ก่อนที่จิตดวงสุดท้ายจะดับลง อันตรายของสัตว์โลกเมื่อจะต้องไปเกิดใหม่

  • ก่อนที่จิตดวงสุดท้ายจะดับลง
    อันตรายของสัตว์โลกเมื่อจะต้องไปเกิดใหม่
    ❤ ปัจฉิมวาจาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสในสมัยใกล้ปรินิพพานว่า…
    “ภิกฺขเว อามนฺตยามิโว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถาติ”
    “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราเรียกเธอทั้งหลายมาเพื่อให้รู้ว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”
    ที่ข้าพเจ้าหยิบยกเอาเรื่องความไม่ประมาทมาพูดในที่นี้ ก็เพื่อเป็นคติเตือนใจว่า สาธุชนทั้งหลายให้หมั่นระลึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า สังขารทั้งหลายนั้นย่อมมีแต่ความเสื่อมโทรมลงทุกวัน เป็นไปตามธรรมชาติ และเพื่อความไม่ประมาท จักได้คิดประกอบการกุศลคุณงามความดี เพื่อเป็นเสบียงเลี้ยงตนต่อไปในกาลข้างหน้า จนกว่าจะได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน
    ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสถึงความเสื่อม ก็เพื่อเตือนให้ชาวโลกทั้งหลาย ตระหนักถึงหรือรู้เท่าทันถึงกฎของธรรมชาติ จักได้ยืนอยู่บนความจริง ไม่หลง ไม่ประมาท คิดหาทางเอาตัวรอดตามแนวทางพระพุทธศาสนา ด้วยการหมั่นประกอบคุณความดีด้วยกาย วาจา ใจ ละเว้นความชั่วทางกาย วาจา ใจ และหมั่นชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์โดยการสมาทานอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เพื่อความหลุดพ้นจากวัฏฏสงสาร
    🔔ดังที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี
    ได้แสดงธรรมเทศนาไว้ว่า….
    “..เมื่อมีความเสื่อมอยู่เช่นนี้ พระองค์มีพระประสงค์อะไร พระองค์มีพระประสงค์จะต้อนพวกเราให้พ้นจากความเสื่อมเหล่านี้ออกไปจากภพเสีย ให้เข้าถึงธรรมกายไปนิพพาน ต้องการอย่างนี้ ไม่ใช่ต้องการอย่างอื่น ประสงค์จะต้อนพวกเรา จะขับจูงพวกเรา จะเหนี่ยวรั้งพวกเราให้พ้นจากไตรวัฏฏ์ คือ กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ ที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารนี้จะให้ขึ้นจากกามภพ รูปภพ อรูปภพ พ้นจากภพทั้งสามนี้ไป ให้มีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ประสงค์อย่างนั้น จึงได้รับสั่งเช่นนี้ ให้เราไม่เผลอในความเสื่อมนั้น..”
    คนเราเมื่อตายแล้วจะไปที่ไหนอีกต่อไป ทุคคติหรือสุคคติ ??
    อันว่าความประมาทหรือเผลอในความเสื่อมนั้น เป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพราะประมาททำให้ขาดการสังวร หรือสำรวมระวังกาย วาจา ใจ อันเป็นการเปิดช่องทางให้บาปอกุศล สามารถผ่านเข้ามาทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้โดยง่าย และบาปอกุศลเหล่านั้น ก็จะดลจิตดลใจให้ผู้นั้นคิดผิด รู้ผิด เห็นผิด และประพฤติผิด ทางกาย-วาจา-ใจได้
    และเมื่อประกอบกรรมชั่วลงไปแล้ว ย่อมได้กำเนิดทุคคติขึ้นทันทีตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ กล่าวคือ มีนามรูปใหม่เกิดทุกครั้งที่มีการปรุงสังขารตามสายปฏิจจสมุปบาท เป็นทุคคติเพราะแรงบาป โดยมีกายเนื้อเป็นหุ่นให้บาปเชิด และเมื่อได้กำเนิดทุคคติขึ้นแล้วย่อมแสดงอาการประจําตัวตามวิบากของมันออกมาทันที สำหรับผู้ที่มีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เหนือกว่าแล้ว ย่อมสามารถสังเกตเห็นอาการเหล่านั้นได้โดยง่าย และเมื่อกายเนื้อตายลงย่อมมีทุคคติเป็นแดนเกิด
    ในทางตรงกันข้าม หากบุคคลใดถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท มีการสำรวมระวังกาย วาจา ใจ มิให้บาปอกุศลเข้าดลจิต หมั่นประกอบแต่กุศลกรรมด้วยดี ชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ เขาย่อมได้กำเนิดสุคติตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อตายลงย่อมมีสุคติเป็นแดนเกิด เพราะการเกิดหรือการสร้างภพสร้างชาตินั้น ย่อมเป็นไปโดยปัจจัย 3 ประการคือ…
  1. กมฺมํ เขตฺตํ
    กรรมคือการกระทำของคนนั้น
    เป็นเสมือนพื้นที่สำหรับเพราะปลูก
  2. วิญฺญาณํ พีชํ
    วิญญาณหรือที่กล่าวรวมๆว่าใจนั้น
    เป็นเสมือนพืชพันธุ์สำหรับเพาะ
  3. ตณฺหา สิเนหํ
    กิเลสทั้งหลาย มีตัณหาเป็นต้น
    เป็นเสมือนเชื้อที่ทำให้วิญญาณเกิดอีก
    ความจริง ตราบใดที่ยังไม่บรรลุอรหัตผล ย่อมมีโอกาสประกอบทั้งกรรมดีและกรรมชั่วด้วยกันทั้งนั้น ผิดกันอยู่แต่ว่า ใครประกอบกรรมดีมากกว่าชั่ว หรือชั่วมากกว่าดี กว่ากัน ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับระดับสติปัญญาของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน
    🕯หากจะมีปัญหาขึ้นมาว่า เมื่อบุคคลประกอบทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว เมื่อตายไปแล้วจะไปเกิดในคติใด
    คำว่า”คติ” หมายถึง ที่ไปปฏิสนธิของนามรูป ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า มีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน คือ…
  4. สุคติ อันเป็นทางไปดี ได้แก่ โลกมนุษย์ สวรรค์ 6 ชั้น รูปพรหม 16 ชั้น และอรูปพรหม 4 ชั้น
  5. ทุคคติ อันเป็นทางไปไม่ดี คืออบายภูมิทั้ง 4 ได้แก่ เปรต สัตว์นรก อสุรกายและสัตว์ดิรัจฉาน เป็นต้น
    🕯พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นประธาน ฉะนั้น คติของผู้ตายจะเป็นอย่างไร จึงอยู่ที่ใจเป็นสำคัญ โดยเฉพาะจิตเมื่อตอนใกล้จะดับ
    พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้อีก…
    จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา
    เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ย่อมมีทุคคติเป็นที่หวัง
    จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา
    เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว ย่อมมีสุคติเป็นที่หวัง
    ฉะนั้น ขณะเมื่อสัตว์ใกล้จะตายนี้จึงสำคัญนัก ด้วยว่าจะเกิดอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ใน 3 ประการนี้ คือ…
  6. กรรมอารมณ์ ได้แก่ กุศลกรรมและอกุศลกรรมที่เคยทำมาแต่อดีต มาปรากฏขึ้นในจิตของผู้ตาย 1,
  7. กรรมนิมิตอารมณ์ คือ นิมิตของกรรมที่ตนเองเคยกระทำมาเป็นอาจิณ มาปรากฏเป็นนิมิตให้เห็น 1,
  8. คตินิมิตอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ที่จะได้รับหรือได้เสวยในภพใหม่ มาปรากฏให้เห็นเมื่อตอนใกล้จะตาย 1,
    ทั้งนี้ เป็นไปโดยอำนาจของกรรมตามสมควร และอารมณ์เหล่านี้เองที่มาทำให้จิตของสัตว์ที่ใกล้จะตายเศร้าหมองหรือผ่องใส กล่าวคือ หากผู้ที่กำลังจะตายนั้น เคยประกอบกุศลกรรมมามากในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ในขณะที่จิตขึ้นสู่มรณสันติวิถีนั้น จิตก็จะนึกถึงแต่คุณความดีที่เคยได้สร้างสมอบรมมา หรือนิมิตอารมณ์อันเกิดแต่กรรมดีจะมาปรากฏให้เห็น ทำให้จิตใจผ่องใสด้วยกุศลกรรมที่เคยทำมา เมื่อจุติก็ย่อมจะไปสู่สุคติ
    และในทางตรงกันข้าม สำหรับผู้ที่ได้เคยประกอบอกุศลกรรม หรือกระทำความชั่วมามาก เมื่อขณะใกล้จะตาย ก็จะนึกถึงแต่กรรมชั่ว หรือนิมิตอารมณ์จากกรรมชั่วมาปรากฏให้เห็น ทำให้จิตใจหดหู่เศร้าหมอง เมื่อจุติย่อมมีทุคคติเป็นที่ไป ดังนี้เป็นต้น
    ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสเตือนสรรพสัตว์ทั้งหลาย มิให้ตกอยู่ในความประมาท และพระธรรมของพระพุทธองค์ ก็มีความไม่ประมาทเป็นต้นเค้า ดังบาลีว่า…
    “เอวเมว โข ภิกฺขเว เยเกจิ กุสลา ธมฺมา สพฺเพ เต อปฺปมาทสโม สรณา อปฺปมาโท เตสํ อคฺคมกฺขายตีติ”
    ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเป็นกุศลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดมีความไม่ประมาทเป็นต้นเค้า ประชุมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาทบัณฑิตย่อมกล่าวว่า เลิศกว่าธรรมทั้งหลายเหล่านั้นฉันนั้นเหมือนกัน.
    พระพุทธองค์ได้ทรงเตือนพุทธบริษัทอยู่เสมอ ถึงความไม่ประมาท แม้จวบจนกระทั่งสมัยดับขันธ์ปรินิพพาน เพื่อให้รู้เท่าทันในสังขารอันมีแต่ความเสื่อมลงทุกขณะ จักได้ไม่เผลอในความเสื่อมนั้น หมั่นประกอบแต่กรรมดี ละเว้นความชั่วหรือบาปอกุศล ด้วยกาย วาจา ใจ โดยการบริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ และวิปากวัฏฏ์ เข้าถึงมรรคผลนิพพานในโอกาสต่อไป.

ศึกษาธรรมะกันอย่างแจ่มแจ้งแล้ว อย่าลืมกด Like & Share กันด้วยนะครับ ..ผู้ดูแลเพจ👨‍🎓

เทศนาธรรมจาก
พระเทพญาณมงคล
หลวงตาเสริมชัย ชยมงฺคโล
วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
อ.ดำเนินสะดวก
จ.ราชบุรี

ธรรมะจากหนังสือ
“ทางสร้างบุญ”

เพจอมตวัชรวจีหลวงป๋า.

แชร์เลย

Comments

comments

Share: