นึกถึงลูกแก้ว แต่จิตไม่ยอมภาวนา พอฝืนทำไปจะเครียด ?

เมื่อผมนั่งสมาธิปล่อยกายสบายดีแล้ว เอาจิตนึกถึงลูกแก้ว แล้วไปจรดไว้ที่ฐานที่ 7 นึกจะภาวนา แต่จิตไม่ยอมภาวนา พอฝืนภาวนาไปจะมีอาการตึงเครียด มึนศีรษะและอึดอัด เป็นเพราะอะไร ? จะแก้ไขอย่างไร ?


ตอบ:

โดยปกติ   ถ้าจิตรวมดิ่งหยุดนิ่งไปแล้วนั้น   องค์บริกรรมภาวนา (คำว่าสัมมาอรหัง) ก็จะหายไปด้วย   กล่าวคือ เมื่อลมหายใจ (กายสังขาร) ระงับ   จิตจะยิ่งละเอียดและหยุดนิ่ง     ความนึกคิด (วจีสังขาร) ก็จะระงับด้วย   นี่แหละ ที่ใจกำลังรวมหยุดเป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคง ถึงขั้นฌาน

วจีสังขารระงับด้วยนั้นคืออย่างไร ?   คือเมื่อจิตละเอียดและรวมลงแล้ว  องค์บริกรรมภาวนาจะเลือนไปเอง แต่ถ้าเราฝืนบริกรรมภาวนาเข้า ก็ผิดหลักปฏิบัติ   เพราะจิตละเอียดและรวมลงแล้ว   บางคนลืมองค์ภาวนา  ก็ไม่ต้องภาวนา ไม่เป็นไร   ขอแต่อย่าให้เคลื่อนศูนย์  ให้หยุดในหยุด กลางของหยุดๆๆ   ปล่อยให้ใจดิ่งหยุดนิ่งๆ   แล้วก็อย่าบังคับหรือเพ่งแรง   เมื่อจิตยิ่งดิ่งละเอียดลงไปแล้ว  ขอให้หยุดนิ่งๆ เบาๆ   ประเดี๋ยวจิตดวงเดิมจะตกศูนย์ไปยังศูนย์กลางกายฐานที่ 6  ตรงระดับสะดือ  แล้วจิตดวงใหม่จะลอยเด่นขึ้นมาใสสว่างตรงศูนย์กลางกายฐานที่ 7  เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือเอง

ธรรมชาติของใจ  เมื่อใจจะรวมหยุด  

  1. ประการแรก ลมหายใจจะหยุดด้วย  แต่เราแทบไม่รู้สึกตัว  คือลมหายใจของผู้ที่เป็นสมาธิจะละเอียดเหมือนกับจะไม่ได้หายใจ   ถ้าลมหายใจยังหยาบอยู่ ยังไม่เป็นสมาธิที่แนบแน่น    ใจที่จะเป็นสมาธิแนบแน่น ลมหายใจจะละเอียดและสั้นเข้าๆ แล้วรวมลงหยุดนิ่งสนิท    แต่ไม่รู้สึกอึดอัด   ใจจะเบาและสบายเป็นปกติ   อาการที่ลมหายใจหยุดนั้น เรียกว่า “กายสังขาร” ระงับแล้ว
  2. ส่วน “วจีสังขาร” กล่าวคือองค์บริกรรมภาวนา (คำว่าสัมมาอรหัง)  ก็จะค่อยๆ ระงับตามไป  จะรู้สึกลืมๆ เลือนหายไปไม่เป็นไร ขอแต่อย่าให้เคลื่อนศูนย์  ให้เห็นศูนย์ไว้เรื่อย   หยุดในหยุดกลางของหยุดๆๆ   ปล่อยใจให้ดิ่ง   หยุดนิ่งลงไป   ประเดี๋ยวก็ใสสว่างขึ้นมาเอง

ท่านผู้นี้ได้ถามต่อไปว่า   “เมื่อผมภาวนาไม่ได้   ผมก็เปลี่ยนละครับ  ไม่ภาวนา  เอาจิตไปจรดไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7   แล้วกำหนดลมในท้องกระเพื่อมไปกระเพื่อมมา”   นี่คงเคยติดการภาวนายุบหนอพองหนอมา  ไม่เป็นไร  แต่ว่าต่อไปไม่ต้องไปมองเห็นความกระเพื่อม   ไม่ต้องสนใจความกระเพื่อม   จิตจะได้หยุดดิ่งนิ่งสนิทลงไปจริงๆ

ถ้าบังคับจิตให้เข้าๆ ออกๆ จากสมาธิ   พอจิตจะหยุดนิ่งเข้า ก็ไปฝืนให้จิตทำงานคือบริกรรมภาวนาใหม่อีก  อย่างนั้นย่อมจะทำให้จิตเครียด   เพราะถูกบังคับจึงเกร็ง   อย่างนั้นผิดวิธี   จงปล่อยใจตามสบาย   กายก็ปล่อยตามสบาย  อย่าเกร็งเป็นอันขาด   คือเราอย่าไปสนใจ   เพราะฉะนั้นมันจะไม่เกร็ง  การเกร็งนั้นเป็นอาการหนึ่งของใจที่ถูกเราบังคับเกินไป    พอบังคับเกินไป  จิตก็จะไม่ยอมรวมลง ไม่ยอมหยุด    จงนึกถึงการกดลูกปิงปองให้จมลงน้ำ  ถ้ากดแรง ลูกปิงปองจะหลุดมือ   จิตที่ถูกบังคับหรือกดดันมาก จะถอนทันที   จิตบังคับไม่ได้ ต้องค่อยๆ ประคองเบาๆ   ปล่อยใจสบายๆ   แต่อย่าให้สบายจนง่วงและหลับ อย่างนั้นใช้ไม่ได้   ปล่อยใจตามสบาย คือทำใจให้โปร่งสบายนิ่งๆ   อย่าเพ่งนิมิตแรง   เพราะความอยากเห็นเกินไป   อย่าบีบบังคับใจเกินไป   เบาๆ ธรรมดา ไม่ต้องเกร็ง   แล้วจิตจะค่อยๆ รวมดิ่งลงไปเอง

เพราะฉะนั้น   จงปรับนิดหน่อย  นี่มีประสบการณ์ดีแล้ว   ปรับปรุงอีกนิดหน่อยก็จะดีขึ้น   ส่วนว่าที่เคยติดยุบหนอพองหนอมานั้น  ก็ไม่ต้องสนใจ   เพียงแต่จรดใจนิ่งที่ศูนย์กลางของกลางๆๆๆ   พอใจหยุดนิ่ง ใสสว่าง  ความรู้สึกกระเพื่อมจะหายไปเอง   อย่าสนใจก็แล้วกัน  

สรุปว่า   จรดใจนิ่งๆ เฉยๆ  อย่าเกร็ง   อย่าบังคับใจแรง  องค์บริกรรมภาวนาจะค่อยๆ ลืมเลือนไป เพราะเราไม่สนใจ    ใจไปหยุดดิ่งลงที่กลางของกลางนั้นถูกต้องแล้ว   บริกรรมภาวนาคือการท่องในใจนี้ เมื่อกำหนดไปแล้วจะหยุดเอง   จิตละเอียดเข้าๆๆ  ต่อไปลมหายใจก็ไม่สนใจ   แล้วละเอียดเข้าไปๆ   ใจจะสงบและหยุดนิ่งนั้นถูกต้องแล้ว  แต่อย่าบังคับใจเกินไป  อย่าเกร็ง  อย่าอยากเห็นเกินไป   นิ่งๆ เฉยๆ เบาๆ   แล้วใจจะหยุดสงบนิ่งกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม  ก็จะปรากฏดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หรือดวงปฐมมรรคใสสว่างปรากฏขึ้นมาเอง

แชร์เลย

Comments

comments

Share: