ทำไมต้องมีดวงแก้วในการเจริญภาวนาธรรม

❓ถาม : ทำไมต้องมีดวงแก้วในการเจริญภาวนาธรรม ❓
🌍ตอบ : การที่เราจะสามารถเจริญวิชชาเพื่อดับอวิชชามูลรากฝ่ายเกิดได้นั้น จะต้องเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน
สมาธิมุ่งกำจัดนิวรณ์
ฝ่ายสมถะหรือภาคสมถะนั้นมุ่งหมายที่จะให้ใจสงบจากกิเลสนิวรณ์ ได้แก่ ความง่วงเหงาซึมเซาไม่กระปรี้กระเปร่าแห่งจิตใจ 1 ความลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรม 1 ความโกรธพยาบาท หงุดหงิดไม่สบายใจ 1 ความฟุ้งซ่านแห่งจิตใจ วิตกกังวลหรือนึกไปในเรื่องต่างๆ 1 ความยินดีพอใจยึดติดในกามคุณทั้ง 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสทางกายอีก 1 ทั้ง 5 อย่างนี้รวมเรียกว่า กิเลสนิวรณ์ เครื่องกั้นปัญญา หัวหน้าใหญ่หรือรากเง่าของนิวรณ์ทั้ง 5 นี้ก็คือ อวิชชานิวรณ์ อวิชชานิวรณ์นี้เป็นกิเลสตัวสำคัญที่สุด จะต้องอาศัยวิชชาเป็นธรรมเครื่องกำจัด แล้วจะพลอยให้กิเลสต่างๆ ระงับลงได้ แต่การที่จะเข้าไปกำจัดอวิชชาได้ต้องเจริญวิชชา การที่วิชชาจะเจริญได้นั้น นิวรณ์ 5 ข้อแรกที่กล่าวถึงต้องหมดไป นี่มันเกี่ยวข้องกันอย่างนี้
🌍เมื่อนิวรณ์ 5 ข้อหมดไปแล้วใจจึงใส เมื่อใสแล้วหยุดรวมเป็นจุดเดียว ต้องเข้าใจว่าจิตใจที่ผ่องใสปราศจากนิวรณ์นั้น ใจต้องเป็นสมาธิแน่วแน่เป็นอารมณ์เดียว (เอกัคคตารมณ์) เพราะฉะนั้นบางครั้งเรามักพูดว่าทำสมาธิ ซึ่งหมายเอาว่าอบรมใจให้หยุดนิ่งอยู่ในอารมณ์เดียว แต่บางครั้งเราเรียกสมถกัมมัฏฐาน นั่นหมายเอาคุณสมบัติของใจ เมื่อจิตใจเป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคงแล้วก็จะผ่องใสสะอาดบริสุทธิ์จากนิวรณ์
🌍องค์ฌาน
แต่ความที่ใจจะสงัดจากนิวรณ์ได้ เป็นสมาธิแนบแน่นได้ ต้องยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ที่เรียกว่า วิตก วิจาร ตรึกตรองประคองนิมิต คือพอเราทำใจให้หยุด เกิดอุคคหนิมิต คือเห็นใสเพียงชั่วขณะแล้วหายไปนี่ เห็นๆ หายๆ อยู่เช่นนั้น จัดเป็นขั้นวิตก สมาธิได้แค่ขั้นอุปจารสมาธิ แต่ถ้าทำใจนั้นถึงเห็นปฏิภาคนิมิต คือนิมิตติดตา (แปลตามบาลีว่า นิมิตเทียบเคียง) หมายถึงว่า เห็นนิมิตติดตา จะนึกย่อนึกขยายก็ได้ พอจิตเข้าถึงปฏิภาคนิมิตแล้วน่ะ เรียกว่ายกจิตขึ้นสู่วิจาร และสมาธิระดับนี้เป็นสมาธิขั้น อัปปนาสมาธิ ความจริงนั้นวิตก คือเห็นอยู่ตั้งแต่อุคคหนิมิตนั่นแล้ว แต่ว่าทรงอยู่ไม่ได้นาน เมื่อทรงอยู่ได้นาน เรียกว่าวิจาร วันนั้นท่านเจ้าคุณราชปริยัติกวีท่านกล่าวถึงว่า ถ้าว่านกมันกำลังจะทะยานบินแล้วก็กระพือปีกบินพรึบๆๆ ไปเรื่อยนั้น อุปมาดั่งว่าวิตก จิตกำลังประคองนิมิตอยู่ ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ถ้าจิตเห็นปฏิภาคนิมิต ประคองเห็นได้นานติดตาอยู่อย่างนั้น เรียกว่า วิจาร เหมือนกับนกบินลอยอยู่ในนภากาศกางปีกก็ร่อนไปได้ วิตก วิจาร นี่เกิดขึ้นแล้วความมืดในใจก็หมดไป ใจก็สว่าง ถีนมิทธะคือความง่วงงุนก็หายไป ความท้อถอยก็หายไป จิตใจมีพลังขึ้นมาเชียว มีพลังสดชื่นขึ้น ใจสว่างก็หายง่วง และอีกประการหนึ่งวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรมในเบื้องต้นมันหมดไป นี่แหละ เมื่อจิตมีวิตก วิจาร เกิดขึ้น วิจิกิจฉาและถีนมิทธะมันหายไปเลย
🌍ทีนี้ ถ้าใจเป็นสมาธิสืบต่อไปอีกนิดเดียว คือหยุดในหยุดกลางของหยุดนิ่ง ปีติความยินดีที่ทรงความใสสว่างอยู่นั้นมันก็เกิด เมื่อปีติเกิดขึ้น ความโกรธพยาบาทหรือหงุดหงิดก็หายไป แต่ถ้าว่าตื่นเต้นมากเกินไป นิมิตก็จะหายไปเลย หรือว่าบางท่านว่า แหมอยากจะให้มันสว่างยิ่งกว่าเก่า บังคับใจกดใจลงไป ก็จะหายไปเลย เพราะฉะนั้นให้ทำใจกลางๆ สบายๆ หยุดในหยุด กลางของหยุด จิตมันจะลงศูนย์ หยุดนิ่ง แล้วจะยิ่งใสสว่างละเอียด พอมันพ้นจากปีติ ก็เข้าสู่สุข ด้วยความใสละเอียดของจิต ตรงนี้อุทธัจจกุกกุจจะคือความฟุ้งซ่านหมดไป ไม่มีแล้ว เพราะอะไร ? เพราะใจจะรวมหยุดนิ่งเสวยสุขอยู่ ในขณะที่เสวยสุขนี้เอง ใจก็ยิ่งหยุดในหยุดนิ่งเป็นเอกัคคตารมณ์ (เป็นหนึ่ง) ความที่ใจเป็นหนึ่งนี่ ความยินดีพอใจยึดติดอยู่ในกามคุณทั้ง 5 คือ ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย เป็นอันไม่มี ระงับไป นี่แหละองค์แห่งฌาน คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ เมื่ออบรมจิตให้เกิดขึ้นแล้ว กิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญาก็ดับไป ใจที่ขุ่นมัว ปัญญาที่ไม่แจ้งชัด เพราะเห็นไม่ชัด ไม่ได้รู้ได้เห็นเข้าไปถึงของจริงนี่แหละก็จะแจ้งขึ้น ถ้ายกจิตขึ้นสู่วิตกวิจารได้ กิเลสนิวรณ์เป็นอันหมด ใจก็ใส ได้รู้เห็นชัดแจ้งขึ้น
🌍ทีนี้ ทำอย่างไรถึงจะอบรมจิต ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ คือ วิตก วิจาร ได้ ? คัมภีร์แสดงไว้ 40 วิธี คือ กสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสสติ 10 ไปจนถึงอาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัตถานะ 1 อรูป 4 และพรหมวิหาร 4 ทั้งหมดนั้นคุณภาพของแต่ละข้อไม่เหมือนกัน แต่มีอยู่วิธีหนึ่งที่ดีมาก เหมาะกับจริตอัธยาศัยของทุกคน ทุกจริตอัธยาศัย วิธีนั้นคือ กสิณ กสิณนี่คือการเพ่ง เพ่งไม่ได้เพ่งแบบจ้องตาถลนนะ อย่าเข้าใจอย่างนั้น เพ่งคือ ตาเรามองดูเห็น แล้วก็จำติดตา แล้วก็ติดใจ คือให้เห็นได้ด้วยใจ เป็นอุคคหนิมิตกับปฏิภาคนิมิต โดยเริ่มที่บริกรรมนิมิต คือนึกให้เห็นด้วยใจเสียก่อน สมมติว่าเราเห็นดวงแก้วหรือหลอดไฟสว่าง เราก็นึกให้เห็นในใจของเรา นึกเห็นอยู่ในใจของเราทีเดียว นึกให้เห็นในใจนี่เรียกว่ากำหนดบริกรรมนิมิต บริกรรมนิมิต ตามตำราแปลว่านิมิตในบริกรรม ทางปฏิบัติ บริกรรมนิมิตก็คือนึกให้เห็นด้วยใจ นี่ในทางปฏิบัติ ถ้านึกเห็นแล้วนี่ แค่นึกเห็นหลัวๆ จินตนาการนะ มันเห็นได้หน่อยหนึ่งเท่านั้น พอนึกเห็น แล้วนี่เมื่อใจรวมหยุดเข้ามาอยู่ในอารมณ์เดียว จะเห็นภาพอันนี้ใสขึ้นมาชัดเจน แม้เพียงวาบหนึ่งหรือชั่วขณะหนึ่ง เขาเรียกว่า อุคคหนิมิต
🌍ระดับของสมาธิ
สมาธิขณะที่เรานึกเห็น ที่เรียกว่าบริกรรมนิมิตนั้น สมาธิระดับนี้เขาเรียก ขณิกสมาธิ ถ้าเริ่มเห็นชัดเจนหรือถึงใสสว่างสักชั่วขณะหนึ่ง เรียกว่าอุคคหนิมิต สมาธิระดับนั้นชื่อว่า อุปจารสมาธิ แต่พอเห็นติดตาใสสว่างอยู่นั้น ตำราเขาเรียกนิมิตเทียบเคียง คือเหมือนของจริง และใสสว่างอยู่อันนั้นชื่อว่าปฏิภาคนิมิต สมาธิระดับนั้นชื่อว่า อัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิแนบแน่น ทีนี้กสิณนี่แหละตามตำรามีของให้เพ่งให้ดู ให้จำหลายอย่าง เพ่งลมก็ได้ อากาศที่มันทำให้ใบไม้ไหวๆ ก็ได้ เพ่งแสงสว่างโดยเจาะรูดูแสงสว่างเล็กๆ แล้วจำได้ก็มี เพ่งดินก็มี สรุปแล้วคือเพ่งกสิณดิน กสิณไฟ กสิณลม กสิณอากาศ (ว่าง) แล้วก็กสิณแสงสว่าง (อาโลกกสิณ) ชื่อว่า อาโลกกสิณ กสิณทั้งหมดยังมีอีกเยอะนะ เพ่งกสิณที่เป็นสีก็ได้ สีเหลือง สีเขียว เป็นต้น เพ่ง ติดตาได้ทั้งนั้น แต่ว่ากสิณทั้ง 10 อย่างนี้ เมื่อเพ่งดูแล้วย่อมผ่าน คือเห็นอุคคหนิมิตถึงปฏิภาคนิมิตเป็นดวงใสเหมือนกันหมด ซึ่งไปตรงกับกสิณแสงสว่างที่ชื่อว่าอาโลกกสิณนั่นเอง เริ่มเห็นตั้งแต่นิมิตขาวใสแล้วก็สว่าง ไปจนถึงปฏิภาคนิมิต ก็จะเห็นใสสว่างแจ่มไปเลย เพราะฉะนั้น อาโลกกสิณจึงชื่อว่ากสิณกลาง คือไม่ว่าท่านจะไปเพ่งกสิณอะไร เมื่อใจหยุดในหยุดกลางของหยุดนิ่ง จะต้องเห็นเป็นดวงใสสว่าง
🌍เมื่อถึงปฏิภาคนิมิตแล้ว วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์เกิด สมาธิจิตระดับนี้ท่านเรียกว่า ปฐมฌาน ถ้าละวิตกวิจารได้ก็เป็นทุติยฌาน ละปีติได้ เหลือแต่สุข ก็เป็นตติยฌาน ละสุขได้ คือใจหยุดในหยุดกลางของหยุด จิตมันหยุดสนิท ละเอียด จนองค์ฌานที่ว่ามาแต่ต้นมันหมดไป เหลือแต่เอกัคคตากับอุเบกขา นั้นเป็นจตุตถฌาน
🌍กสิณกลางคืออาโลกกสิณนั้นดีอย่างไร ? ใครมักมีจิตใจฟุ้งซ่าน ถ้าเอากสิณเพ่งอยู่ในใจ นึกให้เห็นอยู่ในใจ ผูกใจไม่ให้วอกแวกไปได้โดยง่าย เหมือนที่ท่านเจ้าคุณราชปริยัติกวีบอกว่า เหมือนกับเราเอาเชือกผูกล่ามลูกโคติดกับหลัก ลูกโคมันวิ่งวนไปวนมาๆ ประเดี๋ยวมันเหนื่อย ก็นอนแหมะลงตรงนั้น จิตเราเหมือนลิง เพราะฉะนั้นกสิณนี่แหละผูกใจให้อยู่ในที่ที่เราต้องการให้ใจหยุดอยู่
🌍เรื่องการเพ่งกสิณนี่เขาปฏิบัติกันมานานแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาล แต่ว่าปฏิบัติแล้วทำไมถึงไม่เกิดประโยชน์สูงสุดคือมรรค ผล นิพพาน ? เกิดประโยชน์แค่ว่าไปอุบัติในพรหมโลกเท่านั้น คือเป็นแต่สมถะเฉยๆ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? เพราะใจที่จะให้เป็นสมาธิไม่ถูกที่ตั้งกำเนิดธาตุธรรมเดิม อันเป็นที่ตั้งของกาย เวทนา จิต ธรรม ให้สามารถเข้าไปรู้เห็นกายในกาย เวทนา ในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม สุดละเอียดไปถึงธรรมกาย ถึงนิพพาน ปฏิบัติทางจิตไม่ถูกมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางของจิตใจ เพราะฉะนั้นถ้าใครคลำทางตรงนี้ถูก คือถ้ากำหนดใจให้เป็นสมาธิตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม ก็ถูกทางสายกลาง ถูกสติปัฏฐาน 4 โดยตรง ถึงนิพพาน
🌍ทีนี้ ที่จะให้ได้ผลดีที่สุดก็กสิณนี่แหละ ผูกใจผู้ปฏิบัติได้ดีที่สุด จึงเหมาะกับจริตอัธยาศัยทุกอัธยาศัย ถ้าใครปฏิบัติภาวนาสมาธิด้วยวิธีเพ่งกสิณแล้ว มีอานุภาพให้ถึงจตุตถฌานได้โดยสะดวก นี้มีอานุภาพอย่างนี้ วิธีปฏิบัติสมาธิภาวนามีทั้ง 40 วิธี มีอานุภาพให้เข้าถึงฌานต่างๆ ได้ไม่เท่ากัน ที่มีอานุภาพสูงได้ผลสูงก็กสิณนี้แหละ กสิณทั้งหมดนี่ก็มารวมที่กสิณกลาง คือ อาโลกกสิณ นั้นเอง เมื่อเป็นดวงใสสว่างตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมแล้ว ตรงนี้เป็นเคล็ดลับของวิชชาธรรมกายที่สำคัญประการหนึ่ง ก็คือว่าอาโลกกสิณ เมื่อตั้งจิตถูกที่ คือรวมใจให้หยุดตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมแล้ว จะเห็นที่หมายเป็นจุดเล็กใสประมาณเท่าเมล็ดโพธิ์เมล็ดไทร ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมนี่แหละเป็นที่ตั้งของธาตุละเอียดของขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาทธรรม 12 ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ กันเข้าไปข้างในจนสุดละเอียด
🌍ทีนี้ เมื่อเป็นที่ตั้งที่รวมของขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 ท่านคงทราบว่ามีธาตุรับ ธาตุกระทบ และธาตุรับรู้ คือวิญญาณต่างๆ ให้รับรู้ทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งธาตุรับรู้อยู่ตรงกลาง พอใจหยุดมันมารวมอยู่ตรงกลาง ก็มีอานุภาพสำคัญเกิดขึ้น ให้ผลดียิ่งอีกประการหนึ่ง นั่นคือทิพพจักขุ ทิพพโสตเกิดขึ้น และเจริญดีแท้ ตั้งแต่เริ่มต้น เฉพาะตัวอาโลกกสิณเองนั้นทำให้ทิพพจักขุ ทิพพโสตเจริญขึ้นอย่างเร็ว เมื่อทิพพจักขุ ทิพพโสตตั้งอยู่ตรงกำเนิดธาตุธรรมเดิมอันเป็นที่ตั้งของกาย เวทนา จิต ธรรม ณ ภายใน เข้าไปจนสุดละเอียด ถึงธรรมกาย และสุดละเอียดถึงนิพพาน ตรงกลางของกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมนั้นเองจึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง ที่ให้ผลในการได้รู้ได้เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม ถึงพระนิพพาน ได้อย่างถูกต้องแน่นอน ดีกว่าการเจริญภาวนาสมาธิโดยวิธีอื่นและการตั้งใจไว้ ณ ที่อื่น และก็ตรงกลางของกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมของกายในกาย สุดกายหยาบกายละเอียดนี้เอง จึงเป็น “เอกายนมรรค” ทางสายเอก เป็นทางไปของพระอริยเจ้า พระอรหันตเจ้าทั้งหลาย นี่มันรับกันไปหมดอย่างนี้
🌍เพราะฉะนั้นหลวงพ่อวัดปากน้ำท่านได้พบว่าดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมันอยู่ตรงนี้ อาโลกกสิณเป็นกสิณกลาง ยังให้ทิพพจักขุและทิพพโสตเกิดและเจริญขึ้น ท่านก็เลยให้นึกให้เห็นดวงแก้วซึ่งเป็นบริกรรมนิมิต เทียบเคียงกับดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย 1 และเป็นบริกรรมนิมิตด้วยอาโลกกสิณอีก 1 เพราะอาโลกกสิณนี้เมื่อเพ่ง เมื่อดูแสงสว่างจำได้ติดตาแล้ว เป็นอุคคหนิมิตแล้วนั้นแหละ จะเห็นเป็นดวงใส เพราะฉะนั้นท่านให้นึกให้เห็นดวงใสเลย เอาขั้นกลางหรือระดับกลางของอาโลกกสิณมาใช้เป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติภาวนาวิชชาธรรมกายเลย เห็นไหม ความลึกซึ้งแม้เพียงธรรมปฏิบัติเบื้องต้นอย่างเดียวของหลวงพ่อลึกซึ้งถึงเพียงนี้ เพราะฉะนั้น คนไม่รู้ก็ว่าทำไมถึงไปนั่งเพ่งดูดวงแก้ว เขาไม่รู้ว่าดวงแก้วนี้เป็นส่วนที่เจริญมาจากอาโลกกสิณ ในระดับอุคคหนิมิตที่จะเจริญขึ้นไปเป็นปฏิภาคนิมิต และนี้เป็นกสิณกลางที่จะให้เกิดและเจริญ ทิพพจักขุทิพพโสต อันจะนำไปสู่สมันตจักขุและพุทธจักขุ เมื่อปฏิบัติถึงธรรมกายและถึงนิพพาน เห็นไหมล่ะมันลึกซึ่งอย่างนั้น เพราะฉะนั้นนี่แหละ เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมจึงต้องใช้ดวงแก้วในการเจริญภาวนา
ตอบปัญหาธรรม โดย พระเทพญาณมงคล
(หลวงป๋า เสริมชัย ชยมงฺคโล)
วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม

แชร์เลย

Comments

comments

Share: