หลวงปู่ดุลย์ อตุโล สอนเรื่องจิต

“จิตที่ส่งออกนอก เพื่อรับสนองอารมณ์ทั้งสิ้น   เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอกแล้วหวั่นไหว    เป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง                            เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง           เป็นนิโรธ “


              อริยสัจแห่งจิต ธรรมะอันเป็นหัวใจสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ในวัฏสงสาร ซึ่ง หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ค้นพบจากการภาวนาจนแจ่มแจ้งในปฏิจจสมุปบาท คือ หลักแและผลของการเวียนว่ายตายเกิด ณ ถ้ำพระเวสสันดร เทือกเขาภูพาน อ.นาแก จ.นครพนม เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๖ ยังคงได้รับการกล่าวถึงมาจนทุกวันนี้ พร้อมทั้งขันติธรรมของหลวงปู่ที่มักสอนลูกศิษย์เสมอว่า ‘อย่าส่งจิตออกนอก’ คงจะทำให้นักภาวนาหลายคนร้องอ๋อ

              ครั้งนั้นหลวงปู่เล่าประสบการภาวนาอย่างอุกฤษฏ์ให้สานุศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ” เราได้ตรึตรองพิจารณาตามหัวข้อหลักของกัมมัฏฐานที่ได้รับจาก พระอาจารย์ใหญ่ ที่ว่า สพฺเพสงฺขารา สพฺสญฺญา อนัตตา ก็บังเกิดความสว่างไสวรู้แจ้งแทงตลอดว่า เมื่อสังขารขันธ์ดับไปแล้ว ความเป็นตัวตนจักไม่มี  เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง ครั้นเมื่อความปรุงแต่งขาดไป และสภาพแห่งความเป็นตัวตนไม่มี ความทุกข์จะเกิดขึ้นได้อย่างไรเล่า”

              พระราชวรคุณ (สมศักดิ์ ปณฺฑิโต) วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ พระอุปัฏฐากใกล้ชิดหลวงปู่ดูลย์ ผู้เขียนประสบการณ์ภาวนาของหลวงปู่จากคำบอกเล่า บันทึกอยู่ในหนังสือ ‘อตุโล ไม่มีใดเทียม’  ชวนให้เราหยิบยกขึ้นมาน้อมใจระลึกถึงพระคุณของหลวงปู่ดูลย์ ในวันละสังขารของท่าน เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๖ จนถึงวันที่ ๓๐ ตุลาคมที่จะถึงนี้ก็จะครบรอบการมรณภาพ ๓๐ ปี และครบรอบอายุ ๑๒๕ ปีของหลวงปู่เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ ทีผ่านมา   

              พระอาจาย์ใหญ่ ที่หลวงปู่ดูลย์กล่าวถึงคือ พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งหลวงปู่ดูลย์ เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของท่านเลยก็ว่าได้ ดังนั้น การได้ยินได้ฟังประสบการณ์ทางธรรมของพ่อแม่ครูอาจารย์รุ่นใหญ่ในยุคนั้นย่อมน้อมให้ชนรุ่นหลังเกิดกำลังใจในการภาวนาเป็นอย่างมาก

              ดังที่ พระอาจารย์สมศักดิ์ เขียนถึงการช่วงเวลาการภาวนาของหลวงปู่ดูลย์ในช่วงนั้นต่อมาว่า “ผลจากการภาวนาที่ถ้ำพระเวสฯ ทำให้หลวงปู่มีความอิ่มเอิบใจเป็นล้นพ้น เฝ้ารอวันที่จะได้กราบนมัสการท่าน พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต อยุ่ตลอดเวลา ในที่สุดปีถัดมา คือ พ.ศ. ๒๔๖๗ คณะของหลวงปู่ได้ไปพบพระอาจารย์ใหญ่ที่วัดป่าโนนสูง จังหวัดมุกดาหาร หลวงปู่ได้กราบเรียนพระอาจารย์ใหญ่ให้ทราบถึงเรื่องราวการปฏิบัติที่ผ่านมา โดยเฉพาะหัวข้อธรรมเกี่ยวกับ ปฏิจจสมุปบาท และอริยสัจ ๔ ที่ได้รับขณะภาวนาที่ถ้ำพระเวสฯ พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ได้กล่าวคำรับรอง และยกย่องหลวงปู่ดูลย์ ต่อหน้าที่ชุมนุมศิษยานุศิษย์ว่า “ถูกต้องแล้ว เอาตัวรอดได้แล้ว นับว่าไม่ถอยหลังอีกแล้ว อยากให้ดำเนินตามปฏิปทานี้ต่อไป “

              ทำไมพระเถระนักปฏิบัติบางท่าน ไปไม่รอด ?

              หนังสืออีกเล่ม ที่เป็นดั่งคู่มือนักภาวนาในยุคนี้ ก็คือ ‘หลวงปู่ฝากไว้’ ซึ่งรวบรวมและบันทึกโดยพระอาจารย์สมศักดิ์ อีกเช่นกัน ท่านได้เล่าว่า ครั้งหนึ่ง มีพระมหาเถระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน สนทนาธรรมะขั้นปรมัตถ์กับหลวงปู่ดูลย์หลายข้อ แล้วลงท้ายด้วยคำถามว่า พระเถระนักปฏิบัติบางท่าน มีปฏิปทาดี น่าเชื่อถือ แม้พระด้วยกันก็ยอมรับว่า ท่านเป็นผู้มั่นคงในพระศาสนา แต่ในที่สุดก็ไปไม่รอด ถึงขั้นต้องสึกหาลาเพศไปก็มี หรือไม่ก็ทำไขว้เขว ประพฤติตัวมัวหมองอยู่ในพระธรรมวินัยก็มี จึงไม่ทราบว่าจะปฏิบัติถึงขั้นไหนอีก จึงจะตัดวัฏสงสารให้สิ้นภพสิ้นชาติได้ 

              หลวงปู่กล่าวว่า “การสำรวมสำเหนียกในพระวินัยอย่างเคร่งครัด และสมาทานถือธุดงค์นั้น เป็นปฏิปทาที่ดีงามอย่างยิ่ง น่าเลื่อมใส แต่ถ้าเจริญจิตไม่ถึงอธิจิต อธิปัญญาแล้ว ย่อมเสื่อมลงได้เสมอ เพราะยังไม่ถึงโลกุตตรภูมิ ที่จริงพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านไม่ได้รู้อะไรมากมายเลย เพียงแต่เจริญจิตให้รู้แจ้งในขันธ์ห้า แทงตลอดในปฏิจสมุปบาท หยุดการปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาจิต มันก็จบแค่นั้น เหลือแต่บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง ว่าง มหาสุญญตา ว่างมหาศาล”

              ถึงเวลาตาย ตายให้เป็น
 
              ครั้งหนึ่ง ตอนที่หลวงปู่อาพาธเข้าโรงพยาบาลสุรินทร์เป็นเวลา ๙ วัน ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ ขณะเตรียมจะออกจากโรงพยาบาล พระอาจารย์สมศักดิ์ ได้ดูแลหลวงปู่ในช่วงนั้น แสดงความยินดีที่หลวงปู่หายป่วย จะได้อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร และเป็นแสงสว่างแก่นักปฏิบัติต่อไป พร้อมทั้งปรารภถึงตนเองว่า “ถ้ากระผมเกิดป่วยหนักใกล้จะตาย คงจะทำใจไม่ได้อย่างหลวงปู่

              หลวงปู่กล่าวแนะนำว่า “ถึงคราวตายต้องตายให้เป็น ต้องตัดสินใจว่า ถึงยังไงก็จะตายแน่แล้ว ไปวิตกทุกข์ร้อนหวั่นกลัวก็ไม่มีประโยชน์ จากนั้นต้องสำรวมจิตใจให้สงบเป็นหนึ่ง แล้วก็หยุดเพ่ง ปล่อยวางทั้งหมด สุคติก็เป็นอันหวังพึ่งได้อย่างแน่นอน ถ้ายังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ในตอนนั้น หากกำลังก็อาจหมดปัญหาไปเลย”

              และแล้ว เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๖ เวลา ๐๔.๑๓ น.หลวงปู่ดูลย์ก็ละสังขารที่วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ ถิ่นบ้านเกิด รวมอายุได้ ๙๖ ปี ๒๖ วัน พรรษา ๗๔ ผ่านไป ๓๐ ปี หัวใจแห่งธรรมโดยสรุปสั้นๆ จากสภาวธรรมของหลวงปู่ยังแจ่มชัด น้อมนำให้นักภาวนารุ่นหลังนำไปใคร่ครวญปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้  ก็คือ …

              จิตที่ส่งออกนอก                       เป็นสมุทัย

              ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก     เป็นทุกข์

              จิตเห็นจิต                              เป็นมรรค

              ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต            เป็นนิโรธ

คิดตรงไหนใจก็อยู่ตรงนั้น

              หลายคนบนหนทางการภาวนา ยังไม่เข้าใจว่า จิตเห็นจิต นั้นเป็นอย่างไร บางทีก็สงสัยว่า จิต หรือใจนั้นอยู่ที่ไหน

              หลวงพ่อเพิ่ม เล่าประสบการณ์ในการปฏิบัติกัมมัฏฐานสมัยเริ่มต้นกับหลวงปู่ดูลย์ ซึ่งบันทึกอยู่ในหนังสือ ‘อตุโล ไม่มีใครเทียม’ตอนหนึ่งว่า หลวงปู่ดูลย์ได้แนะนำถึงวิธีการทำสมาธิว่าควรนั่งอย่างไร เดิน ยืน นอน ควรทำอย่างไร

              ในขั้นต้น หลวงปู่ให้เริ่มที่การนั่ง เมื่อนั่งเข้าที่เข้าทางแล้วก็ให้หลับตาภาวนา ‘พุทโธ’ ไว้อย่าส่งใจไปคิดถึงสิ่งอื่น ให้นึกถึงแต่พุทโธ -พุทโธเพียงอย่างเดียว แล้วมันจะรู้เอง เห็นเอง

              เมื่อกำลังภาวนาอยู่ หากมีความกลัวเกิดขึ้น ก็อย่าไปคิดในสิ่งที่น่ากลัวนั้น อย่าไปดูมัน ดูแต่ใจของเราเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แล้วความกลัวมันจะหายไปเอง

              หลวงปู่ชี้แจงต่อไปว่า เพราะสิ่งที่เราไปรู้ไปเห็นนั้น บางทีก็จริง บางทีก็ไม่จริง เหมือนกับว่า คนที่ภาวนาแล้วไปรู้ไปเห็นสิ่งต่างๆ เข้า การที่เขาเห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่เห็นนั้นมันไม่จริง เหมือนอย่างที่เราดูหนัง เห็นภาพในจอหนัง ก็เห็นภาพในจอจริงๆ แต่สิ่งที่เห็นนั้นไม่จริง เพราะความจริงนั้น ภาพมันไปจากฟิล์มต่างหาก

              ฉะนั้น ผู้ภาวนาต้องดูที่ใจอย่างเดียว สิ่งอื่นนอกจากนั้นจะหายไปเอง ให้ใจมันอยู่ที่ใจนั่นแหละ อย่าไปส่งใจออกนอก

              คำว่า ‘ใจอยู่กับใจ’ นี้คือ คิดตรงไหน ใจก็อยู่ตรงนั้นแหละ ความนึกคิดก็คือ ตัวจิตตัวใจ

              ใจอยู่กับใจจึงหมายถึง ให้อยู่กับสติ ให้มีสติกำกับใจ…เมื่อสติมันติดต่อกันไปอย่างนี้แล้ว เรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ ‘อยู่กับตัวรู้ตลอดเวลา ‘

              ตัวรู้ก็คือสติ หรือจะเรียกว่า ‘พุทโธ’ ก็ได้ พุทโธที่ว่า รู้ตื่นเบิกบาน ก็คือ ตัวสติ นั่นเอง

แชร์เลย

Comments

comments

Share: