อาทิตชาดก

สทฺธาย ทานํ ททโตติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต ทานปารมึ อารพฺภ กเถสิ

สตถา สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อทรงประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงพระปรารภทานบารมีให้เป็นเหตุ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มว่า สทฺธาย ทานํ ททโต ดังนี้เป็นต้น

อนุสนธิในเรื่องนี้มีว่า วันหนึ่งพระภิกษุทั้งหลายประชุมกันในโรงธรรมสภา พากันสรรเสริญบารมีของพระบรมศาสดาว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระบรมศาสดาพระองค์ไม่อิ่มไม่เบื่อในทานเลยน่าอัศจรรย์นัก ลำดับนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จออกจากคันธกุฎี ทรงพระดำเนินไปยังโรงธรรมสภา ประทับเหนือบวรพุทธอาสน์แล้วตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายประชุมกันพูดถึงเรื่องอะไร พระภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลความตามที่พูดกันนั้นให้พระพุทธองค์ทรงทราบทุกประการ สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์มีพุทธดำรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่อิ่มไม่เบื่อในทาน ณ กาลบัดนี้ไม่สู้เป็นอัศจรรย์นัก เมื่อตถาคตยังสร้างพระบารมีอยู่ในกาลปางก่อน ไม่รู้อิ่มรู้เบื่อเลยนั่นและเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก ตรัสดังนี้แล้วจึงนำเรื่องราวที่ล่วงแล้วมาอ้างดังต่อไปนี้ว่า

อตีเต ภิกฺขเว เชตุตฺตรนคเร อาทิตราชา นาม รชฺชํ กาเรสิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลที่ล่วงมาแล้วแต่หนหลัง ยังมีพระราชาทรงพระนามว่า อาทิตราช เสวยราชสมบัติในเมืองเชตุตร มีอัครมเหสีทรงพระนามว่าสังขเทวี พระเจ้าอาทิตราชนั้น เสวยราชสมบัติโดยยุติธรรม โปรดให้สร้างโรงทานหกแห่ง คือที่ริมประตูเมืองสี่แห่ง ท่ามกลางเมืองหนึ่ง ที่ริมพระทวารราชนิเวศน์แห่งหนึ่ง ทรงบริจาคทรัพย์บำเพ็ญทานวันละแสนทุกวัน ๆ และทรงรักษาศีลมิได้ประมาท

​วันหนึ่งเวลาจะใกล้รุ่ง พระเจ้าอาทิตราชทรงพระสุบินนิมิตว่ามีพราหมณ์แก่คนหนึ่ง มาขอพระกายาหารที่เสวย พระองค์ตื่นบรรทมแล้วใคร่ครวญดูก็ทราบชัดว่า เวลาเช้าวันนี้จะมียาจกมาขอทาน จึงทรงพระรำพึงต่อไปว่าถ้าหากจะมียาจกมาขอหัวใจหรือศีรษะเนื้อและเลือด หรือขอร่างกายแต่ครึ่งหนึ่งหรือขอทั้งหมดไซร้ เราจักยอมยกให้ทุกสิ่ง อนึ่งหรือจะขอลูกเมียยอดรักและราชสมบัติก็ดี เราจักยอมยกให้สิ้นทั้งนั้น หรือหากว่าจะขอเอาตัวเราไปเป็นทาสเราจักยอมไปเป็นทาสได้ทุกประการ

เมื่อพระเจ้าอาทิตราชทรงดำริอยู่ดังนี้ ทีนั้นมหาปถวีอันหนาแน่นได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ก็ไหวหวั่นหวาด ขุนเขาสิเนรุราชก็น้อมยอดทอดไปข้างเมืองเชตุดร เปรียบดังหน่อหวายอ่อนที่ถูกไฟลน เสียงฟ้าก็คำรนร้องก้องอากาศ สาครสมุทร์ก็ตีฟองเป็นลูกคลื่นดังฉะฉาดฉาน ฝนลูกเห็บก็ตกลงเกลื่อนกลาดปถพี ท้าวโกสีย์ก็ปรบหัตถ์อยู่ฉัดฉาน ฝูงเทพยเจ้าให้ซ้องสาธุการโกลาหลตลอดทั่วถึงพรหมโลกเบื้องบนล้วนเสียงสาธุการ

ขณะนั้น พิภพท้าวมัฆวานก็แสดงอาการร้อนผิดประหลาด ท้าวสักกเทวราชเล็งดูด้วยทิพยจักษุก็ทราบเหตุว่า บัดนี้พระเจ้าอาทิตราชหน่อแนวพระพุทธเจ้า ประสงค์จะบำเพ็ญทาน เราจักไปเพิ่มพระบารมีของพระองค์ให้เต็มบริบูรณ์ เราจักไปขอโภชนาหารก่อน ทรงอนุสรแล้วก็เสด็จจากสวรรค์ แปลงรูปเป็นพราหมณ์แก่หง่อม สรีรกายนั้นซูบผอมผมหงอกขาวถือไม้เท้าเดินงกงันตรงไปในพระนคร แสดงตนให้พระเจ้าอาทิตราชทอดพระเนตรแล้วส่งเสียงถวายชัยมงคลขึ้นสามหนว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้าขอพระองค์จงชนะ ขอพระองค์จงชนะ ขอพระองค์จงชนะ เถิดพระเจ้าข้า

ราชา พระเจ้าอาทิตราชทอดพระเนตรเห็นอินทรพราหมณ์นั้น มีพระหฤทัยอันพระกรุณาตักเตือน จึงเอื้อนพระโอษฐ์ตรัสถามว่า ดูกรพราหมณ์ท่านมาจะต้องการสิ่งใดหรือ ฯ ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าแก่เถ้าชราทุพลภาพยากไร้แสนเข็ญเป็นโรคพยาธิเบียดเบียนในท้อง ข้าพระพุทธเจ้ามาครั้งนี้ เพื่อจะรับพระราชทานโภชนาหาร พระเจ้าข้า

ราชา พระเจ้าอาทิตราช (คือพระโพธิสัตว์) ทรงพระโสมนัสรีบเสด็จไปยกเอาสุวรรณภาชนะใส่พระกระยา ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ แล้วส่งให้แก่อินทรพราหมณ์ มีโองการตรัสว่า แน่ะท่านพราหมณ์เถ้าเราให้ทานแก่ท่านครั้งนี้ เราจะได้ปรารถนาสมบัติบรมจักรพรรดิ หรือสมบัติอินทร์และสมบัติพรหมหามิได้ ทานที่เราให้นี้ ขอจงเป็นปัจจัยให้​เราได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ ดูกรพราหมณ์ ท่านจงรับเอาโภชนาหารนี้ไปตามประสงค์เถิด

อินทรพราหมณ์รับเอาโภชนาหารต่อพระหัตถ์ได้แล้ว ก็เททิ้งเสียต่อหน้าพระที่นั่งพูดว่า พระเจ้าอาทิตราชทำไมจึงให้โภชนาหารหยาบ ๆ ฉะนี้เล่า อินทรพราหมณ์ก็ทำกิริยาเป็นที่โกรธ ทูลตัดพ้อด้วยถ้อยคำต่าง ๆ แล้วก็ลุกไปเสีย พระเจ้าอาทิตราชทอดพระเนตรโภชนะซึ่งอินทรพราหมณ์เททิ้ง และทรงฟังคำอินทรพราหมณ์ตัดพ้อนั้น พระองค์หาทรงพิโรธไม่ พระพักตรเบิกบานปานดอกปทุมอันแย้มฉะนั้น

ตมตฺถํ ปกาเสนฺโต สตฺถา อาห ยํ อตฺถํ เนื้อความใดยังมิได้ปรากฏ สมเด็จพระสุคตศาสดา เมื่อจะประกาศความนั้นให้ชัดจึงตรัสคาถานี้ว่า

สทฺธาย ทานํ ททโตโภชนํ ทิพฺพสมฺปทํ
พฺราหมณสฺส อทา ทานํโพธิยาเยว การณา
ททามิ โภชนํ ทานํพฺราหฺมโณ โกธมานโส
ปหาย โภชนฺเจวราชา อโกธมานโส
ราชา ปสนฺนจิตฺโตวสมฺโพธิกามโต ภเว
พฺราหฺมณสฺส อทา ทานํสมฺโพธึ ปาปุณิสฺสสิ

ความว่า พระเจ้าอาทิตราชกอบด้วยพระศรัทธา เมื่อจะบริจาคโภชนาหารให้เป็นทาน ล้วนแต่ของประณีตเสมอดังของทิพย์ ทรงประทานให้แก่พราหมณ์ไป ตั้งความปรารถนาไว้ว่า เราได้ให้โภชนาหารเป็นทานนี้เพื่อเหตุแก่พระโพธิญาณสิ่งเดียวเท่านั้น พราหมณ์กลับขึ้งโกรธทิ้งโภชนะเสียต่อหน้าพระที่นั่ง พระราชาก็หาทรงพิโรธไม่ มีพระหฤทัยเลื่อมใสรักใคร่ต่อพระโพธิญาณยิ่งนัก พระองค์ทรงบริจาคทานแก่พราหมณ์ครั้งนั้นประหนึ่งจะประกาศว่า พระองค์จักถึงซึ่งพระโพธิญาณ ในกาลภายหน้าเที่ยงแท้

อถ มหาสตฺโต ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้ากำลังทรงปีติในการบำเพ็ญทาน จึงทรงพระจินตนาการต่อไปว่า ร้ายดีคงจะมียาจกอื่นมาขอทานแก่เราอีกเป็นมั่นคง พระองค์ทรงประทับนั่งพระเนตรจ้องคอยมองหายาจกผู้ซึ่งจะมาขอรับทาน เปรียบปานดุจนักเลงสุราบานคอยแสวงหาเจ้าของเหล้าฉะนั้น

สกฺโก เทวราชา ท้าวสักกเทวราช เมื่อลุกเดินไปแล้วครู่หนึ่ง จึงยังเพศพราหมณ์แก่นั้นให้อันตรธานหาย แล้วแปลงกายเป็นพราหมณ์หนุ่มน้อยรูปร่างแช่มช้อยงดงาม เดินกลับมาใหม่เข้าไปเฝ้าใกล้ๆพระราชา จึงกราบทูลถ้อยคำปฏิสัณฐารว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ พระองค์อยู่เป็นสุขสบายไม่มีภัยเบียดเบียนหรือ พระองค์ยังทรงพระสำราญปราศจากโรคาพาธิ์หรือประการใด ชนบทขัณฑสีมา ยังบริบูรณ์ด้วยข้าวปลาหรือขัดสนประการใด อนึ่งน้ำฝนตกต้องตามฤดูกาลหรือแห้งแล้งประการใดพระเจ้าข้า

มหาสตฺโต พระมหาสัตว์เจ้าจึงตรัสตอบว่า ดูกรพราหมณ์ เราอยู่เป็นสุขปราศจากทุกข์ภัยและหาโรคาพาธิ์บมิได้ ดูกรพราหมณ์ ๆ มาคราวนี้ชื่อว่ามาดี ถึงมหาพราหมณ์มาแต่ไกลชื่อว่ามาใกล้ มหาพราหมณ์จงล้างเท้าเข้ามานั่งข้างใน พักผ่อนเสียให้สบาย พระมหาสัตว์ตรัสดังนี้แล้ว ทรงพระดำริว่า พราหมณ์ผู้นี้คงมีเหตุจึงได้มาหาเรา ๆ จักถามเหตุที่พราหมณ์มา จึงตรัสพระคาถาดังนี้ว่า

อถ ตฺวํ เกน วณฺเณนเกน วา ปน เหตุนา
อนุปปตฺโตสิ เม รฏฺํตํ เม อกฺขาหิ ปุจฺฉิโต

ความว่า เราขอถามเจ้า ๆ มาถึงแว่นแคว้นของเรา ด้วยเรื่องราวและเหตุผลเป็นอย่างไร เราถามเจ้า ๆ จงบอกแก่เรา ณ บัดนี้

อินทรพราหมณ์จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระพุทธเจ้ามาเฝ้าครั้งนี้ เพื่อจะขอรับประทานสังขเทวีของพระองค์ จงทรงพระกรุณาประทานให้เถิดพระเจ้าข้า กราบทูลดังนี้แล้ว จึงกราบทูลด้วยพระคาถาดังนี้ว่า

ยถา วาริวโห ปูโรสพฺพกาลํ น ขียติ
เอวนฺตํ ยาจิตาคฺฉีภริยํ เม เทหิ ยาจิโต

ความว่า ห้วงน้ำใหญ่อันเต็มไปด้วยวารี มิได้มีเวลาหมดไปฉันใด น้ำพระหฤทัยของพระองค์ ก็ชุ่มชื่นด้วยทานฉันนั้น ข้าพระพุทธเจ้าสู้บากบั่นมาครั้งนี้ เพื่อจะขอรับประทานพระราชเทวีของพระองค์ จงประทานให้แก่ข้าพระพุทธเจ้าเถิดพระเจ้าข้า

มหาสตฺโต พระมหาสัตว์เจ้าได้ทรงฟังดังนั้น พระองค์ทรงโสมนัสจะได้ย่อท้อหาบมิได้ เมื่อจะยังปถพีให้ไหวหวั่น จึงตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

ททามิ น วิกมฺปามิยํ มํ ยาจสิ พฺราหฺมณ
สนฺตํ น ปติคุยฺหามิทาเน เม รมตี มโน

ความว่า ดูกรพราหมณ์ ๆ ขอสิ่งใดกับเรา ๆ จะยอมยกให้มิได้ย่อท้อ สิ่งอื่น ๆ ที่มีอยู่พราหมณ์ต้องการ เราจะให้มิได้ปิดบังไว้เลย ใจของเรายินดีในการให้ทานฝ่ายเดียวเท่านั้น

ตรัสดังนี้แล้วก็ทอดพระเนตรดูพระราชเทวีแล้วตรัสว่า แน่ะพระนางเธอผู้เจริญ พี่ต้องการพระโพธิญาณนัก ทำไฉนดีจึงจะได้เล่า พระสังขเทวีเจ้าสดับโองการตรัสดังนั้น พระนางเธอจะได้แสดงสภาพสะดุ้งหวาดหวั่นหาบมิได้ จึงกราบทูลด้วยพระคาถาดังนี้ว่า

ทาสี ตุยฺหํ อหํ เทวสามิโก มม อิสฺสโร
ยสฺสิจฺเฉ ตสฺส มํ ทชฺชาอภีโต ปน มานโส
อนุกมฺปา ตุเมหฺ เทวอปฺปราธํ ขมถ เม
วนฺทามิ สิรสา ปาเทปจฺฉิมวนฺทนํ มม

ความว่า ข้าแต่เทวบพิตร หม่อมฉันเป็นทาสีของพระองค์ ๆ เป็นเจ้าปกครองหม่อมฉัน พระองค์จะให้ปันแก่ผู้ใดพระองค์ไม่ต้องเกรงใจ พึงประทานหม่อมฉันให้แก่ผู้นั้นเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาโปรดอดโทษานุโทษหม่อมฉันด้วย หม่อมฉันขอถวายบังคมฝ่าพระบาทด้วยเศียรเกล้า หม่อมฉันจะได้ถวายบังคมก็เป็นที่สุดครั้งเดียวเท่านั้น

พระมหาสัตว์เจ้าทรงฟังสังขเทวีกราบทูลดังนั้น มีพระหฤทัยเกษมสันต์ ทรงจับเต้าน้ำมาทันที จึงหลั่งอุทกวารีลง ณ มือพราหมณ์แล้วตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ พระสังขเทวีนี้เป็นที่รักเป็นที่ยินดีของเรายิ่งนัก แต่ทว่าเรารักพระสัพพัญญุตญาณมากกว่าสังขเทวีนับด้วยร้อยเท่าและแสนเท่า ทรงตรัสดังนี้แล้วก็ประทานพระสังขเทวีแก่อินทรพราหมณ์ไป

ทันใดนั้น ก็บังเกิดมหัศจรรย์แผ่นดินไหว มหาสมุทร์ทะเลใหญ่ก็ตีฟองเป็นลูกคลื่น พระยาเขาสิเนรุก็น้อมยอดลงทำบูชาหมู่เทพยดาทั้งหลายก็ถวายสาธุการบันลือลั่น​โกลาหล ตลดดทั่วถึงเบื้องบนพรหมโลกเป็นที่สุด เตน วุตฺตํ เพราะเหตุดังนั้น พระคันถรจนาจารย์ท่านจึงประพันธ์พระคาถาดังนี้ว่า

เทวี หตฺเถ คเหตฺวานอุทกสฺส กมณฺฑุลุํ
พฺราหฺมณสฺส อทา ทานํโพธิยาเยว การณา
ตทาสิ ยํ ภีสนกํตทาสิ โลมหํสนํ
เทวี ปริจฺจชนฺตสฺสเมทนิ สมกมฺปถ

ความว่า พระเจ้าอาทิตราชหน่อโพธิสัตว์ ทรงจับหัตถ์พระราชเทวี แล้วหลั่งอุทกวารีลงเหนือมือพราหมณ์ แล้วทรงประทานให้แก่พราหมณ์ไป และประกาศว่า เราให้พระราชเทวีเป็นทานนี้ เพราะเหตุแก่พระโพธิญาณสิ่งเดียวเท่านั้น เมื่อพระเจ้าอาทิตราชประทานพระราชเทวีแก่พราหมณ์ครั้งนั้น เกิดมหัศจรรย์เป็นโกลาหล ฝูงประชาชนก็ขนพองสยองเกล้าทุกตัวตน เมทนีดลก็กัมปนาทหวาดหวั่นไหว

คราวนั้น ท้าวสหัสสนัย แกล้งยุดมวยพระเกศราชเทวี มิได้ปราณีฉุดลากผลักไสไปต่อหน้าพระที่นั่ง พระราชเทวีก็ร้องขึ้นด้วยเสียงอันดัง พระราชาทรงฟังจึงตรัสปลอบว่า แน่ะพระท้าวน้องผู้เจริญ อย่าร้องไห้ไปเลยจะเศร้าศรี พี่ขอพระโพธิญาณกะพระนางเธอครั้งนี้ พระนางสังฑราชเทวี จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเต็มใจถวายพระโพธิญาณแก่พระองค์มิได้หน่ายหนี

ตมตฺถํ ปกาเสนฺโต สตฺถา อาห ยํ อตฺถํ เนื้อความอันใดยังไม่ปรากฏ สมเด็จพระศรีสุคตเมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัดจึงตรัสคาถานี้ว่า

ภริยาย ทานกาเลพฺราหฺมโณ โกธมานโส
ราชา อโกธจิตฺโตวสมฺโพธิการณา สจฺจํ

ความว่า ในกาลเมื่อพระเจ้าอาทิตราช ทรงบำเพ็ญภริยาทาน ครั้งนั้นพราหมณ์มีความโกรธ ฉุดกระชากลากพระราชเทวีไปต่อพระพักตร พระราชาจะได้ทรงพิโรธหาบมิได้ ทรงมุ่งหมายพระโพธิญาณอย่างเดียวจริง

อถ สกฺโก ลำดับนั้นท้าวสักกเทวราช ทราบชัดว่ากษัตริย์ทั้งสองมีอัธยาศัยปรองดองกันเป็นอันดี ท้าวโกสีย์จึงกราบทูลสรรเสริญว่า ข้าแต่พระมหาราชบพิตร ​ฝ่าพระบาททั้งสองมีพระหฤทัยปรองดองกันเดียวกัน พระองค์จักตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในภายหน้า ข้าแต่เทวบพิตร ข้าพระพุทธเจ้าหาใช่พราหมณ์โดยชาติไม่ คือท้าวสหัสสนัย อาศัยสุจริตธรรมของพระองค์ จึงลงมาเพิ่มภริยาทาน ณ กาลบัดนี้ ท้าวโกสีย์กราบทูลขอขมาโทษที่ทำล่วงเกินแล้วนั้น เมื่อจะถวายคืนสังขเทวีแก่พระเจ้าอาทิตราชจึงกล่าวบทคาถานี้ว่า

ททามิ โภโต ภริยํเทวึ สพฺพงฺคโสภนํ
ตฺวฺเจว เทวิยา ฉนฺโทเทวี จ ปตินา สห
ยถา ปโย จ สงฺโข จอุโภ สมานวณฺณิโน
เอวํ ตฺวฺจ เทวี จสมานมนมานสา
สกฺโกหมสฺมิ เทวินฺโทอาคโตสฺมิ ตวนฺติเก
อฺชลี เต ปคฺคณฺหามิราช เสฏฺ นมามิหํ
สาธุ สาธุ มหาวีรยตฺถ ยตฺถ ลภิสฺสสิ
อนาคเต หิ สมฺพุทฺโธโลเก นาโถ ภวิสฺสสิ

ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ข้าพระบาทขอถวายคืนพระราชเทวีอัครชายา ผู้ทรงลักษณะโสภาแก่พระองค์ไว้ดังเก่า อนึ่งเล่า พระองค์สมควรเป็นสามี พระราชเทวีสมควรเป็นบาทจาริกา น้าในเต้านมกับสังข์ทั้งสองมีสีขาวบริสุทธิ์เสมอกันฉันใด พระองค์กับพระราชเทวีมีน้ำพระหฤทัยผ่องใสเสมอกันก็ฉันนั้น ข้าพระบาทผู้ชื่อสักกเทวราช มาเฝ้าฝ่าพระบาทอภิวาทถวายบังคมโดยความยินดีเลื่อมใส ข้าแต่พระราชาเจ้าผู้ประเสริฐ ผู้อาจหาญทรงบำเพ็ญทานได้ดังนี้ดีนักหนา พระองค์เจตนาสิ่งใด จักได้สมประสงค์ทุกประการ ต่อไปภายหน้าพระองค์จักได้ตรัสเป็นองค์สัมพุทธโลกนาถเที่ยงแท้

ท้าวสักกเทวราช เมื่อจะถวายโอวาทอื่นอีกต่อไปจึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชผู้จอมกษัตริย์ ขอพระองค์จงประพฤติธรรมปฏิบัติในพระราชชนกและพระชนนี จงประพฤติธรรมสังคหวิธีในหมู่พาหนะและพลนิกาย จงประทานอภัยในหมู่สัตว์มีเนื้อและนกเป็นต้น ธรรมความชอบอันใดอันบุคคลประพฤติได้ดีแล้ว ย่อมนำมาซึ่งความสุข พระองค์จงประพฤติซึ่งธรรมนั้น ขอพระองค์จงบำเพ็ญเทวดาพลี และเกื้อกูลสมณพราหมณ์จงเนืองนิตย์ ​พระองค์ประพฤติธรรมสุจริตได้ดังนี้ ก็จักเสด็จไปยังโลกสวรรค์ ขอพระองค์จงอย่าประมาทเลยพระเจ้าข้า ท้าวสักกเทวราชถวายโอวาทดังนี้แล้ว ก็ทูลลากลับไปยังที่อยู่ของตน

ตมตฺถํ ปกาเสนฺโต สตฺถา อาห ยํ อตฺถํ เนื้อความใดยังไม่ปรากฏ สมเด็จพระสุคตศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

อิทํ วตฺวาน มฆวาเทวราชา สุชมฺปติ
โพธิสตฺตสฺส ถูตึ กตฺวาสคฺคกายํ อปฺปกฺกมิ

ความว่า ท้าวมัฆวานเทวราชสุชัมบดี ตรัสถวายโอวาทนี้แล้ว ทำความสรรเสริญพระโพธิสัตว์เสร็จ จึงเสด็จกลับไปยังเทวโลกสวรรค์

—————————-

สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงประกาศอริยสัจจซ้ำลงในที่สุดจบชาดกเทศนา เมื่อจบอริยสัจจกถาแล้ว พระองค์จึงประชุมชาดกว่า พระราชมารดาของพระเจ้าอาทิตราชในครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระมหามายา พระราชบิดาของพระเจ้าอาทิตราชในครั้งนั้น กลับชาติมาคือ พระสุทโธทนมหาราช ท้าวสักกเทวราชในครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระอนุรุทธเถระ สังขเทวีราชมเหสีในครั้งนั้น กลับชาติมาคือ นางยโสธรา บริษัททั้งหลายในครั้งนั้นกลับชาติมาคือ พุทธบริษัท พระเจ้าอาทิตราชในครั้งนั้น กลับชาติมาคือ พระโลกนาถ

จบอาทิตชาดก

แชร์เลย

Comments

comments

Share: