การฝึกเจริญภาวนาจะต้องมีครูคุมหรือไม่

❓ การฝึกเจริญภาวนาจะต้องมีครูคุมหรือไม่ ❓
✅ตอบ : การปฏิบัติธรรมอันได้แก่การรักษาศีลและเจริญภาวนา เพื่อให้เกิดสมาธิและปัญญา อันจะสามารถให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลส ตัณหา อุปาทาน เหตุแห่งทุกข์ทั้งหลายตามแนวทางพระพุทธศาสนานั้น มีหลักสำคัญอยู่ว่า
✅ครูเป็นแต่เพียงผู้ชี้แนวทางให้ ส่วนการศึกษาและฝึกปฏิบัติใหับังเกิดผลดีแก่ตนเองนั้น ตกเป็นหน้าที่ของผู้เป็นศิษย์จะต้องเพียรศึกษาและฝึกปฏิบัติใหัรู้เอง เห็นเอง แล้วก็เป็นผู้ได้รับผลเองทั้งสิ้น ดังพระบาลีพุทธภาษิตว่า
อกฺขาโต โว มยา มคฺโค อญฺญาย สลฺลสตฺถนํ
ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา
ทางอันเรารู้ชัดว่าเป็นที่สลัดเสียซึ่งลูกศร (คือราคะ) ได้บอกแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ความเพียรอันท่านทั้งหลายต้องทำเอง พระตถาคตทั้งหลายเป็นแต่ผู้บอกทางให้.
และดังพระบาลีพุทธภาษิตว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน นั่นเอง
✅เมื่อท่านทั้งหลายได้รับคำแนะนำจากครูอาจารย์ ไม่ว่าจะโดยทางใด เช่นว่าได้รับคำแนะนำสั่งสอนโดยตรงจากท่าน หรือได้รับฟังจากรายการวิทยุโทรทัศน์ หรือได้อ่านจากคำอธิบายในหนังสือธรรมปฏิบัติ หรือจากตำรับตำราที่ได้จัดพิมพ์ขึ้นเผยแพร่แล้ว
✅ก็เพียรศึกษา ทำความเข้าใจคำอธิบายและคำสั่งสอนนั้น แล้วก็ตั้งใจฝึกฝนปฏิบัติด้วยตนเอง ที่ไหนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกับครูหรืออาจารย์ ขอแต่เพียงว่า เมื่อเกิดความสงสัยในวิธีปฏิบัติข้อใด ก็ให้รีบจดหมายหรือไปสอบถามที่ครูอาจารย์ได้เลย หรือเมื่อปฏิบัติได้ผลก้าวหน้าประการใด ก็รายงานผลการปฏิบัตินั้นให้ทราบ เพื่อจะได้ให้คำแนะนำแก้ไขวิธีปฏิบัติในขั้นสูงต่อไปอีก ให้ได้รับผลดียิ่งๆ ขึ้นไป
✅ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนา และสาวกของพระองค์ได้ช่วยเผยแพร่ประกาศพระศาสนาไปทุกทิศนั้น เมื่อศิษย์ได้รับคำแนะนำสั่งสอนจากพระองค์หรือสาวกของพระองค์แล้ว ก็จะต้องไปฝีกปฏิบัติเองโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์หรือพระอุปัชฌาย์หรือครูอาจารย์แต่ประการใด
✅ต่อเมื่อมีปัญหาหรือข้อสงสัยในแนวทางปฏิบัติ ก็มาขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากพระองค์หรือพระอุปัชฌาย์อาจารย์ แล้วแต่กรณี ก็ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างนี้ จนตราบเท่าทุกวันนี้
✅อย่างไรก็ตาม อาตมาก็ยอมรับว่า การที่ศิษย์มีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติอยู่ใกล้ชิดกับครูอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเริ่มต้นนั้น ทำให้ศิษย์มีกำลังใจและได้รับความอบอุ่นใจมากกว่าการฝึกปฏิบัติที่อยู่ห่างไกลจากครูอาจารย์ และไม่ได้เห็นหน้าค่าตากันเลยเป็นธรรมดา แต่สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมที่อยู่ห่างไกล และไม่มีโอกาสได้รับคำชี้แจงแนะนำแนวทางปฏิบัติโดยละเอียดเช่นนี้ ก็ไม่เสียผล
✅ขอแต่ให้ทุกท่านตั้งใจศึกษาและฝึกปฏิบัติด้วยอิทธิบาทธรรม คือด้วยใจรักในธรรม ขื่อว่า ฉันทะ ประกอบด้วยความเพียรพยายามต่อไปเรื่อยๆๆ ไม่ย่อท้อ ชื่อว่า วิริยะ ให้มีใจจดจ่ออยู่กับธรรมปฏิบัติอยู่เสมอ ทุกอิริยาบถก็ให้จรดใจอยู่ ณ ศูนย์กลางกายอยู่เสมอ
✅ผู้ที่เห็นดวงธรรมแล้ว ก็ให้เห็นใสละเอียดอยู่เสมอ ผู้ที่ถึงธรรมกายแล้วก็ให้พยายามรวมใจอยู่ ณ ศูนย์กลางกายอรหัตองค์ที่ละเอียดที่สุดอยู่เสมอ ชื่อว่า จิตตะ แล้วก็หมั่นพิจารณาในเหตุ สังเกตในผลของการปฏิบัติ ดูให้เป็นไปในทางที่ตรงตามที่ครูอาจารย์ได้สั่งสอน ตามพระธรรมอันพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว ขื่อว่า วิมังสา รวมสี่ประการนี้แล้ว การปฏิบัติจะมีผลดีขึ้นเรื่อยๆ เอง
✅อีกประการหนึ่ง การเจริญภาวนานี้ จิตของผู้เจริญภาวนาจะมีอานุภาพสูงยิ่ง ตามระดับคุณธรรมที่ปฏิบัติได้ จนอาจกล่าวได้ว่า
✅”เมื่อท่านสาธุชนผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย น้อมใจลงไปหยุดอยู่ ณ ศูนย์กลางกายและบริกรรมภาวนาว่า “สัมมาอะระหัง” เมื่อใด กระแสจิตของบุรพาจารย์ผู้เป็นต้นวิชชา อันมีพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำเป็นต้น แม้มรณภาพไปแล้ว กับของศิษย์ย่อมจะถึงกันในทันที เพราะอยู่ในสายธาตุธรรมเดียวกัน กระแสจิตจึงเชื่อมถึงกันโดยอัตโนมัติ”
✅ด้วยเหตุนี้ การกระทำพิธียกครูจึงเห็นว่าไม่จำเป็น และอาตมาก็ยังไม่เคยได้ยินว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติให้กระทำเข่นนั้นอีกด้วย
✅อนึ่ง พึงตระหนักว่า บรมครูที่สูงที่สุดนั้น ก็คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระอริยสงฆ์ ซึ่งก็หมายถึง พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ และมีความหมายถึง “ธรรมกาย” ซึ่งมีอยู่ในศูนย์กลางกายที่สุดละเอียดของทุกท่านนั่นเอง
✅พระพุทธองค์ได้เคยตรัสกับพระวักกลิ ซึ่งคอยเฝ้าติดตามชมพระสิริโฉมกายเนื้อของพระองค์ท่านอยู่เสมอ ว่า “โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ ปสฺสติ, โส มํ ปสฺสติ” แปลความว่า “ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นเรา (ตถาคต)” และว่า “ธมฺมกาโย (อหํ) อิติปิ” แปลความว่า “เรา (ตถาคต) คือ ธรรมกาย”
✅เพราะฉะนั้นพระบรมครูก็อยู่ในตัวเราทุกคนนั่นเอง จงหมั่นทำใจให้หยุดให้นิ่งแล้วก็จะเห็นดวงปฐมมรรค เมื่อถึงดวงปฐมมรรคแล้ว ก็พยายามรวมใจให้หยุดให้นิ่ง หยุดในหยุด กลางของหยุดในหยุดเรื่อยไป ก็จะถึงดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ และดวงวิมุตติญาณทัสสนะ แล้วก็จะถึงกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม และกายอรูปพรหม แล้วก็จะถึง “ธรรมกาย”
✅ก็ให้ดำเนินไปในแบบเดิม คือดับหยาบไปหาละเอียด หยุดในหยุดเรื่อยไป ก็จะถึงธรรมกายที่ละเอียดๆ ก็ให้ดำเนินไปจนสุดละเอียด ก็จะถึงพระบรมครู คือพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ ได้ด้วยตนเอง นั่นแหละจึงจะได้ชื่อว่าอยู่ใกล้ครูที่สุด ได้บูชาครูอย่างยอดเยี่ยมที่สุด ยิ่งกว่าอามิสบูชาเสียอีก
✅แต่แม้กระนั้น ก็ไม่พึงละเว้นจาก การรำลึกถึง คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี หรือ หลวงพ่อวัดปากน้ำ (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของพระพุทธเจ้า และคุณบิดามารดา คุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์ และผู้มีพระคุณทั้งหลายอีกด้วย เพราะการรำลึกถึงและเคารพบูชาท่านผู้มีพระคุณดังที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นการปฏิบัติอันเป็นมงคลยิ่งอย่างหนึ่งทีเดียว
✅กล่าวโดยสรุป การเจริญภาวนานั้น หากมีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติอยู่ใกล้ชิดกับครูอาจารย์ก็เป็นการดี แต่ถ้าอยู่ใกล้ชิดกับครูอาจารย์แล้วไม่กระตือรือร้น หรือสนใจที่จะรับคำแนะนำสั่งสอนไปปฏิบัติอย่างจริงจังก็ไร้ผล
✅ส่วนผู้ที่อยู่ห่างไกลครูอาจารย์ หากได้พยายามศึกษารับฟังคำแนะนำสั่งสอน เอาไปฝึกปฏิบัติด้วยอิทธิบาทธรรม อันมี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา ก็ย่อมได้ผลดี และได้ผลที่แข็งแกร่งมั่นคงอีกด้วย เพราะถึงอย่างไร ครูก็มีหน้าที่แต่เพียงเป็นผู้ชี้แนะแนวทางให้เท่านั้นส่วนการปฏิบัติให้ได้ผล ผู้เป็นศิษย์ก็จะต้องไปฝึกปฏิบัติให้ได้รู้เอง เห็นเอง และเป็นผู้ได้ผลเอง
✅และการประกอบพิธียกครู จึงไม่จำเป็น แต่การระลึกถึงและเคารพในคุณพระศรีรัตนตรัย คุณบิดามารดา คุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์ และผู้มีพระคุณนั้น จัดว่าเป็นมงคลยิ่ง และการปฏิบัติบูชาก็ยังนับว่าเป็นเลิศกว่าการบูชาอื่นใด นี่หมายเอาการปฏิบัติตามพระธรรมอันพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว จึงจัดว่าประเสริฐกว่าการบูชาอื่นใดทั้งสิ้น…”
ตอบปัญหาธรรม
โดย พระเทพญาณมงคล
(หลวงป๋า เสริมชัย ชยมงฺคโล)
วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม

แชร์เลย

Comments

comments

Share: