เอวํ เม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา สาวตฺถิยํ วิหรติ เชตวเน อนาถปิณฺทิกสฺส อาราเม เตน โข ปน สมเยน ปสฺเสนทิโกสโล ราชา ตสฺมึ นคเร รชฺชํ กาเรสิ
ในชาดกนี้ มีคำพระอานนทเถรเจ้ากล่าวไว้ในเบื้องต้นว่า พระสูตรนี้ข้าพเจ้าชื่อว่าอานนท์ ได้ฟังมาในที่เฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระผู้มีพระภาคโดยอาการอย่างนี้ เมื่อพระอานนท์เถรเจ้ากล่าวปฏิญาณตนให้พ้นจากสยัมภูวิสัยดังนี้แล้ว จึงกล่าวนิทานวจนะเป็นลำดับไปว่า
เอกํ สมยํ สมัยครั้งหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ซึ่งเป็นอารามที่อนาถปิณฑิกโสดาบันสร้างถวาย อาศัยเมืองสาวัตถีมหานครเป็นที่โคจรทรงบาตร
ในกาลนั้น พระเจ้าปัสเสนทิโกศลราช เสด็จเถลิงถวัลยรัชในเมืองสาวัตถีนั้นโดยทศพิธราชธรรมประเพณี ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ด้วยการงดเว้นราชทัณฑ์และศัสตราเครื่องประหาร ห้ามมิให้ลงอาชญามีทรมานและฆ่าตีเป็นต้น และทรงสงเคราะห์ประชาชนชาวพระนครด้วยสังคหะวัตถุ ๔ ประการ พระเจ้าปัสเสนทิโกศลราชนั้น ครั้นเวลาเย็นก็ให้ราชบุรุษเชิญเครื่องสักการบูชามีมาลาและของหอมเป็นต้น เสด็จไปสู่พระวิหารเชตวันเพื่อจะทรงฟังพระธรรมเทศนา ทรงประพฤติดังนี้เป็นนิตยกาลโดยลำดับมามิได้ขาด
อยู่มาวันหนึ่งสมเด็จพระบรมโลกนาถทรงพิจารณาดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุญาณในเวลาปัจจุบันสมัย ได้ทอดพระเนตรเห็นสัตว์พุทธเวไนย ที่ควรจะทรงทรมานให้ได้สำเร็จมรรคผล ครั้นเวลาเช้าสมเด็จพระทศพลก็เสด็จจากคันธกุฏี ทรงกระทำสรีรกิจตามพระพุทธประเพณีสำเร็จแล้ว ทรงผ้าสุคตจีวรพระกรทรงบาตร เสด็จพุทธลีลาศไป ณ ที่นั้นแต่ลำพังพระองค์เดียว แล้วทรงแสดงธรรมเทศนา ให้เวไนยสัตว์ผู้นั้นได้ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล ยังมิทันที่จะเสด็จกลับมาสู่พระวิหาร
ในกาลนั้น พระเจ้าปัสเสนทิโกศลพร้อมด้วยราชบริพารให้ราชบุรุษเชิญเครื่องสักการบูชาแล้ว เสด็จไปยังพระเชตวันในเพลาสายัณหสมัย เพื่อพระราชประสงค์จะทรงสดับพระธรรมเทศนา ครั้นถึงพระเชตวันมิได้เห็นองค์สมเด็จพระศาสดา ก็มีพระทัยประกอบไปด้วยความโทมนัส จึงมีพระราชดำรัสว่า น่าสังเวชนักพระเชตวันมหาวิหารนี้ มาว่างเปล่าจากพระสัพพัญญูพุทธเจ้าเสียแล้ว ยังเหลืออยู่แต่พระเชตวัน อนึ่งความปรารถนาของเราที่ตั้งใจมาในกาลนี้ ก็เป็นอันขาดสูญไปไม่สมดังความปรารถนา มีพระราชดำรัสดังนี้แล้ว ก็เกิดวิปฏิสารีมีความเดือดร้อนในพระหฤทัย จึงทรงบูชาพระพุทธอาสน์อันเป็นที่ประทับของพระพุทธองค์ ด้วยเครื่องสักการทั้งหลายมีประทีปธูปเทียนและมาลาของหอมเป็นต้น ที่พระองค์ได้ทรงจัดมาแล้วนั้น ครั้นบูชาแล้วก็เสด็จกลับเข้าสู่พระนครสาวัตถี ในเพลาราตรีคืนวันนั้น พระเจ้าปัสเสนทิโกศลทรงรำพึงถึงพระศาสดาเป็นอารมณ์ เสด็จเข้าผู่ที่บรรทมก็มิได้หลับตลอดราตรี ครั้นรุ่งเช้า จึงมีรับสั่งให้หาอำมาตย์และพราหมณ์คฤหบดีเข้ามาเฝ้า แล้วมีพระราชดำรัสว่า ดูกรท่านทั้งหลายผู้เจริญ ขึ้นชื่อว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น เป็นผู้ประกอบไปด้วยพระมหากรุณาอันใหญ่ยิ่ง จะได้เสด็จอยู่ประจำในที่อันเดียวหามิได้ เพราะเหตุว่า เมื่อสัตว์ทั้งหลายซึ่งเป็นพุทธเวไนย ที่ควรจะทรงทรมานให้ได้สำเร็จมรรคผลมีอยู่ ณ ที่ใด ก็ย่อมเสด็จไปในที่นั้น แล้วทรงทรมานให้สำเร็จมรรคผลตามบูรพวาสนา แม้ถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมศาสดาของเราทั้งหลาย พระองค์ก็ทรงพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่เหมือนกัน แต่เรานั้นปรารถนาจะเข้าไปใกล้พระรัตนตรัยเป็นนิตยกาล ถ้าหากว่าพระพุทธองค์เสด็จทรงทรมานเวไนยสัตว์เสียในที่อื่นไซร้ วัตตปฏิบัติของเราก็จะขาดไปเพราะประโยชน์ของผู้อื่น เพราะเหตุนั้น เมื่อพระบรมศาสดาของเราทั้งหลายเสด็จกลับมา เราจะไปเฝ้าทูลขออนุญาตสร้างพระพุทธปฏิมากรไว้ กระทำให้เป็นรูปเปรียบแทนพระองค์ ในเวลาเมื่อเสด็จไปทรมานเวไนยสัตว์ในที่อื่น เราทั้งหลายจะได้กระทำสักการบูชาให้สมประสงค์เป็นนิตยกาล
อำมาตย์ราชบริษัททั้งหลาย ไต้ฟังพระราชดำรัสดังนั้นต่างก็มีจิตชื่นบานโสมนัส จึงพร้อมกันกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทวราช ที่พระองค์ทรงพระราชดำรัสนี้ชอบแล้ว ถ้าแม้ได้รับพระบรมพุทธานุญาต สร้างพระพุทธปฏิมากรขึ้นได้สมดังพระราชประสงค์แล้ว ก็จะเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่สรรพสัตว์สิ้นกาลนาน ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็จักได้พากันกระทำสัมมานะสักการะโดยควรแก่กำลังความสามารถ ขอเชิญสมมติเทวดาเจ้าเสด็จไปเฝ้าพระบรมโลกนาถ ทูลขอพระพุทธานุญาตดังพระราชดำรินี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า
ในลำดับนั้น พระเจ้าปัสเสนทิโกศลราชทรงทราบว่า สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จกลับมาประทับอยู่ ณ พระเชตะวันวิหาร ครั้นรุ่งเช้าเวลาสายัณหสมัย จึงให้ราชบุรุษเชิญเครื่องนมัสการมีมาลาของหอมเป็นต้น แล้วเสด็จไปยังพระเชตุพน พร้อมด้วยเสนามาตย์ราชบริพาร ครั้นถึงจึงกระทำสักการบูชาสมเด็จพระศาสดาจารย์ ด้วยเครื่องสักการะทั้งหลายมีประทีปธูปเทียนเป็นต้น แล้วทรงประทับ ณ ที่อันควรข้างหนึ่ง ครั้นทรงประทับโดยปรกติแล้ว จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ เวลาวันวานนี้หม่อมฉัน พร้อมด้วยชาวเมืองสาวัตถีพากันมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นมาถึงพระเชตวันไม่เห็นพระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ ต่างก็พากันเกิดวิปฏิสารีเดือดร้อนรำคาญ ว่าพระเชตวันว่างเปล่าจากพระสัพพัญญูพุทธเจ้าเสียแล้ว จึงพากันกระทำอภิวาทน์พระเชตวันอันว่างเปล่าแล้วพากันกลับไปยังที่อยู่ของตน ๆ เพราะเหตุนี้หม่อมฉันมีความปรารถนาจะสร้างพระพุทธปฏิมากร กระทำให้เป็นรูปเปรียบแทนพระพุทธองค์ไว้ในพระวิหาร ชนทั้งหลายที่มีศรัทธาปสันนาการจะได้มากระทำสักการบูชา ในเวลาเมื่อพระพุทธองค์มิได้เสด็จประทับอยู่ในพระเชตวัน ขอพระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตให้หม่อมฉันได้สร้างพระพุทธปฏิมากรสมดังความปรารถนาในกาลนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า
สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ ได้ทรงสดับคำพระเจ้าปัสเสนทิโกศลทูลขอพรดังนั้น จึงมีพระพุทธดำรัสว่า ดูกรบพิตรผู้เป็นมหาราช ที่บพิตรขอนั้นเป็นการดีแล้ว ตถาคตยอมอนุญาตให้สร้างพระพุทธปฏิมากรได้ โดยควรแก่ความปรารถนาทุกประการ
พระเจ้าปัสเสนหิโกศลได้รับพระบรมพุทธานุญาต ก็มีพระหฤทัยอันโสมนัสเบิกบานเป็นที่ยิ่ง ครั้นทรงฟังพระธรรมเทศนาแล้ว ก็กราบถวายบังคมลาพาราชบริษัทคืนเข้าสู่พระราชนิเวศน์ ครั้นเพลารุ่งเช้า จึงมีรับสั่งให้หานายช่างเข้ามาเฝ้า แล้วทรงมอบไม้แก่นจันทร์แดงอันหาค่ามิได้ ให้ไปแกะทำเป็นรูปพระพุทธปฏิมากร ครั้นพระพุทธปฏิมากรสำเร็จแล้ว จึงให้เขียนลวดลายระบายสีอันงามวิจิตรในที่อันควรต่าง ๆ คือพระขนง พระโอษฐ์และพระเกศเป็นต้น แล้วให้เอาผ้ากาสาวพัสตร์อย่างดีมาทำเป็นสบงและจีวรนุ่งห่มพระพุทธปฏิมากรแก่นจันทร์ พระพุทธปฏิมากรนั้นก็งามละม้ายคล้ายองค์พระพุทธสัพพัญญูดูอัศจรรย์
ในกาลนั้น พระเจ้าปัสเสนทิโกศลราช จึงให้สร้างมณฑปอันแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ แล้วให้กระทำบุษบกเรือนแก้วอันงามวิจิตรแล้วให้เชิญพระพุทธปฏิมากรขึ้นสถิตบนบุษบกในท่ามกลางมณฑปนั้น ทรงกระทำสักการบูชาด้วยเครื่องสักการะเป็นอันมาก แล้วเสด็จไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาค ณ พระเชตวัน พร้อมด้วยเสนามาตย์ราชบริพาร ถวายนมัสการแล้วทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ พระพุทธปฏิมากรนั้น หม่อมฉันได้สร้างทำสำเร็จแล้ว มีพระลักษณะสัณฐานอันงามยิ่งนัก บัดนี้หม่อมฉันให้เชิญประดิษฐานไว้ในบุษบกเรือนแก้ว ขอเชิญเสด็จพระพุทธดำเนินไปทอดพระเนตรเถิด พระพุทธเจ้าข้า
สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ได้ทรงสดับ ก็ทรงรับโดยพระอาการดุษณีภาพ ครั้นรุ่งเช้าก็ทรงแวดล้อมไปด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ เสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่พระราชนิเวศน์ ทรงทอดพระเนตรพระพุทธปฏิมากร อันประดิษฐานอยู่ ณ บุษบกเรือนแก้วอันงามวิจิตรควรจะทัศนาการ
ในขณะนั้น พระพุทธปฏิมากรเห็นสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เสด็จมาก็มีอาการประดุจดังคิดว่า เมื่อสมเด็จพระพุทธสัพพัญญยังดำรงพระชนม์อยู่ การที่เราผู้เป็นแต่รูปเปรียบฉลองพระคงค์จะมานั่งอยู่บนอาสนะอันสูงเห็นปานดังนี้ ดูเป็นการไม่สมควรเลย คิดดังนี้แล้ว ก็ปรารภที่จะเลื่อนลงจากบุษบกอันแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ
สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธปฏิมากรทำอาการดังนั้น จึงทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวา อันงามประดุจดังว่างวงไอราวัณ แล้วยกพระหัตถ์ตรัสห้ามว่า ดูกรอาวุโส ท่านอย่าลงมาเลย จงนั่งอยู่บนบุษบกเรือนแก้วนั้นเถิด ไม่ช้านานเท่าไรตถาคตก็จะปรินิพพาน ท่านจงอยู่รักษาพระศาสนาคำสอนของเราไว้เพื่อได้เป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่สัตว์โลกทั้งปวง ให้ครบกำหนดได้ห้าพันพระวัสสา พระพุทธปฏิมากรนั้นก็มีอาการประดุจดังว่าได้ฟังพระพุทธดำรัสจึงกลับประดิษฐานอยู่บนบุษบกนั้นโดยปรกติของตน
ในกาลนั้น หมู่มหาชนมีพระราชาเป็นประธาน ได้แลเห็นความอัศจรรย์ดังนั้น จึงพากันมอบกายถวายชีวิตแก่พระศาสนา แล้วต่างคนก็ยกแผ่นผ้ามีประมาณแสนหนึ่ง ทำเป็นธงขึ้นโบกโบยเหนือเศียรเกล้าของตน ๆ เมื่อพระเจ้าปัสเสนทิโกศลจะทูลถามถึงอานิสงส์แห่งการสร้างพระพุทธปฏิมากร จึงถวายนมัสการสมเด็จพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ บุรุษสตรีผู้ใดผู้หนึ่งก็ดี เมื่อได้สร้างทำพระพุทธปฏิมากร กระทำให้เป็นรูปเปรียบจำลองพระพุทธองค์ขึ้นไว้ จะได้ประสบอานิสงส์เช่นไร พระพุทธเจ้าข้า
สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงสดับ จึงเผยพระโอษฐ์มีวรรณอันแดงดังผ้ากัมพล และกลิ่นอันหอมเปรียบประดุจดังว่ากลิ่นอุบลบุปผาชาติ แล้วมีพระพุทธดำรัสว่า ดูกรบพิตรผู้เป็นมหาราช บุรุษหรือสตรีผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งประกอบด้วยศรัทธา เมื่อได้สร้างทำพระพุทธปฏิมากรขึ้นไว้ในพระศาสนา พระพุทธปฏิมากรนั้นบุคคลจะสร้างทำด้วยดินเหนียวหรือศิลาก็ตาม หรือจะทำด้วยโลหะและทองแดงก็ตาม หรือจะทำด้วยไม้และสังกะสีดีบุกก็ตาม หรือจะทำด้วยรัตนะและเงินทองก็ตาม ผู้ที่สร้างทำนั้น จักได้อานิสงส์ผลเป็นอันมากพ้นที่จะนับจะประมาณ อนึ่ง ดูกรบพิตรพระราชสมภาร เมื่อพระพุทธปฏิมากรประดิษฐานอยู่ในโลกตราบใด โลกก็ชื่อว่าไม่ว่างเปล่าจากพระพุทธเจ้าตราบนั้น พระพุทธปฏิมากรนี้ได้ชื่อว่ายังพระพุทธศาสนาให้ตั้งมั่นถาวร อีกประการหนึ่ง ผู้ที่ได้สร้างทำพระพุทธปฏิมากรแล้วนั้น จะมีแต่ความสุขเป็นเบื้องหน้า แม้จะปรารถนาผลอันใด ก็จักได้ผลอันนั้นสำเร็จดังมโนรถปรารถนา ดูกรบพิตรพระราชสมภาร การที่สร้างพระพุทธปฏิมากร หรือปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปก็ดี เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งยังเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ ครั้งเมื่อตถาคตเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ได้สร้างกุศลบำเพ็ญพระบารมีมาในกาลก่อน ได้เห็นนิ้วพระหัตถ์พระพุทธปฏิมากร ซึ่งทำด้วยดินเหนียวอันหักขาดไปนิ้วหนึ่ง จึงนำเอาดินเหนียวมาปั้นทำให้บริบูรณ์เป็นปรกติ แล้วกระทำสักการบูชาด้วยมาลาของหอมมีประมาณน้อย ครั้นทำลายเบญจขันธ์ก็ได้ขึ้นไปเสวยสมบัติในสวรรค์สัคคเทวโลก ด้วยอำนาจอานิสงส์ผลที่ได้ปฏิสังขรณ์นิ้วพระพุทธปฏิมากร แล้วกระทำสักการบูชานั้น ครั้นจุติจากสวรรค์ก็ได้มาบังเกิดเป็นบรมกษัตริย์ เสวยราชสมบัติเป็นเอกราชในชมพูทวีปสิ้นกาลนาน ภายหลังเมื่อโพธิสมภารพุทธการกธรรมเต็มบริบูรณ์แล้ว ก็ได้นิสีทนาการ ณ โพธิพฤกษ์มณฑล ผจญเสียซึ่งพระยามาร และพลแห่งมารให้พ่ายแพ้แล้วและได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณในอวสานที่สุด มีพระพุทธฎีกาตรัสเทศนาดังนี้แล้ว ก็ทรงดุษณีภาพ พระเจ้าปัสเสนทิโกศลจะใคร่ทราบอดีตนิทานจึงทูลอาราธนา พระพุทธองค์ก็ทรงนำเรื่องในอดีตกาลมาตรัสเทศนาดังนี้ต่อไปนี้ว่า
อตีเต กิร อมรวตีนามนคเร เอโก พาณิโช กุลภทฺทกุมาโร นาม ปติวสติ ในกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้วมีพาณิชพ่อค้าคนหนึ่ง ชื่อว่ากุลภัททกุมารตั้งเคหสถานอาศัยอยู่ในเมืองอมรวดี อยู่มา ณ กาลวันหนึ่ง กุลภัททกุมารนั้นชวนพ่อค้าทั้งหลายประมาณพันคนออกจากบ้าน จะไปค้าขายที่เมืองอื่น เมื่อไปในกลางทางนั้น ได้เห็นพระพุทธปฏิมากรอันทำด้วยดินเหนียวองค์หนึ่ง ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระอารามอันตั้งอยู่ในป่าชัฏ พระพุทธปฏิมากรนั้น มีนิ้วพระหัตถ์อันหักทำลายไปนิ้วหนึ่ง เพราะถูกน้ำฝนตกรด จึงนำเอาดินเหนียว มาขยำกับน้าอ้อย ปั้นนิ้วพระพุทธปฏิมากร กระทำการปฏิสังขรณ์ให้เต็มบริบูรณ์เป็น ๕ นิ้วแล้ว ก็นมัสการด้วยเครื่องสักการะทั้งหลายมีประทีปธูปเทียนและมาลาของหอมเป็นต้น แล้วหยิบเอาทรัพย์ส่วนของตน ๕ กหาปณะ มอบให้แก่หญิงทาสีคนหนึ่ง เพื่อให้ปฏิบัติรักษาพระพุทธปฏิมากรอันเป็นเจดีย์นั้นด้วย เพื่อให้เป็นมูลค่าประทีปธูปเทียนและของหอม สำหรับบูชาพระพุทธปฏิมากรนั้นด้วย ครั้นบูชาสักการะสำเร็จแล้ว จึงตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระพุทธปฏิมากรผู้เจริญ ด้วยอำนาจอานิสงส์ผลที่ข้าพเจ้าได้ปฏิสังขรณ์นิ้วพระหัตถ์ ก็ขึ้นชื่อว่าข้าศึกศัตรูทั้งปวงแล้ว ขออย่าให้มีในที่เฉพาะของข้าพเจ้าเลย อนึ่งขอให้ข้าพเจ้าตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าในอนาคตกาลภายหน้า สมดังความปรารถนาของข้าพเจ้านี้เถิด จำเดิมแต่นั้นมาข้าศึกศัตรูแลเนื้อร้ายทั้งหลาย โดยที่สุดแต่งูและตะขาบแมลงป่องเป็นต้น ก็มิได้กล้ำกรายมาในที่เฉพาะหน้าของกุลภัททกุมาร เมื่อกุลภัททกุมารนั้นทำลายขันธ์จากมนุษย์โลก ก็ได้ขึ้นไปเกิดในเทวโลก เสวยทิพย์สมบัติในเมืองสวรรค์ พวกอสูรทั้งปวงที่อยู่ในเทวโลกนั้นก็มิอาจที่จะเข้าไปใกล้ พากันปลาสนาการหนีไปจากเทวโลกแล้ว ก็มิได้กลับหน้าไปแลดูโลกสวรรค์นั้นอีกเลย ครั้นกุลภัททกุมารเทพบุตรจุติจากสวรรค์ก็ลงมาปฏิสนธิในครรภ์พระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสีบรมกษัตริย์ เทพบุตรทั้งหลายพันหนึ่งซึ่งเป็นบริวารก็พากันจุติลงมาปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาของพวกอำมาตย์ พระอัครมเหสีนั้นครั้นทรงพระครรภ์ถ้วนทศมาส ก็ประสูติพระราชกุมารโพธิสัตว์ อันบริบูรณ์ด้วยลักษณะสมบัติอันประเสริฐ ฝ่ายภรรยาของอำมาตย์ทั้งหลาย ที่เทพบุตรพันหนึ่งมาถือปฏิสนธิกำเนิดในครรภ์ ต่างก็คลอดบุตรพร้อมกันในวันเดียวกับพระอัครมเหสีซึ่งประสูติพระโพธิสัตว์ เมื่อพระโพธิสัตว์นั้นทรงพระเจริญวัยวัฒนาการ กับด้วยสหชาตกุมารพันหนึ่งเป็นบริวาร
ในกาลนั้นสัตว์พาหนะทั้งหลายมีช้างและม้าเป็นต้นที่บุคคลผู้เป็นนายหัตถาจารย์และนายสารถีฝึกหัดทรมานห้ามปรามโดยยาก เมื่อได้แลเห็นพระราชกุมารโพธิสัตว์ยกนิ้วพระหัตถ์ชี้มาในกาลใด สัตว์พาหนะทั้งหลายเหล่านั้น ก็พากันล้มเซซวนไปในกาลนั้น พระประยูรญาติทั้งหลายมีพระราชธิดาและพระราชมารดาเป็นต้น จึงขนานนามพระโพธิสัตว์ให้ชื่อว่า วัฏฏังคุลีราชกุมาร ๆ นั้นมีพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา พระเจ้าพาราณสีผู้เป็นพระราชบิดาก็เสด็จทิวงคต เสนามาตย์และพราหมณ์คฤหบดีทั้งหลาย จึงอภิเษกพระโพธิสัตว์ผู้เป็นพระราชโอรสขึ้นครองราชสมบัติ เป็นกษัตริย์สืบสันตติวงศ์ดำรงราชอาณาจักรโดยราชประเพณี
เมื่อพระเจ้าวัฏฏังคุลีราชโพธิสัตว์ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในครั้งนั้น พระองค์ทรงปกครองมหาชน ด้วยการยกเลิกราชทัณฑ์และศัตราคือห้ามมิให้ลงพระราชอาญาและฆ่าตี และทรงสงเคราะห์ชาวพระนครด้วยสังคหะวัตถุ ๔ ประการ เป็นพระเจ้าธรรมมิกราชดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม ทั้งมีพระกมลสันดานประกอบด้วยพระราชศรัทธา มีพระราชดำรัสให้สร้างฉทานศาลาในที่ ๖ สถาน คือประตูพระนครทั้งสี่แลที่ท่ามกลางพระนคร ๑ ที่ ประตูพระราชนิเวศน์ ๑ รวมเป็น ๖ สถาน แล้วทรงบริจาคพระราชทรัพย์ สำหรับโรงทานทั้ง ๖ แห่งนั้น วันละหกแสนทุกวัน ๆ มิได้ขาด
อนึ่ง พระเจ้าวัฏฏังคุลิราชโพธิสัตว์นั้น พระองค์ทรงประกอบด้วยพระเมตตากรุณาอันมั่น มิได้ทำโลหิตมาทว่าแมลงวันดื่มกิน ให้ไหลตกจากสรีรกายของสัตว์อื่น จะกล่าวไปไยถึงการที่พระองค์จะทรงเบียดเบียน และฆ่าสัตว์ทั้งหลายให้จำตายนั้นเล่า อนึ่งพระองค์มิได้ทรงยินดีที่จะถือเอาพัสดุของผู้อื่นมาทว่ากากนึกหนึ่งเป็นประมาณ อนึ่งมิได้ทอดทัศนาการดูภรรยาของผู้อื่นด้วยสามารถแห่งราคดำฤษณา อนึ่งมิได้ตรัสคำมุสาวาทว่าสักคำหนึ่งเลย อนึ่งพระองค์มิได้เสวยสุราและเมรัย มาทว่าสักหยาดหนึ่งเป็นกำหนด พระองค์ทรงรักษาศีล ๕ คือปัญจเวรวิรัติมั่นอยู่ในพระกมลสันดานด้วยประการดังนี้
ในกาลนั้น พระยาร้อยเอ็ดทั้งหลายในชมพูทวีปทั้งสิ้น เมื่อได้ยินกิตติคุณของพระโพธิสัตว์วัฏฏังคุลีราช จึงมาประชุมสันนิบาตในที่อันเดียวกัน แล้วปรึกษากันว่า เราทั้งหลายจักไปชิงเอาราชสมบัติของพระเจ้าวัฏฏังคุลีราช อันอุปมาประดุจดังว่าดอกประทุมชาติ อันอยู่ในเงื้อมหัตถ์ก็ปานกัน เพราะเหตุว่า พระเจ้าวัฏฏังคุลีราชนั้นประกอบด้วยพระเมตตากรุณา มิได้ฆ่าสัตว์ที่มีชีวิตให้ถึงแก่ความตาย แม้ว่าเราทั้งหลายยกพลโยธาไปประชิดพระนครในกาลนี้ ก็คงจะได้ราชสมบัติสมดังความปรารถนา เมื่อพระยาร้อยเอ็ดทั้งหลายปรึกษากันดังนี้แล้ว ต่างก็ตระเตรียมพลโยธาอันประกอบด้วยเสนามีองค์สี่ประมาณได้สิบแปดอักโขเภนีเป็นกำหนด แล้วยาตราทัพไปยังเมืองพาราณสีมหานคร เมื่อเดินกองทัพไปถึงท่ามกลางมรรคา จึงให้เขียนพระราชสาส์นมีความว่า พระเจ้าวัฏฏังคุลีราชจงมอบราชสมบัติให้แก่เราทั้งหลาย ถ้าไม่ยอมมอบราชสมบัติให้ก็จงตระเตรียมโยธาไว้จะได้ออกมาต่อยุทธนาการ ครั้นให้เขียนราชสาส์นสำเร็จแล้ว ก็ส่งให้ราชทูตนำไปถวายพระเจ้าวัฏฏังคุลีราชก่อนแต่กองทัพยังไม่ทันถึงเมืองพาราณสี
ราชทูตรับพระราชสาส์นแล้ว ก็รีบไปยังเมืองพาราณสีครั้นถึงจึงเข้าไปยืนอยู่ที่หน้าพระลาน อำมาตย์ผู้หนึ่งได้เห็นราชทูตถึงไต่ถามเมื่อทราบความว่าเป็นราชทูตเชิญพระราชสาส์นมาดังนั้น จึงนำความขึ้นกราบทูลพระเจ้าวัฏฏังคุลีราชให้ทรงทราบ
พระเจ้าวัฏฏังคุลีราชโพธิสัตว์ จึงมีพระราชดำรัสให้หาตัวรายทูตนั้นเข้าไปเฝ้า ครั้นราชทูตพื้นเข้าไปเฝ้าถวายพระราชสาส์นแล้ว พระเจ้าวัฏฏังคุลีราชก็ทรงอ่าน ทราบความตามพระราชสาส์นนั้นแล้ว ก็มิได้มีความสะดุ้งตกพระทัย มีพระกิริยาอาการอันองอาจประดุจดังว่าพระยาไกรสรสิงหราชหนุ่ม ทรงพระสรวลแล้วตรัสถามราชทูตว่า กองทัพที่ยกมาในคราวนี้ มีพระราชาประมาณกี่องค์ และมีหมู่พหลจตุรงค์ประมาณได้ ๑๘ อักโขเภนี พระพุทธเจ้าข้า จึงมีพระราชดำรัสแก่ราชทูตว่าเราผู้เดียวนี้และจะให้พระราชาทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ กับหมู่พหลจตุรงค์ทั้ง ๑๘ อักโขเภนีปลาสนาการหนีไป ด้วยอำนาจนิ้วมือของเรานิ้วเดียวเท่านั้น เราไม่ปรารถนาที่จะฆ่าฟันพลนิกาย แลพระราชาร้อยเอ็ดให้ถึงแก่ความตายด้วยเครื่องศัตราวุธยุทธภัณฑ์
ในขณะนั้น เหล่าอำมาตย์ทั้งหลายที่เป็นสหชาต จึงพร้อมกันถวายบังคมพระเจ้าวัฏฎังคุลีราช แล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทวดา ข้าพระองค์ทั้งหลายมีกำลังกล้าสามารถทั้งประกอบด้วยวิริยภาพและปัญญาปรีชาญาณมิได้ท้อถอยในการที่จะต่อยุทธสงครามอันคับขัน ข้าพระองค์ทั้งปวงนี้ขอรับอาสาไปจับพระราชาทั้งร้อยเอ็ดนั้นมาถวาย และย่ำยีหมู่จตุรงค์เสนาของพระราชาทั้งหลายนั้นให้พินาศ เปรียบประดุจดังว่างากุญชรชาติอันเหยียดออกไปแล้ว ที่จะกลับสั้นหดเข้ามาหามิได้โดยไม่ใช่วิสัยงาช้างอย่างสามัญ พระพุทธเจ้าข้า
เมื่ออำมาตย์สหชาตทั้งหลายนั้น ทูลวิงวอนขอรับอาสาดังพรรณนามาดังนี้ พระเจ้าวัฏฏังคุลีราชจึงตรัสว่า ดูกรดำมาตย์สหชาตทั้งปวง ท่านทั้งหลายอย่าออกไปรบเลย พระราชาทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ กับหมู่พหลจตุรงค์ทั้งหลาย จะพากันพินาศล้มตายเสียหมดหาประโยชน์มิได้ เมื่อพระราชาร้อยเอ็ดและหมู่อำมาตย์ทั้งหลายตายเสียหมดมิได้เหลือสักคนหนึ่งแล้ว ใครเล่าจะพึงไปบอกบุตรภรรยาของเขาให้รู้ซึ่งเหตุการณ์ เราคิดจะให้พระราชาและโยธาหาญทั้งปวงหนีไปโดยความสวัสดี มิให้มีความเดือดร้อนและถึงชีวิตอันตราย โดยเหตุนี้ ท่านทั้งหลายจึงพากันกลับไปเคหะสถาน วันรุ่งพรุ่งนี้ จงอาบน้ำชำระกายบริโภคอาหารเสียแต่เช้าแล้วประดับกายด้วยเครื่องสรรพาภรณ์วิภูษิตตามแวดล้อมเราไปโดยตามปรกติลีลาศ ส่วนตัวเราจะขึ้นทรงกุญชรชาติที่นั่งต้น ออกไปยังพระยาร้อยเอ็ดกับหมู่พหล ให้ปลาสนาการหนีไปด้วยนิ้วมือของเรานิ้วเดียวเท่านั้น มิให้ผู้ใดผู้หนึ่งถึงชีวิตันตราย
สหชาตอำมาตย์ทั้งหลายได้ฟังพระราชดำรัสดังนั้น ก็ถวายบังคมลาพากันไปสู่ที่อยู่ของตน ๆ ครั้นเวลารุ่งเช้า ต่างคนก็รีบบริโภคอาหารประดับกายด้วยอลังการวิภูษิต แล้วพากันไปคอยเฝ้ารับเสด็จอยู่ที่สนามหน้าพระลาน
ฝ่ายพระเจ้าวัฏฏังคุลีราชโพธิสัตว์นั้น ครั้นเวลาสว่างแจ้งแล้วก็เสด็จจากที่พระบรรทมชำระพระพักตร์สรงสนาน เสวยกระยาหารมีรสอันเลิศต่าง ๆ แล้วทรงประดับเครื่องอลังการวิภูษิตสำหรับกษัตริย์เสร็จแล้ว เสด็จมาประทับที่หน้าพระลาน ทอดพระเนตรเห็นอำมาตย์ราชบริพารมาประชุมเฝ้าพร้อมกัน จึงเสด็จขึ้นทรงมงคลคชสารอันประดับด้วยหัตถาอลังการ เครื่องประดับสำหรับช้างพระที่นั่งต้น อันเป็นพระราชพาหนะที่นายหัตถาจารย์ฝึกสอนแล้วเป็นอันดี สามารถจะย่ำยีเสียซึ่งเสนาแห่งผู้อื่นให้พินาศ
ขณะนั้น เหล่าสหชาตอำมาตย์ก็ตามแวดล้อมเป็นขนัดพรั่งพร้อมไปด้วยราชบริษัทจตุรงคเสนา และพระสนมราชกัญญามีรูปอันอุดม ประดับด้วยอาภรณ์อันงามวิจิตรรจนา เปรียบดังนางเทพอัปสรกัญญาในสวรรค์ บางพวกนั้นก็ถือพัดวาลวิชนีอันแล้วไปด้วยทอง มีด้ามอันวิจิตรไปด้วยรัตนะต่าง ๆ บางพวกก็ถือเศวตฉัตรอันแล้วไปด้วยแก้วและทอง บางพวกก็ถือธงชายธงปฏากและดนตรีมีประการต่าง ๆ พากันแวดล้อมพระเจ้าวัฏฏังคุลีราชโพธิสัตว์ งามดังองค์สมเด็จวชิรหัตถ์เทวราช อันแวดล้อมไปด้วยเทพนิกรก็ปานกัน
พระเจ้าวัฏฎังคุลีราชโพธิสัตว์นั้น ออกจากพระนครโดยพระทวารด้านปราจีณทิศ เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นจตุรงคเสนาเหล่าปัจจามิตรอันตั้งพยุหะแวดล้อมอยู่ในเบื้องหน้า จึงตรัสถามพวกอำมาตย์ด้วยบาทพระคาถาว่า
หตฺถี อสฺสา รถา ปตฺติ | เสนาว จตุรงฺคินี |
สมนฺตํ ปริวาเรนฺติ | โสภนฺติ สุริโย วิย |
กสฺส จ เสนา มหตี | ปิฏฺิโต อนุปิฏิยา |
วิวิธา อปริมาณา | สาครสฺเสว อุมฺมิโย |
ความว่า เสนาทั้งหลายอันมีองค์ ๔ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลบทจรเดินเท้า รวมสี่เหล่าเรียกว่า พลจตุรงค์ ยืนแวดวงอยู่โดยรอบเป็นหมวดหมู่ ดูงามราวกะว่าดวงสุริยมณฑลเสนารี้พลของใครผู้ใดหนอ ดูมากมายหนักหนามีประการต่าง ๆ จะนับจะประมาณมิได้ คับคั่งไปทั้งเบื้องซ้ายและเบื้องขวา เบื้องหน้าและเบื้องหลัง เปรียบประดุจดังว่าคลื่นในสมุทรสาครฉะนั้น
อำมาตย์ทั้งหลายได้ฟังรับสั่งถามจึงทูลความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทวดา กองทัพทั้งปวงคือพระยาร้อยเอ็ดทั้งหลายในชมพูทวีปยกมา ปรารถนาจะทำยุทธสงครามด้วยพระองค์โดยประสงค์จะชิงเอาราชสมบัติ เหล่าจตุรงคเสนาที่ยืนอยู่เป็นขนัดพ้นที่จะนับจะคณนาอุปมาดังว่าคลื่นในมหาสมุทรสาคร คือพวกพลนิกรของพระยาร้อยเอ็ดทั้งหลายนั้น พระพุทธเจ้าข้า
พระเจ้าวัฏฏังคุลีราชได้ทรงสดับดังนั้น จึงมีพระราชดำรัสว่า ดูกรท่านทั้งหลายผู้เจริญ ถ้ากระนั้น ท่านทั้งปวงจงไปบอกพระยาร้อยเอ็ดพระนคร ประสงค์จะทำการยุทธสงครามกับเราไซร้ ก็ให้พระยาทั้งร้อยเอ็ดทั้งปวงนั้น พากันขึ้นทรงคชสารพร้อมกัน พวกพลช้างนั้นก็ให้ขึ้นสู่กุญชรชาติ พวกพลอัศวราชให้ขึ้นสู่อัสดร พวกพลราชรถก็ให้ขึ้นสู่รถ พลบทจรเดินเท้าก็ให้ผูกสอดเครื่องศัตราวุธยุทธภัณฑ์ แล้วต่างพวกก็จงพร้อมกันทำกิจการที่ควรทำในที่จะต่อยุทธสงครามโดยกล้าหาญ
อำมาตย์ทั้งหลายรับพระราชโองการแล้ว ก็ไปบอกพระยาทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ให้ทรงทราบ ตามพระราชดำรัสนั้นทุกประการ
พระยาทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ได้ทรงฟังดังนั้น ก็พากันปรบพระหัตถ์ทรงพระสรวลเสียงสนั่น ประดุจดังว่าเสียงแผ่นดินจะทรุดฉะนั้น แล้วให้เตรียมพลช้างม้าพลราชรถบทจรเดินเท้า ให้เป็นหมวดเป็นเหล่าพร้อมกัน แล้วให้พลนิกายเหล่านั้นผูกสอดศัตราวุธเครื่องยุทธทนาการ ถือโล่ดาบแหลนหลาวและดาบดั้งและหอกซัดเป็นต้น เหล่าพลช้างก็ร้องคำรนเสียงโกญจนาท เสียงพลอัศวราชร้องก้องหือรือหรรษ์ เสียงพลราชรถสนั่นสะเทือนสะท้านเสียงพลโธธาหาญโห่ร้องกึกก้องมีประการต่าง ๆ เสียงบันลือของพลนิกายทั้งปวงในกาลนั้น ดุจเสียงกึกก้องแห่งลมยุคันธวาต อันพัดให้เขาสิเนรุราชหักพังลงก็ปานกัน
ในกาลนั้น พระยาร้อยเอ็ดพระองค์ ต่างก็ขึ้นทรงพระยาคชาธารที่นั่งต้น แล้วไสช้างตรงไปในที่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้าวัฏฏังคุลีราชเพื่อจะทำยุทธสงครามตามราชประเพณี
ในขณะนั้น พระเจ้าวัฏฏังคุลีราชโพธิสัตว์ ก็ทรงยกนิ้วพระหัตถ์ชี้ไปตรงพลนิกาย ทันใดนั้นพระยาร้อยเอ็ดทั้งหลาย ต่างก็ตกจากช้างที่นั่งทรง หมู่พลจตุรงค์ทั้ง ๔ เหล่า คือพลช้างทั้งหลายก็ตกจากคอช้างทั้งหมด อีกทั้งพลอาชาชาติและพลราชรถก็ตกจากหลังอาชาและบัลลังก์รถ พวกพลนิกายเดินเท้าทั้งปวงนั้น พากันล้มเดียระดาษทั้งหมด แล้วต่างคนก็รีบหนีไป บางพวกทิ้งเครื่องคัสตราวุธยุทธภัณฑ์ไว้ หนีเข้าไปอยู่ในถ้ำและบรรพตและชัฏแห่งป่า บางพวกก็หนีไปสู่ฝั่งคงคามหาสมุทร บางพวกมีผ้านุ่งห่มอันหลุ่ยหลุด หนีไปแต่ตัวด้วยอำนาจความกลัวพระโพธิสัตว์อันทรงยกนิ้วพระหัตถ์ซึ่งทรงสำเร็จด้วยอำนาจอานิสงส์ผลที่ได้ปฏิสังขรณ์ กระทำนิ้วพระพุทธปฏิมากรให้เต็มบริบูรณ์แต่ชาติก่อนนั้น
พระวัฏภังคุลีราชโพธิสัตว์ ทอดพระเนตรเห็นพระยาร้อยเอ็ดและหมู่พหลพลขันธ์มีความลำบากกายถึงซึ่งวิปการต่าง ๆ ดังนั้น ก็มีพระหฤทัยประกอบด้วยพระมหากรุณา จึงมีพระราชดำรัสว่า ดูกรท่านทั้งหลายผู้เจริญ ท่านทั้งปวงจงพากันลุกขึ้นเถิดอย่ากลัวเราเลย เราไม่ให้ท่านทั้งหลายถึงชีวิตอันตราย
ในกาลนั้น พวกจตุรงคโยธาทั้งหลายมีพระยาทั้งร้อยเอ็ดเป็นประธาน ต่างก็พากันอุฏฐาการลุกขึ้นถวายอัญชลีพร้อมกัน มีความกลัวมรณภัยเป็นกำลังพากันนั่งอยู่ ณ ที่นั้น ๆ ฝ่ายพระยาร้อยเอ็ดพระองค์นั้นก็พากันทูลถวายราชสมบัติ และราชธิดาของตน ๆ
เมื่อหน่อพระทศพลวัฏฏังคุลีราช มีชัยชำนะพระยาร้อยเอ็ดผู้เป็นปัจจามิตรแล้ว ก็พระราชทานโอวาทานุสาส์นสั่งสอนพระยาร้อยเอ็ดให้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ แล้วมีพระราชดำรัสให้กลับไปครองรัชยสถานของตน ๆ ส่วนพระองค์ก็พร้อมด้วยหมู่พหลเสนามาตย์ราชบริพาร เสด็จกลับเข้าสู่พระนครอันเป็นนิวาสฐานของพระองค์ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์จะนับจะประมาณมิได้ ให้เป็นทานแก่ยาจกวณิพกคนกำพร้าอนาถา และทรงปกครองรัชสีมาโดยทศพิธราชธรรมประเพณี แต่นั้นมาพระยาทั้งร้อยเอ็ดพระนครต่างองค์ก็ส่งเครื่องราชบรรณาการมีประการต่าง ๆ มาถวายพระเจ้าวัฏฏังคุลีราชโพธิสัตว์ทุก ๆ ปีมิได้ขาด
ในกาลเป็นลำดับนั้น ได้ยินว่าพิภพของท้าวสักกเทวราชแสดงอาการอันร้อนด้วยอำนาจแห่งความกรุณาของพระมหาสัตว์ ท้าวสักกเทวราชวชิรหัตถ์พิจารณาดูด้วยทิพยเนตร ก็ทรงทราบประพฤติเหตุทุกประการ จึงเสด็จลงมาจากเทวสถานไปสู่สำนักพระเจ้าวัฏฏังคุลีราช เปล่งพระรัศมีไห้โอภาสสว่างรุ่งเรืองเปรียบประดุจดังว่าแสงแห่งพระอาทิตย์ซึ่งมีรัศมีอันอ่อน พึ่งแรกอุทัยขึ้นมาเหนือยอดยุคันธรบรรพต เมื่อจะมีเทวบัญชาตรัสถามพระเจ้าวัฏฏังคุลีราช จึงกล่าวเป็นบาทพระคาถา
ปุจฺฉามิ ตํ มหาราช | กึ ปฺุํ ปกตํ ตยา |
ปุพฺเพปิ ยํ ตว ปฺุเน | ลทฺธา เต วิชโย อยํ |
ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เราขอถามท่านบัดนี้ ท่านได้กระทำบุญกุศลอะไรไว้ อนึ่งความที่ท่านมีชัยชำนะข้าศึกศัตรู ด้ายนิ้วมือนิ้วเดียวนี้ ท่านได้เพราะบุญกุศลอันใดของท่านที่ได้ก่อสร้างมาในชาติปางก่อน ขอท่านจงชี้แจงแสดงบุรพกุศลอันนั้น ให้เราได้รู้เห็นเป็นอุทาหรณ์ ในกาลบัดนี้
พระเจ้าวัฏฏังคุลีราช ได้ทรงสดับคำถามดังนั้น ก็มีพระทัยอันโสมนัสเบิกบาน บังเกิดชาติสรญาณคือทรงระลึกชาติหลังได้ เมื่อจะทรงชี้แจงบุรพกุศลที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญไว้แต่ในชาติปางก่อนให้แจ้งชัด จึงตรัสเป็นบาทพระคาถาทั้งหลายว่า
พานิโชหํ ปุเร อาสึ | นามโก กุลภทฺทโก |
คจฺฉามิ เตน สทฺธึ โส | ธเนน ทายํ เอสติ |
ฉินฺนเมกางฺคุลึ ทิสฺวา | พุทฺธรูปสฺส ตาวเท |
อหํ ตุฏฺจิตฺโต อาสึ | น อุสฺสหามิ เจตสา |
มทฺทิตฺวา มติกาสุทฺธํ | คุลิยา องฺคุลึ กเร |
เตน ปฺุานุภาเวน | ลทฺโธ เม วิชโย อยํ |
สีโหปิ สมฺมุขา คนฺตุวา | มม ทุกฺขาย ฆาฏกํ |
มยา เจกางฺคุลึเยว | ปกสาเต ปฺุเตชสา |
มหาคเชนฺทสหสฺสานิ | สโยธา วาหนานิ จ |
สมฺมุขานิ จ เม คนฺตวา | สุจิตฺตานิ ปตนฺติ เจ |
อนาคเต จ สมฺพุทธํ | สมฺพุชฺฌิสฺสามิ โกสิย |
มยหํปิ ปฺุเตเชน | ภวิสฺสํ โลกนายโก |
โภนฺโต พุทฺธปูชาย หิ นาม | |
อปฺปกาปิ พุทฺธสฺส กตา | |
มหปฺผลํ โหนฺติ มหานิสํสํ |
ความว่า ข้าแต่ท้าวสักกเทวราช ในชาติปางก่อนนั้นข้าพเจ้าเกิดเป็นพ่อค้า มีนามชื่อว่า กุลภัททพานิช ได้ไปแสวงหาทรัพย์กับพวกพ่อค้าที่มีทรัพย์ด้วยกัน ข้าพเจ้าได้ไปเห็นนิ้วพระพุทธรูปอันหักอยู่นิ้วหนึ่งเท่านั้น ก็บังเกิดมีจิตยินดีประกอบด้วยความเลื่อมใส ไม่อาจนิ่งอดทนอยู่ได้ จึงเอาดินเหนียวมาขยำกับน้ำอ้อยปั้นพระพุทธปฏิมากรนั้นให้เป็นปรกติดี ด้วยจิตอันเลื่อมใสศรัทธาโดยอานุภาพแห่งบุญได้กระทำนิ้วพระพุทธปฏิมากรให้ดีเป็นปรกติเป็นห้านิ้วนั้น มาชาตินี้ข้าพเจ้าจึงได้มีชัยชำนะข้าศึกด้วยอำนาจนิ้วที่ชี้ไป อนึ่งแม้ถึงสีหมิคราชตัวกล้า หรือคชสารซับมันสักพันหนึ่งก็ดี หรือพลโยธาทั้งหลายพร้อมด้วยจตุรงคเสนาก็ดี ซึ่งเข้ามาในที่เฉพาะหน้าของข้าพเจ้าเพื่อจะประทุษร้าย ถ้าข้าพเจ้ายกนิ้วมือนิ้วเดียวขึ้นชี้ไป ก็อาจป้องกันทุกข์ภัยมิให้มีแก่ข้าพเจ้าได้ ข้าศึกศัตรูทั้งหลายมีราชสีห์เป็นต้นนั้น ก็พากันล้มซมซานปลาสนาการหนีไป ใช่แต่เท่านั้น ข้าแต่ท้าวสหัสสนัยโกสีย์ ด้วยเดชอำนาจแห่งบุญที่ข้าพเจ้าได้ปฏิสังขรณ์นิ้วชี้พระพุทธปฏิมากรนั้น ในอนาคตกาลภายภาคหน้า ข้าพเจ้าจักได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ จักขนสัตว์ให้พ้นจากวัฏฏสงสาร อันเป็นเหตุที่จะให้เวียนตายเวียนเกิดไม่มีที่สุด
ดูกรท่านทั้งหลายผู้เป็นสัตบุรุษอันเจริญ ขึ้นชื่อว่าพุทธบูชานี้ ถึงจะกระทำน้อย ก็เป็นคุณอันนำมาซี่งอานิสงส์ผลอันยิ่งใหญ่ ท่านทั้งหลายจงมนสิการทำในใจด้วยประการฉะนี้
ท้าววชิรปาณีสักกเทวราช ได้สดับคำชี้แจงของพระเจ้าวัฏฏังคุลีราชด้วยบาทพระคาถาดังนั้น ก็มีพระหฤทัยประกอบด้วยความเลื่อมใสโสมนัส เมื่อจะแสดงตนและกล่าวสรรเสริญชมเชยพระมหาสัตว์ จึงตรัสว่า ดูกรมหาบุรุษ ตัวเรานี้คือสักกเทวราช ผู้เป็นใหญ่กว่าเทพยดา ได้มาสู่สำนักของท่านในกาลบัดนี้ ต่อไปในอนาคตกาลภายหน้า ท่านจักนั่ง ณ โพธิพฤกษามณฑล จะกำจัดเสียซึ่งมารและพลมารให้ปราชัยพ่ายแพ้ แลจะกำจัดเสียซึ่งกิเลสมารและขันธมารมัจจุราชให้สูญไปโดยมิให้เหลืออยู่จักได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้า ยกธรรมขึ้นแสดงสั่งสอนสัตว์ให้ถึงสวรรค์และนฤพาน เมื่อท้าวมฆวานตรัสสรรเสริญเชยชมพระมหาสัตว์ดังนี้แล้ว ก็นิวัตนาการกลับไปยังเทวโลกอันเป็นนิวาสนฐานของตน
สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมทศพลทรงนำเรื่องในอดีตกาลมาตรัสเทศนาดังนี้แล้ว เมื่อจะแสดงอานิสงส์แห่งการปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมากรให้ยิ่งขึ้นไป จึงตรัสพระธรรมเทศนาด้วยบาทพระคาถาว่า
สตฺตกฺขตฺตุํ จ เทวินฺโท | เทวรชฺชมการยิ |
อสีติ จ สตกฺขตฺตุํ | จกฺกวตฺติสิริวโร |
ปเทสรชฺชํ วิปุลํ | คณนาโต อสงฺขโย |
ยํ ยํ องฺคฺจ วิกลฺลํ | พุทฺธรูปํ สลทฺธเร |
มตฺติกามตฺติกาเยว | ผลนฺตสฺส อจินฺตยํ |
ตาทิสํ พุทฺธรูปฺจ | ปิติยา โยปิ สนฺถเร |
ผลนฺตํ วิปุลนฺตสฺส | จิรํ อุปติโม สทา |
กริตุวา มตฺติกา เสฏฺา | ลิกฺขิตฺวาว ยถารหํ |
มหาเตโช สทา โหนฺติ | สุริโย วิมโล ยถา |
ตํ กตฺวา กุสลํ กตฺวา | ยาวชีวํ มนุสฺสตฺตํ |
นรเก เปเต น ชายนฺติ | ทุชาติยํ น ชายเร |
ติรจฺฉานคเต กาเย | มหนฺเต ขุทฺทกานิ จ |
เย พิมฺพรูปํ การยิ | เลกฺขผลสฺส ตํ สมํ |
โย โพธิรุกขํ โรเปติ | โย จ ปพฺพชิโต นโร |
โย จ สตฺถุ กโร พิมฺพํ | ธุวํ พุทฺโธ ภวิสฺสติ |
โย จ กโร พุทฺธรูปํ | ทนฺเตน จ สิงฺเคน วา |
สิลาย อิฏฺกาย จ | การาเปสิ สงฺฆกเต |
อนาคเต ภเว ชาโต | เมตฺเตยฺยสฺเสว สนฺติเก |
ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสติ | ปจฺฉา พุทฺโธ ภวิสฺสติ |
ความว่า บุคคลผู้สร้างทำพระพุทธรูปนั้น จะได้เป็นพระอินทร์เสวยเทวสมบัติถึง ๗ ครั้ง ทั้งจะได้เป็นสมเด็จบรมจักรพรรดิ มีสิริสมบัติอันประเสริฐถึง ๘๐ ชาติหรือ ๑๐๐ ชาติ และจะได้เป็นพระราชาผู้ครองประเทศราชนั้น จะนับจะประมาณบมิได้ อนึ่งบุคคลได้ปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปองค์ใด ซึ่งมีอวัยวะอันวิกลคือยังไม่สำเร็จบริบูรณ์เต็มที่ ด้วยดินเหนียวอย่างเดียวเท่านั้น ผลอานิสงส์แห่งการปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปของบุคคลผู้นั้น เป็นอจิณไตยคือไม่ควรคิดว่ามากน้อยเท่าใด เมื่อบุคคลมาก่อสร้างพระพุทธรูปเช่นนั้นด้วยปีติความเลื่อมใสแล้ว ผลอานิสงส์ก็ไพบูลย์เต็มที่มีอันจะให้ผู้นั้นเกิดในสวรรค์สิ้นกาลนานทุกเมื่อ พระพุทธรูปนั้นจะทำด้วยดินเหนียวเป็นต้นหรือจะวาดเขียนตามสมควรก็ตาม บุคคลผู้สร้างนั้นจะเป็นผู้มีเดชานุภาพอันใหญ่และกล้าอุปมาดังดวงพระอาทิตย์ที่ปราศจากมลทินมีรัศมีอันกล้าฉะนั้น เมื่อเป็นมนุษย์อยู่ตราบเท่าสิ้นชีวิตแล้ว จะไม่ไปบังเกิดในนรกและเปรตวิสัย และไม่ไปเกิดในทุคคติกำเนิดและติรัจฉานกำเนิดทั้งหลาย ซึ่งมีร่างกายอันใหญ่และเล็ก เพราะเหตุที่ได้ทำกุศลคือสร้างพระพุทธรูปนั้น พระพุทธรูปนั้น บุคคลจะสร้างให้ใหญ่หรือเล็กก็ตามหรือจะสร้างด้วยวัตถุสิ่งใดก็ตาม ผลอานิสงส์นั้นก็คงเสมอกันไม่ยิ่งไม่หย่อนกว่ากัน ใช่แต่เท่านั้น นรชนอีกสามจำพวก คือนรชนผู้ปลูกไม้มหาโพธิ์ ๑ นรชนผู้บวชตน ๑ นรชนผู้สร้างพระพุทธปฏิมากร ๑ นรชนสามจำพวกนี้ จักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าเที่ยงแท้ อนึ่งบุคคลผู้ใดได้สร้างพระพุทธรูป ด้วยงาช้างก็ดี ด้วยเขาสัตว์ก็ดี ด้วยศิลาก็ดี ด้วยอิฐปูนก็ดี ในอนาคตกาลภายภาคหน้า ผู้นั้นจะได้บังเกิดในภพ ประสบศาสนาพระอริยเมตไตรย และจะได้กระทำที่สุดแห่งความทุกข์ให้สิ้นไปในศาสนานั้นหรือไม่ฉะนั้น ถ้าปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณ ก็จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในกาลเป็นภายหลัง สมดังมโนรถความปรารถนา
เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาตรัสเทศนาจบลงนั้น เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายมากด้วยกัน ต่างก็ได้สำเร็จมรรคผลมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้นเป็นประธาน สมเด็จพระทศพลญาณจึงทรงประมวลชาดกว่า สหชาตโยธาในครั้งนั้น กลับชาติมาคือพุทธบริษัทในศาสนานี้ ฝ่ายพระยาวัฏฏังคุลีราชในครั้งนั้น สืบขันธประวัติมาคือตถาคตผู้เป็นอรหัตตสัมมาสัมพุทธในกาลนี้แล