เจริญพร ญาติโยมสาธุชนทุกท่าน
วันนี้เป็นวันเข้าปุริมพรรษา คือ เป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์เริ่มอยู่จำพรรษาต้น เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ตลอดไปเป็นเวลา 3 เดือน จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ในปีนี้วันที่พระภิกษุสงฆ์ได้อยู่พรรษาครบ 3 เดือน จะตรงกับวันที่ 16 ตุลาคม วันรุ่งขึ้นเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 จึงจะเป็นวันออกพรรษา ซึ่งจะตรงกับวันศุกร์ ที่ 17 ตุลาคม
ในเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งเป็นฤดูฝน ที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องอยู่ในอาวาสของตน ตามพระวินัยพุทธบัญญัติ จะไม่ไปค้างแรม ณ ที่อื่น ตลอดระยะเวลา 3 เดือน เว้นแต่จะมีกิจจำเป็น เรียกว่า สัตตาหกรณียะ ก็ขอลาไปค้างแรมที่อื่นในระหว่างพรรษาได้ 7 วัน
ในเทศกาลเข้าพรรษาเช่นนี้ จึงเป็นโอกาสเหมาะที่สาธุชนพุทธบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน จักได้รำลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม และคุณของพระสงฆ์ ผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมสืบบวรพระพุทธศาสนา ให้ยืนยาวมาถึงทุกวันนี้ โดยการประกอบกุศลคุณความดี ตามหลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองและยืนยาว เป็นประทีปส่องทางดำเนินชีวิตของสาธุชนผู้สนใจในธรรม ให้สามารถดำเนินชีวิตไปในแนวทางที่ให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขแก่ตนเองและผู้อื่นไม่เป็นไปในทางเสื่อมที่เป็นโทษที่จะเป็นความทุกข์เดือดร้อน ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
หลักธรรมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงสั่งสอนให้สาธุชนประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข ไม่เป็นไปในทางเสื่อม หรือที่จะเป็นโทษ ความทุกข์เดือดร้อนนั้น ปรากฏตามพระพุทธดำรัส พระคาถาแรกในพระโอวาทปาฏิโมกข์ 3 พระคาถากึ่ง ที่ได้ตรัสแก่พระอรหันต์ 1,250 รูป ผู้ได้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ที่พระเวฬุวนารามมหาวิหาร พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ว่า
สพฺพปาปสฺส อกรณํ | กุสลสฺสูปสมฺปทา | |
สจิตฺตปริโยทปนํ | เอตํ พุทฺธาน สาสนํ. | |
การไม่ทำความชั่วทั้งปวง 1 การบำเพ็ญแต่ความดี 1 การทำจิตให้ผ่องใส 1 นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย |
หลักคำสอนที่ได้ทรงแสดงแก่พระอรหันต์ทั้ง 1,250 รูป เพื่อเป็นหลักในการออกเผยแพร่พระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้คำแนะนำสั่งสอนเวไนยสัตว์ คือ สัตว์โลกที่พอจะสอนได้ ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในคุณความดี 3 ประการนี้นี่แหละ ที่สาธุชนพึงสนใจ เอาใจใส่ ศึกษาและปฏิบัติ เพื่ออบรมกาย วาจา ใจ ของตนให้เป็นไปในทางที่ดี ที่สงบ ที่เป็นคุณประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ในสังคม ให้อยู่ดีมีสันติสุขในกาลทุกเมื่อ ไม่ใช่แต่เฉพาะในกาลใดกาลหนึ่ง แต่อย่างน้อยที่สุด ในเทศกาลเข้าพรรษานี้ ให้พึงนึกถึงคุณของพระพุทธ คุณพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าใน 3 ข้อนี้ แล้วตั้งใจศึกษาอบรม กาย วาจา ใจ ของตน ในธรรมปฏิบัติ 3 ประการนี้ คือ
1) การไม่ทำความชั่วทั้งปวง สาธุชนทุกท่านพึงพิจารณาตนเองว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตนเองได้ประกอบกรรมที่ไม่ดีที่เรียกว่าทุจริตหรือความชั่วเหล่านี้บ้างหรือไม่ คือ การประกอบกายทุจริต ได้แก่ เจตนาฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หรือเบียดเบียนสัตว์ที่มีชีวิตให้เดือดร้อน เจตนาประกอบอาชีพทุจริต คดโกง ลักฉ้อ ประพฤติผิดในกาม หมกมุ่นสำส่อนในกาม เสพสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เล่นและติดการพนัน ติดเที่ยวกลางคืน คบคนชั่วเป็นมิตร เป็นต้น เหล่านี้บ้างหรือไม่ ? วจีทุจริต ได้แก่ กล่าวถ้อยคำที่ไม่จริง ที่โป้ปดมดเท็จ ถ้อยคำที่ก้าวร้าวหยาบคาย ถ้อยคำที่ยุแยกให้แตกสามัคคี และถ้อยคำที่ไร้แก่นสารสาระประโยชน์ บ้างหรือไม่ ? มโนทุจริต ได้แก่ ความคิดที่ประกอบด้วยความโลภจัด เห็นแก่ตัว แก่พวกพ้องหมู่เหล่าจัด และที่ประกอบด้วยตัณหา ราคะจัด ความคิดที่โกรธแค้น พยาบาท และความคิดที่ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ หลงตัวหลงตน หลงอำนาจ บ้างหรือไม่ ?
พึงพิจารณาความประพฤติปฏิบัติของตนเอง ด้วยความเที่ยงธรรม คือ ไม่เข้าข้างตนเอง ไม่ยกเว้นให้กับความชั่ว ไม่แก้ตัวให้กับความผิดของตนเอง จงยืนอยู่บนความจริง คือ ยอมรับความจริงเสีย จึงจะสามารถแก้ไขปรับปรุงตนให้เป็นคนดีได้ ถ้าไม่ยืนอยู่บนความจริง ไม่ยอมรับความจริง ก็ย่อมไม่มีการปรับปรุงแก้ไข พัฒนาตนให้ดีขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาตนเองพบเห็นทุจริตหรือความชั่วของตนเอง แม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง ก็จงตั้งใจเลิกละเสีย ด้วยการตั้งใจรักษาศีล อย่างน้อยศีล 5 ให้บริสุทธิ์ อย่างน้อยก็ตลอดเทศกาลเข้าพรรษานี้ และถ้ากระทำได้ตลอดไป ก็จะเป็นกุศลบุญราศรีแก่ตนเอง และจะยังความสันติสุขแก่ผู้อื่น ที่อยู่ร่วมกันในสังคมได้มาก
สาธุชนพึงทราบว่า ที่สังคมประเทศชาติและตลอดไปถึงสังคมของโลกมีความเดือดร้อน วุ่นวาย สับสันด้วยปัญหาต่างๆ ทั้งทางการเมือง การปกครอง การบริหาร และการเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้เป็นผลแต่ที่บุคคลในสังคม และ/หรือผู้มีอำนาจหน้าที่บางคนหรือหลายคน ในทางการเมือง การปกครอง การบริหาร และการเศรษฐกิจ ทุกอย่าง ขาดศีลขาดธรรม ไม่มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปอกุศล หรือความชั่ว ความทุจริตต่างๆ เพราะความโลภจัด ความเห็นแก่ตัวแก่พวกพ้องหมู่เหล่าจัด มีตัณหาราคะจัด มักมีความโกรธแค้นผูกใจเจ็บ พยาบาท และความไม่รู้บาปบุญคุณโทษ หลงตัวหลงตน หลงอำนาจทั้งนั้น
แต่ถ้าประชาชน ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกฐานะ ทุกหมู่เหล่า ในสังคม พากันรักษาศีล 5 ให้ดีโดยทั่วหน้ากัน เท่านั้นแหละ สังคมประเทศชาติและสังคมโลก ก็จะอยู่เย็นเป็นสุขยิ่งขึ้น กว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ อย่างมากมายนัก
เพราะฉะนั้นสาธุชน คนมีปัญญา จึงพึงเลิกละความชั่วหรือทุจริต ทางกาย ทางวาจา และทางใจเสีย ด้วยการรักษาศีล อย่างน้อยศีล 5 ให้มั่นคง ความสันติสุขและความร่มเย็น จะบังเกิดมีแก่ตัวท่านเองและแก่ผู้อื่น ในสังคมประเทศชาติและในโลก อย่างมากมายทีเดียว
2) การบำเพ็ญแต่ความดี คือ ประพฤติแต่กัลยาณธรรม ทั้งโดยทางกาย วาจา และทางใจ คือข้อปฏิบัติที่ดีงามของกัลยาชนคนดี ได้แก่ การอบรมจิตใจของตนให้เป็นผู้มีจิตใจเมตตา กรุณา คือความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นอยู่เย็นเป็นสุข และปรารถนาให้ผู้มีทุกข์ได้พ้นทุกข์ เป็นผู้มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี เผื่อแผ่ รู้จักการบำเพ็ญทาน บริจาคทรัพย์สินของตน และรู้จักเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อผู้อื่น ให้เป็นผู้มีหิริ โอตตัปปะ คือเป็นผู้มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปอกุศล หรือทุจริตต่างๆ ว่ารังแต่จะมีโทษแก่ตนเองและผู้อื่น เพราะเหตุนั้นจงตั้งใจประกอบแต่กิจการงานที่สะอาด ที่โปร่งใส และประกอบการอาชีพที่สุจริต ที่ดีที่ชอบ มีความสันโดษในคู่ครองของตน มีความสำรวมกาม ไม่ประพฤติสำส่อน หมกมุ่นในกาม มีแต่ความซื่อสัตย์และจริงใจต่อตนเอง และผู้อื่น มีสติสัมปชัญญะรู้ผิดชอบชั่วดี รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ รู้ทางเจริญ-ทางเสื่อมแห่งชีวิต ตามที่เป็นจริง เป็นต้น หากประพฤติปฏิบัติตนอยู่แต่ในคุณความดีอยู่อย่างนี้ ก็จะยังตนและผู้อื่นให้ประสบแต่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขในชีวิตยิ่งๆ ขึ้นไป และจะเป็นการช่วยป้องกันแก้ไขปัญหา ในทางการเมือง การปกครอง การบริหาร และการเศรษฐกิจของประเทศชาติ ตลอดถึงสังคมของโลก ได้อย่างดีที่สุด
3) การทำจิตใจของตนให้ผ่องใส คือการอบรมใจของตนเอง ให้บริสุทธิ์ผ่องใส จากกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา ด้วยการเจริญภาวนาสมาธิ อบรมจิตใจให้สงบ ให้หยุดให้นิ่ง เป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคง ถึงเกิดองค์คุณเครื่องกำจัดกิเลสนิวรณ์ให้หมดไปอยู่เสมอ จิตใจก็จะผ่องใส ให้สามารถเจริญปัญญาด้วยการพิจารณาวิเคราะห์ปัญหาให้เห็นแจ้งรู้แจ้งปัญหาตลอด ทั้งข้อแก้ไขและป้องกันปัญหาทางโลกได้เป็นอย่างดี และให้สามารถพิจารณาสภาวธรรมให้เห็นแจ้งรู้แจ้งในสภาวะของธรรมชาติและสัจจธรรมตามที่เป็นจริง ได้เป็นอย่างดี
อีกอย่างหนึ่ง การอบรมจิตใจให้สงบเป็นสภาพผ่องใสบริสุทธิ์อยู่เสมออย่างนี้ ยังเป็นธรรมช่วยพัฒนาและรักษาสุขภาพจิตใจได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ที่ชาวโลกไม่อาจพิจารณาเห็นแจ้งชัดในประเด็นของปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนและข้อแก้ปัญหาในทางโลกได้อย่างชัดเจน ถูกต้องตรงประเด็นนั้น ก็เพราะจิตใจขาดการอบรมให้สงบเป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคงให้จิตใจสงบและผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา ควรแก่งาน พิจารณาเห็นปัญหาที่แท้จริงและเห็นข้อป้องกันแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ที่ตรงประเด็นได้ แจ้งชัดนั่นเอง
“กิเลส” แปลว่า เครื่องเศร้าหมองแห่งจิตใจ “นิวรณ์” แปลว่า อุปสรรค กิเลสนิวรณ์ จึงหมายถึง เครื่องเศร้าหมองแห่งจิตใจอันเป็นอุปสรรค หรือเครื่องกั้นปัญญา กิเลสนิวรณ์ 5 อย่างต่อไปนี้ คือ ความง่วง จิตใจหดหู่ท้อถอย หรือเกียจคร้าน 1 ความลังเลสงสัย ไม่แน่วแน่ 1 ความหงุดหงิด ขัดเคืองใจ ฉุนเฉียว เจ้าอารมณ์ 1 ความฟุ้งซ่านแห่งจิตใจหรือความวิตกกังวล ห่วงใยไปในเรื่องต่างๆ 1 และความยินดีพอใจ ยึดติดในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสทางกาย อีก 1 เหล่านี้ แม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในจิตใจของผู้ใดแล้ว จิตใจของผู้นั้นจะขุ่นมัวไม่ผ่องใส การที่จะพิจารณาเห็นแจ้งชัดในปัญหาและข้อป้องกัน-แก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องตรงประเด็น ย่อมเป็นไปไม่ได้ และจิตใจที่เต็มไปด้วยกิเลสนิวรณ์เหล่านี้ ดังเช่น ผู้ที่มีจิตใจไม่สงบ มีแต่ความฟุ้งซ่านมากๆ เข้า สุขภาพจิตก็เสีย กลายเป็นโรคจิตหรือโรคประสาทไปมากต่อมากในทุกวันนี้ ก็เพราะไม่รู้คุณค่าของการอบรมจิตใจให้สงบ ตามแนวทางพระพุทธศาสนา จึงขาดสติสัมปชัญญะด้วยปัญญาอันเห็นชอบ รอบรู้ทางเจริญทางเสื่อมตามที่เป็นจริง จึงพากันสร้างปัญหา สะสมหมักหมมปัญหาจนซับซ้อนยุ่งเหยิง ยากแก่การพิจารณาเห็นทางป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและตรงประเด็น จึงเกิดความทุกข์เดือดร้อนกันไปทั่ว เสียสุขภาพจิต ทำให้ขาดความสันติสุขทั้งของตนเองของครอบครัวและทั้งของสังคมประเทศชาติกันไปหมด ดังที่เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้
การอบรมจิตใจให้สงบ ให้หยุดให้นิ่ง เพื่อกำจัดกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา ตามแนวทางพระพุทธศาสนา เป็นวิธีที่ดีที่สุด มีประสิทธิภาพสูงที่สุด เพราะเป็นพื้นฐานให้เกิดสติปัญญาอันเห็นชอบ รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ รู้ทางเจริญ-ทางเสื่อมแห่งชีวิต ตามที่เป็นจริงได้เป็นอย่างดีและเป็นการพัฒนาและรักษาสุขภาพจิตใจได้อย่างถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ของธรรมชาติที่สุด
ข้อปฏิบัติ3ประการนี้ คือ ข้อที่ท่านสาธุชนผู้มีปัญญาพึงพิจารณาเห็นคุณของพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้พระสัทธรรมนี้ คือ ผู้ได้ทรงเห็นแจ้ง รู้แจ้ง และได้ทรงปฏิบัติได้ผลดีมาแล้ว จึงตรัสสั่งสอนให้ผู้พอจะแนะนำสั่งสอนได้ คือผู้ที่พอจะรับพระสัทธรรมนี้ได้ ให้ปฏิบัติพระสัทธรรมนี้คือให้ศึกษาอบรมกาย วาจา ใจ ของตนตามพระธรรมที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้ว ให้ได้รับผลดี เป็นความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขของตนเอง และให้เกิดประโยชน์สันติสุขแก่ผู้อื่นในสังคมน้อยใหญ่ทั้งหลาย และพึงเห็นคุณของพระภิกษุสงฆ์ ผู้ศึกษาและปฏิบัติพระสัทธรรม สืบต่อบวรพระพุทธศาสนาให้เจริญและมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้
อาตมภาพจึงขอเชิญชวนแนะนำ ให้ทุกท่านได้ประพฤติปฏิบัติธรรม โดยการเลิกละความชั่ว ประพฤติปฏิบัติอยู่แต่ในทางดี และอบรมจิตใจให้ผ่องใส ด้วยการเสียสละหรือบริจาคทาน มีการทำบุญตักบาตร ทำนุบำรุงพระภิกษุสงฆ์ผู้ตั้งใจศึกษาและประพฤติปฏิบัติธรรม และแนะนำ สั่งสอน เผยแพร่พระสัทธรรมแก่สาธุชนทั้งหลาย ให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ เป็นผลดีแก่ผู้ปฏิบัติทุกท่าน ไม่เลือกเชื้อชาติศาสนา และให้พึงรักษาศีลอย่างน้อยศีล 5 ให้บริสุทธิ์ ถ้ารักษาศีล 8 ได้ก็จะยิ่งดี และจงฝึกเจริญภาวนาสมาธิ เพื่อชำระจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญาอยู่เสมอ ก็จะเป็นการ “สร้างพระในใจตนเอง” คือ ทำตนให้เป็นคนประเสริฐ ก็จะถึงความสงบและสันติสุขด้วยตน
การเข้าศึกษาปฏิบัติธรรม มีการรักษาศีล และการเจริญภาวนาเป็นต้นนั้น สามารถเข้าฝึกฝนอบรมได้ที่วัดหรือสำนักปฏิบัติธรรม ที่มีการแนะนำสั่งสอนศีลธรรม และภาวนาธรรม ทุกแห่ง เช่นที่ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ก็มีเป็นประจำทุกวัน หลังทำวัตรเช้า เวลา 06.00 น. และหลังทำวัตรเย็น เวลา 19.00 น. และมีทุกอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.30 น. ถึง 13.00 น. จึงขอเชิญทุกท่านเข้ารับการอบรมตามวัน เวลา และสถานที่ ดังกล่าวได้
เมื่อท่านได้เข้าศึกษาอบรม กาย วาจา ใจ ดังที่ได้กล่าวข้างต้น และได้รับผลดีจริงแล้ว ท่านย่อมประจักษ์คุณค่าของพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ และจักเกิดศรัทธาปสาทะ ในการศึกษาและปฏิบัติธรรม เพื่อถึงความเจริญรุ่งเรือง และสันติสุข และถึงความพ้นทุกข์ ด้วยตัวของท่านเอง
สาธุชนผู้ฟังพึงเข้าใจว่า ความได้อัตภาพเป็นมนุษย์ คือผู้ที่จะได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ ผู้เป็นสัตว์โลกที่ประเสริฐกว่าสัตว์โลกในภพภูมิอื่นๆ ที่ต่ำกว่า ที่ไม่มีความเจริญ ได้แก่ สัตว์เดรัจฉาน เปรต สัตว์นรกและอสุรกาย นั้นยากนักหนา และแม้เมื่อได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ที่จะมีโอกาสได้พบพระพุทธศาสนานั้นก็ยากนัก และแม้ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้ว ที่จะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้านั้น ก็ยิ่งยากนักหนา ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ มีปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท ภาค 6 หน้า 174 ว่า
กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ | กิจฺฉํ มจฺจานชีวิตํ | |
กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ | กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท | |
“ความได้อัตภาพเป็นมนุษย์เป็นการยาก, ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย เป็นอยู่ยาก, การฟังพระสัทธรรม เป็นของยาก, การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นการยาก.” |
ข้อเหล่านี้เพราะเหตุใด ? เพราะเหตุว่า “สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม” นี้เป็นกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติจริงแท้ ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว แล้วได้ตรัสสอนไว้ดีแล้ว เพราะเหตุนี้ สัตว์โลก ผู้ที่จะได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้น จักต้องเป็นผู้ประกอบกรรมดี ทางกาย ทางวาจา และทางใจ ในระดับ “มนุษยธรรม” ที่หนักแน่น มั่นคงพอ ให้กรรมดีนั้น ทำหน้าที่เป็นชนกกรรมหนุนนำให้ได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์
กรรมดีในระดับมนุษยธรรม นี้ ก็คือ การกระทำแต่กรรมดี ด้วยการงดเว้นกรรมชั่ว ที่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น โดยการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ นี้ ประการ 1 และด้วยการเจริญกัลยาณธรรม นี้อีกประการ 1 ดังที่ได้กล่าวแนะนำให้ท่านประพฤติปฏิบัติมาแล้วในตอนต้นนั่นเอง
ท่านลองพิจารณาดูว่า ผู้มีปกติประพฤติปฏิบัติในระดับมนุษยธรรมนี้ หมดทั้งโลกนี้ มีประมาณเท่าใด ? ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในระดับมนุษย์ธรรม จำนวนเพียงเท่านี้แหละที่เมื่อตายลง จะมีโอกาสได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ที่ดี ส่วนผู้ปฏิบัติผิดศีล ผิดธรรมเป็นอาจิณ มีกี่มากน้อย ? สำหรับบุคคลเช่นนั้น ผู้มักประพฤติผิดศีลผิดธรรมบ่อยๆ เป็นอาจิณ เหล่านี้ คือผู้มักเจตนาฆ่าสัตว์ตัดชีวิต มักลักฉ้อ คดโกง หรือประกอบอาชีพทุจริต มักประพฤติผิดในกาม มักเสพและติดสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท มักกล่าวถ้อยคำที่ไม่จริง ถ้อยคำที่ยุแยกให้เขาแตกสามัคคีกัน และความเป็นผู้มีความคิดชั่วร้าย กอปรด้วยความโลภจัด ราคะจัด ความพยาบาท และความหลงยึดถือที่ผิดๆ เป็นมิจฉาทิฏฐิ จนติดในจิตตสันดาน เหล่านี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้ว่า “เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นที่หวังได้” เพราะเหตุนี้แหละ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสไว้อีก มีปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 12 อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ข้อ 206 (พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง พ.ศ.2521 เล่มที่ 20 หน้า 47) ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ที่จุติจากมนุษย์กลับมาเกิดในมนุษย์ มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปเกิดในนรก เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เกิดในปิตติวิสัย มากกว่าโดยแท้
สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปเกิดในเทพยดา มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปเกิดในนรก เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เกิดในปิตติวิสัย มากกว่าโดยแท้
สัตว์ที่จุติในเทพยดากลับมาเกิดในเทพยดา มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากเทพยดา ไปเกิดในนรก เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เกิดในปิตติวิสัย มากกว่าโดยแท้
สัตว์ที่จุติจากเทพยดากลับมาเกิดในมนุษย์มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากเทพยดาไปเกิดในนรก เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เกิดในปิตติวิสัยมากกว่าโดยแท้ …” ดังนี้เป็นต้น
พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า ความได้อัตภาพเป็นมนุษย์เป็นการยาก ทั้งๆ ที่ความได้มาเป็นมนุษย์เป็นการยากอย่างนี้ แม้เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ที่จะได้พบพระพุทธศาสนา ได้ฟังพระสัทธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังยากยิ่งขึ้นไปอีก การที่จะได้ศึกษาทำความเข้าใจ และปฏิบัติพระสัทธรรมให้เห็นแจ้งรู้แจ้งสัจจธรรมตามที่เป็นจริง จึงเป็นการยากนักหนา เพราะเหตุว่า การเสด็จอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์นั้นเป็นการยากนัก และเป็นระยะเวลายาวนานนับเป็นกัปเป็นกัลป์ หลายกัปหลายกัลป์ทีเดียว กัปกัลป์หนึ่งๆ ก็เป็นกำหนดระยะเวลายาวนานอย่างเหลือเกินของโลก มนุษยโลกที่เกิดมาในกัปที่ว่างจากผู้มีคุณสมบัติหรือคุณธรรมสูง อย่างเช่น พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ ที่มิได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก เรียกว่า เป็นกัปที่ว่างจากพระพุทธศาสนา ชื่อว่า สุญญกัป ย่อมมีแต่ความเดือดร้อน โกลาหล เพราะมนุษย์มิได้เรียนรู้หลักธรรม จึงไม่รู้บาปบุญคุณโทษ ไม่มีศีลมีธรรมประจำใจ ย่อมประพฤติตนไปตามอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน ให้เกิดความทุกข์เดือดร้อน และโกลาหลยิ่งนัก
ท่านผู้ฟังลองพิจารณาดูว่าแม้เป็นยุคที่ยังมีพระสัทธรรมและพระภิกษุสงฆ์ผู้ศึกษาปฏิบัติธรรม และเผยแพร่พระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ดังเช่นในทุกวันนี้ โลกก็ยังเต็มไปด้วยความเดือดร้อน โกลาหลอยู่ เพราะคนไม่สนใจในธรรม ไม่ศึกษาและประพฤติปฏิบัติธรรม จึงมีแต่ผู้ขาดศีลขาดธรรมเป็นจำนวนมาก ให้โลกต้องเดือดร้อนวุ่นวายถึงเพียงนี้
ถ้าในระหว่างสุญญกัป คือกัปที่ว่างจากพระพุทธศาสนา ชาวโลกที่เกิดมาในยุคนั้น จะต้องเดือดร้อน วุ่นวาย โกลาหล สักเพียงไหน ?
ที่ว่าการเสด็จอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ เป็นการยาก คือ มีขึ้นได้ยากนั้น ก็เพราะว่า การที่สัตว์โลกจะสามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวงและที่เป็นบรมสุข พร้อมด้วยคุณธรรมพิเศษ คือ พระสัพพัญญุตญาณ พระปรีชาญาณหยั่งรู้ธรรมชาติทั้งปวง (ทั้งที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง ชื่อว่า สังขารหรือสังขตธรรม และที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง ชื่อว่า วิสังขารหรืออสังขตธรรม) ทั้งที่ได้มีแล้วในอดีต ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่จะมีต่อไปในอนาคต อย่างถูกต้อง รวมเรียกว่า พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือ พระปรีชาญาณที่สูงสุดยิ่ง เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้น จักต้องได้บำเพ็ญพุทธการกธรรม คือ คุณธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า 10 ประการ คือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และ อุเบกขาบารมี จนแก่กล้าเป็น อุปบารมี และปรมัตถบารมี ครบทั้ง 10 ประการ ซึ่งจะต้องบำเพ็ญคุณความดีอย่างยิ่งยวดเช่นนี้ เป็นระยะเวลายาวนานหลายอสงไขยกัป จึงแก่กล้าเป็นปรมัตถบารมี เต็มบริบูรณ์ ดังปรากฏใน “ชินกาลมาลีปกรณ์” (ซึ่งรจนาโดยพระรัตนปัญญาเถระเมื่อ พ.ศ.2060-2071 แปลโดย ศ.ร.ต.ท.แสง มนวิทูร (เปรียญ) จัดพิมพ์โดยกรมการศาสนา เมื่อ พ.ศ.2517) ได้แสดงว่า
พระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ คือ พระสมณโคดมนี้ เมื่อก่อนที่จะบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็น พระปัญญาธิกโพธิสัตว์ ได้บำเพ็ญบารมีทั้งกาย วาจา และใจ นับตั้งแต่ได้รับพุทธพยากรณ์จากสำนักพระพุทธเจ้าทีปังกร ตลอดมาจนถึงกาลแห่งพระพุทธเจ้ากัสสปะ จนถึงพระชาติสุดท้าย เป็นระยะเวลาถึง 4 อสงไขยกับอีกแสนกัป ได้ผ่านการพยากรณ์จากสำนักพระพุทธเจ้าถึง 24 พระองค์ แล้วจึงได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ด้วยกำลังพระปัญญินทรีย์ แรงกล้ามาก คือยิ่งด้วยกำลังพระปัญญา
แต่ก่อนที่จะถึงกาลแห่งพระพุทธเจ้าทีปังกร ที่พระมหาโพธิสัตว์เจ้าทรงได้รับพุทธพยากรณ์ เป็นครั้งแรกนั้น ยังได้ทรงกระทำความปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้าด้วยพระทัย ตั้งแต่กาลแห่งพระพุทธเจ้าพรหมเทวะ มาตลอดจนถึงกาลแห่งพระพุทธเจ้าศากยมุนี (องค์ก่อน) แล้ว เป็นเวลาถึง 7 อสงไขยครั้นถึงกาลแห่งพระพุทธเจ้าศากยมุนีองค์ก่อนก็ทรงได้กระทำความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าด้วยพระวาจา มาตลอดจนถึงกาลพระพุทธเจ้าทีปังกร เป็นระยะเวลาถึง 9 อสงไขย จึงได้รับพุทธพยากรณ์จากสำนักพระพุทธเจ้าทีปังกรว่า ต่อไปอีก 4 อสงไขยกับแสนกัป จักได้บรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งถ้าจะรวมระยะกาลเวลาที่ได้ทรงบำเพ็ญบุญบารมี มาแต่แรกเริ่มปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าในพระทัย จนถึงสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าด้วยพระปัญญาอันยิ่ง เมื่อ 2585 ปีที่ผ่านมานี้นั้น เป็นระยะเวลายาวนานถึง 20 อสงไขยกับแสนกัป
พระสัทธาธิกโพธิสัตว์ ผู้บำเพ็ญบารมีจนสำเร็จความเป็นพระพุทธเจ้าด้วยพระศรัทธาแก่กล้ามากก็ต้องใช้เวลาบำเพ็ญบารมีเป็น 2 เท่าของพระปัญญาธิกโพธิสัตว์ คือถึง 8 อสงไขยกับแสนกัป จึงจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า
พระวิริยาธิกโพธิสัตว์ ผู้บำเพ็ญบารมีจนสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าด้วยพระวิริยะแก่กล้ามาก ก็ต้องใช้เวลาบำเพ็ญบารมีถึง 2 เท่าของพระสัทธาธิกพุทธเจ้า อย่างเช่น พระศรีอารยเมตไตรย ผู้จักได้เสด็จอุบัติขึ้นในกาลต่อจากกาลของพระพุทธเจ้าสมณโคดมนี้ เป็นพระวิริยาธิกโพธิสัตว์ ซึ่งจะมีระยะเวลาของการบำเพ็ญบารมีช่วงสุดท้าย นับตั้งแต่เมื่อได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรก ถึงพระชาติสุดท้าย ถึง 16 อสงไขยกับแสนกัป จึงจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า
ความเสด็จอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า อันสัตว์โลกมีได้ด้วยยากอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า “กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท – ความอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า เป็นการยาก” ด้วยประการฉะนี้ การที่สัตว์โลก มีมนุษย์เป็นต้น จะมีโอกาสได้ฟังพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าจึงยากนักหนา ที่กล่าวว่าการจะได้อัตภาพเป็นมนุษย์นับว่ายากอยู่แล้ว แต่การที่จะได้พบพระพุทธศาสนานั้นยากยิ่งกว่ามากนัก และเมื่อได้พบพระพุทธศาสนา คืออยู่ในกาลสมัยที่พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ได้ตรัสรู้และแสดงพระธรรมไว้ดีแล้ว แต่โอกาสที่มนุษย์จะได้ฟังธรรม จักได้มีโอกาสศึกษาทำความเข้าใจในพระธรรม และจะได้ปฏิบัติพระสัทธรรม ให้ได้รับผลสมควรแก่ธรรมนั้น ก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก พระพุทธองค์จึงได้ทรงตรัสว่า “กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ – การได้ฟังธรรมเป็นการยาก” และได้ตรัสมีปรากฏในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ข้อ 205 อีกว่า
“สัตว์ที่ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศไว้ มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศไว้ มากกว่าโดยแท้
สัตว์ที่ได้ฟังธรรมแล้วทรงจำไว้ได้ มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ได้ฟังธรรมแล้วทรงจำไว้ไม่ได้ มากกว่าโดยแท้
สัตว์ที่ไตร่ตรองอรรถแห่งธรรมที่ตนทรงจำไว้ได้ มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่ไตร่ตรองอรรถแห่งธรรมที่ตนทรงจำไว้ได้ มากกว่าโดยแท้
สัตว์ที่รู้ทั่วถึงอรรถรู้ทั่วถึงธรรม แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่รู้ทั่วถึงอรรถรู้ทั่วถึงธรรม แล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มากกว่าโดยแท้.”
เพราะเหตุนั้น ทุกท่านพึงพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า เมื่อท่านได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนาแล้วอย่างนี้ ท่านจะพึงปฏิบัติตนเพื่อยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านผู้อื่นให้สำเร็จด้วยดีได้อย่างไร ?
อาตมภาพได้ชี้ให้เห็นคุณค่าของพระรัตนตรัย คือ คุณพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้พระสัทธรรมอย่างถูกต้อง และได้ทรงปฏิบัติจนได้ผลดีด้วยพระองค์เองมาแล้ว จึงได้ทรงแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้ประพฤติปฏิบัติให้ได้ผลดีตามด้วย คุณพระธรรม ซึ่งผู้สนใจศึกษาและปฏิบัติด้วยอิทธิบาทธรรม คือ ด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา ย่อมเห็นผลประจักษ์ด้วยตนเองทุกเมื่อ และคุณพระสงฆ์ ผู้ศึกษาและปฏิบัติพระสัทธรรม และแนะนำสั่งสอน สืบต่อพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวมาจนถึงทุกวันนี้ ครบคุณพระรัตนตรัยแล้ว
จึงขอทุกท่านจงศึกษาและปฏิบัติธรรมให้ได้รับผลตามสมควรแก่ธรรม และขอจงเจริญรุ่งเรืองในพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และขอจงมีความสุข สวัสดี ในกาลทุกเมื่อเทอญ เจริญพร.
พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันอาทิตย์ ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2540