จะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่เห็นในขณะปฏิบัติภาวนาธรรมนั้น ไม่ใช่สิ่งที่นึกเอาเอง

❓ถาม : จะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่เห็นในขณะปฏิบัติภาวนาธรรมนั้น ไม่ใช่สิ่งที่นึกเอาเอง ❓
🌍ตอบ : รู้ได้ด้วยการพิสูจน์ด้วยตนเอง เช่น การนึกให้เห็นดวงแก้วหรือพระแก้วขาวใสที่เรียกว่า กำหนดบริกรรมนิมิต ในเบื้องต้นของการฝึกเจริญภาวนาสมาธินั้น จะไม่มีทางนึกให้เห็นได้ชัดเจน ใสแจ๋ว และสว่างไสว เท่าเมื่อใจรวมหยุดเป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคงดีแล้ว (ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ 7 อันเป็นที่ตั้งของ กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม)
🌍การเห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย และการเห็นกายในกายไปจนถึงธรรมกายนั้น สวยงาม ละเอียด ประณีต และมีรัศมีปรากฏ แตกต่างจากการนึกเห็นด้วยใจในเบื้องต้นนั้นมากมายนัก อย่างที่เรียกว่า “ไม่เคยได้พบเห็นมาก่อน” แล้วจะไปนึกเอาเองได้อย่างไร จึงไม่ใช่สิ่งที่นึกเอาเอง
🌍เมื่อปฏิบัติได้ถึงธรรมกายแล้ว ก็ทดลองฝึกน้อมเข้าสู่อนาคตังสญาณ ดูเหตุการณ์ในอนาคตอันใกล้ๆ ดูบ้าง หรือฝึกขยายทิพยจักขุและข่ายของญาณทัสสนะ ดูสิ่งต่างๆ ที่พอจะพิสูจน์ได้ว่าเห็นจริงหรือไม่จริงดูบ้าง ก็ค่อยๆ มีประสบการณ์เองว่า ที่เห็นนั้นถูกต้องตามที่เป็นจริงก็มีมาก ที่ผิดพลาดบ้างก็มี ก็ให้พิจารณาเหตุสังเกตผลดู ว่าเป็นเพราะเหตุใด
🌍และถ้าได้ทำนิโรธดับสมุทัยปหานอกุศลจิตให้หมดสิ้นไปได้ดีเพียงใด และใจเป็นอุเบกขาเพียงใดในขณะใด ในขณะนั้นการรู้เห็นจะเป็นตามจริง ทั้งจริงโดยสมมติและจริงโดยปรมัตถ์เพียงนั้น แต่ถ้าขณะใด จิตใจยังมัวหมองอยู่ด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน มีอคติ การรู้เห็นในขณะนั้นก็มีโอกาสที่จะผิดพลาดได้ง่ายดาย
🌍ผู้ปฏิบัติธรรมที่เป็นพระอริยเจ้า หรือผู้ปฏิบัติธรรมที่หมั่นมีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันในกองกิเลส และหมั่นชำระจิตใจให้ผ่องใสไว้เสมอ ด้วยการเจริญสติปัฏฐานทั้ง 4 และทำนิโรธ ให้ใจสะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอเพียงใด ธรรมชาติเครื่องรู้เห็นมีทิพพจักขุและญาณทัสสนะเป็นต้นย่อมบริสุทธิ์ ให้สามารถรู้เห็นได้ถูกต้อง แม่นยำ กว่าผู้ที่ทรงคุณธรรมที่ต่ำกว่าเพียงนั้น
🌍เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิบัติถึงธรรมกายแล้วก็อย่าได้เหิมเกริมว่าเลิศแล้ว ต้องปฏิบัติภาวนาธรรมเพื่อกำจัดขัดเกลากิเลสให้หมดสิ้นไป ด้วยสติสัมปชัญญะและปัญญาอันเห็นชอบอยู่เสมอ
นั่นแหละจึงจะพอแน่ใจได้ว่าพอเอาตัวรอดได้ และเมื่อนั้นเครื่องรู้เห็น ได้แก่ ทิพพจักขุและญาณทัสสนะก็จะบริสุทธิ์ ให้สามารถรู้เห็นได้อย่างถูกต้องแม่นยำเอง
🌍จึงพึงเข้าใจว่า การสอนให้ตรึกนึกเห็นด้วยใจเป็นเครื่องหมายดวงแก้วกลมใส หรือ พระพุทธรูปขาวใส ขึ้น ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 นั้น เป็นเพียงอุบายวิธีในการอบรมจิตใจ ให้มารวมหยุดเป็นจุดเดียว (เอกัคคตารมณ์) ตรงศูนย์กลางกายอันเป็นที่ตั้งกำเนิดธาตุธรรมเดิม และเป็นที่ตั้งกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิตและธรรมในธรรม เพื่อเจริญสติปัฏฐาน 4 อันเป็นการเจริญภาวนานั้นเองทั้งสมาธิและปัญญา ด้วยการที่ให้ได้ทั้งรู้และทั้งเห็นสภาวธรรมและสัจจธรรมตามธรรมชาติที่เป็นจริง.
ตอบปัญหาธรรม
โดย พระเทพญาณมงคล
(หลวงป๋า เสริมชัย ชยมงฺคโล)
วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม

แชร์เลย

Comments

comments

Share: