ธรรมของจริงนั้นเป็นของสูงและคมมาก

อมตวัชรวจีหลวงป๋า

– ธรรมของจริงนั้นเป็นของสูงและคมมาก ผู้ใดตำหนิติเเตียนด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจมีผลดั่งเด็กทารกลูบใบมีดอันคมกริบเล่น.

ธรรมที่จริงและบริสุทธิ์นั้นเป็นของสูง แล้วก็คมมากเสียด้วย มีคุณค่าในทางกำจัดกิเลส ตัณหา อุปาทาน และทุกข์ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่สามารถรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ หรือเพื่อมรรค ผล นิพพาน

และเป็นเรื่องอันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน

ดังพระบาลีที่ว่า “ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ”

จึงไม่ควรที่ผู้ยังมิได้เรียนรู้ หรือผู้ที่ยังมีปัญญาอันหยั่งไม่ถึง จะวิพากษ์วิจารณ์ว่าดีหรือเลว แนวนั้นผิดหรือแนวนี้ถูก ในเชิงตำหนิติเตียน

เพราะหากกระทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็อาจจะมีผลดุจเดียวกับเด็กทารกลูบใบมีดอันคมกริบเล่น ย่อมเป็นโทษแก่ตนเองโดยไม่รู้สึกตัว อย่างน้อยก็จะทำให้ตนเข้าถึงธรรมข้อนั้นได้ยาก และเสียประโยชน์ที่ควรมีควรได้ไปนานทีเดียว

เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรคิดมากให้จิตใจฟุ้งซ่านไปเปล่าๆ วางใจเป็นกลางๆเข้าไว้ และในขณะปฏิบัติก็คอยพิจารณาเหตุ สังเกตผล จากการปฏิบัติดู ก็จะเห็นทางสายกลางไปเองแหละครับ

และอีกประการหนึ่ง ก็อย่าใจร้อนอยากจะเห็นผลในทันที เหมือนอย่างโทรทัศน์ เปิดปุ๊บติดปั๊บน่ะย่อมไม่ได้ ต้องให้โอกาสแก่ตนเองบ้างตามสมควร ก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้นั่นแหละครับท่านผู้ฟัง จะต้องรอเวลาให้เจริญเติบโต และผู้ปลูกก็จะต้องหมั่นดูแลรักษาทำนุบำรุง เมื่อถึงเวลาก็จะผลิดอกออกผลเอง

การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน บางรายก็อาจจะเห็นผลเร็ว บางรายก็อาจจะเห็นผลช้า เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติธรรมบรรลุผลเร็วหรือช้าต่างกัน

อนึ่ง กระผมใคร่จะเรียนว่า

#การเจริญภาวนาตามแนววิชชาธรรมกายนี้

#มีลักษณะเป็นแบบที่ใช้เจโตสมาธิเป็นบาท

#คือ_สมาธิที่ประดับด้วยอภิญญาหรือวิชชาสาม

ซึ่งกระผมจะได้กล่าวต่อไปในภายหลัง

#ถ้าบรรลุมรรค_ผล_นิพพาน_โดยวิธีนี้

#ก็เรียกว่าหลุดพ้นโดยทางเจโตวิมุตติ

ในระหว่างที่ปฏิบัติ แต่ยังไม่ถึงขั้นบรรลุมรรคผล ก็ยังจะได้ความสามารถในทางสมาธิ ยังประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม ให้เกิดแก่ผู้ปฏิบัติเป็นอันมาก ดังที่ได้เคยกล่าวมาบ้างแล้วในคราวต้นๆ

นอกจากนี้ ผู้ประสงค์จะเจริญวิปัสสนาแบบไตรลักษณ์ ก็สามารถจะเจริญได้โดยสะดวก เพราะการเจริญภาวนาตามแนววิชชาธรรมกายนี้ มีสติปัฏฐาน ๔ อยู่ในตัวพร้อมเสร็จ สามารถจะยกเอากายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธัมมานุปัสสนา ทั้ง ณ ภายใน และภายนอก ขึ้นพิจารณาได้เสมอ เป็นทางให้บรรลุมรรคผลทางปัญญา เป็นผลพลอยได้อีกด้วย

จึงมิต้องวิตกกังวลว่า การเจริญภาวนาธรรมตามแนวนี้จะเป็นแต่ขั้นสมถะ ไม่มีวิปัสสนาแต่อย่างใด.

เทศนาธรรมจาก พระเทพญาณมงคล หลวงตาเสริมชัย ชยมงฺคโล

วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี

ที่มา บางตอนจากหนังสือ”ธรรมสู่สันติ”

เพจอมตวัชรวจีหลวงป๋า

แชร์เลย

Comments

comments

Share: