ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญและสันติสุข 3

เจริญพร ญาติโยมสาธุชนทุกท่าน

วันนี้อาตมภาพมาพบกับท่านผู้ฟังอีกเช่นเคย ในรายการปาฐกถาธรรม  เรื่อง ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญและสันติสุข  ตอนที่ 3  ว่าด้วย “อัตตสัมมาปณิธิ” การตั้งตนไว้ชอบ อันเป็นพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องจักร 4 ข้อที่ 3  ซึ่งได้กล่าวไปแล้ว 2 ข้อ คือ “ปฏิรูปเทสวาสะ” การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม กับ “สัปปุริสูปัสสยะ” การคบสัตบุรุษ สำหรับวันนี้จะได้กล่าวถึงจักร คือ ธรรมที่เป็นเสมือนล้อรถที่จะนำรถไปสู่ที่หมาย ให้สามารถถึงที่หมาย คือความสำเร็จ กล่าวคือ ให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขในชีวิตได้

3)  อัตตสัมมาปณิธิ  (การตั้งตนไว้ชอบ)

ก่อนอื่นขอท่านผู้ฟังมาทำความเข้าใจเรื่อง “ตน” หรือ “ตัวตน” นี้ก่อน เพื่อจะได้ทราบความหมายพร้อมทั้งเหตุและผลของคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าข้อ“การตั้งตนไว้ชอบ” นี้ให้แจ้งชัดขึ้น

ภาษาบาลีว่า “อตฺต” นี้ แปลว่า “ตน” หรือ “ตัวตน”  ซึ่ง ณ ที่นี้หมายถึง “จิตใจ” และ “อัตตภาพร่างกาย” ของสัตว์โลก   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จิตใจและอัตตภาพร่างกายของคนเรานี้แหละ  ที่ตราบใดยังไม่สิ้นกิเลส ตัณหา อุปาทาน ก็ยังจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ คือ ตายแล้วก็เกิดใหม่ แล้วก็แก่เฒ่า เจ็บไข้ได้ป่วย และตาย แล้วก็เกิดใหม่ในภพภูมิต่างๆ ที่ดีบ้าง ที่ไม่ดีบ้าง ได้รับความสุขบ้าง และความทุกข์บ้าง ไปตามกรรมดีหรือกรรมชั่ว ที่ได้เคยกระทำไว้แล้ว ทางกาย ทางวาจา และทางจิตใจ คือเจตนาความคิดอ่านทางใจนั้นเอง ที่ปรุงแต่งสัตว์โลกให้ดี หรือ เลว ให้ประณีต หรือ หยาบกระด้าง และให้ได้รับความสุข หรือ ความทุกข์ ต่างๆ กัน   ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสแก่สุภมาณพ โตเทยยบุตร ผู้ไปเฝ้าทูลถามปัญหากับพระองค์ ณ ที่ประทับ ที่พระวิหารเชตวัน พระนครสาวัตถี (มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่มที่ 14 ข้อ 581) ว่า

“กมฺมสฺสกา  มาณว  สตฺตา  กมฺมทายาทา  กมฺมโยนี กมฺมพนฺธู  กมฺมปฏิสรณา  กมฺมํ  สตฺเต  วิภชติ  ยทิทํ  ปหีนปฺปณีตตาย.”
“มาณพ !  สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้”

เพราะเหตุนั้น พระพุทธองค์จึงได้ตรัสสอนหลักประพฤติปฏิบัติตน ทางกาย ทางวาจา และทางใจ ในพระโอวาทปาฏิโมกข์ อันเป็นหลักธรรมข้อ “ตั้งตนไว้ชอบ” นี้แหละว่า

 สพฺพปาปสฺส  อกรณํกุสลสฺสูปสมฺปทา
 สจิตฺตปริโยทปนํเอตํ  พุทฺธาน  สาสนํ.
การไม่ทำความชั่วทั้งปวง 1   การบำเพ็ญแต่ความดี 1  การทำจิตให้ผ่องใส 1   นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

เพราะผู้กระทำแต่กรรมดี ย่อมได้รับผลดี เป็นความเจริญรุ่งเรือง และสันติสุข ส่วนผู้กระทำแต่กรรมชั่ว ย่อมได้รับผลเป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อน ดังพระบาลีธรรมภาษิต มีมาในขุททกนิกาย ทุกนิบาต ชาดก พระไตรปิฎก เล่มที่ 27 ข้อ 294 ว่า

 ยานิ  กโรติ  ปุริโสตานิ  อตฺตานิ  ปสฺสติ
 กลฺยาณการี  กลฺยาณํปาปการี  จ  ปาปกํ
 ยาทิสํ  วปเต  พีชํ ตาทิสํ  หรเต  ผลนฺติ
บุรุษทำกรรมเหล่าใดไว้      เขาย่อมเห็นกรรมเหล่านั้นในตน  ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี   ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว  บุคคลหว่านพืชเช่นใด     ย่อมได้รับผลเช่นนั้น

เพราะเหตุนี้ “ธรรม” คือ ข้อปฏิบัติ ที่พระพุทธองค์ตรัสสอน เรื่อง “จักร 4” ข้อที่ 3 นี้ว่า “อัตตสัมมาปณิธิ” การตั้งตนไว้ชอบ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่เหมือนล้อรถที่จะนำผู้ปฏิบัติไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข ได้นั้น คือการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ว่า

การไม่ทำความชั่วหรือบาปอกุศลทั้งปวง 1   
การบำเพ็ญแต่คุณความดี 1 
และ  การรักษาจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส 1  นั่นเอง

อนึ่ง เนื่องด้วยพฤติกรรมของตัวตนของสัตว์โลกทั้งหลาย ไม่ว่าจะดีหรือชั่วก็ตาม ย่อมแสดงออกทางไตรทวาร คือ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ เพราะเหตุนั้น “การตั้งตนไว้ชอบ” ก็คือ การรักษาความประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา และทางใจ ให้อยู่แต่ในคุณความดี ไม่ตกไปในทางชั่ว และรักษาจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา มิให้มัวหมอง

บุคคลใด กระทำได้อย่างนี้มากเพียงไร ก็จะถึงความเจริญรุ่งเรือง และสันติสุขแห่งชีวิต ได้มากเพียงนั้น แม้จะต้องลำบากหรือทุกข์ยากเพราะบาปอกุศล กรรมเก่าที่ได้เคยทำไว้ กำลังให้ผล แต่ให้มั่นคงอยู่ในหลักธรรมข้อนี้ คือ ให้ถือเป็นหลักปฏิบัติ หรือ เป็นจุดยืนในการดำเนินชีวิตตนให้มั่นคงอยู่อย่างนี้ ก็จะผ่านพ้นความทุกข์ยากได้ และย่อมจะนำชีวิตของตนให้ถึงความเจริญรุ่งเรือง และสันติสุขได้ ไม่นานเกินรอ และยังติดตามให้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป จนถึงมรรค ผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวงได้

แต่ถ้าบุคคลใดไม่มีจุดยืน คือ ไม่มีหลักธรรมข้อนี้ในการดำเนินชีวิต เป็นคนหลักลอย ไม่รู้ดี ไม่รู้ชั่ว ปล่อยจิตใจให้เลื่อนลอยไปตามอารมณ์ ด้วยอำนาจของกิเลสเป็นเหตุนำเหตุหนุน ให้คิดผิดๆ หรือมีแต่ความเห็นผิดๆ จึงกล่าวแต่วาจาที่ผิดๆ และกระทำแต่กรรมชั่ว ย่อมนำชีวิตของตนไปสู่ความเสื่อม และเป็นโทษ ความทุกข์เดือดร้อน ทั้งในภพชาติปัจจุบันและในภพหน้าต่อๆ ไป ไม่มีที่สิ้นสุด ดุจก้อนศิลาที่ตกลงไปในบ่อที่ไม่มีก้น ได้

เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เห็นตัวอย่างผลแห่งกรรมดี กรรมชั่ว จักได้มั่นใจในคุณความดี และรู้จักละอายและเกรงกลัวต่อการกระทำความชั่ว หรือบาปอกุศล อาตมภาพขอยกตัวอย่างใจความย่อ จากพระพุทธดำรัสที่ตรัสแก่สุภมาณพ โตเทยยบุตร ตามที่ปรากฏในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 ข้อ 582-596 ดังต่อไปนี้

ผู้มักฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เป็นบุคคลเหี้ยมโหด หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่มีความเมตตาเอ็นดูต่อผู้อื่นหรือสัตว์ที่มีชีวิตอื่น หรือผู้มีปกติเบียดเบียนผู้อื่นหรือสัตว์ที่มีชีวิตอื่นให้ได้รับความทุกข์ทรมานหรือให้พิกลพิการต่างๆ เมื่อตายจะเข้าถึงอบายภูมิ ทุคติ วินิบาต นรก คือย่อมไปเกิดเป็นเปรต สัตว์นรก อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉาน เพราะกรรมชั่วนั้น หรือถ้าได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีกในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีอายุสั้น และ/หรือ จะเป็นคนมีโรคมาก

ส่วนผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เป็นผู้วางอาวุธแล้ว มีความละอายต่อการทำชั่ว ต่อการหมกมุ่นในการประหัตประหารผู้อื่น หรือผู้มีปกติไม่เบียดเบียนผู้อื่นหรือสัตว์ที่มีชีวิตอื่นให้ได้รับความทุกข์ทรมาน เดือดร้อน หรือให้พิกลพิการต่างๆ มีความเมตตาเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลต่อผู้อื่น หรือสัตว์มีชีวิตอื่น ได้แก่ การปล่อยหรือให้ชีวิต หรือให้ปัจจัย 4 แก่สัตว์อื่น เป็นต้น เมื่อตายไปจะเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ เพราะความดีนั้น หรือถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์อีกในภายหลัง ก็จะเป็นผู้มีอายุยืน และ/หรือ จะเป็นผู้มีโรคน้อย

ผู้มักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง โกรธเคือง พยาบาท มาดร้าย เมื่อตายไปจะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมชั่วนั้น หรือถ้าได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีกในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีผิวพรรณทราม ไม่งดงาม

ส่วนผู้ไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท มาดร้ายใคร เมื่อตายจะเข้าถึงสุคติโลก สวรรค์ เพราะกรรมดีนั้น หรือถ้าได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีกในภายหลัง ก็จะเป็นคนที่มีผิวพรรณดี น่าเลื่อมใส

ผู้มีจิตใจริษยา มุ่งร้าย หรือผูกใจอิจฉา ในลาภ ยศ สักการะ ของผู้อื่น เมื่อตายไปจะไปเกิดเป็นเปรต สัตว์นรก อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉาน เพราะกรรมชั่วนั้น หรือถ้าได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีกในภายหลัง จะเป็นคนมีอำนาจราชศักดิ์น้อย

ส่วนผู้มีใจไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉา ในลาภยศสักการะของผู้อื่น เมื่อตายไปจะเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ เพราะกรรมดีนั้น หรือถ้าได้เกิดมาเป็นมนุษย์อีกในภายหลัง จะเป็นคนมีอำนาจราชศักดิ์มาก

ผู้ย่อมไม่เป็นผู้ให้ปัจจัย 4 มีข้าว น้ำดื่ม น้ำใช้ ผ้า ที่อยู่อาศัย และสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆ มียานพาหนะ เครื่องให้แสงสว่าง ดอกไม้ เครื่องของหอม เครื่องลูบไล้ เป็นต้น แก่สมณะหรือพราหมณ์ (ณ ที่นี้ หมายถึง พระอริยเจ้า พระอรหันตเจ้า) เมื่อตายไปจะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น หรือถ้าได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีกในภายหลัง จะเป็นคนมีโภคทรัพย์น้อย คือ จะเป็นคนขัดสน ยากจนทรัพย์

ส่วนผู้ย่อมเป็นผู้ให้ปัจจัย 4 มีข้าว น้ำ ผ้า ที่อยู่อาศัย และสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆ มียานพาหนะเครื่องให้แสงสว่าง ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ เป็นต้น แก่สมณะหรือพราหมณ์ คือพระอริยเจ้า พระอรหันตเจ้า เมื่อตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมดีนั้นหรือถ้าได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีกในภายหลัง จะเป็นคนมีโภคทรัพย์มาก คือ ย่อมเป็นคนมั่งมีศรีสุข ด้วยทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องอำนวยความสะดวก ได้แก่ ยานพาหนะเป็นต้นมาก

บุคคลผู้กระด้าง เย่อหยิ่ง ไม่เคารพกราบไหว้คนที่ควรเคารพกราบไหว้ ไม่ต้อนรับ ไม่ให้ที่นั่งที่สมควรแก่ผู้ควรแก่การต้อนรับ ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง ไม่นับถือ บูชา คนที่ควรนับถือบูชา เมื่อตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมชั่วนั้น หรือถ้าได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีกในภายหลัง ก็จะไปเกิดในสกุลต่ำ

ส่วนผู้ไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมเคารพกราบไหว้ บุคคลที่ควรเคารพกราบไหว้ ต้อนรับ ให้ที่นั่งอันสมควรแก่คนที่ควรต้อนรับ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง นับถือ บูชา บุคคลที่ควรนับถือบูชา เมื่อตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมดีนั้น หรือถ้าได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีกในภายหลัง จะเป็นคนเกิดในสกุลสูง

บุคคลผู้ย่อมไม่เข้าหาสมณะหรือพราหมณ์ คือพระอริยเจ้า พระอรหันตเจ้า แล้วสอบถาม อะไรเป็นบุญกุศล อะไรเป็นบาปอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรถือเป็นหลักประพฤติปฏิบัติ อะไรไม่ควรถือเป็นหลักประพฤติปฏิบัติ อะไรเมื่อปฏิบัติแล้วย่อมมิใช่ทางให้ ถึงความสิ้นทุกข์ สิ้นกาลนาน อะไรเมื่อปฏิบัติแล้ว เป็นทางให้ถึงความสุข สิ้นกาลนาน เมื่อตายลง จะเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมชั่วนั้น หรือถ้าได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์อีกในภายหลัง จะเป็นคนมีปัญญาทราม คือจะเป็นผู้มีปัญญาทึบ โฉดเขลา

ส่วนผู้ย่อมเข้าหาสมณะ หรือ พราหมณ์ คือพระอริยเจ้า พระอรหันตเจ้า แล้วสอบถามอะไรเป็นบุญกุศล อะไรเป็นบาปอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรนับถือเป็นหลักประพฤติปฏิบัติ อะไรไม่ควรนับถือเป็นหลักประพฤติปฏิบัติ อะไรเมื่อปฏิบัติแล้วมิใช่ทางถึงความสิ้นทุกข์ สิ้นกาลนานอะไรเมื่อปฏิบัติแล้วเป็นทางให้ถึงความสุขสิ้นกาลนานเมื่อตายลงจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมดีนั้น หรือถ้าได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์อีกในภายหลัง จะเป็นคนมีปัญญามาก คือจะเป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลม

เรื่องกฎแห่งกรรมดังตัวอย่างที่กล่าวมานี้ สำหรับผู้ฟังที่ไม่สนใจ ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมให้ได้ผลดีตามสมควรแก่ธรรมปฏิบัติแล้ว อาจไม่เชื่อ เพราะธรรมของพระพุทธองค์นั้น ทวนกระแสชาวโลกที่มืดบอดด้วย “อวิชชา” คือความไม่รู้อดีต ไม่รู้อนาคต ไม่รู้เหตุในเหตุถึงต้นๆ เหตุ ให้เกิดทุกข์ ไม่รู้สภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ ว่ามีได้เป็นได้อย่างไร และความไม่รู้หนทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์และที่เป็นบรมสุขอย่างถาวร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ว่า “มืดบอดด้วยโมหะ” คือความหลง ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ ตามที่เป็นจริง ก็น่าเห็นใจ เหมือนคนตาบอดมาแต่กำเนิด ที่ไม่เคยเห็นสีสันของโลกว่าเป็นอย่างไร ก็ไม่รู้จักสีเขียว สีแดง สีขาว สีเหลือง ว่าเป็นอย่างไร คนตาดีที่เขาได้เห็นโลกว่า มีสีสันอย่างไร จะบอกจะอธิบายอย่างไร ก็ย่อมจะไม่เข้าใจ และไม่เชื่อได้ หรือเหมือนคนป่าคนดอย ที่เคยเห็นแต่มีดพร้า จอบ เสียม ที่เมื่อเวลาโยนลงน้ำก็จมหาย แต่ไม่เคยเห็นเรือรบ เรือบรรทุกสินค้า หรือเรือโดยสาร ใหญ่ๆ ที่ล้วนแต่สร้างด้วยเหล็ก มีน้ำหนักบรรทุกมาก แต่ลอยน้ำได้ ถึงใครจะบอกอย่างไรๆ เขาก็ไม่เชื่อ เพราะเขาไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้จัก ยิ่งเรื่องนรก สวรรค์ เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว ก็ยิ่งไม่เชื่อ เพราะมองไม่เห็น ชีวิตแต่อดีตชาติที่ผ่านมาก็จำไม่ได้ ที่จะเป็นไปข้างหน้าก็ไม่รู้ว่าจะเป็นไปอย่างไร จึงไม่เชื่อเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ และหลงประพฤติปฏิบัติไปตามอำนาจของกิเลส แม้จะพอรู้กรรมดี และทำกรรมดีบ้าง ได้ผลเป็นความสุข ความเจริญบ้าง แต่ก็ไม่ถาวร ไม่ยั่งยืน เพราะความที่ไม่รู้จักกรรมชั่ว จึงหลงไปกระทำกรรมชั่ว มากๆ เข้า เมื่อยามหมดบุญจากกรรมดีที่เคยให้ผล ก็ต้องได้รับผลของกรรมชั่วที่เคยได้กระทำไว้แล้วต่อไป วนเวียนอยู่ในกองทุกข์ โดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุอยู่อย่างนี้ ต่อๆ ไป ไม่มีที่สิ้นสุด

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น เป็นวิทยาศาสตร์ทางธรรมชาติ (natural science) แท้ๆที่พระพุทธองค์ได้ทรงลงมือปฏิบัติอย่างมีระบบ (systematic study) ตามวิธีการศึกษาวิจัยที่ถูกต้อง คือ โดยทางศีล สมาธิ ปัญญา ถึงอธิศีลคือศีลอันยิ่ง อธิจิตคือจิตอันยิ่งหรือสมาธิยิ่ง จนเกิดอภิญญา คือความสามารถพิเศษ มีทิพยจักษุ ทิพยโสต เป็นต้น ให้เจริญวิชชา คุณเครื่องให้สามารถเจริญอธิปัญญา คือปัญญาอันยิ่ง จากการที่ได้ทั้งรู้และทั้งเห็นสภาวะและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติตามที่เป็นจริง (fact findings) ด้วยพระญาณ อย่างทะลุ ปรุโปร่ง หมดทั่วทั้งโลก ทั้งจักรวาล ถึงแสนโกฏิอนันตจักรวาล ไม่มีประมาณ ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบกับการศึกษาวิจัยโดยวิธีการสำรวจ (survey research) ก็เรียกว่า complete census คือการสำรวจวิจัย ข้อมูลจากประชากรทั้งหมดเบ็ดเสร็จ จึงทรงได้ข้อมูล คือสภาวะและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติตามที่เป็นจริงทั้งหมดจากทั่วทั้งพรหมโลก เทวโลก มารโลก ตลอดทั้งโลกของเปรต สัตว์นรก อสุรกาย และสัตว์ดิรัจฉาน หมดทั่วทั้งจักรวาล ถึงสัตว์โลกันต์ ที่อยู่นอกจักรวาลออกไปทางเบื้องต่ำ และถึงพระนิพพานที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง และที่เป็นบรมสุข ที่พ้นโลกขึ้นไปทางเบื้องบน

จึงทรงเห็นแจ้งแทงตลอดในพระอริยสัจจธรรม คือ ความจริงอย่างประเสริฐในเรื่องของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ สภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ คือ มรรค ผล นิพพาน และหนทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ทั้งปวง และที่เป็นบรมสุข ทรงบรรลุได้อาสวักขยญาณ คือ ญาณหยั่งรู้วิธีทำอาสวะกิเลสให้สิ้นเชิงไม่เหลือเศษ เป็นพระอรหันตขีณาสพ และทรงได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในตอนรุ่งอรุณของคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เมื่อ 2586 ปี ที่ล่วงมาแล้วนี้ แล้วได้ทรงแสดงธรรมประกาศสัจจธรรมเพื่ออนุเคราะห์เวไนยสัตว์ ผู้มีอุปนิสัยพอที่จะทรงโปรดอนุเคราะห์ได้ เป็นเวลาถึง 45 พระพรรษา จึงเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

พระสัทธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ จึงเป็นวิทยาศาสตร์ทางธรรมชาติ(natural science) แท้ๆ ด้วยประการฉะนี้ และสาธุชนผู้มีปัญญาใด จะพึงศึกษาและปฏิบัติพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้านี้ ย่อมจะเห็นสภาวะและหลักเกณฑ์ของธรรมชาติตามที่เป็นจริงและย่อมจะสามารถรู้แจ้งแทงตลอด พระอริยสัจจธรรม ให้ได้บรรลุคุณธรรม ถึงมรรค ผล นิพพาน ตามรอยบาทพระพุทธองค์ด้วยตนเอง ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้ในกาลทุกเมื่อ

เพราะฉะนั้น เมื่อท่านสาธุชนได้ทราบตัวอย่างผลแห่งกรรมดี กรรมชั่ว ที่บุคคลประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา และทางใจ จากพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ คือ ผู้ทรงรู้แจ้ง-ทรงเห็นแจ้ง กฎแห่งกรรมอันเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติตามที่เป็นจริง อย่างนี้แล้ว ผู้มีปัญญาพึงถือหลักธรรม ข้อ “อัตตสัมมาปณิธิ” คือ การตั้งตนไว้ชอบนี้ โดยประการสำรวมระวังความประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา และทางใจของตนให้ตั้งอยู่แต่ในคุณความดี มีศีล มีธรรม อย่างน้อย

  1. พึงเป็นผู้มีศีล 5 เพื่อรักษากาย รักษาวาจาของตนให้เรียบร้อยดี ไม่มีโทษ แก่ทั้งตนเองและผู้อื่น ให้เป็นปกติ
  2. พึงเป็นผู้มีเบญจกัลยาณธรรม คือ คุณธรรมดีที่ตรงกันข้ามกับความชั่ว คือประพฤติผิดศีล 5 ข้อ เหล่านั้น และ
  3. พึงฝึกฝนอบรมจิตใจให้สงบ คือให้หยุดให้นิ่งเป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคง โดยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม ตามหลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้จิตใจผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา อยู่เสมอ

ก็จะช่วยให้การดำเนินชีวิตของท่านผู้มีปกติรักษาศีลและปฏิบัติธรรมอยู่เช่นนั้นให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้ ประดุจล้อรถนำรถไปสู่จุดหมายปลายทางได้ ฉันใด ฉันนั้น

อนึ่ง “การตั้งตนไว้ชอบ” ด้วยธรรมปฏิบัติทั้ง 3 ข้อนี้ ผู้มีปัญญาพึงศึกษาและประพฤติปฏิบัติธรรม เพิ่มพูนบุญบารมีให้ยิ่งขึ้นไปเป็นอุปบารมี และถึงปรมัตถบารมี ให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอธิศีล คือศีลอันยิ่ง อธิจิต คือ จิตยิ่ง สมาธิยิ่ง และอธิปัญญา คือ ปัญญาอันยิ่ง อันมีนัยอยู่ในอริยมรรคมีองค์ 8 ก็จักถึงมหาอมตนฤพาน แดนเกษม ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง และที่เป็นบรมสุขอันถาวรได้ ดังที่จะได้ชี้แจงข้อปฏิบัติทั้ง 3 ข้อนี้ แต่พอสมควรแก่เวลา

การตั้งตนไว้ชอบ ด้วยข้อปฏิบัติ 2 ข้อแรก คือ พึงเป็นผู้มีศีลและบำเพ็ญกัลยาณธรรม นั้น ดังนี้

1.  พึงงดเว้นเจตนากรรม คือ การกระทำด้วยเจตนา ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และเบียดเบียนหรือผจญสัตว์ที่มีชีวิตให้ทุกข์ทรมานหรือพิกลพิการต่างๆ ด้วยกัลยาณธรรม คือด้วยความเมตตาธรรม ปรารถนาให้ผู้อื่นหรือสัตว์อื่นทั้งหลายอยู่ดีมีสุข ด้วยความกรุณาธรรม ปรารถนาให้ผู้อื่นหรือสัตว์อื่นผู้มีทุกข์ให้พ้นทุกข์ สังคมทุกระดับก็จะมีแต่ความร่มเย็นและสันติสุข

2. พึงงดเว้นเจตนากรรม คือการกระทำด้วยเจตนา ลักฉ้อ คดโกงผู้อื่น การประกอบอาชีพโดยมิชอบได้แก่การผลิตการจำหน่ายจ่ายแจกสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท การให้สินบาทคาดสินบน เพื่อให้ได้ผลประโยชน์โดยมิชอบธรรม ตลอดทั้งการฉ้อราษฎร์บังหลวง การปล้นทรัพยากรของชาติ ถึงกินบ้านโกงเมืองต่างๆ ด้วยกัลยาณธรรม คือการประกอบอาชีพโดยชอบ การเสียสละกำลังกาย สติปัญญา ความสามารถ หรือการบริจาคทรัพย์ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หรือสังคมโดยส่วนรวมและประเทศชาติ ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ เป็นต้น

อย่างเช่นในปัจจุบันนี้ ประเทศชาติกำลังต้องการความสมัครสมานสามัคคี ปรองดอง และความเสียสละจากบุคคลทุกฝ่าย ให้ช่วยกันแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ที่กำลังทรุดโทรมอยู่นี้ ให้ดีขึ้น ก็สมควรที่ทุกฝ่าย คือทั้งประชาชนทั่วไป ทั้งพ่อค้าและนักธุรกิจเอกชน ข้าราชการทุกหมู่เหล่า พนักงานรัฐวิสาหกิจ นักการเมือง นักวิชาการและผู้ประกอบวิชาชีพทั้งหลาย จะได้สมัครสมานสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันเสียสละกำลังกาย สติปัญญา ความสามารถ และกำลังทรัพย์ โดยมีคณะรัฐบาลเป็นแกนนำ เป็นศูนย์รวมพลังทุกด้าน ช่วยกันแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาติ ให้ดีขึ้น เพื่อความเจริญและสันติสุข ของประชาชนหมดทั้งประเทศร่วมกัน ซึ่งอามภาพขอเสนอต่อรัฐบาล ว่า

 (ก)   ให้หาโอกาสจับเข่าคุยกันกับรัฐบาลของต่างประเทศในภาคพื้นเอเชียที่กำลังประสบกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอยู่ด้วยกันในขณะนี้ ให้มีความสมัครสมานสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ ผนึกกำลังกันด้วยความเสียสละประโยชน์ส่วนประเทศชาติของตัว มาเห็นแก่ผลประโยชน์ของประชาชาติโดยส่วนรวม ช่วยกันแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยส่วนรวมร่วมกัน อย่างเร่งด่วน อย่างเข้มแข็ง จริงจัง และจริงใจต่อกัน เพื่อชาวเอเชียด้วยกัน เพื่อรักษาสถานะทางเศรษฐกิจของโลกร่วมกัน ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ให้เต็มกำลังสติปัญญาความสามารถของกลุ่มประเทศในเอเชียด้วยกันนี้ก่อน แล้วจึงขอความร่วมมือช่วยเหลือจากมิตรประเทศอื่นที่มีกำลังเศรษฐกิจที่มั่นคงดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาดุลย์การค้าระหว่างประเทศ  ของแต่ละประเทศ ที่ผูกไว้กับเงินสกุลต่างประเทศที่แข็ง เพราะมีความมั่นคงในทางเศรษฐกิจนั้น อาจแก้ไขให้บรรเทาลงได้ ด้วยการเจรจากันระหว่างประเทศในภาคพื้นเอเชียด้วยกัน กำหนดอัตราการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศร่วมกัน เป็นอัตรากลาง สำหรับการค้าระหว่างประเทศในเอเชียด้วยกัน แล้วตกลงค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่จำเป็นกันแบบ gtog barter system คือ การแลกเปลี่ยนสินค้ากันและกันโดยตรงระหว่างประเทศสมาชิก ให้ได้มากที่สุด และอาจพัฒนาไปถึงการใช้ระบบเงินตราสกุลเดียวกันได้ต่อไปในอนาคต ก็จะสามารถตัดความผูกพันกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่ประเทศเราตกเป็นเบี้ยล่างเขาได้อีกมาก และจะช่วยลดปัญหาดุลย์การชำระเงินระหว่างประเทศที่ต้องอาศัยการผูกไว้กับเงินสกุลที่แข็งได้มาก อาตมภาพขอเสนอวิธีการค้าแบบโบราณนี้มาเพื่อพิจารณาหาทางร่วมมือช่วยเหลือกันระหว่างประเทศเช่นนี้ ก็น่าจะทำให้ได้ผลดี คือ สามารถยกระดับสถานภาพทางเศรษฐกิจที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันทั้งภายในและภายนอกประเทศ ให้สูงขึ้น ให้ดีขึ้นและมั่นคงขึ้นได้ตามลำดับ แน่นอน

(ข)   ขอแนะนำในวงแคบเข้ามาภายในประเทศอีก  ถ้าประชาชนภายในประเทศผู้มีฐานะดี ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า นักธุรกิจ คฤหบดี คหปตานีทั้งหลาย ตลอดทั้งข้าราชการและนักการเมือง ที่มีกำลังทรัพย์เป็นสิบๆ ร้อยๆ พันๆ หมื่นๆ ล้าน อันเป็นทรัพย์ที่มีเหลือเฟือ เกินจำเป็น เกินต้องการ ตามสมควรแก่การบริโภคใช้สอยส่วนตัว ส่วนครอบครัว และหมู่คณะ ก็ขอให้รีบตัดสินใจเสียสละเพื่อประเทศชาติ เพื่อช่วยกันรักษาเศรษฐกิจของชาติให้ฟื้นคืนตัวโดยเร็ว เพราะถ้าเศรษฐกิจของประเทศชาติต้องทรุดโทรม ล่มจม ลงเพียงใด ประชาชนส่วนใหญ่กำลังเดือดร้อนยิ่งขึ้น เพียงใด ผลร้ายก็จะกระทบถึงท่าน ครอบครัว และหมู่คณะของท่าน ได้เพียงนั้น ท่านจะไม่ฝากความดี ความเห็นอกเห็นใจ ด้วยเมตตากรุณาธรรมแก่ประชาชนตาดำๆ ผู้กำลังประสบความทุกข์เดือดร้อนเพราะสถานะทางเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำ ให้เขาทั้งหลายพอจะสามารถลืมตาอ้าปากได้หรือ ?

ท่านที่มั่งมีเงินทองจากกองมรดกก็ดี ที่หาเงินหาทรัพย์ได้มาประการใดก็ดี ถ้าท่านเสียสละเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนทั้งชาติให้เต็มกำลัง ก็จะมีแต่คนยกย่องสรรเสริญเท่านั้น ท่านย่อมจะได้รับแต่ความชื่นชมยินดี และความกตัญญูกตเวทีจากประชาชนทั้งหลาย ด้วยผลแห่งกรรมดีของท่านทุกเมื่อ และการเสียสละบริจาคเช่นนั้น ก็จะเป็นอริยทรัพย์ติดตามให้ผลแก่ท่าน ให้เป็นผู้มีโภคทรัพย์มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขยิ่งๆขึ้นไปในสัมปรายภพจึงขอเสนอข้อ “ความเสียสละ” นี้ ฝากไว้แก่ท่านทั้งหลายได้ช่วยกัน ให้ไทยช่วยไทย เพื่อคนไทยด้วยกัน จะได้อยู่ดีมีสุขด้วยกันยิ่งๆ ขึ้นไป ทั้งประเทศ

(ค)   รัฐบาลควรจะสร้างงานให้ประชาชนผู้ว่างงาน ที่นับวันจะมีมากขึ้นทุกที ได้ทำมาหาเลี้ยงชีพ ในประการที่รัฐบาลพึงจะต้องมีการก่อสร้างเท่าที่จำเป็น และควรริเริ่มและส่งเสริมการสร้างงานภาคเกษตรกรรมในท้องถิ่นชนบท ให้จริงจังมากขึ้น เพื่อรับคนว่างงานจากส่วนกลาง ให้กลับไปทำมาหากินในท้องถิ่น ให้ได้มากที่สุด ก็จะลดปัญหาคนว่างงานให้มีอาชีพพอเลี้ยงตัวได้เป็นอย่างดี และ

(ง)   รัฐบาลควรส่งเสริม การทำสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ ให้พอมีกินมีใช้ภายในครัวเรือน และอาจถึงขายเป็นรายได้เพิ่มเติมก็จะเป็นการช่วยตนเองให้สามารถยืนหยัดอยู่ด้วยลำแข้งของตนเอง ได้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ก็จะได้ผลตามพระราชปรารถนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ที่ได้มีพระราชประสงค์ที่จะให้พสกนิกรของพระองค์ ได้มีอยู่มีกินโดยทั่วหน้ากันในกาลทุกเมื่อ

ขอเสนอแนะทั้ง 3 ประการนี้ ก็เป็นไปตามหลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงสั่งสอนให้ อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนก่อน ก็เป็นข้อปฏิบัติธรรมข้อ อัตตสัมมาปณิธิ คือ การตั้งตนไว้ชอบโดยตรงอีกประการหนึ่ง

3.  พึงงดเว้นเจตนากรรม คือ การกระทำด้วยเจตนาประพฤติผิดในกาม ไม่สำรวมในกาม และสำส่อนในกามกิเลส ด้วยกัลยาณธรรม คือ ความเป็นผู้มีความสันโดษในคู่ครองของตน มีความสำรวมในกาม ไม่สำส่อนในกิเลสกาม ครอบครัวก็จะมีแต่ความรักใคร่ปรองดองกัน และสันติสุข โรคเอดส์หรือโรคติดต่ออย่างอื่น ก็จะไม่ถามหา ปัญหาทางสังคมก็จะลดลง รัฐบาลและสมาคมสงเคราะห์ต่างๆ ก็จะได้ไม่ต้องมาเสียเวลา เสียกำลังบุคคลากรและกำลังทรัพย์ ที่จะมาคอยป้องกันแก้ไขปัญหาสังคมบ้าๆ บอๆ อย่างนี้ ให้มีกำลังทรัพยากรและเวลาไปพัฒนาประเทศชาติด้านอื่นได้อีกมาก

4.  พึงงดเว้นเจตนากรรม คือ การกระทำด้วยเจตนาพูดคำพูดที่ไม่ดี ภาษาพระท่านเรียกว่า ทุภาษิต ได้แก่ คำพูดที่ไม่จริง ที่โกหกหลอกลวงต่างๆ รวมทั้งคำพูดที่หยาบคาย ด่าทอ ที่เสียดแทงให้ผู้อื่นเจ็บช้ำน้ำใจคำพูดที่ยุแยกให้แตกสามัคคีกันและคำพูดที่เพ้อเจ้อเหลวไหล ไร้สาระต่างๆ ด้วยกัลยาณธรรม คือ พูดแต่คำพูดที่ดี คำพูดที่สร้างสรรค์ หรือพูดด้วยวาจาสุภาษิต ได้แก่ คำพูดที่พูดจริง คำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน คำพูดที่สมานไมตรี และพูดแต่คำที่มีแก่นสารสาระ ก็จะยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านให้สำเร็จ และจะเป็นบุคคลที่น่านับถือ น่าเลื่อมใสศรัทธา

อย่างเช่นในที่ประชุมอภิปรายต่างๆ บางคนพูดเหมือนเด็กๆที่ปัญญาน้อย มิใช่อาการของผู้มีสติปัญญาหรือผู้ทรงเกียรติ คือ มักค้านแย้งในเรื่อง หรือในโอกาสที่ไม่ควรค้านแย้ง ด้วยคำพูดและเหตุผลที่ไร้สาระ เพียงเพื่อกวนน้ำให้ขุ่น ให้เป็นอุปสรรคแก่การอภิปรายชี้แจงแถลงเหตุผลโดยธรรม ของฝ่ายตรงกันข้าม เพียงเพื่อเอาชนะคะคานกันด้วยความเห็นแก่ตัว เห็นแก่หมู่คณะ และด้วยทิฏฐิมานะของตัว หรือเพียงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของฝ่ายตน อันแสดงภูมิปัญญาที่ต่ำๆของตนอย่างน่าเกลียด ทำให้เสียบรรยากาศการอภิปราย และทำให้เสียผลประโยชน์ส่วนรวม เป็นอย่างมาก ผลของกรรมชั่วเช่นนั้น จะเป็นคนที่ไม่มีใครเขานับถือ ศรัทธา ในถ้อยคำและไม่นับถือสติปัญญาของตัว บุคคลเช่นนี้ มีอยู่ในหมู่คณะใด มากเพียงใด หมู่คณะนั้นก็ถึงความเสื่อม ล่มสลายลงได้ง่ายและเร็วขึ้นเพียงนั้น เพราะเป็นที่รู้กันว่า บุคคลคบคนเช่นใด เขาหรือพวกเขาก็เป็นเช่นนั้น เช่นนี้แล้วใครจะนับถือ เชื่อถือ ได้ต่อไป ประชนชนเขารู้เท่าทันและพากันรังเกียจและแช่งด่าบุคคลประเภทนี้กันมากแม้ในชนบทที่อยู่ห่างไกล เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มักประพฤติตนให้ไม่เป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธาเช่นนั้น จงเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเป็น “ตั้งตนไว้โดยชอบ” ด้วยการกล่าวแต่ว่าจาสุภาษิต คือพูดแต่คำพูดที่ดีที่สร้างสรรค์ ก็จะเป็นสิริมงคลทั้งต่อตนเองต่อหมู่คณะและทั้งต่อสังคมประเทศชาติได้มาก

5.  พึงงดเว้นเจตนากรรม คือ การกระทำด้วยเจตนาเสพและติดสิ่งเสพติด มึนเมาให้โทษ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ด้วยกัลยาณธรรม คือ ความมีสติสัมปชัญญะ พิจารณาเห็นโทษของยาเสพติดที่จะมีต่อสุขภาพร่างกายของตนเองและของผู้อื่น ต่อสุขภาพจิตใจและสติปัญญาความสามารถ  และต่อฐานะทางเศรษฐกิจของตนและของผู้อื่น ให้เสื่อมโทรมลง อันเป็นการฆ่าตนเองและฆ่าผู้อื่นอย่างโง่ๆ และเหี้ยมโหดแท้ๆ และความมีสติสัมปชัญญะพิจารณาเห็นคุณของการไม่เสพสิ่งเสพติด ด้วยปัญญาอันเห็นชอบในทางเจริญและทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง ชีวิตส่วนตัวและส่วนสังคมที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ก็จะมีแต่ดีกับดีเท่านั้นเอง

การตั้งตนไว้ชอบ ด้วยข้อปฏิบัติข้อที่ 3 คือ พึงฝึกอบรมจิตใจให้สงบ เป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคง เพื่อให้จิตใจผ่องใสอยู่เสมอ นั้น ในหลักธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ได้มีอุบายวิธีที่เหมาะกับจริตอัธยาศัยของผู้ฝึกปฏิบัติทุกอย่าง อย่างมีประสิทธิภาพ ชื่อว่า สมถะภูมิ 40 เพื่อฝึกอบรมจิตใจให้สงบ ให้ถึงระดับที่ใจหยุดใจนิ่ง เป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคง ถึงขั้นฌานจิต ที่จะมีผลให้เกิดองค์คุณเครื่องกำจัดกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา ให้จิตใจผ่องใสควรแก่งานพิจารณาเห็นสภาวะและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ และเห็นสัจจธรรมตามที่เป็นจริง เป็นวิปัสสนาปัญญา อันจะช่วยให้มีสติสัมปชัญญะรู้บาป บุญ คุณ โทษ ทางเจริญ ทางเสื่อม แห่งชีวิตตามที่เป็นจริง ได้เป็นประทีปส่องทางชีวิตไปสู่ทางเจริญและสันติสุข ไม่เป็นไปในทางเสื่อม อันเป็นโทษทุกข์ทั้งในปัจจุบัน และทั้งในอนาคตกาล ได้เป็นอย่างดี

พลังคุณธรรม พลังจิตที่บริสุทธิ์นี้ เกิดและเจริญขึ้นจากการศึกษาและปฏิบัติธรรม โดยทางศีล สมาธิ ปัญญา ถึงอธิศีล คือ ศีลอันยิ่ง อธิจิต คือ จิตยิ่ง สมาธิยิ่ง และอธิปัญญา คือ ปัญญาอันยิ่ง อันเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์กาย วาจา และใจ ตามแนวทางพระพุทธศาสนานี้นี่แหละ ที่เป็นพลังสูงยิ่งกว่าพลังอะไรในโลก และในจักรวาลทั้งสิ้น ไม่ต้องไปหาพลังจักรวาลที่ไหน พลังของโลกและจักรวาลนั้นอยู่ที่ศูนย์กลางกาย อันเป็นที่ตั้งกำเนิดธาตุธรรมเดิมของมนุษย์ และสัตว์โลกทั้งหลายนี้นี่แหละ เพียงแต่ประชาชนไม่สนใจศึกษาและปฏิบัติธรรม ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า จึงไม่รู้จักของดี คือตัวตนโลกุตตระ ได้แก่ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ที่มีพลังสูงสุด มีอยู่ในท่ามกลางที่สุดละเอียดของตัวตนโลกิยะนั้นแหละ เพราะมั่วแต่สนใจเรื่องนอกตัว จึงไม่รู้จักพลังสำคัญที่แท้จริงอยู่ว่ามีในตัวของตัวเอง เลยหันไปไขว่คว้าหาพลังจักรวาลในอากาศภายนอกตัว ที่ไม่มีแก่นสารสาระ ไม่เที่ยงแท้ถาวร เพราะเห่อของนอกเท่านั้นแหละ

กล่าวโดยสรุป “อัตตสัมมาปณิธิ” การตั้งตนไว้ชอบ ด้วย “ตนโลกิยะ” อย่างเช่นตัวเราท่านทั้งหลายนี้แหละ ที่พึงกระทำตามหลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงสั่งสอน ให้ละเว้นความชั่ว ด้วยการรักษาศีล ให้กระทำคุณความดี ด้วยการปฏิบัติกัลยาณธรรม และให้ชำระจิตใจให้ผ่องแผ้ว จากกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา ด้วยการเจริญภาวนาสมาธิชอบ อันจะเป็นพื้นฐานให้เห็นแจ้งในบาป-บุญ คุณ-โทษ และรู้แจ้งทางเจริญ-ทางเสื่อม ของชีวิตตามที่เป็นจริงได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ก็จะสามารถตั้งตนอยู่ในคุณความดี และดำเนินชีวิตตนไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขได้ดีขึ้น นี้เป็นการตั้งตนไว้ชอบในระดับโลกิยะ ที่ยังเป็นมตธรรม ที่จะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสงสารจักรนี้ แต่จะเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติธรรมให้ถึง “ตนโลกุตตระ” คือ ตนที่พ้นโลก ที่จะไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารจักรนี้อีกต่อไป ตนโลกุตตระ นี้คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ผู้บรรลุมรรค ผล นิพพาน อันเป็นอมตธรรม ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง และที่เป็นบรมสุข ที่เที่ยงแท้ถาวรตลอดไป และนี้คือ “อัตตสัมมาปณิธิ” การตั้งตนไว้ชอบ อย่างถาวรโดยแท้ และอมตธรรมนี้ เป็นธรรมที่มีพลังยิ่งใหญ่ที่สุด กว่าใดๆ ในจักรวาล

ผู้สนใจใคร่จะศึกษาและปฏิบัติธรรม เพื่อให้ถึงตัวตนโลกุตตระอันเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ที่เที่ยงแท้ ที่เป็นบรมสุข และที่ถาวร ก็ขอเชิญไปฝึกปฏิบัติธรรมได้ที่ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก  จ.ราชบุรี ได้เสมอทุกวันหลังทำวัตรเช้า-เย็น และทุกวันอาทิตย์เวลา 9.00 – 14.00 น.

อนึ่ง ในเทศกาลตรุษจีน ระหว่างวันที่ 28 มกราคม ถึง วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ทางวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ตั้งอยู่ริมถนนสายบางแพ-ดำเนินสะดวก ตรง กม.ที่ 14 ได้เปิดโอกาสให้สาธุชนเข้านมัสการและบูชา พระบรมสารีริกธาตุ และนมัสการ-ขอพร “พระพุทธชัยมงคล” พระพุทธรูปจำลองธรรมกาย พระประธานประจำอุโบสถ ที่สำเร็จด้วย jadeite คือ หยกแท้ และพระคู่บารมีพระประธาน ที่ล้วนสำเร็จด้วยหินรัตนชาติ และโลหะชั้นดีพิเศษ ที่ศักดิ์สิทธิ์ และที่หาดูได้ยากอีกมาก และพระปฏิมาจำลองโพธิสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระปฏิมาจำลองพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (กวนอิม) ที่สำเร็จด้วยหินผลึกธรรมชาติ ที่ชาวจีนเรียกว่าหิน “จุยเจีย” ที่ใสบริสุทธิ์ และมีขนาดสูงใหญ่ถึง 16 นิ้ว ที่สวยงามและเก่าแก่ ที่ยังไม่เคยปรากฏเห็นมีที่ใดมาก่อน เป็นศิลปช่างหลวง ในสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งมีอายุประมาณ 1,000 ปีมาแล้ว

จึงขอเชิญชวนสาธุชนทุกท่านไปนมัสการบูชาปูชนียวัตถุที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ และร่วมเป็นเจ้าภาพถวายพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุต่างๆ แก่วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ในระหว่างเทศกาลตรุษจีนนี้ โดยทั่วหน้ากัน

ขอความสุขสวัสดี จงมีแต่สาธุชนผู้ฟังทุกท่าน   เจริญพร.


พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันอาทิตย์ ที่ 18 มกราคม พ.ศ.2541

แชร์เลย

Comments

comments

Share: