ความได้ปัญญา นำมาซึ่งความสุข

เจริญพร ญาติโยมสาธุชนผู้ฟังทุกท่าน

วันนี้อาตมภาพก็ได้มาพบกับท่านผู้ฟังอีกเช่นเคย ในรายการปาฐกถาธรรมทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย  ทุกวันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือน สำหรับเช้าวันนี้   อาตมภาพจะได้กล่าวถึงเรื่อง “ความได้ปัญญานำมาซึ่งความสุข” ตามพระบาลีพุทธภาษิตมีมาในขุททกนิกาย พระคาถาธรรมบท ข้อ 33 ในพระสุตตันตปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ 25 ว่า

“สุโข ปญฺญาย ปฏิลาโภ”
“ความได้ปัญญา นำมาซึ่งความสุข”

ขึ้นชื่อว่า “ความสุข” ใครๆ ก็ปรารถนาจะมี ปรารถนาจะได้ และปรารถนาจะดำรงอยู่ในความสุขตลอดไปด้วยกันทั้งนั้น   ไม่มีผู้ใดปรารถนาความทุกข์เดือดร้อนเลย   ลักษณะของ “ความสุข” ที่ใครๆ พากันปรารถนานั้น   ที่มีลักษณะคล้ายๆ กันก็มี    แต่ที่มีลักษณะแตกต่างกันก็มี

ความสุขที่ว่ามีลักษณะคล้ายๆ กัน ได้แก่ “ความสุขกาย” จากการได้กินอิ่ม ได้พักผ่อนนอนหลับหรือกล่าวรวมๆว่ามีความอยู่ดีกินดีและมีสุขภาพอนามัยดีนี้ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง คือ “ความสุขใจ หรือ ความสบายใจ” จากการที่ได้สมหวัง หรือ การได้ตามปรารถนา  ความไร้ปัญหา ข้อขัดข้อง ปราศจากความวิตกกังวล หรืออุปสรรคใดๆ ความมีเกียรติยศชื่อเสียง และมีฐานะมั่นคง ความปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง เหล่านี้เป็นต้น เป็นความสุขที่โลกิยชนโดยทั่วไป ต่างปรารถนาคล้ายๆ กัน

ส่วนความสุขที่มีลักษณะแตกต่างกันของโลกิยชน ก็ได้แก่ นักเลงสุรา ยาเสพติด ก็จะมีความสุขที่ได้เสพยาเสพติด ผู้มักมากในกามก็จะมีความสุขเมื่อได้เสพกาม ผู้ติดการพนันมีความสุขเมื่อเล่นได้ชัยชนะ ผู้มีฐานะยากจนข้นแค้น ก็จะมีความสุขที่ได้มีฐานะดีขึ้น มีความอยู่ดีกินดีขึ้น เป็นต้น

เมื่อพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว “ความสุข” ดังที่กล่าวมานั้น จัดเป็นความสุขที่มีวัตถุเครื่องล่อใจ ชื่อว่า “สามิสสุข” ซึ่งมีลักษณะที่เป็นโทษโดยส่วนเดียว เปรียบด้วยยาพิษ ก็มี เช่น สิ่งเสพติดมึนเมา ที่ให้โทษร้ายแรง ได้แก่ เฮโรอีน ฝิ่น โคเคน เป็นต้น ที่เป็นโทษ เมื่อเกินพอดี เปรียบด้วยของมึนเมา ก็มี เช่น สุรา เมรัย หรือ เบียร์ ไวน์ เป็นต้น และการติดการละเล่น ติดเที่ยวกลางคืน การหมกมุ่นในกาม การติดการพนัน เป็นต้น ที่เป็นอุปการะ เปรียบด้วยอาหาร และยาบำบัดโรค แต่ถ้าถูกใช้ในทางที่ผิด ก็อาจให้โทษได้ ก็มี เช่น อำนาจราชศักดิ์ อำนาจเงิน อำนาจพวกพ้อง ก็ช่วยให้เกิดความสุขความเจริญในทางโลกได้ แต่ถ้าใช้อำนาจเหล่านั้นผิดศีล ผิดธรรม ผิดกฎหมายของบ้านเมือง ก็มีโทษได้ เป็นต้น

“พาลชน” คือ คนโง่เขลาเบาปัญญา ไม่พิจารณาให้เห็นคุณและโทษที่แท้จริงของสามิสสุข คือ ความสุขที่มีวัตถุเครื่องล่อใจเหล่านี้ บางคนจึงหลงเพลิดเพลินในสิ่งที่ให้โทษ ดังเช่น ผู้ที่หลงเสพสิ่งเสพติดมึนเมา ให้โทษ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ทำให้เสียทรัพย์ เสียสุขภาพกาย เสียสุขภาพจิต สติปัญญาเสื่อมถอย ดังที่เห็นๆ กันอย่างมากมายอยู่ในทุกวันนี้ บางคนหลงระเริงจนเกินพอดีในสิ่งที่อาจให้โทษ ดังเช่น ผู้ใหญ่หลงระเริงในกาม สำส่อนในกาม ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียง ทำมาหากินไม่ขึ้น เกิดความทะเลาะเบาะแว้ง ครอบครัวแตกแยก หรือประทุษร้ายกันถึงชีวิต  เด็กๆ หลงระเริงในกาม สำส่อนในกาม การศึกษาเล่าเรียนก็ล้มเหลว หรือการเรียนไม่สำเร็จ เป็นคนด้อยปัญญาวิชาความรู้ ทำให้ไม่สามารถสร้างฐานะของตนให้ดีเท่าที่ควรได้ บางคนหลงติดอยู่ในสิ่งอันเป็นอุปการะ เช่น หลงอำนาจราชศักดิ์ หลงอำนาจเงิน-อำนาจพวกพ้อง จึงใช้อำนาจในทางที่ผิด อันให้ผลเป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อนทั้งแก่ตนเอง และแก่ผู้อื่นได้ในภายหลัง เหล่านี้เป็นต้น

บุคคลผู้ไม่พิจารณาเห็นคุณและโทษ ของสามิสสุขตามที่เป็นจริงเหล่านี้ จึงได้เสวยความสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เพราะเหตุว่า ความสุขด้วยวัตถุเครื่องล่อใจ อย่างนี้เป็นสิ่งไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ที่ก่อให้เกิดสามิสสุขเช่นนั้น จึงมีขึ้นมีลง มีแล้วกลับไม่มีได้อีก กว่าจะมีได้ก็ต้องตะเกียกตะกายหามาด้วยความยากลำบาก เพราะความทะยานอยากมี อยากได้ เมื่อไม่ได้สมหวังก็เป็นทุกข์ เมื่อได้มาแม้จะรู้สึกเป็นสุขที่สมหวัง หรือได้ตามปรารถนา ก็ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้นาน ต้องพลัดพรากหรือพ้นไปจากสิ่งที่รักที่หวงแหนนั้นอีกจนได้ หรือต้องเป็นทุกข์กับสิ่งที่รักที่หวงแหนนั้น เสียหายหรือแตกทำลายไป ยิ่งยึดมั่นถือมั่นด้วยตัณหาและทิฏฐิ คือความหลงผิดคิดว่าเป็นตัวตน บุคคล เรา-เขา ของเรา-ของเขามาก ก็ยิ่งทุกข์มาก และลงท้ายสามิสสุข เช่นนั้น ก็หลุดลอยไป ผ่านพ้น หมดสิ้นไปจนได้ ไม่มีอะไรที่เป็นแก่นสาร เป็นความสุข เป็นที่พึ่งอันเที่ยงแท้ถาวร ของใครผู้ใดเลย

ส่วน “บัณฑิต” ผู้มีปัญญาอันเห็นชอบ พิจารณาเห็นคุณและโทษของสามิสสุขโดยถ่องแท้ ตามธรรมชาติที่เป็นจริง เช่นนั้น ย่อมรู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความสุขความเจริญ คือ สามารถถือเอาประโยชน์สุขในปัจจุบันประโยชน์สุขในกาลข้างหน้าและทั้งสามารถถือเอาประโยชน์สุขอย่างยิ่งด้วย ย่อมรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความเสื่อม เป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อน อันควรละเว้นด้วย และย่อมรู้โทษของการติดอยู่ในสามิสสุขคือความสุขด้วยเครื่องล่อใจเหล่านั้นด้วย จึงเป็นผู้ถึงความสันติสุข คือความสุขด้วยความสงบอันถาวร เพราะความเป็นอิสระ ไม่หลงติดด้วยตัณหาและทิฏฐิ จึงไม่ตื่นเต้น หรือรู้สึกสูงๆ ต่ำๆ ต่อโลกธรรม ได้แก่ ลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ สุข และแม้ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และทุกข์  ท่านผู้เช่นนั้นจึงเป็นผู้มีก็สักแต่ว่ามี เป็นก็สักแต่ว่าเป็น แต่ตัณหาและทิฏฐิคือความหลงผิดไม่ติดอยู่

ความไม่หลงติดในโลกธรรม 8 ประการ มีลาภ ความเสื่อมลาภ เป็นต้น ด้วยตัณหาและทิฏฐิ เพียงไร สันติสุขอันถาวรย่อมมีแก่ท่าน ผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีปัญญา รู้ทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามเป็นจริงเช่นนั้น เพียงนั้น

บัณฑิต ผู้มีปัญญาอันเห็นชอบ ย่อมสามารถถือเอาประโยชน์สุขในปัจจุบันได้ เพราะ

(1)  ท่านย่อมพิจารณาโดยถ่องแท้แล้วเห็นโทษของความเกียจคร้านความสำรวย หยิบโหย่ง ในกิจการงาน ว่าไม่สามารถนำไปสู่ความสำเร็จหรือความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตได้ และเห็นคุณของความขยันหมั่นเพียร ด้วยความตั้งใจจริง ด้วยความอดทนต่อความยากลำบากในการประกอบกิจการงานว่า เป็นทางไปสู่ความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองได้ จึงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร(อุฏฐานสัมปทา) ด้วยความตั้งใจจริง ความเข้มแข็ง อดทน ไม่ย่อท้อ ในการประกอบกิจการงาน สมดังบาลีพระพุทธภาษิต (ขุ.สุ.25/361) ว่า

“ปฏิรูปการี ธุรวา อุฏฺฐาตา วินฺทเต ธนํ.”
“คนมีหน้าที่กิจการงาน ขยันหมั่นเพียรทำกิจการงานให้เหมาะสม ย่อมหาทรัพย์ได้”

(2) ท่านย่อมพิจารณาเห็นโทษของการไม่รู้จักรักษาทรัพย์ที่ทำมาหาได้ให้ใช้ได้นานๆ ความไม่รู้จักมัธยัสถ์เก็บออมให้ทุนทรัพย์เพิ่มขึ้น ว่าเป็นทางให้ไม่อาจตั้งตัวได้ ย่อมพิจารณาเห็นคุณของการรู้จักทนุถนอมรักษาทรัพย์ให้ใช้ได้นาน ไม่ใช่ทิ้งๆ ขว้างๆ และเห็นคุณของการรักษาทรัพย์ มัธยัสถ์เก็บออมทรัพย์ที่ทำมาหาได้โดยสุจริตให้เพิ่มพูนขึ้นโดยธรรม ว่าเป็นทางให้ตั้งตัวได้ จึงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์ (อารักขสัมปทา) รู้จักมัธยัสถ์เก็บออมให้มีทุนทรัพย์เพิ่มพูนขึ้น ย่อมตั้งตัวได้ สมดังบาลีพระพุทธภาษิตว่า

 “อปฺปเกนปิ เมธาวีปาภเฏน วิจกฺขโณ
 สมุฏฺฐาเปติ อตฺตานํอณุํ  อคฺคึว สนฺธมํ.”
ผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด ย่อมตั้งตัวได้ด้วยต้นทุนแม้น้อย    เหมือนคนก่อไฟกองน้อย (ให้เป็นกองใหญ่ขึ้นได้).   (ขุ.ชา.เอก. 27/2)

(3) ท่านย่อมพิจารณาเห็นโทษของการคบคนพาลปัญญาโฉดเขลา ไม่รู้บาปบุญ คุณโทษ หรือคนชั่ว คนขาดศีลขาดธรรมเป็นมิตร ว่ารังแต่จะนำตนไปสู่ความเสื่อม เป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อน ดังพระธรรมภาษิต (ขุ.ชา.นวก. 27/265) ว่า

“ทุกฺโข พาเลหิ สงฺคโม”
“สมาคมกับคนพาล นำมาซึ่งความทุกข์”

และพิจารณาเห็นคุณของการคบบัณฑิต ผู้มีปัญญารู้ทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง เป็นมิตร ว่า ย่อมนำตนไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข จึงรู้จักเลือกคบแต่สัตบุรุษ คือ คนดี หรือบัณฑิตผู้มีปัญญาอันเห็นชอบเป็นมิตร (กัลยาณมิตตตา) ย่อมนำชีวิตไปสู่แนวทางที่เจริญรุ่งเรือง และสันติสุขโดยส่วนเดียว สมดังพระพุทธภาษิต (ขุ.ชา.ทุก. 27/55) ว่า

“สุโข  หเว  สปฺปุริเสน  สงฺคโม”
“สมาคมกับสัตบุรุษ นำมาซึ่งความสุขแท้”

ดังมีข่าวเป็นตัวอย่าง ให้เห็นๆ กันบ่อยๆ ในทุกวันนี้ว่า องค์กรใด ไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจเอกชน หรือองค์กรของรัฐก็ตาม องค์กรของนักการเมือง คือ พรรคการเมืองต่างๆ ก็ตาม หรือของพนักงานรัฐวิสาหกิจก็ตาม  ถ้าผู้บริหารองค์กรใดไม่คัดเลือกเอาคนดี มีศีล มีธรรม มีสติปัญญาอันเห็นชอบมาร่วมกิจกรรมกัน มีแต่คนพาลปัญญาโฉดเขลา ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ หรือรู้แต่ไม่รับรู้ คือ ไม่นำพาต่อบาป-บุญ คุณ-โทษ ไม่สนใจการกระทำของตนว่าจะเป็นความดีหรือความชั่ว เป็นทางเจริญหรือทางเสื่อม มาอยู่ร่วมกิจกรรมกันแล้ว  องค์กรนั้นจะหาความเจริญและสันติสุขมิได้   ถ้าองค์กรใดมีคนชั่วหรือคนพาลปัญญาโฉดเช่นนั้น อยู่ร่วมกิจกรรมมากเพียงใด องค์กรนั้นก็จะถึงความเสื่อมและถึงความวิบัติล่มจมรวดเร็วเพียงนั้น ส่วนองค์กรใดที่มีแต่สัตบุรุษ คือ คนดี มีศีลมีธรรม เป็นบัณฑิตผู้มีปัญญาอันเห็นชอบ อยู่ร่วมกิจกรรมมากเพียงใด องค์กรนั้นก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง สันติสุข และมีความมั่นคงเพียงนั้น

(4) ท่านย่อมพิจารณาเห็นโทษของการใช้ทรัพย์สินเงินทองที่ทำมาหาได้อย่างสุรุ่ยสุร่าย ฟุ่มเฟือย ไม่มีระเบียบวินัยในการใช้สอยทรัพย์ ว่าเป็นทางให้ทรัพย์สินเงินทองรั่วไหลมาก ย่อมตั้งตัวตั้งฐานะไม่ได้ และพิจารณาเห็นคุณของการรู้จักใช้สอยทรัพย์อย่างประหยัด อย่างมีระเบียบ ไม่ใช้จ่ายเกินตัว จะยังฐานะทางเศรษฐกิจของตนให้เจริญและมั่นคงขึ้นได้ จึงรู้จักพิจารณาใช้สอยทรัพย์ที่ทำมาหาได้โดยสุจริต อย่างประหยัด และอย่างมีระเบียบตามสมควรแก่ฐานะ (สมชีวิตา) สมดังภาษิตโบราณที่กล่าวว่า

“มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาทอย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์
มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจงอย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน”

บัณฑิตผู้มีปัญญาย่อมถึงเอาประโยชน์สุขในปัจจุบันได้ด้วยการปฏิบัติธรรม 4 ประการ ที่กล่าวมาแล้วนี้ คือ ความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร มีความขยันขันแข็ง ปฏิบัติงานในหน้าที่รับผิดชอบหรือในอาชีพด้วยความจริงจัง เข้มแข็ง และอดทน 1  ความถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์ ที่ทำมาหาได้ และอดออมทรัพย์นั้นให้มีทุนทรัพย์เพิ่มพูนมากขึ้น 1  การเลือกคบแต่คนดี มีสติปัญญาอันเห็นชอบ เป็นมิตร 1 และรู้จักใช้สอยทรัพย์ที่ทำมาหาได้โดยสุจริต อย่างประหยัดและอย่างมีระเบียบ ตามสมควรแก่ฐานะ 1 ย่อมถึงความเจริญและสันติสุขในกาลทุกเมื่อ

ความได้ปัญญาอันเห็นชอบ ในทางเจริญ ทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง จึงนำมาซึ่งความสุขในปัจจุบัน ด้วยประการฉะนี้

อีกอย่าง  ชาวนาชาวสวน ที่มีปัญญาเพาะปลูกข้าวพืชพันธุ์ธัญญาหาร ไว้บริโภคใช้สอยทั้งในปัจจุบันและทั้งในอนาคต ต่อๆ ไปไม่ขาดแคลน ฉันใด บัณฑิตย่อมสามารถถือเอาประโยชน์สุขในกาลข้างหน้า ได้อีกด้วย ฉันนั้น เพราะ

(1)  ท่านได้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เห็นโทษของการขาดศรัทธาในบุคคลและข้อปฏิบัติที่ควรศรัทธา ว่าเป็นการปกปิดตนให้อยู่แต่ในความมืด ให้ไม่พบทางสว่างทางเจริญแห่งชีวิต และพิจารณาเห็นคุณของความมีศรัทธาบุคคลและข้อปฏิบัติที่ควรศรัทธา อันมีคุณพระพุทธ คุณพระธรรม และคุณพระสงฆ์ เป็นต้นว่า เป็นประทีปส่องทางดำเนินชีวิตไปสู่ความเจริญและสันติสุขได้เป็นอย่างดี ไม่เป็นไปในทางเสื่อมให้เกิดโทษ เป็นทุกข์ เดือดร้อน จึงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา (สัทธาสัมปทา) ในบุคคลและข้อปฏิบัติที่ควรศรัทธา สมดังพระพุทธภาษิต (ขุ.ธ.25/59) ว่า

“สุขา สทฺธา ปติฏฺฐิตา”
ศรัทธาตั้งมั่นแล้ว นำมาซึ่งความสุข

(2) ท่านย่อมพิจารณาเห็นโทษของความประพฤติผิดศีล คือ เจตนากรรมทางกายและทางวาจาอันเป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เป็นเหตุให้เกิดเวรภัย เป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อน ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น และเห็นคุณของการมีศีล ว่า บุคคลจะเจริญด้วยโภคทรัพย์ จะถึงซึ่งสุคติโลกสวรรค์ และจะถึงมรรคผลนิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวงและที่เป็นบรมสุข ก็ด้วยความมีศีล เพราะเหตุนั้น บุคคลจึงพึงสำรวมระวังรักษาศีลให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ (สีลสัมปทา)กล่าวคือพึงปลูกความเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย และงดเว้นเจตนากรรมทางกาย ทางวาจา ที่เป็นการเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ดำรงตนอยู่ในศีลในธรรม ย่อมจะนำตนไปสู่ความเจริญและสันติสุขแต่ถ่ายเดียวได้ สมดังพระธรรมภาษิต (ขุ.เถร. 26/357) ว่า

 “สีลํ รกฺเขยฺย เมธาวีปตฺถยาโน ตโย สุเข
 ปสํสํ วิตฺติลาภญฺจเปจฺจ สคฺเค ปโมทนํ.”
ผู้มีปัญญา เมื่อปรารถนาสุข 3 อย่าง คือ ความสรรเสริญ     ความได้ทรัพย์ และความละไปแล้ว บันเทิงในสวรรค์ ก็พึงรักษาศีล.

(3) ท่านย่อมพิจารณาเห็นโทษของความเป็นผู้มีจิตใจตระหนี่ คับแคบ เห็นแต่ตัวว่า เป็นมลทิน เป็นบ่อเกิดแห่งความไร้ญาติขาดมิตร เป็นทางไม่เจริญ และพิจารณาเห็นคุณของความเป็นผู้มีจิตใจเอื้ออารี เผื่อแผ่ มีน้ำใจ และเสียสละ ว่าเป็น “บุญ” คือ คุณเครื่องชำระมลทิน เป็นบ่อเกิดแห่งความมีญาติมิตรสหาย และเป็นเหตุแห่งความเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ และเกียรติยศ จึงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ (จาคสัมปทา) คือ ความเสียสละ และ/หรือการบริจาค สมดังพระพุทธภาษิต (ขุ.อิติ. 25/299) ว่า

 “อคฺคสฺมึ ทานํ ททตํอคฺคํ ปุญฺญํ ปวฑฺฒติ
 อคฺคํ อายุ จ วณฺโณ จยโส กิตฺติ สุขํ พลํ.”
เมื่อให้ทานในวัตถุอันเลิศ บุญอันเลิศ อายุ วรรณะ ยศ เกียรติ  ความสุข และกำลัง อันเลิศ ย่อมเจริญ

(4) ท่านย่อมพิจารณาเห็นโทษของความเป็นพาล คือ ความโง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ ไม่รู้ทางเจริญ-ทางเสื่อม ตามที่เป็นจริง จึงคิดผิด มีความเห็นผิดทำนองคลองธรรม จึงพูดผิด ทำผิด แนะนำคำอื่นผิดๆ และ/หรือ หลงตามคนอื่นผิดๆ ว่า เป็นมลทิน เป็นเหตุให้การดำเนินชีวิตตนเองและนำผู้อื่นไปสู่ความเสื่อมเสีย เป็นโทษ และความทุกข์เดือดร้อน และเห็นคุณของปัญญาอันเห็นชอบในความจริงอย่างประเสริฐ ในเรื่องของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ สภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ คือ มรรค ผล นิพพาน ทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ และถึงซึ่งบรมสุขอันถาวร ว่าเป็นคุณเครื่องชำระมลทิน คือ โมหะ ความหลง ให้เห็นแจ้ง รู้แจ้งในบาป-บุญ คุณ-โทษ ได้เห็นทางเจริญ-ทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง จึงหมั่นเจริญปัญญาอันเห็นชอบด้วยตน (ปัญญาสัมปทา) และดำเนินชีวิตไปด้วยสติปัญญาอันเห็นชอบ และความดำริชอบ ไม่ประพฤติปฏิบัติอันเป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อน เพียรละความชั่ว หรือบาปอกุศลทั้งปวง ประกอบแต่กรรมดี พอกพูนแต่กรรมดี หมั่นอบรมจิตใจและชำระปัญญาให้บริสุทธิ์ผ่องใส  จึงยังผลให้การดำเนินชีวิตได้บรรลุถึงประโยชน์สุขต่อๆ ไปในกาลข้างหน้า และให้ถึงประโยชน์สุขอย่างยิ่ง คือ มรรค ผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวงและที่เป็นบรมสุข อันถาวรได้ในที่สุด สมดังพระพุทธภาษิตที่แสดงไว้ในเบื้องต้นว่า

“สุโข  ปญฺญา  ปฏิลาโภ”
“ความได้ปัญญา นำมาซึ่งความสุข”

ด้วยประการฉะนี้

กล่าวโดยสรุป บัณฑิตพิจารณาถ่องแท้แล้วเห็นสภาพของโลกตามที่เป็นจริง คือ เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโลกที่ต่างปรารถนาความสุขอันอาศัยเครื่องล่อใจที่น่ายินดีพอใจ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสทางกาย ที่น่ายินดีพอใจ และ/หรือ ลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ และสุข เป็นต้น เหล่านี้ว่า ที่เป็นโทษโดยส่วนเดียว เปรียบด้วยยาพิษก็มี ที่เป็นโทษเมื่อได้มีหรือได้เสพเกินพอดี เปรียบด้วยของมึนเมาก็มี ที่เป็นอุปการะ เปรียบด้วยอาหารและยาบำบัดโรค แต่ถ้าใช้ในทางที่ผิดกลับเป็นโทษก็มี บัณฑิตผู้มีปัญญานั้น ย่อมพิจารณาเห็นสภาวะของโลกอย่างนี้ด้วย  ย่อมพิจารณาเห็นสภาวะของโลกโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และโดยความเป็นสภาวะที่มิใช่ตัวตน บุคคล เรา-เขา ของเรา-ของเขา ที่ถาวรแท้จริงด้วย  ย่อมพิจารณาเห็นบาป-บุญ คุณ-โทษ เห็นทางเจริญนำไปสู่ความสันติสุข-เห็นทางเสื่อมนำไปสู่ความเป็นโทษทุกข์ ตามที่เป็นจริงด้วย  จึงมีใจเป็นอิสระด้วยปัญญาอันเห็นชอบ ไม่หลงติดอยู่ในสามิสสุข คือ ความสุขอันอาศัยเครื่องล่อใจ ด้วยตัณหาและทิฏฐิคือความหลงผิดเหล่านั้น  และดำเนินชีวิตไปโดยธรรมด้วยปัญญาเครื่องส่องทางดำเนินชีวิตว่า

ข้อปฏิบัติ 4 ประการเหล่านี้ คือ ความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร (อุฏฐานสัมปทา) 1  ความถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์ (อารักขสัมปทา) 1  บริโภคทรัพย์แต่พอเหมาะพอดีแก่ทรัพย์ที่ทำมาหาได้โดยสุจริต (สมชีวิตา) 1  ข้อปฏิบัติ 4 ประการเหล่านี้ ช่วยให้สามารถถือเอาประโยชน์สุขในปัจจุบันได้

ข้อปฏิบัติ 4 ประการเหล่านี้ คือ ความถึงพร้อมด้วยศรัทธาในบุคคลและข้อปฏิบัติที่ควรศรัทธา (สัทธาสัมปทา) 1  ความถึงพร้อมด้วยการรักษาศีล (สีลสัมปทา) 1  ความถึงพร้อมด้วยความเสียสละ และ/หรือ การบริจาค (จาคสัมปทา) 1 และความถึงพร้อมด้วยปัญญาอันเห็นชอบ (ปัญญาสัมปทา) คือ เห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม 1   ข้อปฏิบัติ 4 ประการนี้ ช่วยให้สามารถถือเอาประโยชน์สุขในกาลข้างหน้าต่อๆ ไป จนถึงสามารถถือเอาประโยชน์สุขอย่างยิ่ง คือ มรรคผลนิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวงและที่เป็นบรมสุขอย่างถาวรได้

ปัญญาอันเห็นชอบอย่างนี้ บัณฑิตผู้มีปัญญาท่านได้มาโดยวิธีใด ?  คือ ท่านปฏิบัติเช่นไรจึงจะได้ปัญญาอันมาซึ่งความสุขแต่ส่วนเดียวอย่างนี้ ?

เฉลยว่า ขึ้นชื่อว่า “ปัญญา” ย่อมเกิดขึ้นได้จากการศึกษาหาความรู้ 3 ระดับ คือ

ระดับเบื้องต้น “สุตมยปัญญา” เป็นปัญญาที่เกิดจากการได้สดับตรับฟัง และ/หรือ จากการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ได้จากตำรับตำรา เอกสารหลักฐาน คัมภีร์ ที่เชื่อถือได้ นี้ระดับชั้นต้น

ปัญญาที่ได้รับการกลั่นกรอง ระดับชั้นกลาง “จินตมยปัญญา” เป็นปัญญาที่เกิดจากการพินิจพิจารณาความรู้ที่ได้จากการสดับตรับฟัง หรือจากการศึกษาหาความรู้ในตำรับตำรา เอกสารหลักฐาน หรือคัมภีร์ ที่เชื่อถือได้แล้วนั่นแหละ มาพิจารณาเหตุผลให้เห็นชัดลงไปอีกว่าเป็นจริงแท้อย่างไร ตามระดับภูมิธรรม ภูมิปัญญาและบารมีของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน คือ ไม่เท่ากัน แม้ปัญญาในขั้นนี้ก็ยังอาจจะผิดพลาดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญญาจากการพิจารณาในขณะที่จิตใจยังไม่ปลอดโปร่งแจ่มใสจากกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา

บัณฑิตอันมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าพระอรหันตเจ้าทั้งหลาย เป็นต้น จึงยกย่องปัญญาที่เกิดจากการเจริญสมถวิปัสสนาว่า เป็นปัญญาที่ได้รับการกลั่นกรองในระดับชั้นสูง ชื่อว่า “ภาวนามยปัญญา” เป็นปัญญาอันเกิดแต่การเห็นแจ้ง รู้แจ้ง สภาวะของธรรมชาติและสัจจธรรมตามที่เป็นจริง เป็นทางให้ถึงมรรคผลนิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวงและที่เป็นบรมสุขได้

ภาวนามยปัญญานี้ เกิดแต่ “สมถภาวนา” คือ อุบายวิธีอบรมจิตใจให้สงบ ให้หยุด ให้นิ่ง เป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคง ถึงขั้นฌานจิต ตั้งแต่ระดับปฐมฌานขึ้นไปถึงจตุตถฌาน จิตใจจึงจะบริสุทธิ์ผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์ ควรแก่งาน “วิปัสสนาภาวนา” พิจารณาสภาวะธรรมชาติทั้งที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง และที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง ให้เกิดปัญญาจากการที่ได้เห็นแจ้ง รู้แจ้ง สภาวะของธรรมชาติเหล่านี้ตามที่เป็นจริงชื่อว่า“วิปัสสนาปัญญา”และให้เจริญขึ้นถึงรู้แจ้งเห็นแจ้งสัจจธรรม คือความจริงอย่างประเสริฐในเรื่องของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ สภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ และหนทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์อันถาวร ตามที่เห็นจริง ชื่อว่า “โลกุตตรปัญญา” จึงจะเป็นทางให้ถึงมรรคผลนิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง และที่เป็นบรมสุขอย่างถาวรได้

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ตรัสสอนไว้มีปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ข้อ 35 ว่า

 “นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺสปญฺญา นตฺถิ อฌายโต*
 ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญา จส เว นิพฺพานสนฺติเก.”
ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา  ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน  ฌานและปัญญามีอยู่ในผู้ใด  ผู้นั้นแล  อยู่ในที่ใกล้พระนิพพาน.

ก่อนจบรายการปาฐกถาธรรมนี้ อาตมภาพขอเจริญพรเพื่อทราบทุกท่านว่า วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ใน สถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี กำหนดเปิดการอบรมพระกัมมัฏฐาน รุ่นที่ 35 ระหว่างวันที่ 1-14 พฤษภาคม นี้ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาทุกปี จึงขอนิมนต์พระภิกษุ สามเณร และขอเชิญสาธุชนผู้สนใจศึกษาสัมมาปฏิบัติทุกท่าน ไปเข้ารับการอบรมได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการอบรมแต่อย่างใด เฉพาะคฤหัสถ์ชาย-หญิงที่ไปเข้ารับการอบรมขอให้ใช้เครื่องแต่งกายชุดขาว ถือศีล 8 อยู่กลดเช่นเดียวกับพระภิกษุ สามเณร จะอยู่ตลอดหรือไม่ตลอดระยะเวลาการอบรมก็ได้  ส่วนพระภิกษุ สามเณร ผู้เดินทางจากต่างจังหวัด จะไปเข้ารับการอบรม ขอนิมนต์ไปขึ้นรถรับ-ส่ง ไปยังวัดหลวงพ่อสดฯ ได้ที่ หน้าปากทางเข้าวัดสระเกศ (วัดภูเขาทอง) กรุงเทพฯ ในวันพฤหัสบดี ที่ 30 เมษายนนี้ เวลา 13.00 น. หรือ เวลาบ่ายหนึ่งโมง   เจริญพร.

* ในอรรถกถาเป็น  นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน


พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันอาทิตย์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2541

แชร์เลย

Comments

comments

Share: