ทำไมจึงต้องปฏิบัติธรรม

เจริญพร ท่านสาธุชนผู้ฟังทุกท่าน

อาตมภาพจะได้กล่าวถึงเหตุผลที่ว่า “ทำไมจึงต้องปฏิบัติธรรม ?”

อีกนัยหนึ่ง “มีความจำเป็นอย่างไรบุคคลเราจึงต้องปฏิบัติธรรม ?” หรือว่า  “ปฏิบัติธรรมแล้วจะได้อะไร ?” ซึ่งความจริงปัญหาข้อนี้ก็ดูเหมือนว่าเป็นปัญหาหญ้าปากคอก   เป็นปัญหาที่ตอบได้ง่ายที่สุดสำหรับผู้ที่มีความสนใจหรือใฝ่ใจในการศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นประจำอยู่แล้ว    แต่สำหรับท่านที่ยังไม่ได้สนใจในธรรมปฏิบัติก็อาจจะคิดว่า  

“ปฏิบัติธรรมไปแล้วจะได้อะไร   สู้ไปดิ้นไปเต้นกับเพื่อนๆ ในเธคในผับ หรือในร้านคาราโอเกะ มันกว่าเป็นไหนๆ   คนร่ำรวยอย่างเช่นนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรมชาวไทยและชาวต่างประเทศ ก็ไม่เห็นจะไปเข้าวัดเข้าวา แต่ก็เห็นเขาร่ำรวยมีเงินทองมีบ้านหลังใหญ่ๆ  มีรถราดีๆ ขี่กันถมไป   ความรู้ความสามารถในการประกอบกิจการงานในอาชีพเท่านั้นแหละ   ที่จะทำให้บุคคลเจริญรุ่งเรืองด้วยโภคทรัพย์ ให้อยู่ดีมีสุขได้   โภคทรัพย์เท่านั้นแหละที่สนองความต้องการความปรารถนาได้ทุกอย่าง    บุญก็ซื้อได้  อำนาจก็ซื้อได้   ลาภ ยศ สักการะทั้งหลายก็ซื้อได้ด้วยเงินทั้งนั้น เพราะฉะนั้นก็ไม่เห็นว่าจะต้องไปเข้าวัดเข้าวาปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร   และว่าไปทำบุญ   บุญจะช่วยอะไรได้”      บุคคลที่คิดอย่างนี้ก็คงจะมีมากเหมือนกัน

วันนี้อาตมภาพ จะเฉลยปัญหาที่ตั้งเป็นหัวข้อเรื่องในวันนี้ว่า “ทำไมจึงต้องปฏิบัติธรรม” และที่ว่า “ปฏิบัติธรรม” นั้น จะปฏิบัติอย่างไร ? เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา พอสมควรแก่เวลาต่อไป

ก่อนอื่นขอให้ท่านผู้ฟังมาทำความเข้าใจ คำว่า “ปฏิบัติธรรม” กันก่อน

คำว่า “ปฏิบัติ” ก็หมายถึง การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ     การกระทำทางกาย ภาษาพระท่านเรียก “กายกรรม” ได้แก่ การกระทำการงานต่างๆ การประกอบอาชีพต่างๆ เป็นต้น     การกระทำทางวาจา ท่านเรียก “วจีกรรม” ได้แก่ การพูดจาเป็นภาษาต่างๆ เพื่อสื่อความหมายให้เป็นที่เข้าใจกันได้     ส่วนการกระทำทางใจ ท่านเรียก “มโนกรรม” ได้แก่ ความคิดอ่านต่างๆ

ความประพฤติ ปฏิบัติทางกาย ทางวาจา และทางใจ  ที่เรียกว่า กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม เหล่านี้ ถ้าเป็นไปในทางที่ให้เกิดคุณประโยชน์ ให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ให้เกิดความสันติสุขแก่ชีวิตตนเอง และ/หรือแก่ชีวิตของผู้อื่น  และทำให้จิตใจสงบ บริสุทธิ์ผ่องใส ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง ความประพฤติปฏิบัติหรือการกระทำเช่นนั้น จัดเป็น “กรรมดี” ภาษาพระเรียกว่า “กุศลกรรม” คือกรรมที่เป็นบุญกุศล อันเป็นคุณลักษณะที่ดี หรือเป็นคุณความดีของบุคคลผู้ประกอบกรรมดีเช่นนั้น บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ จึงชื่อว่า  “เป็นคนดีมีคุณธรรม”

ส่วนความประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา และทางใจ ที่เป็นไปในทางที่ให้เกิดโทษ ให้เกิดความเสื่อม ให้เกิดความทุกข์เดือดร้อนแก่ชีวิตของตนเอง และ/หรือแก่ชีวิตของผู้อื่น และทำให้จิตใจเร่าร้อน กระวนกระวาย ไม่สงบ ขุ่นมัว เศร้าหมอง ความประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น จัดเป็น “กรรมชั่ว” ภาษาพระท่านเรียกว่า  “อกุศลกรรม” คือกรรมที่เป็นบาปอกุศล อันเป็นลักษณะที่ชั่ว ที่ไม่ดี ของบุคคลที่ประพฤติเช่นนั้น บุคคลผู้ประพฤติเช่นนั้นจึงชื่อว่า “เป็นคนชั่ว เป็นคนไม่ดี ไม่มีคุณธรรม”

เพราะฉะนั้น คำว่า “ธรรม” ณ ที่นี้จึงหมายถึง คุณความดี ข้อปฏิบัติที่ดี ที่ผู้มีปกติประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ได้ ชื่อว่า “คนดี” ซึ่งย่อมได้รับผลจากความประพฤติปฏิบัติที่ดีเช่นนี้ ให้เป็นผู้มีความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขในชีวิต และยังเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลอื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้ได้รับความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขไปด้วยกัน

ส่วนความชั่ว หรือ ความไม่ดี ข้อปฏิบัติที่ไม่ดี ชื่อว่า “อธรรม” ที่ผู้มีปกติประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น ได้ชื่อว่า “คนชั่ว” ซึ่งย่อมได้รับผลจากความประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น เป็นความเสื่อม เป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อนในชีวิตและยังความทุกข์เดือดร้อนโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้เกิดแก่ผู้อื่นอีกด้วย

กรรมดี และ กรรมชั่ว ที่บุคคลประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา และทางใจ นั้นนั่นแหละที่ให้ผลดี เป็นความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข หรือที่ให้ผลไม่ดี เป็นความเสื่อม ความทุกข์เดือดร้อน ตามลักษณะแห่งกรรมดีหรือกรรมชั่วที่บุคคลหรือสัตว์โลกได้ประพฤจิปฏิบัติไปแล้ว

ดังพระพุทธดำรัสในพระไตรปิฎกสังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า

กลฺยาณการี  กลฺยาณํ       ปาปการี  จ  ปาปกํ
ผู้มีปกติกระทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี   
ผู้มีปกติกระทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว

หรือกล่าวโดยย่อว่า “ทำดี ย่อมได้ดี ทำชั่ว ย่อมได้ชั่ว” ไม่ช้าก็เร็ว นี้เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เป็นสัจจธรรม ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้ คือ ได้ทรงค้นพบด้วยพระองค์เองอย่างลึกซึ้งแจ่มแจ้ง ในคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะ คือในคืนวันเพ็ญเดือน 6 เมื่อ 2585 ปีที่ผ่านมานี้

กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ อันเป็นสัจจธรรม ข้อนี้แหละ ที่เป็นเรื่องยากแก่ปุถุชนผู้ยังมีกิเลสเครื่องเศร้าหมองจิตใจอยู่หนาแน่น  จะสามารถรู้เห็น หรือเข้าใจลึกซึ้งแจ่มแจ้งได้ เป็นวิสัยของผู้สนใจศึกษาสัมมาปฏิบัติธรรม คือผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จึงสามารถจะรู้-เห็น หรือเข้าใจลึกซึ้ง แจ่มแจ้งตามพระสัจจธรรมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ได้ตามระดับภูมิธรรมที่ผู้สนใจศึกษาสัมมาปฏิบัติทั้งท่านปฏิบัติได้

เพื่อให้เข้าใจกฎเกณฑ์ธรรมชาตินี้ อาตมภาพจะขอเล่าเรื่องอาการตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เมื่อ 2585 ปีที่ผ่านมานี้ มีปรากฏอยู่ในโพธิราชกุมารสูตร ให้ท่านผู้ฟังได้ทราบเป็นเครื่องประกอบการพิจารณานำความเข้าใจเรื่องนี้ว่า

ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะนั้น เมื่อพระมหาโพธิสัตว์เจ้าได้เสวยพระกระยาหารที่นางสุชาดานำมาถวายแล้ว ได้ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถ ณ บริเวณป่าเต็ง-รัง ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ครั้นเวลาเย็นได้เสด็จไปยังต้นพระศรีมหาโพธิ์ ได้ทรงรับหญ้าคาจากโสตถิพราหมณ์ แล้วทรงปูลาดเป็นที่ประทับนั่งใต้ควงไม้ศรีมหาโพธิ์นั้น  ได้ทรงอธิษฐานรัตนบัลลังก์ว่า  หากจะได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ขอจงปรากฏรัตนบัลลังก์   เมื่อได้ทรงเห็นรัตนบัลลังก์ปรากฏแล้ว  จึงทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ว่า หากไม่ได้บรรลุโมกขธรรมคือธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นแล้ว  แม้เลือดเนื้อจะเหือดแห้งไป  จนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ก็จะไม่ทำลายบัลลังก์คือจะไม่ลุกจากที่ เสด็จประทับนั่งคู้บัลลังก์  คือนั่งในท่าขัดสมาธิ  ผินพระพักตร์ไปสู่บูรพาทิศ คือทิศตะวันออก ไปทางฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในตอนพลบค่ำ

ในยามต้นแห่งราตรี คือในเวลาหัวค่ำ ได้ทรงเจริญสมถภาวนา คือ อุบายวิธีเป็นเครื่องกำจัดกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา ได้แก่  กามฉันทะ คือความยินดีพอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส และ สิ่งสัมผัสทางกาย   อุทธัจจกุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่าน ความวิตกกังวลไปในเรื่องต่างๆ  เป็นต้น  ให้หมดสิ้นไป ด้วยการเจริญสมาธิรูปฌาน 4 ถึงจตุตถฌาน มีพระทัยผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์ทั้งหลาย อ่อนโยนควรแก่งาน แล้วจึงทรงน้อมพระทัยไปเพื่อ “ปุพเพนิวาสานุสติญาณ” เป็นวิชชาที่ 1 คือ ปรีชาญาณหยั่งรู้-เห็น อดีตชาติของพระองค์เองและสัตว์โลกอื่นทั้งหลาย ที่เคยเป็นอยู่ในภพชาติก่อนๆ ตายแล้วก็เกิดๆๆ ในภพภูมิใหม่   ที่ดีเรียกว่า สุคติภพบ้าง   ไปที่ไม่ดีเรียกว่า ทุคติภพบ้าง ทรงได้เห็นสัตว์โลกทั้งหลายต่างเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนั้น นับภพนับชาติไม่ถ้วน   บ้างก็ไปเกิดในสุคติภพ คือภพภูมิที่ดี ได้แก่ ไปเกิดในภพมนุษย์ ในเทวโลก พรหมโลก เป็นต้น    บ้างก็ไปเกิดในทุคติภพ คือภพภูมิที่ไม่ดี ได้แก่ ไปเกิดในภพภูมิของเปรต สัตว์นรก อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งมีมากต่อมาก  มากกว่าไปเกิดในภพภูมิที่ดีเสียอีก    เป็นอันว่า พระองค์ได้ทรงรู้-ทรงเห็น ตั้งแต่พรหมโลก เทวโลก มนุษยโลก ทั่วตลอดถึงโลกของเปรต สัตว์นรก อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน    จึงทรงมีพระดำริว่าอะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์โลกไปเกิดในสุคติภพบ้าง ทุคติภพบ้างอย่างนี้

ในยามกลางแห่งราตรี  คือในตอนดึก   จึงได้ทรงเจริญสมถภาวนาเพื่อกำจัดกิเลสนิวรณ์ ด้วยการเจริญสมาธิถึงจตุตถฌานอีก  จนพระทัยผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์ อ่อนโยนควรแก่งานแล้ว จึงทรงน้อมพระทัยไปเพื่อ “จุตูปปาตญาณ” เป็นวิชชาที่ 2  คือปรีชาญาณหยั่งรู้-เห็น จุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย  กล่าวคือ รู้-เห็น ว่าสัตว์โลกทั้งหลายทำกรรมดีก็ตาม ทำกรรมชั่วก็ตาม เมื่อตายลงแล้ว กรรมใดที่ทำหน้าที่เป็นชนกกรรมก็จะนำให้ไปเกิดในภพภูมิใหม่ ตามลักษณะของกรรมที่ทำหน้าที่เป็นชนกกรรมนำให้ไปเกิดนั้น   เช่นถ้าว่าเป็นกรรมดีเป็นบุญกุศลในระดับภูมิจิตของมนุษย์ เรียกว่า “มนุษยธรรม”   ของเทวดาเรียกว่า “เทวธรรม” nbsp; หรือของพรหม เรียกว่า  “พรหมธรรม”   ก็จะนำให้ไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา หรือเป็นพรหม ตามระดับแห่งกรรมดี หรือภูมิธรรมนั้นๆ    ถ้าว่าเป็นกรรมชั่วหรือบาปอกุศลในระดับภูมิจิตของเปรต สัตว์นรก อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉาน ก็จะนำให้ไปเกิดเป็นสัตว์นั้นตามระดับภูมิจิตนั้นๆ    หรือกล่าวโดยย่อว่า “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” ดังบาลีพระพุทธภาษิตที่ว่า กมฺมุนา วตฺตตี โลโก  “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”

นี้เป็นกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติ   ไม่มีผู้ใดทำให้   ไม่มีใครเป็นผู้สร้าง   ไม่มีใครเป็นผู้นำไปเช่นนั้นได้  นอกจากว่า  ตนเองเป็นผู้ทำกรรมเช่นไร ดี หรือ ชั่วก็ตาม   ย่อมต้องได้รับผลกรรมเช่นนั้น  เปรียบดังบุคคลปลูกพืชพันธุ์ชนิดใด   ก็ย่อมได้รับผลชนิดนั้น   ดังบาลีพระพุทธภาษิตที่ว่า  “ยาทิสํ  วปเต  พีชํ    ตาทิสํ ลภเต ผลํ”  “บุคคลหว่านพืชชนิดใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น”  จึงได้ทรงมีพระดำริต่อไปว่า อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์โลกมีความคิดเห็นถูกบ้างผิดบ้าง  จึงทำกรรมดีบ้าง  ชั่วบ้าง ให้ได้รับผลเป็นความสุขบ้าง ทุกข์บ้าง  ตามกรรมดีกรรมชั่วที่ให้ผล  ไปบังเกิดในสุคติภพบ้าง ทุคติภพบ้าง อย่างนั้น

ในยามปลายแห่งราตรี  คือนับตั้งแต่เวลาค่อนรุ่นไปถึงเวลาใกล้รุ่งอรุณ   ได้ทรงเจริญสมถภาวนาถึงจตตุถฌานเพื่อกำจัดกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญาอีก  จนพระทัยผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา  อ่อนโยนควรแก่งาน    แล้วทรงน้อมพระทัยไปเพื่อ “อาสวักขยญาณ” เป็นวิชชาที่ 3   โดยได้ทรงพิจารณาสาวหาเหตุในเหตุ ไปถึงต้นเหตุให้เกิดทุกข์  ก็ได้ทรงค้นพบธรรมที่เกี่ยวเนื่องเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ ชื่อว่า ปฏิจจสมุปบาทธรรม  มีอยู่ 12 ข้อ  แต่จะขอยกมากล่าวแต่เพียง 2-3 ข้อ  พอเข้าใจว่า

เพราะอวิชชา  คือความไม่รู้อดีต ไม่รู้อนาคต ไม่รู้ทั้งอดีตและทั้งอนาคต  หรืออีกนัยหนึ่งไม่รู้เหตุ ไม่รู้ผล คือ ไม่รู้เงื่อนต้น เงื่อนปลาย  เช่นว่า  ความไม่รู้เหตุปัจจัย แห่งความเจริญรุ่งเรืองสันติสุข และความไม่รู้เหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม  ความเป็นโทษ  ความเป็นทุกข์เดือดร้อน ของชีวิต   คือความไม่รู้แจ่มแจ้ง  บาปบุญคุณโทษ และผลของบาปบุญคุณโทษ ตามที่เป็นจริง นี้ประการหนึ่ง   และ ความไม่รู้ความจริงอย่างประเสริฐ  ในทุกข์  เหตุแห่งทุกข์  ในสภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ  ได้แก่ มรรค ผล นิพพาน และความไม่รู้ในหนทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์  ได้อย่างถาวร  นี้ประการหนึ่ง  นี้เองที่เป็นเหตุปัจจัยให้ปุถุชนผู้ยังมีกิเลสหนาแน่นอยู่  มีความคิดเห็นผิด  แล้วก็พูดผิด  ทำผิด  ประกอบการงานหรืออาชีพที่ผิดๆ ไปจากทำนองคลองธรรมบ้าง   มีความคิดเห็นถูกต้องจึงพูดถูก ทำถูก ประกอบการงานหรืออาชีพถูกต้อง  ตามทำนองคลองธรรมบ้าง   ก็ย่อมได้รับผลเป็นความทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้างไปตามกรรม   และแม้จะได้รับผลเป็นความสุขบ้างก็ไม่ยั่งยืน  เมื่อสิ้นผลบุญก็ต้องเสวยผลจากกรรมชั่วที่เคยได้เคยกระทำไว้แล้วแต่อดีต  คอยติดตามให้ผล  หมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างนี้    ตราบใดที่ยังไม่ได้กระทำความดีให้แก่กล้าพอที่จะสามารถกำจัดตัดกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ให้หมดสิ้นไป ได้ถึงมรรค ผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวงได้  ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดไปสุคติบ้าง ทุคติบ้าง เป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ตามกรรมไม่มีสิ้นสุดอย่างนี้

สัตว์โลกทั้งหลายรวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน  มีโลกธรรม 8  ได้แก่ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และความทุกข์ เป็นต้น เหล่านี้   ล้วนเป็นธรรมชาติที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ ธาตุน้ำ ดิน ไฟ ลม คือส่วนที่เป็นของเหลง ของแข็ง อุณหภูมิ และลมปราณ  และกรรมดี กรรมชั่วที่คอยติดตามให้ผล เหล่านี้ เป็นต้น ประกอบขึ้นคุมกันอยู่ในสภาวะพอเหมาะ ตั้งอยู่ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย จึงมีสภาพไม่เที่ยง (อนิจฺจํ) ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว และได้ตรัสว่า ยทนิจฺจํ  ตํ  ทุกฺขํ  ยํ  ทุกฺขํ  ตทนตฺตา แปลความว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นแหละเป็นอนัตตา คือมิใช่ตัวตนของใครแท้จริง กล่าวคือลงท้ายก็ต้องแตกสลายหมดสภาพเดิมของมันไปทั้งสิ้น ไม่มีอะไรเป็นของใคร ที่แท้จริงแต่ประการใด แม้แต่ตัวเราก็ไม่เป็นตัวตนของเราไปตลอดได้ ต้องแก่ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วก็ตายไปหมดด้วยกันทั้งสิ้น ต้องพลัดพรากจากสิ่งของหรือบุคคลที่เรารักที่หวงแหนทั้งนั้น นี้เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่มีแก่ธรรมชาตที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งทั้งหมดในโลกในจักรวาลเสมอกันหมด เรียกว่า สามัญญลักษณะ หรือ “ไตรลักษณ์” ลักษณะ คือ 3 ได้แก่ ความเป็นสภาพไม่เที่ยง (อนิจฺจํ) เป็นทุกข์ (ทุกฺขํ) และมิใช่ตัวตนที่แท้จริงของใคร (อนตฺตา)

ความตั้งอยู่แห่งกำหนดกฎเกณฑ์ของธรรมชาติอย่างนี้ เรียกเป็นภาษาพระว่า  “ธรรมฐิติ”  “ธรรมนิยาม” ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ตรัสเห็นแจ้งแล้ว และได้ทรงเห็นแจ้งแทงตลอดสัจจธรรมทั้ง 4 คือ ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ และมรรคสัจ  กล่าวคือ ความที่สัตว์โลกกับทั้งสิ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยกัน ต้องตกอยู่ในอาณัติแห่งไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดังนี้ ใครยึดถือด้วยตัณหา ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา และด้วยทิฏฐิ คือความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน เราเขา ของเราของเขา แล้วเป็นทุกข์ ชื่อว่า “ทุกขสัจ”นี้เป็นสัจธรรมข้อ 1 ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ตรัสเห็นแล้ว

อวิชชา คือความไม่รู้อดีต ไม่รู้อนาคต ไม่รู้ทั้งอดีตและอนาคตและไม่รู้แจ้งเห็นแจ้งในสัจจะทั้ง4 เป็นมูลรากฝ่ายเกิดทุกข์ กล่าวคือ เป็นเหตุให้เกิดกิเลส ตัณหา อุปาทาน อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ชื่อว่า “สมุทัยสัจ” นี้เป็นสัจจะอีกข้อ 1 ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ตรัสเห็นแล้ว อธิบายเรื่อง กิเลส ว่าได้แก่ ความโลภ ราคะ 1 โทสะ  โกรธ พยาบาท 1 ความหลงไม่รู้บาปบุญคุณโทษตามที่เป็นจริง 1 เรื่อง ตัณหา ว่าได้แก่ ความทะยานอยากในกามหรือในอารมณ์ที่น่ารัก น่าใคร่ ชื่อว่า กามตัณหา 1 ความทะยานอยากในภพ คือในความเป็นนั่น เป็นนี่ หรือความอยากเกิดอีก ชื่อว่า ภวตัณหา 1 ความทะยานอยากในวิภพ คือในความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น หรืออยากให้พ้นไปจากสภาวะที่ตนเกลียดชัง หรือไม่ปรารถนา หรือความดิ้นรนไม่อยากเกิด ชื่อว่าวิภวตัณหา 1 ได้แก่ ความยึดถือในสังขารธรรมทั้งหลายทั้งปวง ความสิ้นอวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง เป็นสภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ ชื่อว่า “นิโรธสัจ” นี้เป็นสัจจธรรมอีกข้อ 1 ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้ ตรัสเห็นแล้ว

ทางสายกลางอันเป็นข้อปฏิบัติ 8 ประการ ให้ถึงความสิ้นทุกข์ ได้อย่างถาวร ชื่อ “มรรคสัจ” หรือ อริยมรรคมีองค์ 8 ได้แก่ (1) สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบในอริยสัจ 4 (2) สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบ ได้แก่ ดำริออกจากกิเลส โทสะ โมหะ เป็นต้น 2 ข้อ นี้สงเคราะห์เข้าในอธิปัญญาสิกขา คือการศึกษาอบรมในปัญญาอันยิ่ง (3) สัมมาวาจา การกล่าววาจาชอบ เว้นการกล่าววาจาไม่จริง หยาบคายเป็นต้น (4) สัมมากัมมันตะ การประกอบการงานชอบ  (5) สัมมาอาชีวะ การประกอบอาชีพที่ชอบ ไม่หลอกลวงเขาเลี้ยงชีวิต 3 ข้อนี้ สงเคราะห์เข้าในอธิศีลสิกขา คือ การศึกษาอบรมในศีลอันยิ่ง (6) สัมมาวายามะ ความเพียงชอบ คือเพียรกำจัดกิเลสที่มีอยู่ในจิตตสันดาน ความเพียรระวังมิให้กิเลสเกิดใหม่อีก ความเพียรประกอบบุญกุศลให้เกิดขึ้นในจิตตสันดาน และเพียรรักษาบุญกุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม ให้เจริญแก่กล้าเป็นบารมี อุปบารมี ถึงปรมัตถบารมี (7) สัมมาสติ ความมีสติชอบ คือ ความระลึกได้ในสภาวะของกาย เวทนา จิต และโลกิยธรรม ว่าประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งอย่างไร พิจารณาให้เห็นแจ้ง สภาวะของสังขารธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ว่ามีสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือ มิใช่ตัวตนที่แท้จริงอย่างไร ตลอดถึงโลกุตตรธรรม คือมรรค ผล นิพพาน อันเป็นวิสังขารธรรม ว่ามีสภาวะตามที่เป็นจริงอย่างไร และ (8) สัมมาสมาธิ คือ สมาธิชอบ ได้แก่ การเจริญรูปฌาน 4 เพื่อกำจักกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา ให้จิตใจบริสุทธิ์ ผ่องใส อ่อนโยนควรแก่งานเจริญปัญญารู้แจ้งในสภาวธรรม และสัจจธรรมตามที่เป็นจริง 3 ประการหลังนี้ ชื่อว่า อธิจิตตสิกขา คือการศึกษาอบรมจิตอันยิ่ง อริยมรรคมีองค์ 8 นี้ เป็นสัจจธรรมอีกข้อ 1 ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ตรัสเห็นแล้ว

ความตรัสรู้ ตรัสเห็น คือความเห็นแจ้งรู้แจ้งด้วยพระองค์เอง ในสภาวะของสังขารธรรมทั้งปวง ว่าเป็นสภาพไม่เที่ยง (อนิจฺจํ) เป็นทุกข์ (ทุกฺขํ) และเป็นสภาพมิใช่ตัวตนที่แท้จริงของใคร (อนตฺตา) และความเห็นแจ้ง รู้แจ้ง ในสัจจะทั้ง 4 คือ ทุกขสัจ สมุทัยสัจ  นิโรธสัจ และมรรคสัจ รวมทั้งความเห็นแจ้ง รู้แจ้ง ในทางเจริญ ทางเสื่อมแห่งชีวิต คือว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อันเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่ยังไม่เคยมีใครได้ค้นพบคือได้รู้แจ้งเห็นแจ้งมาก่อน จึงได้ทรงสั่งสอนให้ประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา และทางใจ ด้วยการศึกษาอบรมตน 3 ประการ คือ อธิศีลสิกขา การศึกษาอบรมศีลอันยิ่ง อธิจิตตสิกขา การศึกษาอบรมจิตอันยิ่ง อธิปัญญาสิกขา การศึกษาอบรมปัญญาให้เห็นแจ้ง รู้แจ้งในสภาวธรรม และสัจจธรรมตามธรรมชาติที่เป็นจริง ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ ตรัสเห็นมาแล้ว

ความประพฤติปฏิบัติที่ดี ที่เป็นบุญกุศล ได้แก่ ทานกุศล ศีลกุศล ภาวนากุศล เป็นต้น เพื่อเลิกละความชั่ว หรือบาปอกุศลทั้งหลาย เพื่อปฏิบัติตนให้อยู่แต่ในคุณความดี และเพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส และให้เจริญขึ้นเป็น อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา คือการศึกษาอบรมตนในศีลอันยิ่ง ในจิตอันยิ่ง และในปัญญาอันยิ่ง อันมีนัยอยู่ในอริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นทางดำเนินชีวิตให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง และสันติสุข สำหรับตน ไม่เป็นไปในทางเสื่อม เป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อน ให้ถึงที่สุดความหลุดพ้นจากกิเลสเหตุแห่งทุกข์ ได้บรรลุมรรคผล นิพพาน ที่เป็นบรมสุขอย่างถาวร ดังที่พระอริยเจ้าพระอรหันตเจ้าทั้งหลายที่ท่าน ได้ประพฤติปฏิบัติ และได้บรรลุตามรอยบาทของพระพุทธองค์ มาแล้วนี้ ชื่อว่า การปฏิบัติธรรม

เมื่อท่านทั้งหลายได้เข้าใจเหตุผลของการศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อถึงซึ่งความเจริญและสันติสุข และความพ้นทุกข์ ตามแนวทางพระพุทธศาสนา อันเป็นแก่นสารของชีวิต อย่างนี้แล้ว ก็จงเร่งขวนขวายศึกษาและปฏิบัติธรรม เพื่อความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขสำหรับตนให้ยิ่งๆ ขึ้นไป อย่าได้หลงประมาทมัวเมาในชีวิต จนตายเปล่าไปโดยไม่ได้พบแก่นสารของชีวิต เป็นโมฆะชีวิต คือ ชีวิตสูญเปล่า จะได้ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา แล้วก็ได้อบรมตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้ ตามสมควรแก่ภูมิธรรม

สุดท้ายนี้ อาตมภาพ ขอความสุขสวัสดี จงมีแด่ท่านผู้ฟังทุกท่าน  เจริญพร.


พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันอาทิตย์ ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2540

แชร์เลย

Comments

comments

Share: