พระกริ่งพรหมปัญโญ ๙๖ และ
พระรูปเหมือนหลวงปู่หงษ์ รุ่น ๘ รอบ
ความเป็นมา
นับจากที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลการสร้างพระไม้แกะรูปเหมือนหลวงปู่หงษ์ รุ่นสะพานร้อยปีทั้งสองรุ่น คือพระรูปเหมือนรุ่นสะพานร้อยปีและรุ่นสะพานร้อยปี๒ ในวาระที่หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ มีอายุได้ 92 และ 93 ปีตามลำดับ จนเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ทางสุสานทุ่งมนได้จัดสร้างวัตถุมงคลซึ่งมีรูปแบบต่างๆหลายรุ่นตามมา แต่ปรากฏว่าพระที่สร้างขึ้นมานั้นได้รับความนิยมในกลุ่มลูกศิษย์ในวงแคบและยังขาดพุทธศิลป์ที่โดดเด่น ทั้งนี้เพราะว่าทั้งพระเครื่องและพระบูชาที่สร้างขึ้นต้องทำให้มีต้นทุนที่ต่ำเพื่อมอบให้แก่ผู้ร่วมทำบุญในวาระงานผ้าป่าพิธีไหว้ครูหลวงปู่และงานกฐินประจำทุกปี จึงได้พูดคุยกันเองว่าน่าจะมีใครช่วยทางสุสานทุ่งมนสร้างพระที่มีลักษณะงดงาม มีคุณค่าทางพุทธศิลป์และมีวาระการสร้างที่เหมาะสมที่จะทำให้ลูกศิษย์ที่นิยมพระเครื่องโดยทั่วไปได้สะสมมีไว้บูชา จนกระทั่งเนิ่นนานมาถึงปลายปีพ.ศ. ๒๕๕๔ คณะลูกศิษย์เห็นว่าหลวงปู่ใกล้จะมีอายุครบ ๘ รอบ น่าจะเป็นวาระที่สำคัญที่ทางสุสานทุ่งมนจะจัดสร้างพระเครื่องของหลวงปู่ไว้เป็นที่ระลึก เมื่อมีโอกาสได้ไปกราบเยี่ยมหลวงปู่ใกล้วันปีใหม่จึงได้นำเรื่องนี้มาปรึกษากับคุณเสกสรรค์ พรหมนุช ผู้มีหน้าที่ควบคุมและกำกับการสร้างวัตถุมงคลของสุสานทุ่งมนเพื่อขอให้ทางสุสานทุ่งมนจัดสร้างวัตถุมงคลในวาระดังกล่าวนี้ คุณเสกสรรค์ได้รับเรื่องไว้พิจารณาและเห็นด้วยที่จะสร้างวัตถุมงคลดังกล่าว จากนั้นได้มอบหมายให้คณะลูกศิษย์ของหลวงปู่หงษ์ที่เคยช่วยจัดทำพระรูปเหมือนไม้แกะสะพานร้อยปีเป็นผู้ติดต่อประสานงานในการสร้างวัตถุมงคลนี้ ในขั้นต้นได้ร่วมกันพิจารณารูปแบบการสร้างพระและมีความเห็นตรงกันว่าจะสร้างพระรูปเหมือนหลวงปู่ ด้วยวิธีการเททองหล่อดินไทยโบราณด้วยเนื้อนวโลหะ ซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์พุทธศิลป์ของไทยเพื่อสร้างคุณค่าทางจิตใจให้แก่ผู้สะสมไว้บูชา ให้เป็นที่ระลึกถึงพระคุณบารมีของหลวงปู่หงษ์ นอกจากนี้บรรดาลูกศิษย์จะได้ร่วมกันทำบุญบูชาและแสดงถึงมุทิตาจิตที่มีต่อหลวงปู่เป็นอย่างสูง
ภารกิจเมื่อเริ่มต้นวางแผนสร้างพระรูปเหมือน
ได้มีการกำหนดรายละเอียดรูปแบบและขนาดของรูปเหมือนหลวงปู่ไว้เป็นแนวทางให้แก่ช่างปั้นหุ่น โดยให้เป็นรูปเหมือนหลวงปู่ในท่านั่งสมาธิ (นั่งพับเพียบ) ฐานพระกว้างประมาณ 1.8 ซม. ส่วนพระพุทธนั้นควรเป็นการเทหล่อพระกริ่ง 1 ช่อมีจำนวนเพียง 9 องค์ โดยเริ่มแรกจะใช้พระกริ่งชินบัญชรของหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่เป็นต้นแบบเพื่อถอดพิมพ์ เพราะต้องการเทหล่อนำฤกษ์เพียงช่อเดียวเท่านั้น เมื่อได้ข้อสรุปการเทหล่อพระด้วยเบ้าดินไทยแบบโบราณแล้วจึงกลับมารายงานและปรึกษากับคุณเสกสรรค์อีกครั้งถึงจำนวนการสร้างพระในขั้นต้นและกำหนดคุณสมบัติของเนื้อชนวนที่จะใช้เทหล่อพระแต่ละประเภท โดยได้เน้นไปที่เนื้อนวโลหะที่ต้องการให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับตำราการสร้างพระเนื้อนวโลหะดั้งเดิมมากที่สุดเท่าที่งบประมาณในการสร้างจะอำนวย โดยประมาณการคร่าวๆว่าการใส่ทองคำหนัก 1 บาทต่อจำนวนการสร้างพระเนื้อนวโลหะแก่ทองประมาณ12องค์
การเริ่มต้นสร้างพระ
จากนั้นจึงเริ่มกระจายข่าวการสร้างพระรุ่น ๘ รอบนี้ให้บรรดาลูกศิษย์และญาติธรรมที่สนิทกันได้ทราบในวงแคบๆ และลงบทความแจ้งข่าวการเตรียมสร้างพระชุดนี้ในเวบ ‘ชุมชนคนรักมีด’ เพราะเคยลงแจ้งข่าวการสร้างพระรูปเหมือนไม้แกะสะพานร้อยปีมาก่อนหน้านี้ครั้งหนึ่งแล้ว และได้รับความกรุณาจากผู้รับผิดชอบเวบ ให้สามารถลงรายละเอียดต่างๆของการสร้างพระรุ่นนี้ได้โดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อเป็นการประเมินผลตอบรับเกี่ยวกับการสร้างพระดังกล่าวนี้
ผลการตอบรับจากบรรดาลูกศิษย์ที่จำกัดในวงแคบๆในขั้นต้น ปรากฏว่ามีการตอบรับที่ดีเกินคาดทั้งๆที่ยังไม่มีต้นแบบองค์พระใดๆมาให้ชมกัน แต่ทุกคนล้วนให้ความเชื่อมั่นว่าพระชุดนี้จะต้องสมบูรณ์เพียบพร้อมในทุกด้าน อันเนื่องมาจากความตั้งใจจริงที่จะช่วยกันสร้างพระถวายหลวงปู่ในวาระที่สำคัญยิ่ง ตลอดจนความไว้วางใจที่เคยประสานงานในการสร้างพระไม้แกะชุดสะพานร้อยปีถวายหลวงปู่มาแล้ว ลูกศิษย์แต่ละคนต่างหวังที่จะได้บูชาพระเครื่องที่เป็นเอกลักษณ์ของหลวงปู่ที่มีความพร้อมทั้งรูปแบบของพระที่งดงาม เนื้อชนวนที่มีคุณค่า และเป็นพระที่หลวงปู่ท่านเมตตาปลุกเสกให้เป็นอย่างดี ความคาดหวังของบรรดาลูกศิษย์แต่ละคนเป็นโจทย์ที่ท้าทายในการสร้างพระชุดนี้อย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะผู้รับหน้าที่ประสานงานในการสร้างพระครั้งนี้ไม่เคยมีประสบการณ์ในการสร้างพระมาก่อน ยิ่งเป็นการเทหล่อด้วยเบ้าดินไทยแบบโบราณด้วยแล้วยิ่งทำให้ต้องเพิ่มความระมัดระวัง ความละเอียดในการกำหนดรูปแบบขององค์พระต้นแบบ โดยสอบถามหาข้อมูลเพิ่มเติมจากท่านผู้รู้และมีประสบการณ์หลายๆท่านเพื่อให้มั่นใจว่าพระที่สร้างใหม่ชุดนี้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้
ผลการตอบรับอีกส่วนหนึ่งคือมีผู้แจ้งความประสงค์อยากได้พระกริ่งจำนวนมาก ส่วนพระรูปเหมือนนั้นมีผู้แจ้งความประสงค์อยากได้เนื้อทองคำนอกเหนือจากเนื้อนวโลหะอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อมีการตอบรับกลับมาเช่นนี้จึงได้ปรึกษากันเกี่ยวกับรูปแบบพระกริ่ง หากต้องสร้างจำนวนมากขึ้นรูปแบบของพระควรจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ จึงควรยกเลิกการถอดแบบพระเพื่อเทนำฤกษ์ เมื่อได้ข้อสรุปเช่นนี้แล้วจึงขอให้หาช่างปั้นหุ่นขี้ผึ้งต้นแบบทั้งรูปเหมือนและพระกริ่งพร้อมกัน ซึ่งกว่าจะได้ข้อสรุปในขั้นตอนนี้ก็ใช้เวลาไปแล้วประมาณ 4 เดือน
การปั้นแกะหุ่นขี้ผึ้งของพระต้นแบบในครั้งแรกยังไม่เป็นที่พอใจ เพราะต้องปรับแต่งรายละเอียดต่างๆหลายอย่าง โดยเฉพาะพระรูปเหมือนจะต้องปรับแต่งมากเพราะต้องให้ได้ทั้งเค้าหน้า และลักษณะท่านั่งและการครองผ้าจีวร ผ้ารัดประคดตรงตามลักษณะของหลวงปู่มากที่สุด ทั้งนี้การเททองหล่อพระด้วยดินไทยโบราณเป็นกรรมวิธีที่ได้พระไม่คมชัดนัก จึงต้องมีเค้าโครงรูปหน้าของหลวงปู่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ส่วนพระกริ่งนั้นจะเน้นปรับแต่งรูปหน้าและการวางมือให้ดูสมส่วนงดงาม การปรับแต่งหุ่นพระองค์ต้นแบบนี้ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ก็ยังไม่สามารถทำให้เป็นที่พอใจได้ โดยเฉพาะต้นแบบพระรูปเหมือนที่มีความเห็นว่าขนาดใหญ่เกินไป จึงสรุปว่าให้ช่างปั้นขึ้นมาใหม่อีกครั้งให้มีขนาดเล็กลง เมื่อได้หุ่นขี้ผึ้งต้นแบบที่ใกล้เคียงกับความพอใจแล้วจึงนำมาพิจารณาปรึกษากับคุณเสกสรรค์และผู้มีประสบการณ์ทางรูปแบบของพระกริ่งอีกครั้งเพื่อให้ความเห็นในการปรับต้นแบบเป็นครั้งสุดท้าย ในการปรึกษากันครั้งนี้คุณเสกสรรค์ขอให้ช่วยทำต้นแบบพระกริ่งอีกแบบหนึ่งซึ่งจำลองจากพระพุทธรูปที่ทางสุสานทุ่งมนสร้างขึ้นก่อนหน้านี้
ได้กำหนดชื่อพระเครื่องชุดที่จะสร้างนี้ดังนี้
พระรูปเหมือนหลวงปู่หงษ์ ๘ รอบ จะมี 2 แบบคือ
แบบที่แกะหุ่นต้นแบบใหม่ขนาดย่อมลง และถือเป็นพิมพ์มาตรฐานของพระชุดนี้
แบบหุ่นเดิมที่มีขนาดใหญ่กว่า
พระกริ่งพรหมปัญโญ ๙๖
พระกริ่งพุทธพรหมปัญโญ (พระกริ่งจำลองจากพระพุทธรูป)
จำนวนพระที่จัดสร้าง แยกตามประเภทของชนวนที่เทหล่อ มีดังนี้
พระรูปเหมือน ๘ รอบ พิมพ์มาตรฐาน
เนื้อทองคำ ฐานอุดผงมงคล พระธาตุและธาตุกายสิทธิ์ หล่อเหวี่ยงเบ้าปูน จำนวน 29 องค์
เนื้อเงินต้นธาตุฐานตัน เทหล่อเบ้าปูน จำนวน 3 องค์ (เท 1 ช่อจำนวน 9 องค์ แต่ได้พระเพียง 3 องค์)
เนื้อเงิน ฐานอุดผงมงคลพระธาตุและธาตุกายสิทธิ์ หล่อเหวี่ยงเบ้าปูน จำนวน 21 องค์
เนื้อนวโลหะแก่ทองคำเทหล่อเบ้าดินไทยโบราณ
เจาะฐานอุดผงมงคล จำนวน 108 องค์
เจาะฐานอุดผงมงคล จำนวน 1 องค์ ตอกโค๊ด 3 ตัว (พระที่หล่อไว้เกินจาก108องค์)
ฐานตันมี 2 โค๊ด ตอกโค๊ดพิเศษเพิ่มที่ใต้ฐาน จำนวน 6 องค์ (พระที่หล่อไว้เกินจาก108องค์ เผื่อทดแทนองค์ที่ชำรุด) ไม่มีหมายเลข
ฐานตัน จำนวน 50 องค์ (พระที่หล่อไว้เกินจาก108องค์ เผื่อทดแทนองค์ที่ชำรุด)
เนื้อนวโลหะผสมทอง หล่อเบ้าดินไทยโบราณ เจาะฐานอุดผงมงคล จำนวน 999 องค์
เนื้อสำริด หล่อเหวี่ยงเบ้าปูน เจาะฐานอุดผงมงคล จำนวน 499 องค์
เนื้อชนวนจากเหรียญและตะกรุดเกจิอาจารย์ เทหล่อดินไทยโบราณ จำนวน 9 องค์ เพื่อมอบให้แก่ผู้มีจิตศรัทธามอบวัตถุมงคลเป็นชนวน
เนื้อชนวนจากพระเครื่องและวัตถุมงคลเก่า หล่อเหวี่ยงเบ้าปูน ฐานอุดเม็ดกริ่ง จำนวน 61 องค์ เพื่อมอบให้แก่ผู้มีจิตศรัทธาที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในการสร้างพระ
พระกริ่งพรหมปัญโญ๙๖
เนื้อนวโลหะต้นธาตุ เชื่อมติดฐานทองคำ เทหล่อเบ้าดินไทยโบราณ จำนวน 9 องค์
เนื้อเงินต้นธาตุ เชื่อมติดฐานทองคำ เทหล่อเบ้าปูน จำนวน 9 องค์
เนื้อนวโลหะแก่ทองคำเทหล่อเบ้าดินไทยโบราณ
ฐานทองคำติดกาว จำนวน 39 องค์
ฐานเงินติดกาว จำนวน 59 องค์
พิมพ์แต่ง ฐานหุ้มทองคำติดกาว จำนวน 8 องค์ (แต่งจากพระที่หล่อเกิน เผื่อทดแทนองค์ที่ชำรุด)
ฐานอุดผง จำนวน 15 องค์ (จากพระที่หล่อเกิน เผื่อทดแทนองค์ที่ชำรุด)
ฐานอุดผง มีโค๊ด นะ ที่สะโพก จำนวน 10 องค์ (จากพระที่หล่อเกิน เผื่อทดแทนองค์ที่ชำรุด)
เนื้อนวโลหะผสมทองคำ เทหล่อเบ้าดินไทยโบราณ
ฐานทองแดงเชื่อม จำนวน 96 องค์
ฐานอุดผงมงคล จำนวน 43 องค์ (จากพระที่หล่อเกิน เผื่อทดแทนองค์ที่ชำรุด)
เนื้อสำริด หล่อเหวี่ยงเบ้าปูน ฐานทองแดงเชื่อม จำนวน 499 องค์
เนื้อขนวนเหรียญพระเก่าเนื้อทองแดง เทหล่อเบ้าดินไทยและเบ้าปูน ฐานทองแดง จำนวน 23 องค์ เพื่อมอบให้แก่ผู้มีจิตศรัทธามอบวัตถุมงคลเป็นชนวน
เนื้อชนวนวัตถุมงคลและพระเครื่องเก่า เทหล่อเบ้าปูน ฐานอุดผงปิดด้วยจีวรหลวงปู่ จำนวน 19 องค์ เพื่อมอบให้แก่ผู้มีจิตศรัทธาที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในการสร้างพระ
พระรูปเหมือนขนาดใหญ่ ซึ่งแกะหุ่นต้นแบบไว้แล้วได้นำมาใช้หล่อพระรูปเหมือนเพิ่มเติม
เนื้อนวโลหะแก่ทอง ฐานอุดผงมงคลและพระธาตุ จำนวน 27 องค์ ไม่มีหมายเลข หล่อเหวี่ยงเบ้าปูน โดยใช้ก้านช่อที่หล่อพระโดยการเททองเนื้อนวโลหะแก่ทองมาเป็นชนวนหล่อพระ
เนื้อนวโลหะผสมทอง ฐานอุดผงมงคล จำนวน 96 องค์ หล่อเหวี่ยงเบ้าปูน โดยใช้ก้านช่อที่หล่อพระโดยการเททองเนื้อนวโลหะผสมทองมาเป็นชนวนหล่อพระ
เนื้อสำริด หล่อเหวี่ยงเบ้าปูน ฐานอุดผงมงคล จำนวน 199 องค์
พระกริ่งพุทธพรหมปัญโญ จำลองลักษณะจากพระพุทธรูปที่สุสานทุ่งมนสร้างไว้แล้ว
เนื้อนวโลหะแก่ทองคำ หล่อเหวี่ยงเบ้าปูน ฐานทองคำติดกาว จำนวน 19 องค์ โดยใช้ก้านช่อที่หล่อพระโดยการเททองเนื้อนวโลหะแก่ทองมาเป็นชนวนหล่อพระ
เนื้อเงิน หล่อเหวี่ยงเบ้าปูน ฐานทองคำติดกาว จำนวน 19 องค์
เนื้อนวโลหะแก่ทองคำ หล่อเหวี่ยงเบ้าปูน ฐานเงินติดกาว จำนวน 39 องค์ โดยใช้ก้านช่อที่หล่อพระโดยการเททองเนื้อนวโลหะแก่ทองมาเป็นชนวนหล่อพระ
เนื้อสำริด หล่อเหวี่ยงเบ้าปูน ฐานทองแดงเชื่อม จำนวน 499 องค์
ภาพแสดงขั้นตอนการสร้างพระ
หุ่นขี้ผึ้งรูปเหมือนหลวงปู่ ที่แกะรายละเอียดเพื่อเตรียมทำบล็อกโลหะต้นแบบ
หุ่นขี้ผึ้งพระกริ่งพรหมปัญโญ๙๖ ที่แกะรายละเอียดเพื่อเตรียมทำบล็อกโลหะต้นแบบ
หุ่นขี้ผึ้งพระกริ่งพุทธพรหมปัญโญ
ต้นแบบบล็อกโลหะพระกริ่งพรหมปัญโญ๙๖ ที่ถอดจากหุ่นขี้ผึ้งที่ปั้นแกะขึ้นมา
นำวัตถุมงคลและชนวนโลหะที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคไปเข้าพิธีปลุกเสก เป็นปฐมฤกษ์ ในพิธีไหว้ครูของหลวงปู่ โดยนำพระเครื่อง วัตถุมงคลและชนวนที่จะใช้หลอมเททองวางไว้หน้าที่นั่งของหลวงปู่ หลวงปู่ออกมาทำพิธีไหว้ครู และปลุกเสกวัตถุมงคลในเวลาเช้ามืด วันที่ 30 สิงหาคม 2555
เมื่อเสร็จสิ้นพิธีไหว้ครู หลวงปู่ดับเทียนชัย เสกตอกพรมน้ำพุทธมนต์อีกครั้ง และพรมน้ำมนต์ให้บรรดาลูกศิษย์ที่เข้าร่วมพิธี
การเตรียมหุ่นขี้ผึ้งพระรูปเหมือนและพระกริ่ง ที่จะเทหล่อเบ้าดินไทยโบราณ โดยนำหุ่นขี้ผึ้งมาติดเป็นช่อ ทาพอกด้วยน้ำโคลนละเอียดที่ได้จากการกรองมูลวัว ปล่อยทิ้งไว้จนแห้งจึงทาพอกอีก ทำเช่นนี้ 5-6 ครั้ง จากนั้นจึงพอกทับด้วยดินเหนียวและปั้นขึ้นรูปเป็นเบ้าดิน แล้วตากลมให้เบ้าแห้งเมื่อจะทำการเททองหล่อพระ จะนำเบ้าดินไปคว่ำอุ่นเบ้าในเตาเผาเพื่อให้ขี้ผึ้งละลายไหลออกไป เหลือเป็นโพรงช่องว่างและทำให้ตัวเบ้าร้อนนำเบ้าที่ร้อนดีแล้วมาวางหงายเพื่อรับการเททองจนเต็มเบ้าในกรณีที่เป็นเบ้าปูน จะใช้ปูนพลาสเตอร์พอกทับหุ่นขี้ผึ้ง แล้วพอกทับด้วยดินเหนียวปั้นขึ้นรูปเป็นเบ้าเช่นเดียวกัน แต่ขั้นตอนจะง่ายและเร็วกว่ากันมาก |
ทองคำ เงิน พระเครื่อง แผ่นเงินตะกรุดโทนที่หลวงปู่จารเตรียมไว้เพื่อนำมาเป็นชนวนในการหล่อพระ เหรียญเจ้าสัวหลวงปู่หงษ์เนื้อทองคำ และทองคำที่ใส่ผสมในชนวนเพื่อเททองพระกริ่ง เนื้อนวโลหะต้นธาตุ 1 ช่อ |
การเททองหล่อพระนำฤกษ์ พระกริ่งพรหมปัญโญ๙๖ เนื้อนวโลหะต้นธาตุ และเนื้อเงินต้นธาตุ รูปเหมือนเนื้อเงินต้นธาตุ เนื้อทองคำที่ผสมในชนวนนวโลหะต้นธาตุหนักประมาณ 4 บาท แผ่นเงินจารจำนวนหนึ่ง เป็นการเททองนำฤกษ์ 1ช่อ ได้พระกริ่งจำนวน 9 องค์
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 เริ่มต้นเททองหล่อพระครั้งแรก ด้วยการเททองชุดต้นธาตุ ตามด้วยชุดพระกริ่งและพระรูปเหมือนชนวนรวมจากเหรียญและตะกรุด จากนั้นจึงเททองพระกริ่งชนวนพระเครื่องและวัตถุมงคลเก่าสุดท้ายจะใช้ชนวนสำริดของโรงงานเทหล่อพระกริ่งไว้ 5 ช่อๆละ9 องค์ |
การหล่อพระรูปเหมือนหลวงปู่หงษ์ รุ่น ๘ รอบ เนื้อทองคำหล่อเหวี่ยงเบ้าปูน เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 ด้วยทองคำ 96.5% จำนวน 29 องค์ ภายหลังจากการเททองนำฤกษ์ชุดต้นธาตุเสร็จสิ้นแล้ว ใช้ทองคำไปทั้งหมดหนักประมาณ 62 บาท อุดฐานด้วยผงมงคล เกศาหลวงปู่ และธาตุกายสิทธิ์ของสุสานทุ่งมน
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ขณะเริ่มต้นพิธีจะมีฝนโปรยลงมาเล็กน้อยสักครู่หนึ่งแล้วจึงหยุดไป พระสงฆ์สวดมงคลคาถา ขณะเริ่มทำพิธีเททองหล่อพระ พระกริ่งพรหมปัญโญ๙๖ พระรูปเหมือน ๘ รอบ เนื้อนวโลหะแก่ทอง และเนื้อนวโลหะผสมทอง โดยคุณเสกสรรค์เป็นผู้บวงสรวงตามตำราของหลวงปู่
การเตรียมเบ้าหลอมชนวนแยกกันระหว่างเนื้อนวโลหะแก่ทองซึ่งใช้ชนวนจากเนื้อต้นธาตุและทองคำน้ำหนักประมาณ 24 บาท ส่วนเนื้อนวโลหะผสมทองจะรอนำชนวนส่วนแรกมาผสม
การหล่อเหวี่ยงเบ้าปูน
เนื่องจากการหล่อเหวี่ยงเบ้าปูนเป็นกรรมวิธีหล่อพระเครื่องที่สะดวกและไม่ซับซ้อนเหมือนการเททองหล่อ การจัดเตรียมเบ้าปูนก็ไม่ยุ่งยาก โดยจะใช้กระบอกหล่อเป็นเบ้าปูน โรงหล่อพระจะมีกระบอกเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว เมื่อนำหุ่นขี้ผึ้งจำนวนที่เหมาะสม (ตั้งแต่ 1 ถึงประมาณ 10 ชิ้น) มาเชื่อมติดกันกับก้านหุ่นแล้วก็จะวางลงในกระบอก เทหล่อด้วยปูนพลาสเตอร์หุ้มหุ่นขี้ผึ้งโดยมีก้านหุ่นโผล่ไว้เพื่อเป็นทางให้เนื้อชนวนโลหะไหลเข้าในกระบอกในขณะหล่อ เมื่อปูนพลาสเตอร์แห้งดีแล้วจะนำไปคว่ำอบให้ร้อนในเตาเผาเพื่อให้ขี้ผึ้งละลายออกมา เหลือโพรงไว้ในกระบอก เมื่อจะทำการหล่อก็นำกระบอกที่ร้อนได้ที่แล้วออกจากเตาไปวางในตู้หล่อและประกบติดด้วยเบ้าเทชนวน เมื่อเทชนวนลงเบ้าหรือเผาเนื้อชนวนให้ละลายในเบ้าตามปริมาณที่เหมาะสมแล้วก็จะปั่นหมุนเบ้าและกระบอก เนื้อชนวนจะถูกเหวี่ยงด้วยแรงหนีศูนย์ ไหลเข้าไปอัดแน่นในกระบอก แล้วปล่อยให้ชนวนเย็นลงแข็งตัวอยู่ในกระบอก นำกระบอกที่ยังคงร้อนจัดอยู่ไปแช่น้ำ น้ำรอบกระบอกจะเดือดพาให้เนื้อปูนที่แตกตัวหลุดออกมาเหลือองค์พระอยู่ในกระบอก จากนั้นจึงนำพระที่หล่อติดกันเป็นพวงมาตัดแยกเป็นองค์ๆ กรรมวิธีนี้เนื้อพระที่ล้างน้ำแล้วจะดูสะอาดเรียบร้อยงดงาม ไม่มีคราบเบ้าติดอยู่เหมือนการเททองหล่อ พระและเนื้อชนวนที่สูญเสียจากการหล่อจะมีจำนวนน้อย การเตรียมเนื้อชนวนก็ไม่ต้องเผื่อมากนัก จึงทำให้เป็นการหล่อที่มีต้นทุนต่ำสุด สะดวกและรวดเร็วที่สุด
เหตุที่ใช้วิธีหล่อเหวี่ยงกับพระรูปเหมือนเนื้อทองคำ (ย้อนกลับไปดูรูปการหล่อพระ) ก็เพราะทองคำมีราคาสูงมาก การหล่อเหวี่ยงจะมีการสูญเสียประมาณ 3 – 4 % ขณะที่การเทหล่อจะสูญเสียประมาณ 10 – 20%
พระที่หล่อเหวี่ยงเบ้าปูนได้แก่
· พระรูปเหมือน ๘ รอบ เนื้อทองคำ จำนวน 29 องค์ และเนื้อเงิน จำนวน 21 องค์
· พระรูปเหมือน ๘ รอบ เนื้อพระเครื่องและวัตถุมงคลเก่า จำนวน 61 องค์
· พระรูปเหมือน ๘ รอบ เนื้อสำริด จำนวน 499 องค์
· พระรูปเหมือนองค์ใหญ่ทั้งหมด
· พระกริ่งพรหมปัญโญ เนื้อสำริด จำนวน 499 องค์
· พระพุทธพรหมปํญโญทั้งหมด
เฉพาะการหล่อเหวี่ยงเบ้าปูนเนื้อทองคำเท่านั้นที่จะต้องอยู่ดูแลและควบคุมการหลอมเนื้อทองคำอย่างใกล้ชิด ส่วนการหล่อเนื้ออื่นๆนั้นจะจัดเตรียมเนื้อชนวนไว้ ทางโรงงานหล่อพระจะหล่อพระเองตามเวลาการทำงานที่เหมาะสม
การตอกโค๊ด รุ่น ๘ รอบ
ลักษณะของโค๊ดที่ใช้ตอกด้านหลังขององค์พระทำไว้ 4 อัน แต่จะใช้โค๊ดหลักเพียงอันเดียว สำหรับตอกโค๊ดด้านหลังองค์พระชุดที่เททองหล่อทั้งหมดทั้งเบ้าดินไทยและเบ้าปูน รวมถึง พระรูปหล่อที่หล่อเหวี่ยงเบ้าปูนเนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อชนวนพิเศษ และพระรูปหล่อองค์ใหญ่เนื้อนวโลหะแก่ทอง
นอกนั้นจะใช้โค๊ดอีกอันหนึ่งตอก (ที่สุสานทุ่งมน) ซึ่งได้แก่ พระที่หล่อเหวี่ยงเบ้าปูนเนื้ออื่นๆทั้งหมด โค๊ดที่เหลือเป็นโค๊ดสำรอง และเก็บไว้ใช้ตอกวัตถุมงคลอื่นๆ
โค๊ดที่ตอกด้านหลังองค์พระ ที่เทหล่อทุกเนื้อโลหะ รูปเหมือนชุดทองคำ เงิน และชนวนพิเศษ
โค๊ดที่ตอกด้านหลังองค์พระ ที่หล่อเหวี่ยงทั้งหมด
การปลุกเสกพระ ครั้งที่หนึ่ง |
นำพระรูปเหมือน ๘ รอบ เนื้อทองคำ และพระที่เททองหล่อเสร็จแล้วเข้าปลุกเสก ในพิธีไหว้ครูชุดใหญ่ มีผ้าไตรถวายในพิธีมากที่สุดเท่าที่เคยจัดมา เป็นจำนวน 330 ผืน เมื่อเวลาเช้ามืดวันที่ 20 ธันวาคม 2555
การปลุกเสกพระ ครั้งที่สอง |
หลวงปู่ออกมาทำพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลที่สุสานทุ่งมนจัดทำขึ้น เพื่อให้บูชาในวาระที่จะถึงวันคล้ายวันเกิดหลวงปู่ที่จะมีอายุย่างเข้า 96 ปี เริ่มทำพิธีในช่วงเช้ามืดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เมื่อเสร็จพิธีปลุกเสกแล้ว หลวงปู่จะดับเทียนชัย เสกตอกพรมน้ำมนต์ และให้พรลูกศิษย์ที่มาร่วมพิธี
การปลุกเสกพระ ครั้งที่สาม |
ในโอกาสครบรอบคล้ายวันเกิดของหลวงปู่เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2556 ซึ่งทางสุสานทุ่งมนจัดให้มีงานไหว้ครูประจำทุกปี ได้นำพระที่สร้างเสร็จแล้วเข้าพิธีปลุกเสกเป็นครั้งสุดท้าย โดยนำพระชุดเนื้อทองคำ เนื้อนวโลหะแก่ทอง และเนื้อชนวนพิเศษไปจัดวางในห้องหลวงปู่ หลวงปู่ได้เมตตาปลุกเสกให้ตั้งแต่เช้ามืดและขณะเริ่มทำพิธีไหว้ครูหลังจากฉันเพลแล้ว
หลวงปู่นั่งทำพิธีในห้อง และโยงสายสิญจน์ออกมาข้างนอกเนื่องจากท่านมีปัญหาสุขภาพ วัตถุมงคลต่างๆที่นำมาเข้าพิธีปลุกเสกจะจัดวางไว้ที่ห้องด้านหน้าของกุฏิ
มวลสารมงคลที่ใช้อุดใต้ฐานพระรูปเหมือน ๘ รอบ หล่อดินไทยโบราณ
1. ผงที่เหลือจากการอุดใต้ฐานพระไม้สะพานร้อยปีทั้งสองรุ่น
2. พระเนื้อดินเผาเก่า (พระนาดูน พระสุโขทัย) ที่ชำรุด นำมาป่น
3. อิฐมอญของพระธาตุพนม (จากเมื่อครั้งพระธาตุพนมล้ม ปีพ.ศ.๒๕๑๘) นำมาป่น
4. พระเนื้อผงเก่าหลวงปู่หงษ์ นำมาป่น
5. ชิ้นส่วนไม้สะพานร้อยปีที่เหลือจากการแกะพระ นำมาสับและคั่วแล้วตำให้ป่น
6. เกศาหลวงปู่หงษ์ ชานหมากหลวงปู่หงษ์ป่น
7. ผงมงคลต่างๆ ที่ใช้อุดวัตถุมงคลของสุสานทุ่งมน
8. ดอกไม้บูชาที่หลวงปู่ให้ไว้เพื่อนำไปตากแห้งแล้วตำป่น
9. ธาตุกายสิทธิ์ เฉพาะพระรูปเหมือนเนื้อทองคำและเนื้อเงิน
10. ข้าวสารหิน ปัฐวีธาตุ เฉพาะพระรูปเหมือนเนื้อเงิน และพระรูปเหมือนองค์ใหญ่เนื้อนวโลหะแก่ทอง
11. โลหิตธาตุของหลวงปู่ นำมาผสมมวลสารอุดใต้ฐานพระเฉพาะพระรูปเหมือนเนื้อเงินที่หล่อเหวี่ยงเสร็จหลังสุด และพระรูปเหมือนองค์ใหญ่เนื้อนวโลหะแก่ทอง
รายการวัตถุมงคลที่ใช้เป็นชนวนหล่อพระชุดนี้
o พระเจ้าสัวเนื้อทองคำ สำหรับหล่อพระกริ่งพรหมปัญโญ๙๖ เนื้อนวโลหะต้นธาตุ
o พระจอมขวัญเนื้อเงิน พระเจ้าสัวเนื้อเงิน เหรียญเนื้อเงินพระพุทธเจ้าห้าพระองค์-เสาร์ห้า หลวงปู่หงษ์ สำหรับหล่อเนื้อเงินต้นธาตุ
o ตะกรุดโทนเนื้อเงิน ตะกรุดเนื้อทองแดง หลวงปู่หงษ์
o ตะกรุดชุด 12 ดอกยุคต้นของหลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ (หลวงปู่จารมือเอง)
o ตะกรุดโทนหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่
o ตะกรุดโทนเนื้อเงิน หลวงปู่คำบุ วัดกุดชมพู
o ตะกรุดโทนเนื้อเงิน หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง
o ตะกรุดสาลิกาเนื้อเงิน หลวงพ่อเกียง วัดวังน้ำเย็น
o ตะกรุดโทนเนื้อทองแดง หลวงพ่ออุดม วัดพิชัยสงคราม
o ตะกรุดโทนเนื้อทองแดง หลวงพ่อเจียม
o ตะกรุดเนื้อทองแดง หลวงพ่อสง่า วัดไผ่ล้อม
o ตะกรุดมหาปราบ หลวงพ่อพวง
o ตะกรุดโทนเนื้อทองแดง หลวงพ่อมหาโพธิ์ วัดคลองมอญ
o ตะกรุดชุด 7 ดอก หลวงพ่อฟู วัดบางสมัคร
o แหวนปลอกมีดเนื้อเงิน หลวงพ่อเกียง วัดวังน้ำเย็น
o เหรียญหล่อโบราณปางลีลาพิมพ์ใหญ่ เนื้อทองแดง หลวงพ่อเกียง วัดวังน้ำเย็น
o เหรียญครบรอบ 22 ปี เนื้อทองแดง หลวงปู่ทิม วัดระหารไร่ 2540
o เหรียญราหูเนื้อทองแดง ครูบาสร้อย วัดมงคลคีรีเขต 2538
o เหรียญหลวงปู่เจียม เนื้อทองแดง
o เหรียญหลวงพ่อคูณ เนื้อทองแดง รุ่น พรหลวงพ่อ
o เหรียญหลวงพ่อโสธร เนื้อทองแดง 2509
o เหรียญพุทธนิมิต เนื้อทองแดง วัดสุทัศน์ 2534
o พระปิดตาหลังรูปเหมือนเนื้อทองแดง หลวงพ่อเกษม สุสานไตรลักษณ์
o พระหลวงปู่ทวดเนื้อทองแดง หลัง รศ.200
o เหรียญ รุ่น พิเศษ เนื้อทองแดง หลวงพ่อโอด วัดจันเสน 2531
o เหรียญ รุ่น 5 รอบ เนื้อทองแดง ครูบาผัด วัดศรีดอนมูล 2527
o เหรียญพระอุปัชฌาย์แป้น วัดเสาธงใหม่ 2511
o เหรียญหลวงปู่ดู่ วัดสะแก เนื้อทองแดง 2529
o เหรียญสี่เหลี่ยมหลวงปู่ทวดหลังพระพรหม เนื้อทองแดง
o เหรียญนั่งเสือหลวงพ่อสุด วัดกาหลง รุ่น ปิตุภูมิ เนื้อทองแดง
o เหรียญหลวงพ่อเกษม สุสานไตรลักษณ์ รุ่น พิเศษ 2523
o เหรียญหลวงพ่อทองดำ วัดท่าทอง ศิษย์การรถไฟฯ เขต 3 จัดสร้างรุ่น1 2538
o เหรียญหลวงพ่อพรหมสร (รอด) เนื้อทองแดง
o เหรียญหลวงปู่ทิม วัดระหารไร่ เนื้อทองแดง รุ่น มั่ง มี ศรี สุข
o เหรียญหลวงพ่อทองสุข-ครูบาสร้อย วัดมงคลคีรีเขต เนื้อทองแดง 2537
o เหรียญหลวงพ่อฮวด วัดหัวถนนใต้ เนื้อทองแดง 2522
o พระร่วงหลังรางปืน หลวงปู่ทองเบิ้ม ปืนแตก วัดวังยาว 2536
o พระปรกใบมะขามรุ่นแรก ครูบาสร้อย วัดมงคลคีรีเขต เนื้อนวะโลหะ
o เหรียญหลวงแจ้ง วัดราชสีมาราม เนื้อทองแดง 2534
o เหรียญใบโพธิ์ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ เนื้อทองแดง
o พระปรกใบมะขามรุ่นแรก ครูบาสร้อย วัดมงคลคีรีเขต เนื้อทองแดง
o เหรียญสมเด็จพระสังฆราช ปุ่น วัดพระเชตุพน เนื้อทองแดง
o เหรียญพระเจ้าฝนแสนห่า วัดพระธาตุดอยจอมแจ้ง เนื้อทองแดง
o เหรียญครูบาศรีวิชัย วัดพระธาตุดอยสุเทพ เนื้อทองแดง
o เหรียญพระครูนิมมานการโกวิท วัดหนองบุ เนื้อทองแดง
o เหรียญหลวงปู่คร่ำ วัดวังหว้า รุ่นสร้างกำแพง ปี 2530 เนื้อทองแดง
o เหรียญแปดเหลี่ยม หลวงพ่อปิ๋ว วัดใหม่วิเวกวนาราม เนื้อทองแดง
o เหรียญหลวงพ่ออุตตมะ ปี 2511 เนื้อทองแดง
o เหรียญหลวงพ่อทองดำ สำนักสงฆ์ถ้ำตะเพียนทอง เนื้อทองแดง
o เหรียญหลวงปู่โทน วัดบูรพา เนื้อทองแดง
o เหรียญหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค เนื้อทองแดง
o เหรียญหลวงปู่เส็ง วัดบางนา 2523 เนื้อทองแดง
o เหรียญนั่งเสือหลวงพ่อสุด วัดกาหลง รุ่นโปรดเกล้า 2529 เนื้อทองแดง
o แผ่นยันต์เนื้อทองแดงของหลวงพ่อโสฬส วัดโคกอู่ทอง
o แผ่นยันต์เนื้อทองแดงของหลวงพ่อสิน วัดระหารใหญ่
o แผ่นยันต์ครูเนื้อเงิน 2 แผ่น ทองแดง 2 แผ่นจากศิษย์ที่ได้รับการครอบครูจากหลวงปู่ทิม วัดระหารไร่
o พระท่ากระดานเนื้อชิน เป็นพระสร้างใหม่โดยใช้เนื้อเก่ามาหล่อ
o เหรียญหลวงปู่หงษ์หลวงปู่สรวงเทวดาเล่นดิน เนื้อทองแดง
o เหรียญหลวงพ่อกบ เขาสาริกา รุ่น1 วัดประดิษฐาราม ปี2514 เนื้อทองแดง ปลุกเสกโดย หลวงปู่โต๊ะ หลวงพ่อแพ ฯลฯ
o แผ่นยันต์ชุดสาริกาล่องลม หลวงพ่ออั้น วัดโรงโค
o แผ่นทองคำลงยันต์สาริกาล่องลมหลวงพ่ออั้น วัดโรงโค
o แผ่นยันต์เนื้อทองคำของหลวงพ่อชำนาญ วัดบางกุฎีทอง
o ตะกรุดโทนไตรมาส 33 เนื้อเงินของหลวงพ่อยิด วัดหนองจอก
o ชนวนหล่อพระจักรพรรดิและชนวนหล่อรูปเหมือนหลวงปู่ดู่ อธิฐานจิตโดยพระอาจารย์วรงคต วิริยธโร (หลวงตาม้า) วัดพุทธพรหมปัญโญ (วัดถ้ำเมืองนะ) จ.เชียงใหม่
o พระกริ่งและเม็ดประคำเก่ากรุวังหน้า พระกริ่งจัมโบ้และพระกริ่งรวยมหาเศรษฐีหล่อกริ่งในตัวของหลวงปู่หงษ์ พระรูปหล่อ เหรียญเกจิอาจารย์เก่า ชนวนและทองล้นเบ้าจากเบ้าดินไทย (เพื่อหล่อเหวี่ยงเบ้าปูนพระรูปเหมือน ๘ รอบ เนื้อพระเครื่องและวัตถุมงคลเก่า)