– กำหนดบริกรรมนิมิตไม่ได้ จะบริกรรมภาวนาอย่างเดียวจะเกิดผลหรือไม่ ?
ตอบ :: ภาวนาอย่างเดียวก็ได้ แต่ว่า ถึงอย่างไร “ใจ” ต้องมีที่ตั้ง
เพราะใจเรานั้น เห็นด้วยใจ เห็นที่ไหน ใจก็อยู่ที่นั่น เพราะฉะนั้น ต้องให้เห็นอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ใจจึงจะอยู่ที่นั่น
บริกรรมนิมิตนึกให้เห็นด้วยใจ ณ ภายใน ซึ่งจะได้ผลดีเป็นของยาก แต่ถ้านึกอยู่ภายนอกเห็นได้ง่ายกว่า เมื่อใครนึกอยู่ ณ ภายในได้ จะได้ผลดีที่สุด
เมื่อใจหยุดตรงนั้น ถูกกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม ตรงศูนย์กลางกาย เหนือระดับสะดือ ๒ นิ้วมือ เมื่อถูกแล้วเราจะสามารถเข้าถึงธรรมในธรรม กายในกาย จิตในจิต ได้โดยสะดวก และไปถึงธรรมกาย ถึงพระนิพพาน
เรารู้ว่าจุดนี้เป็นจุดที่เที่ยงตรง เห็นหรือไม่เห็นจงทำต่อไป จนกว่าจะเห็น แต่ถ้านึกไม่เห็น ปวดเมื่อยเหนื่อยใจหนักหนา ก็นึกให้เห็นจุดเล็กใสเข้าไว้เป็นอย่างน้อย เพื่อให้ใจเข้าอยู่ ณ ภายใน
การนึกให้เห็น อย่าไปคิดว่าสิ่งที่เห็นเป็นสิ่งที่นึกเอา #นึกให้เห็นเป็นอุบายเบื้องต้น ใจประกอบด้วยความเห็นด้วยใจ ความจำ ความคิด ความรู้ มารวมกันเป็นจุดเดียวกันตรงเห็นนั้น
เพราะฉะนั้น ความจำเป็นในเบื้องต้นที่นึกให้เห็น จึงต้องทำแต่อุบายวิธีที่เราจะให้เห็น ตรงนั้นก็ต้องปล้ำกันหลายเพลง เช่นว่า นึกดวงไม่เห็น อาจจะนึกองค์พระก็ได้ #นึกง่ายๆคือ#นึกว่าในท้องมีลูกแก้วลูกหนึ่ง ประมาณเอา คือใจ จะค่อยปรับตัวจนหยุดนิ่ง นี่เป็นอุบายอย่างหนึ่ง ซึ่งอาตมาใช้อุบายหลายอย่างเช่นกัน กว่าจะได้เห็น
แม้กระทั่งดวงไฟตรงไหน ที่ไหน ที่เห็นกลมๆ ก็นึกดวงให้สว่างอยู่ข้างในท้อง ซึ่งใช้ได้เช่นกัน ถ้านึกอย่างนั้นไม่ได้ก็ให้ท่อง “สัมมาอะระหังๆๆ” ไป ตรงกลางจุดศูนย์กลาง นึกให้เห็นจุดเล็กใสนิ่งๆไว้ พอนึกเห็นตามสบาย #อย่าอยากเห็นจนเกินไป จนไม่ได้เห็น เพราะเพ่งแรงเกินไป จิตที่จะเห็นต้องพอดีๆ เหมือนกับที่ท่านทั้งหลายลองเอาปิงปองวางอยู่ในน้ำ จะกดปิงปองให้จมในน้ำ ได้โดยวิธีไหน อุปมาอย่างนั้นฉันใด การเลี้ยงใจให้หยุดให้นิ่ง และจะได้เห็นเอง ก็เป็นฉันนั้นเหมือนกัน
แต่ถ้าจะนึกให้เห็น พอไม่เห็นก็อึดอัด โมโห หรือหงุดหงิด อย่างนี้ไม่มีทางเห็น ทำให้เป็นธรรมดา เห็นก็ช่าง ไม่เห็นก็ช่าง
ความจะเห็น ต้องประกอบด้วยใจสบาย ละวางให้หมด เรื่องในอดีต ปัจจุบัน อนาคต แม้ตัวเราก็ต้องละให้หมด วางใจนิ่งๆ พอดีๆ ใจสบายๆ ก็จะเห็นได้ง่าย
อีกวิธีหนึ่ง ก่อนนอนจะหลับให้ท่อง “สัมมาอะระหังๆๆ” นึกเบาๆ ท่องไป พอใจจะหลับ สภาพของใจจะตกศูนย์ ความรู้สึกภายนอกจะหมดไป จะเหลืออยู่แต่ข้างใน พอจิตตกศูนย์ ดวงธรรมดวงใหม่จะลอยขึ้นมาที่ศูนย์กลางกาย ใสสว่างอยู่ตรงนั้นก่อนหลับ แล้วก็เผลอสติหลับไป เห็นตรงนั้นจับให้ดี พอเห็นดวงก็เข้ากลางของกลาง หยุดในหยุดนิ่งก็จะสว่าง นี่ จะเห็นของจริงก็จะไม่หลับ จะรู้เลยว่า เมื่อวิตก วิจาร คือ เห็นดวงสว่างระดับ “อุคคหนิมิต” หรือ “ปฏิภาคนิมิต” แล้วนั้น ความง่วงเหงาซึมเซาจะหมดไป กิเลสนิวรณ์หมดไปในขณะนั้น ช่วงจะหลับสามารถจะเห็นได้ง่าย
ช่วงจะตื่น ถ้าเคยตื่น ๖ โมงเช้า ลองตื่นตี ๕ ครึ่ง พอตื่นแล้ว ไม่ตื่นเลย คือไม่ลุกขึ้น ตายังหลับอยู่ แต่ใจเราตื่น ดูไปที่ศูนย์กลางกายจะเห็นดวง ทำไมจึงเห็น? เพราะใจคนเพิ่งตื่นใหม่ๆ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายลอยเด่น ยังเห็นได้อยู่ พอเห็นแล้วเราเอาอารมณ์นั้นมาสู่ใจเรา ทำบ่อยๆก็จะเป็น เมื่อถึงเวลาก็เป็นเอง บางทีอาจจะเห็นธรรมกายใหญ่มาก ขณะเดิน นั่ง ปกติธรรมดา
อารมณ์สบาย ใจเป็นบุญเป็นกุศล ใจก็สบาย พอใจสบายก็จะเห็น ใจสบายด้วยบุญกุศล แตกต่างกับสบายด้วยกามคุณ คือ ได้นั่นได้นี่ตามที่เราอยากได้ อันนั้นไม่สบายอย่างที่เราสบายอย่างนี้ การสบายด้วยบุญคือสบายเฉยๆ และลองกำหนดเห็นศูนย์กลาง ก็จะเห็นเป็นดวงใสได้โดยง่าย ต้องทำบ่อยๆเนืองๆ แม้อาตมาเองถ้าไม่ทำบ่อยๆเนืองๆ ก็จะจาง ต้องทำบ่อยๆจึงดี
________________
เทศนาธรรมจาก
พระเทพญาณมงคล
หลวงตาเสริมชัย ชยมงฺคโล
วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
อ.ดำเนินสะดวก
จ.ราชบุรี
ที่มา
ตอบปัญหาธรรมปฏิบัติ
เพจอมตวัชรวจีหลวงป๋า