เพียรเถิดจะเกิดผลแม้ยังไม่เห็นอะไรก็อย่าท้อแท้ใจ

อมตวัชรวจีหลวงพ่อภาวนา

เพียรเถิดจะเกิดผลแม้ยังไม่เห็นอะไรก็อย่าท้อแท้ใจ

การเจริญภาวนาแต่เพียงขั้นต่ำ หรือการปฏิเสธสมถกัมมัฏฐาน และมุ่งเน้นแต่การพิจารณาสภาวะธรรมเพื่อให้เกิดปัญญานั้น เสี่ยงต่อการเกิดวิปัสสนูปกิเลสอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติภาวนา มีสติปรากฏยิ่งจนเกินไป กล่าวคือ มีสติพิจารณาสภาวะธรรมแก่กล้าเกินไป แต่ปัญญาอันเห็นแจ้งที่แท้จริงยังเกิดขึ้นไม่ทัน คงมีอยู่แต่ปัญญาจากการจำได้หมายรู้จากตำราเสียโดยมากนั้น จิตจะปล่อยวางอารมณ์วิปัสสนาที่เคยยกขึ้นมาพิจารณาอยู่เสมอนั้นไม่ได้

แม้แต่จะได้รับคำแนะนำให้ปล่อย หรือให้ปฏิเสธนิมิต ก็ปฏิเสธไม่ออก เป็นเหตุให้เกิดนิมิตลวงขึ้นในใจ โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ตั้งใจจะรู้จะเห็น เรียกว่า “วิปัสสนูปกิเลส” ข้อ”อุปัฏฐาน” อันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตได้

จึงใคร่จะกล่าว ถึงคุณค่าของการเจริญภาวนาตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ที่หลวงพ่อวัดปากน้ำได้ปฏิบัติและสั่งสอนถ่ายทอดไว้ ว่าเป็นกรรมฐานที่มีทั้งสมถะและวิปัสสนาคู่กัน เป็นการเจริญภาวนาที่มีมหาสติปัฏฐานโดยครบถ้วนอยู่ในตัวเสร็จ

คือ มีการพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และเห็นธรรมในธรรม..อยู่ในตัวเสร็จ

มีอุบายวิธีที่ทำให้สมาธิเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว และให้สามารถเจริญปัญญารู้แจ้งในสัจธรรมจากการที่ได้ทั้งรู้และทั้งเห็น

เมื่อยกสภาวธรรมใดขึ้นพิจารณาให้เกิดปัญญาแล้ว ก็มีวิธีให้พิสดารกาย พิศดารธาตุธรรมไปสู่สุดละเอียด ให้ใจของทุกกายรวมหยุดอยู่ ณ ศูนย์กลางธรรมกายที่สุดละเอียดอยู่เสมอ จิตก็ละวางนิมิตที่ยกขึ้นพิจารณานั้นไปเองโดยอัตโนมัติ วิปัสสนูปกิเลสดังกล่าวจึงไม่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญภาวนาตามแนวนี้แต่ประการใด

และยิ่งสำหรับผู้เจริญภาวนาได้ถึงธรรมกายแล้ว ยิ่งเห็นอรรถเห็นธรรม ทั้งที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง ที่เรียกว่า สังขตธาตุ สังขตธรรม กับทั้งที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง ที่เรียกว่า อสังขตธาตุ อสังขตธรรม ได้โดยชัดแจ้ง ปราศจากความเคลือบแคลงสงสัย

จึงขอเชิญชวนท่านสาธุชนเจริญให้มาก แม้ในระยะแรกๆ บางรายอาจจะยังมิได้เห็นอะไร ก็อย่าท้อแท้ใจ ว่าปฏิบัติไม่ได้ผล ความจริงถ้าสังเกตดูในเหตุและผลแล้ว ก็จะพบว่า ท่านได้รับผลดีจากการปฏิบัติอย่างแน่นอน ขอแต่ให้ปฏิบัติให้ได้ตรงตามวิธีที่แนะนำไป ด้วยใจรักในธรรมปฏิบัตินี้ ด้วยความเพียรพยายาม ไม่ย่อท้อ ด้วยใจจดจ่ออยู่เนืองนิจ และด้วยความพินิจพิจารณาในเหตุสังเกตในผลให้ถูกต้อง ตามที่วิปัสสนาจารย์ให้คำแนะนำไว้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้พึงระวังอุปกิเลสของสมาธิให้ดี เช่นว่า.. ระวังอย่าให้เพียรหย่อนเกินไป จนจิตใจง่วงเหงา ซึมเซา ไม่กระปี้กระเป่า เพียรจัดเกินไป จนกายและใจไม่สงบ อยากเห็นนิมิตจนเกินไป ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน หรือ..พลอยหงุดหงิด เมื่อรู้สึกว่าปฏิบัติไม่ได้ผล หรือ..สะดุ้งตกใจกลัว/ตื่นเต้นจนเกินไปเมื่อเห็นนิมิต ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน หรือเคลื่อนจากสมาธิ และ..พึงระวังรักษาศีลให้บริสุทธิ์ สำหรับผู้เป็นฆราวาสก็อย่างน้อยศีล ๕ ขึ้นไป พึ่งหลีกเลี่ยงจากกามฉันทะ อย่าไปตรึกนึกถึงมันให้มากนัก เพราะเป็นอุปกิเลสของสมาธิตัวสำคัญเสียด้วย สิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษ อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาททั้งหลาย ตลอดทั้งการดูการละเล่น หรือ ประโคมดนตรี..เหล่านี้ ก็ล้วนแต่เป็นเครื่องกีดกั้นหนทางเจริญสมาธิและปัญญาทั้งสิ้น.

เทศนาธรรมจาก พระราชพรหมเถร หลวงปู่วีระ คณุตฺตโม

อดีตรองเจ้าอาวาสและพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ

ที่มา หนังสือสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานเบื้องต้น วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
_________________
เพจอมตวัชรวจีหลวงป๋า
ขอบพระคุณภาพประกอบธรรมะ สาธุ.

แชร์เลย

Comments

comments

Share: