วิชชาธรรมกาย


1. หลักปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน
2. วิธีเจริญสมถภาวนา ถึงธรรมกาย
3. วิธีเจริญภาวนา ถึงอายตนะนิพพาน

วิธีเจริญวิชชา 3
วิธีพิจารณาอริยสัจ 4 เข้ามรรคผลนิพพาน  
วิธีพิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรม 12
วิธีตรวจจักรวาล ภพ 3 และโลกันต์
วิธีเจริญพรหมวิหาร
วิธีพิจารณาสติปัฏฐาน 4

เมื่อ 85 ปีมาแล้ว  ในปี พ.ศ.2459  พระเดชพระคุณ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ ได้ค้นพบ วิธีเจริญสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 ให้ถึงธรรมกายมรรคผลนิพพานตามรอยบาทพระพุทธองค์  ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการปฏิบัติอย่างชัดเจนภายหลังจากพุทธปรินิพพานประมาณ 500 ปี การปฏิบัติแนวนี้เป็นที่รู้จักในหมู่ศิษยานุศิษย์ผู้ปฏิบัติธรรมนี้ว่า “วิชชาธรรมกาย”   

วิชชาธรรมกายเป็นวิธีปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน 4  มีวิธีปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอนชัดเจน ให้ถึงธรรมกาย ให้เกิดอภิญญา และวิชชา คือความรู้ความสามารถพิเศษ ได้แก่ วิชชา 3 วิชชา 8 (รวมอภิญญา 6) ชื่อว่า “วิชชาธรรมกาย”   ให้เข้าถึงและรู้เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม  สามารถให้ทั้งเห็นและทั้งรู้สภาวธรรมทั้งสังขารและวิสังขารคือพระนิพพาน  และเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐานคู่กัน  เป็นพื้นฐานสำคัญแก่การเจริญวิปัสสนาปัญญาถึงโลกุตตรปัญญา ได้อย่างดี  จึงเป็นวิธีปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่ง

วิชชาธรรมกายที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำสั่งสอนศิษยานุศิษย์จนตลอดชีวิตของท่าน และได้ถ่ายทอดสืบต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน   ปรากฏผลเป็นอัศจรรย์แก่คนทุกชาติทุกภาษา ทุกศาสนา  แม้ผู้ที่ไม่ทราบอะไรเลยหรือยังไม่มีศรัทธาเลย  หากแต่สามารถทำใจหยุดนิ่ง ณ ศูนย์กลางกายได้ (เพียงเท่านั้น) ย่อมได้รับผลประจักษ์ด้วยตัวเอง  โดยไม่ต้องเชื่อใคร…

1. หลักปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน

1. ขั้นสมถกัมมัฏฐาน 2. ขั้นอนุปัสสนา 3. ขั้นโลกุตตรวิปัสสนา

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประทานหลัก คือ ธรรมเป็นอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐาน อันเป็นพื้นฐานสำคัญให้ถึงธรรมอันเป็นรากเหง้าให้วิปัสสนาเกิด เจริญขึ้น และตั้งอยู่ เพื่อเจริญปัญญาจากการที่ได้เห็นแจ้งและรู้แจ้ง ในสภาวะของสังขารธรรม และวิสังขารธรรมคือพระนิพพานธาตุโดยปรมัตถ์ และในพระอริยสัจ 4 ตามที่เป็นจริง ไว้หลายวิธี อันผู้เจริญภาวนาพึงเลือกปฏิบัติให้ถูกจริตอัธยาศัยของตน

ข้าพเจ้าจึงขอเสนอวิธีเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ที่ให้ผลดีมีประสิทธิภาพสูง ตามหลักปฏิบัติพระสัทธรรมเพื่อทำนิพพานให้แจ้ง ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว คือวิธีเจริญสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 ให้ถึงธรรมกายมรรคผลนิพพานตามรอยบาทพระพุทธองค์ ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านปฏิบัติได้เข้าถึง ได้รู้เห็นและเป็นธรรมกายแล้ว จึงได้สั่งสอนศิษยานุศิษย์จนตลอดชีวิตของพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่าน และได้ถ่ายทอดสืบต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน ปรากฏผลดีเป็นอย่างสูงแก่ผู้ปฏิบัติด้วยอิทธิบาทธรรม

โดยมี หลักปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 ถึงธรรมกาย ให้เกิดอภิญญา และวิชชา คือความรู้ความสามารถพิเศษ ได้แก่ วิชชา 3 วิชชา 8 (รวมอภิญญา 6) ชื่อว่า “วิชชาธรรมกาย” เป็นพื้นฐานสำคัญแก่การเจริญวิปัสสนาปัญญาถึงโลกุตตรปัญญา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ดังต่อไปนี้

1. ขั้นสมถกัมมัฏฐาน

มีหลักวิธีปฏิบัติเบื้องต้นที่สำคัญ 3 ประการ คือ

  1. กำหนด “ฐานที่ตั้งของใจ” ไว้ ณ ศูนย์กลางกาย เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ อันเป็นที่ตั้งกำเนิดธาตุธรรมเดิม และเป็นที่ตั้งกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม
    ศูนย์กลางกายระดับสะดือเป็นที่สุด และเป็นต้นทางลมหายใจ (เข้า-ออก)
  2. กำหนด “บริกรรมนิมิต” คือ นึกให้เห็นด้วยใจเป็นเครื่องหมายดวงแก้วกลมใส ให้ใจรวมอยู่ ณ ศูนย์กลางดวงแก้วกลมใสนั้น ตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ (ตามข้อ 1)
    การเพ่งดวงแก้วกลมใส มีลักษณะเป็นการเพ่งแสงสว่าง (อาโลกกสิณ) กล่าวคือ ถ้าพระโยคาวจรเพ่งแสงสว่างเป็นอารมณ์ ถึงได้อุคคหนิมิต ก็จะเห็นเป็นดวงใสสว่าง หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านจึงใช้ดวงแก้วกลมใส (แทนดวงใสสว่าง) เป็นบริกรรมนิมิต
  3. กำหนด “บริกรรมภาวนา” คือ ท่องในใจด้วยองค์บริกรรมภาวนาว่า “สัมมาอรหังๆๆ” ที่กลางของกลางจุดเล็กใส กลางดวงแก้วกลมใส ตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือนั้น เพื่อประคองใจให้หยุดนิ่งตรงนั้น
    คำว่า “สัมมา” เป็นคำย่อจากคำว่า “สัมมาสัมพุทโธ” แปลว่า พระผู้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ ซึ่งหมายถึง พระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า   ส่วนคำว่า “อรหัง” แปลว่า พระผู้ไกลจากกิเลสและบาปธรรมทั้งปวง ซึ่งหมายถึง พระวิสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า เมื่อบริกรรมภาวนาว่า “สัมมาอรหังๆๆ” นึกน้อมพระพุทธคุณ คือ พระปัญญาคุณ และ พระวิสุทธิคุณของพระพุทธเจ้ามาสู่ใจเราด้วย เป็นพุทธานุสสติ

ถ้าผู้ปฏิบัติภาวนากำหนดบริกรรมนิมิต คือ นึกเห็นเครื่องหมายดวงแก้วกลมใสด้วยใจได้ยาก ก็ให้สังเกตลมหายใจเข้า-ออก ที่ผ่านและกระทบดวงแก้ว ตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ อยู่ตรงนั้น (เป็นอานาปานสติอีกโสดหนึ่ง) โดยไม่ต้องตามลมหายใจเข้า-ออก ก็จะช่วยให้เห็นดวงนิมิตได้ง่ายเข้า เมื่อเห็นดวงใสปรากฏขึ้นแล้ว ก็ปล่อยความสนใจในลม

เมื่อรวมใจหยุดนิ่งตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ อันเป็นที่ตั้งกำเนิดธาตุธรรมเดิม ก็จะเข้าถึง และได้รู้เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม จนถึงธรรมกาย อันเป็นกายที่พ้นโลก เป็นธาตุธรรมที่บริสุทธิ์ เป็นอุปการะสำคัญต่อการเจริญวิปัสสนาให้เกิดปัญญาจากการที่ได้เห็นแจ้งและรู้แจ้ง

  1. ในสภาวะของสังขาร คือ ธรรมอันไปในภูมิ 3 ทั้งสิ้น และธรรมที่เป็นไปในภูมิที่ 4 เฉพาะที่เป็นสังขตธรรม ตามที่เป็นจริง
  2. ในสภาวะของวิสังขาร คือ พระนิพพานธาตุโดยปรมัตถ์ อันเป็นคุณธรรมภายในของพระอริยเจ้า ทั้ง สภาวะนิพพาน ผู้ทรงสภาวะ และ อายตนะนิพพาน ตามที่เป็นจริง และ
  3. ในอริยสัจ 4 อันเป็นไปในญาณ 3 คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และ กตญาณ มีรอบ 12

2. ขั้นอนุวิปัสสนา

เมื่อผู้ปฏิบัติภาวนาได้ถึงธรรมกายแล้ว  ย่อมสามารถเจริญภาวนาทั้งสมถะและวิปัสสนา ให้เกิดอภิญญา ความรู้ความสามารถพิเศษ และวิชชา ได้แก่ วิชชา 3 วิชชา 8 (รวมอภิญญา 6) จึงชื่อว่า “วิชชาธรรมกาย” ให้เกิดและเจริญความรู้ความสามารถพิเศษ ให้สามารถพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม ตามแนวสติปัฏฐาน 4 ให้เจริญ “วิปัสสนาปัญญา” เห็นแจ้งรู้แจ้งสภาวะของสังขาร อันประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขตธรรม) ว่ามีสามัญญลักษณะที่เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ และอนตฺตา อย่างไร อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการเจริญโลกุตตรวิปัสสนา ให้เห็นแจ้งในอริยสัจ 4 เป็น “โลกุตตรปัญญา” ต่อไป

กล่าวคือ เมื่อผู้ปฏิบัติภาวนาได้ถึงธรรมกายแล้ว

  1. พึงฝึกเจริญฌานสมาบัติให้เป็นวสี แล้วย่อมเกิดอภิญญา มีทิพพจักษุ ทิพพโสต เป็นต้น ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้ (การเริ่มเจริญสมถภาวนาโดยการกำหนดบริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้วกลมใสนั้น มีลักษณะเป็นการเพ่งกสิณแสงสว่าง ชื่อว่า “อาโลกกสิณ” อันเป็นกสิณกลาง และมีผลให้เกิดอภิญญาได้ง่าย)
  2. สามารถน้อมไปเพื่อ “อตีตังสญาณ” เห็นอัตตภาพของตนและสัตว์อื่นในภพชาติ ก่อนๆ น้อมไปเพื่อ “อนาคตังสญาณ” เห็นจุติปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปตามกรรม และน้อมไปเพื่อ “ปัจจุปปันนังสญาณ” เห็นสัตว์โลกในทุคคติภูมิ ได้แก่ ภูมิของเปรต สัตว์นรก อสุรกาย และในสุคติภูมิ ได้แก่ เทวโลก และพรหมโลก ตามที่เป็นจริง ตามพระพุทธดำรัสได้

ให้สามารถรู้เห็นสภาวะของสังขาร ได้แก่ เบญจขันธ์ของสัตว์โลกทั้งหลาย อันปัจจัยปรุงแต่งด้วย ปุญญาภิสังขาร คือความปรุงแต่งด้วยบุญคือกุศลกรรม   อปุญญาภิสังขาร คือความปรุงแต่งด้วยบาปคืออกุศลกรรม และ อเนญชาภิสังขาร คือ ความปรุงแต่งที่ไม่หวั่นไหว (ด้วยรูปฌานที่ 4 ถึงอรูปฌานทั้ง 4)

ได้เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลกในสังสารจักร อันเป็นไปตามกรรม โดยวัฏฏะ 3 คือ กิเลสวัฏ กัมมวัฏ และวิปากวัฏ  และ

ให้สามารถเจริญปัญญารู้แจ้งในสภาวะของสังขารธรรม คือธรรมชาติที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขตธรรม) กล่าวคือ ธรรมที่เป็นไปในภูมิ 3 ทั้งสิ้น ว่ามีสามัญญลักษณะที่เป็น อนิจฺจํ ทุกขํ และ อนตฺตา อย่างไร อย่างละเอียด และกว้างขวาง

ให้เจริญวิปัสสนาญาณ รวบยอดผ่านถึงโคตรภูญาณของธรรมกายได้อย่างรวดเร็ว และเป็นบาทฐานให้เจริญโลกุตตรวิปัสสนาได้เป็นอย่างดี

3. ขั้นโลกุตตรวิปัสสนา

เมื่อพระโยคาวจรเจริญอนุปัสสนา ตามแนวสติปัฏฐาน 4 คือ มีสติพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม ทั้ง ณ ภายใน และ ณ ภายนอก เห็นแจ้งรู้แจ้งในสามัญญลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลายอยู่แล้วนั้น

ธรรมกายย่อมเจริญฌานสมาบัติพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือมีสติพิจารณาเห็นอริยสัจ 4 ของกายในภพ 3   แล้วทำนิโรธ (ไม่ใช่นิโรธสมาบัติ)  ดับสมุทัย ปหานอกุศลจิตของกายในภพ 3 โดยวิธีดับหยาบไปหาละเอียด ผ่านศูนย์กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม อันเป็นที่ตั้งของธาตุธรรม เห็น-จำ-คิด-รู้ คือ “ใจ” อันกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ยึดครองอยู่   ปหานอกุศลจิต ชำระธาตุธรรม เห็น-จำ-คิด-รู้ คือ “ใจ” ของกายในกาย (รวมเวทนา จิต และธรรม) จากกายสุดหยาบถึงสุดละเอียด จนเป็นแต่ธาตุล้วนธรรมล้วนของธรรมกายที่บริสุทธิ์สุดละเอียด ถึงปล่อยวางอุปาทานในเบญจขันธ์ของกายในภพ 3 และปล่อยความยินดีในฌานสมาบัติเสียได้

ปล่อยขาดพร้อมกันแล้ว   ธรรมกายที่หยาบตกศูนย์ ธรรมกายที่บริสุทธิ์สุดละเอียดนั้นจะไปปรากฏในอายตนะนิพพานอันเป็นที่สถิตอยู่ (อายตน=วาสฏฺฐาน) ของพระนิพพานคือธรรมกายตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตเจ้า ที่ดับขันธ์เข้าปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ประทับเข้านิโรธสงบตลอดกันหมดนับไม่ถ้วน สว่างไสวด้วยธรรมรังสีของธรรมกายที่บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว เป็นวิราคธาตุวิราคธรรม  เป็นความสูญ คือว่างอย่างมีประโยชน์สูงสุดเพราะไม่มีสังขาร ชื่อว่า “ปรมัตถสูญ”

โคตรภูจิต คือ ธรรมกายโคตรภูของพระโยคาวจรนั้นย่อมยึดหน่วงพระนิพพานอันละเอียด ประณีต สุขุมลุ่มลึกนั้นเป็นอารมณ์

เมื่อมรรคจิต และ มรรคปัญญา อันรวมเรียกว่า มรรคญาณ ของธรรมกายมรรคของพระโยคาวจรนั้นเกิดและเจริญขึ้น ปหานสัญโญชน์ กิเลสเครื่องร้อยรัดให้ติดอยู่กับโลกอย่างน้อย 3 ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ขึ้นไปได้ ย่อมก้าวล่วงข้ามโคตรปุถุชนเป็นพระอริยบุคคลตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้ และ ณ บัดนั้น ธรรมกายมรรค ได้แก่ ธรรมกายพระโสดาปัตติมรรค ก็จะตกศูนย์ และปรากฏผลจิต ได้แก่ ธรรมกายพระโสดาปัตติผล เข้าผลสมาบัติ พิจารณาปัจจเวกขณ์ 5 คือ พิจารณามรรค ผล กิเลสที่ละได้ กิเลสที่ยังเหลือ (ในกรณีเสขบุคคล) และพิจารณาพระนิพพาน ต่อไป

นี้คือขั้นตอนของเจริญสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตามแนวสติปัฏฐาน 4  ถึงมรรคผลนิพพาน ตามรอยบาทพระพุทธองค์ ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้ปฏิบัติเข้าถึงได้รู้-เห็น และเป็นธรรมกาย แล้วได้สั่งสอนศิษยานุศิษย์ และได้ถ่ายทอดสืบต่อๆ กันมาถึงปัจจุบัน

ข้าพเจ้าขอแนะนำให้ท่านผู้สนใจศึกษาสัมมาปฏิบัติ ให้ทดลองปฏิบัติให้เห็นผลด้วยตนเอง แล้วท่านจะซาบซึ้งในคุณของวิชชาธรรมกาย ด้วยตัวของท่านเอง

2. วิธีเจริญสมถภาวนา ถึงธรรมกาย

1. วิธีเจริญสมถภาวนาถึง 18 กาย – ถึงธรรมกาย 2. วิธีพิสดารกาย สุดกายหยาบกายละเอียด
3. วิธีเจริญสมาธิ:รูปฌาน 4 4.วิธีเจริญสมาธิ: อรูปฌาน 4 และสมาบัติ 8
5.วิธีซ้อนกาย-สับกาย และพิสดารกาย ซ้อนสับทับทวี

1. วิธีเจริญสมถภาวนาถึง 18 กาย – ถึงธรรมกาย

คำบูชาพระกัมมัฏฐาน (ว่าก่อนนั่งภาวนา)

ดู หลักการสอนสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน โดย พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ

เมื่อท่านทั้งหลายได้สมาทานศีล เพื่อให้กาย วาจา สงบ และบริสุทธิ์แล้ว  ก็ตั้งใจชำระจิตใจให้สะอาดด้วยการเจริญภาวนาธรรมต่อไป

เบื้องต้น ให้วางภารกิจทางกายให้หมดเสียก่อน  แล้วนั่งขัดสมาธิ  เอาเท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาวางอยู่บนมือซ้าย  ให้นิ้วชี้มือขวาจรดพอดีกับหัวแม่มือซ้ายพอดี  ตั้งกายให้ตรง  สูดลมหายใจยาวๆ  แล้วปล่อยกายตามสบาย  อย่าเกร็ง เพราะจะทำให้เมื่อยเร็ว

เมื่อกายพร้อมแล้ว  ก็ตั้งใจวางภารกิจทางใจเสียทั้งหมดอีกเหมือนกัน  โดยตั้งจิตอธิษฐานลงไปที่ศูนย์กลางกายว่า

ณ บัดนี้ เราจะตั้งใจเจริญภาวนาธรรมอย่างเต็มที่ เพื่อความหลุดพ้นจากอาสวกิเลส ตัณหา อุปาทาน และเพื่อมรรคผลนิพพาน  จะขอสละเวลาเพียงชั่วครู่นี้เพื่อปฏิบัติกิจอันมีค่าสูงที่สุดในชีวิต  ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรา  ไม่ว่าจะร้ายแรงเพียงใด  เราก็จะไม่สนใจ หวั่นไหว หรือยินดียินร้ายใดๆ ทั้งสิ้น  จะยอมเสียสละแม้แต่ชีวิต  เพื่อพระธรรมอันวิเศษสุดนี้ทีเดียว

เมื่อวางภารกิจทางกาย วาจา และใจ ได้เรียบร้อยแล้ว  ก็ตั้งจิตอธิษฐานต่อไปที่ศูนย์กลางกายอีก

น้อมรำลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์  คุณบิดามารดา และบุญบารมีทั้งหลาย ที่เคยได้สร้างสมอบรมมา ให้มาช่วยประคับประคองใจให้หยุดให้นิ่ง และเกิดปัญญา ได้ดวงตาเห็นธรรม  พร้อมด้วยขอให้ช่วยปกปักรักษาคุ้มครองสรรพอันตราย  อย่าได้มากล้ำกราย ขัดขวางการเจริญภาวนาของเรา

เมื่อตั้งใจมั่นคงดีแล้ว  ก็ค่อยๆ หลับตาลงเบาๆ  และกำหนดบริกรรมนิมิตและบริกรรมภาวนาคู่กัน   บริกรรมนิมิต นึกให้เห็นด้วยใจ เป็นเครื่องหมาย  ดวงแก้วกลมใส  เหมือนกับเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว  ไม่มีขนแมว โตเท่าแก้วตา  จุดศูนย์กลางข้างในโตเท่าเมล็ดพุทธรักษา  ใสขาวเหมือนกระจกส่องเงาหน้า  แล้วบริกรรมภาวนาคือท่องในใจเพื่อประคองบริกรรมนิมิตนั้นไว้ว่า “สัมมาอะระหังๆๆ” 

รูปแสดงที่ตั้งของดวงนิมิต จากฐานที่ 1 ถึงฐานที่ 7

ฐานที่ 1  ปากช่องจมูก หญิงซ้าย ชายขวา
ฐานที่ 2  เพลาตา  หญิงซ้าย ชายขวา  ตรงหัวตาพอดี
ฐานที่ 3  กลางกั๊กศีรษะ ระดับเดียวกับเพลาตา
ฐานที่ 4  ช่องเพดานปาก
ฐานที่ 5  ปากช่องลำคอ
ฐานที่ 6  ศูนย์กลางกาย ระดับสะดือ
ฐานที่ 7  ศูนย์กลางกาย เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ

ฐานที่ 1: ปากช่องจมูก หญิงซ้าย ชายขวา

การกำหนดบริกรรมนิมิตเป็นเครื่องหมายดวงแก้วกลมใสนั้น   หญิงกำหนดขึ้นที่ปากช่องจมูกซ้าย  ชายกำหนดที่ปากช่องจมูกขวา  แล้วบริกรรมภาวนาคือท่องในใจเพื่อประคองบริกรรมนิมิตนั้นไว้ว่า “สัมมาอะระหังๆๆ”  3 ครั้ง  พร้อมด้วยตรึกนึกให้เห็นดวงที่ใส  ใจอยู่ในกลางดวงที่ใส  นี่เป็น ฐานที่หนึ่ง

ฐานที่ 2: เพลาตา หญิงซ้าย ชายขวา  ตรงหัวตาพอดี

เมื่อเห็นเครื่องหมายใสสว่างชัดดีพอสมควรแล้ว  ก็ค่อยๆ เลื่อนเครื่องหมายนั้นไปหยุดอยู่ที่หัวตาด้านใน  หญิงให้เลื่อนไปอยู่ทางหัวตาด้านซ้าย ชายด้านขวา และบริกรรมประคองนิมิตนั้นไว้ว่า “สัมมาอะระหังๆๆ”  3 ครั้ง นี่เป็น ฐานที่สอง

ฐานที่ 3: กลางกั๊กศีรษะ ระดับเดียวกับเพลาตา

แล้วค่อยๆ เลื่อนเครื่องหมายนั้นช้าๆ ไปหยุดอยู่ที่กึ่งกลางกั๊กศีรษะข้างใน  พร้อมด้วยบริกรรมประคองนิมิตนั้นไว้ว่า “สัมมาอะระหังๆๆ”  3 ครั้ง นี่เป็น ฐานที่สาม

ฐานที่ 4: ช่องเพดานปาก

ทีนี้  จงเหลือบตาไปข้างหลัง เหมือนคนกำลังชักจะตายอย่างนั้น  ในขณะที่หลับตาอยู่ ก็ช้อนตาขึ้นข้างบน โดยไม่ต้องแหงนหน้าขึ้นตาม พอตาค้างแน่นอยู่  ความเห็นจะกลับไปข้างหลัง  แล้วก็ให้ความเห็นนั้นกลับเข้าข้างใน พร้อมๆ กับค่อยๆ เลื่อนเครื่องหมายนั้นลงไปตรงๆ ช้าๆ  ไปหยุดอยู่ที่เพดานปาก  พร้อมด้วยบริกรรมประคองนิมิตนั้นไว้ว่า “สัมมาอะระหังๆๆ”  3 ครั้ง นี่เป็น ฐานที่สี่

ฐานที่ 5: ปากช่องลำคอ

ค่อยๆ เลื่อนเครื่องหมายใสสว่างนั้นลงไปหยุดอยู่ที่ปากช่องลำคอ เหนือลูกกระเดือก  ตั้งเครื่องหมายไว้นิ่งอยู่ที่ปากช่องลำคอนั่นแหละ  พร้อมด้วยบริกรรมประคองนิมิตนั้นไว้ว่า “สัมมาอะระหังๆๆ”  3 ครั้ง นี่เป็น ฐานที่ห้า

ฐานที่ 6: ศูนย์กลางกาย ระดับสะดือ

ค่อยๆ เลื่อนเครื่องหมายนั้นลงไปตรงๆ ช้าๆ ตามเส้นทางลมหายใจเข้าออก เหมือนกับเรากลืนดวงแก้วลงไปในท้องยั้งงั้นแหละ  ลงไปหยุดนิ่งอยู่ตรงสุดลมหายใจเข้าออก  ตรงระดับสะดือพอดี  แล้วบริกรรมประคองนิมิตนั้นไว้ว่า “สัมมาอะระหังๆๆ”  3 ครั้ง นี่เป็น ฐานที่หก

ฐานที่ 7: ศูนย์กลางกาย เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ

แล้วจึงค่อยๆ เลื่อนเครื่องหมายนั้นขยับสูงขึ้นมาตรงๆ   มาหยุดอยู่ ณ ศูนย์กลางกาย เหนือระดับสะดือประมาณ 2 นิ้วมือ  นี่เป็น ฐานที่เจ็ด

นี่เป็นที่ตั้งถาวรของใจ  คนเราเวลาจะเกิด จะดับ (ตาย)  จะหลับ จะตื่น  ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ จะลอยขึ้นมาที่ศูนย์นี้  เพราะฉะนั้น ศูนย์นี้จึงสำคัญนัก  จะเข้ามรรคผลนิพพาน ก็ต้องเข้าที่ศูนย์นี้   

เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ก็จงทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางนี้ทีเดียว  ซ้าย ขวา หน้า หลัง ล่าง บน ไม่ไปทั้งนั้น  เข้ากลางของกลางๆ ๆ  นิ่งแน่นหนักขึ้น   พอถูกส่วนเข้าเท่านั้นแหละ เห็นดวงใสแจ่มบังเกิดขึ้น เท่าฟองไข่แดงของไก่  อย่างเล็กเท่าดวงดาวในอากาศ  อย่างโตเห็นเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เลยทีเดียว   ดวงธรรมที่เห็นนี้เป็นหนทางเบื้องต้นไปสู่มรรค ผล นิพพาน จึงเรียกว่า ดวงปฐมมรรค  และเป็นที่ตั้งของ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของกายพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม จึงเรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน


ลักษณะของฐานที่ 7

1. ศูนย์ด้านหน้า
2. ศูนย์ด้านขวา
3. ศูนย์ด้านหลัง
4. ศูนย์ด้านซ้าย
5. ศูนย์กลาง
6. ศูนย์กลางของอากาศธาตุ
ธาตุน้ำ
ธาตุดิน
ธาตุไฟ
ธาตุลม
อากาศธาตุ
วิญญาณธาตุ

เมื่อเห็นดวงใสแจ่มบังเกิดขึ้นอย่างนี้ละก็  เลิกบริกรรมภาวนาได้  ทีนี้ รวมใจให้หยุดในหยุดลงไปที่ศูนย์กลางดวงนี้แหละ  จะเห็นที่หมายเป็นจุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม ที่กลางดวงนั้น ให้วางใจหยุดในหยุดลงไปที่ศูนย์กลางนั้น  พอถูกส่วนเข้า  ดวงใสเดิมนั้นก็จะว่างหายไป  แล้วก็จะเกิดดวงใหม่ขึ้นมาอีก  ใสละเอียดหนักยิ่งกว่าเก่า คือ ดวงศีล อันเป็นปัจจุบันศีลในทางปฏิบัติ ของผู้มีกาย วาจา และใจ บริสุทธิ์ ด้วยการกล่าวแต่วาจาที่ชอบ การประกอบกรรมที่ชอบ และการเลี้ยงชีพชอบ  

หยุดในหยุดลงไปที่กลางดวงศีลนั่นแหละ พอใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนเข้า ดวงศีลจะว่างหายไป แล้วจะเห็น ดวงสมาธิ ผุดลอยขึ้นมาแทนที่  เป็นสมาธิของผู้มีจิตอันพร้อมด้วยความเพียรชอบ ระลึกชอบ และตั้งใจมั่นชอบ อันเป็นจิตที่ควรแก่งานวิปัสสนาให้เกิดปัญญารู้แจ้งในสัจจธรรม

รวมใจหยุดในหยุดลงไปที่กลางดวงสมาธิ  พอใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนเข้า ดวงสมาธิจะว่างหายไป แล้วปรากฏดวงใสสว่างเกิดขึ้นมาใหม่ ใสละเอียดกว่าเดิม  มีรัศมีสว่างยิ่งนัก  คือ ดวงปัญญา เป็นปัญญาที่พร้อมด้วยความเห็นชอบ และดำริชอบ

หยุดในหยุดอยู่ที่กลางดวงปัญญาต่อไปอีก  เมื่อใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนเข้า  ดวงปัญญาจะว่างหายไป แล้วปรากฏดวงใสสว่างเกิดขึ้นมาใหม่ คือ ดวงวิมุตติ ใสละเอียดกว่าเดิม  มีรัศมีสว่างยิ่งนัก  เป็นปัจจุบันธรรมของจิตที่สะอาดบริสุทธิ์จากกิเลสของมนุษย์ ได้แก่ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ นั่นเอง   การหลุดพ้นดังกล่าวนี้ เป็นเบื้องต้น คือเป็นการหลุดพ้นด้วยการข่มกิเลส เรียกว่า วิกขัมภนวิมุตติ  อันจะเป็นแนวทางไปสู่การหลุดพ้นอย่างถาวร ที่เรียกว่า สมุจเฉทวิมุตติ ต่อไป

หยุดในหยุดลงไปที่กลางดวงวิมุตตินั่น พอหยุดถูกส่วนเข้า  ก็จะถึง  ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ

เมื่อรวมใจหยุดนิ่งลงไปที่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ  ถูกส่วนเข้า ก็จะถึง กายมนุษย์ละเอียด หรือ กายฝัน  มีลักษณะหน้าตาเหมือนกับผู้ปฏิบัติทุกประการ แต่สวยละเอียดประณีตกว่าการมนุษย์หยาบ  นั่งในท่าขัดสมาธิ หันหน้าไปทางเดียวกับเรา  

ถ้าเห็นแล้วอย่างลังเลสงสัย  สวมความรู้สึกเข้าไปเป็นกายใหม่นั้นเลย ทิ้งความรู้สึกอันเนื่องด้วยกายหยาบนี้ สวมความรู้สึกเข้าเป็นไปกายมนุษย์ละเอียด ใสละเอียด อยู่นั่นแหละ  หยุดในหยุดกลางของหยุด ให้ใสละเอียดทั้งดวงทั้งกายทั้งองค์ฌาน  ทำอย่างนี้เรื่อยไปทีละกายๆ ไปจนสุดละเอียดถึงธรรมกาย  โตใหญ่ใสละเอียดไปตามกาย  ไม่ถอยคืนออกมา (คือไม่ถอนออกจากสมาธิ)

บางท่านอาจจะเห็นข้ามขั้นตอน ไปเห็นธรรมกายเลยก็มี  กายพระพุทธรูปขาวใส บริสุทธิ์ เกตุดอกบัวตูม  ปรากฏขึ้นมา ณ ศูนย์กลางกายนั้นเอง

ให้รวมใจหยุดลงไป ณ ศูนย์กลางกายมนุษย์ละเอียดนั้นต่อไปอีก  ก็จะเห็นดวงธรรม ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ และดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ตามลำดับ  แล้วก็จะถึง กายทิพย์หยาบ-ทิพย์ละเอียด ตามลำดับ  ใตใหญ่ใสสว่างกว่าเดิม แพรวพราวสวยงาม  ก็ดับหยาบไปหาละเอียด เป็นกายทิพย์นั้นต่อไป

โดยวิธีเจริญภาวนาให้ใจหยุดในหยุด ผ่านดวงธรรม ดวงศีล ฯลฯ  ของทิพย์ละเอียด หลุดพ้นจากกิเลสกลางของทิพย์ ได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ  แล้วก็จะถึง กายรูปพรหมหยาบ-รูปพรหมละเอียด ตามลำดับ  ก็จะเห็นกายและดวงธรรมของรูปพรหม  ใสสะอาด บริสุทธิ์ และมีรัศมีสว่างยิ่งกว่าของกายทิพย์  แต่รูปพรหมยังมีกิเลสที่ค่อนไปทางละเอียดอยู่อีก คือ ราคะ โทสะ และโมหะ

ให้ใจของรูปพรหมหยุดลงไปที่ศูนย์กลางกาย  ผ่านดวงธรรม ดวงศีล ฯลฯ  ก็จะหลุดพ้นจากกิเลสเหล่านี้ แล้วก็จะถึง กายอรูปพรหมหยาบ-อรูปพรหมละเอียด ซึ่งใสละเอียด มีรัศมีสว่างยิ่งขึ้นไปอีก  แต่รูปพรหมยังมีกิเลสที่ละเอียดอยู่ คือ ปฏิฆะ กามราคะ และอวิชชา

เมื่อรวมใจหยุดนิ่งลงไป ณ ศูนย์กลางกายอรูปพรหม เจริญภาวนาผ่านดวงธรรมต่างๆ อีก  ก็จะหลุดพ้นจากกิเลสของกายโลกิยะทั้งหมด  ก็จะเข้าถึง กายธรรม คือ ธรรมกาย เริ่มตั้งแต่ ธรรมกายโคตรภูหยาบ-โคตรภูละเอียด ซึ่งธาตุธรรมยังอ่อนอยู่  จึงต้องเจริญภาวนาต่อไปตามแนวเดิมนี้อีก  ก็จะถึง 

  • ธรรมกายพระโสดาหยาบ-พระโสดาละเอียด
  • ธรรมกายพระสกิทาคาหยาบ-พระสกิทาคาละเอียด
  • ธรรมกายพระอนาคาหยาบ-พระอนาคาละเอียด
  • ธรรมกายพระอรหัตหยาบ-พระอรหัตละเอียด

ซึ่งช่วยให้หลุดพ้นจากสัญโญชน์กิเลสเครื่องร้อยรัดให้ติดอยู่กับโลกเป็นชั้นๆ ไป จากหยาบไปหาละเอียด

เมื่อถึงกายพระอรหัตละเอียดแล้ว เจริญภาวนาต่อไปก็จะสามารถวิมุตติหลุดพ้นจากอาสวะ กิเลส ตัณหา อุปาทาน เป็นการถาวร เป็นสมุจเฉทปหานได้.

2. วิธีพิสดารกาย สุดกายหยาบกายละเอียด

สำหรับผู้ปฏิบัติได้ถึง 18 กายแล้ว ให้ฝึกพิสดารกายสุดกายหยาบกายละเอียดอีกต่อไป ให้เป็นวสี คือ ให้คล่องแคล่ว ชำนาญ เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการเจริญวิชชาชั้นสูง และทำนิโรธดับสมุทัย (ไม่ใช่นิโรธสมาบัติ) วิธีปฏิบัติคือ

เบื้องต้น ให้รวมใจของทุกกายอยู่ ณ ศูนย์กลางธรรมกายอรหัตที่สุดละเอียด คือ ให้ศูนย์กลางดวงธรรม และ เห็น-จำ-คิด-รู้ (คือใจ) ของแต่ละกาย จากกายสุดหยาบ (คือกายมนุษย์) ต่อๆ ไปจนสุดละเอียด (คือ ธรรมกายอรหัตละเอียด) ซ้อนอยู่ตรงกลางของกลางซึ่งกันและกัน จากกายสุดหยาบถึงกายสุดละเอียด แล้วเราทำใจของเราเป็นธรรมกายอรหัตที่สุดละเอียด คือดับหยาบไปหาละเอียดอยู่เสมอแล้ว

ใจของธรรมกายหยุดนิ่ง (เพ่ง) ลงที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หยาบจนใสละเอียด จนหยุดนิ่งถูกส่วน ศูนย์กลางจะขยายว่างออกไป แล้วจะปรากฏกายมนุษย์ละเอียดขึ้นมาใหม่ ก็หยุดในหยุด กลางของหยุด กลางของกลางๆๆ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดนั้นอีกต่อไป หยุดนิ่งถูกส่วน ก็จะปรากฏกายมนุษย์ละเอียดในกายมนุษย์ละเอียด ต่อๆ ไปจนสุดละเอียด หยุดนิ่ง กลางของกลางๆๆ ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด ที่สุดละเอียดนั้นต่อไป ถูกส่วนเข้า ศูนย์กลางดวงธรรมจะขยายว่างออกไป แล้วจะปรากฏกายทิพย์ขึ้นมาใหม่ โตใหญ่ ใสละเอียด เป็น 2 เท่าของกายมนุษย์

ก็ให้หยุดนิ่ง (เพ่ง) ลงที่ศูนย์กลางกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ต่อไปให้ใสแจ่ม ก็จะปรากฏกายทิพย์ในกายทิพย์ต่อๆ ไป จนสุดละเอียด … แล้วก็จะปรากฏกายรูปพรหมในกายรูปพรหมต่อๆ ไปจนสุดละเอียด ก็ให้ปฏิบัติไปแบบเดียวกัน ถึง กายอรูปพรหม ในกายอรูปพรหม จนสุดละเอียด    ธรรมกายโคตรภู ใน ธรรมกายโคตรภู จนสุดละเอียด    ธรรมกายพระโสดาบัน ในธรรมกายพระโสดาบัน จนสุดละเอียด    ธรรมกายพระสกิทาคามี ในธรรมกายพระสกิทาคามี จนสุดละเอียด    ธรรมกายพระอนาคามี ใน ธรรมกายพระอนาคามี จนสุดละเอียด    ธรรมกายพระอรหัต ในธรรมกายพระอรหัต จนสุดละเอียด    ให้ใสละเอียด ทั้งดวงทั้งกาย และทั้งองค์ฌาน (ปรากฏเหมือนอาสนะรองรับกายละเอียด สัณฐานกลมใสรอบตัว หนาประมาณ 1 ฝ่ามือของแต่ละกายละเอียด จะมีประจำทุกกาย ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียดไปจนสุดกายละเอียด)

นี้เรียกว่า การพิสดารกาย สุดกายหยาบ-กายละเอียด

3. วิธีเจริญสมาธิ: รูปฌาน 4

ผู้ที่ถึงธรรมกาย และเจริญภาวนาจนถึง 18 กายแล้ว ก็ให้รวมใจทุกกายให้อยู่ ณ ศูนย์กลางกายพระอรหัตองค์ที่ละเอียดที่สุด แล้วใจของธรรมกายพระอรหัตก็เพ่งลงไปที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เมื่อใจหยุดได้ถูกส่วน ประกอบด้วยองค์ 5 ได้แก่ วิตก วิจาร คือ ตรึกตรองประคองนิมิต ปีติ สุข และเอกัคคตา ก็จะเห็นองค์ฌานปรากฏขึ้นรองรับกายมนุษย์ เหมือนดังอาสนะรองรับที่นั่งฉะนั้น มีลักษณะเป็นวงกลมใส ส่วนหนาประมาณหนึ่งคืบ ขนาดกว้างเต็มหน้าตักพองาม องค์ฌานที่เห็นเกิดขึ้นนี้ไม่เฉพาะแต่กับกายมนุษย์เท่านั้น หากแต่ปรากฏขึ้นรองรับกายทุกกายจนถึงกายพระอรหัตพร้อมกันหมด นี้เป็นปฐมฌาน

แล้วใจของธรรมกายก็เพ่งไปที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์หยาบและทิพย์ละเอียดต่อไปอีก เมื่อใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนละเอียดหนักเข้า จนละวิตก วิจาร ได้ องค์ฌานเดิมก็จะว่างหายไป แล้วปรากฏองค์ฌานใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่อีก ใสละเอียดกว่าเดิมทั้งฌานและกาย นี้เป็น ทุติยฌาน

ใจของธรรมกายก็เพ่งลงไปที่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมหยาบและรูปพรหมละเอียดอีก เมื่อใจหยุดถูกส่วน และละเอียดหนักเข้า จนปีติหมดไป องค์ฌานเดิมก็จะว่างหายไป แล้วปรากฏองค์ฌานเกิดขึ้นมาใหม่ ใสละเอียดกว่าเก่า ทั้งฌานและกาย นี้เป็น ตติยฌาน

ใจของธรรมกายก็เพ่งลงไปที่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมหยาบและอรูปพรหมละเอียดอีกต่อไป เมื่อใจหยุดนิ่งถูกส่วน ละเอียดหนักเข้า จนสุขหายไป คงเหลือแต่เอกัคคตาจิต คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง นิ่งเป็นอุเบกขาอยู่ องค์ฌานเดิมก็จะว่างหายไป และปรากฏองค์ฌานใหม่เกิดขึ้นแทนที่ ใสละเอียดยิ่งกว่าเดิม ทั้งฌานและกาย นี้เป็น จตุตถฌาน

เมื่อเข้าใจวิธีเข้าฌานสมาบัติตั้งแต่เบื้องต้น ปฐมฌาน ไปจนถึงจตุตถฌาน โดยอนุโลม (ตั้งแต่ต้นไปหาปลาย) แล้ว ก็จงฝึกหัดถอยกลับจาก จตุตถฌาน ลงมาถึง ปฐมฌาน เป็น ปฏิโลม (จากปลายมาหาต้น) ให้เกิดความชำนาญ (วสี) ทั้งในการเข้าการออก การทรงฌานและการพิจารณาอารมณ์ฌานเหล่านี้ให้แม่นยำ

วิธีเจริญวิชชา 3

1. อาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า: วิชชา 3    2. วิธีเจริญวิชชา 3 ถึงมรรคผลนิพพาน

1. อาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า: วิชชา 3

เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ เภสกฬมิคทายวัน เขตนครสุงสุมารคิระ ในภัคคชนบท ได้รับอาราธนาของโพธิราชกุมารไปรับภัตตาหารและเสวย ณ โกกนุทปราสาทของโพธิราชกุมาร ครั้นเสวยเสร็จแล้ว สมเด็จพระผู้มีพระภาคได้ตรัสสนทนากับโพธิราชกุมารว่า

ทรงบรรลุฌาน 4

“ครั้นเราบริโภคอาหารหยาบ มีกำลังขึ้นแล้ว ก็สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่.
บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขผู้ได้ฌานเกิดแต่สมาธิอยู่.
มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ตติยฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข.
บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.”

ทรงบรรลุวิชชา (ญาณ) 3

“เรานั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่อ “ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ” เรานั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ เรานั้นย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุทเทส  ด้วยประการฉะนี้. ราชกุมาร นี้เป็นวิชชาที่ 1 ที่ เราได้บรรลุแล้ว ในปฐมยามแห่งราตรี. อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว แก่อาตมภาพผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่.

เรานั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่อ “จุตูปปาตญาณ” รู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เรานั้นย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพพจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ด้วยประการฉะนี้. ราชกุมาร นี้เป็นวิชชาที่ 2 ที่เราได้บรรลุแล้ว ในมัชฌิมยามแห่งราตรี. อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว แก่เราผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่.

เรานั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่อ “อาสวักขยญาณ” ได้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ เหล่านี้อาสวสมุทัย เหล่านี้อาสวนิโรธ เหล่านี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา. เมื่อเรานั้นรู้เห็นอย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นแล้ว แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.    ราชกุมาร นี้เป็นวิชชาที่ 3 ที่อาตมภาพได้บรรลุแล้ว ในปัจฉิมยามแห่งราตรี.  อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว แก่เราผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่.

ราชกุมาร เรานั้นได้มีความคิดเห็นว่า ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ เป็นธรรมลึก ยากที่จะเห็นได้ สัตว์อื่นจะตรัสรู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบระงับ ประณีต อันบัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง.

ม.ม.13/755-757/686-688

2. วิธีเจริญวิชชา 3 ถึงมรรคผลนิพพาน

เมื่อเจริญฌานสมาบัติโดยอนุโลมและปฏิโลม  ให้ทุกกาย สุดกายหยาบกายละเอียด ถึงธรรมกายใสบริสุทธิ์ดีแล้ว

ให้รวมใจของทุกกายให้หยุดอยู่ ณ ศูนย์กลางกายพระอรหัตองค์ที่ละเอียดที่สุด รวมดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด และดวงรู้ ให้หยุดในหยุดนิ่งลงไปที่กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม ณ ศูนย์กลางกายนั้นแหละ มีที่หมายตรงต้นสายกำเนิดธาตุธรรมเดิมนั้นเป็นจุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม ก็ให้หยุดในหยุดกลางของหยุด แล้วอธิษฐานให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของตนเองถอยหลังสืบต่อไปถึงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว, เดือนที่แล้ว, ปีที่แล้ว, ลงไปจนถึงตอนที่เป็นเด็ก ให้รวมใจ คือความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ให้หยุดในหยุดลงไปที่กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม ของกายเดิมที่เห็นครั้งสุดท้ายต่อไปเรื่อยๆ จากที่เป็นเด็ก ก็ไปถึงสภาพที่เป็นเด็กแดงๆ, แล้วก็ถอยหลังสืบเข้าไปตามสายธาตุธรรมเดิม ถึงที่เป็นเด็กทารกในครรภ์ของมารดา, แล้วก็ไปถึงในขณะที่ตั้งปฏิสนธิวิญญาณ เป็นกลลรูป, ถอยสืบเข้าไปถึงในขณะที่มาปฏิสนธิในครรภ์มารดา ด้วยกายมนุษย์ละเอียดหรือกายทิพย์

แล้วก่อนที่จะมาปฏิสนธิก็เป็นกายละเอียดมาตกศูนย์ พักอยู่ ณ ศูนย์กลางกายบิดาชั่วคราว

อธิษฐานให้เห็นสภาพของตนเองตามสายธาตุธรรม สืบถอยหลังไปถึงตอนที่จุติคือเคลื่อนจากสังขารร่างกายเดิมของชาติที่แล้ว นี้นับเป็นชาติหนึ่ง, เมื่อเห็นชัดดีแล้ว ก็รวมเห็นจำคิดรู้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม อธิษฐานให้เห็นอัตตภาพและความเป็นไปของตนเองให้ชัดว่ามีสภาพความเป็นมาอย่างไร ในชาตินั้นตนเองเกิดเป็นอะไร มีเทือกเถาเหล่ากออย่างไร มีทุกข์มีสุข มั่งมีหรือยากจนขัดสนกันดารอย่างไร เพราะผลบุญหรือผลบาปอะไร พยายามน้อมใจอันประกอบด้วยความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ให้หยุดนิ่ง ในกลางของกลางๆๆ ไปเรื่อย ก็จะเห็นได้ชัดเจนและแม่นยำ แล้วก็ดำเนินไปในแบบเดิม อธิษฐานดูอัตตภาพและสภาพความเป็นไปของตนเอง ถอยหลังสืบเข้าไปทีละชาติๆ เมื่อกระทำชำนาญเข้าก็จะสามารถระลึกชาติได้เร็วขึ้น แต่จะต้องหยุดในหยุดลงไปที่ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม ตามสายธาตุธรรมเดิม ถอยหลังสืบต่อเข้าไปเสมอ จึงจะแม่นยำ มิฉะนั้นการรู้เห็นอาจจะเล่ห์คือผิดพลาดได้ เมื่อจะหยุดพัก ก็ให้อธิษฐานกลับตามสายธาตุธรรมเดิมจนมาถึงชีวิตปัจจุบันอีกเช่นกัน

นี้เป็น วิชชาที่ 1 ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

ต่อไป ให้ฝึกระลึกให้เห็นอัตตภาพและสภาพความเป็นไปของตนเองต่อไปในอนาคต ก็ปฏิบัติในทำนองเดียวกัน คือรวมใจอันประกอบด้วยความเห็น ความจำ ความคิด และความรู้ ให้หยุดเป็นจุดเดียวกัน ณ กำเนิดธาตุธรรมเดิมของกายปัจจุบัน ตั้งจิตอธิษฐานให้เห็นความเป็นไปหรือสภาพของตนเองในวันรุ่งขึ้น, ในสัปดาห์หน้า, ในเดือนหน้า, ในปีหน้า, ในห้าปีข้างหน้า, ในสิบปีข้างหน้า, ต่อๆ ไปจนกระทั่งถึงวันที่ตนเองจะกระทำกาลกิริยาคือตาย ดูความเป็นไปสืบต่อไปข้างหน้าให้เห็นสภาพความเป็นไปในชีวิตของตนเอง พร้อมด้วยอธิษฐานให้เห็นวิบากกรรมว่าเป็นด้วยผลบุญกุศลหรือผลบาปอกุศลกรรมใด ที่จะเป็นผลให้ได้รับความสุขหรือความทุกข์เดือดร้อนในชีวิตแต่ละช่วงที่ได้พบเห็นนั้น เป็นตอนๆ ไป จนกระทั่งจุติละจากโลกนี้ไป

ในกรณีที่ประสงค์จะระลึกชาติของผู้อื่นก็ดี หรือจะดูปัจจุบันและอนาคตของผู้อื่นก็ดี ก็ปฏิบัติในทำนองเดียวกัน คือเพียงแต่น้อมเอาธาตุธรรมของผู้ที่เราประสงค์จะทราบอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตของผู้นั้น มาตั้งที่ศูนย์กลางกายของเราเอง แล้วรวมเห็นจำคิดรู้ของเราและของเขาให้หยุดรวมกันเป็นจุดเดียวตรงศูนย์กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมของเขา แล้วอธิษฐานระลึกให้เห็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตของผู้นั้นไปตามสายธาตุธรรมเดิมของเขา ก็จะสามารถรู้เห็นได้เช่นเดียวกัน

เมื่อประสงค์จะทราบว่าสัตว์หรือมนุษย์ที่ละหรือตายจากโลกนี้ไปแล้ว จะไปบังเกิดในภพภูมิใด ด้วยผลบุญกุศลหรือผลบาปอกุศลใด ก็ให้ปฏิบัติไปตามวิธีที่ได้เคยแนะนำไปแล้ว คือ

รวมใจของทุกกายให้หยุดนิ่งอยู่ตรงศูนย์กลางกายพระอรหัตองค์ที่ละเอียดที่สุด หยุดตรึกนิ่ง ขยายข่ายของญาณพระธรรมกายพระอรหัตให้โตจนเต็มภพ 3 แล้วจึงน้อมเอาภพ 3 เข้ามาเป็นกสิณ คือเอามาตั้งไว้ ณ ศูนย์กลางกายพระอรหัตนั้นแหละ อาศัย “ตา” หรือ “ญาณ” พระธรรมกายตรวจหาดูจนตลอดภพ 3 ว่าผู้ที่ตายไปแล้วได้ไปบังเกิดในภพภูมิใด ก็จะสามารถเห็นได้

ถ้าในภพ 3 ยังไม่เห็น ก็ให้ตรวจดูไปถึงอายตนะโลกันต์ ซึ่งอยู่นอกภพ 3 ออกไป ในขณะที่ตรวจดูคติใหม่ของผู้ตายไปตลอดภพนี้ ให้น้อมใจเข้าสู่กลางของกลางๆๆ อยู่เสมอ เพื่อให้ธาตุธรรมใสสะอาดและสมาธิตั้งมั่นดี การรู้เห็นจึงจะแม่นยำ เมื่อพบแล้ว ก็ไต่ถามถึงบุพพกรรมที่ทำให้เขามาเสวยวิบากกรรมคือผลบุญกุศลหรือผลบาปอกุศลในภพใหม่นี้ ก็จะทราบได้ นี่หมายเฉพาะสัตว์หรือมนุษย์ที่ยังไม่บรรลุพระอรหัตตผล ก็จะเห็นเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ 3 หรืออายตนะโลกันต์นี้

แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ที่ดับขันธ์เข้าปรินิพพานด้วย “อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ” แล้ว ก็จะพบธรรมกายของท่านประทับอยู่ในนิพพาน

นี้เป็นการน้อมเข้าสู่ “จุตูปปาตญาณ” อย่างง่าย หากกระทำชำนาญแล้วก็จะสามารถรู้เห็นได้เร็ว

ยังมีวิธีที่ละเอียดพิสดารต่อไปอีก ซึ่งสามารถให้รู้เห็นทั้งกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม เป็นทั้งภายในและภายนอก

วิธีปฏิบัติ ก็ให้น้อมเอาธาตุธรรมของผู้ที่ตายไปแล้วมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกาย แล้วรวมเห็น จำ คิด รู้, ธาตุเห็น ธาตุจำ ธาตุคิด ธาตุรู้, ที่ตั้ง/เห็น จำ คิด รู้ ของเราให้ตรงกันกับของเขา เป็นจุดเดียวกัน ตรงศูนย์กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม แล้วอธิษฐานให้เห็นจุติและปฏิสนธิของเขาเป็นขั้นๆ ไป นับตั้งแต่ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เริ่มจะดับ หรือในขณะที่จิตกำลังเข้าสู่ “มรณาสันนวิถี”* นั้น ก็จะเห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายของสัตว์หรือมนุษย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอากาศโลก ขันธโลก และสัตว์โลก ได้แก่ เห็น จำ คิด รู้ ของสัตว์นั้น จะดับคือตกศูนย์ลงไปยังศูนย์กลางกายฐานที่ 6 ตรงระดับสะดือพอดี แล้วดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายละเอียดหรือกายทิพย์ ซึ่งจะทำหน้าที่สืบต่อไปใหม่นั้น จะผุดลอยขึ้นมายังศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เหนือระดับสะดือสองนิ้วมือ แล้วกายละเอียดหรือกายทิพย์นั้นก็จะผ่านไปยังศูนย์ต่างๆ กล่าวคือ ฐานที่ 6, แล้วก็ฐานที่ 5 ตรงปากช่องลำคอ, ฐานที่ 4 ตรงเพดานปาก, ฐานที่ 3 ตรงกลางกั๊กศีรษะ, ฐานที่ 2 ตรงหัวตาด้านใน (หญิงทางด้านซ้าย ชายทางด้านขวา), แล้วก็ออกไปทางฐานที่ 1 คือช่องจมูก (หญิงทางด้านซ้าย ชายทางด้านขวา) เพื่อไปเกิดในภพภูมิใหม่ตามผลบุญหรือผลบาปที่กำลังให้ผลอยู่ในขณะนั้นต่อไป

กายที่กำลังไปแสวงหาที่เกิดนี้เรียกว่า “กายสัมภเวสี” ส่วนกายที่ได้ปฏิสนธิหรือเกิดแล้ว เรียกว่า “กายทิพย์”

มีข้อสังเกตว่า ในขณะที่กาย ใจ จิต วิญญาณ หรือขันธ์ทั้ง 5 ของสัตว์หรือมนุษย์กำลังจะแตกดับหรือตายนั้น ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย อันเป็นที่ตั้งของดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด และดวงรู้ ของกายเดิมจะดับ คือตกศูนย์ลงไปยังศูนย์กลางกายฐานที่ 6 ตรงระดับสะดือพอดี นั้นเอง ที่สัตว์หรือมนุษย์ซึ่งกำลังใกล้จะตายนั้นมีอาการสยิ้วหน้า บิดตัวหรือไขว่คว้าเมื่อเวลาใกล้จะตาย เพราะแรงดึงดูดของอายตนะภพใหม่ที่จะทำให้ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายละเอียดหรือกายทิพย์ แยกขาดออกจากดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย (เนื้อ) ของมนุษย์หรือสัตว์ผู้ที่กำลังจะตายนั้นเอง

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ ญาณพระธรรมกายจะช่วยให้เห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์หรือสัตว์นั้น และจิตของสัตว์นั้นเอง “ดับ” แล้วก็ “เกิด” ใหม่อีก เป็นช่วงๆ ตามผลบุญกุศลหรือบาปอกุศล กล่าวคือ

ถ้าขณะใกล้ตาย คือในระหว่างที่จิตเข้าสู่มรณาสันนวิถีนั้น จิตเป็นกุศล แต่บุญบารมียังไม่พอที่จะหลุดพ้นจากกิเลสได้โดยสิ้นเชิง อายตนะของสุคติภพ ได้แก่ โลกมนุษย์ เทวโลก หรือพรหมโลก ก็จะดึงดูดกายละเอียดหรือกายทิพย์นั้นไปบังเกิดในภพหรือภูมิด้วยแรงกุศลกรรม ตามกำลังแห่งบุญบารมีของผู้นั้นต่อไป กิริยาที่กาย ใจ จิต และวิญญาณดับเกิดๆๆ เพื่อเปลี่ยนจากภพหรือภูมิหนึ่ง ไปสู่ภพหรือภูมิที่สูงกว่าทีละขั้นๆ ไปจนกว่าจะถึงภูมิที่พอดีกับกำลังบุญกุศลที่ให้ผลอยู่นั้น อุปมาดั่งงูลอกคราบ หรือดั่งบุคคลถอดแบบฟอร์มเครื่องแต่งตัวจากฟอร์มหนึ่งไปสู่ฟอร์มที่สวย ละเอียด ประณีตกว่าฉะนั้น

แต่ถ้าจิตในขณะใกล้จะตาย เป็นอกุศล หรือสิ้นวาสนาบารมี อายตนะทุคคติภพ ได้แก่ อายตนะภพของเปรต, อสุรกาย, สัตว์นรก, หรือสัตว์เดรัจฉาน ก็จะดึงดูดดวงธรรมและกายละเอียดของผู้นั้นให้ไปบังเกิดในภพหรือภูมินั้นด้วยแรงอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้ ตามส่วนแห่งอำนาจของผลบาปอกุศลที่กำลังให้ผลต่อไป

ญาณหยั่งรู้จุติปฏิสนธิของสัตว์นี้ เรียกว่า “จุตูปปาตญาณ” ให้ฝึกฝนปฏิบัติให้ชำนาญ ในระยะเริ่มแรกจะต้องกระทำเป็นขั้นตอนตามสายธาตุธรรมเดิมเสมอไป แม้จะติดขัดบ้างก็จะเป็นแต่เพียงในระยะต้นๆ หรือที่จิตยังไม่ละเอียดดีพอ ต่อไปก็จะค่อยๆ ชำนาญไปเอง

แต่มีหลักสำคัญอยู่ว่า เมื่อรู้เห็นแล้วก็อย่าคะนองใจว่าตนเก่งกล้าแล้ว พยากรณ์ให้แก่ผู้อื่นฟัง หรือโอ้อวดในคุณธรรมของตน อันจะเป็นทางเสื่อมอย่างยิ่ง

อนึ่ง การน้อมเข้าสู่ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เพื่อดูขันธ์ของตนเองและของผู้อื่นในชาติภพก่อนๆ ก็ดี หรือการน้อมเข้าสู่จุตูปปาตญาณเพื่อดูจุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายก็ดี หากได้ยกวิปัสสนาญาณขึ้นพิจารณาทบไปทวนมาด้วยแล้ว ย่อมมีลักษณะที่เป็นสติปัฏฐาน 4 ไปในตัวเสร็จ กล่าวคือ

การพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และ ธรรมในธรรม เป็นภายในบ้าง เป็นภายนอกบ้าง, เป็นทั้งภายในและภายนอกบ้าง ดังที่กล่าวมาแล้วเนืองๆ อยู่ ก็จะเห็นชัดในสามัญญลักษณะ คือความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาของสังขารธรรมทั้งหลาย ที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งอย่างชัดแจ้ง จนเห็นเป็นธรรมดาในความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของสังขารของสัตว์ทั้งหลาย ช่วยให้เกิดธรรมสังเวชสลดใจในการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลายที่ยังติดอยู่ในสังสารจักรและไตรวัฏฏะ คือ กิเลสวัฏฏะ กรรมวัฏฏะ และวิปากวัฏฏะ อยู่ในภพ 3 นี้ไม่มีที่สิ้นสุด ไปนรกบ้าง สวรรค์บ้าง มนุษย์บ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง เป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เปลี่ยนแปลงไปต่างๆ น่าสะพรึงกลัวและน่าเบื่อหน่ายยิ่งนัก ต้องทิ้งสมบัติพัสถาน บุตร ภรรยา และบิดามารดาแต่เก่าก่อน หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามเครื่องล่อเครื่องหลง ดุจดังว่าความฝัน เอาเป็นของเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้ เป็นอย่างนี้หมดทั้งตัวเราเองและสัตว์อื่น เหมือนกันหมด ทุกรูปทุกนาม แล้วให้ยกวิปัสสนาญาณทั้ง 10 ประการ ขึ้นพิจารณา ทบไปทวนมา ทับทวีให้มากเข้า ก็จะเห็นภัยในวัฏฏสงสาร บังเกิดธรรมสังเวชสลดจิตคิดเบื่อหน่ายในสังขารและนามรูป เมื่อปัญญารู้แจ้งสว่างชัดขึ้น ทำลายอวิชชาเป็นมูลรากฝ่ายเกิดดังนี้ ตัณหาและทิฏฐิก็เบาบางหมดไปตามระดับคุณธรรมที่ปฏิบัติได้ สามารถปล่อยวางอุปาทานในขันธ์ 5 ได้ยิ่งขึ้น สิ้นรัก สิ้นใคร่ สิ้นอาลัยยินดีในการครองขันธ์และทำนุบำรุงขันธ์เกินความจำเป็น เมื่อรู้เห็นเช่นนี้ แม้อยากจะไปเสียให้พ้นจากสังขารนี้ ก็ยังไม่อาจจะกระทำได้ เหมือนดังนกที่ติดอยู่ในกรง หรือปลาที่ติดเบ็ด จึงได้แต่วางเฉย เพิกเฉยในสังขาร เป็น สังขารุเปกขาญาณ

แล้วจึงยกจิตนั้นขึ้นให้บริสุทธิ์ ใสสะอาดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย โดยน้อมไปเพื่อ อาสวักขยญาณ พิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรม อันมีนัยอยู่ในอริยสัจ ให้เห็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ สภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ และหนทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ เพื่อกระทำอาสวะให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ เป็นพระอรหันตขีณาสพผู้มีอาสวะสิ้นแล้วต่อไป ด้วยการนำเอาญาณทั้ง 2 ในเบื้องต้น คือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ และ จุตูปปาตญาณ นั้นมาเป็นอุปการะให้สิ้นดังนี้

เมื่อธรรมกายพระโสดาปัตติมรรคปรากฏขึ้นละสัญโญชน์เบื้องต่ำ 3 ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสได้แล้ว จะตกศูนย์ ปรากฏเป็นธรรมกายพระโสดาปัตติผลบังเกิดขึ้นเต็มส่วน ขนาดหน้าตัก ความสูงและเส้นผ่าศูนย์กลางดวงธรรม 5 วาเต็ม ขาว ใส บริสุทธิ์ มีรัศมีปรากฏ เห็นได้ชัดเจนตลอดเวลา และก็จะมีญาณหยั่งรู้ถึงการบรรลุพระโสดาปัตติผลนั้น

เมื่อธรรมกายพระสกิทาคามิมรรคปรากฏขึ้นละกิเลสจนเหลือโลภะ โทสะ และโมหะ ที่เบาบางลงมากแล้ว จะตกศูนย์ ปรากฏเป็นธรรมกายพระสกิทาคามิผล มีขนาด 10 วา ขาว ใสบริสุทธิ์ และมีรัศมีสว่างยิ่งขึ้นไปอีก จนผู้ปฏิบัติธรรมนั้นเห็นชัดเจนอยู่ตลอดเวลา ก็จะมีญาณหยั่งรู้ถึงการบรรลุพระสกิทาคามิผลนั้น

เมื่อธรรมกายพระอนาคามิมรรคปรากฏขึ้นละสัญโญชน์เบื้องต่ำได้อีก 2 คือ ปฏิฆะและกามราคะแล้ว จะตกศูนย์ และจะปรากฏธรรมกายพระอนาคามิผลขึ้น เต็มส่วน 15 วา ขาว ใสบริสุทธิ์ มีรัศมีปรากฏยิ่งขึ้นไปอีก จนเห็นธรรมกายพระอนาคามิผลของตนเองชัดเจนอยู่ตลอดเวลา ก็จะมีญาณหยั่งรู้การบรรลุพระอนาคามิผลนั้น

เมื่อธรรมกายพระอรหัตตมรรคปรากฏขึ้นละสัญโญชน์เบื้องสูงอีก 5 ประการ ได้แก่ รูปราคะ อรูปราคะ อุทธัจจะ มานะ และ อวิชชา ได้แล้ว จะตกศูนย์ ปรากฏเป็นธรรมกายพระอรหัตตผล ขยายโตเต็มส่วน มีขนาดหน้าตัก ความสูง และเส้นผ่าศูนย์กลางดวงธรรม 20 วา ขาว ใสบริสุทธิ์ และมีรัศมีสว่างยิ่งนัก เห็นธรรมกายพระอรหัตตผลชัดเจนอยู่ตลอดเวลา แล้วก็จะมีญาณหยั่งรู้การบรรลุพระอรหัตตผลนั้น

วิธีพิจารณาอริยสัจ 4 เข้ามรรคผลนิพพาน

การพิจารณาให้เห็นสัจจะทั้ง 4 แต่ละอย่าง

ทุกขสัจ สมุทัยสัจ  นิโรธสัจ  มรรคสัจ 

วิธีเจริญฌานสมาบัติเข้ามรรคผลนิพพาน

การมีสติพิจารณาเห็นธรรมในธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อริยสัจ 4 นี้ เป็นส่วนสำคัญยิ่ง ของการเจริญสติปัฏฐาน 4 อันเป็น เอกายนมรรค คือ หนทางอันเอก ให้ถึงมรรค ผล นิพพาน โดยทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) คือ อริยมรรคมีองค์ 8    ด้วยว่าอริยสัจ 4 ก็มีอริยมรรคมีองค์ 8 และอริยมรรคมีองค์ 8 เล่า ก็มีสติปัฏฐาน 4 คือ การมีสติพิจารณาเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต และเห็นธรรมในธรรม ทั้ง ณ ภายนอก และ ณ ภายใน

เฉพาะในส่วนของการมีสติพิจารณาเห็นธรรมในธรรม ก็มีตั้งแต่การมีสติพิจารณา นิวรณ์ 5 (อันเป็นธรรมปฏิบัติในขั้นอนุวิปัสสนา) อุปาทานขันธ์ 5  อายตนะ 12  โพชฌงค์ 7  และอริยสัจ 4  ซึ่งก็จะมีข้อกำหนดรวมทั้งอริยมรรคมีองค์ 8  และทั้งสติปัฏฐาน 4  อันจะขยายผลถึงการมีสติพิจารณาเห็นธาตุ 18 อินทรีย์ 22 และ ปฏิจจสมุปบาทธรรม 12 ให้เจริญขึ้นเต็มภูมิวิปัสสนา ตั้งแต่ระดับอนุวิปัสสนาถึงโลกุตตรวิปัสสนา   และยังให้ข้อปฏิบัติอื่นๆ เจริญขึ้น อันเป็นทางให้บรรลุวิชชา ธรรมเครื่องดับอวิชชามูลรากฝ่ายเกิด และเป็นธรรมเกื้อหนุนอริยมรรคให้เจริญขึ้น ถึงความบรรลุมรรคผลนิพพานที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวงและที่เป็นบรมสุข ได้แก่

  1. จรณะ 15 ข้อปฏิบัติอันเป็นทางให้บรรลุวิชชา (ธรรมเครื่องดับอวิชชามูลรากฝ่ายเกิดทุกข์ทั้งปวง) คือ ศีลสัมปทา อินทรีย์สังวร โภชเนมัตตัญญุตา ชาคริยานุโยค ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ วิริยารัมภะ สติ ปัญญา และ รูปฌาน 4
  2. โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ คือ ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ และธรรมเครื่องเกื้อหนุนอริยมรรค ได้แก่ สติปัฏฐาน 4  สัมมัปปธาน 4  อิทธิบาท 4  อินทรีย์ 5  พละ 5 โพชฌงค์ 7 และ อริยมรรคมีองค์ 8

สมเด็จพระผู้มีพระภาคจึงตรัสธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดปัญจวัคคีย์เป็นปฐมเทศนาว่า

“จกฺขุ ํ อุทปาทิ, ญาณํ อุทปาทิ, ปญฺญา อุทปาทิ, วิชฺชา อุทปาทิ, อาโลโก อุทปาทิ …” (สํ.มหา.19/1666-1669/529-530)
“จักษุเกิดขึ้นแล้ว, ญาณ [ความหยั่งรู้-เห็น] เกิดขึ้นแล้ว, ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว, วิชชาเกิดขึ้นแล้ว, ความสว่างแจ้งเกิดขึ้นแล้ว แก่เรา ในธรรมที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ว่า นี้คือทุกข์ … นี้เหตุแห่งทุกข์ … นี้ความดับทุกข์ [สภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ] … นี้ข้อปฏิบัติเพื่อถึงความดับทุกข์ …” 

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ขณะทรงบำเพ็ญสมณธรรมใต้ควงไม้ศรีมหาโพธิ์ ในคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เมื่อ 2588 ปีล่วงมาแล้วนั้น (ปีนี้ พ.ศ.2543) จึงได้ทรงเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาเพื่อเจริญวิชชา ธรรมเครื่องดับอวิชชามูลรากฝ่ายเกิด เริ่มตั้งแต่ วิชชาที่ 1 ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ในยามต้นแห่งราตรี, วิชชาที่ 2 จุตูปปาตญาณ ในยามกลางแห่งราตรี และ วิชชาที่ 3 อาสวักขยญาณ โดยการพิจารณาอริยสัจ 4 และ ปฏิจจสมุปบาทธรรม 12 ในยามปลายแห่งราตรี จนเห็นแจ้งแทงตลอดในอริยสัจ 4 อันเป็นไปในญาณ 3 (คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และ กตญาณ) มีอาการ 12 และมีญาณหยั่งรู้วิธีทำอาสวกิเลสให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในตอนรุ่งอรุณแห่งคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะนั้นเอง

จึงขอแนะนำวิธีเจริญฌานสมาบัติพิจารณาอริยสัจ 4 ตามแนวสติปัฏฐาน 4 ถึงธรรมกาย และพัฒนาขึ้นเป็นวิชชาธรรมกายของพระพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ต่างเป็นธรรมกาย) ที่พระเดชพระคุณ หลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้ปฏิบัติและสั่งสอนศิษยานุศิษย์ มีปรากฏในหนังสือ วิชชามรรคผลพิสดาร เล่มที่ 1 และ เล่มที่ 3 (หนังสืออาสวักขยญาณชั้นสูง) อันเป็นธรรมปฏิบัติส่วนสำคัญของสติปัฏฐาน 4 นี้ มาแสดงไว้ก่อน เพื่อดำเนินตามรอยบาทพระพุทธองค์ ดังต่อไปนี้

สำหรับผู้ถึงธรรมกายแล้ว ก็ให้พิสดารกายไปจนสุดละเอียด และให้สมาธิตั้งมั่นดีเสียชั้นหนึ่งก่อน

ในลำดับนี้ก็จะได้แนะนำการพิจารณาอริยสัจ 4 ให้เห็น ทุกขอริยสัจ สมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ และมรรคอริยสัจ อีกต่อไป

การพิจารณาให้เห็นสัจจะทั้ง 4 แต่ละอย่าง

พึงเข้าใจเสียก่อนว่า

ทุกข์ เป็น ผล,   สมุทัย เป็น เหตุ
นิโรธ เป็น ผล,   มรรค เป็น เหตุ

หรืออีกนัยหนึ่ง เพราะสมุทัย ทุกข์จึงเกิด,  แต่ถ้ามรรคเจริญขึ้นแล้ว นิโรธก็แจ้ง กล่าวคือ เมื่อมรรคเจริญขึ้นแล้ว นิโรธคือสภาวะที่ทุกข์ดับเพราะสมุทัยอันเป็นตัวเหตุดับก็แจ้ง, เมื่อสมุทัยอันเป็นตัวเหตุแห่งทุกข์ดับ ทุกข์ก็ดับลงโดยอัตโนมัติ

1. ทุกขอริยสัจ   

ทุกขอริยสัจนั้นมีลักษณะสัณฐานกลม  มีสีดำๆ ขุ่นมัว  ไม่ผ่องใส   ขยายส่วนหยาบมาจากธาตุละเอียด ซ้อนอยู่ในกลางดวงอัญญาตาวินทรีย์  ในกลางขันธ์ 5 ในกำเนิดธาตุธรรมเดิม มีซ้อนกันอยู่ 4 ชั้น คือ ดวงชาติทุกข์ (ทุกข์เพราะเกิด),  ดวงชราทุกข์ (ทุกข์เพราะแก่),  ดวงพยาธิทุกข์ (ทุกข์เพราะความเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ), และ ดวงมรณทุกข์ (ทุกข์เพราะความตาย)

ในดวงกลมของทุกข์นั้นยังมีหุ้มซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ อีก 4 ชั้น คือ เห็น จำ คิด รู้ และขยายส่วนหยาบออกมาเป็น กาย ใจ จิต และวิญญาณ ของกายมนุษย์ ของทิพย์ ของรูปพรหม และของอรูปพรหม ทั้งหยาบและละเอียด ซึ่งเป็นกายโลกิยะทั้งหมด แต่ทุกข์ส่วนหยาบก็มีอยู่ในกายหยาบคือกายมนุษย์ ทุกข์ส่วนละเอียดก็มีอยู่ในกายที่ละเอียดๆ คือ กายทิพย์ รูปพรหม และอรูปพรหมต่อไป ตามลำดับ

เฉพาะทุกข์ของมนุษย์นั้น ชาติทุกข์ หรือสิ่งที่เรียกว่าเป็นความเกิดนั้น มีลักษณะเป็นดวงกลมใส ขนาดเล็ก เท่าเมล็ดโพธิ์ ขนาดโต เท่าดวงจันทร์ สีขาวบริสุทธิ์ ดวงนี้เองเป็นดวงเริ่มเกิดของมนุษย์ทุกคน ถ้าดวงนี้ไม่มาจรดที่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ (ของมารดา) กายมนุษย์ก็จะมาเกิดไม่ได้

ใช้ตาหรือญาณของธรรมกายดูความเกิดและเหตุที่จะทำให้เกิด ให้เห็นตลอด แล้วก็ดูความแก่ต่อไป

ความแก่ (ชราทุกข์) นี้ซ้อนอยู่ในกลางดวงเกิด (ชาติทุกข์), มีลักษณะกลม สีดำเป็นนิล แต่ไม่ใส ขนาดโตเท่าดวงจันทร์ ขนาดเล็กเท่าฟองไข่แดงของไข่ไก่ เวลาที่ดวงแก่นี้ยังเล็กอยู่ ก็เป็นเวลาที่เริ่มแก่, แต่ถ้าดวงนี้ยิ่งโตขึ้น กายก็ยิ่งแก่เข้าทุกที ดวงแก่นี้เองที่เป็นเหตุให้ร่างกายทรุดโทรม เมื่อแก่มากขึ้นก็ต้องมีเจ็บ (พยาธิทุกข์) เพราะดวงเจ็บนั้นซ้อนอยู่ในกลางดวงแก่นั้นเอง เป็นดวงกลมขนาดเท่าๆ กันกับดวงเกิด ดวงเจ็บนี้มีสีดำเข้มกว่าดวงแก่ ขณะเมื่อดวงเจ็บนี้มาจรดเข้าในศูนย์กลางดวงแก่เข้าเวลาใด กายมนุษย์ก็จะต้องเจ็บไข้ทันที เมื่อดวงเจ็บนี้มาจรดหนักเข้า ดวงตาย (มรณทุกข์) ก็จะเข้ามาซ้อนอยู่ในกลางดวงเจ็บ เป็นดวงกลมขนาดเท่าๆ กับดวงเจ็บ แต่มีสีดำใสประดุจนิลทีเดียว เมื่อดวงนี้เข้ามาจรดกลางดวงเจ็บแล้ว ถ้ามาจรดตรงหัวต่อของกายมนุษย์กับกายทิพย์ พอมาจรดเข้าเท่านั้น หัวต่อของมนุษย์กับทิพย์ก็จะขาดจากกัน เมื่อกายมนุษย์ไม่เนื่องกับกายทิพย์แล้ว กายมนุษย์ก็จะต้องตายทันที

กายมนุษย์ที่เป็นทุกข์นั้น ก็เพราะอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ ว่าเป็นตัวตน บุคคล เรา เขา ของเรา ของเขา จึงได้ชื่อว่า รูปูปาทานักขันโธ, เวทนูปาทานักขันโธ, สัญญูปาทานักขันโธ, สังขารูปาทานักขันโธ และ วิญญาณูปาทานักขันโธ ทั้งนี้ก็เพราะว่า ในขันธ์ทั้ง 5 คือ ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นั้น ต่างก็มีเห็น จำ คิด และรู้ ซ้อนประจำอยู่ แล้วขยายส่วนหยาบออกมาเป็น กาย ใจ จิต และ วิญญาณ เจริญเติบโตขึ้นมาเป็นกายเนื้อ และใจนั่นเอง

ขันธ์ทั้ง 5 นั้น เป็นประดุจดังว่าบ้านเรือนที่อาศัยของเห็น จำ คิด รู้ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นที่ตัวบ้านเรือนที่อาศัย ผู้อาศัยอยู่ คือ เห็น จำ คิด รู้ ซึ่งยึดติดอยู่กับรูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณนั้นเองที่รู้สึกเดือดร้อน เป็นทุกข์ เพราะเข้าไปยึดว่าขันธ์แต่ละขันธ์นั้นว่าเป็นตัวเรา เราเป็นนั้น นั้นมีในเรา นั้นเป็นของเรา ซึ่งรวมเรียกว่า สักกายทิฏฐิ 20 (คือแต่ละขันธ์ มีสักกายทิฏฐิ 4,   ขันธ์ 5 ขันธ์ จึงเป็นสักกายทิฏฐิ 20)

กล่าวโดยย่อ อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์ ดังบาลีพระพุทธภาษิตที่ว่า สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา ซึ่งก็คือ เห็น จำ คิด รู้ นั่นเองที่เข้าไปยึดถือในขันธ์ 5 จึงเป็นทุกข์

อนึ่ง  ทุกข์ที่เกิดขึ้นก็ได้แต่เพียงกำหนดรู้ไว้ว่าเป็นทุกข์เท่านั้น จะดับทุกข์ก็ยังไม่ได้ ถ้าจะดับทุกข์ก็จะต้องละสมุทัยคือเหตุแห่งทุกข์เสียก่อน ทุกข์จึงจะดับ เพราะทุกข์นี้เกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้ก็เพราะอาศัยสมุทัยเป็นเหตุ คือ ทุกข์นั้นอยู่ชั้นนอก สมุทัยซ้อนอยู่ชั้นใน ชั้นนอกจะเกิดขึ้นได้และเจริญอยู่ได้ก็เพราะอาศัยชั้นในรักษา ถ้าชั้นในซึ่งเป็นใจกลางดับ ชั้นนอกซึ่งเป็นเสมือนเปลือกหุ้มอยู่ก็ต้องดับตามไปด้วย เพราะเหตุนั้น การดับทุกข์จึงต้องดับตัวสมุทัยซึ่งเป็นตัวเหตุเสียก่อน ทุกข์ซึ่งเป็นตัวผลจึงจะดับตาม

เมื่อกำหนดรู้โดยความเห็นแจ้งรู้แจ้งด้วยตาหรือญาณพระธรรมกายว่า ความเกิด แก่ เจ็บ และตายนี้ เป็นทุกข์จริง (ทุกขอริยสัจ) เรียกว่า สัจจญาณ, และกำหนดรู้โดยความเห็นแจ้งรู้แจ้งด้วยตาและญาณพระธรรมกายว่า ทุกขอริยสัจนี้ควรกำหนดรู้ เรียกว่า กิจจญาณ, และกำหนดรู้โดยความเห็นแจ้งรู้แจ้งชัดว่า ความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้เราได้กำหนดรู้ชัดแล้ว ชื่อว่า กตญาณ เช่นนี้เรียกว่าพิจารณาทุกขสัจซึ่งเป็นไปในญาณ 3

2. สมุทัยอริยสัจ   

เหตุให้เกิดทุกข์นั้น มีลักษณะสัณฐานกลม สีดำ ขุ่นมัว ไม่ผ่องใส ซ้อนอยู่ในกลางดวงทุกขสัจ ที่ในกลางขันธ์ 5 ในกำเนิดธาตุธรรมเดิมนั้นแหละ ขนาดเล็ก เท่าเมล็ดโพธิ์ ขนาดโต เท่าดวงจันทร์ มีซ้อนกันอยู่ 3 ชั้น คือ ดวงกามตัณหา ภวตัณหา และ วิภวตัณหา มีความละเอียดและดำมากกว่ากันเข้าไปเป็นชั้นๆ ในดวงสมุทัยนี้ยังมีหุ้มซ้อนกันอยู่ 4 ชั้น คือ เห็น จำ คิด และ รู้ ซึ่งขยายส่วนหยาบออกมาเป็นกาย ใจ จิต และ วิญญาณ ของกายทิพย์หยาบ ทิพย์ละเอียด, รูปพรหมหยาบ รูปพรหมละเอียด และ อรูปพรหมหยาบ อรูปพรหมละเอียด ซึ่งเป็นกายโลกิยะ แต่สมุทัยในแต่ละกายนี้หยาบละเอียด ตามความหยาบ-ละเอียดของแต่ละกายเข้าไปตามลำดับ

ส่วนรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งสัมผัสทางกาย ซึ่งเรียกว่า กามคุณ หรือ วัตถุกาม ทั้ง 6 อย่างนี้เป็นของทิพย์ เพราะเกิดขึ้นแล้วก็ดับหายไป คงทิ้งไว้แต่ความยินดี-ยินร้ายให้ปรากฏฝังใจอยู่เท่านั้น, กามตัณหา คือ ความทะยานอยากในกามคุณทั้ง 5,   ภวตัณหา คือ ความปรารถนาที่จะให้กามคุณที่พึงพอใจที่ตนมีอยู่แล้ว ให้ดำรงอยู่ และความทะยานอยากในความอยากมี อยากเป็นโน่น เป็นนี่ และ วิภวตัณหา คือ ความปรารถนาที่จะให้สิ่งที่ไม่เป็นที่พึงพอใจ พินาศไป หรือไม่อยากจะได้พบ ได้เห็น หรือความทะยานอยากที่จะไม่มี ไม่เป็นในสิ่งที่ตนไม่พึงปรารถนาทั้งหลาย เหล่านี้มีอยู่ในก้อนกายทิพย์ ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่เป็นทิพย์ เป็นต้นว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือสิ่งสัมผัสทางกาย และ ธรรมารมณ์ เหล่านี้จึงเต็มไปด้วยตัณหา และชุ่มโชกสดชื่นไปด้วยตัณหา

สิ่งที่เป็นทิพย์นั้น เมื่อจุติ (เคลื่อน คือตายจากภพหนึ่ง) แล้วก็จะไปแสวงหาที่เกิดใหม่ เรียกว่า กายสัมภเวสี ถ้าแสวงหาที่เกิดได้แล้ว เรียกว่า กายทิพย์ ซ้อนอยู่ภายในกายมนุษย์ละเอียดนั้นแหละ จึงกล่าวว่า ทุกข์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเจริญอยู่ได้ ก็เพราะอาศัยสมุทัยซึ่งมีอยู่ในก้อนกายทิพย์เป็นเหตุ

และก็ใคร่จะขอย้ำว่า กำเนิดเดิมของทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหม ทั้งหยาบและละเอียดนั้น ก็มิใช่อื่นไกล ก็คือ เห็น จำ คิด และ รู้ ซึ่งขยายส่วนหยาบออกมาจากขันธ์ 5 ที่กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่นเอง

โดยเหตุนี้ กายทั้ง 8 คือ กายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด, กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด, กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด และ กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด ซึ่งเป็นกายโลกิยะ จึงต้องตกอยู่ในอาณัติแห่งพระไตรลักษณ์ คือ ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา

เมื่อเห็นด้วยตา และรู้แจ้งด้วยญาณพระธรรมกายว่า กามตัณหา ภวตัณหา และ วิภวตัณหา ซึ่งรวมเรียกว่าสมุทัยนี้ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์จริง (สมุทัยอริยสัจ) ชื่อว่าได้บรรลุ สัจจญาณ, เห็นแจ้งด้วยตาธรรมกาย รู้แจ้งด้วยญาณธรรมกายว่า สมุทัยอริยสัจนี้ควรละ ชื่อว่า ได้บรรลุ กิจจญาณ, และเห็นแจ้ง รู้แจ้งด้วยญาณธรรมกายว่า สมุทัยอริยสัจนี้ เราละได้แล้ว ชื่อว่า ได้บรรลุ กตญาณ ดังนี้เรียกว่า พิจารณาสมุทัยอริยสัจ เป็นไปในญาณ 3

3. ทุกขนิโรธอริยสัจ   

เมื่อเห็นแจ้ง รู้แจ้งในสมุทัยอริยสัจแล้ว ก็ต้องดูให้รู้ถึงสภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ ที่เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ นี้ เป็นดวงกลมใส ซ้อนอยู่ในสมุทัยอริยสัจ ในกลางขันธ์ 5 ในกำเนิดธาตุธรรมเดิม ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่นแหละ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 วา มีหุ้มซ้อนกันอยู่ 4 ชั้น คือ เห็น จำ คิด และ รู้ ซึ่งขยายส่วนหยาบออกมาเป็นกาย ใจ จิต และ วิญญาณ เดิม ของกายโลกิยะ ซึ่งเปลี่ยนสภาพ เพราะวิญญาณของกายโลกิยะดับ กลับเป็นญาณของกายธรรม หรือ ธรรมกาย นั่นเอง

เมื่อมรรคอันเป็นเหตุ เกิดและเจริญขึ้น รวมกันเป็นเอกสมังคีนั้น นิโรธธาตุอันเป็นผล ย่อมเป็นธรรมอันพระอริยเจ้าท่านได้บรรลุ พร้อมกับสมุทัยอันเป็นเหตุดับ และทุกข์อันเป็นผลของสมุทัยก็ดับทันที เหมือนรัศมีของพระอาทิตย์ที่ขจัดความมืดให้หายไป ฉะนั้น

อนึ่ง ใคร่จะทบทวนไปถึงที่เคยได้แนะนำวิธีพิจารณาเห็นจิตในจิต คือ อาสวกิเลส ซึ่งเอิบ อาบ ซึม ซาบ ปน เป็น อยู่ในเห็น จำ คิด และ รู้ ของกายโลกิยะทั้ง 8 ว่า เมื่อเจริญภาวนาได้ถึงธรรมกายแล้วนั้น ใจของธรรมกายอันประกอบด้วยเห็น จำ คิด รู้ ย่อมสิ้นรสชาติจากอาสวะจนจืดสนิท และเห็น จำ คิด รู้ นั้น ก็กลับเป็นอาสวักขยญาณ ส่วนอวิชชาเครื่องหุ้มรู้นั้น ก็กลับเป็นตัววิชชา ให้รู้แจ้งในสัจจธรรมขึ้นมาทันที เห็น จำ คิด และ รู้ จึงเบิกบานเต็มที่ ขยายโตขึ้นเต็มส่วนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าหน้าตักของพระธรรมกาย ส่วนเห็น จำ คิด และ รู้ ในก้อนทุกข์และสมุทัยของกายโลกิยะเดิมจึงดับหมด เป็นวิกขัมภนวิมุตติ ตั้งแต่เมื่อเจริญภาวนาถึงธรรมกาย นับตั้งแต่กายลำดับที่ 9 ซึ่งเป็นกายโลกุตตระเป็นต้นไปจนสุดธรรมกายพระอรหัตละเอียด ต่อเมื่อละสัญโญชน์ได้หมด จึงจัดเป็นสมุจเฉทวิมุตติ คือ หลุดพ้นโดยเด็ดขาด โดยสิ้นเชิง

กายธรรม หรือ ธรรมกาย ซึ่งเป็นกายโลกุตตระนั้น พ้นจากอาณัติแห่งพระไตรลักษณ์ กลับเป็น นิจจัง สุขัง และ อัตตา ด้วยประการฉะนี้

เมื่อได้เห็นด้วยตาพระธรรมกาย รู้แจ้งด้วยญาณพระธรรมกายว่า ความดับทุกข์ คือ สภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับคือนิโรธอริยสัจ มีได้ เป็นได้จริง เรียกว่าได้บรรลุ สัจจญาณ, และเห็นด้วยตาพระธรรมกาย และรู้แจ้งด้วยญาณพระธรรมกายว่า นิโรธอริยสัจนี้ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าได้บรรลุ กิจจญาณ, และเห็นด้วยตาพระธรรมกาย รู้แจ้งด้วยญาณพระธรรมกายว่า นิโรธอริยสัจนี้ เราได้กระทำให้แจ้งแล้ว ชื่อว่า ได้บรรลุ กตญาณ

ดังนี้คือการพิจารณานิโรธอริยสัจ เป็นไปในญาณ 3

4. มรรคสัจ หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ   

ข้อปฏิบัติเพื่อถึงความดับทุกข์ เมื่อเห็นแจ้ง รู้แจ้งในนิโรธอริยสัจแล้ว ก็พึงพิจารณาและกระทำมรรคให้เกิดขึ้น ให้เจริญขึ้นอีกต่อไป

มรรคอริยสัจนั้น เป็นดวงกลมใสสะอาดบริสุทธิ์ยิ่งนัก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าหน้าตักและความสูงของพระธรรมกาย ซ้อนอยู่ในกลางนิโรธอริยสัจ ที่ในกลางขันธ์ 5 ในกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่นเอง มรรคอริยสัจนี้ ก็คือ

ดวงศีล ซึ่งมีซ้อนกันอยู่ 3 ชั้น คือ สัมมาวาจา วาจาชอบ, สัมมากัมมันโต การงานชอบ, สัมมาอาชีโว การเลี้ยงชีวิตชอบ

ดวงสมาธิ ซึ่งมีซ้อนกันอยู่อีก 3 ชั้นเข้าไปข้างใน คือ สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ, สัมมาสติ ความระลึกชอบ และ สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ

ดวงปัญญา ซึ่งมีซ้อนกันอยู่อีก 2 ชั้นเข้าไปข้างในอีก คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบในอริยสัจ และ สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ

และ ในมรรคอริยสัจแต่ละดวงนี้ก็ยังมีหุ้มซ้อนอีก 4 ชั้น คือ เห็น จำ คิด และ รู้ ซึ่งขยายส่วนหยาบออกมาเป็นกาย ใจ จิต วิญญาณ เดิมของกายโลกิยะ ซึ่งเปลี่ยนสภาพ (เพราะวิญญาณของกายโลกิยะดับ) เป็นญาณของพระธรรมกายตั้งแต่พระโสดาหยาบ (โสดาปัตติมรรค) ขึ้นไป กล่าวคือ กายธรรม เป็น พระพุทธรัตนะ, ใจ (คือ เห็น-จำ-คิด-รู้ ของธรรมกาย) เป็น พระธรรมรัตนะ, จิต เป็น พระสังฆรัตนะ และ วิญญาณ ซึ่งขยายส่วนหยาบเป็นดวงรู้ของกายโลกิยะเดิมดับ กลับเป็นญาณ (ญาณรัตนะ) ของธรรมกายซึ่งขยายเต็มส่วนแล้ว

เมื่อได้เห็นด้วยตาพระธรรมกาย รู้แจ้งด้วยญาณพระธรรมกายว่า มรรคอริยสัจนี้ เป็นทางดับทุกข์ได้จริง (ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ) ชื่อว่าได้บรรลุ สัจจญาณ, เห็นแจ้งด้วยตาพระธรรมกาย รู้แจ้งด้วยญาณพระธรรมกายว่า มรรคอริยสัจนี้ควรเจริญ ชื่อว่าได้บรรลุ กิจจญาณ และเห็นแจ้งด้วยตาพระธรรมกาย รู้แจ้งด้วยญาณพระธรรมกายว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ เราได้เจริญแล้ว ชื่อว่า ได้บรรลุ กตญาณ

นี้คือการพิจารณาอริยสัจ เป็นไปในญาณ 3

ญาณ หรือ ปริวัฏ 3 นี้ เมื่อเป็นไปในอริยสัจ 4 จึงมีอาการ 12
 

วิธีเจริญฌานสมาบัติเข้ามรรคผล นิพพาน

สำหรับผู้เจริญภาวนาได้ถึงธรรมกายที่สุดละเอียด และได้ฝึกสับกาย-ซ้อนกาย เจริญฌานสมาบัติ  ดีพอสมควร และได้พิจารณาสติปัฏฐาน 4  พอให้มีพื้นฐานทั้งสมถะและวิปัสสนาดีพอสมควรแล้ว ให้ฝึกเจริญฌานสมาบัติพิจารณาอริยสัจ 4 เข้ามรรคผลนิพพานต่อไป

ให้รวมใจของทุกกายอยู่ ณ ศูนย์กลางธรรมกายอรหัตที่ละเอียดที่สุด เอาใจธรรมกายอรหัตเป็นหลัก เจริญฌานสมาบัติ (รูปฌาน 4) หมดพร้อมกันทุกกายหยาบกายละเอียด โดยอนุโลมและปฏิโลม 1-2-3 เที่ยว ให้ใจผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์ อ่อนโยน ควรแก่การงาน แล้วธรรมกายพระอรหัตที่สุดละเอียด ทำนิโรธ ดับสมุทัย คือพิสดารธรรมกายอรหัตในอรหัตออกจากฌานสมาบัติ (ไม่ต้องพิจารณาอารมณ์ฌาน) ผ่านศูนย์กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม อันเป็นที่ตั้งของธาตุ-ธรรม และเห็น-จำ-คิด-รู้ อันเป็นที่ตั้งของกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ของกายโลกียะ สุดกายหยาบกายละเอียด ปหานอกุศลจิตของกายในภพ 3 ให้เป็นแต่ใจ คือญาณรัตนะของธรรมกายที่บริสุทธิ์ล้วนๆ จนสุดละเอียดปล่อยอุปาทานขันธ์ 5 และความยินดีในฌานสมาบัติได้ (แม้ชั่วคราว) เป็นวิกขัมภนวิมุตติ  โคตรภูจิตยึดหน่วงพระนิพพานเป็นอารมณ์อยู่แล้วนั้น

  1. ใช้ตา (ญาณ) พระธรรมกายพิจารณาอริยสัจที่กลางกายมนุษย์ เห็นแจ้งแทงตลอดอริยสัจเหล่านี้พร้อมกับเดินสมาบัติ เมื่อถูกส่วนเข้า พระธรรมกายก็ตกศูนย์เป็นดวงใส วัดผ่าศูนย์กลาง 5 วา ในไม่ช้าศูนย์นั้นก็กลับเป็นพระธรรมกาย หน้าตักกว้าง 5 วา สูง 5 วา เกตุดอกบัวตูม นี้เป็นธรรมกายพระโสดา กล่าวคือ
    เมื่อผู้ปฏิบัติภาวนาสามารถเจริญปัญญารู้แจ้งในพระสัจจธรรมดังกล่าวแล้ว ธรรมกายโคตรภูละเอียดก็ตกศูนย์ แล้วธรรมกายพระโสดาปัตติมรรคก็ปรากฏขึ้นปหาน (ละ) สัญโญชน์เบื้องต่ำ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และ สีลัพพตปรามาสได้แล้ว ธรรมกายพระโสดาปัตติมรรคก็ตกศูนย์ ธรรมกายพระโสดาปัตติผลก็จะปรากฏขึ้นเข้าผลสมาบัติ พิจารณาปัจจเวกขณ์ 5  คือ พิจารณามรรค, ผล, กิเลสที่ละได้, กิเลสที่ยังเหลือ และ พิจารณาพระนิพพาน ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระโสดาบัน และก็จะเห็นธรรมกายพระโสดาปัตติผลใสละเอียดอยู่ตลอดเวลา ไม่กลับมัวหมองหรือเล็กเข้ามาอีก
  2. แล้วธรรมกายพระโสดานั้นเข้าฌาน พิจารณาอริยสัจของกายทิพย์ ให้เห็นจริงในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว เมื่อถูกส่วนเข้า ธรรมกายพระโสดาก็ตกศูนย์เป็นดวงใส วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ 10 วา ในไม่ช้า ศูนย์นั้นก็กลับเป็นพระธรรมกาย หน้าตักกว้าง 10 วา สูง 10 วา เกตุดอกบัวตูม นี่เป็นธรรมกายพระสกิทาคามี กล่าวคือ
    เมื่อธรรมกายพระสกิทาคามิมรรคปรากฏขึ้นกำจัดสัญโญชน์ และสามารถละโลภะ โทสะ และ โมหะ จนเบาบางลงมากแล้ว ก็จะตกศูนย์ และปรากฏธรรมกายพระสกิทาคามิผลเข้าผลสมาบัติ และพิจารณาปัจจเวกขณ์ 5 ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระสกิทาคามี และท่านก็จะเห็นธรรมกายพระสกิทาคามีใสละเอียดอยู่ตลอดเวลา
  3. แล้วธรรมกายพระสกิทาคามีนั้นเข้าฌาน ดูอริยสัจของกายรูปพรหมให้เห็นจริงในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อถูกส่วนเข้า ธรรมกายพระสกิทาคามีก็ตกศูนย์เป็นดวงใส วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ 15 วา ในไม่ช้า ศูนย์นั้นก็กลับเป็นพระธรรมกาย หน้าตักกว้าง 15 วา สูง 15 วา เกตุดอกบัวตูม นี่เป็นธรรมกายพระอนาคามี กล่าวคือ
    เมื่อธรรมกายพระอนาคามิมรรคปรากฏขึ้นปหานกามราคานุสัยและปฏิฆานุสัยได้อีก แล้วก็จะตกศูนย์ ปรากฏธรรมกายพระอนาคามิผล เข้าผลสมาบัติ และพิจารณาปัจจเวกขณ์ 5 ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอนาคามีบุคคล และท่านจะเห็นธรรมกายพระอนาคามีใสละเอียดอยู่ตลอดเวลา
  4. แล้วธรรมกายพระอนาคามีนั้นเข้าฌาน ดูอริยสัจของกายอรูปพรหมให้เห็นจริงในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อถูกส่วนเข้า ธรรมกายพระอนาคามีก็ตกศูนย์เป็นดวงใส วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ 20 วา เกตุดอกบัวตูม นี่เป็นธรรมกายพระอรหัตแล้ว กล่าวคือ เมื่อธรรมกายพระอรหัตตมรรค ปรากฏขึ้นปหานสัญโญชน์เบื้องสูงอีก 5 ประการ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และ อวิชชาได้โดยเด็ดขาดแล้ว ก็ตกศูนย์ ธรรมกายพระอรหัตตผลก็จะปรากฏขึ้นเข้าผลสมาบัติ และพิจารณาปัจจเวกขณ์ 4 คือ พิจารณามรรค ผล กิเลสที่ละได้หมด และพิจารณาพระนิพพาน ได้บรรลุมรรคผล เป็นพระอรหันตขีณาสพ แล้วท่านจะเห็นธรรมกายพระอรหัตของท่านใสละเอียดและมีรัศมีสว่างอยู่ตลอดเวลา ไม่กลับมัวหมองหรือเล็กลงอีก และก็จะมีญาณหยั่งรู้ว่าท่านได้บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว
    เมื่อได้กายพระอรหัตนี้แล้ว ก็ให้ซ้อนสับทับทวีกับพระนิพพานต้นๆ ไปจนสุดละเอียด แล้วหยุด ตรึกนิ่ง เพื่อฟังตรัสรู้ในธรรมที่ควรรู้อีกต่อไป

การเจริญสมาบัติพิจารณาพระอริยสัจทั้ง 4 นี้  เมื่อกำหนดรู้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค ด้วยสัจจญาณ กิจจญาณ และ กตญาณ แล้ว   ญาณทั้ง 3 กลุ่มนี้เองที่เป็นปัญญาผุดรู้ขึ้นมาเองในระหว่างการปฏิบัติ เป็นปัญญาที่ทำให้รู้ว่าสัจจธรรมนั้นมีจริง ถ้าเพียรปฏิบัติอย่างถูกต้อง ไม่ท้อถอย ก็จะพ้นจากทุกข์ได้ ญาณทั้ง 3 กลุ่ม รวม 12 ญาณของอริยสัจ ในตอนนี้ เปรียบเหมือนจอบเสียมที่นำมาใช้ในการขุดพื้นดิน เพื่อกระแสธารปัญญาจะสามารถไหลไปสู่นิพพิทาญาณ   ทีนั้น ญาณทั้ง 12 ญาณของอริยสัจ จะวิวัฒนาการเป็นความเห็นแจ้งในปฏิจจสมุปบาทธรรม 12 ทำให้สามารถกำหนดรู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และ สมุทัย ซึ่งเป็นต้นทางให้กำหนดรู้อริยสัจ และ พระไตรลักษณ์ขั้นละเอียด ว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา และ สพฺเพ ธมฺมา (สังขาร/สังขตธรรม ทั้งปวง) อนตฺตา ซึ่งเป็นธรรมาวุธอันคมกล้า ปหานสัญโญชน์พินาศไปในพริบตา

ญาณทั้ง 3 กลุ่ม คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และ กตญาณ อันให้เห็นแจ้งในอริยสัจ 12 นี้ จะเห็นและกำหนดรู้ได้เป็นอย่างดี โดยทางเจโตสมาธิ หรือ วิชชาธรรมกาย ด้วยประการฉะนี้แล ในพระไตรปิฎกมีระบุไว้อย่างชัดแจ้ง ไว้ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ปฐมเทศนา พระวินัยปิฎก ข้อ 15 และ 16 ว่า เป็นญาณทัสสนะมี รอบ 3 มีอาการ 12

วิธีพิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรม 12

พระพุทธดำรัสว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท  วิธีเจริญภาวนาพิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรม

พระพุทธดำรัสว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท

สมัยหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี พระนครสาวัตถี ได้ตรัส “ปฏิจจสมุปบาทธรรม” คือ ธรรมอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น 12 ประการ ดังต่อไปนี้ (ม.มู.12/448, 450/482-483, 485)

ตรัสนัยอันเป็นปัจจัยเกิด และ ดับ

ภิกษุทั้งหลาย  ข้อที่กล่าวนั้น ถูกละ พวกเธอกล่าวอย่างนั้น แม้เราก็กล่าวอย่างนั้น 
เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้ก็มี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ก็เกิดขึ้น คือ
เพราะ อวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะ สังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะ วิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะ นามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะ สฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะ ผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะ เวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะ ตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะ อุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะ ภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะ ชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงมี
ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

เพราะ อวิชชาดับหมดมิได้เหลือ  สังขารก็ดับ
เพราะ สังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะ วิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะ นามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะ สฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะ ผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะ เวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะ ตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะ อุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะ ภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะ ชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงดับ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

ตรัสนัยแห่งความดับ

ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้น ถูกละ พวกเธอกล่าวอย่างนั้น แม้เราก็กล่าวอย่างนั้น 
เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ คือ

เพราะ อวิชชาดับ สังขารจึงดับ
เพราะ สังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะ วิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะ นามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะ สฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะ ผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะ เวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะ ตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะ อุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะ ภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะ ชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงดับ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

วิธีเจริญภาวนาพิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรม

วิธีเจริญภาวนาพิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรม 12 ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านสอนไว้ มีความว่าดังนี้

“ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทธรรมนั้น หมายถึงธรรมที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นลูกโซ่ เป็นปัจจัยติดต่อกันไม่ขาดสาย คือ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส” (พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร), วิชชามรรคผลพิสดาร เล่มที่ 1: หจก.พริ้นติ้ง (ไทยแลนด์), พ.ศ.2528, หน้า 37-38.)

มีวิธีเจริญภาวนาพิจารณาเห็นได้ดังต่อไปนี้

ขณะเมื่อพระโยคาวจรเจริญฌานสมาบัติ พิจารณาอริยสัจ 4 ซึ่งเป็นไปในญาณทัสสนะ มีรอบ 3 มีอาการ 12 อยู่นั้น ย่อมจะสามารถพัฒนาไปเป็นปฏิจจสมุปบาทธรรม 12 ได้ กล่าวคือ ในขณะที่พิจารณาเห็นทุกขอริยสัจ สมุทัยอริยสัจ ในกายมนุษย์ ทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหม ทั้งหยาบและละเอียดอยู่นั้น หากเพ่งพิจารณาด้วย “ตา” หรือ “ญาณ” พระธรรมกาย ลงไปที่กลางทุกขสมุทัยอริยสัจ ก็จะเห็นว่า

“อวิชชา มีลักษณะสัณฐานกลม สีดำขุ่นมัว ไม่ผ่องใส เล็กประมาณเท่าเมล็ดโพธิ์หรือเมล็ดไทร เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร
สังขาร มีลักษณะสัณฐานกลม สีขาวใสสะอาดบริสุทธิ์ ซ้อนอยู่ในชั้นในของอวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ
วิญญาณ มีลักษณะสัณฐานกลม สีขาวใสสะอาดบริสุทธิ์ ซ้อนอยู่ในชั้นในของสังขาร เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป
นามรูป มีลักษณะสัณฐานกลม สีขาวใสสะอาดบริสุทธิ์ ซ้อนอยู่ในชั้นในของวิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ
สฬายตนะ มีลักษณะสัณฐานกลม สีขาวใสสะอาดบริสุทธิ์ ซ้อนอยู่ในชั้นในของนามรูป เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ
ผัสสะ มีลักษณะสัณฐานกลม สีขาวใสสะอาดบริสุทธิ์ ซ้อนอยู่ในชั้นในของสฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา
เวทนา มีลักษณะสัณฐานกลม สีขาวใสสะอาดบริสุทธิ์ ซ้อนอยู่ในชั้นในของผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา
ตัณหา มีลักษณะสัณฐานกลม สีขาวใสสะอาดบริสุทธิ์ ซ้อนอยู่ในชั้นในของเวทนา เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน
อุปาทาน มีลักษณะสัณฐานกลม สีขาวใสสะอาดบริสุทธิ์ ซ้อนอยู่ในชั้นในของตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิดภพ
ภพ มีลักษณะสัณฐานกลม สีขาวใสสะอาดบริสุทธิ์ ซ้อนอยู่ในชั้นในของอุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ
ชาติ มีลักษณะสัณฐานกลม สีขาวใสสะอาดบริสุทธิ์ ซ้อนอยู่ในชั้นในของภพ เป็นปัจจัยให้เกิดชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส

ธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกัน ประสานติดต่อกันเป็นปัจจัย อุดหนุนกันไม่ขาดสาย เหมือนลูกโซ่ จึงเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท เกิดขึ้นเพราะเป็นปัจจัยติดต่ออาศัยซึ่งกันและกันเกิด เมื่อจะดับธรรมเหล่านี้ ก็ต้องดับเบื้องต้น คือ อวิชชาดับมาก่อน แล้วธรรมอื่นๆ ก็ดับมาเป็นลำดับจนถึงเบื้องปลาย คือ ชาติดับ แต่นั่นธรรมเหล่านี้จึงจะดับขาดสายไปทุกประการ” (อ้างแล้ว. หน้า 38-39)

อนึ่ง ในปฏิจจสมุปบาทธรรมแต่ละดวงนี้ ก็มีเห็น จำ คิด รู้ เจืออยู่ด้วยทุกดวง และดังที่จะได้แนะนำวิธีพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา และ จิตในจิต โดยละเอียดในลำดับต่อๆ ไปว่า ใน เห็น จำ คิด รู้ ก็มี “อนุสัย” ได้แก่ ปฏิฆานุสัย กามราคานุสัย และ อวิชชานุสัย หุ้มซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อวิชชานุสัยนั้น หุ้มซ้อนดวงรู้ของกายโลกิยะทั้ง 8 อยู่ แต่หยาบละเอียดกว่ากันไปตามความหยาบละเอียดของกายเข้าไป เห็น จำ คิด รู้ ของกายโลกิยะทั้ง 8 จึงไม่ขยายโตเต็มส่วนเหมือนธรรมกาย

ต่อเมื่อเจริญภาวนาถึงธรรมกายแล้ว อนุสัยกิเลสทั้งหลาย จึงถูกถอดออกเป็นชั้นๆ จนกระทั่งหมดไปเมื่อถึงธรรมกาย อวิชชาเครื่องหุ้มรู้ เมื่อถูกถอดมาถึงกายธรรม จึงกลับเป็นวิชชา ให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจจธรรมขึ้นมาทันที วิชชาเครื่องหุ้มนั้นก็ใสละเอียดสะอาดบริสุทธิ์ และดวงรู้ก็เบิกบานขยายโตเต็มส่วน มีขนาดวัดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับหน้าตักและความสูงของพระธรรมกาย และ กลับเป็นญาณรัตนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นอาสวักขยญาณคือความหยั่งรู้วิธีทำอาสวะให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ตามคุณธรรมที่ปฏิบัติได้ต่อไป

จึงเห็นแจ้งด้วยตาพระธรรมกายว่า ปฏิจจสมุปบาทธรรมนั้นคงมีอยู่แต่เฉพาะในกายโลกิยะทั้ง 8 เท่านั้น หาได้มีในพระธรรมกายด้วยไม่ และรู้แจ้งแทงตลอดในพระไตรลักษณ์ส่วนละเอียดด้วยญาณพระธรรมกายว่า กายโลกิยะทั้ง 8 นั้นเอง ที่ต้องตกอยู่ในอาณัติแห่งพระไตรลักษณ์ คือ ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา เพราะมีอวิชชาเป็นรากเหง้าแห่งกิเลส ตัณหา อุปาทาน อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง ถ้าดับอวิชชาได้ ทุกข์ก็ดับหมด หรือส่วนหนึ่งส่วนใดดับหรือขาดลง ทุกข์ก็ดับ เพราะความเป็นเหตุและผลของทุกข์ ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทธรรม” นั้นขาดหมดตลอดทั้งสาย

เมื่อเห็นแจ้ง รู้แจ้ง ด้วยตา และ ญาณพระธรรมกายว่า กายโลกิยะทั้ง 8 นั้น ตกอยู่ในอาณัติแห่งพระไตรลักษณ์อย่างไรแล้ว ก็ย่อมเห็นแจ้งด้วยตาพระธรรมกาย และ รู้แจ้งด้วยญาณพระธรรมกาย ว่า พระธรรมกายมรรค ผล นิพพาน ชื่อว่า “พระนิพพานธาตุ” อันพระอริยเจ้า พระอรหันตเจ้าท่านได้บรรลุแล้ว ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งนี้เอง ที่กลับเป็นกาย นิจฺจํ สุขํ และ อตฺตา (แท้) ที่วิมุตติหลุดพ้น หรือ ว่าง (สูญ) จากกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ที่ว่างจากอัตตาโลกิยะและสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตาโลกิยะนั้น หรือที่ว่างจากสังขาร จึงชื่อว่า “ว่างอย่างยิ่ง-ปรมํ สุญฺญํ” ด้วยประการฉะนี้

ที่กล่าวข้างต้นนี้ เป็นวิธีพิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรม ในส่วนที่เป็นธาตุละเอียด ที่ตั้งซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ กัน เข้าไปข้างใน ถัดจากธาตุละเอียดของอริยสัจ 4 ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม

สำหรับผู้ปฏิบัติภาวนาที่ได้ถึงธรรมกายแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และ ธรรมในธรรม ทั้งของตนเองและของผู้อื่น และทั้ง ณ ภายนอก (ส่วนหยาบ) และ ณ ภายใน (ส่วนละเอียด) จากสุดหยาบ (กายมนุษย์) ไปถึงสุดกายละเอียด

โดยความเป็นธรรมอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น (ปฏิจจสมุปบาทธรรม 12) และ ดับไป เป็นปัจจุบันธรรม ได้ ดังเช่นต่อไปนี้

สำหรับผู้ปฏิบัติได้ถึงธรรมกายที่เจริญฌานสมาบัติให้จิตสงัดจากกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา และทำนิโรธ (ไม่ใช่นิโรธสมาบัติ) ดับสมุทัยคือปหานอกุศลจิตของกายในภพ 3 มีสติสัมปชัญญะ มีศีลสังวรและอินทรีย์สังวรอยู่เสมอ ย่อมสามารถพิจารณาเห็นเป็นปัจจุบันธรรม ทั้งที่ยังเป็นๆ อยู่ ตามสายปฏิจจสมุปบาทธรรม ดังต่อไปนี้

  1. กายมนุษย์ละเอียด ซึ่ง เป็นกาย ณ ภายใน ของผู้ที่ปฏิบัติกายทุจจริต วจีทุจจริต มโนทุจจริต ซอมซ่อ เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส พลอยให้กายมนุษย์หยาบ อันเป็นกาย ณ ภายนอก เศร้าหมองด้วย
    ย่อมเห็น เวทนาในเวทนา และ จิตในจิต ทั้ง ณ ภายนอก และ ทั้ง ณ ภายใน คือ ดวงเห็น-จำ-คิด-รู้ ของกายมนุษย์หยาบ และ ของกายมนุษย์ละเอียด เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส และ
    ย่อมเห็น ธรรมในธรรม อันมี “ดวงธรรม” ที่ทำให้เป็นกาย 1  “ดวงศีล” 1  ธาตุละเอียดของ “ทุกขสัจ” 1  “สมุทัย” (ตัณหา) 1  และ ภพภูมิ (ตามสายปฏิจจสมุปบาทธรรม) 1 อันมี เห็น-จำ-คิด-รู้ คือ “ใจ” ซ้อนอยู่ตรงกลางของกลางดวงธรรมในธรรมดังกล่าวทุกดวง มัวหมอง ไม่ผ่องใส เป็น “ทุคคติภพ” พลอยให้การดำเนินชีวิตของผู้นั้นเป็นไปไม่ดี คือ เป็น “ทุกข์” ไม่เป็น “สันติสุข”   และ
  2. ย่อมสามารถพิจารณาเห็น กายมนุษย์ละเอียด ซึ่งเป็นกายในกาย ณ ภายใน ของผู้งดเว้น คือ ไม่ประกอบกายทุจจริต วจีทุจจริต และ มโนทุจจริต เป็นผู้มีศีลมีธรรม ประกอบด้วยทานกุศล ศีลกุศล ภาวนากุศล เป็นต้น ผ่องใส ตามระดับภูมิธรรม เช่น
  • ผู้ทรงคุณธรรมในระดับ “มนุษยธรรม” กายมนุษย์ละเอียดก็ปรากฏผ่องใส
  • ผู้ทรงคุณธรรมในระดับ “เทวธรรม” คือประกอบด้วยหิริ โอตตัปปะ กายทิพย์ก็ปรากฏผ่องใส
  • ผู้ทรงคุณธรรมในระดับ “พรหมธรรม” คือประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม และรูปฌาน/อรูปฌาน กายรูปพรหม/อรูปพรหม ก็ปรากฏผ่องใส
  • ผู้ทรงคุณธรรมในระดับ “พุทธธรรม” ตั้งแต่โคตรภูจิตขึ้นไป “ธรรมกาย” ก็ปรากฏผ่องใสตามระดับภูมิจิต
    ธรรมในธรรมของผู้นั้น รวมทั้งเวทนาในเวทนา และ จิตในจิต ทั้ง ณ ภายนอก (ส่วนหยาบ) และ ทั้ง ณ ภายใน (ส่วนละเอียด) ของผู้นั้น ย่อมบริสุทธิ์ผ่องใส และ มีรัศมีปรากฏ เป็นสุคติภพ (ภูมิจิต) และสูงขึ้นไปเป็นโลกุตตรภูมิ ตามระดับภูมิธรรมและบุญบารมีของแต่ละท่าน
    พลอยให้การดำเนินชีวิตของท่านผู้นั้นเป็นไปด้วยดี มี “สันติสุข”

แต่มีข้อพึงสังเกตว่า ผู้มีภูมิจิตสูงกว่า ย่อมสามารถเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม เป็น ณ ภายใน ของผู้มีภูมิจิตต่ำกว่าได้ชัดเจน

โดยนัยนี้ จึงกล่าวได้ว่า การเจริญสมถวิปัสสนาภาวนาถึงธรรมกาย ที่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านปฏิบัติ และได้สั่งสอนไว้ จึงมีสติปัฏฐาน 4 คือ การมีสติพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม ทั้ง ณ ภายนอก (ส่วนหยาบ) และ ทั้ง ณ ภายใน (ส่วนละเอียด) อย่างครบถ้วน อยู่ในตัวพร้อมเสร็จ ด้วยประการฉะนี้

วิธีตรวจจักรวาล ภพ 3 และโลกันต์

ลักษณะภพ 3 และโลกันต์วัตถุประสงค์และวิธีตรวจ

ภูมิ 31

อรูปภูมิ 4
เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ
อากิญจัญญายตนภูมิ
วิญญาณัญจายตนภูมิ
อากาสานัญจายตนภูมิ
 
รูปภูมิ 4 หรือ 16  (9 ชั้น)
สุทธาวาสภูมิ 5 : อกนิฏฐภูมิ สุทัสสีภูมิสุทัสสาภูมิ อตัปปาภูมิ อวิหาภูมิ
จตุตถฌาน/ปัญจมฌานภูมิ 2เวหัปผลภูมิ / อสัญญสัตตภูมิ
ตติยฌานภูมิ 3 : ปริตตสุภาภูมิ  อัปปมาณสุภาภูมิ  สุภกิณหาภูมิ
ทุติยฌานภูมิ 3 : ปริตตาภาภูมิ  อัปปมาณาภาภูมิ  อาภัสสราภูมิ
ปฐมฌานภูมิ 3 : มหาพรหมาภูมิ  พรหมปุโรหิตาภูมิ  พรหมปาริสัชชาภูมิ
 
เทวภูมิ 6
นิมมานรตีภูมิ
ดุสิตภูมิ
ยามาภูมิ
ตาวติงสาภูมิ (ดาวดึงส์เทวโลก)
เขาพระสุเมรุ
จาตุมมหาราชิกาภูมิ
อากาสัฏฐเทวดา  ภุมมัฏฐเทวดา  รุกขเทวดา
 
มนุสสภูมิ
ปุพพวิเทหทวีป  ชมพูทวีป  อปรโคยานทวีป  อุตตรกุรุทวีป
 
ทุคคติภูมิ 4
เปตติวิสยภูมิ  อสุรภูมิ  ติรัจฉานภูมิ  นิรยภูมิ

วิธีพิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรม 12

พระพุทธดำรัสว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท  วิธีเจริญภาวนาพิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรม

พระพุทธดำรัสว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท

สมัยหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี พระนครสาวัตถี ได้ตรัส “ปฏิจจสมุปบาทธรรม” คือ ธรรมอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น 12 ประการ ดังต่อไปนี้ (ม.มู.12/448, 450/482-483, 485)

ตรัสนัยอันเป็นปัจจัยเกิด และ ดับ

ภิกษุทั้งหลาย  ข้อที่กล่าวนั้น ถูกละ พวกเธอกล่าวอย่างนั้น แม้เราก็กล่าวอย่างนั้น 
เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้ก็มี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ก็เกิดขึ้น คือ
เพราะ อวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะ สังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะ วิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะ นามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะ สฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะ ผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะ เวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะ ตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะ อุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะ ภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะ ชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงมี
ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

เพราะ อวิชชาดับหมดมิได้เหลือ  สังขารก็ดับ
เพราะ สังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะ วิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะ นามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะ สฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะ ผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะ เวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะ ตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะ อุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะ ภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะ ชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงดับ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

ตรัสนัยแห่งความดับ

ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้น ถูกละ พวกเธอกล่าวอย่างนั้น แม้เราก็กล่าวอย่างนั้น 
เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ คือ

เพราะ อวิชชาดับ สังขารจึงดับ
เพราะ สังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะ วิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะ นามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะ สฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะ ผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะ เวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะ ตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะ อุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะ ภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะ ชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงดับ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

วิธีเจริญภาวนาพิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรม

วิธีเจริญภาวนาพิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรม 12 ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านสอนไว้ มีความว่าดังนี้

“ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทธรรมนั้น หมายถึงธรรมที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นลูกโซ่ เป็นปัจจัยติดต่อกันไม่ขาดสาย คือ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส” (พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร), วิชชามรรคผลพิสดาร เล่มที่ 1: หจก.พริ้นติ้ง (ไทยแลนด์), พ.ศ.2528, หน้า 37-38.)

มีวิธีเจริญภาวนาพิจารณาเห็นได้ดังต่อไปนี้

ขณะเมื่อพระโยคาวจรเจริญฌานสมาบัติ พิจารณาอริยสัจ 4 ซึ่งเป็นไปในญาณทัสสนะ มีรอบ 3 มีอาการ 12 อยู่นั้น ย่อมจะสามารถพัฒนาไปเป็นปฏิจจสมุปบาทธรรม 12 ได้ กล่าวคือ ในขณะที่พิจารณาเห็นทุกขอริยสัจ สมุทัยอริยสัจ ในกายมนุษย์ ทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหม ทั้งหยาบและละเอียดอยู่นั้น หากเพ่งพิจารณาด้วย “ตา” หรือ “ญาณ” พระธรรมกาย ลงไปที่กลางทุกขสมุทัยอริยสัจ ก็จะเห็นว่า

“อวิชชา มีลักษณะสัณฐานกลม สีดำขุ่นมัว ไม่ผ่องใส เล็กประมาณเท่าเมล็ดโพธิ์หรือเมล็ดไทร เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร
สังขาร มีลักษณะสัณฐานกลม สีขาวใสสะอาดบริสุทธิ์ ซ้อนอยู่ในชั้นในของอวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ
วิญญาณ มีลักษณะสัณฐานกลม สีขาวใสสะอาดบริสุทธิ์ ซ้อนอยู่ในชั้นในของสังขาร เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป
นามรูป มีลักษณะสัณฐานกลม สีขาวใสสะอาดบริสุทธิ์ ซ้อนอยู่ในชั้นในของวิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ
สฬายตนะ มีลักษณะสัณฐานกลม สีขาวใสสะอาดบริสุทธิ์ ซ้อนอยู่ในชั้นในของนามรูป เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ
ผัสสะ มีลักษณะสัณฐานกลม สีขาวใสสะอาดบริสุทธิ์ ซ้อนอยู่ในชั้นในของสฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา
เวทนา มีลักษณะสัณฐานกลม สีขาวใสสะอาดบริสุทธิ์ ซ้อนอยู่ในชั้นในของผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา
ตัณหา มีลักษณะสัณฐานกลม สีขาวใสสะอาดบริสุทธิ์ ซ้อนอยู่ในชั้นในของเวทนา เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน
อุปาทาน มีลักษณะสัณฐานกลม สีขาวใสสะอาดบริสุทธิ์ ซ้อนอยู่ในชั้นในของตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิดภพ
ภพ มีลักษณะสัณฐานกลม สีขาวใสสะอาดบริสุทธิ์ ซ้อนอยู่ในชั้นในของอุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ
ชาติ มีลักษณะสัณฐานกลม สีขาวใสสะอาดบริสุทธิ์ ซ้อนอยู่ในชั้นในของภพ เป็นปัจจัยให้เกิดชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส

ธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกัน ประสานติดต่อกันเป็นปัจจัย อุดหนุนกันไม่ขาดสาย เหมือนลูกโซ่ จึงเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท เกิดขึ้นเพราะเป็นปัจจัยติดต่ออาศัยซึ่งกันและกันเกิด เมื่อจะดับธรรมเหล่านี้ ก็ต้องดับเบื้องต้น คือ อวิชชาดับมาก่อน แล้วธรรมอื่นๆ ก็ดับมาเป็นลำดับจนถึงเบื้องปลาย คือ ชาติดับ แต่นั่นธรรมเหล่านี้จึงจะดับขาดสายไปทุกประการ” (อ้างแล้ว. หน้า 38-39)

อนึ่ง ในปฏิจจสมุปบาทธรรมแต่ละดวงนี้ ก็มีเห็น จำ คิด รู้ เจืออยู่ด้วยทุกดวง และดังที่จะได้แนะนำวิธีพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา และ จิตในจิต โดยละเอียดในลำดับต่อๆ ไปว่า ใน เห็น จำ คิด รู้ ก็มี “อนุสัย” ได้แก่ ปฏิฆานุสัย กามราคานุสัย และ อวิชชานุสัย หุ้มซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อวิชชานุสัยนั้น หุ้มซ้อนดวงรู้ของกายโลกิยะทั้ง 8 อยู่ แต่หยาบละเอียดกว่ากันไปตามความหยาบละเอียดของกายเข้าไป เห็น จำ คิด รู้ ของกายโลกิยะทั้ง 8 จึงไม่ขยายโตเต็มส่วนเหมือนธรรมกาย

ต่อเมื่อเจริญภาวนาถึงธรรมกายแล้ว อนุสัยกิเลสทั้งหลาย จึงถูกถอดออกเป็นชั้นๆ จนกระทั่งหมดไปเมื่อถึงธรรมกาย อวิชชาเครื่องหุ้มรู้ เมื่อถูกถอดมาถึงกายธรรม จึงกลับเป็นวิชชา ให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจจธรรมขึ้นมาทันที วิชชาเครื่องหุ้มนั้นก็ใสละเอียดสะอาดบริสุทธิ์ และดวงรู้ก็เบิกบานขยายโตเต็มส่วน มีขนาดวัดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับหน้าตักและความสูงของพระธรรมกาย และ กลับเป็นญาณรัตนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นอาสวักขยญาณคือความหยั่งรู้วิธีทำอาสวะให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ตามคุณธรรมที่ปฏิบัติได้ต่อไป

จึงเห็นแจ้งด้วยตาพระธรรมกายว่า ปฏิจจสมุปบาทธรรมนั้นคงมีอยู่แต่เฉพาะในกายโลกิยะทั้ง 8 เท่านั้น หาได้มีในพระธรรมกายด้วยไม่ และรู้แจ้งแทงตลอดในพระไตรลักษณ์ส่วนละเอียดด้วยญาณพระธรรมกายว่า กายโลกิยะทั้ง 8 นั้นเอง ที่ต้องตกอยู่ในอาณัติแห่งพระไตรลักษณ์ คือ ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา เพราะมีอวิชชาเป็นรากเหง้าแห่งกิเลส ตัณหา อุปาทาน อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง ถ้าดับอวิชชาได้ ทุกข์ก็ดับหมด หรือส่วนหนึ่งส่วนใดดับหรือขาดลง ทุกข์ก็ดับ เพราะความเป็นเหตุและผลของทุกข์ ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทธรรม” นั้นขาดหมดตลอดทั้งสาย

เมื่อเห็นแจ้ง รู้แจ้ง ด้วยตา และ ญาณพระธรรมกายว่า กายโลกิยะทั้ง 8 นั้น ตกอยู่ในอาณัติแห่งพระไตรลักษณ์อย่างไรแล้ว ก็ย่อมเห็นแจ้งด้วยตาพระธรรมกาย และ รู้แจ้งด้วยญาณพระธรรมกาย ว่า พระธรรมกายมรรค ผล นิพพาน ชื่อว่า “พระนิพพานธาตุ” อันพระอริยเจ้า พระอรหันตเจ้าท่านได้บรรลุแล้ว ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งนี้เอง ที่กลับเป็นกาย นิจฺจํ สุขํ และ อตฺตา (แท้) ที่วิมุตติหลุดพ้น หรือ ว่าง (สูญ) จากกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ที่ว่างจากอัตตาโลกิยะและสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตาโลกิยะนั้น หรือที่ว่างจากสังขาร จึงชื่อว่า “ว่างอย่างยิ่ง-ปรมํ สุญฺญํ” ด้วยประการฉะนี้

ที่กล่าวข้างต้นนี้ เป็นวิธีพิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรม ในส่วนที่เป็นธาตุละเอียด ที่ตั้งซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ กัน เข้าไปข้างใน ถัดจากธาตุละเอียดของอริยสัจ 4 ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม

สำหรับผู้ปฏิบัติภาวนาที่ได้ถึงธรรมกายแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และ ธรรมในธรรม ทั้งของตนเองและของผู้อื่น และทั้ง ณ ภายนอก (ส่วนหยาบ) และ ณ ภายใน (ส่วนละเอียด) จากสุดหยาบ (กายมนุษย์) ไปถึงสุดกายละเอียด

โดยความเป็นธรรมอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น (ปฏิจจสมุปบาทธรรม 12) และ ดับไป เป็นปัจจุบันธรรม ได้ ดังเช่นต่อไปนี้

สำหรับผู้ปฏิบัติได้ถึงธรรมกายที่เจริญฌานสมาบัติให้จิตสงัดจากกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา และทำนิโรธ (ไม่ใช่นิโรธสมาบัติ) ดับสมุทัยคือปหานอกุศลจิตของกายในภพ 3 มีสติสัมปชัญญะ มีศีลสังวรและอินทรีย์สังวรอยู่เสมอ ย่อมสามารถพิจารณาเห็นเป็นปัจจุบันธรรม ทั้งที่ยังเป็นๆ อยู่ ตามสายปฏิจจสมุปบาทธรรม ดังต่อไปนี้

  1. กายมนุษย์ละเอียด ซึ่ง เป็นกาย ณ ภายใน ของผู้ที่ปฏิบัติกายทุจจริต วจีทุจจริต มโนทุจจริต ซอมซ่อ เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส พลอยให้กายมนุษย์หยาบ อันเป็นกาย ณ ภายนอก เศร้าหมองด้วย
    ย่อมเห็น เวทนาในเวทนา และ จิตในจิต ทั้ง ณ ภายนอก และ ทั้ง ณ ภายใน คือ ดวงเห็น-จำ-คิด-รู้ ของกายมนุษย์หยาบ และ ของกายมนุษย์ละเอียด เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส และ
    ย่อมเห็น ธรรมในธรรม อันมี “ดวงธรรม” ที่ทำให้เป็นกาย 1  “ดวงศีล” 1  ธาตุละเอียดของ “ทุกขสัจ” 1  “สมุทัย” (ตัณหา) 1  และ ภพภูมิ (ตามสายปฏิจจสมุปบาทธรรม) 1 อันมี เห็น-จำ-คิด-รู้ คือ “ใจ” ซ้อนอยู่ตรงกลางของกลางดวงธรรมในธรรมดังกล่าวทุกดวง มัวหมอง ไม่ผ่องใส เป็น “ทุคคติภพ” พลอยให้การดำเนินชีวิตของผู้นั้นเป็นไปไม่ดี คือ เป็น “ทุกข์” ไม่เป็น “สันติสุข”   และ
  2. ย่อมสามารถพิจารณาเห็น กายมนุษย์ละเอียด ซึ่งเป็นกายในกาย ณ ภายใน ของผู้งดเว้น คือ ไม่ประกอบกายทุจจริต วจีทุจจริต และ มโนทุจจริต เป็นผู้มีศีลมีธรรม ประกอบด้วยทานกุศล ศีลกุศล ภาวนากุศล เป็นต้น ผ่องใส ตามระดับภูมิธรรม เช่น
  • ผู้ทรงคุณธรรมในระดับ “มนุษยธรรม” กายมนุษย์ละเอียดก็ปรากฏผ่องใส
  • ผู้ทรงคุณธรรมในระดับ “เทวธรรม” คือประกอบด้วยหิริ โอตตัปปะ กายทิพย์ก็ปรากฏผ่องใส
  • ผู้ทรงคุณธรรมในระดับ “พรหมธรรม” คือประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม และรูปฌาน/อรูปฌาน กายรูปพรหม/อรูปพรหม ก็ปรากฏผ่องใส
  • ผู้ทรงคุณธรรมในระดับ “พุทธธรรม” ตั้งแต่โคตรภูจิตขึ้นไป “ธรรมกาย” ก็ปรากฏผ่องใสตามระดับภูมิจิต
    ธรรมในธรรมของผู้นั้น รวมทั้งเวทนาในเวทนา และ จิตในจิต ทั้ง ณ ภายนอก (ส่วนหยาบ) และ ทั้ง ณ ภายใน (ส่วนละเอียด) ของผู้นั้น ย่อมบริสุทธิ์ผ่องใส และ มีรัศมีปรากฏ เป็นสุคติภพ (ภูมิจิต) และสูงขึ้นไปเป็นโลกุตตรภูมิ ตามระดับภูมิธรรมและบุญบารมีของแต่ละท่าน
    พลอยให้การดำเนินชีวิตของท่านผู้นั้นเป็นไปด้วยดี มี “สันติสุข”

แต่มีข้อพึงสังเกตว่า ผู้มีภูมิจิตสูงกว่า ย่อมสามารถเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม เป็น ณ ภายใน ของผู้มีภูมิจิตต่ำกว่าได้ชัดเจน

โดยนัยนี้ จึงกล่าวได้ว่า การเจริญสมถวิปัสสนาภาวนาถึงธรรมกาย ที่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านปฏิบัติ และได้สั่งสอนไว้ จึงมีสติปัฏฐาน 4 คือ การมีสติพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม ทั้ง ณ ภายนอก (ส่วนหยาบ) และ ทั้ง ณ ภายใน (ส่วนละเอียด) อย่างครบถ้วน อยู่ในตัวพร้อมเสร็จ ด้วยประการฉะนี้

วิธีเจริญพรหมวิหาร 4

เหตุที่ควรเจริญพรหมวิหารวิธีเจริญพรหมวิหาร 4 โดยทั่วไป และอานิสงส์วิธีเจริญพรหมวิหาร 4 ระดับฌาน

1. เหตุผลที่บุคคลควรเจริญพรหมวิหาร 4

การเจริญพรหมวิหาร 4 อันได้แก่ เมตตาพรหมวิหาร คือ การคิดให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วกันหมด กรุณาพรหมวิหาร คือปรารถนาให้สัตว์ทั้งปวงที่เป็นทุกข์อยู่ ให้พ้นจากทุกข์ทั้งสิ้น มุทิตาพรหมวิหาร คือปรารถนาให้สัตว์ทั้งปวงที่ได้สุขสมบัติหรือคุณสมบัติแล้ว จงดำรงอยู่ในสุขสมบัติหรือคุณสมบัติของตน อย่าได้พลัดพรากจากสุขสมบัติหรือคุณสมบัติที่ตนได้แล้ว และ อุเบกขาพรหมวิหาร มีความเพิกเฉย ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ในสัตว์ทั้งหลายที่ได้สุขหรือได้ทุกข์

ในการดำเนินชีวิตประจำวัน หากบุคคลใดมีพรหมวิหารธรรมเป็นคุณธรรมประจำตนแล้ว ก็นับว่าผู้นั้นมีคุณธรรมของ “ผู้ใหญ่” หรือ “ผู้ปกครอง” อย่างสมบูรณ์ จะเป็นผู้นำชุมชนใด ก็จะเป็นร่มโพธิ์ ร่มไทรหรือเป็นที่พึ่งที่อาศัยของผู้น้อยหรือผู้อยู่ใต้ความปกครองได้เป็นอย่างดี

อนึ่ง พรหมวิหาร 4 นั้น เป็นคุณธรรมที่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายพึงเจริญ ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า หมู่สัตว์หรือปุถุชนผู้ที่ยังมากด้วยกิเลสหยาบ คือ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ หรือ กิเลสกลางๆ คือ โลภะ โทสะ โมหะ นั้น มักต้องเวียนอยู่ในไตรวัฏ คือ กิเลสวัฏ ความมีกิเลสดังกล่าว แล้วก็ กรรมวัฏ คือมีกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม อันมีลักษณะที่เป็นความผูกโกรธ พยาบาท จองเวร เบียดเบียน ประทุษร้ายซึ่งกันและกัน เพราะความหลงผิด ยึดมั่น ถือมั่น เห็นแก่ตัวตน และพวกพ้อง หมู่เหล่า เป็นการสร้างภพ สร้างชาติ อันเป็นเหตุแห่งความทุกข์แก่ตนเองเป็นทับทวี เรียกว่า วิปากวัฏ ยากแก่การปฏิบัติธรรมโดยมัชฌิมาปฏิปทา คือ ศีล สมาธิและปัญญา อันเป็นเครื่องช่วยให้พ้นทุกข์เป็นการถาวรได้

พระพุทธองค์จึงได้ทรงสั่งสอนให้สาธุชนผู้ใคร่จะพ้นทุกข์ ประกอบจิตใจของตนให้อยู่ในพรหมวิหารธรรม คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาพรหมวิหารนี้ เพื่อให้จิตใจสงบระงับจากอุปกิเลสหรือนิวรณธรรมทั้งหลาย อันเป็นเครื่องขวางกั้นการปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ให้บรรเทาเบาบางหรือหมดสิ้นไป ก็จะสามารถเปิดทางให้แก่สาธุชนผู้เจริญพรหมวิหารธรรมนั้น สามารถเห็นอรรถเห็นธรรมได้ตามความเป็นจริง เมื่อปัญญารู้แจ้งในสัจจธรรมเจริญขึ้น ก็สามารถจะปหานกิเลส ตัณหา อุปาทาน อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลายให้หมดสิ้นไปได้เป็นลำดับ

นอกจากนี้ พระอริยบุคคลผู้ที่จะบรรลุอรหัตตผล ตัดกิเลสได้โดยสิ้นเชิงก็ดี, ที่จะบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็ดี จักต้องเจริญพรหมวิหารธรรมนี้ จนเมตตาบารมี และ อุเบกขาบารมี ซึ่งเป็น 2 ประการในบารมีสิบทัศ สูงถึงขั้น อุปบารมี และ ปรมัตถบารมี ได้เต็มส่วน จึงจะบรรลุอรหัตตผล หรือตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้

พรหมวิหารธรรม จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปฏิบัติธรรมจักต้องเจริญอยู่เสมอ เพื่อให้จิตใจปลอดจากนิวรณธรรม อุปมาดั่งการใช้ “ด่าง” เป็น “กลาง” ไม่เป็นโทษหรือเป็นพิษเป็นภัยแก่ตนเองหรือผู้อื่นอีกต่อไปนั่นเอง

เมื่อท่านทั้งหลายเข้าใจวัตถุประสงค์ของการเจริญพรหมวิหารธรรมดังนี้แล้ว จงตั้งใจศึกษาวิธีการเจริญพรหมวิหารธรรม ทั้งในทางอรรถและโดยธรรมปฏิบัติให้เข้าใจ และหมั่นเจริญอยู่เสมอ

การเจริญเมตตาพรหมวิหารนั้น เริ่มแรก สาธุชนพึงพิจารณาเหตุผลให้เข้าใจเสียก่อนว่า เมตตาพรหมวิหารนี้เป็นธรรมคู่แข่งหรือธรรมที่จะใช้ระงับกิเลสประเภทใด นี้ข้อหนึ่ง, โทษของการมีกิเลสประเภทที่ว่านั้นมีอย่างไรบ้าง หรือร้ายแรงเพียงใด นี้ข้อหนึ่ง, คุณค่าของการข่มหรืออดกลั้นต่อกิเลสประเภทนี้ ข้อหนึ่ง, กับ ความสันติสุขอันเกิดแต่ความปลอดภัยจากกิเลสที่ว่านี้อันตนได้รับอยู่ นี้อีกข้อหนึ่ง จึงจะมีความรู้สึกปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นหรือสรรพสัตว์อื่นได้รับความสุขเช่นที่ตนเองได้รับด้วยอย่างได้ผลสมบูรณ์

เมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว จึงจะนับว่าเป็นผู้มีเมตตาธรรมอย่างแท้จริง และสามารถจะแผ่เมตตาพรหมวิหารนี้ไปยังผู้อื่นและสัตว์อื่นได้อย่างเป็นผล ไม่ใช่สักแต่ว่าท่องจำคำแผ่เมตตาได้ แล้วก็ว่าออกไปๆ โดยที่จิตใจของตนเองยังแข็งกระด้างอยู่ด้วยกิเลสประเภทหยาบๆ หรืออย่างกลางอันหนาแน่น แกะไม่ออก การแผ่เมตตานั้นก็ได้ผลน้อย

ลักษณะของกิเลสอันเป็นคู่แข่งของเมตตาพรหมวิหาร หรือที่จะต้องได้รับการปราบด้วยพรหมวิหารธรรมนั้น คือ โทสะ เป็นกิเลสตระกูลใหญ่ ซึ่งมีลักษณะรุ่มร้อนประดุจไฟที่สามารถจะเผาผลาญสิ่งต่างๆ ให้พินาศลงได้

กิเลสตระกูลโทสะนี้ เริ่มต้นมาตั้งแต่ความไม่พอใจในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า อรติ ความไม่พอใจ นี้ หากไม่ระงับลงแล้ว ก็จะกลายเป็นความขัดเคืองใจ ที่เรียกว่า ปฏิฆะ คืออาการของจิตที่เก็บอารมณ์นั้นไว้ กรุ่นอยู่ ไม่อาจลืมได้ หากไม่ระงับก็จะกำเริบขึ้น กลายเป็นความเดือดดาล หรือที่เรียกว่า ความโกรธ หรือ โกธะ นั่นเอง ทีนี้ หากไม่ระงับก็จะกำเริบมากขึ้นอีก กลายเป็นความคิดประทุษร้ายด้วยกาย วาจา และใจ เรียกว่า โทสะ หากโทสะนี้ไม่ระงับลงอีก ก็จะกำเริบเสิบสาน กลายเป็นความ พยาบาท หรือความผูกใจเจ็บแค้น คือคิดหาทางที่จะแก้แค้นหรือมุ่งร้ายเขาต่อไป เมื่อได้แก้แค้นแล้วความโกรธก็หายไป แต่บางรายยังไม่หาย ไม่ระงับ กลับผูกใจเจ็บที่จะจองล้างจองผลาญต่อๆ ไปอีก ก็เรียกว่า ผูกเวร นี่แหละร้ายนัก เพราะจะเป็นเหตุให้เกิดโทษทุกข์ต่อๆ กันไป ไม่สิ้นสุด

พระพุทธองค์จึงได้ทรงสั่งสอนให้สาธุชนหมั่นประกอบจิตใจของตนเองให้อยู่ใน “ขันติธรรม” และ “พรหมวิหารธรรม” อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมตตาพรหมวิหารนี้ เพื่อให้สามารถข่มโทสะให้คลายลง และให้สามารถอดกลั้นต่ออนิฏฐารมณ์ ไม่เบียดเบียนหรือเป็นโทษภัยแก่ทั้งตนเองและผู้อื่น

สาธุชนจึงพึงต้องพิจารณาให้เห็นโทษภัยของกิเลสตระกูลโทสะนี้อยู่เสมอ แล้วเพียรพยายามระงับด้วยเมตตาพรหมวิหาร และกำจัดให้หมดเด็ดขาดได้ด้วยปัญญา ถ้าหากสรรพสัตว์ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมและประเทศชาตินี้ มีความอดกลั้น คือขันติต่ออารมณ์ที่ขัดเคืองซึ่งกันและกัน อภัยให้ซึ่งกันและกัน ไม่คิด ไม่พูด หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการประทุษร้ายต่อกัน และไม่จองเวรซึ่งกันและกันแล้ว ตนเองและสังคม ประเทศชาติ ก็จะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย ดังที่ได้ยินได้ฟังข่าวร้ายๆ อยู่เสมอ เช่นในปัจจุบันนี้

2. วิธีเจริญพรหมวิหาร 4 โดยทั่วไป และอานิสงส์

ก) วิธีเจริญเมตตาพรหมวิหาร

คำว่า “เมตตา” นี้หมายถึงความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเป็นสุข

การเจริญเมตตาพรหมวิหาร หรือในกรณีเจริญภาวนา บางทีก็เรียกว่า การแผ่เมตตานั้น จะได้ผลเพียงใดย่อมขึ้นอยู่ที่วิธีการปฏิบัติภาวนาและความบริสุทธิ์กาย วาจา และใจ ของผู้เจริญภาวนา วิธีปฏิบัติภาวนาเจริญเมตตาพรหมวิหารที่จะให้ได้ผลดีนั้น มีดังต่อไปนี้

ก่อนอื่นให้พิจารณาโทษของโทสะ และคุณของความอดกลั้นต่อโทสะกิเลส แล้วจึงตั้งตนเองเป็นพยานไว้ก่อนว่า ตนเองประสงค์แต่ความสงบสุข ความร่มเย็น เกลียดชังความทุกข์อันเนื่องแต่ความเบียดเบียนหรือประทุษร้ายจากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการประทุษร้ายต่อร่างกาย ต่อทรัพย์สิน หรือต่อชื่อเสียงเกียรติคุณความดีด้วยประการต่างๆ ฉันใด สรรพสัตว์หรือบุคคลอื่นทั้งหลายก็รักความสันติสุข และไม่ประสงค์ความทุกข์ ฉันนั้นเหมือนกัน

เมื่อเกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นดังนี้จากใจจริงแล้ว ก็อธิษฐานตั้งความปรารถนาลงไป ณ ศูนย์กลางกาย ก่อนหรือหลังจากการเจริญภาวนาธรรม หรือในขณะใดๆ ก็ตาม แผ่ความปรารถนานั้นไปยังมนุษย์หรือสรรพสัตว์อื่น เริ่มตั้งแต่ผู้ที่ตนรักเสียก่อน เมื่อจิตใจอ่อนโยน แผ่เมตตาพรหมวิหารหรือความปรารถนาที่จะให้ผู้ที่ตนรักมีความสุขอย่างเต็มใจแล้ว จึงค่อยตั้งความปรารถนานั้นแผ่ไปยังบุคคลหรือสัตว์ที่ตนรู้สึกเฉยๆ คือไม่รักไม่ชัง เมื่อจิตใจอ่อนโยน แผ่ความปรารถนาที่จะให้ผู้ที่ตนก็มิได้รักมิได้ชังจนเปี่ยมใจแล้ว ก็จึงตั้งความปรารถนานั้นแผ่ไปยังบุคคลหรือสัตว์ที่ตนเกลียดชัง จนจิตใจอ่อนโยน แผ่ความปรารถนาที่จะให้เขามีความสุขจนเปี่ยมใจแล้ว จึงตั้งความปรารถนาที่จะให้ผู้ที่มีเวรต่อกันเป็นสุขปราศจากทุกข์ภัย อีกต่อไป จงแผ่ความเมตตานี้ไปยังบุคคลหรือสรรพสัตว์เหล่านี้ให้เปี่ยมใจหมดตลอดทั้งสี่ 4 เหล่า ฝึกเจริญภาวนาบ่อยๆ เข้าก็จะค่อยๆ ชำนาญไปเอง จิตใจก็จะมีแต่เมตตาธรรม พร้อมที่จะให้อภัยแก่ผู้อื่นอยู่เสมอ ไม่ผูกโกรธหรือผูกเวรอันเป็นการสร้างภพสร้างชาติต่อไปอีก

สำหรับผู้ที่เจริญภาวนาจนถึงธรรมกายหรือได้ดวงปฐมมรรคแล้ว เมื่อตั้งความปรารถนาลงไป ณ ศูนย์กลางกายแผ่เมตตาธรรมนั้น ดวงธรรมของทุกกายก็จะใสสะอาดขึ้น และแผ่ขยายกว้างออกไปยิ่งขึ้น หากธรรมแก่กล้าสามารถเจริญเมตตาภาวนาในระดับฌานได้ ข่ายของญาณพระธรรมกายก็จะขยายออกไปได้จนสุดภพ และขยายออกไปอย่างกว้างขวางตลอดทั้งแสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล ไม่มีประมาณ การเจริญเมตตาภาวนาก็ยิ่งจะเป็นผลมาก แล้วให้ผู้ปฏิบัติจงหมั่นพิจารณาเหตุสังเกตที่ผลของการเจริญภาวนาอยู่เสมอ ก็จะได้ทราบผลด้วยตนเอง

อนึ่ง การเจริญเมตตาพรหมวิหารนี้ ไม่เฉพาะแต่จะปฏิบัติอย่างเป็นทางการก่อนหรือหลังจากการเจริญภาวนาเท่านั้น หากแต่พึงกระทำทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็นขณะเดิน ยืน นั่ง หรือ นอน กล่าวคือ

เมื่อใดที่ตนเองประสบหรือได้รับความสันติสุข ไม่ว่าจะเป็นความสุขทางโลกิยะหรือโลกุตตระ ย่อมปีติยินดีในความสุขนั้นเพียงใด ก็จงตั้งความปรารถนาแผ่ความสุขนั้นไปยังผู้อื่นหรือสรรพสัตว์อื่น ให้เขาทั้งหลายเหล่านั้น จงประสบหรือได้รับความสุขเช่นที่ตนได้รับอยู่เช่นนั้นเหมือนกัน

เมื่อใดที่ตนเองประสบหรือได้รับความทุกข์หรือภัยต่างๆ เราไม่ชอบและไม่ปรารถนาความทุกข์หรือภัยพิบัติเหล่านั้นฉันใด ผู้อื่นก็ย่อมไม่ปรารถนา ฉันนั้น ก็จงตั้งความปรารถนาแผ่ความเมตตาไปยังบุคคลอื่นหรือสรรพสัตว์อื่น ขออย่าได้ประสบกับทุกข์ภัย การเบียดเบียนหรือจองเวรซึ่งกันและกัน และอย่าได้ลำบากกายลำบากใจเลย ขอจงให้มีแต่ความสุขกายสุขใจ และรักษาตนให้พ้นทุกข์ภัยทั้งหลายเถิด

จงแผ่ความปรารถนาดี ด้วยจิตใจอันอ่อนโยน เปี่ยมด้วยเมตตาพรหมวิหารนี้ ไปยังมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายหมดทั้ง 4 เหล่า คือ ทั้งผู้ที่ตนรักหรือเคารพนับถือ ผู้ที่ตนมิได้รักมิได้ชัง ผู้ที่ตนเองเคยเกลียดชัง และผู้ที่เคยมีเวรต่อกัน พยายามแผ่ให้กว้างออกไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ มีทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหม และสัตว์เดรัจฉานเป็นต้น ตลอดทั่วทั้งภพและจนหมดทั้งแสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล ไม่มีประมาณ แล้วท่านก็จะทราบผลจากการปฏิบัตินี้ด้วยตนเอง

และใคร่จะขอแนะนำว่า การแผ่เมตตาพรหมวิหารนี้ทุกครั้งให้อธิษฐานตั้งความปรารถนาลงไป ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 อยู่เสมอ เพราะศูนย์กลางกายนี้ตรงกัน อยู่ในแนวเดียวกันกับโอกาสโลก (โลกคือแผ่นดินเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์โลก มีมนุษย์โลกเป็นต้น) สังขารโลก (โลกคือสังขาร) สัตว์โลก (โลกคือหมู่สัตว์ทั้งหลาย มีมนุษย์ เทพยดา รูปพรหม อรูปพรหม และสัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น) อายตนะนิพพาน (ที่สถิตอยู่ของพระนิพพานธาตุที่ดับขันธ์แล้ว) ภพ 3 (กามภพ รูปภพ และอรูปภพ) และอายตนะโลกันต์ ทั้งของจักรวาลนี้และจักรวาลอื่นทั้งหมด จึงเป็นผลมาก คือมีอานิสงส์และอานุภาพมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ถึงธรรมกายแล้ว จะสามารถเจริญเมตตาภาวนาได้ผลดีมาก เพราะใจตั้งมั่นอยู่ ณ ศูนย์กลางกายดีแล้ว ส่วนผู้ที่ยังไม่ถึงธรรมกาย หากปฏิบัติดังกล่าวนี้เนืองๆ ก็จะช่วยให้สมาธิตั้งมั่นได้เร็วขึ้น เป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ ตามลำดับ เพราะเมตตาภาวนานี้ เป็นเครื่องชำระนิวรณธรรมคือ โทสะและพยาบาทให้ระงับลง จิตใจก็อ่อนโยน สามารถที่จะรวมหยุดเป็นอารมณ์เดียวได้ง่าย

การเจริญเมตตาภาวนานี้ มีอานิสงส์มาก ดังพระพุทธดำรัส ซึ่งแสดงไว้ว่า มีมากกว่าอานิสงส์ของการสมาทานศีล 5 ศีล 8 และไตรสรณคมน์ หรือการสร้างวิหารถวายแก่สงฆ์ที่มาจากทิศทั้ง 4 หรือการถวายอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเสียอีก (อํ.นวก.23/224/480) นับได้ว่ามีอานิสงส์เป็นที่สองรองจากการเจริญสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานทีเดียว

คุณค่าของการเจริญเมตตาพรหมวิหารนี้ เท่าที่เห็นๆ คือว่า หากมนุษย์ซึ่งเป็นแต่ละหน่วยของสังคมและประเทศชาติ มีเมตตาพรหมวิหารต่อกันมากเพียงใด มนุษย์ก็จะยิ่งมีแต่ความสันติสุขและร่มเย็นเพียงนั้น นอกจากนี้ การเจริญเมตตาภาวนาเป็นประจำ ยังเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติได้รับผลดีในการดำเนินชีวิตอีกมาก จะหลับอยู่ก็เป็นสุข จะตื่นอยู่ก็เป็นสุข เพราะไม่มีเวรภัยกับผู้ใด จึงไม่ต้องวิตกกังวลใดๆ ทั้งสิ้น จะฝันก็เป็นมงคล ย่อมเป็นที่รักใคร่ ยินดี ของมนุษย์และอมนุษย์ทั้งหลาย มีทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหมเป็นต้น ปลอดจากอัคคีภัย ภัยจากยาพิษ หรือสัตว์ที่มีพิษทั้งหลาย ศัสตราวุธต่างๆ ย่อมไม่อาจประทุษร้าย หรือทำอันตรายแก่กายและชีวิตได้ สีหน้าย่อมผ่องใส เมื่อจะตาย ย่อมได้สติ ไม่หลงตาย หากยังไม่ได้บรรลุมรรค ผล เมื่อละโลกไปแล้ว ย่อมไปสู่สุคติภพ มีโลกมนุษย์หรือเทวโลกเป็นต้น และหากยังไม่เสื่อมจากฌาน ย่อมไปบังเกิดในพรหมโลกดังพระพุทธดำรัสที่ทรงแสดงไว้ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติ อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นโดยลำดับ สั่งสมดีแล้ว ปรารภด้วยดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ 11 ประการ 11 ประการเป็นไฉน ?   คือ ย่อมหลับเป็นสุข 1 ย่อมตื่นเป็นสุข 1 ย่อมไม่ฝันลามก 1 ย่อมเป็นที่รักแห่งมนุษย์ทั้งหลาย 1 ย่อมเป็นที่รักแห่งอมนุษย์ทั้งหลาย 1 เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา 1 ไฟ ยาพิษ หรือศัสตรา ย่อมไม่กล้ำกรายได้ 1 จิตย่อมตั้งมั่นโดยรวดเร็ว 1 สีหน้าย่อมผ่องใส 1 เป็นผู้ไม่หลงใหลทำกาละ 1 เมื่อไม่แทงตลอดคุณอันยิ่ง ย่อมเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก 1

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติ อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นโดยลำดับ สั่งสมดีแล้ว ปรารภด้วยดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ 11 ประการนี้แล.” (อํ.เอกาทสก.24/222/370-371)

ข) วิธีเจริญกรุณาพรหมวิหาร

ความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นได้พ้นทุกข์ ก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ให้พิจารณาถึงความทุกข์ โศกหรือโรคภัยที่ตนเองหรือผู้อื่นได้รับอยู่ก็ดี หรือแม้แต่ภัยในวัฏฏะ ได้แก่ กิเลสวัฏ กรรมวัฏ ที่เห็นมีอยู่ในสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ยังไม่ได้บรรลุมรรค ผล นิพพานก็ดี เราก็ตั้งตนไว้เป็นพยานว่า เราปรารถนาที่จะพ้นทุกข์และภัยเช่นนั้น ก็ขอให้ผู้อื่นหรือสรรพสัตว์อื่นทั้งหลายซึ่งเป็นที่รัก ที่ไม่รักไม่ชัง ที่เคยชัง และที่เคยมีเวรต่อกัน ขอให้เขาเหล่านั้นจงพ้นจากความทุกข์ โศก โรค และเวรภัย ตลอดทั้งภัยจากวัฏฏะเสียทั้งสิ้น โดยตั้งจิตอธิษฐาน ตั้งความปรารถนาดังกล่าวลงไป ณ ศูนย์กลางกายนั่นไว้เสมอ สำหรับผู้ที่เจริญภาวนาจนถึงธรรมกายแล้ว และได้เจริญภาวนาจนปัญญาเจริญขึ้น จากการที่ได้ทั้งรู้และทั้งเห็น อริยสัจ คือ ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ และมรรคสัจ เพียงใด ก็จะยิ่งเจริญเมตตาและกรุณาภาวนานี้ได้ผลมากและลึกซึ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งเพียงนั้น

ค) วิธีเจริญมุทิตาพรหมวิหาร

ให้พิจารณาถึงสุขสมบัติและคุณสมบัติ ทั้งในระดับโลกิยสมบัติและโลกุตตรสมบัติ ตนไม่ประสงค์จะพลัดพรากจากสุขสมบัติและคุณสมบัตินั้นเพียงใด และปรารถนาที่จะให้เจริญรุ่งเรืองในสุขสมบัติและคุณสมบัติ ตั้งแต่โลกิยสมบัติไปจนถึงโลกุตตรสมบัติยิ่งๆ ขึ้นไป จนตราบเท่าบรรลุมรรค ผล นิพพาน เพียงใด ก็ตั้งความปรารถนานั้น แผ่มุทิตาจิตไปยังสรรพสัตว์อื่นทั้งหลาย จงดำรงอยู่ในสุขสมบัติและคุณสมบัตินั้น อย่าได้พลัดพรากจากสุขสมบัติและคุณสมบัตินั้น และขอจงให้มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองต่อๆ ไปจากโลกิยสมบัติไปจนถึงโลกุตตรสมบัติ ดังเช่นที่ตนเองปรารถนาเช่นเดียวกันด้วยกันหมดทั้งสิ้น

ง) วิธีเจริญอุเบกขาพรหมวิหาร

เมื่อตั้งความปรารถนา แผ่เมตตา กรุณา และมุทิตา อันได้แก่ ความปรารถนาที่จะให้ทั้งตนเองและผู้อื่นเป็นสุข และอย่าได้พลัดพรากจากความสุขนั้น ขอจงปราศจากทุกข์ โศก และโรคภัย และขอจงรักษาตนให้พ้นทุกข์ภัยทั้งหลายแล้ว ก็พิจารณาต่อไปอีกว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายต่างก็มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรม มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัย ผู้ประกอบกรรมอันใดไว้ ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ย่อมต้องได้รับผลกรรมนั้นเอง เมื่อพิจารณาเห็นความจริงตามกฎแห่งกรรมดังนี้แล้ว จิตใจที่เปี่ยมด้วยเมตตา กรุณา และมุทิตา แต่ยังต้องกระเพื่อมฟุ้งอยู่ ด้วยความรู้สึกสงสารผู้อื่นหรือสัตว์อื่นที่กำลังได้รับความทุกข์เดือดร้อนอยู่ ซึ่งตนหมดหนทางที่จะช่วยเหลือได้อีกต่อไปแล้วก็ดี หรือความกระเพื่อมฟุ้งเพราะความยินดีอย่างมากที่เห็นผู้อื่นได้ดีมีสุขก็ดี จะค่อยๆ ระงับลงด้วยปัญญาหยั่งรู้ในกฎแห่งกรรมตามธรรมชาติ จิตใจก็จะมัธยัสถ์ เป็นกลาง วางเฉย ไม่ยินดียินร้ายในความทุกข์และความสุข ของทั้งตนเองและผู้อื่น นี้เรียกว่าการเจริญอุเบกขาพรหมวิหาร

จะขอเน้นว่า เพื่อให้การเจริญพรหมวิหารธรรมนี้เป็นผลดียิ่งขึ้น เริ่มแรกให้พิจารณาโทษของโทสะ และคุณของความอดกลั้นจากโทสะเสียก่อน แล้วให้ตั้งตนเองเป็นพยานไว้ก่อนว่า ตนปรารถนาแต่ความสุข ไม่ปรารถนาความทุกข์เพียงใด ผู้อื่นก็ปรารถนาเช่นเดียวกันกับตนทั้งสิ้น ในการพิจารณาและตั้งความปรารถนาไปยังผู้อื่นนั้น สำหรับผู้ที่ยังจิตใจอันแข็งกระด้างอยู่ ให้เริ่มตั้งความปรารถนาแผ่พรหมวิหารไปยังผู้ที่ตนรักเสียก่อน เมื่อจิตใจอ่อนโยนดีแล้ว จึงค่อยตั้งความปรารถนาไปยังผู้ที่ตนชัง เมื่อจิตใจอ่อนโยนดีแล้ว ก็จงตั้งความปรารถนา แผ่พรหมวิหารธรรมนี้ไปยังผู้ที่มีเวรต่อกัน ให้จิตใจอ่อนโยนดีกับบุคคลและสัตว์ทุกหมู่เหล่า จึงจะได้ผลดี

มีข้อสังเกตว่า หากชำนาญมากเข้า ก็สามารถเจริญภาวนาได้รวดเร็ว ความรู้สึกในบุคคลหรือสัตว์ที่รัก ที่ชัง หรือที่มีเวรต่อกัน ก็จะจางลง ความรู้สึกดังกล่าวยิ่งจางลงได้มากเพียงใด ย่อมแสดงว่าการเจริญพรหมวิหารธรรมได้ผลดีมากขึ้นเพียงนั้น ระดับสมาธิก็จะดีขึ้น จิตใจก็จะสามารถตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ง่ายกว่าเดิม นิวรณธรรมก็จะพลอยลดน้อยลง ระดับสติปัญญาและภูมิธรรมก็จะยิ่งสูงขึ้นตามลำดับ

กล่าวโดยสรุป อานิสงส์ของการเจริญพรหมวิหารธรรมนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่ามีอานิสงส์สูงเป็นที่สองรองจากการเจริญสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานทีเดียว (อํ.นวก.23/224/480) ทั้งนี้ก็เพราะการเจริญพรหมวิหารธรรมนั้น จุดมุ่งหมายเบื้องต้นก็เพื่อจะให้สัตว์ทั้งหลายอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข ไม่เบียดเบียน โกรธพยาบาทจองเวร หรืออิจฉาริษยาซึ่งกันและกัน ให้มีความรักใคร่ ปรองดอง เอื้ออารี เผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และให้รู้จักสงบจิตใจ ไม่ยินดียินร้ายเมื่อผู้อื่นถึงซึ่งความวิบัติ

จุดมุ่งหมายเบื้องสูงยิ่งขึ้นไปอีก ก็เพื่อให้ผู้เจริญพรหมวิหารธรรมได้บำเพ็ญเมตตาและอุเบกขาบารมีให้เต็มส่วน ถึงอุปบารมีและปรมัตถบารมี ที่จะสามารถช่วยให้บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อให้จิตใจของผู้เจริญคุณธรรมนี้ สงบระงับจากกิเลสนิวรณ์ธรรมข้อพยาบาท และระงับความคิดที่ฟุ้งซ่านต่างๆ ได้ดี นอกจากนี้ คุณธรรมข้อนี้ยังเป็นเครื่องกำจัดกิเลสคือความริษยาและความผูกโกรธ หรือพยาบาทจองเวรได้ดีอีกด้วย

จิตใจที่สงบระงับจากนิวรณธรรมนั้น ย่อมสามารถรับการฝึกหัดให้หยุด ให้นิ่ง เป็นสมาธิที่แนบแน่น มั่นคงได้ง่าย จึงเป็นพื้นฐานสำคัญแก่งานวิปัสสนา เพื่อเจริญปัญญารู้แจ้งในสภาวธรรมตามธรรมชาติที่เป็นจริง และรู้แจ้งในอริยสัจทั้ง 4 อันเป็นทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ตามแนวทางพระพุทธศาสนาได้สะดวก

เมตตา กรุณา มุทิตา พรหมวิหารนั้น มีอานิสงส์แก่ผู้เจริญให้มีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิให้สำเร็จขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และถึงอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นต้นของปฐมฌาน และให้สามารถพัฒนาต่อไป ถึงทุติยฌาน และตติยฌาน ได้ตามลำดับ ส่วนอุเบกขาพรหมวิหารนั้น มีอานุภาพให้ผู้เจริญ ได้ถึงจตุตถฌาน โดยจตุกนัย หรือถึงปัญจมฌาน โดยปัญจกนัยทีเดียว

ผู้ทรงพรหมวิหารธรรมนั้น อาจแยกพิจารณาได้เป็น 3 ระดับกล่าวคือ

  1. พรหมโดยสมมติ หนึ่ง กล่าวโดยทางปริยัติ ก็ได้แก่ บิดา มารดา ผู้เป็นพรหมของบุตร เป็นต้น แต่ในทางธรรมปฏิบัตินั้น ได้แก่ มนุษย์ มนุษย์ละเอียด, ทิพย์ และทิพย์ละเอียด ซึ่งทรงพรหมวิหารธรรม
  2. พรหมโดยอุบัติ หนึ่ง กล่าวโดยทางปริยัติ ก็หมายเอาผู้ที่ได้กำเนิดหรือถือคติเป็นพรหมในพรหมโลก ด้วยพรหมธรรมและผลจากการเจริญภาวนาสมาธิ โดยที่ก่อนตาย จิตยังไม่เสื่อมจากฌานในระดับใดระดับหนึ่ง ในทางปฏิบัติ ได้แก่ รูปพรหมหยาบ รูปพรหมละเอียด ซึ่งอยู่ในท่ามกลางทิพย์และมนุษย์, กับอรูปพรหมหยาบ และอรูปพรหมละเอียด ซึ่งอยู่ในท่ามกลางของพรหม อันเป็นผลจากการเจริญพรหมวิหารและภาวนาสมาธิ อีกนัยหนึ่ง สามารถจะเข้าถึงได้โดยทางธรรมปฏิบัติในปัจจุบันชาติ
  3. พรหมโดยวิสุทธิ อีกหนึ่ง ในทางปริยัติ หมายเอาพระอริยเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันตปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกพระพุทธเจ้า ซึ่งสะอาดบริสุทธิ์จากอวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน เครื่องเศร้าหมองทั้งปวงแล้ว ส่วนในทางธรรมปฏิบัติ ก็ได้แก่ ธรรมกาย ที่บรรลุมรรค ผล นิพพานแล้ว ซึ่งอยู่ในท่ามกลางของกายโลกิยะทั้ง 8 กายข้างต้น เป็นกายในกายที่ละเอียดที่สุด อยู่ในศูนย์กลางกายมนุษย์นั่นเอง เพราะกายนี้เป็นกายที่สะอาดบริสุทธิ์และทรงพรหมวิหารธรรมอย่างยิ่ง ซึ่งอาจจะเป็นเพียงชั่วขณะที่จิตใจของผู้ปฏิบัติธรรมใสสะอาด บริสุทธิ์ หยุดนิ่ง แล้วเข้าถึงได้ หรือเป็นกายธรรมพระอรหัตที่ได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว ดังพระพุทธดำรัสว่า “วาเสฏฐะและภารัทวาชะ   คำว่าธรรมกายก็ดี พรหมกายก็ดี ธรรมภูตก็ดี พรหมภูตก็ดี เป็นชื่อของตถาคต.” (ที.ปา.11/55/92)

นี่ย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้เจริญหรือผู้ทรงพรหมวิหารธรรมนั้นยังแตกต่างกันด้วยภูมิธรรม และภูมิปัญญาของแต่ละบุคคลที่ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นการแผ่พรหมวิหารก็ย่อมจะมีอานุภาพที่ไม่เท่ากัน ด้วยประการฉะนี้ เป็นต้นว่า พระนิพพานคือพระธรรมกายที่ได้บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว ย่อมทรงพรหมวิหารธรรม และแผ่พรหมวิหารธรรมไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายได้อย่างกว้างขวางสุดประมาณ และมีอานุภาพสูงที่สุดยิ่งกว่าธรรมกายที่ยังไม่ได้บรรลุพระอรหัตตผล

และส่วนธรรมกายที่ยังไม่ได้บรรลุพระอรหัตตผล หากแต่ได้บรรลุมรรคผล เป็นพระอริยบุคคลชั้นใดชั้นหนึ่งแล้ว ก็ย่อมทรงพรหมวิหารและแผ่พรหมวิหารธรรมไปยังสัตว์ทั้งหลาย ได้ดีกว่าผู้ที่ยังเป็นแต่เพียงโคตรภูบุคคลอยู่

ธรรมกายที่ยังมิได้บรรลุมรรคผลในขั้นใดเลย หากแต่ได้พยายามเจริญภาวนาพิจารณาให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งในสัจจธรรมตามสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้มีความเข้าใจในทุกข์, ในเหตุแห่งทุกข์ ที่เรียกว่า สมุทัย, ในสภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ ที่เรียกว่า นิโรธ, และในหนทางปฏิบัติเพื่อความดับเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลาย ซึ่งเรียกว่า มรรคมีองค์ 8 ได้แจ่มแจ้งเพียงใด ก็ย่อมจะเจริญและทรงพรหมวิหารได้มาก และสามารถแผ่พรหมวิหารธรรมไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายได้มากเพียงนั้น

ด้วยเหตุนี้ การเจริญและแผ่พรหมวิหาร ในขณะที่จิตทรงสมาธิและได้เจริญปัญญาภายหลังจากการพิจารณาอริยสัจแล้ว จึงมีอานุภาพมากคือมีผลต่อผู้อื่นมาก และมีอานิสงส์ต่อผู้เจริญภาวนาเองมาก
 

3. วิธีเจริญพรหมวิหาร 4 ระดับฌาน

ลำดับนี้จะแนะนำวิธีการเจริญพรหมวิหาร 4 ในระดับฌานแก่ผู้ที่ถึงธรรมกาย ซึ่งได้ฝึกหัดเจริญฌานสมาบัติแล้วต่อไป ส่วนผู้ที่ยังไม่ถึงธรรมกายก็ให้น้อมใจตามไปได้ แต่ขอให้รวมใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย ตรงกลางที่หมายจุดเล็กใสนั่นไว้เสมอ ก็จะได้ผลดีกว่าการเพียงแต่สวดบทแผ่พรหมวิหาร โดยที่ใจมิได้รวมหยุดเป็นสมาธิถูกศูนย์ถูกส่วน ณ ที่ศูนย์กลางกาย

จึงขอให้ทุกท่านจงตั้งใจเจริญภาวนา แผ่พรหมวิหารธรรมต่อไป

ผู้ที่ยังไม่ถึงธรรมกาย ก็ให้พยายามรวมใจหยุดในหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย ตรงที่หมายจุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม หรือตรงกลางเครื่องหมายที่นึกให้เห็นด้วยใจ เป็นดวงแก้วกลมใส หรือพระพุทธรูปเกตุดอกบัวตูม ขาวใสบริสุทธิ์ ณ ศูนย์กลางกายนั้นแหละ พยายามนึกให้เห็นใสละเอียด ทำจิตใจให้สว่างดุจกลางวัน แล้วก็คอยน้อมใจตามคำแนะนำต่อไป

ส่วนผู้ที่ถึงธรรมกายแล้ว ก็ให้รวมใจหยุดในหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกายพระอรหัตองค์ที่ละเอียดที่สุด  แล้วพิสดารกาย เจริญฌานสมาบัติ พร้อมกันหมดทุกกายสุดกายหยาบ กายละเอียด ถึงธรรมกายอรหัตในอรหัต โดยอนุโลมและปฏิโลมหลายๆ เที่ยว เพื่อชำระธาตุธรรมเห็น จำ คิด รู้ ให้ใสละเอียด บริสุทธิ์จากกิเลสนิวรณ์ เที่ยวสุดท้ายให้เจริญฌานสมาบัติโดยอนุโลม เพียงรูปฌาน 4 พิจารณาสัจจะทั้ง 4 ในกายมนุษย์ ทิพย์ พรหม อรูปพรหม และธรรมกายทำนิโรธดับสมุทัย โดยพิสดารธรรมกายอรหัตในอรหัต ผ่านศูนย์กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมของทุกกาย สุดกายหยาบกายละเอียด จนเป็นแต่ธรรมกายอรหัตในอรหัต ใสบริสุทธิ์

แล้วน้อมเอาภพ 3 เข้ามาเป็นกสิณ คือเอามาตั้งไว้ตรงศูนย์กลางกาย ให้ใจของธรรมกายเพ่งลงไปที่ตรงกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ พอใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนเข้า ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา ก็จะมีองค์ฌาน (เหมือนแผ่นกระจกใส) ปรากฏขึ้นรองรับหมดทุกกาย ถึงธรรมกายอรหัตในอรหัต ให้ใสละเอียดหมดทั้งฌานและกาย นี้เป็นปฐมฌาน แล้วก็ขยายข่ายของญาณพระธรรมกายให้กว้างออกไปจนเต็มจักรวาล ให้ข่ายของญาณหว่านล้อมธาตุธรรมของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ เข้ามารวมที่ศูนย์กลางกายทั้งหมด ให้อายตนะภายใน ที่ตั้งความเห็น ความจำ ความคิด และความรู้, ดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด และดวงรู้, ธาตุเห็น ธาตุจำ ธาตุคิด ธาตุรู้ ของทุกกายตรงกันกับของเราหมด แล้วเพ่งพิจารณาโทษของการขาดเมตตาพรหมวิหารและคุณของเมตตาพรหมวิหารว่า ตัวเราเองปรารถนาในสุขสมบัติและคุณสมบัติ, มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติเพียงใด ผู้อื่นหรือสัตว์อื่นทั้งหลาย ก็มีความปรารถนาในความสุขเช่นนั้นเหมือนกัน ตัวเราเองไม่ปรารถนาความทุกข์เดือดร้อน จากการเบียดเบียนหรือเวรภัยใดๆ ผู้อื่นก็ไม่ปรารถนาความทุกข์เดือดร้อนเช่นกัน เมื่อจิตใจเปี่ยมด้วยเมตตาพรหมวิหาร คือความรัก ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ที่จะให้อยู่ดีมีสุขด้วยกันแล้ว ก็แผ่ฌานและเมตตาพรหมวิหาร ด้วยจิตใจที่ละเอียดอ่อน บริสุทธิ์ สมบูรณ์ บริบูรณ์ด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัตินั้น จากศูนย์กลางกายที่สุดละเอียดของเรา ไปยังสรรพสัตว์อื่นทั้งหลายให้หมดทั่วทั้งจักรวาล ให้ใสละเอียดหมด

แล้วพิสดารกายทิพย์ในกายทิพย์ ใจของธรรมกายก็เพ่งลงไปที่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ในทิพย์ พอใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนเข้า ศูนย์กลางขยายว่างออกไป กายทิพย์ในทิพย์ก็ปรากฏขึ้นใหม่ ใจของกายธรรมก็หยุดในหยุด กลางของหยุด กลางของกลาง ศูนย์กลางกายทิพย์ในทิพย์ จนใสละเอียดหมดทุกกายถึงธรรมกายอรหัตในอรหัต จนละวิตกวิจารได้ คงแต่ปีติ สุข และเอกัคคตา ก็จะเห็นองค์ฌานใหม่ปรากฏขึ้นรองรับทุกกาย นี้เป็นทุติยฌาน ก็ให้ข่ายของญาณพระธรรมกายขยายกว้างออกไปจนเต็มจักรวาลอีก หว่านล้อมเอาธาตุธรรมของสรรพสัตว์ทั้งหลายให้มารวมอยู่ที่ศูนย์กลางกายที่สุดละเอียดอีก แล้วเพ่งพิจารณาโทษของการขาดกรุณาธรรมและคุณของกรุณาพรหมวิหารว่า เราประจักษ์ในทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งของตัวเราเองด้วย ว่าเป็นเพราะเหตุที่สัตว์ทั้งหลายผู้ยังมีอวิชชาครอบคลุมจิตใจอยู่ จึงเกิดกิเลส ตัณหา อุปาทานในสังขารธรรมทั้งหลาย จึงเป็นทุกข์ ด้วยความเกิด แก่ เจ็บ และตาย, เป็นทุกข์เพราะความที่ต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก และต้องประสบเข้ากับสิ่งที่ตนเกลียดชัง, เป็นทุกข์ด้วยความไม่สมหวังในสิ่งที่ตนปรารถนาจะได้ จะมี จะเป็น, หรือเป็นทุกข์ที่ต้องได้รับผลจากอกุศลกรรม ได้แก่ เหตุวิบัติ บาปศักดิ์สิทธิ์ ภัยพิบัติ ภัยสงคราม ภัยธรรมชาติ รวมทั้งการได้กำเนิดทุคคติ เช่น เปรต อสุรกาย สัตว์นรก และสัตว์เดรัจฉานเป็นต้น และแม้แต่จะกำลังได้เสวยผลจากกุศลกรรม ตราบใดที่ยังไม่พ้นจากไตรวัฏฏะ คือ กิเลสวัฏฏะ กรรมวัฏฏะ และ วิปากวัฏฏะ แล้ว ก็ไม่วายที่จะต้องเสื่อมจากความสุขและสมบัติที่เคยได้รับ

ตนเองปรารถนาที่จะพ้นจากทุกข์เหล่านั้นเพียงใด ผู้อื่นหรือสัตว์อื่นทั้งหลายก็ย่อมปรารถนาที่จะพ้นทุกข์ภัยเช่นนั้นเหมือนกัน เมื่อจิตละเอียดอ่อน เปี่ยมด้วยกรุณาพรหมวิหาร คือความสงสาร ปรารถนาให้สัตว์ทั้งหลายรวมทั้งตัวเราเองด้วยได้พ้นทุกข์เหล่านี้ไปเสีย ดังนี้แล้ว ก็แผ่ฌานและกรุณาพรหมวิหารจากศูนย์กลางกายที่สุดละเอียดของเราเอง ไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ขอให้ได้รู้แจ้งเห็นจริงในทุกข์ ในเหตุแห่งทุกข์ แล้วก็ไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต เร่งประกอบความเพียรเพื่อกำจัดเหตุแห่งทุกข์นั้น กระทำนิโรธให้แจ้ง และเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 ประการ เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลายด้วยปัญญาอันเห็นชอบเถิด ให้แผ่ฌานและกรุณาพรหมวิหารด้วยจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์และละเอียดอ่อนนั้นไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ใสละเอียดหมดทั่วทั้งจักรวาล

แล้วพิสดารกายรูปพรหมในรูปพรหม ใจของธรรมกายก็เพ่งลงไปตรงศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นรูปพรหม พอใจหยุดนิ่งถูกส่วนเข้า ศูนย์กลางขยายว่างออกไป กายรูปพรหมในรูปพรหมปรากฏขึ้นใหม่ ใจของธรรมกายก็หยุดในหยุดกลางของหยุด กลางของกลางศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นรูปพรหม ในรูปพรหม จนใสละเอียดหมดทุกกาย ถึงธรรมกายอรหัตในอรหัตจนละปีติได้ คงแต่สุขกับเอกัคคตา ก็จะปรากฏองค์ฌานใหม่บังเกิดขึ้นรองรับทุกกาย ใสละเอียดหมดทั้งฌานและกาย นี้เป็น ตติยฌาน แล้วขยายข่ายของญาณพระธรรมกายให้กว้างออกไปจนเต็มจักรวาล หว่านล้อมเอาธาตุธรรมสรรพสัตว์ทั้งหลายมายังศูนย์กลางกายที่สุดละเอียดอีก แล้วพิจารณาโทษของการขาดมุทิตา และคุณของการมีมุทิตาพรหมวิหารว่า เราปรารถนาที่จะไม่เสื่อมจากสุขสมบัติและคุณสมบัติอย่างไร และปรารถนาในความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปในสุขสมบัติและคุณสมบัตินั้น จากผลของทาน ศีล ภาวนา ขึ้นไปเป็นผลของ ศีล สมาธิ และปัญญา, อธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา, ปฐมมรรค มรรคจิต และมรรคปัญญา, ธรรมโคตรภู, พระโสดาปัตติมรรค, โสดาปัตติผล, พระสกิทาคามิมรรค พระสกิทาคามิผล, พระอนาคามิมรรค พระอนาคามิผล ยิ่งๆ ขึ้นไปเป็น พระอรหัตมรรค พระอรหัตตผล หรือถึงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเพียงใด ผู้อื่นหรือสัตว์อื่นทั้งหลายก็ย่อมปรารถนาในสุขสมบัติและคุณสมบัติเช่นนั้นเหมือนกัน เมื่อเพ่งพิจารณาจนจิตละเอียดอ่อนเปี่ยมด้วยมุทิตาพรหมวิหารแล้ว ก็แผ่ฌานและมุทิตาพรหมวิหารด้วยจิตใจที่ใสละเอียดบริสุทธิ์ จากศูนย์กลางกายที่สุดละเอียดของเราไปยังสรรพสัตว์อื่นทั้งหลาย ให้ใสละเอียดไปทั้งหมด

แล้วพิสดารกายอรูปพรหมในอรูปพรหมต่อไป ใจของธรรมกายก็เพ่งลงไปที่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นอรูปพรหมในอรูปพรหม พอหยุดนิ่งได้ถูกส่วนเข้า ศูนย์กลางขยายว่างออกไป กายอรูปพรหมในอรูปพรหม ก็ปรากฏขึ้นใหม่ ใจของธรรมกายก็หยุดนิ่งกลางของกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นอรูปพรหมในอรูปพรหม ใสละเอียดหมดทุกกายถึงธรรมกายอรหัตในอรหัต จนสุขหมดไป คงแต่เอกัคคตา ก็จะเห็นองค์ฌานใหม่เกิดขึ้นรองรับทุกกาย เพ่งให้ใสละเอียดหมดทั้งฌานและกาย นี้เป็น จตุตถฌาน แล้วก็ขยายข่ายของญาณพระธรรมกายให้กว้างออกไปจนสุดจักรวาล หว่านล้อมเอาธาตุธรรมของสรรพสัตว์ทั้งหลายเข้ามารวมที่ศูนย์กลางกายสุดละเอียดต่อไปอีก พิจารณาโทษของการขาดอุเบกขาพรหมวิหาร และคุณของการมีอุเบกขาพรหมวิหารว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายต่างก็มีกรรมเป็นของตนเอง เป็นทายาทของกรรม เป็นผู้รับผลกรรมเอง เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัย ผู้ใดทำกรรมอันใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมต้องเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น เมื่อเพ่งพิจารณาจนจิตละเอียดอ่อน เปี่ยมด้วยอุเบกขาพรหมวิหารแล้ว ก็แผ่ฌานและอุเบกขาพรหมวิหารนั้นไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ใสละเอียดทั่วกันหมดทั้งจักรวาล

นี้เป็นวิธีเจริญพรหมวิหาร 4 ในระดับฌาน เป็นการเจริญภาวนาที่มีผลมากแก่ผู้อื่น และมีอานิสงส์มากแก่ผู้เจริญภาวนา แม้ผู้เจริญภาวนาที่มีสมาธิในระดับที่ต่ำอยู่ ก็สามารถน้อมใจเจริญภาวนาตามนี้ได้ แต่ต้องรวมใจหยุดนิ่งลงไปที่ศูนย์กลางกาย ตรงกลางที่หมายจุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม หรือตรงกลางนิมิตที่ตรึกนึกให้เห็นด้วยใจ เป็นเครื่องหมายดวงแก้วกลมใส หรือพระพุทธรูปขาวใส เกตุดอกบัวตูมก็ได้ แล้วพยายามเพ่งพิจารณาตรงศูนย์กลางนิมิตนั้น ทำจิตใจให้สว่างดุจกลางวัน นึกให้เห็นนิมิตนั้นใสละเอียด แล้วก็แผ่ความใสละเอียดนั้นไปให้กว้างที่สุด เท่าที่จะกระทำได้ อย่างนี้ก็เป็นผลมาก และมีอานิสงส์มากยิ่งกว่าการสักแต่กล่าวคำแผ่พรหมวิหารออกไป โดยที่ส่งใจไปจรดที่อื่นมากมายนัก

การเจริญพรหมวิหาร 4 ในระดับฌานนี้ มีอานิสงส์และอานุภาพมาก เมื่อกระทำจนชำนาญมากเข้า ก็จะสามารถแผ่พรหมวิหารนี้ไปยังสรรพสัตว์ในจักรวาลอื่น โดยอธิษฐานจิตซ้อนเข้ามาในลักษณะเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว ให้ศูนย์กลางตรงกันหมด ทับทวีทั่วทั้งแสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล ไม่มีประมาณทีเดียว

แชร์เลย

Comments

comments

Share: