พระตถาคตคือใคร พระอรหันต์ตายแล้วไม่ขาดสูญ (1)

วัจฉโคตตสูตร

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี.  ครั้งนั้นแล ปริพาชกวัจฉโคตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

ทิฏฐิ 10 อย่าง

วัจฉโคตตปริพาชก นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ?”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

ว:  ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ?
พ:  ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.
ว:  ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกมีที่สุด สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ?
พ:  ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.
ว:  ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ?
พ:  ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.
ว:  ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ?
พ:  ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.
ว:  ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ?
พ:  ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.
ว:  ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ?
พ:  ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.
ว:  ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ?
พ:  ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.
ว:  ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ?
พ:  ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.

ว: พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น. ฯลฯ พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตาย มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น. ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นโทษอะไรหรือ จึงไม่ทรงเข้าถึงทิฏฐิเหล่านี้ โดยประการทั้งปวงเช่นนี้

พ: ดูกรวัจฉะ ความเห็นว่าโลกเที่ยง … โลกไม่เที่ยง … โลกมีที่สุด … โลกไม่มีที่สุด … ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น … ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง … ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ … ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ … ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี … ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ก็หามิได้ ดังนี้นั้น เป็นความเห็นที่รกชัฏ เป็นความเห็นอย่างกันดาร เป็นความเห็นที่เป็นเสี้ยนหนาม เป็นความเห็นที่กวัดแกว่ง  เป็นความเห็นเครื่องผูกสัตว์ไว้  เป็นไปกับด้วยทุกข์  เป็นไปกับด้วยความลำบาก  เป็นไปกับด้วยความคับแค้น  เป็นไปกับด้วยความเร่าร้อน  ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.   ดูกรวัจฉะ เราเห็นโทษนี้แล จึงไม่เข้าถึงทิฏฐิเหล่านี้ โดยประการทั้งปวงเช่นนี้. [เพราะเป็นความเห็นที่พัวพันกับขันธ์ 5 ไม่หลุดออกไปได้ เป็นสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ]
 

[ไม่ทรงเกี่ยวข้องด้วยทิฏฐิอะไรๆ แต่เพราะรู้จักขันธ์ 5 และเห็นความเกิดดับของขันธ์ 5 จิตของพระองค์จึงหลุดพ้น]

ว: ก็ความเห็น (ทิฏฺฐิคตํ) อะไรๆ ของท่านพระโคดม มีอยู่บ้างหรือ ?

พ: ดูกรวัจฉะ ก็คำว่า ‘ความเห็น’ นั้น ตถาคตกำจัดเสียแล้ว
ดูกรวัจฉะ ก็ตถาคตเห็นแล้วว่า ดังนี้ รูป ดังนี้ ความเกิดแห่งรูป ดังนี้ ความดับแห่งรูป ดังนี้ เวทนา ดังนี้ ความเกิดแห่งเวทนา ดังนี้ ความดับแห่งเวทนา ดังนี้ สัญญา ดังนี้ ความเกิดแห่งสัญญา ดังนี้ ความดับแห่งสัญญา ดังนี้ สังขาร ดังนี้ ความเกิดแห่งสังขาร ดังนี้ ความดับแห่งสังขาร ดังนี้ วิญญาณ ดังนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณ ดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณ เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ตถาคตพ้นวิเศษแล้ว เพราะความสิ้นไป เพราะคลายกำหนัด เพราะดับสนิท เพราะสละเพราะปล่อย เพราะไม่ถือมั่น ซึ่งความสำคัญทั้งปวง ซึ่งความต้องการทั้งปวง ซึ่งความถือว่าเรา ว่าของเรา และความถือตัว [ในสิ่งทั้งปวง โดยเฉพาะขันธ์ 5 นั้น] อันนอนอยู่ในสันดานทั้งปวง.
 

[ผู้มีจิตหลุดพ้น (หมดกิเลส) แล้ว จะไปเกิดในที่ไหน]

ว: ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ จะเกิดในที่ไหน ?
พ: ดูกรวัจฉะ คำว่าจะเกิดดังนี้ ไม่ควรเลย.
ว: ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น จะไม่เกิดหรือ ?
พ: ดูกรวัจฉะ คำว่า ไม่เกิดดังนี้ ก็ไม่ควร.
ว: ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น เกิดก็มี ไม่เกิดก็มีหรือ ?
พ: ดูกรวัจฉะ คำว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ดังนี้ ก็ไม่ควร.
ว: ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น เกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่หรือ ?
พ: ดูกรวัจฉะ คำว่าเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ ดังนี้ ก็ไม่ควร.

ว: พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ จะเกิดในที่ไหน ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ คำว่าจะเกิด ดังนี้ ไม่ควร. ฯลฯ พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้นเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ คำว่า เกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ ดังนี้ ก็ไม่ควร. ข้าแต่ท่านพระโคดม ในข้อนี้ข้าพเจ้าถึงความไม่รู้ ถึงความหลงแล้ว แม้เพียงความเลื่อมใสของข้าพเจ้าที่ได้มีแล้ว เพราะพระวาจาที่ตรัสไว้ในเบื้องแรกของท่านพระโคดม บัดนี้ได้หายไปเสียแล้ว.

พ: ดูกรวัจฉะ ควรแล้วที่ท่านจะไม่รู้ ควรแล้วที่ท่านจะหลง เพราะว่าธรรมนี้เป็นธรรมลุ่มลึก ยากที่จะเห็น ยากที่จะรู้ สงบระงับ ประณีต ไม่ใช่ธรรมที่จะหยั่งถึงได้ด้วยความตรึก ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ ธรรมนั้นอันท่านผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น มีความพอใจเป็นอย่างอื่น มีความชอบใจเป็นอย่างอื่น มีความเพียรในทางอื่น อยู่ในสำนักของอาจารย์อื่น รู้ได้โดยยาก
 

[ไฟดับเพราะหมดเชื้อเพลิง ขันธ์ 5 ดับเพราะหมดเชื้อคืออุปาทาน]

พ: ดูกรวัจฉะ ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านเห็นควรอย่างใด ก็พึงพยากรณ์อย่างนั้น ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าไฟลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่าน ท่านจะพึงรู้หรือว่า ไฟนี้ลุกโพลงต่อหน้าเรา.

ว: ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าไฟลุกโพลงต่อหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพึงรู้ว่า ไฟนี้ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรา.

พ: ดูกรวัจฉะ ถ้าใครๆ พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่านนี้ อาศัยอะไร จึงลุกโพลง ท่านถูกถามอย่างนี้แล้วจะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร ?

ว: ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าใครๆ ถามข้าพเจ้าอย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงต่อหน้าท่านนี้ อาศัยอะไรจึงลุกโพลง ข้าพเจ้าถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรานี้ อาศัยเชื้อ คือหญ้าและไม้จึงลุกโพลงอยู่.

พ: ดูกรวัจฉะ ถ้าไฟนั้นพึงดับไปต่อหน้าท่าน ท่านพึงรู้หรือว่า ไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว ?

ว: ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าไฟนั้นดับไปต่อหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพึงรู้ว่าไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว.
 

[ไฟหมดเชื้อดับไป ไม่จำเป็นต้องกล่าวว่าดับแล้วจะไปทางทิศไหน
ขันธ์ 5 หมดกิเลส ดับสลายไป ก็เป็นอันดับสิ้นไปแล้ว
ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงขันธ์ 5 อีกว่าจะไม่เกิด หรือจะไปเกิดเป็นอะไร]

พ: ดูกรวัจฉะ ถ้าใครๆ พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ไฟที่ดับไปแล้วต่อหน้าท่านนั้น ไปยังทิศไหนจากทิศนี้ คือทิศบูรพา ทิศปัจจิม ทิศอุดร หรือทิศทักษิณ ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร ?

ว: ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้อนั้นไม่สมควร เพราะไฟนั้นอาศัยเชื้อ คือหญ้าและไม้จึงลุก แต่เพราะเชื้อนั้นสิ้นไป และเพราะไม่มีของอื่นเป็นเชื้อ ไฟนั้นจึงถึงความนับว่าไม่มีเชื้อ ดับไปแล้ว.
 

[ทรงยืนยันว่าชาวโลกคิดไปเองว่า ตถาคตเป็นขันธ์ 5 (สังขาร)
แต่ขันธ์ 5 ที่หมดกิเลส ดับสลายไปแล้วนั้น มิใช่ตถาคตอย่างแน่นอน
แต่ตถาคตเป็นวิสังขาร อันลึกซึ้ง คิดเดาเอาไม่ได้ หยั่งได้ยาก ดั่งมหาสมุทร]

พ: ฉันนั้นเหมือนกัน วัจฉะ บุคคลเมื่อบัญญัติตถาคต พึงบัญญัติเพราะรูปใด รูปนั้นตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา
ตถาคตพ้นจากการนับว่ารูป มีคุณอันลึก (คมฺภีโร) อันใครๆ ประมาณไม่ได้ (อปฺปเมยฺโย) หยั่งถึงได้โดยยาก. (ทุปฺปริโยคาฬฺโห) เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น
 

[แม้คำว่า ‘เกิด’ หรือ ‘ไม่เกิด’ ก็ใช้ไม่ได้ กับตถาคต
เพราะการเกิดหรือไม่เกิดเป็นเรื่องของขันธ์ 5 (สังขาร) เท่านั้น

แต่วิสังขารคือตถาคต เป็นอสังขตธาตุ อสังขตธรรม ที่บริสุทธิ์ เที่ยงแท้ ยั่งยืน ตลอดไป]

ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้.
บุคคลเมื่อบัญญัติตถาคต พึงบัญญัติเพราะเวทนาใด … เพราะสัญญาใด … เพราะสังขารเหล่าใด … เพราะวิญญาณใด … วิญญาณนั้น ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้ดุจเป็นตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่าวิญญาณ มีคุณอันลึก อันใครๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก. เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้.


พระไตรปิฎกบาลี ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ 13, มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์, ข้อ 244–252, หน้า 240-249.

แชร์เลย

Comments

comments

Share: