เจริญพร ท่านสาธุชนผู้ฟังทุกท่าน
วันนี้วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2539 เป็นวันมหามงคลยิ่งวันหนึ่ง ด้วยว่าเป็นวันพระราชพิธีกาญจนาภิเษกเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ของเรา ได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ มาตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 จนถึงวันนี้ สิริรวมได้ 50 ปีแล้ว ซึ่งนับว่ายาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในประวัติศาสตร์ชาติไทย
ปวงชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศ และแม้ที่อยู่ในต่างแดน รวมทั้งชาวต่างประเทศ ที่ได้มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทั้งข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ต่างร่วมจิตร่วมใจกันจัดงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เฉลิมพระเกียรติ ถวายพระพรชัยมงคล และทั้งสาธุชนพุทธบริษัท ต่างบำเพ็ญกุศลอันมีทานกุศล ศีลกุศล และภาวนากุศล ตามฐานะของตน เพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา โดยทั่วหน้ากัน ความจริงการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ และการบำเพ็ญกุศล ถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิใช่เพียงแต่จัดเฉพาะในวันนี้ แท้ที่จริงแล้ว ได้มีการเตรียมการจัด และได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ไปแล้วล่วงหน้ามาตั้งแต่ปีที่แล้ว เช่นการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ การอบรมจิตตภาวนาถวายพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน เป็นต้น ซึ่งแสดงถึงความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา อย่างเต็มเปี่ยม และ
เมื่อมาถึงวันมหามงคลสมัย อันพิเศษในวันนี้ที่ยังไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ชาติไทยมาก่อน ปวงชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศต่างมีความปีติยินดีเป็นล้นพ้น ต่างมีจิตใจกอปรด้วยเจตจำนงตรงกันเป็นดวงเดียว จัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เฉลิมพระเกียรติ ถวายความจงรักภักดี ถวายพระพรชัยมงคล มีทั้งจัดการบำเพ็ญกุศลถวายพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ผู้ทรงเป็นพระมิ่งขวัญ ทรงเป็นที่รักอย่างยิ่งของปวงชนชาวไทย เพื่อขอให้พระองค์ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง ทรงมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน และขอให้ทรงสถิตสถาพรในสิริราชสมบัติยิ่งๆ ขึ้นไป และตลอดไป ด้วยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรานี้ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงคุณประเสริฐกว่าพระมหากษัตริย์ของประเทศใดๆ ในโลก กล่าวคือ นับตั้งแต่ที่พระองค์ท่านได้พระราชทาน พระราชสัจจปณิธานแก่ปวงชนชาวไทย ในพระปฐมบรมราชโองการ ในวันเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์สิริราชสมบัติ ว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” แล้ว พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจจานุกิจ ด้วยความมั่นคงในพระราชสัจจปณิธานนั้นมาโดยตลอด กล่าวคือได้ทรงประกอบพระราชจริยาวัตรอันงดงามด้วยขัตติยราชประเพณี และด้วยทศพิธราชธรรม ได้แก่
- ทาน คือ การให้ทรัพย์สินหรือสิ่งของ จะเห็นได้จากการที่พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ช่วยบำบัดทุกข์ เช่น ช่วยแก้ปัญหาการจราจร และช่วยบำรุงสุขแก่ประชาชน โดยทรงริเริ่มและดำเนินโครงการในพระราชดำริต่างๆ เพื่อช่วยส่งเสริมอาชีพประชาชนผู้ยากไร้ในภาคต่างๆ เป็นต้น
- ศีล คือ ทรงประพฤติปฏิบัติแต่ความประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม
- ปริจจาคะ คือ ทรงทุ่มเทเสียสละกำลังพระวรกาย และทั้งกำลังพระหทัย เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน ไม่ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยาก มาตลอดระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์มาถึงปัจจุบันนี้ จนกล่าวได้ว่า เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเหน็ดเหนื่อยมากที่สุด
- อาชชวะ คือ ทรงมีความซื่อตรง ทรงจริงพระทัยต่อประชาชน
- มัททวะ คือ ทรงมีความสุภาพอ่อนโยนต่อบุคคลตามฐานะ เช่น พระ สมณะ ชีพราหมณ์ ผู้เฒ่าผู้แก่ เป็นที่ประจักษ์ตาและประทับใจแก่ชนทั่วไป
- ตบะ คือ ทรงมีเดชเผากิเลสตัณหา ไม่ทรงหมกมุ่นอยู่แต่ในความสุขสำราญ
- อักโกธะ คือ ไม่ทรงลุแก่โทสะ ไม่ทรงแสดงความกริ้วเกรี้ยวกราดแก่ประชาชน
- อวิหิงสา คือ ไม่ข่มเหง เบียดเบียน ประชาชน ดังตัวอย่างเช่น เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมพระอาการประชวรของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ประทับรับการรักษาอยู่ ณ โรงพยาบาลศิริราชทุกวันๆ นั้น ได้ทรงหลีกเลี่ยงการเสด็จพระราชดำเนินไปในเวลากลางวันหรือในเวลาพลบค่ำ อันเป็นเวลาที่การจราจรคับคั่ง ประชาชนกำลังลำบากในการสัญจรไปมา ได้ทรงเลือกเวลา เสด็จพระราชดำเนินไปในเวลาหลังเที่ยงคืน คือประมาณ เวลา ตี 1 ตี 2 ทุกคืน นี้ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรเป็นล้นพ้น
- ขันติ คือ ทรงมีความอดทน เข้มแข็ง ไม่ทรงท้อถอยในพระราชกิจจานุกิจ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ประชาชน จะเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนอย่างเช่น เมื่อมีภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงพระประชวร และ ทรงมีพระพละกำลังน้อย ก็ยังทรงข่มพระหทัย ทุ่มเทกำลังพระวรกายและพระหทัย ช่วยวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วม อย่างเข้มแข็ง โดยที่ไม่ทรงห่วงใยพระพลานามัยของพระองค์เองเลย จนกล่าวได้ว่า ไม่มีพระมหากษัตริย์ประเทศใดๆ ในโลกที่จะเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนมากเท่าในหลวงของเราพระองค์นี้
- อวิโรธนะ คือ ทรงไม่คลาดจากธรรม คือคุณความดี ตามพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดุจดังพระมหาโพธิสัตว์ผู้ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญบารมีเพื่อความบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ฉะนั้น
พระราชจริยาวัตรอันงดงาม ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประกอบบำเพ็ญมาตลอดนี้แหละ ที่ได้นำความร่มเย็นและความสันติสุขมาสู่ปวงพสกนิกร ดังจะเห็นได้ว่า ในยามที่บ้านเมืองมีปัญหาวุ่นวาย ถึงความคับขัน ถึงขั้นจะเกิดการนองเลือด อันใครๆ อื่นไม่สามารถจะระงับได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ก็ทรงระงับได้ด้วยพระอัจฉริยะ พระปัญญา และพระบารมี จากการที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชจริยาวัตรด้วยทศพิธราชธรรมตลอดมาเป็นปกติ เมื่อทรงทราบความทุกข์เดือดร้อนของพสกนิกร ณ ท้องที่ใด ก็จะทรงขวนขวายช่วยเหลือแก้ไขด้วยพระอุตสาหะ วิริยะ และด้วยพระปรีชาสามารถ โดยไม่ทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ทั้งทรงริเริ่มและดำเนินโครงการในพระราชดำริ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข พสกนิกรของพระองค์ ให้มีสัมมาอาชีวะ ให้มีความอยู่ดีกินดีอย่างทั่วถึงทุกภาค สมดังพุทธภาษิตมีมาใน จตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย (21/99) ว่า
สพฺพํ รฏฺฐํ สุขํ โหติ ราชา เจ โหติ ธมฺมิโก
ถ้าพระราชาเป็นผู้ทรงธรรม ราษฎรทั้งปวงก็อยู่เย็นเป็นสุข.
จึงนับว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรานี้ ได้ทรงเสริมสร้างประเทศชาติไทย ให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงไพบูลย์ ให้พสกนิกรของพระองค์ได้มีความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข เป็นที่ประจักษ์ตา เป็นที่ประทับใจ และเป็นที่เลื่องลือขจรขจายไปทั่วนานาอารยประเทศ
พระคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรานี้ มีมากพ้นการพรรณนาได้หมดสิ้นในระยะเวลาอันสั้น กล่าวได้ว่า ล้นเกล้า ล้นกระหม่อม ล้นฟ้า ล้นแผ่นดิน ของปวงประชา จนกล่าวได้เต็มปากว่า ไม่มีพระมหากษัตริย์ของประเทศใดๆ ในโลกที่จะเสมอเหมือนพระองค์ สมควรที่เราทั้งหลายจะพึงแสดงความจงรักภักดีแสดงความกตัญญูกตเวทิตาธรรม ถวายพระพรชัยมงคล ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์อย่างสูงสุดยิ่ง ของเราทั้งหลาย ด้วยการปฏิบัติธรรม ให้กาย วาจา และใจ บริสุทธิ์ กล่าวคือ
ประการที่ 1 เลิกละความชั่ว หรือบาปอกุศลทั้งปวง ได้แก่
- งดเว้นกายทุจริต คือ งดเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การลักฉ้อ กบฏคดโกงต่างๆ การประพฤติผิดในกาม และงดเว้นการหลงติดอยู่ในอบายมุข อันมีสุรา ยาเสพติด การหมกมุ่นในกิเลสกามและการพนัน เป็นต้น
- งดเว้นวจีทุจริต คือ งดเว้นการกล่าววาจาโป้ปดมดเท็จ การกล่าวคำหยาบคาย การให้ร้าย ป้ายสี ด่าทอผู้อื่น กล่าวคำยุแยกให้แตกสามัคคีในหมู่คณะ และการกล่าวถ้อยคำเพ้อเจ้อเหลวไหล ไร้สาระ เป็นต้น และ
- งดเว้น มโนทุจริต คือ ไม่คิดปองร้าย ไม่โกรธ พยาบาทผู้อื่น ไม่โลภ เพ่งเล็งอยากได้ของเขาโดยประการอันมิชอบหรือด้วยความเห็นแก่ตัวจัด และไม่หลงมัวเมาจนไม่รู้บาปบุญคุณโทษ เป็นต้น
เมื่องดเว้นกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ก็เป็นการไม่สร้างเหตุแห่งความทุกข์ เวรภัยต่อไป เพราะความประพฤติทุจริตเป็นเหตุ ก็ไม่มี กายและวาจาก็สงบเป็นสุข พลอยให้จิตใจสามารถได้รับการอบรมให้สงบ เป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคงได้ง่าย ก็ย่อมบริสุทธิ์ ผ่องใส
ประการที่ 2 ประกอบบำเพ็ญแต่คุณความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ได้แก่
- ทานหรือจาคะ คือการบริจาคหรือเสียสละทรัพย์สิ่งของ เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น หรือเพื่อส่วนรวม
- การรักษาศีล คือ การประพฤติปฏิบัติทางกาย และทางวาจา เรียบร้อยดี ไม่มีโทษเป็นปกติ และ
- การเจริญภาวนา อบรมจิตใจให้สงบและบริสุทธิ์ผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์ และอบรมปัญญาให้บริสุทธิ์จากกิเลสอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้
จิตใจก็จะสงบจากกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา และจะบริสุทธิ์ผ่องใส อ่อนโยนควรแก่งาน แล้วจึง ร่วมจิต ร่วมใจ รวมใจกันหมดทั้งประเทศเป็นดวงเดียว อุทิศถวายเป็นพระราชกุศล และถวายพระพรชัยมงคลแด่พระองค์ท่าน
ซึ่ง ณ บัดนี้ อาตมภาพจะได้แนะนำวิธีเจริญจิตตภาวนาแต่เพียงย่อๆ พอเป็นเครื่องยังจิตใจให้สงบ บริสุทธิ์ ผ่องใสจากกิเลสนิวรณ์ แล้วจึงอธิษฐานจิตต่อไป
ให้ทุกท่านนั่งในท่าขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย ถ้าใครนั่งในท่าขัดสมาธิไม่ได้ ก็นั่งในท่าสะดวก ตั้งกายให้ตรง อย่านั่งพิงในท่าที่สบายเกินไป ใจจะง่วงไม่แจ่มใส ให้วางมือขวาอยู่บนมือซ้าย นิ้วชี้ขวาจรดพอดีหัวแม่มือซ้าย ดำรงสติให้มั่นคง คือไม่เผลอสติตกอยู่ในอำนาจของกิเลสนิวรณ์ ได้แก่ ความที่จิตใจง่วงซึม ไม่ปลอดโปร่ง หรือฟุ้งซ่านไปในเรื่องต่างๆ เป็นต้น ต้องมีสัมปชัญญะคอยรู้สึกตัวอยู่เสมอ ตั้งกายให้ตรงดีแล้ว หลับเปลือกตาลงเบาๆ อย่าเม้มเปลือกตาให้แน่น หายใจลึกๆ พอสบาย แล้วปล่อยกายตามสบาย อย่าเกร็ง สังเกตลมหายใจเข้าออก เห็นเป็นช่องว่างโล่งลงไป สุดลมหายใจเข้าออก ตรงศูนย์กลางกายระดับสะดือพอดี ทำใจให้สว่างเหมือนกลางวัน และ
กำหนดบริกรรมนิมิต นึกให้เห็นดวงแก้วกลมใส ปรากฏขึ้นตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ กำหนดใจให้เห็นเป็นจุดเล็กใส ประมาณเท่าเมล็ดโพธิ์เมล็ดไทร ใสบริสุทธิ์ ว่าเป็นศูนย์กลางดวงแก้ว ตั้งอยู่ตรงกลางเส้นทางลมหายใจเข้าออก ตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือพอดี
เหตุผลที่ให้กำหนดบริกรรมนิมิต นึกให้เห็นดวงแก้วกลมใส ใจอยู่ในกลางดวงที่ใส ตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือนั้น เพราะที่ตรงนั้นเป็นที่ตั้งกำเนิดธาตุธรรมเดิม จึงเป็นที่ตั้งกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม การที่จะให้ใจหยุดนิ่งตรงนั้นได้ “ใจ” นั้นไม่มีรูปร่างให้เห็นด้วยสายตาเนื้อได้ แต่มีอาการแสดงให้ทราบได้ คือความเห็นด้วยใจ ความจำ ความคิด และความรู้ เมื่อจะให้ใจรวมหยุดเป็นจุดเดียวกันที่ตรงนั้น จึงต้องมีอุบายวิธี ให้นึกให้เห็นดวงแก้วกลมใส แล้วให้นึกให้เห็นจุดเล็กใสว่าเป็นศูนย์กลางดวงแก้ว “ใจ” นึกเห็นอะไรที่ไหน ใจก็อยู่ที่นั่น
ด้วยอุบายนี้ จึงช่วยประคองใจให้หยุดให้นิ่งตรงศูนย์กลางกาย อันเป็นที่ตั้งกำเนิดธาตุธรรมเดิม ถูกกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม คือดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไข่ไก่ และกำหนดบริกรรมภาวนาว่า “สมฺมาอรหํ ๆๆ” ตรึกนึกให้เห็นดวงแก้วกลมใส ใจหยุดอยู่ตรงกลางของกลาง ศูนย์กลางดวงแก้วกลมใสอยู่เสมอ พร้อมกับนึกน้อมพระพุทธคุณในข้อพระปัญญาคุณ (จากคำว่า “สมฺมาสมฺพุทฺโธ” แปลว่า พระผู้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ) และพระวิสุทธิคุณ (จากคำว่า “อรหํ” แปลว่า พระผู้ห่างไกลจากกิเลส และบาปธรรมทั้งปวง) ระลึกน้อมพระปัญญาคุณและพระวิสุทธิคุณของพระพุทธเจ้ามาสู่ใจเรา เป็นพุทธานุสสติอีกด้วย
ประคองใจอันประกอบด้วยความเห็นด้วยใจ ความจำ ความคิด ความรู้ ให้สงบ ให้หยุด ให้นิ่ง สนิท ถูกส่วนเข้า ก็จะปรากฏดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ ประมาณเท่าฟองไข่แดงของไข่ไก่ หรือโตกว่านี้ ใสแจ่ม ขึ้นมา ก็ได้อย่าตื่นเต้น อย่ายินดียินร้าย ให้รวมใจหยุดในหยุดกลางของหยุด กลางของกลางๆๆ ตรงศูนย์กลางดวงที่ใสแจ่มนั้นแหละ ให้ใสสว่าง แม้จะยังไม่เห็นดวงธรรมใสแจ่มปรากฏขึ้น เพียงแต่ใจสงบก็ใช้ได้ แล้วจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก สากลธรรม และบุญกุศลที่เราได้ประกอบบำเพ็ญมาด้วยดีแล้วนี้ จงเป็นพลวปัจจัยแด่สมเด็จพระบรมบพิตร พระมหาราชเจ้า ให้ทรงมีพระวรรณะผ่องใส ทรงมีพระเกษมสำราญ ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง ทรงมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน ทรงปราศจากความทุกข์ สรรพโรค และสรรพภัยทั้งปวง
ขอความเจริญทั้งหลาย พระราชประสงค์ทั้งปวง พระพรชัยและมิ่งมงคลทั้งมวล อีกทั้งสิ่งที่พระองค์ทรงปรารถนาทุกประการ จงบังเกิดสำเร็จ แด่สมเด็จพระบรมบพิตร พระมหาราชเจ้า ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ตลอดกาลเป็นนิตย์ และขอจงทรงสถิตสถาพรในไอศูรย์สิริราชสมบัติ เป็นร่มโพธิ์ทองปกเกล้าปกกระหม่อมปวงพสกนิกร ให้มีความเจริญรุ่งเรือง ร่มเย็นและสันติสุข โดยทั่วหน้ากัน ตลอดกาลนานเทอญ.
ขอถวายพระพร สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ปวงอาตมภาพคณะสงฆ์จังหวัดราชบุรี พร้อมด้วยสาธุชนพุทธบริษัท ผู้มาฝึกปฏิบัติภาวนาธรรม ณ สถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสถวายพระราชกุศลและพระพรชัยมงคล เนื่องในมหามงคลสมัย ปีกาญจนาภิเษกและเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมนี้
ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์ทั้งหลายในสากลโลก สากลธรรม และบุญกุศลที่เราได้ประกอบบำเพ็ญมาด้วยดีแล้วนี้ จงเป็นพลวปัจจัยแด่สมเด็จพระบรมบพิตร พระมหาราชเจ้า ให้ทรงมีพระวรรณะผ่องใส ทรงมีพระเกษมสำราญ ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง ทรงมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน ทรงปราศจากความทุกข์ สรรพโรคและสรรพภัยทั้งปวง
รตนตฺตยานุภาเวน | กตปุญฺญาน เตชสา |
ทีฆายุโก มหาราชา | วณฺณวา จ สุเขธิโต |
พลูเปโต อนีโฆ จ | อโรโค โหตุ นิพฺภโย |
สพฺพวุฑฺฒิ จ สพฺพาสา | สพฺพญฺจ ชยมงฺคลํ |
ยมิจฺฉติ จ สพฺพนฺตํ | สมิชฺฌนฺตุสฺส สพฺพทาติ. |
ขอถวายพระพร
พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันอาทิตย์ ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2539