ว่าด้วยคู่สร้างคู่สมตามหลักพุทธศาสนา

ว่าด้วยคู่สร้างคู่สมตามหลักพุทธศาสนา
จะเป็นคู่สร้างคู่สม เมื่อมีสมธรรม ๔ ประการ

“ดูก่อน คฤหบดีและคฤหปตานี ถ้าภรรยาและสามีทั้งสองหวังจะพบกันและกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ทั้งสองฝ่ายนั่นแหละพึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ก็จะได้พบกันและกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า”

(“อากงฺเขยฺยุ ํ เจ คหปตโย อุโภ ชานิปตโย”  จาก สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต – พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑) 

ชีวิตคู่ครองนี้ มีคำเรียกตามนิยมว่า ชีวิตสมรส ในทางพระพุทธศาสนามีคำสอนว่า ชีวิตสมรสที่จะมีความสุข ราบรื่น มั่นคงยืนยาวได้นั้นหลักธรรมในการเลือกคู่ครอง คือ สมชีวิธรรม 4 (qualities which make a couple well matched) เราควรเลือกคู่ครองที่มีลักษณะดังนี้

คู่สมรสควรมีคู่ธรรมที่สมหรือสม่ำเสมอกัน อันจะพึงเรียกได้ว่า สมธรรม ๔ ประการ คือ สมศรัทธา สมศีลา สมจาคา และ สมปัญญา สมธรรม ๔ ประการนี้ 
เป็นฐานรองรับชีวิตคู่ครองในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าฆราวาสธรรม ๔ อย่างที่กล่าวมาแล้ว เพราะแสดงถึงความมีคุณสมบัติสมกันและความมีลักษณะนิสัยสม่ำเสมอกัน
ของคู่ครอง ซึ่งจะทำให้ผู้สมรสทั้งสองสมชีพหรือสมชีวี คือมีชีวิตที่สมหรือเสมอกัน สมธรรม ๔ ประการ นั้น คือ

๑. สมศรัทธา (to be matched in faith)  คือ มีศรัทธาสมหรือเสมอกัน ศรัทธานั้นหมายถึงความเชื่อ ความเลื่อมใส หรือความใฝ่นิยม เช่น ความเชื่อถือในลัทธิศาสนา ความเลื่อมใส

ในพระรัตนตรัย และความใฝ่นิยมในคุณค่า หรือสิ่งที่ยึดถือเข้าใจว่าเป็นความดีงามต่าง ๆ ความมีศรัทธาสมกันย่อมเป็นสิ่งสำคัญเบื้องแรก
ที่จะทำให้ชีวิตครองเรือน กลมกลืนสนิทสนมแน่นแฟ้น เพราะศรัทธาเป็นเครื่องหล่อหลอมความรู้สึกนึกคิด และเป็นพลังชักจูงใจในการดำเนินชีวิต
และกระทำกิจการต่าง ๆ ความมีศรัทธาสมกัน ตั้งต้นแต่ความเชื่อถือในลัทธิศาสนาอย่างเดียวกัน ตลอดจนการมีรสนิยมแนวเดียวกัน
จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในชีวิตสมรส ถ้าศรัทธาเบื้องต้นไม่เป็นอย่างเดียวกัน ก็ต้องตกลงปรับให้เป็นไปด้วยความเข้าใจต่อกัน

๒. สมศีลา (to be matched in moral) คือ มีศีล คือความประพฤติสมหรือเสมอกัน คือ มีความประพฤติที่เข้ากันได้ อยู่ในระดับเดียวกัน ไม่เป็นเหตุให้เกิดความรังเกียจ 

ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือขัดแย้งรุนแรงต่อกัน เช่น ฝ่ายหนึ่งปากร้าย ชอบกล่าวคำหยาบคาย อีกฝ่ายหนึ่งได้รับการอบรม
กวดขันมาทางด้านการพูดจาสุภาพอ่อนหวาน ทนฟังคำหยาบ ไม่ได้ หรือฝ่ายหนึ่งชอบเป็นนักเลงหัวไม้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งชอบชีวิตสงบไม่วุ่นวาย
ก็อาจเป็นทางเบื่อหน่ายร้าวฉานเลิกร้างกัน หรืออยู่อย่างทนทุกข์ทรมาน

๓. สมจาคา (to be matched in generosity) คือ มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสียสละสมหรือเสมอกัน ในชีวิตของบุคคลที่ต้องติดต่อเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ 

เริ่มแต่ญาติมิตรสหายเป็นต้นไปนั้น ธรรมข้อสำคัญที่จะต้องแสดงออกอยู่เสมอก็คือ ความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความมีใจกว้างขวาง 
การช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน หรือในทางตรงข้าม ก็เป็นความ ตระหนี่ ความมีใจคับแคบ กระด้าง คู่ครองที่มีจาคะไม่สมกันย่อมมีโอกาสเกิด 
ความขัดแย้งกระทบกระเทือนจิตใจกันอยู่เรื่อยไป ทำให้ชีวิตครอบครัว เป็นชีวิตที่เปราะ มีทางที่จะแตกร้าวได้ง่าย

๔. สมปัญญา  (to be matched in wisdom)  คือ มีปัญญาสมหรือเสมอกัน ปัญญาหมายถึงความรู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักดีชั่ว รู้จักประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ความรู้จักคิด 

ความสามารถในการ ใช้ความคิดและเข้าใจในเหตุผล ความมีปัญญาสมกันมิได้หมายความว่าคู่ครองทั้งสองฝ่ายจะต้องได้เล่าเรียนศิลปวิทยาการ 
ทรงความรู้เชี่ยวชาญเหมือน ๆ กัน แต่หมายถึงการมีความคิด การรู้จักรับฟังและเข้าใจในเหตุผลของกันและกัน และการช่วยเป็นคู่คิดของกันและกันได้ 
อย่างที่กล่าวกันง่าย ๆ ว่าพูดกันรู้เรื่อง คุณธรรม ข้อนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะสามีภรรยาเป็นผู้อยู่ร่วมใกล้ชิดกันทุกเวลา จำต้องมีความเข้าใจกัน 
ร่วมคิดร่วมปรึกษาหารือกัน บรรเทาข้อหนักใจ และช่วยกันหาทาง แก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นกำลังแก่กันและกันได้ ความมีปัญญาสมกันนี้ 
นอกจากเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจทำให้มีความสนิทสนมกันด้วยดีแล้ว ยัง ทำให้ชีวิตของคู่ครอง ทั้งสองฝ่ายเป็นชีวิตที่ส่งเสริมคุณค่าเพิ่มกำลังแก่กันและกันอีกด้วย

คู่ครองตามที่่กล่าวไว้ใน สิทธิการิยะฯ มี 4 แบบ คือ 

1. คู่เวรคู่กรรม ได้แก่ คู่สามีภรรยาที่อยู่ด้วยกันแล้วทะเลาะเบาะแว้ง บางคู่ถึงขั้นตบตีกันแต่ก็ไม่เลิกรากันไป ยังคงใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน  แต่มักมีเรื่องบาดหมางขัดใจกัน ทะเลาะกันอยู่เป็นประจำ   ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจไม่ซื่อสัตย์   อาจสุรุ่ยสุร่าย ล้างผลาญเงินทอง อาจดูถูกดูหมิ่นอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ยกย่องให้เกียรติ ไม่มีความเคารพเกรงใจกัน แม้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันไม่มีความสุข  แต่ก็ยังต้องอยู่ด้วยกันต่อไป
2. คู่ทุกข์คู่ยาก ได้แก่ คู่สามีภรรยาที่ลำบากลำบนมาด้วยกัน  ฟันฝ่าอุปสรรคของชีวิตมาด้วยกัน แต่ก็รักและเห็นอกเห็นใจกันเสมอ 
3. คู่สร้างคู่สม ได้แก่ คู่สามีภรรยาที่อยู่ร่วมกัน  ชีวิตมีแต่ความสุข  มีโชคดี ไม่มีปัญหาและอุปสรรคใดๆ  รักและให้เกียรติยกย่องกันและกัน   มีความสุขอยู่ด้วยกันจนวันตาย 

4. คู่อาศัย ได้แก่คู่รัก หรือคู่สามีภรรยา ที่รักกันได้ไม่นาน  ก็มีอันต้องเลิกรากันไป

ถ้าคู่สมรสคู่ใด ที่ครองรักกันอย่างมีความสุขในชีวิตนี้  และมี ศรัทธา  ศีล จาคะ ปัญญา สมกัน   แม้ตายจากกันไปแล้ว  ชาติต่อไปก็ย่อมได้เกิดมาเป็นคู่ครองกันอีก เรียกว่า คู่แล้วไม่แคล้วกัน

จาก อังคุตตรนิกาย  มีพระสูตรที่ 2  ปฐมสังวาสสูตร และทุติยสังวาสสูตร แห่งปุญญาภิสันทวรรค ทุติย- ปัณณาสก์ จตุกกนิบาต  ที่่ว่าด้วยการอยู่ร่วมกันระหว่างสามีภรรยามี 4 แบบ   โดยเปรียบเทียบว่า คนทุศีลเป็นเสมือนผี คนมีศีลเป็นเสมือนเทวดา ดังนี้

1. การอยู่ร่วมกันแบบผีอยู่ร่วมกับผี 
หมายถึงสามีทุศีลอยู่ร่วมกับภรรยาทุศีล   ต่างฝ่ายต่างชั่วพอๆกัน บางคู่อาจเข้าใจกันดี ไปกันได้ดี อยู่ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน บางคู่อาจเป็นแบบ ขิงก็รา ข่าก็แรง

2. การอยู่ร่วมกันแบบผีอยู่ร่วมกับเทวดา 
หมายถึงสามีทุศีลอยู่ร่วมกับภรรยามีศีล  สามีเลวแต่อยู่ร่วมกับภรรยาที่ดี ฝ่ายสามีจะเป็นฝ่ายที่เอาเปรียบภรรยา ปฏิบัติต่อภรรยาไม่ดี  การอยู่ด้วยกัน ไม่ทำให้มีความสุข

3. การอยู่ร่วมกันแบบเทวดาอยู่ร่วมกับผี 
หมายถึงสามีมีศีลอยู่ร่วมกับภรรยาทุศีล  สามีดีอยู่ร่วมกับภรรยาที่เลว  ฝ่ายภรรยาเป็นภาระของสามี  เอารัดเอาเปรียบสามี ปฏิบัติต่อสามีไม่ดี  อาจไม่ซื่อสัตย์ นอกใจ หรือ ล้างผลาญสมบัติ  การอยู่ด้วยกัน ย่อมไม่มีความกลมกลืน เข้ากันไม่ได้ดี

4. การอยู่ร่วมกันแบบเทวดาอยู่ร่วมกับเทวดา 
หมายถึงสามีมีศีลอยู่ร่วมกับภรรยามีศีล ต่างฝ่ายต่างดีพอๆกัน  รักใคร่ปรองดองกัน ถนอมน้ำใจกัน ยกย่องให้เกียรติกันและกัน สามีภรรยาแบบนี้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตลอดไป

พระพุทธเจ้า ได้จำแนกภรรยาไว้ 7 แบบ ดังนี้  ถ้าท่านต้องการภรรยาแบบไหน ย่อมเลือกลักษณะหญิงที่ท่านจะเลือกมาเป็นคู่ครองได้ตามลักษณะดังกล่าวนี้ คือ

ภรรยา 7 (seven types of wives)

ภรรยาแบบต่างๆ ซึ่งจำแนกโดยคุณธรรม ความประพฤติลักษณะนิสัย และการปฏิบัติต่อสามี ดังนี้

1. วธกาภริยา (a wife like a slayer; destructive wife) คือ ภรรยาเยี่ยงเพชฌฆาต
ได้แก่ ภรรยาที่คิดร้ายกับสามี   เป็นผู้หญิงที่ซื้อได้ด้วยเงิน  เห็นแก่เงิน ไม่ได้อยู่กินกับสามีด้วยความรัก มักเจ้าชู้ มีใจยินดีในชายอื่น ดูหมิ่นไม่ยกย่องให้เกียรติ ไม่เคารพสามี

2. โจรีภริยา (a wife like a robber; thievish wife) คือ ภรรยาเยี่ยงโจร
ได้แก่ ภรรยาผู้ล้างผลาญทรัพย์สมบัติ  ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย  ไม่รู้จักประหยัด  อาจติดการพนัน  หรือชอบความหรูหราฟุ่มเฟือย  ใช้เงินเกินตัว ไม่รู้จักประมาณตน

3. อัยยาภริยา (a wife like a mistress; Madam High and Mighty) คือ ภรรยาเยี่ยงนาย
ได้แก่ ภรรยาที่เกียจคร้าน ไม่ใส่ใจการงาน กินมาก ปากร้าย หยาบคาย ใจเหี้ยม ชอบข่มสามี 

4. มาตาภริยา (a wife like a mother; motherly wife) คือ ภรรยาเยี่ยงมารดา
ได้แก่ ภรรยาที่หวังดีเสมอ คอยห่วงใยเอาใจใส่สามี เหมือนมารดาปกป้องบุตร และประหยัดรักษาทรัพย์ที่หามาได้ 

5. ภคินีภริยา (a wife like a sister; sisterly wife) คือ ภรรยาเยี่ยงน้องสาว
ได้แก่ ภรรยาผู้เคารพรักสามี ดังน้องรักพี่ มีใจอ่อนโยน รู้จักเกรงใจและคล้อยตามสามี 

6. สขีภริยา (a wife like a companion; friendly wife) คือ ภรรยาเยี่ยงสหาย
ได้แก่ ภรรยาที่เป็นเหมือนเพื่อน พบสามีเมื่อใด ก็ปลาบปลื้มดีใจเหมือนเพื่อนพบเพื่อนที่จากไปนาน เป็นผู้มีการศึกษาอบรม มีกิริยามารยาท ความประพฤติดี ภักดีต่อสามี  เป็นคู่คิดคู่ครอง  เคียงบ่าเคียงไหล่สามี

7. ทาสีภริยา (a wife like a handmaid; slavish wife) คือ ภรรยาเยี่ยงทาสี
ได้แก่ ภรรยาที่ยอมอยู่ในอำนาจสามี ถูกขู่ตะคอกเฆี่ยนตี ก็อดทนไม่โกรธตอบ รักสามีมาก ยอมรับใช้และทำทุกอย่างเพื่อความสุขของสามี 

       พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ภรรยาสำรวจตนเองว่า ตนเป็นภรรยาประเภทไหน และจะให้ดีควรจะเป็นภรรยาประเภทใด

สำหรับชาย อาจใช้เป็นหลักสำรวจอุปนิสัยของตนว่าเหมาะแก่หญิงประเภทใดที่จะเลือกมาไว้เป็นคู่ครอง และสำรวจหญิงที่จะเป็นคู่ครองว่าเหมาะกับอุปนิสัยของตนหรือไม่  (สำหรับผู้เขียนเอง ขอเลือกภรรยาในแบบที่ 6 คือ ภรรยาเยี่ยงสหาย)

การปฏิบัติต่อสามีหรือภรรยา  มีกล่าวไว้ใน  ทิศ 6 (directions; quarters)
บุคคลประเภทต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางสังคม ดุจทิศที่อยู่รอบตัว

ภรรยานั้น ถือเป็นทิศที่ 3 ปัจฉิมทิศ (ทิศตะวันตก)

ปัจฉิมทิศ (wife and children as the west or the direction behind)
ทิศเบื้องหลัง ทิศตะวันตก ได้แก่ บุตรภรรยา เพราะติดตามเป็นกำลังสนับสนุนอยู่ข้างหลัง
ก. สามีบำรุงภรรยา ผู้เป็นทิศเบื้องหลัง ดังนี้
      1) ยกย่องให้เกียรติสมกับฐานะที่เป็นภรรยา
      2) ไม่ดูหมิ่น
      3) ไม่นอกใจ
      4) มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้
      5) หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส
ข. ภรรยาย่อมอนุเคราะห์สามี ดังนี้
      1) จัดงานบ้านให้เรียบร้อย
      2) สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี
      3) ไม่นอกใจ
      4) รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้
      5) ขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง

ความสมหรือเสมอกันของคู่ครองตามหลักธรรม ๔ ประการนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะบุคคลทั้งสองมามีชีวิตอยู่ร่วมกันใกล้ชิดยิ่งกว่าใครๆ จนในทางโลกกล่าวว่าเป็นบุคคลเดียวกัน การที่จะมารวมเข้าด้วยกันจึงต้องอาศัยความประสานกลมกลืนเหมาะสมกันตามทางธรรมดังกล่าวมา

แชร์เลย

Comments

comments

Share: