เอาลูกแก้วให้พิจารณาและเพ่งดู แนะให้ทำตาม เป็นการสอนแบบสะกดจิต ?

การนำเอาลูกแก้วมาให้พิจารณาและเพ่งดู และแนะให้ทำตาม เป็นการสอนคนแบบสะกดจิตหรือไม่ ?


ตอบ:

การสะกดจิตคืออะไร ?  การสะกดจิตเป็นการใช้อุบายวิธีหรือเวทย์มนต์ประกอบอำนาจจิตของผู้สะกดจิตนั้น กล่อมใจผู้ที่ถูกสะกด ให้เคลิบเคลิ้มขาดสติสัมปชัญญะ คือ ขาดความรู้สึกตัว

แล้วตกอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้สะกดจิตนั้น   เช่น ให้เคลิ้มหลับไป แล้วปฏิบัติตามอำนาจจิต หรือตามคำสั่งของผู้สะกดจิตนั้นโดยไม่รู้สึกตัว  หรืออาจจะเคลิบเคลิ้มหลับไปจนไม่ถึงรู้สึกเจ็บปวดแม้ขณะกำลังถูกผ่าตัดอยู่  เป็นต้น

แต่การแนะนำให้เพ่งพิจารณาดูลูกแก้วให้จำได้   แล้วให้รวมใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายและให้ตรึกนึกถึงดวงที่ใส  ให้ใจอยู่ในกลางดวงที่ใส   และให้บริกรรมภาวนา นึกท่องในใจ ว่า “สัมมาอรหังๆๆ” เรื่อยไป จนกว่าใจจะหยุดนิ่งเป็นสมาธิแน่วแน่มั่นคงตรงศูนย์กลางกายนั้น   เป็นอุบายวิธีสงบใจในขั้นของการปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน  เพื่ออบรมใจให้สงบระงับจากกิเลสนิวรณ์   โดยให้ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์คือ วิตก วิจาร ตรึกตรองประคองนิมิต อันเป็นธรรมเครื่องกำจัดถีนมิทธะ (ความง่วงเหงา ซึมเซา ไม่กระปรี้กระเปร่าแห่งจิต)   มีปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ ธรรมเครื่องกำจัดพยาบาทและอุทธัจจะกุกกุจจะ (คือความหงุดหงิดฟุ้งซ่านแห่งจิต) และกามฉันทะได้เป็นอย่างดี

องค์แห่งฌานทั้ง 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ อันเป็นธรรมเครื่องกำจัดกิเลสนิวรณ์ออกจากจิตใจนี้ เป็นการเจริญสมถภาวนาในระดับปฐมฌาน  อันเป็นเบื้องต้นของสัมมาสมาธิ (1 ในอริยมรรคมีองค์ 8)  เพื่อการเจริญปัญญารู้แจ้งในสภาวธรรม   และให้พัฒนาต่อไปได้ถึงการเจริญปัญญารู้แจ้งในพระอริยสัจทั้ง 4  ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และการแนะนำให้เพ่งดูดวงแก้วจนจำติดตา   แล้วให้รวมใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย  พร้อมด้วยบริกรรมภาวนาเพื่อรวมใจให้หยุดนิ่งได้สนิทนั้น   มิใช่อุบายวิธีกล่อมใจให้ผู้ปฏิบัติภาวนาเคลิบเคลิ้มหลับไปโดยขาดสติสัมปชัญญะ  ไม่รู้สึกตัว  แล้วให้ปฏิบัติอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้สอนแต่อย่างใด    วิธีปฏิบัติและผลการปฏิบัติกลับเป็นตรงกันข้าม  กล่าวคือ ผู้ปฏิบัติย่อมรู้สึกตัว   มีสติสัมปชัญญะตลอดเวลา (ถ้าหลับไม่ใช่สมาธิ)   ผู้สอนเพียงแต่แนะวิธีให้ผู้ฝึกปฏิบัติภาวนาที่ยังปฏิบัติไม่ได้ถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย  ให้รู้และดำเนินไปตามวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม อันเป็นอุบายวิธีสงบใจที่จะให้ได้ผลดี  คือให้ใจหยุดนิ่งสนิทอยู่ในอารมณ์เดียวได้โดยง่าย   และโดยมีสติสัมปชัญญะคือมีความรู้สึกตัวพร้อม   ครูผู้แนะนำเป็นแต่เพียงชี้แนะแนวทางให้เท่านั้น  แล้วปล่อยให้ผู้ปฏิบัติฝึกอบรมใจของตัวเองให้สงบเป็นสมาธิเอง

อนึ่ง   แม้เมื่อปฏิบัติได้ถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายแล้ว   ครูผู้แนะนำก็ยังจะช่วยชี้แนะวิธีเจริญภาวนาอีกเป็นขั้นๆ ไป เพื่อให้เห็น และเข้าถึงกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรมต่อไป จนถึงธรรมกาย   เพื่อให้รู้เห็นสภาวะของธรรมชาติที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งตามธรรมชาติที่เป็นจริง  และให้รู้แจ้งในพระสัจจธรรมตามที่เป็นจริงเอง   เพื่อละธรรมที่ควรละเจริญธรรมที่ควรเจริญ   และเพื่อความรู้เองเห็นเอง  เข้าถึงและเป็นธรรมชาติที่ควรเข้าถึงเองตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้ต่อไป

การแนะนำวิธีปฏิบัติภาวนาเป็นขั้นๆ ไปดังที่กล่าวนี้   ช่วยให้ผู้ปฏิบัติฝึกปฏิบัติภาวนาได้ผลดีขึ้นมาก   ถ้าไม่ได้รับคำแนะนำจากครูอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์มาดีพอสมควรแล้ว   น้อยรายนักที่จะปฏิบัติได้ผลดีได้เองโดยที่ไม่ต้องมีใครแนะนำ   ดูตัวอย่างง่ายๆ ต่อไปนี้

  1. ให้ลองย้อนไปดูพฤติกรรมของสาธุชนพุทธบริษัท   ก่อนแต่จะมีการให้คำแนะนำอย่างนี้ว่า ในสมัยหรือระยะเวลานั้นมีผู้เข้ามาสนใจฝึกปฏิบัติภาวนาธรรมดีกี่มากน้อย  เมื่อเทียบส่วนกับสาธุชนเข้ามาฝึกปฏิบัติธรรมกับครูผู้ให้คำแนะนำวิธีปฏิบัติภาวนาเป็นขั้นตอน ตามหลักวิชา และด้วยประสบการณ์ของครูที่เคยประสบมาก่อน
  2. ให้สอบถามดูจากประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติภาวนาธรรมตามแนวนี้ ที่เขาปฏิบัติได้ผลดีพอสมควรถึงดีมาก ว่า  ถ้าเขาไม่มีครูผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีประสบการณ์มาดีแล้ว  ให้คำแนะนำวิธีปฏิบัติและวิธีแก้ปัญหาในธรรมปฏิบัติเป็นขั้นๆ ไป  เขาจะปฏิบัติภาวนาเจริญมาเพียงนี้หรือไม่   และว่าสำหรับผู้ที่ปฏิบัติภาวนาได้ผลดี  โดยไม่อาศัยครูแนะนำมีกี่มากน้อย   เพราะว่าการปฏิบัติภาวนาที่จะให้ได้ผลดี ย่อมต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายประการเข้าช่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเคล็ดลับวิธีปฏิบัติพระกัมมัฏฐานในแต่ละขั้นตอน ให้ปฏิบัติไปถูกแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม   ตลอดทั้งวิธีแก้ปัญหาในธรรมปฏิบัติที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละขั้นของการปฏิบัตินั้น ยังเป็นสิ่งจำเป็นแก่ผู้ที่รู้สึกตัวว่า “ยังเป็นผู้ศึกษาอยู่”   แม้ผู้ตอบปัญหานี้ ก็ยังต้องอาศัยการชี้แนะจากครูอาจารย์ผู้รู้กว่าอยู่  ถึงอย่างไรก็ตามแม้จะเป็นครูผู้แนะนำผู้อื่น ก็ไม่พึงประมาทในธรรมทั้งหลาย   ต้องสอบรู้สอบญาณทัสสนะกับครูผู้ทรงคุณวุฒิสูงกว่า และแม้สอบกับศิษย์ผู้ปฏิบัติธรรมได้ผลดีพอสมควรแล้ว  เพื่อพิสูจน์การรู้การเห็นและแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้อง และให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไปอยู่เสมอ    แต่ส่วนว่าครูอาจารย์ใดจะมีสติปัญญาความสามารถที่จะให้คำแนะนำแก่ศิษย์ ให้ปฏิบัติได้ผลดีมากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับบุญ บารมี รัศมี กำลังฤทธิ์ ฯลฯ ที่อบรมสั่งสมมา รวมเป็น “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” ของแต่ละท่านไม่เท่ากัน
  3. ประการสุดท้าย   แม้พระพุทธองค์จะได้ทรงแสดงหลักปฏิบัติไว้   ดังเช่น สมถภูมิ 40   วิปัสสนาภูมิ 6 ฯลฯ ก็ยังทรงต้องชี้แนะเพิ่มเติมแก่ผู้เข้ามาทูลถามปัญหา และผู้เข้ามาศึกษาอบรมประพฤติพรหมจรรย์ด้วย ตามความเหมาะสมแห่งอัธยาศัยและความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ของแต่ละบุคคล    แม้ถึงกระนั้น ก็หาได้บรรลุมรรคผลเท่าเทียมกันทั้งหมดไม่   ดังมีความปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ คณกโมคคัลลานสูตร ว่าด้วยการศึกษาและการปฏิบัติเป็นขั้นตอน ข้อ 101-103 มีความว่า

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้   พราหมณ์คณกโมคคัลลานะได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า   “สาวกของพระโคดมผู้เจริญ  อันพระโคดมผู้เจริญโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้   ย่อมยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วนทุกรูปทีเดียวหนอ   หรือว่าบางพวกก็ไม่ยินดี ?”

พระพุทธเจ้า: “พราหมณ์   สาวกของเรา อันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้  บางพวกเพียงส่วนน้อย ยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน   บางพวกก็ไม่ยินดี”

พราหมณ์คณกะ: “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ   อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย  ในเมื่อนิพพานก็ยังดำรงอยู่   ทางให้ถึงนิพพานก็ยังดำรงอยู่   พระโคดมผู้เจริญผู้ชักชวนก็ยังดำรงอยู่   แต่ก็สาวกของพระโคดมผู้เจริญ อันพระโคดมผู้เจริญ โอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้   บางพวกเพียงส่วนน้อยจึงยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน   บางพวกก็ไม่ยินดี ?”

พระพุทธเจ้า: “พราหมณ์   ถ้าเช่นนั้น   เราจักย้อนถามท่านในเรื่องนี้   ท่านชอบใจอย่างไร พึงพยากรณ์อย่างนั้น    พราหมณ์   ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน   ท่านชำนาญทางไปเมืองราชคฤห์มิใช่หรือ ?”

พราหมณ์คณกะ: “แน่นอน   พระเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้า: “พราหมณ์   ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ?   บุรุษผู้ปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ พึงมาในสำนักของท่าน  เข้ามาหาท่านแล้วพูดอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด’   ท่านพึงบอกแก่เขาอย่างนี้ว่า ‘พ่อมหาจำเริญ มาเถิดทางนี้ไปเมืองราชคฤห์ ท่านจงไปตามทางนั้น ชั่วครู่หนึ่งแล้วจักเห็นบ้านชื่อโน้นไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นนิคมชื่อโน้น ไปตาม ทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ ป่าที่น่ารื่นรมย์ภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์’       บุรุษนั้นอันท่านแนะนำพร่ำสั่งอยู่อย่างนี้ จำทางผิด กลับเดินไปเสียตรงกันข้าม
ต่อมาบุรุษคนที่สองปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์พึงมาในสำนักของท่าน เข้ามาหาท่านแล้วพูดอย่างนี้ว่า  ‘ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด’    ท่านพึงบอกแก่เขาอย่างนี้ว่า  ‘พ่อ มหาจำเริญ มาเถิด ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์ ท่านจงไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นบ้าน ชื่อโน้นไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นนิคมชื่อโน้น ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ ป่าที่น่ารื่นรมย์ ภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของ เมืองราชคฤห์’       บุรุษนั้นอันนั้นท่านแนะนำพร่ำสั่งอยู่อย่างนี้  พึงไปถึงเมืองราชคฤห์โดยสวัสดี พราหมณ์  อะไรหนอแลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย  ในเมื่อเมืองราชคฤห์ก็ดำรงอยู่  ทางไปเมืองราชคฤห์ก็ดำรงอยู่  ท่านผู้ชี้แจงก็ดำรงอยู่   แต่ก็บุรุษอันท่านแนะนำพร่ำสั่งอย่างนี้คนหนึ่งจำทางผิด   กลับเดินไปทางตรงกันข้าม  คนหนึ่งไปถึงเมืองราชคฤห์ได้โดยสวัสดี”

พราหมณ์คณกะ: “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ   ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรได้   ข้าพเจ้าเป็นแต่ผู้บอกทาง”

พระพุทธเจ้า: “พราหมณ์   ฉันนั้นเหมือนกันแล   ในเมื่อนิพพานดำรงอยู่  ทางไปนิพพานก็ดำรงอยู่  เราผู้ชักชวนก็ดำรงอยู่   แต่ก็สาวกของเราอันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกเพียงส่วนน้อยยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน บางพวกก็ไม่ยินดี  พราหมณ์  ในเรื่องนี้ เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกหนทางให้”

แชร์เลย

Comments

comments

Share: