กุโต อาคจฺฉติ ภทฺเทติ สตฺถา เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺสาราเม วิหรนฺโต อตฺตโน กตฺุตํ อารพฺภ กเถสิ
สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันอันเป็นอารามของอนาถบิณฑิกคฤหบดีสร้างถวาย ทรงพระปรารภความที่พระองค์ทรงกตัญญูเป็นมูลเหตุ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มว่า กุโต อาคจฺฉสิ ภทฺเท ดังนี้เป็นต้น อนุสนธิในเรื่องนี้มีความดังกล่าวต่อไปนี้ว่า
วันหนึ่ง พระภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมสนทนาถัน พรรณนาถึงความกตัญญูของพระผู้มีพระภาค อยู่ ณ โรงธรรมสภามณฑลว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระตถาคตเจ้าทรงตั้งอยู่ในกตัญญูภาพจริง ๆ ทรงพระอุตสาหะเสด็จไปยังดาวดึงสพิภพ แสดงพระอภิธรรมสิ้นไตรมาส เพื่อปัจจุปการแก่สมเด็จพระพุทธมารดา ทรงประทานโลกุตตรสมบัติโดยพระกตเวทิตา ยังความอุตสาหะให้เกิดขึ้น ด้วยพระกตัญญูภาพ พระคุณข้อนี้ยากที่ผู้อื่นจะทำได้น่าเลื่อมใสยิ่งนักหนา
สมเด็จพระบรมศาสดาทรงสดับด้วยทิพยโสตแล้ว จึงเสด็จยังโรงธรรมสภาประทับ ณ ธรรมาสน์แถ้ว ตรัสถามถึงสัลลาปกถากับภิกษุสงฆ์ ครั้นพระองค์ทรงทราบแล้วจึงดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราผู้ตถาคตจะได้ตั้งอยู่ในกตัญญูภาพในชาตินี้ก็หาไม่ ถึงกาลปางก่อนเมื่อตถาคตยังเป็นโพธิสัตว์อยู่นั้น ตถาคตก็ได้ทำปัจจุปการต่อพระมารดาด้วยความเป็นผู้กตัญญูมาแล้วเหมือนกัน ครั้นภิกษุทั้งหลายทูลวิงวอนขอให้ตรัสเทศนา พระองค์จึงนำอดีตนิทานมาอ้างดังว่านี้
อตีเต เกลาสปพฺพเต อุปลมหานคเร อุทุมฺพรา นามกินฺนรราชา รชฺชํ กาเรสิ ในอดีตสมัยเป็นไปล่วงแล้วนานมา มีกินนรราชาพระนามว่าอุทุมพร ผ่านสมบัติ ณ อุบลมหานครใกล้ภูเขาไกรลาส พระมเหสีของพระอุทุมพรราชนั้นพระนามว่าสุนทรี เป็นใหญ่ยิ่งกว่านาฏกินนรีนับตั้งแสน
นางกินนรีผู้ภคินีของพระอุทุมพรราชานางหนึ่ง นามว่า สุภัททา แต่นางนั้นยังหามีภัสดาไม่ นางกระสันกลัดกลุ้มไปด้วยกามรดี วันหนึ่งจึงทูลลาพระเชษฐาขออนุญาตไปเที่ยวป่าหิมพานต์ ครั้นพระอุทุมพรราชอนุญาตแล้ว ได้ประดับกายสวมปีกหางแล้วบินขึ้นบนอากาศ ร่อนไปตามลำดับบรรลุถึงสระบัวใหญ่แห่งหนึ่ง เห็นต้นไม้ริมขอบสระร่มรื่นล้วนมีดอกออกผล นางก็ร่อนลงเปลื้องเครื่องสรรพาภรณ์วางไว้ที่ขอบสระนั้น แล้วลงไปเก็บนานาบุบผามาประดับกายา ฟ้อนรำขับร้องตามทำนองของกินนรีสรงวารีอยู่ที่สระปทุมนั้น
คราวนั้น มีพรานป่าผู้หนึ่งเที่ยวยิงเนื้อตามมหาวัน ได้มาถึงสระตำบลนั้น นางกินนรีเห็นพรานป่าแล้วกลัวตัวสั่น หนีเข้าซ่อนอยู่ในพุ่มไม้มิให้พรานเห็น พรานป่าเดินตรวจตราไปรอบสระแล้ว เห็นเครื่องอลังการของนางกินนรีที่วางไว้นึกในใจว่า อลังการมีปีกหางเป็นอาทินี้นางกินนรีคงมาวางไว้ แล้วก็หยิบเอาไปเสีย เที่ยวค้นหาเจ้าของไม่เห็นแล้ว จึงอาบน้ำชำระกายขึ้นมาพาเอาอลังการของนางกินนรีนั้นไปเสียด้วย
เมื่อพรานป่าไปแล้ว นางสุภัททากินนรีขึ้นจากสระแล้ว ปีนขึ้นไปนั่งอยู่บนคบไม้ร้องไห้คร่ำครวญว่าเราจักไปที่ไหน ใครเล่าเขาจักไปทูลพระเชษฐาให้ทรงทราบ ใครเล่าเขาจักกรุณาช่วยสงเคราะห์เรา เราจักตกอยู่ในสำนักของใคร นางนั่งร้องไห้อยู่ตั้งแต่ปฐมยามจนถึงเวลาอรุณขึ้นมาใหม่
ในขณะนั้น พฤกษเทวดาองค์หนึ่งนึกรำพึงว่า นางสุภัททาเทวีผู้นี้รูปร่างสวยงามดี และมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ สมควรจะได้เป็นมเหสีของกษัตริย์ผู้มีบุญ เพราะฉะนั้น จำอาตมาจะช่วยสงเคราะห์ให้แก่ฐานันดรของนาง ณ บัดนี้
และคราวนั้น ที่เมืองวิเทหแคว้นเจตราฐ มีพระราชาผู้มีบุญใหญ่องค์หนึ่ง พระนามว่าเจตราช ครองราชสมบัติได้เป็นใหญ่ยิ่งกว่ากษัตริย์ร้อยเอ็ด พระมเหสีของพระราชาเจตราชนั้น พระนามว่าเขมาเทวี ได้เป็นใหญ่ยิ่งกว่าสนมนารีหมื่นหกพัน และเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าเจตราช ๆ ทรงทศพิธราชธรรม และสมาทานเบ็ญจศีลดำรงอยู่ในสุจริตธรรม ทรงพระเมตตามหาชนทุกถ้วนหน้า
เพราะเหตุดังนั้น พฤกษเทวดาจึงดำริว่า นางสุภัททาเทวีนี้คู่ควรแก่พระเจ้าเจตราชแท้ พฤกษเทวดาจึงไปเฝ้าพระเจ้าเจตราช กระซิบทูลที่พระกรรณว่า ข้าแต่พระมหาราช เชิญตื่นจากนิทรา เสด็จออกไปสู่ป่าจักได้นารีรัตน์ บรมกษัตริย์ผวาตื่นแล้วได้ยินเทวดาบอกความดังนั้น จึงด่วนเสด็จออกยังโรงวินิจฉัยศาลารับสั่งหาตัวเสนาบดีเข้ามาแล้วตรัสว่า ดูก่อนพนาย วันพรุ่งนี้เช้าเราจักไปเที่ยวป่า ท่านจงให้จตุรงคเสนามาคอยพร้อมกัน ณ หน้าพระลาน เสนาบดีรับราชบรรหารแล้วจึงรีบรัดให้จตุรงเสนามาคอยพร้อมกันตามกระแสรับสั่ง
ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า พระเจ้าเจตราชพร้อมกับพวกจตุรงคเสนาเสด็จแต่พระนครไปสู่ป่ามหาวัน ให้หยุดกองพลประทับแรมอยู่ ณรัมมประเทศตำบลหนึ่ง ฝ่ายพฤกษเทวดาองค์นั้นได้แปลงกายเป็นเนื้อทองวิ่งสะบัดหยัดย่องผ่านพระพักตร์พระเจ้าเจตราชมา พระราชาทอดพระเนตรแล้วก็ปลื้มพระหฤทัย จึงทรงม้าพระที่นั่งไล่ตามสุวรรณมฤคไปถึงสระบัวใหญ่ มิได้เห็นตัวเนื้อเห็นแต่รอยเท้า ทรงดำเนินทอดพระเนตรค้นไปจนถึงต้นไม้ใหญ่ต้นนั้น เหลือบพระเนตรแลไปพบนางรัตนนารีอยู่ที่คบไม้ ทรงดีพระทัยยิ่งนักหนา จึงดำริว่า เมื่อคืนนี้เทวดาบอกกะเราไว้คำใด คำนั้นก็สมจริงเที่ยงแท้ทีเดียว แล้วพระองค์ก็เสด็จเข้าไปใกล้ เมื่อจะถามให้ได้ความแจ้งชัดจึงตรัสพระคาถาดังนี้ว่า
กุโต อาคจฺฉสิ ภทฺเท | กสฺมา เอกิกา ติฏฺสิ |
กุโต ชาตินครํ ตว | กสฺส ธิตาธ รุกฺขสฺมินฺติ |
ดูก่อนแม่เจริญ แม่มาแต่ไหน เหตุไรจึงมาอยู่ที่ต้นไม้นี้แต่คนเดียวเล่า บ้านเกิดเมืองนอนของหล่อนอยู่ที่ไหน และเป็นบุตรีของผู้ใด
นางสุภัททากินนรี ได้สดับราชวาทีถามดังนั้น เมื่อนางจะทูลความให้แจ้ง จึงแสดงวจนะประพันธคาถาดังนี้ว่า
อุทุมฺพรรฺโหฺจ | กนิฏฺา อิธ อาคตา |
วนรุกฺขปพฺพตนทึ | โอโลกิตุํ อิจฺฉามิหนฺติ |
หม่อมฉันเป็นกนิษฐาของพระเจ้าอุทุมพรราช ปรารถนาจะใคร่ชมป่าไม้และบรรพตและนที จึงได้มาอยู่ที่ต้นไม้ต้นนี้ นางสุภัททากินนรีจึงเล่าความแต่ต้นทูลถวายให้ทรงทราบทุกประการ
จอมมหิบาลเจตราชตรัสประภาษว่า ดูก่อนแม่เจริญ แม่อย่าโศกเศร้าเสียใจไปเลย เราจะรับเจ้าไปในนคร จะตั้งไว้ให้เป็นอัครมเหสี จะทำให้เป็นใหญ่ยิ่งกว่าสนมนารีหมื่นหกพัน ดำรัสดังนั้นแล้วจึงให้นางกินนรีลงจากต้นไม้ ทรงประคองให้ขึ้นหลังอาชาไนย เสด็จพาไปถึงที่พักกองพลโยธา แล้วให้เคลื่อนจตุรงคเสนากลับคืนเข้าพระราชสถาน ทรงทำอภิสิญจนาการพิธีอภิเษกนางสุภัททาเทวีเป็นอัครมเหสี พระนางสุภัททากินนรีนั้นก็ได้เป็นที่โปรดปรานยิ่งของพระเจ้าเจตราช ๆ ก็มิได้เหลียวแลอาลัยแต่สนมนารีเหล่าอื่นเลย
สนมนารีเหล่าอื่นมีนางเขมาเทวีเป็นต้นปรึกษากันว่า นางสุภัททาเทวีผู้นี้มาแย่งพระราชสามีของพวกเรา เขาทำพระราชสามีให้อยู่ในอำนาจของเขาได้ ไฉนหนอพระราชามายินดีรักใคร่นางสุภัททาเป็นนักหนา น่าสงสัยนัก นางสุภัททาหาสิริบมิได้ ทั้งเป็นคนผู้เดียวเที่ยวกลางป่าอนาถาหามีญาติไม่ ทำไมพระราชารักใคร่มาก พวกเราทั้งหลายช่วยคิดอุบายทำลายให้แตกร้าวกันเสียให้ได้
พระนางเขมาเทวีจึงหาพราหมณ์โหราจารย์มา แล้วประทานทรัพย์ให้พันหนึ่งจึงบอกว่า ข้าแต่ท่านลุง ถ้าหากว่าท่านอาจยังความปรารถนาของฉันให้สำเร็จได้ไซร้ ฉันจักบูชาท่านให้ยิ่งกว่านี้อีก ข้าแต่พระแม่เจ้า จะให้ข้าพระบาททำอย่างไรหรือ ข้าแต่ท่านลุง ท่านไม่เห็นดอกหรือเล่า พระภัสดาเจ้าของฉันท่านหลงเล่ห์นางสุภัททาเสียแล้ว ท่านหลงรักนางสุภัททาแต่ผู้เดียว ฉันจะทำอย่างไรจักให้พระราชารักฉันได้บ้าง ถ้าว่าท่านทำพระราชาให้รักฉันได้ จนพระราชาละทิ้งนางสุภัททาเสียได้ไซร้ ฉันจักบูชาท่านให้ยิ่งกว่าทรัพย์ที่ให้ท่านนี้อีกหลายเท่า
ท่านพราหมณ์โหราทูลว่า ข้าพระบาทจักคิดอุบายถวาย ทูลแล้วก็รับเอาทรัพย์สินบนนั้นลาไป ครั้นไปถึงบ้านเรือนของตน จึงแจ้งยุบลเรื่องนั้นแก่นางพราหมณีผู้ภรรยา ๆ จึงบอกว่า ฉันคิดเห็นอุบายอย่างหนึ่งมีอยู่ คือว่าเมื่อนางสุภัททาเทวีมีครรภ์ขึ้นมาแล้ว เราแกะไม้ให้เป็นรูปทารกซ่อนไว้ข้างหลัง นางสุภัททาประสูติกุมารเวลาไร เราให้จับกุมารนั้นไปทิ้ง ณ มหาวัน แล้วเอาโลหิตทารูปทารกซึ่งทำด้วยไม้ นำไปถวายให้พระราชาทอดพระเนตร พระราชาก็จักพิโรธรับสั่งให้ขับไล่นางสุภัททาไป
ท่านพราหมณ์โหราได้ฟังภรรยาบอกอุบายนั้นแล้ว จึงไปทูลแต่พระนางเขมาเทวี ๆ ดีพระทัยยิ่งนักหนา จึงรับสั่งให้ทาสีเข้ามาประทานทรัพย์สินบนให้แล้วดำรัสว่า แน่ะแม่สาวใช้ เจ้ารู้ว่านางสุภัททาเทวีมีครรภ์แล้วจงมาบอกแก่เราให้รู้ด้วย นางรับเสาวนีย์ว่าสาธุ แล้วก็คอยตรวจตราหาโอกาสอยู่ทุกวัน
ครั้นอยู่ต่อมานานประมาณได้สิบสองปี นางสุภัททาเทวีก็มีพระครรภ์ พวกทั้งหลายนั้นรู้ว่านางสุภัททาเทวีมีครรภ์แล้ว จึงนำความไปทูลแต่พระนางเขมาเทวี ๆ มีเสาวนีย์ให้คนสนิท แกะรูปทารกด้วยไม้ซ่อนไว้แล้วรับสั่งว่า แน่ะสาวใช้ เจ้าเห็นนางสุภัททาเทวีมีลมกรรมมัชวาตพัดผันป่วนปั่นแล้ว จงรีบมาบอกเราให้จงได้ ครั้นเมื่อนางสุภัททาเทวีมีครรภ์ได้สิบสองเดือนแล้ว ลมกรรมมัชวาตก็ปั่นป่วนจะประสูติกุมาร พวกทาสีจึงนำอาการไปทูลแต่พระนางเขมาเทวี คราวนั้น พอดีพระเจ้าเจตราชเสด็จไปประพาสสวน ยังหาทันที่ว่าจะเสด็จกลับพระราชวังไม่
พระนางเขมาเทวีได้โอกาสอันดีแล้ว จึงเสด็จไปยังสำนักนางสุภัททาเทวี เล้าโลมทำมิให้กินแหนงแคลงใจ นางสุภัททาเทวีเสวยมหันตเวทนา ประสูติพระโอรสมาคู่หนึ่งนางก็ถึงวิสัญญีภาพ ในขณะนั้น พระนางเขมาเทวีจึงเอาโอรสองค์หนึ่งใส่ลงในหีบแล้วใช้ให้ทาสีผู้หนึ่งนำเอาไปทิ้งเสีย ณ ป่ามหาวัน แล้วเอาโอรสองค์หนึ่งใส่ลงในหม้อใบหนึ่ง แล้วบังคับให้ทาสีผู้หนึ่งนำเอาไปลอยน้ำเสียที่มหานที ฝ่ายทาสีทั้งสองรับเสาวนีย์แล้วก็พากันแยกไปจัดการตามเสาวนีย์พระนางเขมาเทวี
นางเขมาเทวีจึงให้เอาโลหิตทารูปท่อนไม้ตั้งไว้ ณ สุวรรณภาชนะ แล้วรับสั่งว่านางสุภัททาเทวีคลอดลูกเป็นท่อนไม้ เมื่อนางสุภัททาได้สติฟื้นขึ้นมา นางเขมาเทวีจึงบอกว่า แน่ะแม่สุภัททาท่านจงดูลูกของท่าน นางสุภัททาเห็นลูกเป็นท่อนไม้ก็ตกใจ ถามว่านี่เป็นอย่างไร แล้วทรงกรรแสงไห้พลางทางก็ตรัสว่า พ่อลูกรักของมารดา เมื่อพ่ออยู่ในครรภ์ก็ยังไหวกายได้ นี่ทำไมจึงมากลายเป็นรูปไม้ไปเล่า ช่างเป็นเวรกรรมของเราจริงหนอ
ครั้นเวลาสายัณหสมัย พระเจ้าเจตราชพร้อมด้วยราชบริวารเสด็จกลับแต่ราชอุทยานแล้วเสด็จขึ้นยังปราสาท ประทับ ณ ราชบัลลังก์ ครั้งนั้นฝ่ายนางเขมาเทวี จึงเอารูปท่อนไม้ใส่สุวรรณภาชนะ นำไปถวายพระเจ้าเจตราชทอดพระเนตรแล้วทูลว่า พระมหาราชนี่โอรสของพระองค์ช่างสวยงามนักหนา พระราชาตรัสถามว่า นี่อะไร พระมหาราช นางสุภัททาเทวีคลอดลูกเป็นท่อนไม้กระนี้ ไฉนหญิงมนุษย์จะคลอดบุตรเป็นท่อนไม้ไปได้ พระมหาราช พระองค์จงถามโหราจารย์ดู
พระราชารับสั่งหาตัวโหราจารย์มาแล้วตรัสถามว่า หญิงมนุษย์คลอดบุตรเป็นท่อนไม้ อันตรายสิ่งไรจักมีหรือไม่ ข้าแต่พระมหาราช หญิงมนุษย์คนใดคลอดบุตรเป็นท่อนไม้ก็ดี เป็นสัตว์เดียรัจฉานก็ดี หญิงมนุษย์คนนั้นเป็นกาลกัณณีแท้ หญิงมนุษย์คลอดบุตรเป็นสุกรหรือเป็นช้างเป็นสุนัข ณ บ้านใด อุปัททวะจักมีในบ้านนั้น ดูก่อนอาจารย์ เรื่องนางสุภัททาคลอดลูกมาเป็นท่อนไม้ เราจะคิดอ่านทำอย่างไรดี ข้าแต่พระมหาราช ควรพระองค์พึงใส่นางสุภัททาลอยแพไปเสีย พระราชาทรงเชื่อคำโหราจารย์ รับสั่งให้อำมาตย์ต่อและให้เอาขาทนียโภชนียาหารใส่แพ แล้วให้เอานางสุภัททาใส่แพลอยไปตามคำโหราจารย์ นางสุภัททาเทวีขอทุเลา จะขอเฝ้าพระราชาก่อน พวกอำมาตย์ก็มิให้โอกาสเฝ้า พากันยกนางสุภัททาขึ้นสู่แพแล้วก็เสือกไสให้แพนั้นลอยไปในนที
นางสุภัททาเทวีปริเทวนาลอยไปตามกระแสน้ำ ณ มหาสมุทรบรรลุถึงเกาะกลางสมุทรแห่งหนึ่ง นางจึงขึ้นอาศัยอยู่บนเกาะนั้น เทพยดาผู้รักษาเกาะเห็นนางสุภัททาแล้วมีความกรุณา จึงนฤมิตอาศรมและนานาผลาผลให้นางอาศัยบริโภคเป็นผาสุก นางสุภัททาก็รู้ชัดว่าสิ่งสมบัติทั้งปวงนี้เทพยดาทำให้เรา นางก็บรรพชาเป็นดาบสินีอยู่ที่อาศรม ณ เกาะนั้นต่อไป
เบื้องว่าโอรสทั้งสองของนางสุภัททาเทวีนั้น คือโอรสผู้พี่อันทาสีใส่ไว้ในหีบ ทาสีนั้นนำเอาไปฝังไว้ ณ โคนไม้ใหญ่ที่ป่ามหาวัน แล้วก็กลับไป เทพบุตรผู้สิงอยู่ ณ ต้นไม้ได้เห็นแล้วจึงดำริว่า ทาสีผู้นี้นำเอาหีบใส่อะไรมาฝังไว้ คิดแล้วลงจากวิมานคุ้ยดินซึ่งกลบไว้ เปิดหีบดูเห็นดรุณทารกนั้นงามเหมือนทองคำ จึงพิจารณาดูด้วยทิพย์จักษุก็ทรงทราบชัดว่า ดรุณทารกนี้เป็นโอรสแห่งนางสุภัททา นางเขมาริษยาทำรูปท่อนไม้ให้เป็นโอรสของนางสุภัททา เปลี่ยนเอาดรุณทารกนี้ใส่หีบให้ทาสีนำมาฝังไว้ แล้วเทพบุตรจึงอุ้มทารกนั้นขึ้นไว้บนวิมานของตน ได้บำรุงเลี้ยงไว้ด้วยเมตตา ให้ดื่มขีรรสธาราอันไหลออกแต่องคุลีของเทพบุตร ครั้นกาลนานมาดรุณทารกนั้นมีวัยอันเจริญขึ้นแล้ว ย่อมแป็นที่รักใคร่อาบใจของเทพบุตรดุจดวงเนตร ด้วยเหตุนั้นเทพบุตรจึงขนานนามดรุณกุมารนั้นให้ชื่อว่าวรเนตร
ฝ่ายว่าโอรสองค์น้องของนางสุภัททา อันนางเขมาใส่ไว้ในหม้อให้ทาสีนำไปลอยน้ำเสียนั้น ครั้นลอยไปตามกระแสน้ำ ๆ พัดไปถึงท่าน้ำตรงอาศรมพระอัคคิเนตดาบส ๆ กลับแต่ป่าลงอาบน้ำที่ท่าน้ำเห็นหม้อนั้นลอยวนอยู่ จึงจับเอาหม้อนั้นเปิดดูเห็นดรุณทารกแล้ว ก็อุ้มเอาไปเลี้ยงไว้เหมือนลูกของตน และให้ดรุณทารกนั้นดื่มขีรรสธาราอันไหลมาแต่องคุลี พระฤษีจึงพิจารณาดูก็รู้ความแต่ต้นมาทุกประการ พระดาบสถึงขนานนามอนุชานั้นชื่อว่าวรนุช กระนี้แล
คราวนั้นมีกัสสปดาบสองค์หนึ่ง สร้างอาศรมอยู่ที่ขอบสระแห่งหนึ่ง ณ หิมวันตประเทศ มีเทวธิดาองค์หนึ่งจุติแต่ดาวดึงสพิภพแล้วปฏิสนธิในห้องประทุมดอกหนึ่ง ณ สระโบกขรณีนั้น วันหนึ่งจึงกัสสปดาบสนั้นลงอาบน้ำที่สระเห็นดอกประทุมดอกใหญ่ นึกในใจว่าดอกประทุมนี้ใหญ่กว่าทุกดอก เหตุอะไรจะมีแน่ จึงลงไปเด็ดดอกประทุมนั้นขึ้นมายังอาศรม เห็นนางกุมารีมีในดอกประทุมนั้นก็มีความยินดี จึงเลี้ยงกุมารีนั้นไว้ ให้ดื่มขีรรสธาราโดยใส่องคุลีให้เข้ายังปากนางกุมารี ขีรรสก็เกิดมีขึ้น นางกุมารีนั้นครั้นเจริญวัยอายุได้ ๑๖ วรรษา มีรูปร่างงามโสภาดุจดังนางเทพอัปสร พระดาบสจีงขนานนามกรแก่นางกุมาริกานั้นชื่อว่าบุษบา
ครั้นกาลนานมา มีแม่ม้าอัสดรตัวหนึ่งกำลังตั้งท้องมาแต่วลาหกตระกูล บรรลุถึงอาศรมกัสสปดาบสคลอดลูกทิ้งไว้ แล้วก็กลับไปยังที่อยู่ของตน พระกัสสปดาบสจึงเลี้ยงอัสสโปดกนั้นไว้ ให้เล่นอยู่กับนางบุษบาเทวี ๆ ขึ้นหลังพาชีไปเที่ยวเก็บนานาบุปผาและนานาผลาผลในป่า แล้วก็กลับมาอาบน้ำและตักน้ำอาบน้ำใช้ถวายพระดาบสมุนี
ฝ้ายเทพบุตรผู้เลี้ยงวรเนตรกุมารไว้ จนกุมารเติบใหญ่อายุได้ ๑๖ วรรษา วรเนตรกุมารจึงถามเทวบุตรนั้นว่า ข้าแต่บิดามารดาของฉันอยู่ที่ไหน ฉันไม่รู้ไม่เห็นมารดาเลย อนึ่งบิดาเป็นเทวบุตร ตัวฉันเป็นมนุษย์ เหตุไรจึงมาเป็นบุตรของบิดาเล่า เทวบุตรบอกความจริงว่า พระเจ้ากรุงเจตราชเป็นพระราชบิดาของพ่อ พระราชมารดาของพ่อพระนามว่าสุภัททาเทวี ผ่านราชสมบัติอยู่ ณ วิเทหบุรี คราวเมื่อพ่อประสูตินั้น พระนางเขมามเหสีของพระราชาเอาพ่อใส่ลงในหีบแล้วเอารูปท่อนไม้เปลี่ยนไว้แสดงให้ปรากฏ แล้วทูลพระราชาว่ารูปท่อนไม้เป็นโอรสของนางสุภัททาเทวี นางทาสีนำพ่อมาฝังไว้ที่รุกขวิมานนี้ พระราชบิดาของพ่อทรงพระพิโรธ เอาพระมารดาของพ่อใส่แพลอยน้ำเสีย พระมารดาของพ่อถูกกระแสน้ำพัดไปติดอยู่ที่เกาะกลางมหาสมุทร นางบรรพชาเป็นดาบสินีอยู่ที่เกาะนั้น
พระวรเนตรกุมารทราบความดังนั้นแล้วก็สลดพระทัย ใคร่จะไปพบพระมารดาจึงถามเทวบุตรว่า ข้าแต่เทวราช ทำไฉนข้าพเจ้าจักได้ไปพบพระมารดา ดูก่อนพ่อ ถ้าพ่อจะใคร่พบพระมารดาไซร้ พ่อจงถือเอาอาวุธศรนี้ไปทางอุตตรทิศ จะได้พบกัสสปดาบสที่ป่าหิมพานต์ พระกัสสปดาบสท่านทราบเรื่องแล้ว ท่านจะให้ธิดาของท่านแก่พ่อ พ่อจงขอเรียนศิลปะอยู่ณสำนักท่านกัสสปมุนี พ่อเรียนรอบรู้ศิลปะแล้วจงค่อยไปยังสำนักพระมารดาต่อภายหลัง
เทพบุตรนั้นสั่งดังนี้แล้ว จึงให้อลังการและทิพสูลของตนแก่พระวรเนตรกุมาร แล้วจึงเรียกพระยาหงส์ผู้สหายของตนตัวหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้พฤษวิมานนั้นมาสั่งว่า ดูก่อนหังสราชผู้สหาย ท่านจงกรุณาแก่บุตรของเราผู้นี้ ช่วยให้บุตรนี้ขึ้นขี่หลังท่าน ๆ จงช่วยพาไปส่งให้ถึงสำนักท่านกัสสปดาบส สั่งดังนี้แล้วก็กลับยังวิมานของตนแล้วจุติไปเกิดในดาวดึงสพิภพ
ฝ่ายพระยาหงส์รับคำเทพบุตรแล้ว เชิญพระวรเนตรกุมารให้ประทับ ณ หลังของตน บินไปโดยอากาศนับได้สามวันจึงถึงอาศรมพระกัสสปดาบส พระยาหงส์จึงลงหยุดอยู่ที่ใกล้ๆ พระวรเนตรเข้าไปหาพระกัสสปดาบส แถลงแจ้งความให้ฟังตั้งแต่ต้นมา หังสราชจึงนมัสการลาพระกัสสปดาบสกลับไปยังที่ของตนเคยอยู่ ด้วยประการฉะนี้
คราวเมื่อหังสราชาพาวรเนตรไปถึงสำนักกัสสปดาบสนั้น นางบุษบาและม้านั้นไปป่าหิมพานต์ยังหาทันกลับมาถึงไม่ ท่านกัสสปมุนีก็ดีใจจึงปราศรัยว่า ดูก่อนพ่อ เราจักยกธิดาของเราให้แก่พ่อ พ่อจงพาเอาไปยังทางมนุษย์ตามชอบใจ
ครั้นเวลาสายัณหสมัย นางบุษบาเทวีเก็บนานามูลผลาผลได้แล้ว นางขึ้นหลังพาชีกลับมาถึงอาศรมบท ได้เห็นพระวรเนตรกุมารก็ให้นึกรักใคร่ นางได้นำนานามูลผลาผลลงจากหลังม้า แล้วหิ้วหม้อน้ำลงไปอาบน้ำกับม้าอัสดร แล้วก็ขึ้นมาอภิวาทน์พระดาบส ถวายนานาผลาผล ทำวัตตปฏิบัติทั้งปวงเสร็จแล้ว ดูพระวรเนตรด้วยความละอาย พระวรเนตรทำเมินเสียมิได้แลดูนางบุษบาด้วยคารวะต่อพระฤษี นางบุษบาเทวีทำวัตตปฏิบัติพระมุนีแล้วก็ไปยังอาศรมที่อยู่ของตน
ในคืนวันนั้น พระกัสสปดาบสตั้งสัจจาธิษฐานว่า สรรพเทพยดา มีท้าวสักกเทวราชเป็นต้น ขอเชิญมาประชุมถัน ณ ที่นี้ ด้วยเดชแห่งอธิษฐานของพระกัสสปฤษี ท้าวมหาราชทั้งสี่และท้าวโกสีย์ก็ได้มาประชุมกัน ณ อาศรมบท พระกัสสปดาบสถวายพระพรว่า เทวราช บัดนี้อาตมาจักทำวิวาหมงคลแก่วรเนตรและนางบุษบา ขอพระองค์จงช่วยอุปถัมภ์แก่อาตมาด้วย
มหาราชทั้งสี่มีท้าวสักกเทวราชเป็นต้น รับถ้อยคำพระฤษีว่า สาธุ ดังนี้ แล้วลุกออกไปนอกอาศรม นฤมิตโรงพิธีมงคลแขวนพวงดอกไม้ต่าง ๆ แล้วปูลาดนานาปัจจัตถรณ์ และทำรัตนราสีตามประทีปแก้วประทีปด้าม ตกแต่งนานาประการไว้พร้อมเสร็จทุกสิ่งสรรพ์
ลำดับนั้น สรรพเทวธิดามีนางสุชาดาเป็นประมุขมาสู่อาศรมกัสสปฤษี ช่วยประดับนางบุษบาเทวีด้วยสรรพาลังการ ทำให้สวยงามดุจเทพอัปสร แล้วจูงกรนางบุษบามาสู่โรงมงคลพิธี เชิญให้นางขึ้นนั่งเหนือรัตนราสี ฝ่ายท้าวสุชัมบดีทรงประดับวรเนตรกุมารด้วยสรรพลังการ ทำให้สวยงามดังดรุณเทพบุตร แล้วพามายังโรงมงคลพิธี เชิญให้นิสีทนาการเหนือรัตนราสี
ครั้นฤกษ์งามยามดีแล้ว พระวรเนตรกุมารจึงเกี่ยวหัตถานางบุษบาหย่อนลงในถาดน้ำมงคล เทพยดาทั้งหลาย เมื่อจะอวยพรแก่สองกุมารกุมารีจึงพร้อมกันกล่าวว่า ดูก่อนพ่อและแม่ทั้งสอง ขอให้ท่านทั้งสองอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากโรค และขออย่าถึงชราพยาธิเลย ดังนี้ แล้วก็พากันกลับไปยังที่ตนเคยอยู่
ฝ่ายว่าพระวรเนตรกุมารได้อยู่สมัครสังวาสกับนางบุษบาเสวยมหันตสุขณบรรณศาลา ได้ศึกษาศิลปะ ณ สำนักกัสสปดาบส ถึงกำหนดเจ็ดปีล่วงแล้วก็ให้ระลึกถึงพระมารดา แล้วทรงโศกากรรแสงไห้ นางบุษบาเทวีจึงถามพระสามีว่า ราชบุตร เหตุไรท่านจึงเศร้าโศกร้องไห้ พระวรเนตรจึงแจ้งเหตุที่ระลึกถึงพระมารดาแล้วพูดว่า แน่ะแม่เจริญใจ พี่ระลึกถึงพระมารดา บัดนี้พระมารดาจะเสวยทุกขเวทนาอยู่ที่ไหนไม่รู้เลย เหตุนี้พี่จะลาน้องยาไปตามหาพระมารดา พระราชบุตร หม่อมฉันจักขอไปด้วยกับพระภัสดา
ครั้นรุ่งเช้า พระวรเนตรกับนางบุษบา พากันไปทำวัตตปฏิบัติพระดาบสเสร็จแล้วจึงพูดว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งสองจะขอลาไปตามหาพระมารดา ขอพระผู้เป็นเจ้าช่วยบอกทิศที่พระมารดาอยู่แก่ข้าพเจ้าด้วย พระกัสสปดาบสเรียกอัสดรมาสั่งว่า พ่ออัสดร พ่อจงช่วยพาสองกุมารกุมารีนี้ไป จงไปในอุตตรทิศและอย่าพากันประมาทนะ พ่อจงไปเป็นสุขสำราญเถิด
พระวรเนตรกับนางบุษบา อภิวาทน์พระดาบสทำปทักษิณแล้วทรงศรทิพย์และพระแสงดาบ ขึ้นประทับหลังอัสดรพร้อมด้วยพระชายา ม้าอัสดรก็บ่ายหน้าต่ออุตตรทิศ พาเหาะขึ้นอากาศไปถึงหิมวันตบรรพต จึงลงหยุดพักอยู่ที่ยอดภูเขานั้น พระวรเนตรกับนางบุษบาเทวีลงจากหลังพาชีแล้วปล่อยพาชีไป อาชาไนยจึงทูลพระราชบุตรและชายาว่า ข้าแต่แม่และพ่อ ถ้าหากอันตรายมีมาไซร้ ขอให้ระลึกถึงหม่อมฉัน แล้วทูลลาไปยังที่มีหญ้าและน้ำ พระวรเนตรราชบุตรกับนางบุษบาเที่ยวเลือกเก็บนานาบุปผาบนยอดเขา เอามาประดับสรีรกายชมชื่นตามสบายหฤทัย
แท้จริง หิมวันตบรรพตนั้น กว้างขวางสูงเหลือเกิน ประดับด้วยยอดนับได้แปดหมื่นสี่พัน วิจิตรด้วยปัญจมหานทีมีกระแสน้ำไหลรอบ ประดับด้วยสระใหญ่เจ็ด มีสระอโนดาตเป็นต้น แต่สระอโนดาตนั้น มีปัญจบรรพตล้อมรอบ คือสุทัสสนกูฏ ๑ จิตตกุฏ ๑ กาลกูฏ ๑ คันธมาทนกูฏ ๑ เกลาสกูฏ ๑
สุทัสสนบรรพตนั้นล้วนแล้วด้วยทองคำ ยอดภูเขาหน้าในคดค้อมสัณฐานดังปากกาปกคลุมสระอโนดาตนั้นตั้งอยู่ จิตตกูฎบรรพตประดับด้วยสัตตรัตน์ มีสัณฐานเหมือนสุทัสสนบรรพตนั้น กาลกูฏบรรพตล้วนแล้วด้วยแก้วอินทนิล และแก้วสีดอกอัญชัน คันธมาทนกูฏบรรพตล้วนแล้วด้วยแก้วลาย หน้าภูเขาข้างในเป็นป่าหอมฟุ้งด้วยกลิ่น ๑๐ อย่าง คือกลิ่นรากไม้มีกะลำภักเป็นต้น ๑ กลิ่นแก่นไม้มีแก่นจันทน์เป็นต้น ๑ กลิ่นกะพี้ไม้มีสนหรือมะสังเป็นต้น ๑ กลิ่นเปลือกไม้มีสมุลแว้งเป็นต้น ๑ กลิ่นยางไม้ (หรือปุ่มไม้) มีมะขวิดเป็นต้น ๑ กลิ่นรสมีกำยานเป็นต้น ๑ กลิ่นใบไม้มีหมาก (หรือคูณ) เป็นต้น ๑ กลิ่นดอกไม้มีดอกบุนนากเป็นต้น ๑ กลิ่นผลไม้มีลูกจันทน์เป็นต้น ๑ กลิ่นต้นไม้หอมทั่วทั้งต้น ๑ อนึ่งป่านั้นดาษดื่นไปด้วยต้นยาต่าง ๆ ถึงเวลาราตรีที่ป่านั้นลุกเป็นแสงเรือง ๆ เหมือนแสงอาทิตย์และแสงไฟถ่านฉะนั้น ภูเขาคันธมาหนนั้นมีถ้าอยู่ ๓ ถ้ำ คือ ถ้ำทอง ๑ ถ้ำเงิน ๑ ถ้ำแก้วมณี ๑ ภูเขาคันธมาทน์นี้เป็นที่อผู่ของหมู่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย เขาไกรลาสย่อมดารดาษไปด้วยเงิน บรรพตทั้ง ๓ มีสุทัสสนะเป็นอาทิ แวดวงสระอโนดาตนั้นไว้ ย่อมรุ่งเรืองไปด้วยเทวานุภาพ และนาคานุภาพทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้แล
อนึ่ง มหานทีมีกระแสน้ำไหลเข้ามาถึงสระอโนดาต มีท่าสะอาดน่ารื่นรมย์ มีบันไดแก้วอยู่ ๒ แห่ง ดุจบุคคลมาแสร้งทำไว้ท่าหนึ่งเป็นท่าอาบของพระปัจเจกพุทธเจ้าและสาวกขีณาสพผู้มีฤทธิทั้งหลาย ท่าหนึ่งเป็นท่าอาบเล่นของผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย มีเทวดาและยักษ์กินนรเป็นอาทิ
ฝ่ายพระวรเนตรกุมารกับนางบุษบาเทวี เที่ยวเลือกเก็บนานาบุปผามาประดับกายา แล้วปรารถนาจะไปยังบรรพตอื่นอีก จึงนึกถึงอัสดรนั้น ๆ ก็มาเชิญให้พระราชบุตรกับนางบุษบาขึ้นบนหลังแล้วนำไปส่งถึงภูเขาอื่น ๆ ต่อไป พระราชบุตรกับนางบุษบาเที่ยวชมนานาบรรพตจนบรรลุสระฉัททันต์
แท้จริง สระฉัททันต์นั้น มีป่า ๑๐ ป่า มีบรรพต ๗ แวดวงโดยรอบ จุลกาลบรรพตเป็นที่ ๑ มหากาลบรรพตเป็นที่ ๒ อุทกบรรพตเป็นที่ ๓ จันทปัสสบรรพตเป็นที่ ๔ สุริยปัสสบรรพตเป็นที่ ๕ มณิปัสสบรรพตเป็นที่ ๖ สุวรรณปัสสบรรพตเป็นที่ ๗ จุลกาลบรรพตนั้นตั้งอยู่นอกห่างภูเขาทั้งปวง สูง ๕ โยชน์ กว้าง ๑๕ โยชน์
ป่าทั้งหลาย ๑๐ ป่านั้น คือป่าถั่วราชมาสเล็ก ๆ ๑ ป่าเถาแตงกวา ๑ ป่าเถาน้ำเต้าและฟักแฟง ๑ ป่าอ้อยลำเท่าต้นหมาก ๑ ป่ากล้วยผลเท่างาช้าง ๑ ป่าขนุนผลเท่าตุ่ม ๑ ป่ามะม่วง ๑ ป่ามะขามฝักเท่ากงเกวียน ๑ ป่ามะขวิดผลเท่าหม้อ ๑ มิสสกวัน ๑ ป่า ๑๐ อย่างนี้ ตั้งอยู่เป็นชั้น ๆ ห่างกันโยชน์หนึ่ง ๆ
ยังป่าไม้ที่เกิดในน้ำมี ๑๐ อย่าง คือ ป่าบัวเขียว ๑ ป่าบัวขาว ๑ อุบลแดง ๑ อุบลขาว ๑ ประทุมแดง ๑ ประทุมขาว ๑ กมุทแดง ๑ กมุทขาว ๑ ป่าผักบุ้งร้วม ๑ มิสสกวัน ๑ ป่าทั้ง ๑๐ นี้ตั้งอยู่โดยรอบเป็นชั้น ๆ กัน
พระวรเนตรกับนางบุษบาเทวี เที่ยวชมนทีและสระศรีเพลิดเพลินไปเลยลืมนึกถึงพระมารดาเสียสิ้น ได้เที่ยวอยู่ ณ ป่าหิมพานต์นานถึง ๓ วัน ครั้นถึงเวลาพลบค่ำก็พากันเข้าสู่ถ้ำสุวรรณคูหา นิทราอยู่ ณ สุวรรณบัลลังก์
ก็ในราตรีวันนั้น พระมารดาของพระโพธิสัตว์ นิทราหลับสนิทนิมิตฝันเห็นว่ามีกาลยักขินีตนหนึ่ง มาผ่าอุระควักเอาไส้แล้วก็ไปเสียนาน ครั้นแล้วนางยักขินีนั้น กลับมาเอาไส้ยัดในอุระอีกแล้วก็ไป อุทรของพระมารดาโพธิสัตว์นั้นก็หายแผลสนิทติดเป็นปรกติดีเหมือนเก่า นางสุภัททาดาบสินีสะดุ้งตื่นจากนิทราใคร่ครวญแล้วนึกสงสัยว่าจะมีเหตุอะไรหนอ ก็ไม่อาจจะถามใครได้
ในคืนเดียวกันวันนั้น พระวรเนตรกับชายานิทราหลับอยู่ในสุวรรณคูหา คราวนั้นไพรพฤกษเทวบุตรองค์หนึ่งจึงเล็งดูด้วยทิพยจักษุแล้วดำริว่า พระวรเนตรนี้เดิมทีมาหมายจะแสวงหาพระมารดา กลับมาหลงเล่นเพลินไป เลยไม่ระลึกถึงพระมารดา ที่ไหนจะได้ประสบกับพระมารดาเล่า จำเราจะอนุเคราะห์พระวรเนตรให้ไปประสบพบพระมารดาจนได้ ดำริแล้วจึงโอบอุ้มพระวรเนตรกับนางบุษบาพาเหาะไปทางอากาศถึงอาศรมมารดาพระมหาสัตว์ แล้ววางพระราชโอรสกับชายาไว้ ณ โคนต้นไม้ต้นหนึ่งแล้วจึงกลับไป
ฝ่ายนางสุภัททาดาบสินี ตั้งแต่ตื่นขึ้นเมื่อเวลาฝันแล้วนั้น นางนั่งนึกถึงความฝัน ให้อัดอั้นตันพระทัยไม่รู้เนื้อความว่าจะเป็นอย่างไร ให้เป็นทุกข์เป็นร้อนรำคาญใจยิ่งนัก พอเวลารุ่งสว่างขึ้นมา นางก็ดำเนินออกจากอาศรมบท ได้เห็นสองปิโยรสกำลังนิทราอยู่ จึงค่อยย่องเข้าไปใกล้เห็นศรและดาบวางไว้ นางก็หยิบเอาไปซ่อนเสีย ณ พุ่มไม้ แล้วก็กลับไปยังอาศรม นั่งแลดูกิริยาอาการสองกุมารกุมารีอยู่
ครั้นอรุณแสงแจ้งแล้ว พระวรเนตรกุมารปพุชฌนาการขึ้นแลดูสรรพทิศทั้งปวง เห็นแปลกไป นึกสงสัยว่า ไฉนจึงได้มาอยู่ที่นี่ จึงปลุกนางบุษบาเทวีให้ตื่นขึ้นแล้วดำรัสว่า ดูก่อนน้องผู้เจริญ เชิญลุกขึ้นเถิด เดิมเรานอนอยู่ในสุวรรณคูหา ไฉนจึงมาอยู่ที่นี้เล่า (แปลกใจนัก) สองพระกุมารกุมารีสวมกอดกันแล้ว โสกีร่ำไห้ว่าเราจักไปทางไหนดี ซ้ำมิได้เห็นพระแสงศรและดาบหายไป ก็ยิ่งปริเวทนาร่ำไห้มีประการต่างๆ
นางสุภัททาทัศนากิริยาอาการแห่งสองกุมารกุมารี มีความสังเวชแล้วเข้าไปใกล้ ๆ ถามว่า ท่านทั้งสองมาแต่ไหน และจักไปไหนต่อไป ข้าแต่แม่ ข้าพเจ้าทั้งสองมาแต่อาศรมกัสสปดาบส และจะไปตามหาพระมารดา มารดาของท่านอยู่ที่ไหน ข้าพเจ้าทั้งสองนี้ยังไม่รู้จักที่อยู่ของพระมารดาเลย มารดาของห่านชื่อไร พระมารดาของข้าพเจ้านามว่าสุภัททา บิดาของท่านชื่ออะไรเล่า บิดาของข้าพเจ้าพระนามว่าเจตราช ก็เหตุผลเป็นอย่างไร ท่านจึงพลัดพรากจากมารดาบิดา จงเล่าให้เราฟังบ้าง พระวรเนตรกุมารจึงเล่าความตามลำดับแต่ต้นจนอวสาน โดยนัยที่เทพยดาบอกไว้ให้นางสุภัททาดาบสินีทราบทุกประการ
นางสุภัททาดาบสินี ได้สดับวาทีแล้วก็ตกตะลึง ตรงเข้ากอดและจุมพิตพระวรเนตรแล้วบอกว่า ดูก่อนพ่อ ฉันเองเทียวละเป็นมารดาของพ่อ แล้วปริเทวนาร่ำไห้ได้กล่าวคาถานี้ว่า
หา หา ปิยปุตฺตุตฺตม | เกน กมฺเมน วิโยคา |
มยฺหํ คพฺโภ จลิยติ | วิชาขเณ สุตฺวา สทฺทํ |
กถํ กฏฺํ รูปชาตํ | สํสยชาตาหํ เนว |
อฺํ ปุจฺฉิตุํ สกฺโกมิ | เอกิกาหํปิ โรทามิ |
อกุสลํ ขีณํ ภวิสฺส | มยฺหํ ปฺุมฺหิ สมฺปตฺตํ |
อฺมฺํ ปสฺสิสฺสาม | มาตา ปุตตํ โอรสํ ปสฺสิ |
สจฺจํ มยหํ สูปินํ ว | ปุตฺตทสฺสํ ลภิสฺสํ |
โสกํ เม วิคจฺฉติชฺช | น ตวตฺถิกํ ชีวิตํ |
มโตติ มฺามิ นูน | ตว ปิตา จ โอหาย |
กฏปุตฺโตติ วาโท จ | อุลมฺปเน วาหยติ |
มยฺหํ ปฺุเนิธ ปตฺโต | เทเวน สงฺคโห โหมิ |
อภพฺพาหํ อิธ ชาติยํ | เนว ปุตฺตํ ปาเลยฺยามิ |
อิโต ปฏฺาย ตวฺจาปิ | อชรามโร อพฺยาธิโก |
ทีฆายุโก มา วิคโตติ |
ฮือ ฮือ ดูก่อนปิยบุตรสุดที่รักของมารดา กรรมสิ่งใดมาทำให้พลัดพรากจากกัน เมื่อพ่ออยู่ในครรภ์มารดาก็ยังไหวกายได้ ขณะเมื่อคลอดก็ได้ยินเสียงพ่อร้องไห้ ไฉนจึงกลายเป็นรูปท่อนไม้ไป มารดานี้สงสัยนักหนา แต่ไม่กล้าจะถามผู้อื่นเขาได้ มารดาก็ร้องไห้อยู่ผู้เดียว (ไม่รู้ว่าจะเหลียวพึ่งใคร) คราวนี้สิ้นอกุศลกรรมแล้ว บุญของมารดามาถึงจึงได้ประสบพบโอรสร่วมหทัย
มารดาได้ประสบพบโอรส ก็ปรากฏสมจริงดังมารดาฝัน วันนี้มารดาก็คลายหายความโศกศัลย์ อนึ่งเล่า มารดาสำคัญว่าลูกเจ้าวอดวายตายแล้วแน่นอน ก็สมเด็จพระบิดรของพ่อท่านทรงพิโรธ กล่าวโทษว่ามารดาออกลูกเป็นท่อนไม้ ได้เอามารดาใส่แพลอยเสียในนที บุญของมารดาด้วยเทวดาสงเคราะห์ให้มาถึงที่ตรงนี้ มารดานี้อาภัพพลัดมาอยู่เสียที่นี้ มิได้เลี้ยงพระเจ้าลูกเลยตั้งแต่วันพ่อเกิดมา ต่อแต่นี้ไป พ่อจงอย่ารู้แก่ชราพยาธิมรณะ จงมีอายุยืนยาวนาน และอย่ารู้พลัดพรากจากกันเลย
ฝ่ายพระราชบุตรวรเนตร จึงเล่าความหลังให้พระมารดาฟังว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า เมื่อหม่อมฉันเจริญวัยใหญ่กล้า เทวดาบอกว่าตัวหม่อมฉันทาสีนำมาฝังไว้ที่โคนไม้ เทวดาได้เลี้ยงไว้เป็นบุตร ส่วนพระมารดาพระราชบิดาลอยแพเสีย ณ นที ได้บวชเป็นดาบสินีอาศัยอยู่ที่เกาะกลางมหาสมุทร เมื่อหม่อมฉันทราบความใคร่จะตามหาพระมารดา เทวดานั้นท่านจึงบอกให้หม่อมฉันไปเรียนศิลปะในสำนักท่านกัสสปฤษีก่อน แล้วจึงค่อยจรไปตามหาพระมารดา ท่านเมตตาให้ทิพพาลังการและทิพพาวุธแก่หม่อมฉัน และท่านนั้นได้วานพระยาสุวรรณหงส์ ให้หม่อมฉันขี่หลังพาไปส่งกระทั่งถึงอาศรมกัสสปฤษี ๆ ท่านมีความเมตตา ทำวิวาหมงคลยกนางบุษบาธิดาของท่านให้เป็นภรรยาของหม่อมฉัน ๆ อยู่เรียนศิลปะได้ชำนาญดีแล้ว ระลึกถึงพระมารดาจะใคร่ตามหา
ครั้นหม่อมฉันแจ้งความแก่พระฤษี ๆ ท่านให้อัสดรตัวหนึ่งเป็นพาหนะแล้วบอกทิศให้ หม่อมฉันกับภรรยาขึ้นหลังม้า ๆ ก็พาเหาะไปถึงหิมวันตบรรพต พากันหยุดพักเที่ยวชมภูเขาและเนาไพรเพลิดเพลินไปถึง ๗ วัน ก็วันวานนี้ได้เที่ยวดูสระฉัททันต์ ลงอาบน้ำกลับขึ้นมานอนหลับอยู่ที่นั้น บัดนี้หม่อมฉันตื่นขึ้นมาปรากฏอยู่ที่นี้ หม่อมฉันมิได้รู้สึกตัวเลย ข้าแต่พระแม่เจ้า ทิพย์ศรก็หายไป ม้าอัสดรก็มิได้รู้ว่าจะมาตามหาหม่อมฉันที่ไหน อัสดรก็จะร้องไห้น่าจะมีหัวใจแตกทำลายเป็นเที่ยงแท้ ข้าแต่พระแม่เจ้า ทำอย่างไรหม่อมฉันจักได้ทิพย์ศรเล่า นางสุภัททดาบสินีตอบว่า ศรของพ่อยังอยู่ มารดาเก็บซ่อนไว้ที่พุ่มไม้ นางจึงลุกไปหยิบศรนั้นส่งให้พระวรเนตรกุมาร ๆ ทรงสอดศรแล้วอธิษฐานว่า ขอให้พระนครใหญ่เหมือนดาวดึงสพิภพจงปรากฏมีขึ้นที่ป่านี้ ทรงอธิษฐานแล้วก็แผลงศรไป
ด้วยกำลังอธิษฐานของพระวรเนตร มหานคเรศร์ก็ปรากฏมีขึ้น ภายในพระนครมีปราสาทเป็น ๓ องค์ สำหรับประทับของพระมารดา องค์ ๑ สำหรับเป็นที่อยู่ของนางบุษบาเทวี องค์ ๑ สำหรับเป็นที่ประทับของพระวรเนตร องค์ ๑ นางสุภัททามารดาก็ลาสึกจากเพศดาบสินี ประทับอยู่ ณ ปราสาทซึ่งราชโอรสมอบให้
ก็กาลคราวนั้น มหาชนเที่ยวมาแต่จาตุรทิศ ได้เห็นพระนครนั้นงามไพจิตรน่ารื่นรมย์ จึงพาบุตรภรรยาของตนและชักชวนมิตรและวงศ์ญาติมาอาศัยอยู่ ณพระนครนั้น ด้วยเหตุดังนั้นพระคันถรจนาจารย์จึงประพันธ์คาถาไว้ มีนัยดังต่อไปนี้ว่า
ตํ ปน สาคลํ นาม นครํ
อุยฺยานนทิปพฺพตโสภิตํ
จตุวิถิเคหสาสลาหิ รมฺมณิยํ
ตฬากอารามวนสมฺปนนํ
วิวิธอุจฺจมณฺฑลโกฏฺกํ
ปริกฺขิตฺตปาการโตรณฺจ
อนฺเตปุรํ สุวิภตฺตโสภีตํ
วิถิรจฺฉจตุกสิงฺฆาฏกํ
อนฺตราปณสุวิกตฺตํ นิมิตฺตํ
สหสฺสวิภวนิเวสนํ
ปวรนารินรนารีหิ สฺฉนฺนํ
วิวิธตุริยสทฺทสงฺฆุฏฺํ
วิจิตฺรวณฺณปกฺขิคณาหิ ยุตฺตํ
นีหตภยูปทวนฺตรายฺจ
คชสฺส รถยานสมากุลํ
อภิรูปนรนารีคเณหิ
ธมฺมิกํ สมเณหิ อนุสฺสริตํ
นานากุลเวสฺสสูหาทิเสวิตํ
โกเสยฺยกาสิโกทุมฺพรฉาทนํ
วิวิธวณฺณกมฺพลาทิสมฺปนฺนํ
นานาภณฺฑโกสโกฏฺาคาราหิ
อาคารเคหสาลาหิ ปูริตํ
มธุรสนฺนปานโภชนาหิ
นานามูลผลปุปฺผาหาเรหิ
ปหุตาสิตปีเตหิ จ สฺฉนฺนํ
รชตสุวณฺณรตนปริปูรํ
ปหุตวตฺถเสนาสเนหิ อฏฺนฺนํ
ปุปฺผรุกฺขผลรุกฺเขหิ จูภยํ
สิงฺคารวานิชคณานุจริตํ
กหาปณรชตสุวณฺณกํ
สุปตฺถรปูรํ ปโชตนิเกตํ
ธนธฺมจฺฉมํสพหุตรํ
ปริปุณฺณโกสโกฏฺาคารฺจ
ปหุตอนฺนปานขชฺชโภชนํ
ปยสานิยํ ปยปานิยํ จ
อุตฺตรกุรุสทิสํ รมฺมณิยํ
สสฺสมุลผลปุปฺผสมฺปนฺนํ
อาลกมณฺฑา วิย เทวปุรํ
พหุชนมนุสฺสเสวิตํ
อทฺธํ มหทฺธนํ มหาโภคํ
สพฺพุปการณุปโภคปริปุณฺณํ
พระนครนั้นมีนามว่าสาคละ โสภณไปด้วยสวนอุทยานและนทีธารทั้งบรรพต มีถนนสี่แจงและเคหถานศาลาน่ารื่นรมย์ อุดมด้วยสระศรีมีอยู่ในสวน ย่อมชวนใจให้ยินดี อนึ่ง ภายในบุรีมีกำแพงล้อมและค่ายคูประตูหอรบหลายหลาก สูงตระหง่านสง่างามแลลานตา และมีร้านตลาดงามโสภา วิจิตรด้วยวิถีสี่แจงประจงจัดประจำตรอกทุกถิ่นที่ ล้วนผู้ดีมีทรัพย์นับตั้งพันอยู่เนืองแน่น สะพรั่งพร้อมด้วยแสนสาวบวรนารี บรรเลงดุริยดนตรีสำเนียงเสนาะน่าจับใจ ภายในราชฐานตระการด้วยคชสารม้ารถและยานพาหนะ มีธรรมิกสมณะย่อมสัญจรไปมาเนือง ๆ เป็นที่เสพอาศัยอยู่ของหมู่เวสสชาติและสูทชนต่าง ๆ เป็นอาทิ และมีโกฏฐาคารอันเต็มไปด้วยสรรพนานาภัณฑ์ คือคลังผ้าโกเสยพัสตร กาสิกพัสตร อุทุมพรพัสตร และผ้ากัมพลสีต่าง ๆ เป็นต้น และอุดมด้วยคลังเงินคลังทองคลังแก้ว ทั้งธัญญะมัจฉมังสอันนะขัชชปานาหาร ก็บริบูรณ์พูนทุกสิ่งสรรพ เป็นที่รื่นรมย์แสนสนุกสบาย คล้ายอุตตรกุรูทวีปและเทพบุรีชื่อว่าอาลกมัณฑาฉะนั้น
พระวรเนตรกุมารพระองค์ทรงทำปราบดาภิเษกแล้ว พระนามปรากฏว่าวรเนตรราชา ทรงตั้งนางบุษบาเทวีให้เป็นอัครมเหสี ทรงตั้งพระชนนีไว้ในที่เป็นดุจเทพดา ทรงทำสักการบูชาเป็นนิจทุกวัน อนึ่งทรงตั้งมหาชนอันมาแต่จาตุรทิศ ไว้ในที่ฐานันดรตำแหน่งอำมาตย์และพราหมณ์ปุโรหิต เพราะความที่มหาชนจรมาแต่สกลทิศเป็นมูลเหตุ พระวรเนตรราชาจึงเปลี่ยนนามเมืองเสียใหม่ ให้ชื่อว่าสากลนครดังนี้
พระวรเนตรบรมกษัตริย์ ครองราชสมบัติในสากลนครสงเคราะห์ราษฎรด้วยสังคหวัตถุสี่ ดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม มีอเนกนารีเป็นบริวารเสด็จอยู่ ณ กนกปราสาท เปรียบดังท้าวสักกเทวราชในเวชยันตวิมานก็ปานกัน ฝ่ายนางบุษบาเทวีนั้นได้เป็นใหญ่ยิ่งกว่าหญิงแปดหมื่นสี่พัน มีลีลาจารวัตต์เป็นอันดี ทำอุปัฏฐากพระราชสามีแล้ว ไปทำอุปัฏฐากพระราชมารดาพระมหาสัตว์เจ้าทุกๆ วัน สองกษัตริย์ได้เสวยมหันตสุขโดยนัยฉะนี้
ทีนั้น พระวรเนตรราชานึกถึงอัสดรขึ้นมา รับสั่งให้สร้างโรงม้าขึ้นหนึ่งโรง ทำงดงามเหมือนเทววิมาน ทำเพดานเหมือนจันทรมณฑลอันวิจิตรด้วยดวงดาวต่าง ๆ และกั้นม่านล้วนลายอันสะอาด แล้วปูลาดบรรจฐรณ์ ณ พื้นปฐพี แล้วจัดตั้งที่มหาสยนะไว้ ณ ภายใต้เศวตฉัตรสำหรับอัสดรอยู่
ก็คราวนั้น ฝ่ายว่าอัสดรจรจากโคจรสถานเข้าไปถึงสระฉัททันต์มิได้เห็นพระวรเนตรกับนางบุษบาก็เสียใจ เที่ยวดั้นด้นค้นหาไปทั่วทุกสถาน ตะโกนกู่เรียกสักเท่าไรก็มิได้วี่แวว แล้วปริเทวนา ได้กล่าวพระคาถาเหล่านี้ว่า
เห ปุสฺสป อยฺยปุตฺต | กุหึ วสถ อิทานิ |
กึ โทเสน โทมนสฺสา | มํ ปลาตา นิลิยึสุ |
กถํ มมํ วิมงฺสนา | มา มํ อกุธา อาคตา |
กถํ ตุมฺหฏฺานํ | ชีวนฺตา อุทาหุ มตา |
ยตฺถ ปุพฺเพ วิจรึสุ | เต กุมารา น ทิสฺสเร |
โภนฺโต เทวสงฺฆาโย จ | มมฺจ อนุกมฺปถ |
ยตฺถ กุมารา คจฺฉนฺติ | ตเมว มํ อาจิกฺขถาติ |
ฮือ พระอัยยบุตรและนางบุษบา บัดนี้ไปอยู่ ณ ที่ไหน ทรงโทมนัสขัดเคืองด้วยโทษทัณฑ์สิ่งไร จึงละทิ้งหม่อมฉันไปซ่อนเสีย หรือสัพยอกหลอกเล่นเป็นไฉน อย่าทรงโกรธา เชิญมาหาหม่อมฉันเถิด ทำไฉนจึงจะรู้จักที่อยู่ของพระลูกเจ้าเล่า พระลูกเจ้ายังดำรงชีพอยู่หรือสิ้นชีพตักษัยแล้วประการใด แต่ก่อนร่อนไรพระกุมารเที่ยวไปที่ใด เมื่อตามไปก็ได้พบทุกครั้ง มาครั้งนี้มิได้เห็นพระกุมารเลย ฝูงเทพยดาเจ้าเอ๋ย เอ็นดูด้วยขอช่วยกรุณาบอกให้ข้าพบพระกุมารด้วยเถิด พระเจ้าข้า
อัสดรปริเทวนาด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงคิดว่าเราจักต้องกลับไปถามพระกัสสปดาบสดู แล้วเหาะไปจนถึงอาศรมพระกัสสปฤษี ๆ เห็นพาชีกลับมาจึงถามว่า เหตุไรพ่ออัสดรทิ้งเจ้านายของตัวมาเสียเล่า ข้าแต่พระเจ้าตา ข้าพาสองกุมารกุมารีไปถึงสระฉัททันต์แล้วก็เที่ยวไป สองกุมารกุมารีเที่ยวเพลิดเพลินอยู่ ณ สุวรรณคูหา ครั้นข้าไปหาหญ้ากินสิ้น ๗ วัน แล้วกลับมาหาเห็นสองกุมารกุมารีไม่ เที่ยวค้นหาตามป่าและภูเขาเนาไพรอยู่ถึง ๗ วัน ครั้นมิได้เห็นจึงกลับมาหาพระเจ้าตา
พระกัสสปดาบสฟังความอัสดรบอกแล้วเล็งแลดูด้วยทิพย์จักษุ เห็นสองกุมารกุมารีได้ประสบพบพระชนนีอยู่ที่นครใหญ่ จึงบอกอัสดรว่า พ่ออัสดร ไพรพฤกษเทพยดาอุ้มสองกุมารกุมารีไปส่งไว้ยังอาศรมพระมารดา ๆ ได้พบกับสองกุมารกุมารี ๆ ได้สร้างพระนครอยู่ ณ ปราสาท ถ้าว่าพ่ออัสดรจักตามไปไซร้ จงหยุดอยู่ภายนอกนครก่อน มนุษย์ราษฎรได้เห็นพ่ออัสดรแล้ว เขาก็จักไปทูลแก่พระกุมารกุมารี ๆ ก็จักออกไปหาถึงสำนักพ่ออัสดร
อัสดรสดับความแล้วลาพระดาบส เหาะไปตามทิศซึ่งดาบสบอกให้ ไปถึงพระนครนั้น จึงลงจากอากาศหยุดอยู่ภายนอกนคร มนุษยนิกรทั้งหลายเห็นแล้วก็ดีใจปรึกษากันว่า เดียรัจฉานพาหนะของเจ้านายเรายังหามีไม่ พวกเราช่วยกันจับอัสดรนี้ไปถวายเจ้านายของเราเถิด ปรึกษากันแล้วก็พากันไล่ต้อนจับอัสดร ๆ นั้นดุร้ายกาจ ประหารและกัดพวกมนุษย์ที่จับด้วยเท้าและปาก พวกมนุษย์ได้ความลำบากไม่อาจจับได้ จึงพากันไปกราบทูลพระวรเนตรราชาให้ทรงทราบ
พระวรเนตรราชาทรงโสมนัส เสด็จออกไปพร้อมด้วยมหาชน จนถึงสำนักอัสดร ๆ เห็นพระวรเนตรราชาแล้วก็ดีใจ แล่นโลดเข้าไปใกล้ฟุบหมอบลงแทบบาทมูลพระราชา มหาชนเห็นดังนั้นก็พากันหลีกไป พระวรเนตรราชรับสั่งกับอัสดรว่า พี่พาชี น้องนี้นึกถึงพี่แล้วร้องไห้ทุกวัน บุญของน้องนี่นักหนา น้องได้มาพบกับพี่ ม้าพาชีจึงทูลบรรยายถึงเหตุที่ตนเที่ยวหาและเหตุที่ปริเทวนาร่ำไร และเหตุที่ตนกลับไปถามพระกัสสปดาบส ให้พระวรเนตรทรงทราบถี่ถ้วน
พระวรเนตรจึงชวนอัสดรเข้าไปในบุรี ให้พาชีอยู่ ณ อัสสมงคลสถาน เสด็จไปแจ้งอาการนั้นแก่นางบุพบาเทวี ๆ เสด็จจรลีไปยังสำนักอัสดร ทรงปราศรัยไถ่ถามตามสมควรแล้วก็กลับไป พระวรเนตรราชาทรงอภิเษกม้านั้นให้เป็นพระยาอัสดร และประทานมนุษยนิกรให้เป็นส่วยหญ้าส่งมาบริโภคทุกวัน อัสดรราชนั้น ครั้นถึงเวลาราตรีเหาะขึ้นไปยังอากาศ เที่ยวประกาศป่าวร้องทั่วไปในบ้านและนิคมราชธานีว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย ถ้าหากว่าพวกท่านอยู่ที่นี่ไม่มีความสบายไซร้ เราจะบอกให้ ทิพย์นครหนึ่งมีอยู่ทิศนี้ ๆ มีพระราชาพระนามว่าวรเนตรองค์หนึ่ง ผ่านสมบัติโดยยุติธรรม ท่านทั้งหลายจงพากันไปอาศัยอยู่ที่ทิพย์นครนั้นเถิด ก็จะเกิดความสุขสำราญ มนุษย์ทั้งหลายได้ฟังอุโฆสนาการแล้ว พากันนึกว่า คืนนี้มีเทพยดามาป่าวร้องพวกเราแล้วชวนกันยกครอบครัวไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่สากลนคร ๆ นั้น จึงบริบูรณ์ด้วยอันนปานมากมูล ทั้งหมู่มนุษย์ก็มั่งคั่งด้วยทรัพย์สรรพสมบัติมากมาย ธรรมิกสมณะทั้งหลายทราบความแล้ว ก็ถือบริขารของตนไปอาศัยอยู่ที่สากลธานี
พระวรเนตตาธิบดีราช ทรงสงเคราะห์มหาชนด้วยสังคหวัตถุสี่ประทานโอวาทานุสาสน์แก่พวกมนุษย์ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาท จงให้ทานแก่สมณพราหมณาจารย์ และจงสมาทานซึ่งศีลเป็นต้น เพราะเหตุนั้น สากลนครจึงเป็นที่น่ารื่นรมย์ ทั้งอุดมดื่นด้วยมหาชนและสรรพศฤงคาร เปรียบปานดังเทพยนครสถาน
กล่าวด้วยเรื่องพระวรเนตรราชาก็ยุติแต่เพียงนี้
บัดนี้จะกล่าวถึงพระอนุชานามว่าวรนุชต่อไป ใจความว่า พระวรนุชราชกนิษฐ์พระอัคคิเนตรดาบสเลี้ยงไว้ได้ปีหนึ่ง มียักขราชานามว่า อัคคิสิขะ ผู้เป็นสหายของอัคคิเนตรดาบสนั้น มเหสีของยักขราชาเป็นธิดาของท้าวอสูร นามว่าราชบุตรี
วันหนึ่ง อัคคิสิขยักขราชานึกถึงอัคคิเนตรดาบสขึ้นมา จึงพามเหสีไปหาพระดาบส พากันอภิวาทแล้วเห็นพระวรนุชกุมารเข้า จึงถามพระดาบสว่า ท่านได้ดรุณกุมารมาแต่ไหน ถวายพระพร เทวราชดรุณกุมารนี้เขาใส่หม้อลอยน้ำมาปะอยู่ที่ท่าน้ำตรงหน้าอาศรม อาตมาเห็นเข้าจึงรับเอามาเลี้ยงไว้ ราชบุตรีมเหสีจึงวอนขอพระกุมารกับดาบสว่า ดิฉันไม่มีบุตรและธิดาเลย ดิฉันขอกุมารนี้ไปเลี้ยงไว้ต่างบุตร อัคคิเนตรดาบสก็ยอมอนุญาตให้ ราชบุตรีมเหสีก็รับเอาไปเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม
พระวรนุชกุมารเมื่อมีพรรษายุกาลได้สิบหกปี มีสรีรอินทรีย์สวยงามเปรียบปานดรุณเทวบุตร เพราะอาศัยเสพรสทิพพาหารและเป็นที่อิ่มอาบใจของพระมารดาบิดาเลี้ยง ฝ่ายท้าวอัคคิสิขยักขราชประทานสนมนารีมากกว่าพันให้พิทักษ์รักษา และประทานอลังการมากมายเลี้ยงไว้โดยชอบธรรม พระวรนุชกุมารนั้น เมื่ออยู่ในยักขนคร จะได้รู้จักว่าเป็นเมืองยักษ์ก็หาไม่ เพราะเหตุว่า ยักขราชาประกาศห้ามพวกยักษ์ไม่ให้แสดงรูปยักษ์ให้พระกุมารเห็น เพราะฉะนั้น พระวรนุชจึงสำคัญว่าเทวนครหารู้จักว่าเป็นเมืองยักษ์ไม่
อยู่มาวันหนึ่ง พระวรนุชกุมารเข้าไปหามารดาเลี้ยงแล้วถามว่า ข้าแต่พระมารดา พระมารดาเป็นเทพธิดา พระบิดาก็เป็นเทวบุตร เหตุไรตัวลูกจึงเป็นมนุษย์เล่า ดูก่อนพ่อ ตัวพ่อเป็นลูกท่านอัคคิเนตรฤษี แม่นี้ขอท่านมาเลี้ยงไว้ เพราะฉะนั้น ตัวพ่อจึงเป็นเพศมนุษย์ พระวรนุชได้สดับดังนั้นก็เฉยเป็นกลางอยู่ วันหนึ่งจึงพระวรนุชทูลพระมารดาเลี้ยงว่า หม่อมฉันอยากจะไปพบพระดาบสสักครั้ง ดูก่อนพ่อ เวลานี้พ่ออย่าเพ่อไปเลย ต่อถึงวันฤกษ์ดีมารดาจะพาพ่อไปพร้อมกับบิดา
พระวรนุชกุมารตรึกตรองต่อไปว่า ใครหนอเป็นมารดาบิดาของเราแน่ ด้วยอานุภาพกตัญญูของพระวรนุชกุมาร พิภพท้าวมัฆวานก็แสดงอาการร้อนขึ้นมา ท้าวอินทราพิจารณาดูก็รู้ชัดว่า พระวรนุชตั้งอยู่ในกตัญญู อยากจะใคร่รู้จักมารดาบิดาของตนให้นึกฉงนสงสัย บัดนี้ใคร่จะให้เราไปบอกให้ ท้าวสหัสนัยทราบแล้วก็ไปยังมนุษย์โลก แปลงกายเป็นนกสาลิกา แล้วไปจับอยู่ ณ สีหบัญชรปราสาทพระวรนุชกุมาร ส่งภาษาว่า ดูก่อนพ่อวรนุช ข้าจะบอกมารดาบิดาให้จะแจ้ง พ่อต้องการจะรู้หรือไม่ พระวรนุชก็ดีใจตอบนกสาลิกาว่า ข้าต้องการอยากรู้หนักหนา เชิญนกสาลิกาจงบอก ณ บัดนี้ ท้าวโกสีย์สาลิกาแปลงจึงแจ้งความตามลำดับมาแต่ต้นว่านางสุภัททาเทวีเป็นมารดาของท่านพระเจ้ากรุงเจตราชเป็นบิดาของท่าน พระเจ้าเจตราชมีมเหสีสององค์ คือนางเขมา ๑ นางสุภัททามารดาของท่าน ๑ เมื่อวันท่านประสูตินั้น พระราชบิดาเสด็จไปสวนอุทยาน พระมารดาประสูติพระเชษฐาก่อน นางเขมาให้เอาพระเจ้าพี่ไปฝังในป่า ครั้นท่านประสูติมาทีหลัง นางเขมาเอาท่านใส่หม้อให้ทาสีลอยน้ำเสีย ส่วนพระเชษฐาเทวดาเลี้ยงไว้นามว่าวรเนตร ส่วนท่านพระฤษีเลี้ยงไว้ ท้าวอัคคิสิขยักขราชขอท่านมาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม
อนึ่ง พระเจตราชเจ้าผู้บิดากลับแต่อุทยานแล้ว นางเขมาเอารูปท่อนไม้ทาโลหิตแกล้งทูลใส่ความว่า นางสุภัททาออกลูกมาเป็นท่อนไม้ พระราชบิดากริ้วใหญ่ ให้เอามารดาท่านใส่แพลอยน้ำเสีย บัดนี้พระมารดาของท่านบวชเป็นดาบสินีอยู่ที่เกาะกลางมหาสมุทร อนาถาน่าเวทนาอยู่ผู้เดียว ถ้าท่านเที่ยวไปหาพบมารดาแล้วจงเลี้ยงไว้ ท่านจักได้บุญญานิสงส์มากมาย ท้าวอินทราสาลิกาแปลงบอกจะแจ้งดังนั้นแล้วก็หายไป
ต่อแต่นั้นมา พระวรนุชกุมารให้คิดร้อนใจว่า ทำไฉนเราจักรู้จักที่อยู่ของมารดาเจ้า ให้ทุรนทุรายไม่เป็นอันเล่นร่าเริงดังแต่ก่อน ฝ่ายนารีพี่เลี้ยงทั้งหลาย เห็นพระวรนุชกุมารมีอาการเป็นทุกข์ จึงนำอาการนั้นกราบทูลพระยาอัคคิสิขยักษ์ ๆ รับสั่งบังคับไว้ว่า ท่านทั้งหลายจงรักษาลูกเราไว้ให้ดี ถ้าลูกของเราหนีไปได้แล้วไซร้ ชีวิตของพวกท่านก็จะมิได้มีต่อไป
ด้วยอานุภาพความกตัญญูของพระวรนุชกุมาร พิภพท้าวมัฆวานก็แสดงอาการร้อนขึ้นมา ท้าวอินทราใคร่ครวญดูก็รู้ชัดว่าพระวรนุชโอรสกษัตริย์นี้ ระลึกถึงพระชนนียิ่งนัก เราควรจักอนุเคราะห์เธอให้ไปพบพระมารดา จึงดำรัสใช้ให้วิสสุกรรมเทพบุตรแปลงกายเป็นนกยูงใหญ่ให้พาพระวรนุชไปส่งถึงที่อยู่พระอัคคิเนตรฤษี
ครั้นถึงเวลาราตรี วิสสุกรรมเทพแปลงกายเป็นสุวรรณโมรสกุณ แล้วไปสู่สำนักพระวรนุช นัดหมายจะให้พระกุมารขึ้นนั่งบนหลัง และจะนำไปส่งกระทั่งถึงอาศรมพระฤษี พระวรนุชก็ยินดี เมื่อยักขนารีพี่เลี้ยงหลับสนิท จึงขึ้นสถิตหลังสุวรรณโมรราช แล้วประกาศสั่งว่า พี่เลี้ยงทั้งหลาย ท่านจงอยู่เป็นสุขสบายด้วยกัน ตัวเราขอลาไปหาพระมารดา พบแล้วจะกลับมาที่นี่อีก ครั้นแล้วสุวรรณโมรราช จึงพาพระวรนุชเหาะไปทางอากาศ สิ้นเวลาราตรีหนึ่งถึงอาศรมอัคคิเนตรดาบส พระวรนุชราชโอรสลงจากหลังพญานกยูง แล้วเข้าไปอภิวาทพระฤษี
พระอัคคิเนตรมุนีเห็นแล้วก็จำไม่ได้จึงไต่ถาม ครั้นทราบความตามพระกุมารบอกจึงนึกได้แล้วไต่ถามว่า ดูก่อนพ่อ บิดาของพ่อเขาโกรธขับไล่เสียหรือ ๆ ว่าพ่อระลึกถึงเรา พระลูกเจ้าจึงกลับมาหา พระวรนุชกุมารจึงบอกตามความจริง ว่าข้าพเจ้านึกกริ่งใจไปว่าใครเป็นมารดาบิดาเดิมแน่ดังนี้ มีนกสาลิกาตัวหนึ่งบอกว่า พระเจ้าเจตราชเป็นบิดาเดิม นางสุภัททาเทวีเป็นชนนีเดิม แล้วพระกุมารก็เล่าความตามมูลเหตุซึ่งนกสาลิกาบอกนั้นให้พระอัคคิเนตรดาบสฟังถ้วนถี่แล้วพูดกับพระฤษีว่า ข้าพเจ้าใคร่จะไปเห็นพระมารดาจึงได้กลับมาหา ขอพระเจ้าตาช่วยบอกทิศทางที่อยู่ของมารดาด้วยเถิด พระเจ้าข้า
พระอัคคิเนตรดาบสสดับความนั้นแล้วพูดว่า ราชบุตร พ่อยังไม่รอบรู้ศิลปศาสตร์ จงอยู่เรียนศิลปะเสียที่นี่ก่อน เมื่อเรียนได้ชำนาญแล้วจึงไปต่อภายหลัง พระวรนุชได้ฟังแล้วเรียกโมรราชมาสั่งว่า โมรราช ท่านจงกลับไปบอกข่าวแก่พระราชบุตรีว่า ข้าขอลาไปเสาะหาพระมารดา พบแล้วจักกลับมาอีก ดังนี้แล้วก็ส่งโมรราชให้กลับไป ก็เมื่อราตรีคืนที่สุวรรณโมรราชพาพระวรนุชกุมารไปนั้น ฝ่ายพี่เลี้ยงและสาวใช้ทั้งหลายตื่นขึ้นมิได้เห็นพระราชกุมารก็ตกใจ ปลุกเพื่อนให้ลุกขึ้นถามกันว่า พระราชกุมารหายไปไหน พากันเที่ยวค้นหาทั่วไปในปราสาท ครั้นไม่เห็นแล้วไปทูลแก่พระราชบุตรี ๆ มีหฤทัยราวกับจะแตกตาย ปริเทวนาแล้วกล่าวคาถานี้ว่า
หา วรนุช กุมาร | กถํ มมํ โอหายิตฺวา |
กถํ มํ อนาถํ กตฺวา | เอกโก ตฺวํ กหํ คจฺฉิ |
อโห เม พลฺตรํ กมฺมํ | มยา กตํ ปุราณํ ว |
อุทาหุ ตว มรณํ | อุทาหุ เกน นีโต ตฺวํ |
กสฺส ธีตรํ ปิยาย | กถํ มมํ อนาจิกฺขิ |
กุหึ คโตสิ วรนุช | ตว สนฺติกํ อาคฺตาสฺมิ |
ดูก่อนวรนุชผู้ยอดรักของมารดา ไฉนพ่อจะมาทิ้งแม่ไว้ให้อนาถา เจ้าผู้เดียวจะเที่ยวไปที่ไหนได้ โอ้ว่ากรรมมากแท้ แม่ได้ทำไว้เก่าก่อน หรีกพ่อม้วยมรณ์แล้วอย่างไร หรือใครมาชวนชักลวงล่อนำพ่อไป หรือพ่อไปรักลูกสาวของผู้ใด ทำไมไม่บอกกับแม่บ้างพ่อวรนุช เจ้าจะเซซังไปทางไหน แม่ได้มาหาพ่อก็ไม่เห็น จะตายหรือเป็นไม่รู้ที่ พระราชบุตรีโสกีพลางนางก็ไปทูลพญายักษ์ ๆ ก็เศร้าเสียพระหฤทัย พากันปริเทวนาร่ำไห้ทั่วไปทั้งพารา จนตราบเท่าอรุณขึ้นมา
อัคคิสิขยักขราชาจึงไต่สวนสอบถามพี่เลี้ยงทั้งปวงว่า วรนุชบุตรของเราหายไปเวลาไรรู้บ้างหรือไม่ และได้ยินสำเนียงเป็นนิมิตบ้างหรือไฉน กริ้งพลางทางก็ปริภาษนา คราวนั้น ดรุณิตถีคนหนึ่งทูลว่า พระเทวราช เมื่อเที่ยงคืนหม่อมฉันได้ยินสำเนียงแว่ว ๆ ว่า ข้าบาทขออภิวาทลาพระมารดาบิดา ไปไม่นานนักแล้วจักกลับมา ขอให้พระมารดาบิดาจงอยู่เป็นผาสุก ปราศจากโรคาพยาธิ ข้าบาทไปพบมารดาแล้วจักกลับมาอีก ดังนี้
อัคคิสิขยักขราชค่อยคลายความโศกเศร้า คิดว่าลูกของเราจักไปหาพระอัคคิเนตร เหตุนี้เราจักตามไปยังอาศรมฤษี เมื่อราชบุตรีและยักขนารีร่ำไรอยู่ สุวรรณโมรราชบินมาเฝ้าท้าวยักขราชทูลว่า พระเทวราช พระองค์อย่าทรงเศร้าโศกไปเลย ราชกุมารนั้นอยู่ที่สำนักอัคคิเนตรฤษี ขอเรียนศิลปะได้แล้วไปตามพบพระมารดาแล้วจักกลับมา
อัคคิสิขยักขราชาทราบประจักษ์แจ้งแล้ว ก็คลายหายโศกเศร้า จึงชวนราชบุตรีไปยังสำนักดาบส ประณตนมัสการแล้ว เห็นพระวรนุชก็ตรงเข้าสวมกอดจุมพิตแล้วตรัสว่า เหตุไรพ่อช่างไม่บอกเล่ารำลา หนีมารดาบิดามาเสียได้ ทรงกรรแสงไห้แล้วตรัสว่า นี่หากสุวรรณโมรราชไปบอกออกความ มารดาบิดาจึงตามมาหา พระวรนุชกุมารทูลว่า ถ้าข้าบาททูลลากลัวว่าจะถูกห้ามปราม ขอพระองค์จงกรุณาประทานโทษที่ไม่ได้ทูลลาแด่ข้าบาทเถิด พระเจ้าข้า บัดนี้ข้าบาทขอนุญาตอยู่ศึกษาศิลปะ ณ สำนักพระเจ้าตาต่อไป อัคคิสิขยักขราชทรงโสมนัสอนุญาตแล้ว จึงประทานม้ามโนมัยตัว ๑ พระแสงขรรค์ ๑ พระแสงศร ๑ แก่พระวรนุชแล้วตรัสว่า ถ้าพ่อใคร่จะไปหาพระมารดาจงเอาม้ามโนมัยขี่ไปเป็นเพื่อน แล้วคลึงเคล้าจุมพิตพระลูกเจ้า แล้วก็ลาพระดาบสกลับไปยังที่อยู่ของพระยายักษ์
ฝ่ายพระวรนุชกุมาร อยู่ ณ สำนักพระอัคคิเนตรฤษีได้ปีหนึ่ง เรียนสรรพศิลปะได้ชำนาญแล้ว จึงกราบลาพระดาบสว่า ข้าแต่พระเจ้าตา ข้าจะขอลาไปตามหาพระมารดา พระเจ้าตาจงกรุณาบอกที่อยู่ของพระมารดาให้ข้าทราบด้วยเถิด พระอัคคิเนตรดาบสเล็งดูด้วยทิพย์จักษุแล้วบอกว่า พ่อวรนุช พ่อจงไปทางทิศบูรพานี้ พระวรเนตรเจ้าพี่ของพ่อมีฤทธานุภาพมาก สร้างนครใหญ่ขึ้นไว้ได้ครองราชสมบัติแล้วทรงตั้งพระมารดาไว้ในปูชนียฐาน ถ้าพ่อไปถึงแล้วไซร้ จงปล่อยมโนมัยให้ไปปราศัยกับพาชีของพระเจ้าพี่ ๆ กับพระชนนีทราบแล้วก็จักออกไปแล้วได้พบกัน สั่งดังนั้นแล้วก็ส่งพระวรนุชกับมโนมัยไป
พระวรนุชกุมารสอดพระขรรค์ศรเสร็จ เสด็จขึ้นหลังม้ามโนมัยเหาะลอยไปทางอากาศเวหา ไปแต่เวลาเช้าถึงเวลาเย็น เห็นสระใหญ่แห่งหนึ่ง จึงลงหยุดพักอยู่ ณ สระน้ำนั้น ลงสรงเสวยวารีถอนภึสมูลเสวยสำราญพระทัย ฝ่ายมโนมัยลาพระวรนุชไปหาน้ำและหญ้าบริโภค แล้วรับสั่งว่า ถ้าอันตรายมีขึ้นไซร้ พระองค์จงระลึกถึงหม่อมฉันเถิด พระวรนุชเสวยภึสมูลแล้วก็นิทราหลับไป
คราวครั้งนั้น ท้าววรุณนาคราช ครองสมบัติอยู่ในนาคพิภพกับนางวิมลาเทวี ท้าววรุณนาคราชนั้นมีราชธิดาองค์หนึ่ง นามว่า สมุททชา รูปร่างงามโสภาชันษาได้สิบหกปี มีลักษณะดังเทพอัปสรสวรรค์ ท้าววรุณนาคราชนั้น ออกจากนาคพิภพไปเที่ยวเล่นน้ำที่สระนั้น ครั้นแล้วเลือกเก็บดอกไม้ใคร่จะเอาไปฝากราชธิดา เหลือบไปพบพระวรนุชกำลังนิทราอยู่ แล้วดำริว่า ดรุณกุมารผู้นี้รูปงามสวยดี ผิวพรรณดังทองดำ งามเลิศล้ำน่ารักใคร่ สมควรเป็นภัสดาธิดาของเราได้ เราจักพาไปนาคพิภพ ทำอภิเษกกับธิดาของเรา ดำริแล้วก็อุ้มองค์พระวรนุชกับพระขรรค์ศรอาวุธ ไปวางไว้ ณ วิมานของตน แล้วแจ้งยุบลแก่นางวิมลาเทวีมเหสีว่า พี่ไปในมนุษย์โลกพบมาณพผู้หนึ่ง นอนหลับอยู่ที่ขอบสระน้ำ พี่ได้พามาหวังจะอภิเษกกับธิดาของเรา พระน้องเจ้าจะเห็นเป็นอย่างไร
นางวิมลาเทวีมเหสี ได้สดับคำราชสามีบอกดังนั้น เมื่อนางจะครหาภัสดา จึงกล่าวคาถานี้ว่า
เทว ตสฺส ชาติกุลํ | นามโคตฺตํ น ชานาถ |
อทฺโธ วา ทลิทฺโท วา โส | กถํ ตฺวํ ตํ อาหรถ |
ปริสา มํ ครหนฺติ | ลชฺชา อมฺหากํ ภวิสฺสามีติ |
พระเทวราช พระองค์ยังไม่ทรงรู้จักชาติสกุลนามและโคตรของมาณพนั้นว่าจะเป็นอย่างไร มาณพนั้นจะเป็นคนมั่งมีหรือยากจนชนิดใด ไฉนพระองค์ทรงนำมาณพนั้นมาได้ หน่อยบริษัททั้งหลายจะพากันติเตียนได้ ความละอายก็จักมีแด่พระองค์และตัวหม่อมฉัน
ท้าววรุณนาคราชนั้นจึงตอบมเหสีว่า ธรรมดามนุษย์บุญน้อย รูปร่างก็ไม่งามและไม่เกิดในมหาสกุล เพราะเหตุฉะนั้น เราจักปลุกมาณพนั้นให้ตื่นขึ้นไต่ถามดู ปรึกษากันแล้วจึงปลุกพระวรนุชให้ตื่นนิทรา พระวรนุชตื่นขึ้นมาแลดูทิศานุทิศแล้วดำริว่า โอเรานี่หลงเสียแล้ว เดิมเรานอนอยู่คนเดียวที่พนมไพร ไฉนได้มาถึงที่นี้ นี่เขาเรียกว่าเมืองอะไร คิดแล้วก็ถามนาคราชว่า เทวราช เมืองนี้ชื่อเมืองอะไร ดูก่อนพ่อกุมาร นี่เขาเรียกว่านาคพิภพ เราพาพ่อมาเอง พ่อชื่อไร เทวราช หม่อมฉันนามว่าวรนุช เป็นบุตรท้าวอัคคิสิขราช พระมารดานามว่าราชบุตรีมเหสี เหตุไรพ่อนอนอยู่ในป่าคนเดียว พ่อจะเที่ยวไปข้างไหนหรือ พระวรนุชก็ทูลความแต่ต้นจนปลาย ถวายนาคราชกับมเหสีให้ทราบทุกประการ นาคราชาและวิมลาเทวีทราบความถ้วนถี่แล้วให้สงสารนักหนา ปริเทวนาร่ำไรแล้วปราศรัยว่า ดูก่อนพ่อ อย่าทุกข์ร้อนโศกเศร้า เราจักยกธิดาของเราให้พ่อ แล้วดำรัสเรียกนางสมุททชาธิดามาแล้ว บอกความหนหลังให้ฟัง แล้วทำอภิเษกพระวรนุชกับนางสมุททชา ให้เป็นภัสดาและชายากันและกัน
จำเดิมตั้งแต่นั้นมา พระวรนุชกุมารเสวยทิพย์สมบัติอยู่ในนาคพิภพ เลยลืมนึกถึงพระมารดาและม้ามโนมัย ครั้นอยู่ไปได้สามเดือนแล้ว เที่ยงคืนวันหนึ่ง จึงหวนระลึกถึงพระมารดาขึ้น ทรงปริเทวนาพิลาปยกใหญ่ นาคมาณวิกาสมุททชา ตื่นขึ้นมาเห็นพระวรนุชกรรแสงไห้แล้วถามว่า พระลูกเจ้า เหตุไรทรงกรรแสงไห้ หรือใครเขากล่าวใส่โทษพระองค์ หรือทรงโทมนัสขัดเคืองหม่อมฉันด้วยโทษทัณฑ์ความผิดสิ่งใด พระวรนุชกุมารก็นิ่งเสียหาแจ้งความแก่นางสมุททชาไม่ นางสมุททชาก็เฝ้าพิไรถามอยู่เนือง ๆ พระวรนุชกุมารขัดไม่ได้จึงบอกความตามจริงว่า ดูก่อนนางน้องผู้เจริญใจ พี่ระลึกถึงพระมารดาจึงร้องไห้ พระมารดาของภัสดาอยู่ที่ไหน พระนามชื่อใด พระวรนุชกุมารเล่าความหลังให้ชายาฟังว่า พระมารดาของพี่นามว่าสุภัททา เป็นอัครมเหสีพระเจ้าเจตราช เมื่อพระมารดาคลอดพี่นางเขมาเทวีริษยาเอาพี่ใส่หม้อให้ลอยน้ำไปเอารูปท่อนไม้เปลี่ยนใส่ใคล้หาว่ามารดาออกลูกเป็นท่อนไม้ พระราชบิดาเห็นว่าเป็นกาลกรรณี จับเอามารดาของพี่ลอยน้ำเสีย ส่วนตัวพี่อัคคิเนตรฤษีท่านเลี้ยงไว้ ภายหลังอัคคิสิขยักขราชขอพี่ไปเป็นลูกบุญธรรม ข้อความเหล่านี้พี่รู้จากนกสาลิกาบอกให้ พี่มิได้รู้ว่ามารดามีชีวิตหรือตายแล้วประการใด นกสาลิกาบอกว่า มารดายังอยู่บวชเป็นดาบสินีอยู่ที่เกาะกลางสมุทร พี่หนีพระมารดาบิดาเลี้ยงไปถามพระดาบสอัคคิเนตร ท่านแจ้งเหตุให้พี่ไปทางทิศปุริมทิศ พี่ลาพระดาบสมากับมโนมัย ถึงสระใหญ่กลางป่าหยุดพักนอนอยู่ผู้เดียว ม้านั้นก็เที่ยวไปหาน้ำและหญ้ากิน พระราชบิดาของน้องนี้พาพี่มาในนาคพิภพ เมื่อพระวรนุชปรารถถึงม้าก็ร้องไห้อีกพักใหญ่
นางสมุททชาฟังภัสดาเล่าดังนั้น ก็สลดรันทดใจ แล้วพูดว่า ข้าแต่พระลูกเจ้า ถ้าภัสดาจักไปตามหาพระมารดาไซร้ หม่อมฉันจักขอตามไปกับพระองค์ด้วย พระวรนุชกุมารก็ตรัสห้ามมิให้นางสมุททชาไป นางสมุททชานำความไปทูลแก่พระราชมารดาบิดาว่า พระภัสดาระลึกถึงมารดา คิดจะไปตามหาพระมารดา หม่อมฉันจักขอติดตามพระภัสดาไปด้วยกัน พระราชมารดาบิดาทั้งสองนั้นก็ตรัสห้ามเสียมิให้พระวรนุชกับชายาไป
ครั้นต่อมาอีกสองสามวัน พระวรนุชกุมารนั้นนิทราหลับไปในเวลาเที่ยงคืน ทรงสุบินนิมิตฝันไปว่า พระอัคคิเนตรดาบสเข้าไปในปราสาท ยืนอยู่เบื้องบนเขนยหนุนเศียรแล้วบอกว่า ดูก่อนพ่อวรนุชกุมาร พ่อมานอนสบายเสียกับชายา เลยไม่ระลึกถึงพระมารดาทีเดียว แม้พ่อหลอกลวงอัคคิสิขราชและตัวเรา ว่าจะมาตามหาพระมารดา กลับมาหลงรักนางนาคมาณวิกาเสีย (สมกับคำว่าได้เมียลืมแม่) ดังนี้แล้วก็หายไป
พระวรนุชกุมารตื่นจากนิทรา เหลียวแลดูพระดาบสก็มิได้เห็น แล้วกรรแสงไห้ว่า โอ พระเจ้าตาดาบสรักใคร่เรานักหนา อุตสาหะตามมาอนุสาส์นสอนถึงที่นี้ พระองค์เห็นนางสมุททชาเทวีกำลังหลับสนิท จึงทรงสอดพระแสงศรเสด็จจากวิมาน แกว่งพระขรรค์ไปเบื้องหน้าให้แผ่นดินแหวกให้เป็นช่องทางออกไป ดำเนินตามช่องปฐพีขึ้นมาถึงมนุษย์โลกหาเห็นทางเก่าไม่ ไพล่ไปเสียทางอื่น และทั้งไม่ประสบพบมโนมัยสินธพ ทรงปรารภถึงมโนมัย กรรแสงไห้ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
ชีวิตํ มยฺหํ วินฏฺา | ชีวิตํ โน ชเหสฺสามิ |
มโนมยวินา เหตุ | กถํ จริสฺสามิ วเน |
โก มํ คเหตฺวา อรฺํ | โก ทิสํ ทสฺเสติ มม |
มโนมยวินา หุตฺวาหํ | กถํ จรามิ พฺรหาวเนติ |
ชีวิตของเราจักวินาศขาดศูนย์ไป เพราะเหตุคือมาพลัดกันกับมโนมัย จะเที่ยวไปในป่าอย่างไรได้ ใครเล่าเขาจะพาเราไปป่าและชี้ทิศทางให้แก่เราไป เราปราศจากมโนมัยแล้ว ไฉนจะไปในมหาวันได้ พระวรนุชกุมารกรรแสงให้ดำเนินไปในป่า ถึงเวลาราตรี ก็ไสยาสน์อยู่ ณ รุกขมูลแห่งหนึ่ง
คราวครั้งนั้น นางสมุททชาเทวีตื่นขึ้นมิได้เห็นสามี นางเห็นประตูเปิดไว้ จึงตามรอยไปถึงปฐพีก็มิได้เห็นสามี ไต่ถามตามพวกก็ไม่ได้ความ เที่ยวค้นหาทั่วไปไม่เห็นแล้ว จึงไปทูลท้าววรุณนาคราชากับนางวิมลาเทวีและนางสมุททชา ปริเทวนาการติดตามไปนานาทิศาก็มิได้พบพระวรนุชกุมาร ๆ ดำเนินไปในป่า ได้ความลำบากมากจึงระลึกถึงม้ามโนมัย ๆ ก็ทุรนทุราย นึกว่าอันตรายจักมีแก่พระราชกุมาร เผ่นทะยานเที่ยวตามหาจนทั่วสกลหิมวันต์ก็มิได้พบ จึงตลบกลับไปยังสำนักท่านอัคคิเนตรดาบส บอกเนื้อความพลางก็ร้องไห้อยู่ ณ สำนักดาบสนั้น
อยู่มาวันหนึ่ง จึงพระวรนุชกุมารดำเนินไปในมหาวัน ครั้นเวลาเย็นเห็นนิโครธต้นหนึ่ง จึงเข้าไปอาศัยเสวยนานาผลแล้วนิทราอยู่ที่นั่น คราวนั้น มีพฤกษเทวดาสี่องค์ปรึกษากันว่า ที่กาลคิรีบรรพตพระยายักษ์ตนหนึ่งนามว่าสิงหกัณณะ ดุร้ายกาจนัก ข่มเหงเราและเหล่าเทวดาอื่น พวกเราได้รับความลำบากมากนัก ก็พระราชกุมารองค์นี้มีบุญญานุภาพอิทธิใหญ่ สามารถจะให้เข่นฆ่าพระยายักษ์นั้นได้ พวกเราช่วยกันอุ้มเอาพระราชกุมารนี้ไปวางไว้ในปราสาทแห่งนางสุวรรณคันธาธิดาพระยายักษ์นั้น ครั้นพระราชกุมารตื่นขึ้นแล้ว ก็จะทำสมัครสังวาสกับนางสุวรรณคันธา พระยายักษ์ผู้บิดาทราบเรื่องแล้วจักโกรธใหญ่ จักได้ทำยุทธนาการกับพระราชกุมาร ๆ จักผลาญชีพพระยายักษ์ให้ม้วยมรณ์ด้วยทิพย์ศรอาวุธ ปรึกษากันแล้วจึงช่วยกันอุ้มองค์พระวรนุชกับพระแสงศรไปวางไว้ ณ สิริสยนะในปราสาทแห่งนางสุวรรณคันธา แล้วก็พากันกลับไปยังที่อยู่ของตน
คราวครั้งนั้นแล นางสุวรรณคันธาตื่นขึ้นพลิกกายาเสียดสีพระวรนุชกุมารอุฏฐาการขึ้นแลดู ถามทาสีว่านี่ใครสามารถอาจมานอนร่วมเราได้ เหล่าทาสีก็ตกใจ กรูกันเข้าไปภายในห้อง เห็นพระวรนุชนิทราอยู่ดังนั้นจึงพูดกันว่า นี่เห็นจะเป็นเทวดาหรือนาคกุมภัณฑ์ผู้มีมหิทธิฤทธิ์ มาร่วมรักกับราชธิดา นางสุวรรณคันธาจึงใช้ทาสีปลุกให้ตื่นขึ้นแล้วไต่ถามว่า ดูก่อนเทวดา ท่านมาแต่ไหน พระวรนุชเหลียวซ้ายแลขวา เห็นปราสาทรุ่งเรืองงามอร่ามนึกว่านี่หาใช่รุกขมูลไม่ และหาใช่นาควิมานไม่ เหตุไรเราจึงมาถึงนี่ นางสุวรรณคันธาเทวีจึงถามอีกว่า ท่านมาแต่ไหน ท่านคือใคร เป็นเทวดาหรืออินทรานาคครุฑ หรือผู้มีฤทธิ์อื่น ๆ ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์ หลงทางมานอนอยู่ ณ ใต้ต้นไม้ เหตุไฉนข้าพเจ้าได้มานอนอยู่ที่นี้ ก็เหตุไรท่านจึงได้หลงทางมา ข้าพเจ้าเดินเที่ยวหาพระมารดา ก็มารดาของท่านมีอยู่ในปราสาทนี้หรือ ความจริงข้าพเจ้าไม่ได้มาที่นี้ได้เอง เดิมข้าพเจ้านอนอยู่ ณ โคนไม้ในป่า หลับไปไม่รู้ว่าเหตุไรได้มาถึงที่นี้ นางสุวรรณคันธาจึงดำริว่า บุรุษผู้นี้มีบุญมาก เทวดาหากเลี้ยงไว้ ได้นำมาไว้ในที่นี้จะให้เป็นสามีเรา คิดแล้วจึงบอกให้ทาสีทั้งหลายหลีกไปเสียจากที่นั้น
ครั้นแล้วนางจึงพิไรถามพระวรนุชว่า พระลูกเจ้า ใครในเมืองนี้เป็นญาติสาโลหิตของท่านมีอยู่หรือ ท่านจึงมาเมืองนี้ ญาติมิตรของฉันแต่สักคนหนึ่ง ซึ่งจะได้มีที่เมืองนี้ก็หาไม่ อนึ่งนครนี้มีนามชื่อไรเล่า นครนี้มีนามว่าสีหกูฏนคร พระราชาครองราชสมบัติในนครนี้ทรงพระนามว่ากระไร พระราชาทรงพระนามว่าสิงหกูฏันตยักษ์ ก็ตัวของเธอนามชื่อไร ฉันชื่อสุวรรณคันธา ฉันหลงมาถึงที่นี่ เธอจงปรานีขมาโทษให้ฉันด้วยเถิด
นางสุวรรณคันธาดำริไปอีกว่า จำเราจักลองใจดูอีกแล้วพูดว่าใครเล่าเขาจะเป็นภรรยาของท่าน ท่านรู้จักหรือไม่ ฉันหลงมา หารู้ว่าใครจะเป็นภรรยาไม่ ถ้ากระนั้น ท่านจงไปเสียจากที่นี้ ถ้าว่าพระราชบิดาและกนิษฐภาติกะของเราท่านมาพบเข้า ชีวิตของพระลูกเจ้าจะไม่มี ดูก่อนภคินี จงปรานีฉันด้วย ช่วยบอกหนทางที่จะไปต่อไปข้างหน้า ก็ท่านมาทางใดท่านจงไปตามทางนั้น
พระวรนุชกุมาร เมื่อจะลองใจนางสุวรรณคันธบ้าง จึงพูดว่า ถ้ากระนั้นฉันจะขอลาไปก่อน ทรงทำอาการดุจลุกขึ้นจรไป นางสุวรรณคันธาเห็นอาการพระกุมารจะไป มีหฤทัยประหนึ่งจะแตกตาย จึงปราศรัยตอบว่า แน่ะพระลูกเจ้า ธรรมดาพระราชาก็ดี หัตถีก็ดี สมณะก็ดี สตรีก็ดี รีบร้อนเดินเร็วก็หางามไม่ อนึ่ง ผู้ชายใจด่วนเร็วก็ไม่งามเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอาการที่จะก่อเกิดมงคลย่อมไม่มีแก่ผู้มีกายใจรวดเร็ว พระวรนุชหยุดนั่งหน่อยหนึ่ง จึงสนทนาปราศรัยเลยได้สมัครสังวาสกับนางสุวรรณคันธา
จำเดิมแต่พระวรนุชราชกุมารมาอยู่ด้วยนางสุวรรณคันธา ยักขทาสีได้นำภัตตาหารและคันธมาลามาถวายเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง และหาบอกแพร่งพรายแก่ใครไม่ ส่วนนางสุวรรณคันธาก็หาขึ้นเฝ้าพระราชบิดาไม่ ถึงกึ่งเดือนล่วงไป พระวรนุชกุมารก็เพลิดเพลินไปด้วยทิพย์โภชน์ และทิพย์สยนะและทิพย์ราคะ เลยลืมนึกถึงอนาคตภัย ได้สมัครสังวาสอยู่ในปราสาทกับนางสุวรรณคันธาสิ้นกึ่งเดือนล่วงไป
ท้าวสิงกูฏันตยักษ์ราชาไม่เห็นธิดามาเฝ้ากึ่งเดือนแล้ว จึงถามพวกทั้งหลายว่า ธิดาของเราเขาหายไปไหน จะมีโรคาพยาธิเป็นอย่างไรหรือ ทาสีทั้งหลายทำประหนึ่งว่ามิได้รู้ พากันนิ่งอยู่หาทูลว่ากระไรไม่ ครั้นถึงเวลาพลบค่ำ มหิสกรรณยักษ์ผู้เป็นกนิษฐ์แห่งนางสุวรรณคันธาเข้าเฝ้าท้าวสิงหกูฏันตยักษ์ผู้บิดา ๆ จึงตรัสถามว่า เชษฐภคินีพี่สาวของเจ้าเขาเจ็บไข้ไปหรือจึงไม่มาหาบิดา ข้าแต่เทวดา หม่อมฉันมิได้รู้ ถ้ากระนั้น เจ้าจงไปดูให้รู้แน่ ยักขกุมารอภิวาทแล้วไปยังปราสาทนางสุวรรณคันธา รับสั่งเรียกทาสีให้เปิดทวารให้ พวกยักขทาสีกระซิบพูดกันว่าพระกนิษฐาเสด็จมา ทาสีคนหนึ่งจึงรีบเข้าไปทูลแก่สุวรรณคันธาว่า พระกนิษฐาของพระองค์มาแล้ว พระวรนุชกุมารได้ฟังดังนั้น ฉวยพระขรรค์ทิพย์หลบอยู่ข้าง ๆ หนึ่ง ยักขกุมารมาถึงนั่งบนสยนอาสน์ จึงหาเห็นพระวรนุชไม่ ได้เห็นเชษฐภคินีมีอินทรีย์เศร้าหมองไม่ผ่องไส จึงไต่ถาม พระเจ้าพี่มีโรคอย่างใดหรือ ดูก่อนพ่อกนิษฐ์ โรคลมปวดศีรษะเกิดแก่พี่ พระราชบิดาปรารภถึงจึงรับสั่งใช้ให้น้องมาเยือนดู น้องรู้แล้วจะไปทูลพระราชบิดา ให้ท้าวเธอทราบ ยักขกุมารลงจากปราสาทไปทูลอาการโรคของนางสุวรรณคันธาให้พระราชบิดาทราบทุกประการ
คราวนั้น พวกยักขทาสีได้ปรึกษากันว่า ถ้าพวกเราปิดบังอำพรางไว้ไซร้ พระราชาทรงทราบความที่ธิดาสังวาสกับกุมารนี้แล้ว จักทำอะไรแก่กุมารเข้า ชีวิตพวกเราก็จะไม่มีต่อไป เพราะฉะนั้นไซร้ พวกเราควรจะทูลพระราชาให้ทราบเสียดีกว่า ปรึกษาเห็นพร้อมกันแล้วจึงพากันไปทูลพระยายักษ์ว่า พระเทวราช มีมนุษย์มาณพผู้หนึ่งเจริญรุ่น มีมหิทธิมหานุภาพยิ่งใหญ่ ได้มาอยู่ในปราสาทพระราชธิดาของพระองค์ มาณพมนุษย์เป็นบุตรของใคร นามกรชื่อไร มันมาแต่ไหน พระเทวราช ข้าพระบาทหาได้รู้จักภูมิประเทศและสกุลวงศ์มารดาบิดาของมนุษย์นั้นไม่ แต่มนุษย์นั้นไซร้นามว่าวรนุช ดังนี้พระเจ้าข้า
ยักขราชาโกรธาใหญ่ อุปไมยดังนาคราชมีผู้มีมาตีที่ขนดหางฉะนั้น แล้วดำริว่า มนุษย์หนุ่มน้อยนี้มีฤทธิ์มากไซร้ไฉนมาคนเดียวเล่า คิดแล้วรับสั่งให้หาตัวมหิสกรรณมาถามว่า เจ้ามหิสกรรณ เจ้าไปถึงปราสาทเชษฐภคินีแล้ว ได้เห็นอะไรแปลก ๆ บ้าง พระเทวราช ข้าพระบาทมิได้เห็น ยักขราชาจึงบอกความตามที่ยักขทาสีทูลนั้นแก่พระมหิสกรรณให้รู้แจ้ง แล้วจึงดำรัสว่า ดูก่อนเจ้ามหิสกรรณ เจ้าจงเอากล้องนี้ไปเป่าควันยา ในกาลเมื่อมนุษย์นิทราหลับอยู่ให้สลบไป แล้วจงเอาไปใส่กรงเหล็กขังไว้ให้ดี มหิสกรรณรับราชาณัติแล้วก็ไปจัดการเสร็จตามยักขราชาสั่ง แล้วกลับมาทูลยักขราชาว่า พระเทวราช โจรนั้นข้าพระบาทจับขังไว้ในกรงเหล็กแล้ว พระเจ้าข้า
ยักขราชาสดับแล้วมีความโสมนัสจึงดำรัสว่า วันรุ่งพรุ่งนี้เช้าเราจักไปดูให้รู้ว่าจะพึงทำแก่มนุษย์นั้น ดำรัสแล้วก็ทรงเฉยอยู่ ฝ่ายยักขกุมารจึงจับหัวหน้าทาสีที่พิทักษ์ปราสาทนางสุวรรณคันธาผูกมัดจำขังไว้ในที่แห่งหนึ่ง พระวรนุชกุมารเมาควันยาหารู้สึกพระองค์ไม่ ขณะนั้นไพรพฤกษเทวดาสี่องค์เล็งแลดูก็รู้ชัดว่าพระวรนุชถูกยักษ์จับมัดขังไว้ จึงได้ปรึกษาหารือกันว่า ควรพวกเราจะช่วยอุปถัมภ์พระวรนุชกุมาร ปรึกษาแล้วพากันไปสู่สำนักพระวรนุช เมื่อยักษ์ผู้รักษาพากันหลับสนิทอยู่ เทวดาสององค์ช่วยกันยกพระวรนุชกุมารทั้งกรงเหล็ก เทวดาองค์หนึ่งหยิบพระขรรค์และพระแสงศรไป เทวดาองค์หนึ่งจึงอุ้มนางสุวรรณคันธากับทั้งบัลลังก์ นำไปวางไว้ใกล้อาศรมพระอัคคิเนตรดาบสแล้วก็พากันกลับไป
ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า พระดาบสลุกออกไปนอกอาศรมบท เห็นกรงเหล็กนั้นตั้งอยู่แล้วนึกว่านี่อะไร เดินเข้าไปใกล้ได้เห็นพระวรนุชกุมารกับทั้งชายา จึงปลุกให้พระวรนุชตื่น พระวรนุชเมาควันยามากก็หาตื่นไม่ หลับไปสิ้นวันยังค่ำจึงตื่นขึ้น แล้วเหลียวซ้ายแลขวา นึกว่านี่อย่างไรหนอ แล้วปลุกให้นางสุวรรณคันธาตื่นขึ้น นางสุวรรณคันธาแลดูทิศานุทิศแล้วร้องเสียงดังว่า ไฉนเล่าเราจึงพากันมาอยู่ที่นี้ พระฤษีจึงมาเปิดประตูกรงให้ พระราชกุมารกับชายาเห็นพระเจ้าตาแล้วกราบไหว้ พระดาบสไต่ถามว่า เหตุไรท่านทั้งสองรามาถึงวิปปการะ ฉะนี้ พระราชกุมารกับชายาบอกว่าไม่รู้เลย แล้วเล่าความแต่ต้นจนไปถึงปราสาทของนางสุวรรณคันธาให้พระเจ้าตาดาบสฟังถ้วนถี่
เทพยดาสี่องค์เหล่านั้น จึงพากันมาบอกพระดาบสว่า ข้าแต่ดาบสผู้เจริญ ยักขราชาบิดาของนางสุวรรณคันธา รู้เรื่องว่าพระวรนุชเป็นภัสดาของนางสุวรรณคันธาก็โกรธใหญ่ ให้เป่าควันยาทิพย์ต้องพระวรนุช ๆ เมาหลับไป และให้จับขังไว้ในกรงเหล็ก รุ่งเช้าจะฆ่าเสีย เพราะฉะนั้น พวกข้าพเจ้าช่วยกันพาพระราชกุมารกับชายามาไว้ใกล้อาศรมพระผู้เป็นเจ้า บัดนี้เล่า ในยักขนครก็เอิกเกริกเป็นโกลาหล ยักขราชาให้จับพวกยักขทาสีพี่เลี้ยงมัดแขนไพล่หลังไว้และจักให้ฆ่าเสีย ดังนี้ แล้วเทวดาก็พากันหายไป
คราวครั้งนั้น ยักขบริษัททั้งหลายที่รักษาเรือนจำ ไม่เห็นพระราชกุมารกับกรงขังก็หายไป ตกใจปลุกเพื่อนกันขึ้น ต่างถามกันว่ากุมารหายไปไหน แล้วพากันเที่ยวแสวงหาทั่วไปในสรรพทิศจนตราบเท่าอรุณขึ้นมาก็หาไม่เห็น จึงพากันไปทูลแก่มหิสกรรณยักษ์ๆ ก็ตกใจ ไปเที่ยวค้นยังปราสาทนางสุวรรณคันธาก็ไม่พบ จึงกลับมาทูลความนั้นแก่พระยายักษ์ผู้บิดาว่า พระมหาราช กุมารกับนางเทวีหนีไปได้แล้ว ยักขราชาโกรธใหญ่ สั่งให้จับยักษ์ผู้รักษาฆ่าเสีย แล้วบังคับยักขเสนาว่า พวกเจ้าจงพากันไปค้นหาในทิศานุทิศ ถ้าพบแล้วกลับมาบอกเรา เหล่ายักขเสนาพากันตามไป จนถึงอาศรมบทพระอัคคิเนตรฤษี พบพระราชกุมารกับชายาอยู่ที่นั้น แล้วชวนกันมาทูลแก่ยักขราชา
พระยายักษ์ก็โกรธใหญ่ประกาศสั่งว่า พวกเจ้าทั้งหลายจงเนรมิตกายและศีรษะให้ต่างกัน รีบไปจับผูกพันมันฆ่าเสียให้ได้ เราจะติดตามไปเบื้องหลัง ครั้นยักขเสนาแปลงกายาสอดสวมนานาสราวุธแล้ว มาถวายบังคมพระยายักษ์อยู่พร้อมกัน พระยายักษ์นั้นตรวจพลยักขเสนาแล้วก็ให้ยกออกไป เสียงยักขโยธานั้นสนั่นหวั่นไหว อุปไมยดังเสียงลมยุคันธวาต ยักขเสนามาตย์ ก็ยกกองทัพล่วงหน้าไป จนถึงที่ใกล้อาศรมพระฤษี ร้องประกาศตวาดด้วยเสียงอันดังว่า พวกเราช่วยกันจับเจ้าวรนุชกุมารประหารตายแล้วจึงจักกลับมา
เสียงพวกกองทัพยักขเสนานั้น ดังสนั่นลั่นถึงอาศรมพระดาบส พระวรนุชราชโอรสได้สดับแล้วรับสั่งกับนางสุวรรณคันธาว่า ยักขโยธายกมามากหลาย เราจักคิดอ่านทำอย่างไรดี นางสุวรรณคันธาเทวีทูลว่า ข้าแต่เทวดา พระองค์ทรงเห็นอย่างไร จงทำตามอัธยาศัยของพระองค์เถิด พระวรนุชจึงอนุสรถึงอัสดรมโนมัย บัดเดี๋ยวใจมโนมัยก็มาถึง เห็นแล้วก็ดีใจไต่ถามว่า ข้าแต่เทวดา พระองค์เสด็จไปไหนมา กระหม่อมเที่ยวตามหาทั่วไปก็ไม่พบ พระวรนุชกุมารแจ้งว่า วันที่เรานิทราอยู่ขอบสระน้ำ นาคราชาพาเราไปนาคบาดาล ประทานลูกสาวของท่านให้เรา บัดนี้เราหนีแต่นาคพิภพมา เทวดาคุ้มเราทั้งหลับไปวางไว้ในปราสาทแห่งนางสุวรรณคันธาผู้นี้ เดี๋ยวนี้ยักขราชาผู้บิดาโกรธใหญ่ ให้จับเรากำลังหลับขังเรือนจำทำด้วยเหล็ก (กรงเหล็ก) ไว้แน่นหนา เทวดากรุณาช่วยยกกรงเหล็กกับตัวเราเอามาวางไว้ในสำนักพระดาบสผู้อัยกา ยักขราชาตามเรามาพร้อมด้วยยักขเสนามากมาย เราจึงเรียกให้พี่อัศดรมาหาดังนี้
พาชีได้ฟังดังนั้นทูลว่า พระองค์อย่าทรงวิตกย่นย่อเลย กระหม่อมฉันจักรบเอง ทูลแล้วก็เชิญพระวรนุชให้ขึ้นหลังของตน พาเหาะขึ้นบนเวหา ตรวจดูยักขเสนาเห็นมามากมาย แล้วทูลว่า ข้าแต่เทวดา ยักขบริษัทมามากเหลือล้น เราจะหลบให้พ้นไปที่ไหนดี พระวรนุชกุมารแกว่งพระขรรค์อธิษฐานว่า ถ้าว่าเราจักถึงชัยชนะไซร้ ขอให้มีภูเขาใหญ่เกิดขึ้น ณ บัดนี้ ขณะนั้นบรรพตลูกหนึ่งสูงสามโยชน์ก็ปรากฏขึ้นตั้งขวางอยู่เบื้องพักตรา ม้ามโนมัยก็ลงหยุดยืนบนยอดภูเขา พระราชกุมารเจ้าก็ลงจากหลังมโนมัย และได้ทรงแกว่งพระขรรค์อธิษฐานไปอีกว่า ขอให้กำแพงทิพย์ใหญ่จงเกิดล้อมรอบบรรพตไว้ให้แน่นหนา ทิพย์ปราการสูงตระหว่างถึงยอดบรรพตก็เกิดปรากฏขึ้นทันที
ยักขเสนาโยธาทั้งหลาย พากันเนรมิตกายเป็นมนุษย์ ศีรษะนั้นต่าง ๆ กัน คือ ศีรษะเป็นช้างม้าบ้าง เป็นศีรษะเสือและแรดสุนัขบ้าง เป็นศีรษะสุกรและวัวควายบ้าง มือถืออาวุธศรโตมรก้อนหิน และสากเหล็กฆ้อนเหล็ก มาทางอากาศพุ่งหัดศัสตราวุธไปเบื้องหน้า นานาวุธยุทธภัณฑ์เหล่านั้นไปกระทบถูกกำแพงทิพย์แล้วก็ตกลง ไม่อาจจะล่วงเลยพ้นกำแพงทิพย์ไปได้ พวกยักขบริษัทไม่อาจทำอันตรายแก่พระราชกุมารได้ และไม่สามารถจะปีนป่ายขึ้นไปถึงยอดบรรพต
ฝ่ายยักขราชาเนรมิตกายได้คาพยุตหนึ่ง จึงเนรมิตศีรษะสิบเศียร หน้าสิบหน้า พาหายี่สิบ ขึ้นนั่งบนคอนาฬาคิริหัตถีกรกุมนานาวุธมีดาบหอกธนูเป็นต้น คำรณร้องประกาศสั่งกองทัพว่า สูเจ้าจงช่วยจับผ่าอกและตัดมือเท้าเจ้าวรนุชขว้างมหาสมุทรเสียจงได้ ยักขราชากู่ก้องร้องมาทางอากาศ ดุจเสียงอสนีบาตนับได้แสน เห็นพวกยักขเสนาไม่กล้าเข้าใกล้ นึกแค้นใจจึงบันดาลให้เกิดลมและฝน ดุจดังยอดบรรพตให้ทลายลงไป ลมและฝนก็ระดมประดังพัดถอนกอไม้ไพรชัฏมาทั่วทั้งสี่ทิศ พระวรนุชยกทิพย์ศรและพระขรรค์แผลงต้านทานไว้ หอบลมฝนไปทิ้งเสียนอกจักรวาฬ
พระยายักษ์ยิ่งเดือดดาลใจ จึงเนรมิตมหาเมฆให้ตั้งขึ้นทำให้มืดมัวทั่วทิศ และเนรมิตฝนเป็นก้อนหินศิลา ฝนถ่านไฟและเท่ารึง เนรมิตเป็นนาคบ้างเป็นครุฑบ้าง ยักย้ายเป็นหลายท่าหลายทางน่าสยดสยอง พระวรนุชกุมารก็แผลงทิพย์ศรร่อนรบรับต้านทานไว้ได้ทุกอย่าง จนพระยายักษ์นั้นอ่อนใจลง พระวรนุชกุมารทรงเสี่ยงศรแผลงไปว่า ศรนี้จงไปผ่าอกพระยายักษ์ให้ม้วยมรณ์กาลบัดนี้ ศรก็ร่อนรำไปบนอากาศ ร้องประกาศก้องแล้วตรงรี่เข้าประหารอุระพระยายักษ์ ๆ ชักศรหาออกไม่ หนีกลับเข้าไปในนครนอนเหนือบัลลังก์ถึงซึ่งมรณาสัญ ยักขบริษัททั้งหลายนั้น บางพวกหนีไปยังหิมพานต์ บางพวกก็ทะยานเหาะขึ้นยอดภูเขา บางเหล่าก็หนีไปซ่อนอยู่ตามไพรวันและซอกบรรพต บางพวกก็หนีเข้าซ่อนอยู่ในห้องของตน ๆ ในกาลเมื่อยักขราชาสิ้นชีวาแล้ว พระขรรด์ศรก็กลับยังสำนักพระวรนุชกุมาร ๆ เผ่นขึ้นหลังม้าไปยังอาศรมพระฤษี แจ้งความที่มีชัยให้นางสุวรรณคันธาเทวีทราบทุกประการ
มหิสกรรณยักขกุมาร เห็นพระบิดาปราชัยน้อยใจนักหนา จึงไปหานางเกสมาลีผู้ราชมารดาทูลว่า พระแม่เจ้า ผัวนางสุวรรณคันธาเทวีมีฤทธาศักดาเดชมากหัก บังอาจฆ่าพระยายักษ์ผู้บิดาของข้าบาทเสียได้ ลูกแค้นใจนักจักขอทำยุทธกับผัวนางสุวรรณคันธา นางเกสมาลีห้ามมหิสกรรณไว้ว่า ดูก่อนพ่อ พ่ออย่างโทโสโกรธาไปเลย จงปลงศพพระบิดาของพ่อให้เสร็จไป พ่อจงเกณฑ์ยักขเสนาให้ทำนานาสักการและจิตตกรณ์แล้ว ไม่อาจจะยกอสุภพญายักษ์นั้นขึ้นได้ ยักษเสนาและหมู่ญาติทั้งหลาย มาช่วยกันยกอสุภก็ยกขึ้นไม่ไหว นางเกสมาลีมเหสีจรลีไปเชิญอสุภว่า พระเทวราชเชิญพระองค์เสด็จขึ้นจิตกรณ์เถิด พระเจ้าข้า อสุภพญายักษ์ก็หาสะเทือนไหวไม่ นางเกสมาลีมเหสีมีเสาวนีย์สั่งมหิสกรรณว่า พ่อจงรีบไปเชิญนางสุวรรณคันธาให้มาช่วยยกอสุภพระราชบิดา มหิสกรรณก็ไปเชิญนางสุวรรณคันธาเทวีตามเสาวนีย์พระมารดาสั่ง
นางสุวรรณคันธาเทวีจึงทูลพระวรนุชว่า ข้าแต่เทวดา พระราชบิดาของหม่อมฉันสิ้นชีวาลัย พระราชมารดารับสั่งให้หาหม่อมฉันไปเฝ้าพระลูกเจ้าจักเสด็จไปด้วยหม่อมฉันหรือไม่ พระวรนุชกุมารตรัสว่าพี่จักไปด้วย แล้วระลึกถึงม้ามโนมัย ๆ ก็เผ่นมาหาพระวรนุชกุมาร แจ้งอาการแก่มโนมัยแล้ว ทรงพระแสงขรรค์ศร ประทับหลังอัสดรกับนางสุวรรณคันธา เหาะไปทางอากาศถึงยักขนคร แล้วลงจากหลังอัสดรเสด็จขึ้นปราสาทพระราชมารดา ๆ ออกมาต้อนรับ เห็นธิดาของเธอแล้วตรงเข้ากอดรัดปริเทวนา นางสุวรรณคันธากอดบาทาราชมารดาโศการ่ำไห้ พระวรนุชกุมารอภิวาทแล้วประทับอยู่ หมู่ยักขเสนาและมหิสกรรณกนิษฐ์เห็นแล้วก็ตกใจกลัว พากันอภิวาทพระราชกุมารและนางสุวรรณคันธา
นางเกสมาลีดำรัสแก่นางสุวรรณคันธาเทวีว่า แม่จงเข้าไปยกศพพระบิดา นางสุวรรณคันธาเทวีก็ไปถวายอภิวาทบาทยุคลพระราชบิดาขอขมาโทษ แล้วจึงยกพระศพราชบิดา ๆ ก็หาเคลื่อนเขยื้อนไม่ พระวรนุชกุมารจึงเข้าไปอภิวาทพระศพว่า พระบิดาได้ผูกเวรในข้าพระองค์ไว้ โทษผิดนั้นยังมีอยู่ ขอพระองค์จงอดโทษนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ขมาศพแล้วก็ยกพระศพนั้นขึ้นใส่ในโกศได้ แล้วให้เคลื่อนพระโกศไปตั้งไว้ ณ จิตตกรณ์ พวกยักษ์ที่มาสโมสรมีอัครมเหสีเป็นอาทิก็ปีติโสมนัสชมเชย ชมพระวรนุชว่ามีมหิทธิสมควรจะครองราชสมบัติเมืองนี้ได้ จึงพร้อมกันประชุมเพลิง ณ จิตตกรณ์
เมื่อเสร็จการฌาปนกิจแล้ว นางเกสมาลีมเหสีเรียกยักขเสนามาปรึกษาว่า เราจักยกราชสมบัติให้ผู้ใดปกครองต่อไป ในที่ประชุมยักขเสนาทูลว่า ราชสมบัตินี้เป็นของพระแม่เจ้า ๆ เห็นผู้ใดสมควรแก่ราชสมบัติแล้ว จงประทานให้แก่ผู้นั้นได้ไม่ขัดขวาง นางเกสมาลีมีเสาวนีย์ว่า พระวรนุชกุมารภัสดาของนางสุวรรณคันธาเขามายกอสุภขึ้นจิตตกรณ์ได้ เราจักให้ราชสมบัติแก่พระวรนุช พวกท่านจะเห็นเป็นอย่างไร ยักขเสนาและยักษ์ญาติทั้งหลายพร้อมใจกันทุกตนรับรองว่าชอบว่าควรแล้ว
นางเกสมาลีมเหสีจึงให้ทำโรงมงคลพิธี และให้ประดับด้วยนานาลังการ ให้ปูลาดอาสนะกั้นม่านงามไพจิตรติดเพดานดาวล้อมเดือนงามพราวแพรว และให้ขนแก้วและเงินทองมากองไว้ ครั้นรุ่งขึ้นวันใหม่ หมู่เทพยดาและยักษ์ก็พากันมานั่ง ณ อาสนะอันสมควร ส่วนราชมารดาพาสองกษัตริย์มาให้สถิตเหนือรัตนราสี ทำมุทธาภิเษกพิธีอวยพรชัย มอบราชสมบัติให้สองกษัตริย์เสร็จ ตั้งแต่นั้นมาพระราชกุมารจึงมีพระนามว่าวรนุชราชา นางสุวรรณคันธาเทวีก็ได้ดำรงอยู่ในที่อัครมเหสีเป็นใหญ่ยิ่งกว่านารีหมื่นหกพัน พระวรนุชราชานั้นครองราชสมบัติเสวยทิพย์สุขกับราชเทวีสิ้นสามปีแล้วเลยลืมนึกถึงพระราชมารดาไป
ฝ่ายม้ามโนมัยเห็นพระวรนุชราชาหลงใหลอยู่กับนางสุวรรณคันธา วันหนึ่งจึงทูลเตือนพระวรนุชราชาว่า ข้าแต่เทวดา พระองค์ทรงเสวยทิพยสุขเพลิดเพลินไป ช่างไม่ระลึกถึงพระมารดาบ้างเลย พระวรนุชราชาได้ฟังคำม้าทูลดังนั้นแล้วดำริว่าม้าพาชีเขาพูดจริงทีเดียว เราควรจะไปหาพระมารดา ดำริแล้วจึงทูลและแจ้งเหตุที่จะไปแก่นางเกสมาลีราชมารดาและนางสุวรรณคันธาเทวี ๆ มีหฤทัยดังหนึ่งจะทำลายไป จึงวิงวอนห้ามไว้จะมิให้เสด็จไป พระวรนุชราชาทูลนางเกสมาลีว่า ข้าแต่มารดา หม่อมฉันหนีพระยาอัคคิสิขยักษ์พระราชบุตรีผู้บิดามารดาเลี้ยงมา หวังว่าจักไปให้พบพระมารดาผู้บังเกิดเกล้า เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจักทูลลาพระมารดาและขอฝากนางสุวรรณคันธาไว้ จะไปกับม้า ได้พบพระมารดาแล้วก็จะกลับมาต่อภายหลัง นางสุวรรณคันธาได้ฟังแล้วทูลขอตามไปด้วย พระวรนุชราชาห้ามว่าอย่าไปเลย ทางไปในมหาวันลำบากมากด้วยภยันตราย เมื่อใดพี่ไปพบพระมารดาแล้ว เมื่อนั้นพี่จักกลับมารับน้องไปเฝ้าพระมารดา
พระวรนุชราชาปลอบนางสุวรรณคันธา บังคมพระมารดาแล้วพระกรกุมพระขรรค์ศรไปสู่สำนักอัสดร แล้วตรัสว่า แน่ะพี่ม้า ข้าจักไปเสาะหาพระมารดา ยังม้าให้กำหนดทิศทางแล้วรับสั่งกะพวกยักขเสนาว่า ท่านทั้งหลายจงอย่าประมาท จงช่วยกันพิทักษ์รักษาพระราชมารดาและมหิสกรรณกับนางสุวรรณคันธาเทวีของเราไว้ให้ดี รับสั่งดังนี้เสร็จก็เสด็จขึ้นหลังม้า ม้าก็พาเหาะขึ้นอากาศภิมุขหมายต่อทิศบูรพา ถึงเวลาเย็นก็ลงหยุดประทับแรมที่รุกขมูล ครั้นรุ่งขึ้นวันใหม่จึงทรงม้า เสด็จต่อ ๆ ไปนับได้ ๗ ทิวาราตรี ฝ่าลมและแดดฝน ข้ามพ้นนานาวันและบรรพตนานานที จนกระทั่งถึงนครธานีของพระราชมารดา จึงกำหนดจิตคิดว่านี่เป็นเมืองของมารดาแน่ละ
พระวรนุชราชาสนทนาปราศรัยกับม้าว่า เมืองนี้งดงามดี มีมหานทีล้อมอยู่ชั้นนอก ชั้นในระยับไปด้วยรัตนปราสาท มีสวน สระและถนน บริบูรณ์ด้วยไม้ผลและไม้ดอกออกดาษดื่นระดะอุดมดูก็น่าสมคำพระเจ้าตาดาบสบอกไว้ว่าพระเชษฐาสร้างนครใหญ่ไว้ให้เป็นที่อยู่ของพระชนนี นี่จักเป็นนครของพระมารดาเราแน่ละ เราจักลงหยุดอยู่ภายนอกนครคอยรอถามมหาชนเขาดูก่อน แล้วให้อัสดรลงจากอากาศแล้วประทับอยู่ที่ศาลาหลังหนึ่ง ณ ภายนอกพระนคร
มหาชนสัญจรไปนั่งพูดกันเล่นที่ศาลา พระวรนุชราชาตรัสถามมหาชนว่า นครนี้เขาเรียกว่าเมืองอะไร ดูก่อนพ่อ นครนี้เป็นนครใหม่ พระวรเนตรนรินทรสร้างถวายพระราชมารดา มีนามว่าสากลนคร ก็พระราชมารดานั้นพระนามว่ากระไร พระราชมารดาพระนามว่าสุภัททเทวี นางสุภัททเทวีนั้นเดิมท่านอยู่ที่ไหน และได้มาอยู่ที่เมืองนี้แต่ครั้งไร มหาชนก็เล่าความลำดับแต่ต้นมาว่า นางสุภัททาเทวีเป็นราชบุตรีกินนรี ได้เป็นมเหสีท้าวเจตราช ประสูติโอรสคราวเดียวกัน ๒ องค์ มเหสีองค์อื่นแกล้งใส่โทษ ให้เอารูปท่อนไม้เปลี่ยนแทนไว้ แล้วเอาโอรสใส่หีบฝังเสียองค์ ๑ เอาโอรสใส่หม้อลอยน้ำเสียองค์ ๑ โอรสองค์ที่ถูกฝังเทวดาเลี้ยงไว้ให้ขนานนามว่าวรเนตร ส่วนนางสุภัททาเทวีต้องหาว่าเป็นกาลกรรณี ถูกพระราชาให้ใส่แพลอยน้ำเสีย เทวดาเก็บเอาไว้ให้อยู่ที่เกาะกลางสมุทร พระราชบุตรวรเนตรครั้นเจริญวัยได้ตามมาพบพระราชมารดาถึงที่นี้ จึงสร้างนครขึ้นถวายพระราชมารดา พระกุมารผู้เชษฐาจึงมีนามปรากฏว่าวรเนตรราชา
พระวรนุชราชาสดับความแล้วตรัสว่า โอรสที่ถูกใส่หม้อลอยน้ำนั้นคือตัวเรานี่เอง ทำไฉนเล่าเราจักได้พบพระมารดา ข้าแต่เทวดา ถ้าพระองค์ใคร่จะพบพระมารดาไซร้ จงไปหาอำมาตย์ เล่าให้เขาฟังเถิดพระเจ้าข้า พระวรนุชราชาได้ประทับแรมอยู่ที่ศาลานั้นราตรีหนึ่ง ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง ม้ามโนมัยก็เที่ยวไปในทิศต่าง ๆ มหาชนเห็นม้ามโนมัยช่วยกันไล่ตามจับ ก็หามีใครสามารถจับมโนมัยนั้นได้ไม่ มหาชนก็รีบไปทูลแก่พระวรเนตรราชาว่า ข้าแต่เทวดา ม้าตัวหนึ่งเที่ยวอยู่นอกเมือง ชนหลายคนไม่อาจจับได้ พระวรเนตรราชารับสั่งว่า ถ้ากระนั้นให้นายอัสสาจารย์ปล่อยอัสดรของเราไปฟังดู มหาชนรับราชดำรัสแล้วไปสู่โรงม้า บอกเนื้อความนั้นแก่นายอัสสาจารย์ ๆ บอกเนื้อความนั้นแก่อัสดร
ม้าอัสดรนั้นออกไปนอกเมืองพบม้ามโนมัยแล้วถามว่า ข้าแต่พี่ พี่มาแต่ไหน ฉันมาแต่เมืองยักษ์ พี่มากับใคร มาด้วยกิจธุระสิ่งไร ฉันมากับเจ้านายของฉัน ๆ นั้นพลัดมารดา มาเที่ยวตามหาพระมารดา ก็เจ้านายของพี่นั้นนามชื่อไร ชื่อวรนุชกุมาร พระมารดาของวรนุชกุมารนั้นพระนามชื่อไร พระนามว่าสุภัททาเทวี เหตุไรพระวรนุชกับพระมารดาจึงพลัดกันเล่า ม้ามโนมัยได้เล่าความแต่ต้นจนปลายให้ม้าอัสดรฟังถ้วนถี่
อัสดรพาชีตอบว่า ถ้ากระนั้น เจ้านายของพี่คงจักเป็นโอรสเจ้านายของข้าพเจ้า เดี๋ยวนี้ท่านอยู่ที่ไหนเล่า อยู่ ณ ศาลาโน้น ถ้ากระนั้นท่านจงไปบอกเจ้านายของท่าน แม้ข้าพเจ้าก็จักไปบอกเจ้านายของข้าพเจ้า พูดกันแล้วจึงกลับเข้าไปยังนคร ตรงไปสู่โรงม้าบอกแก่อำมาตย์ผู้เลี้ยงม้าว่า ข้าแต่อำมาตย์ผู้เจริญ ท่านจงไปยังราชสำนักกราบทูลพระราชาว่า เดี๋ยวนี้มีราชบุตรนามว่าวรนุชกุมาร เสด็จมาไกลเที่ยวค้นหาพระมารดา นามพระมารดานั้นคล้ายกับนามพระราชมารดาของพระราชาของเรา เหตุที่พลัดพรากจากกันนั้นก็คล้ายกับวิโยคของเจ้านายของเรา พูดดังนี้แล้วจึงส่งให้อำมาตย์นั้นไป
อมัจจปาลนั้นเข้าไปเฝ้าพระราชา กราบทูลให้ทรงทราบตามคำม้าอัสดรนั้นบอกเล่า พระวรเนตรราชาดำรัสถามว่า ราชบุตรอยู่ที่ไหน รีบเสด็จไปยังสำนักอัสดรดำรัสถามม้าว่า แน่ะพี่พาชี เดี๋ยวนี้ราชบุตรเสด็จมาอยู่ที่ไหน ข้าแต่เทวดา พระวรนุชกุมารราชกนิษฐาประทับอยู่ ณ ศาลาแห่งหนึ่ง เพื่อคอยหาพระองค์กับพระราชมารดา ถ้ากระนั้น พี่พาชีจงพาเราไปเดี๋ยวนี้ รับสั่งแล้วให้ประดับอัสสาภรณ์เสร็จ เสด็จประทับยังหลังม้าอันหมู่อำมาตย์แวดล้อม ออกนอกพระนครถึงศาลานั้นแล้ว เสด็จลงจากหลังม้าปรารภจะเข้าไปในศาลา
พระวรนุชกุมารทอดพระเนตรพระเชษฐาแล้วดำริว่า ผู้ที่ขี่ม้ามานี้จักเป็นพระภาติกราชของเราแน่ แล้วอฏฐาการเสด็จไปหมอบลงแทบบาทมูลพระวรเนตรราชา ๆ ให้พระสิเนหาในราชกนิษฐาเกิดขึ้นแล้วตรัสถามว่า แน่ะราชบุตร เธอชื่อไร ข้าแต่เทวดา หม่อมฉันนามว่าวรนุชกุมาร พระมารดาของเธอพระนามชื่อไร พระนามสุภัททาพระเจ้าข้า พระภาติกะของเธอนามชื่อไร พระนามว่าวรเนตร เทวดาเลี้ยงไว้ ก็เธอใครเลี้ยงเล่า พระวรนุชกุมารจึงทูลความแต่ต้นมาแล้วกรรแสงไห้ พระวรเนตรราชาทราบว่าเป็นราชกนิษฐาแล้วตรงเข้าสวมกอด ทรงกรรแสงมีประการต่าง ๆ แล้วพาราชกนิษฐาไปยังปราสาทราชมารดา ทูลเหตุการณ์ทั้งปวงให้ทรงทราบทุกประการ
พระนางสุภัททาราชมารดา ทอดพระเนตรวรนุชกุมารแล้วมั่นพระทัยว่า พระกุมารทั้งสององค์มีรูปทรงสัณฐานก็ปานกัน เป็นโอรสของเราแน่ทีเดียว แล้วสวมกอดสองราชโอรสกำสรดปริเทวนาว่า เราเทียวแหละเป็นกาลกรรณี แต่มีโอรสเทวดาเลี้ยงไว้ ได้มาพบเห็นกัน ณ บัดนี้ พระวรเนตรราชาทรงแผลงศรทิพย์ไปแล้วอธิษฐาว่า ขอทิพยวิมานองค์หนึ่งจงบังเกิดขึ้น ทิพยวิมานองค์ซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ก็เกิดขึ้น พระวรเนตรราชาประทานทิพยวิมานนั้นแก่พระวรนุช และอภิเษกพระวรนุชในตำแหน่งอุปราชา
ครั้นกาลนานมา พระวรนุชกุมารนั้นดำริว่า เราจากนางสมุททชาเทวีมานานนัก จักไปพานางสมุททชานั้นให้มาปรนนิบัติพระราชมารดาก่อน ครั้นแล้วจะไปรับนางสุวรรณคันธามาภายหลัง ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง จึงพระวรนุชเสด็จไปเฝ้าพระราชมารดาทูลว่า หม่อมฉันได้นารีไว้ ๒ นาง นางหนึ่งชื่อสมุททชา เป็นราชธิดาพระยานาค อยู่ ณ นาคพิภพ หม่อมฉันหนีเขามา อีกนางหนึ่งชื่อสุวรรณคันธาเป็นราชธิดาพระยายักษ์ หม่อมฉันฝากพระยายักษ์ไว้ บัดนี้หม่อมฉันจักขอลาไปรับนางสมุททชาให้มาปรนนิบัติพระมารดา ครั้นพระราชมารดาและพระภาติกราชอนุญาตแล้ว ทรงศรทิพย์เสด็จไปยังโรงม้า มิได้เห็นมโนมัย แท้จริงมโนมัยนั้นเร่าร้อนด้วยราคะ ออกจากโรงไปยังหิมวันตประเทศ เที่ยวอยู่กับหมู่อัสดรด้วยกัน พระวรนุชกุมารนั้นทรงโทมนัสดำริว่า เราผู้เดียวจะไปอย่างไรได้
คราวครั้งนั้น มีเศวตหัตถีตัวหนึ่งออกจากตระกูลอุโบสถเที่ยวมาตามลำดับ ได้มาอาศัยอยู่นอกพระนคร เมื่อพระวรนุชกุมารทรงดำเนินออกจากนครครั้งนั้น เศวตกุญชรเห็นแล้วก็ดีใจตรงเข้าไปใกล้แล้วถามว่า ข้าแต่เทวดาพระราชกุมารจะเสด็จไปไหน ดูก่อนพี่กุญชร เราจักไปยังนาคพิภพ ถ้ากระนั้นเชิญขึ้นประทับหลังข้าพระองค์ๆ จักพาพระองค์ไป พระยาคชสารน้อมหลังลงให้พระราชกุมารทรงประทับแล้ว จึงแหวกแผ่นดินไปครู่หนึ่ง ก็บรรลุถึงนาคพิภพ ยืนอยู่ ณ นาคอุทยานแล้วทูลว่าที่นี้เป็นนาคพิภพ เชิญพระองค์เสด็จลงจากหลังข้าพระองค์เถิด ดูก่อนกุญชร ทำไมท่านจึงกล่าวว่าที่นี้เป็นนาคพิภพเล่า อันที่จริงนาคพิภพไกลเหลือเกิน ข้าพระองค์ ข้ารู้จักทางตรง ทรงทอดพระเนตรไปได้เห็นทิพยวิมานแล้วก็จำได้ ทรงเชื่อแล้วเสด็จลงจากหลังคชสารตรัสว่า พี่กุญชรท่านจงอยู่ที่นี้ก่อน แล้วก็ดำเนินไปยังนาควิมาน นางนาคมาณวิกาเห็นพระวรนุชเสด็จมาก็พากันดีใจ บอกแก่กันว่า พระลูกเจ้าเสด็จมาแล้วดังนี้ ลางนางก็ไปทูลแก่นางสมุททชา ลางนางก็รีบไปทูลพญานาค นางสมุททชาเทวีดีพระทัยมาอภิวาทน์ แล้วพาพระวรนุชไปยังสำนักราชมารดาบิดาของนาง พระวรนุชกุมารอภิวาทน์ราชมารดาบิดานางสมุททชา แล้วประทับอยู่ ท้าววรุณนาคราชประภาษถามว่า พ่อไปพบพระมารดาแล้วหรือ พระเจ้าข้า พบพระมารดาแล้ว พระมารดาของพ่ออยู่ที่ไหน พระวรนุชกุมารจึงทูลความตามลำดับว่า ข้าพระองค์ออกจากนาคพิภพนี้ไปในป่ามหาวัน ไสยาสน์อยู่ ณ รุกขมูลแห่งหนึ่ง เทวดาพาข้าพระองค์ไปวางไว้ ณ ปราสาทยักขธิดา ครั้นตื่นขึ้นตกใจจะหนีไป ยักขธิดาจับข้าพระองค์ไว้เลยได้อยู่สมัครสังวาสกับข้าพระองค์ ยักขราชาทราบความแล้วจับข้าพระองค์กำลังหลับอยู่ไปขังในเรือนจำ เทวดาได้กรุณาพาข้าพระองค์กับทั้งเรือนจำนำไปส่งไว้ ณ สำนักพระเจ้าตาดาบส ๆ เห็นแล้วปลุกให้ตื่นขึ้น มิทันนานเท่าใด ยักขราชาตามไปถึง ทำยุทธกับข้าพระองค์ ๆ ปลงพระขนม์พระยายักษ์ด้วยทิพย์ศร ยักขราชเทวียกราชสมบัติให้แก่ข้าพระองค์ ๆ ครั้นระลึกถึงพระมารดา จึงพร้อมด้วยพาชีเหาะไป ได้พบนครหนึ่งจึงหยุดอยู่นอกนคร อัสดรกับม้ามโนมัยพบกันเข้า เขาเล่าเรื่องราวให้กันฟัง เหตุนั้นก็ทราบถึงพระภาติกราช ๆ ได้เชิญข้าพระองค์ไปยังสำนักพระมารดา พระภาติกราชประทานตำแหน่งอุปราชาแก่ข้าพระองค์ ๆ ระลึกถึงนางสมุททชาจึงมาหาด้วยประการฉะนี้
ท้าววรุณนาคราชจึงส่งพระวรนุชไปยังสำนักนางสมุททชา ครั้นอยู่มาได้หกเจ็ดวัน พระวรนุชนั้นระลึกถึงพระมารดา จึงทรงพระขรรค์ศรแล้วพานางสมุททชาเข้าเฝ้าพระมารดาบิดา ทูลลาแล้วออกจากนาควิมานไปยังสำนักกุญชร พระวรนุชกับนางสมุททชาประทับหลังพญากุญชร ๆ พาไปจนถึงนครของพระราชมารดา ให้พญาคชสารไปอยู่ ณ โรงช้าง แล้วพานางสมุททชาไปเฝ้าพระราชมารดาและพระราชภาติกราช พร้อมกันถวายอภิวาทเสร็จจึงเสด็จพานางสมุททชาไปทิพย์วิมานของพระองค์ ทรงเสวยกามสุขด้วยบริวารนาฏกิตถี
ครั้นกาลนานมา พระยามโนมัยกลับมาแต่หิมวันตประเทศ เข้าไปอยู่ในโรงม้า แท้จริง ม้าอัสดรและกุญชรหัตถีกับพาชีมโนมัยหาได้ผูกล่ามขังไว้ไม่ ปล่อยไว้เป็นนิตย์ สัตว์ทั้งสามปรารถนาจะไปไหนก็ไปได้ตามความพอใจของตน
ฝ่ายว่าพระวรนุชอุปราชา ระลึกถึงนางสุวรรณคันธายักขราชธิดาแล้วดำริว่า เราควรจะไปรับนางสุวรรณคันธาให้มาอยู่ที่นี้ จึงไปทูลลาพระราชมารดาและพระเชษฐา แล้วทรงพระขรรค์เสด็จไปยังสำนักมโนมัย ตรัสว่า พี่มโนมัย เราจักไปเมืองนางสุวรรณคันธาเพื่อไปรับนางมา ให้มโนมัยกำหนดทิศทางที่จะไปแล้ว เสด็จขึ้นประทับหลังพาชีมุ่งต่อบุรียักษ์เสด็จไปโดยอากาศ ครั้นถึงจึงลงจากหลังม้าเข้าไปประทับอยู่ ณ ศาลานอกเมืองก่อน มโนมัยได้คิดว่า เราจักให้ยักษ์ทั้งปวงรู้เหตุที่เจ้านายเราเสด็จมา จึงเปล่งสำเนียงเสียงดังใหญ่กึกก้องไปทั่วสกลนคร
นางสุวรรณคันธาราชเทวี ได้ยินเสียงพาชีร้องก็ทราบชัดว่าภัสดาของเรามาแล้ว เรียกทาสีสั่งให้ช่วยกันประดับรัตนบัลลังก์และปัดกวาดชำระสรรพการงานไว้ให้เรียบร้อยดี พวกยักษ์ที่มาเฝ้าเห็นพระวรนุชกุมารก็จำได้ พากันไปเฝ้ากราบทูลพระยายักษ์ให้ทรงทราบ ยักขราชารับสั่งให้พวกยักษ์ไปทูลแก่ราชมารดาและมเหสี ฝ่ายนางเกสมาลีราชมารดารับสั่งให้พวกยักษ์จัดเตรียมยานพาหนะไว้ จะไปรับพระวรนุช ครั้นพวกยักษ์จัดการเสร็จ พระนางเธอจึงให้หาตัวมหิสกรรณราชามาแล้วตรัสว่า พ่อมหิสกรรณ พระวรนุชพี่เขยของพ่อมาถึงแล้ว เราจักพร้อมกันออกต้อนรับ แล้วพร้อมด้วยราชมเหสีและราชกนิษฐ์มีพวกทาสและแวดล้อม เสด็จไปนอกพระนครจนบรรลุถึงศาลานั้น
พระวรนุชกุมารทอดพระเนตรนางเกสมาลีราชมารดา จึงเสด็จออกจากศาลาถวายอภิวาทแล้ว เชิญเสด็จให้เข้าไปในศาลา นางสุวรรณคันธากับมหิสกรรณถวายอภิวันทน์แล้วตามเข้าไปในศาลา นางเกสมาลีราชมารดาดำรัสถามพระวรนุชว่า ดูก่อนพ่อ พ่อเที่ยวหาพระมารดาพบแล้วหรือ พระวรนุชกุมารกราบทูลว่า ข้าพระองค์เที่ยวเสาะหาไปตามซอกภูเขาและเนาไพร ได้เห็นเกาะกลางสมุทรแห่งหนึ่ง มีนครใหญ่งดงามเหมือนดาวดึงส์ จึงนั่งพักอยู่ศาลานอกเมือง มหาชนเห็นข้าพระองค์แล้วก็มาหา ข้าพระองค์ไต่ถามนามพระราชาและนามราชมารดา มหาชนเขาบอกว่า พระราชานามว่าวรเนตร ราชมารดานามว่าสุภัททา สนทนาปราศรัยกันจนได้ความแจ้งชัด มหากษัตริย์วรเนตรทรงทราบเสด็จออกไปรับข้าพระองค์ พาเข้าเฝ้าพระราชมารดา เล่าเรื่องราวแต่หนหลังมา ด้วยประการฉะนี้
นางเกสมาลียักขเทวีมีความโสมนัสตรัสว่า พ่อได้ล่วงลุสมความปรารถนาแล้ว เชิญพ่อเข้าไปยังนครของเราเถิด แล้วเชิญให้พระวรนุชขึ้นประทับราชรถ ให้ยักขเสนาบดีแวดล้อมนำเสด็จขึ้นราชมนเทียรเชิญให้เสวยนาคัครสโภชนะแล้วจึงกลับไปยังที่อยู่ของตน พระวรนุชกุมารเสด็จขึ้นสู่สยนาสนะแล้ว มีหมู่นาฏกิตถีแวดล้อมเป็นบริวาร เสวยทิพย์สุขแสนสำราญปานดังท้าวสักกะฉะนั้น
ก็แหละในคราวนั้น มียักขราชาผู้หนึ่งอยู่ ณ กุกกุฏสีสบรรพต มีฤทธาศักดานุภาพใหญ่ ได้ทราบว่ามนุษย์มาณพคนหนึ่งครอบครองสมบัติอยู่ ณ สีหกูฏนคร จึงดำริว่า เราจักไปยังนครนั้นชิงเอานครครองราชสมบัติเสีย คิดแล้วจึงเรียกยักขเสนามาสั่งว่า สีหกูฏกันตยักษ์ราชา ณ สีหกูฏนครสิ้นชีพไปแล้ว มีมนุษย์ผู้หนึ่งมาครอบครองราชสมบัติ ณ เมืองนั้น เพราะเหตุนั้นเราจักไปชิงเอาเมืองนั้น จับมนุษย์ราชาฆ่าเสียให้ได้แล้วจักเสวยรัชสุขในเมืองนั้น พวกท่านจงประกาศให้ยักขเสนารู้ทั่วกัน เราจักยกพลไปโดยเร็วพลัน ณ คำรบเจ็ดวัน ยักขเสนาทั้งหลายนั้นรับว่าสาธุดังนี้ แล้วประกาศป่าวร้องยักขบริษัทให้ทราบตามพระยายักษ์บัญชา ครั้นถึงวันคำรบเจ็ด ยักขบริษัทมาประชุมพร้อมกัน กุกกุฏยักขราชาตรวจตรายักขเสนาแล้ว สั่งให้ยกล่วงหน้าไปก่อน ยักขเสนาทั้งปวงโห่ร้องก้องสนั่นไปครั้นถึงจึงล้อมสีหกูฏนครไว้ถึงเจ็ดชั้น กุกกุฏยักขราชายกกองทัพยักขเสนามาถึง จึงส่งสาส์นเข้าไปให้นางเกสมาลียักขเทวีว่า ดูก่อนนางเกสมาลี ท่านจะให้ราชสมบัติหรือจะให้ยุทธสงครามกัน ตัวท่านเป็นหญิงหม้าย จงเป็นภรรยาของเรา จงให้ธิดาของท่านแก่ลูกชายของเรา ถ้าว่าท่านขัดขืนไม่ยอมไซร้ นครของท่านจะพินาศไปในกาลบัดนี้
นางเกสมาลียักขเทวีทราบสาส์นแล้ว จึงรับสั่งให้หามหิสกรรณราชบุตรและพระวรนุชราชามาปรึกษากันว่า กุกกุฏยักขราชาส่งสาส์นมาว่าอย่างนี้ เราจักคิดอ่านประการใดดี ราชกุมารเหล่านั้นทูลนางเกสมาลีว่า พระมารดาอย่าปริวิตกไปเลย หม่อมฉันจักช่วยกันรบ แล้วส่งสาสนตอบว่า ดูก่อนกุกกุฏยักขราชา เราจักรบกับท่าน ๆ อย่าได้ประมาทนอนใจเลย แล้วสองราชกุมารกลับยังปราสาทของตน เหน็บยุทธาวุธแล้วเรียกยักขเสนามาสั่งให้เตรียมยักขพลนิกายให้พร้อมกัน ยักขบริษัทจัดเตรียมยุทธาวุธแล้วมาประชุมพร้อมกัน ณ หน้าพระลานหลวง
คราวนั้น มหิสกรรณราชเหน็บนานาวุธแล้วตรวจตราพลนิกายแล้ว เป็นนายกองพลยกออกนอกนคร ทำเสียงมหาโกลาหล ฝ่ายพระวรนุชอุปราชา ทรงพระขรรค์ทิพย์และพระแสงศรแล้วระลึกถึงม้ามโนมัย ๆ มาน้อมหลังให้พระวรนุชทรงประทับ แล้วม้ามโนมัยพาเหาะไปยังยอดบรรพต พระวรนุชหยุดประทับมั่นแล้วทรงแผลงศรทิพย์ไป เสียงทิพย์ศรดังสะท้านปานดังอสนีบาต ยักขปรปักษ์เสนาพลนิกายพากันตกใจ อาวุธถืออยู่กับมือก็หลุดร่วงไปหมดทุกตน กุกกุฏยักขราชาก็คำรณเร่งให้พลยักษ์ระดมยุทธเข้าไป ยักขเสนาทั้งสองฝ่ายต่างรบพุ่งกันเป็นสามารถ อัศวราชมโนมัยโดดขึ้นยังอากาศ ตรงเข้าถีบเตะปรพลปรเสนาด้วยเท้าของอาตมา ปรปักษ์ยักขพลนิกายก็แตกกระจายไป บางพวกก็ตาย บางพวกก็ลำบาก บางพวกก็หนีไปได้ กุกกุฏยักขราชาเห็นพลเสนาพากันหนีไป ยิ่งโกรธาใหญ่ แผลงอาวุธศรไป อาวุธศรก็กลับกลายเป็นฝนห่าใหญ่ตกลงมา พระวรนุชอุปราชาแผลงศรให้เป็นกองลมใหญ่หอบเอานานาวุธนั้นไปทิ้งเสียในสมุทร ยักขราชาแผลงศรให้เป็นไฟพุ่งออกจากปาก ไฟนั้นก็เป็นควันคลุ้มมืดไปทั่วอากาศ พระวรนุชราชกุมารจึงแผลงศรให้เป็นน้ำพุ่งออกจากปาก น้ำนั้นก็บันดาลตกลงมาท่วมป่า ไหลหลั่งพังพัดมาทั่วทิศ ปรปักษ์ยักขเสนาและยักขราชาถูกกระแสน้ำพัดพาลอยไป จนบรรลุถึงกุกกุฏนครของตน ฝ่ายพระวรนุชกับมหิสกรรณราชาก็ให้เลิกพลโยธายกกลับเข้าสู่พระนครของพระองค์ ด้วยประการฉะนี้แล
แท้จริง เมื่อพระวรนุชราชาเสด็จไปยังยักขนคร เพื่อจะรับนางสุวรรณคันธา คราวนั้น พระยาช้างเผือกเมื่ออยู่ในมงคลศาลาร่มร้อนด้วยราคะเป็นกำลัง คืนวันหนึ่งจึงออกจากโรงช้างเที่ยวไปในป่า ตามหาฝูงช้างไปจนถึงแดนกาสิกราษฐ คราวนั้นคนเลี้ยงช้างลุกขึ้นในเวลาราตรีมิได้เห็นมงคลหัตถี ตกใจเที่ยวค้นหาไปทั่วสกลนครก็ไม่พบ ครั้นรุ่งเช้าจึงเข้าเฝ้ากราบทูลพระวรเนตรราชาว่า ข้าแต่เทวดา พญามงคลหัตถีหายไปแล้ว ข้าพระองค์เที่ยวตามหาทั่วเมืองแล้วก็มิได้พบ พระเจ้าข้า พระวรเนตรราชาจึงรับสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงพากันไปเที่ยวตรวจค้นดูภายนอกเมือง พวกเฝ้าช้างก็พากันไปค้นหาทั่วแล้ว แม้แต่รอยเท้าก็หาพบไม่ จึงพากันกลับมากราบทูลพระวรเนตรราชา
ครั้งนั้น พระวรเนตรราชารับสั่งหาตัวอำมาตย์ผู้เลี้ยงม้า ตรัสว่า ท่านจงให้ม้าอัสดรรู้ตัวเราจะให้ไปกับเรา อำมาตย์ผู้เลี้ยงอัสดรนั้นรับสาธุแล้วบอกให้อัสดรรู้ แล้วนำไปถวายพระราชา ๆ เสด็จลงจากปราสาทขึ้นประทับหลังม้า เสด็จไปยังหิมวันตประเทศ ค้นหาทั่วไปตามสัตตมหาสระและมหานที ก็ไม่พบมงคลหัตถี จึงเสด็จกลับยังพระนครของพระองค์
ฝ่ายว่าพระวรนุชราชาและมหิสกรรณราชา ได้มีชัยชนะแก่กุกกุฏยักขราชแล้ว ก็พายักขเสนากลับคืนเข้าภายในบุรี พวกยักขเสนาทั้งหลายก็พากันดื่มชัยบานในกาลเมื่อเสร็จสงครามนั้น ครั้นอยู่มาอีกเจ็ดวัน พระวรนุชราชาจึงตรัสแก่นางสุวรรณคันธาว่า พี่ระลึกถึงพระมารดานัก จักทูลลาพระราชมารดาของเธอไปหาพระมารดาของพี่ เธอจักไปด้วยพี่หรือจักไม่ไป ข้าแต่เทวราช หม่อมฉันใคร่จะไปอภิวาทพระมารดาและพระเชษฐาโดยขอเสด็จไปด้วย แล้วพากันไปปราสาทพระราชมารดา อภิวาทแล้วพร้อมกันทูลลาพระราชมารดา ก็ทรงอนุญาตมิได้ขัดขวาง
พระวรนุชกับนางสุวรรณคันธาทูลลาแล้ว มอบราชสมบัติแก่มหิสกรรณราชา พวกบริษัทแวดล้อมแล้วเสด็จแต่นครไปตามแนวไพร นับได้สามเดือนจึงลุถึงฝั่งสมุทร จึงให้พวกยักขบริษัทหยุดอยู่ก่อน ส่วนพระองค์ทรงมโนมัยกับนางสุวรรณคันธาเหาะไปถึงสากลนคร แล้วเสด็จขึ้นปราสาทของพระองค์ก่อน รับสั่งให้พนักงานจัดนาวาไปรับพวกยักขบริษัท ณ ฝั่งสมุทร พนักงานชาวนาว่าหารู้ว่าเป็นยักษ์ไม่ รับมาถึงสากลนคร ให้พักอยู่ในหมู่บ้านนอกเมืองแห่งหนึ่ง เพราะเหตุนั้น นาวิกบุรุษทั้งหลายจึงให้ชื่อบ้านนั้นว่า สิงคคาม (บ้านสิงค)
ฝ่ายพระวรนุชราชา พานางสุวรรณคันธาไปเฝ้าอภิวาทพระราชมารดา ๆ ทอดพระเนตรราชบุตรและสุณิสาแล้วทรงโสมนัสประสาทพรให้ได้ทำนานาปฏิสัณฐารประทานอลังกตาภรณ์แก่นางสุวรรณคันธา พระวรนุชราชาจึงพานางสุวรรณคันธาไปเฝ้าพระวรเนตรราชา ให้ถวายอภิวาทพระภาติกราชและนางบุษบามเหสี พระวรเนตรราชาพร้อมกับราชมารดาอภิเษกพระวรนุชให้ดำรงในตำแหน่งอุปราชา
ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง พระวรนุชราชาทรงสุบินว่า มีมหากาฬบุรุษคนหนึ่งถือดาบคมกล้าตรงมาฟันพระบาทพระวรนุชนั้นขาดแล้วหนีไป พระองค์ทรงหาพระบาทหาพบไม่ เสด็จไปยังปัจฉิมทิศพบพระราชบิดา ประทานพระบาทของพระองค์แก่พระวรนุชติดต่อได้สนิทดีดังเก่า ครั้นรุ่งเช้า พระวรนุชไปเฝ้าพระราชภาดาทูลพระสุบินนั้นให้ทรงทราบ พระวรเนตรราชาทรงพิจารณาแล้วตรัสว่า ดูก่อนพ่อ เท้าของพ่อคือคชสารที่หายไป แม้พ่อไปตามก็จักได้แน่นอน
พระวรนุชอุปราชาทูลพระราชภาดาว่า หม่อมฉันจักทูลลาไปแสวงหาคชสาร ขอฝากสองเทวีไว้ในสำนักของพระองค์ด้วย แล้วจึงเสด็จไปเฝ้าพระราชมารดา ทูลเล่าสุบินถวายให้ทรงทราบแล้วถามถึงเหตุการณ์พระราชบิดาว่า ข้าแต่พระราชมารดา พระราชบิดาของข้าพระบาททรงบวรกายเป็นอย่างใด และทรงพระนามอย่างไร
พระนางสุภัททราชมารดาตรัสว่า ดูก่อนพ่อ พระราชบิดาของพ่อ มีพระบวรกายสมบูรณ์ด้วยลักษณะงามดังว่าทองคำ และทรงพระนามว่ากาสิกะ ครองราชสมบัติ ณ กาสิกราษฐ์ ท้าวเธอมีพระมเหสีสององค์ มเหสีที่หนึ่งนามว่าเขมา มเหสีที่สองนามว่าสุภัททา คือตัวมารดานี้ แล้วพระนางเธอเล่าความที่ต้องถูกลอยแพเป็นลำดับมาจนได้ประสบพบสองราชโอรส เหมือนเนื้อความที่กล่าวแล้วในเบื้องต้น แล้วดำรัสห้ามว่า ดูก่อนพ่อ พ่อจะประโยชน์อะไรด้วยสัตว์เดียรัจฉานเล่า ถ้าหากว่าพ่อไปถึงสำนักพระราชบิดาไชร้ นางเขมาเทวีเขาจักปลงชีพของพ่อเสีย ฉะนั้นพ่ออย่าไปเลย
เมื่อพระราชมารดาห้ามอยู่ พระวรนุชถวายอภิวาทแล้วเสด็จไปยังปราสาทสองมเหสี รับสั่งว่า แน่ะนางผู้เจริญ เธออย่าได้ประมาท จงหมั่นไปบำรุงพระมารดาและพระราชภาดาของเรา แล้วทรงพระแสงศรและพระขรรค์ทิพย์ เสด็จลงจากปราสาทให้อำมาตย์ผูกม้ามโมมัยเสร็จ จึงเสด็จขึ้นประทับหลังม้า รับสั่งว่าเราจักไปยังเมืองมนุษย์ทิศตะวันตก แล้วกำชับมโนมัยให้เหาะไปยังเวหา เที่ยวค้นหาพระยาช้างเผือกตามพนมวันและบรรพต กำหนดถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน ก็ยังมิได้พบเศวตหัตถี เสด็จต่อไปตามลำดับ ๆ จนบรรลุถึงเขตแดนกาสิกราษฐ์
คราวครั้งนั้นมีนายเนสาทพรานผู้หนึ่ง เที่ยวแสวงหาเนื้ออยู่ในป่า เห็นพระยาช้างเผือกนั้นอยู่ในฝูงช้าง จึงกำหนดจดจำภูเขาและแนวไพรไว้แม่นยำ กลับเข้าไปยังนคร กราบทูลพระเจ้ากาสิกราชว่า ข้าแต่เทวดา ที่ป่าแห่งโน้น มีพระยาช้างเผือกผู้ขาวผ่องโสภาเปรียบดังว่าไกรลาส ดุจราชพาหนะแห่งจักรพรรดิ์ พร้อมด้วยสรรพลักษณะงามหาที่ติมิได้ พระเจ้ากรุงกาสิกราชสดับดังนั้นแล้วทรงโสมนัส ดำรัสแก่เสนาบดีให้จัดพลนิกายและนายหัตถาจารย์เสร็จเสด็จออกแต่นคร ให้นายพเนจรเป็นมรรคนายกนำเสด็จไป ครั้นถึงที่นายเนสาทจำได้ จึงรับสั่งให้ล้อมคอกเข้าไว้ ให้ล้อมด้วยช้างและพลโยธาโดยกวดขัน ให้คล้องพระยาเศวตนั้นได้ พระยาเศวตนั้น นายหัตถาจารย์ฝึกหัดอย่างไรและผูกไว้ที่ใดก็ทำตามอย่างนั้น และอยู่ในที่นั้นหาทำวุ่นวายและหาทำให้กำเริบไม่
คราวนั้น พระวรนุชราชามาทางอากาศ แสวงหาพระยาเศวตกุญชรไปทั่วทิศ เห็นพระยาเศวตนั้นเขาผูกล่ามไว้ก็จำได้ จึงรับสั่งแก่ม้ามโนมัยว่า พี่มโนมัย เสตวารณะนี้จักเป็นของเรา เราจักลงไปดู แม้เสตวาณะนั้นเห็นเราแล้วจักมาหาเรา รับสั่งแล้วให้มโนมัยเลื่อนลงจากอากาศ เสด็จเข้าไปใกล้ รับสั่งทักเสตวารณะนั้น ๆ เห็นพระวรนุชราชาก็จำได้ สลัดพันธาภรณ์ออกแล้วก็ตรงมาหา พวกรักษาช้างเห็นดังนั้นก็ร้องโวยวายว่า พระยาช้างเผือกแตกปลอกหลุดไปแล้ว จึงช่วยกันจับหาได้ไม่ จึงพากันไปกราบทูลพระเจ้ากาสิกราชว่า ข้าแต่เทวดา ดรุณมานพผู้หนึ่งมาเรียกพระยาช้างเผือก ๆ นั้นก็วิ่งตามดรุณมาณพนั้นไป พระราชาได้ฟังดังนั้นกริ้วใหญ่ รับสั่งแก่อำมาตย์ให้รีบไปจับดรุณมาณพเฆี่ยนเสียแล้วขังไว้ในเรือนจำ
พวกอำมาตย์ผูกสอดนานาวุธแล้วพากันติดตาม ปรารภจะจับพระวรนุชราชา ๆ เห็นพวกอำมาตย์ตรูกันมาจับพระองค์ จึงรับสั่งถามว่า ท่านทั้งหลายตรูกันมาจับเราเพราะเหตุไร ดูก่อนทุษฐโจร เหตุไรท่านมาลักช้างเผือกไปเล่า เราจักไม่ให้ชีวิตแก่ท่านทีเดียว พระวรนุชราชาประทับยืนแกว่งพระขรรค์อยู่ พวกอำมาตย์ไม่อาจเข้าจับได้ พากันตกใจกลัวหนีไปกราบทูลพระเจ้ากาสิกราช ข้าแต่พระมหาราช โจรมาณพนั้นมีฤทธานุภาพมาก ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่สามารถจะทำยุทธกับมาณพนั้นได้
พระเจ้ากาสิกราชได้สดับดังนั้น ทรงจับพระแสงศรแล้วเสด็จไปถึงสำนักพระวรนุชราชา รับสั่งว่า แน่ะหัตถิโจร เหตุไรเจ้าจึงมาลักช้างของเราไป ท่านนั่นแหละเป็นโจร ช้างตัวนี้เป็นของ ๆ เรา แตกปลอกมาแต่โรงช้าง เราติดตามแสวงหามาหลายวันแล้ว วันนี้ได้มาพบเข้า เราจึงจับเอาช้างของเรามา เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าวว่าท่านเป็นโจรดังนี้ เราคล้องช้างนั้นจับไว้ใส่ปลอกไว้ แม้เจ้าปล่อยช้างนั้นเสียแล้ว ยังมาพูดว่าช้างของตนอย่างไร เจ้าบังอาจลักช้างของเรา เราจักตัดศีรษะเจ้าด้วยศรนี้ รับสั่งแล้วแผลงศรไป ศรนั้นก็กลับกลายเป็นขนมและของขบเคี้ยวเป็นต้น พระวรนุชราชาคิดจักฆ่าพระราชานั้น จึงแผลงทิพย์ศรไปบ้าง ทิพย์ศรนั้นก็กลับกลายเป็นพวงทิพยบุปผามาลาและพวกประทีปธูปเป็นต้น
สองกษัตริย์เห็นศรของตนแปลกพิกล นึกฉงนเสียวสะดุ้งขึ้น จึงถามนามและโคตรแก่กัน พระเจ้ากาสิกราชนั้นถามพระวรนุชว่า ดูก่อนมาณพ เจ้าชื่อไร ข้าพเจ้าชื่อวรนุชกุมาร ก็ตัวท่านเล่าชื่อไรเล่า เราชื่อว่ากาสิกราช แม้ตัวมาณพนั้นเป็นบุตรของใคร พระวรนุชราชาเมื่อจะบอกนามพระชนนีจึงประคองอัญชลีแล้วบอกว่า พระมารดาของข้าพเจ้าพระนามว่า สุภัททาเทวี ก็ตัวท่านอยู่เมืองไหน แม้เราอยู่ ณ กาสิกรัฏฐ์ ใครเล่าเป็นบิดาของเจ้า เจ้าอยู่เมืองไหน พระวรนุชราชานึกเฉลียวหฤทัยว่า ท่านผู้นี้เห็นจักเป็นบิดาของเราแล้วตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้กำพร้า พลัดบิดามาแต่เมื่อแรกคลอด บัดนี้ข้าพเจ้าอยู่ที่สากลนคร อันพระราชภาดาสร้างถวายพระมารดา ดูก่อนมาณพ เหตุไรเจ้าจึงพลัดพรากจากบิดา พระวรนุชจึงเล่าความตามที่นกสาลิกาและพระราชมารดาจำเดิมแต่ต้นมา
พระเจ้ากาสิกราชสดับดังนั้นแล้ว ทรงทิ้งพระแสงศรของพระองค์ ตรงเข้าไปสวมกอดพระวรนุชราชาแล้วตรัสว่า ดูก่อนพ่อ เรานี่แหละเป็นบิดาของพ่อ เดี๋ยวนี้ชนนีของพ่ออยู่ที่ไหน บิดามิได้รู้แท้ ๆ ได้ยินเขาพูดว่า มารดาของพ่อคลอดบุตรเป็นรูปท่อนไม้ บิดาก็เชื่อเขา หาได้พิเคราะห์ไม่ แล้วตรัสนัยประพันธคาถาดังนี้ว่า
สมฺมุยฺหามิ ปมุยฺหามิ | สพฺพา มุยฺหนฺติ เม ทิสา |
อติโทสํ มม อตฺถิ | มม อติโทสํ ขมถ |
บิดาช่างหลงเชื่อคนง่าย ได้มืดมิดเอาจนสนิท เหมือนแปดทิศที่มืดมัวฉะนั้น บิดานี้มีโทษผิดมาก พ่อจงอดโทษให้แก่บิดา ณ กาลบัดนี้เถิด
พระเจ้ากาสิกราชให้พระวรนุชโอรสอดโทษแล้วตรัสว่า ดูก่อนพ่อ มารดาของพ่ออยู่ที่ไหน บิดาจักตามพ่อไปพบมารดาของพ่อ พระวรนุชและพระเจ้ากาสิกราชเสด็จขึ้นประทับหลังพระยาช้างเผือกเหาะไปยังเวหาจนลุถึงสากลนคร ม้ามโนมัยก็เหาะตามไปด้วย
ในที่นี้มีคำถามว่า พระยาช้างเผือกนั้นเหาะไปในที่ทั้งปวงได้ เหตุไรจึงต้องให้พระราชาจับได้ มีคำแก้ว่า พระยาช้างเผือกนั้นอันราคะรัดรึงไว้ หลงอยู่ด้วยช้างพัง หากลัวภัยอันจะมีมาถึงตัวไม่ อนึ่งซึ่งให้พระราชาจับได้ เพื่อจะให้พระราชาพบปะกับพระราชกุมาร เพราะเหตุที่เทวดาบันดาลจิตให้แปรไป
พระวรนุชขัตติยโอรสเสด็จถึงนครนั้นแล้ว ปล่อยพระยาช้างเผือกเข้าไว้ในโรงช้าง มอบให้แก่อำมาตย์ผู้รักษาแล้ว นำเสด็จพระราชบิดาให้ขึ้นไปประทับ ณ ปราสาทของพระองค์ นางสุวรรณคันธากับนางสมุททชาเทวีอภิวาทพระราชบิดาและพระภัสดา พระเจ้ากาสิกราชทอดพระเนตรพระนครนั้น งามระยับจับพระทัย อุปมัยเหมือนเทวบุรี ทรงเห็นนาฏกิตถีและปราสาท ดังเทพอัปสรและทิพย์วิมานก็ปานกัน แล้วทรงชมเชยว่านครนี้งามยิ่งจริงเทียวหนอ
พระวรนุชราชาเสด็จขึ้นปราสาทพระวรเนตร ถวายอภิวาทแล้วทูลว่า ข้าแต่พระเชษฐาผู้เทวดา หม่อมฉันไปตามหาพระยาเศวตหัตถี ได้เห็นพระยาเศวตนั้นอันพระราชบิดาจับไว้ และหารู้จักว่าเป็นราชบิดาไม่ พระราชบิดานั้นแผลงศรยุทธกับหม่อมฉัน ศรนั้นกลับกลายเป็นขนมและผลไม้ไป หม่อมฉันแผลงศรไปบ้าง ศรนั้นก็กลับกลายเป็นพวงมาลาและดอกไม้ประทีปธูปเป็นต้น เพราะฉะนั้น พระราชบิดาทรงไต่ถามทราบความว่าหม่อมฉันเป็นโอรส บัดนี้เสด็จมาอยู่ ณ ปราสาทหม่อมฉันแล้ว
พระวรเนตรราชาจึงรับสั่งว่า ดูก่อนพ่อ ถ้ากระนั้น เชษฐาจักไปเฝ้าถวายบังคมพระราชบิดา รับสั่งแล้วสองกษัตริย์ก็พากันไปเฝ้าถวายบังคมแล้วจึงทูลปฏิสัณฐารด้วยพระคาถาดังนี้ว่า
กจฺจิ นุ ตาต กุสลํ | กจฺจิ ตาต อนามยํ |
กจฺจิ เต ราชกฺาโย | อโรคา ตว มเหสี |
ข้าแต่สมเด็จพระบิดาเจ้า ดังข้าพุทธเจ้าทูลถาม พระองค์ทรงพระสำราญ ปราศจากโรคาพาธหรือประการใด พระราชมเหสีทั้งราชกัญญาของพระองค์ ปราศจากโรคาพาธด้วยกันหมดหรือพระเจ้าข้า
พระเจ้ากาสิการาชสดับราชโอรสทูลถามดังนั้น เมื่อจะทรงตอบสองราชโอรส จึงตรัสพจนประพันธคาถาดังนี้ว่า
กุสลฺเจว เม ปุตฺต | อโถ ปุตฺต อนามยํ |
สพฺพา จ ราชกฺาโย | อโรคา มม มเหสี |
ดูก่อนลูกยา บิดาอยู่เป็นสุขสำราญหาโรคาพาธมิได้ ทั้งราชกัญญาฝ่ายในและมเหสีของบิดา ปราศจากโรคาพาธอยู่เป็นสุขทุกถ้วนหน้า
สองราชโอรสกราบทูลถามพระราชา ด้วยบาทพระคาถาดังนี้ว่า
กจฺจิ อมชฺชโป ตาตา | กจฺจิ เต สุรมปฺปิยํ |
กจฺจิ สีเล จ ธมฺเม จ | ทาเน เต รมติ มโน |
ข้าแต่พระบิดาเจ้า พระองค์มิได้ทรงมัวเมา มิได้ดื่มน้ำจัณฑ์หรือ พระหฤทัยของพระองค์ทรงยินดีในศีลในธรรมและทานอยู่หรือ
พระเจ้ากาสิกราช เมื่อจะบอกความนั้นให้แจ้งชัด จึงตรัสประพันธคาถาดังนี้ว่า
อมชฺโช ปิยปุตฺตา | อโถ เม สุรมปฺปิยํ |
อโถ เม สีเล ธมฺเม จ | ทาเน เม รมติ มโน |
ดูก่อนปิยบุตร บิดาหามัวเมาและหาดื่มน้ำจัณฑ์ไม่ อนึ่งใจของบิดายินดีอยู่ในศีลในธรรมในทาน
พระวรเนตรและวรนุชราชาเมื่อจะถามพระราชบิดาอีกต่อไปจึงกราบทูลนัยคาถาดังนี้ว่า
กจฺจิ อโรคํ โยคนฺเต | กจฺจิ วหติ วาหนํ |
กจฺจิ เต พฺยาธิโน นตฺถิ | สรีรสฺสุปตฺตาปิยา |
ยานพาหนะของพระองค์ มิได้คร่ำคร่าชำรุดทรุดโทรมหรือ พยาธิมิได้เบียดเบียนทำสรีระของพระองค์ให้เร่าร้อนหรือ พระเจ้าข้า
พระเจ้ากาสิกราชตรัสประภาษด้วยคาถาดังนี้ว่า
อโถ อโรคํ โยคมฺเม | อโถ วหติ วาหนํ |
อโถ เม พฺยาธิโน นตฺถิ | สรีรสฺสุปตฺตาปิยา |
ยานพาหนะของบิดา หาคร่ำคร่าชำรุดทรุดโทรมไม่ อนึ่งพยาธิก็มิได้เบียดเบียนทำสรีระของบิดาให้เร่าร้อน
สองราชโอรสจึงกราบทูลด้วยพระคาถานี้ว่า
กจฺจิ อนฺโต จ เต ผิตา | มชฺเฌ จ พหลา ตว |
โกฏฺาคารฺจ โกสฺจ | กจฺจิ เต ปฏิสณฺิตํ |
พวกพหลฝ่ายในท่ามกลางของพระองค์ยังพร้อมมูลบริบูรณ์อยู่หรือ ยุ้งฉางและพระคลังหลวงของพระองค์ยังเพียบพูนบริบูรณ์หรือ
พระเจ้ากาสิกราชตรัสประภาษด้วยพระคาถานี้ว่า
อโถ อนฺโต จ เม ผิตา | มชฺเฌ จ พหลา มม |
โกฏฺาคารฺจ โกสฺจ | สพฺพมฺเม ปฏิสณิตํ |
พวกพหลฝ่ายในฝ่ายท่ามกลางของบิดายังพร้อมมูลบริบูรณ์อยู่ ยุ้งฉางและพระคลังทั้งมวลของบิดา ยังเพียบพูนบริบูรณ์อยู่ทั้งสิ้น
ในขณะนั้น พนักงานชาวเครื่องพระกระยา นำสุพรรณภาชนะมาตั้งลง ณ ที่ใกล้บรมกษัตริย์เหล่านั้น สองราชโอรสเมื่อจะเชิญพระราชบิดาให้เสวยพระกระยา จึงกราบทูลด้วยพระคาถานี้ว่า
อิทํ สพฺยฺชนํ ภตฺตํ | ทิพฺพรสํ สโลณกํ |
ยถา สุขํ ปริภฺุช | ปาหุโนสิ มยฺหาคโต |
อิทํ มยฺหํ สุโภชนํ | สาลิโมทนํ ภฺุช |
สุจิมํสูปเสจนํ | สผลํ ขาทนปุวํ |
นี้พระกระยาหารอันตระการด้วยพยัญชนะเจือด้วยรสเค็มมีรสโอชาดังทิพย์ พระองค์เป็นแขกแรกเสด็จมายังสำนักข้าพระองค์ เชิญเสวยให้สำราญพระหฤทัยเถิด พระเจ้าข้า นี้พระสุธาโภชน์ของข้าพระองค์ หุงด้วยข้าวสาลีเจือด้วยมังสะอันสะอาด มีพร้อมทั้งผลไม้และขนมเครื่องขบเคี้ยว เชิญพระองค์จงเสวยเถิด พระเจ้าข้า
ในขณะนั้น พระเจ้ากาสิกราชรับเชิญแล้ว จึงเสวยพระกระยาโภชน์นานาทิพรส แล้วสรรเสริญว่า โภชนกระยามีรสโอชานักหนา เมื่อเสร็จการเสวยพระกระยาแล้ว พระเจ้ากาสิกราชตรัสประภาษแก่สองกุมารว่า ดูก่อนกุมาร พ่อจงอดโทษให้แก่บิดา เหตุที่นางเขมาเขาทำบิดาไม่รู้จริง ๆ หลงเชื่อว่าเป็นรูปท่อนไม้ ถึงราชมารดาของพ่อและนางเขมาก็ได้เป็นที่รักของบิดาทั้งสองคน เพราะเหตุนั้น บิดาจึงบอกนางเขมาเทวีให้เอาพ่อไปทิ้งเสีย พ่อจงคอยดูเหตุที่นางเขมานั้นทำกะพ่อต่อไป ตรัสฉะนี้แล้วจึงตรัสถามว่า มารดาของพ่อบัดนี้อยู่ที่ไหน พ่อจงพาบิดาไปยังสำนักมารดาของพ่อ ณ กาลบัดนี้
สองราชกุมารกราบทูลว่าข้าพระองค์จักเชิญพระมารดาให้มาเฝ้าก่อน แล้วก็พากันไปยังปราสาทราชมารดาพร้อมกันถวายอภิวาท วรนุชราชกุมารจึงทูลว่า ข้าแต่พระมารดา ข้าพระองค์ตามช้างไป ได้เห็นช้างนั้นอันพระราชาองค์หนึ่งจับไว้ได้ ข้าพระองค์ก็มีโทสะขึ้นมา ได้ทำการรบกันกับพระราชานั้น ข้าพระองค์แผลงศรไป ศรนั้นกลายเป็นพวงดอกไม้ ครั้นพระราชาแผลงศรมาบ้าง ศรนั้นก็กลับกลายเป็นขนมและผลไม้ พระราชาทอดพระเนตรเห็นอัศจรรย์ดังนั้น ทรงโสมนัสตรัสถามหม่อมฉันว่า เจ้าเป็นลูกของใคร ข้าพระองค์กราบทูลตามพระมารดาบอกไว้ ท้าวเธอวางพระแสงศรเสียแล้ววิ่งมาหาข้าพระองค์ สวมกอดแล้วตรัสบอกว่า พระองค์เป็นบิดาข้าพระองค์ บัดนี้ประทับอยู่ ณ ปราสาทของข้าพระองค์ มีพระราชประสงค์จะพบพระมารดา ข้าพระองค์ปรารถนาจะเชิญให้พระมารดาเสด็จไปเฝ้า จึงมิได้นำเสด็จมา จึงมาทูลพระมารดาเสียก่อน
พระนางสุภัททาเทวีสดับดังนั้นแล้วตรัสว่า พระราชบิดาเสด็จมาถึงนครนี้แล้ว สมควรมารดาจะไปเฝ้าถวายบังคม ซึ่งพระองค์จะเสด็จมาหามารดาก่อนหาควรไม่ทีเดียว ดำรัสฉะนี้แล้วก็อุฏฐาการ เสด็จไปยังปราสาทพระวรนุชกุมาร เข้าเฝ้าพระราชสามีถวายอภิวาทแล้ว ตรงเข้ากอดพระบาททรงโสกีพิลาปว่า ข้าแต่สมมติเทวดา หม่อมฉันจักไม่เห็นพระองค์แล้ว หม่อมฉันได้ดำรงชีพมาได้ก็ด้วยอานุภาพของพระเจ้าลูกของหม่อมฉัน หาไม่ก็วอดวายตายเสียนานแล้ว
ฝ่ายพระเจ้ากาสิกราช ทอดพระเนตรเห็นนางสุภัททาเทวีแล้วไม่สามารถจะกลั้นความโศกไว้ได้ สวมกอดพระราชเทวีแล้วทรงพระกรรแสงไห้มีประการต่าง ๆ และขอขมาโทษพระราชเทวีว่า เธอจงอดโทษให้แก่ฉันเถิด สองกษัตริย์ต่างตรัสขอขมาโทษต่อกันและกันแล้ว ทรงพระปราโมทย์สามัคคีกันต่อไป
ก็แหละคราวนั้น มหาชนมีอำมาตย์และปุโรหิตเป็นต้น มิได้เห็นพระราชาและพระกุมาร พากันเที่ยวค้นหาไปในนานาทิศก็มิได้เห็นกเลวระและพระภูษาและอลังการ แล้วจึงพากันไปกราบทูลพระราชเทวีว่า ข้าแต่พระเทวีเจ้า พระราชาเสด็จไปคล้องช้างนั้นได้แล้ว มีดรุณมาณพคนหนึ่งมาตู่ว่า ช้างตัวนี้เป็นของ ๆ ตน เขาก็มาแย่งจับช้างนั้นไป พระราชากับดรุณมาณพนั้นต่างก็แผลงศรรบกัน แสงศรทั้งสองฝ่ายนั้นหาถูกกันไม่ ศรข้างฝ่ายดรุณมาณพที่แผลงมา ก็กลับกลายเป็นบุปผคันธมาลา ฝ่ายพระแสงศรของพระราชาทรงแผลงไป ก็กลับกลายเป็นขนมและผลไม้ของกินไปสิ้น จอมนรินทร์กับดรุณมาณพต่างไต่ถามกันอยู่สักครู่หนึ่งก็พากันหายไป ข้าพระองค์ทั้งหลายเที่ยวค้นไปในทิศทั้งปวงก็หาพบปะไม่
พระนางเขมาเทวีและสนมนารีและเฒ่าแก่ทั้งหลาย ได้สดับทราบความดังนั้นแล้ว เป็นประหนึ่งว่ามีเท้าอันเขาตัดเสียแล้ว พากันร่ำไห้กลิ้งเกลือกปริเทวนาไปตามมหาสมุทร เตนาห เพราะเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์เจ้า จึงได้กล่าวคาถาทั้งหลายว่า
โสฬสสหสฺสิตฺถิ จ | มหลฺลกา จ ทาสีปิ |
พาหา ปคยฺห ปกฺกณฺฑุํ | ยกฺโข มาณววณฺเณน |
ตเมวาทาย คจฺฉติ | |
โอโรธา จ กุมารา จ | เวสิยานา จ พฺรหฺมณา |
พาหา ปคยฺห ปกฺกณฺฑุํ | ยกฺโข มาณววณฺเณน |
ตเมวาทาย คจฺฉติ | |
หตฺถาโรหา อนึกฏฺา | รถิกา ปติการกา |
พาหา ปคยฺห ปกฺกณฺฑุํ | ยกฺโข มาณววณฺเณน |
ตเมวาทาย คจฺฉติ | |
โสฬสสหสฺสิตฺถิ จ | สมาคตา ชานปทา |
เนคมา จ สมาคตา | พาหา ปคยฺห ปกฺกณฺฑุํ |
ยกฺโข มาณววณฺเณน | ตเมวาทาย คจฺฉติ |
โสฬสสหสฺสิตฺถิ จ | มหลฺลกา จ ทาสึ จ |
พาหา ปคยฺห ปกฺกณฺฑุํ | ราชา จ โน กุหึ คโต |
โอโรธา จ กุมารา จ | เวสิยานา จ พฺรหฺมณา |
พาหา ปคยฺห ปกฺกณฺฑุํ | ราชา จ โน กุหึ คโต |
หตฺถาโรหา อนึกฏฺา | รติกา ปติการกา |
พาหา ปคยฺห ปกฺกณฺฑุํ | ราชา จ โน กุหึ คโต |
สมาคตา ชานปทา | เนคมา จ สมาคตา |
พาหา ปคยฺห ปกฺกณฺฑุํ | ราชา จ โน กุหึ คโต |
นักสนมกรมฝ่ายในหมื่นหกพัน ทั้งเฒ่าแก่และทาสีตำรวจและราชกุมารกุมารี ข้าราชการฝ่ายหน้า จตุรงคเสนาสี่เหล่า คือ กรมช้าง กรมม้า กรมราชรถ กรมพลเดินเท้า และเหล่าพวกพ่อค้าและพราหมณ์ทั้งชนชาวชนบท บรรดาที่รู้เรื่องแล้ว ก็พากันยกพาหาค่อนอุระปริเทวนร่ำร้องไห้ว่ายักษ์แปลงเป็นมาณพพาพระราชาไปแล้ว โอ้พระราชาของข้าพระองค์ทั้งหลาย เสด็จหายไปข้างไหนเล่าพระเจ้าข้า มหาชนมีพระนางเขมาเทวีเป็นต้น พากันครวญคร่ำรำพันแล้ว ก็ออกนอกพระนครไปยังป่ามหาวัน เที่ยวดั้นด้นค้นหาไม่พบแล้วก็พากันกลับยังพระราชนิเวศน์สถาน
ฝ่ายว่ากษัตริย์เจ็ดพระองค์ คือพระเจ้ากาสิกราช ๑ พระนางสุภัททาราชมารดา ๑ พระสุณิสาสะใภ้ ๓ พระราชโอรส ๒ องค์ ซึ่งเสวยราชสมบัติ ณ สากลนครนั้น ทรงบันเทิงหฤทัยเสวยทิพย์สุข เลยไม่ได้ระลึกถึงพระนครของพระองค์ ครั้งนั้นแล พระวรเนตรราชาและวรนุชราชาเสด็จไปยังปราสาทที่ประทับของพระปิตุราชประทับเฝ้าอยู่ส่วนหนึ่งจึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวดา ข้าพระองค์ใคร่จะเห็นพระนครของพระองค์ ข้าพระองค์จะไปยังกาสิกนคร
พระเจ้ากาสิกราชรับว่าสาธุดังนี้แล้วตรัสว่า ดูก่อนพ่อ ถ้าหากว่าพ่อใคร่จะไปจริงไซร้ พ่อจงเตรียมพลโยธาทั้งหลายไว้พร้อมกัน พระราชกุมารจึงรับสั่งให้หาอำมาตย์ทั้งหลายมาแล้ว เมื่อจะบังคับพวกอำมาตย์ จึงตรัสเป็นคาถาว่า
เนคมา จ มํ อนฺเวนฺตุ | ปุโรหิตา จ เสนาโย |
พฺราหฺมณา สฏฺิสหสฺสา | นานาวณฺเณหิ อลงฺกตา |
เสตวตฺถา เสตธรา | ขิปฺปมายนฺตุลงฺกตา |
โยธิโน จารุทสฺสนา | นานาวณฺเณหิ อลงฺกตา |
นีลวตฺถา ธราเนกา | ปีตาเนเก นิวาสิตา |
อฺเ โลหิตอุณฺหีสา | สุทฺธาเนเก นิวาสิตา |
ขิปฺปมายนฺตุ สนฺนทฺธา | นานาวตฺเถหิ อลงฺกตา |
หิมวา ยฺถา คมฺธโร | ปพฺพโต คนฺธมาทโน |
นานารุกฺเขหิ สฺฉนฺโน | มหาภูตคณาลโย |
โอสเถหิ จ ทิพฺเพหิ | ทีสา ภาติ ปวาติ จ |
ตเถว เสนาโย วายนฺตุ | ขิปฺปเมว อนุคจฺฉนฺตุ |
อปิ นาคกฺุชรฺจ | เหมกปฺปนิวาสสํ |
สฏฺิหายนํ โยเชนฺตุ | กจฺฉํ นิพนฺธถ โภนฺโต |
อุทฺธริยนฺตุ สงฺขปณฺฑวา | นทนฺตุ เอกโปกฺขรา |
นทนฺตุ เภริ สนฺนทฺธา | วคฺคู นทนฺตุ ทุนฺทภิ |
เนคมา จ มํ อนฺเวนฺตุ | คจฺฉาม กาสิกปุรํ |
โอโรธา จ กุมารา จ | เวสิยานา จ พฺราหฺมณา |
ขิปฺปํ ยานานิ โยเชนฺตุ | คจฺฉาม กาสิกปุรํ |
หตฺถาโรหา อนีกฏฺา | รถิกา ปติการกา |
ขิปฺปํ ยานานิ โยเชนฺตุ | คจฺฉาม กาสิกปุรํ |
สมาคตา ชานปทา | เนคมา จ สมาคตา |
ขิปฺปํ ยานานิ โยเชนฺตุ | คจฺฉาม กาสิกปุรํ |
อสฺเส จ สารถิยุตฺเต | สินฺธเว สีฆพาหเน |
ราชทฺวารมุปาคฺฉุํ | ยุตฺตา เทวพาหนานิ |
ดูก่อนโยธา กรมช้าง กรมม้า และเสนารถ เสนาบทจรเดินเท้า พรุ่งนี้ข้าพวกเจ้า จงเร่งรัดจัดแจงตัว ประชุมกันในเจ็ดวันเป็นกำหนด เราจะชวนกันบทจรไปยังกาสิกนคร บอกกันให้พร้อมทั้งชาวนิคม พราหมณ์ ปุโรหิต ให้เร่งรัดกันตามติดเราไปจงพร้อมกัน เสนาพลเดินเท้านั้น ให้จัดสรรเอาพวกสหชาตโยธาหกหมื่น โยธาเหล่านี้ให้ประดับนุ่งผ้าห่มผ้าให้มีสีต่าง ๆ กัน ให้นุ่งผ้าห่มผ้านั้นสีเขียวพวกหนึ่ง สีเหลืองพวกหนึ่ง สีแดงนั้นพวกหนึ่ง สีขาวนั้นพวกหนึ่ง เสนาพวกนี้จงแต่งตัวให้งาม ให้เป็นที่น่าจะใคร่ดูเครื่องประดับแปลก ๆ กัน ยังทิศทั้งปวงให้รุ่งเรือง หอมระรื่นไปด้วยเครื่องลูบไล้ทั้งปวง มีอุปไมยเหมือนดังภูเขาหลวง ชื่อว่าคันธมาทน์ อันเดียรดาษไปด้วยรุกขชาติสิบประการ อันเป็นนิวาสนฐานแห่งฝูงมหายักษ์ทั้งหลาย คันธมาทน์นั้นก็ย่อมยังทิศทั้งหลายให้รุ่งเรืองหอมฟุ้งขจรไป ฉะนั้นโยธาทั้งหกหมื่น เร่งรัดแจงตัวมาประชุมให้พร้อมกัน ณ บัดนี้
ก็ในกาลคราวนั้น มหาชนมีอำมาตย์และเสนาเป็นต้น ได้ให้พลนิกายสิบแปดเหล่าประดับกายมีสีสี่อย่างแล้ว ให้มาประชุมพร้อมกัน ณ วันที่ครบเจ็ด สมเด็จพระราชบิดาและพระราชโอรส ๓ พระองค์ และขะตติยกัญญา ๔ พระองค์ คือ พระราชมารดา ๑ พระสุณิสา ๓ พระองค์ มีพลนิกายสิบแปดเหล่าห้อมล้อมเป็นขนัด เสด็จออกจากสากลจังหวัด แล้วพาพลนิกายข้ามมหาสมุทรไป ด้วยอานุภาพพระแสงศรเสด็จไปหลายวันหลายคืน จึงบรรลุถึงเขตแดนกาสิกบุรี
พวกอำมาตย์และพลนิกายข้างฝ่ายกาสิกนครนั้น จำเดิมแต่วันที่พระเจ้ากาสิกราชหายไป ก็ไม่อาจจะยกกลับเข้ายังเมืองของตนได้ พากันตั้งกองทัพอยู่ที่เขตแดนนั้น ครั้นได้เห็นพลนิกายและพวกเสนาทั้งหลายล้วนประดับด้วยเพศต่าง ๆ กัน นึกสำคัญว่าพวกข้าศึกยกมา พากันตกใจกรูกันไปดู ได้เห็นดรุณโยธาและจตุรงคเสนาดรุณพลนิกายราวกันว่าเทพโยธา แล้วเห็นพระราชาของตนก็กำหนดแน่ใจว่า ท่านผู้นี้จักเป็นพระราชาของพวกเราแล้วก็หยุดอยู่ พวกพลนิกรทั้งหลายก็พากันพักกองพลอยู่ในที่นั้น
ฝ่ายอำมาตย์ชาวกาสิกราษฐ์ พากันเข้าเฝ้าถวายอภิวาทพระเจ้ากาสิกราช แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวดา พระองค์เสด็จไปข้างไหน ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเที่ยวค้นหาไม่เห็นแล้วก็พากันร้องไห้ และได้กราบทูลพระมเหสีและพระราชธิดาของพระองค์ ๆ ก็พากันทรงพระกรรแสงไห้ ได้เสด็จออกจากราชภพ เที่ยวตลบวกเวียนค้นหาในนานาทิศ ครั้นมิได้เห็นแล้วก็ทรงโศกา ทั้งชนชาวประชาทราบว่าพระองค์หายไป ก็พากันเศร้าโศกร้องไห้เสียงระงมไป
แม้พระเจ้ากาสิกราชทรงสดับแล้ว จึงรับสั่งให้หามหาเสนาคุตกับมันทิรามาตย์และของพระนางสุภัททาเข้ามาเฝ้าแล้ว ทรงชี้ให้เห็นตัวพระนางสุภัททาแล้วตรัสถามว่าพวกเจ้ารู้จักหรือไม่ มหาเสนาคุตและมันทิรามาตย์กับนางทาสีเห็นแล้วก็จำได้ พากันหมอบลงแทบพระบาทแล้วร้องไห้
ฝ่ายพระราชธิดาของนางเขมาเทวีนามว่าศิริโสภา ได้ทอดพระเนตรพระมารดาของตนสลบไป ก็สะดุ้งตกใจได้บอกแก่พวกเฒ่าแก่ทั้งหลาย ๆ พากันช่วยพรมด้วยน้ำคันโธทก พยุงนางเขมาเทวีอุฏฐาการขึ้น
คราวนั้น พระเจ้ากาสิกราชจึงบังคับอำมาตย์ทั้งหลายว่า พวกท่านจงเข้าไปยังภายในนครแล้วตกแต่งราชนิเวศน์ให้ไว้แก่ราชบุตรและสุณิสา อำมาตย์ทั้งหลายก็เข้าไปจัดแจงปราสาทสามองค์แล้วออกมากราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทวดา ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จัดแจงตกแต่งปราสาทสามองค์ไว้เสร็จแล้วพระเจ้าข้า พระเจ้ากาสิกราช ทรงพาพระราชโอรสและพระสุณิสากับพระนางสุภัททาเทวีเข้าไปยังพระนครแล้ว เสด็จขึ้นประทับยังปราสาทของพระองค์
คราวนั้น นางนักสนมทั้งหลาย พากันมายังราชปัฏฐาน ถวายอภิวาทพระนางสุภัททาเทวีแล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระองค์เสด็จไปถึงไหน และพระองค์หาโรคาพยาธิมิได้หรือพระเจ้าข้า พระนางสุภัททาเทวีจึงตรัสเล่าว่า พระราชาเอาเราลอยแพไป เราลอยไปยังมหาสมุทร บรรลุถึงเกาะแห่งหนึ่ง ขึ้นจากแพได้แล้ว เดินไปพบอาศรมหลังหนึ่ง จึงเข้าไปภายในห้อง เห็นบริขารทั้งปวงแล้วบวชเป็นดาบสินี อยู่ในที่นั้นนานถึงสิบหกปี เวลาเช้าวันหนึ่ง เราออกจากอาศรมไป ได้พบสองคนผัวเมียเข้า ถามเขาว่ามาแต่ไหน และเป็นลูกเต้าของใคร สองคนผัวเมียบอกกับเราว่า ข้าพเจ้ามาตามหามารดา เราถามเขาว่ามารดาของพ่อชื่อไร เขาบอกว่ามารดาชื่อสุภัททา พระเจ้ากาสิกราชเป็นพระราชบิดา เราถามเขาต่อไปว่า เหตุไรจึงพลัดพรากจากกันเล่า เขาบอกกับเราว่า ตัวข้าพเจ้าเทวดาเลี้ยงไว้ เทวดาท่านเล่าให้ฟังว่า มารดาของพ่อนามว่าสุภัททา เป็นอนุมเหสีของพระเจ้ากาสิกราช พระมารดานั้นประสูติโอรสสององค์ อัครมเหสีของพระเจ้ากาสิกราชนามว่า เขมาเทวี มีความริษยาทำรูปท่อนไม้แกล้งใส่ความว่า นางสุภัททาเทวีเป็นกาลกรรณี คลอดลูกเป็นท่อนไม้ ใช้ให้ทาสีคนหนึ่ง เอาโอรสองค์หนึ่งใส่ลงในหีบ เอาไปฝังเสียที่ป่ามหาวัน คือตัวข้าพเจ้านี้ เทวดาท่านเลี้ยงไว้ เล่าให้ฟังดังนี้ ส่วนโอรสอีกองค์หนึ่งทาสีคนหนึ่ง เอาใส่หม้อแล้วไปลอยเสียในน้ำ โอรสนั้นพระดาบสท่านเลี้ยงไว้ โอรสนั้นก็ได้มาพบกันเล่าให้ฟังอีกเหมือนกัน เราได้ประสบพบกับสองโอรส จึงรู้เหตุทั้งปวงด้วยประการฉะนี้
ฝ่ายสนมนารีทั้งปวง บรรดาที่ได้รู้เรื่องแล้วก็เล่ากันต่อ ๆ ไป พระเจ้ากาสิกราชตรัสประภาษว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย นี่ลูกของนางสุภัททา หาใช่เป็นรูปไม้ไม่ เป็นมนุษย์แท้ ๆ แล้วทรงชี้สองราชกุมารนั้นให้เห็น มหาชนเห็นแล้วก็พากันพูดต่อ ๆ ไปว่า พระราชโอรสสององค์ของพระนางสุภัททา พระราชาได้พบแล้ว ตามเสด็จมาถึงเมืองนี้พร้อมกันแล้ว ชาวชนสากลนครได้สดับแล้ว ก็พากันพูดตาม ๆ กันไปว่า พระนางสุภัททาหาได้คลอดลูกเป็นท่อนไม้ไม่ คลอดบุตรเป็นมนุษย์แท้ ๆ พระเจ้ากาสิกราชทรงพาพระนางสุภัททากับราชโอรส มาถึงเมืองนี้แล้ว
คราวนั้น นางของนางเขมาเทวี ได้ทราบความแต่ต้นจนปลายชัดเจนแล้วก็ตกใจ จึงไปทูลความเรื่องนั้นแก่นางเขมาเทวี ๆ ได้ฟังดังนั้นแล้ว มีหทัยประหนึ่งว่าจะแตกตายจึงคิดว่า คราวนี้เราจักต้องตายแน่ นางไม่อาจจะกลั้นความโศกไว้ได้ ก็ถึงความสลบลงทันที ทาสีทั้งหลายของนางเขมาเทวี เห็นนางเขมาเทวีสลบลง จึงปรึกษากันว่า แม้นางเขมาเทวีสิ้นชีพแล้ว โทษกรณ์จักหายไป แม้เราทั้งหลายก็จักไม่รู้ไม่ชี้ด้วย เพราะเหตุนั้น เราทั้งหลายจักออกจากที่นี้หลบไปเสียที่อื่น ปรึกษากันแล้วก็พากันหลบไปเสีย บางพวกก็ไปทูลแก่นางสุภัททามเหสี บางพวกก็ปริภาษด่านางเขมาเทวี เหตุการณ์ทั้งปวงที่นางเขมาเทวีทำไว้แล้ว ก็ปรากฏทั่วไปในสกลนคร นางเขมามเหสีรู้เรื่องอยู่เต็มใจ แต่ทำนอนลวงว่าเป็นไข้ไปยังราชูปัฏฐานไม่
ฝ่ายพระวรเนตรและพระวรนุชราชโอรส เมื่อประทับประมาณ ๗ วัน มิได้เห็นนางเขมามเหสีมาสู่ที่เฝ้าพระราชา กราบทูลถามพระราชบิดาว่า ข้าแต่สมมติเทวดา พระนางเขมาเทวี ซึ่งเป็นพระมารดาของข้าพระองค์หายไปไหน ไม่เห็นมาเฝ้าพระองค์เลย พระเจ้ากาสิกราชจึงรับสั่งให้หาตัวนางเขมาเทวีเข้ามาเฝ้า ทรงทราบว่านางเขมาเทวีเป็นไข้ ทรงทราบอุบายของนางเขมาเทวีแล้วจึงทรงพระดำริว่า เราจะล่อลวงนางเขมาเทวีด้วยอุบายจึงจะได้ ทรงดำริแล้วดำรัสส่งทาสีผู้หนึ่งว่า เจ้าจงไปยังสำนักนางเขมาแล้วบอกว่า พระราชาและนางสุภัททาหาโกรธเคืองไม่ เราทั้งหลายจักผูกเวรกันไว้ด้วยบุรพกรรม เวรานุเวรเป็นอันมากจึงติดตามเรามา ถึงสองพระราชกุมาราก็หาคิดทำวิโยคแก่พระนางเขมาไม่ และสองราชกุมารก็หามีฤทธิเดชอย่างไรไม่ เป็นด้วยเทพดาและดาบสท่านสงสารจึงเลี้ยงไว้ เจ้าจงไปบอกแก่นางเขมาเทวีด้วยอาการอย่างนี้
นางทาสีผู้นั้นรับราชบัญชาว่าสาธุ แล้วก็ไปยังสำนักแห่งนางเขมาเทวีนั้น จึงแถลงความตามพระราชดำรัสให้ทราบทุกประการ ฝ่ายนางเขมาเทวีได้สดับดังนั้นแล้ว มีความโสมนัสยิ่งนักหนา เลยหายไข้ลุกไปสรงและเสวยได้ รอหาโอกาสอยู่สองสามวัน จึงไปยังราชสำนักทำความบำเรอพระราชา พระเจ้ากาสิกและนางสุภัททาเทวีจึงประทานทิพยาลังการมีราคามากแก่นางเขมามเหสี นางสุภัททาเทวีตรัสว่า ข้าแต่แม่ จำเดิมแต่วันนี้ไป ท่านกับหม่อมฉันจงรักใคร่กันเหมือนก่อนเถิด ต่างอดโทษานุโทษต่อกันเถิด อนึ่งเล่า หม่อมฉันหาญาติพี่น้องมิได้ ได้สมบัติมามากมาย หม่อมฉันจักให้ทิพยาลังการแถะสรรพทรัพย์แก่หมู่ญาติทั้งหลายของท่าน เพราะฉะนั้น ท่านจงบอกแก่ญาติทั้งหลายด้วยเถิด
ฝ่ายนางเขมาเทวีได้สดับดังนั้นแล้ว ก็ไปยังปราสาทของตนชี้ให้ญาติของตนดูทิพยาลังการและทรัพย์ทั้งหลายแล้วบอกว่า พระนางสุภัททาและพระราชาหาทรงพิโรธเราไม่ กลับจะให้ทรัพย์แก่ญาติของเราอีก เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายจงไปเรียกพวกญาติของเรามาเถิด เมื่อญาติของนางเขมาเทวีมาแล้ว นางเขมาเทวีก็แจกทรัพย์ให้มากมาย มหาชนทั้งหลายที่ทรามปัญญา ตนหาใช่ญาติของนางเขมาเทวีไม่ ได้เห็นเขาได้ทรัพย์กันคนละมาก ๆ อยากจะได้กับเขาบ้าง จึงให้สินบนแก่นางเขมาเทวี รับสมอ้างว่าตนเป็นญาติ แล้วพากันเข้าไปรับเอาราชทรัพย์พระเจ้ากาสิกราชก็ได้ทรงทำมหาสักการะแก่ชนผู้มารับทุกถ้วนหน้า
ครั้นพระราชาได้โอกาสแล้ว จึงรับสั่งให้จับตัวผู้ที่มาไว้แล้วให้ขุดหลุมลึกประมาณเพียงเอวที่หน้าพระลานหลวง ให้ญาติทั้งปวงของนางเขมาเทวีนั่งลงในหลุม แล้วให้โกยฝุ่นกลบให้เต็ม และให้เอาฟางเรี่ยรายเบื้องบน แล้วให้เอาเพลิงจุด เมื่อมหาชนถูกเพลิงเผาหนังก็ปอกออกไป แล้วรับสั่งให้ไถด้วยไถเหล็ก ทำสรีระมหาชนเหล่านั้น ให้เป็นน้อยใหญ่ ให้เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ แล้วให้เอาใส่ในกะทะเหล็ก ทอดน้ำมันให้นางเขมาเทวีกิน มิหน้าซ้ำให้เชือดเนื้อกล้ามแต่สรีระแห่งนางเขมาเอง แล้วให้ทอดน้ำมันใส่ปากให้นางเขมากินเหมือนดังกินขนมฉะนั้น
ฝ่ายนางเขมาเทวี ไม่อาจอดกลั้นต่อทุกขเวทนาได้ ปริเทวนาการร่ำไรเสวยมหันตทุกข์ยิ่งนักหนา พระเจ้ากาสิกราชรับสั่งให้เอาน้ำมันที่เดือดรดศีรษะนางเขมา ๆ ก็ทำกาลกิริยาตาย มหาชนทั้งหลายบรรดาที่เป็นญาติของนางเขมา มีประมาณหมื่นหนึ่งก็พากันถึงความตาย ไปบังเกิดในมหานรก ส่วนนางเขมาเทวีไปเกิดในอเวจีนรก
คราวนั้นแล พระเจ้ากาสิกราชรับสั่งใช้อำมาตย์ผู้หนึ่งว่า ท่านจงให้พนักงานเภรีไปเที่ยวประกาศแก่มหาชนว่า บรรดาชาวเมืองทั้งสิ้นจงพากันหยุดการงาน และให้ตกแต่งบ้านเมืองถนนหนทาง ยกธงปักต้นอ้อยและต้นกล้วย แล้วพากันเล่นมหรสพตามสบายเถิด แล้วท้าวเธอรับสั่งให้พนักงาน ตกแต่งประดับประดาพระนครให้รื่นรมย์เหมือนดังไตรทิพยสวรรค์ ชาวพระนครเหล่านั้น พากันเล่นมหรสพอยู่สิ้นสามเดือนเป็นกำหนด
ฝ่ายกษัตริย์ทั้งหลายนั้น จึงอภิเษกพระวรนุชราชาให้ครองราชสมบัติในกาสิกบุรี สถาปนานางสุวรรณคันธาเทวีให้เป็นปฐมมเหสี สถาปนานางสมุททชาเทวีนาคราชธิดาให้เป็นทุติยมเหสี แล้วมอบราชสมบัติให้ครอบครองอยู่ในกาสิกบุรีนั้น ฝ่ายพระเจ้ากาสิกราชพระวรเนตรกุมาร พระนางสุภัททาเทวี พระสุณิสา พากันเสด็จออกจากกาสิกราษฐ์ไปจนบรรลุถึงสากลนคร โดยกระบวนพยุหยาตราดังกล่าวมาแล้ว ณ หนหลัง
เมื่อกษัตริย์ทั้งหลายเสด็จถึงสากลนครแล้ว เสด็จไปยังราชภพเสวยราชสมบัติเป็นผาสุกสำราญ พระวรเนตรราชาก็ได้ดำรงอยู่ในตำแหน่งอุปราช ทำราชอุปัฏฐานแก่พระชนกชนนี บำเพ็ญมหาทานมากมาย เมื่อพระราชชนกทิวงคตแล้ว ได้เป็นเอกราชทรงสร้างทานศาลาบำเพ็ญพาน ประทานโอวาทแก่มหาชน ให้มหาชนตั้งอยู่ในทานและศีล ชาวนครทั้งหลายที่ให้ทานรักษาศีล เมื่อสิ้นอายุของตนแล้ว ก็ได้ไปเกิดในดาวดึงสเทวโลก
ก็พระวรเนตรราชานั้น เมื่อเสด็จอยู่สมัครสังวาสกับนางบุษบามเหสีก็ได้พระโอรสองค์หนึ่ง จึงประทานนามโอรสนั้นว่า ปุสเนตรกุมาร ๆ นั้น ครั้นเจริญวัยได้ ๑๖ ปี ก็ได้ทรงศึกษาศิลปศาสตร์ทั้งปวงสำเร็จได้เป็นอย่างดี พระวรเนตรราชาพระราชบิดาจึงทรงมอบราชสมบัติให้แต่พระปุสเนตรราชกุมารแล้ว เสด็จไปยังหิมวันตประเทศ ทรงบรรพชาเพศเป็นฤษี มิได้ไปยังทางของมนุษย์เลย บำเพ็ญอภิญญาและสมาบัติให้เกิดมิได้เสื่อม เมื่อสิ้นอายุแล้วก็ได้ไปอุบัติในพรหมโลก
สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนำเทศนานี้แล้ว มีพุทธดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตจะทำปัจจุปการแก่มารดาแต่ในชาตินี้หาบมิได้ ในกาลปางก่อน เมื่อตถาคตยังเป็นพระโพธิสัตว์นั้น ก็ได้ทำปัจจุปการแก่มารดาด้วยกตัญญูอย่างนี้ แล้วประกาศอริยสัจทั้งสี่ในกาล เมื่อจบชาดกเทศนา เมื่อจบอริยสัจจกถาแล้ว พุทธบริษัท ๘๐,๐๐๐ ก็ได้ บรรลุมรรคและผล สมเด็จพระทศพลจึงประชุมชาดกกว่า นางเขมาเทวีในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือนางจิญจมาณวิกา สีหกูฏันตยักษ์ในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคืออาลวกยักษ์ มหิสกรรณยักษ์ ๑ เทวบุตร ๔ องค์ในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือปัญจวัคคีย์ภิกษุ นางสุวรรณคันธาในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือนางชนปทกัลยาณี นางเกสมาลีเทวีในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือมหาปชาบดี วรุณนาคราชในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือท้าวมหานาม นางวิมลาในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือนางสุมนาเทวี วรนุชกุมารในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคืออานนท อัคคิเนตรดาบสในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคืออาลารุทกดาบส ปาลิตเทวดาในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคีอมหากัสสป หงสราชาในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือมหาสาริบุตร อัคคิสิขยักษ์ในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือมหาโมคคัลลานะ ท้าวสักกเทวราชในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคืออนุรุทธ กาสิกราชาในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือสิริสุทโธทนะ สุภัททาเทวีในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือมหามายาเทวี บุษบาเทวีในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือพิมพาเทวี บริษัทนอกจากนั้น กลับชาติมาคือพุทธบริษัท วรเนตรกุมารในกาลครั้งนั้น กลับชาติมาคือเราผู้ตถาคตเทียวแล