“ อานุภาพพิเศษ ” ของ … วิชชาธรรมกาย


ผู้ปฏิบัติธรรมจนได้ถึง “ธรรมกาย” และ ยัง “ทรง” อยู่เสมอนั้น ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ได้ “บวชภายใน” …ไม่ว่าจะเป็นหญิง หรือ ชาย คือแปลว่า ใจนั้นบวชอยู่
และถ้าหากได้บรรพชาอุปสมบทอีกด้วย (ในกรณีที่เป็นชาย) ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้บวชทั้งภายใน และภายนอก

สำหรับผู้ปฏิบัติภาวนาที่ได้ถึง “ธรรมกาย” แล้ว
ไม่ว่าจะได้บรรลุ มรรค ผลนิพพาน เป็น “พระอริยบุคคล” แล้วหรือไม่ หากได้เจริญภาวนา “พิสดารกาย” ดับ “เห็น จำ คิด รู้” ส่วนหยาบ…ไปสู่สุดละเอียดจนจิตละเอียดมากถึง “วางอุปาทานในขันธ์ ๕” ของกายในภพสามได้ (แม้เพียงชั่วคราว)
และ ปล่อยความยินดีในฌานสมาบัติ

เมื่อปล่อยขาดพร้อมกันแล้ว
ธรรมกายหยาบจะตกสูญฐานที่ ๗ ลงไปยังศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ แล้วธรรมกายที่สุดละเอียด พร้อมด้วยดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย ซึ่งเบิกบานขึ้นมาจากธาตุธรรมที่บริสุทธิ์ ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมนั้น
จะลอยขึ้นมายัง ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
แล้วตกสูญไปยัง ศูนย์กลางกายฐานที่ ๖
แล้วผ่านไปยังฐานที่ ๕ , ที่ ๔ , ที่ ๓ , ที่ ๒ และ ที่ ๑
พ้นจากอายตนะภพสาม ไปปรากฏอยู่ใน “อายตนะนิพพาน”
ซึ่งมีผลให้ ……..

๑.สามารถ รู้ เห็น ได้ยิน … สภาวะ และ ความเป็นไป ใน “อายตนะนิพพาน” ได้

๒.ได้สัมผัสอารมณ์พระนิพพาน (ที่ว่า “หาอารมณ์มิได้” นั่นแหละ)… ตามที่เป็นจริง (แม้เพียงชั่วขณะ)
และถ้าได้บรรลุมรรคผล เป็น “พระโสดาบันบุคคล”
ก็ชื่อว่า เป็นผู้ “ตกกระแสนิพพาน” (เป็นประจำ) ไม่มีตกต่ำอีก

๓.ผู้ถึงธรรมกาย และ ได้เจริญภาวนาเข้าถึงธรรมกายที่ละเอียด ๆ … จนสุดละเอียด
แล้วรวมใจของทุกกายให้อยู่ ณ ศูนย์กลางกายพระอรหัต…องค์ที่ละเอียดที่สุดนั้น
ย่อมสามารถใช้ “อายตนะภายใน” ส่องดูความเป็นไปใน “ภพสาม” (กามภพ รูปภพ อรูปภพ)
หรือ นรก , สวรรค์ ตลอดถึง “อายตนะโลกันต์”
ให้ได้ทั้งรู้ ทั้งเห็น ทั้งได้ยิน และแม้ได้กลิ่น ฯลฯ โดยชัดแจ้ง
….. ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้

เมื่อเจริญฌานสมาบัติ จนจิตสงัดจากกิเลสนิวรณ์ แล้วน้อมเข้าสู่ …
“ปุพเพนิวาสานุสติญาณ” (ญาณระลึกชาติของตนเอง และของผู้อื่นได้)
“จุตูปปาตญาณ” (ญาณหยั่งรู้ว่า สัตว์ทำกรรมอย่างนั้น ๆ จะได้รับผลกรรมอย่างไรต่อไปในอนาคต)
ให้รู้เห็น ทุกขสัจจ์ สมุทัยสัจจ์ นิโรธสัจจ์ และ มรรคสัจจ์
และให้บรรลุ “อาสวักขยญาณ”
(ญาณหยั่งรู้ การกระทำอาสวะกิเลสให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ เป็น พระอรหันต์ขีณาสพ ต่อไป)

๔.เจริญยิ่งด้วย บุญศักดิ์สิทธิ์ , บารมี , อุปบารมี , ปรมัตถบารมี ,
รัศมี , กำลังฤทธิ์ , อำนาจ , สิทธิ , สิทธิเฉียบขาด ….. ฯลฯ
จึงทรง “ปาฏิหาริย์” และ “บุญฤทธิ์” … ที่มีอานุภาพสูงยิ่ง

๕. “รู้แจ้ง” และ เจริญยิ่งด้วย
วิชชาของภาคพระ (ธรรมฝ่ายบุญกุศล)
อวิชชาของภาคมาร (ธรรมฝ่ายบาปอกุศล)
และของ ภาคกลาง (อัพยากตาธรรม)
….. อย่างละเอียดลึกซึ้ง จากเหตุในเหตุ ไปถึงต้น ๆ เหตุ

๖.เป็นพื้นฐานของการเจริญวิชชาธรรมกายชั้นสูง ชื่อว่า “มรรคผลพิสดาร”
หรือ “อาสวักขยญาณชั้นสูง” หรือ “วิชชาสะสางธาตุธรรม” เข้าถึง… “อายตนะนิพพานเป็น”
เพื่อเพิ่มพูน บุญศักดิ์สิทธิ์ , บารมี , อุปบารมี , ปรมัตถบารมี ,
รัศมี , กำลังฤทธิ์ , อำนาจ , สิทธิ , สิทธิเฉียบขาด ….. ฯลฯ
ซึ่งมีอานุภาพมาก … ทั้งในส่วน “กำจัดเหตุแห่งทุกข์” และ “บำรุงสุข”
ด้วย…มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และ นิพพานสมบัติ

ด้วย “อานุภาพธรรมกาย” ดังกล่าวนี้
จึงมีผลเป็นธรรมเครื่อง “บำบัดทุกข์” และ “บำรุงสุข” แก่สัตว์ทั้งหลาย
และนับเป็น “ธรรมาวุธ” อันคมกล้ายิ่งนัก

อันไม่ควรที่ “ผู้ไม่รู้” … จะพึงวิพากษ์วิจารณ์โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เพราะจะมีผลดุจเดียวกับ “ เด็กทารก ลูบใบมีดอันคมกริบเล่น ”
หรือเข้าทำนอง “ เด็กกำถ่านไฟ ”

เมื่อ “ เจริญวิชชาธรรมกายชั้นสูง ” … สุดละเอียดเข้าไป
จึงพบความจริงข้อหนึ่งที่ว่า สัตว์โลกทั้งหลาย…มีธาตุธรรมที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “สายธาตุธรรมเดียวกัน” (สายขาว , สายกลาง , สายดำ)
เพราะมาจากธาตุธรรม (ต้นธาตุ ต้นธรรม) เดียวกัน

โดยเหตุนี้ เมื่อผู้ถึงธรรมกาย “เจริญภาวนาวิชชาชั้นสูง”
ซึ่งเป็นการสะสางธาตุธรรมของตนเอง
จึงมีผลถึงธาตุธรรมของสัตว์อื่น … ในสายธาตุธรรมเดียวกันโดยอัตโนมัติ (มากน้อยตามส่วน)

หลวงพ่อวัดปากน้ำ (สด จนฺทสโร) จึงได้กล่าวเสมอว่า
“ธรรมกายนั้นแหละ คือ ที่พึ่งของสัตว์โลก”
และว่า “ธรรมกายคนหนึ่ง ช่วยคนได้ครึ่งเมือง”

ผู้ขัดขวาง หรือ เหยียบย่ำ วิชชาธรรมกายอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า … ด้วยทิฏฐิชั่วจึงเท่ากับทำลายที่พึ่งของตนเอง มิให้เข้าถึงนิพพานอันแท้จริงได้
และย่อมประสบความทุกข์เดือดร้อน ประดุจ “ซัดธุลีทวนลม”
หรือ “เด็กกำถ่านไฟ” … ดังกล่าวแล้ว

ส่วน “ผู้มีปัญญา” และ “ใจบุญกุศล”
เข้าศึกษาและปฏิบัติเพื่อความ เข้าถึง ให้ได้รู้เห็น และ เป็น “ธรรมกาย”
สูงสุดขึ้นไปถึงเป็น “พระนิพพาน” (คือ ธรรมกายที่บรรลุพระอรหัตผลแล้ว)
และ สนับสนุนค้ำจุนการเผยแพร่พระสัทธรรมนี้
ตามกำลังศรัทธา สติปัญญา ความสามารถ … ย่อมได้ที่พึ่งอันประเสริฐ

ดังที่ผู้ที่ได้ เข้าถึง รู้เห็น และ เป็น ….. ได้มีประสบการณ์ที่ดี ๆ มาแล้ว

หลวงป๋า

*** คัดลอกบางตอนจาก
หนังสือ อานุภาพธรรมกาย
โดย มูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย
ใน โครงการธรรมปฏิบัติเพื่อประชาชน วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
และ โครงการพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
พิมพ์เมื่อ พุทธศักราช ๒๕๒๗

แชร์เลย

Comments

comments

Share: