ศูนย์กลางกาย ทางสายเอก ที่มุ่งตรงถึงมรรคผล นิพพาน

– ศูนย์กลางกาย ทางสายเอก ที่มุ่งตรงถึงมรรคผล นิพพาน.

🔮#ถาม : ที่ว่าวิชชาธรรมกายเป็นทางสายเอก อย่างนี้การปฏิบัติในแนวทางอื่น เช่น พุทโธ ยุบหนอพองหนอ ซึ่งไม่ได้เข้าทางศูนย์กลางกาย ก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ใช่ไหมครับ หรือว่ากระผมเข้าใจผิด ???

🔮#ตอบ : การบรรลุมรรคผล บรรลุจากธาตุธรรม และเห็น-จำ-คิด-รู้ คือ”#ใจ” ณ ภายในนะ ไม่ใช่ภายนอก และธาตุธรรมเห็น-จำ-คิด-รู้ คือใจนั้น อยู่ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม

ใจอยู่ที่ไหน ?

ท่านเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดก็บอกแล้วว่า “ใจ”ทำหน้าที่ตามโรงงานต่างๆ โรงงานกาย โรงงานหู โรงงานตา โรงงานลิ้น แล้วก็โรงงานหัวใจก็มี พอไปทำงานโรงงานต่างๆ เสร็จตามออฟฟิศเหล่านั้นแล้ว กลับมานอนบ้าน ตื่นเช้าก็ออกจากบ้าน

บ้านอยู่ตรงไหน ?

อยู่ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม

ภาษาบาลีว่า”#คุหาสยํ” “#อยู่ในถ้ำ

ถ้ำก็อยู่ตรงนั้นแหละ ตรงกลางกาย กลางพระนาภี เพราะฉะนั้นใจก็อยู่ตรงนั้น เมื่อใจอยู่ตรงนั้น การเปลี่ยนวาระจิต เปลี่ยนภูมิธรรม เปลี่ยนที่ไหน? ก็เปลี่ยนที่ใจ ใจอยู่ตรงไหน? ก็อยู่ตรงศูนย์กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม การเปลี่ยนวาระจิตตามภูมิธรรมก็เปลี่ยนตรงนั้น จะดีจะชั่วก็ตรงนั้น จะไปนิพพานก็ตรงนั้น

✳ หลวงพ่อวัดปากน้ำน่ะ ท่านจึงรู้ว่าตรงศูนย์กลางกายนั้นคือทางสายเอก จะทำอะไร จะถือศีลกี่ร้อยกี่พันข้อ จะนั่งสมาธิ วิปัสสนา จะยุบหนอพองหนอ พุทโธ อะไรก็ตาม ก็ไปเป็นอยู่ตรงนั้น ใจเกิดดับตรงนั้น ไปจนถึงนิพพานก็เป็นตรงนั้น คุณธรรมจะสูงขึ้นก็เปลี่ยนที่ตรงศูนย์กลางกายนั้นแหละ

อาตมาจะพูดง่ายๆ “ใจ”นั้นตั้งอยู่ตรงกลางธาตุ ธาตุเป็นที่ตั้งของธรรม เมื่อใจสะอาดด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ธรรมก็สะอาด

ธรรมคือบุญบารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี อันเป็นธรรมชาติเครื่องชำระจิตใจที่อยู่กับใจ และอยู่ในธาตุนั้น ก็เป็นธรรมสะอาด และเมื่อธรรมสะอาด ธาตุนั้นจะสกปรกได้ไหม? มัวหมองได้ไหม? ไม่ได้

เมื่อไม่ได้ มันละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปเท่าไหร่ ธาตุที่ละเอียดสุดละเอียดนั่นแหละ สุดท้ายเมื่อพ้นจากความบริสุทธิ์ของกายในภพสาม จึงถึงธรรมกาย

ไม่ว่าจะทานกุศล ศีลกุศล ภาวนากุศล หรือบารมี 10 ทัศ จะไปกลั่นไปชำระกันตรงธาตุธรรมและเห็น-จำ-คิด-รู้..คือใจ จากสุดหยาบไปสุดละเอียด ถึงธรรมกาย ณ ที่ตรงนั้น เมื่อเป็นตรงนั้น อาตมาจึงกล่าวว่าจะบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็บรรลุด้วยธาตุธรรมเห็น-จำ-คิด-รู้ที่บริสุทธิ์สุดละเอียดตามระดับภูมิธรรม ธาตุที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งชื่อว่า”#วิสังขาร

ใจของสัตว์โลกในภพสาม ชื่อว่า”ใจ” ได้แก่ เห็น-จำ-คิด-รู้ ที่ขยายส่วนหยาบมาจากเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ถ้าสุดละเอียด เป็นใจของธาตุล้วนธรรมล้วนหรือวิสังขารแล้ว ไม่เรียกว่าวิญญาณ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์เรียกว่า”#ญาณ” คือความหยั่งรู้ หรือความรู้แจ้ง ด้วยการที่ได้ทั้งรู้และทั้งเห็น

ที่นี้นี่แหละ บรรลุมรรคผลด้วยคุณธรรมตั้งแต่หยาบ เราทำไปทางกาย ทางวาจา ทางใจ มันไปเป็นผลที่ธาตุที่ธรรมในที่สุดละเอียด แล้วเบิกบานขึ้น จึงชื่อว่า”พุทโธ” เบิกบาน ตื่น นั่นเบิกบานขึ้นมา ธรรมกายก็ดี หรือกายที่ละเอียดๆนี่โตใหญ่ เพราะไม่ถูกหุ้มด้วยกิเลสอวิชชา ธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้ไม่ถูกหุ้ม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะทำดีอะไร จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว มันไปเป็นอยู่ตรงนั้น นี่แหละตรงนี้แหละ ที่คนไม่รู้เคล็ดลับ คุณธรรมจะดี เป็นคุณธรรมที่ดี ที่สูง ที่สะอาดบริสุทธิ์ ก็เป็นที่ธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้

💡 เพราะฉะนั้น ตรงศูนย์กลางกาย สุดกายหยาบกายละเอียด ถึงธรรมกายและพระนิพพาน ถึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางสายเอก แม้จะยุบหนอพองหนอ พอใจสะอาดก็ไปสะอาดตรงนั้น แต่ว่าผู้ปฏิบัติยุบหนอพองหนอที่ไม่เคยรู้จุดตรงนั้น ก็อาจจะไม่ทราบว่าใจของตนไปสะอาดตรงนั้น หรือจะพุทโธก็แล้วแต่ พระอริยเจ้าจริงๆแล้วท่านรู้ ไม่ใช่ไม่รู้ รู้ครับ แต่ว่าผู้อื่นที่ยังไม่ถึงอริยเจ้าท่านไม่รู้ เป็นได้ มีได้ หรือที่รู้ก็มี

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าปฏิบัติสายไหนเป็นเรื่องเดียวกัน จึงไม่ต้องมาว่ากัน ดีด้วยกันทุกสาย เพราะไปสะอาดที่ธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้คือใจเหมือนกัน จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม จึงมีสิทธิ์บรรลุมรรคผลได้เช่นกัน เพียงแต่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวว่ามรรคผลเกิดตรงนั้น ธรรมกายมรรคผลและนิพพานเบิกบานขึ้นมาจากตรงนั้น ตื่นขึ้นมาจากตรงนั้น เท่านั้นเอง

แต่ว่าผู้เป็นพระอริยเจ้าท่านรู้ทุกองค์ ต้องรู้ รู้มากอย่างละเอียด หรือว่ารู้พอเข้าใจแจ่มแจ้งพอสมควร เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังขา ปฏิบัติสายไหนดีทั้งสิ้น เป็นทางไปมรรคผลนิพพานได้ทั้งนั้น ถ้าใครปฏิบัติไปแล้วกาย-วาจา-ใจสะอาดบริสุทธิ์ ธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้สะอาดบริสุทธิ์ ใจสะอาดบริสุทธิ์ ปัญญาก็บริสุทธิ์ ที่สุดใจก็หมดกิเลส แล้วก็ไปหมดกันตรงนั้น

เพราะฉะนั้นจึงเหมือนกัน ไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ว่าจะรู้หรือไม่รู้สำหรับผู้ที่ปฏิบัติยังไม่ถึง หมายความว่ายังไม่เป็นมรรคเป็นผลที่แท้จริง ก็อาจจะรู้บ้างไม่รู้บ้าง แต่ผู้ที่ถึงมรรคผลและพระนิพพานแล้ว เชื่อแน่ว่าต้องรู้แน่นอน.

________________

เทศนาธรรมจาก

พระเทพญาณมงคล

หลวงตาเสริมชัย ชยมงฺคโล

วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม

อ.ดำเนินสะดวก

จ.ราชบุรี

________________

ที่มา

หลักวิชชาธรรมกาย

หนังสือตอบปัญหาธรรมปฏิบัติ

________________

เพจอมตวัชรวจีหลวงป๋า.

แชร์เลย

Comments

comments

Share: