นึกดวงแก้วเข้าศูนย์กลางไม่ได้ นึกศูนย์กลางกายไม่ออก ?

นึกดวงแก้วเข้าศูนย์กลางไม่ได้ นึกศูนย์กลางกายไม่ออก แต่จะให้นั่งให้ใจสงบเฉยๆ พอได้ หรือกำหนดดวงไป พอกำหนดได้บ้าง ?


ตอบ:

พยายามเหลือบตากลับนิดๆ
เรื่องนี้ต้องค่อยๆ ทำไป   ขอเรียนว่า อย่าลืมเหลือบตากลับนิดๆ   เพราะใจยังไม่รวมหยุดเป็นจุดเดียวกันจริงๆ   

ฉะนั้นก็ต้องค่อยๆ ฝึกต่อไป   เพราะใจของเราซ่านออกนอกตัวมานาน   ตั้งแต่เกิด ใจออกไปไปยึดไปเกาะอะไรมิต่ออะไรมากมาย   ความจริงเป็นอย่างนี้   กว่าจะอบรมให้กลับมารวมหยุด ณ ที่เดิมคือที่ศูนย์กลางกายนี้  ไม่ค่อยจะมารวมหยุด ณ ภายในได้ง่าย  บางคนก็ไปติดอยู่ที่หน้าผาก  เห็นดวงส่องสว่างอยู่ที่หน้าผาก  ไม่ยอมรวมลงมาหยุด ณ ภายในได้สักที    บางท่านก็ยากเย็นเหลือเกิน  ของดีมันยากอย่างนี้แหละ   แต่ถ้าให้เห็นข้างนอกแล้วก็ง่ายๆ   

อย่าพยายามนึกเห็นนิมิตข้างนอก
ถ้าให้นึกเห็นนิมิตข้างนอกละก็ไม่ยาก   แต่ว่า “จงอย่าทำ”   เพราะถ้านึกเห็นข้างนอก  ใจจะไม่เข้ากลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม   ก็จะไม่ถูกกายในกาย  เวทนาในเวทนา  จิตในจิต  และธรรมในธรรม   ไม่ได้ดับหยาบไปหาละเอียด   ไม่ได้เข้ากลางมัชฌิมาปฏิปทา  ในธาตุธรรมของเรา  ธรรมะที่ดีอยู่ที่ธาตุละเอียดของเรา  ไม่ใช่อยู่ข้างนอก  อยู่ข้างในที่ละเอียดๆ  ฝ่ายกุสลาธัมมา  อกุสลาธัมมา  อัพยากตาธัมมา  อยู่ในกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมสุดละเอียด   ถ้าฝ่ายชั่วก็มาจากฝ่ายชั่วสุดละเอียด   ฝ่ายดีก็มาจากฝ่ายดีสุดละเอียด  มาจากต้นธาตุต้นธรรมโน้น  ต้นธาตุต้นธรรมฝ่ายดี (กุสลาธัมมา)   อยู่ตรงกลางของกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมที่สุด   ฝ่ายชั่ว (อกุสลาธัมมา) ก็มีต้นธาตุต้นธรรมของเขา   ไม่ใช่ไม่มี   มีเหมือนกัน  แต่อยู่ส่วนนอกหรือรอบนอกของกุสลาธัมมาออกมา

เพราะเหตุนั้น   หยุดในหยุด  กลางของหยุด  กลางของกลางๆ กำเนิดธาตุธรรมเดิม   ของกายในกายไปจนสุดละเอียดนั้นแหละ  ถูกมัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง  ถึงพระนิพพานทีเดียว

หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านบอกว่า หยุดในหยุด  กลางของหยุด  นั่นแหละถูกธรรมภาคขาว  ฝ่ายบุญ ฝ่ายสัมมาทิฏฐิ    ทะเลบุญอยู่นั้น   แต่ว่าถ้าใจเดิน(ดำเนิน)นอกออกมาจากนั้น  เป็นถิ่นทำเลของภาคมาร     เพราะเหตุนี้ในธรรมเทศนาของท่านจะบอกว่า “ถ้าจะไม่เกิด  ก็ให้เดินในเข้าไป  ถ้าว่าอยากจะเกิด ก็เดินนอกออกไป”   ความหมายก็คือว่า  ถ้าอยากจะเกิดใหม่  ก็จงปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านออกไปข้างนอก  ให้ไปยึดไปเกาะอะไรๆ  วุ่นวายภายนอกเข้า   อวิชชา  ตัณหา  อุปทาน  นั้นแหละ  เป็นปัจจัยให้เกิดภพ ชาติ ชรา มรณะ ทุกข์    คำพูดของหลวงพ่อ แต่ละคำเป็นคำโบราณ   ถ้าฟังให้ดีแล้วจะเข้าใจลึกซึ้ง

เวลาพิจารณาอริยสัจ 4 ก็จะรู้จะเห็น   เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ให้เข้าใจไว้เท่านี้ก่อน   เคล็ดลับที่พึงทราบในการเจริญภาวนามีมาก

แชร์เลย

Comments

comments

Share: