การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลี
เพื่อให้วัตถุประสงค์ของการบริหารวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี บุคลากรของวัดทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา จำเป็นต้องศึกษาพระปริยัติธรรม ให้เป็นผู้มีความรู้ ทั้งด้านปริยัติ และด้านปฏิบัติ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติธรรม ให้สามารถปฏิบัติได้ถูกต้องตรงทาง ให้ได้ผล คือปฏิเวธที่ถูกต้อง ในที่สุด เปรียบเสมือนการศึกษาแผนที่ทางเดิน ก่อนออกเดินทางจริงนั่นเอง
วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม จึงได้จัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีขึ้น ให้เป็นสถานที่ให้ความรู้ให้การศึกษาพระปริยัติธรรม และการปฏิบัติพระสัทธรรมตามแนวสติปัฏฐาน 4 ถึงธรรมกาย เป็นวิชชาอันประดับด้วยอภิญญาคือความสามารถพิเศษ จึงชื่อว่า “วิชชาธรรมกาย” ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้สามารถเจริญปัญญาจากการที่ได้ทั้งรู้ทั้งเห็น สามารถนำความรู้ที่ได้ศึกษาแล้วนั้นไปเป็นแนวทางปฏิบัติต่อตนเอง และแนะนำผู้อื่นได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์
การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม ของวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม โดยการนำของพระราชญาณวิสิฐ หลวงพ่อเจ้าอาวาส และในฐานะผู้จัดการโรงเรียนปริยัติธรรม (แผนกบาลี) ประจำจังหวัดราชบุรีแห่งที่ 2 และเจ้าสำนักศึกษาวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ท่านได้ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างเต็มที่ ได้มีนโยบายให้ พระภิกษุสามเณร ที่อยู่ในวัดทุกรูป ต้องศึกษาพระปริยัติธรรมทั้ง 2 แผนก คือแผนกธรรมและแผนกบาลี อย่างจริงจัง และอย่างน้อยต้องให้ได้ถึงชั้นนักธรรมเอก ในแผนกธรรม และ ชั้นประโยค ป.ธ.3 ในแผนกบาลี เว้นแต่มีเหตุอันสมควร
ในด้านการศึกษา หลวงพ่อเจ้าอาวาสเองได้ทำตนเป็นตัวอย่างอันดีเยี่ยมแก่ศิษย์ทั้งหลาย และเป็นกำลังใจแก่ผู้ที่ใฝ่การศึกษาแต่ไม่มีอุตสาหะเพียงพอ นับตั้งแต่ท่านได้บวชเข้ามาในบวรพระพุทธศาสนา ณ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ เมื่ออายุได้ 57 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโทแล้ว ด้วยความเป็นผู้ใฝ่การศึกษาตั้งแต่เยาว์วัย และความไม่ถือตัวทะนงตน ท่านก็ไม่รีรอ ได้เริ่มศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลี อย่างไม่รังเกียจด้วยคิดว่าตนเป็นผู้มีความรู้ทางโลกสูงแล้ว เพียงหนังสือในหลักสูตรไม่กี่เล่ม ก็อาจศึกษาด้วยตนเองก็ได้ แต่ท่านกลับมานั่งเรียนในห้องเรียน ร่วมกับสามเณรน้อยๆ ซึ่งมีอายุคราวหลาน หลายคน ในขณะที่ยังต้องบริหารงานโครงการธรรมปฏิบัติทั้ง 2 โครงการ และบริหารงานมูลนิธิฯ และสถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย ราชบุรี และยังต้องปฏิบัติภาวนาเองและสอนภาวนาแก่พระภิกษุ สามเณร และสาธุชน อีกด้วยนั้น ว่างจากกิจอื่นเมื่อใด ท่านก็ใช้เวลาที่เหลืออยู่ในการศึกษาบาลี ทบทวนทำแบบฝึกหัดที่อาจารย์แต่ละท่านให้มา อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย จนในที่สุดก็สามารถจบการศึกษานักธรรมชั้นสูงสุดคือนักธรรมเอก และสอบบาลี เปรียญธรรม 3 ประโยคได้ (ที่เป็นที่รู้ซึ้งแก่ใจของนักเรียนบาลีว่า ต้องใช้ความพยายามและความจำอย่างหนักเพื่อที่จะสอบได้) เมื่ออุปสมบทได้ 5 พรรษา พร้อมกับได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ที่ท่านได้สร้างมากับมือของท่านเอง
“อยากให้พระเณรลูกหลานทุกคน ตั้งใจศึกษาบาลี ให้ได้อย่างน้อยเป็น ‘พระมหาเปรียญ’ หลวงพ่อจะดีใจมาก” – พระภาวนาวิสุทธิคุณ
แม้เมื่อท่านได้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดฯ แล้ว การงานและกิจกรรมต่างๆ มีแต่จะหนักหนาขึ้นเรื่อยๆ อาคารเรียนถาวรก็ยังไม่ได้สร้าง ต้องใช้โคนต้นไม้เป็นห้องเรียนบ้าง ใช้ศาลาริมน้ำเล็กๆ บ้าง หรือใช้เพิงทางมะพร้าวเป็นที่เรียนบ้าง แต่ท่านก็สามารถสอบได้ถึงเปรียญธรรม 6 ประโยคได้ ภายใน 3 ปีที่ท่านย้ายมาอยู่นั้น โดยสอบไม่ตกเลย จนกระทั่งท่านเห็นว่าสังขารร่างกาย โดยเฉพาะความจำ เสื่อมถอยลง แต่การงานต่างๆ ในฐานะเจ้าอาวาสกลับเพิ่มมากขึ้น ท่านจึงได้พักการเรียนบาลีไว้เพียงนั้น หันมามุ่งงานบริหารวัดและเจริญภาวนามากขึ้น
2 ปีต่อมา วัดหลวงพ่อสดฯ ก็ได้สร้างอาคารเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น 2 หลัง คือ “อาคารเฉลิมพระเกียรติ ร.9” และ “อาคารมงคลเทพมุนี” สร้างเสร็จภายใน 2 ปี เพื่อให้เป็นอาคารสถานที่ถาวร และสัปปายะ สำหรับการศึกษาพระปริยัติธรรม ให้ได้ผลสมความมุ่งหมายที่ได้ตั้งไว้.
วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม จัดให้มีการเรียนการสอนแผนกธรรม ถึงชั้นนักธรรมเอก และแผนกบาลี ถึง ประโยค ป.ธ.6 ในปีการศึกษา 2542 นี้ มีนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม จำนวน 65 รูป และแผนกบาลี จำนวน 46 รูป
ผลงานและเกียรติคุณที่ได้รับ
พ.ศ.2538 วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ได้รับการคัดเลือกและขึ้นทะเบียนเป็น อุทยานการศึกษา
พ.ศ.2538 ได้รับเลือกเป็น สำนักเรียนพระปริยัติธรรม ประจำอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
พ.ศ.2542 ได้รับคัดเลือกและตั้งให้เป็น โรงเรียนปริยัติธรรม (แผนกบาลี) ประจำจังหวัดราชบุรี (แห่งที่ 2) โดยมีวัดจำนวน 213 วัดที่เสนอชื่อเพื่อรับการแต่งตั้ง และมหาเถรสมาคมได้พิจารณาคัดเลือกวัดที่มีคุณสมบัติเหมาะสม 23 วัด ในจำนวนนี้ เฉพาะในภาค 15 ซึ่งมี 4 จังหวัด มีวัดในจังหวัดราชบุรี ที่ได้รับการแต่งตั้ง 2 วัดเท่านั้น คือ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม และวัดบัวงาม พระอารามหลวง
โดยพิจารณาคัดเลือกวัดที่มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ตั้งแต่ชั้นบาลีไวยากรณ์ จนถึงชั้นเปรียญธรรม 4 ประโยค, มีนักเรียนเข้าสอบตั้งแต่ชั้นประโยค 1-2 ถึงชั้นเปรียญธรรม 4 ประโยค ไม่น้อยกว่า 20 รูป, มีนักเรียนสอบได้ประโยคบาลีติดต่อกัน 3 ปีขึ้นไป เป็นต้น.