เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

เจริญพรญาติโยมสาธุชนผู้ฟังทุกท่าน

วันนี้อาตมภาพก็จะได้กล่าวถึงเรื่อง “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร”

ก่อนอื่นอาตมาใคร่จะขอเล่าเรื่อง “ความเกิดขึ้นของนางกาลียักษิณี”  ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโคดมของเรานี้ยังมีพระชนมชีพอยู่  เพื่อให้เห็น ตัวอย่างโทษของการก่อเวรและการผูกใจเจ็บแล้วจองเวรซึ่งกันและกันว่า  มีโทษแก่ทั้งผู้ก่อเวร และทั้งผู้ผูกใจเจ็บแค้นแล้วจองเวรซึ่งกันและกันอย่างไร และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้ระงับเวรโดยวิธีการอย่างไร   พอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาสาธุชนผู้ฟัง แล้วจะได้นำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน  ด้วยความสำรวมระวังความประพฤติปฏิบัติทางไตรทวาร คือทางกาย ทางวาจา และเจตนาความคิดอ่านทางใจ มิให้เป็นการก่อเวร และหากเคยมีเวรต่อกันกับใครผู้ใด ก็ให้เวรนั้นสงบระงับลงได้ ก็จะดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข เพราะว่า ผู้คนและสัตว์โลกอื่นทั้งหลายที่อยู่ร่วมกันในสังคมทุกวันนี้ มักประพฤติปฏิบัติต่อกันในลักษณะเป็นการก่อเวรและก็ผูกใจเจ็บแค้นแล้วก็จองเวรซึ่งกันและกัน เป็นเหตุให้อยู่ร่วมกันอย่างโกลาหล ไม่สงบ และเป็นเหตุให้ถึงซึ่งความทุกข์เดือดร้อน ไม่มีที่สิ้นสุด และดูเหมือนจะยิ่งเพิ่มทับทวีหนักยิ่งขึ้น เพราะความที่ต่างคนต่างขาดสติสัมปชัญญะ และขาดปัญญาอันเห็นชอบ ด้วยอำนาจของกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นเหตุให้ปุถุชนหลงคิดผิด เห็นผิด จึงประพฤติปฏิบัติต่อกันอย่างผิดๆ  จึงมีการกระทบกระทั่ง เบียดเบียน เกียรติยศ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน และแม้ชีวิตเลือดเนื้อของซึ่งกันและกัน เป็นการก่อเวร และจองเวรซึ่งกันและกัน ให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อนต่อๆไปไม่มีที่สิ้นสุดดังที่เราเคยได้ยินได้ฟังข่าวทางสื่อมวลชนอยู่บ่อยๆ ในทุกวันนี้

เรื่อง “ความเกิดขึ้นของนางกาลียักษิณี” นี้ มีปรากฏในพระธัมมปทัฏฐกถา (ภาค 1) ฉบับแปลเป็นภาษาไทย พิมพ์ครั้งที่ 14/2531 โดยมหามกุฎราชวิทยาลัย หน้า 64-71 มีความย่อว่า

ในสมัยที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ได้ทรงปรารภเรื่องหญิงหมันคนหนึ่ง และได้ตรัสพระธรรมเทศนาว่า

 น  หิ  เวเรน  เวรานิสมฺมนฺตีธ  กุทาจนํ
 อเวเรน  จ  สมฺมนฺติเอส ธมฺโม  สนนฺตโน
“ในกาลไหนๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้  ย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย   ก็แต่ย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร   ธรรมข้อนี้เป็นของเก่า”

เรื่องนี้มีอยู่ว่าบุตรชายกุฎุมพีคือผู้มั่งมีคนหนึ่งเมื่อบิดาตายและได้ทิ้งบ้านช่อง เรือกสวนไร่นาไว้ให้มาก ก็ได้อยู่ช่วยกิจการงานต่างๆ และปฏิบัติมารดาอยู่ด้วยดี ต่อมามารดาคิดจะหาภรรยาให้เพื่อช่วยกันทำกิจการงาน และให้มีครอบครัวเป็นหลักเป็นฐานเสียที ลูกชายจึงเลือกบุตรสาวของตระกูลที่ตนชอบใจให้แม่ไปสู่ขอ และแต่งงานให้ แต่ภรรยานั้นเป็นหญิงหมัน เป็นประเพณีของชาวอินเดียว่า หากครอบครัวใดไม่มีบุตรชายสืบสกุลแล้ว ก็ถือว่าเป็นเรื่องเสียหาย มารดาจึงเซ้าซี้บุตรชายว่าจะหาภรรยาให้ใหม่อีก บุตรชายก็ไม่อยากได้ภรรยาใหม่นัก และก็เผอิญว่าภรรยาเดิมนั้นได้ยินสองแม่ลูกปรึกษากันในเรื่องนี้ ก็คิดว่า สักวันหนึ่ง สามีของตนคงจะทนมารดาเซ้าซี้ไม่ไหว ก็จะยอมให้มารดาจัดหาภรรยามาให้ใหม่อีกจนได้ และถ้าเป็นเช่นนั้น ต่อไปในกาลข้างหน้า ตนเองก็จะต้องลำบาก   เพราะถ้าเขาได้ลูกชายไว้สืบสกุลแล้ว ทรัพย์สมบัติทั้งหมดก็ย่อมจะตกเป็นของภรรยาใหม่กับบุตรแน่นอน  และตนเองก็จะกลายเป็นเพียงคนใช้เขาเท่านั้น ภรรยาเดิมจึงรับอาสาหาหญิงสาวมาให้สามีเอง เพื่อตนจะได้ตีสนิทชิดเชื้อกับภรรยาใหม่ของสามี ให้เธอตายใจได้ แล้วจะได้หาวิธีมิให้เธอมีบุตรได้ต่อไป ครั้นทุกฝ่ายยินยอมพร้อมใจ ภรรยาเดิมผู้พกความริษยาไว้ภายในใจ ก็หาหญิงสาวที่คุ้นเคยและไว้วางใจกันมาให้เป็นภรรยาใหม่ของสามีได้สำเร็จ

ครั้นภรรยาใหม่ตั้งครรภ์ ภรรยาเก่านั้นก็ดูแลปรนนิบัติวัตรถากภรรยาใหม่ ให้ทุกคนตายใจ แล้วก็แอบใส่ยาทำแท้งให้ภรรยาใหม่กิน และปรากฏว่า ภรรยาใหม่แท้งลูกถึง 2 ครั้ง จนภรรยาใหม่ชักสงสัยและระแวง ครั้นถึงคราวที่ภรรยาใหม่ตั้งครรภ์อีก เธอจึงปกปิดข่าวมิให้ภรรยาเก่ารู้ว่าเธอตั้งครรภ์แล้ว จนกระทั่งครรภ์แก่ ภรรยาเก่าจึงรู้ และหาอุบายใส่ยาให้แท้งอีก เป็นครั้งที่ 3 เนื่องด้วยเด็กในครรภ์นั้นโตขึ้นแล้ว เมื่อจะแท้งก็กลับนอนขวางทวาร ทำให้ภรรยาใหม่คลอดไม่ได้และต้องได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส จนเจียนจะตาย

และเพิ่งรู้แน่แก่ใจว่านี้เป็นเพราะภรรยาเก่า หาอุบายประกอบยาแท้งให้เธอกินอีก จึงผูกใจเจ็บแค้น และคิดปรารถนาว่า

“เราจะต้องตาย ณ บัดนี้แล้ว ขอให้เราได้เกิดเป็นนางยักษิณี จะได้กินลูกมันคืน”  

ดังนี้แล้ว เธอก็ขาดใจตาย และก็ได้ไปเกิดเป็นนางแมวอยู่ในเรือนของสามีนั้นเอง ฝ่ายสามีเมื่อจับความผิดของภรรยาเดิมได้ ก็โกรธจัด จึงได้ทุบตีภรรยาเดิมด้วยทั้งตีศอกขยอกเข่า จนเธอบอบช้ำและตายลง แล้วไปเกิดเป็นนางแม่ไก่อยู่ในเรือนเดียวกันนั้นเองอีก  นี้เป็นด้วยอำนาจของเวรกรรมที่ผูกพันกันมา

ครั้นแม่ไก่ตกไข่ นางแมวก็มากินไข่ของแม่ไก่นั้น ถึง 3 ครั้ง แม่ไก่จึงคิดว่า

“นางแมวมันกินไข่เรา 3 ครั้งแล้ว ทีนี้มันกำลังจะกินตัวเราอีก ถ้าเราตายไปและเกิดใหม่ ก็ขอให้เราได้กินทั้งตัวมันและลูกของมันด้วยเถิด” ดังนี้แล้ว

เมื่อแม่ไก่ได้ตายลง ก็ได้ไปเกิดเป็นแม่เสือเหลือง ส่วนนางแมว เมื่อตายลง ก็ได้ไปเกิดเป็นนางเนื้อ เวลาที่แม่เนื้อนั้นคลอดลูก นางเสือก็กินเสียถึง 3 ครั้ง แม่เนื้อจึงคิดว่า

“แม่เสือเหลืองนี้ มันกินลูกเราถึง 3 ครั้งแล้ว ทีนี้มันกำลังจะกินตัวเราอีกด้วยถ้าเราตายไปและเกิดใหม่ก็ขอให้ได้กินมันทั้งแม่และทั้งลูกของมันด้วยเถิด”  ดังนี้แล้ว

แม่เนื้อ ซึ่งในอดีตชาติเคยเป็นภรรยาใหม่ของบุตรกุฎุมพีนั้น ได้ตายลงและก็ได้ไปเกิดเป็นนางยักษิณี ชื่อ“กาลี” ส่วนแม่เสือเหลืองซึ่งในอดีตชาติเคยเป็นภรรยาเดิมของบุตรกุฎุมพีนั้น เมื่อตายลงก็ได้ไปเกิดเป็นหญิงสาวมีตระกูลๆ หนึ่ง ในเมืองสาวัตถี ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “นางกุลธิดา”

นางกุลธิดานั้นเมื่อเจริญวัยขึ้นจึงได้แต่งงานและได้ไปอยู่กับสามีที่ใกล้ประตูเมืองสาวัตถีนั้นเอง ครั้นเธอตั้งครรภ์และคลอดบุตรแล้ว นางกาลียักษิณีก็จำแลงกายเป็นเพื่อนรักของนางกุลธิดา เข้าไปถึงเด็กและทำเป็นดูแลเด็กทารก พอคนเผลอก็จับทารกกินเสีย เป็นเช่นนี้ถึง 3 ครั้ง จนนางกุลธิดารู้ความจริงและคอยระวังตัว ครั้นนางกุลธิดามีครรภ์หนที่ 3 และครรภ์แก่แล้ว ก็รีบชวนสามีหนี ไปสู่เรือนตระกูลของตน เพื่อจะคลอดบุตรคนที่ 3 เมื่อเธอคลอดแล้ว ครั้นถึงเวลาจะตั้งชื่อบุตร ก็ชวนสามีพากันกลับไปสู่ตระกูลของสามี โดยไปทางลัดที่จะผ่านไปทางพระวิหารเชตวันที่ประทับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก

ในช่วงระยะเวลานั้นนางยักษิณีเพิ่งพ้นจากเวรส่งน้ำเพื่อท้าวเวสสุวรรณจอมเทพประจำทิศอุดร คือทิศเหนือ เสร็จแล้วก็ได้จำแลงกายเป็นมนุษย์ผู้สหายนางกุลธิดา แล้วรีบไปที่บ้านนางกุลธิดาเพื่อจะหาโอกาสเข้าใกล้และจับเด็กทารกกินอีก ครั้นทราบข่าวว่านางกุลธิดาพาเด็กทารกหนีกลับไปบ้านสามีแล้ว ก็รีบติดตามไปทันที  ฝ่ายนางกุลธิดากับสามีนั้น ผลัดกันอุ้มลูกคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งลงอาบน้ำในสระโบกขรณี ข้างพระวิหารเชตวัน ขณะที่นางกุลธิดากำลังยืนให้บุตรกินนม ส่วนสามีกำลังลงอาบน้ำอยู่นั้น ก็พลันเห็นนางยักษิณีจำแลง กำลังแล่นมาแต่ไกล ก็จำได้ จึงร้องบอกสามี แล้วตนเองก็รีบอุ้มลูกวิ่งไปสู่พระวิหารเชตวันด้วยความกลัว

ขณะนั้นเป็นเวลาที่พระบรมศาสดากำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่ในท่ามกลางบริษัท นางกุลธิดานั้นรีบนำบุตรน้อยไปวางไว้แทบพระบาทพระพุทธองค์ แล้วระล่ำระลักกราบทูลว่า

“บุตรคนนี้ ข้าพระองค์ได้ถวายแก่พระองค์แล้ว ขอพระองค์ประทานชีวิตแก่บุตรข้าพระองค์ด้วยเถิด” 

ส่วนนางยักษิณีก็วิ่งแล่นตามไปถึงประตูทางเข้าพระวิหารเชตวัน แต่สุมนเทพผู้สิงอยู่ที่ซุ้มประตูไม่ยอมให้นางยักษิณีเข้าไป สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสเรียกพระอานนทเถระ ให้ไปเรียกนางกาลียักษิณีเข้าไปเฝ้า ฝ่ายนางกุลธิดานั้นบังเกิดความกลัวนางยักษิณี จึงกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางยักษิณีนี้มา”

พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า  “ให้นางยักษิณีเข้ามาเถอะ เจ้าอย่าได้ร้องไปเลย”  แล้วตรัสกับนางกาลียักษิณีว่า

“เหตุไร เจ้าจึงทำอย่างนี้ ก็ถ้าพวกเจ้าไม่ได้มาสู่เฉพาะหน้าพระพุทธ-เจ้า ผู้เช่นเราแล้ว เวรของพวกเจ้าจักได้เป็นกรรมตั้งอยู่ชั่วกัปชั่วกัลป์ เหมือนเวรของงูเห่ากับพังพอน ของหมีกับไม้สะคร้อ และเหมือนเวรของกากับนกเค้า   เหตุไฉน พวกเจ้าจึงทำเวรและเวรตอบแก่กันและกันล่ะ เพราะเวรย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร หาระงับได้ด้วยเวรไม่”

ดังนี้แล้ว จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า

“ในกาลไหนๆ  เวรทั้งหลายในโลกนี้  ย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย 
ก็แต่ย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร   ธรรมข้อนี้ เป็นของเก่า”

นางยักษิณีนั้นได้ส่งใจไปตามกระแสพระธรรม   ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้จบลง นางยักษิณีนั้นก็ได้บรรลุมรรคผล เป็นพระโสดาบันบุคคล

เรื่องทั้งหมดนี้ ได้แสดงสัจจธรรมที่น่าสนใจและพึงทราบหลายประการ คือ

  1. การเวียนว่ายตายเกิดด้วยอำนาจของกรรม และกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน นั้นมี     แน่นอน
  2. โทษของการก่อเวรและจองเวรซึ่งกันและกัน นั้นมีมาก
  3. วิธีระงับเวร ด้วยความไม่มีเวร ตามพระธรรมนี้ ตามรอยบาทพระพุทธองค์ แต่โบราณกาล
  4. เรื่องอมนุษย์เช่น ยักษ์หรืออสูร มีจริง

แต่ ณ ที่นี้จะขออธิบายขยายความ เรื่องโทษของการก่อเวร และการจองเวรซึ่งกันและกัน และวิธีระงับเวรด้วยความไม่มีเวร เพื่อให้พอเหมาะกับเวลาก่อน

กล่าวถึงโทษของการก่อเวรและการจองเวรซึ่งกันและกันนั้นมีตัวอย่างให้เห็นได้มากมาย จากพฤติกรรมของผู้คนทั้งในอดีตและปัจจุบัน ดังเช่นที่เราได้ยินได้ฟังข่าวทางสื่อมวลชน มาเป็นระยะๆ ตัวอย่างเช่น

บุคคลผู้มีปกติชอบกระทำหรือใช้กิริยา วาจา ก้าวร้าวผู้อื่น ให้เสียหายหรือเจ็บช้ำน้ำใจ ก็มักจะถูกผู้ที่ได้รับการล่วงเกินนั้นผูกใจเจ็บ แล้วก็กระทำหรือแสดงกิริยา วาจา ที่ก้าวร้าวตอบคืน และ/หรือยังถูกผู้อื่นกระทำหรือแสดงกิริยา วาจา ก้าวร้าวตน เช่นนั้นอีกบ้าง ก็เมื่อตนเองนั้น ไม่ระงับเวรนั้น กลับผูกใจเจ็บและโต้ตอบคืนหนักยิ่งขึ้นไปกว่าเพื่อให้สาแก่ใจ ฝ่ายตรงกันข้ามที่ไม่ระงับยับยั้งชั่งใจ ก็กลับจะโต้ตอบกลับหนักยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อต่างฝ่ายต่างเจ็บแค้นซึ่งกันและกันหนักยิ่งขึ้น ก็จะถึงได้ลงไม้ลงมือ หรือถึงใช้อาวุธประหัตถ์ประหารกัน หรือใช้อำนาจอิทธิพลทั้งมืดและทั้งสว่าง ทำลายล้างผลาญกัน ด้วยประการต่างๆ จนหาความสงบสุขไม่ได้ ด้วยกันทุกฝ่าย และต่างฝ่ายต่างได้รับความทุกข์เดือดร้อนกันไปทั่ว เหมือนสาดน้ำใส่กันย่อมเปียกปอนไปด้วยกัน เหมือนพุ่งอาวุธหรือสาดน้ำกรดใส่กัน ก็ย่อมจะบาดเจ็บล้มตายไปด้วยกันทั้งคู่  และแถมยังจะมีลูกหลงไปโดนคนอื่น หรือดึงผู้อื่นให้เข้าไปพัวพันด้วยเวรภัยเช่นนั้นอีกด้วย

เพราะฉะนั้นผู้หวังความสันติสุขความปราศจากเวรภัยก็จงอย่าถือคติอธรรมที่ว่า “ความแค้นต้องชำระ” เหมือนหนังจีนที่อาตมาก็เคยได้ดูเมื่อสมัยยังเป็นคฤหัสถ์มาแล้ว ส่วนคติที่ว่า “บุญคุณต้องทดแทน” นั้น เป็นคติของฝ่ายคุณธรรม แต่คติที่ว่า “ความแค้นต้องชำระ” นั้น เป็นคติข้างฝ่ายอธรรม ที่มีแต่จะนำโทษและความทุกข์เดือดร้อนมาให้ เหมือนหนังจีนนั้นแหละ

นี่ว่าแต่เฉพาะที่เห็นๆ กันอยู่ในภพชาติในปัจจุบันนี้ การก่อเวรและการจองเวรซึ่งกันและกัน ก็ทำให้เดือดร้อนกันหนักอยู่แล้ว แทบจะไม่ต้องกล่าวถึงเวรกรรมที่ให้ผลในภพชาติต่อๆ ไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ปุถุชนยังมองไม่เห็น ส่วนพระอริยเจ้าหรือผู้ทรงคุณธรรมสูง ที่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมจนมีประสบการณ์ดีแล้วพอสมควร จึงย่อมเห็นผลของการก่อเวรและการจองเวรซึ่งกันและกัน เป็นโทษ และความทุกข์เดือดร้อนต่อๆ ไปนับภพนับชาติไม่ถ้วน ท่านจึงเลิกละการก่อเวร และ/หรือหากเคยมีเวรต่อกันเพราะความประมาท ท่านก็จะกระทำให้เวรนั้นสงบระงับลงด้วยความไม่จองเวร เพราะท่านเห็นสัจจธรรมว่า

เวรนั้น ย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวรต่อกัน แต่ย่อมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร

เปรียบดังว่า พื้นที่เปรอะเปื้อนด้วยของไม่สะอาด ด้วยสิ่งสกปรก เน่าเหม็น เช่น เต็มไปด้วยน้ำลาย เสมหะ และอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น ย่อมไม่อาจจะชำระล้างให้สะอาด ให้หมดกลิ่นเหม็นได้ ด้วยน้ำที่ไม่สะอาด ด้วยสิ่งสกปรกเช่นนั้น ฉันใด  เวรย่อมไม่อาจให้สงบระงับได้ด้วยการจองเวร หรือทำเวรโต้ตอบกัน ฉันนั้น  

ส่วน พื้นที่ๆ เปรอะเปื้อนด้วยของไม่สะอาด ด้วยสิ่งสกปรก อันมีน้ำลาย เสมหะเป็นต้น ย่อมทำให้สะอาดได้ ด้วยการชำระล้างด้วยน้ำที่สะอาด ฉันใด  เวรย่อมสงบระงับ คือ ไม่มีได้ด้วยความไม่มีเวร คือไม่จองเวรต่อกัน กล่าวคือ ด้วยน้ำใจที่เข้มแข็งด้วยขันติ และเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม ด้วยความกระทำไว้ในใจ และด้วยการพิจารณาเห็นโทษของเวรภัย และเห็นคุณของความไม่มีเวรภัยต่อกัน

อนึ่ง พึงเห็นตามพระพุทธดำรัสที่ตรัสสอนพระติสสเถระ ผู้เป็นต้นเรื่องอีกเรื่องหนึ่ง กับพระภิกษุทั้งหลาย มีปรากฏในพระธัมมปทัฏฐกถานี้ ฉบับแปลเป็นภาษาไทย หน้า 53-63 อีกว่า

 “อกฺโกจฺฉิ มํ อวธิ มํอชินิ มํ อหาสิ เม
 เย จ ตํ อุปนยฺหนฺติเวรํ เตสํ น สมฺมติ
“ก็ชนเหล่าใดเข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า ‘ผู้โน้นได้ด่าเรา ผู้โน้นได้ทุบตีเรา ผู้โน้นได้ชนะเรา ผู้โน้นได้ลักของเราแล้ว’ เวรของชนเหล่านั้น ย่อมไม่สงบระงับได้”
 “อกฺโกจฺฉิ มํ อวธิ มํอชินิ มํ อหาสิ เม
 เย จ ตํ นูปนยฺหนฺติเวรํ เตสูปสมฺมติ
“ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า ‘ผู้โน้นได้ด่า(หรือปรามาส)เรา ผู้โน้นได้ทุบตีเรา ผู้โน้นได้ชนะเรา ผู้โน้นได้ลัก (หรือฉ้อโกงเอา) สิ่งของๆ เราแล้ว’ เวรของชนเหล่านั้นย่อมระงับได้”

วิธีไม่เข้าไปผูกความโกรธหรือผูกใจเจ็บแค้นก็คือ พยายามอย่าระลึกถึงอย่าไปครุ่นคิดถึง เรื่องเก่าที่จะทำให้เราผูกใจเจ็บ และ/หรือ โดยวิธีคิดว่า “เรื่องที่แล้วไปแล้วก็ให้แล้วไป เราขออโหสิกรรมให้ ไม่ขอถือเป็นเวรเป็นภัยต่อกันอีก” หรืออาจรำลึกถึงกรรมเก่าว่า เราก็เคยหรืออาจเคยได้ทำเวรกรรมแก่เขามาก่อน ต่อแต่นี้ไปขออย่าได้มีเวรภัยต่อกันอีกเลย และจงตั้งใจแผ่เมตตา กรุณาพรหมวิหารแก่ผู้ก่อกรรมทำเข็ญแก่เราว่า “แม้ท่านได้เคยทำเวรกับเรา ก็ขอท่านจงอย่าได้ประสบความทุกข์กายทุกข์ใจ อย่างที่เราเคยได้รับเลย ขอท่านจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรมีภัยต่อกันและกันเลย”   เมื่อกระทำได้อย่างนี้บ่อยๆ เข้า จิตใจที่เคยครุ่นคิดถึงกรรมเก่าที่เขาได้เคยก่อกรรมทำเข็ญแก่เราก็จะค่อยๆ คลายลง และจะไม่คิดโต้ตอบใดๆ ให้เป็นการผูกเวรต่อกันต่อๆ ไปอีก เวรก็จะถึงความสงบระงับ คือ ไม่มีเวรต่อกันได้ ด้วยประการฉะนี้

แม้จะรู้สึกทำได้ยากในระยะต้นๆ แต่เมื่อหมั่นทำใจ คือ พยายามไม่ระลึกถึง หรือหากปรากฏขึ้นในใจอีก ก็หมั่นพิจารณาอย่างนี้ แผ่เมตตาและกรุณาพรหมวิหารอย่างนี้บ่อยๆ ก็จะค่อยๆ สามารถละวางความคิดโกรธพยาบาทได้ และจะค่อยๆ ทำใจให้ดีขึ้นได้เป็นลำดับเอง 

ในชีวิตของอาตมาก็ได้เคยผ่านเหตุการณ์และได้เคยผ่านขั้นตอนการทำใจอย่างนี้มาก่อน หลายครั้งเหมือนกัน เมื่อทำใจได้เพียงใด ก็จะรู้สึกสันติ คือ สงบ และเป็นสุขดีเพียงนั้น เมื่อทำใจไม่ได้ก็เป็นทุกข์เดือดร้อนใจไปตามส่วน ชีวิตของคนเรานั้น แม้จะเจริญด้วยลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ และความสุข ด้วยทรัพย์และยศฐาบรรดาศักดิ์ เพียงไร  ถ้าขาดสันติคือความสงบเสียแล้ว ก็หาใช่จะถึงความสุขอย่างถาวรแท้จริงได้ไม่  ผู้ใดก็ตาม ไม่ว่าจะยากดีมีจน ถ้าว่ามีความสันติคือความสงบดีแล้ว ย่อมถึงความสุขอย่างถาวรแท้จริงได้

ผู้ที่ทำใจได้อย่างนั้น คือผู้ละความครุ่นคิดผูกโกรธหรือผูกใจเจ็บได้ ด้วยขันติและเมตตาพรมหวิหาร เป็นต้น ย่อมมีใจสงบระงับด้วยดีจากเวรทั้งหลายได้ ผู้เช่นนั้นแหละ คือผู้มีใจเป็นพระ หรือ คือผู้มีพระในใจตน ถ้าเป็นชายเขาก็เรียกว่า “พ่อพระ” ถ้าเป็นหญิงเขาก็เรียกว่า “แม่พระ” ซึ่งในครั้งต่อไปอาตมภาพจะได้กล่าวถึงการ “สร้างพระในใจตน” อันจะเป็นประโยชน์สุขด้วยความสงบอย่างถาวรแก่ตนสืบไป

ก่อนจบรายการนี้ อาตมภาพใคร่จะขอกล่าวถึงการเวียนว่ายตายเกิด ด้วยอำนาจของกรรมและกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ว่ามีแน่นอน ตามหลักปฏิจจสมุปบาทธรรม คือ สภาพของธรรมชาติที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเห็นแจ้งทรงรู้แจ้ง คือ ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบว่า ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัย เหตุในเหตุปัจจัยต่อเนื่องกันมาจากต้นๆ เหตุ ได้แก่ อวิชชา คือ ความมืดไม่รู้อดีต ไม่รู้อนาคต ไม่รู้สภาพของธรรมชาติที่อาศัยเหตุปัจจัยต่อเนื่องกันมาให้เกิดทุกข์ และความไม่รู้สัจจะทั้ง 4 เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลส ตัณหา อุปาทาน และภพ ชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ เป็นต้น

กล่าวโดยย่อ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ คือ ได้ทรงเห็นแจ้ง ทรงรู้แจ้ง อย่างถูกต้องตามธรรมชาติที่เป็นจริงแล้วว่า เพราะสัตว์โลกทั้งหลายผู้ถูกอวิชชา คือ ความมืดครอบคลุมจิตใจอยู่ จึงเกิดกิเลส ตัณหา อุปาทาน ดลจิตดลใจให้ประพฤติปฏิบัติที่เป็นบาปอกุศล ไปตามอำนาจของมัน ที่เรียกว่ากรรมชั่ว อันเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดใหม่ คือ ตายแล้วก็เกิดใหม่ๆ ต่อๆ ไป ด้วยอำนาจของอวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน และกรรม เวียนว่ายตายเกิดไปสู่ภพน้อย ภพใหญ่ทั้งหลาย ที่เป็นสุคติภพ คือ ภพภูมิที่ดีบ้าง ทุคติภพ คือ ภพภูมิที่ไม่ดีบ้าง ตามประเภทของกรรม ต่อๆ ไป อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด

กรณีที่สัตว์โลกได้กระทำกรรมดี แต่ยังไม่ถึงขั้นให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง เพราะยังมีอวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน อยู่ในจิตสันดาน เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดภพชาติอีกแล้ว เมื่อตายแล้ว ก็ยังต้องเกิดใหม่ไปสู่สุคติภพ คือ ภพภูมิที่ดีบ้าง ครั้นหมดบุญจากกรรมดีที่เคยได้ทำไว้ ก็กลับต้องรับผลจากกรรมชั่วที่ได้ทำไว้อีกต่อๆ ไป จนกว่าจะสิ้นอวิชชา คือ ความมืดอันเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดกิเลส ตัณหา อุปาทาน อย่างสิ้นเชิงแล้ว กล่าวคือ จนกว่าจะบรรลุมรรคผล นิพพาน เป็นพระอรหันตขีณาสพ จึงจะสิ้นภพสิ้นชาติแล้ว จึงไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

ส่วนสัตว์โลกเช่นบุคคลใด กระทำกรรมชั่วด้วยอำนาจของอวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทานมาก เมื่อตายลงจึงต้องเกิดใหม่ ด้วยอำนาจของกรรมชั่วหรือบาปอกุศล อันมีอวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน เป็นเหตุนำเหตุหนุนให้ไปเกิดในทุคติภพ ได้แก่ ภพภูมิของเปรต อสุรกาย สัตว์นรก หรือสัตว์เดรัจฉาน ตามประเภทของกรรมชั่วที่ให้ผลเป็นชนกกรรมนำไปเกิดในภพภูมิต่างๆ นั้น อย่างที่ไม่มีใครช่วยใครได้ และก็ไม่มีอำนาจเบื้องบนใดๆ ที่จะช่วยใครได้จริงเลยอีกด้วย แต่ที่ชนบางหมู่บางเหล่าหลงเชื่อกันว่า จะมีอำนาจเบื้องบนช่วยให้ไปสู่สวรรค์ได้นั้น ก็เพราะเขาเหล่านั้นไม่รู้จักหลักปฏิจจสมุปบาทธรรม อันเป็นสมุทัยสัจ คือ ความจริงอย่างประเสริฐ ในเรื่องเหตุแห่งทุกข์ นั้นแหละ เขาถึงได้หลงเชื่อต่อๆ กันมา ว่าจะมีอำนาจเบื้องบนช่วยเขาได้ โดยที่เขาต่างก็เป็นผู้มืดด้วยอวิชชา คือ ยังไม่เคยเห็นอดีตว่าตนเองเป็นใครมาจากไหน และก็ไม่รู้อนาคตอย่างแท้จริงว่า ตายแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป และไม่รู้ความจริงอย่างประเสริฐในเรื่องเหตุปัจจัยแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอันเป็นทุกข์ ว่ามีอย่างไร นั่นเอง

เรื่องความเกิดขึ้นของนางกาลียักษิณี ก็เพราะอวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน และกรรมชั่วหรือบาปอกุศลนั้นเอง ที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทั้งภรรยาเดิมและภรรยาใหม่ของบุตรกุฎุมพี ต้องเวียนว่ายตายเกิดไปสู่ทุคติภพ อันมีภพของสัตว์ดิรัจฉาน และอสุรกาย เป็นนางยักษิณี เป็นต้น ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ปรารภถึงแล้วนั้น

สัจจธรรมนี้เป็นธรรมขั้นสูงซึ่งจะรู้เห็นได้ก็แต่โดยทางการศึกษาปฏิบัติพระสัทธรรม ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น คือ โดยทางศีลสิกขา ให้ถึง อธิศีลสิกขา คือการศึกษาอบรมด้วยศีลอันยิ่ง จิตตสิกขา ให้ถึง อธิจิตตสิกขา คือการศึกษาอบรมจิตอันยิ่ง ถึงขั้นฌานจิต ให้บริสุทธิ์ผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา และ ปัญญาสิกขา ให้ถึง อธิปัญญาสิกขา คือ ปัญญาอันยิ่ง กล่าวคือ ให้สามารถเห็นแจ้ง รู้แจ้ง สภาวะของธรรมชาติและสัจจธรรมตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเห็นและรู้เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเช่นนี้ได้ชัดเจน แจ่มแจ้ง ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้เอง จะได้ไม่หลงมัวเมาในชีวิตด้วยอำนาจของกิเลสให้เกิดทุกข์ และไม่ต้องหลงเชื่อผู้ไม่รู้สัจจธรรมที่เขาโฆษณา แนะนำสั่งสอนผิดๆ ให้พากันหลงตามผิดๆ นำตนไปสู่ทุคติภูมิได้อีกต่อไป

อาตมภาพจึงขอเชิญสาธุชนทั่วไป ไปฝึกปฏิบัติธรรมเพื่อ “สร้างพระในใจตน” ให้สามารถรู้แจ้งเห็นแจ้งสภาวะธรรมชาติ และสัจจธรรมตามที่เป็นจริง นำชีวิตตนไปสู่ทางเจริญและสันติสุขได้  ณ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรีทุกวัน หลังทำวัตร เช้า-เย็น และ ทุกวันอาทิตย์  เริ่มเวลา 09.30 น. 

ขอความสุขสวัสดี จงมีแด่ท่านผู้ฟังทุกท่าน   เจริญพร.


พระภาวนาวิสุทธิคุณ (เสริมชัย ชยมงฺคโล) ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันที่ 19 กรกฎาคม 2541

แชร์เลย

Comments

comments

Share: