ทำไมพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) พระอาจารย์ของพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม จึงต้องไปสืบปฏิปทาหลวงพ่อวัดปากน้ำในทางลับ

ทำไมพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) พระอาจารย์ของพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม จึงต้องไปสืบปฏิปทาหลวงพ่อวัดปากน้ำในทางลับ
(ในรูปนั่งแถวหน้าจากซ้าย พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) วัดศรีเทพประดิษฐาราม จ.สกลฯ พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรฯ พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) วัดเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น

แถวที่สองจากซ้าย หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร หลวงปู่กว่า สุมโน วัดป่ากลางโนนกู่ จ.สกลฯ พระครูอุดมธรรมคุณ (ทองสุข สุจิตฺโต) วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลฯ หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลฯ
แถวหลังจากซ้าย พระราชธรรมเจติยาจารย์ (วิริยังค์ สิรินฺธโร) วัดธรรมมงคล จ.กรุงเทพฯ หลวงปู่บัว สิริปุณโณ วัดป่าหนองแซง จ.อุดรฯ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงปู่มหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรฯ)
คณะสงฆ์ทั้งฝ่ายมหานิกายและคณะธรรมยุติได้ส่งสายมาสืบปฏิปทาหลวงพ่อวัดปากน้ำในทางลับ เมื่อคำว่า “ธรรมกาย” แพร่หลายออกไป ถึงกับเข้าหูท่านผู้เป็นนักปราชญ์มหาบัณฑิต ทำความฉงนสนเท่ห์ให้เกิดในคณะสงฆ์ บางท่านปลงใจว่าหลวงพ่อมีความรู้และปฏิบัติธรรมเกินธง ถึงกับมีประชุมลับกันในพระเถระผู้ใหญ่และผู้เชี่ยวชาญกรรมฐาน ส่วนมากลงความเห็นหนักไปทางการละเมิดพระวินัย เข้าขั้นอวดอุตริมนุสธรรม ยกโทษสูงถึงเพียงนั้น ท่วงทีก็หาทางเพื่อจะคว่ำบาตรหลวงพ่อ
สงฆ์คณะมหานิกาย มีพระเถระรูปหนึ่งได้รับเกียรติเข้าประชุมอยู่ด้วย ท่านผู้นี้พูดว่าอันอุตริมนุส ธรรมนี้เป็นคำที่แปลว่า เป็นธรรมของมนุษย์อันยอดยิ่ง คือเป็นธรรมสูงสุดของมนุษย์ทางพระพุทธศาสนา เมื่อใครผู้ใดเข้าถึงแล้วย่อมข้ามพ้นโอฆะทั้งมวลถึงฝั่งพระนิพพานอันไม่มีภพชาติสืบต่อไป แต่ผู้ที่จะเข้าถึงอุตริมนุสธรรมต้องเป็นคนที่มีบารมีสูง มีความเพียรมาก งามทั้งปริยัติ งามทั้งปฏิบัติ งามทั้งศีลาจารวัตร์ ต้องมีสัจจะประจำสันดาน ไม่ใช่วิสัยคนพอดีพอร้าย ต้องเป็นคนใจกล้า เสียสละ มีเมตตาสูง
เจ้าคุณวัดปากน้ำเป็นคณาจารย์กล้าพูดกล้าสอน ไม่มีความครั่นคร้ามต่อใครผู้ใด เมื่อเห็นดีอย่างไร ก็ปฏิบัติไปตามความเห็น น่าจะมีความบริสุทธิ์ใจตามความรู้ความเห็น แม้แต่พระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงประกาศสัจจะธรรมก็ตรัสแก่เบญจวัคคีย์ว่า เมื่อญาณทัศนะยังไม่บริสุทธิ์ตราบใด เราก็ไม่สามารถปฏิญาณความเป็นพระสัมพุทธะแก่สมณพราหมณ์ ประชาชน แก่เทวดา และมนุษย์โลก มารโลก พรหมโลกได้ ที่พระองค์กล้าปฏิญาณได้ ก็เพราะได้ญาณทัศนะ รู้ความจริงแล้ว นี่เป็นข้อความที่จำต้องคำนึงถึงเป็นบทมาติกาก่อน
เจ้าคุณวัดปากน้ำตามเสียงพูดกันมีเมตตาธรรมสูง ให้การศึกษาทั้งปริยัติ ทั้งการปฏิบัติแก่ภิกษุสามเณรวัดปากน้ำไม่น้อยกว่า ๓๐๐ รูป สอบนักธรรมและบาลีในสนามหลวงได้จำนวนตั้ง ๑๐๐ ลองตรึกตรองดูบ้างว่า ในประเทศไทยวัดไหนทำประโยชน์ศาสนาถึงขนาดนี้ ถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระภิกษุสามเณรทุกวัน ทุกเวลา เป็นจำนวนตั้ง ๓๐๐ ถึง ๔๐๐ องค์ ใครทำได้อย่างนี้
เจ้าคุณวัดปากน้ำจะเข้าขั้นไหนเราไม่ทราบ แต่ควรคิดไว้ก่อนว่า สำนักวัดปากน้ำสอนมานานพูดมานานแล้ว ธรรมวัดปากน้ำยังไม่เสื่อม มีแต่เพิ่มผู้ปฏิบัติยิ่งขึ้น ท่านยังตั้งเจตนาจะรับพระภิกษุสามเณรให้เข้ารับการศึกษาถึง ๕๐๐ องค์ เฉพาะวัดปากน้ำ ลักษณะนี้น่าจะมีอะไรดีอยู่มาก ถ้าเป็นเจตนาลวงโลกคงอยู่ไม่ได้ถึงเพียงนี้ เท่าที่พบมาพระอาจารย์ลามกอยู่ได้ ๕ – ๖ ปีก็สาบสูญไป แต่วัดปากน้ำสู้หน้าโลกโดยไม่ตกต่ำ ก็น่าจะมีอะไรดีเป็นหลักประกันอยู่มาก
พวกเราที่มาพิจารณาโทษวัดปากน้ำทั้งหมดนี้ ความจริงก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางพระกรรมฐานมากนัก รู้พอรักษาตัวรอดได้ ความรู้ทางธรรมปฏิบัติก็มีความลุ่มลึกสุขุมแตกต่างกัน แม้พระอรหันต์ก็ยังต่างกันโดยคุณสมบัติ อุตริมนุสธรรมนั้นผู้ปฏิบัติพึงรู้พึงถึง ต้องสามารถดำเนินปฏิปทาทางจิต มีวิริยะอย่างอุกฤษฏ์ พวกเรายังปฏิบัติไม่เข้าขั้นเช่นนี้ จะไปลงโทษผู้เชี่ยวชาญกรรมฐานได้อย่างไร เอาความรู้อะไรไปลงโทษเขา ที่ประชุมยอมรับความเห็นนั้น และให้พระเถระรูปนี้มาสอบสวนเป็นทางลับ และท่านมาในฐานะเป็นผู้สนใจในการปฏิบัติธรรม ในที่สุดเรื่องร้ายไม่เกิดขึ้น และไม่ถูกสงสัยในแง่อุตริมนุสธรรมอีกต่อไป”
(สมเด็จพระสังฆราชปุ่นครั้งมีสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต, ๒๕๒๙, ประวัติพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อวัดปากน้ำ)และอนุภาพธรรมกาย ใน พระมงคลเทพมุนี ประวัติหลวงพ่อ และคู่มือสมภาร. วัดปากน้ำ, ภาษีเจริญ, และสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, หน้า๑๐๖)
สงฆ์คณะธรรมยุต ท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) วัดเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น หรือฤาษีสันตจิต ท่านเป็นศิษย์รุ่นแรกของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นอาจารย์ของพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม แม่ทัพธรรมสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชชาทิพยอำนาจ เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านได้มีโอกาสเข้ามาในพระนคร ได้ยินเสียงโจษจันกันถึงเรื่องที่ หลวงพ่อวัดปากน้ำ ได้พบเห็นเฝ้าแหนพระพุทธเจ้าและแสดงปาฏิหาริย์ให้คนเห็นพระพุทธเจ้าด้วย มีพระเถระชั้นผู้ใหญ่สงสัย และได้ปรึกษาเรื่องนี้กับท่าน ท่านแนะนำว่าควรไปสืบดูก่อน อย่าด่วนโต้แย้งคัดค้าน
เมื่อท่านไปพบหลวงพ่อแล้ว ท่านจึงเข้าใจหลวงพ่อด้วยดี ในกรณีของหลวงพ่อ แสดงปาฏิหาริย์ในเรื่องพระพุทธเจ้านั้น เข้าใจว่าท่านมุ่งต่อต้าน ปรับปวาท (คือวาทะของผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา) ซึ่งกำลังมีอิทธิพลและได้รับความสนับสนุนอย่างดีในระยะกาลนั้นเป็นประมาณ ไม่ได้มุ่งอวดอ้างเพื่อลาภสักการะยศศักดิ์แต่ประการใด ท่านจึงได้อนุโมทนาและได้ช่วยยับยั้งพระเถระผู้ใหญ่ มิให้แสดงปฏิกริยาเป็นปฏิปักษ์ต่อหลวงพ่อ ดังใจความที่คัดจากหนังสืออิทธิปาฏิหาริย์ เกจิอาจารย์ ของดวงธรรม โชนเชิดประทีป, ๒๕๐๗, กรุงเทพฯ: บรรณาคาร, หน้า ๓ –๖ มีความว่าดังนี้ :
“เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ข้าพเจ้า (พระอริยคุณาธาร เส็ง ปุสฺโส) ได้มีโอกาสเข้าไปในพระนคร ได้ยินเสียงโจษจันกันถึงเรื่องที่ หลวงพ่อวัดปากน้ำ ได้พบเห็นเฝ้าแหนพระพุทธเจ้าและแสดงปาฏิหาริย์ให้คนเห็นพระพุทธเจ้าด้วย มีผู้สงสัยกันมาก พระเถระชั้นผู้ใหญ่ก็สงสัย บางท่านทำทีจะโต้แย้งคัดค้าน และได้ปรึกษาเรื่องนี้กะข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าแนะนำว่าควรจะสืบสวนให้รู้ถ่องแท้ก่อน อย่าด่วนโต้แย้งคัดค้าน เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้ลึกซึ้ง อันยากแก่การพิสูจน์อิทธิวิสัย เป็นเรื่องที่คิดไม่ถึง และอภิญญาเป็นวิชชาชั้นสูงในพระพุทธศาสนา ถ้าเรารู้ไม่ถึงแล้วด่วนคัดค้านโต้แย้ง อาจได้รับความอับอายภายหลัง ท่านผู้นั้นขอร้องข้าพเจ้าให้เป็นผู้สืบสวน ข้าพเจ้ารับภาระนั้นด้วยเห็นแก่ความสวัสดีของพระพุทธศาสนา
วันหนึ่งข้าพเจ้ามีโอกาสดี ให้คนไปพบปะสนทนากับหลวงพ่อ ท่านนัด ๑๖. ๐๐ น. ข้าพเจ้าไปวัดปากน้ำตามเวลานัด ขณะนั้นหลวงพ่อยังอยู่ในที่ฝึกภาวนาแก่ภิกษุสามเณร อุบาสก-อุบาสิกา ข้าพเจ้ารอคอยอยู่ที่รับแขกราวครึ่งชั่วโมง มีคนไปบอกหลวงพ่อ ท่านออกมาปฏิสันถารเมื่อรู้ว่าเป็นบุคคลที่นัดไว้ จึงนำไปที่กุฏิของท่าน เพื่อมีโอกาสสนทนาโดยเฉพาะ เมื่อผ่านการปราศัยไต่ถามชื่อเสียงเรียงนามตำแหน่งแห่งที่พอรู้เรื่องแล้ว หลวงพ่อพูดถึงแนวการปฏิบัติและแนวการสอนของท่าน พร้อมกับเล่าเรื่องไปเฝ้าพระพุทธเจ้าให้ฟัง
ข้าพเจ้าสอบถามพระพุทธลักษณะกับหลวงพ่อเล็กน้อย ท่านชี้ให้ดูพระพุทธรูปว่ามีลักษณะอย่างนั้น และมีพระเกตุมาลายอดแหลม เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า หลวงพ่อให้หนังสือ “ธรรมกาย” แก่ข้าพเจ้า ๑ เล่ม ส่วนข้าพเจ้าได้ตอบแทนท่านด้วยหนังสือ “สีลวัต” ๑ เล่ม
จากคุณ : ธารณธรรม
พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) พระเกจิสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ก็เคยกล่าวเกี่ยวกับพระธรรมกายใว้ในหนังสือทิพยอำนาจ ดังนี้
พระธรรมกาย
ได้แก่พระกายอันบริสุทธิ์ ไม่สาธารณะทั่วไปแก่เทวดาและมนุษย์ หมายถึง พระจิตที่พ้นจากอาสวะแล้ว เป็นพระจิตที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง มีพระรัศมีแจ่มจ้า เปรียบเหมือนดวงอาทิตย์อุทัยใขแสง ในนภากาศฉะนั้น พระธรรมกายนี้ เป็นพระพุทธเจ้าที่จริงแท้ เป็นพระกายที่พ้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย และทุกข์โศกทั้งหลายได้จริง เป็นพระกายที่เที่ยงแท้ ถาวรไม่สูญสลาย เป็นอยู่ชั่วนิรันดร์ เป็นที่รวมแห่งธรรมทั้งปวง
คือความเป็นพระอรหันต์ไม่สูญ
ความเป็นพระอรหันต์นี้ ท่านจัดเป็นอินทรีย์ชนิดหนึ่งเรียกว่า อัญญินทรีย์ เป็นสภาพที่คล้ายคลึงวิสุทธาพรหมในสุทธาวาสชั้นสูง เป็นแต่บริสุทธิ์ยิ่งกว่าเท่านั้น เมื่อมีอินทรีย์อยู่ก็ย่อมจะบำเพ็ญประโยชน์ได้ แต่ผู้จะรับประโยชน์จากท่านได้ ก็จะต้องมีอินทรีย์ผ่องแผ้วเพียงพอที่จะรับรู้รับเห็นได้ เพราะอินทรีย์ของพระอรหันต์ ประณีตสุขุมที่สุด เป็นอินทรีย์แก้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของท่านเป็นแก้ว คือใสบริสุทธิ์ดุจแก้วมณีโชติ ผู้บรรลุถึงภูมิแก้วแล้ว ย่อมสามารถพบเห็นพระแก้ว คือพระอรหันต์ที่นิพพานแล้วได้
ความรู้เรื่องนี้เป็นความรู้ลับในธรรมวินัย ผู้สนใจพึงศึกษาค้นคว้าต่อไป ถ้ารู้ไม่ถึงอย่าพึงค้าน อย่าพึงอนุโมทนา เป็นแต่จดจำเอาใว้ เมื่อใดเหตุผลลงกันจึงอนุโมทนา ถ้ารู้ไม่ถึงแล้วด่วนวิพากษ์วิจารณ์ ติเตียน จะเป็นไปเพื่อบอดตาบอดญาณตัวเอง
ข้าพเจ้านำเรื่องนี้มาพูดใว้ ด้วยมีความประสงค์จะให้นักศึกษาพระพุทธศาสนา ช่วยกันค้นคว้าความรู้ ส่วนลึกลับของพระพุทธศาสนาต่อไป
ที่มา……หนังสือ ทิพยอำนาจ
หน้า……509-512
เรียบเรียงโดย….พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส)
แชร์เลย

Comments

comments

Share: