สถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี

 

สถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย  อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี   ก่อกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ.2524  โดยมี

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อุปเสณมหาเถร ป.ธ.9)  
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร   เป็น ประธาน

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (วรปุญฺญมหาเถร ป.ธ.9) 
วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ
(ตั้งแต่สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมธีรราชมหามุนี)

พระวิสุทธิวงศาจารย์ี (อโนมคุณมหาเถร ป.ธ.9) 
วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ (ตั้งแต่สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเมธีวราภรณ์)

พระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม)  วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ
(ตั้งแต่สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่ พระภาวนาโกศลเถร)   เป็น รองประธาน

พระเทพญาณมงคล (เสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6)
(ตั้งแต่ครั้งยังเป็นคฤหัสถ์ คือ อาจารย์เสริมชัย พลพัฒนาฤทธิ์)  เป็นผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและวิปัสสนา

มี ประวัติความเป็นมานับตั้งแต่ อาจารย์เสริมชัย พลพัฒนาฤทธิ์  ผู้ชำนาญการวิจัย (Research Specialist)  สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ  (ปัจจุบันคือ หลวงพ่อ พระเทพญาณมงคล)   ได้ศึกษา และปฏิบัติธรรมตามแนววิชชาธรรมกาย   แล้วได้มอบตัวเป็นศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระราชพรหมเถร รองเจ้าอาวาสและอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้เป็นศิษย์โดยตรง และสืบทอดวิชชาธรรมกายทั้งหมด จากพระเดชพระคุณ พระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำ    อาจารย์เสริมชัยได้ริเริ่มจัดตั้งและบริหาร โครงการธรรมปฏิบัติเพื่อประชาชน วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ขึ้นในปี พ.ศ.2518   โดยมี

สมเด็จ พระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.9)  เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ  (ตั้งแต่สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมธีรราชมหามุนี) เป็น ประธานโครงการ

พระ วิสุทธิวงศาจารย์ี (วิเชียร อโนมคุโณ ป.ธ.9)  รองเจ้าอาวาสและอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปริยัติ  วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ   (ตั้งแต่สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเมธีวราภรณ์) เป็น รองประธานโครงการ (ฝ่ายปริยัติ)

พระ ราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม)   รองเจ้าอาวาสและอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (ตั้งแต่สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่ พระภาวนาโกศลเถร)    เป็น รองประธานโครงการ (ฝ่ายวิปัสสนาธุระ)

รอง ประธานโครงการทั้ง 2 (ฝ่ายปริยัติและวิปัสสนา)  และอาจารย์เสริมชัย พลพัฒนาฤทธิ์  ได้ร่วมกันจัดรายการ “ธรรมสู่สันติ”   ออกอากาศเผยแพร่ธรรมปฏิบัตินี้ทางสถานีวิทยุต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 30 สถานี    และภายหลังก็ได้จัดรายการ “ธรรมปฏิบัติ”  ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สี ช่อง 9 ของ อ.ส.ม.ท.  ตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลากว่า 24 ปี

ต่อมาในปี พ.ศ.2523  อาจารย์เสริมชัย  โดยการแนะนำของคุณศรีสม สาขากร เพื่อนสหธรรมิก  ได้ พาไปกราบเจ้าประคุณหลวงพ่อ สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ   และก็ได้รับความเมตตาอนุเคราะห์จากหลวงพ่อท่าน ให้จัดตั้ง โครงการพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย  ขึ้นที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ   ในระยะเริ่มต้นได้ให้ใช้อุโบสถเป็นที่สอนภาวนาธรรมเป็นประจำ  (ภายหลังได้ใช้ศาลาการเปรียญ วัดสระเกศ เป็นที่สอนภาวนาจนถึงสิ้นปี พ.ศ.2542)   โดยที่เจ้าประคุณหลวงพ่อท่านได้กล่าวในวันแรกที่อาจารย์เสริมชัยได้ไปกราบลา ท่านกลับ หลังจากที่ท่านได้ให้เข้าพบแล้วว่า

“ดี นี่  คุณเสริมชัย   ฉันเอาด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์เลย   ไม่ใช่ห้าสิบเปอร์เซ็นต์นะ   ในระหว่างที่อาตมายังมีชีวิตอยู่ คุณเสริมชัยประสงค์จะใช้สถานที่ตรงไหน   ที่เห็นว่าเหมาะแก่การใช้อบรมภาวนาแก่ญาติโยมแล้วก็   ใช้ได้หมดเลย  อาตมาอนุญาต   แต่คุณเสริมชัยต้องนึกถึงหลักอนิจจังไว้บ้างนะ   คือเมื่อสิ้นอาตมาแล้ว  ต้องนึกถึงหลักอนิจจังไว้บ้าง    ถ้ามีโอกาสก็ควรหาสถานที่อบรมเป็นสำนักปฏิบัติธรรมของตัวเองไว้ด้วย   นี่ไม่ใช่รังเกียจหรือขับไล่ไสส่งนะ    เรื่องข้างหน้า  ภายหลังจากเมื่อสิ้นอาตมาแล้วอาจจะไม่แน่นอน”

ท่านซาบซึ้งในน้ำใจของเจ้าประคุณหลวงพ่อฯ    จนถึงว่า แม้จะทดแทนพระคุณท่านด้วยชีวิตก็ยังไม่พอ   เพราะการที่ใครๆ จะใจกว้างพอที่จะ “เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม”   โดยไม่มุ่งหวังอะไรตอบแทนเลย  แล้วยังจะต้องหนักใจที่อาจจะมีเสียงไม่น่ายินดีจากทั่วทุกสารทิศมากระทบให้ กระเทือนใจนั้น   ถ้าใจไม่ถึง   ไม่ประเสริฐด้วยพรหมวิหารธรรม  สมกับสมณศักดิ์ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านในสมัยนั้นว่า “พระพรหมคุณาภรณ์” จริงๆ แล้ว   คงทำใจเมตตาอนุเคราะห์ไม่ได้ถึงเพียงนั้น

ครั้น ถึงต้นปี พ.ศ.2524  ก็ได้รับบริจาคที่ดินในอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี จำนวน 30 ไร่   และได้ตกลงซื้อที่ดินอีกส่วนหนึ่งที่เหลือของแปลงเดียวกันอีก 42.5 ไร่   รวมเป็นเนื้อที่ดิน 72.5 ไร่   จากคุณเชาวน์ ศรสงคราม   จึงได้จัดตั้งเป็น สถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย แห่งนี้ขึ้น

อนึ่ง ยังได้จัดตั้ง มูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย ขึ้น   โดยมี

ศาสตราจารย์ บัญญัติ สุชีวะ  เป็น ประธาน   ตั้งแต่สมัยยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลฎีกา จนเกษียณอายุและดำรงตำแหน่งนี้ตลอดมาจนท่านได้ถึงแก่กรรมแล้ว

(ศาสตราจารย์ อรุณ งามดี  อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์  ได้เป็นประธานคนปัจจุบัน)  และ

รศ.ดร.พัฒนะ ภวะนันท์   ภาควิชาฟิสิคส์  คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กับ

รศ.ดร.ธีระ เกรอต   ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม  คณะวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาฯ เป็น รองประธาน

อาจารย์เสริมชัย พลพัฒนาฤทธิ์  เป็น  กรรมการผู้อำนวยการ

เพื่อ ให้การทำหน้าที่บริหารโครงการ   ให้การศึกษาอบรมและเผยแพร่ธรรมปฏิบัตินี้ ทั้งในส่วนกลาง กรุงเทพฯ  และในส่วนของสถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย  จังหวัดราชบุรี   และเพื่อให้การจัดการทางด้านบุคลากร การเงินและทรัพย์สินของโครงการทั้งสองและของสถาบันฯ   ให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง เรียบร้อย  อันรวมกันเข้ามาเป็นของมูลนิธิฯ   ซึ่งเป็นนิติบุคคล มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ศาลาการเปรียญ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 จนถึงสิ้นปี พ.ศ.2542  จึงได้ย้ายสำนักงานมูลนิธิฯ  ไปตั้งประจำอยู่ที่วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี  จนถึงปัจจุบัน

สถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย  มี วัตถุประสงค์สำคัญ  ในการดำเนินกิจกรรม 3 ประการ   คือ

เพื่อสร้างพระในใจตนเองและผู้อื่น   เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของสาธุชนให้กว้างขวางออกไป

เพื่อ สร้างพระวิปัสสนาจารย์หรือวิทยากร  ให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ   และให้งดงามพร้อมด้วยศีลาจารวัตร เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น   เป็นที่พึ่งทางใจแก่สาธุชนได้อย่างแท้จริง  ได้ช่วยกันสืบบวรพระพุทธศาสนาให้ยืนยาว

เพื่อรักษาและสืบต่อธรรมปฏิบัติตามแนววิชชาธรรมกายของพระพุทธเจ้า
ให้ถูกต้องและสมบูรณ์   ตามที่หลวงพ่อวัดปากน้ำ  พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)  ได้สั่งสอนและถ่ายทอดเอาไว้

กิจกรรม การให้การศึกษาอบรมและเผยแพร่ธรรมปฏิบัติของสถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย   อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี   จึงค่อยๆ เจริญก้าวหน้าขึ้นมาเป็นลำดับ   ได้มีการสร้างเสนาสนะ โรงครัว ห้องน้ำ ฯลฯ และปลูกต้นไม้ขึ้นบนพื้นที่ท้องนาล้วนๆ ที่ไม่มีอะไรเลย   แม้ต้นไม้สักต้นก็ไม่มี   ให้กลายเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่สะอาดเรียบร้อย ที่สัปปายะ สงบ ร่มรื่น ขึ้นมาตามลำดับ

การจัดกิจกรรมการอบรมภาวนาธรรม ในโครงการดังกล่าวทั้งหมดนี้  จึงได้จัดให้มีเป็นประจำ

ในส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร คือที่ ศาลาการเปรียญ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ  ตั้งแต่ พ.ศ.2524-2542  และ

ที่ สถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย  ตั้งแต่ พ.ศ.2524 จนได้รับประกาศตั้งเป็นวัด ชื่อ “วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม”  นี้ตลอดมาจนตราบเท่าถึงทุกวันนี้

กิจการ ของสถาบันแห่งนี้จึงได้เริ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่บัดนั้น  และได้รับการอุปถัมภ์และบริหารให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้.

       
มีผู้ถามท่านเจ้าคุณพระมหาเสริมชัย ว่า ขอทราบว่า อะไรคือแรงบันดาลใจให้มีการตั้งสถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกายขึ้นที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ?

หลวงพ่อพระมหาเสริมชัย ท่านก็ตอบ:

ต้องขอชี้แจงเป็นประเด็นสั้นๆ เพื่อทำความเข้าในเบื้องต้นก่อน แล้วจึงจะกล่าวในรายละเอียด เฉพาะในส่วนที่เห็นสมควรเพิ่มเติมอีกต่อไป

ในประการแรก ได้มีเหตุปัจจัยในส่วนอานุภาพธรรมกายที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ให้มีการเผยแพร่ธรรมปฏิบัตินี้อย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชาติทั้งมวล โดยการจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมแก่การอบรมภาวนาธรรม และจัดให้มีหลักสูตรและวิทยากร เพื่อให้การอบรม “สร้างพระในใจคน” และ “สร้างพระวิปัสสนาจารย์ให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ” เพื่อให้สามารถช่วยตนเองและผู้อื่นได้ตามสมควรแก่ภูมิธรรมและสติปัญญาความ สามารถของแต่ละท่าน อย่างได้ผลดี

ประการที่สอง มีเหตุปัจจัยในส่วนของความปรารถนาที่จะพิทักษ์รักษาพระสัทธรรม ตาม แนววิชชาธรรมกายของพระพุทธเจ้าที่ถูกต้องและบริสุทธิ์นี้ไว้ เพื่อให้มีการสืบต่อที่ตรงตามหลักปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ตามที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้ สั่งสอนไว้ จึงจำต้องมีองค์กรและคณะบุคคลที่ทรงคุณสมบัติพอที่จะเชื่อถือได้ว่า เป็นผู้ได้รับการถ่ายทอดวิชชาธรรมกายทั้งเบื้องต้น เบื้องกลาง และวิชชาธรรมกายชั้นสูง โดยตรงจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อมาอย่างถูกต้อง และสมบูรณ์อีกด้วย เป็นแรงบันดาลใจ ให้จัดตั้งสถาบันนี้ขึ้นเพื่อให้เป็นที่ถาวรและศูนย์กลางของการอบรมพระ กัมมัฏฐาน ตามแนววิชชาธรรมกายที่ถูกต้องและสมบูรณ์ตามที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้ถ่าย ทอดไว้ นี้เป็น เหตุปัจจัยที่สำคัญที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ให้มีการจัดตั้งสถาบันนี้ขึ้น…

แรงบันดาลใจที่เกี่ยวกับอานุภาพธรรมกาย

ใน ประเด็นนี้ อาตมาได้มีประสบการณ์ทั้งด้วยตนเอง และทั้งจากผู้อื่นที่เชื่อถือได้ว่า ธรรมปฏิบัตินี้ให้ผลดีแก่ผู้ที่ตั้งใจศึกษาและปฏิบัติด้วยใจศรัทธาและอิทธิ บาทธรรม ทั้งในทางโลกและทางธรรมอย่างมาก

ใน ทางโลก ช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปในทางเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อานุภาพธรรมกายนั้นให้ผลที่มีลักษณะเป็น “การบำบัดทุกข์” และ “บำรุงสุข” เป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างผลในการบำบัดทุกข์ หลายท่านคงจะเคยได้ยินข่าวที่มีผู้มาขอบารมีจากหลวงพ่อ ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ให้ช่วยขจัดปัดเป่าทุกข์เดือดร้อนให้ อย่างเช่นคนเจ็บไข้ได้ป่วย หากไม่ถึงขั้นอเตกิจฉา (แก้ไขไม่ได้แล้ว) ก็พอช่วยให้บรรเทาได้ หรือถึงกับหายเจ็บป่วยไปเลยก็มีไม่น้อย แม้เวลาที่ชาวบ้านในท้องที่ใดเกิดความทุกข์ยาก เพราะฝนฟ้าแห้งแล้ง ไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อพากันมาขอบารมีท่าน ท่านก็จะสอนให้รักษาศีลและฝึกปฏิบัติภาวนาธรรม แล้วก็ให้ไปบอกต่อๆ กันในหมู่ญาติพี่น้องในท้องที่นั้นให้ปฏิบัติธรรมเช่นนั้นด้วย ไม่ช้าฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล พอแก่การเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร เมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว ชาวบ้านผู้กตัญญูนำพืชผลหรือปัจจัยมาถวายวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพื่อเลี้ยงพระเณร ฯลฯ กันมาจนตราบ เท่าทุกวันนี้

ดัง จะเห็นได้ว่า วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ นั้นเป็นวัดที่มีพระภิกษุ สามเณร แม่ชี ผู้ปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย หรือจะเรียกว่าในโลกก็ได้ ที่สามารถเลี้ยงพระเณร ฯลฯ ได้หมดทั้งวัดโดยไม่ต้องออกบิณฑบาต เพราะมีผู้ศรัทธาไปถวายภัตตาหารและปัจจัย 4 ถึงที่วัดทุกวันมิได้ขาด ทำให้พระเณร แม่ชี ผู้ปฏิบัติธรรมที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สามารถศึกษาเล่าเรียนทั้งปริยัติธรรมและปฏิบัติภาวนาธรรมได้โดยสะดวก ไม่ต้องเดือดร้อน เพราะขาดแคลนในปัจจัย 4 มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ แม้เป็นระยะเวลาภายหลังที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านได้มรณภาพไปนานแล้ว ซึ่งนี้ก็เป็นผลแต่อานุภาพธรรมกายที่ให้ผลแก่ผู้สนใจศึกษาและปฏิบัติด้วย อิทธิบาทธรรม ในลักษณะของ “การบำรุงสุข” อีกด้วย ได้ยินมาว่า พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านได้เคยกล่าวว่า “ถ้าว่ามีความบริสุทธิ์ กาย วาจา ใจแล้ว ย่อมใช้สมบัติของพระพุทธเจ้าได้ไม่รู้จักหมด แต่ถ้าไม่บริสุทธิ์แล้ว ถึงจะเจริญขึ้นและใช้ได้ ก็ไม่เท่าไร” (ไม่นานก็เสื่อม)

เฉพาะ ตัวอาตมาเอง เมื่อสมัยที่เป็นคฤหัสถ์ครองเรือนนั้น ก็นับว่าได้ดำเนินชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขดีพอสมควร ด้วยอานุภาพแห่งการปฏิบัตินี้ และก็ยังได้มีประสบการณ์ในอานุภาพธรรมกายมามากพอสมควรที่จะเชื่อถือได้ว่า ธรรมกายที่บริสุทธิ์นั้น มีอานุภาพสูงจริงๆ จึงมีความปรารถนาที่จะเผยแพร่ธรรมปฏิบัตินี้ ออกไปยังสาธุชนพุทธบริษัท เพื่อให้เขาได้มีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมนี้ ให้บังเกิดผลดีแก่เขาเอง แก่ครอบครัว แก่สังคม และประเทศชาติโดยส่วนรวม ให้กว้างขวางออกไปให้มากที่สุด บ้านเมืองก็จะได้อยู่เย็นเป็นสุขโดยทั่วหน้า ถึงแม้จะไม่ได้ผลดีทั้งหมด ก็ขอให้ได้ผลดีที่สุดเท่าที่สติปัญญาความรู้ความสามารถของเราจะพึงมี และได้ทุ่มเทออกไปให้แก่ประชาชนทั้งหลาย ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และด้วยความเมตตากรุณาธรรมนั้น แล้วได้ผลเท่าใดเราก็พอใจเท่านั้น เพราะถึงอย่างไรก็ยังดีกว่าที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ชาติหนึ่งกับเขา แต่มิได้ทำประโยชน์อะไรที่เป็นแก่นสารให้แก่ตนเองและผู้อื่นเลย

ส่วน ในทางธรรมนั้น วิชชาธรรมกายช่วยให้ผู้ปฏิบัติได้ถูกทาง ปฏิบัติได้ตรงและสมบูรณ์ตามที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านได้ถ่ายทอดไว้ ให้สามารถเจริญปัญญารู้แจ้งในสภาวธรรมตามธรรมชาติที่เป็นจริง จากการที่ได้ทั้งรู้และทั้งเห็น จึงเป็นธรรมปฏิบัติเครื่องกำจัด อวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทานเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลายได้ดียิ่ง นี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้คิดปรารถนาที่จะเผยแพร่ธรรมปฏิบัตินี้ ไปยังสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายอย่างจริงจัง “เพื่อสร้างพระในใจคน” และ “เพื่อสร้างพระวิปัสสนาจารย์ให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ” ให้ได้ผลดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ช่วยกันสืบบวรพระพุทธศาสนานี้ให้เจริญรุ่งเรืองและยืนยาวยิ่งๆ ขึ้นไป ด้วยการจัดหาสถานที่ที่เหมาะแก่การปฏิบัติและอบรมภาวนาธรรม รวมทั้งจัดให้มีหลักสูตรการอบรมที่เหมาะสม พร้อมกับจัดสร้างวิทยากรและอุปกรณ์การสั่งสอนอบรมให้ได้ผลดี จึงมาได้ที่ดินที่มีผู้บริจาคและขายให้ในท้องที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี รวม 174 ไร่ อยู่ริมถนนสายดำเนินสะดวก-บางแพ เป็นสถานที่ตั้ง “สถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย” แห่งนี้ เพื่อใช้เป็นสถานที่ถาวรและศูนย์กลางของการอบรมพระกัมมัฏฐานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 มาจนตราบเท่าทุกวันนี้

แรงบันดาลใจเกี่ยวกับการพิทักษ์รักษาวิชชาธรรมกายที่บริสุทธิ์

ในข้อนี้มีความสำคัญอยู่ถึง 2 ประการด้วยกัน

ประการแรกก็ คือว่า หลวงพ่อพระภาวนาโกศลเถร รองเจ้าอาวาสและพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ องค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของอาตมภาพนี้ ท่าน ได้เป็นศิษย์ผู้หนึ่งที่ได้รับการถ่ายทอดวิชชาธรรมกาย ทั้งเบื้องต้น เบื้องกลาง และวิชชาธรรมกายชั้นสูง จากพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) มาเองโดยตรง ตั้งแต่สมัยที่หลวงพ่อพระภาวนาโกศลเถรยังเป็นฆราวาส แล้วภายหลังต่อมา ก็ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยพระเดชพระคุณ หลวงพ่อวัดปากน้ำเป็นองค์อุปัชฌาย์ และก็ได้รับการฝึกทำวิชชาธรรมกายชั้นสูงกับหลวงพ่อมาอย่างใกล้ชิดโดยตลอด จนกระทั่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อได้มรณภาพลง แล้วภายหลังจากนั้น ก็ได้อบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชชาธรรมกายนี้แก่ศิษยานุศิษย์ สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ นับว่าหลวงพ่อพระภาวนาโกศลเถร เป็นศูนย์รวมหรือคลังแห่งวิชชาธรรมกาย ที่ได้รับถ่ายทอดมาจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำโดยตรง และยังเป็นที่รวมวิชชาธรรมกายชั้นสูง ที่ศิษย์ในพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ ที่เป็นพระเถระรุ่นพี่ ได้จดทำบันทึกไว้ ก็ยังได้มารวมตกแก่หลวงพ่อพระภาวนาโกศลเถร องค์ปัจจุบันนี้อีกด้วย

จึง เห็นว่าวิชชาธรรมกายทุกระดับทั้งเบื้องต้น เบื้องกลาง และวิชชาธรรมกายชั้นสูง ควรจะต้องมีการรวบรวมขึ้น เป็นหลักฐานอ้างอิงที่สำคัญต่อไป เพื่อประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลัง จะได้ศึกษาและปฏิบัติต่อไปอย่างถูกทางและสมบูรณ์ ตามที่พระเดช พระคุณหลวงพ่อได้ถ่ายทอดไว้

ในประการที่สอง หากจะพิจารณาในเหตุผลและจากประสบการณ์ที่อาตมาเคยได้รับได้รู้เห็นมากพอ สมควรแล้ว ก็จะพบว่า อาจจะมีผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชชาธรรมกายในสมัยพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่าน ยังมีชีวิตอยู่ ที่มีภูมิรู้ไม่เท่ากัน และทั้งอาจได้ยินได้ฟังมาไม่เท่ากัน ก็ย่อมจะได้รับวิชชาความรู้ไปได้ไม่เท่ากัน และอาจจะมีบางท่านที่สำคัญผิดและรับรู้ไปผิดเพี้ยนบ้างก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรายที่มีพื้นความรู้ทางปริยัติมาน้อย ก็อาจจะมีความสำคัญในธรรมะที่ได้ยินได้ฟังมาผิดๆ และก็อาจถ่ายทอดสืบต่อๆ กันไปผิดๆ ได้ นอกจากนี้ยังอาจจะมีผู้ที่ค้นคว้าวิชชาไปเอง โดยที่ยังมิได้ผ่านการกลั่นกรองและอนุมัติจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อเสียก่อน แล้วนำออกใช้และเผยแพร่สืบทอดต่อๆ กัน ไปอย่างผิดๆ เพี้ยนๆ เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไปบ้าง ซึ่งก็อาจจะมีได้เป็นได้ ตราบใดที่อวิชชายังไม่หมดสิ้นโดยเด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน ก็ยังอาจจะถูกอภิสังขารมาร ได้แก่ ลาภสักการะและฐานะอันสูงส่ง หรือแม้โลกิยวิชชานั้นเองหลอกลวงได้โดยง่าย ผู้ที่มีสมาธิดีที่มิใช่พระอริยะ ซึ่งสามารถเจริญโลกิยวิชชาที่อาจจะใช้ได้ผลดีในบางครั้งบางคราว ก็ยังอาจจะหลง เพราะถูกมารเขาหลอกให้เห็นผิดเป็นชอบได้ อย่างเช่นพระเทวทัต ซึ่งเคยมีโลกิยวิชชา ถึงขั้นเหาะเหินเดินอากาศได้ในสมัยพุทธกาลนั้น เมื่อกิเลสคือ โลภะ โทสะ และโมหะเข้าครอบงำ ก็ถึงกับทำสังฆเภท ยุยงพระสงฆ์ให้แตกแยกกัน และกระทำโลหิตุปบาทแก่พระพุทธเจ้า เป็นอนันตริยกรรมได้ จึงต้องไปเสวยวิบากกรรมในอเวจีมหานรก นั่นแหละ เพราะอย่างนี้ผู้ที่มิใช่อริยบุคคลแต่เจริญโลกิยวิชชาได้ หากหลงในอภิสังขารมารหรือโลกิยวิชชาเมื่อใด ก็อาจจะถูกมารเขาหลอกให้เห็นผิด จึงรู้ผิดคิดผิด พูดผิดทำผิดและแนะนำผู้อื่นผิดๆ ต่อไปเป็นโทษทุกข์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นได้มาก

หลัก การศึกษาและปฏิบัติธรรมของอาตมาและศิษยานุศิษย์ ในสำนักนี้ จึงต้องอิงหลักปริยัติตำรับตำรา และครูอาจารย์ที่เชื่อถือได้ และที่เป็นกัลยาณมิตรจริงๆ จนกว่าจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว นั่นแหละจึงจะวางใจได้ ความจำเป็นที่จะต้องรวบรวมวิชชาธรรมกายทุกระดับ ออกมาเป็นเอกสารหลักฐานสำคัญที่เชื่อถือได้ เพื่อไว้อ้างอิงเป็นตำรับตำราแก่อนุชนรุ่นหลัง จึงเป็นแรงบันดาลใจให้คณะผู้บริหาร โครงการธรรมปฏิบัติเพื่อประชาชน วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และ โครงการพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ได้จัดตั้งสถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกายแห่งนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นองค์กร หรือ แหล่งที่รวบรวมสรรพตำราตามแนววิชชาธรรมกาย ที่ถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้ โดยคณะบุคคลผู้ซึ่งได้รับถ่ายทอดวิชชาธรรมกาย จากพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำโดยตรงที่เชื่อถือได้ และ ศิษยานุศิษย์ผู้มีทั้งในหลักธรรมปฏิบัติและในหลักปริยัติสัทธรรมมาดีพอสมควร เพื่อพิทักษ์รักษาวิชชาธรรมกายอันบริสุทธิ์นี้ไว้ให้แก่อนุชนรุ่นหลัง ได้รู้จักวิชชาธรรมกายที่ถูกต้องตรงตามที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำท่าน ได้ถ่ายทอดเอาไว้ และก็เหตุนี้แหละที่องค์กรนี้ได้ชื่อว่า “สถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย”

แชร์เลย

Comments

comments

Share: