“มาแล้วเหรอ ปาลิไลยกะ” ถ้อยคำ อันเป็นปริศนาของ หลวงปู่ทองทิพย์ ที่กล่าวกับ หลวงป๋า

ธัชชัย ศรีอาจ พระของขวัญวัดหลวงพ่อสด


กุญช์ทนต์กายสิทธิ์ แห่งวัดหลวงพ่อสด ตัวแทนญานบารมีของหลวงป๋า
“มาแล้วเหรอ ปาลิไลยกะ”
ถ้อยคำ อันเป็นปริศนาของ หลวงปู่ทองทิพย์ ที่กล่าวกับ หลวงป๋า (พระเดชพระคุณ พระเทพญานมงคล) เมื่อครั้งที่หลวงป๋า ได้นำคณะพระภิกษุ และญาติโยม เข้านมัสการเยี่ยมเยือน หลวงปู่ทองทิพย์ เมื่อปี42
จากนั้นหลวงปู่ทองทิพย์ ก็ได้สนทนา กับหลวงป๋าและคณะ ครั้งนั้นหลวงป๋าท่านได้ นำพระพุทธรูปหยกหน้าตักประมาณ5นิ้ว มาถวาย ครั้นหลวงปู่ทองทิพย์ เห็นพระยกองค์นั้น ก็ปรารภขึ้นมาว่า “องค์นี้ก็สวยดีนะ แต่มีอีกองค์ที่สวยกว่า องค์เขียวๆ ที่มีฐานหนะ ที่ท่านวางไว้ ที่โต๊ะทำงานองค์นั้นหละ ” น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก..!!! ด้วยญาณทรรศนะ ของหลวงปู่ทองทิพย์ ท่านรู้ว่ามีพระพุทธรูปหยก หน้าตัก9นิ้ว มีฐานสูง วางไว้ที่ทำงานหลวงป๋า (ตอนผมเป็นเณรก็เคยเห็นพระองค์นั้น) หลวงปู่ทองทิพย์ ท่านไม่เคยเห็นรูปพระองค์นั้น แม้แต่รูปกุฏิหลวงป๋า และที่ทำงานของหลวงป๋า ท่านก็ไม่เคยเห็นรูป และไม่เคยไปวัดหลวงพ่อสดแต่อย่างใด แต่ท่านบรรยายลักษณะ พระพุทธรูปองค์นั้น ได้อย่างถูกต้องแม่ยำมาก หลวงป๋าท่านปราวณาไป ได้ๆ ในครั้งนั้นหลวงป๋าได้ถวายพระองค์เล็กนั้นก่อน ในขณะที่เดินทางกลับนั้น หลวงป๋าท่านได้พูดกับคณะว่า “หลวงปู่ทองทิพย์ท่านตาดีจริงๆ มองเห็นได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมาก” และในภายหลัง หลวงป๋าท่านก็ได้อัญเชิญ พระพุทธรูปองค์นั้น มาถวายแก่หลวงปู่ทองทิพย์
ว่าด้วยเรื่อง ช้างปาลิไลยกะ เป็นช้างที่รู้จักกันดีในพระพุทธประวัติ เพราะเป็นช้างที่ได้ปรนนิบัติพระพุทธเจ้าตลอดพรรษที่ 10 นับตั้งแต่พระพุทธองค์ตรัสรู้ ในขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับจำพรรษาที่ป่ารักขิตวัน ใกล้หมู่บ้านปาลิไลยกะ ใกล้เมืองโกสัมพี หมู่บ้านนี้จึงมีความสำคัญในพุทธศาสนา
ช้างปาลิไลยกะเป็นช้างพลายหัวหน้าโขลงที่มีกำลังแข็งแรง ต่อมาเกิดความเบื่อหน่ายต่อการอยู่รวมกับช้างเป็นจำนวนมากในโขลง เพราะช้างเหล่านั้นประพฤติตนไม่อยู่ในระเบียบ ทั้งในเรื่องอาหารการกิน และการดำรงชีวิตอยู่ เช่น แย่งกินหญ้าหมด พญาช้างต้องกินต้นหญ้าที่เหลือ นอกจากนี้ช้างโขลงนั้นยังลงกินน้ำในแอ่งหรือสระก่อน และทำน้ำขุ่น พญาช้างต้องกินน้ำขุ่นๆ ช้างพังก็มักชอบเดินเสียดสีกายพญาช้าง เมื่อต้องลงไปท่าน้ำหรือขึ้นจากน้ำ ช้างปาลิไลยกะจึงตัดสินใจแยกตัวจากโขลงไปเป็นช้างโทนอยู่ตามลำพังเพื่อความสุขสงบของตนเอง
ในเวลาเดียวกันนั้น พระพุทธองค์ทรงเบื่อระอาภิกษุชาวโกสัมพี ที่ทะเลาะวิวาทกันด้วยเรื่องเล็กน้อย จึงทรงหลีกออกจากพระภิกษุไปแต่พระองค์เดียว จึงเสด็จไปทางหมู่บ้านปาลิไลยกะ ประทับอยู่ที่บริเวณ ใต้ต้นสาละที่ชายป่ารักขิตวัน จำพรรษาอยู่ ณ ที่นั้น
หลังจากนั้นช้างปาลิไลยกะก็เดินทางไปถึงที่ซึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ได้เข้าไปทำความเคารพด้วยความเลื่อมใสศรัทธา เนื่องจากเป็นช้างที่เฉลียวฉลาด เมื่อเห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่เพียงพระองค์เดียว ไม่มีสิ่งใดจะเป็นเสนาสนะของพระองค์ พญาช้างมีความปรารถนาที่จะปรนนิบัติพระพุทธเจ้า
ช้างปาลิไลยกะได้ปรนนิบัติต่อพระพุทธเจ้าเช่นนี้เป็นประจำตลอดพรรษา คือเป็นระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าจึงออกเดินทางต่อ โดยพญาช้างเดินตามมาขวางทางไว้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสแก่พญา-ช้างว่า พระองค์เสด็จไปแล้วไม่กลับมาอีก ขอให้พญาช้างหยุดเพียงนี้ พญาช้างมีความอาลัยจึงสอดงวงเข้าปากแล้วร้องไห้ เดินตามไปข้างหลังจนใกล้เขตหมู่บ้าน พระพุทธองค์ทรงบอกพญาช้างให้กลับเพราะต่อไปจะเป็นที่อยู่ของมนุษย์ จะมีอันตรายอยู่รอบข้าง พญาช้างจึงยืนร้องไห้อยู่ ณ ที่นั้น มองดูพระพุทธองค์ จนกระทั่งเสด็จห่างไปลับสุดสายตาแล้วจึงหัวใจวายสิ้นลงทันใด และเนื่องจากช้างปาลิไลยกะมีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า จึงได้เกิดในสวรรค์เป็นเทพบุตร ชื่อ ปาลิไลยกะเทพบุตร อยู่วิมานทองสูง 30 โยชน์ในสวรรค์ดาวดึงส์ ในท่ามกลางนางอัปสรนับพัน
และยังมีพุทธพยากรณ์ เกี่ยวกับช้างปาลิไลยกะว่า
“ดู ก่อน ! พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ผู้เจริญ สรรพสัตว์ทั้งหลาย หากยังมิได้บรรลุธรรมอันเลิศในพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านี้ คือ
พระศาสนาของเรา ๑
พระศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรยสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
พระศาสนาของพระรามสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
พระศาสนาของพระธรรมราชาสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
พระศาสนาของธรรมสามีสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
พระศาสนาของพระนารทสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
พระศาสนาของพระรังสีมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
พระศาสนาของพระเทวเทพสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
พระศาสนาของพระนรสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
พระศาสนาของพระติสสะสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ ฯ
ช้างปาลิเลยยโพธิสัตว์ จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า “สุมังคละ” ในอนาคตกาล ฯ
ขอท่านทั้งหลายจงปรารถนาบรรลุธรรมอันเลิศ ในพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า “สุมังคละ”พระองค์นั้นเถิด ฯ”
เป็นเรื่องแปลกอยู่เหมือนกัน ในวัดหลวงพ่อสดเรานี้ มักมีประติมากรรมเป็นรูปช้าง อยู่ตามที่ต่างๆ ตอนข้าพเจ้าบวชเป็นเณรอยู่นั้น ก็มีโยมนำช้างไม้ ตัวใหญ่เท่าช้างจริงๆนี่แหละ มาถวายวัด โดยตั้งประดับไว้ที่หน้าศาลาอเนกประสงค์ หลวงป๋าท่านก็ดำริว่า “ตัวใหญ่สวยดี” และยังมีเรื่องเล่าของผู้ทำวิชา เล่าว่าช้างไม้นั้น มีจิตของเทพยดาสถิตย์อยู่ และครั้งที่สอง ก็มีผู้นำช้างหินตัวใหญ่ มาถวายวัดอีก หลวงป๋าก็พูดเหมือนเดิมว่า ตัวใหญ่และสวยดี หลวงป๋าท่านเหมือนกับชอบช้าง แม้กระทั่งพระพิฆเนศแกะด้วยหินรัตนชาติต่างๆ ท่านก็มักจะบอกว่า สวยดี เสมือนว่าท่านมีความผูกพันธุ์ กับคชชาติมาก่อน แม้แต่คัมภีร์เก่าแก่ที่เป็นโองการ อัญเชิญพญาเหล็ก ก็ถูกจารึกบนหนังช้าง และได้ตกทอดมาเป็นสมบัติ ของหลวงป๋าในกาลต่อมา
การสร้างเครื่องรางรูปงาช้าง หรือกุญช์ทนต์นั้น แฝงด้วยนัยยะ อันล้ำลึกเกี่ยวข้องกับสายญานบารมีของครูบาอาจารย์เรา กล่าวคือเป็นสิ่งที่ผูกพันธ์ กับหลวงป๋า เป็นสิ่งที่หลวงป๋า เห็นแล้วมักบอกว่า สวยดี เป็นเสมือนตัวแทนความดี การบำเพ็ญบารมี ของพระโพธิสัตว์เจ้าอันประเสริฐ ผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอนาคตกาล ทรงพระนามว่า พระสุมังคละพุทธเจ้า เครื่องรางรูปงาช้างนี้ ยังมีนัยยะทั่วไป ที่แสดงพลังบริสุทธิ์(สัตว์ใหญ่กินพืชที่ไม่นิยมเบียดเบียนเลือดเนื้อใคร) พลังอันยิ่งใหญ่ ของช้างใหญ่ ช้างเจ้าป่า หมู่คณะอันยิ่งใหญ่ แม้ที่เสือสิงห์ยังหวั่นเกรง เภทภัยร้ายยังต้องถอย ใครกันเล่าจะกล้าไปขวางทางช้าง รึโขลงช้างกัน แค่ได้รู้ว่าเป็นทางที่ช้างผ่าน แม้แต่เสือก็ยังต้องถอย อีกทั้งกุญช์ทนต์นี้ ยังมีนัยยะ อันเป็นมงคล โดยหมายถึง พระพิฆเนศ เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ เทพแห่งศิลปะ เทพแห่งความสุข ความสมบูรณ์อีกด้วย โดยเรามักจะเห็นรูปพระพิฆเนศ ถืองาที่หักในมือ
การบูชาเครื่องรางของหลวงป๋า ท่านก็สอนให้ปฏิบัติบูชาอยู่เสมอ คือทำแต่เรื่องดีๆ ดำรงค์ตนเป็นคนดี ทำแต่เรื่องที่เป็นกุศลเจตนา แล้วถวายเป็นพุทธ บูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา อุทิศการบูชาเหล่า ถึงคุณครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ถึงคุณบิดามารดา และเทพยดาทั้งหลาย อธิษฐานขอในสิ่งที่ เป็นไปทางสัมมาทิฐิ ไม่ผิดทำนองครองธรรม แล้วสิ่งดีๆก็จะเข้ามาหาท่านเอง

แชร์เลย

Comments

comments

Share: