พึ่งตนพึ่งธรรม นำให้สุขสันต์

เจริญพร ญาติโยมสาธุชนผู้ฟังทุกท่าน

วันนี้อาตมภาพจะได้กล่าวถึงเรื่อง“พึ่งตนพึ่งธรรมนำให้สุขสันต์”สมตามพระพุทธดำรัสตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ณ มาตุลนคร แคว้นมคธ ปรากฏในจักกวัตติสูตร (ที. ปาฏิ. 11/33/62) ว่า

“อตฺตทีปา ภิกฺขเว วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา  ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อนญฺญสรณา.”
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง  
อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง  จงมีธรรมเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง  อยู่เถิด”

พระพุทธดำรัสนี้ตรัสสอนพระภิกษุทั้งหลายให้อาศัย “ตนโลกิยะ” คือ ตัวตนของเราเองที่ยังอยู่ในวิสัยของชาวโลกนี้ ประพฤติปฏิบัติธรรม เจริญภาวนาธรรม มีสติพิจารณาเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนาเห็นจิตในจิตและเห็นธรรมในธรรมเพื่อความเข้าถึงมรรคผลนิพพานอันเป็น “ตนโลกุตตระ”คือเป็นคุณธรรมที่พ้นวิสัยโลก เป็นแดนเกษม คือที่ปลอดภัยจากกิเลสมาร เป็นที่สิ้นสุดแห่งทุกข์และเป็นบรมสุขอันถาวร ตามรอยบาทพระพุทธบิดา คือ พระพุทธองค์ นี้เป็นเนื้อความโดยย่อของการพึ่งตนพึ่งธรรมนำให้สุขสันต์ ตามพระพุทธดำรัสนี้ เป็นธรรมปฏิบัติให้ถึงมรรคผลนิพพาน อันเป็นบรมสุขอย่างถาวร

แต่ในวันนี้ อาตมภาพจักขออาศัยพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้ มาชี้แจงแสดงแนวทางในการดำเนินชีวิตโดยธรรม ในระดับโลกิยธรรมอันจะนำไปสู่ความพ้นทุกข์เดือดร้อน ให้ถึงความสุขสันต์หรือสันติสุข คือมีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมชาวโลกนี้ด้วยความสงบสุข ไม่ต้องเป็นทุกข์เดือดร้อนโกลาหลวุ่นวายมาก เหมือนอย่างชาวโลกส่วนใหญ่ที่เขากำลังเป็นกันอยู่ในทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยามที่เศรษฐกิจอยู่ในสภาวะตกต่ำอยู่ในปัจจุบันนี้

ตามพระพุทธดำรัสที่ได้ยกมาแสดงไว้ในเบื้องต้นนี้ มีข้อที่พึงจดจำนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตตนให้พ้นจากปัญหาการดำเนินชีวิตและอุปสรรคการทำมาหาเลี้ยงชีพ  ให้พ้นจากความทุกข์เดือดร้อนประการต่างๆ ได้มาก  และให้กลับเป็นความสุขด้วยความสงบได้จริง หากยังไม่มีปัญหาความทุกข์เดือดร้อน และยังมีฐานะทางสังคมและทางเศรษฐกิจดีอยู่ ก็นำไปใช้ดำเนินชีวิตตนให้เจริญรุ่งเรืองและสันติสุขอย่างมั่นคง และให้มีความเจริญสันติสุขยิ่งๆ ขึ้นไปได้ เป็นอย่างดี ดังต่อไปนี้

ประการแรก  ต้องทำตนเป็นที่พึ่งแก่ตน
ประการที่สอง  ต้องประพฤติปฏิบัติธรรม คือ ต้องเป็นผู้มีศีลมีธรรม

รวมเป็นพึ่งตนพึ่งธรรม จึงจะเอาตัวรอดได้ทุกสถานการณ์

ถ้าประพฤติปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ 2 ประการนี้ ย่อมถึงความเจริญและสันติสุขในชีวิตได้ และหากจะต้องประสบปัญหาชีวิตหรือในการทำกิจการงานหรือประสบความทุกข์เดือดร้อนจากสภาวะการเศรษฐกิจบีบคั้นบ้าง ก็พอแก้ไขให้คลี่คลาย กลับร้ายกลายเป็นดีได้ ไม่ช้าก็เร็ว ขอให้มั่นคงอยู่ในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า (ขุ. ธ. 25/22/36) ที่ว่า

อตฺตา หิ  อตฺตาโน นาโถ    โก หิ นาโถ  ปโร  สิยา.
ตนนั่นแหละ เป็นที่พึ่งของตน      คนอื่นใคร่เล่า จะเป็นที่พึ่งได้.

ดังนี้แล้ว ก็เป็นอันเอาตัวรอดได้ด้วยดีเสมอ ไม่นานเกินรอ

หมายความว่า บุคคลเมื่อมุ่งหวัง ความสำเร็จ ความเจริญรุ่งเรืองและความสันติสุขในชีวิต ก็จะต้องประกอบกิจการงาน ก่อร่างสร้างฐานะของตน ด้วยความรู้ สติปัญญา ความสามารถและคุณธรรมของตนเองเป็นสำคัญ จึงจะถึงความสำเร็จและถึงความเจริญสันติสุขอย่างมั่นคงได้ ผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นพ่อ-แม่ ญาติพี่น้อง มิตรสหาย ก็ช่วยเราได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ที่จะให้ถึงความสำเร็จและความเจริญสันติสุขอย่างมั่นคงและยิ่งๆ ขึ้นไปนั้น ต้องตัวเราเองเป็นผู้ทำ หรือเป็นผู้บริหาร หรือเป็นผู้ควบคุมการบริหารเอง ผู้อื่นเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือสนับสนุน ช่วยอุปถัมภ์ค้ำจุนหรือค้ำชูเราไว้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะเหตุนั้น ชนผู้เจริญแล้วจึงสอนลูกสอนหลาน ฝึกฝนอบรมให้รู้จักพึ่งตนเองตั้งแต่เล็กแต่น้อย เมื่อเติบใหญ่จะได้เป็นผู้มีอัธยาศัย “รู้จักพึ่งตนเอง” ก่อร่างสร้างฐานะของตนด้วยตนเองเป็นสำคัญ บุคคลเหล่านี้จึงถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขได้อย่างมั่นคง

ดังตัวอย่างกรณีเยาวชน หรือ เด็กในวัยศึกษาเล่าเรียน ก็จะต้องมีจิตสำนึกว่า “จะต้องกระทำตนให้เป็นที่พึ่งแห่งตนโดยธรรมให้ได้”เพราะว่า เมื่อตนต้องการจะเป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีที่เจริญและสันติสุขอย่างมั่นคงได้ ตนก็จะต้องสนใจและตั้งใจศึกษาเล่าเรียน พากเพียรหาความรู้เพิ่มพูนสติปัญญาความสามารถ ให้เข้มแข็ง และเพิ่มพูนคุณธรรมให้สูง เป็นคนดีมีศีลมีธรรม ให้เป็นบุคคลที่น่านับถือ น่าเชื่อเถือ และไว้วางใจได้ เมื่อได้กระทำตน อบรมตน ให้เป็นที่พึ่งแห่งตนโดยธรรมอย่างนี้ แม้เด็กหรือเยาวชนที่พ่อ-แม่มีฐานะไม่สูงส่งนัก ก็สามารถจะสร้างตัวสร้างฐานะทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมให้เจริญรุ่งเรืองและสันติสุขยิ่งๆขึ้นไปได้ ส่วนเด็กหรือเยาวชนที่พ่อ-แม่มีฐานะดีอยู่แล้ว ก็ยิ่งสามารถจะดำรงฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมและดำรงวงศ์สกุลของพ่อ-แม่ให้เจริญและมั่นคงยิ่งๆ ขึ้นไปได้ อย่างสง่างาม

แต่ถ้าเด็กๆ หรือเยาวชนใด ไม่ได้คิดหรือคิดไม่ได้อย่างนี้ คือไม่เห็นความสำคัญของการทำตนให้เป็นที่พึ่งแห่งตน จึงไม่ใส่ใจในการศึกษาเล่าเรียน เกียจคร้านในการศึกษาหาความรู้ เป็นคนสำรวย หยิบโหย่ง จับจด ชอบคบหมู่สู่เพื่อนเสเพล ที่ชักนำกันไปในทางเสื่อม หรือกิจกรรมที่ไร้แก่นสารสาระ  หลงมัวเมาอยู่แต่กับอบายมุขอันเป็นปากทางแห่งความฉิบหาย เช่น ติดเที่ยวทั้งกลางวันและ/หรือทั้งกลางคืน เสพและติดสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษ อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท หมกมุ่นอยู่แต่กับสั่งบันเทิงเริงรมย์ และกิเลสกาม กว่าจะรู้ตัวก็สาย เพราะจมลงในอบายมุขจนถอนตัวไม่ขึ้นเสียแล้ว การเรียนก็เสียพ่อ-แม่ที่มีฐานะดีหน่อยก็ยักย้ายถ่ายเทลูกไปเข้าโรงเรียนหรือวิทยาลัยเอกชน ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงๆหวังจะให้ลูกได้เรียนสำเร็จจากสถาบันการศึกษาที่ดีที่มีชื่อเสียงกะเขาบ้าง ลงท้ายก็เหลวอีก เพราะพื้นฐานการศึกษาและความประพฤติแต่เดิมที่ไม่ดี ไม่เอื้ออำนวยให้สามารถเรียนสำเร็จชั้นสูงๆ ต่อไปได้ ลงท้ายก็เอาตัวไม่รอด คือเรียนชั้นสูงๆ ไม่สำเร็จ เมื่อมีความรู้น้อย ก็ขาดสติปัญญาความสามารถ เพราะขาดคุณธรรมที่จะทำตนให้เป็นที่พึ่งแห่งตน จึงไม่มีตนที่มีคุณภาพเป็นที่พึ่ง คือพึ่งตนเองไม่ได้ ก็ต้องเดือดร้อนพ่อ-แม่ ญาติพี่น้องอีก ตนเองก็มีปมด้อยเพราะเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน ที่เขารู้จักทำตนให้เป็นที่พึ่งแห่งตนโดยธรรม เขาก็ได้ล้ำหน้าตนไปแล้ว

เยาวชนใด แม้จะได้ดำเนินชีวิตผิดพลาดไปแล้วอย่างนี้ ก็ให้ถืออดีตเป็นบทเรียน จงอย่าท้อถอย ยังมีโอกาสแก้ตัวได้ ยังไม่สาย เพราะฉะนั้น เยาวชนใดที่ได้พลาดหวังในชีวิตหรือในการศึกษาเล่าเรียน ก็อย่าไปมัวเสียใจให้กับอดีตที่เสียไปและผ่านไปแล้ว จงตั้งสติให้ดี เมื่อได้ฟังปาฐกถาธรรมนี้แล้วก็จงตั้งสติให้ดี จงพิจารณาเห็นความบกพร่องของตัวและยอมรับความบกพร่องนั้นเสีย แล้วตั้งใจเลิกละความประพฤติเหลวไหลไร้สาระเสีย  กลับตัวกลับใจเริ่มตั้งต้นชีวิตใหม่  โดยพิจารณาหาวิธีแก้ตัวให้ดี  ประพฤติปฏิบัติตนให้ดีใหม่  ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนใหม่  อย่าท้อถอย อย่างเช่นผู้ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ตามปรารถนา เพราะตัวเองไม่พร้อม  หรือเพราะมิได้ทำพื้นฐานการศึกษาของตนให้ดีไว้ตั้งแต่ต้น ความรู้ของเราจึงไม่พอที่จะแข่งขันกับคนอื่นที่เขามีพื้นฐานแข็งแกร่งกว่าเราได้  ก็ตั้งใจใหม่ กวดขันการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมให้เข้มแข็ง ด้วยความเพียรและอดทน ก็ย่อมจะสามารถสอบเข้าได้ตามประสงค์เข้าสักวันหนึ่ง ไม่นานเกินรอ นี้เป็นวิธีที่ 1    อีกวิธีหนึ่ง ก็คือ อย่าไปอาลัยอาวรณ์เอากับสถาบันการศึกษาที่ใครๆ นิยมว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่ดีเลิศ อันดับสูง แต่เพียงแห่งสองแห่งเท่านั้น เพราะผู้ที่ศึกษาสำเร็จจากสถาบันเช่นนั้น ก็ใช่ว่าจะเก่งเลอเลิศหมดทุกคนก็หาไม่ หรือผู้ที่ศึกษาสำเร็จจากสถาบันที่รองลงมา ก็ใช่ว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่ด้อยกว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันที่นิยมว่าเลอเลิศเช่นนั้นเสมอไป ก็หามิได้   สถานศึกษาและครูอาจารย์ให้ความรู้แก่เราได้เพียงส่วนเดียวหรือเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ส่วนสำคัญหรืออีกครึ่งหนึ่งนั้นเป็นส่วนความรู้ สติปัญญา ความสามารถและคุณธรรมที่เราต้องใฝ่หามาเพิ่มพูนเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเราตั้งใจทำตนให้เป็นที่พึ่งแห่งตนจริงๆ คือ พากเพียรศึกษาหาความรู้ให้จริงจัง ด้วยความขยันหมั่นเพียรและอดทนต่อความยากลำบาก เลิกละและงดเว้นกิจกรรมหรือการกระทำที่ไร้สาระ หมั่นใฝ่หาเพิ่มพูนสติปัญญา ความสามารถ และคุณธรรมให้เป็นคนดีมีศีลมีธรรมในจิตสันดาน ไม่ว่าจะกำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาใด ในไม่ช้าก็จะสามารถศึกษาสำเร็จทันเพื่อนๆ หรือแม้สามารถล้ำหน้าเพื่อนๆ ที่หลงประมาทอยู่ก็ได้ เพราะ “ความรู้นั้นสามารถเรียนทันกันได้หมด” เธอทั้งหลายจงจำคำนี้ไว้ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเราต้องเป็นคนทำอะไรทำจริง จะเรียนรู้อะไรก็ต้องเรียนให้รู้จริง อย่าเหลาะแหละเหลวไหล อย่ามุมานะขยันได้เพียงอึดเดียว แล้วก็กลับย่อหย่อน ขี้เกียจ หรือเหลวไหล เสเพลอีก อย่าเป็นคนจับจดทำๆ หยุดๆ เหมือนกิ้งก่า พอวิ่งไปได้หน่อยก็หยุด พยักหัวหงึกๆ อยู่ ไม่ไปต่ออีก ผู้เป็นเช่นกับกิ่งก่าย่อมจะเอาดีไม่ได้ แต่ถ้า“ทำจริงให้รู้จริง” อย่างต่อเนื่องแล้ว ย่อมถึงความสำเร็จได้ ไม่ต้องสงสัย เพราะ “สิ่งที่ดีจริงนั้น ย่อมมีอยู่แต่กับคนจริงเท่านั้น” เยาวชนทั้งหลายเธอจงสำเหนียกไว้ว่า “สิ่งที่ดีจริงนั้น ย่อมมีอยู่แต่กับคนจริงเท่านั้น” เพราะฉะนั้นจงอย่ามัวหลงดูหมิ่นสถานศึกษาที่กระแสนิยมว่าเป็นเพียงอันดับรอง สำคัญอยู่ที่ตัวเราเองต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งแห่งตนเอง จึงจะเอาตัวรอดได้ในทุกที่

แต่ถ้าดำเนินชีวิตผิดพลาดไปแล้วก็ยังไม่รู้สึกตัวและไม่ยอมรับในความบกพร่องผิดพลาดของตัว จึงไม่คิดที่จะกลับตัว กลับใจ กระทำการแก้ตัว ประพฤติปฏิบัติตนให้ดีขึ้นใหม่ คือไม่ตั้งใจที่จะทำตน ไม่สร้างฐานะของตนอย่างเข้มแข็ง จริงจัง ให้สามารถเป็นที่พึ่งของตนได้จริงแล้ว จะมีใครช่วยอุปถัมภ์ค้ำชูเราผู้ไม่เอาถ่าน ไม่เอาขี้เถ้าเช่นนั้นได้ตลอดไป ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัส (ขุ. ธ. 25/22/36) ว่า

โก หิ นาโถ  ปโร  สิยา.
ผู้อื่นใครเล่าจะช่วยเราได้.

“อตฺตนา หิ สุทนฺเตน   นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ.”
 บุคคลมีตนฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้ยาก.

นี่คือพระพุทธดำรัสตรัสสอนไว้ว่าไม่มีใครจะเป็นที่พึ่งแก่เราได้ตลอดไปเพราะฉะนั้น เราต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งแห่งตนโดยธรรม กล่าวคือเป็นเยาวชนหรือเด็กในวัยเรียนก็พึงพากเพียรศึกษาหาความรู้ หมั่นเพิ่มพูนสติปัญญาและความสามารถ เลิกละอบายมุขและความประพฤติเหลวไหลไร้สาระทั้งปวง และพัฒนาจิตใจตนให้เป็นคนดีมีศีลมีธรรม จึงจะได้ตนที่มีคุณภาพที่ดีไว้เป็นที่พึ่งแก่ตนได้ทุกเมื่อ

อนึ่งเฉพาะเรื่องกรณีปัญหาเยาวชนหรือเด็กในวัยเรียนนี้อาตมภาพมีความเห็นว่าสภาพครอบครัวพ่อ-แม่ และญาติพี่น้องก็มีส่วนสำคัญต่อพฤติกรรมของลูกหลานผู้เป็นเยาวชนหรือเด็กในวัยเรียนนี้อย่างมาก จึงใคร่จะเจริญพรให้ญาติโยมผู้เป็นพ่อ-แม่ หรือผู้ปกครองว่า ได้เคยพิจารณาเห็นบ้างไหมว่า “เด็กเสียนิสัยก็เพราะพ่อแม่ตามใจ หลงบำรุงบำเรอลูกหลานเสียจนเกินขอบเขต และ/หรือ เป็นเพราะเด็กขาดการเอาใจใส่ดูแลอบรมให้รู้จักช่วยตัวเอง ให้รู้จักทำตนให้เป็นที่พึ่งแห่งตนอย่างถูกวิธี ถ้าลูกหลานของท่านเสียไปเพราะเหตุเหล่านี้แล้วท่านจะโทษใคร ?    สำหรับปัญหาเยาวชนหรือเด็กในวัยเรียน ก็ขอฝากพ่อ-แม่ และ/หรือผู้ปกครอง ไว้เพียงเท่านี้ก่อน

เฉพาะกรณีของผู้ใหญ่ในวันทำงาน ถ้ารู้จักพึ่งตนพึ่งธรรม โดยทำตนให้เป็นที่พึ่งแห่งตน คือให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตน และประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลในธรรม ย่อมสามารถจะสร้างตัว สร้างฐานะ กับทั้งสามารถจะรักษาฐานะที่ดีอยู่แล้วให้เจริญและมั่นคงได้ หรือสามารถจะกอบกู้ฐานะที่กำลังตกต่ำให้กลับฟื้นตัวดีขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่สภาวะการทางเศรษฐกิจกำลังตกต่ำอยู่ในขณะนี้ ก็สามารถจะฟันฝ่าอุปสรรคให้ผ่านพ้นไปพอเอาตัวรอดได้

กรณีผู้ที่กำลังสร้างตัว สร้างฐานะ จนถึงระดับที่พอเริ่มตั้งตัวได้ หรือว่าตั้งตัวได้แล้ว วิธีพึ่งตนพึ่งธรรมนำให้สันติสุขนั้น คือ

ข้อ 1  จักต้องเป็นผู้ไม่ประมาทหลงมัวเมาในชีวิตไม่หลงติดอยู่กับอบายมุขต่างๆ ได้แก่ ความเป็นนักเลงสุรายาเสพติด อันเป็นเหตุให้เสียสุขภาพกาย สุขภาพจิต และทั้งสติปัญญาก็เสื่อมถอย จนค่อยๆ กลับกลายเป็นคนไร้สมรรถภาพ หรือไร้ความสามารถ จนไม่สามารถจะพึ่งตนเองได้ในที่สุด นี้อย่าง 1  ความเป็นนักเลงการพนัน 1  ติดเที่ยวกลางคืน 1  และ/หรือหมกมุ่นสำส่อนในกาม 1  อันเป็นเหตุให้เสียทรัพย์ เสียเวลาในการประกอบสัมมาอาชีวะ และเสื่อมเสียชื่อเสียง และการคบคนชั่วเป็นมิตรอันจะชักนำไปสู่ทางเสื่อมแห่งชีวิตได้ง่าย 1 เป็นต้น  เหล่านี้ล้วนเป็นปากทางแห่งความฉิบหายทั้งสิ้น  เพราะฉะนั้น จงอย่าประมาทหลงมัวเมาในชีวิต ถลำลงไปติดอยู่ในอบายมุขเป็นอันขาด

ข้อ 2 ต้องเป็นผู้ขยันหมั่นเพียรในการประกอบกิจการงานมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบ จัดการงานของตนให้เรียบร้อยอย่าเป็นคนชอบหมกงาน หรือผัดวันประกันพรุ่ง อย่าให้มีงานคั่งค้างนานเกินควร

ข้อ 3 การทำกิจการงานด้วยตนเองก็ดี  การปกครองการบริหารการพิจารณาวินิจฉัยตัดสินใจและการสั่งงานก็ดี  ต้องรอบคอบและประกอบด้วยสติปัญญาสอดส่อง  หากเห็นข้อบกพร่องต้องรีบแก้ไข ปรับปรุง และป้องกันปัญหาข้อบกพร่องให้ทันกาล

ข้อ 4 ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ความชำนาญในงานอาชีพของตนอยู่เสมออย่าให้ล้าหลังเขา และ

ข้อ 5  ต้องรู้จักคบคนดีมีศีลมีธรรมมีความรู้มีสติปัญญาสามารถและมีประสบการณ์ชีวิตมามาก  เพื่อจักได้ตัวอย่างการดำเนินชีวิตที่ดีและข้อแนะนำที่ดีๆ ของท่านมาใช้ประกอบการดำเนินชีวิตและการทำกิจการงานของตน เพื่อประกอบตน ทำตนให้เป็นที่พึ่งแห่งตนให้ได้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

ข้อ 6  อย่าทำกิจการเกินกำลังสติปัญญา ความรู้ ความสามารถ และทุนทรัพย์ที่ตนสามารถจะบริหารและควบคุมกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยตนเอง หรือโดยบุคคลที่ตนสามารถจะไว้วางใจได้จริง คือโดยบุคคลที่มีความรู้ มีสติปัญญาความสามารถที่จะรับบริหารกิจการแทนตนได้ดี และมีคุณธรรม กล่าวคือ เป็นผู้มีศีลมีธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความกตัญญูรู้คุณคน รู้จักหลักการบริหารการปกครองคนด้วยความถูกต้อง เหมาะสม บริสุทธิ์ และยุติธรรม แปลว่า ต้องเลือกใช้คนผู้ทำงานแทนตนให้ได้คุณภาพดีมีสมรรถภาพสูง และให้สามารถไว้วางใจได้ เมื่อจะเพิ่มหรือขยายกิจการต้องได้ศึกษาหาข้อมูลประกอบการพิจารณาลู่ทางกิจการงานนั้นให้รอบคอบดีเสียก่อน แล้วจึงค่อยทำ อย่าสักแต่ว่า “เห็นช้างถ่ายมูล แก่เบ่งถ่ายมูลตามช้าง” ทวารก็พังเท่านั้นละซิ ! ค่อยๆ เจริญแต่มั่นคง แม้จะไม่หรูหราโอ่อ่าใหญ่โต ก็สบายใจดีกว่า ถึงจะพลาดพลั้งหรือมีอุปสรรค ก็ไม่ลำบากมากเกินไป พอแก้ไขได้ง่ายกว่าทำกิจการใหญ่โตเกินตัว แล้วพอเกิดพลาดพลั้งก็เสียหายมาก และเจ็บช้ำมาก

ข้อ 7 อย่าทำกิจการงานที่มีอัตราความเสี่ยงสูงด้วยความโลภจัดหรือหลงตามกระแส เช่นการเล่นแชร์ การเล่นหุ้น  และแม้การเล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ  หรือโดยที่ตนไม่มีสติปัญญาความสามารถ และไม่มีประสบการณ์ดีเพียงพอ  ผู้ที่ชอบทำกิจการงานที่มีอัตราเสี่ยงสูงอย่างนั้น ก็เห็นล้มเหลวและฉิบหายหมดเนื้อหมดตัวมานักต่อนักแล้ว

ข้อ 8  อย่าใช้จ่ายเกินตัว อย่าหลงระเริงใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย อวดโก้ อวดหรูหรา จนเกินฐานะ จะพาตัวให้เดือดร้อน ให้รู้จักประหยัดและอดออม เพื่อสร้างฐานะของตนให้เจริญและมั่นคงก่อน

ข้อ 9  อย่าประกอบกิจการงานที่เป็นโทษหรือที่ทุจริต คิดมิชอบ อย่าประมาทหลงตัวหลงตน เมายศเมาอำนาจขาดศีลขาดธรรมอันจะนำไปสู่ความเสื่อมเป็นโทษ และถึงความทุกข์เดือดร้อนได้ง่ายดายที่สุดจงประกอบทานกุศลศีลกุศลภาวนากุศลอย่าให้ขาด บุญนั้นแหละจะได้เป็นเสบียงเลี้ยงตัวรักษาตัวมิให้ตกต่ำได้อย่างแท้จริงแน่นอนที่สุด  ดังบาลีพระพุทธภาษิต (ขุ.ชา.ทสก. 27/1420/290) ว่า

“ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ”
ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

 ถ้าผู้ที่กำลังสร้างตัว สร้างฐานะ ถึงเริ่มตั้งตัวได้ และตั้งตัวได้ดีแล้ว ปฏิบัติตน กระทำตนให้เป็นที่พึ่งแห่งตนได้อย่างนี้ ย่อมมีตนเป็นที่พึ่งแห่งตนได้ ชื่อว่า “พึ่งตนพึ่งธรรม นำไปสู่ความเจริญและสันติสุข” ได้จริง ไม่มีเสื่อมเลย  สมดังพระพุทธดำรัสที่ตรัส (ขุ. ธ. มหา. 28/969/339)  ว่า

 อุฏฺฐาตา กมฺมเธยฺเยสุ อปฺปมตฺโต วิจกฺขโณ
 สุสํวิหิตกมฺมนฺโตส ราชวสตึ วเส.
ผู้หมั่นในการงาน  ไม่ประมาท  เป็นผู้รอบคอบ  จัดการงานเรียบร้อย จึงควรอยู่ในราชการ.

ส่วนผู้ที่อยู่ระหว่างการทำงานสร้างตัว สร้างฐานะ แต่กลับล้มเหลว หรือว่า เริ่มสร้างฐานะได้พอสมควร หรือได้ดีแล้ว แต่กลับเสื่อมทรุดลง หากใช้หลัก“พึ่งตนพึ่งธรรม”ก็จะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคให้กลับฟื้นตัวกลับเจริญขึ้นและมั่นคงขึ้นได้  ข้อที่ควรปฏิบัติมีดังต่อไปนี้

ข้อ 1  จงตั้งสติพิจารณาดูพฤติกรรมของตน ย้อนหลังไปในอดีต สาวหาเหตุปัจจัยที่เป็นเหตุให้การดำเนินชีวิตการประกอบอาชีพเพื่อสร้างตัวสร้างฐานะไม่สำเร็จ ต้องล้มเหลว หรือกลับเสื่อมทรุดลง ว่าตนเองได้ปฏิบัติบกพร่องผิดพลาดอย่างไรบ้าง และว่ามีเหตุปัจจัยอะไรจากภายนอกมากระทบกระเทือนให้กิจการงานของตนต้องมีอุปสรรค หรือให้เกิดความเสียหายบ้าง  ให้พิจารณาเหตุปัจจัยภายในตนเองอย่างเที่ยงธรรม โดยไม่คิดยกเว้นให้กับความชั่ว ไม่คิดข้อแก่ตัวให้กับความผิดพลาดของตน   ถ้าพบว่าตนเองประพฤติปฏิบัติหรือทำกิจการงานบกพร่องผิดพลาดประการใดแล้ว  ก็จงยอมรับข้อผิดพลาดของตน  และจงใช้อดีตที่เคยบกพร่องผิดพลาดมาแล้วนั้นเป็นครู  เป็นบทเรียนว่าทีหลังอย่าทำ ต่อแต่นี้ไปจะไม่ยอมให้เกิดความบกพร่องผิดพลาดเช่นนี้อีก เช่นว่า

ที่เคยใช้ชีวิตหรูหรา ฟุ่มเฟือยจนเกินฐานะ ใช้เงินทองข้าวของอย่างราชา แต่สติปัญญาหาเลี้ยงชีพอย่างกระยาจก  ลงท้ายต้องกู้หนี้ยืมสินเขามาใช้  ต้องหาเงินมาใช้หนี้เขา ทั้งเงินต้นและทั้งดอกเบี้ย  ก็ต้องพบกับความทุกข์หนักยิ่งขึ้น อย่างนี้ก็จงเลิกละเสีย  หรือ

ที่ติดอบายมุข เช่น เป็นนักเลงสุรายาเสพติด เป็นนักเลงผู้หญิงหรือผู้หญิงเป็นนักเลงผู้ชาย หมกมุ่นสำส่อนในกาม เป็นนักเลงการพนัน เกียจคร้านในกิจการงาน เอาแต่สำรวย เสเพล หยิบโหย่ง จับจด ทำกิจการงานอะไรๆ ก็ไม่จริงไม่จัง ชอบคบคนชั่วเป็นมิตร เหล่านี้เป็นต้น ก็จงเลิกละเสีย

ข้อ 2 จงถือเป็นนโยบายในการดำเนินชีวิตของตนตามพระราชดำรัส ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงคุณอันประเสริฐของเรา ได้พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ปีที่แล้วว่า

“มาใหม่ๆ นี้ โครงการต่างๆ ก็เกิดขึ้น โรงงานก็เกิดขึ้นมาก จนกระทั่งคนเขานึกว่าประเทศไทยเป็นเสือตัวเล็กๆ และเป็นเสือตัวโตขึ้น เราไปเห่อว่าจะเป็นเสือ

ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่าการจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกินและมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกินแบบพอมีพอกินหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตัวเอง

อันนี้เคยบอกว่า ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า  ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัวจะต้องทอผ้าใส่ให้ตัวเองสำหรับครอบครัว อย่างนั้นมันเกินไป  แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้   แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก”

และได้ตรัสอีกว่า

“พูดกลับไปกลับมาในเรื่องการค้า  การบริโภค การผลิต และการขายรู้ว่าท่านทั้งหลายกำลังกลุ้มใจในวิกฤตการณ์ ตั้งแต่คนที่มีเงินน้อยจนกระทั่งคนที่มีเงินมาก แต่ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้จะไม่ถึงครึ่ง อาจจะเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะสามารถที่จะอยู่ได้ การแก้ไขจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่ายๆ โดยมากคนก็ใจร้อนเพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ก็จะสามารถที่จะแก้ไขได้ ที่จริงในที่นี้ก็มีนักเศรษฐกิจต่างๆ ก็ควรจะเข้าใจที่พูด”

พระราชดำรัส เป็นที่ชัดเจนแจ่มแจ้งดีแล้ว  ท่านทั้งหลายพึงถือเป็นนโยบายเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตของตน ฟันฝ่าอุปสรรคทั้งปวงก็จะสามารถพลิกฟื้นกลับคืนสู่ฐานะที่ดี ที่เจริญ และมั่นคงได้ ในสมัยสงครามอินโดจีน อาตมายังเป็นนักเรียนชั้นประถมอยู่   ยังพอจำเหตุการณ์ได้ว่า รัฐบาลมีนโยบายประหยัดและส่งเสริมการทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ภายในครอบครัวให้พอมีอยู่มีกิน  อาตมาเมื่อสมัยยังเป็นเด็กนักเรียนยังได้ช่วยโยมพ่อโยมแม่ทำสวนครัว ปลูกผัก มีทั้งผักกาด ถั่วฝักยาว ปลูกต้นหอม กระเทียม ปลูกตะไคร้ ขิ่ง ข่า ยี่หร่า ผักชี มะกรูด มะนาว เยอะแยะ และแถมยังเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ได้กินไข่อีกด้วย ช่วยทุ่นค่าใช้จ่ายในการกินอยู่มากโข  เรียกว่าแทบจะพอเพียงเลยทีเดียวล่ะ ! บางรายที่มีพื้นที่เพาะปลูกได้มากพอ  ขวนขวายหาวิชาความรู้เพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารบางอย่าง เช่น เพาะเห็ด เพาะถั่วงอก ได้มาก เหลือกินเหลือใช้ ก็ยังส่งขายในตลาดได้อีก โดยสมาชิกในครัวเรือนพอมีเวลาว่างก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนช่วยกันทำเป็นอาชีพเสริมได้เป็นอย่างดี ขอแต่ให้มีความอุตสาหะขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน ไม่สำรวยหยิบโหย่ง ก็จะสามารถช่วยเศรษฐกิจภายในครัวเรือนได้มาก ดีกว่าไปมัวเสียเวลาสรวลเสเฮฮาไม่ได้เรื่องไม่ได้สาระอะไร มากมายนัก

ข้อ 3 เมื่อมีโอกาสจงอย่าลืมเข้าหาพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิ ณ สำนักปฏิบัติธรรม เพื่อขอรับการให้การศึกษาอบรมกาย วาจา และใจ ให้สงบและบริสุทธิ์แจ่มใส ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ให้มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ให้ได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญกุศล มีทานกุศล ศีลกุศล และภาวนากุศล เป็นต้น ได้พัฒนาจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสด้วยบุญกุศล คือคุณความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นการ “สร้างพระในใจตน” แล้วท่านจะได้ที่พึ่งอันประเสริฐ  ช่วยยกฐานะทั้งทางจิตใจให้เป็นผู้มีคุณธรรมสูง ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมด้วยพร้อมๆ กันไปในตัวเสร็จแล้วท่านจะพบกับแสงสว่างแห่งชีวิตที่นำไปสู่ความเจริญและสันติสุข ที่เจริญและมั่นคงยิ่งๆ ขึ้นไปได้ อย่างแน่นอน สมดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสว่า

“เธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง  
จงมีธรรมเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง  อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง  อยู่เถิด”

นี้แหละคือ วิธี “พึ่งตน พึ่งธรรม นำให้สุขสันต์” ได้แน่นอนที่สุด

ผู้สนใจเข้าศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ให้ถึงความสันติสุขและร่มเย็น ก็ขอเชิญไปเข้ารับการอบรมธรรมปฏิบัติได้ที่ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ทุกวันหลังทำวัตรเช้า-เย็น และทุกวันอาทิตย์  เริ่มเวลา 09.30 น. และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่นในวันอาสาฬหบูชาปีนี้ ตรงกับวันที่ 8 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้  เริ่มกิจกรรมเวลา 09.30 น. และมีพิธีเวียนเทียนบูชาพระรัตนตรัย เริ่มเวลา 14.00 น. เป็นต้นไป   ขอเชิญสาธุชนเข้าร่วมบำเพ็ญกุศล ตามวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าวได้

ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้ฟังทุกท่าน   เจริญพร.


พระภาวนาวิสุทธิคุณ (เสริมชัย ชยมงฺคโล) ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันที่ 21 มิถุนายน 2541

แชร์เลย

Comments

comments

Share: