วนาวนชาดก

ตาต ตฺวมสิ กาลิปุตฺตาติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต กฏฺมุทรํ กถํ จิฺจมาณวิกํ อารพฺภ กเถสิ

สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ เมื่อเสด็จประทับสำราญพระอิริยาบถอยู่ ณ พระเชตวัน อารพฺ ทรงพระปรารภ นางจิณจมาณวิกาผู้เอาไม้ประกับท้อง ทำให้เหมือนกับหญิงมีครรภ์ให้เป็นอุบัติเหตุ กเถสิ จึงตรัสเทศนาชาดกนี้ให้เป็นผล อันพระสังคีติกาจารย์ กำหนดด้วยคาถาเบื้องต้นว่า ตาต ตฺวมสิ กาลิปุตฺต ดังนี้เป็นอาทิ

เอกทิวสํ หิ แท้จริง วันหนึ่งพระภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลายนางจิณจมาณวิกาเอาไม้มาประกับท้องของตน ทำอาการให้เหมือนกับหญิงที่มีครรภ์แล้วกล่าวถ้อยคำเป็นอุบาย ให้ประชาชนทั้งหลายเกิดความสงสัยว่าตนได้มีครรภ์กับพระบรมศาสดาจารย์ เพื่อประสงค์จะให้พระพุทธองค์เสื่อมจากลาภสักการที่เกิดขึ้น ก็ไม่สามารถจะทำให้พระพุทธองค์เสื่อมจากลาภสักการด้วยอุบายอันนั้นได้ ตัวของนางต้องถึงซึ่งความฉิบหาย คือถูกแผ่นดินสูบลงไปในนรกทั้งเป็นดังนี้

สตฺถา ลำดับนั้น สมเด็จพระมหามุนีผู้เป็นบรมศาสดา ได้ทรงสดับถ้อยคำที่ภิกษุทั้งหลายสนทนากันนั้น ด้วยทิพโสตญาณจึงเสด็จอุฏฐาการทรงพระดำเนินมาสู่โรงธรรมสภา เสด็จประทับเหนือพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ในท่ามกลางพุทธบริษัท แล้วจึงมีพระพุทธฎฏีกาตรัสถามว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายนั่งสนทนาถึงเรื่องอะไรกัน ครั้นภิกษุทั้งหลายทูลความตามที่ได้สนทนานั้นให้ทรงทราบจึงมีพระพุทธดำรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นางจิณจมาณวิกานั้นจะได้ประทุษร้ายเราด้วยมายา แต่ในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้นหามิได้​แม้ถึงในบุรพชาติปางก่อน นางก็ได้มีความริษยาประทุษร้ายเราด้วยมายา เพราะได้ฟังกิติคุณบุญญาธิการอันจะเกิดขึ้นแก่เรา ครั้นนางกระทำการกิริยาแล้วก็ไปเกิดในนรกดุจชาตินี้เหมือนกัน มีพระพุทธดำรัสดังนี้แล้ว ก็ทรงดุษณีภาพ พระภิกษุทั้งหลายนั้นจะใคร่ทราบอดีตนิทานจึงทูลอาราธนา พระพุทธองค์จึงทรงนำเรื่องในอดีตกาลมาตรัสเทศนาดังต่อไปนี้ว่า

อตีเต ภิกฺขเว วิเทรฏฺเ โกฏิมหานคเร โกมลฺลราชา นาม รชฺชํ กาเรส ฯลฯ ในกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว มีพระราชาองค์หนึ่งทรงพระนามว่าโกมลราช ได้ครองราชสมบัติอยู่ในโกฏิมหานคร อันเป็นราชอาณาจักรแห่งวิเทหราฐ พระองค์มีอัครมเหสีสองนาง พระอัครมเหสีที่หนึ่งชื่อว่า วลิกาเทวี พระอัครมเหสีที่สองชื่อว่า กัณหลิมาเทวี พระอัครมเหสีทั้งสองนางนั้น สมบูรณ์ด้วยสรรพลักษณะอันอุดมควรจะทัศนา ทั้งเป็นที่นำมาซึ่งความยินดีและความเลื่อมใส และบริบูรณ์ไปด้วยสิริวิลาสอันงาม เปรียบประดุจดังว่านางเทพอัปสรกัญญาในสวรรค์ และเป็นใหญ่กว่านางสนมทั้งหลายประมาณพันหนึ่ง พระอัครมเหสีทั้งสองนั้น เป็นที่รักและเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าโกมลราชเป็นอย่างยิ่งเสมอกัน

ตทา โพธิสตฺโต ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์จุติจากเทวโลกลงมาปฏิสนธิในครรภ์พระอัครมเหสีที่หนึ่ง ซึ่งมีพระนามว่าวลิกาเทวี ฝ่ายพระอัครมเหสีที่สอง ชื่อว่ากัณหลิมานั้นก็ทรงครรภ์ในเดือนเดียวกัน ในลำดับนั้น โทหลฉันท คือความแพ้ท้อง ก็บังเกิดขึ้นแก่พระอัครมเหสีทั้งสอง คือพระอัครมเหสีที่หนึ่ง มีความปรารถนาจะใคร่ประพาสสวนอุทยานและปรารถนาจะประพาสป่า ทั้งปรารถนาจะเที่ยวไปในประเทศต่างๆ แต่ฝ่ายข้างพระอัครมเหสีที่สองนั้น ปรารถนาจะบริโภคเนื้ออันทาโลหิตสดในท่ามกลางราชพิธี ทั้งสองอัครมเหสีจึงทูลความปรารถนาของตนๆ ให้พระราชสามีทรงทราบ

ท้าวโกมลราชได้ทรงสดับความแพ้ท้อง ของพระอัครมเหสีทั้งสองดังนั้น จึงรับสั่งให้หาพราหมณ์ผู้ทายนิมิต (โหราจารย์) เข้ามาเฝ้าทรงกระทำสักการะแก่พราหมณ์นั้นเป็นอันมาก ทรงเล่าความปรารถนาของพระอัครมเหสีทั้งสองให้ฟัง แล้วจึงตรัสถามว่า ดูกรพราหมณ์ บุตรทั้งสองของเราที่อยู่ในครรภ์นางอัครมเหสีทั้งสองนั้นจะมีลักษณะบุญญาธิการต่างกันอย่างไร นางทั้งสองจึงมีความปรารถนาต่างกันดังนี้

​ฝ่ายพราหมณ์ผู้ทายนิมิตพิจารณาดู ลักษณะความแพ้ท้องแล้ว จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทวราช พระราชกุมารทั้งสองนั้นมีบุญวาสนาต่างกัน มีลักษณะคติต่างกัน พระราชกุมารผู้เป็นบุตรพระอัครมเหสีที่หนึ่งนั้น เป็นผู้ประกอบด้วยลักษณะอันดี เป็นผู้มีบุญญาธิการมากและมีพระปัญญาสามารถ ทั้งทรงฉลาดรอบรู้ในสรรพวิชาศิลปต่างๆ แต่จะได้รับความลำบากเป็นอันมาก พระราชบิดาและพระราชมารดาจักไม่ได้ทรงเลี้ยงดู รุกขเทวดาในอรัญประเทศจักเป็นผู้เลี้ยงรักษา เมื่อพระราชกุมารนั้นแก่กล้าเป็นวิญญรู้ความแจ้งชัด ก็จักได้ครองราชสมบัติในพระนครทั้งสองโดยแท้ พระพุทธเจ้าข้า

ก็แต่ฝ่ายราชกุมารบุตรพระอัครมเหสีที่สองนั้น เป็นผู้มีบุญญาธิการน้อย ทั้งไม่ฉลาดในสรรพวิชา เมื่อเจริญวัยใหญ่กล้ารู้ความแจ้งชัด จักได้ครองราชสมบัติในโกฏิมหานครสิ้นสามปีเท่านั้นก็จักสิ้นชนม์ชีพในคราวเดียวกันกับพระราชมารดาโดยแท้ พระพุทธเจ้าข้า

ท้าวโกมลราชได้ทรงสดับดังนั้น จึงให้จารึกถ้อยคำที่ทำนายของพราหมณ์ผู้ทำนายนิมิตนั้นไว้ให้มั่นคงเป็นหลักฐาน สำหรับจะได้สอบดูกาลในเบื้องหน้าต่อไป นางอัครมเหสีชื่อว่าวลิกาเทวีเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยศีลและอาจารสมบัติ มีใจโสมนัสยินดีเป็นปรกติมิได้มีฉันทาคติและโทสาคติในพระอัครมเหสีที่สองนั้นเลย

แต่ฝ่ายนางอัครมเหสีชื่อว่ากัณหลิมาเทวีนั้นมีสันดานประกอบไปด้วยความริษยา อันความวิหิงสาครอบงำอยู่เป็นนิตย์ นางจึงคิดโดยอุบายว่าบุตรของเราเป็นผู้มีบุญญาธิการน้อยและอายุก็สั้น เมื่อได้เสวยราชสมบัติเพียงสามปีเท่านั้นก็จักตาย ฝ่ายบุตรของนางวลิกาอัครมเหสีนั้นเป็นผู้มีปัญญาและบุญญาธิการมาก จักได้เสวยราชสมบัติในพระนครทั้งสอง อย่ากระนั้นเลย เราจักคิดอุบายฆ่าบุตรของนางวลิกาอัครมเหสีนั้นเสียเถิด ครั้นคิดดังนี้แล้ว จึงเรียกหญิงคนใช้อันสนิทของนางวลิกาเทวีนั้นมา แล้วจึงสั่งกำชับว่า ดูกรนางผู้เจริญ เจ้าจงปฏิบัติถ้อยคำของเราไว้ เราจะให้สิ่งของเป็นสินบนตอบแทนแก่เจ้า ในกาลเมื่อนางวลิกาอัครมเหสีคลอดบุตรออกมาแล้ว เจ้าจงเอาบุตรของนางนั้นใส่ลงในหีบ แล้วนำเอาหีบนั้นไปขุดหลุมฝังไว้เสียในป่า แล้วเจ้าจงเอาท่อนไม้มาพันด้วยผ้าที่เปื้อนไปด้วยโลหิตแล้วจงกล่าวว่า นี่บุตรของพระอัครมเหสีชื่อว่าวลิกา แล้วรีบไปทูลพระราชาให้ทรงทราบ นางกำชับดังนี้แล้ว จึงให้ทรัพย์แสนหนึ่งแก่หญิงคนใช้นั้น

​ฝ่ายนางอัครมเหสีชื่อว่าวลิกานั้น ครั้นครรภ์แก่ถ้วนทศมาสแล้ว นางก็ทรงสุบินนิมิตเห็นว่า มีนางกาตัวหนึ่งมาคาบเอาพระจันทร์ที่ออกจากปากของนาง แล้วก็บินไปตกลงในเปือกตมนั้นเอง ครั้นนางตื่นจากบรรทมก็เกิดความกลัวเป็นกำลัง นั่งอยู่บนที่ไสยาสน์จนเวลาอรุณขึ้น ครั้นสว่างแจ้งแล้วนางจึงให้หาโหรผู้ทายสุบินนิมิตมา แล้วเล่าความตามที่ได้ทรงสุบินนั้นให้ฟัง โหรผู้ทายสุบินนิมิตจึงพยากรณ์ว่า ข้าแต่พระแม่เจ้าในกาลเมื่อพระแม่เจ้าคลอดพระราชโอรสออกมา จักมีหญิงสนิทคนหนึ่ง มาลักเอาพระโอรสนั้นไปทิ้งเสียในป่า แต่ทว่าจะมีเทวดาในป่านั้นเลี้ยงรักษาไว้ แต่ตัวของพระแม่เจ้านั้นจะต้องตกทุกข์ได้ยากเกิดความลำบากหาที่พึ่งมิได้ ฝ่ายพระราชาผู้เป็นพระราชสามีก็จะทรงพระพิโรธ กระทำโทษแก่พระแม่เจ้า คือกระทำให้เป็นทาสีสำหรับใช้สอยของหญิงอื่น พระแม่เจ้าจงทราบดังข้าพเจ้าถวายพยากรณ์นี้

พระนางวลิกาอัครมเหสีได้ฟังพยากรณ์ดังนั้น ก็มีพระทัยหวาดหวั่นเกิดทุกข์โทมนัสทุกทิวาราตรีกาล ครั้นลมกัมมัชวาตในพระครรภ์เกิดจลนาการเคลื่อนไหว เวลานั้นพอพระราชาเสด็จไปปราบข้าศึกในปัจจันตคาม และเมื่อเวลาจะเสด็จไปนั้น ได้ตรัสสั่งนางสนมทั้งหลายว่า ดูกรเจ้าทั้งหลายผู้เจริญ พวกเจ้าจงเอาใจใส่พิทักษ์รักษาบุตรในครรภ์ของนางวลิกาเทวีให้จงดี ตรัสกำชับดังนี้แล้วก็เสด็จออกจากพระนครไป

ฝ่ายหญิงคนใช้ผู้รับสินบนนั้น ครั้นพระราชกุมารออกจากครรภ์ก็เข้าอุ้มพระราชกุมารนั้นใส่ลงในหีบ แล้วรีบนำไปสู่ป่า ครั้นถึงใต้ต้นจันทน์แดง ก็ขุดหลุมเอาหีบที่ใส่พระราชกุมารฝังลงในหลุมนั้นแล้วรีบไปเอาท่อนไม้มา เอาผ้าที่เปื้อนด้วยโลหิตพันท่อนไม้นั้นเข้าแล้วจึงร้องบอกว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า บุตรของพระแม่เจ้าเป็นท่อนไม้

เมื่อนางวลิกาอัครมเหสีได้ฟังดังนั้น จึงเงยขึ้นดูก็เห็นเป็นท่อนไม้ นางก็ทรงพระกรรแสงให้ปริเทวนาการอยู่ไปมา จึงกล่าวพระคาถาว่า

ตาต ตฺวมสิ กาลิปุตฺตกฏทณฺโฑ กถํ ชาโต
อนฺโต คพฺเภ จเลติเจวโส กโรติ สทฺทํ นิกฺขเม
สุณามิหํ สทฺทํ ตวปุริโส ปุตฺโตติ ตุสฺสึ
อทฺทสํ ตุวํ ทณฺฑมฺปิอจิตฺตโกติ ปโรทิ
ทุกฺขํ โส ชาโต มมฺจลชามิหํ ทาสีนํปิ
มริสฺสามิ ธุวํ เสฏฺาอิทานิ ชีวามิ กสฺมา ฯ

​ความว่า ดูกรพ่อผู้เป็นบุตรกาลี อย่างไรเจ้าจึงมาเป็นท่อนไม้ไปดันี้เล่า เมื่อเจ้ายังอยู่ในครรภ์ก็ดิ้นรนอยู่ เมื่อเจ้าอกจากครรภ์ก็ได้ยินเสียงร้องไห้ แม่ได้ฟังเสียงเจ้าร้องก็มีความยินดีว่าบุตรของเราเป็นายดังนี้ ครั้นแม่ได้เห็นเจ้าเป็นท่อนไม้ไปแม่ก็ร้องไห้เสียใจว่าบุตรของเราไม่มีจิตจดังนี้ ความทุกข์อันนี้และได้บังเกิดขึ้นแก่แม่แล้ว แม่มีความละอายแก่หญิงทาสีทั้งหลายเป็นอันมาก จะอยู่เป็นคนต่อไปอย่างไรได้ แม่จะตายเสียประเสริฐกว่ามีชีวิตอยู่

นางทรงพระกรรณแสงไห้ร่ำพิไรอยู่ไปมาดังนี้

ครั้นเวลาสายัณหสมัย ท้าวโกมลราชเสด็จยาตราทัพกลับมาถึงพระนครแล้วเสด็จขึ้นสู่ปรางค์ปราสาท ได้ทรงสดับว่า พระราชบุตรของนางวลิการาชเทวีเป็นท่อนไม้ดังนี้ ก็ทรงพระพิโรธเป็นกำลัง มีอาการดุจดังว่าอสรพิษที่มีผู้ประหารที่ขนดหางฉะนั้น จึงตรัสปริภาษตัดพ้อด้วยวาจาหยาบคายมีประการต่างๆ แล้วรับสั่งให้หาตัวเพ็ชฌฆาฏเข้ามาเฝ้า มีพระราชโองการตรัสสั่งว่า เจ้าจงพาตัวนางกาลกิณีนั้นไปฆ่าเสีย ณ ที่อันเป็นภายนอกพระนครนี้

ฝ่ายนางกัลหลิมาอัครมเหสีที่สองได้ฟังดังนั้น จึงทูลขอโทษแล้วสั่งนายเพ็ชฌฆาฏว่า ท่านจงพาตัวนางวลิกานี้ไปมอบให้แก่หญิงแม่ครัวไว้สำหรับตักน้ำใช้ในโรงครัว ตามพระเสาวนีย์ที่สั่งนั้น นางวลิกาเทวีก็ตกเป็นทาสีรับการงานตักน้ำตั้งแต่นั้นมา

อถ โข อธิวฏฺา เทว ในกาลนั้น รุกขเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ ณ ต้นไม้จันทร์แดงนั้น ครั้นเห็นหญิงทาสีเอาหีบมาฝังลงในที่นั้นจึงดำริว่า ในหีบที่ฝังไว้นั้นจะเป็นอะไรหนอ ครั้นดำริดังนี้แล้ว จึงลงจากวิมานขุดหีบขึ้นเปิดดูก็ได้เห็นพระราชกุมาร มีผิวพรรณเสมอด้วยทองคำ จึงพิจารณาดูก็รู้เหตุทั้งปวงแล้วคิดว่า การที่นางกัณหลิมาเทวีกระทำอย่างนั้น เป็นกรรมอันหนักน่าสังเวชจริงหนอ พระราชกุมารนี้เป็นหน่อพุทธางกูร จักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลภายหน้า เพราะเหตุนั้น เราควรจะพิทักษ์รักษาพระราชกุมารนี้ไว้ จำเดิมแต่นั้นมารุกขเทวดาก็เลี้ยงบำรุงพระราชกุมาร ด้วยน้ำนมและอาหารอันเป็นทิพย์ จนพระราชกุมารมีพระชนม์ได้ ๗ ขวบ

ฝ่ายนางกัลหลิมาอัครมเหสีที่สองนั้น ครั้นถึงเวลาจะคลอดบุตรลมกัมมัชวาตที่ในครรภ์ก็จลนาการหวั่นไหว เทวดาที่รักษาพระนครนั้นไซร้มีความโกรธ เพราะโทษที่​นางกระทำแก่นางวลิกาเทวีกับทั้งวิบากแห่งกรรมที่นางกระทำนั้นมาบีบคั้น ครรภ์ของนางจึงหลงขัดอยู่ไม่คลอดถึง ๗ วัน นางได้รับความทุกขเวทนาอันหยาบช้าสาหัสปานประหนึ่งว่าจะถึงมรณพิบัติฉะนั้น

ท้าวโกมลราชได้ทรงทราบความ จึงรับสั่งให้หาแม่มดเข้ามาแล้วตรัสถามว่า เป็นดังนี้ด้วยเหตุอะไร หญิงแม่มดทูลว่า เทวดารักษาพระนครมีความโกรธ เพราะโทษที่นางกัณหลิมาได้กระทำกรรมหยาบช้าแก่นางวลิกาเทวีนั้น ถ้าพาพระนางกัณหลิมาเทวีไปหานางวลิกาเทวี แล้วให้กราบไหว้วิงงอนขอน้ำล้างเท้ามารดบนศีรษะของนาง บุตรนั้นจะคลอดจากพระครรภ์โดยง่าย ท้าวโกมลราชได้ทรงฟัง ก็รับสั่งให้ทำเหมือนดังคำแม่มดทูลนั้นทุกประการ

ฝ่ายนางกัณหลิมาเทวีนั้นครั้นได้น้ำล้างเท้าของนางวลิกาเทวีมารดบนศีรษะแล้ว นางก็ปราศจากทุกขเวทนาอันสาหัส และมีความสุขโสมนัสปราศจากโรค นางก็ประสูติพระราชกุมารโดยสวัสดิภาพ ท้าวโกมลราชจึงมอบพระราชกุมารนั้น ให้นางวลิกาเทวีเป็นแม่นมเลี้ยงรักษาพร้อมด้วยหญิงแม่นมทั้งหลายอีกหกสิบสอง ครั้นวันที่พระราชทานนามพระราชกุมาร พระองค์ทรงถือเอาชื่อของนางวลิกาเทวีและนางกัณหลิมาเทวีมารวมกัน แล้วทรงตั้งพระนามพระราชกุมารนั้นว่า กัณหวลิกุมาร เมื่อกัณหวลิราชกุมารนั้นเจริญวัยได้ ๑๖ ปี ท้าวโกมลราชก็ทรงกระทำการอภิเษกให้ขึ้นครองราชสมบัติ มีพระนามาภิไธยว่า พระยากัณหวลิราช

ฝ่ายรุกขเทวดาที่สิงสถิตอยู่ ณ ต้นไม้จันทร์แดงนั้น เลี้ยงรักษาพระราชกุมารโพธิสัตว์มาได้ ๗ ขวบ จึงให้นามพระโพธิสัตว์ราชกุมารว่า วนาวนกุมาร โดยถือเอาเหตุที่ตนได้เลี้ยงรักษามาในป่านั้น เมื่อพระราชกุมารโพธิสัตว์มีพระชนม์ได้ ๗ ขวบบริบูรณ์แล้ว จึงคิดรำพึงว่า บิดาของเราก็เป็นเทวดา เหตุไรตัวเราจึงมาเป็นมนุษย์เล่า อย่ากระนั้นเลย เราจักถามบิดาของเราให้รู้เหตุ ครั้นคิดดังนั้นแล้ว เมื่อจะถามจึงกล่าวพระคาถาว่า

เทวราช นโม ตฺยตฺถุมาตา มม กสฺมา นตฺถิ
กึการณาหํ มนุสฺโสตฺวํปิ เทวปุตฺโต กสฺมาฯ

ความว่า ข้าแต่เวราชเจ้า ข้าเจ้าขอนอบน้อมพระองค์ผู้เป็นบิดา เหตุไรมารดาของข้าเจ้าจึงไม่มี ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์เพราะเหตุอะไร ส่วนบิดาเหตุไรจึงเป็นเทวบุตรเล่า

​รุกขเทวดาได้ฟังคำถามดังนั้น เมื่อจะบอกเนื้อความแก่พระราชกุมารโพธิสัตว์ จึงกล่าวพระคาถาทั้งหลายว่า

สุโณหิ วจนํ ตาตโกมลราชา ปิตาว
โกฏินคเร จ ราชากาเรสิ รชฺชสมฺปตฺตึ
ตสฺส มเหสิโย จ เทฺววลิกา เจว ปมา
อถ ทุติยา กณฺหลิมาเทฺว ปิยา รฺโ สมกา
วลิกา จ ตว มาตากณฺหลิมา นาม มาตา
วลิกณฺหสฺส จ อหุอุโภ วิสมชาติกา
อุชุชาติกา เต มาตาอิจฺฉาปกตา กณฺหลิมา
วิชายนํ ตํ อาทายนิกฺขณํว วเน มหา
ทณฺฑกํ อุคฺคเหตฺวานตว ปุตฺโตติ ปเวทิ
ลฺจํปิ อาทาย สพฺเพอนฺเตปุรา สทาสีหิ
โกมโลปิ กุทฺโธ มาตุอุทกาวหึ ทาสึ อกา
ปจฺฉา ธาตึ อทา ตสฺสทานิ ธาติกิจฺจํ อกา
ปจฺจุคฺคุณํ ตว มาตุกตเวที ิโต ตาต
กริตฺวาน ปจฺจุคฺคุณํทุกขา มูฺจตุ สพฺพทา ฯ

ความว่า ดูกรพอผู้เป็นบุตร เจ้าจงฟังคำบิดา ๆ จะเล่าให้เจ้าฟัง พระเจ้าโกมลราชผู้เสวยราชสมบัติอยู่ในโกฏินครท่านเป็นพระราชบิดาของเจ้า พระราชบิดาของเจ้านั้นมีอัรมเหสีสองนางคือนางวลิกาเป็นอัครมเหสีที่หนึ่ง กัณหลิมาเป็นอัครมเหสีที่สอง ทั้งสองนางนี้เป็นที่รักของพระราชบิดาของเจ้าเสมอกัน ส่วนนางวลิกาอัครมเหสีที่หนึ่งนั้น เป็นพระมารดาของเจ้า นางกัณหลิมาอัครมเหสีได้เป็นมารดาของกัณหวลิราชกุมาร นางอัครมเหสีทั้งสองนั้น มีาติสันดานไม่เสมอกัน ส่วนนางวลิกาที่เป็นพระมารดของเจ้านั้นมีชาติอันซื่อตรง ฝ่ายนางกัณหลิมานั้นมีชาติสันดานประกอบด้วยริษยา ครั้นเจ้าคลอดออกมา จึงให้สินบนแก่นางทาสีภายนอันสนิทของแม่เจ้า พระเจ้าโกมลราชบิดาของเจ้ารู้ไม่เท่าทันก็กริ้วโกรธมารดาของเจ้า กระทำมารดาเจ้าให้เป็นทาสีสำหรับตักน้ำใช้ในโรงครัว มาภายหลังจึงให้มารดาเจ้าเป็นแม่นมของกัณหวลิราชกุมาร มาบันี้มารดาของเจ้าก็กระทำ/*34กิจเป็นแม่นมอยู่ ดูกรพ่อผู้เป็นบุตร เจ้าจงตั้งอยู่ในกตเวทีรู้อุปการคุณของมารดาเจ้า แล้วจงกระทำอุปการะตอบแทนคุณ ให้มารดาของเจ้าพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงในกาลทุกเมื่อเทอญ

พระวนาวนกุมารโพธิสัตว์ ได้ฟังเทวดาบอกแจ้งดังนั้นมีความสงสารพระมารดา ก็ปริเทวนาการร่ำร้องไห้ แล้วกราบไหว้เทวบุตรบิดาบอกว่า ถ้ากระนั้นข้าพเจ้าขอลาท่านเข้าไปในเมืองเพื่อจะได้กระทำอุปการะตอบแทนคุณมารดา ขอบิดาจงอนุญาตให้ข้าพเจ้าไปในกาลนี้เถิด ดูกรพ่อผู้เป็นบุตร การที่เจ้าจะไปนั้นเป็นการดีแล้ว แต่เจ้าจะไปทำอะไรได้ ข้าแต่ท่านผู้เป็นบิดา ข้าเจ้าจะไปรับการงานแทนมารดา แล้วจะปรนนิบัติมารดาให้มีความสุขสบาย ดูกรพ่อผู้เป็นบุตร เจ้ายังเด็กนักจะกระทำการงานอะไรได้ อีกประการหนึ่ง ถ้านางกัณหลิมารู้ว่าเจ้าเป็นบุตรของนางวลิกา เขาก็จะจับเจ้าเฆี่ยนให้ถึงแก่ความตาย เจ้าไม่มีที่พึ่งก็จะต้องตายอยู่ที่นั้นโดยแท้ เพราะฉะนั้น เจ้าอย่าเพิ่งไปเลย ถ้าหากว่าเจ้าจะไปหามารดาของเจ้า เจ้าจงไปเรียนศิลปศาสตร์ในสำนักพระดาบสให้ได้เสียก่อน แล้วจงยกโยธาหาญพร้อมด้วยบริวารไปล้อมพระนครไว้แล้วจงตระเตรียมการรบเถิด ข้าแต่เทวบิดา ก็พระดาบสนั้นท่านอยู่ ณ ใดเล่า ขอท่านได้บอกกล่าวแนะนำให้ข้าพเจ้าทราบด้วย

ในลำดับนั้น เมื่อรุกขเทวดาจะนำมรรคาทางที่อยู่ของพระดาบส จึงกล่าวสอนว่า ดูกรพ่อผู้เป็นบุตร ที่อยู่ของพระดาบสนั้นอยู่ทางทิศอุดร เมื่อเจ้าไปนั้นประมาณสัก ๗ วันจึงจะถึง ครั้นถึงแล้วจึงกราบไหว้เท้าพระดาบสนั้น แล้วจงวิงวอนขอเรียนศิลปศาสตร์แล้วจงปฏิบัติท่านอยู่ ณ ที่นั้น ครั้นรุกขเทวดาแนะนำดังนี้แล้ว ก็เปลื้องเครื่องประดับออกจากกายมอบให้พระราชกุมารโพธิสัตว์แล้วจึงบอกว่า ดูกรพ่อผู้เป็นบุตร เราสิ้นอายุเพียงเท่านี้แล้ว เราจะจุติขึ้นไปบังเกิดในพิภพดาวดึงส์ เจ้าจงอย่ามีความประมาท จงอุตส่าห์ไปเรียนศิลปศาสตร์ในสำนักพระดาบสนั้นให้จงได้ บอกดังนี้แล้วก็จุติจากรุกขวิมาน อันตรธานไปบังเกิดในวิมานทองในดาวดึงส์เทวพิภพ

ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ราชกุมารแลไป มิได้ประสบเทวบุตรผู้เป็นบิดาก็ปริเทวนาการร่ำร้องไห้อยู่ไปมา แล้วจึงกล่าวพระคาถาทั้งหลายว่า

อิทานาหํ เอกโกววนาวเน วิจรามิ
พหูปิ พฺยคฺฆสีหา จยกฺขปิสาจา จ สหายา
าติสาโลหิตา นตฺถิเทวํ อทฺทส ปิตรํ
จุโต ทานิ ปรโลกํวิฆานํปิ สุฺํ อสิ
โก มม นาโถ การุฺโกุหึ อสฺสโม ตาปสสฺส
โก ตํ เทสํ วิเนสฺสติกถํ ขิปฺปํ ปาปุณิสฺสติ ฯ

ความว่า เดี๋ยวนี้เราเป็นผู้คนเดียวเที่ยวอยู่ในป่าน้อยใหญ่ เสือโคร่งและราชสีห์ทั้งหลายก็มีอยู่เป็นอันมาก ทั้งยักษ์และปีศาจก็มากมาย เพื่อนและญาติสาโลหิตทั้งหลายของเรา ก็มิได้มีในป่านี้เราได้เห็นอยู่แต่เทวบุตรดุจบิดา เดี๋ยวนี้ท่านก็จุติไปปรโลกเสียแล้ว ทั้งวิมานอันเป็นที่อยู่องท่านก็ว่างเปล่า ใครเล่าจะเป็นที่พึ่งพาและมีความกรุณาแก่เราต่อไป อาศรมบทของพระดาบสนั้นจะอยู่ที่ใดเราก็มิได้เห็น ใครเล่าจะเป็นผู้นำเราไปสู่ที่อยู่ของพระดาบส เมื่อเป็นดังนี้ ไฉนเราจะไปถึงอาศรมบทได้โดยเร็วเล่า

พระราชกุมารโพธิสัตว์เจ้าปริเทวนาการรำพันดังนี้แล้ว มือฟายน้ำตามีหน้าเฉพาะทิศอุดร เดินไปโดยทางที่รุกขเทวดาได้บอกชี้แจงดังนั้น

ในที่นี้ถ้ามีคำถามเข้ามาว่า นางกัณหลิมาเทวีจักฆ่าพระโพธิสัตว์ราชกุมารเสียด้วยกรรมอะไร อนึ่งเพราะกรรมอะไร พระโพธิสัตว์ราชกุมารจึงต้องพลัดพรากจากพระราชบิดามารดาดังนี้ พึงมีคำวิสัชนาแก้ว่า การที่พระโพธิสัตว์ราชกุมารจะต้องถูกฆ่าและต้องพลัดพรากจากพระราชบิดามารดานั้น ด้วยอำนาจกรรมที่พระโพธิสัตว์ได้กระทำไว้แล้วแต่ในชาติก่อน

ดังได้สดับมา ในชาติก่อนที่ได้ล่วงมาแล้วนั้น พระโพธิสัตว์ราชกุมารนี้ ได้บังเกิดเป็นดรุณทารก ไปเที่ยวป่ากับมารดาบิดาทั้งสอง ครั้นไปเห็นฟองไก่ป่าฟองหนึ่ง จึงหยิบเอาฟองไก่ป่านั้นไป นางไก่ป่าเห็นดังนั้นจึงผูกเวรว่า ทารกผู้นั้นมาถือเอาฟองคือบุตรของเราไป ย่อมกระทำให้บุตรของเราพลัดพรากจากความรักของเรา ทารกผู้นั้นทำบุตรของเราให้ตายจากเราไปฉันใด ในอนาคตกาลภายหน้า ขอให้เราได้กระทำทารกนั้น ให้พลัดพรากจากมารดาบิดาและกระทำให้ทารกนั้นถึงซึ่งความตายฉันนั้น ครั้นนางไก่ป่าผูกเวรอาฆาตดังนั้นแล้ว นางสิ้นชีวิตก็มาเกิดเป็นนางกัณหลิมาเทวี เพราะเวรนั้นแล นางกัณหลิมาเทวีจึงจะฆ่าพระโพธิสัตว์ และกระทำให้พระราชกุมารโพธิสัตว์ต้องพลัดพรากจากมารดาบิดาดังนี้

โส โพธิสตฺโต เมื่อพระราชกุมารโพธิสัตว์ดำเนินไปในป่าครบกำหนด ๗ วันก็บรรลุถึงอาศรมบทของพระดาบสนั้น จึงเข้าไปหาพระดาบสกราบไหว้เท้าแล้วก็นั่งลงอยู่ในที่ควร พระดาบสเห็นพระราชกุมารโพธิสัตว์มา ก็บังเกิดมีจิตประกอบด้วยเมตตากรุณามีความเอ็นดูพระราชกุมารโพธิสัตว์นั้น ดุจดังว่าบุตรและนัดดาของตน จึงถามว่า ดูกรมาณพ เจ้ามาแต่ที่ไหน พระราชกุมารโพธิสัตว์กราบไหว้แล้วจึงบอกว่า ข้าแต่พระดาบสผู้เจริญ ข้าพเจ้านี้เป็นผู้พลัดพรากจากมารดาบิดา มาเจริญวัยอยู่ในอรัญประเทศ พระดาบสจึงถามถึงเหตุว่า เพราะอะไรเล่า เจ้าจึงได้พลัดพรากจากมารดาบิดา พระราชกุมารโพธิสัตว์จึงเล่าตามความที่เทวดาได้บอกเล่านั้นให้พระดาบสทราบสิ้นทุกประการ แล้วจึงอ้อนวอนว่า ข้าแต่พระดาบสผู้เจริญ ขอท่านได้มีความกรุณาให้ข้าพเจ้าได้อยู่ศึกษาศิลปศาสตร์ด้วยเถิด

พระดาบสได้ฟังพระราชกุมารโพธิสัตว์บอกเล่าดังนั้น ก็บังเกิดความเมตตากรุณาทวีมากขึ้น จึงรับไว้ให้อยู่ในอาศรมบทแล้วเริ่มการสอนศิลปศาสตร์ทั้งหลาย จำเดิมแต่เบื้องต้นจนถึงที่สุด เมื่อให้พระโพธิสัตว์ราชกุมารได้ศึกษาศิลปศาสตร์ชำนิชำนาญดีแล้ว ก็ให้พักอาศัยอยู่ในพระอาศรมบทนั้น จนพระชนม์ได้ ๘ ขวบเต็มบริบูรณ์

ฝ่ายพระราชกุมารโพธิสัตว์นั้น ระลึกถึงมารดาที่ตกยากอยู่เนืองๆ มิได้ขาด ด้วยสามารถแห่งจิตที่มีความกตัญญูต่อมารดา อยู่มาราตรีหนึ่ง จึงเข้าไปอำลาพระดาบสว่า ข้าแต่พระดาบสผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะขออำลาไปเยี่ยมมารดา ขอท่านได้กรุณาอนุญาตให้ข้าพเจ้าได้ไปแทนคุณมารดาดังความคิด และได้โปรดชี้ทิศที่จะไปยังเมืองโกฏินครนั้นให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด

พระดาบสได้ฟังดังนั้น เมื่อจะชี้ทิศบอกมรรคา จึงเรียกพระราชกุมารโพธิสัตว์ให้ออกมานอกพระอาศรมแล้วพูดว่า ดูกรสัปบุรุษ ท่านจงมายืนเงยดูดาวดวงนี้แล้วจงกำหนดให้มั่นคง ดาวดวงนี้ตรงเมืองโกฏินคร ซึ่งเป็นที่อยู่ของบิดามารดาแห่งท่าน

พระราชกุมารโพธิสัตว์กำหนดดวงดาวนั้นได้มั่นคงแล้ว ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้าก็เข้าไปหาพระดาบส ร้องไห้ปริเทวนาการร่ำไห้ ด้วยความเสน่หาอาลัยในพระดาบส ครั้นสร่างความโศกระงับความวิโยคแล้วก็กราบไหว้อำลาพระดาบสไป โดยทางทิศที่พระดาบสชี้ให้นั้น ครั้นไปได้ ๗ วันทิศทั้งปวงก็บังเกิดมืดมนอนธการ พระจันทร์และพระอาทิตย์และดวงดาวทั้งหลายก็มิได้เปล่งแสงให้ปรากฏ พระราชกุมารโพธิสัตว์ก็ไม่สามารถที่จะกำหนดทิศนั้นได้ ก็หลงทางไปจนถึงสระโบกขรณีแห่งหนึ่ง จึงลงไปดื่มน้ำและอาบน้ำในที่​สระนั้นตามปรารถนา แล้วก็ขุดรากบัวและเก็บผักมาเคี้ยวบริโภคต่างอาหาร แล้วไปนั่งอยู่ ณ โคนต้นไม้ไทรโดยควรแก่ความสุขสำราญ จึงลุกขึ้นตระเตรียมการที่จะเดินทางต่อไป

ดังได้สดับมา ในสระโบกขรณีนั้น มียักษ์ตนหนึ่งชื่อว่ากาลยักษ์สิงอยู่กับนางยักษินีผู้เป็นภรรยา ทั้งเป็นผู้หวงห้ามสระโบกขรณีนั้นด้วย แท้จริงกาลยักษ์นั้นเป็นผู้บำรุงปฏิบัติท้าวเวสสวรรณ ได้พรจากท้าวเวสสวรรณนั้นว่า ถ้าผู้ใดไม่รู้จักธรรมและอธรรม ผู้นั้นจงเป็นภักษาหารของท่าน ถ้าผู้ใดเป็นผู้รู้จักธรรมและอธรรม ท่านจงอย่าเคี้ยวกินผู้นั้นเป็นภักษาหาร

ก็ในสมัยนั้น กาลยักษ์ไปบำรุงท้าวเวสสวรรณอยู่ ครบกำหนด ๗ วันจึงจะกลับมา นางยักษินีผู้เป็นภรรยาของกาลยักษ์ซึ่งอยู่เฝ้าสระนั้น ครั้นเห็นพระโพธิสัตว์ราชกุมารลุกขึ้นจะเดินไป เมื่อนางจะจับพระโพธิสัตว์ราชกุมารนั้น จึงกล่าวว่า ดูกรมาณพหนุ่มน้อย เหตุไรเจ้าจึงมาลักรากบัวและน้ำในสระของเรานี้กิน เจ้าจะเป็นภักษาหารของเรา เจ้าจงหยุดยืนอยู่ก่อน ว่าดังนี้แล้ว ก็จับพระโพธิสัตว์มาปริภาษด่าว่าทุบถองตบตี แล้วจำไว้ในเรือนจำด้วยเครื่องจำต่างๆ แล้วคุกคามว่า ดูกรเด็กหนุ่มน้อยคนร้าย บัดนี้สามีเราไปบำรุงท้าวเวสสวรรณอยู่ยังไม่กลับมา ถ้าสามีของเรากลับมาก็จักฆ่าท่าน แล้วปิ้งเนื้อของท่านกินเป็นภักษาหาร

ฝ่ายพระราชกุมารโพธิสัตว์ ได้รับทุกขเวทนาอันสาหัส ก็ร้องไห้ปริเทวนาการครวญคร่ำ เมื่อระลึกถึงมารดาขึ้นมาจึงกล่าวคาถาว่า

อมฺมา มยฺหํ อชานนฺตีปุตฺโต ชีวโก อิติ
กฏฺทณฺโหติ สฺายมม น อนุโสจนฺติ
มาตุ คุณํ วรตรํสิรสา มยฺหํ วนฺทามิ
ชิวํ รกฺขตุ มมกรํ ปฏิคุณํ ตว
อมฺหากํ มรณํ อชฺชอมฺมา จ สุขิตา โหตุ
ทีฆายุ อขรามราอมฺมา จ สา อาคเมตุ ฯ

ความว่า แม่องเราก็มิได้รู้ว่า บุตรองตนยังมีชีวิตอยู่มาสำคัญเสียว่า บุตรของตนเป็นท่อนไม้ จึงไม่เศร้าโศกถึงเราผู้เป็นบุตร ข้าพเจ้าขอไหว้คุณของมารดาซึ่งเป็นคุณอันประเสริฐ ด้วยเศียรเกล้าของข้าพเจ้า ขอพระคุณของมารดาจงรักษาชีวิตของข้าพเจ้าไว้ ข้าพเจ้าจะกระทำ/*38การตอบแทนพระคุณของท่าน ความตายขอข้าพเจ้าในวันนี้แล แม่จงมีความสุขมีอายุยืนยาวอย่ารู้แก่รู้ตายเถิด อนี่งแม่นั้นจงคอยท่าข้าพเจ้าอยู่เถิด

แต่พระโพธิสัตว์ราชกุมารร้องไห้คร่ำครวญถึงมารดาอยู่ดังนี้ กาลล่วงไปได้ ๗ วัน

ครั้นวันที่ ๗ กาลยักษ์ก็กลับมาจากบำรุงท้าวเวสสวรรณ นางยักษินีภรรยาจึงบอกว่า ข้าแต่สามี ข้าพเจ้าได้จับกุมารหนุ่มน้อยซึ่งมาอาบน้ำในสระ แล้วลักเง่าบัวในสระนั้นกินเป็นอาหารข้าพเจ้าผูกด้วยเครื่องจำใส่ไว้ในเรือนจำแล้ว กาลยักษ์จึงกล่าวว่า เจ้าจงไปพากุมารหนุ่มน้อยนั้นมาหาเรา เราจะถามกุมารนั้น ว่าจะรู้ธรรมและอธรรมหรือไม่ ถ้าว่ากุมารนั้นไม่รู้จักธรรมและอธรรมเราจึงจะกินกุมารนั้นเป็นภักษาหารได้ นางกาลยักษินีจึงไปถอดพระโพธิสัตว์ราชกุมารออกจากเครื่องจำจูงมือมา

ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ราชกุมารกระทำเมตตาจิตให้เป็นปุเรจาริกแล้วก็เดินมาตรงหน้ากาลยักษ์

ฝ่ายกาลยักษ์แลเห็นพระโพธิสัตว์ราชกุมารนั้น มีรูปงามยิ่งและมีผิวดังทองคำ ควรเป็นที่นำมาซึ่งความเสื่อมใส ทั้งประกอบด้วยวัยกำดัดหนุ่มน้อย ก็เกิดความรักใคร่ในพระโพธิสัตว์ราชกุมารนั้น จึงมีวาจาว่า ดูกรมาณพ ตัวท่านกำลังหนุ่มน้อย ท่านต้องเป็นภักษาหารของเรา

พระโพธิสัตว์ราชกุมารจึงถามว่า ดูกรยักษ์ เราจะเป็นภักษาหารของท่านด้วยเหตุอะไร ดูกรมาณพ เพราะเหตุที่ท่านมาลักน้ำและเง่าบัวของเรากิน ท่านจึงต้องเป็นภักษาหารของเรา ดูกรยักษ์ น้ำและเง่าบัวในสระจะเป็นของท่านด้วยเหตุอะไร ดูกรมาณพน้ำและเง่าบัวในสระจะเป็นของเรา เพราะเราบำรุงท้าวกุเวรราช ท้าวกุเวรราชให้พรแก่เรา ดูกรยักษ์ ท่านจะกินชนได้ทั้งสิ้นหรือ หรือจะเว้นชนเช่นไรบ้าง ดูกรมาณพ ท้าวกุเวรราชได้อนุญาตเราไว้ว่า ถ้าผู้ใดรู้จักธรรมและอธรรมผู้นั้นไม่เป็นภักษาหารของเรา เพราะฉะนั้นตัวท่านเป็นเด็กนักจักรู้จักอะไร ท่านคงต้องเป็นภักษาหารของเราเที่ยงแท้ ดูกรยักษ์ เรารู้จักธรรมและอธรรมอยู่ เราไม่ใช่ภักษาหารของท่าน ดูกรมาณพ ถ้าท่านรู้ท่านจงกล่าวให้เราฟัง ดูกรยักษ์ ภรรยาของท่านได้จับเราจำไว้ให้เราอดอาหารถึง ๗ วัน เราเป็นผู้หิวนักไม่อาจกล่าวให้ท่านฟังได้ กาลยักษ์จึงให้ภรรยานำอาหารมาให้พระโพธิสัตว์บริโภค แล้วจึงเตือนว่า​ท่านได้บริโภคอาหารแล้ว เหตุไรจึงยังไม่กล่าวธรรมให้เราฟังเล่า ดูกรยักษ์ ตัวของเรามัวหมองยังไม่ผ่องใส ไม่ควรกล่าวธรรมแก่ท่าน กาลยักษ์จึงให้พระโพธิสัตว์อาบน้ำชำระกาย แล้วให้นุ่งผ้าสาฎกอันใหม่แล้วเตือนว่า เหตุไรท่านจึงยังไม่กล่าวธรรมเล่า ดูกรยักษ์ ผู้ที่จะแสดงธรรมย่อมแสดงโดยเหตุอันควร ๒ ประการ คือ อาสนะสมควรประการ ๑ บุคคลสมควรประการ ๑ เพราะเหตุนั้น อาสนะและบุคคลยังมิได้สมควร เราจึงไม่อาจกล่าวธรรมได้ ดูกรมาณพ ก็อาสนะและบุคคลเช่นไรเล่าจึงจะสมควร ดูกรยักษ์ ท่านจงตกแต่งอาสนะที่เราจะนั่งแสดงธรรมด้วยเครื่องอลังการอันวิจิตรต่างๆ แล้วจงจัดตั้งเครื่องสักการบูชา มีประทีปธูปเทียนดอกไม้เป็นต้น แล้วประนมมือตั้งสติมีความเคารพนับถือเรา เมื่อท่านทำได้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าอาสนะและบุคคลสมควร ยักษ์ก็กระทำตามคำพระโพธิสัตว์บอกนั้นทุกประการ

ในลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ราชกุมารก็ขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ให้ยักษ์นั้นสมาทานศีล ๕ แล้ว เมื่อจะแสดงธรรมด้วยพุทธลีลาส คือ ตามอย่างธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จึงกล่าวเตือนว่า ดูกรยักษ์ ท่านจงเงี่ยโสตลงสดับธรรมในกาลนี้ แล้วจึงกล่าวพระคาถาทั้งสามว่า

ธมฺโม กุสโล เจวอธมฺโม อกุสโล จ
อุโภ น สมวิปากิโนธมฺโม จ สคฺคมุเปติ
อธมฺโม นิริยํ เนติปณฺฑิโต หิ วิชานิย
ธมฺโม อนาวิโล เจวมณิโชติ ยถา รุจิ
อธมฺโม อสุจิโกปิคามสุกโร วิย จ
ธมฺโม มุนีหิ ปสฏฺโอธมฺโม วิฺูหิ ครหิโต ฯ

ความว่า ธรรมได้แก่ธรรมที่เป็นกุศล อธรรมได้แก่ธรรมที่เป็นอกุศล ธรรมที่เป็นกุศลและธรรมที่เป็นอกุศลทั้งสองนี้ มีวิบากผลไม่เสมอกัน ธรรมที่เป็นกุศลย่อมให้สัตว์ถึงสุติสวรรค์ ธรรมที่เป็นอกุศลย่อมนำสัตว์ไปสู่นรก ผู้ที่เป็นบัณฑิตรู้ชัดแล้วอย่างนี้เทียว อนึ่งธรรมเป็นของบริสุทธิ์สสะอาด เปรียบดังแก้วมณีโติที่มีรัศมีรุ่งเรือง ส่วนอธรรมเป็นของเศร้าหมองไม่สะอาด เปรียบดุจสุกรในบ้าน ธรรมเป็นสิ่งที่นักปราชญ์ทั้งหลายสรรเสริญ ส่วนอธรรมเป็นสิ่งที่นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวติเตียน

เอว มหาสตฺเต เมื่อพระมหาสัตว์แสดงธรรมเทศนาอยู่อย่างนี้ สองสามีภรรยาคือกาลยักษ์และนางกาลยักษินีก็ซ้องสาธุการ ขณะนั้นกาลยักษ์จึงถอนเขี้ยวแก้วมณีออกบูชาธรรม แล้วจึงกล่าวว่า ดูกรท่านผู้เป็นสัตบุรุษจำเดิมแต่นี้ไป ข้าพเจ้าจะไม่กลืนกินสัตว์ที่มีชีวิตอีกต่อไป แล้วจึงถามว่า ดูกรท่านผู้เป็นสัตบุรุษ ท่านมาแต่ที่ไหน และบัดนี้ท่านจะไปในที่ใด พระโพธิสัตว์จึงเล่าความตั้งแต่เบื้องต้นจนที่สุด ตามคำที่เทพบุตรได้บอกแล้วนั้นให้ยักษ์ฟัง แล้วจึงบอกว่า บัดนี้เราจักไปเมืองโกฏินคร เพื่อจะกระทำอุปการตอบแทนคุณมารดาที่ได้ตกยาก ขอท่านจงเอ็นดูช่วยบอกหนทางให้เราไปด้วยเถิด

กาลยักษ์จึงบอกว่า ถ้าท่านไปทางนี้โดยทิศเป็นระหว่างทิศประจิม จักได้เสวยราชสมบัติในเมืองกาสิกรัฐอันหากษัตริย์มิได้ พระราชาในเมืองนั้นสิ้นพระชนม์ได้ ๗ วันแล้ว ฝ่ายนางอัครมเหสีของพระราชานั้นยังเป็นหม้ายอยู่ อนึ่งอำมาตย์ทั้งหลายกำลังปรึกษาหาอุบายที่จะเสาะหาพระราชาครองเมืองนั้น พระโพธิสัตว์จึงถามว่า เมืองนั้นไกลเพียงไร กาลยักษ์จึงบอกว่า ตั้งแต่ที่นี้ไปไกลได้ ๓๐ โยชน์ นางกาลยักขินีจึงว่า ข้าแต่สามีในหนทางนั้นประกอบไปด้วยสัตว์ร้าย มีเสือโคร่งและราชสีห์เป็นต้น ท่านจงพาพระกุมารนี้ไปส่งเถิด อย่าให้ลำบากด้วยอันตรายในทางนั้นเลย กาลยักษ์ก็เห็นด้วย จึงให้พระโพธิสัตว์ขึ้นนั่งบนบ่าแล้วก็แบกไปโดยกำลังเร็ว ครั้นถึงแดนเมืองกาสิกรัฐ จึงให้พระโพธิสัตว์ลงจากบ่าแล้วให้นั่งอยู่ ณ ภายใต้ต้นไทรใหญ่อันมีอยู่ภายนอกเมือง ส่วนตนก็กลับมายังที่อยู่ของตน

ในกาลนั้น อำมาตย์ทั้งหลายมีปุโรหิตาจารย์เป็นต้น ซึ่งอยู่ในเมืองนั้นจึงปรึกษากันว่า เราจะได้ใครเป็นพระราชาอันสามารถที่จะสั่งสอนให้ชาวพระนครของเราทั้งหลายรู้จักสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ได้ ฝ่ายพระราชเทวีของเรานั้น ก็เป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดเฉียบแหลม สามารถจะสั่งสอนชาวพระนครทั้งหลายได้โดยแท้ แต่ทว่าไม่สามารถที่จะออกสู้รบข้าศึกศัตรูในที่รบได้ เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายควรจะเสาะหาผู้ที่มีปัญญาและสามารถในการสงคราม มาเป็นพระราชาปกครองบ้านเมือง ก็แต่เราทั้งหลายจะเสาะหาบุคคลเช่นไร และจะหาด้วยอุบายอย่างไร จึงจะได้บุคคลเช่นนั้นมาเป็นพระราชา

ในลำดับนั้น ปุโรหิตาจารย์จึงพูดว่า ผู้ใดที่เป็นผู้รู้อุบายและรู้ศิลปศาสตร์มาก และเป็นประธานของเราทั้งหลายมากด้วยกัน ผู้นั้นแลสมควรเป็นพระราชาของเราทั้งหลาย ​หมู่อำมาตย์จึงกล่าวค้านว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์พูตตามความชอบใจของท่านอาจารย์ผู้เดียว ข้าพเจ้าทั้งหลายหาเชื่อฟังคำของท่านไม่ ข้าพเจ้าทั้งหลายจะต้องกราบทูลพระราชเทวี ตามที่ได้หารือกันนี้ให้ทรงทราบก่อน ครั้นเห็นพร้อมกันแล้ว จึงนำความนั้นขึ้นกราบทูลพระราชเทวี

พระราชเทวีได้ทรงสดับดังนั้น จึงมีพระเสาวนีย์สั่งว่า ถ้ากระนั้นท่านทั้งหลายจงสร้างปราสาทมีเสาต้นเดียว ให้สูงประมาณสามอุสุภขึ้นที่ท่ามกลางพระนคร ครั้นอำมาตย์เหล่านั้นรับพระเสาวนีย์สร้างปราสาทให้สำเร็จภายในสามปีแล้ว จึงมีพระเสาวนีย์ให้ทาเสาปราสาทนั้นด้วยน้ำมัน แล้วทรงอธิษฐานว่า ผู้ใดเป็นผู้มีบุญสามารถจะครองราชสมบัติก็ดี หรือผู้ใดมีบุญควรจะได้อยู่ร่วมสังวาสกับเราก็ดี ขอให้ผู้นั้นขึ้นสู่ปราสาทที่มีเสาต้นเดียวนั้นได้ ถ้าว่าผู้ใดเป็นคนกาลกัณณี ขออย่าให้ผู้นั้นขึ้นสู่ปราสาทนั้นได้เลย ครั้นทรงอธิษฐานดังนี้แล้ว จึงมีพระเสาวนีย์ตรัสบังคับว่า ท่านทั้งหลายจงขึ้นสู่ปราสาทนั้นทีละคน ๆ เถิด ครั้นมีพระเสาวนีย์ ดังนี้แล้ว ก็เสด็จขึ้นประทับ ณ สุวรรณบัญชร แล้วให้เอาเชือกผูกปราสาทนั้นเหนี่ยวมาพอเสด็จขึ้นได้ จึงเสด็จขึ้นสู่ปราสาทนั้นพร้อมด้วยนางบริจาริกาทั้งหลาย แล้วเปิดพระแกลมีพระเสาวนีย์สั่งว่า ท่านทั้งหลายจงประชุมชาวพระนครทั้งปวง ตลอดจนคนเฝ้าประตูเป็นที่สุด แล้วจึงขึ้นสู่ปราสาทนี้ทีละคนๆ ถ้าผู้ใดขึ้นได้ก็จักได้เป็นพระราชาครองอาณาจักร

อำมาตย์ทั้งหลายรับพระเสาวนีย์แล้ว ทำปุโรหิตให้เป็นหัวหน้าแล้วเรียงตัวขึ้นปีนเสาทีละคนๆ ก็ไม่สามารถจะขึ้นปราสาทนั้นได้ ตลอดจนชาวพระนครทั้งหลายก็ไม่มีผู้ใดขึ้นได้แม้แต่สักคนเดียว

พระราชเทวีเห็นดังนั้น จึงมีพระเสาวนีย์ตรัสว่า ดูก่อนท่านทั้งหลายผู้เจริญ แว่นแคว้นบ้านเมืองที่มีพระราชาปกครอง ย่อมดำรงอยู่ได้เป็นอันดี ถ้าไม่มีพระราชาอยู่ปกครองแล้ว ก็มีแต่ความเสื่อมถ่ายเดียว เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายจงจัดบุษยราชรถ อันมีเศวตฉัตรขาว และเครื่องอลังการขาวล้วน เทียมเข้าด้วยม้ามีสีขาวทั้งหลาย แล้วเสี่ยงปล่อยไปว่า ถ้าผู้ใดมีบุญญาธิการสมควรที่ได้ราชาภิเษกในราชสมบัติ ขอให้บุพยราชรถจงไปเกยที่ผู้นั้น การเสี่ยงบุษยราชรถนี้ เป็นธรรมดาที่ได้ทำกันสืบเนื่องมาแต่บูรพประเพณีครั้งโบราณ ดังนี้

​อำมาตย์ทั้งหลายรับพระเสาวนีย์แล้ว ก็พากันประดับพระนครด้วยเครื่องอลังการต่างๆ แล้วเทียมมงคลสินธพทั้งสี่อันมีสีดังดอกกมุทเข้าในบุษยราชรถอันเป็นมงคล แล้วปูลาดด้วยเครื่องลาดอันวิจิตรในเบื้องบนบุพยราชรถนั้น แล้วนำเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕ คือ พระมงกุฎ พัดเครื่องต้น พระขรรค์ เศวตฉัตร ฉลองพระบาท ตั้งไว้ในที่สุดบุพยราชรถข้างหนึ่งแล้ว จึงให้เสนามีองค์สี่นุ่งผ้าขาวประดับเครื่องอลังการล้วนขาว ตามแวดล้อมบุษยราชรถนั้น แล้วให้ประโคมดนตรีไปในเบื้องหลัง ครั้นจัดการดังนี้แล้ว จึงให้พระราชเทวีทรงหลั่งน้ำรดลงบนเชือกสำหรับขับรถ และงอนรถและปฏักสำหรับรถด้วยพระสุวรรณภิงคาร คือพระเต้าน้ำทอง แล้วทรงอธิษฐานว่า ถ้าผู้ใดมีบุญญาธิการอาจครองราชสมบัติในเมืองนี้ได้ ขอให้บุษยราชรถตรงไปยังสำนักผู้นั้นเถิด ทรงเสี่ยงอธิษฐานแล้วก็ปล่อยบุพยราชรถนั้นไป

ฝ่ายบุษยราชรถนั้น กระทำประทักษิณราชมณเทียรแล้วก็ขึ้นสู่ทางใหญ่ไป ชนทั้งหลายมีปุโรหิตและเสนาบดีเป็นต้น ต่างคนต่างก็กราบไหว้เทพดาอธิษฐานว่า ขอให้บุพยราชรถจงมาสู่สำนักเราดังนี้ บุษยราชรถนั้นก็ก้าวล่วงเลยบ้านเรือนคนทั้งปวงนั้น แล้วออกจากพระนครผันหน้าตรงไปสู่ต้นไทรใหญ่ที่พระโพธิสัตว์บรรทมอยู่นั้น

ฝ่ายอำมาตย์ทั้งหลายมีปุโรหิตเป็นต้นเห็นบุษยราชรถแล่นไปโดยกำลังเร็วดังนั้น จึงร้องว่า ท่านทั้งหลายจงชักสินธพให้บุษยราชรถกลับเสียเถิด ท่านเสนาบดีได้ฟังดังนั้นจึงห้ามว่า ท่านทั้งหลายอย่าทำบุษยราชรถให้กลับเข้าพระนครเลย เมื่อบุษยราชรถนั้นจะไปสัก ๑๐๐ โยชน์ก็จงไปเถิด เราทั้งหลายจะติดตามไป บุษยราชรถนั้นครั้นถึงต้นไทรใหญ่ก็กระทำประทักษิณพระโพธิสัตว์แล้วหยุดตระเตรียมที่จะขึ้นเกยพระโพธิสัตว์

ฝ่ายอำมาตย์ทั้งหลายมีท่านเสนาบดีเป็นต้น ได้เห็นพระโพธิสัตว์นั้น มีผิวพรรณดังทองคำกำลังรุ่นหนุ่ม ทั้งมีรูปอันงามควรเป็นที่เลื่อมใส และบริบูรณ์ไปด้วยสรรพลักษณะอันอุดมดี จึงพร้อมกันว่า มาณพรุ่นหนุ่มผู้บริบูรณ์ไปด้วยสรรพลักษณะอันอุดมผู้นี้ เป็นผู้เกิดในตระกูลกษัตริย์ขัตติยมหาศาล มาณพผู้นี้เป็นบุตรกษัตริย์โดยแท้ที่จะผันแปรเป็นผู้ใดผู้หนึ่ง นอกจากบุตรกษัตริย์นั้นเป็นอันไม่มี ครั้นเห็นพร้อมกันดังนี้แล้วจึงกล่าวว่า ดูกรท่านทั้งหลายผู้เจริญ มาณพผู้นี้เป็นผู้นอนอยู่แต่ผู้เดียว เราทั้งหลายได้เห็นปรากฏอยู่ ถ้าหากว่ามาณพผู้นี้จักเป็นบุญสมควรแก่เศวตฉัตรแล้วไซร้ เมื่อเราทั้งหลายประโคมดนตรีก็จักไม่ตื่นตกใจและจักไม่ลุกขึ้นหนีไป ถ้าหากว่า มาณพผู้นี้จักเป็นคนกาลกัณณีไม่มีบุญไซร้ ​เมื่อได้ยินเสียงดนตรีที่เราประโคม ก็จักสะดุ้งตกใจกลัวมีความหวั่นไหว แล้วลุกขึ้นวิ่งหนีไปจากที่นี้ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงประโคมสรรพดุริยดนตรีโดยเร็วพลัน

ในขณะนั้น พนักงานดนตรีทั้งหลายก็ประโคมดนตรีขึ้นพร้อมกัน เสียงดนตรีนั้นก็ดังกึงก้องดุจเสียงคลื่นที่ดังสนั่นในท้องมหาสมุทรฉะนั้น

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ตื่นขึ้นเพราะเสียงดนตรีที่ประโคมนั้น จึงเลิกผ้าที่ห่มคลุมพระเศียรขึ้นดู ครั้นเห็นหมู่มหาชนทั้งบุษยราชรถก็รู้ชัดว่า เศวตฉัตรมาถึงเราแล้วจึงชักผ้าคลุมพระเศียรดังเก่า แล้วพลิกพระกายกลับบรรทมโดยเบื้องซ้าย

ในลำดับนั้น อำมาตย์ทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นประธาน ต่างก็พากันยกอัญชลีกรกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวดา บัดนี้ราชสมบัติมาถึงพระองค์แล้ว ขอพระองค์จงเสด็จอุฏฐาการเถิด พระพุทธเจ้าข้า

พระโพธิสัตว์ได้สดับคำทูลดังนั้น จึงอุฏฐาการจากที่บรรทม ทรงนั่งคู้บัลลังก์ขัดสมาธิแล้วจึงตรัสถามว่า ดูกรท่านทั้งหลาย พระราชาผู้ปกครองท่านทั้งหลายไปข้างไหน ข้าแต่สมมติเทวดา พระราชาของข้าพระองค์ทั้งหลายเสด็จทิวงคตแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ดูกรท่านทั้งหลาย ก็พระราชอนุชาหรือพระราชกุมารของพระราชานั้นไม่มีหรือ ข้าแต่สมมติเทวดา พระราชอนุชาและพระราชกุมารของพระราชานั้นมิได้มี พระพุทธเจ้าข้า ถ้ากระนั้นเราจะรับครองราชสมบัติตามถ้อยคำที่ท่านทั้งหลายเชื้อเชิญเรา

ลำดับนั้น มหาชนทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นประธาน จึงทำการอภิเษกพระโพธิสัตว์ให้เสวยถวัลยราชเป็นพระราชา ทรงพระนามว่า พระเจ้าวนาวนราช ครองราชฮาณาจักรกาสิกรัฐ

ในกาลนั้นพระเจ้าวนาวนราชโพธิสัตว์ก็เสด็จขึ้นทรงราชรถพร้อมด้วยมหันตบริวารยศและเสนามาตย์ราชบริพาร เสด็จเข้าสู่พระนครราชนิเวศน์สถาน แล้วขึ้นบนพระราชมณเทียรเสด็จประทับ ณ ราชบัลลังก์ ทรงตรวจตราแต่งตั้งฐานันดรศักดิ์มีเสนาบดีเป็นต้น แล้วเสด็จขึ้นสู่พื้นมหามงคลปรางค์ปราสาท

ฝ่ายพระราชเทวีอัครมเหสีหม้าย ได้ทอดพระเนตรเห็นพระวนาวนราชโพธิสัตว์ก็เกิดความโสมนัสยินดีรักใคร่ โดยสำคัญในใจว่าพระโพธิสัตว์นั้นเป็นบุตรของตน จึงมีพระเสาวนีย์ตรัสว่า ดูกรพ่อผู้เป็นบุตรดังนี้ ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็กราบไหว้พระราชเทวี โดยสำคัญในใจว่า พระราชเทวีนั้นเป็นพระมารดาของพระองค์ แล้วพระราชเทวีจึงสวมกอด​พระโพธิสัตว์ให้ขึ้นนั่งเหนือตัก จุมพิตแล้วตรัสถามว่า ดูกรพ่อผู้เป็นปิยบุตร พ่อมาแต่ที่ไหน บิดามารดาพ่ออยู่ ณ ที่ใด

ครั้นได้ฟังคำ พระโพธิสัตว์เล่าความตามที่เทพยดาได้บอกเล่าให้ฟังทุกประการ นางก็มีความสงสารร่ำร้องไห้ แล้วมีพระเสาวนีย์ตรัสว่า ดูกรพ่อผู้เป็นปิยบุตร พ่ออย่ามีความทุกข์ร้อนเสียใจไปเลย จำเดิมแต่นี้ไป มารดาจะเลี้ยงเจ้าเหมือนดังบุตรของเราที่เกิดแต่อุทรฉะนั้น ตั้งแต่นั้นมาพระโพธิสัตว์ก็ได้เป็นพระราชาครองราชสมบัติในเมืองนั้นโดยทศพิธราชธรรมประเพณี

ครั้นกาลต่อมา พราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิตาจารย์จึงคิดว่า พระราชาของเรานี้ยังหนุ่มนัก ไม่สมควรที่จะอยู่ร่วมรักกับพระอัครมเหสีซึ่งเป็นผู้ใหญ่ อีกประการหนึ่งเล่า ตัวเราก็มีวัยอันเจริญตั้งอยู่ในความเป็นผู้ใหญ่ ไม่สมควรที่จะมากราบไหว้รับราชการอยู่กับพระราชาซึ่งเป็นกุมารหนุ่มน้อย เมื่อเป็นดังนี้เราควรจะล่อลวงพระราชาพาขึ้นไปบรรพต แล้วผลักให้ตกลงไปในเหวให้ถึงแก่ความตาย ครั้นคิดดังนี้แล้ว จึงไปเฝ้าพระราชาโพธิสัตว์ ถวายบังคมแล้วทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราช พระราชาทั้งหลายแต่ครั้งโบราณมา เมื่อได้ราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ในพระนครนี้แล้ว ย่อมขึ้นไปบนบรรพตอันปราศจากมลทินแล้วทรงสระสนานพระเศียร เที่ยวประพาสเล่นอยู่ ณ บรรพตนั้น ส่วนพระองค์มิได้เสด็จสรงสนานพระเศียรโดยขัตติราชประเพณีนั้น ด้วยเหตุอันใด ครั้นพระโพธิสัตว์ตรัสว่า เรามิได้รู้ราชประเพณี พราหมณ์ปุโรหิตจึงทูลว่า กาลนี้พระองค์ก็ได้ทรงทราบแล้ว ขอพระองค์จงเสด็จขึ้นบรรพตทรงกระทำตามราชประเพณีนั้นเถิด พระพุทธเจ้าข้า

อถ โส วนาวนราชา ลำดับนั้น พระเจ้าวนาวนราชโพธิสัตว์จึงตรัสรับว่า ถ้ากระนั้นเราจะทำตามราชประเพณีในเมืองนี้ แล้วมีพระราชดำรัสให้ประดับมรรคาที่จะไปยังที่บรรพตนั้น จึงให้ประชุมโยธาหาญเตรียมการที่จะเสด็จเสร็จแล้ว ทรงเสวยพระกระยาหารมีรสเลิศต่างๆ แล้วเสด็จเข้าที่สรงทรงเครื่องประดับสำหรับกษัตริย์เสร็จแล้ว กรกุมพระขรรค์แก้วยุรยาตรเสด็จลงจากปราสาทขึ้นประทับ ณ คอพระยาคชสาร พร้อมด้วยเสนามาตย์ราชบริพารและนางสนมแวดล้อมเป็นขนัด เมื่อพระราชาโพธิสัตว์เสด็จถึงเชิงบรรพตแล้วก็เสด็จลงจากคอพระยาคชสารจะเสด็จขึ้นบนวิมลบรรพต

ในขณะนั้น พราหมณ์ปุโรหิตจึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราช ส่วนอำมาตย์ราชเสนาและนางปริจาริกาทั้งหลาย จงยับยั้งอยู่ ณ เชิงบรรพตนี้ ขอพระองค์จงเสด็จขึ้น​บรรพตพร้อมกับข้าพระองค์สองคนเท่านั้น ครั้นกราบทูลดังนี้แล้ว จึงให้พระโพธิสัตว์เสด็จประทับ ณ คอของตน แล้วพาแบกขึ้น ณ เบื้องบนบรรพต ครั้นถึงเหวแห่งหนึ่งจึงทิ้งพระโพธิสัตว์ลงในเหวนั้น

ก็ในท้องบรรพตอันเป็นภายใต้แห่งเหวนั้น มีต้นรังต้นหนึ่ง มีกิ่งเป็นสาขางอกงามเจริญขึ้นโดยลำดับ เมื่อพระโพธิสัตว์ถูกทิ้งตกลงไปบนยอดไม้รังนั้น จึงได้ทรงยึดไม้รังด้วยพระกรแล้ว ประทับนั่งอยู่ ณ ยอดไม้รัง พระสกนธ์กายมิได้กระทบสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลย ทรงสบายพระองค์เป็นปกติอยู่ มิได้มีวิการสิ่งใดในพระสรีรกาย

ฝ่ายพราหมณ์ปุโรหิตนั้น ครั้นทิ้งพระโพธิสัตว์ลงไปในเหวแล้ว จึงกลับมาเรียกพวกราชบริษัทบอกว่า ดูกรพ่อทั้งหลายผู้เจริญพระราชาของเราทั้งหลายเสด็จขึ้นไปบนบรรพตแล้ว ทรงวิ่งไปวิ่งมาก็หายไปบนบรรพตนั้น เราเที่ยวเสาะหาในที่ต่างๆ และร้องเรียกเชิญเสด็จก็มิได้พบพระองค์ ท่านทั้งหลายจงไปเที่ยวค้นหาพระราชาของเราเถิด

พวกเสนามาตย์ราชบริพารและนางบริจาริกาทั้งหลาย ได้ฟังพราหมณ์ปุโรหิตบอกดังนั้น ต่างคนก็พากันตกใจร้องไห้ปริเทวนาการ แล้วพากันขึ้นไปบนบรรพตเที่ยวค้นหาในสถานที่ต่างๆ เที่ยวร้องเชิญเสด็จสิ้นวันยังค่ำ ก็มิได้ประสบพระโพธิสัตว์ จึงพากันกลับเข้าพระนคร แล้วทูลพระราชเทวีให้ทรงทราบ

พระราชเทวีได้ทรงสดับดังนั้น ก็ทรงพระกรรแสงร่ำปริเทวนาการ มีพระหฤทัยเดือดดาลไปด้วยโทมนัส จึงมีพระเสาวนีย์ตรัสปริภาษพราหมณ์ปุโรหิตด้วยพระคาถาว่า

ทุฏฺโ โข พฺราหฺมโณ พาโลมม ปุตฺตํว วฺเจติ
โส รโห คโต มาเรติกามฺจ มรณํ ปตุโต ฯ

ความว่า พราหมณ์ผู้ประทุษร้ายใจพาล วงเาบุตรเราไปฆ่าเสียในที่ลับ บุตรของเราก็ถึงความตายแล้วโดยแท้

ในกาลนั้น มหาชนทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นประธาน ก็พากันเที่ยวค้นหาพระราชาโพธิสัตว์ในสถานที่ต่างๆ อีก ๗ วัน ครั้นไม่พบพระโพธิสัตว์ จึงประชุมกันที่หน้าพระลาน เมื่อได้เห็นพระราชเทวียังทรงพระกรรแสงปริเทวนาการอยู่ดังนั้น จึงพากันทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า การที่กระทำสมาคมกับพระราชาผู้เป็นกุมารหนุ่มน้อยนั้นมิบังควร ขอพระแม่เจ้าจงเสาะหาพระภัสดาองค์อื่น ซึ่งมีบุญญาธิสมภารและมีวัยเสมอด้วยพระแม่เจ้าเถิด

​พระราชเทวีจึงตอบว่า ดูกรท่านทั้งหลาย นี่ท่านทั้งปวงเห็นจะสำคัญว่าพระราชาหนุ่มน้อยนั้นเป็นสามีของเรา ความที่จริงคือ พระราชาหนุ่มน้อยนั้นได้ปฏิญาณตนว่าเป็นบุตรของเรา เพราะเหตุนั้นเราจึงมีความเศร้าโศกระทมไปด้วยทุกข์โทมนัส

เมื่อเสนามาตย์ราชบริษัทได้ฟังดังนั้น จึงทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ที่พระแม่เจ้ามีพระเสาวนีย์ตรัสนี้สมควรแล้ว ข้าพเจ้าทั้งหลายก็เห็นเป็นการจริง ก็แต่ว่าเดี๋ยวนี้บ้านเมืองของเราปราศจากพระราชาผู้ปกครอง เราทั้งหลายจักกระทำอย่างไรดี จึงมีพระเสาวนีย์ตรัสว่า เราไม่อาจที่จะคิดอีกแล้ว ท่านทั้งหลายจงปรึกษาหารือกันเถิด แต่นี้ไปเราจักเป็นผู้นิ่งจักไม่ปรึกษาหารือด้วยท่านทั้งหลายทั้งปวง ถ้าและว่าเราขืนปรึกษาไป ความครหาก็จักบังเกิดขึ้นแก่เราอีก

จำเดิมแต่นั้นมา เหล่าอำมาตย์ทั้งหลายก็ช่วยกันตรวจตราดูแลราชกิจทั้งปวง ฝ่ายพระราชเทวีก็ทรงบำเพ็ญกุศลบุญนฤธีมีทานเป็นต้น แล้วทรงอุทิศส่วนกุศลให้แก่พระเจ้าวนาวนราชโพธิสัตว์ทุกวันๆ เป็นนิจนิรันดรมิได้ขาด

อถ ตสฺม อธิวฏฺ ในกาลนั้น เทพยดาทั้งสองซึ่งสิงสถิตอยู่ ณ บรรพตนั้น ครั้นเห็นพระโพธิสัตว์ถูกพราหมณ์ทิ้งลงไปแล้วยึดกิ่งรังนั่งอยู่บนยอดไม้รังดังนั้น จึงปรึกษากันว่า ถ้าว่าพระราชากุมารผู้เป็นหน่อพุทธางกูรนี้จักตายอยู่ในเหวอันเป็นท้องบรรพตนี้ไซร้ เราทั้งสองก็จักเข้าสู่เทวสมาคมไม่ได้โดยแท้ เพราะเหตุนั้นเราทั้งสองจะทำการสงเคราะห์แก่พระโพธิสัตว์นั้น ครั้นปรึกษากันแล้ว จึงก่อกองไฟให้โพลงขึ้น ทำแสงให้สว่างส่องไปในเหวนั้นแล้ว เทพยดาองค์หนึ่งจึงนฤมิตอัตตภาพเป็นกระต่าย วิ่งไปในที่จำเพาะหน้าพระโพธิสัตว์ ทำเป็นดิ้นรนไปมาแล้วทำเป็นตายอยู่ ณ ที่นั้น

ฝ่ายพระโพธิสัตว์เห็นกระต่ายวิ่งมาตายอยู่ดังนั้น จึงคิดว่าเราจักนำเนื้อกระต่ายนั้นมาปิ้งบริโภค แล้ววิ่งเข้าไปจับกระต่ายนั้น กระต่ายแปลงนั้นก็หายใจนอนอยู่ พระโพธิสัตว์เห็นกระต่ายหายใจอยู่จึงคิดว่ากระต่ายตัวนี้ยังไม่ตายยังเป็นอยู่ ถ้าหากว่าเราบริโภคเนื้อกระต่ายนี้ เราก็จะได้รับความสุขประมาณครู่หนึ่งเท่านั้น แล้วจักได้รับวิบากผลในอบายสิ้นกาลนาน เพราะเหตุนั้น เราจักไม่ฆ่ากระต่ายนี้บริโภค คิดดังนี้แล้วก็ปล่อยกระต่ายนั้นเสีย

ในลำดับนั้น เทพยดาทั้งสองก็แปลงกายเป็นมนุษย์ เข้าไปหาพระโพธิสัตว์ถามว่า ท่านนี้มาแต่ไหน และท่านเป็นผู้คนเดียวมานั่งอยู่ด้วยเหตุใดพระโพธิสัตว์จึงบอก​เหตุที่พราหมณ์ปุโรหิตลวงมาทิ้งให้ฟังแล้วถามว่า ท่านทั้งสองนี้มาแต่ไหน เราทั้งสองอยู่ในป่านี้เอง ท่านทั้งสองมานี้ด้วยเหตุใด เราทั้งสองมานี้ เพื่อประโยชน์จะฟังธรรมเทศนา ท่านรู้ธรรมหรือไม่ เรารู้อยู่บ้าง ถ้าท่านรู้ ท่านจงแสดงธรรมแก่เราทั้งสอง เราแสบท้องมีความหิวกระหายนัก ไม่สามารถจะแสดงธรรมแก่ท่านได้ เทพยดาทั้งสองนั้นจึงนำอาหารทิพย์มาให้พระโพธิสัตว์บริโภค ครั้นพระโพธิสัตว์บริโภคแล้ว จึงเตือนว่า ท่านจงแสดงธรรมแก่เราทั้งสองเถิด พระโพธิสัตว์ตอบว่า อาสนะยังไม่สมควร เทวดาทั้งสองจึงนฤมิตธรรมาสน์อันประดับด้วยเครื่องอลังการต่างๆ แล้วเชิญพระโพธิสัตว์ให้นั่งเหนือธรรมาสน์ แล้วเตือนว่า ท่านจงแสดงธรรมในกาลนี้เถิด

ในลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงว่า ถ้ากระนั้นท่านทั้งสองจงเงี่ยโสตลงสดับเถิด เราจักแสดงธรรมให้ท่านทั้งสองฟังในกาลนี้ ว่าดังนี้แล้ว ก็กล่าวพระคาถาว่า

สตฺตานํ มรณํ ธุวํชีวิตํ อธุวํเจว
สงฺขารา อนิจฺจา วตขยวยธมฺมิโน จ
ยถา อุทกกุมฺโภ จขิปฺปภินฺโน อสารโถ
อปฺุปฏิสนฺธิโย เจวเอวํ สมฺปทเมเวตํ
อิติ โลกธมฺมา นามตสฺมาหํ น โสจยิตํ ฯ

ความว่า ความตายของสัตว์ทั้งหลายเป็นของยั่งยืนคงที่ ชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลายเป็นของไม่ยั่งยืนงที่ สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง มีความสิ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านอุปมาไว้ว่าหม้อน้ำที่มีความแตกทำลายโดยพลัน เป็นของไม่มีแก่นสาร ไม่มีใครที่จะติดต่อควบคุมได้ฉันใด สัขารทั้งหลายก็เป็นของไม่เที่ยงมีอันจะแตกทำลายโดยพลัน มิได้มีแก่นสารไม่มีใครควบคุมติดต่อได้ฉันนั้น สภาวะ ประการ คือ มีลาภได้ลาภหนึ่ง ๑ ความไม่ได้ลาภเสื่อมจากลาภ ๑ ความมียศได้ยศหนึ่ง ๓ ความไม่ได้ยศเสื่อมจากยศ ๑ นินทากล่าวโทษติเตียน ๑ ปสสา ความสรรเสริญยกย่อง ๑ สุข ได้ความสุขกายสุขจิต ๑ ทุกฺขํ ได้ความทุกข์ระมจิต ๑ ทั้งแปดนี้เรียกว่าโลกธรรม เพราะเป็นธรรมมีอยู่สำหรับโลก โดยเหตุนี้ เมื่อโลกธรรมอันดอันหนึ่งมาถูกต้องเรา เราจึงมิได้เศร้าโศกเลย

ตํ สุตฺวา เทวตา เทพดาทั้งสองได้ฟังพระธรรมเทศนานั้นแล้ว ก็มีจิตชื่นชมโสมนัส จึงบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยอาหารมีรสอันเลิศต่าง กับทั้งดอกไม้มีสีอันงามทั้งหลาย แล้วพากันยกพระโพธิสัตว์ขึ้นจากเหว แล้วให้นั่งอยู่ ณ ที่ปากเหวนั้น

มีคำถามว่า เพราะวิบากกรรมอะไร พระโพธิสัตว์นั้นจึงถูกพราหมณ์ลวงเอาไปทิ้งเสียในเหว มีคำวิสัชนาว่า ดังได้สดับมาในชาติที่เป็นอดีตล่วงแล้วนาน เมื่อพระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นนายโคบาลต้อนโคทั้งหลายไปให้กินหญ้า ครั้นได้เห็นกบตัวหนึ่ง จึงจับกบนั้นขว้างลงไปในท้องแห่งเหว แล้วก็หัวเราะเล่นโดยอาการที่รื่นเริง กบนั้นได้มาเกิดเป็นพราหมณ์ปุโรหิต เพราะเวรอันนั้น เมื่อปุโรหิตเห็นพระโพธิสัตว์ก็มีความโกรงยิ่งนัก จึงลวงพระโพธิสัตว์ให้ขึ้นไปบนภูเขาแล้วทิ้งเสียในเหวดังนี้

ตทา วนาวนกุมาโร ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์วนาวนกุมาร เมื่อประดิษฐานอยู่ปากเหวแลดูไปในทิศานุทิศ ก็ไม่สามารถจะกำหนดทิศที่ตนมานั้นได้ จึงลงจากบรรพตโดยทิศอันอื่น แล้วเดินไปโดยทางอันอื่น ครั้นเข้าไปในป่าน้อยใหญ่ก็ข้ามภูเขาน้อยใหญ่ แต่เดินบุกป่าข้ามภูเขาอยู่ดังนี้เป็นหลายวันจึงบรรลุถึงสระโบกขรณีแห่งหนึ่งครั้นถึงสระโบกขรณีแล้ว ก็ลงดื่มน้ำอาบน้ำในสระนั้นแล้วก็เก็บเง่าบัวและฝักบัวทั้งหลายบริโภคเป็นอาหาร

แท้จริง ในสระโบกขรณีนั้น พระยากินนรกับบุตรและธิดาทั้งหลายเคยมาอาบน้ำและเล่นน้ำอยู่เนืองๆ ครั้นเวลาจะกลับไปจึงให้ยักษ์ทั้งหลายประมาณห้าร้อยตนเฝ้าสระนั้น ครั้นยักษ์เหล่านั้นได้เห็นพระโพธิสัตว์ทำอาการดังนั้น จึงจับพระโพธิสัตว์โบยตีแล้วผูกมัดไปเฝ้าพระยากินนร แล้วทูลว่า ข้าแต่เทวดา มนุษย์ผู้นี้มาดื่มน้ำอาบน้ำในสระโบกขรณี แล้วก็เก็บเง่าบัวฝักบัวบริโภคเป็นอาหาร

พระยากินนรได้ฟังดังนั้น ก็มีความโกรธเป็นกำลัง จึงสั่งให้ประหารพระโพธิสัตว์ด้วยท่อนเหล็กทันที แล้วให้ขังไว้ในกรงเหล็ก แต่พระโพธิสัตว์ต้องถูกโบยตี และถูกจำขังอยู่ในกรงเหล็กนั้นถึง ๓ ปี ทั้งมิได้บริโภคอาหารสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลย ก็มิได้กระทำกาลกิริยาตาย เพราะเหตุที่พระโพธิสัตว์ได้ดื่มน้ำในสระโบกขรณี น้ำในสระโบกขรณีนั้นรักษาพระชนม์ชีพไว้ได้ ทั้งพระสรีระกายที่ต้องถูกโบยตีก็มิได้มีความบอบช้ำ ด้วยอำนาจที่ดื่มน้ำในสระนั้น

มีคำถามว่า เพราะวิบากกรรมอะไร พวกยักษ์จึงพากันประหารพระโพธิสัตว์ แล้วและถูกสั่งให้ขังในกรงเหล็กต้องอดอาหารถึงสามปี มีคำวิสัชนาว่า ดังได้สดับมาในกาล​ที่เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว เมื่อพระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นคฤหบดี ได้มอบบุตรของตนคนหนึ่งถวายพระภิกษุ แล้วขอให้บรรพชาเป็นสามเณร สามเณรนั้นเป็นผู้เกียจคร้านมิได้ทำการศึกษาปฏิบัติตามกิจของสามเณร ทั้งมิได้ศึกษาในลัทธิอักขรสมัย คือไม่เล่าเรียนเขียนอ่านตามที่อาจารย์สั่งสอนไว้ ภิกษุผู้เป็นอาจารย์นั้นจึงพาสามเณรไปหาบิดามารดาแล้วบอกว่า สามเณรบุตรของโยมนี้เป็นผู้ไม่ประพฤติความดี ทั้งเป็นผู้เกียจคร้านไม่เล่าเรียนเขียนอ่านในลัทธิอักขรสมัย คฤหบดีผู้เป็นบิดาของสามเณรจึงว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ถ้ากระนั้นพระผู้เป็นเจ้าจงด่าว่าเฆี่ยนตีสามเณรนั้น แล้วอย่าให้สามเณรบริโภคอาหารเลย ถ้าหากว่าสามเณรนั้นกระทำวัตรปฏิบัติโดยชอบตามกิจของตน และหมั่นศึกษาเล่าเรียนรอบรู้อักขรสมัยโดยชอบแล้ว พระผู้เป็นเจ้าจึงให้บริโภคอาหารเถิด เพราะวิบากผลแห่งวจีกรรมนี้ คฤหบดีมาเกิดเป็นพระโพธิสัตว์ จึงต้องถูกโบยตี และอดอาหารอยู่ในกรงเหล็กนั้นถึงสามปี

ในสมัยที่พระโพธิสัตว์ทนทุกขเวทนาอยู่นั้น พระยากินนรอยู่เหนือที่สิริไสยาสน์ ได้เห็นสุบินนิมิตประหลาดเป็นอัศจรรย์ ในสุบินนิมิตนั้นว่า มีสมณะองค์หนึ่งมานั่งอยู่บนอาสน์เท้าสิงห์อันประดับด้วยอลังการ แล้วแสดงธรรมเทศนาอันไพเราะจับใจ ครั้นพระยากินนรตื่นขึ้นก็ปรารถนาจะใคร่ฟังธรรมเทศนา จึงออกจากที่ไสยาสน์มาสรงพระพักตร์สระสางพระเศียร บริโภคโภชนาหารมีรสอันเลิศต่างๆ แล้วให้หาเหล่าอำมาตย์กุมภัณฑ์เข้ามาเฝ้า จึงตรัสถามว่า ในเมืองเรานี้ผู้ที่รู้ธรรมและอาจแสดงธรรมแก่เราได้ มีบ้างหรือไม่

ครั้นพวกอำมาตย์กุมภัณฑ์ทูลว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายหาทราบเกล้าไม่ จึงตรัสสั่งว่า ถ้ากระนั้นท่านทั้งหลายจงให้พวกกินนรและกุมภัณฑ์เที่ยวตีกลองป่าวร้องไปในเมืองนี้ว่า ถ้าผู้ใดรู้ธรรมสามารถแสดงธรรมแก่เราได้ เราจะแบ่งสมบัติให้ผู้นั้นกึ่งพระนคร พวกอำมาตย์กุมภัณฑ์รับสั่งแล้ว จึงให้พวกกุมภัณฑ์และกินนรเอากลองไปเที่ยวตีประกาศทั้งภายในพระนครและภายนอกพระนครถึง ๗ วัน ก็หาผู้ที่จะแสดงธรรมนั้นไม่ได้

ในลำดับนั้น พระยากินนรระลึกขึ้นมาถึงพระโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า ดูกรท่านทั้งหลายผู้เจริญ มาณพที่เราให้จำไว้ในกรงเหล็กมีอยู่ ท่านทั้งหลายจงไปถามมาณพนั้นดู พวกอำมาตย์กุมภัณฑ์จึงไปหาพระโพธิสัตว์แล้วถามว่า ดูกรมาณพผู้เจริญ ท่านเป็นผู้รู้ธรรมหรือไม่ ครั้นพระโพธิสัตว์ตอบว่า เราเป็นผู้รู้ธรรม จึงพากันไปเฝ้าพระยากินนรแล้วทูลว่า ​ข้าแต่เทวดา มาณพนั้นบอกว่าเป็นผู้รู้ธรรม พระยากินนรได้ฟังดังนั้น จึงให้ไปถอดพระโพธิสัตว์ออกมาแล้วให้อาบน้ำชำระกายด้วยน้ำหอม และให้บริโภคโภชนะมีรสเลิศต่าง ๆ แล้วให้นั่งเหนือธรรมาสน์ บูชาด้วยเครื่องสักการะทั้งหลายมีประทีปธูปเทียนเป็นต้น แล้วบริษัทของตนมีกินนรและกุมภัณฑ์ยักษ์ อาทิ มาประชุมฟังธรรมพร้อมกันในที่นั้น

พระโพธิสัตว์เมื่อจะแสดงธรรมแก่บริษัท มีพระยากินนรเป็นประธาน จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงรักษาศีลห้าประการก่อน ครั้นพระยากินนรตรัสถามว่า ศีลห้าประการนั้นคืออะไร จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราช ศีลห้าประการนั้นคือ ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนาที่เว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑ อทินฺนาทานา เวรมณี เจตนาที่เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ๑ กาเมสุ มจฉาจารา เวรมณี เจตนาที่เว้นจากความประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ๑ มุสาวาทา เรมณี เจตนาที่เว้นจากคำพูดเท็จ ๑ สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺานา เวรมณี เจตนาที่เว้นจากเหตุแห่งความประมาทคือดื่มน้ำเมาได้แก่สุราเมรัย ๑ ทั้งห้าประการนี้เรียกว่าศีลห้า ท่านทั้งหลายจงสมาทานถือมั่นในศีลห้านี้เถิด พระโพธิสัตว์อธิบายศีลห้าดังนี้แล้วจึงแสดงอานิสงส์ของศีลห้าต่อไปว่า ดูกรมหาราช บุคคลที่งดเว้นจากปาณาติบาต ย่อมเป็นผู้ไม่มีโรคและไม่มีความป่วยไข้ และไม่มีผู้ใดที่จะเบียดเบียนพยาบาทจองเวร และเป็นผู้ปราศจากทุกข์และปราศจากอุปัทวันตราย ทั้งจะเป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายมากไม่มีประมาณ และจะมีอายุยืนยาวนาน ไม่ใคร่จะแก่ชรา และไม่พลัดพรากจากสัตว์และสังขารอันเป็นที่รักเจริญใจ และจะมีวรรณสีกายอันงามผ่องใสบริบูรณ์ไปด้วยรูปทรงสัณฐานอันดี ทั้งมิได้มีความครั่นคร้ามและความกลัวในท่ามกลางบริษัท และเมื่อจะทำกาลกิริยาก็ไม่มีสติหลงใหลฟั่นเฟือน ครั้นทำกาลกิริยาแล้วก็ไม่ไปเกิดในอบาย อันนี้เป็นอานิสงส์ของการที่งดเว้นจากปาณาติบาต

บุคคลที่งดเว้นจากอทินนาทานนั้น ย่อมเป็นผู้มั่งคั่งบริบูรณ์ด้วยทรัพย์และบริวารสมบัติเป็นอันมาก ทรัพย์สมบัติที่ยังไม่เกิดขึ้นก็จะบังเกิดขึ้น ที่บังเกิดขึ้นแล้วก็จะถาวรอยู่สิ้นกาลนาน ทั้งจะบริบูรณ์ด้วยสรรพศฤงคารคือรูปเสียงกลิ่นรสอันเป็นที่พึงใจ เมื่อปรารถนาสิ่งใดก็จะได้สิ่งนั้นสำเร็จดังความปรารถนา โจรภัย อัคคีภัย และอุทกภัยราชภัย ก็จักมิได้มีมาแผ้วพาน ทั้งตระกูลก็จักไม่ร้าวรานแตกจากกัน จักมีความสุขอยู่เป็นนิตย์ เมื่อผู้นั้นทำลายขันธ์สิ้นชีวิตก็จักไม่ไปเกิดในตระกูลที่ยากจน อันนี้เป็นอานิสงส์ผลที่งดเว้นจากอทินนาทาน

​ส่วนบุคคลที่งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารนั้น ย่อมเป็นที่รักของเหล่ามนุษย์และอมนุษย์ทั้งหลาย และไม่พลัดพรากหมู่ญาติอันเป็นที่รักที่เจริญใจ ทั้งจะห่างไกลจากข้าศึกศัตรูที่จะผูกอาฆาตจองเวรและจะพ้นจากทุกข์ภัยในอบาย ความโศกและทุกข์ภัยอาพาธทั้งหลายจักมิได้มีมาพ้องพาน อนึ่งผู้ทึ่งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารนั้น จักไม่กลายเพศเป็นหญิงและกระเทย และจักมีภรรยาอันงามเป็นที่รักเจริญใจ อันนี้เป็นอานิสงส์ของการที่งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร

ส่วนผู้ที่งดเว้นจากมุสาวาทนั้น จักมีถ้อยคำอันไพเราะและมีเสียงอันอันไพเราะเป็นที่รักเจริญใจของชนทั้งหลายทั้งปวง และจะมีจักษุโสตมิได้วิกลวิการ ทั้งจะมีกายอันบริสุทธิ์สะอาดปราศจากมลทิน และมีลิ้นอันอ่อนมีฟันอันชิดเสมอเป็นอันดี จะกล่าวถ้อยคำสิ่งใดก็มิได้พลั้งพลาด และมีวาจาอ่อนหวานปราศจากโทษ นำมาซึ่งความสุขแก่โสต คือเป็นที่รักเจริญใจของผู้ฟัง ทั้งจะเป็นผู้รอบรู้สรรพวิชา และฉลาดในอรรถพยัญชนะ และมีความดำริจิตมิได้เหลวไหล ทั้งจะมีกลิ่นปากอันหอมฟุ้งไปดุจกลิ่นดอกอุบล อันนี้เป็นอานิสงส์ผลของความงดเว้นจากมุสาวาท

บุคคลที่งดเว้นจากดื่มสุราเมรัยนั้นย่อมเป็นผู้มีกิตติศัพท์กิติคุณอันฟุ้งเฟื่อง และมีปัญญาเป็นพหูสูตมีสติสัมปชัญญะไม่ฟั่นเฟือน มีศีลมิได้วิบัติแตกทำลาย และไม่เป็นบ้า ไม่วิกลจริต ทั้งมิได้มีจิตอันเลื่อนลอยฟุ้งซ่าน และกล่าวถ้อยคำละเอียดอ่อนหวานไพเราะ ไม่กล่าวคำที่เหลาะแหละส่อเสียดผู้อื่น และมีกายวาจาใจชุ่มชื่นบริสุทธิ์สะอาด เป็นที่รักเจริญใจของชนทั้งหลายที่เป็นญาติมิตร ทั้งเป็นผู้มีจิตปราศจากความตระหนี่ และเป็นผู้มีศีลเป็นสัตบุรุษมีสันดานอันซื่อตรง เมื่อเข้าสู่ที่ประชุมก็มิได้ครั่นคร้ามเกรงขามผู้ใด อันนี้เป็นอานิสงส์ของความที่งดเว้นจากดื่มน้ำเมา คือ สุราเมรัย

อานิสงส์ของศีลห้าย่อมทำผู้ที่สมาทานถือมั่น ให้เจริญด้วยคุณสมบัติดังพรรณนามาฉะนี้ เพราะเหตุนั้นท่านทั้งหลายจงสมาทานถือมั่นในศีลอันมีองค์ห้าประการนั้นเถิด

เมื่อพระยากินนรได้ฟังธรรมของพระโพธิสัตว์ ก็มีจิตชื่นชมโสมนัสเบิกบาน ร้องซ้องสาธุการชื่นชมพระธรรมเทศนา ส่วนพวกกินนรมีเสนามาตย์และยักษ์กุมภัณฑ์เป็นต้น ต่างก็มีจิตชื่นชมโสมนัสร้องซ้องสาธุการแล้ว ก็พากันบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยเครื่องอลังการ​ของตน ๆ ฝ่ายพระยากินนรก็บูชาพระโพธิสัตว์ด้วยเครื่องสักการะอันยิ่งใหญ่ แล้วจึงกล่าวว่า ดูกรท่านผู้เป็นสัตบุรุษตัวเรานี้ยากจนอนาถา ไม่สามารถจะบูชาธรรมของท่านให้เป็นการสมควรได้ คือไม่อาจที่จะหาเครื่องสักการบูชาอันมีค่าเสมอด้วยคุณธรรมที่ท่านแสดงแล้วนี้ มากระทำสักการบูชาให้สมควรได้ ก็แต่ว่าเรามีธิดาอยู่คนหนึ่ง ชื่อว่า สุวรรณคิรี เราจะบูชาคุณธรรมของท่านด้วยธิดาก่อน กล่าวดังนี้แล้วจึงให้กระทำมณฑปขึ้นในท่ามกลางเมือง แล้วให้นำเอาแก้วแหวนเงินทองมากลงในท่ามกลางพิธี จูงมือชนทั้งสองคือ พระโพธิสัตว์และธิดาของตน ให้ขึ้นนั่งบนกองแก้วทองแล้วหลั่งน้ำด้วยสุวรรณภิงคารคือพระเต้าทอง มอบที่อุปราชให้พระโพธิสัตว์แล้วให้อยู่รัตนวิมาน พระโพธิสัตว์ก็ได้เสวยทิพสมบัติรัชยศฤงคารอยู่ ณ เมืองนั้น โดยควรแก่ความสุข

ครั้นกาลต่อมาในราตรีวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์ระลึกถึงมารดาของตนขึ้นมาก็ทรงกรรแสง นางสุวรรณคิรีเห็นพระภัสดาทรงกรรแสงดังนั้นจึงถามว่า ข้าแต่พระสามี พระองค์ทรงกรรแสงด้วยเหตุใด พระโพธิสัตว์จึงบอกว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์อันเจริญ เราระลึกขึ้นมาถึงมารดาของเราๆ จึงร้องไห้ เพราะว่ามารดาของเรานั้น เมื่อคลอดเราออกมา ถูกนางกัณหลิมาผู้เป็นมเหสีที่สองมีความริษยา ให้เอาเราไปฝังเสียที่โคนต้นจันทร์แดงในป่า เทวดาที่สิงสถิตอยู่ ณ ต้นจันทร์แดงนั้นได้เลี้ยงรักษาเรามา แล้วบอกว่ามารดาเราตกยากต้องทำการตักน้ำใช้ในโรงครัว ภายหลังมาได้ทำกิจเป็นแม่นมของบุตรนางกัณหลิมา เราระลึกถึงความยากของมารดาเราดังนี้เราจึงร้องไห้ด้วยความสงสาร นางสุวรรณคิรีได้ฟังดังนั้นมีความก็ร้องไห้ร่ำไรปริเทวนาการด้วยพระสามี ครั้นรุ่งเช้าพระโพธิสัตว์ไปเฝ้าพระยากินนร นางสุวรรณคิรีก็ตามพระสามีไปเฝ้าด้วย ครั้นถึงจึงพากันนั่งเฝ้าอยู่ที่อันสมควร

พระยากินนรได้เห็นพระโพธิสัตว์และธิดาของตน พากันมาเฝ้าแต่เช้าผิดปรกติก็มีความสงสัย จึงปฏิสัณฐานถามว่า ดูกรลูก เจ้าทั้งสองพากันมาเฝ้าวันนี้ บิดามีความประหลาดนัก จะพากันไปข้างไหนหรือ พระโพธิสัตว์จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์มาทั้งนี้เพราะระลึกถึงมารดา จะขอทูลลาไปเยี่ยมเยือนมารดา แล้วจะกลับมาฉลองพระเดชพระคุณต่อภายหลัง มารดาของเจ้าอยู่ ณ ที่ไหน มารดาของข้าพระองค์อยู่ ณ เมืองโกฏินคร เจ้าพลัดพรากจากมารดาด้วยเหตุอะไร พระโพธิสัตว์จึงเล่าประพฤติเหตุตั้งแต่ต้นจนอวสาน ตามที่เทพดาได้บอกนั้นให้ฟังถี่ถ้วนทุกประการ พระยากินนรได้ฟังดังนั้น​ก็มีความสงสารสลดใจ กลั้นน้ำพระเนตรไม่ได้ก็ทรงพระกรรแสง แล้วตรัสว่า ดูกรพ่อผู้เป็นบุตร พ่ออนุญาตให้เจ้าไปโดยความสุขสำราญ ก็แต่ว่าจะพานางสุวรรณคิรีผู้เป็นภรรยาของเจ้าไปด้วยหรือไม่ ข้าแต่มหาราชเจ้า แล้วแต่ใจของนาง จึงตรัสถามนางสุวรรณคิรีว่า ดูกรลูก เจ้าจักไปกับสามีของเจ้าหรือไม่ไป ก็ตามแต่ใจของเจ้าเถิด ข้าแต่พระราชบิดา หม่อมฉันจะขอทูลลาไปกับพระสามีของหม่อมฉัน ขอพระองค์ได้ทรงโปรดอนุญาต

ในขณะนั้น นางเทพคิรีผู้เป็นมารดา ได้ฟังธิดาทูลลาว่าจะไปนางก็มีหฤทัยดุจแตกทำลาย เพราะความโศกอันเกิดแต่ความวิโยคที่จะพลัดพรากจากกัน ครั้นระงับดับความโศกศัลย์แล้ว จึงอวยพรว่า เจ้าทั้งสองจงพากันไปโดยความสุขสวัสดิ์ ขอให้ปราศจากโรคภัยสรรพวิบัติและอันตรายทั้งปวง และให้ได้พบมารดาสมดังความปรารถนาเถิด

ในลำดับนั้น พระยากินนรจึงให้ช่างขนประดับปีกหางและระย้าทั้งหลายอันล้วนแล้วด้วยทองคำ ให้ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ และสรรพอาภรณ์อันวิจิตรต่าง ๆ แล้วพระราชทานให้แก่สามีภริยาทั้งสองคนละสำรับ และทรงอวยชัยให้พรโดยอเนกประการ

ฝ่ายพระโพธิสัตว์กับภรรยา ได้รับพระราชทานพระพรแล้วก็กราบถวายบังคมลา พระยากินนรและนางเทพกินรี ออกมาประดับปีกหางและระย้าอันงามวิจิตร แล้วพากันบินขึ้นบนอากาศ เมื่อบินไปโดยอากาศเวหาได้ ๗ วัน ก็แลไปเห็นอาศรมบทบรรณศาลาแห่งพระดาบสองค์หนึ่ง นางสุวรรณคิรีจึงพูดแก่พระโพธิสัตว์ภัสดาว่า เราทั้งสองพากันบินมาเหน็ดเหนื่อยลำบาก เพราะลมและแดดถึง ๒ วันแล้ว เราจักพากันลงไปหยุดพักอาศัยที่อาศรมบทนั้นสักสองสามวันก่อน แล้วจึงพากันบินต่อไปเกิด เมื่อสองสามีภรรยาเห็นพร้อมกันแล้ว ก็พากันบินลงตรงอาศรมบท พากันเข้าไปหาพระนักพรตกราบไหว้แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง จึงกระทำปฏิสัณฐารถามพระดาบสว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าเห็นจะมีความผาสุกสบาย โรคภัยอันตรายทั้งหลายจะมิได้มีมาพร้อมพาน ทั้งมูลผลาหารที่จะเลี้ยงชีพ ก็คงจะหาง่ายไม่ฝืดเคืองขัดสน คงบริบูรณ์อยู่ทั้งสิ้น อนึ่งเล่า เหล่าเหลือบยุงบุ้งร่านริ้นที่จะกินกัด ทั้งงูเล็กและงูใหญ่ในป่าชัฏอันอาเกรียณ ด้วยสรรพสัตว์ทั้งหลายมีเนื้อร้ายเป็นต้น ยังมาเบียดเบียนกล้ำกรายอยู่บ้างหรือ พระเจ้าข้า

พระดาบสได้ฟังก็โสมนัสปรีดาด้วยถ้อยคำปฏิสัณฐาร จึงตอบว่า ดูกรหนุ่มสาวทั้งสองท่าน เราขอบใจที่เจ้าพากันมาไต่ถามเรานี้มีความผาสุกสบาย ทั้งมูลผลาหารที่จะเลี้ยงอัตภาพก็หาง่ายไม่ขัดสน อนึ่งเล่า เหล่าทีฆชาติและเนื้อร้ายเป็นต้น ก็มิได้กล้ำกราย​มาบีฑา แต่เราอยู่เลี้ยงชีพมาในป่านี้ ก็หลายร้อยปีมาแล้ว ยังไม่ได้เคยเห็นมนุษยชนที่ไปมาสักผู้เดียว พึงได้เห็นท่านทั้งสองในวันนี้ ท่านทั้งสองนี้ประดับไปด้วยปีกหางอันงามบริสุทธิ์ดุจเทพดาอันมาแต่เมืองสวรรค์ ดูน่าประหลาดอัศจรรย์ยิ่งนัก การที่ท่านทั้งสองพากันมานี้เป็นการดี จงชำระเท้าเสียให้สิ้นธุลีในโรงน้ำ แล้วทำภัตตกิจบริโภคผลไม้ต่างๆ มีผลมะพลับและผลมะทรางเป็นต้น แต่ล้วนเป็นผลาผลอันหวานอร่อยที่พึงใจทั้งน้ำดื่มยันเย็นใสจืดสนิทก็มีอยู่ในตุ่มเต็ม ถ้าท่านทั้งสองต้องประสงค์จะบริโภค ก็จงบริโภคตามปรารถนาเถิด ท่านทั้งสองนี้พากันมาแต่ที่ไหน

สองสามีภริยาจึงตอบว่า ข้าแต่พระดาบสผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งสองนี้มาแต่เมืองไกรลาสพระเจ้าข้า ท่านทั้งสองมากี่วันจึงถึงนี้ ข้าพเจ้ามาถึงอาศรมนี้กำหนดกาลได้ ๗ วัน พระเจ้าข้า พระดาบสจึงคิดในใจว่า เมืองไกรลาสนั้นไกลยิ่งนัก ที่จะมาให้ถึงนี้ประมาณถึง ๗ ปี แต่ชนทั้งสองนี้ไฉนมาถึงใน ๗ วัน

ในลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า ข้าแต่พระดาบสผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งสองขออาศัยพระผู้เป็นเจ้าอยู่สัก ๗ วัน พอระงับความกระวนกระวายหายเหนื่อยแล้วก็จักลาไป ท่านทั้งสองจงอยู่โดยความผาสุกสำราญเถิด

สองสามีภริยานั้นครั้นพระดาบสให้อนุญาตแล้วก็พากันอยู่อาศัยในอาศรมบทนั้น เมื่อเวลาจะไปแสวงหาผลไม้ จึงเก็บปีกหางไว้ในอาศรมบทแล้วก็พากันไปเลือกเก็บมูลผลาผลที่ในป่าทุก ๆ วัน

อยู่มาวันหนึ่ง พระดาบสอยู่เฝ้าอาศรมบรรณศาลาถูกความหนาวเบียดเบียนจึงก่อไฟให้โพลงขึ้นแล้วนั่งหลับตาผิงไฟอยู่ ไฟนั้นลามไปไหม้อาศรมบทแล้ว ก็เลยไหม้ปึกหางของสามีภริยานั้นจนหมด พระดาบสเห็นดังนั้น ก็เกิดความสังเวชสลดจิตนั่งเศร้าใจอยู่

ฝ่ายสองสามีภริยานั้น ครั้นกลับมาจากป่าเห็นไฟไหม้อาศรมบทหมดสิ้น ก็รู้ว่าปีกหางไหม้ไฟทั้งหมด จึงพากันร้องไห้ร่ำปริเทวนาการ นางสุวรรณศิรีหมอบลงแทบเท้าพระภัสดา แล้วก็ปริเทวนาการร่ำไห้ว่า ข้าแต่พระสามีกาลนี้เราทั้งสองจะทำประการใด จะพากันไปหางไหนก็มิได้รู้จักทิศที่จะไป ไม่มีใครที่จะเป็นผู้ชี้บอกหนทางไห้เลย เราจะพากันเที่ยวอยู่ในป่าอันประกอบด้วยสัตว์ร้ายอย่างไรได้ เราทั้งสองจะพากันตายอยู่ในป่านี้โดยแท้ ​พระโพธิสัตว์สวมกอดภรรยาแล้วก็ปริเทวนาการรำพันว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์อันเจริญ แต่ก่อนเราทั้งสองมีความสุขอยู่ในปราสาททุกทิวาราตรีกาลบัดนี้จะมาเที่ยวอยู่ในทางกันดาร อันประกอบด้วยสัตว์ร้ายอย่างไรได้ ทั้งตัวเจ้าก็มีพื้นเท้าอันอ่อน จะบทจรเที่ยวไปในป่าใหญ่ ก็ประกอบไปด้วยยักษ์และปีศาจอันดุร้าย เราทั้งสองจะอยู่ในป่าเห็นจะไม่ได้โดยแท้ ชะรอยแต่ปางก่อนเราทั้งสองได้เคยกระทำกรรมอันใดไว้ มาชาตินี้จึงต้องประสบความทุกข์อันยิ่งใหญ่เห็นปานดังนี้

เมื่อสองสามีภริยาร้องไห้พิไรรำพันดังนี้แล้ว ก็อยู่ในป่ากับพระดาบสนั้นประมาณเดือนหนึ่ง จึงปรึกษากันว่า เมื่อเราทั้งสองมาอยู่ในป่าอย่างนี้ ไฉนจักรู้จักหนทางที่จะไปเมืองโกฏินครและข่าวคราวของมารดาเล่า ควรเราทั้งสองจักออกไปจากป่านี้เที่ยวเสาะหาทาง และเที่ยวสืบฟังข่าวคราวมารดาเถิด ครั้นปรึกษากันดังนี้แล้วพระโพธิสัตว์จึงพานางสุวรรณคิรีมากราบลาพระดาบส แล้วพากันเดินไปในป่า โดยสัญญาที่เดาเอาไว้ เมืองโกฏินครอยู่ทางทิศนี้ แต่เมื่อเที่ยวเดินอยู่ในป่านั้นประมาณอีกเดือนหนึ่ง ก็ไปเห็นต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง จึงปรึกษากันว่า เราทั้งสองมีความลำบากเหน็ดเหนื่อยนัก ควรจะหยุดพักกระวนกระวาย ณ ภายใต้ร่มไทรนี้ต่อเวลาแดดอ่อนจึงพากันเตินต่อไป ปรึกษากันดังนี้แล้วก็เข้าไปหยุดพักอาศัยอยู่ที่ใต้ร่มไทรนั้น

ฝ่ายนันทยักษ์ผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรนั้น ครั้นเห็นสองสามีภรรยาพากันมาอาศัยก็มีใจโสมนัสยินดีจึงกล่าวว่า ท่านทั้งสองนี้เป็นภักษาหารของเราแล้ว จึงถือตะบองเหล็กออกมาจากต้นไทร

สองสามีภรรยาเห็นนันทยักษ์ก็สะดุ้งตกใจกลัวเป็นกำลัง จึงพากันวิ่งหนีออกไปจากต้นไทรนั้นโดยกำลังเร็ว ต่างคนต่างก็วิ่งแยกทางกันไปคนละหาง สองสามีภริยานั้นก็พลัดกันไป

ฝ่ายพระโพธิสัตว์นั้น ครั้นวิ่งหนีไปพ้นแดนของยักษ์แล้ว ก็เที่ยวหาภริยาพลางร่ำพิไรว่า เวรอะไรหนอที่เราได้กระทำมาแล้วภรรยาอันเป็นที่รักของเราจึงมาพลัดพรากไปจากเรา นางสุวรรณคิรีภรรยาของเรานั้นไปอยู่ที่ไหนหนอ หรือถูกยักษ์จับไปแล้วกระมัง ตัวเจ้าสิเป็นหญิงมีกำลังทุพลภาพ เพราะถูกเดินบุกไพร เมื่อวิ่งมาวิ่งไปก็คงจะล้มลงในท่ามกลางป่า แต่เราเที่ยวค้นหาก็มิพบพาน อนึ่งเมื่อนางนั้นมิได้เห็นเราแล้ว นางจะเที่ยว​ค้นหาเราที่ในป่าอย่างไรได้ นางสิเป็นธิดาของพระยากินนรราช เป็นหญิงมีแต่ความขลาดเป็นเบื้องหน้า เมื่อวิ่งไปวิ่งมาด้วยความหวาดหวั่น คงถูกยักษ์นั้นจับไปแล้วเป็นมั่นคง หรือนางนั้นจะปลดปลงชนม์ชีพเสียแล้ว หรือจะยังมีชีวิตอยู่ ทำไฉนเราจึงจะรู้ข่าวคราวของนางนั้น แต่เที่ยวค้นหาไปในทิศานุทิศ ก็ได้พบเห็นแต่ฝูงเนื้อทั้งหลาย ฝูงเนื้อนั้นครั้นเราเฝ้าถามว่า ท่านทั้งหลายได้เห็นภรรยาของเราหรือไม่ ฝูงเนื้อก็มิได้พูดบอกกระไรแก่เราเลย แต่พระโพธิสัตว์คร่ำครวญร่ำพิไรเที่ยวเสาะหาภริยาไปในป่าโดยทิศานุทิศอย่างนี้ พอครบกำหนด ๗ วันก็บรรลุถึงอาศรมพระฤาษีองค์หนึ่ง จึงเข้าไปนมัสการพระดาบสแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง จึงถามพระดาบสว่า ข้าแต่พระเป็นเจ้าผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าได้เห็นภรรยาของข้าพเจ้ามาทางนี้บ้างหรือไม่ พระเจ้าข้า ดูกรอุบาสก เรามิได้เห็นผู้ใดไปมาในที่นี้ ท่านนี้มาแต่ไหน ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าสองสามีภริยาพาถันมาแต่เมืองไกรลาส พระเจ้าข้า ดูกรอุบาสก เหตุไฉนท่านทั้งสองจึงได้พลัดพรากจากกันเล่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งสองหลงทางมาพากันเข้าพักอาศัยที่ร่มไม้ไทร ถูกยักษ์ตนหนึ่งออกมาไล่จับ ข้าพเจ้าทั้งสองพากันวิ่งหนียักษ์โดยกำลังเร็ว ต่างคนต่างวิ่งไปด้วยความกลัวจึงได้พลัดกันไป พระเจ้าข้า ดูกรอุบาสก ท่านมีนามชื่อไร ภรรยาของท่านนั้นชื่อไร ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีนามว่า วนาวนราชา ส่วนภรรยาชื่อว่าสุวรรณคิรี พระเจ้าข้า ดูกรอุบาสก ท่านจะไป ณ ที่ไหน ท่านมานี้เพื่อประโยชน์อะไร ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะไปเมืองโกฏินครข้าพเจ้ามานี้เพื่อจะอาศัยพระผู้เป็นเจ้าอยู่สัก ๗ วัน แล้วก็จะอำลาไป พระเจ้าข้า ดูกรอุบาสก เมื่อท่านจะอาศัยอยู่ก็ตามปรารถนาเถิด เมื่อพระโพธิสัตว์ได้รับอนุญาตแต่พระดาบสแล้ว ก็อยู่อาศัยในอาศรมบทนั้น ครั้นรุ่งเช้าก็เข้าไปสู่ป่าเพื่อเสาะหาผลาผลทุกวัน

สุวณฺณคิรปิ โ ฝ่ายนางสุวรรณคิรีนั้น ครั้นพลัดพรากจากพระภัสดาแล้ว นางก็มีความทุกข์ระทมไปด้วยความโศกเป็นเบื้องหน้า นางร่ำร้องไห้บ่นเพ้อรำพันถึงพระภัสดาด้วยวาจาว่า ข้าแต่พระสามี กาลนี้ท่านไปอยู่ ณ ที่ไหน หรือท่านถึงมรณภัยพิบัติเสียแล้ว หรือท่านถูกยักษ์นั้นจับเอาไป ท่านมาละทิ้งข้าพเจ้าไว้ในกลางป่า ไฉนท่านไม่เอื้อเพื้อกรุณาแก่ข้าพเจ้าบ้างเลย ท่านมาตัดอาลัยละทิ้งข้าพเจ้าแล้วหนีไปแต่ผู้เดียวด้วยเหตุอะไร เราทั้งสองเป็นผู้มีความยากลำบากมาด้วยกัน ไฉนท่านมาหนีไปแต่ผู้เดียวดังนี้เล่า ทำอย่างไรข้าพเจ้าจึงจะรู้จักที่อยู่ของท่าน ข้าพเจ้าเคยเห็นหน้าท่านแล้วก็มี​ความยินดี ขอเชิญท่านมาหาข้าพเจ้าในกาลนี้เถิด ข้าแต่พระสามี ข้าพเจ้านี้ระทมไปด้วยความทุกข์โศกสุดที่จะพรรณนาไม่รู้ว่าจะพูดจากับผู้ใด ทั้งไม่มีใครที่จะเป็นเพื่อนในหนทางเปลี่ยว ทั้งต้องนอนแต่ผู้เดียวไม่มีใครเป็นเพื่อนสอง อนึ่งเมืองโกฏินครนั้นจะอยู่ ณ ทิศไหนก็มิได้รู้ ข้าพเจ้าร่ำร้องเรียกท่านสักเท่าใดๆ ท่านก็มานิ่งเฉยเสียได้ไม่กรุณา ถ้าข้าพเจ้ารู้จักมรรคาว่าท่านไป ณ ที่ใด ก็จะขอติดตามท่านไป ณ ที่นั้น แต่นางร่ำรำพันเพ้อเที่ยวเรียกหาพระโพธิสัตว์อยู่ในป่าดังนี้ถึง ๗ วัน ก็มาบรรลุถึงอาศรมบทพระฤาษีที่พระโพธิสัตว์ผู้สามีอยู่อาศัย

ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์จะเข้าไปสู่ป่า จึงเปลื้องอาภรณ์เครื่องประดับกับทั้งพระภูษาของตนวางลงไว้ในอาศรมบทแล้วก็เข้าไปสู่ป่า เที่ยวเสาะหาผลาผลแต่เวลาเช้า

ฝ่ายนางสุวรรณคิรีนั้น ครั้นมาถึงอาศรมสถานก็นมัสการพระดาบสแล้วนั่งอยู่ ณ ที่อันควรข้างหนึ่ง จึงถามพระดาบสว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าได้เห็นมาณพผู้หนึ่งมาทางนี้บ้างหรือ พระเจ้าข้า

พระดาบสจึงถามว่า ดูกรนาง เจ้านี้มีนามชื่อไร และมาณพที่เจ้าถามถึงนั้นชื่อไร เป็นอะไรกันกับเจ้า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ มาณพนั้นชื่อว่าวนาวนราชาเป็นสามีของข้าพเจ้า ส่วนตัวข้าพเจ้าเป็นภรรยามีนามชื่อว่าสุวรรณคิรี พระเจ้าข้า ดูกรนาง มีมาณพหนุ่มผู้หนึ่งมาอยู่ในที่นี้ มาณพนั้นเข้าไปเปลื้องเครื่องประดับไว้ในอาศรม แล้วเขาก็เข้าไปป่าเพื่อจะแสวงหาผลาผล เจ้าจงไปดูเครื่องประดับที่เขาเปลื้องวางไว้ก็คงจะรู้ได้

นางสุวรรณคิรีได้ฟังดังนั้นก็มีความโสมนัส จึงเข้าไปในอาศรมเห็นเครื่องประดับของพระภัสดาก็จำได้ จึงกลับมาบอกพระดาบสว่า เครื่องประดับนั้นเป็นของสามีของข้าพเจ้า พระเจ้าข้า พระดาบสจึงบอกว่า ดูกรนาง ถ้ากระนั้น เจ้าจงเข้าไปในโรงไฟ แล้วจงบริโภคมูลผลาผลไม้ตามปรารถนาเถิด นางจึงกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ การที่พระผู้เป็นเจ้ามีเมตตากรุณานี้ ข้าพเจ้ายินดีขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง พูดดังนี้แล้วก็บริโภคผลาผลต่าง ๆ แล้วอยู่ ณ ที่นั้น

สายณฺหสมเย ครั้นเวลาเย็นพระโพธิสัตว์กลับมาจากป่า แต่พอเดินเข้ามาถึงที่ท้ายจงกรม นางสุวรรณคิรีแลเห็นพระภัสดาก็วิ่งออกมาต้อนรับแล้วกอดพระบาทร้องไห้สลบลงกับที่ พระโพธิสัตว์ได้เห็นนางสุวรรณคิรีสลบลง ก็ไม่สามารถจะทรงพระกาย​อยู่ได้ ก็สวมกอดนางสุวรรณคิรีภรรยา ทรงโศการ่ำไรรำพันพิลาป ก็ถึงวิสัญญีภาพสลบลง ณ ที่นั้น

พระดาบสเห็นสามีภรรยาพากันสลบนิ่งไป ก็มีความสังเวชสลดใจ จึงไปตักเอาน้ำที่เย็นใสมารดลง ให้สามีภรรยาทั้งสองกลับคืนคงได้สติแล้ว ก็พาชนทั้งสองนั้นเข้าไปนั่งในอาศรม สองสามีภรรยานั้นก็มีจิตชื่นชมโสมนัส จึงพากันกราบไหว้พระดาบส พรรณนาพระคุณที่พระดาบสได้กระทำอุปการะแก่ตน แล้วก็พากันบริโภคผลาผลอิ่มหนำสำราญ แล้วก็อยู่อาศัยในอาศรมบทนั้นประมาณเดือนหนึ่ง ในเวลาที่อยู่นั้นก็พากันไปหาผลาผลมาถวายพระดาบส เป็นนิจนิรันดรมิได้ขาดวัน

ครั้นเมื่อเดือนหนึ่งล่วงไปแล้ว สองสามีภริยานั้น จึงพากันเข้าไปหาพระดาบสแล้วกราบไหว้อำลาว่า ข้าแต่ผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งสองจะขอลาพากันไปเมืองโกฏินคร ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอยู่มีความสุขสถาพรในที่นี้ อนึ่งขอพระผู้เป็นเจ้าได้กรุณาโปรดชี้ทิศและทางที่จะไปยังเมืองโกฏินครให้ข้าพเจ้าทั้งสองนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า

พระดาบสได้ฟังดังนั้น อาศัยความกรุณาจึงยกทักขิณหัตถ์เบื้องขวาขึ้นชี้บอกว่า เมืองโกฏินครนั้นตั้งอยู่ ณ ทิศประจิม ท่านทั้งสองจงพากันไปโดยหนทางตรงมือเราชี้นี้ก็จะบรรลุถึงเมืองโกฏินคร แล้วอวยชัยให้พรว่า ท่านทั้งสองจงพากันไปโดยสุขสวัสดิ์ ปราศจากโรคภัยอันตราย และทุกข์โทมนัสทั้งปวง จงบรรลุผลสมดังมโนรถความปรารถนา

สองสามีภริยารับพรแล้ว ก็พากันกราบลาพระดาบส กำหนดทิศทางโดยถ้อยคำของพระนักพรตซึ่งชี้บอกนั้น พากันเดินข้ามลำเนาแนวป่าและบรรพตน้อยใหญ่ ประมาณสามเดือนก็บรรลุถึงกาสิกรัฐชึ่งเป็นเมืองของพระนางภัจจามารดาเลี้ยง ที่พระโพธิสัตว์ได้เคยอยู่เสวยราชย์ แล้วและถูกพราหมณ์ปุโรหิตพูดล่อลวงพากันขึ้นไปทิ้งเสียในเหวนั้น

ครั้นพระโพธิสัตว์มาถึง จึงพาภรรยาเข้าไปอาศัยนายประตูอยู่แล้วคิดว่า ถ้าเราจะไปเฝ้าพระนางภัจจามารดาเลี้ยงเรานายประตูทั้งหลายไม่รู้จักเราก็จักไม่ยอมให้เราเข้าไปเฝ้า อย่ากระนั้นเลย เราจักอาศัยนายประตูอยู่ที่นี้ไปก่อน คิดทำอุบายให้มารดาเลี้ยงเรารู้ว่าเรามาอยู่ ณ ที่นี้เถิด ครั้นคิดดังนี้แล้ว จึงไปเก็บดอกไม้ต่างๆ มาร้อยเป็นพวงมาลัย ส่งให้นางสุวรรณคิรีภรรยาแล้วบอกว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์อันเจริญ เมืองนี้เป็นเมืองที่อยู่ของมารดาเลี้ยงเรา และเราก็เคยได้เสวยราชย์อยู่ในเมืองนี้ ถ้าหากว่าเราจะเข้าไปในราชนิเวศน์ ​พวกอำมาตย์ทั้งปวงเขาจำเราไม่ได้ เพราะเหตุที่เราได้พลัดพรากไปจากเมืองสิ้นกาลนานที่ไหนเขาจะยอมให้เราเข้าไป อนึ่งถ้าพราหมณ์ปุโรหิตที่ประทุษร้ายเรารู้เข้าไซร้ ก็จักมาทุบตีฆ่าเราให้ถึงแก่ความตาย เพราะเหตุนี้ พี่จะยังไม่เข้าไป จักรออยู่ที่นี้ก่อน ฝ่ายเจ้าเป็นกุมารีหญิงรุ่นอาจเข้าในราชวังได้ เจ้าจงถือเอาพวงดอกไม้ที่พี่ร้อยนี้ เข้าไปขายให้พระนางภัจจามารดาเลี้ยงของเรา เมื่อพระนางภัจจาเห็นพวงมาลานี้ ก็คงจะรู้ว่าเป็นฝีมือพี่ร้อย เจ้าจงเข้าไปในวันนี้

นางสุวรรณคิรีรับพวงดอกไม้แล้ว ก็เข้าไปในพระราชนิเวศน์ร้องขายดอกไม้อยู่ ณที่นั้นๆ ครั้นพระนางภัจจาเทวีได้ฟังเสียงนางสุวรรณคิรีร้องขายดอกไม้จึงเรียกเข้าไปถามว่า เจ้าขายอะไร นางจึงทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ข้าพเจ้าขายพวงดอกไม้ ครั้นพระนางภัจจาเทวีตรัสว่า เราจะขอดูพวงดอกไม้ นางก็ถวายแล้วทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระแม่เจ้าจงรับไว้ทรงเถิด ดูกรเจ้า พวงดอกไม้นี้ราคาเท่าไร ข้าแต่พระแม่เจ้า ข้าพเจ้าเป็นคนยากจนมาแต่เมืองอื่น แล้วแต่พระแม่เจ้าจะประทานเถิด

พระนางภัจจาเทวีรับพวงดอกไม้มาพิจารณา แล้วจึงดำริว่า พวงดอกไม้นี้งามมาก เหมือนดังฝีมือพระวนาวนราชผู้เป็นบุตรเลี้ยงเราร้อยกรอง ครั้นดำริดังนี้แล้ว ก็ทรงรำลึกถึงพระวนาวนราชบุตรเลี้ยง จึงพระราชทานทรัพย์พันกหาปณะให้แก่นาง นางได้รับทรัพย์ค่าดอกไม้แล้ว ก็ลากันออกจากราชนิเวศน์ จึงส่งทรัพย์ที่ได้มานั้นให้พระภัสดา พระโพธิสัตว์จึงเอาทรัพย์นั้นมาซื้อสิ่งของทั้งหลายมีข้าวสารเป็นต้น มาเลี้ยงนายประตูที่ได้อาศัยอยู่นั้น

อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์จึงให้นางสุวรรณคิรีภรรยาไปอยู่กับหญิงขับร้องที่เคยเข้าขับถวาย ครั้นนางสุวรรณคิรีขับร้องได้ดีแล้ว จึงเข้าไปขับถวายพระนางภัจจาในราชนิเวศน์ ด้วยเสียงอันไพเราะว่า พระวนาวนราชมีกิริยาอาการเหมือนคนที่ยากจน เที่ยวทนทุกขเวทนาอยู่ในป่า ดุจคนกำพร้าที่เลวทรามคนหนึ่ง ครั้นมาถึงเมืองนี้แล้วก็ยังหาที่พึ่งมิได้ พระวนาวนราชผู้สามีของเรานั้น เมื่อเที่ยวกรากกรำอยู่ในป่าย่อมเป็นคนอนาถา อุปมาดังนายพรานที่เที่ยวอยู่ในป่าก็ปานกัน พระวนาวนราชนั้นมาพลัดพรากจากพระมารดาด้วยเหตุไร อนึ่งมารดานั้นก็มิได้ระลึกถึงบุตร บุตรผู้เดียวเป็นผู้รับความทุกข์ ครั้นมาถึงเมืองนี้แล้วก็ยังไม่มีที่จะอยู่ ต้องไปอาศัยนายประตูดูน่ากรุณานัก เมื่อนางสุวรรณคิรีนั่งขับถวายพระนางภัจจาด้วยเสียงอันไพเราะอยู่โดยอาการอย่างนี้

​พระนางภัจจาเทวีได้ฟังเสียงขับดังนั้น จึงตรัสว่าเสียงเพลงขับนี้ไพเราะยิ่งนัก จึงมีพระเสาวนีย์ตรัสซักว่า เจ้ามาขับถึงชื่อพระวนาวนราชกุมารด้วยเหตุอะไร พระวนาวนราชกุมารนั้นเป็นบุตรของเรา เจ้ารู้หรือว่าบุตรของเรานั้นอยู่ ณ ที่ใด ครั้นนางสุวรรณคิรีทูลประพฤติเหตุให้ทรงทราบ ก็มีพระโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่ง จึงมีพระเสาวนีย์ให้หาอำมาตย์ทั้งหลายเข้ามาเฝ้า แล้วตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงพากันไปรับพระวนาวนราชบุตรเรามาด้วยวอทอง พร้อมทั้งนายประตูที่บุตรเราได้อาศัยอยู่นั้น

อำมาตย์ทั้งหลายรับพระเสาวนีย์แล้ว ก็ไปสู่สำนักพระโพธิสัตว์ ประคองอัญชลีแล้วทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวดา ขอเชิญพระองค์เสด็จขึ้นทรงวอ ข้าพระองค์ทั้งหลายจะนำไปเฝ้าพระราชมารดา พระพุทธเจ้าข้า พระโพธิสัตว์ได้ทรงฟังจึงเสด็จขึ้นประทับ ณ วอแวดล้อมไปด้วยบริวารเป็นอันมาก ครั้นถึงภายในพระราชนิเวศน์ จึงลงจากวอดำเนินไปด้วยเท้าตรงไปเฝ้าพระราชมารดา กราบกรานแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรกับนางสุวรรณคิรีภรรยา

ฝ่ายนางภัจจามารดาเลี้ยงได้เห็นพระโพธิสัตว์ ก็ทรงพระโสมนัสยินดีตรงเข้าสวมกอดพระพระโพธิสัตว์ จุมพิตแล้วปริเทวนาการตรัสว่า ดูกรพ่อปิยบุตร เมื่อมารดาได้ฟังเจ้าว่าหายไป ก็เข้าใจว่าเจ้าคงตกเหว มีหฤทัยประหนี่งว่าแตกทำลายไป ไม่อาจดำรงตนอยู่ได้ ร้องไห้จนไม่เป็นสมปฤดีและมีจิตอันฟุ้งซ่านปานประหนึ่งว่าจะเป็นบ้า ปรารถนาจะตายตามเจ้าไป ไม่มีความปรารถนาที่จะอยู่เป็นคน ดูกรพ่อปิยบุตร ใครเป็นผู้ประทุษร้ายทำให้เจ้าตกเหว เหตุไฉนเจ้าจึงไม่ตาย และหายไปสิ้นกาลนานถึงเพียงนี้ เจ้าจงบอกเล่าให้มารดาฟังตามจริงทุกประการ

พระโพธิสัตว์จึงเล่าตามความจริงว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พราหมณ์ปุโรหิตพูดล่อลวงข้าพเจ้า แล้วให้ข้าพเจ้าขึ้นนั่งบนบ่าแบกพาขึ้นไปบนบรรพต ครั้นถึงเหวแห่งหนึ่งจึงทิ้งข้าพเจ้าลงไปในเหว ด้วยอำนาจบุญข้าพเจ้าจึงไม่ตาย ในลำดับนั้น มีเทพยดาสององค์มาก่อกองไฟให้สว่างแล้วให้ข้าพเจ้าแสดงธรรมให้ฟัง แล้วยกข้าพเจ้าขึ้นไว้บนปากเหว ข้าพเจ้าจักมาเมืองนี้ก็ไม่รู้จักทาง จึงหลงไปวนเวียนอยู่ในป่า ครั้นไปถึงสระโบกขรณีก็ลงไปอาบน้ำชำระกาย แล้วดื่มน้ำเก็บฝักบัวเง่าบัวบริโภคเป็นอาหาร ขณะนั้นพวกกุมภัณฑ์พากันมาจับข้าพเจ้าไป ผูกคอนำไปเฝ้าพระยากินนร ณ เมืองไกรลาส พระยากินนรก็ให้เฆี่ยนตีจำจองข้าพเจ้าไว้ในเรือนจำถึง ๓ ปี แล้วถอดข้าพเจ้าออกให้​แสดงธรรมให้ฟัง แล้วมีความเลื่อมใสประทานนางสุวรรณคิรีผู้เป็นธิดาให้เป็นภรรยา และมอบที่อุปราชให้ข้าพเจ้า ครั้นต่อมาข้าพเจ้าระลึกถึงมารดา ข้าพเจ้าจึงได้กราบลาพระยากินนรว่าจะไปเยี่ยมมารดาพระยากินนรก็จัดแจงทำปีกและหางให้แล้วมอบธิดาให้มากับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าทั้งสองพากันบินมาทางอากาศ ครั้นเหนื่อยอ่อนก็พากันลงมาอาศัยอยู่ที่อาศรมพระดาบส บังเอิญเกิดไฟไหม้อาศรมเลยไหม้ปีกหางทั้งสิ้น ข้าพเจ้าทั้งสองจึงพากันลาพระดาบสพากันเดินดินบุกป่า ครั้นเวลาแดดร้อนก็พากันเข้าพักอาศัยใต้ร่มไทร มียักษ์ตนหนึ่งออกมาไล่จะจับกินเป็นภักษา ข้าพเจ้าทั้งสองพากันวิ่งหนีมันก็พลัดกันไปคนละทาง ภายหลังได้ไปพบกันที่อาศรมพระดาบสอีกองค์หนึ่งจึงพักอยู่ที่นั้น ๗ วัน แล้วพากันลาพระดาบสมาถึงเมืองพระมารดาในกาลนี้

พระนางภัจจาเทวีได้ทรงสดับก็เกิดความสงสาร ไม่สามารถจะกลั้นอัสสุชลไว้ได้ ทรงกรรแสงแล้วตรัสว่า ดูกรพ่อปิยบุตร พราหมณ์ปุโรหิตนั้นครั้นประทุษร้ายเจ้าก็กลับมาบอกแก่มหาชนและมารดาว่า เจ้าเป็นผู้ว่ายากห้ามไม่ฟัง มารดาได้ฟังดังนั้นก็สำคัญว่าจริง จึงร่ำไห้แล้วบริจาคมัตตกภัต และรักษาศีลอุทิศส่วนบุญไปให้ ด้วยสำคัญใจว่าบุตรเราตายแล้วดังนี้ ตรัสดังนี้แล้วจึงให้หาตัวอำมาตย์คนเก่าทั้งหลายเข้ามาเฝ้า แล้วมีพระเสาวนีย์ให้จับพราหมณ์ปุโรหิต พร้อมทั้งบุตรภรรยามาลงพระอาญาพันหนึ่งแล้วให้จำไว้ในเรือนจำ แล้วให้พิพากษาโทษที่ปุโรหิตได้ทำแก่พระราชบุตรนั้น

อำมาตย์ผู้วินิจฉัยทั้งหลายจึงทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พราหมณ์ปุโรหิตผู้นี้เป็นผู้มีจิตประทุษร้ายต่อพระราชาเจ้านายของตน การที่ทำนั้นประสงค์จะปลงพระชนม์ให้ตักษัย ควรฆ่าพราหมณ์ปุโรหิตนั้นเสีย พร้อมทั้งลูกและเมียและญาติเผ่าพันธุ์ทั้งหลายให้สิ้นเสี้ยนหนาม

อำมาตย์ผู้หนึ่งออกความเห็นว่า พราหมณ์ปุโรหิตผู้นี้ได้ทิ้งพระราชาลงในเหว แต่พระราชานั้นมิได้ถึงแก่ความตาย เพราะเหตุนั้น ควรเราทั้งหลายจะทิ้งพราหมณ์ปุโรหิตนี้ลงในเหวบ้าง แล้วเอาไฟคลอกพวกญาติปุโรหิตเสียให้หมด ไม่ควรเลี้ยงพวกพ้องคนทรยศอีกต่อไป

อำมาตย์ทั้งหลายวินิจฉัยเห็นพร้อมกันก็ให้กระทำตามถ้อยคำของอำมาตย์ผู้นั้น แล้วนำความทูลพระราชเทวี ให้ทรงทราบตามที่ได้ทำแล้วนั้น

​จำเดิมแต่นั้นมา พระนางภัจจาเทวีก็ให้อภิเษกพระโพธิสัตว์ขึ้นครองราชสมบัติกับนางสุวรรณคิรี พระโพธิสัตว์ก็ได้เถลิงถวัลยราชย์อยู่กาสิกรัฐพร้อมด้วยนาฏกิตถีหญิงฟ้อนทั้งหลายอันเป็นบริพาร ประดุจดังว่าท้าวมัฆวานอันเสวยทิพยสมบัติในเทวโลกนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์ได้เสวยราชสมบัติอยู่กับนางอัครมเหสีสุวรรณคิรีนั้น ก็พากันเอาใจใส่ปฏิบัติพระราชเทวีมารดาเลี้ยง เป็นนิจกาลมิได้ขาด

อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาโพธิสัตว์ทรงระลึกถึงมารดาของตนขึ้นมา จึงไปเฝ้าพระนางภัจจามารดาเลี้ยงแล้วตรัสว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ข้าพเจ้าจะขอลาไปเยี่ยมเยือนมารดาที่เมืองโกฏินคร พระนางภัจจาจึงถามว่า ดูกรพ่อผู้เป็นปิยบุตร เจ้าจักไปโดยอย่างไร ข้าแต่พระแม่เจ้า ข้าพเจ้าจักไปแต่ผู้เดียว ดูกรพ่อปิยบุตร ถ้าเจ้าจักไปเมืองโกฏินคร เจ้าจงตระเตรียมพลนิกรรักษาตัวไปด้วยเถิด จักไปแต่ผู้เดียวหาควรไม่ ข้าแต่พระแม่เจ้า ข้าพเจ้าจักไปเยี่ยมมารดาแต่ผู้เดียวก่อน ถ้ามารดาของข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าจึงจะยกพลนิกรไปต่อยุทธเมื่อภายหลัง

ครั้นพระโพธิสัตว์ตรัสดังนี้แล้วจึงตรัสฝากอัครมเหสีว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ข้าพเจ้าขอฝากนางสุวรรณคิรีไว้กับพระแม่เจ้า พระแม่เจ้ามีความรักข้าพเจ้าฉันใด ขอจงมีความรักใคร่นางสุวรรณคิรีฉันนั้นเถิด ตรัสดังนี้แล้วก็แปลงเพศเป็นพ่อค้า เมื่อพระนางภัจจามารดาเลี้ยงและนางอัครมเหสีร้องไห้อยู่ พระองค์ก็เสด็จลงจากประสาทไปหาพวกพ่อค้าเกวียนแล้วบอกว่า เราจักไปทำการค้าขายกับท่านทั้งหลายในเมืองโกฏินคร

พ่อค้าเกวียนทั้งนั้นตกลงแล้ว ก็จัดเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่มเต็มด้วยสินค้า พระโพธิสัตว์ไปประมาณเดือนหนึ่งก็ถึงเมืองโกฏินคร แล้วพักเกวียนไว้ภายนอกเมือง พากันจำหน่ายสินค้าทั้งปวง ฝ่ายพระโพธิสัตว์ออกจากที่พักเกวียนแล้วไปนั่งอยู่ที่ท่าน้ำ

ในขณะนั้น หญิงทั้งหลายทั้งปวง คือหญิงที่ตักน้ำ หญิงแพศยา หญิงเฒ่าแก่ หญิงแม่นม พากันมาอาบน้ำที่แม่น้ำนั้น แต่ฝ่ายนางวลิกาเทวีมารดาของพระโพธิสัตว์นั้นมาสุดท้ายภายหลังหญิงทั้งปวง ครั้นมาถึงก็ยืนอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำนั้น

พระราชาโพธิสัตว์เห็นมารดาของตนจึงคิดว่าหญิงผู้นี้มีลักษณะทรวดทรงอันงาม ไม่เหมือนกับหญิงสามัญทั้งปวง ควรเราจะไต่ถามดูให้รู้เหตุ คิดดังนี้แล้วจึงเรียกร้องว่า ดูกรแม่ เชิญแม่มาทางนี้หน่อยเถิด ครั้นนางวลิกาเทวีเข้าไปใกล้แล้วจึงถามว่า ดูกรแม่ ​พระราชาผู้ครองเมืองนี้ทรงพระนามชื่อไร นางจึงถามว่า ท่านมาแต่เมืองไหน จึงมาถามถึงพระนามของพระราชา ดูกรแม่ ข้าพเจ้ามาแต่เมืองไกล ท่านมาถามถึงพระนามของพระราชาเพื่อประโยชน์อะไรหรือ ดูกรแม่ ข้าพเจ้านี้อยากจะรู้ว่า พระยาโกมลราชและนางวลิกาเทวีมีอยู่ในเมืองนี้หรือ ๆ จะอยู่ในเมืองใด เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงได้ถามถึงพระนามของพระราชา เพราะเหตุอะไร ท่านจึงมาถามถึงท่านทั้งสองนั้น ดูกรแม่ เพราะเหตุที่ข้าพเจ้าอยากจะรู้ข่าวคราวของท่านทั้งสองนั้น จึงได้มาถามถึงท่าน ดูกรมาณพ พระยาโกมลราชนั้นเสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองนี้ แต่ฝ่ายนางวลิกาเทวีนั้นคือตัวเรานี้

พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น ก็ไม่สามารถจะกลั้นความโศกไว้ได้ จึงวิ่งเข้าไปกอดเท้ามารดาแล้วร้องไห้ปริเทวนาการ นางวลิกาเห็นดังนั้นก็มีความสงสารยิ่งนัก จึงตรัสถามว่า ท่านร้องไห้ดังนี้ ด้วยเหตุอะไร ข้าแต่พระแม่เจ้า ข้าพเจ้านี้เป็นบุตรของท่าน ดูกรมาณพ บุตรและธิดาของเรามิได้มี ไฉนท่านจึงมาว่าตัวท่านนี้เป็นบุตรของเราเล่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ข้าพเจ้าจะเล่าให้ฟัง ขอพระแม่เจ้าจงฟังคำของข้าพเจ้า แล้วพระโพธิสัตว์ก็ทรงเล่าความตามคำที่เทพยดาได้บอกเล่านั้นให้ฟังตั้งแต่ต้นจนถึงปริโยสานที่สุด นางวลิกาเทวีได้ฟังดังนั้น ก็รู้ชัดว่าเป็นบุตรของตน นางจึงสวมกอดพระโพธิสัตว์แล้วจูบเกล้า ร้องไห้รำพันต่างๆ แล้วเล่าความว่า ดูกรพ่อผู้เป็นปิยบุตร เมื่อเจ้าอยู่ในท้องมารดาเจ้าเคลื่อนจะออก มารดาก็ได้รู้ชัดว่าเจ้าจะคลอด เมื่อขณะเจ้าคลอดออกมาแล้ว มารดาก็ได้ยินเสียงเจ้าร้องไห้ เมื่อมารดารู้ชัดอยู่อย่างนี้แล้ว ครั้นได้ฟังเขาบอกว่าบุตรเป็นท่อนไม้ มารดาก็สลบไปไม่เป็นสมปฤดี

ขณะนั้น หญิงทั้งหลายที่มาอาบน้ำด้วยกัน ได้เห็นนางวลิกาสวมกอดพระโพธิสัตว์ดังนั้น ก็นำความไปกราบทูลพระเจ้าโกมลราชว่า นางวลิกาเทวีกระทำความสังวาสกับมาณพหนุ่มน้อย พระเจ้าโกมลราชได้ทรงสดับก็ทรงพระพิโรธเป็นกำลัง ประดุจดังอสรพิษที่มีผู้มาประหารลงที่ขนดหางฉันนั้น จึงตรัสบังคับอำมาตย์ทั้งหลายว่า เจ้าทั้งหลายจงไปจับมาณพหนุ่มน้อยกับนางวลิกาเทวี มาโบยตีจองจำไว้ในเรือนจำให้จงได้

อำมาตย์ทั้งหลายรับพระราชโองการแล้ว ก็ไปจับพระโพธิสัตว์กับพระมารดามาโบยตี แล้วจำด้วยเครื่องจำห้าประการนำไปขังไว้ในเรือนจำ

ฝ่ายพวกพ่อค้าที่มากับพระโพธิสัตว์ได้รู้เหตุนั้น ก็พากันรีบหนีกลับไปเมืองกาสิกรัฐ ทูลประพฤติเหตุแห่งพระโพธิสัตว์ให้พระนางภัจจาและนางสุวรรณคิรีทรงทราบ

​พระนางทั้งสองได้ทราบเรื่อง ก็พากันทรงพระกรรแสงพิไรร่ำด้วยถ้อยคำมีประการต่าง ๆ แล้วปรึกษากันว่า เราควรจะคิดผูกเป็นปริศนาส่งไปเมืองโกฏินคร ครั้นปรึกษากันดังนี้แล้วก็จารึกพระราชสาส์นเพื่อจะส่งไปเมืองโกฏินครในพระราชสาส์นนั้นว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพเจ้าทั้งสองคือมารดาและธิดา เป็นหม้ายอยู่ทั้งสองคน ถ้าพระองค์ทรงแก้ปริศนาได้ ข้าพเจ้าทั้งสองจักไปกราบไหว้ยอมเป็นบาทบริจาริกาของพระองค์ ถ้าพระองค์ทรงแก้ปริศนาไม่ได้ข้าพเจ้าทั้งสองก็จักไม่ไปเป็นบาทบริจาริกา ครั้นจารึกพระสาส์นแล้ว จึงมอบให้อำมาตย์ที่เป็นบัณฑิตมีปัญญาสามคนถือไป แล้วกระซิบสั่งข้อปริศนาไปกับอำมาตย์ที่ถือราชสาส์นนั้น

อำมาตย์ราชบัณฑิตทั้งสามรับพระเสาวนีย์แล้ว ก็เชิญพระราชสาส์นไป ครั้นถึงเมืองโกฏินครจึงได้นำความขึ้นกราบทูลพระเจ้าโกมลราชว่าจะขอนำพระราชสาส์นเข้าไปถวาย ครั้นพระเจ้าโกมลราชพระราชทานโอกาสรับสั่งให้หา จึงพากันนำพระราชสาส์นเข้าไปเฝ้า พระเจ้าโกมลราชทอดพระเนตรเห็นราชทูตทั้งสามนาย จึงตรัสถามว่า ท่านทั้งหลายเป็นราชทูตมาแต่เมืองไหน ราชทูตทั้งสามทูลว่าข้าพระองค์ทั้งหลายมาแต่เมืองกาสิกรัฐ จึงมีพระราชดำรัสถามว่า พระราชสาส์นนั้นว่ากระไร ราชทูตทั้งสามจึงถวายราชสาส์น พระเจ้าโกมลราชได้ทรงทราบพระราชสาส์นดังนั้น ก็มีพระทัยโสมนัส แล้วมีพระราชดำรัสว่า เราสองคนคือบิดากับบุตร เจ้านายของพวกท่านก็สองคนคือมารดากับธิดา ผักกับปลาร้าก็พอดีกัน ก็แต่ว่าข้อในปริศนานั้นมีเนื้อความว่ากระไรเล่า

ราชทูตทั้งสามเมื่อจะกราบทูลข้อความในปริศนา จึงกล่าวเป็นพระคาถาดังนี้ว่า

กึ อนฺโต ชาลิตํ ทณฺฑทีปํ

กึ อนฺโต มุเข ชาลิเต อคฺคิ

กึ รตฺตมุเข สุกา เจว

ปณฺฑิเตหิ วิชานิย

ความว่า ประทีปด้ามที่โพลงรุ่งเรืองในภายใน (เทียนลุกในไส้) ได้แก่อะไร ไฟที่โพลงรุ่งเรืองภายในปาก (ไฟลุกในปาก) ได้แก่อะไร นกแขกเต้าปากแดง ได้แก่อะไร ปริศนาทั้ง ๓ นี้คนที่เป็นบัณฑิตจึงจะรู้

​พระเจ้าโกมลราชกับราชบุตร ได้ฟังข้อปริศนานั้นแล้วต่างก็รำพึงคิดข้อความในปริศนานั้น พระเจ้าโกมลราชคิดแล้วจึงทรงแก้ว่า เทียนลุกในไส้นั้น ได้แก่มะพร้าวไฟที่มีงอกออกมาแต่ภายใน ราชทูตทั้งสามทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ที่ทรงแก้นั้น หาถูกตามปริศนาไม่ พระพุทธเจ้าข้า

ในลำดับนั้น พระยากัณหวลิราชบุตรจึงแก้ในข้อปัญหาต่อไปว่า ไฟลุกในปากนั้นใช่อื่นไกลได้แก่ผีกระสือ ราชทูตทั้งสามจึงทูลว่าหาตรงปริศนาไม่ พระราชบิดากับพระราชบุตรก็จนปัญญาไม่รู้ว่าจะแก้ไขประกาสใดต่อไป

ขณะนั้น พระเจ้าโกมลราชจึงให้ประชุมหมู่อำมาตย์ข้าราชการเก่าใหม่พร้อมกัน แล้วมีรับสั่งให้แก้ข้อปริศนานั้น พวกอำมาตย์ทั้งหมดก็ไม่สามารถจะแก้ได้ จึงตรัสแก่พวกราชทูตว่า ดูกรท่านทั้งสาม พวกเราทั้งปวงเป็นบุรุษไม่สามารถจะแก้ปริศนาของสตรีได้ เรามีความละอายยิ่งนัก เพราะเหตุนี้แหละ เราจะตั้งใจคิดปริศนาทั้งสามข้อให้ออกจงได้ ท่านทั้งหลายจงยับยั้งอยู่ก่อน ตรัสดังนี้แล้ว จึงรับสั่งให้เอากลองไปเที่ยวตีป่าวร้องชาวพระนครว่า ถ้าผู้ใดสามารถแก้ปริศนาของกษัตริย์หญิงหม้ายทั้งสองได้ เราจะให้ทองพันตำลึงแก่ผู้นั้น แต่ให้เที่ยวตีกลองป่าวร้องไปทั้งภายในและภายนอกพระนคร ดังนี้ถึง ๗ วัน ก็ไม่มีผู้ใดจะรับแก้ปริศนานั้นได้ พระเจ้าโกมลราชจึงสั่งให้อำมาตย์ข้าราชการทั้งหลาย ทั้งผู้น้อยผู้ใหญ่มาประชุมพร้อมกันแล้ว มีพระราชดำรัสว่า เราทั้งหลายพิจารณาใคร่ครวญนักแล้ว ก็ไม่เห็นอุบายที่จะแก้ปริศนานั้นได้ บัดนี้จะทำประการใด ท่านทั้งหลายจงพากันวินิจฉัยตรวจตราในกาลนี้

อำมาตย์ข้าราชการทั้งหลายก็มิได้ทูลประการใด ต่างก็พากันอัญชลีหมอบก้มหน้านิ่งอยู่ พระเจ้าโกมลราชก็ทรงพระพิโรธแล้วตรัสบริภาษพวกอำมาตย์เหล่านั้นว่า ดูกรพวกอำมาตย์ชาติชั่ว พวกมึงดีแต่รับเบี้ยหวัดเงินเดือน แล้วก็บริโภคอาหารนอนคลุมหัวสบาย มิได้รู้จักเบื้องต้นเบื้องปลายข้ออรรถธรรมอันสุขุมบ้างเลย ถ้าพวกมึงคิดหาอุบายที่จะแก้ปริศนานี้ไม่ได้ กูจะตัดศีรษะพวกมึงเสียในวันพรุ่งนี้เช้า ตรัสดังนี้แล้ว ก็ให้พวกอำมาตย์นั้นกลับบ้านให้ประชุมกันอยู่ที่พื้นมหาดลในท้องพระโรง พวกอำมาตย์เหล่านั้นกลัวมรณภัยเป็นกำลัง จึงปรึกษากันว่า มาณพหนุ่มน้อยที่เป็นชู้ของนางวลิกาเทวี มีวรรณผิวพรรณและรูปร่างอันงดงาม เห็นจะมีปัญญาสามารถที่จะแก้ปริศนาได้ ครั้นปรึกษาเห็นพร้อมกันแล้วจึงกราบทูลความเห็นนั้นให้พระเจ้าโกมลราชทรงทราบ

​พระเจ้าโกมลราชได้ทรงสดับจึงตรัสว่า ถ้าฉะนั้นเจ้าทั้งหลายจงไปพามาณพนั้นมา เราจะพิจารณาดูรูปร่างหน้าตามันก่อน อำมาตย์ทั้งหลายรับพระราชโองการแล้ว ก็ไปถอดพระโพธิสัตว์ออกจากเครื่องจำนำตัวมาถวายต่อหน้าพระที่นั่ง พระเจ้าโกมสราชทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ ก็มีพระทัยโสมนัสให้เกิดความรักใคร่ราวกะว่าบุตรฉะนั้น จึงทรงพระดำริว่า มาณพผู้นี้มาแต่ไหนหนอ ดูยังหนุ่มน้อยและมีผิวพรรณรูปร่างก็งดงามยิ่งนัก ไม่ควรจะไปสังวาสร่วมกับนางวลิกาเทวีนั้นเลย

ฝ่ายพระโพธิสัตว์นั้น ครั้นไปถึงก็ถวายบังคมพระราชบิดา แต่มิได้ไหว้นางกัณหลิมาและพระยากัณหวลิราชบุตรซึ่งอยู่ ณ ที่นั้น แล้วทำอาการเป็นประหนึ่งว่าซบเซานั่งอยู่ พระเจ้าโกมลราชเห็นประหลาดดังนั้น จึงตรัสถามว่า ดูกรมาณพ เหตุไฉนเจ้าจึงไม่ทำความเคารพไหว้นางอัครมเหสีและราชบุตรของเรา พระโพธิสัตว์ทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราช ข้าพระบาทยากจนเป็นคนชาวบ้านนอกเห็นนั่งอยู่ด้วยกันมากมายทั้งซ้ายและขวา มิได้รู้จักว่าเป็นพระอัครมเหสีและพระราชบุตรของพระองค์ เห็นแต่พระองค์ทรงเจริญวัยเป็นผู้ใหญ่จึงถวายบังคม เพราะฉะนั้นจึงมิได้เคารพกราบไหว้พระอัครมเหสีและพระราชบุตร อีกประการหนึ่งท่านทั้งหลายก็เป็นกษัตริย์ขัตติยราชตระกูลบุญญาธิสมภาร แม้ถึงจะได้ความเคารพวันทนาการของคนจนก็จะมีผลประเสริฐอะไร ควรจะได้ความเคารพกราบไหว้ของพระราชาและอำมาตย์ราชบริพาร จึงจะเป็นการประเสริฐสมควรแก่อิสริยยศอันยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้าโกมลราชได้ทรงฟังดังนั้นก็เห็นจริง มิได้ทรงกริ้วโกรธพระโพธิสัตว์ กลับทรงพระโสมนัสเป็นอันมาก โดยทรงพระราชดำริเห็นว่า มาณพผู้นี้มีปัญญาเฉลียวฉลาดหลักแหลมยิ่งนัก จึงมีพระราชดำรัสว่า ดูกรมาณพผู้เจริญ เจ้าสามารถจะกล่าวแก้ปริศนาของหญิงหม้ายทั้งสองได้หรือไม่ ข้าแต่สมมติเทวราช ข้อปริศนาของหญิงหม้ายสองคนเท่านั้น พระองค์อย่าทรงพระวิตกเลย แม้ปริศนาของชนทั้งหลายพันหนึ่ง ข้าพระองค์ก็สามารถจะแก้ถวายได้ พระพุทธเจ้าข้า ดูกรมาณพ ถ้าจริงอย่างนั้น เราจะหาหญิงสาวที่มีรูปงามๆ มาให้เจ้า ข้าแต่สมมติเทวราช ข้าพระองค์สามารถจะกล่าวแก้ได้จริงดังที่ได้กราบบังคมทูล พระพุทธเจ้าข้า พระเจ้าโกมลราชเห็นว่าพระโพธิสัตว์ตรัสรับรองมั่นคง จึงให้พระโพธิสัตว์อาบน้ำชำระกายด้วยน้ำหอม และให้นุ่งภูษาใหม่อันงามสะอาด แล้วให้นั่ง ณ อาสนะอันสมควร จึงตรัสถามข้อปัญหาตามในปริศนาที่นางพญาทั้งสองถามมานั้น

​ในลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ ถือพัดวาลวิชนีนั่งอยู่ ณ ราชบัลลังก์ ประดุจดังว่าจะแสดงธรรมด้วยพระพุทธลีลาศ ครั้นได้สดับพระราชปุจฉาดังนั้น เมื่อจะกล่าวแก้ข้ออรรถปริศนา จึงกล่าวพระคาถาว่า

อนฺโต ชลิโต จ นามธมฺมธโร ปณฺฑิโต จ
ปฺาย ชลิโต ธีโรเอสา ชลิตคฺคิ นาม
มุเข ชลิตคฺคิ นามสมณา จ สีลธรา
ยํ มุเขน อภิสปฺปิตํ ยถามุขํ วตฺตติ
รตฺตมฺขี สุกี นามมุขโต ธมฺมํว สวติ
มุเขน ธมฺมํ เทเสนฺโต เตนโส ธมฺเมน ปณฺฑิโต ฯ

ความว่า บัณฑิตผู้ทรงไว้ซึ่งธรรม ผู้โพลงด้วยปัญญาความรอบรู้ เรียกว่าประทีปมีไฟอันโพลงนภายใน ได้แก่ปริศนาที่ว่าเทียนลุกในไส้ เป็นข้อที่ ๑ สมณพราหมณ์ทั้งหลายแข่งด้วยปากอย่างไร ย่อมเป็นไปตามปากอย่างนั้น เรียกว่าไฟโพลงในปาก ได้แก่ปริศนาข้อที่ว่า ไฟลุกในปาก เป็นข้อที่ ๒ บัณฑิตผู้แสดงธรรมด้วยปาก ย่อมยังธรรมให้ไหลออกจากปาก เรียกว่า นักปราชญ์เพราะธรรม ได้แก่ปริศนาข้อที่ว่านกแขกเต้าปากแง เป็นข้อที่ ๓

ครั้นพระโพธิสัตว์กล่าวแก้ปริศนาทั้ง ๓ ข้อจบลงแล้ว ราชบริษัททั้งหลายมีอำมาตย์เป็นต้น อีกทั้งชนชาวพระนครทั้งหลายต่างคนก็ร้องซ้องสาธุการ เสียงสาธุการประมาณแสนหนึ่งนั้น ก็เอิกเกริกไปในโกฏิมหานคร ราชทูตทั้งสามคนก็ประณมกรให้สาธุการชมเชยพระโพธิสัตว์

ในลำดับนั้น พระเจ้าโกมลราชก็ทรงพระปรีดาโสมนัส จึงตรัสว่า เราจะให้พัสดุสิ่งละสี่ ๆ คือ ช้าง ๔ เชือก ม้า ๔ ตัว โค ๔ ตัว รถ ๔ คัน ภริยา ๔ คน ทาสชาย ๔ คน ทาสหญิง ๔ คน บ้านส่วย ๔ ตำบล เงิน ๔ พันตำลึงให้เป็นรางวัลแก่ท่าน

ในขณะนั้น ราชทูตทั้งสามจึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระราชเทวีทั้งสองได้มีพระเสาวนีย์สั่งมาว่า ถ้าพระองค์ทรงแก้ปริศนาลำพังพระองค์ได้ จะมาถวายอภิวันทน์ยอมเป็นบาทบริจาทั้งสองนาง ถ้าพระองค์ได้โปรดให้บัณฑิตผู้ใดแก้ปริศนาได้ไซร้ ขอพระองค์ได้ส่งตัวบัณฑิตผู้นั้น ให้ไปกำหนดการวิวาหมงคลพระพุทธเจ้าข้า

​พระเจ้าโกมลราชได้ทรงฟังก็ทรงพระสรวล จึงตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า ดูกรมาณพผู้เจริญ เจ้าอาจจะไปเมืองกาสิกรัฐได้หรือไม่ ข้าแต่สมมติเทวราช ข้าพระองค์สามารถจะไปได้ พระพุทธเจ้าข้า ดูกรมาณพผู้เจริญ เจ้าจะต้องการเอาอะไรไปบ้างเล่า ฯ ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า ถ้าพระองค์ให้เสนาที่พร้อมด้วยองค์ ๔ ไปด้วย พระเกียรติยศของพระองค์ก็จะปรากฏเป็นอันดีทั้งจะได้ป้องกันสองพระมเหสีที่จะรับมาถวายนั้นด้วยพระพุทธเจ้าข้า ฯ ดูกรมาณพ คำที่เจ้าพูดนี้เป็นความจริง เราจะให้เสนามีองค์ ๔ ไปกับเจ้าด้วย

ขณะนั้น พระโพธิสัตว์เห็นเป็นโอกาส จึงกราบทูลต่อไปว่า ข้าแต่สมมติเทวราช แต่ข้าพระองค์เที่ยวเสาะหาหญิงอันเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจมาถึง ๗ ปีแล้ว พึ่งมาได้เห็นนางวลิกาหญิงแก่อันเป็นที่พอใจในกาลนี้ เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์ขอรับพระราชทานพานางวลิกาหญิงแก่นั้นไปด้วย พระพุทธเจ้าข้า พระเจ้าโกมลราชก็ทรงโปรดพระราชทาน แล้วตรัสว่านางวลิกาเป็นชาวในรู้ขนบธรรมเนียมดี จะได้ดูแลนางมเหสีทั้งสองนั้นด้วย จึงโปรดให้ไปถอดนางวลิกาเทวีมาจากเรือนจำ และให้เสนามีองค์ ๔ มาประชุมกันหน้าพระลาน แล้วพระราชทานนางวลิกาเทวีพร้อมทั้งเสนามีองค์ ๔ ให้ไปกับพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์นั้น เมื่อได้รับพระราชทานสมความปรารถนาแล้ว จึงดำริว่า เราจักพาเอาพลรบเหล่านี้ไปเมืองเราก่อน แล้วจักกลับมาทำยุทธสงครามต่อภายหลัง ดำริดังนี้แล้ว ก็ถวายบังคมลาพานางวลิกาผู้เป็นมารดาออกจากพระราชนิเวศน์ ครั้นออกมาภายนอกแล้ว จึงกระทำความเคารพกราบกรานมารดา แล้วพามารดาพร้อมด้วยเสนามีองค์ ๔ ออกจากเมืองไป

ฝ่ายมหาชนทั้งหลายมีพวกอำมาตย์เป็นต้น เมื่อได้เห็นพระโพธิสัตว์กราบกรานมารดาดังนั้น ต่างก็พูดกันว่า มาณพหนุ่มน้อยผู้นี้มิใช่ชายชู้ของนางวลิกาเทวี ชะรอยคนทั้งสองนี้จักเป็นแม่ลูกกันเป็นมั่นคง เรามีความพิศวงยิ่งนัก

พระโพธิสัตว์นั้น ครั้นไปถึงเมืองกาสิกรัฐ ก็ให้พวกพสกนิกรทั้งหลายพักอยู่ภายนอกพระนคร แล้วพานางวลิกามารดาเข้าไปในพระราชนิเวศน์

ฝ่ายอำมาตย์ทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นต้น รู้ว่าเจ้านายของตนมาถึงแล้วก็่มีความยินดี พากันมาคอยเฝ้าอยู่ตามหมู่ตามคณะ นางภัจจาเทวีกับนางสุวรรณคิรีรู้ข่าว ก็พากัน​มาต้อนรับด้วยความยินดี นางสุวรรณคิรีรู้ว่าแม่ผัวมา ก็เข้ากราบเท้านางวลิกาเทวี แล้วบอกว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ข้าพเจ้านี้เป็นสะใภ้ของแม่เจ้า นางภัจจานั้นเล่าก็ทักทายปราศรัยตามฐานะผู้ใหญ่ แล้วเข้าไปสวมกอดพระโพธิสัตว์ มีพระเสาวนีย์ตรัสว่า ดูกรพ่อผู้เป็นปิยบุตร เมื่อแม่ได้ทราบข่าวว่า พ่อไปต้องโทษถูกจำจอง หทัยของแม่ดุจแตกทำลาย มีแต่ร้องไห้เศร้าโศกปริเทวนาการทุกคืนทุกวัน มิได้มีความผาสุก มีแต่ระทมไปด้วยความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ต่อคิดขึ้นได้จึงได้มีราชสาส์นผูกปริศนาส่งไปแก้ไข แต่ก็ยังมิวางพระทัยว่าพ่อเจ้าจะพ้นทุกข์ การที่พ่อกลับมาถึงเมืองได้โดยสวัสดี พร้อมทั้งพลนิกายและมารดาของพ่อนี้ แม่มีความยินดีเป็นที่ยิ่งหาสิ่งที่จะเปรียบมิได้ แต่นี้ไปให้พ่อมีความสุขทุกทิวาราตรีกาล แล้วนางก็มีเสาวนีย์ถามถึงสุขทุกข์ของนางวลิกาและบุตร ครั้นเจรจาปราศรัยถึงสุขทุกข์ซึ่งกันและกันแล้ว นางทั้งสามก็พากันขึ้นสู่ปรางค์ปราสาท

ในลำดับนั้น พระวนาวนราชโพธิสัตว์ จึงมีพระราชดำรัส ให้เลี้ยงดูพลนิกายที่มากับพระองค์ด้วยโภชนาหาร และพระราชทานเสื้อผ้าตามสมควรแก่ฐานันดรศักดิ์ ให้พักอยู่โดยควรแก่ความสำราญ แล้วมีรับสั่งให้มาประชุมอำมาตย์ทั้งหลาย มีเสนาบดีเป็นต้น ทรงตรวจตราหมู่พลจตุรงคเสนาโยธาหาญ เพื่อจะเสด็จยาตราทัพไปเมืองโกฏินคร ทำการยุทธ์สงครามกับพระยากัณหวลิราช มีพระสุรสิงหนาทตรัสเรียกจตุรงคเสนาด้วยบาทพระคาถาว่า

หตฺถิ อสฺสา รถา ปติเสนา สนฺนาหยนฺตุ จ
เนคมา จ สมาคตาพฺราหฺมณา จ สมาคตา
ตโต สฏฺีสหสฺสานิโยธิโน จารุทสฺสนา
ขิปฺปมายนฺตุ สนฺนทฺธานานาวณฺเณหิ อลงฺกตา
นีลวตฺถา ธราเนเกปิตาเนเก นิวาสิตา
อฺเ โลหิตอุณฺหิสาสุทฺธาเนเก นิวาสิตา
ขิปฺปมายนฺตุ สนฺนทฺธานานาวณฺเณหิ อลงฺกตา
ตโต นาคสหสฺสานิโยชยนฺตุ จตุทฺทส
สุวณฺณกจฺเฉ มาตงฺเคเหมกปุปนิวาสเส
อารุฬฺเห คามนิเยภิโตมรงฺกุสปาณิภิ
ขิปฺปมายนฺตุ สนฺนทฺธาหตฺถิขนฺเธหิ ทสฺสิตา
ตโต อสฺสสหสฺสานิโยชยนฺตุ จตุทฺทส
อาชานิเย จ ชาติยาสินฺธเว สีฆพาหเน
อารุฬฺเห คามนิเยภิอินฺทฺริยา จาปธาริภิ
ขิปฺปมายนฺตุ สนฺนทฺธาอสฺสปิฏฺเ อลงฺกตา
ตโต รถสหสฺสานิโยชยนฺตุ จตุทฺทส
อโยสุกตเนมิโยสุวณฺณจิตฺรโปกฺขเร
อาโรเปนฺตุ ธเช ตตฺถจมฺมานิ กวจฺจานิ จ
วิปฺผาเลนฺตุ จ จาปานิทฬฺหธมฺมา ปาหาริโห
ขิปฺปมายนฺตุ สนฺนทฺธารเถสุ รถราชิโน

ความว่า พลช้ง พลม้า พลราชรถ พลบทจรเดินเท้า อีกทั้งาวคามนิคมชนบท และพราหมณ์ปุโรหิตาจารย์ทั้งหลาย จงมาประชุมตามหน้าที่ให้พร้อมเพรียงกัน

ในลำดับนั้น พวกพลโยธาประมาณหกสิบหมื่น ล้วนแต่ผูกสอดด้วยเครื่องสรรพศัสตราวุธยุทธภัณฑ์ ประดับกายด้วยเครื่องอลังการ มีเพศต่าง ๆ กัน แลดูงามวิจิตรควรที่จะทัศนา บางหมู่ประดับกายาด้วยเสื้อผ้าแต่ล้วนเขียว บางหมู่ประดับด้วยเสื้อผ้าอันเหลืองล้วน บางหมู่ประดับกายาด้วยเสื้อผ้าแต่ล้วนแดง บางหมู่ประดับด้วยเสื้อผ้าอันขาวสะอาด พากันรีบมาประชุมตามประกาศโดยเร็วพลัน

ในลำดับนั้น พลช้างทั้งหลายหมื่นสี่พัน อันเกิดในมาตังคตระกูล ประดับด้วยหัตถาลังการแล้วด้วยทอง มีผ้าตาข่ายปกกระพองเป็นต้น ทั้งมีนายหัตถาจารย์ประดับกายอยู่ประจำคอ มือถือขอคร่ำด้ามสุวรรณ พลคชสารทั้งปวงนั้น ล้วนเรี่ยวแรงร้ายคำรณต่างก็มาพร้อมกันตามประกาศ

ในลำดับนั้น พลอัศวราชหมื่นสี่พัน เป็นสินธวอาชาไนยโดยชาติ มีกำลังอันรวดเร็ว สามารถไม่ท้อถอย มีนายอัสสาจารย์แต่งกายถือแซ่อยู่ประจำ ต่างก็มาประชุมกันตามหน้าที่ตามกำหนด

ในลำดับนั้น พลราชรถหมื่นสี่พันกำกงแห่งรถนั้นล้วนแล้วด้วยโลหะ มีบัลลังก์แล้วด้วยทองงามวิจิตร มีธงชายปักประจำทั่วทุกคัน ตัวรถนั้นแต่ล้วนหุ้มด้วยเกราะหนัง สามารถจะป้องกันสรรพศัสตราวุธ มีนายสารถีนั่งในเบื้องหน้าประตูอยู่ทั่วทุกรถ ต่างก็มาประชุมพร้อมกันหมดในที่นั้น

ครั้นหมู่จตุรงคเสนามาประชุมกันพร้อมในวันที่เจ็ดแล้ว พระวนาวนราชโพธิสัตว์จึงมีพระราชดำรัสสั่งอำมาตย์ผู้ใหญ่ว่า ท่านจงยกพลรบเหล่านี้ไปก่อนเรา เมื่อถึงเมืองโกฏินครแล้วจงล้อมไว้ให้แน่นหนา แล้วส่งข่าวสาส์นมาถึงเรา เราจะยกโยธาหาญตามไปต่อภายหลัง

อำมาตย์ทั้งหลายรับพระราชโองการแล้ว ก็พากันรีบยกกองทัพไปเมืองโกฏินคร ครั้นถึงจึงให้ล้อมเมืองด้วยจตุรงค์ทั้งหลายมีพลช้างเป็นต้น แล้วส่งพระราชสาส์นมาถวายพระโพธิสัตว์ตามมีรับสั่ง

พระวนาวนราชโพธิสัตว์ได้ทรงฟังพระราชสาส์นดังนั้น ก็เสด็จไปหาพระมารดาทั้งสองและพระมเหสีแล้วตรัสว่า พระแม่ภัจจาเทวีและเจ้าสุวรรณคิรี ต้องไปเมืองโกฏินครด้วยกัน เพราะว่าตัวข้าพเจ้านี้พระราชบิดาส่งมาเพื่อจะให้พาท่านทั้งสองไปเฝ้า อนึ่งเล่า ข้าพเจ้านี้ก็ได้รับคำสั่งมาโดยมั่นคง เพราะเหตุนี้ข้าพเจ้าจะไม่พูดคำมุสา แต่พระราชมารดาวลิกาเทวีนั้น จงอยู่สำเร็จราชการในเมืองนี้จนกว่าข้าพเจ้าจะกลับมา ตรัสดังนี้แล้วก็กราบไหว้พระมารดา พาพระมารดาเลี้ยงและพระมเหสีออกจากพระนคร แวดล้อมด้วยจตุรงคเสนาทั้งเบื้องซ้าย เบื้องขวา เบื้องหน้า เบื้องหลัง เสด็จขึ้นประทับ ณ คอมงคลหัตถี ซึ่งเป็นพระบรมราชพาหนะอันสามารถจะย่ำยีเสนาฝ่ายปรปักษ์ให้ปราชัย ประทับ ณ ภายใต้เศวตฉัตรอันแวดวงด้วยข่ายเงินและข่ายทองข่ายแก้วมณี พร้อมด้วยพหลโยธีอันประกอบด้วยรูปและเสียงอันกึกก้อง ทั้งกำลังแห่งฤทธิ์และกำลังความกล้าหาญ สามารถจะทำลายพื้นปฐพี และย่ำยีเขาจักรวาฬให้ภินทนาการแหลกทำลาย พระวนาวนราชโพธิสัตว์นั้น งามไปด้วยบรมราชพาหนะ คือ หมู่พหลพลนิกาย และงามไปด้วยพระสิริวิลาสดุจท้าวสักกเทวราชเสด็จออกจากเทวนคร

ในกาลเมื่อพระวนาวนราชโพธิสัตว์ เสด็จยาตราทัพออกจากพระนครนั้น บรรดาเทพดาทั้งหลาย คือ เทพดาที่รักษาพระนครและอารักขเทพดา ภูมเทพดา ต่างก็พากัน​อุโฆษณาการเป่าร้องว่า ดูกรท่านทั้งผู้เช่นเรา เทพดาเหล่าใด ที่สิงสถิตอยู่บรรพตและพื้นดินแม่น้ำคงคาและอากาศก็ดี เทพดาเหล่าใด ที่อยู่รักษารัฐสีมาแว่นแคว้นอื่นก็ดี เทพยดาทั้งหลายเหล่านั้น จงมาประชุมพร้อมเพรียงกัน บัดนี้พระวนาวนราชโพธิสัตว์เสด็จออกจากพระนคร พร้อมด้วยจตุรงค์แสนยากรเป็นขนัด จะไปทำยุทธสงครามแก่กษัตริย์ในเมืองโกฏินคร เราทั้งหลายจงพากันตามเสด็จไป เพื่อจะได้ช่วยพิทักษ์รักษาพระโพธิสัตว์และเหล่าจตุรงคเสนาทั้งปวง ให้ปราศจากภยันตราย

เทพดาทั้งหลายได้ฟังอุโฆษณาการดังนั้น ต่างองค์ก็มาพร้อมเพรียงกัน พากันแวดล้อมพระวนาวนราชโพธิสัตว์ ในเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ทั้งเบื้องซ้ายและเบื้องขวา ทั้งช่วยอภิบาลรักษาไปในกองหัพ รัศมีอาภรณ์ของเทพเจ้าทั้งหลาย กับแสงอาวุธหอกดาบของโยธาหาญก็รุ่งโรจน์โชตนาการสว่างไป ในหมู่พหลพลนิกายทั้งปวง

พระวนาวนราชโพธิสัตว์นั้น แวดล้อมไปอิสริยยศและโยธาหาญบริวารยศอันใหญ่หลวง ด้วยประการฉะนี้ ผันพระพักตร์เฉพาะเมืองโกฏินคร เสด็จยาตราทัพไปโดยลำดับมรรคา ชาวคามนิคมชนบทตามสถลมารค ต่างก็พากันตกใจหนีไปจากที่นั้นๆ ไม่มีผู้ใดที่จะสามารถมาและดูมาทว่าสักคนเดียว ด้วยอำนาจอานุภาพพระโพธิสัตว์และอานุภาพเทพดาทั้งหลาย ครั้นถึงเมืองโกฏิมหานครก็ให้หยุดพลตั้งค่าย และปลูกพลับพลาที่ประทับอยู่ ณ ภายนอกเมืองแล้วให้ราชทูตนำพระราชสาส์นเข้าไปถวายพระเจ้าโกมลราช ในพระราชสาส์นนั้นว่า ดูกรท้าวโกมลราช ตัวเราเป็นบุตรนางวลิการาชเทวี มีนามว่าวนาวนราช ถ้าพระองค์ทรงเชื่อจงให้เศวตฉัตรแก่เรา ถ้าไม่ทรงเชื่อ จงจัดโยธาหาญยกออกไปทำยุทธหัตถีชนช้างดูฝีมือกัน

ท้าวโกมลราชได้ทรงทราบราชสาส์นดังนั้น ก็มีพระพระศออันแห้งผาก และมีความสะดุ้งตกพระทัยกลัวเป็นกำลัง จึงรับสั่งให้หาพระยากัณหวลิราชบุตรขึ้นมาเฝ้า แล้วตรัสปรึกษาว่า ดูกรพ่อผู้เป็นปิยบุตร บัดนี้จักมีกษัตริย์องค์หนึ่งยกพลมาล้อมพระนครของเรา แล้วมีราชสาส์นมาว่าเป็นบุตรนางวลิการาชเทวี มีนามว่าวนาวนราช จะมาทำยุทธสงครามชนช้างกับเรา ตัวบิดานี้เล่าก็แก่เฒ่าชราแล้ว ไม่สามารถจะออกไปสู้รบได้ ส่วนตัวเจ้าเล่าก็ยังพึ่งรุ่นหนุ่ม ที่ไหนจะออกไปสู้รบกับเขาได้ อนึ่งเล่า เขามีโยธาหาญอันมากมายเป็นหลายเท่า เจ้าจะคิดอย่างไร จะมอบราชสมบัติให้เขาหรือเจ้าจะออกรบ

​พระยากัณหวลิราชได้ทรงฟังคำบิดาตรัสดังนั้น ถึงคราวที่จะสิ้นชนมายุเพียงเท่านั้น ก็บังเอิญให้เกิดความโสมนัสยินดีในการที่จะทำยุทธสงครามเป็นอย่างยิ่ง จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระราชบิดาบุตรนางวลิกานั้นมีชื่อไร ได้มีอยู่ ณ ที่ไหน พระราชานั้นกล่าวคำเท็จจะมาหาที่ตาย ข้าพระองค์นี้จะขอพวกพลนิกายออกไปทำยุทธสงครามกับพระราชานั้น ข้าพระองค์นี้ได้ดำริมานานแล้ว ว่าจะไปทำสงครามรบพระราชาเมืองอื่น บัดนี้พระราชาเมืองอื่นมาท้ารบ ก็เป็นการสมคิดของข้าพระองค์แล้ว ข้าพระองค์มีความยินดีเป็นที่ยิ่งขอพระราชบิดาอย่ามีพระทัยครั่นคร้าม และอย่าทรงพระปริวิตกเศร้าเสียพระทัยเลย การที่จะทำยุทธสงครามนั้น เป็นภาระธุระของข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะรับฉลองพระเดชพระคุณจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ท้าวโกมลราชได้ทรงสดับ ก็ค่อยเบาพระทัยหายความปริวิตก จึงทรงมอบพลนิกายทั้งซ้ายขวาหน้าหลัง ทั้งอาญาสิทธิ์เด็ดขาดให้พระราชบุตรออกทำยุทธสงครามตามปรารถนา

ครั้นรุ่งเช้า พระยากัณหวลิราชก็ถวายบังคมลาพระราชบิดาออกจากพระราชนิเวศน์ เสด็จขึ้นประทับ ณ คอมงคลคชสาร มีพลนิกายเป็นบริวารแวดล้อมโดยรอบ เสด็จยาตรากองหัพออกจากพระนคร พวกพหลพลนิกรบันลือเสียงโห่ร้องก้องสนั่น ผันพระพักตร์ตรงไปยังค่ายของพระโพธิสัตว์

ฝ่ายพระวนาวนราชโพธิสัตว์นั้น ครั้นทอดพระเนตรเห็นกองทัพยกตรงออกมา ก็แต่งพระองค์เสด็จขึ้นทรงประทับ ณ คอมงคลคชาธารพร้อมด้วยพลโยธาหาญแวดล้อมเป็นขนัด ทรงไสคชสารพระที่นั่งตรงไปยืน ณ ที่ใกล้พระยากัณหวลิราชแล้วตรัสประภาษพ้อว่า ดูกรพระยากัณหวลิราช ไฉนท่านจึงอหังการยิ่งนัก ความตายจักมีแก่ท่านในวันนี้แล้ว ท่านจงกลับเข้าไปหาบุตรภรรยา บอกลาเสียให้เรียบร้อยแล้วจึงออกมารบกับเราเถิด

พระยากัณหวลิราชได้ฟังดังนั้นทรงพระโกรธยิ่งนัก แลไปเห็นพระโพธิสัตว์ก็จำได้ จึงตรัสบริภาษว่า ดูกรอ้ายนักโทษพระยาโจร กูหมายว่าใครที่ไหนมาเล่า มึงจะมาปล้นเมืองกูหรือ มึงจะสิ้นชีวิตในวันนี้แล้ว กูจะไม่ให้มึงกลับไปถึงเมืองมึงได้อีก มึงอย่าหมายว่าจะรอดชีวิตเลย ตรัสบริภาษดังนี้แล้ว ก็ไสช้างที่นั่งตรงไป

ในขณะนั้น พวกพลทั้งหลายก็เข้าต่อยุทธกันโกลาหล พลช้างก็เข้ารบกับพลช้าง พลม้าก็เข้าต่อยุทธกับพลม้า พลรถก็เข้าต่อสู้กับพลรถ พลบทจรเดินเท้าก็เข้ารบกับพลเดินเท้าเป็นหมู่ ๆ กัน

​ในลำดับนั้น ช้างที่นั่งของพระวนาวนราชโพธิสัตว์เป็นราชพาหนะมีกำลังกล้าว่องไวยิ่งนัก ทั้งฉลาดในการที่จะต่อยุทธ์ชิงชัยเข้าประงา ได้ท่าก็แทงช้างพระยากัณหวลิราช กดขยี้ด้วยงาทั้งสองให้ล้มลง ทันใดนั้นโยธาหาญของพระวนาวนราชโพธิสัตว์ ก็ตรงเข้าไปตัดพระศอพระยากัณหวลิราช ให้ศีรษะนั้นขาดตกลง ณ พื้นปฐพี

ขณะนั้น พวกพหลพลโยธีของพระยากัณหวลิราช ก็พากันสะดุ้งกลัวมรณภัย ต่างพากันวิ่งหนีเข้าข้างในรีบไปทูลเหตุนั้นแต่พระนางกัณหลิมาราชเทวีว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า บัดนี้ พระราชบุตรของพระแม่เจ้าออกไปต่อยุทธนาการ ถึงซึ่งปราชัยสิ้นพระชนม์ชีพเสียแล้ว พระนางกัณหลิมาราชเทวีได้สดับดังนั้น ดุจมีพระทัยแตกทำลาย ระทมไปด้วยความโศก แทบพระชนม์ชีพจะวางวายลงทันที จึงวิ่งเข้าไปกราบทูลพระราชสามีให้ทรงทราบ

พระเจ้าโกมลราชได้ทรงสดับ ก็สะดุ้งตกพระทัย มีพระเขฬะในพระศออันแห้งผาก มีพระเสโทอันไหลอาบพระองค์ ทรงพระอาลัยในปิยราชบุตรดุจมีพระองค์อันขาดตกลง ทรงพระกรรณแสงปริเทวนาการร่ำรักพระราชบุตรด้วยบาทพระคาถาว่า

กณฺุหวลิราชํ ทิสฺวาสีสฉินฺโนทานิ มโต
กสฺส มุขํ ปสฺสิสฺสามิปจฺจามิตฺตาทานิ อวฺิ
โก มยฺหํ นาโถปิ นตฺถิมหลฺลิกา ชราทานิ
ปุพฺเพปิ น ภยามิหํกิตฺติสทฺโท อพฺภุคฺคโต
ทิสาสุ อิทานิ มยฺหํทุพฺพโลทานิ อวฺิ
ยนฺุนูนาหํ สนฺติกํ คจฺฉํตสฺส เสตฉตฺตํ ทมฺมิ
เอกํเสน ชิวํ ลเภภทฺเท มยํ วิสํ ภุฺเชม

ความว่า เราด้เคยเห็นหน้าพระยากัณหวลิราชบุตร บัดนี้พระยากัณหวลิราชบุตร ก็มีเศียรอันขาดสิ้นชีพเสียแล้ว เราจะเห็นหน้าครอีกเล่า แต่นี้ไปปัจจามิตรทั้งหลายจะดูหมิ่น ครจะเป็นที่พึ่งของเราก็ไม่มี บัดนี้เราก็มีกายอันแก่ราแล้ว ถ้าเหมือนแต่ก่อนเราก็มิได้มีความกลัว เดี๋ยวนี้กิตติศัพท์เลื่องลือไปว่าเราทุพลภาพ ข้าศึกจึงมาดูหมิ่นได้ อย่ากระนั้นเลย เราจะไปเฝ้าถวายเศวตฉัตรแก่พระยาวนาวนราช ขอแต่ชีวิตไว้เท่านั้น ดูกรเจ้ากัณหลิมาผู้มีพักตร์อันเจริญหรือเราทั้งสองนี้ จะพากันกินยาพิษตายเสียดี

​เจ้าโกมลราชกับพระมเหสี ทรงพระอาลัยโศกเศร้ากำสรดถึงพระยากัณหวลิราชบุตร ดุจมีพระหฤทัยอันแตกทำลายฟูมฟายด้วยพระอัสสุชลเนตร ทรงพระโศกาดูรเทวษประกอบไปด้วยความทุกข์โทมนัส

ฝ่ายพระวนาวนโพธิสัตว์นั้น ครั้นทรงชนะสงครามแล้วจึงมีรับสั่งให้ราชทูตเข้าไปในเมือง ให้ทูลพระเจ้าโกมลราชว่า พระยากัณหวลิราชบุตรของพระองค์ ออกมาทำยุทธนาการ ถึงซึ่งอปราชัยตายเสียในท่ามกลางสงครามแล้ว บัดนี้พระองค์ท่านจะออกไปรบหรือประการใด ถ้าไม่ออกไปรบก็จงออกไปถวายบังคม มอบเศวตฉัตรเสียในกาลนี้

ราชทูตรับพระราชโองการแล้ว ก็เข้าไปในพระนคร ทูลความตามพระราชดำรัสนั้น ให้พระเจ้าโกมลราชทรงทราบ พระเจ้าโกมสราชได้ทรงทราบก็มีพระหฤทัยอันสะดุ้งหวาดหวั่น จึงตอบพระราชสาส์นนั้นว่า ตัวเราชราภาพแล้วไม่สามารถจะออกไปต่อยุทธ์ได้ เราจะออกไปเฝ้าถวายราชสมบัติ ราชทูตจึงนำความนั้นมากราบทูลพระโพธิสัตว์ให้ทรงทราบ

พระวนาวนราชโพธิสัตว์ได้ทรงสดับ จึงมีรับสั่งให้พระราชมารดาเลี้ยงและพระมเหสี ไปประทับอยู่ ณ ค่ายๆ ละองค์ ส่วนพระองค์เองนั้นเสด็จประทับอยู่ ณ ค่ายด้านทิศบูรพา

ฝ่ายพระยาโกมลราชนั้น ครั้นตอบพระราชสาส์นไปแล้ว จึงมีรับสั่งให้ราชบริษัทถือเครื่องราชบรรณาการ แล้วเสด็จออกจากพระนครตรงไปยังค่ายด้านทิศบูรพา ครั้นถึงจึงตรัสถามพวกอำมาตย์ว่า พระราชาเสด็จอยู่ ณ ที่ใด พวกอำมาตย์ทูลว่า พระราชาซึ่งประทับอยู่ ณ ค่ายนี้ยังหนุ่มนัก พระองค์สิเป็นผู้ใหญ่ไม่สมควรจะเข้าไปเฝ้า จงเสด็จไปถามที่ค่ายด้านทิศทักษิณเถิด พระเจ้าโกมลราชเสด็จไปยังค่ายทิศทักษิณ แล้วตรัสถามโดยนัยนั้น อำมาตย์ทั้งหลายทูลว่า พระองค์จงเสด็จไปถามที่ค่ายทิศประจิมเถิด ครั้นเสด็จไปถามที่ค่ายทิศประจิม พวกอำมาตย์ก็ทูลว่า จงเสด็จไปถามที่ค่ายทิศอุดรเถิด พระเจ้าโกมลราชก็เสด็จไปที่ค่าย ณ ทิศอุดร แต่เสด็จวนเวียนไปมาดังนี้ ก็มีพระสรีระกายอันเหน็ดเหนื่อย จนพระเสโหไหลอาบพระองค์ ทรงลำบากพระกายยิ่งนัก ทั้งประกอบไปด้วยความทุกข์ความโศกและความกลัว ทรงพระกรรแสงร่ำรำพันไปตามทางที่เสด็จนั้น

ฝ่ายพระวนาวนราชโพธิสัตว์ เห็นพระราชบิดาทรงลำบากพระองค์ดังนั้นแล้ว จึงเสด็จออกจากค่ายทิศบูรพาไปต้อนรับ เชิญพระราชบิดาให้ทรงประทับ ณ ราชอาสน์อันวิจิตรบรรจง ส่วนพระองค์นั้นประทับ ณ อาสน์อันต่ำ แล้วถวายบังคมพระราชบิดา ทรงพระ​กรรแสงพลางทูลถามว่า พระองค์ทรงรู้จักกระหม่อมฉันหรือไม่ ครั้นพระราชบิดาตอบว่า ข้าพเจ้าไม่รู้จัก จึงตรัสซักถามว่า บุตรนางวลิกาเทวีมีหรือไม่ พระราชบิดาตอบว่า บุตรของนางวลิกาเทวีนั้นเป็นท่อนไม้ จึงตรัสถามว่า หญิงมนุษย์ที่คลอดบุตรเป็นท่อนไม้นั้นพระองค์เคยได้ยินได้เห็นมาบ้างหรือ ตรัสตอบว่า เรายังไม่เคยได้ยินได้ฟัง และไม่เคยได้เห็นแต่ก่อนเลย จึงตรัสว่า ถ้ากระนั้นพระองค์ก็เป็นคนพาลมีปัญญาเขลา ไม่ทรงพิจารณาใคร่ครวญให้แน่นอนมาลงโทษพระแม่ของกระหม่อมฉันแสนสาหัส มิได้มีความเมตตากรุณาบ้างเลย มาเป็นไปได้ถึงเพียงนี้ ด้วยอำนาจแห่งความหลง

ขณะนั้น ท้าวโกมลราชก็เกิดความพิศวงทรงสังเวช และทรงสังเกตเห็นว่าพระโพธิสัตว์นั้นเป็นราชโอรสของพระองค์ จึงตรัสถามว่า ดูกรมหาราช ไฉนพระองค์จึงได้ตรัสดังนี้ พระโพธิสัตว์จึงเล่าความจำเดิมแต่เบื้องต้น จนเทพบุตรได้เลี้ยงรักษามาให้พระราชบิดาทรงทราบ แล้วทูลว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงเชื่อ ก็จงถามนางกัณหลิมาอันเป็นชายาที่รักของพระองค์เถิด ท้าวโกมลราชได้ทรงฟังก็ทรงพระกำสรดปริเทวนาการ เมื่อจะให้พระโพธิสัตว์อดโทษที่ได้ผิดมาแล้วนั้น จึงกล่าวพระคาถาว่า

ทุกกฏฺจ หิ โน ปุตฺตภูนหจฺจํ กตํ มยา
กณฺหลิมาย วจนามาตุยา โทสํ กโรมิ
มม โทสํ ขมตุ ตาตมา อฆฏํ พนฺธาเปถ ฯ

ความว่า ดูกรพ่อผู้เป็นบุตร พระบิดานี้มาหลงเชื่อคำของนางกัณหลิมา จึงได้ลงโทมารดาของเจ้า อันนี้ก็เป็นกรรมอันชั่วร้ายทีบิดาได้ผิดมาแล้ว เจ้าจงอดโทษเสียเถิดอย่าผูกอาฆาตบิดาเลย

ท้าวโกมลราชกล่าวคาถาขมาโทษดังนี้แล้ว จึงตรัสชวนพระโพธิสัตว์ว่า ดูกรพ่อผู้เป็นบุตร เจ้าจงมาไปในเมืองกับบิดาเถิด บิดาจะซักถามนางกัณหลิมาในที่เฉพาะหน้าเจ้า ตรัสฉะนี้แล้วก็่พาพระโพธิสัตว์เข้าไปในเมือง แล้วให้ประดับตกแต่งพระนครด้วยเครื่องอลังการให้งามประดุจดังว่าเทวนคร แล้วป่าวร้องให้ราษฎรเล่นมหรสพครบกำหนด ๗ วัน

ในกาลนั้น นางกัณหลิมาเทวีได้ทราบว่าบุตรนางวลิกาเข้ามาในเมืองกับพระราชบิดา นางจึงปรึกษาพวกทาสีของตนว่า เราสำคัญว่าบุตรนางวลิกาเทวีที่เราให้ไปฝังเสียในป่านั้นตายแล้ว บัดนี้กลับรอดชีวิตมาได้ เราจะกระทำอย่างไรดี ปรึกษากันดังนี้​แล้วก็ให้เกิดความสะดุ้งกลัวความผิด หวาดเสียวต่อความตายเป็นกำลังจะนอนนั่งก็มิได้มีความสุข มีแต่ทุกข์โทมนัสเป็นเบื้องหน้า จนพักตร์เผือดเลือดวิปริต มิรู้ที่จะคิดประการใด มีกายอันหวั่นไหวสะทกสะท้านเปรียบปานดุจสัตว์ที่ถูกกรรมกรณ์บีบคั้น

ในลำดับนั้น ท้าวโกมลราชจึงมีรับสั่งให้หาตัวนางกัณหลิมาเทวีมาเฝ้า แล้วมีพระราชดำรัสถามว่า ดูกรหญิงชั่วร้ายสามานย์ บุตรของนางวลิกาเทวีนั้นมีหรือไม่ จงให้การไปตามจริงอย่าปิดบัง

นางกัณฑหลีมาได้ฟังพระราชดำรัสดังนั้น จึงคิดว่าถ้าเราไม่รับตามความจริงก็จะถูกลงพระอาญาถึงสาหัส เพราะโทษที่เรากระทำนั้นเทพเจ้าก็ได้รู้เห็นเป็นพยาน เพราะฉะนั้นเรารับเสียตามจริงเสียดีกว่า แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรด นางคิดดังนี้แล้ว ก็ยอกรอัญชลีถวายบังคมกัมพักตร์อยู่ ครั้นท้าวโกมสราชทรงซักถามอีก นางก็ทูลรับว่า ข้าแต่สมมติเทวดา บุตรของนางวลิกาเทวีนั้นมีอยู่ พระพุทธเจ้าข้า จึงตรัสซักต่อไปว่า บัดนี้บุตรของนางวลิกาเทวีนั้นอยู่ที่ไหน นางก็ทูลความตามอุบายที่ตนกระทำนั้นให้ทรงทราบทุกประการ

ท้าวโกมลราชได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธยิ่งนัก จึงมีพระราชโองการให้จับพวกญาติ และเหล่าทาสีของนางกัณหลิมามาแล้ว ให้ขุดหลุมที่หน้าพระลานฝังคนเหล่านั้น มีนางกัณหลิมาเป็นประธานลงเพียงคอ จึงเอาฟางกลบเกลี่ยข้างบน คลอกเสียด้วยไฟฟาง แล้วให้เอาผาลเหล็กไถคอให้ขาด เอาซากศพไปทิ้งเสียในเวจกุฎีต่างๆ ครั้นให้สำเร็จโทษคนที่ชั่วร้ายแล้ว ก็เสด็จมานั่งใกล้พระโพธิสัตว์ ทรงพระโสมนัสเบิกบานพระหฤทัย แล้วตรัสถามว่า ดูกรพ่อปิยบุตร เมื่อเขาเอาเจ้าไปฝังเสียในป่า ไฉนเจ้าจึงรอดชีวิตเป็นอยู่ได้เล่า

พระโพธิสัตว์เจ้าจึงทูลว่า ข้าแต่พระราชบิดา เมื่อเขาเอาข้าพเจ้าไปฝังที่ในโคนต้นไม้นั้น เทพยดาที่สิงสถิตอยู่บนต้นไม้จันทน์แดงคิดประหลาดใจ จึงไปขุดหีบขึ้นจากหลุม อุ้มเอาข้าพระองค์ออกจากหีบแล้วเลี้ยงไว้ ครั้นข้าพระองค์อายุได้ ๗ ปีเทพยดานั้นจึงเล่าเรื่องที่ข้าพระองค์คลอดจากครรภ์มารดา ถูกนางกัณหลิมาริษยา ให้ทาสีเอาไปฝังเสียในป่า แล้วเอาท่อนไม้ทาโลหิตแทน ทูลยุยงให้พระราชบิดาลงโทษพระราชมารดา ทำให้เป็นทาสีตักน้ำใช้ในโรงครัว ข้าพระองค์ได้ฟังก็สงสารพระมารดา ปรารถนาจะเข้ามารับใช้การงานแทนพระมารดา เทพเจ้าห้ามไว้แนะนำให้ไปเรียนศิลปศาสตร์ในสำนักพระดาบส แล้ว​พระโพธิสัตว์ก็เล่าเรื่องเบื้องต้น จำเดิมแต่เทพบุตรจุติแล้วไปเรียนศิลปศาสตร์ ทั้งได้รับความทุกข์สุขต่าง ๆ มีต้องถูกทุบตีและถูกจำจองอยู่ในเรือนจำเป็นอาทิ จนถึงการทำยุทธสงครามฆ่าพระยากัณหวลิราชให้ถึงชีวิตอันตราย ทรงบรรยายตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น ให้พราะราชบิดาทรงทราบถี่ถ้วนทุกประการ

ท้าวโกมลราชได้ทรงฟัง ก็ให้เกิดความสงสารสลดพระหฤทัยจนพระเนตรทั้งสองนองไปด้วยพระอัสสุชลธารา เข้าสวมกอดพระโพธิสัตว์จุมพิตแล้วทรงพระโศการ่ำรำพันโดยประการต่าง ๆ

ในลำดับนั้น ชาวนางทั้งหลายมีพระสนมเป็นต้น ได้เห็นพระราชาทรงกำสรด ไม่สามารถที่กลั้นความโศกได้ ต่างคนก็พากันร้องไห้ปริเทวนาการเสียงสนั่น อาการนั้นประดุจดังว่าไม้รังอันต้องพายุย่ำยี เสียงร้องไห้ปริเทวนาการถึงมี่ไปทั้งพระราชนิเวศน์ ต่างคนก็พากันสงสารสังเวชพระโพธิสัตว์ทุกถ้วนหน้า

ในลำดับนั้น พระโพธิสัตว์เห็นชนทั้งหลาย มีพระราชบิดาเป็นประธานพากันปริเทวนาการอยู่ดังนั้น จึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมหาราช ขึ้นชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายที่เวียนว่ายอยู่ในสงสารวัฏย่อมจะได้รับทุกข์บ้าง ได้ประสบสุขบ้างเป็นธรรมดา ผู้ที่กุศลอุ้มชูก็ได้รับความสุข ผู้ที่อกุศลอุปถัมภ์ก็ได้รับความทุกข์ ผู้ใดกระทำโทษให้แก่เขา เวรก็ย่อมติดตามผู้นั้นไป ดุจพระเถรเจ้าผู้เป็นช่างเย็บจีวรฉะนั้น พระโพธิสัตว์จึงนำอดีตนิทานมาเล่าถวายว่า

อตีเต เโก มหาเโร ฯลฯ ดังได้สดับมา ในอดีตกาลล่วงแล้ว มีพระมหาเถรองค์หนึ่ง เย็บปะจีวรเก่าอยู่ด้วยเข็ม ปลายเข็มไปแทงถูกตัวเล็นตาย พระมหาเถรนั้นก็มิได้รู้ ฝ่ายเล็นครั้นตายแล้ว ก็ไปเกิดในตระกูลพรานเนื้อ ครั้นเจริญวัยขึ้นก็ถือหอกไปในป่า เพื่อประโยชน์จะฆ่าเนื้อเป็นอาหาร พระมหาเถรนั้นเดินสวนทางมา ครั้นเห็นนายพรานเข้าก็มีความกลัว จึงหนีเข้าซ่อนอยู่ ณ พุ่มไม้ในป่า นายพรานนั้นครั้นมาถึงที่พุ่มไม้นั้นจึงคิดว่า พระมหาเถรเห็นเราถือหอกมา เห็นจักมีความกลัวเรา อย่ากระนั้นเลย เราจักทิ้งหอกนี้เสียก่อน แล้วจะคอยจับพระมหาเถรต่อภายหลัง นายพรานคิดดังนี้แล้ว ก็พุ่งหอกนั้นเข้าในพุ่มไม้ หอกนั้นก็ไปปักอกพระมหาเถรตาย เป็นทั้งนี้เพราะอำนาจกรรมที่พระมหาเถรเย็บจีวร ปลายเข็มไปแทงถูกตัวเล็นตาย

​พระโพธิสัตว์นำเอาเรื่องนิทานนี้ มาเล่าถวายเป็นอุทาหรณ์แล้วจึงทรงนำเรื่องนิทานอื่นอีกมาเล่าถวายว่า

อตีเต กิร เอโก นโว ภิกขุ ฯลฯ ดังได้สดับมา ในอดีตกาลล่วงแล้ว มีภิกษุบวชใหม่รูปหนึ่ง เป็นผู้มีความฉลาดในการวาดเขียน อยู่มาวันหนึ่งภิกษุนั้นหุงน้ำมันเพื่อจะประสมสีเครื่องเขียน ได้เห็นแมลงวันตัวหนึ่งตกลงไปตายอยู่ในที่หุงน้ำมันนั้นจึงคิดว่า แมลงวันนี้ไม่ควรจะมาตายเลย ฝ่ายแมลงวันนั้น ครั้นตายแล้วก็ไปเกิดในครรภ์พระอัครมเหสี เมื่อถ้วนทศมาศก็คลอดจากพระครรภ์ กุมารนั้นเจริญวัยขึ้นโดยลำดับ ภายหลังก็ได้ครองราชสมบัติแทนพระราชบิดา จึงทรงปฏิบัติภิกษุรูปนั้น กระทำให้เป็นชีต้นที่นับถือของราชตระกูล อยู่มาวันหนึ่งจึงมีรับสั่งให้ภิกษุชีต้นนั้นเขียนรูปพระอัครมเหสี ภิกษุนั้นก็เขียนรูปหญิงเหมือนอัครมเหสีทุกอย่าง แล้วทำน้ำยาสีดำให้หยดลงไปติดอยู่ในที่ตั้งแห่งของลับ สีดำนั้นก็มีสัณฐานคล้ายกันกับไฝ ไปติดอยู่ที่ของลับของรูปเขียนพระอัครมเหสี พระราชาไปทอดพระเนตรเห็นไฝที่ลับของรูปเขียนดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธยิ่งนัก จึงมีรับสั่งให้จับภิกษุชีต้นนั้นไปใส่ลงในกระทะน้ำมันที่กำลังเดือดพล่านอยู่ ภิกษุนั้นก็ถึงแก่ความตาย

พระโพธิสัตว์นำเรื่องนิทานนี้มาเล่าถวายแล้วจึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขึ้นชื่อว่าเวรแล้ว ย่อมติดตามบุคคลผู้ถูกผูกเวรประดุจดังว่าแอกอันตามเบียดเบียนคอโคใช้และกงเกวียนอันตามกระทบเท้าของโคใช้ฉะนั้น เพราะเหตุนั้นบุคคลที่ไม่มีโทษเลยก็อาจถึงซึ่งทุกข์ มีการด่าเป็นต้นได้ ดุจข้าพระองค์เป็นตัวอย่างใช่แต่เท่านั้นหามิได้ ขอพระองค์จงทรงฟังอดีตนิทานอื่นอีก ดังข้าพระองค์จะนำมาเล่าถวายดังต่อไปนี้ว่า

อตีตสฺม หิ เอกา กุมาริกา ฯลฯ ในอดีตกาลที่ล่วงมาแล้ว มีนางกุมารีผู้หนึ่ง บวชเป็นนางปริพพาชิกามาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ทั้งเป็นผู้รักษาศีลบริสุทธิ์ ไม่มีด่างพร้อยมาทว่าน้อยหนึ่ง ตราบเท่าจนถึงนางนั้นแก่เฒ่าชรา อยู่มาวันหนึ่งนางปริพพาชิกานั้นไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ ครั้นอาบน้ำแล้วก็ขึ้นมาผลัดผ้านุ่งจึงบิดผ้าจะตากในผ้านั้นมีลูกปลาเล็กตัวหนึ่งติดอยู่ก็เลยตาย นางปริพพาชิกาก็มิได้รู้ว่าลูกปลาเล็กนั้นถูกบิดผ้าตาย ฝ่ายลูกปลานั้นครั้นตายแล้วก็ไปฟ้องพญายมว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า นางปริพพาชิกานั้นทำข้าพเจ้าให้ตาย ฝ่ายนางปริพพาชิกานั้น เมื่อถึงกาลอายุขัยก็ทำกาลกิริยา ไปถึงวิสัยพญายม พญายมจึงถามว่า ดูกรหญิงถ่อยลามกเจ้าเป็นผู้เบียดเบียนทำลูกปลานี้ให้ตายมิใช่หรือ นางปริพพาชิกาก็ไม่รับ​แล้วพูดว่า ข้าพเจ้าบวชมาตั้งแต่เด็ก มิเคยเบียดเบียนทำสัตว์ใดให้ตายเลย ทั้งไม่เคยให้ทุกข์แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ลูกปลาจึงพูดว่า ท่านจงระลึกดูก่อนเถิด วันหนึ่งท่านไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ ข้าพเจ้าไปติดอยู่ในกลีบผ้านุ่งของท่าน ครั้นท่านขึ้นจากท่าน้ำก็ผลัดผ้านุ่งแล้วบิดผ้าทำข้าพเจ้าซึ่งติดอยู่ในกลีบผ้านั้นให้ตาย จริงหรือไม่ขอให้นึกดู นางปริพพาชิกานึกได้แล้วขอขมาโทษลูกปลานั้นว่า เรามิได้แกล้งทำท่านให้ตายเลย และเราก็มิได้รู้ว่าท่านตายเพราะเราบิดผ้านุ่ง ครั้นนางให้ลูกปลาอดโทษแล้ว แล้วนางก็เป็นอันพ้นจากกรรมวิบากนั้น

พระโพธิสัตว์นำเอานิทานต่าง ๆ มาเล่าถวาย ให้เห็นเป็นอุทาหรณ์ดังนี้แล้ว จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า สัตว์ทั้งหลายที่ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏสงสารนี้ ย่อมมีเวรเป็นธรรมดาอย่างนี้แล

ท้าวโกมลราชได้ทรงสดับเรื่องต่างๆ ดังนี้แล้ว ระลึกถึงโทษที่ตนทำแก่นางวลิกาเทวี จึงตรัสถามว่า บัดนี้นางวลิกามารดาของเจ้าอยู่ที่ไหน บิดาจะขอขมาโทษให้มารดาเจ้าอดโทษแก่บิดาบ้าง

พระโพธิสัตว์ทูลว่า พระนางวลิกามารดาข้าพระองค์นั้นอยู่รักษาเมืองกาสิกรัฐ แต่พระมารดาเลี้ยงกับนางสุวรรณคิรีอยู่ที่กองทัพ พูดดังนี้แล้วก็สั่งอำมาตย์ทั้งหลายให้เอาวอไปรับพระราชมารดามาแต่เมืองกาสิกรัฐ และให้รับมารดาเลี้ยงมาพร้อมกันในโกฏินคร ครั้นพระราชบิดาขอขมาโทษที่ผิดพลั้งมาแก่นางวลิกาเทวีแล้ว พระโพธิสัตว์ก็เริ่มทำการอภิเษกพระราชมารดาทั้งสอง ตั้งนางวลิกาเทวีไว้ในที่เป็นอัครมเหสีที่หนึ่ง แล้วตั้งนางภัจจามารดาเลี้ยงให้เป็นอัครมเหสีที่สอง ครั้นสำเร็จการอภิเษกแล้ว ส่วนพระองค์ก็ทูลลากษัตริย์ทั้งสามพานางสุวรรณคิรีไปครองเมืองกาสิกรัฐ มีสมัญญาภิธานว่า พระเจ้าวนาวนราชบรมกษัตริย์ พระองค์ก็ประกอบไปด้วยพระยศและอำนาจอันยิ่งใหญ่แผ่ไปทั่วสกลชมพูทวีป ทรงทศพิธราชธรรมจรรยาพระราชทานโอวาทแก่พระราชาและมหาชนทั้งหลาย ซึ่งมาแต่นครทั้งสิ้นให้ตั้งอยู่ในสุจริตธรรม และให้รักษาศีลบำเพ็ญทานการกุศล ส่วนพระองค์เองนั้น ก็ทรงบำเพ็ญในกุศลสุจริตธรรม และให้สร้างโรงทาน ๖ ตำบลคือ ที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ทิศ และที่ท่ามกลางเมือง ๑ และในพระราชนิเวศน์ ๑ ทรงบริจาคผ้านุ่งห่มและโภชนาหารอีกทั้งเงินและทอง สิ่งของทั้งปวง แจกยาจกผู้มีความต้องการทุกถ้วนหน้า ทั้งพระราชทานสุราปานแก่นักเลงสุราทั้งหลาย ใครปรารถนาสิ่งใดก็พระราชทานสิ่งนั้นให้สำเร็จความปรารถนา เพราะเหตุนี้พระโบราณาจารย์จึงได้ประพันธ์พระคาถาว่า

ตโต รตฺยา วิวสเนสุริยสฺสุคฺคมนํ ปติ
อถ วนาวนราชาหตฺถิขนฺธวรคโต
มหติยา เสนาย จมหติยา นาฏกาหิ
ปริวาเรหิ ปริวุโตทานคฺคํ ทาตุมุปาคมิ
โส จ อาณาเปติ ราชามา จ กิฺจิ วิเหถ
อิธาคเต วณิพฺพเกตปฺเปถ อนฺนปาเนน
โภชนํ โภชนตฺถึนํวตฺถกามานํ วตฺถานิ
โสณฺฑานฺจ สุราปานํสมฺมาเทว ปเวจฺฉถ
สุวณฺณรตนฺจาปิทาสทาสิโคมหิสฺจ
เสนาสนยานวาหํสพพฺจ ททาติ ราชา ฯ

ความว่า ครั้นเวลารุ่งราตรี พระอาทิตย์ส่งรัศมีสว่างแจ้งแล้ว พระวนาวนราชโพธิสัตว์ก็มีพระหฤทัยอันผ่องแผ้ว เสด็จขึ้นทรงบรมคชาธาร แวดล้อมไปด้วยเสนาโยธาหาญและนางนาฏกิตถีเป็นอันมาก แล้วมีพระราโองการมิให้ราชบุรุษผู้ใดเบียดเบียน ห้ามปรามพวกยาจกวณิพกคนกำพร้าอนาถา อันเบียดเสียดกันมารับพระราชทาน ทรงบริจาคอันนปานาหารให้พวกวณิพกเป็นต้นอิ่มหนแล้ว ทรงบริจาคโภชนะแก่ผู้ที่ต้องการโภชนะ ทรงบริจาคสุราบานแก่นักเลงสุราทั้งหลาย แล้วทรงบริจาสรรพพัสดุทั้งปวงคือ แก้วแหวนเงินทอง าสกรรมกร ทาสีทาสา ช้างม้าโคกระบือ ยวยานคานหาม โดยสมควรแก่พระราชศรัทธาแล้ว ก็เสด็จกลับเข้าสู่พระราชนิเวศน์สถาน

พระวนาวนราชโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญบุญทั้งหลายมีบริจาคทานเป็นต้น โดยนิยมดังนี้เป็นนิตยกาล ครั้นสิ้นพระชนมายุสังขารก็ขึ้นไปบังเกิดในดาวดึงสพิภพ ชนทั้งหลายที่ได้ปฏิบัติตามโอวาทของพระโพธิสัตว์นั้น สิ้นชีพทำลายขันธ์ก็ไปเกิดในสุคติภพ

—————————-

สตฺถา อิม ธมฺมเทสน อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมนราสภศาสดาจารย์ทรงนำอดีตนิทานมาตรัสเทศนาดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นางจิญจมาณวิกานี้ได้ทำความเพียรเพื่อจะฆ่าตถาคตในอดีตกาลดังนี้แล มีพระพุทธดำรัสฉะนี้แล้ว จึงทรงประกาศสัจจเทศนา ครั้นจบพระอริยสัจจเทศนาลงก็ทรงประมวลชาดกว่า นางกัณหลิมาเทวีในกาลนั้น กลับชาติมาคือนางจิญจมาณวิกาในกาลนี้ พระยากัณหวลิราชผู้เป็นบุตรของนางกัณหลิมาในกาลนั้นกลับชาติมาคือสุปปิยปริพพาชก เทพบุตรผู้เลี้ยงรักษาพระวนาวนโพธิสัตว์ในกาลนั้น กลับชาติมาคือ อานนท์พุทธอุปฐาก ดาบสผู้เป็นอาจารย์ของวนาวนโพธิสัตว์ในกาลนั้น กลับชาติมาคืออริยกัสสปสังฆวุฒาจารย์ กาลยักษ์ที่จับพระวนาวนโพธิสัตว์ในกาลนั้น กลับชาติมาคือฉันนภิกษุ นางกาลยักขินีภรรยากาลยักษ์ในกาลนั้น กลับชาติมาคือนางมาติกมาตาพราหมณ์ปุโรหิตที่ลวงพระวนาวนโพธิสัตว์ไปทิ้งลงในเหวในกาลนั้น กลับชาติมาคือ ภิกษุเทวทัต เทพบุตรทั้งสองที่ช่วยพระวนาวนโพธิสัตว์ขึ้นจากเหวในกาลนั้น กลับชาติมาคือภิกษุสาริบุตรและภิกษุโมคคัลลานะทั้งสอง พระยากินนะผู้เป็นบิดานางสุวรรณคิรีในกาลนั้น กลับชาติมาคือกัจจายนภิกษุ ดาบสที่ทำกุฏีไหม้ในกาลนั้น กลับชาติมาคือ มหาปุณณภิกษุ ดาบสที่พระวนาวนโพธิสัตว์พลัดกับนางไปอาศัยอยู่ในกาลนั้น กลับชาติมาคืออนุรุทธภิกษุ นางภัจจาเทวีในกาลนั้นกลับชาติมาคือมหามายาพุทธมารดา นางวลิกาเทวีในกาลนั้นกลับชาติมาคือพระปชาบดีโคตมี นางสุวรรณคิรีมเหสีของพระวนาวนโพธิสัตว์ในกาลนั้น กลับชาติมาคือนางพิมพายโสธรา พระยาโกมลราชบิดาของพระวนาวนโพธิสัตว์ในกาลนั้น กลับชาติมาคือพระมหานามสักยราช บริษัทที่เป็นบริวารในกาลนั้น กลับชาติมาคือพุทธบริษัทในกาลนี้ ฝ่ายพระวนาวนโพธิสัตว์ในกาลนั้น สืบขันธประวัติมา คือตถาคตผู้สัมมาสัมพุทธในกาลนี้แล

จบวนาวนชาดก

แชร์เลย

Comments

comments

Share: