นรชีวชาดก

อุทฺธริสฺสามิ เต สีสนฺติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต มาตุโปสกภิกฺขุ อารพฺภ กเถสิ

เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภภิกษุเลี้ยงมารดา จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า อุทฺธริสฺสามิ เต สีสํ เป็นต้นไป

เรื่องนี้เหมือนกันกับสามชาดก ฯ สมเด็จพระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า ดูกรภิกษุ ได้ยินว่าท่านเลี้ยงคฤหัสถ์หรือ ภิกษุนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเลี้ยงคฤหัสถ์พระพุทธเจ้าข้า ฯ คฤหัสถ์นั้นเป็นอะไรของท่าน ฯ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า คฤหัสถ์นั้นเป็นมารดาบิดาของข้าพระพุทธเจ้า ฯ พระพุทธองค์เจ้าก็ประทานสาธุการว่า สาธุ ภิกขุ ดังนี้ถึงสามครั้งแล้วตรัสว่า ท่านตั้งอยู่ในทางที่เราตถาคตดำเนินมาแล้ว ชื่อว่าการเลี้ยงมารดาบิดาเป็นวงศ์ของบัณฑิตทั้งหลาย บัณฑิตแต่ปางก่อนทั้งหลายย่อมสละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่มารดาบิดา พระพุทธองค์ตรัสดังนี้แล้วก็ทรงนิ่งอยู่ ฯ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลวิงวอนเพื่อจะทราบเรื่องนั้นให้แจ้งชัด พระพุทธองค์เจ้าจึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดงต่อไปนี้ว่า

อตีเต ภิกฺขเว พาราณสินคเร โพธิสตฺโต สํสาเร สํสรนฺโต ทลิทฺทกุเล นิพฺพตฺเตตฺวา ทสมาสจฺจเยน มาตุกุจฺฉิโต นิกฺขมิ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาลล่วงแล้ว พระโพธิสัตว์เจ้าเมื่อท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ ได้บังเกิดในตระกูลคนจนในพระนครพาราณสี ครั้นถ้วนทศมาสก็คลอดจากครรภ์มารดา ในครั้งนั้นถึงวันตั้งชื่อ คนทั้งหลายจึงตั้งชื่อกุลบุตรนั้นชื่อว่า นรชีวะ ดังนี้ เจ้านรชีวะนั้น ครั้นเจริญวัยแล้วก็มีรูปงดงามเป็นที่ชวนดู เป็นผู้ชอบในทางกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการ สำเร็จการเลี้ยงชีพแต่ที่ชอบ เลี้ยงมารดาบิดาด้วยความกตัญญู ครั้นกาลต่อไปบิดาของเจ้านรชีวะนั้น ถูกพยาธิอันใดอันหนึ่งมา​เบียดเบียนก็กระทำกาลกิริยา ลำดับนั้นนรชีวะโพธิสัตว์ก็เลี้ยงแต่มารดาไป ในสมัยอื่นพระโพธิสัตว์เจ้า ปรารถนาจะกระทำกสิกรรมเพื่อจะเลี้ยงมารดา จึงเข้าไปหาผู้สำเร็จการงานบอกว่า ข้าแต่เจ้า ข้าพเจ้าปรารถนาจะกระทำกสิกรรมกับด้วยบริชนของท่าน ฯ ในกาลนั้นเศรษฐีจึงกล่าวว่าดีละพ่อ ถ้ากระนั้นท่านจงทำตามสบายเถิด ฯ พระโพธิสัตว์เจ้ารับคำว่าสาธุแล้วก็กระทำการงานกับด้วยคนของเศรษฐี ภายหลังได้แบ่งข้าวให้เป็นส่วนกันแล้วก็ลาเศรษฐี มารดาอยู่สบายที่ใดก็เข้าไปสู่ที่นั้น ไหว้แล้วจึงบอกมารดาว่า ข้าแต่แม่ เดี๋ยวนี้ข้าวกล้าของเราสุกแล้ว แม่จงไปรักษาข้าวกล้ากับด้วยข้าพเจ้าเถิด ฯ มารดาได้ฟังแล้วจึงบอกกับบุตรว่า ดีละพ่อ เจ้าจงไปตามสบายเถิด ฯ ลำดับพระโพธิสัตว์ถือเอาโภชนาหารพอสมควรแล้ว ก็ไปยังนากับด้วยมารดา ครั้นถึงโรงนาแล้วก็พักอยู่ในโรงนานั้น แล้วให้มารดาอาบน้ำร้อน แล้วให้บริโภคภัตตาหารอันประณีตแล้วให้บ้วนปาก แล้วเข้าไปใกล้มารดาจึงบอกมารดาเพื่อประสงค์จะเกี่ยวข้าวกล้าว่า ข้าแต่แม่ แม่อย่าได้ออกไปข้างนอกเลย จงอยู่ในโรงนานี้เถิด แล้วก็ไปเกี่ยวข้าวกล้าในนา ในกาลนั้นในที่ใกล้มารดาพระโพธิสัตว์มีจอมปลวกอยู่จอมหนึ่ง มีอสรพิษอยู่ในภายในจอมปลวกนั้นตัวหนึ่ง เวลานั้นอสรพิษนั้นออกจากจอมปลวกเที่ยวไปเพื่อจะแสวงหาอาหาร จึงเลื้อยไปหยุดอยู่ใกล้มารดาพระโพธิสัตว์ ๆ เหยียดเท้าไปถูกงูด้วยความหลับ งูก็แผ่พังพานขึ้นแล้วก็กัดเอาเท้ามารดาพระโพธิสัตว์ พองูกัดแล้วมารดาพระโพธิสัตว์ก็ตื่นลุกขึ้นนั่ง ไม่อาจทรงทนอยู่ได้ด้วยกำลังพิษก็ร้องไห้คร่ำครวญว่าโอ้โอ้พ่อลูกรัก ลูกเอ๊ยเจ้าจงอยู่เถิด ชีวิตของแม่จะดับไปแล้ว โอ้ลูกเอ๊ย พ่อนรชีวะผู้เสมอด้วยหทัยและนัยนาของแม่ แม่ถูกงูกัดแล้ว กำลังพิษงูครอบงำแล้ว โอ้เจ้านรชีวะเว้นจากแม่เสียแล้วก็จะไม่มีที่พึ่ง โอหนอเจ้านรชีวะ จะถึงพร้อมไปด้วยทุกข์ ว่าดังนี้แล้วก็พลิกกลับ กระทำกาลกิริยาในสถานที่นั้น ส่วนงูนั้นก็สะดุ้งกลัวแล้วก็หนีไปซ่อนอยู่ในกองฟางแห่งหนึ่ง พอเวลาพระอาทิตย์ขึ้นมา พระโพธิสัตว์ก็ยกมัดข้าวกล้าขึ้นวางบนศีรษะแล้วลงจากนาเพื่อจะไปเลี้ยงมารดา ครั้นไปถึงศาลาได้เห็นแต่ศาลาเปล่า ก็หวั่นใจว่ามารดาเราไปไหนหนอ หรือว่ายังนอนอยู่ พระโพธิสัตว์ก็ปลงมัดข้าวกล้าลงจากศีรษะวางไว้ที่ข้างหนึ่ง แล้วเปิดประตูเห็นมารดานอนอยู่บนเตียง แล้วนวดเท้ามารดาด้วยมือ ได้เห็นปากของมารดาหาลมอัสสาสปัสสาสมิได้ แลเห็นสรีรกายมีสีเขียวก็ทราบว่ามารดาถูกงูกัดแล้ว จึงฉวยได้ท่อนไม้ไปเที่ยวค้นหางูนั้น เที่ยวไปในข้างโน้นบ้างข้างนี้บ้าง ไปจนถึงมีกองฟางมีท่อนไม้กีดกั้นอยู่โดยรอบ งูนั้นไม่อาจหนีไปได้ก็หยุดอยู่ในที่นั้น พระโพธิสัตว์ได้เห็นงูนั้นแล้ว​จึงคิดว่ามารดาของเราคงจักถูกงูตัวนี้กัดแล้ว ถ้าเราจะฆ่ามันเสีย เราก็จะเป็นผู้ทำลายศีลเสีย คิดแล้วจึงกล่าวว่า ดูกรพ่ออุรคชาติสัตว์เลื้อยไปด้วยอกเจ้าได้ชีวิตฉันใด ขอให้มารดาของข้าจงได้ชีวิตฉันนั้นเถิด เจ้าจงเลื้อยไปตามสบายเถิด ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์เข้าไปหามารดาฟุบลงแทบบาทมูลของมารดาแล้วร้องไห้คร่ำครวญว่า แม่จ๋า ลูกชื่อนรชีวะมาถึงแล้ว แม่จงลุกขึ้นเถิด ข้าแต่แม่ ลูกไปนอนค้างคืนโทษย่อมมีแก่ลูก แม่ไม่พูดกับลูกเพราะเหตุอะไร โอ้ธรรมทั้งหลายนี้ไม่เที่ยงมีกำลังเหลือเกิน แล้วกล่าวว่า ข้าแต่แม่ อมนุษย์ทั้งหลายในเวลากลางคืนในภายนอกพระนครนี้ก็มีอยู่ เราจักกระทำอย่างไรดีแล้วจึงกล่าวปฐมคาถาว่า

อุทฺธริสฺสามิ เต สีลํปาเท โก อุทฺธริสฺสติ
ปาเท เจ อุทฺธริสฺสามิสีลํ โก อุทฺธริสฺสติ
กึ กริสฺสามิ เต อมฺมโสหํ เขตฺตํ อิธาคโต
ตฺวฺจ มจฺจุมุเข ปตฺตํกถํ โมเจมิ มาตรํ
หา รุกฺขปพฺพตภูมตฺถาอาภาสตฺถา จ เทวตา
อนาถ มรณํ เอหิกถํ ปสฺสามิ มาตรํ
โก นุ เทโว มนุสฺโส วายกฺโข วาปิ มหิทฺธิโก
โมจยิสฺสติ มํ ทุกฺขาตฺวฺจ เม สรณํ ภว

แปลว่า ลูกจะยกข้างศีรษะแม่ขึ้น ใครเล่าจะช่วยยกข้างเท้า ถ้าลูกจะยกข้างเท้าใครเล่าจะช่วยยกข้างศีรษะ ข้าแต่แม่ ลูกจะกระทำอะไรแก่แม่ได้ ลูกไปนามาถึงที่นี้แม่ก็ตกไปในปากมัจจุราชเสียแล้ว ลูกจะปลดเปลื้องแม่ออกจากปากมัจจุราชอย่างไรได้ ฯ ขอเชิญเทพยดาเจ้าทั้งหลายที่สถิตอยู่ในต้นไม้ หรือในภูเขาหรือในพื้นแผ่นดิน หรือสถิตอยู่บนอากาศก็ดี จงเสด็จมายังที่มารดาข้าพเจ้าตายอันหาที่พึ่งมิได้ ทำไฉนข้าพเจ้าจักได้เห็นมารดา ใครหนอจะเป็นเทพยดาก็ดีเป็นมนุษย์ก็ดี หรือว่าเป็นยักษ์มีฤทธิใหญ่ก็ดี จักช่วยปลดเปลื้องข้าพเจ้าให้พ้นจากทุกข์ได้ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าเถิด

ในขณะนั้นก็สำแดงให้เร่าร้อนไปถึงพิภพของท้าวสักกเทวราช ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงอาวัชนาการถึงมนุษยโลกจึงกล่าวคาถาว่า

โก นุ เทโว มนุสฺโส วาสมฺมา ปูเชติ มาตรํ
ทานํ พฺรหฺมจริยํ วาปิมมํ จาเลติ อาสนา

แปลว่า ใครหนอเป็นเทวดาหรือมนุษย์ มาบูชาอยู่โดยชอบ คือเลี้ยงมารดา หรือจำแนกแจกทาน หรือประพฤติพรหมจรรย์ จะทำให้เราเคลื่อนไปจากที่นั่ง

ท้าวสักกเทวราชทราบเหตุนั้นแล้ว ก็เสด็จลงจากสวรรค์นฤมิตเป็นพราหมณ์ ทำเป็นหลงทางมาถึงโรงนาของพระโพธิสัตว์แล้วปราศรัยว่า ดูกรพ่อมหาบุรุษเจ้าข้า ท่านทั้งหลายจงบอกหนทางที่จะไปยังพระนครพาราณสีแก่ข้าพเจ้าเถิด ฯ พระโพธิสัตว์เจ้ามีพระทัยอันความกรุณาหากตักเตือนอยู่เสมอ ครั้นได้สดับคำนั้นจึงกล่าวตอบว่า ข้าแต่พ่อมหาพราหมณ์ท่านมาแต่ไหน ฯ พราหมณ์กล่าวว่า เรามาจากที่ไกล ฯ พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำนั้นแล้วจึงกล่าวว่า ข้าแต่มหาพราหมณ์ดีแล้ว หนทางที่จะไปพระนครพาราณสีนี้ของเรา ท่านจงไปตามสบายเถิด ฯ ลำดับนั้นพราหมณ์จึงถามพระโพธิสัตว์อีกว่า ดูกรมหาบุรุษ ท่านร้องไห้เพราะเหตุอะไรหรือ ฯ พระโพธิสัตว์บอกว่า ข้าแต่เจ้าพราหมณ์ มารดาของข้าถูกงูกัดตายเสียแล้ว เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าจึงร้องไห้ แล้วคิดขึ้นได้อีกว่า ชื่อว่าพราหมณ์ทั้งหลายย่อมรู้จักมนต์ เราจะถามพราหมณ์ดู คิดแล้วจึงกล่าวว่า ข้าแต่เจ้าพราหมณ์ ท่านทราบมนต์อยู่หรือหนอ ขอท่านจงช่วยบอกยาให้แก่เราเถิด ฯ ดูกรมหาบุรุษ มนต์นั้นเราทราบอยู่ แต่ยาที่เราจะให้ชีวิตแก่มารดาของท่านไม่มี ฯ ข้าแต่มหาพราหมณ์เราจะได้ยาที่ไหนในเวลากลางคืนในที่ภายนอกพระนครนี้ ยานั้นเป็นอย่างไร ฯ ดูกรมหาบุรุษ ถ้าท่านได้หัวใจมนุษย์เราจักทำยาด้วยหัวใจมนุษย์นั้นแล้ว จึงกล่าวว่าเราจักบูชาท่านด้วยศีรษะของเรา ว่าแล้วก็ปริเทวนาการ แล้วจึงกล่าวต่อไปว่า ข้าแต่มหาพราหมณ์ ดีแล้วถ้าท่านปรารถนาหัวใจมนุษย์อย่างนั้นเราก็จะให้ชีวิตแก่มารดา ท่านปรารถนาสิ่งใด ๆ เราจะให้สิ่งนั้น ๆ ตามปรารถนา ท้าวสักกเทวราชจึงกล่าวว่า ดูกรมหาบุรุษ ถ้ากระนั้น เราจะให้ชีวิตแก่มารดาของท่าน ฯ ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์ปรารถนาจะเชือดดวงหทัย เมื่อจะแสวงหาศัสตราจึงแลดูไปบนอากาศกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่หมู่เทพยดาทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังคำข้าพเจ้า ถ้าข้าพเจ้าจะพึงได้พระสัพพัญญุตญาณในอนาคตกาลไซร้ ขอให้ศัสตราจงปรากฏในที่เฉพาะหน้าข้าพเจ้าเถิด พอจบถ้อยคำลง อากาศเทวดาทั้งปวงก็ผูกศัสตราด้วยเชือกหย่อน​ลงมาในวันนั้น ด้วยอานุภาพแห่งความกตัญญูของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ได้เห็นศัสตราแล้ว จึงคิดโดยชอบอย่างนี้ว่า โอ้ความดำริของเราก็สำเร็จแล้วจึงจับศัสตรานั้นด้วยมือเบื้องขวา ปรารถนาจะเชือดดวงหทัย จึงกล่าวประกาศอย่างนี้ว่า ข้าแต่หมู่เทพยดาผู้เจริญทั้งหลาย จงกระทำอนุโมทนาอัชฌัตติกทานของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าหาได้ปรารถนาประเทศราชสมบัติหรืออินทรสมบัติพรหมสมบัติด้วยหทัยทานนี้ไม่ ข้าพเจ้าจะให้สัตว์ทั้งหลายในโลกสันนิวาสกับทั้งเทพยดาที่หลงอยู่ในสงสาร ให้ข้ามพ้นไปจากสงสารในอนาคตกาล พระโพธิสัตว์นั้นเชือดดวงหทัยแล้ว ในกาลนั้นก็บังเกิดทุกขเวทนาเป็นอันมาก แล้วก็ให้ดวงหทัยแก่พราหมณ์ พราหมณ์จึงกล่าวว่า ดูกรมหาบุรุษท่านจงใส่ดวงหทัยของท่านกับทั้งโลหิตให้เข้าไปในปากของมารดาเราจะสาธยายมนต์ พระโพธิสัตว์ก็กระทำอย่างนั้น พอท้าวสักกเทวราชสาธยายมนต์ขึ้น มารดาพระโพธิสัตว์ก็ลุกขึ้นนั่งได้ ฯ พระโพธิสัตว์กราบลงที่เท้ามารดาให้มารดาอดโทษแล้ว เมื่อจะลามารดาจึงกล่าวคาถาว่า

อาปุจฺฉามิ ตฺวํ อมฺมปูเรสฺสามิ จ ปารมี
ชีวิตํ อชฺช ทสฺสามิโพธิยา เยว การณา
สา นูน กปฺปนา อมฺมาจีรํ รตฺตาย รุจฺจติ
อฑฺฒรตฺเต จ รตฺเต วานทีว อวสุสฺสติ
สา นูน กปฺปนา อมฺมาจีรํ รตฺตาย รุจฺจติ
อฑฺฒรตฺเต จ รตฺเต วากุนฺนนที อนูทกา
ปุตฺตโสเกน ปโรทิสุํสุฺติ ขิปฺปเมว จ
สา นูน กปฺปนา อมฺมาจีรํ รตฺตาย รุจฺจติ
ปิยํ ปุตฺตํ อทิสฺวานมมํ มาตา มริสฺสติ
อนาถา ทานิ เม อมฺมาชิณฺณกา คตโยพฺพนา
สา วิโยคทุกฺขปฺปตฺตากถํ ชีวติ เอกิกา
ทุกฺขิตา ทานํ เม อมฺมาปุตฺตโสเกน ปีฬิตา
ขุปฺปิปาสาย ปุณฺณายกถํ ชีวติ เอกิกา
วรากานิ จ เม อมฺมากีสา เม จ อปุตฺตกา
อาทิตฺตา ปุตฺตโสเกนกถํ ชีวติ เอกิกา

แปลว่า ข้าแต่แม่ ลูกจะลาแม่ไป ลูกจะบำเพ็ญบารมีลูกให้ชีวิตแก่แม่ในวันนี้ ก็เพราะเหตุแก่พระโพธิญาณอย่างเดียว ข้าแต่แม่ ความสำเร็จดังความประสงค์นั้น ย่อมเป็นที่ชอบใจของแม่ผู้มีความยินดีมานานแล้วก็จริง ก็แต่ว่าความสำเร็จดังความประสงค์ของแม่นั้น เหมือนอย่างแม่น้ำย่อมเหือดแห้งลง ตลอดครึ่งคืนบ้างตลอดคืนยันรุ่งบ้าง ส่วนคนทั้งหลายที่ร้องไห้คร่ำครวญเพราะความเศร้าโศกถึงบุตร ความเศร้าโศกถึงบุตรนั้นย่อมสูญหายไปเร็วพลันทีเดียว ข้าแต่แม่ ความสำเร็จดังความประสงค์นั้น ย่อมเป็นที่ชอบใจของแม่ผู้มีความยินดีมานานแล้วก็จริง แต่ว่าแม่ของลูกก็คงจะตาย เพราะไม่ได้เห็นบุตรอันเป็นที่รัก เดี๋ยวนี้แม่ของลูกเป็นคนชราแล้ว มีวัยอันเจริญไปแล้ว ไม่มีที่พึ่งก็จะถึงซึ่งความทุกข์ เพราะความพลัดพรากจากบุตร เป็นคนอยู่คนเดียวจะมีชีวิตอยู่อย่างไรได้ มารดาของลูกได้ความทุกข์ยากเหลือประมาณ ไม่มีความสุขก็จะซูบผอม อีกทั้งเป็นคนไม่มีบุตร อันความเศร้าโศกถึงบุตรแผดเผาเอาแล้ว เป็นคนอยู่คนเดียวจะมีชีวิตอยู่อย่างไรได้

พระโพธิสัตว์ปริเทวนาการ โดยนัยเป็นอาทิฉะนี้แล้วก็ล้มลงกระทำกาลกิริยาในสถานที่นั้นแล

ลำดับนั้นมารดาพระโพธิสัตว์ได้เห็นบุตรอันเป็นที่รักล้มลงแล้วก็มีหทัยหวาดไหว จึงเข้าประคองบุตรจุมพิตบนศีรษะแล้วปริเทวนาการใหญ่ จึงกล่าวคาถานี้ว่า

หา ตาต ปุตฺต สุภรูปปมํ ปุตฺตกํ ลภึ
อิทานิ เต ปิตา นตฺถิกถํ ชหาสิ ชีวิตํ
รุจิยา มาตุยา นิจฺจํปิตโร ตว ชหิตา
ตฺวฺจ กาลกโต อชฺชอนาถา มรณํ ภเว
สพฺเพ เต อุภยํ อมฺหาขุปฺปิปาสาย ปีฬิตา
ตฺวฺจ กาลกโต สพฺเพโก เม ทุกฺขํ วิโนทยิ
ตฺวํ สุชีวมาโน โสตฺวฺจ สีลสมฺมโต
ตฺวฺจ อุปฺสงฺกมฺมกตฺวา ปุฺุปการณา
เตน ปุฺเน โส กตาสาหํ ทุกฺเขน ปีฬิตา
ขิปฺปเมว วฏฺฏทุกฺขาโมจยิสฺสสิ ปุตฺตกา
อุทฺธริสฺสามิ เต สีสํปาเท โก อุทฺธริสฺสติ
ปาเท เต อุทฺธริสฺสามิโก สีสํ อุทฺธริสฺสติ

​แปลว่า ดูกรพ่อผู้เป็นบุตรมีรูปอันงาม แม่ได้เจ้าผู้เป็นบุตรที่แรก เดี๋ยวนี้บิดาของเจ้าก็ไม่มีแล้ว ไฉนเจ้ามาสละชีวิตเสียเล่า เจ้าเป็นที่ชอบใจของแม่อยู่เป็นนิจ บิดาของเจ้าก็ทิ้งแม่ไปเสียแล้ว ส่วนเจ้าก็มากระทำกาลกิริยาลงวันนี้ ความตายของเจ้าเป็นความตายอนาถาหาที่พึ่งมิได้ เราทั้งสองคนด้วยกันอันความหิวข้าวและอยากน้ำบีบคั้นก็พออยู่แล้ว เจ้ายังมาทำกาลกิริยาไปอีก ใครเล่าเขาจะมาช่วยบรรเทาความทุกข์ให้แก่แม่ ว่าดังนี้แล้วจึงกล่าวว่า ดูกรเจ้านรชีวะ เจ้าลุกขึ้นเถิด ไฉนเจ้ามาทิ้งแม่เสียเล่า ความผิดของแม่ก็ไม่มี เจ้าลุกขึ้นพูดกับแม่เถิด ว่าแล้วก็สยายผมประหารอุระประเทศด้วยมือทั้งสองปริเทรนาการอยู่ แล้วจึงคิดได้ด้วยความที่ตนเป็นบัณฑิตดำเนินด้วยปัญญาอย่างนี้ว่า สัตบุรุษทั้งหลายในกาลปางก่อน ย่อมได้ชีวิตมารดาบิดาด้วยถ้อยคำของพระโพธิสัตว์ เราจะกระทำไฉนหนอจะได้ชีวิตบุตรคืนมา เราจะกระทำคำสัจให้จารึกไปในเบื้องหน้า บุตรของเราจักได้ชีวิตจริงแท้ก็เพราะเหตุอะไรเราจึงได้กล่าวอย่างนี้ เราได้เคยได้ยินมาว่าพระสัพพัญญพุทธเจ้า ท่านกระทำกิจของท่านสำเร็จ ก็เพราะอาศัยคำสัจ พระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย หรือพระอัครสาวกเจ้าทั้งหลาย ท่านกระทำกิจของท่านสำเร็จ ก็เพราะอาศัยคำสัจ คำสัจเป็นคำที่พึ่งของเรา จะเป็นที่ไปในเบื้องหน้าของเรา คิดแล้วนางก็แลดูขึ้นไปบนอากาศจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่หมู่เทพเจ้าทั้งหลายผู้เจริญ ขอท่านจงฟังคำข้าพเจ้า บุตรของข้าพเจ้านี้ชื่อนรชีวะกุมาร เป็นผู้มีศีลถึงพร้อมไปด้วยความกตัญญู ข้าพเจ้าเป็นมารดาของนรชีวะกุมาร พัวพันอยู่ด้วยความรักในบุตร บุตรของข้าพเจ้าชื่อนรชีวะกุมารนี้แหละ ด้วยคำสัจนี้ บุตรของข้าพเจ้าชื่อนรชีวะจงได้ชีวิตเถิด เมื่อนางจะกระทำอธิษฐานจึงกล่าวคาถาว่า

เยน สจฺเจน นรชีโวมาตาเปติภรํ ชนฺตุ
เอเตน สจฺจวชฺเชนปุตฺโต เม ลภตุ ชีวิตํ
มาตาเปติภรํ ชนฺตุกุเล เชฏฺาปจายิโน
เอเตน สจฺจวชฺเชนปุตฺโต เม ลภตุ ชีวิตํ
อากาสตฺถา จ เทวตามม อนุกมฺปาย จ
มํ ปสฺสนฺตุ ทิโสทิสํปุตฺโต เม ชีวิตํ ลภตุ

​แปลว่า เจ้านรชีวะเป็นผู้เกิดมาเลี้ยงมารดาบิดา ด้วยคำสัจใด ด้วยคำสัจนั้น ขอให้บุตรของข้าพเจ้าจงได้ชีวิตเถิด เจ้านรชีวะผู้เกิดมาเลี้ยงมารดาบิดา เป็นผู้ประพฤติต่ำตนในบุคคลผู้เจริญกว่าในตระกูล ด้วยคำสัจใด ด้วยคำสัจนั้น ขอให้บุตรของข้าพเจ้าได้ชีวิตเถิด อนึ่งขอเทพยเจ้าผู้เที่ยวอยู่บนอากาศทั้งหลาย จงอนุเคราะห์ไหวตามข้าพเจ้า จงแลดูข้าพเจ้าทั่วทุกทิศเถิด ขอให้บุตรของข้าพเจ้าจักได้ชีวิตเถิด

พอจบคำอธิษฐานลง พระมหาสัตว์เจ้าก็ประหนึ่งว่าตื่นขึ้นจากความหลับ ครั้นตื่นขึ้นแล้ว ก็เป็นผู้ไม่มีโรคลุกขึ้นนั่งอยู่ ฯ ลำดับนั้นมารดาพระโพธิสัตว์ก็กอดพระโพธิสัตว์ จุมพิตบนศีรษะแล้ว ชนทั้งสองก็เกิดความโสมนัส มีหฤทัยเต็มไปด้วยปีติ ฯ ในกาลนั้นท้าวสักกเทวราชสถิตอยู่ในที่ใกล้ ก็เปล่งรัศมีให้รุ่งเรืองโพลงขึ้นด้วยอัตตภาพอันเป็นทิพย์ ประดุจดังพระอาทิตย์มีแสงอันอ่อนประดิษฐานอยู่บนอากาศ กระทำภูมิประเทศทั่วขอบเขตทั้งสิ้น ให้สว่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อจะบอกความที่ตนเป็นท้าวสักกเทวราช จึงกล่าวเป็นคาถาว่า

สกฺโกหมสฺมิ เทวินฺโทอาคโตสฺมิ ตว สนฺติเก
สาธุ สาธุ มหาวีรพุทฺโธ โลเก ภวิสฺสติ
อิมินา กตกมฺเมนอจิเรเนว คมิสฺสสิ
สาธุ สาธุ มหาวีรพุทฺโธ โลเก ภวิสฺสติ

แปลว่า เราเป็นเทวินท์สักกเทวราช มาอยู่ ณ ที่ใกล้ท่านแล้ว ดูกรมหาวีร ท่านผู้มีความเพียรใหญ่ สาธุ สาธุ ดีแล้ว ดีแล้ว ไม่นานทีเดียว ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าในโลก ท่านจักถึงซึ่งความเป็นพระพุทธเจ้า ด้วยกุศลกรรมที่ท่านทำแล้วนี้ ดูกรมหาวีรท่านผู้มีความเพียรใหญ่ สาธุ สาธุ ดีแล้ว ดีแล้ว ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าในโลก ดังนี้แล้วให้โอวาทว่า ดูกรพ่อ ท่านเป็นผู้ถึงพร้อมไปด้วยคุณมีความกตัญญูเป็นต้น ท่านเป็นเนื้อหน่อของพระพุทธเจ้า โลกคือหมู่สัตว์นี้ ไม่มีผู้ต้านทาน ไม่มีที่ซ่อนเร้น ไม่มีสรณะที่พึ่ง ท่านจงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกนี้เถิด ดังนี้แล้ว ก็เสด็จไปยังทิพยสถานของพระองค์

​สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถาว่า

อิทํ วตฺวาน มฆวาเทวราชา สุชมฺปติ
โพธิสตฺตํ ถุตฺตึ กตฺวาสคฺคกายํ อปกฺกมิ

แปลว่า ท้าวสุชัมบดีมัฆวานเทวราช ชมเชยพระโพธิสัตว์แล้ว ก็เสด็จไปยังสัคคนิกายทิพยสถาน พระโพธิสัตว์ปฏิบัติมารดาอยู่ตลอดชีวิตของมารดาแล้ว ดำรงอยู่จนตลอดอายุ ครั้นสิ้นอายุกระทำกาลกิริยาแล้ว ก็มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า

สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประกาศสัจจธรรมทั้งสี่ประการ ครั้นจบสัจจธรรมแล้ว เมื่อพระองค์จะทรงประชุมชาดก จึงตรัสพระคาถาในที่สุดว่า

มาตุโปสกภิกฺขุ จโสตาปตฺติผลํ ลภิ
มาตา อาสิ มหามายาปิตา สุทฺโธทโน อหุ
สกฺโก อนุรุทฺโธ อาสิทิพฺพจกฺขุ อิทานิ โส
เสฏฺี จ โส อานนฺโทสิอคฺคํ ธมฺมํ ลภิสฺสติ
นรชีโว โลกนาโถเอวํ ธาเรถ ชาตกํ

แปลว่า ภิกษุผู้เลี้ยงมารดาได้สำเร็จโสดาปัตติผล มารดาพระโพธิสัตว์มาเป็นนางมหามายา บิดาพระโพธิสัตว์มาเป็นท้าวสุทโธทนมหาราช ท้าวสักกเทวราชมาเป็นพระอนุรุทธเถรทิพจักษุในกาลนี้ เศรษฐีมาเป็นพระอานนท์ผู้ได้ซึ่งธรรมอันเลิศ นรชีวะกุมารมาเป็นพระบรมโลกนาถ ท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดกนี้ไว้ด้วยประการดังนี้เถิด

จบนรชีวชาดก

แชร์เลย

Comments

comments

Share: