ธรรมกาย

พระธรรมกายศูนย์กลางกาย  กายในกาย  
  อานุภาพธรรมกาย  หลักฐานในคัมภีร์

"คมฺภีโรจายํ ธมฺโม ทุทฺทโส  ทุรนุโพโธ  สนฺโต  ปณีโต  อตกฺกาวจโร  นิปุโณ  ปณฺฑิตเวทนีโย"

"ธรรมนี้เป็นสภาพลึก  เห็นได้ยาก  ตรัสรู้ตามได้ยาก  เป็นธรรมสงบ ประณีต  คิดเดาด้วยเหตุผลธรรมดาไม่ได้ [หยั่งไม่ได้ด้วยตรรกะ] เป็นธรรมละเอียด  เป็นวิสัยที่บัณฑิตเท่านั้นที่จะถึงรู้ได้" - พุทธภาษิต

ธรรมกายคืออะไร

ธรรมกาย คือ กายในกายที่สุดละเอียดของสัตว์โลกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม เป็นกายโลกุตตระ (คือพ้นโลก) พ้นจากกายในกายอันเป็นโลกิยะ (กายมนุษย์หยาบ-ละเอียด กายทิพย์หยาบ-ละเอียด กายรูปพรหมหยาบ-ละเอียด กายอรูปพรหมหยาบ-ละเอียด)

ธรรมกายที่บรรลุอรหัตตผลแล้วนี้เอง คือ พระนิพพานธาตุ อันเป็นอมตธรรม ที่ทรงสภาวะนิพพาน ของพระอรหันตสาวก พระปัจเจกพุทธเจ้า และ พระสัพพัญญูพุทธเจ้า
พระพุทธลักษณะของธรรมกาย

ผู้ที่ได้ปฏิบัติภาวนาธรรมจนได้เข้าถึง ได้รู้ ได้เห็นและได้เป็น ทุกท่าน ต่างเห็นพระธรรมกายมีพระพุทธลักษณะดังต่อไปนี้

ลักษณะเหมือนพระพุทธปฏิมา เกตุดอกบัวตูม
ขาวใส บริสุทธิ์ และมีรัศมีสว่างยิ่งนัก
ครองจีวรม้วนลูกบวบเข้าใน คือม้วนขวาเท่านั้น  ไม่ม้วนซ้าย
ประทับนั่งขัดสมาธิ    เท้าขวาทับเท้าซ้าย นิ้วชี้พระหัตถ์ขวาแตะนิ้วหัวแม่มือพระหัตถ์ซ้าย
ประทับอยู่บนองค์ฌาน    มีลักษณะเป็นแผ่นกลม ขาว ใส  หนาประมาณ 1 ฝ่ามือของธรรมกาย
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าหน้าตักและความสูงของธรรมกาย อยู่โดยรอบ  จึงเห็นเหมือนพระธรรมกายประทับนั่งอยู่ในดวงแก้วดวงใหญ่   ซึ่งต่างจากดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายโลกิยะ (กายของมนุษย์ ทิพย์ พรหม อรูปพรหม)

(สำหรับผู้ที่กำลังของสมาธิยังไม่มั่นคงพอ หรือความบริสุทธิ์ของใจในขณะนั้นยังไม่ละเอียดดีพอ อาจเห็นมีลักษณะที่คลาดเคลื่อนไปได้ เช่น เห็นพระธรรมกายห่มดองมีผ้ารัดอกด้วย เป็นต้น)
รัตนบัลลังก์

ใน อายตนะนิพพาน อันเป็นที่ประทับอยู่ของธรรมกายธรรมกายที่บรรลุอรหัตตผล คือ พระนิพพานธาตุ อันเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ที่ทรงสภาวะนิพพานนั้น มีทั้งธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวก ประทับอยู่
ธรรมกายตรัสรู้ของพระอรหันตสาวกทั้งหลายคงประทับ อยู่บนองค์ฌาน เฉยๆ
เฉพาะธรรมกายตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ล้วนประทับ อยู่บนรัตนบัลลังก์ อีกทีหนึ่ง
ธรรมกาย มีหยาบมีละเอียดไปจนสุดละเอียด

แม้จะเป็นธรรมกายเหมือนกัน เป็นกายโลกุตตระเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังมีหยาบละเอียด ขึ้นอยู่กับระดับความบริสุทธิ์ มีประเภทดังนี้

ธรรมกายโคตรภู สำหรับผู้ได้โคตรภูญาณ มีขนาดหน้าตักและความสูง และเส้นผ่าศูนย์กลางดวงธรรม 4 วาครึ่ง
ธรรมกายพระโสดา มีขนาดหน้าตักและความสูง และเส้นผ่าศูนย์กลางดวงธรรม ขนาด 5 วาขึ้นไป
ธรรมกายพระสกทาคา มีขนาดหน้าตักและความสูง และเส้นผ่าศูนย์กลางดวงธรรม ขนาด 10 วาขึ้นไป
ธรรมกายพระอนาคามี มีขนาดหน้าตักและความสูง และเส้นผ่าศูนย์กลางดวงธรรม ขนาด 15 วาขึ้นไป
ธรรมกายพระอรหัต หรือธรรมกายตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านี้เอง คือ พระนิพพานธาตุ อันเป็นอมตธรรม ที่ทรงสภาวะพระนิพพานนั้น มีขนาดหน้าตักและความสูง และเส้นผ่าศูนย์กลางดวงธรรมขนาด 20 วาขึ้นไป   เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ (ตาย) แล้ว  พระนิพพานธาตุอันเป็นอมตธรรมนี้น  ย่อมสถิตยั่งยืนอยู่ในอายตนะนิพพาน เข้านิโรธสงบตลอดกันหมด เป็นบรมสุข  

สภาวะของธรรมกายที่บรรลุอรหัตตผล

ธรรมกายนั้นเป็น กายอันประเสริฐเพราะเป็นอมตธรรมที่เที่ยงและเป็นบรมสุข
ธรรมกายเป็น กายที่บริสุทธิ์ คือเป็น ธาตุล้วนธรรมล้วน
ธรรมกาย มีชีวิตจิตใจ   แต่ก็มีใช่สัตว์  ไม่ใช่ชีวะ  คือไม่ใช่เบญจขันธ์   เป็นธรรมขันธ์ เป็นวิสุทธิขันธ์
ธรรมกาย ปราศจากตัณหาราคะใดๆ (วิราคธาตุ-วิราคธรรม)
ธรรมกาย เป็นวิสังขารธรรม  ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง พ้นจากความปรุงแต่งใดๆ ไม่ว่าจะเป็นความปรุงแต่งด้วยผลของ บาปอกุศล หรือ บุญกุศล (คือเป็นอสังขตธาตุ-อสังขตธรรม หรือ วิสังขาร) จึงไม่ต้องตกอยู่ในอาณัติแห่งไตรลักษณ์หรือสามัญญลักษณะ คือลักษณะที่เสมอกันของสังขาร คือ ความเป็นของไม่เที่ยง (อนิจฺจํ) ความเป็นทุกข์ (ทุกฺขํ) และความเป็นของไม่ใช่ตน (อนตฺตา)
ธรรมกาย เป็น ธาตุล้วนธรรมล้วน ที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (วิสังขาร) จึงไม่ต้องเปลี่ยนแปลงแปรผันไปตามเหตุปัจจัยดังสิ่งที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งเขาเป็นกัน นี้เอง   ธรรมกายที่บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว จึง มีสภาวะที่ตรงกันข้ามกับสังขาร โดยเหตุนี้จึงเป็นกายที่เที่ยง (นิจฺจํ) เป็นสุข (สุขํ) และเป็นกายที่เป็นตัวตนที่แท้จริง (โลกุตฺตรอตฺตา)
ธรรมกาย เป็น ธาตุเป็นธรรมเป็น  คือเป็น กายที่มีชีวิตจิตใจ  แต่ก็ไม่ใช่สัตว์  ไม่ใช่ชีวะ  อย่างสัตว์โลกทั้งหลาย  ซ้อนอยู่ในที่สุดละเอียด ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม ณ ศูนย์กลางกาย ของสัตว์โลกทั้งหลาย
ธรรมกาย เป็น อมตธรรม คือธรรมที่ไม่ตาย จึงไม่มีการเกิด แก่ เจ็บ และตาย อีก
ธรรมกาย มีความสุขที่เหนือความสุขทางโลกทั้งสิ้น ดังพระพุทธพจน์ว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ -  นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง     แต่สุขในนิพพานก็ไม่ใช่สุขเวทนาอย่างชาวโลก
ธรรมกาย เป็นกายที่ประมวลความบริสุทธิ์ 3 ประการเข้าไว้ คือ
    กายและหัวใจ เป็นเนื้อหนังที่แท้จริง รวบยอดกลั่นออกมาจากพระวินัยปิฎก เป็น ปฐมมรรค [พระวินัยกลั่นออกมาเป็นกายและหัวใจ]
    ดวงจิต เป็นเนื้อหนังที่แท้จริง รวบยอดกลั่นออกมาจากพระสุตตันตปิฎก เป็น มรรคจิต [พระสูตรกลั่นออกมาเป็นดวงจิต]
    ดวงปัญญา เป็นเนื้อหนังที่แท้จริง รวบยอดกลั่นออกมาจากพระอภิธรรมหรือพระปรมัตถปิฎก เป็นมรรคปัญญา [พระอภิธรรมกลั่นออกมาเป็นดวงปัญญา]

ฐานะ ความสำคัญ ของธรรมกายที่บรรลุอรหัตตผลแล้ว

ธรรมกายเป็น กายในกาย ที่สุดละเอียด ของมนุษย์หรือสัตว์โลกทั้งหลาย   ธรรมกายที่บรรลุอรหัตตผลแล้วนั้นเอง คือ พระนิพพานธาตุ  อันเป็นอมตธรรม ที่ทรงสภาวะนิพพาน (เที่ยงและเป็นบรมสุข) ไว้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า "ธรรมกาย" เป็นชื่อของพระองค์ - อหํ ธมฺมกาโย อิติปิ ก็คือ พระองค์เป็นธรรมกาย นั่นเอง
ธรรมกายทำหน้าที่ตรัสรู้อริยสัจ 4 (กรณีพระอรหันตสาวก)  และตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (กรณีพระพุทธเจ้า)
    ธรรมกายจึงเป็นพระพุทธรัตนะ
    ธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายคือพระธรรมรัตนะ
    ธรรมกายที่ละเอียดๆ ทั้งหลาย คือ พระสังฆรัตนะ

ความอุบัติขึ้นของ “ธรรมกาย” เป็นของยาก

ความปรากฏขึ้นของ “ธรรมกาย” แก่สัตว์โลก เป็นเรื่องที่สัตว์โลกมีได้ด้วยยาก แต่ก็มิใช่จะเหลือวิสัยที่สัตว์โลกจะทำได้ เพราะสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี หรือพระอรหันต์ทั้งหลายก็ดี ก่อนแต่จะตรัสรู้ ได้บรรลุพระอรหัตตผลหรือพระสัมมาสัมโพธิญาณด้วย “พระธรรมกาย” นั้น ก็เริ่มตั้งแต่ความเป็นมนุษย์ปุถุชนมาก่อนเหมือนกัน

กายพระพุทธเจ้าจักรพรรดิ

มีข้อสังเกตว่า เมื่อปฏิบัติภาวนาตามแนววิชชาธรรมกายชั้นสูงไปจนสุดละเอียด ในท่ามกลางธรรมกายตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า (กินความรวมถึงกายอื่นที่หยาบรองลงมาจนสุดกายหยาบคือกายมนุษย์ด้วย) ยังมีกายในกายซ้อนอยู่ต่อไปอีก คือ กาย “พระพุทธเจ้าจักรพรรดิ” หรือเรียกว่า “จักรพรรดิ” เฉยๆ ซึ่งเป็นกายภาคผู้เลี้ยง และเป็นประธานของรัตนะ 7 และกายสิทธิ์ทั้งหลาย มีลักษณะเหมือนพระธรรมกายโดยทั่วไป แต่ “ทรงเครื่อง” เหมือนพระทรงเครื่อง (อย่างเช่น พระแก้วมรกตทรงเครื่อง) ขาวใสบริสุทธิ์ยิ่งนักอีกเช่นกัน

ศูนย์กลางกายของมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลาย มีอะไร

ที่ศูนย์กลางกาย ตรงระดับสะดือของสัตว์โลกทั้งหลาย คือ  มนุษย์ เทวดา พรหม อรูปพรหม นั้น เป็นที่ตั้งของ

  • ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย ซึ่งประกอบด้วย ธาตุละเอียดทั้ง 6
  • ใจ (ธาตุละเอียดของนามขันธ์ 4 คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ)
  • ธรรมชาติ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายบุญกุศล (กุสลาธัมมา)  ฝ่ายบาปอกุศล (อกุสลาธัมมา)  และฝ่ายกลางๆ (อัพยากตาธัมมา)
  • ภพซ้อนภพ   และยังเป็น
  • ที่ไปเกิดมาเกิดของสัตว์ ฯลฯ

ธรรมชาติเหล่านี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่เองตามธรรมดา   เมื่อจิตตั้งมั่น เป็นสมาธิ ย่อมสามารถรู้เห็นสิ่งเหล่านี้ได้ ดังพุทธดำรัสที่ว่า “เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามเป็นจริง – สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ”

ลักษณะของดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย
(ดวงปฐมมรรค)

1. ศูนย์ด้านหน้า
2. ศูนย์ด้านขวา
3. ศูนย์ด้านหลัง
4. ศูนย์ด้านซ้าย
5. ศูนย์กลาง
6. ศูนย์กลางของอากาศธาตุ
ธาตุน้ำ
ธาตุดิน
ธาตุไฟ
ธาตุลม
อากาศธาตุ
วิญญาณธาตุ

ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย

สัตว์โลก ไม่ว่าจะเป็น มนุษย์ ทิพย์ (เทวดา) พรหม อรูปพรหม นั้น มีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอยู่ มีลักษณะขาวใสบริสุทธิ์ ตามระดับความบริสุทธิ์ของจิตใจ

ขนาดของดวงธรรม

เนื่องจากดวงธรรมของสัตว์โลกในระดับโลกิยะ ยังถูกอวิชชาห่อหุ้มอยู่    ดวงธรรมจึงยังไม่ขยายโตเต็มส่วน เต็มที่     ซึ่งตรงกันข้ามกับธรรมกาย   ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายของธรรมกายนั้นขยายโตเต็มส่วน ปรากฏเห็นอยู่โดยรอบองค์ธรรมกาย เหมือนองค์ธรรมกายประทับนั่งอยู่ในดวงแก้วดวงใหญ่

ธาตุละเอียดทั้ง 6

ธาตุละเอียดทั้ง 6 นั้นก็ตั้งอยู่ในดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย

  • ธาตุละเอียดทั้ง 6 ได้แก่  ธาตุน้ำ  ธาตุดิน  ธาตุไฟ   ธาตุลม  อากาศธาตุ และ วิญญาณธาตุ
    ธาตุน้ำอยู่ด้านหน้า ธาตุดินอยู่ด้านขวา ธาตุไฟอยู่ด้านหลัง ธาตุลมอยู่ด้านซ้าย   อากาศธาตุอยู่ตรงกลาง  วิญญาณธาตุอยู่ตรงศูนย์กลางอากาศอีกทีหนึ่ง
  • ที่ศูนย์กลางของวิญญาณธาตุนั้น ก็ยังมีธาตุละเอียดของนามขันธ์ 4 และธาตุเห็น ธาตุจำ ธาตุคิด และ ธาตุรู้ ก็ซ้อนอยู่ตรงกลางของกลางซึ่งกันและกันเป็นชั้นๆ กันเข้าไปข้างในอีก
  • และขยายส่วนหยาบออกมาเป็น ดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด และ ดวงรู้ อันเป็นธรรมชาติรวม (4 อย่าง) ของ “ใจ” ธรรมชาติ 4 อย่างคือ เห็น จำ คิด รู้ นี้แหละที่ขยายส่วนหยาบมาจากธาตุละเอียดของนามขันธ์ 4 คือ   เวทนา (ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์) สัญญา (ความจำ)  สังขาร(ความคิดปรุงแต่ง)   และ วิญญาณ (ความรู้อารมณ์)

ก็หมายความว่า กายในกาย ณ ภายในละเอียดเข้าไปจนสุดกายหยาบกายละเอียดนั้น ต่างก็เป็นกายที่มีชีวิตจิตใจ อีกด้วยนั่นเอง  

ธรรมชาติ 3 ฝ่าย

ธาตุทั้ง 6 นั้น ยังเป็นที่ตั้งของ “ธรรม”   คือ ธรรมชาติ 3 ฝ่าย  ได้แก่

  1. ธรรมชาติฝ่ายบุญกุศล (กุสลาธัมมา)  หรือ ฝ่ายดี ฝ่ายพระ หรือธรรมขาว ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ผ่องใส ดลจิตใจของสัตว์โลกให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทางกาย วาจาและใจ และให้ผลที่เป็นความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข
  2. ธรรมชาติฝ่ายบาปอกุศล (อกุสลาธัมมา) หรือฝ่ายชั่ว ฝ่ายมาร หรือธรรมดำ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่มัวหมอง ดลจิตใจของสัตว์โลกให้ประพฤติผิด รู้ผิด คิดผิด เห็นผิด ด้วยกาย วาจา และใจ และให้ผลเป็นความทุกข์เดือดร้อน
  3. ธรรมชาติฝ่ายกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว (อัพยากตาธัมมา)

ธรรมชาติทั้ง 3 ฝ่ายนี้ต่างคอยเอิบ อาบ ซึม ซาบ ปน เป็น ฯลฯ อยู่ในธาตุธรรม เห็น จำ คิด รู้ ของสัตว์  ให้ปฏิบัติตามอำนาจของแต่ละฝ่ายนั้น   และปรุงแต่งสัตว์นั้นให้ดี เลว ประณีต หยาบ ละเอียด เป็นสุข เป็นทุกข์ ต่างๆ กันไปตามกรรม  ตามธรรมชาติแต่ละฝ่ายดังกล่าว ที่ทำหน้าที่เป็นเหตุนำ เหตุหนุน อยู่ในธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้ของสัตว์นั้นๆ

ดีไม่ดีไม่ชั่วชั่ว
บุญกลางๆบาป
กุศลอัพยากตอกุศล
ธรรมขาวธรรมกลางธรรมดำ
ภาคพระภาคกลางๆภาคมาร

ภพซ้อนภพ

  1. กายในกาย และธรรมในธรรม ณ ภายใน ที่มีศูนย์กลางกายตรงกัน ซ้อนอยู่เป็นชั้นๆ เข้าไปจนสุดละเอียดนั้น จัดเป็น ภพเป็น ซึ่งย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ตามสายปฏิจจสมุปบาทธรรม  เป็นปัจจุบันธรรม
  2. ส่วนมนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก อันเป็นที่อยู่ ที่รองรับ ของ มนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน สัตว์นรก เทวดา พรหม ที่ประกอบด้วยพื้นดิน หิน บ้าง เป็นสถานที่มีวิมานอันเป็นทิพย์บ้าง เป็นต้นนั้น เป็นภพหยาบ เรียกว่า ภพตาย

หลักฐานในคัมภีร์

ธรรมกาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์เป็นธรรมกาย พระแม่น้ามหาปชาบดีโคตมี ผู้เป็นพระอรหันต์ แสดงว่าตนเป็นธรรมกาย พระสรภังคเถระ ผู้เป็นพระอรหันต์ กล่าวถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ว่า ทรงอุบัติเป็นธรรมกาย ผู้คงที่ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย มีธรรมกายมาก  ตถาคตคือใคร ?  พระอรหันต์ตายแล้ว ไม่ขาดสูญ (1) ตถาคตคือใคร ?  พระอรหันต์ตายแล้ว ไม่ขาดสูญ (2) นิพพาน อายตนะ(นิพพาน) นั้น มีอยู่ เป็นที่ที่พระอเสขมุนีคือพระอรหันต์ทั้งหลายไปแล้วไม่เศร้าโศก พระนิพพาน เห็นได้ยาก พระนิพพาน ตรัสรู้ตามได้ยาก พระนิพพาน มองด้วยตาไม่เห็น ไม่มีที่สุด  สว่างแจ้งทั่วทั้งหมด

ธรรมกาย

(1) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์เป็นธรรมกาย

“ตถาคตสฺส เหตํ วาเสฏฺฐา อธิวจนํ   ธมฺมกาโย อิติปิ   พฺรหฺมกาโย อิติปิ   ธมฺมภูโต อิติปิ   พฺรหฺมภูโต อิติปิ”
“วาเสฏฐะและภารทวาชะ   คำว่า ธรรมกาย ก็ดี   พรหมกาย ก็ดี   ธรรมภูต ก็ดี   พรหมภูต ก็ดี เป็นชื่อของตถาคต” (ที.ปา.11/55/92)

(2) พระแม่น้า มหาปชาบดีโคตมี ผู้เป็นพระอรหันต์ แสดงว่าตนเป็นธรรมกาย

 “อหํ สุคต เต มาตาตุวํ ธีร ปิตา มม
 สทฺธมฺมสุขโท นาถตยา ชาตมฺหิ โคตม.”
 สํวทฺธิโตยํ สุคตรูปกาโย มยา ตว
 อานนฺทิโย ธมฺมกาโยมม สํวทฺธิโต ตยา.
 มุหุตฺตํ ตณฺหาสมนํขีรํ ตฺวํ ปายิโต มยา
 ตยาหํ สนฺตมจฺจนฺตํธมฺมขีรมฺปิ ปายิตา.
 พนฺธนารกฺขเน มยฺหํอนโณ ตฺวํ มหามุเน.”
“ข้าแต่พระสุคตเจ้า  หม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์  
ข้าแต่พระธีรเจ้า  พระองค์เป็นพระบิดาของหม่อมฉัน 
ข้าแต่พระโลกนาถ พระองค์เป็นผู้ประทานความสุขอันเกิดจากพระสัทธรรมให้หม่อมฉัน    
ข้าแต่พระโคดม หม่อมฉันเป็นผู้อันพระองค์ให้เกิด.
ข้าแต่พระสุคตเจ้า รูปกายของพระองค์นี้ อันหม่อมฉันทำให้เจริญเติบโต.   
ธรรมกาย อันน่าเพลิดเพลินของหม่อมฉัน อันพระองค์ทำให้เจริญเติบโตแล้ว.
หม่อมฉันให้พระองค์ดูดดื่มน้ำนมอันระงับเสียได้ซึ่งความอยากชั่วครู่   แม้น้ำนมคือพระสัทธรรมอันสงบระงับล่วงส่วน พระองค์ก็ให้หม่อมฉันดูดดื่มแล้ว.
ข้าแต่พระมหามุนี  ในการผูกมัดและรักษา พระองค์ชื่อว่ามิได้เป็นหนี้หม่อมฉัน.” (ขุ.อป.33/153/284)

(3) พระสรภังคเถระ ผู้เป็นพระอรหันต์ กล่าวถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ว่า ทรงอุบัติเป็นธรรมกาย ผู้คงที่

“เมื่อก่อนเราผู้ชื่อว่าสรภังคะ ไม่เคยได้เห็นโรคคืออุปาทานขันธ์ 5 ได้ครบบริบูรณ์ทั้งสิ้น. โรคนั้นอันเราผู้ทำตามพระดำรัสของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ได้เห็นแล้ว. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า พระวิปัสสี พระสิขี พระเวสสภู พระกกุสันโธ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ ได้เสด็จไปแล้วโดยทางใดแล   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมก็ได้เสด็จไปแล้วโดยทางนั้น.   พระพุทธเจ้า 7 พระองค์นี้ ทรงปราศจากตัณหา ไม่ทรงถือมั่น ทรงหยั่งถึงความสิ้นกิเลส เสด็จอุบัติแท้โดย ธรรมกาย ผู้คงที่ ทรงเอ็นดูอนุเคราะห์สัตว์ทั้งหลาย ได้ทรงแสดงธรรมคืออริยสัจ 4 อันได้แก่ ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางเป็นที่สิ้นทุกข์ เป็นทางไม่เป็นไปแห่งทุกข์ อันไม่มีที่สุดในสงสาร   เพราะกายนี้แตกและเพราะความสิ้นชีวิตนี้ การเกิดในภพใหม่อย่างอื่นมิได้มี.   เราเป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากสรรพกิเลสและภพทั้งปวง.”

(4) ตรัสว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย มีธรรมกายมาก   ได้ตรัสแก่พระอานนท์เวเทหมุนี ซึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค เมื่อประทับอยู่ในวิหารเชตวันว่า “ได้ทราบว่า พระปัจเจกสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริงหรือ   เพราะเหตุไร ท่านเหล่านั้นจึงได้เป็นพระปัจเจกสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นปราชญ์ ?”  ว่า

“วิสุทฺธสีลา …         มหนฺตธมฺมา พหุธมฺมกายา …” “นักปราชญ์เหล่าใด  มีศีลบริสุทธิ์   มีปัญญาหมดจดดี   มีจิตตั้งมั่น   ประกอบความเพียร   เจริญวิปัสสนา…  ไม่บรรลุความเป็นสาวกในพระศาสนาของพระชินเจ้า   (นักปราชญ์เหล่านั้นย่อมเป็นสยัมภูปัจเจกชินเจ้า) มีธรรมใหญ่  มีธรรมกายมาก…”   (ขุ.อป.32/2/20)

อายตนะ(นิพพาน)

(1) ตรัสว่า อายตนะ(นิพพาน) นั้น มีอยู่ ดังนี้

“อตฺถิ ภิกฺขเว ตทายตนํ.   ยตฺถ  เนว ปฐวี  น อาโป  น เตโช  น วาโย  น อากาสานญฺจายตนํ  น วิญญาณญฺจายตนํ  น อากิญฺจญฺญายตนํ  น เนวสญฺญานาสญฺญายตนํ  นายํ โลโก  น ปรโลโก  น อุโภ จนฺทิมสุริยา.   ตมหํ ภิกฺขเว  เนว อาคตึ วทามิ   น คตึ  น ฐิตึ  น จุตึ  น อุปฺปตฺตึ.  อปฺปติฏฺฐํ อปฺปวตฺตํ  อนารมฺมณเมว   ตํ เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺสาติ.”

“ภิกษุทั้งหลาย อายตนะ (นิพพาน) นั้นมีอยู่.    ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ   โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งสอง   ย่อมไม่มี ในอายตนะนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย  เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่า เป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุบัติ.   อายตนะนั้นหาที่ตั้ง อาศัยมิได้   มิได้เป็นไป   หาอารมณ์มิได้ นั้นแลเป็นที่สุดแห่งทุกข์.”  (ขุ.อุ.25/158/206-207)

(2) ตรัสว่า เป็นที่ที่พระอเสขมุนีคือพระอรหันต์ทั้งหลายไปแล้วไม่เศร้าโศก ดังนี้

“สตฺถา ‘ภิกฺขเว เอวรูปานํ อเสขมุนีนํ อภิสมฺปราโย นาม นตฺถิ. เอวรูปา หิ อจฺจุตํ อมตํ มหานิพฺพานเมว ปาปุณนฺตีติ วตฺวา อิมํ คาถมาห

“อหึสกา เย มุนโยนิจฺจํ กาเยน สํวุตา
เต ยนฺติ อจฺจุตํ ฐานํ ยตฺถ คนฺตฺวา น โสจเรติ

… อจฺจุตนฺติ สสฺสตํ. ฐานนฺติ อกุปฺปฏฺฐานํ ธุวฏฺฐานํ. ยตฺถาติ ยสฺมึ คนฺตฺวา น โสจนฺติ น วิหญฺญนฺติ ตํ นิพฺพานฏฺฐานํ คจฺฉนฺตีติ อตฺโถ.”

“พระศาสดาตรัสว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าอภิสัมปรายภพของพระอเสขมุนีทั้งหลายผู้เห็นปานนั้น ย่อมไม่มี, เพราะว่าพระอเสขมุนีผู้เห็นปานนั้น ย่อมบรรลุมหานิพพานอันไม่จุติ อันไม่ตาย’ ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

‘มุนีเหล่าใด เป็นผู้ไม่เบียดเบียน สำรวมแล้วด้วยกายเป็นนิตย์,   มุนีเหล่านั้น ย่อมไปสู่ฐานะ (ที่) อันไม่จุติ, ซึ่งเป็นที่ชน (อเสขมุนี) ทั้งหลายไปแล้วไม่เศร้าโศก.’

… บทว่า อจฺจุตํ ได้แก่ เที่ยง.
บทว่า ฐานํ ได้แก่ ฐานะ (ที่) ที่ไม่กำเริบ คือ ฐานะ (ที่) ที่ยั่งยืน.
บทว่า ยตฺถ เป็นต้น ความว่า มุนีทั้งหลาย ย่อมไปสู่ฐานะ (ที่) คือ พระนิพพาน ซึ่งเป็นที่ชน (อเสขมุนี) ทั้งหลายไปแล้วไม่เศร้าโศก คือไม่เดือดร้อน.” (ขุ.ธ.25/27/45)

(3) ตรัสว่า พระนิพพาน เห็นได้ยาก ดังนี้

“ทุทฺทสํ อนตํ นามน หิ สจฺจํ สุทสฺสนํ
ปฏิวิทฺธา ตณฺหา ชานโตปสฺสโต นตฺถิ กิญฺจนํ.
“ฐานะที่บุคคลเห็นได้ยากชื่อว่า นิพพาน ไม่มีตัณหา. นิพพานนั้นเป็นธรรมจริงแท้ ไม่เห็นได้โดยง่ายเลย. ตัณหาอันบุคคลแทงตลอดแล้ว กิเลสเครื่องกังวลย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้รู้ ผู้เห็นอยู่.” (ขุ.อุ.25/159/207)

(4) ตรัสว่า พระนิพพาน ตรัสรู้ตามได้ยาก ดังนี้

“อธิคโต โข มยายํ ธมฺโม คมฺภีโร ทุทฺทโส ทุรานุโพโธ สนฺโต ปณีโต อตกฺกาวจโร นิปุโณ ปณฺฑิตเวทนีโย.”

“ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ เป็นธรรมลึกซึ้ง  ยากที่จะเห็นได้  สัตว์อื่นจะตรัสรู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบระงับ ประณีต  ไม่เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ด้วยการนึกคิด  เป็นธรรมละเอียด อันบัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง.”  (วิ.มหา.4/7/8)

(5) ตรัสว่า พระนิพพาน มองด้วยตาไม่เห็น ไม่มีที่สุด   สว่างแจ้งทั่วทั้งหมด ดังนี้

 วิญฺญาณํ อนิทสฺสนํ
เอตฺถ ทีฆญฺจ รสฺสญฺจ
อตฺถ นามญฺจ รูปญฺจ
วิญฺญาณสฺส นิโรเธน
อนนฺตํ  สพฺพโต ปภํ
อนุ ํ  ถูลํ สุภาสุภํ
อเสสํ อุปรุชฺฌติ
เอตฺเถตํ อุปรุชฺฌติ.”
    “ธรรมชาติที่พึงรู้แจ้ง มองด้วยตาไม่เห็น  ไม่มีที่สุด   สว่างแจ้งทั่วทั้งหมด อาโปธาตุ ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ   ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมชาตินี้, อุปาทายรูปที่ยาวและสั้น ละเอียดและหยาบ ที่งามและไม่งาม ตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมชาตินี้,   นามและรูปดับไปหมดไม่เหลือในธรรมชาตินี้, เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้.”  (ม.มู.12/554/596)
แชร์เลย

Comments

comments

Share: