ความเคารพเป็นมงคลอันสูงสุด

เจริญพร ท่านสาธุชนผู้ฟังทุกท่าน

อาตมภาพจะได้กล่าวถึงมงคลที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ทรงแสดงไว้แล้วเป็นพระคาถาที่ 7 ที่อาตมาได้ยกมาแสดงแก่ญาติโยมเมื่อวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนที่แล้ว ว่า

 คารโว จ นิวาโต จ สนฺตุฏฺฐี จ กตญฺญุตา
   กาเลน ธมฺมสฺสวนํเอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
   ความเคารพ 1  ความอ่อนน้อมถ่อมตน 1  ความสันโดษ 1  ความกตัญญู 1  การฟังธรรมตามกาล 1  นี้เป็นมงคลอันสูงสุด [คือเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขในชีวิตได้อย่างสูงสุด]

เมื่อเดือนที่แล้วนี้ ได้กล่าวถึง ความกตัญญูกตเวที  เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ  เพื่อประกาศพระคุณของแม่ และพระคุณของสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ  ที่ปวงพสกนิกรชาวไทยได้ยกย่องพระองค์ไว้ในฐานะ “พระแม่ของชาติ” จึงยังคงเหลือหัวข้อมงคลอีก 4 ข้อ ในพระคาถาที่ 7 นี้  ที่อาตมภาพจะได้บรรยายขยายความเป็นลำดับไป

เฉพาะในวันนี้  จะได้กล่าวถึงความเคารพหรือคารวะ  ซึ่งพระบาลีว่า “คารโว” นี้  หมายถึง การแสดงอาการทางกาย ทางวาจา และแม้จิตใจ  ที่ยกย่อง นับถือ เอื้อเฟื้อ เอาใจใส่ ต่อบุคคล ต่อธรรมะ และต่อสิ่งที่ควรเคารพนับถือ คือที่มีความสำคัญ สมควรแก่การเคารพยกย่อง นับถือ ให้ถูกต้องเหมาะสม   ไม่แสดงอาการกิริยา วาจาที่แข็งกระด้าง  ล่วงเกิน  หรือล่วงละเมิด  ด้วยประการต่างๆ

การแสดงความเคารพนั้น   เฉพาะในหมู่บรรพชิต มีพระภิกษุ สามเณร เป็นต้น  ย่อมแสดงหรือปฏิบัติต่อกัน 4 วิธี คือ  อภิวาท คือการกราบไหว้   อุฏฐานะ  คือการลุกยืนขึ้นต้อนรับ   อัญชลีกรรม คือ การประณมมือไหว้  และ สามีจิกรรม คือการแสดงอัธยาศัยที่ดีต่อกัน เช่นผู้น้อยหลีกทาง ให้ที่นั่ง นั่งข้างหลัง  หรือเวลาเดินก็เดินเยื้องหรือเดินตามหลังผู้ใหญ่   ต่อหน้าผู้ใหญ่ก็ลดร่ม  ถอดรองเท้า  เป็นต้น  นี้เป็นหลักปฏิบัติข้อใหญ่ๆ    และในกรณีข้อธรรม คือ พระธรรมวินัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว  ก็เอื้อเฟื้อ  เกื้อกูล  ศึกษาและปฏิบัติตาม

ส่วนในหมู่คฤหัสถ์  ก็เป็นไปตามขนบธรรมเนียม ประเพณี อันดีงามของแต่ละท้องถิ่น  เช่น  การกราบ  การไหว้   การคำนับ  การเปิดหมวก  การลุกยืนขึ้นต้อนรับผู้ใหญ่  การนั่งคือทรุดกายลงนั่งต่อหน้าผู้ใหญ่  การกระทำวันทยาหัตถ์  วันทยาวุธ  การแลซ้าย  แลขวา  การยิงสลุต  การลดธง  และการบรรเลงเพลงดนตรี  เช่น  การบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี  เพลงชาติ  เพลงมหาฤกษ์  มหาชัย   หรือการแสดงกิริยา  วาจา  ที่สุภาพอ่อนโยน  และแม้การลดสายตาลงด้วยจิตใจที่อ่อนน้อม  ถ่อมตน ไม่แสดงกิริยา  วาจากระด้างกระเดื่อง  และแม้ด้วยสายตาที่แข็งกร้าว  เย่อหยิ่ง จองหอง หยาบคาย เป็นต้น  ส่วนในกรณีธรรมะหรือคำแนะนำสั่งสอนโดยชอบก็เอื้อเฟื้อ  เชื่อฟัง  เอาใจใส่  ศึกษา  และปฏิบัติตาม

ผู้มีคารวธรรม  รู้จักสัมมาคารวะ  รู้จักที่ต่ำที่สูง  คือรู้จักความสำคัญของบุคคล  รู้จักข้อธรรมะ  และสิ่งที่ควรเคารพ  นับถือ  บูชา  ได้ชื่อว่า  เป็นผู้มีคุณธรรมสูง  ที่จะนำบุคคลผู้ทรงคุณธรรมนี้ไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขในชีวิต  ไม่เป็นไปในทางเสื่อม  เป็นโทษ  หรือเป็นความทุกข์เดือดร้อน  จึงเป็น “มงคลอันประเสริฐสูงสุด”

การเคารพบุคคล ข้อธรรมะ และสิ่งที่ควรเคารพนั้น มี 6 ประการใหญ่ๆ คือ   พุทธคารวตา ความเคารพในพระพุทธองค์ 1    ธัมมคารวตา  ความเคารพในพระธรรม 1   สังฆคารวตา ความเคารพในพระสงฆ์ 1   สิกขาคารวตา ความเคารพในการศึกษาอบรมตน 1    อัปปมาทคารวตา คือความเคารพในความไม่ประมาท 1    และปฏิสันถารคารวตา คือความเคารพในปฏิสันถาร 1   ดังที่อาตมาจะได้กล่าวถึงเหตุผลที่บุคคลพึงเคารพในบุคคล  ในธรรมะ  และในสิ่งที่ควรเคารพ  ดังกล่าวนี้ว่า  เพราะเหตุใดจึงควรต้องเคารพ    ถ้าไม่เคารพและหากประพฤติลบหลู่  ล่วงเกิน  แล้วจะได้รับผลอย่างไร  เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาแก่ท่านผู้สนใจศึกษาสัมมาปฏิบัติ ต่อไป

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงเป็นผู้ตรัสรู้พระธรรมวิเศษ  ได้แก่  พระอริยสัจ 4 คือ  ความจริงอย่างประเสริฐในเรื่องของ ทุกข์  เหตุแห่งทุกข์  สภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ คือ มรรค ผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์และที่เป็นบรมสุขอย่างถาวร  และหนทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์และถึงซึ่งบรมสุขอย่างถาวรได้จริง   กล่าวโดยย่อก็คือ ทรงเป็นผู้ตรัสรู้ คือ ทรงรู้แจ้ง ทรงเห็นแจ้ง  กล่าวคือทรงมีพระปัญญาอันเห็นชอบในทางเจริญและทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง  ด้วยพระองค์เอง   ทรงเป็นผู้มีความประพฤติปฏิบัติที่ดี ที่ชอบ  ทรงมีพระทัยที่บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว จากสรรพกิเลส ตัณหา อุปาทาน โดยสิ้นเชิง   และทรงมีพระเมตตาพระกรุณา กรุณาคุณต่อสัตว์โลกทั้งหลาย  จึงไม่ทรงเก็บงำพระธรรมวิเศษที่ทรงปฏิบัติได้ถึงบรมสุขไว้เฉพาะพระองค์   ทรงเสียสละกำลังพระวรกาย  ออกแนะนำสั่งสอนสัตว์โลกที่พอมีอุปนิสัยที่จะรับรู้  เรียนรู้  และรู้แจ้งแทงตลอดในพระธรรมได้  ให้ตั้งอยู่ในสรณะ 3  คือมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง   ขึ้นไปจนถึงบรรลุมรรค ผล นิพพาน  ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์และที่เป็นบรมสุข  ตามรอยบาทพระพุทธองค์   จึงทรงเป็นผู้ควรเคารพ นับถือบูชา

ผู้เคารพ นับถือ ในพระพุทธเจ้า    ย่อมได้ทั้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งอันประเสริฐ  นำตนไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขแต่ส่วนเดียว    ดังพระบาลีมีมาในมหาสมัยสูตร ว่า

                “เยเกจิ  พุทฺธํ  สรณํ  คตา  เส 
น  เต  คมิสฺสนฺติ  อปายภูมึ
ปหาย  มานุสํ  เทหํ  
เทวกายํ  ปริปูเรสฺสนฺติ.”
“บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ    บุคคลเหล่านั้น จักไม่ไปสู่อบายภูมิ    ละกายที่เป็นของมนุษย์แล้ว จักยังเทวกายให้เต็มรอบ”

คำว่า ละกายที่เป็นมนุษย์ นี่  ละได้ 2 กาล  คือ กาลเมื่อตาย  ย่อมถึงสุคติโลกสวรรค์ 1 แต่ถ้าในระหว่างมีชีวิตอยู่นี้  ถ้าปฏิบัติภาวนาสมาธิ/ปัญญา โดยมีศีลเป็นบาท   ละอุปาทานในกายมนุษย์ได้ ก็จะถึงเทวกาย/เทวธรรม ได้ความสุขอย่างเทวดาเหมือนกันนี้อีก 1    นี้ว่าแต่ระดับโลกิยธรรม  ถ้าถึงโลกุตตรธรรม ย่อมพ้นทุกข์และถึงซึ่งบรมสุขอันถาวร ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้     ความเคารพในพระพุทธเจ้า จึงเป็นมงคลอันประเสริฐสูงสุด ด้วยประการฉะนี้

ส่วน “พระธรรม” คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น  เป็นข้อปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจจธรรม ว่า นี้คือทุกข์  นี้คือเหตุแห่งทุกข์  นี้คือสภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ  และนี้คือหนทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ได้จริงแท้แน่นอน  กล่าวโดยย่อก็คือ  ข้อปฏิบัติให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข  และข้อห้ามมิให้ปฏิบัติเพราะเป็นทางให้ถึงความเสื่อมเป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อน จึงทรงให้ละเว้นเสีย  และวิธีชำระจิตใจให้ผ่องใส  ให้สามารถพิจารณาเห็นแจ้งรู้แจ้งในทางเจริญทางเสื่อมด้วยตนเอง  จะได้ดำเนินชีวิตไปสู่ทางเจริญและสันติสุขแต่ส่วนเดียว  ไม่ไปทางเสื่อม  เป็นโทษ  เป็นความทุกข์เดือดร้อน  ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น   ใครผู้ใดได้รับรู้ และได้เรียนรู้  โดยการศึกษาและปฏิบัติพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าด้วยดี  ก็จะได้รับผลเป็นความเจริญรุ่งเรือง  และสันติสุขในชีวิตได้จริง และจะเห็นผลได้ด้วยตนเอง  ไม่เลือกกาลเวลา   ดังพระพุทธดำรัส  มีมาในพระไตรปิฎก  เล่มที่ 15  สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อ 903 หน้า 333 ว่า

  ยาทิสํ  วปเต  พีชํตาทิสํ  ลภเต  ผลํ
 กลฺยาณการี  กลฺยาณํปาปการี  จ  ปาปกํ
    บุคคลหว่านพืชเช่นใด    ย่อมได้รับผลเช่นนั้น   ผู้ทำกรรมดี   ย่อมได้ผลดี   ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว

พระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า จึงเป็นข้อปฏิบัติที่คนมีปัญญาจะพึงเคารพ นับถือ บูชา คือ “รับรู้” “เรียนรู้” ด้วยความเอื้อเฟื้อ  เอาใจใส่ในการศึกษาและปฏิบัติพระสัทธรรม  ได้แก่ การศึกษาอบรมในศีล สมาธิ ปัญญา ให้ถึงอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา   จน “รอบรู้” คือรู้ทั่ว ทั้งให้รู้จำ (สัญชานนะ)  รู้แจ้ง (วิชานนะ)  และรู้แทงตลอด (ปฏิเวธะ)   ก็จะเป็นทางให้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวงและที่เป็นบรมสุข ตามรอยบาทพระพุทธองค์ได้จริง

ความเคารพในพระธรรม  จึงเป็นมงคลอันประเสริฐสูงสุด ด้วยประการฉะนี้

พระสงฆ์  คือหมู่ชน ได้แก่ หมู่พระภิกษุ สาวกของพระพุทธเจ้า  ผู้ศึกษาและปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ตามพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ดีแล้ว   มีสีลาจารวัตรที่งดงาม  เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น และได้แนะนำสั่งสอนสาธุชนผู้สนใจในธรรม  ให้ศึกษาและปฏิบัติธรรมได้ผลดีตาม   พระสงฆ์นี้ นี่แหละที่เป็นผู้สืบบวรพระพุทธศาสนาด้วยดีต่อๆ มา จนถึงปัจจุบันนี้   ก็นับเป็นบุคคลผู้ควรเคารพ นับถือ เชื่อฟัง และปฏิบัติตาม   เพราะมีแต่จะชักนำเราให้ได้เข้าใกล้พระรัตนตรัย ให้ได้รับรู้ เรียนรู้ จนถึงรู้แจ้งแทงตลอดในพระสัทธรรม  และได้ปฏิบัติพระสัทธรรมให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขสำหรับตน  ตามรอยบาทพระพุทธองค์ได้

ความเคารพในพระสงฆ์  จึงเป็นมงคลอันประเสริฐสูงสุด

เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายพึงทราบมงคล  ข้อ “คารวะ”  คือ ความเคารพนี้    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเคารพในพระพุทธ  พระธรรม  และพระสงฆ์  ผู้ทรงคุณธรรมสูง คือผู้ทรงศีลทรงธรรมนั้น มีแต่จะยังความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข ให้เกิดมีแก่ตนแต่อย่างเดียว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การเคารพในสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  แม้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปนานแล้ว ยังคงอยู่แต่พระธรรมเป็นพระศาสดาแทนพระองค์  และพระสงฆ์ผู้สืบบวรพระพุทธศาสนา  และพระเจดีย์  ได้แก่ พระธาตุเจดีย์  บริโภคเจดีย์  พระธรรมเจดีย์  และอุทเทสิกเจดีย์   คือสิ่งที่สร้างขึ้นอุทิศเฉพาะต่อพระพุทธเจ้า ได้แก่ พระพุทธปฏิมาหรือพระพุทธรูปต่างๆ  แทนพระองค์     ผู้ใดเคารพ นับถือ กราบไหว้ บูชา เพื่อระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย   ผู้นั้นย่อมได้อานิสงส์  ย่อมเป็นมงคลอันประเสริฐสูงสุดสำหรับตน คือนำตนไปสู่การปฏิบัติดี  ปฏิบัติชอบ  ตามพระสัทธรรมของพระองค์ นำความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขมาสู่ตน 

ผู้ใดลบหลู่ดูหมิ่น   ประพฤติปฏิบัติล่วงเกิน  ล่วงละเมิด  ด้วยจิตใจบาปหยาบช้า  โง่เขลาเบาปัญญา  ย่อมได้รับผลตรงกันข้าม  คือย่อมมีโทษถึงความทุกข์ เดือดร้อน  ตามระดับจิตใจที่ตกต่ำด้วยอำนาจของกิเลส  อันมีโมหะ โทสะ เป็นต้นนั้น  ดังมีตัวอย่างโทษของการล่วงเกินพระพุทธเจ้า   แม้พระเจดีย์  ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ  ที่เขาสร้างขึ้นเพื่ออุทิศถึงพระพุทธเจ้า   ปรากฏในมงคลทีปนีกถา ว่าด้วย “การคบหรือไม่คบคนพาล และบัณฑิต”  ว่า  

ในสมัยพุทธกาล  เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ พระเจ้าอชาตศัตรูได้คบคิดกับพระเทวทัตปลงพระชนม์ชีพพระเจ้าพิมพิสาร ผู้เป็นพระราชบิดา โดยทรงให้จำขังและตัดพระกระยาหาร (ให้อดอาหาร) พระราชบิดา

พระราชเทวีได้ทรงช่วยนำพระกระยาหารไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร  ด้วยวิธีการปกปิดซ่อนเร้นนำพระกระยาหารไปส่งด้วยวิธีต่างๆ    ครั้นพระเจ้าอชาตศัตรูผู้ราชบุตรทรงทราบ  ก็ทรงห้ามพระราชเทวีผู้เป็นพระราชมารดา  มิให้นำพระกระยาหารไปส่งถวายพระราชบิดาได้    พระเจ้าพิมพิสารนั้นทรงเป็นอริยบุคคล คือเป็นพระโสดาบันบุคคล   แม้ทรงอดพระกระยาหาร ก็ยังพระวรกายให้เป็นไปด้วยการเสด็จจงกรม  อันประกอบด้วยสุขอันเกิดจากมรรค ผล    พระวรกายจึงยังคงผ่องใสและรุ่งเรืองอยู่

พระเจ้าอชาตศัตรูครั้นทรงทราบว่าพระราชบิดายังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ด้วยการเสด็จจงกรม  จึงทรงสั่งพวกช่างกัลบก คือช่างตัดผม ไปด้วยพระราชโองการว่า “พวกท่านจงเอามีดโกนผ่าพระบาทพระราชบิดาของเราเสีย   แล้วทาด้วยน้ำมันผสมเกลือ แล้วรมด้วยถ่านไม้ตะเคียน”    พวกช่างกัลบกก็จำต้องกระทำตามบัญชาของพระเจ้าอชาตศัตรู  ซึ่งเป็นพระราชโอรสผู้แย่งพระราชบัลลังก์จากพระราชบิดา เพื่อทรงเป็นพระราชาเสียเองในขณะนั้น

เวทนากล้าได้เกิดขึ้นแก่พระเจ้าพิมพิสาร  จึงเสด็จสวรรคตในกาลต่อมา   เสด็จจุติคือเคลื่อนจากมนุษย์โลกนี้แล้ว ก็ได้ไปบังเกิดเป็นยักษ์ชื่อว่า ชนวสภะ ผู้บำรุงท้าวเวสสวรรณ ในเทวโลกชั้นจาตุมมหาราช ด้วยอำนาจความรักใคร่ที่พระองค์ได้ทรงอบรมมานาน  เพราะได้เคยไปเกิดในเทวโลกชั้นนี้มามาก

ในเรื่องที่พระเจ้าพิมพิสารถูกพระเจ้าอชาตศัตรู  ผู้เป็นพระราชบุตรกระทำปิตุฆาตคือฆ่าพระบิดา โดยให้พวกช่างกัลบกเอามีดโกนผ่าพระบาท  ทาด้วยน้ำมันผสมด้วยเกลือ  และรมด้วยถ่านไม้ตะเคียนนี้  ตามคัมภีร์มงคลทีปนี  กล่าวถึงกรรมในอดีตของพระราชา ว่า

ในกาลก่อน (คือในชาติก่อน)   พระราชาได้สวมฉลองพระบาทคือสวมรองเท้า เข้าไปในลานพระเจดีย์ อันเป็นที่สักการะบูชาของหมู่ชนทั้งหลาย นี้ประการ 1   และอาจารย์แต่ปางก่อนยังได้แสดงอีกว่า พระองค์ได้เคยเอาพระบาทซึ่งมิได้ชำระล้างให้สะอาดเสียก่อน เหยียบย่ำบนเสื่อลำแพนที่เขาปูไว้เพื่อให้เป็นที่นั่งของพระภิกษุสงฆ์ อีกประการ 1  จึงส่งผลให้พระองค์รับความทุกข์ทรมานในชาตินี้    นี้เป็นผลจากกรรมเก่าที่พระเจ้าพิมพิสารได้เคยทรงกระทำเป็นการล่วงเกินพระเจดีย์ และที่นั่งของพระภิกษุสงฆ์ แต่ชาติปางก่อน มาให้ผลในชาติที่เป็นพระราชาพระนามว่า “พิมพิสาร”   ในสมัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่

เพราะฉะนั้น  ท่านทั้งหลาย   เมื่อได้ทราบมงคลข้อ “คารวะ”  คือ ความเคารพ นี้แล้วก็อย่าได้ประมาท ลบหลู่ดูหมิ่น  ประพฤติปฏิบัติล่วงเกินหรือล่วงละเมิดในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แม้เจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ  หรือโบสถ์ วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาแทนองค์พระพุทธเจ้า  พระธรรมเจ้า และพระสงฆ์เจ้า   และแม้ศาลาการเปรียญสถานที่แสดงธรรม เป็นต้น อย่างเช่นโดยการสวมหมวก  สวมรองเท้า กางร่ม ไปในปูชนียสถานหรือใกล้ปูชนียสถาน ที่เป็นที่เคารพบูชาของเหล่าชนทั้งหลาย  ก็จงอย่าทำด้วยความหลง  ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ หรือด้วยทิฏฐิผิดๆ ของตัวว่า ฉันไม่ยี่หระ ฉันไม่สนใจ   ไม่เห็นจะบาปตรงไหน เป็นต้น   ถ้ามีอุปนิสัย มีปกติคิด พูด กระทำเช่นนั้นอยู่  คงไม่นานเกินรอที่จะได้เห็นผลในชาติปัจจุบัน  และยังจะได้รับผลกรรมนั้นในภพชาติต่อๆ ไปอีก  เว้นแต่จะได้กระทำไปเพราะความจำเป็นจริงๆ  ก็ต้องตั้งเจตนาว่ามิได้เจตนาลบหลู่ ดูหมิ่น ล่วงเกิน และได้กระทำสามีจิกรรม  คือได้ขอขมาต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขอให้อดโทษเสีย จึงจะไม่มี

เพราะฉะนั้น ทุกท่านจงอย่าได้ประมาท  เพราะผลของกรรมนั้นไม่มีข้อยกเว้นใดๆ แก่ใครๆ เหมือนเด็กกำถ่านเพลิง  ย่อมต้องไหม้มือที่จับที่กำไว้นั้นเสมอไป   ถ้ากำถ่านเพลิงนั้นไว้แน่นมากเพียงไร ย่อมไหม้มือมากเพียงนั้น ฉันใด    บุคคลผู้ประพฤติลบหลู่ ดูหมิ่น ล่วงเกิน ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นปาบอกุศลด้วยโมหะ (คือความหลง ไม่รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ ตามที่เป็นจริง) เพียงไร ก็ย่อมได้รับเป็นโทษ  ให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อนมากเพียงนั้น ฉันนั้น    ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้ว่า   “บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น”

สิกขาคารวตา ความเคารพในสิกขา คือการเอื้อเฟื้อ เอาใจใส่ใจการศึกษาอบรมตนในศีล สมาธิและปัญญา รวมเรียกว่า “ไตรสิกขา” ให้เจริญถึงอธิศีลสิกขา คือการศึกษาอบรมในศีลอันยิ่ง โดยการสังวรระวังในศีลและอินทรีย์  ให้ความประพฤติปฏิบัติทางกายและวาจาเรียบร้อยดีไม่มีโทษ   เป็น “ศีลวิสุทธิ” คือความหมดจดแห่งศีล     อธิจิตตสิกขา คือการศึกษาอบรมในจิตตอันยิ่ง โดยการเจริญภาวนาสมาธิ ถึงฌานจิต อันเป็นธรรมปฏิบัติเครื่องกำจัดกิเลสนิวรณ์ออกจากใจ เป็น “จิตตวิสุทธิ” คือความหมดจดแห่งจิต อันจะเป็นไปเพื่อการเจริญปัญญารู้แจ้งในสภาวธรรมและสัจจธรรมตามที่เป็นจริง  การอบรมปัญญาให้เห็นแจ้ง รู้แจ้งในสภาวธรรม ทั้งที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขาร/สังขตธรรม) และทั้งที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (วิสังขาร/อสังขตธรรม) และในอริยสัจจธรรม ตามที่เป็นจริง ชื่อว่า อธิปัญญาสิกขา อันมีนัยอยู่ในอริยมรรคมีองค์ 8 นี้เป็นทางแห่งความบรรลุมรรค ผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง และที่เป็นบรมสุขได้อย่างถาวร ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้

ในระหว่างการปฏิบัติไตรสิกขาอยู่ แม้จะยังไม่ถึงได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน   เมื่อตั้งใจศึกษาอบรมตน ด้วยความเอื้อเฟื้อ เอาใจใส่ในการศึกษาอบรมตนมั่นคงอยู่  และให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปอยู่นั้น  ย่อมได้รับผลเป็นความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขในชีวิต  ไม่มีเสื่อมเลย

การเคารพในสิกขา คือ ในไตรสิกขา กล่าวคือในศีล สมาธิ และปัญญา อันมีนัยอยู่ในอริยมรรคมีองค์ 8 ย่อมเป็นมงคลอันประเสริฐสูงสุด ด้วยประการฉะนี้

(ประการที่ 5) อัปปมาทคารวตา การเคารพในความไม่ประมาท  ณ ที่นี้หมายถึง การเห็นความสำคัญ เห็นคุณค่าของความไม่ประมาท   ว่าเป็นทางให้ปลอดภัย  เป็นทางที่ไม่ตาย    ดังบาลีพระพุทธภาษิต มีมาในขุททกนิกาย ธรรมบท (ขุ. ธ. 25/18)  ว่า

อปฺปมาโท  อมตํ  ปทํความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย
อปฺปมตฺตา  น  มียนฺติผู้ไม่ประมาท ย่อมไม่ตาย
ปมาโท  มจฺจุโน  ปทํความประมาท เป็นทางแห่งความตาย
เย  ปมตฺตา  ยถา มตาผู้ประมาท เหมือนคนที่ตายแล้ว

เพราะเหตุไรความไม่ประมาทจึงเป็นทางที่ไม่ตาย   และผู้ไม่ประมาทจึงไม่ตาย ?    และ ทำไมความประมาทจึงเป็นทางแห่งความตาย ?  ผู้ประมาทแล้วจึงเหมือนคนที่ตายแล้ว ?

เรามาพิจารณากันสักนิดว่า “ความประมาท” คืออย่างไร ?  มีผลอย่างไร ? ก็พอจะเข้าใจเหตุและผลในข้อธรรมข้างต้นได้

ความประมาท คือ ความขาดสติ (ความระลึกได้) และสัมปชัญญะ (ความรู้สึกตัวพร้อม)   ขาดความยับยั้งชั่งใจ พิจารณาเรื่องราวหรือเหตุการณ์  ด้วยปัญญาอันเห็นชอบ ว่า  เรื่องที่ตนกำลังจะคิด จะพูด หรือจะทำอะไรๆ ว่า    ผิดหรือถูก เป็นคุณหรือเป็นโทษ   เป็นทางเจริญหรือทางเสื่อม เหมือนเรือไม่มีหางเสือ   ก็อาจจะแล่นไปเกยตื้น  หรือชนหินโสโครก  หรือชนกันเองกับเรืออื่น หรือแล่นเข้าไปสู่คลื่นลมทะเลที่บ้าคลั่ง   ย่อมจะประสบกับความแตกสลาย  อัปปางลง  เสียหายหรือตายได้ นี่แหละที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า  “ความประมาท เป็นหนทางแห่งความตาย”  และว่า “คนประมาทแล้ว เหมือนคนที่ตายแล้ว”

การขับรถขับราก็เหมือนกัน  ถ้าประมาทว่าตนนี้ฝี้มือการขับรถแน่  ถือว่าตนนี้ขับรถเก่ง  ว่ารถของตนนี่กำลังสูงดี ครั้นขับรถผ่านถนนที่ขรุขระ  เป็นหลุ่มเป็นบ่อ  หรือที่ลื่นไถล  หรือมีเครื่องกีดขวาง  ไม่ทันได้ระวังตัว  ก็เกิดอุบัติเหตุถึงตายได้  เพียงชั่วพริบตาเดียว

การดำเนินชีวิต  ก็เหมือนการขับรถ  รับเรือ  ถ้าประมาทขาดสติสัมปชัญญะ  ไม่ระลึกได้ ว่า ความประพฤติคือความคิด การพูด การกระทำ ว่า  อย่างไรดี-อย่างไรชั่ว   อย่างไรถูก-อย่างไรผิด ทางไหนเป็นทางแห่งความเจริญ-ทางไหนเป็นทางแห่งความวิบัติฉิบหาย  ตามที่เป็นจริง    ก็ไม่รู้สึกตัว ว่าที่ตนเองคิด พูด ทำ อยู่นั้น ผิดหรือถูก   ควรหรือไม่ควร   ก็หลงทาง ถลำตัวไปทางผิด ไปทางชั่ว ให้เกิดความทุกข์เดือดร้อน หรือถึงตายได้

คำว่า “ตาย” นั้น   พิจารณาได้ 4 นัย คือ  ตายจากความดี ตายคือวิบัติฉิบหายด้วยผลของกรรมชั่วและกิเลส  ตายคือสิ้นชีวิต 1  และตายคือการเวียนว่ายตายๆ เกิดๆ อยู่ในกองทุกข์ต่อๆ ไปไม่มีที่สิ้นสุด อีก 1

ที่ว่า “ตายจากความดี” ก็อย่างเช่น เด็กนักเรียนนักศึกษาที่มีอุปนิสัยเป็นนักเลง  มักก่อกวนวิวาท  ชกต่อยตีรันฟันแทงกัน  ไม่สนใจไม่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนหนังสือ  เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน นี้เรียกว่า “ตายจากคุณความดี”

กลับไปเกิดคือไปคลุกคลี คบค้าสมาคมอยู่ในกลุ่มคนพาลสันดานชั่ว  ประกอบแต่กรรมชั่ว ก็ย่อมได้รับผลจากกรรมชั่วนั้น  ได้แก่  ถูกไล่ออกจากโรงเรียนบ้าง  ถูกจับติดคุกติดตะรางบ้าง  จึงเรียนไม่สำเร็จ  และต้องเสียอนาคตไป   อย่างนี้เรียกว่า “ตายเพราะผลของกรรมชั่วและกิเลส”   ต้องเสียอนาคตไป

ในการก่อการวิวาทเช่นนั้น   ก็ย่อมมีการจองเวร  ผูกพยาบาทกัน  ต่อสู้กันต่อๆ ไป จนได้รับบาดเจ็บและล้มตายกันไปด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย  นี้เรียกว่า “ตายคือสิ้นชีวิต”

 และด้วยใจเศร้าหมองด้วยอำนาจของกิเลส คือโทสะ โมหะ หลงมัวเมา ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ กอปรด้วยเพลิงพยาบาท อาฆาต คุมแค้นกันอยู่    เมื่อต้องตายลง ด้วยอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทานนั้น  ย่อมเป็นชนกกรรม นำไปเกิดในทุคติภูมิ  ได้แก่ ภูมิของเปรตบ้าง สัตว์นรกบ้าง อสุรกายบ้าง และ/หรือ สัตว์เดรัจฉานบ้าง ตามกรรม ต้องเวียนว่ายตายๆ เกิดๆ อยู่ในกองทุกข์ด้วยอำนาจของกิเลส  และกรรมชั่วต่อๆไปอย่างนี้ ไม่มีที่สิ้นสุด    นี้เรียกว่า “ต้องตายคือการเวียนว่ายตายเกิดด้วยอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน”

พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ผู้ประมาทแล้ว ก็เหมือนคนที่ตายแล้ว”  คือตายจากคุณความดี 1    ตายคือฉิบหาย เสียอนาคต เพราะกรรมชั่วและกิเลส 1     ตายคือสิ้นชีวิต 1  และตาย เพราะต้องเวียนว่ายตายๆ เกิดๆ อยู่ในกองทุกข์ต่อๆ ไปไม่มีสิ้นสุด 1

ส่วนผู้ “ไม่ประมาท” ก็เหมือนคนที่ขับรถ ขับเรือ ที่มีความระมัดระวัง มีสายตาที่มองดูเหตุการณ์ทั้งระยะใกล้ ระยะไกล  ว่าจะมีหรือกำลังมีเหตุการณ์อะไรในกาลภายหน้า ทั้งระยะสั้น ระยะยาว   ก็มีสติสัมปชัญญะ คือระลึกได้ว่าทางไหนปลอดภัย ทางไหนไม่ปลอดภัย จึงรู้สึกตัว ระวังตัว เตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ว่าเราจะขับรถไปทางไหนจึงจะปลอดภัย หลีกเลี่ยงหนทางที่เสี่ยงภัย ที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุ หรือความเสียหายได้ ฉันใด   การดำเนินชีวิต ก็ฉันนั้น  ผู้ไม่ประมาทย่อมดำเนินชีวิตด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยปัญญาอันเห็นชอบ คือ รู้ผิด-ชอบชั่ว-ดี   รู้ทรงเจริญ-ทางเสื่อม ตามที่เป็นจริง   ทั้งก่อนและขณะคิด พูด ทำ   ย่อมเลือกทางดำเนินชีวิต ในการคิด พูด ทำ แต่เฉพาะที่เป็นคุณความดี  หลีกหนีความชั่ว   ย่อมพาตัวไปสู่ทางเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขในชีวิต   และถ้าใฝ่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ยิ่งๆ ขึ้นไป ทางศีล สมาธิ ปัญญา ถึงอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา อันมีนัยอยู่ในอริยมรรคมีองค์ 8   ก็จะยิ่งทำตนไปในทางพ้นทุกข์ ถึงซึ่งบรมสุข คือ มรรค ผล นิพพาน อันเป็นอมตธรรม คือธรรมที่ไม่ตาย  ไม่ต้องมีความเกิด คือไม่ต้องเวียนว่ายตายๆเกิดๆ และแก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์อีก   กลับมีบรมสุขที่เที่ยง และยั่งยืนตลอดไป พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

“ความไม่ประมาท เป็นทางที่ไม่ตาย”

ผู้ไม่ประมาทในธรรม คือสนใจ ใฝ่ใจในการศึกษาอบรม ปฏิบัติธรรม ย่อมเป็นผู้ไม่ตาย คือย่อมไม่ตายจากคุณความดี   ย่อมเป็นผู้ทรงศีลทรงธรรม  และย่อมไม่ตายจากผลของกรรมดี คือย่อมได้รับผลดีจากกรรมดียิ่งๆ ขึ้นไป  จนถึงอมตธรรม  คือมรรค ผล นิพพาน ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่ตายจริงๆ ด้วยประการฉะนี้

ขอความสุขสวัสดี  จงมีแก่ท่านผู้ฟังทุกท่าน  เจริญพร.


พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันอาทิตย์ ที่ 15 กันยายน พ.ศ.2539

แชร์เลย

Comments

comments

Share: