วันนี้พูดถึงเรื่อง ต้นกำเนิดของอวิชชา
ครั้งที่แล้วพูดถึง คนที่ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท คือคนที่ไม่รู้เรื่องอวิชชา (หลวงป๋ากล่าวไว้อย่างนี้) … และท่านยังพูดถึงต้นกำเนิดของอวิชชาโดยย่อ คือ โลภ โกรธ หลง (สำหรับพระจะพิจารณา ราคะ โทสะ โมหะ เพราะพระจะต้องไม่มีความโลภ จึงพิจารณาราคะแทน ซื่งละเอียดขึ้นไปอีก)
หลวงป๋าท่านสอนไว้ว่า การกระทำใด ถ้าจิตในขณะนั้นมีความโลภ โกรธ หรือหลง การกระทำนั้นเป็นไปเพื่อฝ่ายดำ … หมายถึง เรากำลังทำตัวเป็นฝ่ายดำ ทุกการกระทำ และอานิสงส์ที่เกิดขึ้นจะไปหล่อเลี้ยงฝ่ายดำทั้งหมด (เราไม่ได้อะไรเลย แต่ได้บาปมาแทน)
ในทุกขณะจิต … จิตของเราจะประกอบไปด้วยธรรมะ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายขาว ฝ่ายดำ และฝ่ายกลาง … ฝ่ายขาว คือภาคพระ จะคอยให้ทำความดี ส่งผลให้เป็นสุข ฝ่ายดำ คือภาคมาร จะคอยให้เราทำผิด ทำตามใจชอบ ส่งผลให้เกิดความทุกข์ตามมา และฝ่ายกลาง คือ ไม่สุข ไม่ทุกข์ (พวกเทวดา) ฝ่ายกลางนี้ จะคอยคล้อยตาม คือ ถ้าฝ่ายพระมีกำลังมาก ก็จะไปเข้าข้างฝ่ายพระ แต่ถ้าฝ่ายดำมีกำลังมาก ก็จะไปเข้าข้างฝ่ายดำ แล้วดลใจให้มนุษย์และสัตว์โลกทำผิด เป็นบาปต่าง ๆ
ดังนั้นเราต้องคอยระวังจิตของเราอยู่ตลอดเวลา ที่จะไม่ให้เกิดโทษกับตนเองและผู้อื่น ด้วยการละความโลภ โกรธ หลง อยู่ตลอดเวลา กล่าวคือ คอยรักษา กาย วาจา ใจ ให้สะอาด ไม่มีโทษ
ยากที่สุด คือใจ เพราะทุกอย่างเริ่มต้นที่ใจ และจบลงที่ใจ (คือ ได้รับผลเป็นสุข หรือทุกข์) … ใจนั้นมักจะ หลง ในสิ่งต่าง ๆ จากความไม่รู้ (หรืออวิชชา) … หนึ่งในความหลง คือ ความเชื่อที่ผิด พระพุทธเจ้าจึงสอนเรื่องความเชื่อ ต้องพิสูจน์ได้ และเห็นผลจริง เรียกว่า กาลามสูตร
กาลามสูตร
- อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
- อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆ กันมา
- อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
- อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
- อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ
- อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน
- อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
- อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
- อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
- อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา
วันนี้คุยเรื่องของการศึกษาธรรมะ และการปฏิบัติธรรมให้ก้าวหน้า และได้ผล จะต้อง “ปล่อยวาง” จากทุกอารมณ์ให้ได้ก่อน (ไม่ดีใจเมื่อมีคนชื่นชม และไม่เสียใจเมื่อมีความทุกข์) กล่าวคือ เดินสายกลาง / ทำใจให้เป็นกลาง
ก่อนที่จะปล่อยวางได้ ขอสรุปเรื่องที่เคยคุยกันมาทั้งหมดแบบสั้น ๆ ว่า “เราจะต้องอยู่กับปัจจุบัน ด้วยการจับผิดกิเลสในตัวเอง” ในทุกขณะจิต ด้วยการพิจารณาธรรมะ 2 ข้อ พื้นฐาน คือ
- พระไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
- อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)
มรรค หรือมรรค 8 เป็นเข็มทิศ ส่วนข้อปฏิบัติเป็นการพิจารณาทุกข์ ว่ามีที่มาจากอะไร (เรียกว่า สมุทัย) … เมื่อรู้ต้นเหตุ ก็หาวิธีกำจัด หรือจัดการ (เรียกว่า ดับทุกข์) … การดับทุกข์ หรือนิโรธ มีหลายวิธี ซึ่งแต่ละคนจะมีวิธีดับทุกข์ที่ไม่เหมือนกัน ตามจริตที่เคยสะสมมาในหลาย ๆ ชาติ พระพุทธเจ้าจึงไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนิโรธ ว่าต้องทำอย่างไร … แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่จะหาวิธีที่เหมาะ และสามารถทำได้ในแบบเฉพาะตน ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าร้อน บางคนอาจจะไปอาบน้ำ บางคนอาจจะกินน้ำเย็น บางคนอาจจะออกไปเดินห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ในทางธรรมะก็เช่นกัน วิธีดับทุกข์ หรือนิโรธ มีหลายวิธีในสถานการณ์เดียวกัน
มาถึงตรงนี้ คนที่จะแก้ไขปัญหาใด ๆ ได้ จะต้องมีสติ โดยใช้ปัญญาในการแก้ไขสถานการณ์ในขณะนั้น … เมื่อแก้ไขแล้ว แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เราจำเป็นต้อง “ปล่อยวาง” เพราะทุกอย่างเป็นไปตามกรรมที่เคยทำมาในอดีต
การปล่อยวาง เป็นหนึ่งใน “พรหมวิหาร 4” (ข้อปฏิบัติเพื่อการเป็นพรหม หมายถึงเทวดาชั้นพรหมโลก)
- เมตตา
- กรุณา
- มุทิตา
- อุเบกขา
พรหมวิหาร 4 นี้ เป็นคุณธรรมพื้นฐานของเทวดาทั้งหลายทุกขั้น แต่การปล่อยวาง จะเป็นตัวสำคัญในการเดินตาม “มรรค 8” เ
พราะถ้าปล่อยวางไม่ได้ จิตจะติดอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง จนไม่สามารถทำอะไรต่อได้ ไม่ว่าจะติดในสุข หรือติดในทุกข์ … พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เดินสายกลาง (ไม่ตึงเกินไป และไม่หย่อนเกินไป) เช่น คนที่เคร่งในกฏ และระเบียบจนมากเกินไป ก็จะเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ ฯลฯ นอกจากตนเองจะเป็นทุกข์จากการที่คนอื่นทำไม่ได้ดังใจแล้ว ยังทำให้คนอื่นอึดอัดใจตามมาที่จะอยู่ใกล้ เป็นต้น
เมื่อปล่อยวางได้ แล้วเดินสายกลาง จิตจะคลายจากกำหนัด ที่เป็นอวิชชา ทำให้ธรรมะเจริญก้าวหน้า จิตใจก็ผ่องใส อวัยวะภายในก็จะฟื้นฟูทำให้สุขภาพดีขึ้นตามมา
ดังนั้น “การปล่อยวาง” เป็นเรื่องจำเป็นของทุกคน … แต่จะปล่อยวางได้ ก็ต้องฝึกจิต คือ เฝ้าดูกิเลสตนเอง และกำจัดสิ่งที่ไม่ดีของตนเองออกไป ด้วยการมีสติ อยู่กับปัจจุบัน ในทุกขณะจิต
สรุปหัวข้อธรรมะที่ควรปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
- อนิจจา ทุกขัง อนัตตา
- ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
- พรหมวิหาร 4
- มรรค 8