สุปุณฺณมโนรถนฺติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต อตฺตโน ทานปารมี อารพฺภ กเถสิ ฯ
เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหารทรงพระปรารภทานบารมีของพระองค์ให้เป็นเหตุ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ให้เป็นผล ยุติด้วยคำเบื้องต้นว่า สุปุณฺณมโนรถํ ดังนี้เป็นอาทิ จะกล่าวความโดยพิสดาร วันหนึ่งพระภิษุสงฆ์เป็นอันมาก ประชุมกันอยู่ ณ โรงธรรมสภาได้เจรจากันขึ้นว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เหตุการณ์น่าอัศจรรย์หนอ สมเด็จพระบรมศาสดาพระองค์ไม่อิ่มด้วยทาน ส่วนในกาลเมื่อพระองค์ยังเป็นพระบรมโพธิสัตว์อยู่ ก็ให้ทานเป็นการใหญ่แล้วมาในกาลเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ยังได้พระราชทานพระอริยมรรคเป็นทานอยู่ในกาลบัดนี้ แล้วพากันนั่งสรรเสริญพระพุทธคุณมีประการต่าง ๆ ในกาลนั้นสมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงสดับเหตุนั้นด้วยทิพโสตญาณ แล้วจึงเสด็จออกจากพระคันธกุฏี เสด็จพุทธดำเนินไปยังโรงธรรมสภา เสด็จทรงนิสัชนาการเหนือธรรมาสน์แล้วมีพระพุทธฎีกาตรัสถามว่า ภิกฺขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายนั่งประชุมเจรจากันอยู่ ณ เวลานี้ด้วยกถาถ้อยคำอะไร ครั้นภิกษุทั้งหลายกราบทูลตามความที่ตนเจรจากันแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลนี้เราผู้ตถาคตตั้งอยู่ในอัตตภาพเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว การที่ให้พระอริยมรรคเป็นทานนั้นไม่เป็นของอัศจรรย์ ในกาลก่อนเมื่อเรายังเป็นโพธิสัตว์ตั้งอยู่ในความเป็นปุถุชนเราเป็นผู้ไม่อิ่มด้วยทานอยู่เสมอ ตรัสดังนี้แล้วก็ดุษณีภาพนิ่งอยู่ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลวิงวอนพระองค์จึงได้นำอดีตนิทานมาแสดงว่า
อตีเต ภิกฺขเว สุจีรวตีมหานคเร อรินฺทโม นาม ราชา รชฺชํ กาเรสิ แปลความว่า ภิกฺขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในตดีตกาลครั้งพระเจ้าอรินทมราช ผ่านสมบัติอยู่ในสุจิรวดีมหานคร พระอัครมเหสีของพระเจ้าอรินทมราช ทรงพระนามว่านางสุวัณณคัพภา นางสุวัณณคัพภานั้นเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าอรินทมราชครั้งนั้นพระเจ้าอรินทมราชโปรดให้สร้างโรงทานไว้ ๖ ตำบล คือ ที่ริมทวารพระนครทั้ง ๔ และที่ท่ามกลางพระนคร และที่ริมทวารพระราชนิเวศน์ พระราชทานมหาทานสิ้นพระราชทรัพย์วันละ ๖ แสนทุกวัน
พระบรมโพธิสัตว์ให้ฝนคือทานบริจาคตกลงปกคลุมสกลชมพูทวีปให้เป็นเนินอันสูงสุดดุจมหาเมฆปกคลุมสกลชมพูทวีปในคราวไกรดายุคฉะนั้น
อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้าอรินทมราชตื่นพระบรรทมในเวลาใกล้รุ่งทรงพระจินตนาการถึงทานของพระองค์ ก็บังเกิดพระปรีดาปราโมชว่า เราได้ให้พาหิรถทานอยู่เป็นนิรันดร พาริกทานนั้นทำให้เรายินดีปรีดายังไม่ได้ เราปรารถนาจะให้อัชฌัตติกทาน ดังเราปรารถนาว่าวันนี้เราลุกขึ้นแต่เช้าแล้ว ยาจกที่จะมาขออย่าได้ขอพาหิรกทานเลย จงขอแต่อัชฌัตติกทานเถิด พระมหาสัตว์เจ้าทรงพระจินตนาการดังนี้แล้ว จึงดำรัสว่า ถ้ามีใครมาขอศีรษะเราก็จะตัดศีรษะเหมือนดังตัดผลตาลให้ ถ้ามีใครมาขอดวงหทัยเราก็จะทำลายอุระประเทศหยิบเอาหทัยมังสะที่หยาดโลหิตกำลังไหลอยู่ออกให้ อีกประการหนึ่ง ถ้ามีใครมาขอดวงเนตรหรือขอโลหิตขอมังสะ ขอสรีระทั้งสิ้น เราก็จะให้ดวงเนตรและโลหิตและมังสะและสรีระทั้งสิ้น ถ้ามีใครมาขอว่าท่านจงเป็นทาสของเราดังนี้ เราก็จะดำรงอัสสาสะปัสสาสะกระทำทานแล้วจะให้ตนของตนเป็นทาน อีกประการหนึ่งจะมีผู้มาขอรัชสมบัติของเรา เราก็จะให้รัชสมบัติแก่ผู้นั้น จะมีผู้มาขอสิ่งใด ๆ เราก็จะให้ทั้งสิ้น เมื่อพระมหาสัตว์ทรงพระจินตนาการอยู่นั้น ก็สำแดงอาการร้อนขึ้นไปถึงพิภพขอท้าวสักกเทวราช ท้าวสักกเทวราชทรงอาวัชนาการทราบเหตุนั้นแล้วมีพระทัยยินดี ทรงจินตนาการว่า ถ้าดังนั้นเราจะช่วยทำพระบารมีของบรมกษัตริย์ให้เต็มบริบูรณ์ แล้วจึงลงมาจากเทวโลกในวันนั้น นฤมิตตนเป็นพราหมณ์ชรามีมือถือไม้เท้า มีสรีรกายสั่นยกขึ้นซึ่งทักขิณหัตถ์กระทำสัททะ สำเนียงถวายพระพรชัย ๓ ครั้งว่า เชยฺยตุ ภวํ เชยฺยตุ ภวํ เชยฺยตุ ภวํ มหาราช ขอพระมหาราชเจ้าจงชนะ ขอพระมหาราชเจ้าจงชนะ ขอพระมหาราชเจ้าจงชนะดังนี้ เมื่อบรมกษัตริย์ยังแลไม่เห็นจะให้บรมกษัตริย์ทรงทราบ พระมหาสัตว์ได้เห็นพราหมณ์นั้นแล้วก็มีพระทัยเต็มไปด้วยพระกรุณาจึงตรัสถามว่า ท่านมหาพราหมณ์มาถึงที่นี้ด้วยมีประสงค์สิ่งอะไร พราหมณ์จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระบาทเป็นผู้ชราทุพลภาพ ขอพระองค์จงทรงพระอนุเคราะห์ พระราชทานพระราชทรัพย์แก่ข้าพระบาทสักพันตำลึงเถิด พระมหาสัตว์เจ้าได้สดับคำพราหมณ์แล้ว มีพระอาการเปรียบเหมือนชนชาติทลิทกที่ได้ประสบขุมทรัพย์ฉะนั้นจึงตรัสว่า ดูกรมหาพราหมณ์ ดีแล้วดีแล้ว เราจักให้ทรัพย์พันตำลึงแก่ท่าน แล้วก็พระราชทานทรัพย์พันตำลึงแก่พราหมณ์ในขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชรับพระราชทานทรัพย์แล้ว ทำอาการเหมือนอย่างออกไปแล้วก็กลับมาอีก กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระบาทขอถวายทรัพย์นี้คืนไว้แก่พระองค์ พระมหาสัตว์เจ้าจึงตรัสว่า ดูกรมหาพราหมณ์เราจะรักษาไว้ให้ ท้าวสักกเทวราชจึงทูลว่า ข้าแต่มหาราช เมื่อใดกิจของข้าพระบาทมี ข้าพระบาทจักรับเอาทรัพย์นั้นไป ตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ดีแล้วดังนี้ ท้าวสักกเทวราชถวายคืนทรัพย์นั้นแก่บรมกษัตริย์ แล้วทำอาการเหมือนดังจะก้าวออกก็อันตรธานหายไป ลำดับนั้นท้าวสักกเทวราชก็สละเพศเป็นพราหมณ์ชราเสีย นฤมิตตนเป็นพราหมณ์หนุ่มเข้ามาใกล้พระมหาสัตว์อีก กระทำสัททะสำเนียงถวายพระพรชัยโดยนัยก่อนแล้วสำแดงตนยืนอยู่ให้ปรากฏแก่บรมกษัตริย์ พระมหาสัตว์เจ้าเห็นพราหมณ์หนุ่มแล้วก็ตรัสถามเหมือนดังที่ถามพราหมณ์ชราฉะนั้นว่า ดูกรมหาพราหมณ์ท่านมาแต่ไหน ตรุณพราหมณ์กราบทูลว่า ข้าพระบาทเป็นพราหมณ์ขัดสน ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาพระราชทานราชสมบัติแก่ข้าพระองค์เถิด แล้วก็ยื่นหัตถ์ออกกล่าวคาถานี้ว่า
ยถา วาริวโห ปูโร | สพฺพกาลํ น ขียติ |
เอวนฺตํ ยาจิตาคฺฉึ | รชฺชํ เม เทหิ ยาจิโต |
แปลว่า ห้วงน้ำอันเต็มบริบูรณ์อยู่สิ้นสรรพกาลไม่รู้สิ้นไปหมดไปฉันใด อัชฌาสัยของพระองค์ก็เต็มบริบูรณ์อยู่เสมอไม่รู้สิ้นไปหมดไปเหมือนฉะนั้น ข้าพระบาทมาแล้วปรารถนาจะทูลขอพระราชทานรัชสมบัติของพระองค์ ขอพระองค์จงพระราชทานรัชสมบัติแก่ช้าพระบาทเถิด
พระมหาสัตว์ได้สดับคำพราหมณ์แล้ว มีพระทัยมั่นหมายประดูจว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าในวันพรุ่งนี้เช้า จึงตรัสว่า ดูกรมหาพราหมณ์ดีแล้วดีแล้วเราจะให้สำเร็จตามความปรารถนาของท่าน แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
ททามิ น วิกมฺปามิ | ยํ มํ ยาจสิ พฺราหฺมณ |
สนฺตํ น ปติคุยฺหามิ | ทาเน เม รมตี มโน |
แปลว่า ดูกรพราหมณ์ท่านมาขอสิ่งใดกะเรา เราจะให้สิ่งนั้นแก่ท่าน เรามิได้หวั่นไหวเลยของสิ่งใดของเราที่มีอยู่เราไม่ปิดบังซ่อนเร้นหวงแหนเลย ใจของเรายินดีอยู่ในทานการให้การบริจาค แล้วตรัสว่า อีกประการหนึ่ง เราตื่นขึ้นในเวลาใกล้รุ่งเราปรารถนาว่าจะให้อัชฌัตติกทานในวันนี้ บัดนี้ท่านจักขอพาหิรกทาน แล้วตรัสพระคาถาว่า
สุปุณฺฺณํ เม มโนรถํ | อชฺฌตฺตํ อชฺช จินฺตยึ |
ยํปิ สมฺพุทฺธจริตํ | อิมํ อิจฺฉามิ กาตเว |
สีสํ จกฺขฺุจ หทยํ | ชิวฺหํ มํสฺจ โลหิตํ |
กายํ อทฺฒฺจ สกลํ | ทาสํ ททามิ อตฺตโน |
รชฺชํ วา โกจิ ยาเจยฺย | สพฺพนฺตํ วา ททามิหํ |
เอวาหํ จินฺตยิตฺวาน | ปจฺจุสฺเส อชฺช ปาปุณึ |
แปลว่า ความปรารถนาของเราก็เต็มบริบูรณ์ดีแล้ว เราคิดไว้ว่าจะให้อัชฌัตติกทานในวันนี้ จารีตของพระสัมพุทธเจ้าอันใดมีอยู่ เราปรารถนาจะกระทำตามจารีตของพระสัมพุทธเจ้านี้ เราจะให้ดวงเนตร เราจะให้ดวงหทัย เราจะให้ชิวหา เราจะให้มังสะ เราจะให้โลหิต เราจะให้ร่างกายกึ่งหนึ่ง เราจะให้ร่างกายหมดทั้งสิ้น เราจะให้ตนของตนเป็นทาส หรือว่ามีใครมาขอรัชสมบัติ เราจะให้รัชสมบัติหมดทั้งสิ้น เราคิดไว้อย่างนี้มาจนถึงเวลาใกล้รุ่งวันนี้
พระมหาสัตว์เจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว บรรดาอำมาตย์ราชเสวกก็มาประชุมกันเกิดเสียงบันลือลั่นทั่วไปทั้งพระนคร
ลำดับนั้น ชาวพระนครทั้งปวงมีเสนาบดีเป็นประธาน กราบทูลบรมกษัตริย์ว่า ข้าแต่เทวราชเจ้าขอพระองค์อย่าได้พระราชทานรัชสมบัติเลย ขอพระองค์อย่าได้ให้พวกข้าพระบาททั้งหลายต้องกระทำกิจการของผู้อื่นเลย ขอพระมหาราชเจ้าจงพระราชทานแต่ทรัพย์เถิด แก้วมุกดาและแก้วไพฑูริย์ก็ยังมีอยู่เป็นอันมาก
บรมกษัตริย์ได้สดับถ้อยคำของชาวพระนครแล้ว จึงดำรัสว่าเราขอตักเตือนว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ว่ากล่าวอย่างนี้เลย มีผู้มาขอสิ่งใดกะเรา เราก็จะให้สิ่งนั้นนั้นแหละ ไม่มีผู้มาขอทานสิ่งใดเราก็ไม่ให้ทานสิ่งนั้น
ลำดับนั้นท่านเสนาบดีจึงกราบทูลว่า ขอพระมหาราชเจ้าจงทรงพระราชดำริเถิด พระมหาสัตว์เจ้าจึงตรัสว่า ดูกรท่านเสนาบดีผู้เจริญ เราได้พิจารณาถึงรัชสมบัตินั้นอยู่ ถ้าท่านทั้งหลายมีความจงรักภักดีในเรา ท่านทั้งหลายจงตั้งพราหมณ์นี้ไว้ให้เหมือนด้วยเรา พราหมณ์นี้จงเป็นพระราชาของท่านทั้งหลาย พระมหาสัตว์เจ้าตรัสดังนี้แล้วก็รีบทรงจับพระเต้าทอง ตรัสว่าดูกรมหาพราหมณ์ท่านมานี่เถิด แล้วให้พราหมณ์นั่งเหนือรัตนบัลลังก์ แล้วมีพระราชดำรัสว่า ดูกรพราหมณ์ผู้เจริญ เว้นตัวเราและพระราชเทวีและม้าและรถเสียแล้ว สมบัติทั้งสิ้นไม่มีเหลือเราให้แก่ท่าน ดูกรมหาพราหมณ์ผู้เจริญ รัชสมบัตินี้เป็นที่รักของเราก็จริง แต่พระสัพพัญญุตญาณนั้นแหละเป็นที่รักยิ่งกว่าความรักรัชสมบัติได้ร้อยเท่าพันเท่าแสนเท่า เราบริจาคทานนี้ใช่เราจะปรารถนาสมบัติพระเจ้าจักรพรรดิราช หรือสมบัติในสวรรค์หรือสมบัติพระสาวก หรือสมบัติพระปัจเจกโพธิ์ก็หามิได้ ทานของเรานี้ขอจงเป็นปัจจัยแก่ความตรัสรู้แจ้งแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณในอนาคตกาลเถิด แล้วทรงทำอุทกวารีให้ตกลงเหนือหัตถ์พราหมณ์
สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นให้ปรากฏจึงตรัสว่า
ตโต อรินฺทโม ราชา | ปตฺเถตฺวา พุทฺธุปาทกํ |
สมฺโพธึ ลภนตฺถาย | ทตฺวา รชฺเชน พฺราหฺมณํ |
แปลว่า ลำดับนั้นพระเจ้าอรินทมราชปรารถนาความบังเกิดเป็นพระพุทธเจ้า จึงพระราชทานรัชสมบัติแก่พราหมณ์ เพื่อพระราชประสงค์จะได้บรรลุพระสัมโพธิญาณ ในกาลเมื่อพระเจ้าอรินทมราชทรงหลั่งทักษิโณทกให้ตกลงในมือพราหมณ์ แผ่นปฐพีอันใหญ่นี้มีส่วนหนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ ก็กัมปนาทหวั่นไหวดุจช้างซับมันคำรณร้องอยู่ฉะนั้น เขาสิเนรุราชก็น้อมลงดุจหน่อหวายต้องเพลิงลวกลนแล้วมาประดิษฐานอยู่จำเพาะหน้าพระนครสุจิรวดีฉะนั้น เสียงกึกก้องโกลาหลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็บังเกิดมีตลอดขึ้นไปจนถึงชั้นฉกามาพจรสวรรค์เทวโลกด้วยสัททสำเนียงเสียงบันลือลั่นขึ้นไปจากปฐพีดล เทพวลาหกก็กระหึ่มคำรามรณให้พัสธาราท่อธารน้ำฝนเป็นลูกเห็บตกลงมา วิชฺชุลตา สายฟ้าแลบในสมัยใช่ฤดูกาลก็ฉวัดเฉวียนและวับวาบแปลบปลาบทั่วไปในอากาศ สาคโร พระสมุทสาครก็กำเริบตีฟองคะนองคลื่น สกฺโก เทวราชา ท้าวสักกเทวราชก็ตบพระหัตถ์อยู่กึกก้อง มหาพฺรหฺมา ท้าวมหาพรหมก็ประกาศเสียงแส้ซ้องกระทำซึ่งสาธุการ สัตว์ทั้งหลายมีสีหราชเป็นประธาน ก็บันลือสำเนียงสนั่นก้องไปทั่วหิมวันตประเทศ มหัศจรรย์เห็นปานฉะนี้ก็ปรากฏบังเกิดมีทั่วไปตลอดสถานที่ทั้งปวง
สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
ตทาสิ ยํ ภึสนกํ | ตทาสิ โลมหัสนํ |
รชฺชํ ปริจฺจชนฺตสฺส | ขุพฺภิตฺถ นครํ ตทา |
ตทาสิ ยํ ภึสนกํ | ตทาสิ โลมหํสนํ |
รชฺชํ ปริจฺจชนฺตสฺส | เมทนี สมกมฺปถ |
สมากุลํ ปุรํ อาสิ | โฆโส จ วิปุโล มหา |
รชฺชํ ปริจฺจชนฺตสฺส | ขุพฺภิตฺถ นครํ ตทา |
อเถตฺถ วตฺตติ สทฺโท | ตุมุโล เภรโว มหา |
รชฺชํ ปริจฺจชนฺตสฺส | ขุพฺภิตฺถ นครํ ตทา |
แปลว่า ในครั้งเมื่อพระเจ้าอรินทมราชทรงบริจาครัชสมบัติอยู่นั้น ชาวพระนครก็เกิดความหวาดเสียวสะดุ้งขลาดเกิดขนพองสยองเกล้า พากันแตกตื่นตระหนกตกใจ เมทนีดลก็กัมปนาทหวาดหวั่นไหวเสียงเอิกเกริกกึกก้องใหญ่ก็กำเริบทั่วไปทั้งพระนคร ใช่แต่เท่านั้น เสียงพิลึกพึงกลัวซึ่งดังอยู่ในเบื้องบน ก็ประพฤติเป็นไปในสถานที่นั้น
พระเจ้าอรินทมราชพระราชทานรัชสมบัติของพระองค์แล้วก็บังเกิดพระปรีดาปราโมทย์ ทรงยกอัญชลีขึ้นนมัสการทานบริจาคของพระองค์แล้วเปล่งอุทานว่า สุทินฺนํ วต เม ทานํ ทานเราได้ให้ดีแล้วโดยแท้ดังนี้ จึงโปรดให้นำเอารถเทียมด้วยม้ามาประเทียบไว้ ทรงตกแต่งพระวรกายปรารถนาจะออกจากพระนคร จึงลามหาชนแล้วให้พระราชเทวีขึ้นบนรถก่อน ส่วนพระองค์ขึ้นรถต่อภายหลังเสด็จออกจากพระนครทางทวารด้านทิศประจิมทิศ ตมตฺถํ ปกาเสนฺโต เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสเป็นคาถาว่า
ตโต อรินฺทโม ราชา | รชฺชํ ทตฺวา พฺราหฺมณสฺส |
รถํ เทวึ คเหตฺวาน | นิกฺขมนฺโตเยว คโต |
แปลว่า ลำดับนั้นพระเจ้าอรินทมราชพระราชทานรัชสมบัติแก่พราหมณ์แล้ว ก็พาพระราชเทวีขึ้นรถเสด็จไป มนุษย์ชาวพระนครทั้งสิ้นก็พากันร่ำร้องอยู่เซ็งแซ่
ตมตฺถํ ปกาเสนฺโต เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาจะประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสเป็นคาถาว่า
โอโรธา จ กุมารา จ | เวสิยานา จ พฺราหฺมณา |
พาหา ปคฺคยฺห ปกฺกณฺฑุํ | ราชา ปายาสิ นครํ |
สมาคตา ชนปทา | เนคมา จ สมาคตา |
พาหา ปคฺคยฺห ปกฺกณฺฑุํ | ราชา ปายาสิ นครํ |
หตฺถาโรหา อณีกตฺถา | รถิกา ปตฺติการกา |
พาหา ปคฺคยฺห ปกฺกณฺฑุํ | ราชา ปายาสิ นครํ |
แปลว่า เหล่านางพระสนมและพระราชกุมาร และพ่อค้า และพราหมณ์ และชาวชนบท และชาวนิคม และนายหัตถาจารย์ นายอัสสาจารย์ นายสารถี และพลเดินเท้าทั้งปวงก็มาประชุมกัน และยกแขนทั้งสองขึ้นปริเทวนาการคร่ำครวญ ส่วนพระเจ้าอรินทมราชก็เสด็จออกจากพระนคร มหาชนทั้งหลายได้เห็นดังนั้นแล้วก็พากันติดตามไป พระมหาสัตว์เจ้าเห็นมหาชนติดตามมาแล้วก็เปลื้องเครื่องประดับออกพระราชทานแล้วตรัสว่า ดูกรท่านทั้งหลายผู้เจริญท่านทั้งหลายอย่าเศร้าโศกร่ำไรเลย เพราะการบริจาคทานเช่นนี้เป็นธรรมดาของเรา แล้วตรัสว่าบรรดาสังขารทั้งปวง เป็นสภาวธรรมไม่เที่ยงแท้ยังยืนคงทนถาวรเลย แม้แต่ท่านทั้งหลายยังมีความรักในเราแล้ว ท่านทั้งหลายจงให้ทานรักษาศีลจำเริญภาวนาเถิด ทรงสั่งสอนมหาชนให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทแล้วก็ให้มหาชนกลับไป ครั้นมหาชนกลับไปแล้วพระองค์ก็ขับราชรถไป
ด้วยเหตุดังนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสเป็นพระคาถาไว้ว่า
ตโต อรินฺทโม ราชา | โอวทิตฺวา มหาชนํ |
นิวตฺติตฺวาน ปาเชสิ | รถํ ปายาสิ โส มคฺคํ |
แปลว่า ลำดับนั้นพระเจ้าอรินทมราชทรงโอวาทมหาชน ครั้นมหาชนกลับไปแล้ว พระก็ขับราชรถไปตลอดหนทาง
เมื่อเสด็จไปในระหว่างทาง ท้าวสักกเทวราชก็ออกจากพระนครสละเพศเป็นพราหมณ์หนุ่มเสียแล้ว นฤมิตเพศเป็นพราหมณ์อื่นตามพระมหาสัตว์ไปทูลขอรถเทียมม้านั้น พระมหาสัตว์เจ้าก็มีพระทัยยินดี เสด็จลงจากรถแล้วให้พระราชเทวีลงจากรถแล้วตรัสว่า ดูกรนางผู้เจริญเจ้าจงอนุโมทนาทานนั้นเถิด แล้วตรัสเป็นพระคาถาว่า
นปาหเมตํ ยสสา ททามิ
อนุตฺตมิจฺเฉ น ธเน น รถํ
สตฺจ ธมฺโม จริโต ปุราโณ
อิจฺเจว ทาเน รมตี มโน เม
แปลว่า เราไม่ได้ให้รถนี้เพื่อจะต้องการยศ ไม่ได้ปรารถนาจะไปเกิดในตระกูลสูง ไม่ได้ปรารถนาทรัพย์สมบัติ ไม่ได้ปรารถนารถ ความประพฤติในการจำแนกแจกทานนี้เป็นธรรมดาของสัตบุรุษทั้งหลายมีมาแต่โบราณ เพราะเหตุนี้นี่แหละใจของเราจึงยินดีในทาน
ครั้นตรัสอย่างนี้แล้วก็พระราชทานรถเทียมม้าแก่พราหมณ์ ส่วนท้าวสักกเทวราชรับเอารถเทียมม้าได้แล้ว ก็อันตรธานหายไป
จำเดิมแต่นั้นมากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ก็ทรงพระดำเนินเสด็จไป พระบาทของบรมกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ก็แตกไป พระราชเทวีทอดพระเนตรเห็นบรมกษัตริย์อ่อนพระกำลังลงแล้ว ส่วนพระนางเจ้าก็ทรงพระครรภ์หนัก พระพักตร์ก็นองไปด้วยอัสสุชลธารา ด้วยความที่พระนางเจ้าประกอบไปด้วยวัตรจริยาในพระราชสามี และมีความจงรักภักดีในพระราชสามีเป็นกำลัง และมีพระทัยเต็มไปด้วยความกรุณาจึงกราบทูลพระมหาสัตว์เจ้าว่า ขอเชิญเสด็จมายึดเหนี่ยวข้าพระบาทไว้แล้วพากันไปเถิด พระมหาสัตว์จึงตรัสว่าเจ้าช่างพูดจาไพเราะอ่อนหวาน แล้วก็ทรงจับไม้ธารพระกรเสด็จไป
ในกาลนั้น คนเดินทางทั้งหลายได้เห็นกษัตริย์ทั้งสองพระองค์แล้วก็พากันเจรจาต่าง ๆ ด้วยความกรุณาในขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงสละเพศเป็นพราหมณ์อื่นเสีย นฤมิตเป็นพราหมณ์ชราดังก่อน มีมือถือไม้เท้าทำตัวสั่นติดตามพระมหาสัตว์ไปแล้วทูลว่า ติฏฺตุ มหาราช ขอพระมหาราชเจ้าจงหยุดอยู่ก่อนแล้วก็ทูลขอกหาปณะว่า ขอพระองค์จงพระราชทานกหาปณะแก่ข้าพระบาทเถิด พระมหาสัตว์เจ้าจำพราหมณ์นั้นได้แล้วจึงตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านจงอดโทษอย่าได้โกรธเราเลย ตัวเรากับพระราชเทวีจักเป็นทาสาทาสีของท่าน พราหมณ์ทูลว่าข้าแต่พระมหาราช ข้าพระบาทไม่มีความประสงค์จะให้พระองค์เป็นทาสาทาสี ถ้ากระนั้นมหาพราหมณ์ท่านเอาเราไปขายเถิด ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระบาทไม่สามารถจะขายพระองค์ได้ พระองค์จงพระราชทานกหาปณะพันหนึ่งแก่ข้าพระบาทโดยเร็วเถิด ดีแล้วมหาพราหมณ์เราจะขายตัวเรากับพระราชเทวีแล้วจะให้กหาปณะพันหนึ่งแก่ท่าน พระมหาสัตว์เจ้าเล้าโลมพราหมณ์แล้วทอดพระเนตรดูพระราชเทวีตรัสว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์อันเจริญ เราจะมอบพระสัพพัญญุตญาณไว้กับเจ้า พระราชเทวีเจ้ารับพระราชบัญชาว่า ข้าแต่เทวราชเจ้าดีแล้ว ขอพระองค์จงขายข้าพระบาทก่อนแล้วข้าพระบาทจึงจะทำความปรารถนาของพระองค์ให้บริบูรณ์ตามพระราชประสงค์ แล้วตรัสเป็นพระคาถาว่า
ทาสิ ตุยฺหํ อหํ เทว | สามิโก มม อิสฺสโร |
เทวตา เม ปติฏฺาสิ | วิกิณาถ ยถาสุขํ |
แปลว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า ข้าพระบาทเป็นทาสีของพระองค์ พระองค์เป็นเจ้าเป็นอิสระของข้าพระบาท เป็นเทวดาและเป็นที่พึ่งของข้าพระบาท ขอพระองค์จงขายข้าพระบาทตามพระราชประสงค์เถิด พระมหาสัตว์เจ้าได้ทรงสดับพระราชเสาวนีย์แล้วก็มีพระทัยยินดี แล้วกลับมีพระทัยกัมปนาทหวาดไหวมีน้ำพระเนตรหลั่งไหลดุจท่อน้ำมากไปด้วยพระกรุณาปราณี จึงตรัสว่าถ้อยคำของเจ้าเป็นสุภาษิต ถ้อยคำของเจ้าเป็นสุภาษิต ถ้อยคำของเจ้าเป็นที่จับจิตจับใจนัก แล้วก็พาพราหมณ์กับพระราชเทวีไปถึงอินทปัตถนคร ครั้นไปถึงสำนักเศรษฐีที่มีทรัพย์มากในพระนครนั้นแล้วจึงถามไปว่า ท่านจะซื้อทาสีบ้างหรือไม่ ยังมีพราหมณ์ผู้หนึ่ง เป็นคนมีทรัพย์มาก จึงถามพระมหาสัตว์เจ้าว่าดูกรท่านผู้สหายทาสีของท่านราคาเท่าไร แน่ะนายเมื่อนายจะซื้อแล้วจงให้กหาปณะแก่ข้าห้าร้อยกหาปณะ แล้วพระมหาสัตว์เจ้าก็ขายพระราชเทวีให้แก่พราหมณ์นั้นแล้วตรัสว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์อันเจริญ เจ้าจงอยู่ทำกิจการในบ้านนี้เถิด
พระราชเทวีเจ้าก็เข้ากอดพระบาทพระมหาสัตว์เจ้าถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า ขอพระองค์จงอดโทษความผิดแก่ข้าพระบาท การที่ข้าพระบาทได้ถวายบังคมพระบาทของพระองค์ก็ดี การที่ได้เห็นพระองค์ก็ดี การที่ได้อยู่ร่วมกันกับพระองค์ก็ดี การที่ได้เจรจากันกับพระองค์ก็ดี ครั้งนี้เป็นครั้งในภายหลัง ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพระบรมราชสามี ขอพระองค์จงอดโทษที่อาศัย กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ซึ่งได้ประพฤติล่วงเกินไปแล้วนั้นด้วยเถิด พระมหาสัตว์เจ้าเล้าโลมเอาใจพระราชเทวี แล้วจึงเข้าไปใกล้พราหมณ์เจ้าทรัพย์นั้นตรัสว่า ข้าแต่นายท่านจงซื้อตัวข้าพเจ้าไว้ด้วย พราหมณ์เจ้าทรัพย์จึงถามว่า ดูกรสหายตัวของท่าน ราคาเท่าไร ข้าแต่นายตัวของข้าพเจ้าราคาห้าร้อยกหาปณะ จะให้ท่านรักษาประตูท่านจะรักษาได้หรือไม่ ข้าพเจ้ารักษาได้ พราหมณ์เจ้าทรัพย์นั้นก็ให้ทรัพย์แก่พระมหาสัตว์ห้าร้อยกหาปณะ พระโพธิสัตว์เจ้าทรงรวบรวมทรัพย์ซึ่งเป็นค่าตัวของพระองค์ และค่าตัวของพระราชเทวีไว้แล้วจึงพูดกับพราหมณ์ว่า ดูกรมหาพราหมณ์ผู้เจริญ ด้วยผลทานอันนี้ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งสิ้นอย่าได้วิโยคพลัดพรากจากกันและกันเลย กล่าวดังนี้แล้วก็ให้กหาปณะพันหนึ่งแก่พราหมณ์
ตมตฺถํ ปกาเสนฺโต เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสเป็นพระคาถาว่า
ตโต อรินฺทโม ราชา | วิกิณิตฺวาน อตฺตโน |
วิกิณิตฺวาน เทวึ จ | มูลํ อทาสิ พฺราหฺมณํ |
แปลว่า ในกาลนั้นพระเจ้าอรินทมราชขายตัวของพระองค์กับพระราชเทวีแล้ว พระราชทานทรัพย์ซึ่งเป็นค่าตัวนั้นแก่พราหมณ์ พราหมณ์รับเอากหาปณะทั้งสิ้นได้แล้วก็อันตรธานหายไป
ลำดับนั้น ส่วนพระโพธิสัตว์เจ้าจำเดิมแต่วันนั้นมาก็รักษาประตูอยู่ในบ้านนั้น ครั้นกาลล่วงไปๆ พระราชเทวีเจ้าทรงพระครรภ์แก่บริบูรณ์เต็มที่แล้ว ก็เข้าไปนั่งอยู่ภายใต้ซุ้มประตูของนางพรหมณี วันหนึ่งเป็นวันอมาวสีแรมเดือนเชฎฐมาส พระนางเจ้าก็ประสูติพระราชกุมารในเวลาอัฒรัตติกสมัยกำลังฝนตก
พระราชกุมารนั้น ครั้นประสูติจากพระครรภ์แล้วก็สิ้นพระชนม์ พระนางเจ้าทรงทราบว่าพระราชกุมารสิ้นพระชนม์แล้ว และได้เห็นพระราชกุมารยังเปื้อนอยู่ด้วยพระเสมหะและพระโลหิต ก็ทรงอุ้มพระราชกุมารขึ้นไว้ แล้วพระนางจึงทรงระลึกไปถึงพระโพธิสัตว์เจ้า เมื่อจะทรงปริเทวนาการรำพันถึงพระโพธิสัตว์ซึ่งได้มีพระกรุณา จึงกล่าวพระคาถานี้ว่า
หา ตาตก สุภํ รูปํ | ปมํ ปุตฺตกํ ลภึ |
อิทานิ เต ปิตา นตฺถิ | ตุวฺจ ชาโต มริสฺสสิ |
ปุพฺเพ าติคเต กาเล | สุขํ โหติ อนปฺปกํ |
อิทานิ ทาสิภาวาหํ | กถํ กาหามิ ปุตฺตก |
หา ตาต ทกฺขิณกฺขิ เม | หา ตาต หทยํ มม |
กถเมตํ กริสฺสามิ | อชฺช รตฺตีหิ เอกิกา |
อิทานิ เต วินา รฺา | อคฺคิมตฺตํปิ นาลภึ |
แปลว่า พ่อเอ๋ยแม่ได้ลูกน้อยหัวปีที่แรกรูปร่างงดงาม เวลานี้บิดาของเจ้าก็เหมือนไม่มี ถึงตัวเจ้าเล่าได้เกิดมาแล้วก็มาถึงตาย แต่ก่อนได้มีญาติไปมาหากันได้รับแต่ความสุขสบายเป็นอันมาก บัดนี้แม่ก็เป็นทาสีจะทำอะไรได้เล่าพ่อลูกน้อย พ่อดวงนัยน์เนตรเบื้องขวาของแม่ พ่อดวงหทัยของแม่ วันนี้ก็เป็นเวลากลางคืนทั้งแม่ก็เป็นผู้หญิงคนเดียว ไฉนจะทำกิจการอันนี้ให้สำเร็จได้ เวลานี้แม่มาพลัดพรากจากพระราชบิดาของเจ้าเสียแล้วแต่ชั้นไฟก็หาไม่ได้ พระราชเทวีเจ้า ทรงปริเทวนาการโดยนัยเป็นอาทิฉะนี้แล้ว
ลำดับนั้น นางพรหมณีได้ยินเสียงพระราชเทวีทรงพระกรรแสงไห้จึงถามว่า อีทาสีชั่วร้ายเจ้าร้องไห้ทำอะไร พระราชเทวีบอกว่า คุณนายเจ้าขา บุตรฉันพอออกมาก็ตายเสียแล้ว นางพรหมณีโกรธกล่าวว่า หญิงชั่วร้ายเจ้าจงรีบออกไปเสียจากเรือนของข้า พระราชเทวีจึงตอบว่า คุณนายเจ้าขา เวลานี้ก็เป็นเวลากลางคืนวันสิ้นเดือนฝนก็ยังตกอยู่ ฉันก็เป็นหญิงคนเดียวไม่มีเพื่อน ขอรอไปจนถึงวันพรุ่งนี้เถิดฉันจะออกไปแต่เช้า นางพรหมณีเป็นหญิงไม่มีความกรุณาแก่คน จึงด่าพระราชเทวีว่า เจ้าเป็นหญิงชั่วช้าอยู่ในเรือนนี้ไม่ได้ จงออกไปเสียจากเรือนนี้โดยเร็ว พระราชเทวีเจ้าโดยความที่พระนางเจ้าเป็นนางกษัตริย์สุขุมาลชาติ ครั้นได้ฟังเสียงที่นางพรหมณีด่าบริภาษ ก็มีพระทัยเร่าร้อนด้วยเพลิงโศกไม่สามารถจะกลั้นน้ำพระเนตรได้ จึงอุ้มพระราชบุตรออกจากภายใต้ซุ้มประตู ได้อาศัยแสงสว่างที่ฟ้าแลบพอแลเห็นหนทางเที่ยวไปทั่วทิศ เมื่อพระนางเจ้าเที่ยวไปโดยลำดับกว่าจะถึงประตูที่พระโพธิสัตว์เจ้ารักษา ก็มีพระเนตรนองไปด้วยพระอัสสุชลธารา เที่ยวไปถึงประตูไหนพระนางเจ้าก็กล่าวพระคาถานี้ที่ประตูนั้นว่า
อนุกมฺปาหิ มํ สามิ | อหํ ทาสี จ วีธวา |
เม ปุตฺโต ชายติ มโต | ตสฺมา มํ เทหิ โอกาสํ |
แปลว่า นายเจ้าขาสงเคราะห์ฉันด้วย ฉันเป็นหญิงทาสีและเป็นหญิงหม้ายด้วย บุตรของฉันพอเกิดมาก็ตายเสียแล้วเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ขอนายจงให้ที่อาศัยแก่ฉันเถิด
ส่วนพระโพธิสัตว์เจ้าได้ฟังพระวาจาน่าอนาถของพระราชเทวีนั้นแล้ว ไม่สามารถจะดำรงพระองค์อยู่ได้ ก็เสด็จอุฏฐาการจากที่บรรทมทรงนั่งแล้วตรัสกับพระราชเทวีว่า ดูกรแม่เวลานี้ยังดึกอยู่ ตัวเรามาอยู่ในอำนาจผู้อื่น เรากลัวนายไม่อาจเปิดประตูได้ เจ้าจงไปขอที่ประตูอื่นเถิด พระราชเทวีเจ้าตอบว่า นายเจ้าขาประตูอื่นไม่มีแล้ว จึงกอดพระราชบุตรไว้แทบพระราชอุระ ทำอาการเหมือนคนบ้า คุกพระชานุประเทศลงเหนือแผ่นสุธาแล้ว แหงนพระศอขึ้นปริเทวนาการรำพันถึงเรื่องซึ่งควรจะกรุณาของตนแล้วกล่าวคาถาว่า
หา ตาต อปฺปปฺุาสิ | ปูพฺเพ รชุเช น ชายสิ |
อิทานิ ทาสิภาวาหํ | กถํ กาหามิ ปุตฺตก |
สเจ อรินฺทโม อตฺถิ | ปิตา เต มม สามิโก |
กุฏาคาเร จ สิวิกา | มนาปา รตนามยา |
ตาย ตํ นีหริสฺสามิ | มนาปํ ตฺวํ ลภิสฺสสิ |
อิทานาหํ วินา รฺา | ทฺวารมตฺตมฺปิ นาลภึ |
แปลว่า ดูกรพ่อ เจ้าเป็นผู้มีบุญน้อย แต่ก่อนแม่ยังอยู่ในรัชสมบัติเจ้าไม่มาเกิดเสีย บัดนี้แม่เป็นทาสีจะทำกระไรได้พ่อลูกน้อย ถ้าพระบิดาของเจ้าซึ่งเป็นสามีของแม่ยังเป็นพระเจ้าอรินทมราชอยู่ แม่จะพาเจ้าไปบนเรือนยอดพระสิวิกาที่แล้วไปด้วยรัตนะเป็นที่ปลื้มใจนั้น เจ้าก็จักได้รื่นเริงบันเทิงใจ บัดนี้แม่มาพลัดพรากจากพระราชาเจ้าเสียแล้ว แต่ชั้นประตูก็เข้าไม่ได้
พระโพธิสัตว์เจ้าได้สดับเสียงทรงพระกรรแสงของพระราชเทวีเจ้าแล้วก็สลดพระทัยจึงถามว่า ดูกรแม่ ชื่อของเจ้าว่ากระไร พระราชเทวีได้สดับแล้วจึงบอกว่า นายเจ้าขาฉันชื่อสุวัณณคัพภา
พระโพธิสัตว์เจ้า แต่พอได้ยินว่าสุวัณณคัพภาก็ลุกขึ้นจากพระที่นั่ง เปิดระตูออกแล้วเข้าไปใกล้พระราชเทวีเข้าประคองจุมพิตพระเกศบอกว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์อันเจริญ เราเป็นพระราชาชื่ออรินทมะ พระราชเทวีเจ้าได้สดับแล้วก็กอดเอาพระบาทพระมหาสัตว์เจ้าแล้วก็ถึงวิสัญญีสลบไปในสถานที่นั้น
พระมหาสัตว์เจ้าอุ้มพระราชเทวีขึ้นแล้วตรัสว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์อันเจริญ หยุดเท่านั้นเถิด อย่าเศร้าโศกปริเทวนาการไปเลย เราได้บอกเจ้าไว้ว่า ความพร้อมเพรียงกันและความพลัดพรากจากกันนี้เป็นธรรมดาของโลก ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายมีความตายเป็นที่สุด เพราะเหตุใด เพราะเหตุนั้น เจ้าอย่าได้ปริเทวนาการไปเลย พระราชเทวีเจ้าประดิษฐานอยู่แทบเบื้องพระบาทพระมหาสัตว์เจ้า แล้วกราบทูลถึงสรรพทุกข์ของตนถวายให้ทรงทราบ
พระมหาสัตว์เจ้าอุ้มพระราชบุตรของพระองค์ขึ้นแล้ว ให้พระราชเทวีลุกขึ้นด้วยพระดำรัสว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์อันเจริญลุกขึ้นเถิดอย่าเศร้าโศกให้ช้าเลย เมื่อจะประกาศความที่โลกไม่เที่ยงจึงตรัสพระคาถาว่า
มา พาฬฺหํ ปริเทเวสิ | เอสา โลกสฺส ธมฺมตา |
อนิจฺจา สพฺพสงฺขารา | สพฺพพุทฺเธหิ เทสิตา |
แปลว่า เจ้าอย่าเศร้าโศกให้หนักนักเลย ธรรมดาของโลกเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้แสดงไว้ว่า สรรพสังขารทั้งหลายเป็นสภาวธรรมไม่เที่ยง
พระราชเทวีเจ้าดำรงอยู่ในพระโอวาหแล้ว จึงกราบทูลประวัติของตนแก่พระราชสามี
พระโพธิสัตว์เปิดประตูแล้วอุ้มพระกุมารไปยังป่าช้ากับพระราชเทวี ได้เห็นต้นไม้ในป่าช้าด้วยแสงสว่างที่ฟ้าแลบปรารถนาจะขุดแผ่นดิน จึงส่งพระราชกุมารให้พระราชเทวี ๆ ก็อุ้มพระราชกุมารไว้
ส่วนพระโพธิสัตว์เจ้าระลึกขึ้นมาได้จึงว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์อันเจริญ เราจะให้ชีวิตแก่บุตร เราจะให้ชีวิตแก่บุตรอย่างไรเจ้ารู้หรือไม่ ในโลกนี้ที่พึ่งอย่างอื่นซึ่งจะเสมอเหมือนด้วยคำสัตย์ไม่มีเลย กล่าวดังนี้แล้วก็บ่ายพระพักตร์เฉพาะต่อบูรพทิศาภาค ประคองอัญชลีขึ้นเมื่อจะกระทำสัตยาธิษฐาน จึงกล่าวคาถาว่า
สุณนฺตุ โภนฺโต เม วจนํ | เทวสงฺฆา สมาคตา |
สจฺจาธิฏฺานํ กตฺวาน | ปุตฺตสฺสตฺถาย ชีวิตํ |
ยโต สรามิ อตฺตานํ | ยโต ปตฺโตสฺมิ โยวนํ |
นาภิชานามิ สฺจิจุจ | ปาณํ หิสฺสามิ อตฺตนา |
กฺุกิปิลิมตฺตํปิ | น หนามิ กุทาจนํ |
เอเตน สจฺจวชฺเชน | ปุตฺโต เม อชฺช ชีวตุ |
กากนิกมตฺตฺจาปี | อทินฺนํ สามินิคฺคเห |
เอเตน สจฺจวชฺเชน | ปุตฺโต เม อชฺช ชีวตุ |
ปรทานํ น คจฺเฉยฺยํ | มุสาวาทํ น ภาณมิ |
เอเตน สจฺจวชฺเชน | ปุตฺโต เม อชฺช ชีวตุ |
สุราปานํ น ปิวามิ | สีลํ เม ปริสุทฺธติ |
เอเตน สจฺจวชฺเชน | ปุตฺโต เม อชฺช ชีวตุ |
ทตฺวา ทานํ ยาจกานํ | สทฺธาจิตฺเตน ททามิ |
เอเตน สจฺจวชฺเชน | ปุตฺโต เม อชฺช ชีวตุ |
ยทา เม ทินฺนาวกาเล | จิตฺตํ เม ปริสุทฺธติ |
สพฺพสตฺเต หิตตฺถาย | สมฺมาสมฺโพธิการกํ |
ตทาหํ วิกิณิตฺวาน | สจฺจํ จิตฺตํ น โกปเย |
เอเตน สจฺจวชฺเชน | ปุตฺโต เม อชฺช ชีวตุ |
สพฺพทาเนน เม สจฺจํ | พุทฺโธ เหสฺสามิ อนาคเต |
เอเตน สจฺจวชฺเชน | ปุตฺโต เม อชฺช ชีวตุ |
แปลว่า ข้าแต่เทพสังฆาคณานิกรเจ้าทั้งหลาย ขอเชิญมาประชุมกันฟังคำของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะกระทำสัตยาธิษฐานปรารถนาจะให้ชีวิตแก่บุตร ตั้งแต่ข้าพเจ้าระลึกรู้สึกตนมา และตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นเด็กมาข้าพเจ้าไม่ได้คิดแกล้งฆ่าสัตว์มีชีวิตด้วยตนเลย แต่ชั้นที่สุดมดดำ มดแดง ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ฆ่าสักครั้งหนึ่งเลย ด้วยคำสัตย์นี้ขอให้บุตรข้าพเจ้ามีชีวิตขึ้นมาในวันนี้เถิด อนึ่งข้าพเจ้าไม่ได้ข่มเหงเจ้าของถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ มาตรว่ากากนึกหนึ่ง ด้วยคำสัตย์นี้ขอให้บุตรข้าพเจ้ามีชีวิตขึ้นมาในวันนี้เถิด อนึ่งข้าพเจ้าไม่ได้ประพฤติล่วงภรรยาท่านผู้อื่นและไม่ได้กล่าวมุสาวาท ด้วยคำสัตย์นี้ขอให้บุตรข้าพเจ้ามีชีวิตขึ้นมาในวันนี้เถิด อนึ่งข้าพเจ้าไม่ได้ดื่มน้ำสุราบาน ศีลของข้าพเจ้าบริสุทธิ์ ด้วยคำสัตย์นี้ขอให้บุตรข้าพเจ้ามีชีวิตขึ้นมาในวันนี้เถิด อนึ่งเมื่อข้าพเจ้าให้ทานแก่ยาจกทั้งหลาย ข้าพเจ้าให้ด้วยจิตศรัทธา ด้วยคำสัตย์นี้ขอให้บุตรข้าพเจ้ามีชีวิตขึ้นมาในวันนี้เถิด เมื่อใดในกาลที่ข้าพเจ้าให้ทาน ข้าพเจ้าตั้งใจบริสุทธิ์เพื่อประสงค์จะบำเพ็ญสัมมาสัมโพธิการกบารมีธรรมให้เป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง เมื่อข้าพเจ้าขายตัวลงทำทาน ข้าพเจ้าตั้งจิตประกอบด้วยสัจจะมิให้จิตกำเริบได้ ด้วยคำสัตย์นี้ขอให้บุตรข้าพเจ้ามีชีวิตขึ้นมาในวันนี้เถิด ด้วยสรรพทานานิสงส์ของข้าพเจ้าซี่งเป็นส่วนสัจจะนี้ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลเถิด ด้วยคำสัตย์นี้ขอให้บุตรข้าพเจ้ามีชีวิตขึ้นมาในวันนี้เถิด
ตสฺมึ ขเณ โพธิสตฺตสฺส สจฺจาธิฏฺานานุภาเวน ในขณะนั้นทารกก็พลิกตัวกลับไปนอนลงโดยข้างเบื้องขวา ด้วยอานุภาพสัตยาธิษฐานของพระโพธิสัตว์เจ้า
ลำดับนั้นพระราชเทวีเจ้า จึงตรัสว่า ข้าแต่พระราชสามีเจ้า บุตรของเราทั้งหลายมีชีวิตขึ้นมาแล้ว (เป็นขึ้นมาแล้ว ฟื้นขึ้นมาแล้ว)
พระราชเทวีเจ้า เกิดอัศจรรย์พระทัย พระโลมชาติสยดสยองด้วยผลสัตยาธิษฐานที่เป็นไปเห็นประจักษ์ จึงทูลพระราชสามี ข้าแต่พระราชสามีเจ้า ถึงตัวข้าพระบาทก็ควรจะกระทำซึ่งคำสัตย์ฯ ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์อันเจริญ การที่เจ้าจะกระทำซึ่งคำสัตย์นั้นเป็นการดีแล้ว
ลำดับนั้นพระราชเทวีเจ้า เมื่อจะให้เทพยดาทั้งหลายทราบแจ้งประจักษ์จึงกล่าวคาถาว่า
โภนฺโต โภนฺโต เทวสงฺฆา | ปพฺพตา วนกนฺทรา |
อากาสคมโน เทวา | สพฺเพ เทวา สุณนฺตุ เม |
ตหา เม วิกิณิตฺวาน | สจฺจํ จิตฺตํ น โกปเย |
เอเตน สจฺจวชฺเชน | ปุตฺโต เมทานิ อุฏฺหิ |
ข้าแต่เทพสังฆาคณานิกรเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย ขอเทพเจ้าแต่บรรดาซึ่งอยู่ในภูเขาและป่าและซอกเขา และเหพเจ้าซึ่งท่องเที่ยวไปในอากาศทั้งปวงจงฟังคำข้าเจ้า เมื่อข้าพเจ้าขายตัวลงทำทาน ข้าพเจ้าตั้งจิตประกอบด้วยสัจจะมิให้จิตกำเริบได้ ด้วยคำสัตย์นี้ ขอให้บุตรข้าพเจ้าลุกขึ้นได้ในเวลานี้เถิด
ลำดับนั้นทารกก็พลิกกลับลุกขึ้นดื่มถันพระมารดาได้ด้วยอานุภาพสัตยาธิษฐาน
ขณะนั้นก็บังเกิดปรากฏเป็นอัศจรรย์ ท้าวสักกเทวราชเจ้ามีจิตเลื่อมใสมาประดิษฐานอยู่บนอากาศ รุ่งเรืองอยู่ด้วยสรีรกายอันเป็นทิพย์ ประดุจดังดวงพระอาทิตย์มีรัศมีอันอ่อน ประดิษฐานอยู่บนอากาศฉะนั้น กระทำปริมณฑลสุสานประเทศทั้งสิ้นให้สว่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วให้ฝนบุปผชาติอันเป็นทิพย์ตกลงมา เมื่อจะบอกพระโพธิสัตว์เจ้าให้ทราบว่าพระองค์เสด็จมา จึงกล่าวคาถาว่า
สกฺโกหมสฺมิ เทวินฺโท | อาคโต ตว สนฺติเก |
อฺชลินฺเต ปคฺคยฺหามิ | ราชเสฏฺํ นมามิหํ |
สาธุ สาธุ มหาราช | ยํ ปตฺถิตํ ตยา ลภิ |
อนาคเต ทิ สมฺพุทฺโธ | โลกนาโถ ภวิสฺสติ |
แปลว่า ข้าพเจ้าเป็นเทวินทรสักกเทวราช มาแล้วยังสำนักของพระองค์ ข้าพเจ้ากระทำอัญชลีแก่พระองค์ ข้าพเจ้านมัสการพระองค์ผู้เป็นกษัตริย์อันประเสริฐ ข้าแต่มหาราชเจ้าดีแล้วดีแล้ว พระองค์จะปรารถนาสิ่งใด ขอพระองค์จงได้สิ่งนั้นตามปรารถนาเถิด พระองค์จักเป็นพระสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกในอนาคตกาลเป็นแท้
ท้าวสักกเทวราชกล่าวคาถาเหล่านี้แล้ว ก็พากษัตริย์ทั้งสองพระองค์กับทั้งพระราชบุตรมาสิ้นหนทางสามโยชน์ให้ประดิษฐานอยู่ในสุจิรวดีมหานครในวันนั้น
ในสมัยนั้น พอเวลาราตรีสว่างแล้ว ท้าวสักกเทวราชก็ถวายรัชสมบัติแก่พระมหาสัตว์เจ้าแล้ว ขอขมาโทษพระมหาสัตว์เจ้าแล้วกล่าวว่า ข้าพเจ้ากระทำอย่างนี้ปรารถนาจะให้ทานบารมีของพระองค์เต็มบริบูรณ์ ข้าแต่มหาราชเจ้า ด้วยทานบริจาคของพระองค์ ๆ จะได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณโดยฉับพลัน ขอพระองค์อย่าได้ประมาทเลย ข้าแต่มหาราชเจ้ารัชสมบัตินี้จงเป็นของพระองค์เถิด ข้าพเจ้าจักลาพระมหาราชเจ้าไปยังเทวโลก ว่าแล้วก็อันตรธานไป
เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์จะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสเป็นพระคาถาว่า
ตโต สกฺโก เทวราชา | รชฺชํ ทตฺวาน ขตฺติยา |
มโนรถํ ปูเรสฺสามิ | เทวโลกํ อุปาคมิ |
แปลว่า ในกาลนั้นท้าวสักกเทวราช ถวายรัชสมบัติแก่บรมกษัตริย์เจ้าแล้วทูลว่า ข้าพเจ้าจะทำความปรารถนาของพระองค์ให้บริบูรณ์ดังนี้แล้ว ก็เสด็จไปยังเทวโลก
เมื่อพระมหาสัตว์เจ้าได้รัชสมบัติแล้วมีพระทัยยินดีเป็นอันมาก จึงโปรดให้มหาชน มาประชุมกันแล้วตรัสเล่าประวัติทุกประการ แล้วพระราชทานโอวาทแก่มหาชนเหล่านั้น
ในกาลนั้นมหาชนทั้งปวงก็บังเกิดอัศจรรย์ใจ ชาวพระนครทั้งหลายก็ถือเครื่องบรรณาการมาถวายพระมหาสัตว์เจ้าเป็นอันมาก ส่วนพระมหาสัตว์เจ้าก็พระราชทานโอวาทแก่ชาวพระนครเหล่านั้นแล้ว เสวยรัชสมบัติอยู่โดยธรรม
เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์จะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสเป็นพระคาถาว่า
ตโต อรินฺทโม ราชา | ลทฺธา รชฺเช ปติฏฺติ |
นาคเร สนฺนิปาเตตฺวา | สพฺพทุกขํ กเถสิ ตํ |
สพฺเพ ชนาโลมหํโสวา | สุตฺวา ราชา กถํ ตทา |
พหุลฺจ คเหตฺวาน | ทสฺเสหิ ธรณี ปติ |
แปลว่า ในกาลนั้นพระเจ้าอรินทมราช ได้ประดิษฐานอยู่ในรัชสมบัติแล้ว จึงโปรดให้ชาวพระนครมาประชุมพร้อมกัน แล้วตรัสเล่าถึงความทุกข์ที่เป็นมาแล้วนั้นทุกประการ บรรดาชาวพระนครครั้นได้ฟังพระราชดำรัสแล้ว ก็บังเกิดโลมชาติสยดสยอง พากันถือเอาบรรณาการมาถวายเป็นอันมาก
ครั้งนั้น พระมหาสัตว์เจ้าจึงให้หาเสนาบดีคนหนึ่งเข้ามาเฝ้า แล้วตรัสว่า ท่านจงถือเอากหาปณะพันหนึ่งไปให้แก่จันทปาลกะพราหมณ์ ส่วนยาจกทั้งหลายได้ทราบว่า พระมหาสัตว์เจ้าได้รัชสมบัติแล้วก็พากันเข้าไปขอทาน
เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์จะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสเป็นพระคาถาว่า
สพฺเพ เต ยาจกา นํปิ | สุตฺวา ราชานมาคตํ |
อุปสงฺกมิตฺวาน ราชานํ | ทานํ ยาจนฺติ เต ตทา |
เต ยาจเก ราชา ทิสวาน | |
ปสนฺนมานโส หุตฺวา | อทาสิ ทานํ ยาจกานํ |
แปลว่า ยาจกทั้งสิ้นเหล่านั้น ได้ยินว่าบรมกษัตริย์พระองค์นั้นเสด็จมาแล้ว ก็เข้าไปขอพระราชทานอยู่เสมอ บรมกษัตริย์ได้ทอดพระเนตรเห็นยาจกเหล่านั้นแล้วก็มีพระทัยเลื่อมใสพระราชทานไทยทานแก่ยาจกเหล่านั้น
จำเดิมแต่กาลนั้นมาพระมหาสัตว์เจ้ากับพระราชเทวีก็ทรงบำเพ็ญบุญกุศลมีทานเป็นต้น ครั้นสิ้นพระชนมายุแล้วก็ไปบังเกิดในเทวโลก
หมู่ชนเป็นอันมากที่ตั้งอยู่ในโอวาทของพระมหาสัตว์เจ้านั้น ก็มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า
สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วทรงประชุมชาดกว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายในกาลก่อนเราได้ให้มหาทานอย่างนี้ ท้าวสักกเทวราชในกาลนั้น ครั้นประวัติกาลกลับชาติมาเป็นพระอนุรุธ นางสุวรรณคัพภาในกาลนั้นมาเป็นนางยสุนทรา ราชบุตรในกาลนั้นมาเป็นพระราหุล พระเจ้าอรินทมราชในกาลนั้นมาเป็นเราซึ่งเป็นสัมมาสัมพุทธบรมโลกนาถนี้แล