พระอรหันต์ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับพระพุทธเจ้ามากที่สุด

พระอรหันต์ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับพระพุทธเจ้ามากที่สุด โดย หลวงตาอู๋

พระนันทเถระ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กับพระนางมหาปชาบดีโคตรมีพระน้านาง เป็นพุทธอนุชาร่วมพระบิดาเดียวกันกับพระพุทธเจ้า เมื่ออยู่ในครรภ์พระมารดา บรรดาพระประยูรญาติต่างปรารถนาจะได้เห็น ต่างก็มีความปีติยินดีร่าเริงบันเทิงใจ เมื่อประสูติออกมาจึงขนานนามว่า “นันทกุมาร” เมื่อเติบโตขึ้นเป็นเจ้าชายหนุ่มก็ทรงมีพระพักตร์และรูปร่างเหมือนกับพระพุทธเจ้าอันเป็นพระเชษฐาของพระองค์มาก เพียงแต่เจ้าชายนันทกุมารจะมีความสูงน้อยกว่าพระพุทธเจ้าเพียงหน่อยหนึ่งเท่านั้น

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชาบำเพ็ญเพียร จนได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณแล้ว ตำแหน่งรัชทายาทของกรุงกบิลพัศดุ์จึงตกอยู่แก่เจ้าชายนันทกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะทรงหมายมั่นพระทัยว่า เมื่อเจ้าชายนันทะได้อภิเษกสมรสแล้วก็จะให้ครองราชย์สืบต่อจากพระองค์

ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติ ณ พระนครกบิลพัสดุ์ และในวันที่ ๔ แห่งการเสด็จโปรดพระประยูรญาตินั้น พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในนิวาสสถานแห่งนันทกุมาร เนื่องในงานอาวาหมงคลอภิเษกสมรส (แต่งงาน) ระหว่างนันทกุมารกับพระนางชนบทกัลยาณีซึ่งเป็นพระองค์หญิงที่มีความงดงามมาก

ครั้นเสร็จภัตกิจแล้ว พระพุทธองค์ได้ประทานบาตรส่งให้นันทกุมารถือไว้ ตรัสมงคลกถาแก่พระประยูรญาติในสมาคมนั้นโดยสมควรแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จลงจากนิวาสสถานโดยมิได้รับบาตรคืนจากนันทกุมาร ส่วนเจ้าชายนันทกุมารเองก็ไม่กล้ากราบทูลเตือนให้ทรงรับบาตรคืน ด้วยความเคารพในพระเชษฐาเป็นอย่างยิ่ง ได้แต่ถือบาตรตามเสด็จลงมาโดยมิได้ตรัสอะไร ทรงนึกอยู่ในใจว่าพระองค์คงจะรับบาตรคืนเมื่อถึงพื้นล่าง เมื่อพระองค์ไม่ทรงรับบาตร จึงดำริต่อไปว่าเมื่อเสร็จถึงประตูพระราชวังก็คงจะทรงรับ ครั้นเห็นว่าไม่ทรงรับก็ถือบาตรตามเสด็จไปเรื่อย แล้วก็ดำริอยู่ในใจว่า ถึงตรงนั้นก็คงจะทรงรับ ถึงตรงนี้ก็คงจะทรงรับ แต่พระพุทธองค์ก็มิทรงรับบาตรคืนเลย

ส่วนนางชนบทกัลยาณีเมื่อได้ทราบจากนางสนมว่า พระผู้มีพระภาค ทรงพานันทกุมารไปด้วยก็ตกพระทัย รีบไปเปิดพระแกล (หน้าต่าง) แล้วร้องทูลสั่งว่า:- “ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระองค์รีบเสด็จกลับมาหาหม่อมฉันนะเพคะ”

นันทราชกุมารได้สดับเสียงของนางแล้วประหนึ่งว่า เสียงนั้นเข้าไปวิ่งวนอยู่ในพระหฤทัย ให้รู้สึกปั่นป่วนอยากจะหวนกลับ แต่ก็กลับไม่ได้ ด้วยมีความเคารพในพระบรมศาสดาเป็นอย่างมาก ต้องทนฝืนพระทัยถือบาตรตามเสด็จจนถึงนิโครธาราม เมื่อเสด็จถึงพระคันธกุฏี พระผู้มีพระภาค ทรงรับบาตรคืนแล้วตรัสแก่นันทกุมารว่า “นันทะ เธออยากบวชไหม” เจ้าชายนันทะถูกถามอย่างไม่ทันตั้งตัวเพราะจิตใจเหม่อลอยคิดถึงแต่ใบหน้าของพระนางชนบทกัลยาณี แต่ด้วยความเกรงพระทัยในพระเชษฐาเป็นอย่างยิ่งเลยตอบไปว่า “จักบวชพระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้าจึงทรงให้พระนันทะบวชในวันนั้นเลย

พระนันทะนับตั้งแต่บวชแล้ว ในดวงจิตคิดคำนึงถึงแต่นางชนบทกัลยาณีเจ้าสาวของตนที่เพิ่งจะแต่งงานกัน แล้วก็ต้องจำพรากจากกันด้วยความเคารพในพระศาสดา ไม่มีแก่ใจที่จะประพฤติพรตพรหมจรรย์ มีแต่ความกระสันที่จะลาสิกขาอยู่ตลอดเวลา ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรก็ได้แต่เล่าความในใจนั้นให้เพื่อนสหธรรมมิกด้วยกันฟัง

พระบรมศาสดาทรงทราบความจึงทรงพาพระนันทะเที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้พระนันทะได้เห็นสตรีที่มีรูปร่างต่าง ๆ กัน ตั้งต้นแต่ให้เห็นสิ่งที่อัปลักษณ์ที่สุด โดยให้ได้เห็นนางลิงแก่ที่หูแหว่ง จมูกโหว่ และหางขาด นั่งอยู่บนตอไม้ที่ไฟไหม้ดำเป็นตอตะโก จนกระทั่งพาขึ้นไปบนสวรรค์ให้ได้เห็นนางฟ้าเทพอัปสรบนสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ที่สวยโสภายิ่งนักจนหาที่สุดมิได้ ทำให้เกิดความกระสันอยากได้นางฟ้าหล่านั้นมาเป็นคู่ครอง พระบรมศาสดาทรงทราบวาระจิตของท่านจึงตรัสถามว่า “นันทะ เธอมีความเห็นอย่างไร ระหว่างนางฟ้าเหล่านี้ กับนางชนบทกัลยาณี เจ้าสาวของเธอ ?”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นว่า นางชนบทกัลยาณีนั้นเปรียบเสมือนนางลิงแก่ที่นั่งอยู่บนตอไม้ จะนำมาเปรียบเทียบกับนางฟ้าเหล่านี้มิได้เลย พระเจ้าข้า”

พระบรมศาสดาทรงให้สัญญาว่า ถ้าเธอตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์จนสำเร็จแล้ว พระองค์จะประทานนางฟ้าสวยๆ เหล่านั้นให้ตามต้องการ นับตั้งแต่นั้นมาพระนันทะก็ตั้งอกตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อหวังจะได้นางฟ้าเทพอัปสรตามที่พระบรมศาสดาทรงรับรองไว้ เพื่อนภิกษุทั้งหลายทราบความแล้ว ต่างก็พากันพูดจาเยาะเย้ยว่า “พระนันทะ บวชเพราะรับจ้างบ้าง พระนันทะประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อหวังจะได้นางเทพอัปสรบ้าง” จนทำให้พระนันทะเกิดความละอายใจไม่กล้าเข้าสมาคมกับเพื่อนพระภิกษุด้วยกันและเกิดความคิดขึ้นว่า:

“ความรักไม่มีที่สิ้นสุด ความรักทำให้เกิดความทุกข์ และความเศร้าโศกเสียใจไม่มีที่สิ้นสุด”….
“อนึ่ง สตรีที่มีความงามก็ไม่มีที่สิ้นสุด คนใหม่ย่อมดูงามกว่าคนเก่า คนนั้นก็ดูสวยดี แต่คนนี้ก็งามกว่า จึงเป็นสิ่งที่หาที่สุดมิได้”

ท่านจึงตัดสินใจปลีกตัวออกจากหมู่ภิกษุตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์อุตสาหะเจริญสมาธิกรรมฐาน ตั้งจิตไว้โดยไม่ประมาท ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระขีณาสพในพระพุทธศาสนา จากนั้นท่านได้กลับมากราบทูลพระบรมศาสดาให้ทรงทราบว่า:-

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กิจอันใดที่พระองค์ทรงพระมหากรุณาจะช่วยสงเคราะห์ให้ได้นางฟ้านั้น กิจอันนั้นข้าพระองค์ปลดเปลื้องจนหมดสิ้นสมประสงค์แล้ว พระเจ้าข้า”

พระบรมศาสดาตรัสอนุโมทนาและตรัสธรรมกถาว่า:-

“อันเปลือกตมคือกามคุณ และเสี้ยนหนามคือกองกิเลส อันบุคคลใดกำจัดทำลายได้แล้ว บุคคลนั้นชื่อว่ามีใจไม่หวั่นไหวในสุขและทุกข์ทั้งปวง”

อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนภิกษุถามท่านว่า “เมื่อก่อนนี้ท่านพูดว่ามีจิตปรารถนาจะสึก มาบัดนี้ท่านยังปรารถนาอย่างนั้นอยู่หรือไม่ ?”
ท่านตอบว่า “ไม่มีความปรารถนาอย่านั้นอยู่อีกแล้ว”
ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียนเพราะไม่เชื่อคำของพระนันทะ จึงไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “พระนันทะพูดไม่เป็นความจริง พระเจ้าข้า”

พระบรมศาสดา ตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า:- “ภิกษุทั้งหลายเมื่อก่อนนี้ อัตภาพของพระนันทะเปรียบเสมือนเรือนที่มุงหลังคาไม่ดี ฝนตกลงมาย่อมรั่วรดได้ แต่บัดนี้เธอได้สำเร็จกิจแห่งบรรพชิตแล้ว จึงเปรียบเสมือนเรือนที่มุงหลังคาดีแล้ว ฝนตกลงมาย่อมไม่อาจรั่วรดได้ฉันใด จิตที่บุคคลเจริญสมาธิภาวนาดีแล้ว กิเลสราคะทั้งหลายย่อมย่ำยีไม่ได้ ฉันนั้น”

พระนันทเถระเมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ปรากฏว่าท่านเป็นผู้สำรวมระวังอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ มิให้ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจระวังไม่ให้กิเลสครอบงำใจในเวลารับรู้อารมณ์ทางอินทรีย์ทั้ง ๖ มิให้ตกอยู่ในอำนาจโลกธรรม ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้สำรวมอินทรีย์

ท่านพระนันทเถระดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระพุทธศาสนาอยู่พอสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน

แชร์เลย

Comments

comments

Share: