อุบายวิธีสำคัญ … ในการเจริญภาวนาตามแนว “วิชชาธรรมกาย”
โดย : หลวงป๋า
วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
“อุบายวิธี” ที่จะยกจิตขึ้นสู่อารมณ์แห่ง “ฌาน” นี้มีหลายวิธีด้วยกัน
พระอรรถกถาจารย์รวบรวมแสดงไว้ 40 วิธี
รวมเรียกว่า “สมถภูมิ 40”
วิธีปฏิบัติตามแนว “วิชชาธรรมกาย” ได้เลือก
“อุบาย 3 ประการ” ขึ้นมาประกอบกัน
เพื่อให้เหมาะแก่ … “จริตอัธยาศัย” ของผู้ปฏิบัติธรรมต่างๆกัน
และก่อให้เกิดผลดีแก่การปฏิบัติเป็นอย่างมาก
“อุบายวิธีทั้ง 3” นั้นก็คือ
– พุทธานุสติ
– อานาปานสติ
– อาโลกกสิณ
กล่าวคือใช้อุบาย …
1. ให้กำหนด “บริกรรมนิมิต”
คือนึกให้เห็นดวงแก้วกลมใสด้วย “ใจ”
ซึ่งเป็นส่วนผลเบื้องต้นของ “อาโลกกสิณ” (กสิณแสงสว่าง)
เพื่อเป็นอุบายรวมใจ
อันประกอบด้วยธรรมชาติ 4 อย่าง
คือ “เห็น จำ คิด รู้”
ซึ่งขยายส่วนหยาบ มาจากธาตุละเอียดของ
เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
ให้มาอยู่ในอารมณ์เดียวกัน
โดยการนึก (วาดมโนภาพ) ให้เห็น “ดวงแก้วกลมใส” จำดวงแก้วดวงใส คิดจดจ่ออยู่กับ … ดวงแก้วกลมใส
และรู้อยู่ ณ ภายในตรง “ศูนย์กลางดวงแก้วกลมใส” นั้น
เพื่อให้ธรรมชาติ 4 อย่างของใจนั้น รวมหยุดเป็นจุดเดียวกันได้นิ่งสนิท
การนึกนิมิต บางคนจึงอาจนึกเห็นได้บ้าง บางคนก็นึกเห็นไม่ได้บ้าง … เป็นธรรมดา
แต่เมื่อ “นึกเห็น” ได้ที่ไหน
ก็แปลว่า “ใจ” อยู่ที่นั่น
แม้จะนึกเห็นได้แต่ก็ไม่ค่อยชัดนัก
นี่เป็นเรื่องการนึกให้เห็นนิมิต
เป็น “อุบายวิธี” ที่จะรวมใจให้มาหยุดเป็นจุดเดียวกัน
เพราะ “ใจ” นั้นเป็นสภาพที่เบา กวัดแกว่งง่าย ฟุ้งซ่านง่าย แต่รักษาให้หยุดนิ่งได้ยาก แต่ก็จะต้องอบรมให้หยุดให้นิ่ง
มิฉะนั้นเมื่อมีกิเลสนิวรณ์อยู่ในจิตใจ แม้แต่อย่างหนึ่ง ย่อมไม่อาจเห็นอรรถเห็นธรรม ได้แจ่มแจ้ง
2. ให้กำหนด “บริกรรมภาวนา”
คือให้ท่องในใจว่า “สัมมาอะระหัง ๆ ๆ” ต่อไป
เพื่อประคองใจ … ให้หยุดนิ่งได้ง่ายเข้า
เพื่อให้ใจมีงานทำ ณ “ศูนย์กลางดวงแก้วกลมใส”
ที่ให้ใจ … นึกเห็นนั้นแหละ
คำบริกรรมภาวนานี้ จัดเป็น “พุทธานุสติ”
กล่าวคือ ให้รำลึกถึงพระพุทธคุณ อยู่ทุกขณะจิตว่า “เป็นผู้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ และเป็นผู้ไกลจากกิเลส ผู้บริสุทธิ์”
3. กำหนด “ฐานที่ตั้งของใจ”
คือกำหนดจุดที่ให้เอาใจไปจรดที่
“ศูนย์กลางกาย” เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ
เรียกว่า “ศูนย์กลางกายฐานที่ 7”
เป็นจุดที่พักใจอันถาวร คือเวลาสัตว์จะไปเกิด มาเกิด หรือเวลาจะหลับ จะดับ จะตื่น
จิตดวงเดิมจะ … ตกศูนย์
ไปยัง … ศูนย์กลางกายตรงระดับสะดือพอดี
เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ 6
แล้วจิตดวงใหม่ … จะลอยเด่นมา
ที่ “ศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ”
ณ ที่ตรงนี้ และ ณ จุดนี้ยังเป็น
… ที่กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกอีกด้วย
กล่าวคือ เมื่อจิตละเอียดหนักเข้า เพราะใจค่อยๆ มารวมหยุดเป็นจุดเดียวกันนั้น
ลมจะหยุด ณ ที่ “ศูนย์กลางกาย” เหนือระดับสะดือ ประมาณ 2 นิ้วมือ นี้เองตามธรรมชาติอยู่แล้ว
เพราะว่าจุดนี้เป็นที่ … กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก
จึงมีลักษณะของ “อานาปานสติ”
เพราะเป็นธรรมชาติของใจ เมื่อรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน และลมหายใจละเอียดเข้าๆ
แล้วลมจะหยุด ณ ที่ตรงนี้
สามวิธีนี้ รวมกันเรียกว่า “วิธีสามกษัตริย์”
คือ อาโลกกสิณ, พุทธานุสสติ, อานาปานสติ
ดีที่สุดแล้ว … ครอบจักรวาลหมดแล้ว