ในการปฏิบัติธรรม การนึกนิมิตกับการเห็นจริง ต่างกันอย่างไร ?

ในการปฏิบัติธรรม การนึกนิมิตกับการเห็นจริง ต่างกันอย่างไร ?


ตอบ:

การปฏิบัติธรรม  ณ  ที่นี้หมายเฉพาะการปฏิบัติภาวนาธรรมนะ     มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ   และมีหลักการปฏิบัติแตกต่างกัน  แต่เป็นกระบวนการปฏิบัติทางจิตที่ต่อเนื่องกัน  คือ

ประการแรก   คือ สมถภาวนา  เป็นการปฏิบัติเพื่อมุ่งที่จะชำระจิตใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์จากกิเลสนิวรณ์  หรือบางท่านเรียก นิวรณูปกิเลส    นิวรณ์ ได้แก่ ความง่วงเหงา ซึมเซา ไม่กระปรี้กระเปร่า แห่งจิต (ถีนมิทธะ) 1   ความลังเลสงสัยว่าวิธีนี้ถูกหรือไม่ถูกทาง (วิจิกิจฉา) 1   ความหงุดหงิดถึงโกรธพยาบาท (พยาปาทะ) 1    ความฟุ้งซ่านแห่งจิต (อุทธัจจกุกกุจจะ) 1   และ ความยินดีพอใจ ยึดมั่นหรือติดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งสัมผัสทางกาย (กามฉันทะ) 1

กิเลสนิวรณ์ดังกล่าวนี้  หากมีอยู่ในจิตใจของผู้ใดแล้ว ก็ย่อมทำให้เศร้าหมอง ขุ่นมัว  ทำให้ไม่อาจเห็นอรรถ (เนื้อความธรรม) เห็นธรรม (ธรรมชาติตามสภาวะที่เป็นจริง) ได้    ผู้ปฏิบัติธรรมจึงต้องกำจัดกิเลสนิวรณ์นี้อยู่เสมอ  เพื่อให้สามารถพิจารณาเห็นสภาวธรรมทั้งปวง  ทั้งที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง และที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง   และสูงขึ้นไปถึงอริยสัจ  ตามที่เป็นจริงได้แจ้งชัด

กิเลสนิวรณ์เหล่านี้จะกำจัดได้ก็ด้วยองค์แห่งฌาน คือ  วิตก วิจาร (ความตรึกตรองประคองนิมิต)  สามารถกำจัดถีนมิทธะและวิจิกิจฉาได้    ปีติ และ สุข สามารถกำจัดพยาบาทและอุทธัจจะกุกกุจจะได้  และเอกัคคตารมณ์ (ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง) สามารถกำจัดกามฉันทะได้

วิธีอบรมจิตเพื่อยกจิตขึ้นสู่อารมณ์แห่งฌาน   เพื่อกำจัดกิเลสนิวรณ์นั้น  เป็นที่ทราบและเรียกกันโดยทั่วไปว่า “การทำสมาธิ” หรือ “การเจริญภาวนาสมาธิ”  ซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรมขั้นสมถกัมมัฏฐาน

อุบายวิธีที่จะยกจิตขึ้นสู่อารมณ์แห่งฌานนี้มีหลายวิธีด้วยกัน   พระอรรถกถาจารย์รวบรวมแสดงไว้ 40 วิธี  รวมเรียกว่า สมถภูมิ 40   วิธีปฏิบัติตามแนววิชชาธรรมกายได้เลือกอุบาย 3 ประการขึ้นมาประกอบกัน   เพื่อให้เหมาะแก่จริตอัธยาศัยของผู้ปฏิบัติธรรมต่างๆ กัน  และก่อให้เกิดผลดีแก่การปฏิบัติเป็นอย่างมาก   อุบายวิธีทั้ง 3 นั้นก็คือ  พุทธานุสติ  อานาปานสติ  กับ อาโลกกสิณ   กล่าวคือใช้อุบาย

  1. ให้กำหนด “บริกรรมนิมิต”  คือนึกให้เห็นดวงแก้วกลมใสด้วย “ใจ”  ซึ่งเป็นส่วนผลเบื้องต้นของอาโลกกสิณ  เพื่อเป็นอุบายรวมใจอันประกอบด้วยธรรมชาติ 4 อย่าง คือ เห็น จำ คิด รู้  ซึ่งขยายส่วนหยาบมาจากธาตุละเอียดของเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ให้มาอยู่ในอารมณ์เดียวกัน  โดยการนึก (วาดมโนภาพ) ให้เห็นดวงแก้วกลมใส  จำดวงแก้วดวงใส   คิดจดจ่ออยู่กับดวงแก้วกลมใส   และรู้อยู่ ณ ภายในตรงศูนย์กลางดวงแก้วกลมใสนั้น  เพื่อให้ธรรมชาติ 4 อย่างของใจนั้น  รวมหยุดเป็นจุดเดียวกันได้นิ่งสนิท
    การนึกนิมิต  บางคนจึงอาจนึกเห็นได้บ้าง  บางคนก็นึกเห็นไม่ได้บ้าง เป็นธรรมดา   แต่เมื่อ “นึกเห็น” ได้ที่ไหน  ก็แปลว่า “ใจ” อยู่ที่นั่น   แม้จะนึกเห็นได้แต่ก็ไม่ค่อยชัดนัก  นี่เป็นเครื่องการนึกให้เห็นนิมิต  เป็นอุบายวิธีที่จะรวมใจให้มาหยุดเป็นจุดเดียวกัน   เพราะใจนั้นเป็นสภาพที่เบากวัดแกว่งง่าย ฟุ้งซ่านง่าย  แต่รักษาให้หยุดนิ่งได้ยาก   แต่ก็จะต้องอบรมให้หยุดให้นิ่ง   มิฉะนั้นเมื่อมีกิเลสนิวรณ์อยู่ในจิตใจแม้แต่อย่างหนึ่ง ย่อมไม่อาจเห็นอรรถเห็นธรรมได้แจ่มแจ้ง
  2. ให้กำหนด “บริกรรมภาวนา”  คือให้ท่องในใจว่า “สัมมา อรหังๆๆๆ” ต่อไป   เพื่อประคองใจให้หยุดนิ่งได้ง่ายเข้า   เพื่อให้ใจมีงานทำ ณ ศูนย์กลางดวงแก้วกลมใส ที่ให้ใจนึกเห็นนั้นแหละ   คำบริกรรมภาวนานี้จัดเป็น “พุทธานุสติ” กล่าวคือให้รำลึกถึงพระพุทธคุณอยู่ทุกขณะจิตว่า “เป็นผู้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ และเป็นผู้ไกลจากกิเลส ผู้บริสุทธิ์” (สัมมา = โดยชอบ,  อรหัง = ผู้ตรัสรู้ ผู้ไกลจากกิเลส ผู้บริสุทธิ์)
  3. กำหนดฐานที่ตั้งของใจ  กล่าวคือกำหนดจุดที่ให้เอาใจไปจดที่ตรงศูนย์กลางกาย เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ  เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ 7  เป็นจุดที่พักใจอันถาวร  คือเวลาสัตว์จะไปเกิดมาเกิด หรือเวลาจะหลับ จะดับ จะตื่น  จิตดวงเดิมจะตกศูนย์ไปยังศูนย์กลางกายตรงระดับสะดือพอดี  เรียกว่า  ศูนย์กลางกายฐานที่ 6 แล้วจิตดวงใหม่จะลอยเด่นมาที่ศูนย์กลางกาย  เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ  ณ ที่ตรงนี้   และ ณ จุดนี้ยังเป็นที่กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกอีกด้วย   กล่าวคือเมื่อจิตละเอียดหนักเข้าเพราะใจค่อยๆ มารวมหยุดเป็นจุดเดียวกันนั้น  ลมจะหยุด ณ ที่ศูนย์กลางกาย เหนือระดับสะดือประมาณ 2 นิ้วมือนี้เอง ตามธรรมชาติอยู่แล้ว  เพราะว่าจุดนี้เป็นที่กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก  จึงมีลักษณะของ “อานาปานสติ”  เพราะเป็นธรรมชาติของใจ   เมื่อรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน  และลมหายใจละเอียดเข้าๆ  แล้วลมจะหยุด ณ ที่ตรงนี้

ผู้ปฏิบัติภาวนาธรรมพึงเข้าใจว่า  เมื่อกำหนดบริกรรมนิมิตและบริกรรมภาวนาคู่กันไว้เรื่อยนั้น   ใจอันประกอบด้วยความเห็น  ความจำ  ความคิด  ความรู้  จะมารวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน  ก็จะมีปรากฏการณ์เกิดขึ้นตามธรรมชาติ  กล่าวคือแรกๆ จะเห็นนิมิตเกิดขึ้นชั่วขณะ  แล้วก็หายไป เรียกว่าเห็นๆ หายๆ  เรียกว่า “อุคคหนิมิต”  อันมีผลให้ใจเป็นสมาธิบ้างเป็น ครั้งคราว  จัดเป็น “ขณิกสมาธิ”    ต่อเมื่อเห็นนิมิตใสแจ่ม  ติดตาติดใจ  แนบแน่น  จนนึกจะขยายให้ใหญ่หรือย่อให้เล็กลงก็ได้  นี้เรียกว่า “ปฏิภาคนิมิต”    อันนี้มีผลทำให้ใจหยุดนิ่งแนบแน่น  จัดเป็นสมาธิขั้น “อัปปนาสมาธิ”    อันเป็นเบื้องต้นของปฐมฌาน ซึ่งประกอบด้วยอารมณ์แห่งฌาน ทั้ง 5 คือ  วิตก วิจาร  ตรึกตรองประคองนิมิต (เห็นใสแจ่มอยู่ได้)  และเกิดปีติ สุข และเอกัคคตารมณ์ เป็นธรรมชาติเครื่องเผากิเลสนิวรณ์ทั้ง 5 ให้สิ้นไป

การเห็นนิมิตเป็นดวงกลมใสแจ่มในช่วงนี้ ก็เป็นการเห็นผลของการอบรมจิตใจให้หยุดให้นิ่งเป็นสมาธิได้แนบแน่นดี    ไม่ใช่เห็นด้วยการนึกเอา   จัดเป็นการเห็นของจริง  คือ “ปฏิภาคนิมิต”  ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติที่ใจหยุดนิ่งสนิท โดยอาศัยองค์บริกรรมนิมิตและบริกรรมภาวนา เป็นอุบายวิธีให้ใจมีที่ยึดเกาะ แล้วค่อยๆ รวมลงเป็นอัปปนาสมาธิ   ทั้งนี้เมื่อกำหนดฐานที่ตั้งของใจให้หยุดนิ่งตรงศูนย์กลางกายที่ 7 นั้น  ถูกตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม อีกโสดหนึ่งด้วย  กำเนิดธาตุธรรมเดิมนี้แหละ เป็นที่ตั้งของกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม  เป็น ณ ภายใน ละเอียดเข้าไปจนสุดละเอียด   และโดยอาการของใจที่มารวมหยุดเป็นจุดเดียวกันที่ตรงนี้   ธาตุละเอียดของวิญญาณธาตุทั้ง 6 คือ จักขุวิญญาณธาตุ  โสตวิญญาณธาตุ  ฆานวิญญาณธาตุ  ชิวหาวิญญาณธาตุ  กายวิญญาณธาตุ  และมโนวิญญาณธาตุ  ก็จะมาประชุมอยู่ ณ กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมนี้เองด้วย   มีผลให้เกิดทิพจักขุ  ทิพโสต  ให้สามารถเห็นกาย เวทนา จิต และธรรมของกายในกาย ณ ภายใน จากสุดหยาบคือของมนุษย์ ละเอียดไปจนสุดละเอียดของกายโลกิยะ  คือ  กายทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหมของตนเอง เมื่อยิ่งละเอียดเข้าไปจนสุดละเอียดนั้น  จิตใจก็จะพลอยสะอาดบริสุทธิ์ไปด้วย   สูงขึ้นไปถึงเห็น  และเข้าถึงธรรมกายต่อๆ ไปตามลำดับจนสุดละเอียด

การเห็นกายในกาย  และธรรมในธรรม  เป็น ณ ภายในละเอียดเข้าไปจนสุดละเอียดของกายโลกิยะนี้   ก็เป็นการเห็นของจริงที่เป็นสังขารธรรม   คือสิ่งที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง  และมีสภาวะหรือสามัญญลักษณะที่เป็นอนิจจัง  ทุกขัง  และอนัตตา    ถ้าจะพูดการเห็นของจริงในขั้นนี้ให้ถูกต้อง  ควรจะเรียกว่า “เห็นจริงโดยสมมุติ”   เพราะเป็นการเห็นสังขารธรรมตามที่เป็นจริง   เหมือนกับการเห็นมนุษย์  เช่นเห็นนาย ก. นาย ข.  หรือสัตว์โลกกายหยาบทั้งหลาย เช่นเห็นช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น   เพราะฉะนั้นการเห็นกาย เวทนา จิต และธรรม (ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายต่างๆ ขั้นโลกิยะ) ทั้งของมนุษย์ มนุษย์ละเอียด ทิพย์ ทิพย์ละเอียด พรหม พรหมละเอียด และอรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด เป็น ณ ภายในตัวเราเอง หรือของผู้อื่นก็จัดเป็นการ “เห็นจริง” ตามภาษาคนธรรมดา    แต่ถ้าจะพูดภาษาธรรม ก็เรียกว่าเห็นของจริงโดยสมมุติ   ต่อเมื่อเข้าถึงธรรมกายที่ละเอียดไปสุดละเอียด  นั้นเป็นการเห็นธาตุล้วนธรรมล้วนไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง   นับเป็นการ “เห็นของจริง” สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งในบรรดาของการชิมลองโลกุตตรธรรม    แต่ยังไม่ได้ “เป็น”   เพียงแค่ “เห็น”  หรือเข้าถึงเป็นคราวๆ ที่ใจสะอาดบริสุทธิ์  และหยุดถูกศูนย์ถูกส่วน

ประการที่ 2 คือ วิปัสสนาภาวนา    มุ่งที่การเจริญปัญญารู้แจ้งในสภาวะของธรรมชาติตามที่เป็นจริงว่า ธรรมชาตินี้เป็นสังขารธรรม อันประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งอย่างไร ?  (ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร)   และมีสภาวะตามธรรมชาติหรือสามัญญลักษณะที่เป็นอนิจจัง  ทุกขัง  และอนัตตาอย่างไร ?   ปัญญาเห็นแจ้งในขั้นนี้ชื่อว่า “วิปัสสนาปัญญา”   แล้วจะพัฒนาสูงขึ้นไปเป็นการเห็นแจ้งในอริยสัจทั้ง 4  คือ  ทุกขสัจ  สมุทัยสัจ  นิโรธสัจ  และมรรคสัจ  อันเป็นปัญญาขั้น “โลกุตตรปัญญา”   ให้สามารถเห็นว่ามีธรรมชาติที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง  ได้แก่  พระนิพพานคือพระธรรมกายที่บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว  ว่าเป็นบรมสุขยิ่งตามที่เป็นจริงอย่างไร นี้จัดเป็นการเห็นธรรมชาติที่เป็นปรมัตถธรรม   ถึงขั้นนี้จึงเป็นการ “เห็นจริงแท้”  เป็นการเห็นปรมัตถธรรม  คือธรรมชั้นสูงสุด  หรือเห็นธรรมชาติที่เป็นจริงโดยปรมัตถ์

อันที่จริง  การเห็นของหรือธรรมชาติจริงโดยปรมัตถ์นั้น   เริ่มเห็นมาตั้งแต่เมื่อพระโลกุตตรมรรคญาณเกิด ให้หยั่งรู้การกำจัดสัญโญชน์กิเลสเครื่องร้อยรัดให้ติดอยู่กับโลกอย่างน้อย 3 ประการคือ  สักกายทิฏฐิ  วิจิกิจฉา  และสีลัพพตปรามาสได้   ก้าวล่วงเข้าสู่ภูมิของพระอริยบุคคล  ตั้งแต่ชั้นพระโสดาบันบุคคลขึ้นไปนั่นแล้ว   แต่มาเห็นชัดแจ้งที่สุดเมื่อถึงพระนิพพาน   เมื่อพระอรหัตตมรรคญาณเกิด   เป็นการเห็นของจริงธรรมชาติจริงๆ ทั้งสองฝ่าย  คือฝ่ายสังขตธาตุสังขตธรรม (ธาตุธรรมที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง แล้ววางอุปาทานได้หมด)   กับฝ่ายอสังขตธาตุ อสังขตธรรม (ธาตุธรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง)    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระนิพพานอย่างแท้แน่นอน

กล่าวโดยสรุป   

  1. การนึกนิมิตเป็นเพียงอุบายวิธีการอบรมจิตใจให้มารวมอยู่เสียที่บริกรรมนิมิต  เพื่อให้ใจรวมหยุดเป็นอารมณ์เดียวกันตรงจุดเดียวกัน   นี้นับเป็นการเห็นที่ยังไม่จริง  
  2. ต่อเมื่อเกิดอุคคหนิมิตจึงนับเป็นการเห็นนิมิตจริง   เพราะเป็นการเห็นขณะที่ใจหยุดนิ่ง   ไม่ได้คิดเห็น  แต่เป็นการเห็นนิมิตตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองโดยอุบายวิธีดังกล่าว   และมีผลให้เกิดทิพจักขุ  ทิพโสต ให้สามารถได้เห็นและได้ยินหรือสัมผัสสิ่งที่ละเอียดประณีตยิ่งกว่าสายตาเนื้อมนุษย์ หรือประสาทหูมนุษย์จะสัมผัสรู้ได้  นี้ก็เป็นการเห็นของจริง  เช่นเดียวกันกับตาเนื้อเห็นกายมนุษย์ หรือประสาทหูได้ยินเสียงที่เราพอได้ยินกันได้   ทั้งหมดนี้ถ้าจะพูดกันในภาษาธรรมก็ชื่อว่า  เป็นการเห็นจริงโดยสมมุติ  คือเห็นสังขารทั้งหยาบและทั้งละเอียด
  3. การเห็นพระไตรลักษณ์ คือความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ของธรรมชาติที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง    สูงขึ้นไปถึงการเห็นอริยสัจและเห็นธรรมชาติที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ พระนิพพานตามที่เป็นจริง จึงนับเป็นการเห็นแท้จริงโดยปรมัตถ์
แชร์เลย

Comments

comments

Share: