มหาสุรเสนชาดก

ปตฺตํ ทตฺวาน เย ธีราติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต อฏฺปริกฺขารทานํ อารพฺภ กเถสิ.

พระบรมศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันวิหาร ทรงปรารภการถวายอัฏฐบริขาร จึงตรัสพระพุทธพจน์ว่า ปตฺตํ ทตฺวาน เย ธีรา ดังนี้ เป็นอาทิ ฯ

ดังได้สดับมา ในพระนครสาวัตถี พระภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้เฉลียวฉลาดมาก ครั้นบวชในพระศาสนาของพระโกนาคมน์พุทธเจ้าแล้วลาภสักการฟุ่มเฟือยและเจริญด้วยยศศักดิ์ มีบริวารมากมาย เป็นผู้ทรงจำพระไตรปิฎก พรรคพวกมีอเนก คล้ายจะไม่รู้จักพวกศิษยานุศิษย์ได้ทั่วถึง ตั้งใจว่าจักบูชาพระพุทธรัตนะ พระธรรมรตนะ พระสังฆรตนะ จึงประกาศแก่พวกศิษยานุศิษย์ให้ทราบทั่วกันว่า เราจักถวายอัฏฐบริขารอาหารบิณฑบาต และน้ำปานะทุกชนิด แก่พระภิกษุประมาณพันรูป สามเณรประมาณพันรูป จักให้ทานเป็นผ้าผ่อนแก่พวกอัญญดิตถีย์ พวกคฤหัสถ์พวกเธอจงช่วยกันปลูกปะรำสำหรับเป็นโรงทาน ฯ พวกบริวารก็ช่วยกันทำเสร็จตามคำสั่ง ฯ ขณะนั้น พระพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะทรงเล็งเห็นท่าน ด้วยพระพุทธญาณอันดุจข่าย เข้าพระทัยว่า ภิกษุรูปนี้จักเป็นหน่อแห่งพระพุทธเจ้า จักอุดมด้วยโลกุตตรทรัพย์ ฯ พระภิกษุรูปนั้นให้ปลูกปะไรเสร็จแล้ว จึงนิมนต์พระสงฆ์มามอบปะรำพร้อมด้วยบริเวณ แล้วได้ถวายอัฏฐบริขารเป็นจำนวนมากถวายอยู่ตั้ง ๗ วัน อัฏฐบริขารจึงหมด เลยถวายไทยทานอย่างอื่นจนหมดอีก เสร็จแล้วไปอยู่ป่าเริ่มบำเพ็ญเตรสธุดงค์ พวกชาวป่าพากันมารับรองท่านเป็นจำนวนมาก ท่านเจริญวิปัสสนาอยู่ไม่นานเวลานัก ก็มรณภาพไปอุบัติในพรหมโลก ฯ พระพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมน์ จึงทรงดำริว่า เพราะพรรณนาคุณการถวายอัฏฐบริขารเธอจึงได้ความโสมนัสฉะนี้ แล้วตรัสว่าธรรมดาทานควรให้เพื่อประโยชน์แก่ยาจกที่มาขอ แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย ก็ได้บำเพ็ญมหาทานมา​จนศีรษะของตน ตรัสฉะนั้นแล้วทรงดุษณีภาพอยู่ ฯ อันพระภิกษุทั้งหลายทูลอาราธนา จึงได้ทรงนำอดีตนิทานมา ความว่า

—————————-

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งอดีตกาลพระนครพาราณสี พระเจ้ามหาสุรเสนะได้

เสด็จดำรงราชสมบัติ พระองค์มีพระอัครมเหสีพระนามว่าวิชุลตาเทวี ได้มีพระบรมราโชวาทกะมหาชนซึ่งมีอำมาตย์เป็นประมุขทั้งเวลาเช้าเวลาเย็น สำเนาความว่า พวกท่านจงอย่าประมาท จงพากันทำบุญรักษาศีลบำเพ็ญทาน แม้พระองค์เองรับสั่งให้ปลูกโรงทานเสร็จแล้ว ก็ได้ทรงบำเพ็ญทานเป็นจำนวนพระราชทรัพย์หลายแสนทุก ๆ วัน ถึงวัน ๑๔ คำ ๑๕ ค่ำ ทรงรักษาอุโบสถ ฯ

เช้าวันหนึ่งสรงสนานเสร็จแล้ว ทรงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เสด็จทรงช้างมหาบุณฑริกะไปยังโรงทาน แล้วได้ทรงบำเพ็ญทานแก่พวกยาจกด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง เสร็จแล้วทรงมอบพระภาระให้แก่อำมาตย์ ด้วยพระราชโองการว่า กาลต่อไปท่านทั้งหลายจงให้ทานโดยวิธีนี้ แล้วทรงมหาบุณฑริกะหัตถี เสด็จกลับยังพระราชฐาน ฯ อยู่มาวันหนึ่ง เวลาเช้ามืดเสด็จลุกขึ้นจากที่บรรทมแล้วประทับนั่งสมาธิ ทรงคะนึงถึงการบำเพ็ญทานของพระองค์ว่า ได้ทรงบำเพ็ญแต่พาหิรกทานอย่างเดียว เราหาปีติยินดีในทานนั้นไม่ ไฉนยาจกจะมาขออัชฌัตติกทานบ้างหนอ ถ้าพึงมาขอจักษุหฤทัยหรือสรีระบางส่วนกะเรา เรายินดีให้ทุกอย่าง ฯ

เมื่อทรงคำนึงอยู่นั้น พิภพของท้าวสักกะเปลี่ยนแปลงอาการร้อนขึ้น ฯ ท้าวสักกะจึงทรงรำพึงเหตุการณ์นั้น ก็ทรงเข้าพระทัยเลยทรงพระปราโมทย์ ถึงกะเปล่งอุทานว่า สาธุ มหาสุรเสนะ ผู้เป็นหน่อแห่งพระพุทธเจ้า ปรารถนาจะบำเพ็ญอัชฌิตติกทาน จักเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็นนาถะของโลก ในอนาคตกาลเป็นแน่ ฉะนี้แล้วจึงทรงพระดำริว่า แม้พระโพธิสัตว์ในกาลก่อนบริจาคไทยทานทั้ง ๕ ประเภทแล้ว ก็สามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้ เราจักพูนความปรารถนาเสียให้เต็ม ดำริฉะนี้แล้วเสด็จลงจากเทวโลก แปลงพระองค์เป็นมาณพคอขาดถือไม้ที่คร่ำเครอะเสด็จมายืนอยู่ ณ ที่อันมีระดับสูงกว่าพื้นธรรมดา แล้วได้แสดงพระองค์ปรากฏขึ้น ฯ พระมหาสัตว์เสด็จออกทรงเครื่อง อันพระราชบริพารและประชาราษฎร์แวดล้อม เสด็จขึ้นทรงช้างมหามงคล แล้วทรงไสช้างไปยังโรงทานเพื่อทรงบำเพ็ญทาน ฯ

​ท้าวสักกะทรงชูพระหัตถ์เบื้องขวา แสดงพระองค์ขึ้นที่ท่ามกลางมหาชน แล้วบันดาลเสียงให้ปรากฏว่าข้าแต่พระองค์ ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณา โปรดพระราชทานแก่ข้าพระพุทธเจ้า ฯ ข้าราชบริพารทุกเหล่า เห็นดังนั้นก็พากันเศร้าใจแปลบใจไปตามกัน ฯ แม้พระโพธิสัตว์เมื่อทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็ทรงพระคำนึงว่า นี่อะไรกันหนอ พลางตระหนักพระทัยว่า บุรุษนี้ชะรอยจะไม่ใช่มนุษย์ จักเป็นเทวดาก็เป็นได้ จึงทรงดำริต่อไปว่า ผู้นี้มาเพราะมุ่งการบริจาคของเรา ประสงค์จะเพิ่มพูนความปรารถนาของเราให้เต็ม ฉะนี้แล้วจึงตรัสปฐมคาถา ความว่า ท่านจะขอสิ่งใดก็ตามที่ท่านปรารถนาเถอะ เราจะบริจาคให้ท่านวันนี้ เราถึงความสำเร็จการบริจาคทานแล้ว จึงจักบำเพ็ญเสียให้บริบูรณ์ เราจักเป็นพระพุทธเจ้าผู้มีชัยต่อมาร จักข้ามภพน้อยภพใหญ่ในโลกนี้พร้อมด้วยเทวโลกในอนาคตกาลเป็นแน่ จักตัดรากแห่งสงสารเสียไม่ท่องเที่ยวต่อไป หวังพระโพธิญาณอยู่ด้วยจักพาสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามจากทุกข์ที่น่าหวั่นไปเสีย ฯ พระมหาสัตว์ครั้นตรัสฉะนี้แล้ว รับสั่งกะมหาสุปินะอำมาตย์ว่า ท่านมหาสุปินะ จงพาบุรุษผู้ไร้ศีรษะมายังพระราชมนเทียร ฯ อำมาตย์รับพระราชโองการแล้ว นำบุรุษนั้นมาเฝ้าพระราชา ฯ

ขณะนั้นพระราชาประทับอยู่ ณ สีหาสน์ รับสั่งหาพระปิโยรสพระนามว่าวรโชติกุมาร รับสั่งให้ประทับบนกองแก้วแล้วอภิเษก เสร็จแล้วรับสั่งหาพระราชเทวีมา รับสั่งว่า พระนางจงฟังคำสุภาษิตของฉันนี้ ซึ่งเป็นคำที่ก่อประโยชน์ จงเห็นการบำเพ็ญทานของฉันที่ยากจะเห็นได้ จงพินิจดูการบริจาคศีรษะ ซึ่งเป็นทานที่พระพุทธเจ้าทุกพระคงค์ทรงสรรเสริญทรงอนุโมทนา แล้วจึงบำเพ็ญประโยชน์และเสวยความสุขอย่างเยี่ยมทุกพระองค์ ตรัสคาถาจบแล้วได้เกิดโกลาหลอย่างหนึ่งขึ้นแก่พวกฝ่ายในมีพระบรมราชเทวีเป็นประธาน และมหาชนซึ่งมีอำมาตย์เป็นประธาน ฯ พระราชเทวีทอดพระองค์ลงกรรแสงแทบพระบาทยุคลของพระราชา ทรงรำพันแล้วรำพันเล่าว่า ข้าแต่พระองค์ ไฉนพระองค์จึงทำเช่นนี้เล่า หม่อมฉันจำพรากจากพระองค์แล้ว เป็นต้องเสวยโทมนัสแสนทวี ฉะนี้เป็นอาทิ ฯ พระมหาสัตว์จึงทรงพระวิตกว่า เราเห็นจะไม่สามารถที่จะบำเพ็ญปรมัตถบารมีในที่นี้ได้ จักบำเพ็ญนอกพระนครเถิด จึงพระราชทานพระราโชวาทแก่พวกฝ่ายใน ซึ่งมีพระราชเทวีเป็นประธานและแก่มหาชนอันมีอำมาตย์เป็นประธาน ให้ตั้งอยู่ในพระราชธรรมอันประเสริฐสุด ให้เกิดปีติปราโมทย์พอแล้ว จึงทรงพาอำมาตย์และเอาพระขรรค์แก้วมีสายสะพานอันขลิบด้วยทอง และพาบุรุษคอขาดไปยังพระราชอุทยาน ฯ

​ขณะนั้นทวยนาครและพวกฝ่ายในต่างสยายผมค่อนทรวงไปตามกัน ลงจากปราสาทตามพระราชาเป็นหมู่ไป ฯ เมื่อพระโพธิสัตว์ไม่สามารถจะให้มหาชนกลับได้จึงตรัสแก่พวกอำมาตย์ว่า ในพระนครพาราณสีใครเล่าได้เสวยราชสมบัติอยู่แล้ว เมื่อกราบทูลว่า พระองค์พระเจ้าข้า จึงเอาปลายดาบทรงขีดลงที่พื้นดินแล้วตรัสว่า ใครล่วงล้ำเส้นต้องถูกลงพระราชอาญา ฯ ทวยนาครก็ไม่สามารถที่จะข้ามเส้นขีดนั้นได้ ต่างพากันทำความเคารพเส้นขีด ร้องไห้สะอึกสะอื้นหวนไปหวนมา ฯ พระราชาเสด็จถึงพระราชอุทยานแล้ว เอาสายสะพานทองพับบั้นพระองค์ที่โคนไม้ต้นใหญ่แล้ว รับสั่งหาบุรุษคอขาดว่า สัตบุรุษจงมาเอาเถิด ฯ พวกอำมาตย์ก็นำบุรุษคอขาดมาใกล้พระองค์ ฯ พระราชาตรัสกะสุจิอำมาตย์ว่า สุจิ จงเอาดาบตัดศีรษะเราแล้วให้แก่ผู้นั้น ฯ อำมาตย์ก็ยืนเช็ดน้ำตาอยู่ ฯ ขณะนั้น พระองค์ทรงหยิบพระขรรค์มา เริ่มจะปลงพระเศียรของพระองค์แล้วเบือนพระพักตร์ขึ้นสู่อากาศประกาศว่า ขอหมู่เทวดาเจ้าทั้งหลายจงเล็งดูการบริจาคทานของข้าพเจ้า จักรวัตติสมบัติ ฉกามาวจรสมบัติ พรหมสมบัติ ปัจเจกพุทธสมบัติ ข้าพเจ้าไม่ขอปรารถนาด้วยการบริจาคทานนี้ พอแต่จงเป็นปัจจัยแห่งพระสัพพัญญุตญาณ อันทำประโยชน์ให้แก่สรรพโลกได้ ฉะนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ความว่า ข้าพเจ้าตื่นแล้วต้องปลุกนรชนให้ตื่นบ้าง เมื่อรู้เห็นอยู่ต้องพานรชนให้ข้ามจากโลกคือความทุกข์ ต่อไปเบื้องหน้า ข้าพเจ้าพึงเป็นพระพุทธเจ้าผู้มีพระญาณ หาที่สุดมิได้ เมื่อยังท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร ธรรมที่ขจัดราคะ โทสะ โมหะ ของเหล่าสัตว์ ขอจงได้โอกาสแสดงเพื่อให้โลกิยชนฟัง ข้าพเจ้าเป็นอิสระในภพน้อยภพใหญ่ ผู้มุ่งไปจากภัย ผู้กำจัดมืดคือโมหะพึงได้เลือกธรรมที่ไพเราะเสนาะโสตออกแสดงแก่เหล่าสัตว์ผู้มักสะดุ้งในโลกนี้ทั้งเทวโลก ฯ

พระมหาสัตว์ตรัสฉะนี้แล้วหามีความหวาดเสียวไม่ เริ่มปลงพระเศียรของพระองค์ประหนึ่งนักรบผู้ชาญชัยเข้าสงครามฉะนั้น ด้วยเดชแห่งทานของพระองค์ มหาปถพีอันมีน้ำล้อมรอบหวั่นไหว ชัยเภรีก็กึกก้อง ฝนคือดอกโกสุมทั้ง ๕ ชนิดก็ตกลง เทวดาพากันให้สาธุการ เกิดอัศจรรย์ขึ้นเกือบทุกอย่าง ฯ พระราชาปลงพระเศียรของพระองค์แล้ว บุรุษคอขาดก็รับพระราชทานไปยืนเปล่งวจีเภทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สัตบุรุษขอจงเป็นสุขๆ เถิด แล้วเสด็จขึ้นเทพสถาน อำมาตย์ฟุบลงร่ำไห้แทบพระบาทยุคลของพระมหาสัตว์เอาพระโลหิตมาเปียกป้ายที่ศีรษะของตน แล้วกลับไปยังพระนครกราบทูลข้อความแด่พระราชเทวีและแจ้งแก่มหาชน ฯ ปวงนาครซึ่งมีอำมาตย์เป็นประมุขและพวกฝ่ายใน ครั้นทราบเช่นนั้น​ต่างไม่สามารถที่จะดำรงตนอยู่ได้ พากันร้องไห้สะอึกสะอื้นออกจากพระนครเข้าไปยังพระราชอุทยาน ต่างเอาศีรษะของของตนเคล้าพระโลหิตของพระมหาสัตว์ ประคองแขนทั้งสอง เข้าคร่ำครวญจนสลบไปตาม ๆ กัน ฯ พระนางวิชุลตาเทวีตรงเข้ากอดพระมหาสัตว์ เอากำผมเข้าคลุกพระโลหิต หวนไปหวนมาคล้ายกับคนบ้า จนถึงพระวิสัญญีภาพ ฯ ลำดับนั้น นางในพระราชฐานให้พระนางสระสรงน้ำเย็นชุ่มพอแล้ว พระนางก็กลับได้ลมอัสสาสะขึ้น เอาพระหัตถ์ทั้งสองเข้าค่อนพระอุระ ไม่สามารถจะทรงพระองค์อยู่ได้ ดูพระฉวีหม่นหมองลงเพราะพระหฤทัยเหี่ยวแห้ง ทรงรำพึงต่าง ๆ นา ๆ ว่าข้าแต่พระสวามี หม่อมฉันจักสำเร็จชีพตามพระองค์ เมื่อหม่อมเป็นหม้ายตั้งแต่นี้ไป ก็จักต้องเสวยทุกข์อย่างแสนสาหัสดังนี้เป็นต้น ขณะนั้นท้าวเทวราชทรงเครื่องเทพอลังการพร้อมแล้ว แสดงพระองค์แก่หมู่ชนเหล่านั้นปรากฏ ประหนึ่งพระอาทิตย์แรกไขแสงไพโรจน์อยู่ ณ อากาศฉะนั้น รับสั่งหาพระราชเทวีมาปลอบว่า อย่าโศกเศร้าไปเลยพระนาง ฉันจักคืนพระชนม์ของพระสวามีให้ในบัดนี้ ฯ ด้วยอานุภาพและด้วยเดชแห่งบุญของท้าวสักกะ พระเศียรของพระราชาได้ผุดขึ้นในทันใดนั้น ฯ พวกมหาชนได้เห็นอัศจรรย์นั้น จึงพากันชูผ้าขึ้นพร้อมด้วยการเปล่งอุทานว่า สาธุ ๆ พระราชเทวีเห็นพระราชสวามีของพระองค์ร่างกายปรกติอย่างเดิมจึงเกิดความปลาบปลื้มพระทัย ได้ประทับยืนเปล่งวจีเภทว่า ขึ้นชื่อว่าทานควรบำเพ็ญแท้ ฯ เมื่อท้าวสักกะประทับอยู่บนอากาศ ประทานสาธุการ จึงมีเทพดำรัสว่า สาธุ ท่านผู้สัตบุรุษ ท่านชื่อว่าเป็นนาถะของโลกแท้ บำเพ็ญมหาบริจาคทานที่ข้าพเจ้ากล่าวประเภทไว้ คือบริจาคไทยทาน บริจาคอวัยวะ บริจาคชีวิต บริจาคบุตร บริจาคภรรยา รวม ๕ ประเภท แล้วจักเป็นพระพุทธเจ้า ฉะนี้แล้วก็อันตรธานไป ณ ที่นั้น ฯ ตั้งแต่นั้นมาพระราชาก็ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมีทานเป็นต้น ในที่สุดแห่งพระชนมายุขัย ได้ทรงอุบัติในพิภพดุสิต ฯ

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงมีพระพุทธดำรัสว่า เพราะถวายบาตร นรชนย่อมเป็นผู้มีปัญญา มีกำลังใหญ่ที่จะก้าวไปสู่คุณเบื้องหน้าหาเวรมิได้ ถึงพร้อมด้วยอิทธิฤทธิ์ มีเดชานุภาพมากเป็นที่รักของหมู่ชน บริวารมากมายงดงามด้วยสรรพโภคสมบัติ สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีฤทธิ์ดุจพระเจ้าจักรพรรดิ บริบูรณ์ด้วยกามาวจสมบัติ รูปาวจรสมบัติ อรูปาวจรสมบัติ ได้เสวยโลกิยสุข ย่อมบังเกิดในยุคที่พระพุทธเจ้าทรงอุบัติเป็นผู้นำหมู่สัตว์โลก เป็นเจ้าในหมู่สัตว์ ภายหลังมาถึงความเป็นพระพุทธเจ้า ฯ ถวายผ้าสังฆาฏิ ย่อมเป็นผู้ย่ำยีมารและเสนามารเสียได้ โสมาของผู้นั้นก็ไม่ชูชันเพราะ​อสนีมากหลาย จักเป็นผู้ไม่หวาดเสียวไม่สยดสยอง ได้เสวยสุขชั้นกามารมณ์ ภายหลังมาถึงความเป็นพระพุทธเจ้า ฯ ถวายผ้าอุตตราสงค์ พึงชนะข้าศึกในสงคราม เป็นหัวหน้าของปวงชน ภายหลังมาถึงความเป็นพระพุทธเจ้า ฯ ถวายผ้าอันตรวาสก พึงเป็นผู้กล่าวถึงซึ่งวินัยฉลาด ชนะหมู่มารได้เป็นนิตย์ ภายหลังมาถึงความเป็นพระพุทธเจ้า ฯ ถวายรัดประคตเอว ย่อมเป็นผู้หมดจดในภพต่างๆเป็นอิสระในที่ทั่วไป ภายหลังมาถึงความเป็นพระพุทธเจ้า ฯ เป็นผู้บริสุทธิ์หาเวรมิได้ พร้อมด้วยลักษณะทุกอย่าง อายุยืนได้ประสบความสุข การถวายมีดโกนมีผลดังนี้ ฯ เกิดในยุคที่ชอบมีปัญญาหลักแหลม ทราบอรรถทั้งปวงได้แจ่มแจ้ง มีวาทะจัดจ้านกว่าหมู่ชนสามารถเพื่อเอาชัยได้ ภายหลังมาถึงความเป็นพระพุทธเจ้า ฯ ถวายเข็มด้วยศรัทธา ย่อมเป็นผู้มีอายุยืนยาว มีปัญญาบริสุทธิ์เป็นพหุสูต ทรงไว้ซึ่งธรรม มีรูปงดงาม ชื่อเสียงกระฉ่อนอยู่ในโลก เกิดในที่ทั้งปวง ต้องเป็นผู้ฉลาดหาเวรมิได้ มีรูปพรรณสะสวยชวนหมู่ชนให้รักใคร่ มีคุณเครื่องเจริญยืดยาวอินทรีย์ผ่องใส ฯ นรชนที่ถวายผ้าครองน้ำแก่ภิกษุ ย่อมเกิดในฐานะเช่นนั้นแล และล้วนเป็นอำมาตย์ เป็นวีรบุรุษอย่างเยี่ยม มีความสวัสดิ์ทุกเมื่อ มีเกียรติเฟื่องในสกุลเป็นนิตย์ ฯ เพราะการถวายร่ม ในเวลาหลังหรือก่อนฤดูก็ตาม ย่อมได้ร่มที่วิจิตรด้วยทอง ร่มลายนกยูง ร่มแผ่นผ้า ร่มที่ขจิตด้วยแก้วและนางที่สำอางอนึ่งย่อมได้ ฉัตร จามร มงกุฎ พระขรรค์ รองเท้าทอง ทั้ง ๕ อย่างนี้ โดยทางที่บัณฑิตไม่รังเกียจ ฯ ไตรจีวร บาตร มีดโกน เข็ม รัดประคตเตว ผ้ากรองน้ำ บริขารทั้ง ๘ อย่างนี้นั้น เป็นทรัพย์อันประเสริฐของภิกษุ ผู้ที่ถวายทั้ง ๘ อย่างด้วยศรัทธาอันบริสุทธิ์ ย่อมเป็นผู้มีบริวารเหลือหลาย ถึงซึ่งภาวะแห่งเกียรติยศทุกแผนก ฯ ถวายท่อนหนัง ย่อมเป็นผู้มีฤทธิ์ ดุจพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นที่รักใคร่ในปวงชน มั่งคั่งด้วยรูปารมณ์เป็นต้น ฯ เหล่าชนย่อมเป็นผู้มีสมบัติและอิทธิฤทธิ์มาก พร้อมด้วยกำลังทุกประเภท ภายหลังจึงถึงพระนิพพาน ไม่ใช่เพราะถวายจีวรเท่านั้น อัฏฐบริขารทุกอย่างก็เช่นเดียวกัน และผู้ถวายจะเป็นบุรุษก็ตามสตรีก็ตาม เป็นต้องสมบูรณ์ด้วยสมบัติทิพย์และยศทิพย์ มีทาสหญิงทาสชายเหลือหลาย เสวยสุขในกามโลก สุขในรูปโลก สุขชั้นอรูปโลก ภายหลังบรรลุถึงพระนิพพาน ฯ

อันภิกษุผู้ปรารถนานวโลกกุตตรธรรม ต้องบำเพ็ญบารมีครบทั้ง ๓๐ ทัศภาวะแห่งทานบารมี แม้เป็นเบื้องต้นพระพุทธเจ้าทุกองค์ก็ยังทรงสรรเสริญเป็นนิตย์ อันภิกษุเอามาใส่ใจอยู่แล้ว เป็นอันได้บรรลุพระนิพพานเป็นแท้ ฯ เมื่อพระตริยเมตตรัยเจ้า​มายังชมพูทวีป ด้วยการถวายอัฏฐบริขาร ย่อมเป็นผู้ถึงซึ่งความเป็นเอหิภิกขุภาพในสำนักของพระองค์ เป็นบุตรของพระองค์มีปัญญายิ่งใหญ่ เป็นอันถึงศูนย์ที่ปรารถนาแท้จริง หากปรารถนาพระพุทธภูมิด้วยอานุภาพแห่งบริขาร ย่อมได้สาธุการแห่งพวกเทวดาโดยทางที่บัณฑิตไม่รังเกียจ เพราะฉะนั้น ธีรชน ผู้มีปัญญายิ่งใหญ่เมื่อเห็นผลแห่งการถวายบริขารมากมายอยู่ จึงถวายในกาลแห่งพระพุทธเจ้าตามพระพุทธประสงค์ ฯ

—————————-

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา แล้วทรงประมวลชาดก ความว่า นางวิชุลตาเทวี ในบัดนั้นเป็นนางยโสธรา ผู้ชนนีของราหุล วรโชติกุมารผู้โอรส เป็นราหุล ผู้บุตรสุคต สุจิอำมาตย์ผู้ช่วยเหลือเป็นอานนท์ สักกเทวราชผู้สูงสุดด้วยทิพจักษุเป็นอนุรุทธ พระเจ้ามหาสุรเสนผู้ยินดีในการทรงบำเพ็ญทาน เป็นเราผู้สัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นนาถะของโลก จงจำชาดกไว้ด้วยประการฉะนี้ ฯ

จบมหาสุรเสนชาดก

แชร์เลย

Comments

comments

Share: