ทำตนให้เป็นสุข ในยุคเศรษฐกิจซบเซา

เจริญพร ญาติโยมสาธุชนผู้ฟังทุกท่าน

ก่อนอื่นอาตมภาพใคร่จะขอทำความเข้าใจในความหมายของคำว่า “ยุคเศรษฐกิจซบเซา” สักนิดว่า  ณ ที่นี้หมายถึงยุคที่สภาวะทางเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของประเทศกำลังฝืดเคือง ชะงักงัน  คือไม่เจริญ กล่าวคือ เป็นยุคที่ภาคอุตสาหกรรมมีกำลังผลิตต่ำ การจ้างแรงงานลดน้อยลง ประชาชนในประเทศมีอัตราการว่างงานสูง จึงมีรายได้น้อยและมีกำลังซื้อสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคน้อย  การประกอบธุรกิจการค้าก็ฝืดเคือง มีรายได้ต่ำหรือขาดทุน ต้องเลิกหรือปิดกิจการมากขึ้น รัฐบาลจึงเก็บภาษีได้น้อย ไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ และ/หรือ ให้บริการแก่ประชาชน 

คำว่า “ยุคเศรษฐกิจซบเซา” ที่จะกล่าวถึงในปาฐกถาธรรมนี้หมายเอา ยุคที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของประเทศเป็นเช่นนี้ ดังที่กำลังเป็นอยู่ในทุกวันนี้นั่นเอง

จึงมีปัญหาว่า ภายในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจซบเซาอยู่เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น ประชาชนสามารถจะทำตน คือปฏิบัติตนให้เป็นสุขได้อย่างไร นี้คือประเด็นที่อาตมภาพจะได้พูดในวันนี้

เรื่องความสุขที่ทุกคนปรารถนานั้น แต่ละคนอาจปรารถนาความสุขที่คล้ายๆ กันบ้าง ที่แตกต่างกันบ้าง ทั้งประเภทความสุขและระดับความสุขที่แต่ละคนปรารถนา จึงยากที่จะกล่าวถึง “ความสุข” ในความหมายกว้างให้ถูกอัธยาศัยและความปรารถนาของทุกคนได้  ณ ที่นี้จึงกล่าวเฉพาะ “ความสุขในขั้นพื้นฐานโดยธรรม”  คือความสุขด้วยความสงบ ชื่อว่า “ความสันติสุข” อันผู้มีปัญญาพึงกระทำให้มีได้ด้วยกันทุกคน ได้แก่ ความสุขจากความสำเร็จในหน้าที่หรือกิจการในอาชีพโดยชอบ 1  ความสุขจากการได้ใช้สอยทรัพย์ เพื่อการดำรงชีวิตด้วยปัจจัย 4 ที่หามาได้โดยสุจริต 1  และความสุขจากการที่สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมอย่างมีเกียรติและมีศักดิ์ศรี 1  เหล่านี้ ผู้มีปัญญาอันเห็นชอบสามารถกระทำให้เกิดมีขึ้นได้ด้วยกันทุกคน  ดังจะได้ชี้แจงวิธีปฏิบัติตนให้ถึง “ความสันติสุข” อันบุคคลพึงปรารถนาดังกล่าวนี้ต่อไป

ประการที่ 1 ผู้ประสงค์จะได้ความสันติสุขจากความสำเร็จในหน้าที่หรือกิจการในอาชีพโดยชอบ พึงปฏิบัติตามธรรมเครื่องช่วยให้ประสบความสำเร็จในชีวิตและถึงซึ่งความสุขในปัจจุบันได้ดังนี้

1. ความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียรในการประกอบกิจการงานในหน้าที่รับผิดชอบหรือกิจการอาชีพโดยชอบ ชื่อว่า “อุฏฐานสัมปทา” เป็นพระภิกษุสามเณรก็ต้องขยันหมั่นเพียรในการศึกษาหลักธรรม คือพระธรรมวินัยให้เข้าใจถ่องแท้ และขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติไตรสิกขา เพื่อสร้างพระในใจตน โดยการอบรมความประพฤติปฏิบัติทางกาย วาจา ให้เรียบร้อยดี ไม่มีโทษ ด้วยการรักษาศีล และสำรวมระวังการรักษาศีลมิให้ขาดตกบกพร่อง เป็นอธิศีล คือ ศีลอันยิ่ง นี้ประการหนึ่ง  โดยอบรมจิตใจให้สงบหยุดนิ่ง เป็นสมาธิที่แนบแน่นมั่นคง ถึงเกิดองค์คุณเครื่องกำจัดกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา ชื่อว่า อธิจิต คือ จิตอันยิ่ง นี้ประการหนึ่ง  และการอบรมปัญญาให้เห็นแจ้งรู้แจ้งในกองสังขาร ถึงเห็นแจ้งรู้แจ้งในพระอริยสัจ 4 และเห็นแจ้งรู้แจ้งในวิสังขาร คือ พระนิพพานตามที่เป็นจริง ตามสมควรแก่ธรรมปฏิบัติ จึงช่วยเผยแผ่พระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามผล และ/หรือประสบการณ์จากการศึกษาสัมมาปฏิบัติพระสัทธรรมมาดีพอสมควรแล้ว ให้เป็นประทีปส่องทางดำเนินชีวิตของประชาชน ด้วยความอนุเคราะห์ ตามสมควรแก่ภูมิธรรมและภูมิปัญญาบารมีของตน เพื่อช่วยสร้างพระในใจคน(อื่น) ด้วย ดังนี้แล้ว ก็ย่อมจะยังประโยชน์และความสันติสุข ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นได้มาก

เป็นข้าราชการ เป็นพนักงาน และลูกจ้างแรงงาน  ก็ต้องขวนขวายในการศึกษาหาความรู้ให้รอบรู้ในหน้าที่กิจการงานที่ตนรับผิดชอบให้สมบูรณ์ และใฝ่ศึกษาหาวิชาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมให้สมบูรณ์ ให้ทันความก้าวหน้าทางวิชาการใหม่ๆ  เพื่อให้สามารถริเริ่มวิธีการหรือโครงการใหม่ๆ  ตลอดทั้งให้รู้จักวิธีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาและป้องกันปัญหาในกิจการงานของตนๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี มีประสิทธิภาพสูง ย่อมมีโอกาสประสบผลสำเร็จในชีวิต และมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่กิจการงานได้มากในทุกยุคทุกสมัย อย่างน้อยในยุคเศรษฐกิจซบเซาอย่างนี้ก็ไม่ตกต่ำ หรืออาจจะตกต่ำไปบ้างตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ก็สามารถจะแสวงหางานได้ใหม่โดยไม่ยาก เพราะคนดีมีความรู้ความสามารถและมีสติปัญญา ใครๆ ก็ต้องการให้มาช่วยทำงานให้กิจการงานของเขาเจริญขึ้นเป็นธรรมดา  กล่าวได้ว่า “คนดีจริง ย่อมตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้”

แต่ถ้าขาดความขยันหมั่นเพียรในการทำงาน และขาดความกระตือรือร้น ขาดความสนใจในการศึกษาหาความรู้  และมีการทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม คือสักแต่พอทำงานให้หมดเวลาไปวันหนึ่งๆ กว่าจะมาถึงที่ทำงานก็สาย มาถึงแล้วก็เอาแต่พูดคุยกันในเรื่องไร้สาระ พอตกบ่ายก็หายหน้า ขาดความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบ ปล่อยให้การงานคั่งค้าง ไม่มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้งานและขาดความเอาใจใส่ในการกระทำกิจการงานให้สำเร็จด้วยดี ถ้าเป็นอย่างนี้ก็อย่าหวังเลยว่าจะประสบความสำเร็จ ความก้าวหน้าและความมั่นคงในการงาน

การประกอบกิจการงานในอาชีพอื่นๆ ก็ทำนองเดียวกันนี้ คือ ประกอบอาชีพและต้องขยันหมั่นเพียรสนใจและเอาใจใส่ในการประกอบกิจการงานในอาชีพ ต้องขวนขวายศึกษาหาความรู้ในอาชีพที่ทำ หมั่นเพิ่มพูนความรู้ความสามารถและสติปัญญา ในการป้องกัน การปรับปรุงแก้ไขกิจการงานในอาชีพของตนให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จ ความเจริญก้าวหน้า และความมั่นคงได้มาก

เป็นเด็กในวัยเรียน ก็ต้องพากเพียรกระตือรือร้น สนใจ เอาใจใส่ และพากเพียรเรียนรู้ทำความเข้าใจในบทเรียน ทำการบ้านที่ครูอาจารย์มอบให้ ให้ทันเขา อย่าให้คั่งค้างเป็นดินพอกหางหมู อันจะทำให้เรียนรู้ไม่ทันเขา อย่าหลงเพลินเพลินไปตามหมู่หรือเพื่อนๆ ในเรื่องไร้สาระอันทำให้เสียการเรียน ต้องรู้จักศึกษาค้นคว้าเพิ่มพูนความรู้อยู่เสมอ ทำได้อย่างนี้ การเรียนย่อมสำเร็จและเจริญก้าวหน้า  ผู้พูดนี้เมื่อสมัยเรียนอยู่ในชั้นประถมและมัธยมก็มีผลการเรียนอยู่ในขั้นดี  ครั้นเรียนอยู่ชั้นอุดมศึกษา ทั้งๆ ที่ทำงานด้วย ก็ได้สมัครเรียนคราวเดียวกัน 2 สาขาวิชา ซึ่งนับว่าเรียนหนักมาก แต่ก็สามารถสอบผ่านไปได้ทุกปีการศึกษา  จึงได้รับพระราชทานปริญญาบัตร 2 ใบในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรคราวเดียว  ครั้นเรียนชั้นปริญญาโทและก็ทำงานไปด้วยก็สามารถเรียนได้สำเร็จตามลำดับปีการศึกษา และก็ได้รับพระราชทานปริญญาโท (เกียรตินิยม)  ครั้นทำงานอยู่จนถึงอายุได้ 57 ปีเต็ม จึงได้ลาออกจากหน้าที่การงานเป็นเวลา 3 ปีก่อนเกษียณอายุ เพื่อบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เพื่อทำหน้าที่ในบั้นปลายชีวิตเป็นทนายแก้ต่างให้พระศาสนา แม้จะแก่แล้วก็ยังเรียนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรม จบชั้นนักธรรมเอก และเรียนแผนกบาลีไปพร้อมๆ กัน จนจบเปรียญธรรม 6 ประโยคเป็นลำดับมา  อาตมภาพที่นำผลการปฏิบัติของตนเองมาพูดประกอบในวันนี้ มิได้มุ่งที่จะโอ้อวดตนเอง แต่มุ่งที่จะแสดงตัวอย่างจริงๆ โดยขออ้างตนเป็นพยานก็เพื่อจะเน้นแก่ท่านทั้งหลายว่า ความขยันหมั่นเพียรจริงๆ นำมาซึ่งความสำเร็จได้จริงๆ โดยไม่เลือกเพศ วัย และฐานะ สมตามพระบาลีพระพุทธภาษิต มีมาในขุททกนิกาย สุตตนิบาต (25/311/361) ว่า

ปฏิรูปการี ธุรวา     อุฏฺฐาตา วินฺทเต ธนํ.
คนมีหน้าที่กิจการงาน ขยันหมั่นเพียรทำกิจการงานให้เหมาะสม ย่อมหาทรัพย์ได้.

และใคร่ขอเน้นอีกสักนิดว่า ความขยันหมั่นเพียรอันจะนำไปสู่ความสำเร็จ อันจะได้รับการยอมรับ การยกย่องนับถือ ความสรรเสริญในคุณความดี และจะได้ถึงซึ่งความสันติสุขในชีวิตจริงๆ  ต้องเป็นความขยันหมั่นเพียรที่สัมปยุตด้วยสติปัญญาอันเห็นชอบ (รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ รู้ทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง) มีกิจการงานสะอาด เป็นผู้สำรวมระวังกาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อยดี ไม่มีโทษ กอปรด้วยศีลและธรรม และมีความเป็นอยู่ที่ไม่ประมาทหลงมัวเมาในชีวิต ได้อย่างแท้จริง  สมดังพระบาลีพระพุทธภาษิต มีมาในขุททกนิกาย ธรรมบท (25/311/361) ว่า

อุฏฺฐานวโต สตีมโต    สุจิกมฺมสฺส นิสมฺมการิโน
สญฺญตสฺส จ ธมฺมชีวิโน    อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติ.
เกียรติยศย่อมเจริญแก่ผู้ขยัน มีสติ มีการงานสะอาด
ใคร่ครวญแล้วจึงทำ สำรวมแล้ว เป็นอยู่โดยธรรม และไม่ประมาท.

เหตุนี้ ผู้ขยัน กอปรด้วยสติปัญญาความรู้ความสามารถและคุณธรรมจึงเป็นผู้มีโอกาสประสบความสำเร็จและความสันติสุขในชีวิตสูง ยิ่งกว่าผู้ขยันแต่มีสติปัญญาความรู้ความสามารถน้อยและมีคุณธรรมต่ำ  ส่วนคนเกียจคร้าน ขาดสติปัญญารู้ทางเจริญทางเสื่อม และไร้คุณธรรมด้วยแล้ว  ย่อมจะหาความสำเร็จและความสันติสุขอันแท้จริงในชีวิตไม่ได้เลย

2. ความถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์สมบัติที่ทำมาหาได้โดยสุจริต ชื่อว่า “อารักข-สัมปทา”  หมายความว่า ทรัพย์สมบัติที่ทำมาหาได้โดยสุจริต พึงดูแลรักษาให้มั่นคง รู้จักใช้อย่างทะนุถนอม ให้สามารถใช้ได้อย่างคุ้มค่า ไม่ใช้สอยทรัพย์สิ่งของอย่างไม่รู้คุณค่า คือไม่ใช้อย่างไม่ปรานีปราศรัย หรือไม่ใช้อย่างทิ้งๆ ขว้างๆ  เมื่อเครื่องใช้ไม้สอยชำรุดเสียหาย ที่พอจะซ่อมแซมได้ก็จงซ่อมแซมให้ใช้ได้ต่อไป นี้เป็นความหมายโดยตรง  แต่ถ้าจะขยายความหมายของธรรมข้อนี้ให้กว้างออกไปถึงการรักษาสถานะของครอบครัวให้อบอุ่น มั่นคง ไม่แตกแยก ด้วยความเป็นผู้มีศีลมีธรรม  การรักษาฐานะในหน้าที่การงานให้เจริญและมั่นคง ไม่ตกต่ำ ด้วยสติปัญญาความรู้ความสามารถ มีการงานที่สะอาด และไม่ประมาท  และการรักษาสถานภาพทางสังคมของตนไว้ให้ดี ด้วยคุณความดี มีความเป็นอยู่โดยธรรม ก็จะถึงความเจริญและความสันติสุขในชีวิต ได้เป็นอย่างดี ในทุกโอกาส เพราะสถานะของครอบครัว ฐานะในหน้าที่การงาน และสถานภาพทางสังคม ก็เป็นทรัพย์สินเครื่องปลื้มใจของชาวโลกเหมือนกัน

3. การรู้จักคบคนดีเป็นมิตร ชื่อว่า “กัลยาณมิตตตา” การที่จะรู้จักเลือกคบคนดีเป็นมิตรนั้น ตนเองจะต้องเป็นผู้มีประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และเป็นผู้มีคุณธรรม คือ มีศีลมีธรรมตามสมควรแก่ฐานะของตนก่อน  เมื่อได้ปฏิบัติตน ดำรงตนอยู่ในคุณความดีเป็นปกติแล้ว ย่อมรู้จักคุณความดีว่าเป็นความดี และย่อมเห็นคุณค่าของคุณความดีตามที่เป็นจริงได้ แล้วจึงจะสามารถเลือกคบคนดีได้ถูกต้อง และก็จักสามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีกับคนดีได้อย่างสนิทแน่นแฟ้นมั่นคง  แล้วนั่นแหละจึงจะเห็นคุณของการรู้จักเลือกคบแต่คนดี มีศีลมีธรรม มีความรู้ความสามารถ เป็นมิตรได้

คุณของการรู้จักเลือกคบคนดีเป็นมิตรนั้นก็คือว่า ถ้าคบคนเสมอกัน ก็จะได้คนดีเป็นมิตร ก็จะสามารถมีเพื่อนคู่คิด มีมิตรคู่ใจ พากันไปแต่ในทางที่ดี ไม่ไปในทางชั่ว  ในยามยากหรือยามมีปัญหา ก็สามารถจะพึ่งพาอาศัยกันได้ตามสมควร ถ้าคบคนที่มีคุณธรรมและมีความรู้ความสามารถที่สูงกว่าตน ก็จะพลอยได้เห็นตัวอย่างที่ดี ได้รับคำแนะนำในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม ก็จะทำให้ตนเองดียิ่งขึ้น นำชีวิตตนไปสู่ความเจริญและสันติสุขได้ดียิ่งขึ้น ไม่เสื่อมเลย  สมดังพระบาลีพุทธภาษิต มีมาในขุททกนิกาย เถรคาถา (26/322/309)

ปาปมิตฺเต  วิวชฺเชตฺวา     ภเชยฺยุตฺตมปุคฺคเล
โอวาเท  จสฺส  ติฏฺเฐยฺย    ปตฺเถนฺโต  อจลํ  สุขํ.
ผู้ปรารถนาความสุขที่มั่นคง  พึงเว้นมิตรชั่วเสีย 
คบแต่บุคคลสูงสุด  และพึงอยู่ในโอวาทของท่าน.

ตามพระพุทธดำรัสนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสว่า ผู้ปรารถนาความสุขที่
มั่นคง  พึงเว้นมิตรชั่ว
 คือ อย่าได้คบคนชั่ว ได้แก่ คนพาล ปัญญาโฉดเขลา ผู้ไม่รู้บาปบุญ คุณโทษ ไม่รู้ทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง บุคคลเช่นนี้ จงหลีกให้ห่างไกล  เพราะคนชั่ว คนพาล มีแต่จะนำผู้คบค้ากับเขาไปสู่ความเสื่อม เป็นโทษ ให้ถึงความทุกข์เดือดร้อนได้ทุกเมื่อ เหมือนเด็กวัยรุ่นที่ชอบชักนำกันไปสู่แหล่งอบายมุข เสพสิ่งเสพติดมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ได้แก่ สุรา บุหรี่ กัญชา ยาบ้า ยาอี ยาหัวสั่น เป็นต้น  แล้วก็หมกมุ่นสำส่อนในกาม บ้างก็ทำการฉุดคร่าอนาจารข่มขืนผู้อื่น และก่อเรื่องทะเลาะวิวาท เป็นเหตุเสียการเรียน เสียอนาคต กันมากต่อมากในทุกวันนี้ หรือผู้ใหญ่ที่มีพรรคพวกหรือคบคนพาลคนชั่ว ผู้ขาดศีลขาดธรรม เป็นเพื่อนร่วมคิด ร่วมเห็น ร่วมอุดมการณ์ ย่อมจะประสบแต่ความเสื่อม หาความเจริญและสันติสุขมิได้ ดังที่รู้ๆ เห็นๆ กันอยู่ในทุกวันนี้  ยิ่งถ้ายุคใด คณะบุคคลผู้บริหารประเทศมีบุคคลชั่ว ขาดศีลธรรม ไม่รู้จักบาปบุญ คุณโทษ ไร้สติปัญญารู้ทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง ทำหน้าที่บริหารประเทศชาติมากเพียงไร ย่อมมีผลให้ทั้งประเทศชาติและประชาชนถึงความทุกข์เดือดร้อนมากเพียงนั้น เหตุนั้น การเลือกตั้งบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ปกครองและบริหารประเทศทุกระดับ  ประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งจึงควรต้องพร้อมใจกันออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยพยายามเลือกสรรแต่คนดี มีศีลมีธรรม และมีความรู้ความสามารถ ให้เข้ามาทำหน้าที่ปกครองและบริหารประเทศชาติแทนตน ก็จะช่วยให้บุคคลดีๆ เหล่านั้นช่วยกันกอบกู้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ซบเซา กลับฟื้นคืนสู่ความเจริญและมั่นคง สามารถพัฒนาประเทศชาติ และนำประชาชนไปสู่ความเจริญและสันติสุขได้มาก จงอย่าเห็นแก่เงินที่เขาจ่ายเพื่อซื้อเสียง และอย่าเห็นแก่หน้า แล้วเลือกตั้งเข้ามา  จงพิจารณาเลือกตั้งคนดีจริงๆ และเลือกพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคที่มีคนดีมากที่สุด ที่มีคนเลวน้อยที่สุด  ให้เข้ามาทำหน้าที่ปกครองและบริหารประเทศชาติให้ได้มากที่สุด  คนดีเหล่านั้นจะได้มีเสียงข้างมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลบริหารและพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองและถึงความสันติสุขได้ดียิ่งขึ้นตามลำดับ.

4. การรู้จักใช้สอยทรัพย์ที่ทำมาหาได้ให้พอเหมาะกับฐานะ คือ ไม่ให้ฝึดเคืองนัก และไม่หรูหราฟุ่มเฟือยนัก จนเกินฐานะของตัว ชื่อว่า “สมชีวิตา”

ทรัพย์ที่ทำมาหาได้โดยสุจริตนั้นจะเป็นรายบุคคลก็ตาม หรือรายครอบครัว คือรวมรายได้ของสมาชิกครอบครัว โดยสุจริตแต่ละครอบครัว ก็ตาม พึงนำมาแบ่งจัดสรรเพื่อการใช้จ่ายที่จำเป็นประเภทต่างๆ ให้พอเหมาะกับงบรายได้ของตน อย่าพยายามตั้งงบประมาณการใช้จ่ายเกินดุลเหมือนรัฐบาล เพราะอำนาจและวิธีการหาเงินรายได้ของเอกชนกับของรัฐบาลนั้นต่างกัน  รัฐบาลมีอำนาจและวิธีการหาเงินรายได้ ให้เพียงพอแก่งบประมาณการจ่ายเงินได้ตามกฎหมาย  แต่เอกชนมีรายได้จำกัดเท่าที่แหล่งรายได้จะพึงมีให้ได้ เช่นรายได้จากเงินเดือนเป็นประจำ หรือจากผลผลิต ผลกำไรจากธุรกิจที่พอคาดคะเนได้ในวงเงินจำกัด  เพราะฉะนั้น เอกชน ไม่ว่าจะเป็นรายบุคคลก็ตาม หรือรายครอบครัวก็ตาม จักต้องมีแผนการจ่ายเงินหรือจัดสรรรายได้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่างๆ ที่พอเหมาะ คือประหยัด ตามฐานะของแต่ละบุคคลหรือแต่ละครอบครัวไม่เท่ากัน  และพึงต้องกันเงินไว้ส่วนหนึ่งเป็นเงินออมไว้ใช้ในยามจำเป็นเร่งด่วน เช่นในยามเจ็บไข้ได้ป่วย หรือไว้เป็นทุนในการประกอบการหรือขยายการประกอบการธุรกิจที่ได้วางแผนและโครงการไว้ดีแล้ว

อย่าพยายามก่อหนี้โดยไม่จำเป็น หรือโดยหวังว่าจะได้ผลตอบแทนที่มีความเสี่ยงสูง และอย่าใช้จ่ายเงินไปในทางอบายมุข เช่น การพนัน การชมและติดการละเล่น การจัดงานเลี้ยงบันเทิงเริงรมย์จนเกินจำเป็นและเกินฐานะ การหมกมุ่นและสำส่อนในกิเลสกาม และการเสพสิ่งเสพติดมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เพราะการติดอยู่ในอบายมุขเช่นนั้น นอกจากจะเสียทรัพย์ไปโดยใช่เหตุ คือโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังนำมาซึ่งความเสื่อมเสียชื่อเสียง อีกทั้งเสียสุขภาพกาย สุขภาพจิต เสี่ยงต่อโรคติดต่อ และอุปัทวันตรายต่างๆ อีกด้วย

ถ้ารู้จักจัดสรรงบประมาณการใช้จ่ายเพื่อสิ่งจำเป็นให้พอเหมาะแก่งบรายได้ โดยความประหยัด คือ พอเหมาะพอควร และให้มีเงินออมไว้ในยามจำเป็นบ้าง ตามฐานะของตนๆ แล้วอย่างนี้ ย่อมไม่ถึงความลำบาก  ฐานะเศรษฐกิจของตนก็จะมีแต่ความเจริญและมั่นคง ให้มีแต่ความเจริญและสันติสุขแต่ส่วนเดียว

ประการที่ 2 ผู้ประสงค์จะได้ความสันติสุขจากการได้ใช้สอยทรัพย์เพื่อการดำรงชีวิตด้วยปัจจัย 4 ที่ทำมาหาได้โดยสุจริต

เมื่อบุคคลปฏิบัติธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้รับความสำเร็จในหน้าที่หรือกิจการงานในอาชีพโดยชอบ คือโดยสุจริตแล้ว  จะมีรายได้มากหรือน้อยก็ตาม หรืออีกนัยหนึ่ง จะยากดีมีจนอย่างไรก็ตาม ย่อมจะประสบความสันติสุขได้ด้วยความประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้อ พึงเป็นผู้มีความสันโดษในทรัพย์ที่ตนหามาได้โดยสุจริต  “ความสันโดษ” ในทรัพย์ที่ตนทำมาหาได้โดยสุจริตนั้นแหละคือเครื่องวัดความสันติสุขของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นผู้มีรายได้หรือมีทรัพย์มากหรือน้อยก็ตาม

“ความสันโดษ” ณ ที่นี้ หมายถึง ความยินดี พอใจในทรัพย์เครื่องเลี้ยงชีวิต และ/หรือ เครื่องอำนวยความสะดวก เท่าที่มีและเท่าที่ทำมาหาได้โดยสุจริต ไม่ลุแก่อำนาจของกิเลสตัณหา คือ ความทะยานอยากมี อยากได้ จนเกินกำลัง ให้เป็นทุกข์ กล่าวคือ

1. ยถาลาภสันโดษ ได้แก่ ความยินดี ความพอใจในทรัพย์สินตามมีตามได้ของตน ไม่เดือดร้อนเพราะของที่ไม่ได้ ไม่อิจฉา คือไม่เพ่งเล็งอยากได้ของคนอื่นเขาโดยไม่เป็นธรรม ไม่ริษยา คือไม่เป็นผู้ไม่อยากเห็นหรือไม่ยินดีที่คนอื่นเขามี เขาได้ดี หรือได้มากกว่าตน ก็จะมีแต่ความสันติสุขในกาลทุกเมื่อ

2. ยถาพลสันโดษ ได้แก่ ความยินดี ความพอใจในทรัพย์ของตนที่สามารถทำมาหาได้ โดยสุจริต ด้วยลำแข้งของตน คือ ตามกำลังกาย กำลังสติปัญญาความสามารถของตน ไม่คอยแต่จะน้อยเนื้อต่ำใจว่า ตนไม่มีกำลังกาย สติปัญญาสามารถสร้างตนสร้างฐานะให้เท่าเขา ก็เอาแต่เศร้าโศกเจ่าจุกจนจิตใจไม่สงบ และบางรายถึงสติวิปปลาสไป หรือฆ่าตัวตาย เพราะน้อยใจที่ไม่สามารถสร้างฐานะให้มีเงินมีทองเท่ากับเขา ก็มี  จงอย่าเป็นอย่างนั้น  แต่จงพอใจในทรัพย์สินที่ตนสามารถทำมาหาได้ด้วยลำแข้งของตน แล้วจะเป็นสุขด้วยความสงบได้ ในทุกโอกาส ทุกยุค ทุกสมัย

3. ยถาสารุปปสันโดษ ได้แก่ ความยินดี ความพอใจในทรัพย์ที่ตนทำมาหาได้โดยสุจริต ตามสมควรแก่ฐานะ ไม่คิดทะยานอยากมี อยากได้ จนเกินฐานะ เกินกำลังสติปัญญาความรู้ความสามารถของตน

เมื่อรู้จักมีคุณธรรมข้อ “สันโดษ” ในทรัพย์ที่ตนตนทำมาหาได้โดยสุจริตอย่างนี้แล้ว ย่อมถึงความสันติสุขในชีวิตได้ในทุกโอกาสด้วยกันทุกคน

ประการที่ 3 ผู้ประสงค์จะได้ความสันติสุขจากการที่สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ก็ต้องปฏิบัติตนอยู่ในคุณความดี คืออยู่ในศีลในธรรม อันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนชี้แนะแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนให้ดี ไว้ด้วยดีแล้ว อย่างน้อยให้เป็นผู้มีเบญจศีล คือศีล 5 และเบญจกัลยาณธรรม คือ คุณธรรมอันงาม 5 ประการ คู่กันกับศีลดังต่อไปนี้ คือ

1. เว้นจากเจตนาฆ่าสัตว์ตัดชีวิต พึงรักษาศีลข้อนี้ให้บริสุทธิ์ให้บริบูรณ์ด้วยดี มิให้ขาดตกบกพร่อง และพึงให้มีกัลยาณธรรม คือ ให้มีความเมตตา ความรักความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นอยู่ดีมีสุข และมีความกรุณา คือความสงสาร ปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นที่มีทุกข์ให้พ้นจากความทุกข์ โศกโรคภัยทั้งปวง

บุคคลผู้มีศีลและมีกัลยาณธรรมอย่างนี้ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน มีโรคภัยน้อย และย่อมเป็นที่รักของชาวโลก และเป็นผู้ปราศจากเวรภัยกะใครๆ ต่อไปในกาลข้างหน้า เว้นแต่จะได้รับผลจากอกุศลกรรมเก่าที่ได้เคยทำไว้แต่ปางก่อน แม้นนี้ก็ย่อมให้ผลอ่อนลงแก่ผู้มีศีลบริสุทธิ์

2. เว้นจากเจตนาลักฉ้อ คดโกง และ/หรือคอร์รัปชันต่างๆ  พึงรักษาศีลข้อนี้ให้บริสุทธิ์ให้บริบูรณ์ด้วยดี มิให้ขาดตกบกพร่อง และพึงมีกัลยาณธรรม คือ ประกอบแต่กิจการงานในอาชีพโดยชอบโดยสุจริต และให้รู้จักเสียสละเพื่อประโยชน์สุขส่วนตัว เวลาความรู้ความสามารถ และทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ และ/หรือเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นตามกำลัง

บุคคลผู้มีศีลและมีกัลยาณธรรมอย่างนี้ ย่อมหาโภคทรัพย์ได้ไม่ขาดสาย โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ก็จะได้ ที่ได้แล้วก็จะยั่งยืนมั่นคง และโภคทรัพย์ก็จะไม่วิบัติฉิบหายด้วยราชภัย (ถูกยึดทรัพย์) โจรภัย อุทกภัย อัคคีภัย วาตภัย หรือถูกฉ้อโกง เป็นต้น

3. เว้นจากประพฤติผิดในกาม ไม่สำส่อนในกิเลสกาม พึงรักษาศีล ข้อที่ให้บริสุทธิ์และสมบูรณ์ดี และพึงมีกัลยาณธรรม คือ มีความสันโดษในคู่ครองของตน คือยินดีในคู่ครองของตน ไม่คิดนอกใจ

บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีศัตรู ย่อมเป็นที่รักของปวงชนและบุตรหลาน ญาติมิตร จะหลับ-นอนก็เป็นสุข ตื่นขึ้นก็เป็นสุข

4. เว้นจากเจตนาพูดเท็จหลอกหลวงเขา พึงปฏิบัติให้บริสุทธิ์สมบูรณ์ดี และพึงมีกัลยาณธรรม คือกล่าวแต่วาจาที่จริง มีความจริงใจทั้งแต่ตนเองและผู้อื่น

บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติได้อย่างนี้ ย่อมเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับนับถือเชื่อถือในถ้อยคำ มีคู่ครอง บุตรหลาน และบริวาร ก็จะเชื่อฟังด้วยดี นำมาซึ่งความสันติสุขด้วยกันทุกฝ่าย

5. เว้นจากการเสพสิ่งเสพติดมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาททุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสุรา เบียร์ ไวน์ กัญชา เฮโรอีน ยาบ้า ยาอี เป็นต้น ก็อย่าได้แตะต้อง แม้ทดลอง เพราะเมื่อทดลองแล้วแม้ทีละน้อยๆ บ่อยๆ เข้าก็จะติด แล้วก็เลิกละได้ยาก เป็นทางให้เสียสุขภาพกาย เสียสุขภาพจิต และเป็นเหตุให้เสียสมรรถภาพในการทำงาน เพราะสติปัญญาเสื่อมถอย และร่างกายทรุดโทรม พึงรักษาศีลข้อนี้ให้บริสุทธิ์และสมบูรณ์ดี และพึงมีกัลยาณธรรมข้อมี สติด้วยปัญญาอันเห็นชอบ คือความระลึกได้ว่า นี้ทางเจริญ นี้ทางเสื่อมแห่งชีวิต  ถ้าเผลอสติหลงปฏิบัติตนไปในทางเสื่อม เป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อน ก็ให้รีบมีสติสัมปชัญญะคือความรู้สึกตัว รู้เท่าทันบาป-บุญ คุณโทษ รู้เท่าทันในทางเสื่อม และรีบเลิกละเสีย กลับตัวกลับใจ หันมาประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ไปในทางที่ให้เกิดความเจริญและสันติสุข

บุคคลผู้ที่ได้ทำเช่นนี้ ย่อมถึงความเจริญและสันติสุขได้ในกาลทุกเมื่อ

กล่าวโดยสรุป ผู้ปรารถนาความเจริญและสันติสุขในชีวิต จากความสำเร็จในหน้าที่กิจการงาน ในอาชีพ ก็พึงปฏิบัติ ข้อปฏิบัติที่จะเกิดความสำเร็จและได้ถึงความสุขในปัจจุบัน ชื่อว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ 4 ประการ คือ อุฏฐานสัมปทา คือ ความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร 1  อารักขสัมปทา คือ ความถึงพร้อมด้วยความรักษา 1  กัลยาณมิตตตา คือ รู้จักเลือกคบคนดีเป็นมิตร 1  และสมชีวิตา คือ การรู้จักใช้สอยทรัพย์แต่พอเหมาะพอควรแก่ทรัพย์ที่มีและที่ทำมาหาได้โดยสุจริต 1

ผู้ปรารถนาความเจริญและสันติสุขจากการได้ใช้สอยทรัพย์ที่มี และที่ทำมาหาได้โดยสุจริต จะมากหรือน้อยก็ตาม พึงมีความสันโดษคือความยินดีพอใจแต่ในทรัพย์สินที่ตนมีและทำมาหาได้และทำมาหาได้โดยสุจริตนั้น

ผู้ปรารถนาความเจริญและสันติสุขจากการที่ตนสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมอย่างมีเกียรติและมีศักดิ์ศรี อย่างที่ชาวบ้านเขาพูดว่า “ไม่ต้องเอาปี๊ปคลุมหัว” คือไม่ต้องหลบลี้หนีหน้าใคร ก็ต้องเป็นผู้มีศีลมีธรรม อย่างน้อยให้มีเบญจศีลเบญจธรรม ให้บริสุทธิ์สมบูรณ์อยู่เสมอ

เป็นอันถึงความเจริญและสันติสุขได้ในทุกยุคทุกสมัย แม้ในยุคเศรษฐกิจกำลังซบเซาอย่างเช่นในทุกวันนี้

ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้ฟังทุกท่าน   เจริญพร.


พระภาวนาวิสุทธิคุณ (เสริมชัย ชยมงฺคโล) ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันที่ 20 ธันวาคม 2541

แชร์เลย

Comments

comments

Share: