ประวัติสังเขปพระมหาวรรณพงศ์ วณฺณวํโสพระมหาวรรณพงศ์ เดิมชื่อ สุนทร ตีรกิตติ เป็นบุตรชายคนสุดท้องของพี่น้องรวมทั้งหมด 7 คน บิดาและมารดาของท่านชื่อ นายประเสริฐ และนางสมบุญ ตีรกิตติ
พระมหาวรรณพงศ์เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2494 ปีเถาะ ท่านได้เข้ารับการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ท่านเป็นเด็กนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเลิศมาตลอด
หลังจากนั้นท่านสอบเอ็นทรานส์เข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ และหลังจากจบการศึกษาปริญญาตรีแล้ว ท่านสามารถสอบชิงทุนการศึกษา เรียนต่อระดับปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย Oregon, Oregon State, USA ได้สำเร็จอีกด้วย
และเมื่อท่านสำเร็จการศึกษาแล้ว ก็ได้เดินทางกลับมาทำงานที่เมืองไทย และยามว่างจากการปฏิบัติงาน ท่านก็ได้เริ่มปฏิบัติธรรมตามแนววิชชาธรรมกายครั้งแรก ที่วัดปากน้ำ กับหลวงป๋า พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล อดีตเจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ซึ่งขณะนั้นวัดหลวงพ่อสดฯ ยังอยู่ในช่วงก่อสร้างวัด หลวงป๋าจึงได้สอนท่านอยู่ที่วัดปากน้ำ จนกระทั่งพระมหาวรรณพงศ์ พร้อมที่จะสละเพศฆราวาส เพื่อเดินเข้าสู่ร่มกาสาวพักตร์ ตามรอยพระอาจารย์ของท่าน
ท่านได้เข้ารับพิธีอุปสมบท ณ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ในวันที่ 6 มีนาคม 2538 เวลา 9.47 น. ในขณะนั้นท่านมีอายุ 44 ปี มีพระอุปัชฌาย์ คือ พระเทพสุธี วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระกรรมวาจาจารย์ คือ พระมหาเสริมชัย ชยฺมงฺคโล และพระอนุสาวนาจารย์ คือ พระมหาสุจิตต สุจิตฺโต วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
ในช่วงต้นของเพศบรรพชิต ท่านได้ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้ผลอย่างดี และยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดหลวงพ่อสดฯ นอกจากนี้การเล่าเรียนพระปริยัติธรรมของท่านก็ได้ผลดีเช่นกัน ท่านสามารถสอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้เป็นผลสำเร็จในปี 2550 อายุได้ 55 ปี พรรษาที่ 12
และต่อมาในปี 2552 ท่านรับมอบหมายจากพระอุปัชฌาย์ของท่าน คือ หลวงป๋า ให้มาอำนวยการสร้างวัดสาขาของวัดหลวงพ่อสดฯ แห่งใหม่จากที่ดินของโยมสุภาพ สัจพันโรจน์ ผู้มีจิตศรัทธาถวายท่ีดินขนาด 46 ไร่ 12 ตารางวา ที่ตำบลหนองแจง อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์
พระมหาวรรณพงศ์พร้อมด้วยคณะญาติโยมที่มีจิตศรัทธา ได้มาร่วมกันก่อสร้างจนกระทั่งสำเร็จเป็นวัด ชื่อว่า วัดเทพมุนี มีศาลาการเปรียญ, เจดีย์บรรจุพระเขี้ยวแก้ว, กุฎิสงฆ์, ที่พักฆราวาส และโรงเรียนสอนพระปริยัติฯ ด้วยค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 14 ล้านบาทและเปิดเป็นวัดในปี 2554 และท่านดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาส จนกระทั่งปี 2559 วัดเทพมุนีนี้ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นวัดได้รับวิสุงคามสีมา และตัวของท่านเอง ก็ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสของวัดเทพมุนีนี้โดยสมบูรณ์ ณ วันที่ 15 กันยายน 2559
ย้อนกลับไปตั้งแต่ที่ท่านสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคในปี 2550 ในปีนั้น_ท่านก็ได้เริ่มต้นชำระพระไตรปิฏกปัจจุบันที่มีอยู่ ทั้งหมด 45 เล่ม ที่เป็นแบบย่อ ชำระให้กลับมาเป็นฉบับเต็มสมบูรณ์เหมือนสมัยครั้นโบราณแต่ก่อน เริ่มตั้งแต่หมวดพระวินัย, พระสูตร และพระอภิธรรม จนกระทั้งปลายปี 2563 ท่านก็ได้แปลชำระพระไตรปิฎกทั้ง 3 หมวดจนครบสำเร็จจนหมดสิ้น จบภาระกิจอันยาวนานที่ท่านได้พากเพียรกระทำมาอย่างยาวนานถึง 14 ปี และจนถึงวันสุดท้ายในวันที่ 11 มีนาคม 2564 เวลา 4.15 น. ที่ผ่านมา ท่านได้ล้มลงในห้องน้ำ ก่อนที่จะแต่งตัวออกไปบิณฑบาตตอนเช้า ท่านได้เสียชีวิตและจากพวกเราไปอย่างนิรันดร จากสาเหตุเส้นเลือดในสมองแตกทำให้หมดสติและวูบล้มลง ศีรษะกระแทกพื้นเสียชีวิต
ท่านได้ทิ้ง ความดี ความเมตตา คำแนะนำ คำสั่งสอน การเป็นตัวอย่างที่ดี ไว้ให้เหล่าเพื่อนภิกษุ, เพื่อนวิศวะ, เพื่อนชมรมมวย, คณะศิษย์ และเหล่าญาติของท่านมีความทรงจำที่ดีๆและมีความสุขไว้ซึ่งกันและกันตลอดไป
อภิชา อภิภัทรกิตติ ไวยาวัจจกรณ์ วัดเทพมุนี
หมายเหตุ ชื่อวัดได้รับแก้ไขเพิ่มเติมชื่อวัดใหม่โดยมติมหาเถรสมาคม 6/2567 มติที่189/2567 จาก วัดเทพมุนี เป็น วัดมงคลเทพมุนี