ผู้มีอริยทรัพย์ย่อมเป็นผู้ไม่ยากจน 2

เจริญพร ญาติโยมสาธุชนทุกท่าน

เมื่อเดือนที่แล้วอาตมภาพได้แสดงปาฐกถาธรรมเรื่อง “ผู้มีอริยทรัพย์ย่อมไม่เป็นผู้ยากจน”  โดยได้กล่าวถึงอริยทรัพย์ คือ “ศรัทธา” ในข้อปฏิบัติที่ควรศรัทธา คือ พระสัทธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  กับ “ศีล” คือ ข้อปฏิบัติทางกายและวาจาที่เรียบร้อยดี ไม่มีโทษ คือที่ไม่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายเป็นปกติ  รวม 2 ข้อไปแล้ว ในวันนี้  อาตมภาพจักได้กล่าวถึงอริยทรัพย์ คือ ทรัพย์ที่ประเสริฐ อันเป็นคุณธรรมประจำใจ อีก 5 ข้อ คือ หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญา ต่อไป

อริยทรัพย์ข้อที่ 3 “หิริ” มีความหมายถึงความละอายแก่ใจ ต่อการกระทำความชั่วหรือบาปอกุศล  ส่วนอริยทรัพย์ข้อที่4 “โอตตัปปะ” นั้นมีความหมายถึงความเกรงกลัวต่อการกระทำความชั่วหรือบาปอกุศล   2 คำนี้มักจะพูดรวมๆกันไปเลยว่า  “หิริโอตตัปปะ”  ซึ่งก็คือความเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ  กล่าวคือ มีความระลึกได้ด้วยปัญญาอันเห็นชอบ ก่อนคิดพูดทำ ว่าเป็นคุณความดี หรือ เป็นความชั่ว   ด้วยได้พิจารณาเห็นคุณธรรม คือ ความเป็นผู้มีศีลธรรม โดยความเป็นคุณ และพิจารณาเห็นความชั่วหรือบาปอกุศล คือ ความประพฤติที่ผิดศีลผิดธรรม โดยความเป็นโทษ ตามที่เป็นจริง แล้วเกิดความละอายแก่ใจที่จะกระทำความผิด และเกิดความเกรงกลัวต่อความผิด หรือความชั่วนั้น ว่าจะกลับให้ผลเป็นโทษหรือความทุกข์เดือดร้อนแก่ตนได้   จึงมีความยับยั้งชั่งใจ ไม่กล้ากระทำความชั่ว นี้อย่าง1 และ/หรือ เมื่อเผลอตัวเผลอใจประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีลงไปแล้ว ก็รู้สึกตัว เพราะได้พิจารณาเห็นโทษของความชั่วหรือบาปอกุศล โดยความเป็นโทษตามที่เป็นจริง ก็เกิดความละอายแก่ใจ และเกรงกลัวต่อบาปอกุศล  จึง “หยุด” กระทำความชั่ว  ไม่กล้ากระทำความชั่ว หรือบาปอกุศลนั้นอีกต่อไป นี้อีกอย่าง 1

อย่างเช่น เยาวชน หรือ เด็กดี ผู้มีคุณธรรม ข้อ “หิริโอตตัปปะ” นี้ เมื่อเห็นตัวอย่างของการประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดี หรือเมื่อมีเพื่อนหรือญาติพี่น้องมาชักนำไปสู่ความประพฤติปฏิบัติที่ชั่วที่ไม่ดี ที่จะเป็นโทษเป็นความทุกข์เดือดร้อน หรือที่จะเกิดความเสื่อมเสีย  เช่นชักนำไปสู่ การคบหมู่สู่เพื่อนที่ไม่ดี ชักนำไปสู่แหล่งบันเทิงเริงรมย์ ที่ไม่เหมาะแก่เด็กในวัยเรียน  ให้ไปลองเสพสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษ อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาททุกชนิด  หรือให้ไปหมกมุ่นสำส่อนอยู่ในกิเลสกาม  แม้การคบเพื่อนที่คอยประเล้าประโลมชักนำให้กระทำเกินเลยของความเป็นเพื่อน  ให้ถลำตัวไปเป็นการสมสู่ได้เสียกัน  เหล่านี้เป็นต้น  ก็ย่อมมีสติระลึกได้ว่าความประพฤติเช่นนั้นไม่ดี จะนำไปสู่ความทุกข์เดือดร้อน  หรือจะเป็นความเสื่อมแห่งชีวิตได้  ก็รู้สึกละอายแก่ใจที่จะกระทำความชั่ว และเกรงกลัวต่อบาปอกุศลหรือความชั่วเช่นนั้น  จึงยับยั้งชั่งใจ  ไม่กล้ากระทำความชั่ว  หรือหากเคลิบเคลิ้มเผลอตัว เผลอใจ หลงก้าวพลาด กระทำความไม่ดีไปบ้าง ก็พลันรู้สึกตัว ว่าเป็นความประพฤติที่ไม่ดีไม่งามที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตนเอง ก็เกิดความละอายและเกรงกลัวต่อบาปอกุศลนั้น  แล้วก็รีบถอนตัว กลับตัว กลับใจ หยุดกระทำความชั่วหรือบาปอกุศลอันจะเกิดโทษหรือความเสื่อมเสียเช่นนั้นเสีย   รีบกลับมาทำคุณความดีต่อไป ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจให้จมดิ่งลงไปในความชั่วจนสายเกินแก้หรือถอนตัวไม่ขึ้น   ทำได้อย่างนี้ การเรียนก็ไม่เสีย  หรือหากจะเสียไปบ้าง  ก็พอปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ทัน ไม่สายเกินแก้   ก็จะสามารถศึกษาเล่าเรียน พากเพียรหาความรู้ ให้เกิดสติปัญญาความสามารถให้สูงยิ่งๆ ขึ้นได้ต่อไปอีก

เยาวชนหรือเด็กในวัยเรียนผู้มีหิริโอตตัปปะ  คือ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาปอกุศล ด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยปัญญาอันเห็นชอบเช่นนี้ ชื่อว่า เป็นผู้มี “อริยทรัพย์” คือทรัพย์อันประเสริฐ ซึ่งจะเป็นคุณธรรมประจำใจให้ เป็นคนดี มีศีลมีธรรม   ให้เขามีความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขในชีวิต จึงย่อมเป็นผู้ไม่ยากจน ในกาลทุกเมื่อ

ส่วนเยาวชนหรือเด็กในวัยเรียนใด  ที่ไม่มีคุณธรรมข้อ หิริโอตตัปปะ นี้ คือไม่มีความละอาย และ เกรงกลัวต่อบาปอกุศล   เพราะขาด สติสัมปชัญญะ   ไม่พิจารณาเห็นโทษของความชั่วหรือบาปอกุศล โดยความเป็นโทษ   ไม่เห็นคุณธรรม คือ ความเป็นผู้มีศีลมีธรรม โดยความเป็นคุณ ตามที่เป็นจริง   จึงไม่รู้จักทางเจริญ-ทางเสื่อมแห่งชีวิต   หลงคิดผิด เห็นผิด หลงประพฤติตามตัวอย่างหรือการชักนำที่ผิดๆ เช่น ลองเสพยาเสพติดตามเพื่อนแล้วก็ติด   หลงจมปลักอยู่ในแหล่งอบายมุข แหล่งบันเทิงเริงรมย์ แหล่งมั่วสุมการเสพยาเสพติดและมัวเมาสำส่อนในกิเลสกามอันเป็นโทษ และเป็นอุปสรรคแก่การศึกษาเล่าเรียน   กลายเป็นเด็กเสเพลจนเสียการเรียน   และเสียอนาคตกันมากต่อมาก

จึงมีข้อที่น่าสังเกตว่า เยาวชนหรือเด็กที่เรียนดีโดยมากจะเป็นเด็กที่มีความประพฤติดี  มีอัธยาศัยใจคอดี มีศีล มีธรรม  มีความละอายและเกรงกลังต่อความชั่วหรือบาปอกุศล และมักเป็นคนรู้จักเชื่อฟังคำแนะนำสั่งสอนโดยชอบของผู้ใหญ่หรือผู้ทรงศีลทรงธรรมอยู่เสมอ

แม้ผู้ใหญ่ก็เช่นกัน  หมู่ชนทุกชาติทุกศาสนาใด  นับตั้งแต่ผู้ที่ทำหน้าที่ครูอาจารย์ข้าราชการทุกหมู่เหล่า ผู้นำ-ผู้บริหารราชการแผ่นดิน  ทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจและธุรกิจเอกชนทุกระดับ ตลอดถึงพ่อบ้านแม่เรือน  ซึ่งเป็นผู้นำหรือหัวหน้าครอบครัว  ตลอดไปถึงสมาชิกในครอบครัว ในสังคม และประชาชนทั้งหลาย    ถ้าจักได้เป็นผู้มีศีลมีธรรม  มีศรัทธาในข้อปฏิบัติที่ควรศรัทธา ได้แก่ พระสัทธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ที่มีหลักธรรมในการประพฤติปฏิบัติให้ละความชั่ว ให้กระทำแต่กรรมที่ดี ให้อบรมจิตใจให้ผ่องใส และมีหิริโอตตัปปะ  คือมีความละอายใจที่จะทำความชั่ว หรือทุจริตต่างๆ และมีความเกรงกลัวต่อความชั่วหรือบาปอกุศล  แล้วไม่กล้ากระทำความชั่ว ความทุจริต คิดมิชอบนั้น ดำรงตนอยู่แต่ในคุณความดี   หรือหากจะเผลอตัวเผลอใจกระทำความผิด เพราะรู้ผิดเห็นผิดไปบ้าง ก็มีสัมปชัญญะ คือความรู้สึกตัวว่าตนได้พลาดพลั้งไปแล้ว  ก็กลับตัวกลับใจเสียใหม่ หยุดกระทำความชั่วหรือทุจริตนั้น  แล้วกลับประพฤติปฏิบัติอยู่แต่ในคุณความดี อยู่ในศีลในธรรม ไม่ประพฤติผิดศีลผิดธรรม อันเป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น อันจะนำตนไปสู่ความเสื่อมหรือความทุกข์เดือดร้อนอีกต่อไป   ผู้นั้นนับว่าเป็นผู้มี “อริยทรัพย์”  คือมีศรัทธา มีศีล มีหิริโอตตัปปะ เป็นคุณธรรมประจำใจ   ผู้นั้นย่อมถึงซึ่งความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขในชีวิตแต่ส่วนเดียว  แม้จะยังได้รับเป็นความทุกข์เดือดร้อนจากอกุศลกรรมเก่าที่กำลังให้ผลอยู่บ้าง   ถ้าดำรงตนมั่นคงอยู่ในศีลในธรรมเช่นนี้  ก็พอจะสามารถเยียวยาแก้ไขปัญหาผ่อนหนักให้เป็นเบาได้  และจะเห็นทางให้สามารถแก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นความทุกข์เดือดร้อนไปได้ง่ายขึ้น คือแม้จะยังตกต่ำอยู่บ้างก็เพียงแต่ภายในระยะเวลาสั้น   ก็สามารถที่จะฟื้นกลับคืนสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขได้ ต่อกาลไม่นานเกินรอ

ส่วนผู้ที่ขาดศีล ขาดธรรม เพราะไร้สติปัญญาอันเห็นชอบในบาป-บุญ คุณ-โทษ ทางเจริญ-ทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง   จึงไม่ศรัทธาในข้อปฏิบัติที่ควรศรัทธา  ไม่มีหิริโอตตัปปะ คือไม่มีความละอายแก่ใจ ต่อการกระทำชั่ว  กระทำทุจริต ผิดศีลผิดธรรมต่างๆ อีกทั้งไม่เกรงกลัวผลจากความประพฤติชั่วหรือบาปอกุศลเช่นนั้น   จึงประพฤติปฏิบัติผิดศีลผิดธรรม ไปตามอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน ให้เกิดความทุกข์เดือดร้อน หรือถึงซึ่งความเสื่อมแห่งชีวิต ทั้งในภพชาติปัจจุบัน และ ในสัมปรายภพ อย่างไม่มีใคร หรืออำนาจเบื้องบนใดจะช่วยเหลือได้ แม้จะยังมีสมบัติอื่นจากบุญเก่าที่เกื้อหนุนอยู่  ได้แก่ กาลสมบัติ คือ อยู่ในระยะเวลาที่บุญเก่ากำลังให้ผล คติสมบัติ คือ  ได้เกิดอยู่ในตระกูลสูง และ/หรือมีปโยคสมบัติ คือ ยังมีอำนาจราชศักดิ์  มีอำนาจเงิน  อำนาจพวกพ้อง มีอำนาจตามกฎหมายคุ้มครองอยู่ก็ตาม   เมื่อสิ้นบุญเก่า สมบัติเช่นนั้นเสื่อมลงเมื่อใด เมื่อนั้นจะกลายเป็นวิบัติ ให้ต้องได้รับผลจากกรรมชั่วนั้นเต็มๆ   เป็นความเสื่อมลาภสักการะ เสื่อมยศ ย่อมได้รับแต่ความนินทาว่าร้าย กลายเป็นความทุกข์เดือดร้อนต่อไป

อนึ่ง  ผู้ขาดหิริโอตตัปปะนั้น ไม่แต่เพียงจะยังความทุกข์เดือดร้อนให้แก่ตนเท่านั้น แต่ยังเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญหาแก่สังคมและประเทศชาติ   อันจะยังความทุกข์เดือดร้อนให้เกิดแก่ประชาชนในสังคมและประเทศชาติได้อย่างมากอีกด้วย   ครอบครัวสังคมหรือประเทศชาติจะถึงซึ่งความเสื่อม จะเสียหายล่มจม ก็เพราะการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งคนทุศีล  คนไม่มียางอาย และไม่เกรงกลังต่อบาปอกุศลเป็นพ่อบ้านแม่เรือน  เป็นผู้นำเป็นผู้บริหารนั่นเองแหละ  ดังพระพุทธดำรัสตรัสไว้ในจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระสุตตันตปิฎก (ภาษาไทย พ.ศ.2521) เล่มที่ 21 ข้อ 258 หน้า 307-308 ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย   ตระกูลใดตระกูลหนึ่งถึงความเป็นใหญ่ในโภคทรัพย์ ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้นานเพราะสถาน 4   หรือสถานใดสถานหนึ่ง บรรดาสถาน 4 นั้น   สถาน 4 เป็นไฉน คือ  ไม่แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว 1    ไม่ซ่อมแซมพัสดุที่คร่ำคร่า ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคตั้งสตรีหรือบุรุษผู้ทุศีลให้เป็นพ่อบ้านแม่เรือน 1ภิกษุทั้งหลาย   ตระกูลใดตระกูลหนึ่งถึงความเป็นใหญ่ในโภคทรัพย์แล้ว ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้นานเพราะสถาน 4   หรือสถานใดสถานหนึ่งบรรดาสถาน 4 นั้น”

เพราะเหตุนั้น ผู้มีอริยทรัพย์ คือ หิริโอตตัปปะ เป็นคุณธรรมประจำใจ จึงเท่ากับมีคุณธรรมของเทพยดาผู้เสวยทิพยสมบัติอยู่ในเทวโลกนั่นเทียว   จึงเป็นผู้ไม่ยากจนด้วยประการฉะนี้

อริยทรัพย์ข้อที่ 5 คือ “สุตะ” คือ ความเป็นผู้ได้สดับตรับฟัง และเรียนรู้ศิลปวิทยา เรียนรู้วิธีการปฏิบัติกิจการงาน และข้อประพฤติปฏิบัติที่ดีงามที่จะนำไปสู่ความสำเร็จความเจริญรุ่งเรืองสันติสุข และความมั่นคงในชีวิต มีคำกล่าวที่มีความหมายกว้างออกไปว่า “พหูสูต” ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ได้เคยสดับตรับฟัง ได้เคยเรียนรู้ศิลปวิทยา ได้เคยเรียนรู้และฝึกฝนอบรมวิธีการปฏิบัติกิจการงาน  ได้เรียนรู้และอบรมกาย วาจา และใจ ตามพระสัทธรรม คือ ข้อประพฤติปฏิบัติที่ดีงามมามาก อันก่อให้เกิดวิสัยทัศน์ คือสติปัญญารอบรู้ทั้งคดีโลกและคดีธรรม อย่างกว้างไกล ผู้มีสุตะหรือผู้เป็นพหูสูตจึงเป็นผู้มีทั้งความรู้  มีสติปัญญาสามารถและมีคุณธรรมประจำใจ นับว่าเป็นผู้มีทรัพย์อันประเสริฐ  เสมือนมียานพาหนะนำชีวิต  และมีประทีปส่องทางการดำเนินไปสู่ความสำเร็จ ความเจริญรุ่งเรือง สันติสุข และมีความมั่นคงแห่งชีวิต  ไม่มีเสื่อม จึงชื่อว่า เป็นผู้ไม่ยากจน

ส่วนผู้ที่ปล่อยตัวปล่อยใจให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลส   สนใจแต่เรื่องเหลวไหลไร้สาระ  เป็นเด็กในวัยเรียนก็ไม่เอาใจใส่ในการศึกษาเล่าเรียน  ชอบคบหมู่สู่เพื่อนเสเพล  ที่ชอบชักนำไปสู่ทางที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย  เช่นแหล่งอบายมุข  แหล่งบันเทิงเริงรมย์ต่างๆ  นำให้ลองเสพสิ่งเสพติด  มึนเมาให้โทษ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาททั้งหลาย เมื่อติดแล้วก็ยากที่จะเลิกละยาเสพติดเหล่านั้น   และยากที่จะถอนตัวออกจากหมู่เพื่อนเสเพลเช่นนั้นได้  ทำให้เสียทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต   การเรียนก็ล้มเหลว   ถ้าเป็นเด็กหญิงที่ชอบคบหมู่สู่เพื่อนที่ไม่ดีเช่นนั้น  ก็ยิ่งเสี่ยงต่อความเสื่อมเสียเร็วขึ้นอย่างมาก  และหากไปหลงคบเพื่อนจนเกินเลยความเป็นเพื่อนในวัยเรียน  ถึงได้เสียกันตั้งแต่ยังเรียนไม่สำเร็จ   ก็จะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย   ต้องเสียทั้งตัว  เสียทั้งการเรียน  และเสียทั้งอนาคตไปในที่สุด   นี่เพราะขาด “สุตะ”  ทำให้ไม่มีวิชาความรู้และสติปัญญาสามารถพอจะประกอบอาชีพสุจริตที่ดีๆได้จึงต้องกลายเป็นคนอับจน ข้นแค้น ยากที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้อีก

มีข้อสังเกตพฤติกรรมของประชาชนคนไทยส่วนหนึ่ง ซึ่งมีไม่น้อย ที่อาตมภาพได้เห็นว่าแตกต่างจากชาวต่างประเทศที่เขามีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูง คือครอบครัวชาวไทยที่มีฐานะดีบางราย  พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ทั้งๆ ที่ต้องการให้ลูกหลานเป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ  แต่มักแสดงความรักต่อลูกหลานผิดวิธีการเลี้ยงลูกที่จะให้ได้รับผลตามความประสงค์เช่นนั้น   คือมักตามใจลูกหลานจนเกินขอบเขต  ไม่ว่าลูกหลานจะต้องการอะไร  เป็นอันตามใจซื้อหาให้  ประเคนให้หมด  จนเด็กติดนิสัยฟุ้งเฟ้อ  เอาแต่ประกวดประขันกันในการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย  ไปในการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้านาฬิการองเท้ายี่ห้อดีๆ ราคาสูงๆ  และมีเครื่องบำเรอความสุข  ได้แก่ รถรา เครื่องเสียง และมีการจัดงานเลี้ยงเพื่อนฝูง  อันฟุ่มเฟือย หรูหรา เกินฐานะของเด็กในวัยเรียน   ซึ่งยังหาเงินทองไม่เป็น ลูกหลานของคนมีฐานะที่ถูกพ่อแม่ ปู่ยา ตายาย ตามใจอย่างนั้น ก็จะสนใจแต่ในเรื่องโลกิยสุขอันฟุ้งเฟ้ออยู่อย่างนั้น  จนขาดการเอาใจใส่ในการศึกษาหาความรู้ เพื่อสร้างฐานคุณภาพชีวิตของตนให้เจริญและมั่นคงอย่างแท้จริงได้   ผลการเรียนก็อ่อน  เด็กๆ จากครอบครัวประเภทเหล่านี้บางคนและมีไม่น้อย ที่มีความคิดตกต่ำลงไปถึงว่า  ผลการเรียนไม่ดีก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวพ่อแม่ก็ส่งไปเรียนเมืองนอก  ก็ได้ mba มาเองแหละ หรือว่า แม้จะเรียนไม่สำเร็จก็ไม่เห็นเป็นไร พ่อแม่มีเงินซะอย่าง  โตขึ้นก็ขอเงินพ่อแม่ไปทำทุนทำมาหากินเองได้   ฝ่ายพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ที่หลงรักลูกหลานผิดทางก็จะเออออห่อหมกเห็นดีเห็นงามไปด้วย ว่าประเดี๋ยวเด็กมันโตขึ้นแล้ว ก็จะรู้จักรับผิดชอบตนเองดีขึ้นเอง  พฤติกรรมเช่นนี้เป็นการหลงรักลูกเลี้ยงลูกผิดวิธีที่จะให้เขาสามารถสร้างพื้นฐานอันมั่นคงแก่ชีวิตของเขาได้เอง จึงมีผลตามมาว่า  เด็กๆ หรือลูกหลานของครอบครัวที่ถูกพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ตามใจ ให้หลงฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ เหล่านี้ มักจะมีนิสัยสำรวย หยิบโหย่ง ขี้เกียจ ขาดความรับผิดชอบต่อตัวเอง ขาดจิตสำนึกที่จะช่วยตัวเองให้สามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได้ ขาดความตั้งใจและอดทนที่จะศึกษาค้นคว้าหาความรู้ที่ลึกซึ้งและกว้างขวาง  และมักไม่เห็นความสำคัญ ไม่เห็นคุณประโยชน์ของการเรียนรู้และการปฏิบัติธรรม  จึงมักหลงคิดผิด เห็นผิด ในสิ่งที่ไร้แก่นสารสาระว่าเป็นสาระ  เขาจึงไม่อาจประสบสิ่งที่เป็นแก่นสารสาระที่แท้จริงของชีวิตได้ ผลการศึกษาเล่าเรียนก็ตกต่ำไม่ดีเท่าที่ควร  กลายเป็นคนขาดทั้งสติปัญญา ความรู้ ความสามารถและขาดทั้งคุณธรรมประจำใจ  รวมเป็นการขาดวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล  อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำชีวิตตนและนำสังคม  นับตั้งแต่สังคมในครอบครัวในวงงาน ไปจนถึงสังคมประเทศชาติโดยส่วนรวมให้ไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง สันติสุขและมั่นคงได้

แม้พ่อแม่จะมีเงินทองส่งเสียให้ลูกหลานที่การเรียนไม่ดีดังกล่าว ให้ไปเรียนในต่างประเทศได้ ถ้าเด็กนั้นยังไม่ทิ้งนิสัยเดิม ยังติดนิสัยสำรวย หยิบโหย่ง ขาดความอดทนในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ และขาดศีลขาดธรรม เมื่อไปอยู่ในต่างประเทศที่มีอิสระ โดยไม่มีหลักธรรมเครื่องควบคุมจิตใจให้ตั้งอยู่ในคุณความดีก็เอาดีไม่ได้ ถึงเสียคนไปก็มี   ผลการเรียนจากต่างประเทศก็อ่อนถึงล้มเหลวได้ และเสียผู้เสียคนไปก็มีไม่น้อย  ถึงจะสำเร็จการศึกษามาบ้างก็เพียงแต่สำเร็จจากวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยเกรดไม่สูง ไม่เข้มแข็งด้วยวิชาการที่ลึกซึ้งหรือเทคโนโลยีที่สูงๆ พอที่จะมาประกอบกิจการงานในอาชีพให้ได้รับผลสำเร็จดีมีประสิทธิภาพสูงได้   ถึงพ่อแม่จะมีเงินทุนอุดหนุนให้ไปตั้งตัว  แต่ถ้าเป็นคนติดนิสัยไม่ดี  ไม่มีคุณธรรมประจำใจอยู่อย่างนั้น  ก็ไม่มีสติปัญญาความสามารถและคุณธรรมในการบริหารกิจการงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีได้   เงินทุนที่พ่อแม่ปู่ย่า ตายาย ถมให้ไปเท่าไรๆ ก็ไม่รู้จักเต็ม   มีแต่จะสูญเปล่าและกลับกลายเป็นหนี้สินท่วมท้นทับทวี ดีไม่ดีก็ถึงล้มละลายไปเลย  ให้พ่อแม่ญาติพี่น้องต้องรับใช้หนี้แทน  ต้องน้ำตาตกในกันเป็นแถวๆ อย่างนี้ก็มีไม่น้อยในวงสังคมของผู้มีฐานะดี   นี่เพราะขาด “สุตะ” ไม่ตั้งใจศึกษาหาความรู้ตั้งแต่วัยเด็กหนุ่มสาว ให้ดี และเพราะพ่อแม่บางรายที่หลงตามใจลูกให้ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย จนเด็กเสียนิสัย และติดนิสัยไม่ดีมาถึงความเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่ละนิสัยเช่นนั้น   และแม้จะมีครอบครัวแล้วก็ไม่มีปัญญาจะดูแลสั่งสอนลูกให้ดีๆ ได้

แต่ครอบครัวชาวต่างประเทศที่เขามีระเบียบวินัย และมีความเจริญก้าวหน้าในทางวิชาการโดยมาก เขาจะไม่เลี้ยงลูกแบบนี้  และก็มีครอบครัวชาวไทยอีกบ้างเหมือนกัน  ที่มีระเบียบวินัย มีความรู้คู่คุณธรรม มีวิสัยทัศน์กว้างไกล  ที่ไม่หลงรักลูกและเลี้ยงลูกผิดทางดังที่กล่าวข้างต้น  แม้จะมีฐานะดี ก็จะไม่ตามใจลูกให้ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ จนเกินฐานะเด็กที่อยู่ในวัยเรียนที่ยังหาเงินก็ไม่เป็น  เขาจะสอนลูกให้มีระเบียบวินัย ให้รู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อส่วนรวม ให้รู้จักช่วยตัวเองตั้งแต่เล็กๆ โดยการให้คำแนะนำในการทำกิจส่วนตัว  แล้วปล่อยให้ทดลองปฏิบัติเอง นับตั้งแต่การรับประทานอาหาร  การใช้สิ่งของเครื่องใช้และการเก็บรักษา ให้รู้จักมัธยัสถ์ในการใช้จ่ายเงินและสิ่งของเครื่องใช้ ไม่ให้สุรุ่ยสุร่าย  มีการจำกัดการให้ใช้จ่ายเงินเท่าที่จำเป็น ถ้าเด็กๆ ทำไม่ถูก ไม่ควร  เขาก็จะคอยชี้แจงแสดงเหตุผลประกอบคำแนะนำสั่งสอนวิธีปฏิบัติตนให้ถูกต้อง ถ้าดื้อดึงก็ลงโทษตามสมควร   คอยดูแลเอาใจใส่ลูกๆ ในการศึกษาเล่าเรียน จนบรรลุนิติภาวะหรือถึงเรียนจบชั้นปริญญาตรีแล้วก็นิยมปล่อยเด็กหนุ่มสาวในวัยนี้ให้มีอิสระ โดยให้ออกไปหางานทำ เพื่อให้เกิดประสบการณ์ในการทำงานเอง จะได้รู้รสการหาเงิน   รู้จักมีระเบียบวินัยในการใช้สอยทรัพย์  มีระเบียบวินัยในการทำงานอาชีพ  และในการดำเนินชีวิตในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ให้รู้จักเลือกคบเพื่อนและรู้จักพิจารณาตัดสินใจในการเลือกคู่ครองเอง  เหล่านี้เป็นต้น แม้การจะเรียนต่อชั้นปริญญาโท-เอก  ก็ให้ทำงานหาเงินหรือหาทุนเรียนเอง พ่อแม่ก็จะคอยดูอยู่ห่างๆ  ถ้าจำเป็นจึงเข้าช่วยเหลือตามสมควร   ครอบครัวชาวต่างประเทศอย่างนี้มีมาก จึงทำให้คนของเขามีความกระตือรือร้นในการศึกษาหาความรู้  ในการเรียนรู้วิชาการหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ตั้งแต่วัยหนุ่มสาวหรือวัยเรียน    เมื่อถึงวัยทำงานก็จะกระตือรือร้นต่อการเรียนรู้วิธีการทำงาน ให้ได้รับผลดีมีประสิทธิภาพสูงเรียกว่า “Eager to learn” คือ กระตือรือร้นในการเรียนรู้ ไม่เรื่อยๆ เฉื่อยแฉะอย่างชาวไทยเราบางคนที่เห็นๆ เป็นกันอยู่โดยมาก   มีการศึกษาวิจัยสาขาอาชีพต่างๆ อย่างมีระบบ ตามทางวิทยาศาสตร์   มีการทำงานที่เข้มแข็งและจริงจัง ไม่สำรวยหยิบโหย่ง   คนของเขาจึงมีคุณภาพ คือมีทั้งความรู้ สติปัญญาสามารถ  มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล  และมีระเบียบวินัยในการดำเนินชีวิต ที่ซื่อตรง ชอบพึ่งตนเอง   ยืนอยู่บนลำแข้งของตนเอง ไม่ชอบพึ่งผู้อื่น  ไม่ชอบการใช้อำนาจและอภิสิทธิ์ที่ไม่เป็นธรรม ไม่นิยมการทุจริตคดโกง   ทุกคนตั้งใจทำงานหนักเพื่อความสำเร็จ  และความก้าวหน้าในกิจการงาน ในอาชีพ บางครั้งผู้ใหญ่หรือผู้บังคับบัญชา   จะถามผู้น้อยหรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ด้วยความเอ็นดูกลายๆ ว่า “Do you work hard ? –  คุณทำงานหนักไหม ?”    ครั้นผู้น้อยตอบว่า “Yes, I do. – ครับผมทำงานหนัก”  ผู้ใหญ่จะยิ้มอย่างพอใจ และจะตบไหล่ผู้น้อยด้วยความรักพร้อมกับพูดว่า “Good! ดี !”    นี่แสดงว่า วัฒนธรรมในการเรียนรู้คือ “สุตะ” และระเบียบวินัยในการทำงานที่เข้มแข็ง จริงจังและซื่อตรงของเขาเป็นเหตุให้การทำงาน หรือการบริหารกิจการงานของเขาทุกระดับถึงระดับชาติบรรลุผลดีมีประสิทธิภาพสูง

ที่ว่าเขาเป็นผู้มีระเบียบวินัยในการทำงานที่เข้มแข็งจริงจัง และซื่อตรง โดยมากนั้น  เพราะความที่เขาเป็นผู้มี “สุตะ” คือได้เรียนรู้มามาก จึงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทำให้เขาสามารถประสบผลสำเร็จในชีวิต ในอัตราที่สูง โดยไม่ต้องทุจริตคดโกง แม้การโกงเวลาทำงานโดยการมาทำงานสายอย่างไทย  แล้วกลับไปตรงเวลาอย่างฝรั่ง หรือกลับก่อนเวลาอย่างไทยบางคน ก็แทบไม่เห็นเขาเป็นกัน  และเขาก็ไม่ต้องใช้อำนาจหรืออภิสิทธิ์เอารัดเอาเปรียบคนอื่นก็สามารถทำกิจการงานประสบผลสำเร็จได้ ด้วยสติปัญญาความรู้ความสามารถของเขาเอง    หากจะมีบุคคลที่ไม่ดีบ้างก็เป็นส่วนน้อย

ที่อาตมายกตัวอย่างข้อดีของชาวต่างชาติที่เขามีระเบียบวินัย  และที่เขามีสติปัญญาความสามารถ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มาพูดเปรียบเทียบกับชาวไทยเรานี้  มิใช่จะไปหลงรักหลงชื่นชมชนชาติอื่นกว่าชาวไทยเรา แต่เพราะความรัก ความปรารถนาดีต่อประชาชนคนไทยเรานี้นี่แหละ จึงได้นำมาชี้แจงแสดงให้เหตุผลแห่งความเจริญความเสื่อมที่จะมีแก่ประชาชาชนคนไทยเรา ว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเรื่อง อริยทรัพย์ คือ “สุตะ” นี้ไว้แล้วว่าถ้าใครมีคุณธรรมข้อนี้ประจำใจอยู่   การดำเนินชีวิตของผู้นั้นก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองสันติสุข และมีฐานะที่มั่นคงได้ ไม่เสื่อมเลยแม้จะอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่ค่อยจะดีนัก  อย่างเช่นในระยะเวลาที่เศรษฐกิจบีบคั้นอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้  ก็จะไม่กระทบกระเทือนถึงผู้มี “สุตะ” ให้ลำบากเดือดร้อนมากนัก คือพอแก้ไขเอาตัวรอดได้ ไม่ถึงกับขัดสนจนปัญญา

เพราะองค์กรใด  อาชีพใดที่ดีที่เจริญก็ย่อมล้วนแต่ต้องการบุคคลผู้มี “สุตะ” คือ ผู้ที่ได้เรียนรู้มามาก  มีความรู้สติปัญญาเฉลียวฉลาด  มีความสามารถมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล  และมีคุณธรรมด้วยกันทั้งนั้น   คนมีอริยทรัพย์ คือ สุตะ จึงตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้   เขาจึงย่อมเป็นคนไม่ยากจนในทุกที่และทุกเมื่อ ตามพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้แล้วนั้นทุกประการ

แต่ถ้าบุคคลใดหลงประมาทมัวเมาในชีวิต   ไม่คิดสร้างฐานเพื่อคุณภาพชีวิตของตนด้วยความเอาใจใส่ ขยันขันแข็งในการศึกษาเล่าเรียนแต่เด็ก  มัวประพฤติตนเหลวไหลเสเพลตามเพื่อนที่ไม่ดี   ก็ไม่มีความรู้ ไม่มีสติปัญญาความสามารถและคุณธรรมดีพอ   ที่จะประกอบกิจการงานในหน้าที่ที่เจริญและมั่นคงได้ แม้จะเรียนสำเร็จไปได้อย่างไม่สมภูมิ   คือภูมิรู้ไม่แน่นดีพอ  ก็เป็นคนมีสติปัญญาสามารถน้อย มีวิสัยทัศน์ที่แคบ ไม่เห็นทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง  ไม่เห็นสิ่งที่เป็นแก่นสารสาระโดยความเป็นแก่นสารสาระ จึงไม่ประสบแก่นสารสาระที่แท้จริงของชีวิต  ก็มีแต่จะนำชีวิตตน ครอบครัว สังคมและประเทศชาติไปสู่ความเสื่อมเสียหรือความหายนะ ล่มจม  ยากที่จะเยียวยาแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้คลี่คลาย และยากที่จะพัฒนาให้ฟื้นคืนตัวดีขึ้นได้

ที่เห็นมีข่าวเรื่องปัญหาทางการเมืองทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในทุกวันนี้  ก็เพราะประชาชนขาดอริยทรัพย์ คือ “สุตะ” นี้นี่เอง  จึงหลงขายตัว หลงขายเสียง ขายมือ อันจะนำไปสู่การขายชาติได้ในที่สุด   และแม้ชั้นที่สุด ก็คือ ไม่เห็นความสำคัญของสัทธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่ประเสริฐสูงสุด ที่มีคุณค่าต่อชีวิตมวลมนุษย์ที่สุด  ก็เพราะขาด “สุตะ” คือ การศึกษาและปฏิบัติพระสัทธรรมให้ได้รับผลสมควรแก่ธรรม   นั้นแหละ จึงต้องเป็นผู้ลำบากยากจน ข้นแค้น เดือดร้อนไปตามกรรม   ดังที่เห็นเป็นกันอยู่มากมายในทุกวันนี้

ผู้หวังความสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต จึงพึงขวนขวายศึกษาหาความรู้ ความชำนาญในศิลปวิทยาตั้งแต่วัยเด็ก  ถึงแม้วัยทำงานก็ยังต้องกระตือรือร้นในการเรียนรู้กิจการงานในหน้าที่หรืออาชีพ  ให้เป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม ชื่อว่า มีทรัพย์ประเสริฐ คือ “สุตะ” นี้ จึงจะเป็นผู้มียากจนในทุกที่ และในกาลทุกเมื่อ

ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้ฟังทุกท่าน   เจริญพร.


พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ.2540

แชร์เลย

Comments

comments

Share: