า เบียร์ ไวน์ เป็นต้น อย่างนั้น นับประมาณมิได้ และในกรณีผู้ทุศีลจัดงานเลี้ยงแก่ผู้ทุศีล ด้วยสุราเมรัยนี้ ยังกลับจะให้ผลเป็นโทษเป็นความทุกข์เดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้เสียสุขภาพกายและเสียสุขภาพจิต ต่อไปในภายหน้า ทั้งในภพชาตินี้ และในภพชาติต่อๆ ไป อีกนับไม่ถ้วน

เพราะฉะนั้น จึงมีธรรมภาษิต ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค (สํ.ส. 15/30) ว่า

วิเจยฺย   ทานํ   สุคตปฺปสตฺถํ
การเลือกให้ อันพระสุคตเจ้าทรงสรรเสริญ

คือ ต้องรู้จักเลือกให้คนที่ควรให้   มีธรรมภาษิตแสดงไว้ในขุททกนิกายชาดก จตุกกนิบาต (ขุ. ชา. จตุกฺก. 27/129)   เพราะการที่รู้จักเลือกให้แก่บุคคลที่ควรให้   เมื่อประสบความเสื่อมเพราะอันตราย  ย่อมได้สหายที่ดี คือมีมิตรที่ดีคอยคุ้มครองป้องกัน  ช่วยแก้ไข และอุปถัมภ์ค้ำชูมิให้ตกต่ำ     แต่ถ้าไม่รู้จักเลือกให้แก่คนที่ควรให้ กลับไปให้คนที่ไม่ควรให้  เช่นให้แก่คนพาล คนทุศีล เป็นต้น   พอถึงคราวประสบความเสื่อมเพราะอันตรายต่างๆ  ก็ไม่ได้สหาย  คือไม่ได้คนดีคอยช่วยเหลือ

อนึ่ง   ยังมีพระพุทธภาษิต (องฺ.ปญฺจก. 22/56) แสดงผลของการให้ของที่ดี ที่เลิศ  ว่า

ผู้ให้ของชอบใจ ย่อมได้ของชอบใจ  
ผู้ให้ของเลิศ ย่อมได้ของเลิศ 
ผู้ให้ของดี ย่อมได้ของดี   
ผู้ให้ของประเสริฐ ย่อมถึงฐานะอันประเสริฐ.

จาคสัมปทาจึงเป็นคุณเครื่องให้ประโยชน์สุขในภายหน้าด้วยประการฉะนี้

4) ปัญญาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยปัญญา  ย่อมนำมาซึ่งประโยชน์สุขในภายหน้า  ทั้งในภพชาติปัจจุบัน และในภพชาติต่อๆ ไป  ตราบเท่าเข้าสู่ปรินิพพาน

คำว่า  “ปัญญา”  ณ ที่นี้ หมายเอา ปัญญาอันเห็นชอบ  จึงจะนำมาซึ่งประโยชน์สุข คือ เป็นหนทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขแก่ตนเองและผู้อื่นได้ยั่งยืน    เพื่อให้เข้าใจง่าย  อาจจะแบ่ง “ปัญญา” ออกเป็น 2 ประเภทก่อน คือ   ปัญญาในทางโลก 1  กับ ปัญญาในทางธรรม 1

ปัญญาในทางโลก นั้น ก็หมายเอา ปัญญาในการทำกิจการงาน ในการประกอบอาชีพ และ ปัญญาในการดำเนินชีวิตที่ดี ที่สุจริต ที่ชอบธรรม   คือ ปัญญาที่ประกอบด้วยคุณธรรมของผู้มีศีลธรรม  จึงจะเกิดประโยชน์สุขแก่ตน และ แม้แก่ผู้อื่นได้ยั่งยืนแท้จริง

แต้ถ้าเป็นปัญญาในการทำกิจการงาน  ในการประกอบอาชีพ และ ในการดำเนินชีวิตที่ไม่ดี ที่ทุจริต หรือที่ไม่ชอบธรรม คือปัญญาที่ขาดคุณธรรมของผู้ทุศีล ได้แก่  ปัญญาหรือความรู้อันเป็นเล่ห์เหลี่ยม กลโกง และทุจริตต่างๆ ในการทำกิจการงาน และในการประกอบอาชีพ    เช่น ความรู้ในการผลิต ในการจำหน่าย สิ่งเสพติดมึนเมา ให้โทษ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาทต่างๆ   นับตั้งแต่บุหรี่ เหล้า เบียร์ ไวน์ ยาบ้า ยาอี เป็นต้น  รวมทั้งความรู้หรือปัญญาที่เป็นกลโกงต่างๆ ในการค้าขาย  หรือการประกอบอาชีพธุรกิจ เช่นปัญญาในการหลีกเลี่ยงหรือโกงภาษี    ก็รังแต่จะเกิดโทษแก่ตนเอง และผู้อื่น ทั้งแก่สังคมและแก่ประเทศชาติเป็นอันมาก    หรือการโกง การทุจริต ในการเลือกตั้ง โดยการซื้อเสียง การข่มขู่ การใช้เล่ห์กลทุจริตต่างๆ เพื่อให้ได้รับเลือกตั้งเข้ามา เป็นต้น

แม้จะได้รับเลือกตั้งเข้ามา  เพราะประชาชนผู้เลือกตั้งนั้นไม่รู้เท่าทัน  ก็เป็นการทำลายระบบการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย และเมื่อเข้ามาแล้วก็คอยแต่จะหาช่องถอนทุนเพื่อรักษาสถานภาพของตนเองและพวกพ้อง และเพื่อเตรียมการเลือกตั้งคราวต่อๆ ไปอีก    แม้จะหาทรัพย์หาเกียรติได้โดยวิธีการทุจริตอย่างนี้  ก็ไม่จีรังยั่งยืนอะไร   เมื่อเขาจับได้ไล่ทัน   หรือเมื่อประชาชนรู้เท่าทันมากพอเมื่อใด   เขาก็ไม่สนับสนุน  ไม่เลือกตั้งเข้ามาอีก   เพราะรังแต่จะนำความหายนะมาสู่ทั้งแก่ตนเอง ทั้งแก่ประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวม    ดังบาลีพระพุทธภาษิต (ขุ.ธ. 25/24) ว่า

 ยาวเทว  อนตฺถายญตฺตํ  พาลสฺส  ชายติ
 หนฺติ  พาลสฺส  สุกฺกํสํมุทฺธํ  อสฺส  วิปาตยํ
ความรู้เกิดแก่คนพาล  ก็เพียงเพื่อความฉิบหาย  มันทำให้สมองของเขาไขว้เขว  ย่อมฆ่าส่วนที่ขาวของคนพาลเสีย.

ปัญญาที่ควบคู่กับคุณธรรมของผู้มีศีลมีธรรม   บัณฑิตย่อมสรรเสริญเป็นอันมาก   ดังธรรมภาษิต ว่า

นตฺถิ  ปญฺญาสมา  อาภา  –  แสงสว่างเสมอด้วยปัญญา ไม่มี.  (สํ.ส.15/9)

ปญฺญา  ชเนน  เสยฺโย.  –  ปัญญานั้นแหละประเสริฐกว่าทรัพย์.  (ขุ.เถร.26/379)

ความรู้อันประมวลขึ้นเป็นปัญญาในทางโลกนั้น  ย่อมมีได้ เจริญขึ้นได้ด้วยการศึกษาหาความรู้ จากทั้งสถานศึกษา ด้วยการร่ำเรียนเขียนอ่าน ได้ยินได้ฟัง   และจากทั้งประสบการณ์ในการทำงาน การฝึกฝนอบรม และจากการคิด และการไตร่ตรอง   การศึกษาค้นคว้าหาเหตุผลด้วยตนเอง

ส่วนปัญญาในทางธรรม เป็นปัญญาอันเห็นชอบล้วนๆ   นับตั้งแต่ปัญญาอันเห็นชอบในคุณของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์    ปัญญาอันเห็นชอบในเรื่องกรรมและผลของกรรม ว่า สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม และว่า ทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว     ปัญญาอันเห็นชอบในบาปบุญคุณโทษและในทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง    ตลอดขึ้นไปถึง วิปัสสนาปัญญา อันเห็นแจ้งชัดในสภาวะของสังขารธรรมทั้งปวง ว่า เป็นสภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และ มิใช่ตัวตนที่แท้จริงของใคร  และ โลกุตตรปัญญาอันเห็นแจ้งในอริยสัจ 4 และ ในวิสังขารธรรม คือ พระนิพพานธาตุโดยปรมัตถ์ ว่าเป็นอมตธรรม มีสภาพที่เที่ยง     ใครเข้าถึงรู้เห็นและเป็นแล้ว เป็นบรมสุข  และ มีสภาพยั่งยืน  ปัญญานี้แหละที่เป็นคุณธรรมประจำใจของคนดี  ของคนมีศีลมีธรรม อันชื่อว่าบัณฑิต ผู้รู้จริง  แต่ไม่มีในคนพาล  คือในคนโฉดเขลาเบาปัญญา

และปัญญานี้แหละที่นำมาซึ่งประโยชน์สุข ทั้งในภพชาตินี้และในภพชาติต่อๆ ไป ตราบเท่าถึงปรินิพพาน คือ เป็นทางแห่งความเจริญรุ่งเรือง และ สันติสุข ที่ยั่งยืนถาวรอย่างแท้จริง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ บรรลุมรรค ผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง และ ที่เป็นบรมสุข  อันชื่อว่า ปรมัตถประโยชน์ คือ ให้ประโยชน์สูงสุดได้โดยแท้

ปัญญาในทางธรรมนี้   สามารถศึกษาหาความรู้ได้ด้วยการศึกษาค้นคว้าจากตำราหลักธรรมที่เชื่อถือได้  นับตั้งแต่พระไตรปิฎก อรรถกถาซึ่งอรรถาธิบายพระไตรปิฎก และฎีกา อนุฎีกา เป็นต้น อันรวมเรียกว่า ปริยัติสัทธรรม  คือเรียนหลักธรรมด้วยการอ่าน การฟังธรรม และการคิดพิจารณาเหตุผลในชั้นต้น    ปัญญาที่เกิดขึ้นในชั้นนี้  ชื่อว่า สุตมยปัญญา และ จินตมยปัญญา    แล้วลงมือปฏิบัติ เป็นปฏิปัตติสัทธรรม นับตั้งแต่ถึงไตรสรณคมน์ คือ ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง  รับและรักษาศีลในระดับต่างๆ ตามฐานะ  และการฝึกปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ให้ใจสงบระงับจากกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา ให้จิตใจผ่องใสควรแก่งาน  แล้วพิจารณาสภาวะของสังขารธรรม คือธรรมที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งทั้งปวง ให้เห็นแจ้งรู้แจ้งตามที่เป็นจริง  ว่าเป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และ มิใช่ตัวตนที่ถาวรแท้จริงของใคร  เป็นวิปัสสนาปัญญา และให้เจริญถึงความเห็นแจ้งรู้แจ้งในอริยสัจ 4 คือ ความจริงอย่างประเสริฐในเรื่องของทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ สภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ คือ มรรค ผล นิพพาน  และทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์  และให้เห็นแจ้งรู้แจ้งในวิสังขารธรรมอันไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง คือ พระนิพพานธาตุโดยปรมัตถ์ ว่าเป็นอมตธรรม ที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ และไม่ตาย  มีสภาพที่เที่ยง ใครเข้าถึง รู้-เห็น และเป็นแล้ว  เป็นบรมสุข  และมีสภาพที่ยั่งยืน ถาวร มั่นคง เป็นอัตตทีปา อัตตสรณา คือ เป็นที่พึ่งได้ตลอดไป  นี้เป็นโลกุตตรปัญญา  ให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน  เรียกว่า ปฏิเวธสัทธรรม อันเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา  จัดเป็น ปรมัตถะ คือ ประโยชน์สูงสุด เพราะเป็นที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ และเป็นบรมสุข

ปัญญาที่เกิดและเจริญขึ้นในขั้นวิปัสสนาปัญญา และ โลกุตตรปัญญา นี้ย่อมเกิดและเจริญขึ้นได้ด้วยการปฏิบัติพระสัทธรรมให้เห็นแจ้งรู้แจ้งด้วยตน ชื่อว่า ภาวนามยปัญญา

ปัญญาอันเห็นชอบ ทั้งในทางโลกและทางธรรมดังที่กล่าวมานี้ ย่อมเป็นธรรมเครื่องส่องทางดำเนินชีวิตของผู้ปฏิบัติ  ให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข ยิ่งๆ ขึ้นไปในภายหน้า  จนถึงมรรค ผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง และที่เป็นบรมสุข  ด้วยประการฉะนี้  บัณฑิตผู้รู้จริงจึงสรรเสริญปัญญาไว้ในที่อเนกสถาน  ดังเช่น

นตฺถิ  ปญฺญาสมา  อาภา  –  แสงสว่างเสมอด้วยปัญญา ไม่มี.  (สํ.ส.15/9)

ปญฺญาย  ปริสุชฺฌติ.  –  บุคคลย่อมบริสุทธิ์ด้วยปัญญา.  (ขุ. สุ. 25/361)

สัมปรายิกัตถะ  คือประโยชน์สุขในภายหน้า จะสำเร็จได้ก็ด้วยธรรม 4 ประการ ดังที่กล่าวมาแล้ว คือ สัทธาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศรัทธาในบุคคลและในข้อปฏิบัติที่ควรศรัทธา    ศีลสัมปทา  ความถึงพร้อมด้วยการรักษาศีล    จาคสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยการเสียสละ  การบริจาค การให้ หรือการแบ่งปัน  การละกิเลสตน และช่วยแนะนำสั่งสอนให้บุคคลอื่นปฏิบัติอยู่ในคุณความดีตามธรรมของพระพุทธเจ้า    และปัญญาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยปัญญา  อันเป็นทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขในชีวิตตนได้จริง  ด้วยประการฉะนี้

ผู้สนใจการศึกษาอบรมธรรมปฏิบัตินี้ สมัครเข้ารับการอบรมได้ที่   วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี  ซึ่งจะมีการอบรมพระกัมมัฏฐาน  ระหว่างวันที่ 1-14 พฤษภาคมและ ธันวาคม ของทุกปี  ขอเชิญพระภิกษุ สามเณร และ อุบาสก อุบาสิกา สาธุชนทั้งหลาย เข้ารับการอบรมได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ  เฉพาะชาย-หญิง คฤหัสถ์หรือผู้ครองเรือน  จะอยู่ตลอดหรือไม่ตลอดระยะเวลาการอบรมก็ได้  แต่ให้ถือศีล 8  แต่งกายชุดขาว  และให้อยู่กลด  ปฏิบัติสมถวิปัสสนาภาวนาเช่นเดียวกันกับพระภิกษุ สามเณร

ขอความสุขสวัสดี จงมีแก่ผู้ฟังทุกท่าน  เจริญพร.


พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันอาทิตย์ ที่ 20 เมษายน 2540

แชร์เลย

Comments

comments

Share: